ใช่ครับ อ่านไม่ผิดหรอก แค่วันเดียวก็เพียงพอจริงๆ
สำหรับการทดลองขับรถคันที่ปรากฎในรีวิวนี้ เพื่อที่คุณจะได้อ่านกัน

ถามว่าทำไม ถึงเป็นเช่นนั้น?
เห็นปกติ ผมต้องยืมรถมานอนกอดเล่น เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน
3 วัน 2 คืน หรืออย่างน้อย ก็ควรจะมี 1 คืน ที่อยู่ด้วยกัน
อารมณ์ประมาณ One Night Standing ไม่ใช่เรอะ?

 
 

คือ เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ
ผมยอมรับเลยว่า คิดไม่ตก ในช่วง 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ว่า ผมจะหาทาง ขอยืมรถกระบะรุ่นนี้จาก โตโยต้า ตามขั้นตอนปกติ
อันเป็นธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติกันมาช้านาน ดีหรือไม่
 
เนื่องจากว่า ตอนนี้ ผมเริ่มมีปัญหาที่จอดรถ เกิดขึ้นกับบ้านผมอีกครั้งแล้ว
เพราะตอนนี้ เพื่อนบ้านตัวแสบ ที่บ้ายออกไป ปีึนึงแล้ว ได้ขายบ้าน ให้กับตึกใหญ่
ข้างหลังบ้านผมไปเรียบร้อยแล้ว และทางเจ้าของใหม่ก็ได้จัดการปล่อยบ้านนี้ให้ 
ครอบครัวใหม่ มาเช่าอาศัยอยู่ซึ่งพวกเขาก็มี รถกระบะ Vigo 2.5 Smart Cab มาด้วย 1 คัน

แต่ในเมื่อ เจ้าของเก่า ได้ต่อเติมพื้นที่จอดรถ ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวบ้านไป
ทำให้ครอบครัวที่มาใหม่ ต้องจอดรถไว้หน้าบ้าน และในเมื่อตอนนี้ เจ้า City คันสีแดง
ก็กลายมาเป็นสมาชิกคันที่ 2 ของบ้านผมเกือบจะครบ 1 ปีแล้ว นั่นก็ทำให้บ้านผม
ไม่สามารถจอดรถได้อย่างอิสระ เพราะลำพัง เมื่อยังไม่มีพวกเขามาอยู่ การหาที่จอด
ให้รถทั้ง 2 คันในบ้านได้ ในวันที่มีรถทดลองขับมาจอดอยู่ที่บ้านผม ก็ปวดกบาลเหลือเกิน

ดังนั้น การติดต่อยืมรถกระบะ หรือรถบ้าอะไรก็ตาม ที่มีความยาวตัวถัง
เกินกว่า 5 เมตร ก็เริ่มจะกลายเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผมขึ้นมาจนได้
และคงเป็นเช่นนี้เรื่อยไป อีกนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้

การนำรถกระบะป้ายแดงมาจอดไว้หน้าบ้านนั้น อย่างที่คุณทราบดีว่า
มันเสี่ยงต่อการโจรกรรมเป็นอันมาก และยิ่งเป็นรถกระบะ ยอดนิยม
ของทั้งปวงประชาชาวไทย และปวงประชาโจรามหาโจร อย่างวีโก้ แล้ว
คุณจะกล้าเสี่ยงเหรอครับ?
 
ผมคนนึงละ ไม่กล้า…ผมกลัวคร้าบ ไม่มีปัญญาจะไปรับผิดชอบ
ถ้ามันหายขึ้นมา งานก็จะเข้า จนหัวจะยิ่งโต ยิ่งกว่าลูกชิ้นปลานายใบ้
อย่างที่ ท่านผู้เกิน Commander CHENG ชอบล้อเลียนผมอยู่นี่แหงๆ

 
 

แต่แล้ว จู่ๆ มีคุณผู้อ่านท่านหนึ่ง อายุอานามน้อยกว่าผม โทรมาถามว่า สนใจจะลอง
วีโก้ 2.5 VN Turbo ไหม เพิ่งถอยออกมาป้ายแดง วิ่งพ้นรันอินแล้วละ
จะว่าไป เจ้าของรถนั้น ขับเยอะเหมือนกันนะเนี่ย รถเปิดตัวมาไม่ทันไร วิ่งไป 2,000 กว่ากิโลเมตรแล้ว

ผมก็ ยิ้มเลย ในที่สุด เราก็ไม่ต้องขอยืมรถจากทางโตโยต้า มาให้เสียวจิต ตอนจอดได้แล้ว
แต่มีข้อแม้ว่า เราต้องใช้เวลา เพียง 1 วัน ในการทดลองอัตราเร่ง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
และถ่ายภาพเก็บรายละเอียดต่างๆ ให้จบ
 
เอาวะ! เอาก็เอา!
 
นั่นคือที่มาของบทความ ฟูลรีวิว เวอร์ชัน กึ่งฉุกละหุกในครั้งนี้…
แต่ต่อให้ใช้เวลาทำ สั้นแค่ไหน เหมือนจะฉุกละหุกขนาดไหน
แต่เชื่อเถอะว่า สิ่งที่คุณอยากรู้ จะอยู่ในนี้ ครบถ้วน

ไม่มีลดหย่อนผ่อนเบา ลงไปแต่อย่างใด

ก็สิ่งที่คุณอยากรู้ส่วนใหญ่ คือ สมรรถนะของเครื่องยนต์ 2KD-FTV
เวอร์ชันใหม่ เทอร์โบแปรผันครีบ นี้ เป็นหลัก มิใช่หรือ?

 
 

นับตั้งแต่การเปิดตัวรุ่นเปลี่ยนโฉม Full Modelchange ให้กับตระกูล Hilux อย่างยิ่งใหญ่
อลังการงานสร้าง ที่สุดเท่าที่โตโยต้า ประเทศไทย เคยจัดงานเปิดตัวรถรุ่นใดๆในสยามประเทศมา
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2004

โตโยต้า ก็ได้พยายามงัดทุกกลยุทธ์ ขุดทุกสรรพกำลัง กระหน่ำพังทุกทำนบ เพียงเพื่อเข็นยอดขายของ
ไฮลักซ์ วีโก้  หวังให้คู่แข่งตัวฉกาจ อย่าง Isuzu D-Max ต้องยอมสยบ สิ้น ศิโรราบ หมอบกราบคลาน
แทบเท้า แต่โดยดี…

มาดูกันคร่าวๆ ว่า โตโยต้า ทำอะไรไปบ้าง… แน่นอน ทุ่มงบประมาณโฆษณา และการจัดกิจกรรม
ต่างๆ ทั้งที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี และผู้จำหน่ายทั่วประเทศ ในช่วงเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ จนเกินกว่า
คำว่า “อลังการ” จะสรุปความไว้ได้หมด การเปลี่ยนหนังโฆษณาใหม่ กันแทบจะทุก 3 เดือน แถมหนำซ้ำ
บางเดือน เรายังจะได้เห็นหนังโฆษณาใหม่ๆ ของวีโก้ โผล่เวอร์ชันใหม่ๆ ออกมา ถี่ซะยิ่งกว่า
โฆษณาของแชมพูซันซิล กับ ผงซักฟอกบรีส ของค่ายยูนิลีเวอร์ ซะอีก

วันดีคืนดี ก็เชิญ คุณปัญญา นิรันดร์กุล และคุณมยุรา (ธนะบุตร) เศวตศิลา มาเป็นพรีเซ็นเตอร์
ตะลอนๆถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณากันในหลายภาค ทั่วเมืองไทย หลากเรื่องราว หลายเวอร์ชัน
พูดคุยสัมภาษณ์กับลูกค้าผู้ใช้รถตัวจริง

ก่อนจะเปิดตัวรุ่นใหม่ ก็ยังอุตส่าห์ ถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณา โดยมี 2 พี่น้อง อัศนี และวสันต์ โชติกุล
เป็นพรีเซ็นเตอร์ ยิ่งไปกว่านั้น กลัวจะสร้างกระแสได้ไม่แรงพอ ยังคว้า พี่แอ๊ด คาราบาว มาถ่ายทำ
ภาพยนตร์โฆษณา และทำเพลงประกอบให้…

อันที่จริง มาถึงตรงนี้ มีเรื่องเล่า จากคนรอบตัวนิดหน่อย…เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย นิด แต่มหาศาล

มี  น้องคนหนึ่ง ขอสงวนนามแล้วกัน เพราะตอนนี้ น้องคนนี้ ผู้ที่รู้จักกันดี กับท่าน Commander CHENG
ของเรานี่เอง เป็นคนที่คลั่งไคล้ พี่แอ๊ด คาราบาว มากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก ก.ไก่หมดโลก

แต่ พอดีว่า น้องคนเนี้ย พอเรียนจบมา ก็มีเหตุให้เข้าไปทำงาน ที่ฝ่าย Product Planning
ของบริษัทรถยนต์ ยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นคู่แข่งตัวฉกาจ แต่ฝ่ายการตลาดโตโยต้า ไม่ค่อยคิดจะเหลียวแล

ทำงานไปอยู่ดีๆ จู่ๆ โฆษณาวีโก้ ชุดพี่แอ๊ด ก็ออกมา… และในคืนนั้นเอง…

น้องคนเนี้ย ก็ ร้องเพลงโฆษณา วีโก้ ตัวนี้จนได้คล่องปากเลยทีเดียว!!

สิ่งที่เกิดขึ้น ในเช้าวันต่อมาก็คือ…

คนในบริษัทรถยนต์ คู่แข่งรายนั้น ก็ได้ยินเสียงจากปากประตูออฟฟิศ ….ลอยมาเป็นเสียงร้องเพลงว่า

“โผมใช้มาแร้ว โผมพิสูจน์แร้ว ด้วยตัวโผมมเองงงง……..”

เสียงที่ว่าหนะ ดังลั่นสนั่นออฟฟิศกันเลยทีเดียว และแน่นอน เจ้าของเสียง จะเป็นใครไปไม่ได้
นอกจาก “รุ่นน้องของท่าน CHENG คนเนี้ย” นั่นเอง!!

หลายท่าน อาจคิดว่า “อืมม มันช่างกล้าเนาะ…ร้องเพลงโฆษณารถคู่แข่งในบริษัทรถที่ตัวเองทำงาน”

ครับ ใช่….แต่ นั่นหนะ ยังไม่ใช่ทั้งหมดของเรื่องราว เพราะ สิ่งที่ผมอยากจะเล่าต่ออีกนิด หลังจากนั้น
ก็คือ คนในบริษัทรถยนต์แห่งนั้น “ต้องทนฟัง ไอ้น้องผมคนเนี้ย มันร้องแต่เพลงเนี้ย ทุกวัน ติดกัน
ต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 1 เดือน!!!!!!!!!!!!!! เพียงเพราะความที่หมอเนี่ย มันคลั่งไคล้ พี่แอ๊ด คาราบาว
จนเข้ากระดูกดำ!!!!!!!!!!!!

บัดนี้ น้องคนนี้ ลาออกไปเรียนต่อต่างประเทศแล้ว เหลือทิ้งไว้แต่วีรกรรม บ้าๆบอๆ ฮาจนคอแตกคอแห้ง
ให้หมู่เฮา ได้เอามาเล่าต่อ เรียกเสียงหัวร่องอหาย ด้วยความเอ็นดู น้องคนที่ว่า มาจนถึงบัดเดี๋ยวนี้!!

ในที่สุด ไฮลักซ์ วีโก้ ผลผลิต จากโครงการ IMV (Innovative International Multi-Purpose Vehicle)
อันเป็นโครงการพัฒนารถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์ ระดับโลก ที่มี ไทย และอินโดนีเซีย
เป็นประเทศแม่ สำหรับการทำตลาด และส่งออก ไปยังทุกภูมิภาคทั่วโลก (ยกเว้นอเมริกาเหนือ)
ซึ่งเริ่มประกาศออกมาตั้งแต่ปี 2002 ก็ได้กลายเป็นรถกระบะยอดนิยมอันดับ 1 ในเมืองไทย
สมดังใจโตโยต้าหมายปอง ในช่วง ต้นปี 2008 โตโยต้า ก็ได้ประกาศชัยชนะ อย่างยิ่งใหญ่เอิกเกริก
จนดูเหมือนอีซูซุจะหงอยลงไปนิดๆ และยังคงมีประเด็นคาใจ ถึงตัวเลขยอดขายที่ว่า ใครกันแน่
เป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง จนถึงทุกวันนี้ที่เวลา พาให้ผู้คนพากันลบเลือนลืมกันไปหมดแล้ว

และพอขายดีอย่างนี้นี่เอง ที่ทำให้ นับตั้งแต่ เปิดตัวออกมา วีโก้ ไม่เคยมีการ ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์เลย
ตอนแรก ร่ำๆ ว่าจะปรับโฉมในปี 2007 แต่ ผลวิจัยตลาด ออกมาว่า ยังไม่จำเป็น ยังลากขายกันได้ต่ออีก 1 ปี
เลยเลื่อนมาปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ กันในเดือนสิงหาคม 2008 ซึ่งก็เริ่มต้นเข้าสู่ภาวะ เศรษฐกิจโลก
ชะลอตัวกัน อันเป็นผลจากราคาน้ำมันพุ่งสูงโด่ง จนจะทะลุดวงจันทร์กันอยู่แล้วจนทำให้ในตอนนั้น
ลูกค้าพากัน นำรถกระบะของตน ไปถอดเครื่องดีเซล คอมมอนเรล แสนจะแพงทิ้งแล้วหาเครื่องยนต์เก่า
จากญี่ปุ่น ตระกูล JZ ของ โตโยต้าเองนั่นแหละ มาวางลงไป แล้วจับกินก๊าซ LPG กันเป็นล่ำสัน
ก่อนจะพบว่า มันไม่เวิร์ก  พอราคาน้ำมัน เข้าสู่ช่วงขาลงตอนปลายปี ทำให้ยอดขายรถกระบะในบ้านเรา
ที่เคยขึ้นอืดกันเป็นทิวแถว ช่วงปลายปี ค่อยหายใจหายคอกันได้หน่อย

 
 

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ โตโยต้า กับอีซูซุ ยังคงเป็น มวยคู่เด็ด ที่น่าจะฟาดฟันกันต่อในสมรภูมิ
ตลาดรถกระบะ ไปอีกนานแสนนนนนนนนนนานนนนนนนนนนนนนนนน จน น.หนูหมดโลก
แถม ในปีนี้ อีซูซุ ก็ดันยอดขาย ดีแมกซ์ จนแซงหน้า วีโก้ได้สำเร็จอีกระลอก

แถม ยังมีเสียงเรียกร้องจากลูกค้าบางส่วนว่า อยากได้เครื่อง 2.5 ลิตร ที่แรงกว่ารุ่นปัจจุบันเป็นอยู่
(ซึ่งจะว่าไป ก็แรงพอแล้วนะ ยังจะเอาแรงไปไหนกันอีก หืม?)  อีกทั้ง คู่แข่ง อย่าง Nissan
Navara ก็พยายามเกทับด้วยการออกเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร 174 แรงม้า แรงบ้าเลือด กว่าทุกครั้งที่เคยเจอมา
อีกทั้ง ตั้งแต่เปิดประเดิมปีแห่งเศรษฐกิจโลกบักโกรกเพราะลมปากสื่อมวลชนทั่วโลก กับพวก
นักลงทุนฝรั่งๆ คู่แข่ง แต่ละค่าย ก็ทะยอยกระตุ้นตลาดด้วยรุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ กันบ้างละ
เพิ่มทางเลือกใหม่กันบ้างละ ตั้งแต่ ฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ ช่วง มีนาคม ก่อนมอเตอร์โชว์ ไม่กี่วัน
ตามมาด้วย มิตซูบิชิ ไทรทัน ไมเนอร์เชนจ์ และ มาสด้า BT-50 ช่วงกรกฎาคม และเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
นิสสัน เพิ่งจะปล่อย นาวารา คาลิเบอร์ ขับสองยกสูง เกียร์อัตโมัติ 4 ประตู ออกสู่ตลาด แถม 17 กันยายนนี้
อีซูซุ ยังจะเพิ่มรุ่นใหม่ ให้กับ ดีแมกซ์ กันอีกรอบ ในที่สุด โตโยต้า ก็ต้อง ซุ่มออกเครื่องยนต์ใหม่ ดีเซล
2.5 ลิตร คอมมอนเรล เทอร์โบแปรผัน เพื่อจะ อุดช่องว่างทางการตลาดของตน เมื่อ 6 สิงหาคม 2009 ที่ผ่านมา

การปรับโฉมครั้งนี้ ผมไม่อยากเรียกว่า การปรับโฉม ไมเนอร์เชนจ์ เลย เพราะถ้าว่ากันตามจริงแล้ว
ควรเรียกว่า การเพิ่มรุ่นย่อยใหม่ และเพิ่มเครื่องยนต์ใหม่ ถึงจะถูก เพราะอันที่จริง ครั้งแรกที่ผมได้
พบเห็น วีโก้ 2.5 VN-Turbo นี้ ก็เมื่อวันที่ ผม กับ น้องเติ้ล สมาชิก The Coup Team ของเว็บเรา ยืนอยู่
ณ สนามทดสอบบ้านโพธิ์ ของโตโยต้า ระหว่างรอทดลองขับ Camry Hybrid กัน ตอน สายๆของ
วันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมานั่นเอง

ในเช้าวันนั้น มีเพียงสายตาของเติ้ล คนเดียว ที่สังเกตเห็น วีโก้ สมาร์ทแค็บ ยกสูง สีเงิน คันหนึ่ง
แล่นไปแล่นมา ในสนามบ้างละ เอาไปจอดล้างบ้างละ แล้วจู่ๆ ก็กำลังจะขับออกจากสนามไป
โดยไม่มีใครแม้กระทั่งผมจะสังเกต ว่า รถคันนั้นหนะ มันต่างจากรถรุ่นธรรมดาทั่วๆไป!!

เติ้ลเลยร้องทักถามผมขึ้นมาใกล้ๆ ว่า
“พี่จิม นั่น มันวีโก้  สองพันห้า VN TURBO หรือเปล่าอ่ะ?”

ผมมองคร่าวๆ แล้วบอกไปว่า “ไม่น่าใช่ม้างงง”

คิดดูสิครับ ขนาด รถทดสอบคันนั้น แล่นผ่านหน้าผ่านตาผมไป โดยไม่มีใครร้องทักนอกจากเติ้ล
และแม้แต่คนของ ทางโตโยต้าเอง ก็ยังไม่ได้สังเกต เลย!! คิดดูเอาแล้วกันว่า มันเป็นยังไง!

เติ้ลยังมั่นใจว่า ตาเขาไม่ฝาดแน่ๆ…เราเลยใช้จังหวะที่ไม่มีใครสังเกตตรงนั้น
แอบๆ ถามวิทยากรซึ่งเป็นผู้อำนวยการ (ใช่หรือเปล่าหว่า)  ซึ่งผมจำชื่อพี่ท่านไม่ได้จริงๆ
จำได้แต่ว่า มาจากฝ่าย Product Planning  ที่มีบุคลิก ออกแนว พี่อี๊ด วงปลาย นั่นละ (^_^’)

ทีนี้ เรา 3 คนก็เลยมาช่วยกันเพ่งดู ระหว่างที่รถคันนี้กำลังจะแล่นออกจากสนามไป…

“อืมม มีสกู๊ป บนฝากระโปรงหน้า ยกสูงด้วยแหะ สมาร์ทแค็บซะด้วย…..
เออ เว้ยเฮ้ย มันไม่มีตัวเลข 3.0 แปะข้างรถนี่หว่า”

เอาแล้วไง!!!

สรุปว่า งานนี้ เติ้ล เก่งมากครับ!!!!! ตาดีจริงๆ คนทั้งงานเขาไม่สังเกตกันเลย
มีเติ้ลคนเดียวที่เห็น! ยกความดีความชอบให้เขาไปเต็มๆ เลย

การปรับปรุงครั้งนี้ มีเฉพาะรถรุ่น 2.5 ลิตร Pre-Runner กับ 4WD เท่านั้น ที่ได้อานิสงค์
ไปเพียงลำพัง ความแตกต่าง จากรถรุ่นเดิม มีเพียงแค่ สกู๊ป ดักอากาศ บนฝากระโปรงหน้า
สัญลักษณ์ VN-TURBO บนกระจังหน้า ฝั่งซ้ายของตัวรถ (ฝั่งขวาของคุณ เมื่อมองจาก
ด้านหน้าตรง) และสติ๊กเกอร์ ด้านข้างกระบะของรุ่น Pre-Runner…และเพียงเท่านี้ จบข่าว!

ก็เล่นหาความแตกต่างจากรุ่นปกติ ได้ยากยิ่งขนาดนี้ คงยากหน่อยที่คนซึ่งไม่ได้ติดตาม
ข่าวสารในวงการรถยนต์อย่างต่อเนื่องนัก จะแยกแยะความแตกต่าง ของรุ่น 2.5 ธรรมดา
กับรุ่น 2.5 VN-Turbo ได้ง่ายนัก

เหตุผลก็คือ ตลาดต่างประเทศ เขาเพิ่งจะปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ตามเรา ถ้าขืนคราวนี้
เวอร์ชันไทยเรา จะเปลี่ยนกระจังหน้ากันอีกรอบ ชาวต่างชาติที่สั่งรถจากบ้านเราไปขาย
โดยเฉพาะชาวตะวันออกกลาง เขาจะร้องโอ้โห แล้วก่นด่าได้ว่า

“เฮ้ยยย อีนี่นายจ๋า วีโก้ บ้านยู จะเปลี่ยนโฉมใหม่ บ่อยอะไรขนาดเน้!!!! หา!!!!
รถที่ไอสั่งจากยู เพิ่งไปถึงท่าเรือหมาดๆ แม่มมม เปลี่ยนกระจังหน้ากันอีกแล้ว
จะเปลี่ยนกันทำไมเนี่ย อีนี่ แขกงงจนตาลายแล้ว(โว้ย)”

 
 

ไฮลักซ์ วีโก้ ใหม่ รุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ 2.5 VN TURBO นั้น มีให้เลือกทั้งรุ่น Smart-Cab
หรือรุ่น บานแค็บเปิดกางออกได้ ซึ่งเมืองไทย ถือเป็นประเทศแรก ที่ได้ใช้บานแค็บเปิดได้
ในรถรุ่นวีโก้ (หากเราไม่รับ รถกระบะ เวอร์ชันอเมริกาเหนือ ทั้ง Tacoma และ T100 กับ
TUNDRA นั่นแล้ว) อีกทั้ง ประเทศไทย ยังเป็นแม่งาน ของการพัฒนาบานแค็บดังกล่าว
อีกด้วย

และรุ่น 4 ประตู Double Cab ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบในการใช้งาน ตามอัธยาศัย

แต่รถคันที่เราได้รับความอนุเคราะห์ จากลูกค้า ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ในครั้งนี้
เป็นรุ่น 2.5 VN-TURBO PreRunner Smart Cab ซึ่งจะมีภายในห้องโดยสารอย่างที่เห็น
ว่าแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากการปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ครั้งล่าสุดเลย

บานประตูคู่หน้า กับบานแค็บเปิดได้นั้น กางออกได้มากที่สุด
ก็คือเท่าที่เห็นในภาพนี้ เราเปิดกางออกมาจนสุดแล้ว

 
 

เบาะนั่งคู่หน้า ยังคงทำให้ร่างกายจะจมลงไปกับเบาะ เมื่อต้องนั่งลงเพื่อเดินทางไกล
เป็นเวลานานๆ จนก่อให้เกิดอาการปวดหลังได้ เหมือนเดิมเป๊ะ!

ชุดเข็มขัดนิรภัย ติดตั้งเข้ากับบานแค็บเปิดได้ อย่างที่เห็น ผมตั้งข้อสังเกตว่า
เสียงในการปิดบานแค็บนั้น ฟังแล้วไม่ได้ให้ความรู้สึกว่าแน่นหนามากพอ
เหมือนอย่างที่ นิสสัน นาวารา เขาเป็น

 
 

ส่วนพื้นที่แค็บด้านหลังนั้น แม้กฎหมายจะกำหนดให้มีความยาวเท่ากันหมด
แต่ทำไม ผมถึงนั่ง ในวีโก้ แล้วรู้สึกว่า สบายกว่า ดีแมกซ์/โคโลราโด ไทรทัน
และนาวารา นิดนึง กันละ?

 
 

แผงหน้าปัด ยังคงมีหน้าตาที่คนกว่าล้าน คน คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว มีที่วางแก้ว ใต้ช่องแอร์มาให้
แต่ขอชมนิดนึงว่า ชิ้นส่วนคอนโซลกลางบางชิ้น ที่ผมเคยเขียนตำหนิว่า มันบาดนิ้วผม
เพราะเก็บชิ้นงาน พลาสติกไม่ดีนั้น ในรุ่นใหม่นี้ ลดความแหลมคมลงไปนิดหน่อย
และโอกาสจะโดนบาดนิ้ว ก็น่าจะลดน้อยลงตามไปด้วย แต่ก็แค่นิดเดียว ไม่มากนัก

ชุดมาตรวัดนั้น ลวดลายกราฟฟิค ยังเหมือนเดิม คงต้องลดสายตาจากถนน
มองลงต่ำ มามองตัวเลขเยอะไปนิดนึง พวงมาลัยปรับระดับสูง-ต่ำได้ แต่สำหรับผมแล้ว
ต้องปรับเอาไว้ที่ตำแหน่งสูงที่สุด

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ยูรีเทนสีดำ อันเป็นพวงมาลัยแบบเบสิคสำหรับรถรุ่นที่
ไม่มีถุงลมนิรภัยมาให้ ของโตโยต้าไปแล้ว ชุดมาตรวัด ยังคงเป็นแบบธรรมดา
ไม่ใช่ออพติตรอน เหมือนรุ่น 3.0 ลิตร แต่อย่างใด มีกล่องคอนโซลกลางอเนกประสงค์
มีกล่องเก็บแว่นตา พร้อมไฟส่องแผนที่ ซ้าย-ขวา มาให้ ที่วางแก้ว ใต้ช่องแอร์
และมีกระจกแต่งหน้า บนแผงบังแดด เฉพาะฝั่งผู้โดยสารเท่านั้น ซึ่งควรจะให้มาทั้ง 2 ฝั่ง

สวิชต์แอร์ เป็นแบบมือบิดมาตรฐาน ไม่มีสวิชต์ A/C On-Off  มาให้ ใช้ระบบมือบิด
ปิดระบบน้ำยาแอร์ จาก DENSO ผู้ผลิตคู่บุญของโตโยต้า ไม่ต้องบอก แค่ได้ยินชื่อ
ก็รู้แล้วว่า เย็นเร็วจริงๆ แม้ในอากาศร้อนๆ ของวันที่เราทดลองขับกันก็ตาม

วิทยุเป็นแบบ 2DIN เล่น CD / MP3 /WMA ได้ 1 แผ่น พร้อมลำโพง 4 ชิ้น คุณภาพเสียง
ฟังได้ ดีกว่า ชุดเครื่องเสียงที่เคยติดตั้งใน Yaris รุ่นแรกๆ และ ถือว่า อยู่ในระดับมาตรฐานพื้นๆ
โดยทั่วไปของชุดเครื่องเสียงที่ติดตั้งจากโรงงานของโตโยต้าอยู่แล้ว ถ้าไม่อยากเสียเงินไปติดตั้ง
ชุดเครื่องเสียงตามใจฉัน ผมว่า มันเพียงพอต่อการใช้งานแล้ว และให้คุณภาพเสียงที่ พอรับได้
ไม่น่าเกลียดมาก เท่า ชุดเครื่องเสียง ในรถกระบะโดยทั่วไป

กล่องเก็บของบน คอนโซลกลาง พร้อมฝาปิดซึ่งเป็นที่วางแขนในตัว พอใช้งานได้
และพื้นที่ในกล่องคอนโซลนั้น มีขนาดใหญ่โต โอเค

ในรุ่น 2.5 ลิตร VN TURBO จะมีให้เลือกเฉพาะเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะเท่านั้น
โดยคันเกียร์ มีความสูงมาก พอๆกับ คันเกียร์ของ รถเมล์ ขสมก.รุ่นโบราณกาล
หวังให้เข้าเกียร์ได้สบาย แต่แปลกว่า ทีรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ดันทำคันเกียร์
ซะเตี้ยหม้อต้อ เชียว หาความสมดุลย์พอดีกันไม่ค่อยจะได้เลยแหะ
ตำแหน่งเบรกมือ เหมือนกับรถเก๋งทั่วไป คือ ติดตั้งคันโยก เอาไว้
ด้านข้างลำตัวคนขับ มาตั้งแต่วีโก้รุ่นแรกๆแล้ว

ด้านความปลอดภัยนั้น รุ่น 2.5 ลิตร VN-Turbo จะไม่มีการติดตั้ง ถุงลมนิรภัย
มาให้แต่อย่างใด (ซึ่งจริงๆ ก็ควรจะมีอย่างน้อย สำหรับคนขับ 1 ใบ ก็ยังดีกว่านี้)
แต่จะมีเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ปรับระดับสูงต่ำได้ มาให้ เฉพาะเบาะคู่หน้า
หากเป็นรุ่น 4 ประตู จะมีมาให้ อีก 2 จุด ด้านหลัง ซ้าย-ขวา และแบบ 2 จุด
ตรงกลางเบาะหลัง เอาไว้คาดเอวอย่างเดียว อีก 1 ตำแหน่ง กระจกบังลมหน้า
เป็นแบบอัดซ้อนนิรภัย พร้อมแถบกรองแสงด้านบน วาล์วตัดการจ่ายเชื้อเพลิง
อัตโนมัติ แกนพวงมาลัย และแป้นเบรกยุบตัวได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ โครงสร้างตัวถัง
กระายแรงปะทะแบบ GOA พร้อมคานเสริมนิรภัย ในประตูทุกบาน รวมทั้ง
บานแค็บเปิดได้

และในเมื่อ ไม่มีการติดตั้งถุงลมนิรภัย ดังนั้น พื้นที่ว่าง เหนือ ลิ้นชักเก็บของ
ฝั่งผู้โดยสาร จึงถูกดัดแปลงให้มีฝาปิด กลายเป็นกล่องเก็บของจุกจิก ที่มีความลึก
นิดนึง ได้เพิ่มขึ้นอีก 1 ตำแหน่งไปในตัว

 
 

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

การปรับปรุงที่สำคัญ ของ วีโก้ ในคราวนี้ อยู่ที่ การเพิ่มทางเลือกเครื่องยนต์ใหม่
ในตระกูล KD แบบ 2.5 ลิตรอีก 1 รุ่น จากเดิม ที่ทุกวันนี้ มีอยู่แล้ว 2 รุ่น

นั่นคือ 2KD-FTV เวอร์ชันใหม่ VN-TURBO โดยใช้วิธี นำเครื่องยนต์พื้นฐาน
รุ่นเดิม ซึ่งเป็นแบบ ดีเซล บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,494 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 92.0 x 93.8 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 18.5 : 1
จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด แบบ คอมมอนเรล จาก DENSO ตามเดิมนั่นละ
มาดัดแปลงรายละเอียดไส้ในเสียใหม่ จนคุณไม่อาจมองเห็นความแตกต่างได้
ด้วยตาเปล่า จากภายนอก

การปรับปรุงหลักๆ ที่สำคัญ คือการติดตั้งระบบเทอร์โบแปรผันครีบ (Variable Nozzle TURBO)
เข้าไป
ซึ่งครีบปรับองศาของเทอร์โบนั้น ควบคุมการเปิดปิด ผ่านมอเตอร์ไฟฟ้า ที่สั่งงานโดย
กล่องอีเล็คโทรนิค ECU 32bit เพื่อให้การทำงานของเทอร์โบ สัมพันธ์กับทุกๆความเร็วรอบ
ของเครื่องยนต์ โดยเฉพาะที่รอบเครื่องยนต์ต่ำนั้น การทำงานของเทอร์โบแปรผันจะปรับองศา
ของครีบให้แคบลงเพื่อรีดไอเสีย ที่มีปริมาณน้อยให้ไหลเร็วขึ้น ส่งผลให้การทำงานของเครื่องยนต์
เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ถ้าคุณคิดว่า เพียงแค่เพิ่ม เทอร์โบแปรผันครีบเข้าไป จะได้กำลังมากขึ้นแล้วละก็
ยืนยันว่า คุณคิดผิดครับ เพราะคราวนี้ โตโยต้า ถึงขั้น ต้องจัดการ เปลี่ยนวัสดุที่ใช้ทำเสื้อสูบ
ปลอกสูบ แหวนลูกสูบ ตัวลูกสูบ เสียใหม่
(สรุปง่ายๆก็คือ ชิ้นส่วนที่กล่าวมา หน้าตาจะเหมือน
กับเครื่องยนต์ 2KD-FTV เวอร์ชัน 102 แรงม้า ตามปกติ เปี๊ยบ แต่เปลี่ยนวัสดุที่ใช้หล่อขึ้นรูป
ทั้งหมดเสียใหม่ นั่นเอง) โดยเฉพาะเสื้อสูบ ที่จะทนทาน และแข็งแรงเพิ่มขึ้นถึง 20 เปอร์เซนต์
เพื่อให้รองรับกับสมรรถนะที่แรงสะใจมากขึ้น (หมายความว่า อะไหล่ดังกล่าวนี้ หากจะเบิกอะไหล่กัน
จะใช้เลข Part Number ไม่เหมือนกัน เบิกของรุ่นเดิมใส่แทนกันไม่น่าจะได้ หากรถคุณเป็น 2.5 VN-Turbo แล้ว)

การปรับปรุงทั้งหมดดังกล่าว ส่งผลให้ 2KD-FTV เวอร์ชันเทอร์โบแปรผันนี้ แรงขึ้นผิดหูผิดตากว่า
เวอร์ชันปกติ ในรุ่นไม่ยกสูง จาก 102 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบ/นาที  แรงบิดสูงสุด 20.38 กก.-ม.
(200 นิวตันเมตร) ที่ 1,400 – 3,400 รอบ/นาที รวมทั้ง เพิ่มกำลัง จากรุ่น มีอินเตอร์คูลเลอร์ 120 แรงม้า (PS)
ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 33.11 กก.-ม. หรือ 325 นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบ/นาที

ให้แรงขึ้นเป็น 144 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 รอบ/นาที (เพิ่มขึ้น 20% จากรุ่น 2.5 I/C ปกติ)
แรงบิดสูงสุด 34.95 กก.-ม.(343 นิวตันเมตร) ที่รอบตั้งแต่ 1,600 – 2,800 รอบ/นาที
(เพิ่มขึ้น  6% จากรุ่น 2.5 I/C) และยังคงให้แรงบิดในแนว FLAT TORQUE
คือ มีแรงบิดเกือบสูงสุดมารอตั้งแต่รอบต่ำ และลากแรงบิดสูงสุดไปยาวจนถึงรอบสูงๆ

ที่สำคัญ แรงบิดสูงสุดของ รุ่น 2.5 VN TURBO นั้น
มันเท่ากับ แรงบิดสูงสุด ของ รุ่น 3.0 ลิตร VN TURBO ปกติ
เป๊ะ!!! เพียงแต่ว่า รุ่น 3.0 ลิตร แรงบิดจะมาในช่วงรอบที่กว้างกว่า
คือ 1,400 – 3,200 รอบ/นาที เท่านั้นเอง!

นอกจากนี้ เครื่องยนต์ ตระกูล KD ของ โตโยต้า ทุกตัว ยังผ่าน
มาตรฐานมลพิษจากไอเสียรถยนต์ EURO-III มานานแล้ว

เอาเข้าจริงแล้ว เครื่องยนต์ ตระกูล KD ใน วีโก้ ฟอร์จูเนอร์ และ อินโนวา
ณ วันนี้ เพียงแค่ปรับจูนกล่องโปรแกรม เพียงนิดเดียว ก็พร้อมที่จะก้าวเข้าสู่
มาตรฐานมลพิษระดับ EURO-IV กันได้แล้ว แต่ ที่ยังกำหนดเอาไว้แค่เพียง
EURO-III (PLUS) นั่นก็เป็นเพราะ ความสะอาดของน้ำมันเชื้อเพลิงของบ้านเรา
ที่ยังไม่อาจก้าวไปสู่ระดับที่สูงขึ้นไปได้ซักที

ซึ่งถ้าใครห่วงในประเด็นนี้ ทางโตโยต้า บอกว่า เครื่องยนต์ 2KD-FTV เวอร์ชันใหม่นี้
ถูกออกแบบ และปรับจูนโปรแกรม เพื่อให้รองรับกับคุณภาพน้ำมันที่ผันผวน
และแตกต่างกันต่อการเติมในแต่ละครั้ง มากขึ้นกว่า รถรุ่นปีก่อนๆ ไปแล้ว

 
 

เครื่องยนต์ 2KD-FTV เวอร์ชันใหม่ เทอร์โบแปรผันครีบได้ นี้ จะติดตั้งเชื่อมกับ
เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะเท่านั้น โดยอัตราทดเกียร์ มีดังนี้…

เกียร์ 1……………………..4.313
เกียร์ 2……………………..2.330
เกียร์ 3……………………..1.436
เกียร์ 4……………………..1.000
เกียร์ 5……………………..0.838
เกียร์ถอยหลัง……………….4.220
อัตราทดเฟืองท้าย…………..3.909

เสริมเพิ่มเติมอีกนิดนึงว่า อัตราทดเฟืองท้ายของรุ่น 3.0 ลิตร PreRunner นั้น
ไม่เหมือนกัน โดยตัวถัง Smart Cab ทดเฟืองท้ายไว้ 3.583 ส่วน รุ่น 4 ประตูนั้น
ทดไว้ที่ 3.727 : 1

การจับเวลา หาตัวเลขอัตราเร่งในครั้งนี้ ทางเจ้าของรถเอง เป็นผู้ช่วยผมจับเวลาเอง
เพราะการทดลอง เกิดขึ้นในเวลา บ่ายๆ เวลาจึมีจำกัด ดังนั้น น้องๆในทีม The Coup
หลายคน จึงยังคงติดภาระกิจส่วนตัว ไม่อาจมาร่วมทำการทดองขับในครั้งนี้ได้

เรายังคงใช้มาตรฐานเดิม คือ นั่ง 2 คน น้ำหนักตัวผม 95 กิโลกรัม ของน้องเจ้าของรถ
53 กิโลกรัม น้ำหนักจึงอยู่ที่ 148 กิโลกรัม ยังอยู่ในพิกัด 150 กิโลกรัม ที่เราตั้งไว้

และผลลัพธ์ทีได้ เมื่อเทียบกับ วีโก้ 2.5 IC แบบมาตรฐาน รวมทั้งคู่แข่งในท้องตลาดอื่นๆ มีดังนี้

 

ผมว่า คงต้องแจ้งให้ทราบแล้วละว่า ผมพลาดที่ลืมศึกษาข้อมูลจากรีวิวเก่าๆ ที่ตัวเองทำเอาไว้
แล้วละครับ ที่สำคัญ ดันมารู้ตัว เอาก็ตอนที่นั่งเขียนรีวิวนี้ให้อ่านกัน ตอน ตี 5 ครึ่ง เนี่ยแหละ!!
จะย้อนกลับไปทดลองจับเวลากันใหม่ สงสัยจะไม่ได้แล้ว

อัตราเร่ง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในคราวนี้ ผมเลือกจะทำที่เกียร์ 4 เพียงเกียร์เดียว
เพราะเกียร์ 3 นั้น ความเร็วสูงสุด ของเกียร์ อ่านจากมาตรวัด อยู่ที่ 118 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ณ รอบเครื่องยนต์ 4,500 รอบ/นาที ถ้าสับเกียร์ ยังไงๆ ก็มี 10.93 / 10.10 / 11.25 วินาที

ก็เลยตัดสินใจเลือกจะทำการทดลองเฉพาะเกียร์ 4 อันเป็นเกียร์ที่คาดว่า ผู้ขับขี่
มักใช้ในการเร่งแซงมากที่สุด โดยลืมย้อนมาอ่านตัวเลขในรีวิวเก่า ซึ่งรุ่น 2.5 IC นั้น
ผมดันทดลองตัวเลขเอาไว้ โดยใช้เกียร์ 5 เป็นบรรทัดฐาน!!!

ดังนั้น คุณผู้อ่านรีวิว อาจต้องทำความเข้าใจกันสักนิดนะครับ ว่าตัวเลข 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ในคราวนี้ บรรทัดฐาน ต่างกัน ด้วยความมิได้ตั้งใจ หากแต่ เป็นความเผลอเรอ หลงลืมของผมเอง
ซึ่งต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ครับ

อย่างไรก็ตาม สำหรับ วีโก้ 2.5 VN-Turbo แล้ว ทันที ที่ออกรถ คุณอาจต้องระมัดระวังนิดหน่อย
กับแรงบิดที่เพิ่มมากขึ้น กว่ารุ่น 2.5 IC อินเตอร์คูลเลอร์ เทอร์โบ ธรรมดา การที่มีแรงบิดเพิ่มขึ้น
มากขนาดนี้ ย่อมไม่น่าแปลกใจ ที่อัตราเร่ง จะพาคุณทะยานไปอย่างสนุกสนาน

แถมโดยเฉพาะหากคุณเคยขับ รุ่น 3.0 ลิตรมาแล้ว และจำได้ว่า ผมเคยเขียนเอาไว้
ในรีวิวทดลองขับ Pre Runner ในเว็บพันทิบ ว่า เครื่องยนต์ 1KD-FTV 3.0 ลิตร เทอร์โบแปรผัน
มัน แรงเอาเรื่อง เร้าใจในทุกครั้งที่กกดคันเร่ง แซงได้ขาด โดยแทบจะไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์ลง
เพื่อเรียกอัตราเร่งแต่อย่างใด

รถกระบะ เครื่องยนต์ คอมมอนเรล เทอร์โบ สมัยนี้ ถ้าจะเร่งแซง ก็แค่ค้างเกียร์เอาไว้ ที่เกียร์ 5
แล้วกดคันเร่ง เพียงครึ่งเดียว รถก็จะค่อยๆเร่งขึ้นไป อย่างต่อเนื่อง จนแซงพ้นรถทัวร์ หรือรถขับช้าวิ่งขวา
ตามใจต้องการแล้ว ยิ่งถ้าเป็น วีโก้ 3.0 ขับ 2 ล้อ Pre Runner แล้วละก็ ค่อนข้างไวอย่างที่คนเขาร่ำลือกันนั่นละ

แต่กับ วีโก้ 2.5 VN Turbo ใหม่นี้ หากคุณทำแบบเดียวกัน แต่กดครึ่งคันเร่ง บอกได้เลยว่า รถจะพุ่งไปข้างหน้า
รวดเร็ว และชัดเจนกว่ารถกระบะทั่วไปของคู่แข่ง อย่างชัดเจน แจ่มแจ้งประจักษ์แก่สายตา คือสัมผัสได้เลย ว่า
แรงกว่ารุ่น 2.5 IC เทอร์โบธรรมดา จริงๆ และแรงใกล้เคียงกับรุ่น 3.0 ลิตร มาก!

คราวนี้ อยากจะบอกว่า เครื่องยนต์ 2.5 ลิตรตัวใหม่ จะให้ประสบการณ์ ในการเร่งแซง บนถนนวิภาวดีรังสิต
ช่วงเวลา บ่าย 2 โมงครึ่ง – บ่าย 3 โมง ได้น่าประทับใจพอกัน หรือเผลอๆจะดีกว่า รุ่น 3.0 ลิตร นิดนึงด้วยซ้ำ!
เพราะในรุ่น 3.0 ลิตร หากผมจะเร่งแซง ณ ความเร็วเริ่มต้น 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผมต้องเปลี่ยนเกียร์ลงมาเป็น
เกียร์ 4 เพื่อช่วยนิดนึง แต่กับ รุ่น 2.5 VN Turbo นั้น มันไมได้อืดถึงขนาดทนไม่ไหวต้องรีบเชนจ์ ลง 4 มาเลย
แต่ เหยียบแค่ครึ่งคันเร่งเท่านั้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ก็ใกล้เคียงกันมากๆ

อย่างไรก็ตามความแตกต่างระหว่าง รุ่น 2.5 และ 3.0 ลิตรในสายตาผม และน้องเจ้าของรถ เหมือนกันอยู่เรื่องหนึ่ง
นั่นคือ เมื่อเข็มวัดรอบ กวาดขึ้นมาถึงระดับ 3,700 รอบ ปลายๆ จนเข้าช่วง 4,000 รอบ/นาที พละกำลังก็จะเริ่ม
หายหน้าหายตาไป จนกระทั่ง เข็มวัดรอบ กวาดเข้าไปอยู่ในเขตแดน 4,000 รอบ/นาที เมื่อนั้นละครับ
ความรู้สึกสนุกของคุณ ที่มีมาก่อนหน้านี้ ก็จะหายวับไปทันที

มาไวกว่าเพื่อน แต่หมดดื้อๆ  ตามประสา เครื่องยนต์ดีเซลขนานแท้ และดั้งเดิมจริงๆ

สารภาพเลยว่า การทำความเร็วสูงสุดของ วีโก้ 2.5 พรีรันเนอร์ คันนี้ ผมต้องลุ้นกันตัวเกร็งไม่เบาเลยทีเดียว
เกร็งเพราะว่า เมื่อผ่านพ้น 140 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไปแล้ว ผมต้องถามตัวเองอีกทีว่า นี่โตโยต้า เขาจะล็อก
ความเร็ว ไว้ที่ 160 เหมือนอย่าง มาสด้า กับ ฟอร์ด หรือเปล่า?

จนมีจังหวะที่รถไหลลงสะพานช่วยเพิ่มแรงเข้าไปนั่นละครับ ถึงได้รู้ว่า โอเค รถไม่ได้ล็อกความเร็ว
แต่ว่า รถคันเนี้ย มันทำได้ และไปจนสุดแรงเกิดได้เท่าเนี้ยจริงๆ…175 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 4,00 รอบ/นาที เป๊ะ!
ที่เกียร์ 5 อันเป็นเกยร์สูงสุด อ่านจากมาตรวัด เหยียบกันจนตีนมิด หวิดทะลุเหล็กรถไปแล้ว

ขณะที่ รุ่น 3.0 Pre Runner เกียร์ธรรมดา ที่ผมเคยลองขับมาแล้วนั้น 185 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 3,900 รอบ/นาที
ที่เกียร์ 5 อันเป็นเกียร์สูงสุด อ่านจากมาตรวัดเช่นกัน 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมเจอก็คือ ระบบพวงมาลัย แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ พูดกันตรงๆก็คือ แม้จะเบาแรง
ในการพารถเข้าลัดเลาะในตรอกซอกซอย และไม่ได้ก่อปัญหาอะไรร้ายแรงเลย ขณะแล่นบนทางตรง ด้วยความเร็วสูง
แต่ ถ้าจะมองในแง่ การควบคุมรถแล้ว ระยะฟรีพวงมาลัย วีโก้ จะมีมากกว่าพวงมาลัยของ นาวารา แต่ไม่มากเท่า
ระยะฟรีของไทรทัน ซึ่งเยอะกว่าทั้งคู่นิดนึง

พวงมาลัยยังไม่ถือว่านิ่งเท่าที่ควร คือไม่ใช่ว่า ส่ายไปส่ายมาแบบ เป๋ซ้ายเป๋ขวาแบบนั้นหรอกครับ
คือ เมื่อปล่อยทางตรงไป รถจะยังคงวิ่งไปตรงทางดีแน่ๆ แต่วงพวงมาลัยนั้น มันไม่ถึงกับนิ่งขนาดนั้น

ถ้ามองในแง่ความแม่นยำ ความไว และการตอบสนอง ในการบังคับเลี้ยว พวงมาลัยของนาวารา จะถือว่าดีที่สุด
ในตลาด รองลงมา แม้ระยะฟรีจะเยอะ แต่ผมกลับมองว่า พวงมาลัยของไทรทัน ให้ความไว้ใจในการขับขี่ทางไกล
ดีกว่า วีโก้นิดนึง ขณะที่พวงมาลัยของวีโก้ จะอยู่ในเกณฑ์พอกันกัน ดีแมกซ์ โคโลราโด และแน่นอน
ทุกคันที่กล่าวมานี้ เป็นแร็คแอนด์พีเนียนทั้งหมด และแน่นอนว่า ตอบสนองได้ดีกว่าพวงมาลัยของ BT-50
กับเรนเจอร์ แบบไม่ต้องคิดมาก เพียงแต่ พวงมาลัยลูกปืนหมุนวน ของคู่แฝดรุ่นหลังนี้ ก็ไม่ได้เลวร้าย
จนไกลห่างคู่แข่งที่เหลือกันมากมายอย่างที่คิด

ไอ้ที่จะไกลห่างจากเพื่อนพ้องเค้าทั้งมวล จนอยากจะออกปากด่ามากๆ คือ พวงมาลัยของ Tata Xenon ต่างหาก….
ครั้น ตั้งสติได้ว่าเรากำลังพูดคุยกันเรื่องของ วีโก้ กันอยู่ ความคิดที่จะด่า ระบบการบังคับเลี้ยวของ ซีนอน ก็หมดไป
ไว้จะหาโอกาสจะเล่าถึง เจ้ารถกระบะ ลิงร้องเจี๊ยก รุ่นนี้ ให้ฟังกัน…

ระบบกันสะเทือนหน้า แบบ อิสระปีกนกคู่ พร้อมคอยล์สปริง และเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ
แหนบซ้อนและโช้คอัพทรงกระบอก ติดตั้งทแยงมุมกันพอขึ้นขับครั้งแรก ก็สัมผัสได้ถึงความ “แข็งกระด้าง”
แต่ เมื่อขับไปสักพัก ความทรงจำก็เริ่มไหลย้อนขึ้นมา ราวกับ กรดไหลย้อน จนสัมผัสได้ว่า ถ้าเทียบกับบรรดา
รถกระบะด้วยกันแล้ว ช่วงล่างด้านหน้าของวีโก้ พรีรันเนอร์ สมาร์ทแค็บ ก็ยังพอจะนุ่มกว่า นาวารา BT-50
และ Ranger นิดเดียว แต่ยังไม่นุ่มเท่ากับ ไทรทัน มากนัก ส่วนด้านหลัง แน่นอน ต้องเซ็ตเอาไว้ให้แข็ง
เพื่อรองรับงานบรรทุกเป็นหลัก ดังนั้น แทบทุกลูกระนาด ช่วงล่างด้านหลัง ก็ยังสะท้อนความแข็ง
เข้ามาให้สัมผัสกันถึงเบาะรองนั่ง เจอลูกระนาดลูกแรกๆเข้าไป แทบจุกเลยทีเดียว พอปรับตัวได้
ก็ค่อยยังชั่วขึ้น

ก็อย่างที่ผมเคยเขียนเอาไว้ในรีวิว ของ พรีรันเนอร์ รุ่นก่อน นั่นละครับว่า

“ระบบกันสะเทือน ยังพอให้ความมั่นใจในการเข้าโค้งได้ดี แต่อย่าเปลี่ยนเลนกระทันหัน ในช่วงความเร็ว
เกินกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง อีกทั้งถ้าคุณเป็นสุภาพสตรี ผมว่า เพื่อไม่ให้การกระเทือนส่งผลกระทบถึง
ภายในร่างกาย

การมองหาคู่แข่ง อย่าง อีซูซุ ดีแมกซ์ ไฮแลนเดอร์ หรือ เชฟโรเลต โคโลราโด Z71 Hi-Ride
และ มิตซูบิชิ ไทรทัน พลัส ดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า ครับ

อย่างน้อย ช่วงล่างของรถในตระกูล ไทรทัน พลัส และ i-190 193 / c190 193 ของอีซูซุ/เชฟวี ก็ยังมี
ระบบกันสะเทือนที่นุ่มนวลกว่า สำหรับคนขับ (แต่ในทางกลับกัน ก็ถือว่าเป็นสุดยอดแห่งความ
น่าเวียนหัวของคนนั่งด้านหลังของรถ เมื่อเดินทางไกล)

ส่วนระบบห้ามล้อ แบบหน้าดิสก์ หลังดรัม โดยใช้วาล์วปรับแรงดันน้ำมันเบรก LSPV แต่มี ระบบป้องกันล้อล็อก ABS
แถมมาให้ ในรุ่น 2.5 ลิตร VN-Turbo นี้ ก็ยังให้การตอบสนองที่ พอใช้งานได้ ในกรณีที่คุณไมได้ขับแบบตะบี้ตะบัน
รุนแรง ไม่ถนอมรถ หรือชีวิตคุณ ระบบเบรกธรรมดา แบบบ้านๆ ก็รองรับการใช้งานได้อยู่ การตอบสนองของแป้นเบรก
ก็ไม่ต่างจากรถรุ่นเดิม ที่ผมเคยลองขับทางไกลมาก่อนหน้านี้

ด้านการเก็บเสียง ก็ยังคงเป็นอีกปัญหาหนึง ที่ดูเหมือนยังไม่ได้รับการแก้ไข จากครั้งก่อนที่ผมเคยทำรีวิวไป
เมื่อ 4 ปีที่แล้ว คือ มันไม่เงียบอย่างที่รุ่น 4 ประตูเขาเงียบกัน แต่กลับมีเสียงอื้ออึง เสียงแรงปะทะเสา A-Pillar
ของกระแสลม ดังเข้ามาในห้องโดยสาร ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่อใช้ความเร็วเกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป 

 

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

ด้วยเหตุที่เจ้าของรถเองก็อยากจะรู้ว่า รถของตนหนะ จะกินน้ำมันกันสักประมาณไหนเชียว
ผมก็เลยอาสาจัดให้ ด้วยการนำรถคันนี้ เข้าสู่โปรแกรม ทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
อันเป็นมาตรฐานเดียวกันกับที่เราทำมาทั้งหมด 6 ปี แล้ว

โดยขับเข้าไปเติมน้ำมันที่สถานีบริการของเชลล์ ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS ปากซอยอารีย์
ถนนพหลโยธิน แต่เราเลือกเติม วี-เพาเวอร์ ดีเซล แม้ว่า ในรถรุ่น 2.5 IC นั้น เราจะเติม
น้ำมันดีเซลแบบธรรมดากันก็ตาม เหตุผลก็เพราะว่า เราต้องการจะเลือกใช้น้ำมันที่ดีที่สุด
ในตลาด เท่าที่เราพอจะหาได้ อีกทั้งยังต้องสะดวก ต่อการเติม และสะดวกต่อการขับขึ้นทางด่วน
ขั้นที่ 2 ยาวไปจนถึงสุดปลายสายเชียงราก แล้วเลี้ยวกลับ ขับย้อนเส้นทางเก่า กลับมาเติมน้ำมัน
ที่ปั้มเดิม และหัวจ่ายเดิม อีกครั้ง อันเป็นเส้นทางทดลองของเรา ตลอดมา

 
 

เติมกันจนเต็มถัง หัวจ่ายตัด จากนั้น จึงเขย่ารถ แล้วค่อยๆบรรจง กรอกน้ำมันลงไปเพิ่มเติม
สลับกับการเขย่ารถ อย่างสนุกสนาน จนกระทั่ง น้ำมันเต็มล้น ไม่อาจเติมลงไปได้อีกแล้ว
อย่างที่เห็นในภาพนี้

 
 

เมื่อพร้อมแล้ว เซ็ต 0 ที่ Trip Meter (รถรุ่นนี้ ให้มาครบทั้ง Trip Meter A และ B)
เราก็ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ นั่งประจำที่กันทั้ง ผมและเจ้าของรถ เราค่อยๆเคลื่อนตัว
ออกไปขึ้นทางด่วน ใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขับนิ่งๆ  เท้าขวานิ่งๆ
เลี้ยงคันเร่งไฟฟ้า ไม่ยากเย็นอย่างที่คิด แล้วค่อยเลี้ยวกลับ วกย้อนทางเดิม
ขับมาลงทางด่วนอีกครั้ง ที่ทางลงอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

 
 

จากนั้น เราก็ขับมุ่งหน้ากลับมายังปั้มน้ำมันแห่งเดิม ย้อนกลับไปเติมน้ำมัน
ที่หัวจ่ายเดิม และชนิดเดียวกันแน่นอน เด็กปั้ม กำลังเติม ผมก็ช่วยโยก(รถ)
กว่าน้ำมันจะอัดแน่นเข้าไปจนเต็มขนาดนี้ ต้องใช้เวลากันหลายสิบนาทีอยู่

 
 
ขอย้ำว่า เติมน้ำมัน และเขย่ากันจนกระทั่งน้ำมันอัดแน่นเข้าไปในถัง อย่างที่เห็น ทั้ง ตอนเริ่มต้นทดลอง และ ตอนเติมน้ำมันกลับ
เราทำอย่างนี้ต่อเนื่องกัน ในเวลาห่างกันเพีัยง 1 ชั่วโมง 
 
 
 
 เอาละ ถึงเวลามากดเครื่องคิดเลข กันแล้ว ว่าจะได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ในทริปนี้ เท่าไหร่กัน
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด บนมาตรวัด อยู่ที่ 92.4 กิโลเมตร
 
 
 ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 7.73 ลิตร
 
 

ตัวเลขที่หารออกมาได้ 11.95 กิโลเมตร/ลิตร

เฮ่ย! ทำไมเป็นอย่างนี้ละหว่า?
ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบตัวเลขกับคู่แข่งในตลาด ที่ผมเคยทำตัวเลขเก็เอาไว้ ตัวเลขก็ดูแปลกๆ

 

คำอธิบายจากผมในกรณีนี้ก็คือ มีความเป็นไปได้ว่า รถคันนี้ ยังสดใหม่อยู่
ผ่านมาแค่ 2,000 กิโลเมตรเท่านั้นเอง เมื่อเจ้าของยื่นกุญแจรถให้ผม

ดังนั้นการทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เพื่อที่จะให้ได้ค่าที่ตัวรถทำได้จริงๆนั้น
อาจต้องปล่อยให้เวลาผ่านไปอีกสักพักหนึ่ง แล้วค่อยกลับมาลองทำกันใหม่
หรือไม่ก็คือ จับมาทำการทดลอง 3 ครั้ง รวด ในวันเดียว หรือ 3 วันติดกัน
จากนั้น เอาตัวเลขมาหาค่าเฉลี่ยก็ย่อมได้

ผมไม่เชื่อเด็ดขาดว่า การเปลี่ยนเทอร์โบแปรผัน และการปรับปรุงชิ้นส่วนต่างๆ ภายในเครื่องยนต์
จะทำให้ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ 2.5 VN Turbo ด้อยกว่า รุ่น 2.5 IC เดิม
ไปได้มากถึงเกือบ 3 กิโลเมตร/ลิตรเช่นนี้

ขณะเดียวกัน ผมก็ไม่แปลกใจ ที่จะเกิดตัวเลขแบบนี้ออกมา

ก็ขนาด Honda City ใหม่ รถคันที่บ้านผมเอง ตอนทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงครั้งแรก
ยังทำได้ที่ระดับ 14.5 กิโลเมตร/ลิตร กันเลย จนต้องทดลองกันอีกถึง 2 รอบ
(ซึ่งก็ได้ 15 และ 16 กิโลเมตร/ลิตร) แล้วจึงนำมาหารหาค่าเฉลี่ย กันในภายหลัง

ดังนั้น ตัวเลขในครั้งนี้ สำหรับผม ถือว่า แม้รถจะทำได้จริง แค่ก็ยังคาใจอยู่
หากมีโอกาส เป็นไปได้ อาจจะต้องขอทำการทดลองเพิ่มเติมอีกสัก 1-2 ครั้ง
เพื่อหาค่าเฉลี่ยที่รถรุ่นนี้ ทำได้จริง

 
 

********** สรุป **********
***เครื่องใหม่ แรงขึ้น มันสะใจกว่าเก่า แต่มาไว หมดไว
แถมช่วงล่างยังคงแข็งกระด้าง ได้ใจคนท้องผูกบ่อยๆ เหมือนเดิม***

สำหรับผมแล้ว แค่เพียงวันเดียว ก็เพียงพอสำหรับการทำความรู้จัก รถกระบะ รุ่นใหม่ล่าสุด
ที่มาพร้อมขุมพลังใหม่ จากโตโยต้า

ก็เพราะในเมื่อ งานนี้ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ พุ่งประเด็นไปอยู่ที่การปรับปรุงสมรรถนะของเครื่องยนต์
พิกัด 2.5 ลิตร ให้มีพละกำลังเร่งแซงได้ดียิ่งกว่าเดิม และมุ่งหวังความประหยัดมากกว่าเดิม

แต่เนื่องจาก พอทดลองจับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแล้ว ผมยังมีข้อกังขา ดังนั้น จึงยังขอไม่สรุปในประเด็นนี้
และขอขึ้นไปแขวน HOLD เอาไว้ก่อน  จนกว่าจะมีโอกาสทดลองกันใหม่อีก 1-2 รอบ กับรถคันใหม่
หรือรถคันเดิมก็ได้ครับ

ดังนั้นจึงขอพูดถึงจุดเด่น กันก่อน งานนี้ ถือว่า โตโยต้า บรรลุเป้าหมายในการยกระดับสมรรถนะของ
เครื่องยนต์ 2.5 ลิตรกันแล้ว เร่งแซงได้ดีขึ้น จนเทียบเท่ากับรุ่น 3.0 ลิตร อย่างที่ โตโยต้าบอกไว้จริงๆ
เร่งแรง แซงได้ฉับไว สะใจกว่าเดิม โดยไม่ต้องเพิ่มเติมอะไรอีกแล้ว ผมค่อนข้างชื่นชอบสมรรนะ
ของเครื่องยนต์ 2KD-FTV เวอร์ชันนี้เอาเรื่อง อาจจะด้อยกว่ากันนิดเดียว ก็ตรงที่ว่า พอถึง
รอบประมาณ 3,700 รอบ/นาที พละกำลังก็เริ่มเหี่ยว แต่พอพ้น 4,000 รอบ/นาทีไปแล้ว
ไม่ว่าจะเหยียบคันเร่งจนจมมิด ตีนแทบจะทะลุไปยังห้องเครื่องยนต์ รถก็แทบไม่ค่อยจะไหลขึ้น
ไปมากกว่าเดิมเท่าใดเลย แรงบิดช่วงปลาย เหี่ยววววว สนิท ขนาดว่า เอาไวอะกร้า หมดโรงงานมาช่วย
คาดว่า ก็ไม่น่าจะกระปรี้กระเปร่า ได้มากกว่านี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม สำหรับ วีโก้แล้ว ผมยังยืนยันว่า เครื่องยนต์ คือสิ่งที่ดีที่สุดที่บรรจุอยู่ในตัวรถ ทั้งคัน
ขณะที่ส่วนอื่นๆ ของรถนั้น อยู่ในระดับ Averege หรือระดับปานกลาง บางด้านดีกว่าคู่แข่ง บางด้าน
ก็อยู่ในระดับเท่าเทียมกัน

 
 

รายการของ สิ่งที่ต้องปรับปรุง ที่ผมคาดหวังจะเห็น ในรุ่นปรับโฉม Big Minorchange ซึ่งน่าจะเกิดขึ้น
ราวๆปี 2011 ผมอยากเห็น ในประเด็นดังต่อไปนี้

– พวงมาลัย อันที่จริง ประเด็นนี้ ถือว่า อยู่ในระดับดีพอกันกับคู่แข่งแล้ว เพียงแต่ถ้าปรับระยะฟรี
ให้ลดลงอีกเพียงนิดเดียว ปรับปรุงการตอบสนองให้ ไวกำลังดี และไม่ล่าช้าจนเกินไปอีกนิดนึง
ก็จะดีใช้ได้แล้ว

– ช่วงล่าง ในรุ่น Pre Rnner แบบ Smart Cab นั้น ด้านหลังยังค่อนข้างแข็งไปนิด ขณะที่ด้านหน้า
ผมมองว่า กำลังดีแล้ว แต่ก็พอเข้าใจว่า ต้องปรับเซ็ต เพื่อรองรับการใช้งานของลูกค้า กลุ่มที่
จะต้องนำไปบรรทุกหนัก เป็นการส่วนตัวด้วย เหมือนเช่นในฉากของภาพยนตร์ เรือง
“ความจำสั้น แต่รักฉันยาว” ที่โตโยต้าไปเป็นสปอนเซอร์ให้เขานั่นละครับ

ดังนั้น ผมเลยยังขอยืนยันความเห็นเดิมว่า ช่วงล่างนั้น ด้านหน้าดีขึ้นแล้ว แต่ด้านหลังยังคงแข็งได้ใจ
เล่นเอาคนท้องไส้ไม่ดี เข้าห้องน้ำถ่ายออกได้พรวดๆๆๆ โดยไม่ต้องพึ่ง บรู๊คแลกซ์ หรือยาธาตุน้ำขาว
ตรากระต่ายบิน แต่อย่างใด

– ด้านระบบห้ามล้อ การปรับเซ็ต ให้เอาใจผู้คนส่วนใหญ่ เป็นเรื่องที่ยากมาก พอเข้าใจอยู่ แต่ถ้า
ยังสามารถปรับเซ็ตให้ การหน่วงความเร็ว ขณะเริ่มเหยียบเบรก จนถึงระดับที่ผู้ขับเหยียบแป้นเบรก
ไปแล้วครึ่งทาง ให้สัมผัสได้ถึงการทำงานของระบบเบรก เพิ่มกว่าที่เป็นอยู่อีกนิดเดียว อย่าเยอะ เอาเฉพาะ
แค่ช่วงนี้พอ เพียงเท่านี้ ก็ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ขับขี่ได้อีกมากโข โดยเฉพาะในหมู่คนขับรถ
ที่มีนิสัยไม่ดี ชอบขับเลียเบรกทั้งหลาย ข้างหน้าไม่มีอะไร พวกก็ยังจะเหยียบเบรก เพราะต้องการ
รักษาความเร็วของรถตัวเอง (–___–‘)  

– เบาะนั่ง ช่วยออกแบบใหม่ ให้มันนั่งสบายกว่านี้ ไม่ปวดหลังซะทีเถอะ เบาะวีโก้ รุ่นไหนๆ
นั่งแล้ว ตัวผม ก็จมฝังลงไปกับพนักพิง จนปวดหลัง เมื่อเดินทางไกลกันทุกที ถ้าเสริมการซัพพอร์ต
ด้วยฟองน้ำ บริเวณตอนกลางพนักพิง ให้หนาขึ้น รวมทั้ง ซัพพอร์ต ฟองน้ำ บริเวณบั้นเอว 2 ฝั่ง
มากขึ้นอีกนิด รวมทั้งตัวเบาะรองนั่ง ที่ควรจะเสริมความหนาของฟองน้ำ บริเวณต้นขาให้มากขึ้นอีกนิด
แค่นี้ คิดว่าน่าจะช่วยเพิ่มความสบาย และลดความเมื่อยล้าขณะเดินทางไกลไปได้พอสมควร

 
 

ถ้าถามว่า หากจะซื้อรถกระบะแบบขับสองยกสูง ในเวลานี้ คันไหนดีกว่ากัน?

– VIGO Pre Runner เด่นที่เครื่องยนต์ใหม่ อัตราเร่งแซงทันใจคนชอบขับเร็วแน่ๆ
   ทว่า ยังมีจุดให้ต้องปรับปรุง ทั้ง ช่วงล่าง พวงมาลัย เบาะนั่ง อย่างที่ร่ายมาข้างบนนี้  ซึ่งถือว่าเยอะอยู่นะ

– Navara Calibre ผมยงไมได้ลองขับ แต่จำจากที่เคยขับเวอร์ชันอื่นๆมา ต้องบอกว่า นอกจาก
  เด่นที่เครื่องยนต์แล้ว ยังเด่นที่งานวิศวกรมของตัวรถในภาพรวม แต่คุณก็ต้องแลกกับ
   บรรยากาศห้องโดยสารที่อึดอัดไปหน่อย อันนี้ แก้ไมได้ละ งานออกแบบเขามาแบบนี้ตั้งแต่ต้นเลย
  และช่วงล่างที่แข็งกระด้าง จนไม่รู้จะแข็งกันไปไหน

– Triton PLUS กรณีนี้ ตรงกันข้ามกับ วีโก้ คือ รถทั้งคัน ดีในเกือบจะทุกด้าน แถมให้ความคุ้มค่าต่างๆ
  เยอะจน ลูกค้าหลายคนชอบ ช่วงล่างก็นุ่มกว่า แต่เข้าโค้งมั่นใจได้พอกัน ห้องโดยสารสบายที่สุดในกลุ่ม
  ปลอดภัย สุด ด้วย 4 ดาวจากการทดสอบการชนโดย EuroNCAP ถึงในยุโรปเลย แต่ดันมาตกม้าตาย
  ที่พละกำลังของเครื่องยนต์ สู้วีโก้กับนาวาราไม่ได้ จริงๆ

– D-Max Hi-Lander / Colorado Z71 Hi-Ride ภาพรวมของตัวรถ ไม่เลวร้ายอย่างที่คิด เพียงแต่
  ช่วงล่าง นี่ก็นุ่มนิ่มเกินไปกว่าใครเขา นิ่มที่สุดในตลาด นิ่มจนแทบจะมึนหัว เวลาเดินทางไกล

– BT-50 / Ranger นี่ก็เอารถรุ่นเก่ามาปรับปรุงใหม่ และเข้าสู่ช่วงปลายอายุตลาดแล้ว แรงกำลังดี
   แต่ ล็อกความเร็ว แค่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อความปลอดภัยของลูกค้า นี่ ผมเห็นด้วย
   แต่ลูกค้าหลายคนไม่ชอบ บอกมายุ่งอะไรกับเท้าขวาฉันเนี่ย? พวงมาลัยลูกปืนหมุนวน
   ตอบสนอง อาจจะไม่เท่า แร็คฯ ของค่ายอื่น แต่ก็ยังดีกว่า ทาทา ซีนอน ไปหลายขุม

– Tata Xenon….จะให้เขียนจริงๆเหรอ? อย่าเลย….เดี๋ยวแขกอินเดียร้องไห้หนีกลับประเทศไป
  นายใหญ่ ราทัน ทาทา จะส่งอีเมล์ มาด่าข้าพเจ้าเอาง่ายๆกันพอดี แหะๆ ถ้าถามว่ามันแย่ขนาดนั้นเลยหรือ?
  แม้ว่าถ้าเอาเข้าจริง ก็คือแย่กว่าใครเพื่อนทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องทางที่จะปรับปรุงในระยะสั้น
  ให้ดีเทียบเท่ากับคู่แข่งได้ เพราะพื้นฐานเครื่องยนต์ที่ติดตั้งมา ก็ไม่เลวเลย ดีใช้ได้เหมาะสมกับ
  เมืองไทยแล้วด้วยซ้ำ ขึ้นอยู่แค่ว่า คนอินเดีย จะยอมเปลี่ยนทัศนะคติในการทำงานของตนเอง
  กล้ายอมรับความจริงกันเสียที หรือเปล่า เท่านั้นเลย!!

ทีนี้ ถ้าคุณตัดสินใจ้วว่า จะเอา วีโก้…หากมานั่งดูป้ายราคาของวีโก้ 2.5 VN Turbo ใหม่แต่ละรุ่นนั้น 
จะพบว่า มีรุ่นย่อยไม่เยอะ ทว่า แต่ละรุ่น ก็ติดตั้งอุปกรณ์มาให้ เท่าที่จำเป็น และไมได้เหลื่อมล้ำไปกว่ากัน
มากมายนัก ดังนี้

2.5 E  VN TURBO Smart-Cab  5MT  Pre-Runner     673,000 บาท
2.5 E  VN TURBO Smart-Cab  5MT  4WD               706,000 บาท
2.5 E  VN TURBO Double-Cab 5MT  Pre-Runner    755,000 บาท
2.5 E  VN TURBO Double-Cab 5MT  4WD              781,000 บาท

ถ้าจะถามว่า หากต้องซื้อจริงๆ จะซื้อรุ่นไหนดี
ผมคงไม่ต้องแนะนำมากมายครับ

เดินเข้าทุกโชว์รูมทุกยี่ห้อ ลองขับให้หมด เท่าที่จะทำได้ ขอแนะนำให้เลือกตามความจำเป็น กับการใช้งาน
ในชีวิตของคุณเป็นหลัก อย่าเพิ่งไปมองถึง ความคุ้มค่า หรือ ขอออพชันเยอะแยะจนเซลส์ส่ายหัว
เป็นประการแรก เพราะก่อนอื่น ผมอยากให้คุณ พุ่งประเด็นไปที่ การทดลองขับดูก่อน
ควรลองขับ แม้กระทั่ง รถที่ไม่ได้อยู่ในสายตาคุณมาก่อนเลย
เพราะการลองขับ คือวิธีเดียว ที่ดีที่สุด ที่จะทำให้คุณได้รู้ว่า

รถที่คุณหมายปอง มันเหมาะกับคุณ หรือไม่

——————————///———————————–

 
 

ขอขอบคุณ
ลูกค้า ผู้ติดตามอ่านบทความ ใน Headlightmag.com ผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่ง
ที่เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ และสละเวลามาร่วมทดลองรถของตนเอง กับผม เป็นเวลา 1 วัน

————————————————————————————————

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
11 กันยายน 2009 (ครบรอบ 8 ปี ของเหตุวินาศกรรม ตึก World Trade Center ใน New York)

Copyright (c) 2009 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com

September 11th,2009 (8th Years from the 9-11 World Trade Center Bldg. Collapse from Terrorist)

แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เชิญได้ คลิกที่นี่