พาดหัวรีวิวนี้ อ่านผ่านๆ อาจดูเหมือนว่า แร๊งแรง…ถ้าคิดเช่นนั้นจริง ขอแนะนำให้คุณ ไปโทษ เจ้า ชยากร บุญมา
(เจ้ากล้วยน้อย BnN แห่ง The Coup Channel ของเรานี่แหละ) เพราะเจ้าตัวเป็นคนตั้งชื่อพาดหัวในคราวนี้ให้ ใน
ระหว่างที่เรากำลังทำการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ SUV คันสีเทานี้ อยู่บนทางด่วน มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ
ยามบ่ายวันศุกร์ ที่การจราจรไม่ถึงกับติดขัดมากมายอย่างที่คิด

ชื่อนี้ มันมีที่มาย้อนหลังกลับไปถึงเรื่องราวเมื่อ 6 ปีที่แล้ว…

ใครที่ติดตามบทความรีวิวของผมมาตลอดตั้งแต่สมัยอยู่ในพันทิบ น่าจะพอจำได้อย่างเลือนลางว่า ครั้งหนึ่ง ไอ้ J!MMY
เนี่ยแหละ เคยได้รับ X3 รุ่นแรก ประกอบจากประเทศออสเตรีย มาลองขับ เมื่อช่วงกลางๆ ปี 2005 แล้วพบว่า X3 รุ่นเดิม
เป็น BMW ที่ไม่สมกับที่เกิดมาเป็น BMW เอาเสียเลย จนกระทั่ง ต้องตั้งชื่อพาดหัวรีวิวในครั้งนั้นไปว่า “เป็น BMW ที่
ไม่ประทับใจที่สุด ที่เคยลองขับมา!!” หรือเขียนให้เข้าใจง่ายๆก็คือ มันเป็น “BMW ที่ห่วยแตกที่สุด ที่เคยเจอมา”

รถบ้าอะไรก็ไม่รู้ แป้นเบรกกับคันเร่งเยื้องขวา พวงมาลัยกับมาตรวัด เยื้องซ้าย นั่งขับที ต้องนั่งในท่าที่เมื่อยตัวเป็นอันมาก
แถม แค่เวลาเลี้ยวขึ้นทางลาดชัน หรือขับผ่านลูกระนาด เสียงวัสดุในรถยังพร้อมใจกันดังลั่นกร๊อบแกร๊บ ไปหมดทั้งคัน
เวลาเลี้ยวเข้าโค้งแรงๆ หนักๆ ก็ยังเลี้ยวไม่เข้าง่ายๆ หน้าดื้อไปซะตั้งไกล กว่าจะยอมเลี้ยวเข้าให้ตามที่เราหักพวงมาลัย
แถมออพชันที่มีมาให้ ก็น้อยมากจนต้องถามว่า ดูถูกคนไทยไปหรือเปล่า? สรุปแล้ว ไม่ไหวอย่างรุนแรง

นั่นมันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2005 และนับจากวันนั้น ผมก็มีโอกาสได้ลองขับ X3 อีกเป็นครั้งที่ 2 คราวนั้น เป็น
รถประกอบในประเทศแล้ว และวางเครื่องยนต์ Diesel 4 สูบ 2.0 ลิตร Turbo ยกชุดมาจาก 320d และ 520d ซึ่งท้ายสุด
ผมมองว่า เครื่องยนต์นี่แหละ คือสิ่งที่ทำให้ X3 กลับมามีความน่าสนใจอีกครั้ง เพราะนอกเหนือจากนั้น รถทั้งคัน ก็เป็นรถ
ที่ดูไม่ค่อยสมราคา และไม่ค่อยน่าซื้อหามาใช้งานเท่าไหร่ จากราคา 3,299,000 บาท ที่ดูแพงเกินตัวไป แต่ออพชันแทบ
ไม่มีอะไรมาให้ อย่างที่ลูกค้าส่วนใหญ่อยากได้เอาเสียเลย วิทยุก็ยังให้มาเป็นแบบ Bussiness ที่คุณภาพเสียงยังสู้วิทยุ
ของ Honda City รุ่นปี 2008 ที่บ้านผมไม่ได้เลย (ไม่เชื่อ ไปลองได้ครับ ขอยืนยัน!)

ตอนนั้นก็ไม่ได้นึกอยากจะถือโทษอะไรหรอกครับ เพราะพอจะนึกออกว่า บริษัทที่ทำรถยนต์นั่งขับสนุกมาตลอดอย่าง
BMW เพิ่งเริ่มมีประสบการณ์ ในการสร้างรถยนต์ SUV (ที่พวกเขาอุตริเรียกมันว่า SAV : Sport Activity Vehicles) มาได้
เพียงแค่ ไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น กับรุ่น X5 ต่อจากนั้นไม่กี่ปี รุ่น X3 ก็คลอดออกมา ดังนั้น ความไม่ลงตัวในยุคสมัยที่นาย
Chris Bangle ออกแบบทิ้งไว้ให้ดูกันต่างหน้านั้น ก็เลยมีโผล่มาให้เห็นกันแทบจะทั้งคันรถ (นี่เรายังไม่นับว่า BMW
เคยมีประสบการณ์ทำรถยนต์ขับเคลือน 4 ล้อ มานาน 25 ปีก่อนหน้านั้นแล้วด้วยนะ)

เมื่อ 14 กรกฎาคม 2010 BMW เผยภาพถ่ายชุดแรกของ X3 ใหม่ออกมา ผมยังจำความคิดตัวเองในวันที่เห็นหน้าค่าตาของ
เจ้าเนี่ย ครั้งแรก ได้ว่า “เฮ้อ…อะไรกันเนี่ย ไฟหน้าทำไมมันขัดหูขัดตากับงานออกแบบภาพรวมทั้งคันเลยวะ? ดูแล้วแปลกๆ
มองหาความสวยไม่เจอเลยจริงๆ” ผมพอจะรู้แกวว่า เดี๋ยวอีกสักพักใหญ่ๆ BMW Thailand ก็จะสั่งรถรุ่นนี้เข้ามาประกอบขาย
ในบ้านเราแน่ๆ แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากนัก

เข็มนาฬิกาเดินผ่านไปเรื่อยๆ ตามเรื่องตามราวของมัน งาน Bangkok International Motor Show อันเป็นงานแรกที่ X3 ใหม่
ถูกเปิดผ้าคลุมต่อหน้าลูกค้าชาวไทย ผ่านพ้นไป หลังจากนั้นไม่นาน ทริปสำหรับผู้สื่อข่าวสายรถยนต์ถูกจัดขึ้น ที่เชียงราย
พี่ไหม PR แม่ลูกสองประจำค่าย เลือกที่จะไม่ชวนผมไป เพราะพี่ไหมรู้ดีว่า ผมไม่ค่อยชอบไปร่วมทริปขับรถไกลๆเท่าไหร่

ดังนั้น พอทริปที่ว่าผ่านพ้นไป โดยไม่ได้คาดคิด พี่ไหมก็ส่ง E-Mail มาถามว่า “สนใจจะเอา X3 ไปขับไหม?”

อันที่จริง ก็ออกจะเกรงใจพี่ไหม และ BMW Thailand อยู่ไม่น้อย เพราะตั้งแต่ต้นปีมานี้ ยืมรถมาขับหลายคันแล้ว ยังไม่ได้
เอารีวิวขึ้นเลยสักคันเดียว เพราะติดคิวนั่นคิวนี่ ลัดคิวบ้าง อะไรบ้าง แล้วรถ BMW ระยะหลังๆมานี้ รายละเอียดข้าวของที่
ใส่มาให้ในรถเยอะขึ้น รีวิวก็จะต้องทำออกมาละเอยด และยาวขึ้น มันเลยใช้เวลานานขึ้น ในการเตรียมงาน

(ประมาณว่า อ้างไปเรื่อย ว่างั้นเถอะครับ แหะๆ)

แต่เอาน่า ในเมื่อ มีโอกาสให้นำมาลองกันถึงบ้าน ก็ควรจะรีบไปรับ ขับกลับมาทำรีวิวให้คุณได้อ่านกันสักหน่อย ก็เลย
เดินทางไปยังซอยต้นสน ไปรับเจ้าเทาฟ้าคันนี้มาอยู่ด้วย…

และผมเองก็ไม่ได้คาดคิดหรอกครับว่า ในที่สุด 4 วัน 3 คืน ที่ผ่านมา ผมจะเกิดอาการตกหลุมรัก SUV หน้าตาพิกลคันนี้
ขึ้นมาดื้อๆ!! ลืมไปเลยว่าเคยด่า X3 รุ่นเก่าเอาไว้อย่างไรบ้าง เหมือนกับมารู้จักรถคันใหม่ ที่แทบไม่เหลือเรื่องแย่ๆให้ได้
ก่นด่ากันอย่างที่เคยเป็นมา แล้วก็ลงท้ายด้วยความคิดที่ว่า “ไม่อยากส่งคืนกุญแจรถคันนี้คืนเลยจริงๆพับผ่า!”

X3 ใหม่ ทำให้ผมรู้สึกดี ได้มากขนาดนี้เชียวเหรอ?

อยากรู้? ตามมาอ่านดูกันครับ!

BMW มีความคิดที่จะทำ SUV ขายตามกระแสความนิยมที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 หลังจากปล่อย
X5 อันเป็น SUV หรือ SAV รุ่นแรกของตน ที่พัฒนาขึ้นบนพื้นตัวถังและงานวิศวกรรมร่วมกับ ซีรีส์ 5 รุ่น E39 (1995 – 2003)
ออกสู่ตลาดเรียบร้อย และเก็บกวาดยอดขายเป็นกอบเป็นกำไปแล้วนั้น BMW ก็เริ่มเล็งว่า ควรเริ่มพัฒนา SUV ที่มีขนาดเล็กลง
กว่า X5 มาอุดช่องว่างกันสักหน่อย จะดีกว่า

คิดการณ์ได้ดังนั้น พวกเขาก็เริ่มซุ่ม นำพื้นตัวถังและงานวิศวกรรมของ BMW ซีรีส์ 3 ยอดรถยนต์ Premium Compact Sedan
ขายดีของตน มาปรับปรุงใหม่ โดยนำช่วงล่างด้านหลัง ของรุ่น 330Xi E46 มาสวมเข้าไป และติดตั้งระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ
กระจายแรงบิดตามรูปแบบการขับขี่ ที่เรียกว่า xDrive มาติดตั้งให้ด้วย

ในงาน Detroit Auto Show มกราคม 2003 BMW เผยโฉมเวอร์ชันต้นแบบของ X3 รุ่นแรก สู่สายตชาวโลกในชื่อ BMW xActivity
ซึ่งก็คือ X3 ที่ไม่มีเสากรอบประตู แถมหลังคาก็ยังเปลือยเปล่า ประตูห้องเก็บของด้านหลัง ก็เปิดออกในแบบเดียวกับ Honda Civic
3 Door รุ่น EG นั่นเอง

หลังจากนั้น BMW ก็เผยแพร่ภาพถ่ายคันจริงของ X3 รุ่นแรก รหัสรุ่น E83 ออกสู่สายตาสาธารณชนครั้งแรกเมื่อ 17 มิถุนายน 2003
ก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในงานแฟรงค์เฟิร์ตมอเตอร์โชว์ กันยายน 2003 และเริ่มทำตลาดจริงในยุโรป ต้นปี 2004 ก่อนจะ
เริ่มถูกส่งเข้ามาขายในบ้านเรา โดย BMW Thailand ช่วงปลายปี 2004 โดยที่รถในล็อตแรกๆ ถูกนำเข้ามาจากโรงงานของบริษัท
Magna Steyr Fahrzeugtechnik AG & Co. KG (MSF) จากเมือง Graz ในประเทศ Austria (ขอย้ำ ออสเตรีย ไม่ใช่ออสเตรเลีย)
ซึ่งเป็นผู้ผลิตที่ BMW ว่าจ้างให้มาช่วยพัฒนา และเป็นตั้งสายการผลิตของรถรุ่นนี้เป็นพิเศษ

ส่วนรุ่นปรับโฉม Minorchange นั้น เผยโฉมครั้งแรกเมื่อ 14 มิถุนายน 2006 และเปิดตัวพร้อมขายในยุโรป เมื่อ 5 กันยายน 2006
จากนั้น 23 กรกฎาคม 2007 BMW ก็นำเครื่องยนต์ N47 4 สูบ Diesel 2.0 ลิตร Common Rail Turbo 177 แรงม้า (BHP) มาวาง
ลงใน ตระกูล X3 ในชื่อ X3 xDrive20d และหลังจากนั้นไม่นานนัก รถรุ่นนี้ ก็ถูกนำเข้ามาประกอบที่โรงงานของ BMW ใน
เมืองไทย หลังงาน Bangkok International Motor Show มีนาคม 2008 ไม่นานนัก

X3 รุ่นแรก E83 ถือเป็นรถยนต์ที่ทำยอดขายให้กับ BMW ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ กลายเป็นรถยนต์รุ่นขายดี อันดับ 3 ของผู้ผลิต
รถยนต์จากเมืองมิวนิค เยอรมันี รายนี้จนแฮปปี้สุดแสนจะปรีดา ปี 2004 อันเป็นปีแรกที่ออกสู่ตลาด X3 ถูกผลิตขึ้นทั้งหมดมากถึง
92,248 คัน ปี 2005 เพิ่มเป็น 110,719 คัน ปี 2006 เพิ่มขึ้นอีกเป็น 114,000 คัน พอปี 2007 ลดลงเล็กน้อยเหลือ 111,879 คัน
ปี 2008 ลดลงเหลือ 84,440 คัน แต่พอเข้าสู่ปี 2009 ยอดผลิตก็ลดฮวบเหลือ 55,634 คัน อันเป็นปลายอายุตลาด

รวมแล้ว  X3 ถูกผลิตออกมาทั่วโลกจนถึงสิ้นปี 2009 ทั้งหมด 568,920 คัน ยังไม่รวมปี 2010 เข้าไปด้วยแต่อย่างใด แต่ถ้ารวม
เข้าไปด้วยแล้ว ตัวเลขน่าจะอยู่ที่ระดับ 600,000 คัน โดยประมาณ

ยอดขายในสหรัฐอเมริกาเองก็เป็นตัวบ่งบอกทิศทางถึงอนาคตได้ ปี 2004 ขายได้ 34,604 คัน ปี 2005 ขายได้ 30,769 คัน ปี 2006
ขายเพิ่มขึ้นอีกนิดเป็น 31,291 คัน ปี 2007 ร่วงเล็กน้อย เหลือ 18,058 คัน ปี 2008 ลดฮวบหายไปครึ่งหนึ่ง เหลือ 17,622 คัน พอปี
2009 หล่นหายหนักกว่าเดิม เหลือแค่ 6,067 คัน ปี 2010 ที่ผ่านไป เหลือแค่ 6,075 คัน สรุปแล้ว จนถึงสิ้นปี 2010 BMW ขาย X3
รุ่นเดิมในสหรัฐอเมริกาไปได้มากถึง 144,486 คัน หรือประมาณ 1 ใน 4 จากยอดผลิตทั้งหมดทั่วโลก

31 สิงหาคม 2010 คือวันสุดท้าย ที่โรงงานของ Magna Styre ใน Austria ได้ทำหน้าที่ประกอบ X3 รุ่นแรก จนเสร็จสมบูรณ์ X3
2 คันสุดท้าย ไหลออกมาจากสายการผลิต เราคงต้องบันทึกเอาไว้สักหน่อยว่า X3 เจเนอเรชันแรก คันสุดท้าย เป็นรุ่น xDrive 35i
สีแดง Vermilion red metallic รถคันนี้ จะเป็นรถประจำตำแหน่งของผู้บริหาร บริษัท Magna Steyr company ส่วนรถอีกคันหนึ่ง
คือ BMW X3 xDrive20d สีขาว พร้อมอุปกรณ์กู้ชีพฉุกเฉิน ที่คลอดออกจากสายการผลิต เป็นคัน “รองสุดท้าย” ถูกบริจาคให้กับ
หน่วยงานการกุศลไม่แสวงหาผลกำไร เพราะตลอดอายุตลาดที่ผ่านมา ในยุโรป X3 กลายเป็นรถยนต์รุ่นหนึ่งที่ทางตำรวจ และ
หน่วยงานทางการแพทย์ นำไปใช้ในฐานะรถกู้ชีพฉุกเฉินกันเป็นจำนวนไม่น้อย BMW เลยมองว่า ในวันสิ่นสุดการทำตลาด
พวกเขาก็ควรจะให้ X3 รุ่นเดิม ได้ทำหน้าที่นี้ต่อเนื่องกันไปจนถึงที่สุด

ตลอด 7 ปีก่อนหน้านั้น BMW X3 รุ่นแรก ทำยอดผลิตที่โรงงาน magna Strye ในเมือง Graz เพียงแห่งเดียว รวมทั้งสิ้น 605,498 คัน
ขณะเดียวกัน ก็มีการส่งชิ้นส่วนสำเร็จรูป CKD (Completely Knocked Down) ไปยังโรงงานใน Russia, Egypt และที่จังหวัดระยอง
ในประเทศไทยของเรา จนทำให้มียอดผลิตสะสมรวมของ X3 รุ่นแรก อยู่ที่ 614,824 คัน

ตัวเลขยอดผลิตและยอดขายทั้งหมด มากพอจะเป็นส่วนหนึ่งของ เหตุผลชั้นดี ที่ช่วยให้ผู้บริหารที่มิวนิค ตัดสินใจ เดินหน้า 
เปิดไฟเขียว อนุมัติ โครงการพัฒนา X3 รุ่นต่อไป ภายใต้รหัสโครงการ F25

งานออกแบบยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของ BMW Head of Design คนใหม่ ที่ชื่อ Adrian van Hooydonk หรือที่ผมเรียกเล่นๆว่า
อีตา หอยดอง นั่นเอง เขาเล่าว่า จากเส้นสายตัวถังของ X3 รุ่นก่อน คราวนี้ เราอยากจะเสริมเพิ่มเติมเต็มในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ
จุดเด่นของการออกแบบ x3 ใหม่อยู่ที่ เส้นสายด้านข้าง เราได้ ออกแบบให้มีเส้น คาดข้าง ในแบบที่ช่วยทำให้ตัวรถดูโฉบเฉี่ยว
ยิ่งขึ้น อีกทั้งยังแสดงออกถึงความละเอียดและแม่นยำในเชิงวิศวกรรม ผมมองว่า มันทำให้ตัวรถดูสปอร์ต และเบากว่ารถรุ่นเดิม

Erik Goplen จาก BMW Designworks USA (คนที่อยู่ในรูปแรก กำลังเล็งบั้นท้ายของรถนั่นละครับ) ผู้ที่เคยออกแบบ BMW
3 Series ตัวถัง E46 ในยุคของ Chris Bangle มาแล้ว รับหน้าที่ออกแบบเส้นสายภายนอกของ X3 ใหม่ เขาเล่าว่า “เส้นสายของ
X3 ใหม่ จะเข้ากันได้ดีกับหลากหลายสภาพภูมิทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นบนถนนใน Autobahn บนถนนในเมือง หรือในไร่ปศุสัตว์
มันคือการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างรูปลักษณ์ และการใช้งาน ในระหว่างที่เราออกแบบ X3 เรารู้ดีว่า X1 กำลังจะมาเป็น
น้องใหม่ในตระกูล และทำหน้าที่แทน X3 ดังนั้น เราจึงมีแนวทาง ที่จะสร้าง X3 ใหม่ ให้ใหญ่ขึ้น และดูมั่นใจยิ่งขึ้นกว่าเดิม”

อันที่จริง เว็บไซต์ autoevolution.com มีโอกาสดีมากๆที่ได้สัมภาษณ์ Erik Goplen ผมไม่แน่ใจในเรื่องการแปลว่าจะมีปัญหา
เรื่องลิขสิทธิ์หรือไม่ ผมจึงตัดสินใจที่จะ นำ Link มาแปะไว้ตรงนี้ให้คุณเข้าไปอ่านดูในยามว่างเลยดีกว่า เผื่อว่าจะได้เข้าใจ
แนวทางการออกแบบของ ชายคนนี้มากขึ้น เพราะเขานี่แหละ ที่น่าจับตามอง ในฐานะ มือหนึ่งของการออกแบบ BMW
ในยุคที่นำโดยอีตาหอยดอง โดยไร้เงาของ Chris Bangle ชายที่สร้างความหฤหรรษ์ให้งานออกแบบของ BMW อยู่พักใหญ่
www.autoevolution.com/news/exclusive-interview-with-bmw-x3-f25-designer-erik-goplen-25184.html

นอกจากงานออกแบบแล้ว BMW ยังคิดใหม่ทำใหม่ในระหว่างการทดสอบสมรรถนะ ก็คือ การเชิญสื่อมวลชนในยุโรป
และสหรัฐอเมริกาบางราย ไปร่วมทดลองขับ รถต้นแบบ ระดับ Pre-Production กันบนท้องถนนชนบทของเยอรมันจริงๆ
ด้วยรถที่พรางตัวแบบให้พอแล่นได้โดยที่ยังไม่เห็นรายละเอียดการออกแบบในส่วนสำคัญ ทั้งไฟหน้า และบั้นท้ายทั้งหมด
เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2010 ก่อนการเผยโฉมภาพถ่ายรถรุ่นพร้อมจำหน่ายจริง 1 เดือน

และถ้าคุณคิดว่า แค่การออกแบบ และการทดสอบ แถมยังให้สื่อมวลชน (ต่างชาติ) ได้ลองขับก่อนเปิดตัวด้วย มันยังไม่พอละก็
คราวนี้ BMW ยังคิดใหม่ ทำใหม่ต่อเนื่อง ด้วยการตัดสินใจ ย้ายฐานการผลิตของ X3 ไปไว้รวมกับทั้งรุ่น X5 และ X6 ณ โรงงาน
BMW US Manufacturing Co. ในเมือง Spartanburg มลรัฐ South Carolina สหรัฐอเมริกา ด้วยงบลงทุนในส่วนต่อขยาย
เพิ่มเติมอีกถึง 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้โรงงานแห่งนี้กลายเป็นฐานผลิต SUV ทุกรุ่น ของ BMW (ไม่นับ X1) ป้อนสู่
ตลาดโลกอย่างสมบูรณ์แบบ

การย้ายฐานผลิต X3 มาที่สหรัฐอเมริกานั้น เหตุผลหลักก็คือ ยอดขายของ X3 ในสหรัฐอเมริกานั้น มากที่สุด เมื่อเทียบกับ
ยอดขายที่ได้จากทุกประเทศในโลก ถ้าย้ายมาผลิตที่นั่นได้ จะทำให้ค่าขนส่ง ต้นทุนการผลิตต่างๆ ลดต่ำลงได้ไม่น้อย
และกำไรต่อคัน ก็จะเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ยังสามารถทำราคาขายได้ ไล่เลี่ยกับรุ่นเดิม

โรงงานแห่งนี้ ถูกประกาศสู่สาธารณชนว่าจะก่อสร้างขึ้น บนที่ดินขนาดใหญ่ถึง 1,039 เอเคอร์ ริมทางหลวงแผ่นดินสหรัฐฯ สาย
Interstate 85 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 1992 และมี พิธีเปิดหน้าดิน (หรือถ้าบ้านเราคงเรียกว่า วางศิลาฤกษ์) เมื่อ 30 กันยายน
ในปีเดียวกัน พอวันที่ 6 เมษายน การก่อสร้างตัวอาคารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เริ่มขึ้น วันที่ 4 มกราคม 1994 BMW เริ่มรับสมัคร
พนักงานที่จะร่วมงานในโรงงานแห่งนี้ 11 กรกฎาคม ปีเดียวกัน โรงงานก็พร้อมเสร็จสมบูรณ์ และเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย ก็เริ่มงาน
กันในวันนั้น อีก 2 เดือนต่อมา 8 กันยายน 1994 BMW 318i รุ่น E36 รถยนต์ BMW รุ่นแรก และคันแรกจากฝีมือชาวอเมริกัน
ก็คลอดออกจากสายการผลิตสำเร็จ วันที่ 2 มีนาคม 1995 BMW 318i ล็อตใหญ่ พร้อมทำตลาดจริงล็อตแรก ถูกส่งออกไปจาก
โรงงานแห่งนี้ ถือเป็นระยเวลาเร็วที่สุดในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ สำหรับการสร้างโรงงานใหม่จนพร้อมผลิตรถขายจริง

12 กรกฎาคม 1995 โรงงานแห่งนี้ ก็ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 9002 อันโด่งดังในยุคสมัยนั้น และวันที่ 20 กันยายน 1995
BMW Z3 คันแรก ก็ออกจากสายการผลิตของโรงงาน Spartanburg ถือเป็นรถยนต์รุ่นที่ 2 ที่ทำคลอดโดยดรงงานแห่งนี้ จากนั้น
เดือนกันยายน 1999 โรงงานแห่งนี้ก็เริ่มผลิต X5 รุ่นแรกอย่างเป็นทางการ

28 มิถุนายน 2002 รถสปอร์ต Z3 คันสุดท้ายออกจากสายการผลิตไป และหลังจากนั้น 22 ตุลาคม ปีเดียวกัน Z4 ใหม่ ก็เริ่มคลอด
ออกจากสายการผลิตเป็นคันแรก เวลาผ่านไป หลายเหตุกาณณ์ก็เกิดขึ้นตามไปด้วย 22 กันยายน 2008 การผลิต X5 รุ่นแรกยุติลง
จากนั้น อีกไม่กี่วันถัดมา (28 กันยายน 2008) X5 ใหม่ เจเนอเรชัน 2 ก็คลอดออกจากสายการผลิตที่นี่ วันที่ 3 ธันวาคม 2007
BMW X6 ก็เริ่มต้นผลิตออกจากโรงงานแห่งนี้ ข้ามมาถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2008 Z4 รุ่นแรก คันสุดท้าย ก็ถูกปิดฉากการผลิตลง
ณ โรงงาน Spartanburg

กว่า 15 ปีที่เริ่มเปิดดำเนินการ โรงงาน BMW US Manufacturing แห่งนี้ นอกจากจะมีการขยายพื้นที่เพิ่มเป็น 1,150 เอเคอร์ และ
เพิ่มจำนวนพนักงานจนมากกว่า 7,000 คนในปัจจุบันแล้ว ยังผลิตรถยนต์ทั้ง 318i E36 Saloon Z3 (รวมทั้ง Roadster Coupe & M)
Z4 (ทั้งเวอร์ชันธรรมดา และ M) X5 X6 (ทั้งเวอร์ชันธรรมดาและ M) รวมแล้ว มากเกินกว่า 1.5 ล้านคัน เฉพาะ X5 อย่างเดียว ก็
ปาเข้าไปเกิน 1 ล้านคันแล้ว X5 ถือเป็นรถยนต์รุ่นที่ทำรายได้ให้โรงงานแห่งนี้มากที่สุดมาช้านาน แต่หลังจากนี้ X3 ใหม่ ก็จะร่วม
ทำหน้าที่เดียวกันนี้ เคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับ X5

สายการผลิตของ X3 ใหม่ ถูกย้ายมาจาก โรงงานเก่าในออสเตรีย และเริ่มทำคลอด X3 ใหม่คันแรกเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2010
ทีผ่านมา และเพียงแค่นับจากวันแรกของปี 2011 จนถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา X3 ใหม่ ถูกผลิตออกจากโรงงานแห่งนี้แล้ว
มากถึง 10,563 คัน

ในที่สุด X3 ใหม่ รหัสรุ่น F25 ก็เผยโฉมอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2010 ผ่านทาง Internet และพร้อมสำหรับเริ่ม
ทำตลาดในเยอรมัน วันที่ 20 พฤศจิกายน 2010 แม้จะเป็นการเปิตตัว ที่แตกต่างไปจากธรรมเนียมปฏิบัติไปสักหน่อย เพราะปกติ
ที่ผ่านมา ผู้ผลิตส่วนใหญ่ มักจะใช้เวทีงานแสดงรถยนต์ ในการเปิดตัวรถยนต์ของตน เพราะช่วยประหยัดงบประชาสัมพันธ์ลง
ได้ส่วนหนึ่งเลยทีเดียว แต่ในคราวนี้ BMW เลือก เปิดตัว X3 ใหม่ ในช่วงกลางปีที่แล้ว ก่อนหน้างานแสดงรถยนต์ Paris Auto
Salon ถึง 2 เดือน

และหลังจากนั้น พวกเขาก็โหมสารพัดแคมเปญการตลาด ทั้งการจัด The X3 Game อันเป็นแคมเปญในลักษณะคล้ายๆกับ การหา
ผู้กล้า มาแข่งขันภาระกิจตะลุยต่างๆ เป็นแคมเปญสำหรับตลาดยุโรปเท่านั้น รวมทั้งการทำตลาดบนโลกไซเบอร์ ผ่านทาง iPad iPhone
หรือแม้กระทั่ง การได้รับรางวัลด้านการออกแบบยอดเยี่ยม Red Dot Award และการคว้ารางวัล Four-Wheel Drive Car of the Year
2011 จากนิตยสาร Autp Bile Allrad ในเครือของนิตยสาร Auto Bild และ Bild ในเยอรมัน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2011 ที่ผ่านมา

ดูเหมือนว่า X3 ใหม่ จะออกสตาร์ตได้สนวย จากจุดเริ่มต้นกันเลยทีเดียว

ในเมืองไทย BMW Thailand เลือกให้งาน Bangkok International Motor Show เมื่อ เดือนมีนาคม 2011 ที่ผ่านมา เป็นเวทีแรก
ที่พวกเขาใช้เปิดตัว X3 ใหม่ สู่สายตาสาธารณชน และในช่วงแรกนั้น รถที่มีอยู่ในเมืองไทยทั้งหมด จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม จะเป็น
รถรุ่นประกอบนอก จากโรงงานในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีอยู่ไม่มากนัก หนึ่งในนั้น เป็นรถคันที่คุณเห็นอยู่ในรีวิวนี้ รวมทั้งรถที่ตัดออกมา
ให้่ใช้เป็นรถสำหรับทำทริปทดลองขับของสื่อมวลชน ทราบว่ามี 6 คัน แต่เราไม่อาจรู้ได้ว่า รถล็อตนำเข้านี้ จะมีทั้งหมดกี่คัน เพียงแต่
พอจะคาดเดาได้ว่า เต็มที่สุด ไม่น่าเกิน 10 – 20 คัน

ดังนั้น ในช่วงนี้ ลูกค้าที่สั่งจองไปก่อนหน้า อาจจะยังไม่ได้รับรถในทันที เพราะต้องรอให้ X3 ใหม่ ขึ้นสายการผลิตที่โรงงาน BMW ระยอง
เสร็จสิ้นเสียก่อน จึงจะเริ่มปล่อยรถให้กับลูกค้า ในช่วงปลายไตรมาส 3 ปี 2011 นี้เป็นต้นไป และนั่นเท่ากับว่า ลูกค้าที่รับรถตั้งแต่เดือน
สิงหาคม – กันยายน เป็นต้นไป จะได้รับรถประกอบในประเทศ ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของตัวรถที่จะทำตลาดในเมืองไทย สำหรับรุ่น Highline จะเหมือนกับรถนำเข้า คันที่เรานำมาทดลองขับกันนี้
แทบทุกประการ ดังนั้น สิ่งที่คุณจะได้อ่านทั้งหมดในรีวิวนี้ จึงสามารถอ้างอิงได้กับรถประกอบในประเทศล็อตแรกๆทุกคันเช่นกัน

X3 ใหม่ มีตัวถังยาว 4,648 มิลลิเมตร กว้าง 1,881 มิลลิเมตร สูง (ไม่รวมเสาอากาศ) 1,661 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,810 มิลลิเมตร
ถ้าจะต้องเปรียบเทียบให้คุณผู้อ่านเห็นภาพกันว่า แตกต่างจากรถรุ่นเดิม รวมทั้ง X1 และ X5 ทั้งรุ่นเก่า และรุ่นปัจจุบันอย่างไร
ทั้ง 2 ภาพ ข้างบน และข้างล่างนี้ คงสามารถอธิบายทุกอย่าง ได้ละเอียดกว่าผมครับ

จะเห็นได้ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับรถรุ่นก่อน X3 ใหม่จะมีขนาดใหญ่โตขึ้นกว่าเดิมในทุกด้าน โดยมีความยาวเพิ่มขึ้น 83 มิลลิเมตร
ความกว้าง เพิ่มขึ่้น 28 มิลลิเมตร ความสูงไม่รวมเสาอากาศเพิ่มขึ้นแค่ 1 มิลลิเมตร ส่วนฐานล้อยาวเพิ่มขึ้น 15 มิลลิเมตร นั่นส่งผล
ให้พื้นที่ใช้สอยในห้องโดยสารก็ถูกขยายขนาดเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งพื้นที่ส่วนศีรษะ, ส่วนหัวไหล่, ส่วนหัวเข่า และพื้นที่วางขา

 

และยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ บรรดา SUV ทุกรุ่น ที่ BMW ผลิตอยู่ในตอนนี้ คุณจะเห็นความแตกต่างของขนาดตัวถังในแต่ละตระกูล
ชัดเจนยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่า X1 มีขนาดตัวถังที่นอกจากจะเล็กกว่า จนแทบจะเท่ากับขนาดของ 3 Seriese Touring Wagon แล้ว ยังมี
ระยะฐานล้อ 2,760 มิลลิเมตร มีความยาวทั้งคัน 4,454 มิลลิเมตร และมีความสูงเพียง 1,573 มิลลิเมตร ซึ่งทำให้ X1 ยังรั้งตำแหน่ง
 SUV ของ BMW ที่มีตำแหน่งเบาะนั่งทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เตี้ยที่สุดในตระกูลอีกด้วย

ขณะที่พี่เบิ้มอย่าง X5 มีระยะฐานล้อยาวถึง 2,933 มิลลิเมตร ความยาวทั้งคัน 4,854 มิลลิเมตร และความสูง 1,766 มิลลิเมตร และ
มีตำแหน่งเบาะนั่งสูงที่สุด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ตัวเลขของ X3 จะแทรกตัวอยู่ตรงกลางระหว่าง SUV ทั้ง 2 ตระกูลชัดเจน

Erik Goplen กล่าวว่า “เป้าหมายของผม คือ การสร้างสรรค์ BMW X3 ใหม่ ให้มีแสงและเงาที่เต็มเปี่ยมด้วย ชีวิตชีวา 
โดยเน้นรูปทรง เส้นสาย ความคมชัดบนพื้นผิวเน้นเอกลักษณ์ของความเป็น X ซีรี่ส์ใหม่”

ถ้าเช่นนั้น เราต้องมาดูกันแล้วละว่า ในเมื่อ ผมมองหาความสวยงามในรถรุ่นที่แล้วไม่เจอเอาเสียเลย เพราะมันเต็มไปด้วย
ความไม่ลงตัวอยู่ค่อนข้างมาก  มาคราวนี้ Golpen จะจัดการยกระดับงานออกแบบ X3 ใหม่ได้ดีแค่ไหน?

จากที่ผมเดินวนดูรอบรถ เพื่อหามุมถ่ายรูป ผมพบความจริงข้อหนึ่งที่ว่า ถ้าคิดจะถ่ายรูป X3 ใหม่ให้สวย คุณต้องยืนอยู่ใน
ระยะห่างจากตัวรถอย่างเหมาะสม ถ้าอยู่ใกล้เกินไป รถจะดูบึกบึนใหญ่เบ้อเร่อ เหมือนพี่ชายของมันอย่าง X5 แต่ถ้ายืนอยู่
ห่างไกล แล้ว Zoom ด้วยเลนส์ของกล้องเข้ามา รถจะดูจืดขืด แบนๆ และไม่มีเสน่ห์เอาเสียเลย ดังนั้น ควรจะยืนเข้าใกล้
ตัวรถในระยะที่พอดีๆ พอให้เห็นมิติชัด ลึก คุณจึงจะเห็นความสวยของเส้นสายภาพรวม ที่ลอยออกมาให้ได้สัมผัสกัน

ด้านหน้าของรถ ดูเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น มีพื้นที่ขนาดกระจังหน้า และไฟหน้าเพิ่มขึ้น ชุดไฟหน้าเป็นแบบ Xenon ทั้งไฟต่ำ และ
ไฟสูง มีระบบเพิ่มความสว่างขณะเลี้ยวพวงมาลัยมาให้ คุณคงต้องสังเกตนิดนึงในตอนใช้งานช่วงกลางคืน หรือบนลานจอดรถ
มีไฟตัดหมอกมาให้ ฝังไว้ในเปลือกกันชน สิ่งที่ผมไม่ชอบเอาเสียเลยคือ ไฟหน้าของมัน อาจจะดูสวยงาม หากมองจากภาพ
หน้าตรง แต่เมื่อต้องมองพร้อมกับส่วนอื่นๆของรถ ในมุมเฉียง มันไม่ค่อยจะเป็นหนึ่งเดียวกันไปกับเส้นสายที่โฉบเฉี่ยว
เพราะไฟหน้าทั้งโคม ดูแล้ว เหมือนเอาไฟหน้ารถญี่ปุ่นรุ่นปี 1995 – 1996 (ยุคที่ต้องลดต้นทุนผลิต หลังญี่ปุ่นฟองสบู่แตก)
มาแปะเข้าไปดื้อๆ

พอลองเอามือ ปิดด้านหน้าของรถ จะเห็นความสวยงามในภาพรวมว่า มันก็ไม่เลวแหะ แต่อีกด้านหนึ่ง เส้นสายของตัวรถ
ด้านข้าง มันได้เผยให้เห็นว่า X3 คันนี้ ดูมีความคล้ายคลึงกับ Volkswagen Tiguan อยู่บ้างเหมือนกัน ในแง่การวางรูปแบบ
กระจกหน้าต่างรอบคัน อาจไม่เหมือนเสียทีเดียว แต่มันก็มีกลิ่นอายแห่งความคล้ายคลึงเจือปนอยู่

จุดเด่นด้านงานออกแบบบนเรือนร่างของ X3 ใหม่ นอกเหนือจากไฟหน้าแบบทื่อมะลื่อนั่นแล้ว ยังอยู่ที่ แนวเส้นคาดข้าง
ลำตัว ซึ่งช่วยให้รถดูโฉบเฉี่ยว และบ่งบอกให้คนที่เห็นรู้ว่า “ฉันแรงนะ ถ้าอยากท้าประลอง ก็ได้เลย” อีกจุดหนึ่งที่ผมคิดว่า
Goplen ทำได้ดีคือ ชุดไฟท้าย และแนวขอบล่างของกระจกบังลมหลัง ดูเหมือนราวกับว่าจะมีสปอยเลอร์ขนาดเล็กเป็นครีบ
ลอยขึ้นมาเล็กน้อย ถือเป็นบั้นท้ายของ SUV จาก BMW ที่สวยงามอีกรุ่นหนึ่ง นอกเหนือจากบั้นท้ายของ X6 แต่อยากรู้จัง
เมื่อไหร่ BMW จะเลิกเล่นกับวิธีวางไฟท้าย และแผงทับทิมให้เหลื่อมเล็กใหญ่ไม่เท่ากันนี่เสียที

ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เวลารถยี่ห้ออื่นเขาจะเอาไป copy หนะ เขาทำออกมาได้ไม่ดี ดูแล้วหงุดหงิดสายตา แถมพาลให้
คิดว่า เนี่ย คนออกแบบเขาคงดู BMW รุ่นใหม่ๆ มามากไปหนะ

อีกเรื่องนึงที่ต้องถามเลยก็คือ ไฟท้ายของรถรุ่นอื่นๆหนะ เป็นแบบ LED มาให้ แต่ไฉน ไฟท้ายของ X3 ใหม่ กลับ
ไม่ใช่ไฟท้ายแบบ LED? มีเพียงการเล่นลวดลายสีสันสวยหรู หลอกตาให้ดูเหมือนว่าเป็นไฟ LED ทั้งที่ไมได้เป็น
เช่นนั้น นี่ว่ากันแต่แผงไฟท้ายเท่านั้นนะครับ

สิ่งที่ผมชอบในรถคันที่เรานำมาทดลองอีกอย่างก็คือ ล้ออัลลอยขนาด 8J x 18 นิ้ว สวมเข้ากับยาง Piralli รุ่น P ZERO
ขนาด 245/50 R18 100W (ขอย้ำว่า ติดตั้งมาให้จากโรงงาน) …เขาใจป้ำขนาดให้ P ZERO ติดรถกันมาเลยอ่ะ!!!
(น้ำลายไหล!)

การเปิดประตูรถ ยังคงใช้กุญแจรีโมทคอนโทรล พร้อมระบบ Comfort Access คือสามารถใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็นการกดปุ่ม
สั่งล็อก หรือปลดล็อก บนรีโมทคอนโทรลเอง หรือจะใช้วิธีที่สะดวกกว่านั้น คือ พกกุญแจรีโมทที่เห็นนี้ เอาไว้กับตัว เมื่อ
เดินเข้าใกล้ตัวรถ ดึงมือจับประตู 1 ครั้ง ระบบจะสั่งปลดล็อก และสามารถเปิดประตูกางออกได้ทันที หากต้องการจะล็อกรถ
แค่ปิดประตู เอานิ้วแตะลงไปบนรอยขีด 3-4 ขีด เหนือมือจับประตู เท่านี้ ระบบก็จะล็อกรถให้คุณเองอย่างง่ายดาย ส่วนการ
ติดเครื่องยนต์ ยังคงใช้วิธีการกดปุ่ม Start ฝั่งซ้ายมือ ใต้ชุดมาตรวัด ข้างคอพวงมาลัย เหมือนกับ BMW รุ่นใหม่ๆ หลายรุ่น
ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ใต้มือจับประตูทั้ง 4 บาน จะมีไฟส่องสว่างให้คุณได้เห็นตำแหน่งของมือจับทั้ง 4 จะได้เปิด
ประตูในยามค่ำคืนได้สะดวกๆ และแน่นอนว่า มีระบบกันชโมยแบบ Immobilizer มาให้จากโรงงาน

ช่องทางเข้า – ออก สำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า ดูเหมือนว่าจะมีการขยายให้กว้างขึ้นกว่าเดิม นิดนึง หาก
เทียบรูปภาพในมุมเดียวกันกับรถรุ่นก่อน และคราวนี้ การเข้า – ออก จากตำแหน่งคนขับของผม ก็เป็นเรื่องสบายขึ้น
ไม่ใช่แค่ผมคนเดียวที่จะยินดีปรีดา เพราะแม้แต่ พระยาคชสาร Commander CHENG! ผู้ซึ่งมักมีปัญหากับทางเข้า –
ออก ของ BMW หลายๆรุ่น เป็นประจำ ยังสามารถ ขึ้น – ลง และเข้า -ออกจาก เบาะคู่หน้า ได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ

แผงประตูด้านข้าง มีช่องเก้บของมาให้ขนาดใหญ่เอาเรือง แบ่งใส่ขวดน้ำขนาดใหญ่ได้ และแบ่งใส่ข้าวของขนาด
กลางๆ ได้สบายๆ แถมพนักวางแขนบนแผงประตูก็ยังคงออกแบบให้วางแขนได้สบายลงตัวดีมากๆ เหมือนอย่าง
ที่รถรุ่นเดิมเคยเป็นมา

อีกเรื่องที่น่ายินดีก็คือ BMW ได้แก้ปัญหาหนึ่ง ซึ่งรบกวนการก้าวเข้า – ออกจาก SUV ของพวกเขา ให้หมดไปได้แล้ว

เรื่องมีอยู่ว่า ในรีวิว ทั้ง X3 X5 และ X6 ผมมักจะตำหนิว่า ใต้ชายล่างประตู ทั้ง 4 บาน จะมีแผงพลาสติกสีดำ ออกแบบให้
มีส่วนยื่นออกมาเล็กน้อย คล้ายกับสเกิร์ตข้าง มันอาจจะดูสวยในสายตานักออกแบบ แต่มันน่ารำคาญบรรลัยเลยสำหรับ
ผู้ที่ต้องใช้งานรถตระกูล X ของ BMW เพราะว่าเวลาที่จะก้าวขาขึ้น – ลงจากรถ ขากางเกงบริเวณน่อง จะต้องไปครูดกับ
แผงพลาสติกที่ว่านี้ ในวันธรรมดาที่คุณเพิ่งจะล้างรถมา ก็คงไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าวันใดฝนตก คราบน้ำกับฝุ่นเปรอะเปื้อน
เต็มไปหมด ขากางเกงคุณ ก็อาจจะเปรอะเปื้อนได้โดยง่าย และขอโทษนะครับ มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากมากๆ
แถมเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ X3 รุ่นก่อนนะที่เป็น แต่ X5 กับ X6 ก็มีปัญหานี้กับเขาด้วยเนี่ยสิ!

อย่างไรก็ตาม ใน X3 ใหม่ ปัญหานี้ หมดลงไปเรียบร้อยแล้ว เพราะแผงพลาสติกที่ใต้ช่องทางเข้าประตูแบบเดิมถูกแทนที่
ด้วยแผงพลาสติกแบบใหม่ ซึ่งราบเรียบไปกับแนวขอบตัวถังด้านล่างกันเลย แถมยังมีการออกแบบให้ ชายประตูด้านล่าง
ปิดทับพลาสติกชิ้นดังกล่าว เหมือนอย่างที่ผมเคยบอกไปในรีวิวของ Mazda CX-9 ด้วย!

ขอเสียงปรบมือดังๆซักทีให้คนออกแบบของ BMW เขาหน่อย ก็ดีนะครับ

เบาะนั่งคู่หน้า มีการจัดวางตำแหน่งที่ดีขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย พนักพิงศีรษะ เป็นแบบ Active Headrest รองรับศีรษะหากเกิด
การชนอย่างรุนแรง ภาพรวมค่อนข้างหนา แต่ฟองน้ำไม่ถึงกับนุ่มนัก พอจะรองรับศีรษะได้ ในแบบนุ่มกลางๆ ไม่ถึงกับนุ่ม
สบาย ขณะเดียวกัน พนักพิงหลัง ก็มีความแข็งอ่อนกำลังดี คือพอจะให้คุณขับรถคันนี้ได้นาน 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยไม่บ่นอะไร
เท่าไหร่ แต่ถ้าหลังจากนี้ไป อาจจะมีอาการเมื่อยหลังนิดๆ โผล่มาให้เจอได้บ้าง มันน่าจะดีกว่านี้ ถ้ามีระบบสวิชต์ปรับดันหลัง
ด้วยไฟฟ้า ติดตั้งมาให้ด้วย เหมือนใน ซีรีส์ 5 ใหม่ ไม่รู้ว่าจะตัดออกไปทำไม?

เบาะรองนั่ง ยาวเกือบจะถึงข้อพับขา นั่งได้เต็มก้น แต่อีกนิดเดียว จะถึงข้อพับแล้ว และความหนาของมัน ก็ไม่ได้มากมาย
เกินหน้าไปกว่า BMW ซีรีส์ 3 แทบทุกตัวถังกันเท่าใดนัก ชวนให้นึกถึงเบาะรองนั่ง ในร้านอาหารญี่ปุ่นแท้ๆ แบบที่ต้องนั่ง
ขัดสมาธิกันนั่นละครับ ในภาพรวม มันก็ทำหน้าที่ของมันได้โดยไม่มีอะไรรบกวนจิตใจผมเลย เพียงแต่ อาจไม่ถึงกับนุ่ม
สบาย แต่ก็ดีกว่าใน X3 รุ่นก่อนแล้วกัน

พื้นที่เหนือศีรษะ โปร่งโล่งสบายพอประมาณ แต่น่าจะดีกว่านี้ ถ้าหากมีการติดตั้งหลังคากระจก Panoramic Glass Roof มาให้
ซึ่งคงต้องทำใจ เพราะราคาแค่นี้ จะใส่มาให้คงเป็นไปไม่ได้หรอก อีกทั้งลูกค้าคนไทยส่วนใหญ่ มองอุปกรณ์ชิ้นนี้ว่า ไม่ค่อย
จำเป็นเท่าไหร่ เลยไม่ค่อยอยากให้ใส่มากับรถของตนกันมากนัก

เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าเป็นแบบ ELR 3 จุด พร้อมระบบลดแรงปะทะ และผ่อนแรงอัตโนมัติ ทำงานร่วมกับอุปกรณ์ความปลอดภัย
ไม่ว่าจะเป็น ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ภถุงลมนิรภัยด้านข้าง สำหรับคนขับ และผู้โดยสารตอนหน้า ม่านลมนิรภัยสำหรับผู้โดยสาร
ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ยาวต่อเนื่องเป็นชิ้นเดียวกัน

บานประตูคู่หลัง เปิดกางออกได้ไม่เยอะนัก เมื่อเทียบกับขนาดทางเข้าสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ถ้าคุณเป็นคนผอมหรือเด็กๆ
นั่นจะยังไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่ากับผู้ใหญ่ หรือคนที่มีสรีระใหญ่โตกว่าคนทั่วไป แต่ก็ยังมีข้อดีอยู่ นั่นคือ แผงประตูด้านข้าง
ออกแบบให้มือจับประตู เป็นที่วางแขนในตัว ซึ่งมีตำแหน่งการวางแขนที่พอดีๆ กับสรีระของคนทั่วไปอย่างมาก

การก้าวเข้า – ออกจากตัวรถ ในตำแหน่งนี้ ถือว่า ทำได้แค่พอตัว ไม่ถึงกับสะดวกสบายนัก แต่ก็ยังดีกว่ารถรุ่นเดิมอยู่นิดหน่อย
ขาเข้า ไม่ใช่ปัญหา แต่ว่า ถ้าต้องลุกออกจากรถ ขาของคุณอาจจะต้องเหวี่ยงไปโดนเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar เต็มๆ พอให้
ฝากรอยเปื้อนรองเท้า ทิ้งไว้บนชิ้นงานพลาสติกที่หุ้มทับเสาหลังคากลางอยู่ ก่อนจะออกจากรถได้ ด้วยความลำบากกว่าปกติ
นิดหน่อย

เบาะนั่งด้านหลัง ยังคงมีพนักพิงที่แข็ง และเมื่อนั่งลงแล้ว จะรู้สึกได้ว่ามันแอบเอียงทำมุมตามโค้งนูนของซุ้มล้อคู่หลัง
แต่ก็ไม่ถึงกับเลวร้ายจนเกินไป ยังพอให้โดยสารในระยะทางยาวๆได้อยู่ เบาะรองนั่ง วางในตำแหน่งค่อนข้างเตี้ย เมื่อ
เทียบกับรถ SUV คันอื่นๆ ทำให้ผู้โดยสารต้องนั่งชันขา คล้ายๆกับ รถ SUV อย่าง Mitsubishi Pajero Sport หรือ Toyota
Fortuner แต่การติดตั้งเบาะรองนั่งให้เตี้ยแบบนี้ มีข้อดีเรื่องหนึ่งคือ แลกกันกับการเก้าขึ้นลง และหย่อนก้นได้สะดวก
ซึ่งเมื่อต้องแลกด้วย 2 สิ่งดังกล่าวนี้ ก็เลยทำให้ยังพอยอมรับได้บ้าง อย่างไม่ค่อยเต็มใจนัก

พนักศีรษะ ไม่แข็งไม่อ่อนมากเกินไป อยู่ในเกณฑ์กำลังดีใช้ได้ อยากให้นุ่มกว่านี้ก็คงทำไม่ได้ เพราะต้องออกแบบมา
ให้รองรับกับการปกป้องผู้โดยสาร ขณะเกิดอับุติเหตุ ส่วนเบาะรองนั่ง บางจนชวนให้คิดถึงเบาะของ BMW Sport
บางรุ่นกันเลยทีเดียว

พื้นที่เหนือศีรษะโปร่งสบาย ตามสไตล์ SUV ที่สำคัญ ผู้โดยสารแถวหลัง สามารถวางแขนได้อย่างสบายๆ ถูกต้องตาม
หลักสรีรศาสตร์เป็นที่สุด จากทั้ง พื้นที่วางแขนบริเวณ แผงมือจับประตูทั้ง 2 ฝั่ง หรือ พนักวางแขนตรงกลางเบาะหลัง
แบบพับเก็บได้ พร้อมช่องวางแก้วน้ำ ฝาปิดแบบบานประตูหนาๆ เปิดขึ้นมา ก็จะช่วยพยุงค่ำแก้ว หรือขวดน้ำไว้ให้ด้วย
ได้อีกต่างหาก!

นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้ง ไฟอ่านหนังสือ เหนือเพดานหลังคาทั้ง 2 ฝั่ง สำหรับผู้โดยสารในยามค่ำคืน มือจับเหนือ
บานประตู เข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง เป็นแบบ ELR 3 จุด ทุกที่นั่ง และมีจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก
มาตรฐาน ISOFIX มาให้ทั้ง เบาะหลังฝั่งซ้าย และขวา และมีไฟส่องพื้นวางขามาให้อีกต่างหาก! เก๋กู๊ดก็ตรงนี้แหละ!

เบาะนั่งด้านหลัง สามารถแบ่งพับได้ 2 ชิ้น ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง วิธีการพับเบาะ
ก็ง่ายดาย แบบรถญี่ปุ่นทั่วๆไป มองไปที่บริเวณบ่าของพนักพิงหลัง จะพบ มือจับ ให้บีบคันโยกเข้าไป แล้วพับพนักพิง
ลงมา เพียงเท่านี้ เบาะก็จะพับลงมาอย่างที่เห็นอยู่นี้ (แม้เวอร์ชันเมืองนอก จะแบ่งพนักพิงเบาะได้ถึง 3 ชิ้นก็ตาม)

ฝาประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง เปิดออกได้กว้าง มีสวิชต์ ล็อกไฟฟ้า มาให้กดปุ่ม เพื่อให้ไม่สามารถเปิดได้อีก
หลังการปิดครั้งสุดท้าย และต้องใช้รีโมทในการปลดล็อกสถานเดียว อย่างไรก็ตาม ผมว่า ผมเจอสิ่งที่อยากจะให้
ทีมออกแบบช่วยทำออกมาเพิ่มเติมแล้วละ

คือ พี่ผู้หญิง คนหนึ่ง ในฝ่ายดูแลรถ Demonstration ของ BMW มีความสูงไม่เกิน 160 เซ็นติเมตร พี่เขาพยายาม
ที่จะกระโดดขึ้นไป แล้วคว้าประตูปิดลงมา..แต่ มันแทบเป็นไปไมได้เลย ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ ผมว่า น่าจะทำ
เชือกเกี่ยวมือให้ยาวนิดนึง สำหรับผู้หญิงร่างเล็ก ดึงฝาประตูด้านหลัง ให้ปิดลงมาได้ง่ายหน่อย น่าจะสะดวก
กับลูกค้าร่างเล็กทั้งหลายนะครับ

พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังมีขนาดความจุ 550 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมัน และถ้าพับเบาะนั่งแถวหลัง
ออกไปทั้งหมด พื้นที่เก็บของจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 1600 ลิตร VDA ซึ่งถือว่าเยอะเอาเรื่อง พอจะใส่จักรยานได้ 2-3 คัน
แถมด้วยสัมภาระอีกพอสมควร

คู่มือผู้ใช้รถ ถูกนำมาซ่อนแอบไว้ที่ผนังห้องเก็บของฝั่งซ้ายนี่เอง มิน่า หาตั้งนานไม่เจอ ต้องเปิดใช้จากหน้าจอ
iDrive แทน ส่วนผนังฝั่งขวา มีช่องสำหรับเสียบจ่ายกระแสไฟให้กับเครื่องไฟฟห้า ขนาด 12 Volts รวมทั้งมี
เครื่องมือปฐมพยาบาล เสียบใส่ช่องว่างมาให้ ตามสไตล์รถยุโรปทั่วไป เครื่องมือข้างใน ก็ยังคงอัดแน่น ชนิดว่า
สามารถ เปิดโรงพยาบาลเคลื่อนที่ ทำคลอดฉุกเฉินกันได้เลยตามเคยนั่นแหละ

นอกจากจะมีม่านรูด บังสัมภาระด้านหลัง ถอดยกออกได้ เป็นอุปกรณ์มาตรฐานมาให้แล้ว พื้นห้องเก็บของ
ยังฃทำออกมาให้มีรางทั้ง 2 ฝั่ง สำหรับเสียบจุดยึดตาข่ายตรึงสัมภาระต่างๆไว้ เมื่อยกพื้นรถขึ้น อาจไม่เจอ
ยางอะไหล่อย่าลืมว่า BMW ทุกรุ่นในเมืองไทยตอนนี้ ใช้ยาง Run Flat Tyre หมดแล้ว ดังนั้น สิ่งที่จะเห็น
ก็มีเพียงแค่ ถุงเครื่องมือ ตะขอเกี่ยว 4 ชิ้น และข้าวของจุกจิกเล็กน้อยอีกนิดหน่อยเท่านั้น

ถ้าถามว่า ห้องเก็บของด้านหลังใหญ่ขนาดไหน คราวนี้ ผมไม่ต้องลงทุนเข้าไปนอนด้านหลังรถให้เมื่อยตุ้ม
อีกแล้ว เพราะเรามี ดารารับเชิญจอมพิเรนทร์ รับหน้าที่นี้ไปแทนผมโดยปริยาย….

คือจริงๆแล้ว ตาแพน Commander CHENG! ของเรา ก็สามารถยัดทะนานร่างอันมหึมาน้องๆหมีแพนด้า เข้าไปนั่งใน
ห้องเก็บของด้านหลัง ของ X3 ใหม่หนะได้แน่ๆ แต่ถ้าเราทำแบบนั้น ปัญหาที่ตามมาคือ พ่อเจ้าประคุณรุนช่อง จะลุก
ออกจากรถกันอย่างไร ขนาดแค่ทำท่าหมา (อย่างที่เห็น) ก็ ต้องใช้เวลาในการเอาขาหลังค่อยๆหย่อนลงบนพื้นถนน
เพื่อจะทรงตัวยืนด้วยแล้ว ดังนั้น เอาแค่นี้ก็คงพอนะครับ (^_^’)

ภายในตกแต่งด้วยวัสดุที่ดูดีมีชาติตระกูลมากกว่า X3 รุ่นที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด แถมยังมีการจัดวางอุปกรณ์ที่สะดวก
ต่อการใช้งานมากขึ้น ภายในของรถคันที่เรานำมาทดลองขับ ตกแต่งด้วยหนังแท้ Nevada โทนสีเบจ รหัส LUB4
ตัดกับแผงหน้าปัดสีดำ เพื่อลดการสะท้อนแสงแดดขึ้นไปบนกระจกบังลมหน้าในตอนกลางวัน ประดับด้วยลายไม้
Fineline Wave

แผงหน้าปัดออกแบบมาเพื่อเน้นเอาใจคนขับเป็นหลัก เสียจนกระทั่ง ลืมให้ความสำคัญ กับผู้โดยสารฝั่งซ้ายไป
อย่างน้อยๆ มีสมาชิกร่วมทางของผม 2 คนที่บอกว่า แผงหน้าปัดฝั่งซ้ายนั้น ทำให้เกิดความรู้สึกว่า รถมันแคบ อึดอัด
และนั่งไม่สบาย

ผมรู้ได้แทบจะในทันทีโดยไม่ต้องคิดมากเลยว่า แนวเส้นโค้ง เหนือแผงลายไม้นั่นละครับ คือที่มาของสาเหตุดังกล่าว
ถ้าดูกันดีๆจะเห็นว่า จริงๆแล้ว ระยะห่างระหว่าง ช่องแอร์ฝั่งซ้าย และฝั่งขวาหนะเท่ากันกับรถทั่วไปนั่นละ แต่เส้น
นำสายตานั่นละที่ทำให้เกิดความรู้สึกดังกล่าวกับผู้โดยสารบางคน วิธีแก้หนะไม่ยากเลย เปลี่ยนงานออกแบบบริเวณน
ดังกล่าว ด้วยการยืดความยาวแผงลายไม้ ให้ยาวขึ้น จนเกือบสุด หรือสุดขอบแผงควบคุมกลางนั่นไปเลย เพียงเท่านี้
ก็จะช่วยเพิ่มความรู้สึกดีๆให้กับผู้โดยสารฝั่งซ้ายได้มากขี้น

มองขึ้นไปบนเพดานหลังคา จะพบว่า มีแผงบังแดด พร้อมกระจกแต่งหน้าแบบมีฝาพับ และไฟแต่งหน้า มาให้ทั้ง 2 ฝั่ง
ไฟอ่านแผนที่ 2 ตำแหน่ง ซ้าย – ขวา รวมศูนย์อยู่กับ ไฟส่องสว่างในห้องโดยสาร ด้านหน้า กระจกมองหลังเป็นแบบ
ตัดแสงอัตโนมัติ ตามปกติของ BMW รุ่นใหม่ๆ

ตำแหน่งคนขับ คือสิ่งที่เห็นได้ชัดว่ามีความพยายามในการปรับปรุงให้ดีขึ้น จากเดิมที่ผม เคยด่า X3 รุ่นเก่าเอาไว้เละเทะ
ว่า “พวงมาลัยกับมาตรวัดเยื้องซ้าย แป้นคันเร่งกับเบรกเยื้องขวา ท่านั่งขับไม่เป็นธรรมชาติ และก่อความเมื่อยล้าในการ
ขับขี่อยู่ไม่น้อยเลย”

มาวันนี้ X3 ใหม่ ลบจุดด้อยที่ผมเคยด่าไว้จนเรียบร้อย แม้ว่า พวงมาลัยกับมาตรวัด จะยังมีแอบเยื้องไปทางซ้ายบ้าง
แต่ก็แค่นิดเดีรยว อยุในระดับที่ยอมรับได้ ส่วนแป้นคันเร่งกับแป้นเบรก ก็จัดวางตำแหน่งไว้ในระดับที่ใช้งานได้ดี
เพียงแต่ว่า ขนาดของชุดหัวหมูเกียร์ ก็ยังคงใหญ่มาก จนเบียดบังพื้นที่วางขาของผู้ขับขี่และผู้โดยสารฝั่งซ้ายอยู่ดี

ไล่จากแผงประตูด้านข้างเข้ามา สวิชต์กระจกหน้าต่างไฟฟ้าเป็นแบบ One Touch ทั้งขาขึ้นและลง ครบทั้ง 4 บาน
กระจกมองข้างปรับและพับด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ถ้าคุณเข้าเกียร์ R เพื่อถอยรถ ผลักสวิชต์กระจกมองข้างไปที่ตำแหน่ง L
หรือ left กระจกมองข้างฝั่งซ้าย จะปรับตัวส่องลงไปที่พื้นถนนด้านข้างให้คุณแทน เพิ่มความมั่นใจขณะจอดรถ
ชิดริมทางเดินเท้า ส่วนสวิชต์ เปิดไฟหน้า กับไฟตัดหมอกทั้งหน้าและหลัง อยู่ฝั่งขวามือ ใต้แผงมาตรวัด อันเป็น
ตำแหน่งปกติของรถยุโรปทั่วไป มีระบบไฟหน้าอัตโนมัติ เปิดสวิชต์ เอาไว้ที่โหมด A เมื่อแสงสว่างภายนอกรถ
เริ่มน้อยลง เซ็นเซอร์ จะทำงานให้ไฟหน้า XENON ติดสว่างขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

สวิชต์ใบปัดน้ำฝน ทำงานร่วมกับ Rain Sensor วัดปริมาณน้ำฝน และสั่งการให้ชุดใบปัดน้ำฝนทำงานเองโดยอัตโนมัติ
สวิชต์ไฟเลี้ยว และไฟสูง อยู่บนฝั่งขวามือ ของคอพวงมาลัยตามเคย คลิก ขึ้น หรือ ลง ครั้งเดียว ไฟเลี้ยวจะกระพริบ
3 ครั้ง ก็เหมือนรถยุโรปทั่วไปยุคใหม่อีกนั่นละครับ การติดเครื่องยนต์ หรือดับเครื่องยนต์ ก็ยังคงใช้วิธีการกดปุ่มที่อยู่
ฝั่งซ้ายมือของชุดมาตรวัด ฝั่งขวามือของช่องแอร์กลางเหมือนเดิมนั่นแหละ

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน พร้อมสวิชต์ Multi Function ฝั่งซ้ายเอาไว้สั่งการ เปิด – ปิด ระบบควบคุมความเร็วคงที่
อัตโนมัติ Cruise Control ฝั่งขวา เอาไว้ควบคุมทั้งชุดเครื่องเสียง และหน้าจอใต้ชุดมาตรวัด

ชุดมาตรวัดเป็นแบบ  4 วงกลม สหกรณ์ ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะว่า เป็นชุดมาตรวัดแบบเดียวกันกับที่คุณจะพบได้ใน
BMW ซีรีส์ 5 ใหม่ เลยนั่นเอง! สิ่งที่ทำให้จำได้คือ หน้าจอกราฟฟิก แสดงข้อมูลด้านล่าง และถ้าดูดีๆ จะพบว่า
ชุดมาตรวัด ถูกผลิตขึ้นมา เผื่อ และรองรับการติดตั้งระบบ Redar Cruise Control เอาไว้ แต่ในเวอร์ชันไทย ไม่มี
อุปกรณ์นี้มาให้แต่อย่างใด เพียงแต่มีในสิ่งที่ผู้ขับขี่จำเป็นต้องรู้ คือ มาตรวัดความเร็ว มาตรวัดรอบเครื่องยนต์
อุณหภูมิเครื่องยนต์ และปริมาณน้ำมันในถัง ที่เหลือ จะขึ้นสัญญาณเตือนตามจุดต่างๆ หรือไม่ก็แสดงผลเป็น
ข้อความแจ้งเตือน บนจอ Multi Informtaion Display ด้านล่างชุดมาตรวัดรอบ

ติดเครื่องยนต์เมื่อใด รถจะแจ้งเตือนว่า อีกนานแค่ไหน ถึงควรจะนำรถเข้าเช็คระยะ ที่ศูนย์ฯบริการ

และเมื่อเครื่องยนต์ติดเรียบร้อย มาตรวัดก็จะทำงานอย่างที่เห็น เสียดายว่า Trip Meter มีมาให้แค่ Trip เดียว
ซึ่งในกรณีที่เราอยากจะวัดระยะทางจากจุดเริ่มต้นไปถึงจุดแวะพัก ไปพร้อมกับการจับระยะทางที่แล่นไป
ทั้งหมด ก็คงต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ก็ต้องไปตั้งค่าใน Tip Computer ของรถ ใน iDrive แทน
หน้าจอแสดงผลยังคงเป็นสีแดงส้ม และตัวอักษรสีขาว

สวิชต์ ล็อกประตู และสวิชต์ไฟฉุกเฉิน Hazzard Lights ยังคงถูกติดตั้งคั่นกลางระหว่างช่องแอร์บนแปงควบคุมกลาง
ทั้ง 2 ช่อง เหมือนเคย เครื่องปรับอากาศเป็นแบบ แยกฝั่งผู้โดยสารตอนหน้า ซ้าย – ขวา มีหน้าจอแบบ Digital แสดง
อุณหภูมิ และมีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารแถวหลัง ติดตั้งเอาไว้บริเวณ ด้านหลังกล่องเก็บของคอนโซลกลาง ที่คั่น
ระหว่างผู้ขับขี่และผู้โดยสารซึ่งก็ไม่ค่อยจะมีลมเย็นออกมามากมายเท่าใดนัก หรือว่าผมปรับไม่เป็นเองกันแน่หว่า?

เหนือคันเกียร์ (อันที่จริง เราควรจะเรียกมันว่า Joystick เปลี่ยนเกียร์ มากกว่า) มีช่องวางแก้วน้ำมาให้ 2 ตำแหน่ง

อีกของเล่นหนึ่งซึ่ง ติดตั้งลงใน ซีรีส์ 7 และ ซีรีส์ 5 ใหม่ เวอร์ชันไทยมาได้ 2 ปีแล้ว แต่เรายังไม่ค่อยได้พูดถึงกัน
เท่าใดนัก นั่นคือ การติดตั้ง ระบบ iDrive เจเนอเรชันใหม่ ให้กับ BMW รุ่นใหม่ๆ ทุกรุ่น และนี่ก็ถือเป็นครั้งแรก
ของการติดตั้ง ระบบ iDrive รุ่นใหม่ ให้กับ X3 เวอร์ชันไทย

ข้อเสียของ iDrive รุ่นแรก ที่พบกันจนเบื่อขี้หน้าไปเลยก็คือ การเข้าถึงอุปกรณ์ที่ต้องการจะใช้งาน ยากมากกกก
ในรถรุ่นเดิม คิดอะไรไม่ออก ไปไหนไม่ถูก กดปุ่ม MENU ก่อน จากนั้น ต้องค่อยๆมานั่งตั้งต้นเริ่มกันใหม่่
ถ้าคิดแค่จะปรับเปลี่ยนระดับเสียงทุ้ม หรือเสียงแหลม คุณต้องหมุนๆ แล้วก็ กระดิกๆ คลิกๆ ขึ้นๆ ลงๆ บนสวิชต์
แป้นหมุนของระบบ กันพักใหญ่กว่าจะค้นเจอ ซึ่งมันน่ารำคาญ วุ่นวาย และเสียเวลาอย่างมาก แน่ละ วิศวกร
ของ BMW เล่นยัดทะยาน 700 ฟังก์ชันการทำงาน เข้าไปใน 1 สวิชต์หมุนแบบเดียว ซำร้ายกว่าที่พวกวิศวกร
ของเขาจะรู้ตัวว่า สิ่งที่ตนเองคิดนั้น มันถูกตรรกะ แต่ใช้งานโคตรจะยากในโลกความจริง เวลาก็ผ่านไปนาน
ถึง 7 ปี! กว่าที่พวกเขาจะย้อมปรับปรุงให้มันใช้งานง่ายขึ้นอย่างในทุกวันนี้

ใน iDrive ใหม่ บางฟังก์ชันที่ใช้งานไม่ค่อยจะบ่อย คุณอาจยังต้องทำแบบนั้นอยู่ แต่เปลี่ยนรูปแบบจากการเลื่อน
เมนูในแนวตั้ง มาเป็น แนวนอน ที่คนส่วนใหญ่ทั่วไป จะคุ้นเคยมากกว่า แต่ในภาพรวม ระบบ iDrive ใหม่ ใช้งาน
ง่ายขึ้นกว่าเดิมเยอะ เพราะต่อจากนี้ คุณสามารถเลือกได้บนปุ่มควบคุมระบบเลย จะเปลี่ยนวิทยุ ก็กด RADIO มุม
ซ้ายกลาง เหนือแป้นวงกลม จะเล่น CD หรือฟังเพลงจาก USB / iPod ที่เสียบเอาไว้ ก็กด CD มุมซ้ายบน ถ้าจะ
โทรหาใคร ก็เชื่อมโทรศัพท์เข้ากับระบบ Bluetooth แล้วกดปุ่ม TEL มุมขวาบน หรือจะเข้าไปดูแผนที่ ระบบนำทาง
กดปุ่ม NAV ด้านขวากลาง ถ้าจะย้อนไปเมนูก่อนหน้านั้น กด Back ฝั่งซ้ายล่าง และถ้าจะตั้งค่าอื่นใด กดปุ่ม Option
ขวาล่างสุด ที่เหลือ จะเข้าเมนูย่อยอะไร ใช้วิธี หมุนๆ แป้นวงกลม แล้วกด Enter ลงไป เพื่อยืนยันคำสั่ง แค่นั้น

และแน่นอน เหมือนเดิม ถ้าคิดไม่ออก บอกไม่ถูก กดปุ่ม MENU (ซึ่งก็ยังมีมาให้) หน้าจอก็จะขึ้น Main Menu อย่างนี้

ไม่เพียงเท่านั้น X3 ใหม่ เวอร์ชันไทย ในรุ่น Highline จะถูกติดตั้งระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System
พร้อมระบบนำทางด้วยเสียง Voice Guidance แสดงแผนที่ได้ค่อนข้างละเอียด ระบุพิกัดตำแหน่งใช้ได้ เพียงแต่ว่า อาจ
ต้องใช้เวลาในการหาสถานที่ ที่เราต้องการจะไป ยากสักหน่อย เพราะการป้อนภาษาอังกฤษเข้าไปในระบบนั้น ถ้าเรา
ป้อนในภาษาทับศัพท์ แบบที่เราคุ้นชิน ระบบก็คงจะหาไม่เจอ ต้องใส่คำเข้าไป อย่างเช่น คำว่า ถนน จะใส่ Rd. เข้าไป
บางรายการ ก็ไม่ยอมขึ้น ต้องใส่ Thanon ไปเลย! มามุขเดียว กับ Mercedes-Benz อีกละ ใช้งานไม่ยาก ไม่ง่าย แต่ต้อง
อาสัยเวาในการเรียนรู้อยู่เหมือนกัน

การแสดงหน้าจอ เลือกได้ ทั้งแบบ แบ่ง 2 หน้าจอ Spilt Screen หน้าจอเล็ก มาตรฐาน แสดงแผนที่ ส่วนอีกฝั่งที่เล็กกว่า
แสดง Trip Computer หรือ Journey Computer ให้อย่างที่เห็น

หรือจะให้แสดงผลเป็นหน้าจอแบบ Wide Screen อย่างที่เห็นอยู่นี้ก็ทำได้ ที่สำคัญ ข้อมูลในระบบนำทาง จะแสดง
ให้เห็นภาพกราฟฟิคของ ตึกสูงบางแห่ง หรือ สถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร ได้แล้ว เช่นเดียวกับระบบนำทาง
ของรถยนต์ในต่างประเทศ เช่นญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา ข้อดีก็คือ สำหรับใครที่เป็นลูกอีช่างหลง ถ้าเคยไปสถานที่
แห่งนั้นมาแล้ว และยังพอจะจำลักษณะของตึกรามบ้านช่องขนาดใหญ่ ที่โดดเด่นได้ ก็อาจจะพอคุ้นตา พอให้ขับ
ตามหาจุดหมายที่ต้องการได้ง่ายขึ้น

การแสดงผลของระบบนำทาง สามารถปรับระยะใกล้ ได้มากสุดคือ 25 เมตร – ไกลสุดคือ…เห็นโลกทั้งใบในหน้าจอ!
และนอกจากมุม Bird Eye View อย่างที่เห็นอยู่นี้แล้ว ยังสามารถ ปรับมุมมองให้เป็นแบบแผนที่มาตรฐานได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ระบบ iDrive พร้อมจอมอนิเตอร์ Wide Screen ยังสามารถแสดงข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถของคุณ
ไม่ว่าจะเป็น Trip Computer สำหรับคำนวนระยะทางที่น้ำมันในถัง เหลือพอให้รถแล่นต่อไปได้ เวลาที่ใช้ตั้งแต่เริ่ม
ออกรถ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั้งแบบเฉลี่ย และ Real Time ความเร็วเฉลี่ย ฯลฯ สามารถแบ่งแสดงเป็น 2 หน้าจอ
แบบ Spilt Screen ก็ทำได้เช่นเดียวกัน

และที่เด็ดสุดกว่านั้น ก็คือ มีคู่มือผุ้ใช้รถยนต์ (Owner’s Handbook) แบบ Inrteractive ฝังมาให้อยุ่ใน Harddisk ของระบบ
และสามารถเรียกดูข้อมูล หรือค้นหาวิธีการใช้งานระบบต่างๆในรถ ได้ทันที ซึ่งถือเป็นไอเดียที่ดีมากๆ ก็ในเมื่อผู้ขับรถ
ส่วนใหญ่ มักไม่ค่อยเปิดอ่านคู่มือผู้ใช้รถกันเลย คราวนี้ วิศวกร เขาก็เลยยัดเยียดมาให้คุณนั่งดูกัน ในรูปแบบที่ ลูกค้า
ผู้วึ่งคุ้นเคยกับการอ่านหนังสือบนอินเตอร์เนต น่าจะสะดวก และคุ้นเคยได้ไวขึ้น รายละเอียด และข้อมูลต่างๆ ค่อนข้าง
ละเอียดในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ดี ก็ควรจะเปิดอ่านคู่มือฉบับที่พิมพ์ลงบนกระดาษ ซึ่งแถมมาให้ อยู่บริเวณผนังฝั่งซ้าย
ของห้องเก็บของด้านหลังรถด้วยจะดีมาก

Interactive Owner’s Handbook เป็นระบบที่ถูกถ่ายทอดต่อเนื่องมาจากทั้ง ซีรีส์ 7 และ ซีรีส์ 5 ใหม่ มาติดตั้งลงใน X3 ด้วย
และคาดว่า ใน ซีรีส์ 3 รุ่นต่อไปที่ใกล้จะคลอดรอมร่อ ก็น่าจะมีมาให้เช่นเดียวกัน

และเมื่อคุณเข้าเกียร์ R เพื่อถอยรถเข้าจอด จอมอนิเตอร์ ก็จะทำหน้าที่เป็นภาพแสดงให้คุณเห็นระยะห่างของตัวรถกับวัตถุ
ที่อยู่รายล้อมรอบคันรถ แบบเดียวกับ BMW ทุกรุ่นทุกคัน ที่มีหน้าจอ iDrive เพียงแต่จะเปลี่ยนภาพกราฟฟิคให้ตรงกับรุ่น
ของรถยนต์คันนั้นๆ เพื่อช่วยให้สามารถกะระยะ ขณะถอยหลังเข้าจอดได้แม่นยำขึ้น สีเขียว คือ ยังอีกห่างไกล สีเหลือง
คือ ใกล้มากขึ้นแล้ว สีแดงคือ มันชิดเกินไปหน่อยแล้ว ระวังมากๆ

ขอบ่นเรื่องนึงครับ เสียงสัญญาณเตือน Sonar ที่มุมกันชนทั้งด้านหน้า และหลังรถ BMW รุ่นใหม่ๆ ทุกรุ่น มันร้องเตือน
ได้หนวกหูมาก คลื่นความถี่เสียงที่มีอยู่เพียงความถี่เดียว นี่แทบจะทำลายโสตประสาทกันได้ ทำไมไม่ทำอย่าง เพื่อนร่วม
ประเทศ อย่าง Mercedes-Benz ก็ไม่รู้ รายนั้น เสียงเตือนละมุนกว่ากันเยอะ

มาดูอุปกรณ์ความบันเทิงกันบ้าง ชุดเครื่องเสียงที่ติดตั้งมาให้ เป็นแบบ BMW Profesional  มีทั้งวิทยุ AM / FM พร้อมทั้ง
เครื่องเล่น CD แบบแผ่นเดียวก็จริง แต่มี Harddisk ขนาดใหญ่ 20GB เอาไว้สำหรับจุเพลง และข้อมูลแผนที่ โดยทันที
ที่คุณใส่แผ่น CD เข้าไปในรถ คุณสามารถเลือกได้ว่า จะแค่ฟังอย่างเดียว หรือจะ Save เข้าไปในรถด้วย ถ้าเลือก Save
in Car เพลงก็จะถูกบันทึกไปในขณะบรรเลงเข้าไปอยู่ใน Music Collection เรียกขึ้นมาฟังเมื่อไหร่ก็ได้ และโดยปกติ
 ระบบจะโชว์หน้าปก CD อัลบั้มนั้นๆ ให้คุณได้เห็นอีกต่างหาก แต่ถ้าเบื่อ อยากจะลบทิ้ง ก็สามารถเลือกลบไฟล์เพลง
ใน Harddisk ได้ แต่ต้องเข้าเมนูซับซ้อนพอสมควร

ไม่เพียงแค่นั้น คุณยังสามารถเล่นเพลงได้จากทั้ง เครื่องเล่นเพลงส่วนตัวของคุณ โดยเสียบเข้ากับช่อง AUX หรือจะ
ยก Haddydrive มาเสียบใส่ช่อง USB ดึงไฟล์เพลงจากใน Thumbdrive ของคุณ เล่นผ่านเครื่องเสียงของรถได้เลย
แต่ที่พิเศษยิ่งกว่าคือ มีระบบ Bluetooth ที่นอกจากจะเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์ ให้คุณ โทรหา สื่อสาร หรือ Save
Phonebook ของคุณ ไว้ในระบบของรถได้ด้วยแล้ว ยังสามารถดึงเอาไฟล์เพลงจากในโทรศัพท์มือถือของคุณ มาเล่น
ผ่านเครื่องเสียงเองได้ทันที “โดยไม่ต้องเสียบต่อเชื่อมสายอะไรเลยทั้งสิ้น”!! จะเก๋กู๊ดกว่าใครก็ตรงนี้แหละ!

ถ้าต้องการเปลี่ยนแทร็คเพลง หรือเปลี่ยนคลื่นวิทยุ (ตามสถานีที่ Save เอาไว้ คุณสามารถ ใช้สวิชต์เลื่อนขึ้น-ลง บนพวงมาลัย
รายชื่อเพลง หรือสถานีวิทยุ จะโผล่ขึ้นมาบนด้านล่างของชุดมาตรวัด บริเวณจอ Multi Information Display ถ้าต้องการเพลงไหน
หรือฟังสถานีอะไร กดลงไปบนสวิชต์เลื่อนหมุนนั่นได้ทันที แล้วระบบจะจัดการเปลี่บยนเพลงให้ตามที่คุณต้องการ

คุณภาพเสียงที่ออกมา ถือว่าทำได้ยอดเยี่ยมดี เหมือนกับทั้งใน ซีรีส์ 7 (รุ่นมาตรฐาน) และ ซีรีส์ 5 ใหม่ ไม่แตกต่างกันนัก
เสียงเบสและเสียงใส ชัดเจนดี รายละเอียดของเครื่องดนตรี พอจะเก็บมาได้เยอะในแทร็กเพลงที่มีซาวนด์หลากหลาย
ซ้อนกันหลาย Layer เพียงแต่ในบางครั้ง กับเพลงประเภทที่ใช้กลองสังเคราะห์ และมีรายละเอียดเสียงค่อนข้างมาก เช่น
แผ่น Daichi Dance (อัลบั้ม P.I.A.N.O. สีเขียวในภาพ) จะฟุ้งพอสมควร และรายละเอียดกลองบางอย่างจะมะรุมมะตุ้ม
ปะปนกันไปพอสมควร แยกออกยากนิดนึง แต่ถ้าเป็นเพลงที่ใช้พลังเสียงร้องเยอะๆ อย่างในแผ่น Skoop On Somebody
ก็ได้ยินเสียงนักร้องนำ ชัดเจนดี และใกล้เคียงกับเสียงร้องสดของมนุษย์ ขณะบันทึกเสียงในห้องอัด แต่ผมยังมองว่า
ชุดเครื่องเสียงติดรถยนต์จาก Volvo หรือ mark Levinson ใน Lexus LS ก็ยังคง เป็นเทพที่ยากจะหาใครมาโค่นลงได้อยู่ดี

กล่องคอนโซลกลาง อันเป็นที่วางแขนหุ้มหนังไปในตัวนั้น เมื่อเปิดฝาขึ้น จะพบว่า พอจะมีพื้นที่ใส่กล่อง CD ได้แค่ 4 กล่อง
พร้อมกับแท่นวางโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่ถ้ายกขแท่นดังกล่าวขึ้น ก็จะพบว่า มีช่องเสียบ AUX และ USB สำหรับเชื่อมต่อกับ
อุปกรณ์เครื่องเล่นเพลง หรือ Handdydrive ต่างๆ เล่นเพลงผ่านชุดเครื่องเสียง ได้อีกช่องทางหนึ่ง

ส่วนกล่องเก็บของบนแผงหน้าปัดฝั่งผู้โดยสารด้านซ้ายนั้น ดูเหมือนว่าจะมีความลึกพอประมาณ พอให้ใส่ ปืนได้สักกระบอก
หรือใส่เอกสารประจำรถจำพวก กรมธรรม์ สมุดทะเบียนรถ ฯลฯ แต่อย่าคาดหวังว่าจะใส่อะไรได้มากมายกว่านี้

ทัศนวิสัยด้านหน้า มองเห็นเส้นทางข้างหน้า ได้ดี มองเห็นฝากระโปรงหน้า แม้จะปรับตำแหน่งเบาะนั่งคนขับให้
ต่ำเตี้ยที่สุดแล้วก็ตาม จะพบว่า ตำแหน่งนั่งของ X3 ใหม่ สูงกว่ารถรุ่นเดิมอยู่เล็กน้อย

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวามือ แอบมีการบดบังทัศนวิสัย ขณะเข้าโค้งขวา บนถนนสวนกันสองเลนอยู่บ้าง
แต่ยังไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่อันใดนัก กระจกมองข้าง ของรถรุ่นที่แล้ว มีขนาดเล็ก พอเป็นรุ่นนี้ กลับถูกเพิ่มขนาด
ให้ใหญ่โตสะใจ ทีนี้ละ มองเห็นรถคันที่แล่นตามมาได้โดยไม่เจอปัญหาเลย อีกทั้งกระจกมองข้างของ X3 ใหม่
ยังสามารถตัดแสงไฟส่องกลางคืนลงได้ทั้งฝั่งซ้าย และ ขวา เหมือนกระจกมองหลัง บนเพดานในห้องโดยสาร

ส่วนเสาหลังคา A-Pillar ฝั่งซ้าย ก็ยังคงมาในสไตล์ที่ชวนให้นึกถึงเสาหลังคาคู่หน้า ของ ซีรีส์ 3 รุ่น E90 โฉม
ปัจจุบันไปเสียอย่างนั้น การเลี้ยวกลับรถ อาจมีบางส่วนที่บดบังทัศนวิสัยไปบ้าง แต่ก็ไม่มากมายนักอย่างที่คิด

สิ่งที่น่าชมเชยคือทัศนวิสัยด้านหลัง ที่โปร่งตาขึ้นกว่า X3 รุ่นเดิมชัดเจน แม้ว่าเสาหลังคาด้านหลังสุด D-Pillar
จะหนา และมีการบดบังรถจักรยานยนต์ที่แล่นมาด้านข้างยอู่บ้างก็ตาม แต่ในภาพรวม ถือว่า โปร่งโล่งสบาย
กว่าเดิมมาก

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ในช่วงขวบปีแรกที่เปิดตัว จนถึงตอนนี้ BMW X3 ใหม่ มีเครื่องยนต์ให้เลือกในตลาดโลก รวม 4 รุ่นย่อย ไม่ว่าจะเป็นรุ่น
เครื่องยนต์ เบนซิน xDrive28i ขุมพลัง 6 สูบเรียง DOHC 24 วาล์ว 2,996 ซีซี หัวฉีด 258 แรงม้า (HP) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 310 นิวตันเมตร (31.58 กก.-ม.) ที่รอบตั้งแต่ 2,600 – 3,000 รอบ/นาที กับรุ่น xDrive35i ขุมพลัง 6 สูบเรียง
DOHC 24 วาล์ว 2,996 ซีซี หัวฉีด 306 แรงม้า (HP) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร (40.76 กก.-ม.) ที่
รอบตั้งแต่ 1,200 – 5,000 รอบ/นาที

ส่วนรุ่นเครื่องยนต์ Diesel จะมีทั้งรุ่น xDrive20d และ xDrive30d จะวางเครื่องยนต์ 6 สูบเรียง DOHC 24 วาล์ว 2,993 ซีซี
หัวฉีด Piezo Common Rail พ่วง Turbo 253 แรงม้า (HP) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด มหาศาลถึง 560 นิวตันเมตร
(57.06 กก.-ม.) ที่รอบตั้งแต่ 2,000 – 2,750 รอบ/นาที

แต่ขุมพลังใน X3 xDrive20d ใหม่ เวอร์ชันไทย ในช่วงแรกที่เปิดตัว จะมีให้เลือกเพียงแบบเดียว เป็นเครื่องยนต์รหัส N47D20C
Diesel 4 สูบเรียง วางตามยาว DOHC 16 วาล์ว 1,995 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 84.0 x 90.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 
16.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรสิคส์ แบบ Piezo Injectors พร้อมระบบรางแรงดันสูง Common Rail พ่วงด้วยระบบ
อัดอากาศ Turbocharger แบบแปรผันครีบ ตามรอบการทำงานของเครื่องยนต์ พร้อม Intercooler ระบายความร้อนให้ไอดี
ก่อนส่งเข้าห้องเผาไหม้

ถือเป็นเครื่องยนต์ Diesel 4 สูบ พิกัด 2,000 ซีซี เวอร์ชันใหม่ ที่ถูกพัฒนาและปรับปรุงต่อเนื่องมาจากเครื่องยนต์ใน 320d ซึ่งเคย
ทำให้พวกเรา Headlightmag.com ประทับใจในความแรง ที่มาพร้อมกับความประหยัด แบบสุดขั้ว มาแล้ว คราวนี้ เครื่องยนต์เดิม
ถูกยกระดับมาเป็นเวอร์ชันใหม่ ภายใต้แนวทาง EfficientDynamics ที่จะต้องลดแรงเสียดทาน และเพิ่มประสิทธิภาพไปพร้อมกัน

ผลที่ได้ก็คือ กำลังสูงสุด 184 แรงม้า (BHP) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 380 นิวตันเมตร (38.72 กก.-ม.) ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่
1,750 – 2,750 รอบ/นาที

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อน ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ พร้อม Mode + / – Steptronics (จังหวะจะเยอะไปไหนเนี่ย?
กะให้วิ่ง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง รอบเครื่องเดินเบากันเลยใช่ไหม?) เป็นเกียร์ลูกเดียวกันกับที่ใช้อยู่ในทั้ง ซีรีส์ 7 ใหม่
F01 / F02 ซีรีส์ 5 ใหม่ F10 รวมทั้ง X5 กับ X6 รุ่นใหม่ๆ ในระยะหลังๆมานี้

อัตราทดเกียร์มีดังนี้

เกียร์ 1……………..4.714
เกียร์ 2……………..3.143
เกียร์ 3……………..2.106
เกียร์ 4……………..1.667
เกียร์ 5……………..1.285
เกียร์ 6……………..1.000
เกียร์ 7……………..0.839
เกียร์ 8……………..0.667
เกียร์ถอยหลัง R1…..3.295
เฟืองท้าย…………..3.077

เครื่องยนต์จะส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ลงสู่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ในชื่อ xDrive ซึ่งใน X3 นี้ ระบบ xDrive ถูกพัฒนาขึ้น
มาเป็น เจเนอเรชันที่ 3 แล้ว หลักการทำงานของระบบ xDrive ที่พอจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ สั้นๆก็คือ โดยปกติ ระบบขับเคลื่อน
4 ล้อ ในรถยนต์ทั่วไป จะมีทั้งแบบที่ Fix การกระจายแรงบิดไปยังล้อทั้ง 4 ตายตัว หรือไม่ ก็กระจายแรงบิด ไปยังล้อคู่หน้า หรือหลัง
ผู้ผลิตทุกรายต่างพยายามจะคิดหาวิธี กระจายแรงบิดไปยังล้อทั้ง 4 ให้ได้ตามสภาพการขับขี่ใช้งานเข้าโค้งจริง หรือบนถนนลื่นใน
รูปแบบต่างๆ

แต่ในระบบ xDrive นั้น แตกต่างตรงที่ มีชุด Multi-Disc Clutch ติดตั้งบริเวณเพลาขับเคลื่อน ที่ต่อเชื่อมเข้ากันกับทั้งชุดเพลาขับล้อคู่หน้า
และเพลาขับล้อคู่หลัง ควบคุมการทำงานโดยสมองกลอีเล็กโทรนิคส์ จะทำหน้าที่ส่งแรงบิดไปยังล้อทั้ง 4 ในอัตราส่วนที่แปรผันกันไป
ตามสภาพพื้นผิวถนนในเวลานั้น โดยปกติกำลังจากเครื่องยนต์จะถูกถ่ายทอดลงสู่ล้อทั้ง 4 ในอัตราส่วน ล้อคู่หน้า 40% ล้อคู่หลัง 60%
แต่ถ้าล้อข้างใดที่หมุนฟรีเต็มพิกัด เพื่อฉุดลากรถให้พ้นจากหลุมบ่อ หรือดึงตัวเองขึ้นจากทางลาดชัน ระบบคอมพิวเตอร์จะสั่งให้ชุด
Multi Disc Clutch ถ่ายทอดกำลังไปให้กับล้ออื่นๆ ที่ยังไม่หมุนฟรี ให้ช่วยกันหมุนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ระบบควบคุมเสถียรภาพ
DSC (Dynamic Stability Control) คอยช่วยลดแรงบิดที่ล้อหมุนฟรีอยู่ ให้หมุนน้อยลง ช่วยกันพารถพ้นจากสถานการณ์ต่างๆได้

สรุปง่ายๆคือ มีชุด Multi-Disc Clutch พร้อมชุดมอเตอร์ไฟฟ้าเล็กๆ ช่วยกันประสานงานเรื่องการจ่ายแรงบิดสู่ล้อทั้ง 4 ให้เหมาะสม
และแปรผันได้ตลอดเวลา ต่อเนื่อง ไม่หยุดนิ่ง ระบบ xDrive ใน X3 ใหม่ จะทำงานร่วมกับระบบควบคุมการกระจายแรงบิดสู่ล้อ
ทั้ง 4 ตามความต้องการในขณะเข้าโค้ง BMW Performance Control ว่าง่ายๆก็คือ เจอโค้ง ก็ซัดเข้าไปได้เลย ไม่ต้องไปสนใจว่า
ใช้ความเร็วเกินไปอยู่หรือเปล่า

นอกจากนี้ X3 ใหม่ ยังติดตั้งระบบ HDC (Hill Descent Control) ควบคุมการขับขี่ ขึ้น – ลงเขา หรือทางลาดชัน ติดตั้ง รวมทั้ง
ระบบเบรกมือแบบสวิชต์ไฟฟ้า ที่ยกชุดมาจาก BMW ซีรีส์ 7 กับ 5 และ X5 กับ X6 ถ้าจะให้ทำงาน ต้องเหยียบเบรก แล้วดึง
สวิชต์ถัดลงไปใต้คันเกียร์ ขึ้น เบรกมือก็จะล็อกล้อหลังไว้ ถ้าจะปลดเบรกมือออก ให้เหยียบเบรก แล้วกดสวิชต์เดิมลง แถม
ยังมีระบบ Auto-H หากกดปุ่มนี้ไว้ให้ระบบทำงาน มีไฟสีเขียวติดขึ้นบนสวิชต์ แสดงว่า ขณะขับๆคลานๆ ไปตามสภาพ
การจราจร ถ้าเหยียบเบรกจนรถหยุดนิ่ง คุณสามารถถอนเท้าออกจากแป้นเบรกได้เลย โดยที่รถจะไม่ไหลเคลื่อนไปข้างหน้า
ถ้าต้องการให้รถเคลื่อนไป เมื่อไฟเขียว แค่เหยียบคันเร่งพารถออกไป ซึ่งก็เป็นระบบที่เหมือนกับใน Land Rover รุ่นใหม่ๆ
แทบทุกรุ่นนั่นละครับ

อีกระบบหนึ่งที่ถูกติดตั้งมาให้เป็นครั้งแรกในบรรดา BMW ที่ขายในเมืองไทยทุกรุ่นตอนนี้ ก็คือ ระบบ Auto Start / Stop นั่นเอง
หากคุณขับรถมาเรื่อยๆ มาชะลอจอดติดไฟแดง เหยียบเบรกจมสุด แล้วค้างไว้ที่เกียร์ D อย่างที่สากลโลกเขาทำกัน (ไม่ใช่มาถึง
เปลี่ยนเป็นเกียร์ N หรือ P อย่างที่หลายคนชอบทำกันบ่อยๆ ให้เกียร์มันพังตอนผ่านไปไม่ถึงแสนกิโลเมตรนั่นแหละ) ถ้าสวิชต์
ของระบบ ไม่ได้ขึ้นไฟสีเหลืองอำพันอย่างในรูปข้างล่าง (คือไฟที่สวิชต์หนะดับไปเลย) แสดงว่า ระบบจะทำงาน และเครื่องยนต์ก็จะ
ดับลงให้เองระหว่างจอดติดไฟแดงนั่นละครับ แล้วขึ้นไฟสัญญาณบนหน้าปัดอย่างรูปบนนี้ แต่ถ้ากดสวิชต์ ให้ไฟสีเหลือง ติดขึ่นมา
อย่างในรูปข้างล่าง ระบบจะไม่ทำงาน

ที่สำคัญ ระบบ Auto Start / Stop ของ X3 ใหม่ จะดีกว่า Nissan March ตรงที่ เหมือนรถยนต์ Hybrid ในบ้านเราทั่วไป ที่เครื่องยนต์
จะดับได้ทันที โดยไม่ต้องปิดสวิชต์ A/C Off (ตัดการทำงานคอมเพรสเซอร์แอร์) ดังนั้น ตอนเครื่องยนต์ดับ แอร์ก็จะยังเย็นอยู่ตลอด

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะไม่มีข้อจำกัดอะไรเลย BMW เขียนเอาไว้ในคู่มือชัดเจนว่า ระบบนี้อาจจะไม่ทำงาน ถ้าเกิดมีปัจจัยอะไร
ก็ตามแต่ เข้าข่ายที่ไม่ควรให้ระบบมันทำงาน ตั้งแต่ อุณหภูมิภายนอกต่ำกว่า 3 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส
(อ้าว! แบบนี้ รถติดใน กทม.ตอนเที่ยงมันจะทำงานไหมละเนี่ย? หรือต้องไปรถติดกันบนดวงจันทร์?) เครื่องยนต์เพิ่งติดขึ้นมา
และยังไม่อยู่ในอุณหภูมิทำงาน หรือ เพิ่งถอยรถเสร็จใหม่ๆ พวงมาลัยไม่ตั้งล้อตรง ฝากระโปรงหน้าปิดไม่สนิท แบ็ตเตอรี
มีไฟเหลือน้อย ระบบ HDC ทำงาน ฯลฯ อีกบานตะเกียง

ฮ่วย! ทำไมมันดูวุ่นวายจั่งซี๊!? จะบอกว่า ตอนได้เห็นระบบนี้ทำงาน เจ้ากล้วย BnN ร้องลั่นรถ ดีใจยิ่งกว่าได้โชคทองจากซองมาม่า ซะอีก!

ตัวเลขจากโรงงานในเยอรมัน เคลมว่า อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลา 8.5 วินาที ความเร็วสูงสุด 210 กิโลเมตร/ชั่วโมง
อัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ในไอเสีย ต่ำเพียงแค่ 147 กรัม ต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยตาม
มาตรฐานการทดสอบ UN ECE อยู่ที่ 17.9 กิโลเมตร/ลิตร !!

แต่นั่นคือตัวเลขจากสนามทดสอบของผู้ผลิต ในสภาพความจริง บนถนนประเทศไทย อยากรู้ไหมครับว่า X3 xDrive 20d ใหม่ จะทำ
ตัวเลขออกมาได้ดีแค่ไหน? ผม กับ เจ้ากล้วย BnN ยังคงทำหน้าที่ ทดลองขับจับเวลา ค้นหาความจริงให้ บนมาตรฐานเดิม คือ ทดลอง
ในยามค่ำคืน ดึกๆ บนเส้นทางโล่งๆ เปิดแอร์ และนั่งแค่ 2 คน น้ำหนักตัวรวมกัน อยู่แถวๆ 150 – 160 กิโลกรัม และผลที่ได้มีดังนี้…

ดูจากตัวเลขแล้ว ผมคงแทบจะไม่ต้องพูดอะไรเพิ่มเติมเลยทีเดียว เพราะงานนี้ X3 ใหม่ เอาชนะคู่แข่งทุกคันไปได้อย่างใสสะอาด
ไม่เว้นแม้แต่ X3 รุ่นก่อนหน้านี้ ที่ใช้เครื่องยนตืเดียวกัน แต่เป็นเวอร์ชันเก่ากว่า และใช้เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ นั่นด้วย

ถ้าใครสงสัยว่า แล้วเราไม่มีตัวเลขของ Audi Q5 ให้อ่านกันบ้างเลยหรือ คำตอบก็คือ ผมยังไม่เคยได้ลองขับรถรุ่นนี้เลยครับ
เพราะดูเหมือนว่า จะไม่มีใคร มีรถให้ผมยืม ทาง ยนตรกิจ เอง ก็ไม่มีรถให้เรายืมอย่างแน่นอน กลายเป็นเรื่องเศร้าไป
และเราก็คงต้องขอสรุปกันตรงนี้เลยว่า X3 ใหม่ ทำตัวเลขต่างๆ ออกมาได้ดีที่สุด ในบรรดา Premium Compact SUV
ที่มีขายอยู่ในเมืองไทย ซึ่งตอนนี้ เหลือคู่แข่งอยู่เพียงแค่เท่าที่คุณเห็นในตารางนี้ละครับ

อย่างไรก็ตาม ตั้งข้อสังเกตว่า X3 ทุกคันที่เคยลองขับมา จะทำความเร็วสูงสุดได้แค่ 210 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งนี่ก็ถือเป็นเรื่องดี
เพราะ SUV เป็นรถยนต์ที่มีความสูงมากกว่ารถทั่วไป อีกทั้งยังมีมวล กับน้ำหนักตัว มากกว่ารถทั่วไป ดังนั้น หากจะหยุดรถ
ก็ต้องใช้ระยะเบรกยาวกว่ารถทั่วไป ขืนปล่อยให้ใช้ความเร็วสูงสุดกันได้ตามอำเภอใจ หากเสียการทรงตัวขึ้นมา ก็จะเกิด
อุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้น ผมจึงเห็นด้วยกับการกำหนดความเร็วสูงสุดของรถประเภทนี้เอาไว้ที่ระดับ 210 กิโลเมตร/ชั่วโมง

สำหรับรถยนต์ BMW ที่ใช้ขุมพลัง Diesel Common Rail Turbo ในยุคใหม่ๆนั้น หากเห็นตัวเลขในตารางว่าเป็นอย่างไร
ในการขับขี่จริง แทบไม่ต้องเดาต่อเลย คุณก็คงน่าจะพอรู้ว่า ในอดีตที่ผ่านมา ขุมพลัง N47 เคยสร้างความอัศจรรย์จนถึงขั้น
ทำให้ผม และตาแพน Commander CHENG! อ้าปากค้างกันมาแล้วใน BMW 320d E90 เวอร์ชันก่อน Minorchange รถเก๋ง
Diesel บ้าอะไรวะ ประหยัดสุดขีดคลั่ง แถมยังแรงบ้าพลัง ท้อปสปีด ปาเข้าไป 244 กิโลเมตร/ชั่วโมง และนั่นคือ  เหตุการณ์
เมื่อปี 2008 หลังจากนั้นเป็นต้นมา ต่อให้ได้จับ BMW คันไหน ที่ใช้ ขุมพลังเดียวกันนี้ ความประทับใจที่เคยมี ก็ยังหลั่งไหล
พรั่งพรูมาให้ได้รู้สึกนึกคิดจดจำกันได้อย่างดี

แต่คราวนี้ ขุมพลัง N47 ถูกพัฒนาและยกระดับขึ้น ให้แรงกว่าเดิมไปอีกขั้น แถมประหยัดน้ำมันกว่าเดิมขึ้นไปอีกระดับ
แม้ว่ารถจะต้องถูกจำกัดความเร็วสูงสุดเอาไว้เพียงแค่ 210 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ทันทีที่คุณเหยียบคันเร่งจมมิด เพื่อออกรถ
X3 xDrive 20d จะพาคุณ พุ่งกระโจนไปข้างหน้า…สังเกตไหมครับ ผมไม่ใช้คำว่า พุ่งทะยาน แต่คราวนี้ ใช้คำว่า พุ่งกระโจน

ก็แน่ละ อัตราเร่งของมัน พารถพุ่งกระโจนออกไปอย่างรวดเร็ว และแอบโหดเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน ในช่วงเกียร์ 1  2 และ 3
ระหว่างนั้น แผ่นหลังของคุณจะถูกดึงให้ติดเบาะ มันจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงช่วง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ช่วงปลายของรอบเครื่องยนต์ คือราวๆ ใกล้ๆ กับ 4,000 รอบ/นาทีนั้น ความเร็วของรถจะเพิ่มขึ้น ช้าลงกว่าช่วงก่อนหน้า
แต่ยังสัมผัสได้เลยว่า พละกำลังที่มีอยู่ ยังสามารถเค้นออกมาได้อีกพักใหญ่ จนกระทั่งถึงความเร็วสูงสุดนั่นละครับ

แรงบิดในช่วงเร่งแซงนั้น มีมาให้เหลือเฟือ ชนิดที่แทบไม่ต้องเล่นเกียร์ในโหมด Steptronic บวก ลบ ช่วยแต่อย่างใด
แต่ถ้าจะเล่นในโหมดดังกล่าว ต่อให้คุณเหยียบคันเร่งจมมิด ลากรอบเครื่องยนต์ขึ้นไปจนถึงสุดปลายทาง เกียร์จะถูก
เปลี่ยนตำแหน่งขึ้นไปให้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว สิ่งที่ผมชื่นชอบในขุมพลัง N47 ก็คือ
เมือ่ไหร่ที่ผมต้องการพละกำลัง เพื่อการเร่งแซง เครื่องยนต์รุ่นนี้จะจัดสรรมาให้ผมเต็มเม็ดเต็มหน่วย แบบไม่อั้น
ไม่มีกั๊ก ปล่อยเต็ม จัดเต็ม ในแทบจะทุกช่วงความเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเพียงแค่ พุ่งขึ้นไปแซงหน้ารถที่แล่นช้าอยู่บน
เลนซ้าย ถนนพหลโยธิน ความเร็ว 40 – 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือจะเป็นช่วงที่แล่นหนีพวกขับเร็วจี้บั้นท้าย ในช่วง
100 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป้นเครื่องที่มีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง

คันเร่งไฟฟ้า ตอบสนอง กำลังดี ไม่ช้าอย่างที่คิด ทำงานได้ตามสั่ง แต่ยังมีช่วงระยะห่าง ระหว่งรอรับคำสั่ง จนกระทั่ง
รถเริ่มทำงานตามสั่ง ราวๆ ไม่เกิน 0.5 วินาที ซึ่งถือว่าเป็นคันเร่งไฟฟ้า ที่ทำหน้าที่ของมันได้ไวตามเหตุและผล

การเก็บเสียงในช่วงความเร็วสูง ไม่ใช่ปัญหาของรถรุ่นนี้เลย จนกว่าคุณจะเริ่มปล่อยให้เข็มความเร็วบนมาตรวัด
เกินกว่าระดับ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป เสียงกระแสลมไหลผ่านตัวรถ มีเล้ดรอดเข้ามาบ้าง และจะเริ่มดังขึ้นเรื่อย
อย่าง ไม่รบกวนนัก เมื่อความเร็วเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ การเก็บเสียงในห้องโดยสารทำได้ดีมาก

ระบบกันสะเทือนของ X3 นั้น ด้านหน้าเป็นแบบ Double-joint spring-strut axle ส่วนด้านหลังเป็นแบบ 5 จุดยึด หรือ five-link
คราวนี้ในรุ่น HighLine จะมาพร้อมกับ ระบบ DDC Dynamic Damper Control ที่ทำหน้าที่ปรับความนุ่ม-แข็งของระบบช่วงล่าง
ซึ่งเป็นระบบ DDC ที่ยกชุดมาจาก ซีรีส์ 5 รุ่น 530d 525d และ 523i Highline มาแทบจะทั้งดุ้น!!!

Dynamic Damping Control ใช้ข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดยเซ็นเซอร์รอบคันรถ ทั้งตำแหน่งของพวงมาลัย แรงลมปะทะด้านข้าง
ความเร็ว ในการหมุนของล้อ และอื่น ๆ โดยระบบจะคำนวณการตั้งค่าที่ดีที่สุดสำหรับแต่ละล้อ และปรับช่วงล่างอย่างต่อเนื่อง
ตามความเหมาะสม

เมื่อกดปุ่มควบคุมที่อยู่ข้างเกียร์ คุณสามารถเลือกและเปลี่ยนจากโหมด NORMAL อันเป็นการขับขี่แบบธรรมดาทั่วไป มาเป็น
โหมด SPORT ซึ่งพวงมาลัยจะหนืดขึ้น ช่วงล่างแข็งขึ้นเล้กน้อย หรือถ้ากดเปลี่ยนไปเป็น SPORT+ ระบบควบคุมเสถียรภาพ
ต่างๆ จะถูกปลดออกไป ให้คุณได้สนุกกับการขับขี่ในแบบที่คุณเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น ซึ่งการทำงานของเครื่องยนต์จะตอบสนอง
ได้ทันใจมากขึ้น คันเร่งแอบไวขึ้นนิดเดียว ต้องสังเกตจึงจะเจอ เกียร์จะเปลี่ยนตำแหน่งลงต่ำให้ เพื่อเตรียมพร้อมรอให้คุณ
เริ่มเล่นกับรถ ลากรอบ หรือเข้าโค้ง ฯลฯ ได้ตามต้องการ

ใน Mode Normal นั้น ระบบกันสะเทือน นุ่มนวลมาก ในย่านความเร็วต่ำ ขณะขับขี่ในเมือง เวลาขับผ่านทางรถไฟ หรือหลุมบ่อ
ต่างๆ บนนถนนในกรุงเทพฯ ผมถึงกับตกใจ…โอ้โห! แม่เจ้าโว้ย ทำไมมันนุ่มอย่างงี้!! ต้องมองลงมาที่พวงมาลัยเลยว่า “ตกลงรถ
ที่เราขับอยู่นี่ มันเป็น BMW หรือเป็น Volvo กันแน่วะเนี่ย?” คือแต่ละครั้งที่ขับผ่านทางขรุขระ รถจะแล่นผ่านไปอย่างเรียบง่าย
ราวกับว่าไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นเลย เนียนมากๆ! เป็นความนุ่มนวลที่มาพร้อมความหนึบแน่นมั่นใจ ในแบบที่ผม
อยากจะได้จาก SUV ทุกยี่ห้อ ทุกรุ่น ทุกคันนับจากนี้ไป เพราะนี่แหละ คือช่วงล่างที่เซ็ตมาดีที่สุด ในบรรดา SUV ทุกคันเท่าที่ผม
เคยลองขับมา

แต่พอใช้ความเร็วสูง ช่วงล่างใน Mode Normal ก็ยังรองรับการเดินทางได้ดี หากไม่มีกระแสลมมาปะทะด้านข้างรุนแรงนัก
ยังคงความนุ่มสบาย จัมพ์คอสะพานได้ดุจเทพเจ้าด้านช่วงล่าง แปลงกายลงมาทำงานอยู่ในรถ..ไม่ได้เวอร์ครับ คุณควรไป
ทดลองขับเองกับมือ ถ้าไม่เชื่อในสิ่งที่ผมเขียนนี่ละก็!

แต่ถ้าจะให้ดี การขับขี่ในความเร็วสูงนั้น ผมขอแนะนำให้ใช้โหมด Sport ซึ่งจะปรับช่วงล่างให้แข็งกว่าเดิมขึ้นอีกเล็กน้อย
มันจะเพิ่มความมั่นใจให้กับคุณได้มากขึ้นอีกนิดนึง โดยที่แทบไม่ต้องไปปรับปรุงช่วงล่างอะไรอีกเลย

ส่วนเรื่องของการเข้าโค้ง ด้วยความช่วยเหลือของระบบ xDrive และ Performance Control นี้ ผมลองด้วยวิธีง่ายๆ บนเส้นทางที่
หลายๆคนคงใช้อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน และคงพอจะรู้อยู่ว่า ควรจะใช้ความเร็วให้ช้ากว่าปกติ โค้งที่ว่า อยู่บนทางด่วนขั้นที่ 1
ช่วงทางราบคลองเตย – บ่อนไก่ จะมีทางแยกรูปตัว W (คือ 3 ช่อง) 2 ช่องขวาสุด ขึ้นคร่อมโค้งซ้าย ตรงยาวมั่งหน้าไปบรรจบ
กับรถขาเข้ากรุงเทพฯ มุ่งหน้าไป ดินแดง – พระราม 9 ช่องกลาง จะเป็นทางโค้งกลาง มุดลง ไปออกได้ทั้งทางลง พระราม 4
และเชื่อมกับเส้นที่จะมุ่งหน้าไป ดินแดง – พระราม 9 ได้เหมือนกัน

แต่ โค้งที่ผมจะใช้ เป็นโค้งรูปตัว S มุ่งหน้าจากพระราม 3 ช่องนนทรี จะไปทางบางนา ซึ่งจะมีทางโค้งซ้าย แบบ 80 องศา
เว้นระยะให้รถพอจะถ่ายน้ำหนักกลับมาได้ ก็จะตามต่อด้วยโค้งขวารูปตัว C ยาวๆ แถมยังมีแค่ 2 เลน เรียกได้ว่า เป็นโค้ง
อันตรายอีกจุดหนึ่งของระบบทางด่วนเฉลิมมหานคร ขั้นที่ 1 กันเลยทีเดียว

โค้งที่ว่านี้ SUV ทั่วๆไปที่เคยผ่านมือผมมา แค่เข้าโค้งซ้าย ด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง รถก็เอียงกะเทเร่ และพร้อมจะเริ่ม
ออกอาการที่บั้นท้ายนิดนึงแล้ว  และพอเข้าสู่ช่วงโค้งขวาที่ลึกและยาว เป็นรูปตัว C ถ้าใช้ความเร็วนิ่งๆ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้
มีอยู่ไม่กี่คันเท่านั้นที่จะรอดผ่านโค้งนี้ได้ โดยไม่ต้องชะลอความเร็วลง

แต่กับ X3 ใหม่ ผมพุ่งตรงก่อนเข้าโค้งด้วยความเร็ว 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปล่อยไหลมาเรื่อยๆ จนถึงหน้าโค้ง ความเร็วในช่วง
เข้าโค้งซ้ายแรก  เข็มความเร็วอยู่ที่ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับความเร็วที่ผมใช้เข้าโค้งนี้ ด้วยรถยนต์ Sedan 4 ประตูทั่วๆไป
ที่เซ็ตช่วงล่างมาในแนวสปอร์ตหน่อย พอถึงโค้งขวา ผมผ่อนให้หักเข้าไปด้วยความเร็ว  80 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่พอรถอยู่ในโค้ง
ผมเพิ่มความเร็วขึ้นเป็น 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถึงรถจะเอียง ยาง Piralli P Zero ก็พยายามจะทำหน้าที่ยึดเกาะถนนอย่างเต็มเหนี่ยว
โดยไม่ปริปากร้องโอดโอยให้ได้ยินเลยสักแอะ! ได้เห็นคุณประโยชน์ของการเพิ่มความกว้างช่วงล้อ (Track width) ทั้งล้อคู่หน้า
และคู่หลัง ให้กว้างขึ้น รวมทั้งการทำงานของระบบขับเคลื่อน xDrive กับ Performance Control เข้าไปด้วยแล้ว งานนี้ผมออก
จากโค้งที่ว่า ได้ด้วยความเร็วแถวๆ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง และขอย้ำว่า ทั้ง 2 โค้ง ผมไม่ต้องแตะเบรกช่วยอะไรเลย!!

ยังไงๆ ก็ยังมีอาการเอียงกะเทเร่ให้ผมยังระลึกได้อยู่ว่า กำลังขับ SUV อยู่ดีแหละครับ เพียงแค่ว่า เข้าโค้งได้ด้วยความเร็วที่สูงกว่า
SUV ทั่วไปสักนิดหน่อย ด้วยความมั่นใจมากกว่ากันชัดเจน สัมผัสได้ถึงความหนึบ เฟิร์ม แต่ไม่กระด้าง ก็ประมาณนั้น

ด้านระบบบังคับเลี้ยวนั้น พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า EPS Electronics Power Steering) ที่ปรับปรุงมาใน
แนวทาง EfficiencyDynamic คือสิ่งที่ทำให้ผมแปลกใจมาก ในแทบจะทันที ที่เคลื่อนรถออกจาก ศูนย์บริหารจัดการรถ Demonstration
ของทาง BMW Thailand แถวๆ ซอยต้นสน เพราะพวงมาลัยมันเบาม๊าก! แม้ว่าจะไม่ได้เบาโหวงอย่างที่เคยเจอมาใน BMW ซีรีส์ 7
รุ่น E65 / E66 (อันถือเป็น BMW ที่มีพวงมาลัยเบาที่สุดเท่าที่ผมเจอมา คือใช้นิ้วชี้ นิ้วเดียวหมุนพวงมาลัยขณะรถจอดหยุดนิ่งได้เลย)

ทว่า ความเบาะในการหมุนเลี้ยวพวงมาลัยนั้น มันเบาใกล้เคียงกับรถญี่ปุ่นระดับ B-Segment 1,500 ซีซี บางรุ่น และพอกันกับรถญี่ปุ่น
พิกัด C-Segment 1,600 – 2,000 ซีซี จากญี่ปุ่นบางรุ่นเลยเช่นเดียวกัน!! ไม่อยากเชื่อเลยว่า ในช่วงความเร็วต่ำ จากจุดหยุดนิ่ง จนถึงการ
เคลื่อนตัวไปตามสภาพการจราจรอันแสนจะจลาจล พวงมาลัยจะเบาได้มากขนาดนี้ ในช่วงความเร็วต่ำ ถ้าจะบอกว่า ความหนืดในช่วง
ความเร็วต่ำนั้น แทบจะพอกัน หรือหนืดหน่วงน้อยกว่า พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าของ Nissan TIIDA คุณจะเชื่อไหม!!??

สิ่งที่ทำให้ประหลาดใจก็คือ ด้วยพวงมาลัยที่เบาสบายนี่แหละ ทำให้ผมสามารถ พา X3 ใหม่ มุดซอกแซก ไปตามตรอกซอกซอย เพื่อ
หนีสภาพการจราจรติดขัดบนถนนพญาไท ลัดเลาะไปออกถนนพระราม 6 ได้อย่างไม่พะวักพะวงต่อขนาดของรถมากนัก แม้จะ
ต้องคำนึงถึง ทัศนวิสัยด้านหน้าฝั่งซ้ายอยู่นิดหน่อย เพราะกลัวจะเอาไฟหน้าซ้าย ไปเสยกับท้ายรถคันอื่นเข้า ก็ตาม

แต่ในช่วงความเร็วสูง หากยังคงปรับช่วงล่างเอาไว้ในโหมด Normal การตอบสนองของพวงมาลัยแม้จะหนืดขึ้นมาเล็กน้อย และนิ่ง
พอให้คุณสามารถปล่อยพวงมาลัยได้ในขณะใช้ความเร็วระดับ 210 กิโลเมตร/ชั่วโมง อันเป็นความเร็วสูงสุด แต่คุณจะทำแบบนั้นได้
เฉพาะในเวลาที่ไม่มีกระแสลมปะทะด้านข้างเท่านั้น

เพราะถ้าคุณทำแบบนี้ บนทางยกระดับบูรพาวิถี ช่วงเวลาบ่ายๆ เย็นๆ ขณะที่มีกระแสลมปะทะด้านข้างยังมากอยู่ ไม่ต้องใช้ความเร็ว
สูงสุดหรอกครับ เอาแค่แถวๆ 120 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง คุณจะพบว่า ด้วยพวงมาลัยที่น้ำหนักเบาไปในย่านความเร็วสูงนี้ ทำให้คุณ
ต้องใช้สมาธิในการประคองรถ มากพอกันกับรถญี่ปุ่นทั่วไปนั่นแหละ เพราะรถจะออกอากาศแกว่งซ้าย-ขวา นิดๆไปตามสภาพพื้น
ผิวถนนที่เป็นลอนคลื่น หรือตามแรงลมปะทะด้านข้างจนชัดเจน แต่คุณจะไม่พบเจออาการนี้เลย ถ้าคุณนำรถไปวิ่งด้วยความเร็วเท่ากัน
บนทางด่วนสายอุดรรัถยา หรือที่คุ้นกันดีว่าสายเชียงราก เพราะที่นั่นกระแสลมปะทะด้านข้าง น้อยกว่าเยอะ ดังนั้น กระแสลมปะทะ
ด้านข้าง ก็จะยังมีผลต่อการใช้ความเร็วสูงในรถคันนี้ ไม่ต่างกันกับรถญี่ปุ่นทั่วไปนะครับ

ถ้าถามว่า หากปรับช่วงล่างไปในโหมด Sport หรือ Sport + จะช่วยให้ดีขึ้นหรือไม่ คำตอบจากที่ผมได้ทดลองมาแล้ว ก็คือ พวงมาลัย
จะหยืดขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย ตึงมือขึ้น บังคับเลี้ยวเข้าโค้งในความเร็วสูง ดี และมั่นใจในแบบที่ควรเป็น ซึ่งเพียงพอแล้วกับการ
ใช้ความเร็วพอสมควร ตามวิสัยของคนชอบขับรถเร็ว เพียงแต่ว่า ไม่ได้ช่วยลดอาการแกว่งเล็กๆ ที่เกิดขึ้นด้านหน้าของรถเลย เพราะ
มันไม่ใช่อาการที่จะแก้ไขได้จากการปรับพวงมาลัย หากแต่เป็นปัญหาที่มาจากเรื่องของอากาศพลศาสตร์ อันเกี่ยวข้องกับแรงลมที่
มาปะทะด้านข้างต่างหาก

แต่ถ้าถามว่า เป็นปัญหาใหญ่ไหม เอาอย่างนี้แล้วกัน ถ้าผมจะบอกว่า Mercedes-Benz E-Class W212 ใช้ความเร็วระดับเดียวกัน
บนทางยกระดับบูรพาวิถี ในยามบ่ายเหมือนกัน ก็มีอาการแกว่งเล็กๆ ซ้ายๆ ขวาๆ หน่อยๆ เหมือนกัน หรือไม่ต้องข้ามแบรนด์
ไปไกล เอา BMW ด้วยกันเนี่ยแหละ ขนาด X5 xDrive30d ผมยังเคยเจออาการแกว่งแบบนี้ ขณะที่ใช้ความเร็วในระดับแถวๆ
160 – 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง มาแล้วเลย ทั้งที่เป็นรถใหญ่ หนักก็หนักกว่า พื้นที่หน้าตัดในการแหวกอากาศก็มากกว่า ดังนั้น ใคร
ที่มาบอกว่า X3 ใหม่ร่อน ผมก็คงจะต้องถามเหมือนกับที่เคยถามในรถคันอื่นๆ มาแล้วนั่นละครับว่า คุณขับเร็วแล้วร่อน บน
ถนนหรือทางด่วนสายไหน? ถ้าเป็นบูรพาวิถี มันก็ร่อนออกซ้ายๆ ขวาๆ นิดๆ เหมือนกัน แทบจะทั้งนั้นละครับ ขึ้นอยู่กับว่า
เจอวันลมแรง หรือลมน้อย

เพราะในช่วงทำความเร็วสูงสุด ตอนกลางคืน หลัง 4-5 ทุ่มไปแล้ว ทางสายบูรพาวิถี จะแทบไม่ค่อยมีกระแสลม และผมก็ปล่อยมือ
จากพวงมาลัย X3 ใหม่ที่ความเร็ว 210 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ต่อเนื่องราวๆ 5-7 วินาที ก็ทางสายเดียวกันนั่นละครับ ต่างกันที่เวลา
และกระแสลมที่ะทะน้อยกว่ากันเยอะ ดังนั้น แสดงว่า จริงๆแล้ว ตัวของรถเองหนะ มันนิ่งแน่ๆ แต่ลมปะทะนั่นแหละที่จะทำให้
มันไม่นิ่ง เคลียร์นะครับ ในจุดนี้?

ระบบห้ามล้อเป็นแบบดิสก์เบรก แบบมีรูระบายความร้อน Single-Piston Floating Caliper ทั้ง 4 ล้อ โดยจานเบรกคู่หน้า มีเส้น
ผ่าศูนย์กลาง 328 มิลลิเมตร หนา 28 มิลลิเมตร ส่วนจานเบรกคู่หลัง เส้นผ่าศูนย์กลาง 330 มิลลิเมตร หนา 20 มิลลิเมตร ทำงาน
ร่วมกับทั้งระบบ DSC กับระบบขับเคลื่อน xDrive ไปจนถึงระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti lock Braking System) ระบบช่วย
กระจายแรงเบรกขณะเข้าโค้ง CBC (Cornering Brake Control) ระบบควบคุมแรงเบรก DBC (Dynamic Brake Control)

อีกทั้งระบบเบรกของ X3 ใหม่ ยังเป็นแบบ Regenerative Brake เหมือนกับรถยนต์ HYBRID คือทันทีที่คุณเหยียบเบรก ระบบ
จะนำพลังงานจลย์ จากการเหยียบเบรก ไปก่อให้เกิดกระแสไฟฟ้า ไปเก็บไว้ในแบ็ตเตอรีของรถ เพื่อใช้ในการจ่ายไฟสู่อุปกรณ์
ต่างๆ ภายในห้องโดยสาร ยืดอายุการใช้งานของ แบ็ตเตอรีไปได้อีกพอสมควร

อันที่จริง การตอบสนองของระบบเบรกภาพรวม ถือว่าทำได้ดี การหน่วงความเร็ว ไม่ว่าจะเป็นระดับ ท็อปสปีด ลงมาเหลือเพียง
40 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือจะเป็นการขับแบบค่อยๆย่องไปในเมือง Stop & Go ให้ความมั่นใจ พร้อมกับความนุ่มนวลที่มีมาให้
กำลังเหมาะ สัมผัสได้ถึงความต่อเนื่อง แบบ Linear ค่อนข้างดี อาจจะขอแค่เพียงปรับปรุงแป้นเบรก ให้เพิ่มการตอบสนอง
ไวกว่านี้อีกนิดนึง ในช่วงจังหวะที่เริ่มลงน้ำหนักลงบนแป้นเบรกใหม่ๆ เพราะเมื่อเหยียบแป้นเบรกลงไปที่ระดับ 1 ใน 3 แล้ว
การทำงานของระบบเบรก ก็ยังเป็นไปด้วยความราบรื่น และมั่นใจได้ระดับหนึ่ง

ส่วนเรื่องโครงสร้างตัวถังและความปลอดภัยนั้น เนื่องจาก BMW AG ไม่ได้กล่าวถึง หรือระบุเอาไว้ในเอกสารที่แจกสื่อมวลชน
ไม่ว่าจะเป็นในเวอร์ชันต่างประเทศ หรือเวอร์ชันไทย อีกทั้งขณะนี้ ทาง EURO NCAP ก็ยังมิได้ทำการทดสอบการชน ของ X3
รุ่นใหม่เอาไว้เลย จะมีก็แค่รถรุ่น E83 ในปี 2008 เท่านั้น ซึ่งก็คงใช้อ้างอิงไม่ได้ ดังนั้น คงเป็นเรื่องยากที่จะไปค้นหาข้อมูลมา
ให้ได้อ่านกัน จึงยังไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับโครงสร้างตัวถังมานำเสนอในรีวิวนี้

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

ในเมื่อ X3 xDrive20d รุ่นเดิม สร้างมาตรฐานใหม่ในด้านความประหยัดน้ำมัน ให้กับบรรดา SUV ทั้งหลาย ด้วยตัวเลข
วิ่ง 110 เปิดแอร์ นั่ง 2 คน แล่นทางไกล ทำได้ 16.7 กิโลเมตร/ลิตร มาแล้ว ดังนั้น X3 xDrive20d รุ่นใหม่ จะยังคงรักษา
ตำแหน่งจ่าฝูงในด้านความประหยัดของกลุ่ม SUV ได้อีกหรือไม่? นั่นก็เป็นภาระอันหนักอึ้งอยู่เหมือนกันนะ

เรายังคงใช้วิธีการดั้งเดิม ในการหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย สำหรับรถยนต์ ที่ใช้เครื่องยนต์ Diesel เราพา X3 ใหม่
ไปที่สถานีบริการน้ำมัน Shell ปากซอยอารีย์ ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ถนนพหลโยธิน เติมน้ำมัน Shell V-Power
Diesel B5 จนเต็มถัง หัวจ่ายตัด ก็พอ

เมื่อเรียบร้อยแล้ว Set 0 บน Trip Meter เริ่มติดเครื่องยนต์ คาดเข็มขัดนิรภัย ออกเดินทาง เลี้ยวกลับมา มุ่งหน้าเลี้ยวซ้าย
เข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะ ทะลุออกโรงเรียนเรวดี แล้วข้นทางด่วน ที่ด่านพระราม 6 มุ่งหน้าไปยังปลายสุดทางด่วนอุดรรัถยา
เลี้ยวกลับมาย้อนขึ้นทางด่วน มุ่งหน้ากลับมายังถนนพหลโยธินตามเดิม ด้วยความเร็ว ไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน สักขีพยานของผมวันนี้ คือเจ้ากล้วย BnN ที่มีน้ำหนักตัวเพียง 48 กิโลกรัม เท่านั้น

เมื่อลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิแล้ว เราเลี้ยวซ้ายเข้าถนนพหลโยธิน ตรงไปจนเลี้ยวซ้ายเข้าปั้ม Shell เติมน้ำมัน
V-Power Diesel B5 เต็มถัง เอาแค่หัวจ่ายตัดพอ และยังเติมที่หัวจ่ายเดิมอีกด้วย เพื่อให้ได้มาตรฐานที่ลดความผิดเพี้ยน
น้อยที่สุด

มาดูกันดีกว่า ว่ารถคันนี้จะทำตัวเลขออกมาได้เท่าใดกัน
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด 94.5 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.73 ลิตร

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 16.49 กิโลเมตร/ลิตร ก็ยังถือว่าประหยัดอยู่ในเกณฑ์เดียวกันกับ BMW ขุมพลัง Diesel Turbo
รุ่นอื่นๆ ที่เราเคยทำรีวิวกันมาก่อนหน้านี้ แต่ถืิอว่าน่าตกใจ สำหรับ SUV ระดับหรูทั่วไป น้อยคันที่จะทำตัวเลขได้ดีเท่านี้

ถ้าดูจากตัวเลข เปรียบเทียบกัน จะเห็นว่า รถรุ่นใหม่ ทำตัวเลข ด้อยกว่ารถรุ่นก่อน เพียงแค่ 0.3 กิโลเมตร/ลิตรเท่านั้น อันเป็น
ผลสืบเนื่องที่น่าจะมาจากการเติมน้ำมัน ซึ่งมีโอกาสผิดเพี้ยนได้สูง มากกว่าที่จะโทษในประเด็นอื่นใด

และถ้าคุณยังสงสัยว่า น้ำมัน 1 ถัง จะพาคุณ แล่นไปได้ไกลกี่กิโลเมตร ผมก็ทดลองให้คุณ โดยการเซ็ต 0 บน Trip meter ตั้งแต่
ออกจากปั้มน้ำมัน Caltex มาใช้งานในชีวิตประจำวัน ซึ่งเรียนตามตรงว่า มีทั้งขับเร็วระดับ 80 – 140 กิดลเมตร/ชั่วโมง และมี
ช่วงที่เหยียบหนักๆ ทำคลิป ทำความเร็วสูงสุดกัน แม้แต่คลานไปในสภาพการจราจรติดขัด กลางสยามสแควร์ ตัวเลขที่รถคันนี้
แล่นไปได้ทั้งหมดคือ 417 กิโลเมตร และยังมีน้ำมันเหลืออยู่ในถัง น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง แต่ ต่ำกว่าขีดครึ่ง มาเพียงแค่นิดเดียว
แล้วถ้าคุณขับรถคันนี้ ในแบบที่คนทั่วไปเขาขับกัน มันจะประหยัดขนาดไหนกันละเนี่ย? น้ำมัน 1 ถังอาจวิ่งได้ 800 กิโลเมตร!!

********** สรุป **********
*** Premium SUV ที่ แรง ประหยัดน้ำมัน และคุ้มที่สุดในระดับ 3 – 4 ล้านบาท อยู่ตรงนี้แล้วละ! ***

ระหว่างกำลังค่อยๆ พาเจ้า X3 คันสีเทา A52 Space grey คลานขึ้นลานจอดรถ ของอาคารแห่งหนึ่ง ในซอยต้นสน ย่านชิดลม
เพื่อส่งคืนให้กับ ศูนย์จัดการรถยนต์ส่วนกลางของ BMW Thailand ที่ย้ายไปตั้งอยู่เอกเทศ จากสำนักงานใหญ่ ออลซีซัน ลุมพินี
ผมก็เกิดความรู้สึกหนึ่ง ซึ่งมีมาให้พบเจอไม่บ่อยนัก….(แม้ว่าพักหลัง คุณจะเจอผมเขียนถึงในลักษณะนี้ บ่อยอยู่ก็ตาม)

ความรู้สึก “ไม่อยากคืนรถ” กลับมาเยือนอีกแล้ว

พลางนึกย้อนให้หลังไปในรอบ 2 ปีมานี้ ออกจะแปลกใจตัวเองอยู่ไม่น้อยเลยว่า มี BMW หลายคันที่ผมไม่อยากคืนรถ ถ้าจะ
นับกันจริงๆ ก็มีทั้ง 730 Ld ตามด้วย Z4 ใหม่ ไปจนถึง ซีรีส์ 5 ใหม่ F10 ทั้ง 4 คันรวด และยังไม่นับ 320d Saloon อีก 2 คัน
แถมด้วย 325i เปิดประทุน อีก 1 คัน ส่วน 320 d Coupe อุปกรณ์ ให้มายังไม่ครบพอเมื่อเทียบกับค่าตัว ส่วน 325i Coupe แม้จะ
มีอุปกรณ์เกือบครบ สมรรถนะดี แต่ผมก็ยังติในความยากลำบากที่ต้องประคองพวงมาลัยอันหนักและดิ้นไปดิ้นมา จนเหนื่อย
ในการบังคับรถ

แต่สำหรับ X3 รถที่ผมไม่เคยคิดจะเหลียวแลมันอีกเลย หลังจากคืนกุญแจไปเมื่อปี 2007 แทบไม่คิดอยากจะยุ่งอีกเลย แม้ว่า
จะมีรุ่นใหม่ F25 โผล่มาเปิดตัวในบ้านเรา ผมคิดและมองว่า มันก็คงจะดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมได้ไม่เท่าไหร่หรอก หน้าตาของมัน
ก็ไม่ได้ชวนให้เกิดความอยากลองขับเท่าไหร่เลย

พอจับพวงมาลัย ออกรถ และใช้ชีวิตด้วยกันเพียงแค่วันเดียวเท่านั้นแหละ ผมก็เข้าใจในทันที และยิ่งเชื่อมั่นในคำพังเพย
ที่ว่า “อย่าตัดสินกันแค่สิ่งที่คุณเห็นด้วยตาเปล่า”

แม้ว่ารุปลักษณ์จะไม่ถึงกับสวยในสายตาผม แต่ X3 ใหม่ ถูกปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม ทุกสิ่งที่ผมเคยก่นด่า ตำหนิติติงไป วันนี้
BMW ยกระดับ และแก้ไขปัญหาเก่าๆ ไปได้เยอะมาก วัสดุในห้องโดยสารดีขึ้น ตำแหน่งนั่งขับถูกแก้ไขให้นั่งสบายขึ้น
ในการเดินทางไกล มีลูกเล่นและอุปกรณ์มาให้ สมราคา ที่ประเสริฐไปกว่าอื่นใด ก็คือ ช่วงล่าง ซึ่งได้ใจผมไปเต็มๆ แบบ
ที่ไม่ได้คาดคิดหรือตั้งตัวมาก่อนเลยว่า จะได้เจอช่วงล่างที่กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ สำหรับใครที่คิดจะทำ SUV ออกมาขาย
นับจากนี้ไปเลยทีเดียว! แถมพกมาด้วย สมรรถนะและการควบคุมที่เกินกว่าคำว่า โดนใจ ไปมากยิ่งกว่าที่ผมเคยคิดมาก่อน

SUV ที่ให้อัตราเร่งแซง แรงสมดังใจคุณได้ในระดับพอกันนี้ ก็เห็นจะมีแค่ Lexus RX350 ใหม่ แต่คุณก็ต้องจ่ายเพิ่มอีกเป็น
5,300,000 บาท เพื่อแลกกับรถที่ใหญ่ขึ้น เครื่องยนต์ โตขึ้น และไม่ประหยัดเท่า X3 ใหม่นี้ แถมยังอุ้ยอ้ายกว่า ไม่คล่องตัวเท่า
อีกคันหนึ่ง ที่น่าจะใกล้เคียงกันได้คือ Mazda CX-9 แรงไล่เลี่ยกัน ใหญ่โตกว่า นั่งสบายได้ตั้ง 3 แถว (X3 ได้แค่เบาะ 2 แถว)
แต่อย่าหว้ังจะหาความประหยัดน้ำมันจากรถใหญ่เครื่อง 3.7 ลิตรเลยครับ หรือไม่เช่นนั้น ก็ต้องปีนขึ้นไปเล่น X5 กับ x6 แม้
จะใช้ขุมพลัง Diesel Common Rail Turbo เช่นกัน แต่ค่าตัวก็ปาเข้าไป 6 ล้านกว่าบาท ส่วนรุ่นอื่นๆที่เหลือในตลาด SUV ที่มี
ค่าตัวต่ำกว่า 4 ล้านบาทหนะเหรอ เฮ้!เลิกพูดกันไปเลยเถอะ ไม่มีทางที่จะหาใครแรงเท่า แถมยังประหยัดได้ เท่าเจ้าหมอนี่
อีกแล้วละ!

เห็นแล้ว ผมละนึกสงสารใครก็ตามที่ตัดสินใจซื้อรถรุ่นก่อนหน้านี้ไป ในราคา 3,299,000 บาท ซึ่งไม่มีอะไรให้มาคุ้มราคา
เท่าไหร่เลย ในช่วงก่อนหน้านี้ ผมได้แต่บอกว่า ขอแสดงความเสียใจด้วยนะครับ คุณตัดสินใจ เร็วไป ราวๆ 3 ปี (แต่ ป่านนี้
หลายๆคน ก็คงขายนต่อ X3 รุ่นเดิม เป็นรถมือสองกันไปเยอะบ้างแล้วมั้งเนาะ?)

แต่ถ้าจะให้นึกถึงข้อที่ควรจะนำไปปรับปรุงต่อเพิ่มเติมได้อีกละ? ผมต้องใช้เวลานึกให้นานกว่าปกติสักหน่อย

นอกเหนือจากชุดไฟหน้า ที่ยังมีกรอบนอก ออกแบบมาได้ไม่โดนใจผมเท่าไหร่เลยแล้ว ยังมีเรื่องตำแหน่งเบาะหลัง
ที่แม้จะสะดวกสบายสำหรับการเข้าไปนั่ง แต่ในการเดินทางไกล หากต้องนั่งชันขาแบบนี้ไปนานๆ ความเมื่อยล้า
ก็จะมาเยือนผู้โดยสารด้านหลัง ซึ่งมักจะเป็น ท่าน ส.ว. (สูงวัย) หรือไม่ ก็จะเป็นเด็กๆ ที่มักไม่ค่อยจะมีปากเสียง
บ่นอะไรได้มากมายนัก

การออกแบบแผงหน้าปัดฝั่งซ้าย ฟังดูไม่ใช่เรื่องจำเป็นนัก แต่ ถ้าสามารถทำได้ โดยที่ต้นทุนไม่เพิ่มขึ้นไปกว่าเดิมนัก
เพราะยังสามารถใช้แผงควบคุม และชุดมาตรวัดเดิม ได้ ผมว่า นั่นน่าจะช่วยให้นยอกจากคนขับจะมีความสุขกับรถของ
พวกเขาแล้ว ผู้โดยสาร ก็จะไม่รู้สึกอึดอัดทางสายตาระหว่างเดินทางอีกด้วย มันเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่พอดีว่า ข้าพเจ้า
เป็นพวกชอบลงรายละเอียกปลีกย่อย กว่าชาวบ้านเขาสักหน่อย ก็แค่นั้นเอง

สิ่งที่นึกออกขึ้นมาได้อีกเรื่อง ก็คือ การเซ็ตพวงมาลัย ที่เบากำลังดีแล้วในช่วงความเร็วต่ำ แต่เบาไปนิดนึงในย่านความเร็วสูง
ผมอยากเห็น น้ำหนักพวงมาลัยที่หนืดมากขึ้นกว่านี้อีกในโหมด Sport และ Sport + เพราะนั่นจะยิ่งช่วยให้คนพวกที่ชอบ
ขับรถเร็วๆ ได้มั่นใจเพิ่มมากขึ้น ขณะที่จำเป็นต้องขับรถผ่านพื้นที่ ซึ่งมีกระแสลมปะทะด้านข้าง เยอะกว่าปกติสักหน่อย

รวมทั้ง การจัดการด้านอากาศพลศาสตร์  ด้วยโจทย์ที่ว่า ทำอย่างไร ให้เปลือกกันชนหน้า มีส่วนช่วย กดหน้ารถเพิ่มขึ้นกว่านี้
อีกสักหน่อย ขณะแล่นด้วยความเร็วสูง แต่มันจะต้องไม่ไปครูดกับพื้นที่ลาดชัน เมื่อเจ้าของรถคนเดียวกัน อยากพามันไป
ปีนป่ายถนนออฟโรด มันเป็นเรื่องที่ยากมากๆ แต่เชื่อว่า ระดับวิศวกรมันสมองของ BMW แห่งเมืองมิวนิค เรื่องแค่นี้
ถ้าแก้ไม่ได้ก็ไม่ใช่พวกเขาแล้วละ!

ดูเหมือนว่าจะมีเรื่องให้แก้ไขเพิ่มเติม เพียงเท่านี้แล้วละ!

อ่านถึงตรงนี้ ถ้าตัดสินใจได้แล้วว่า จะลองคบหาดูใจกับค่ายใบพัดสีฟ้า เชื่อว่าหลายคนคงอยากรู้ ว่า X3 ใหม่ ประกอบ
ในประเทศไทย ที่โรงงาน ในจังหวัดระยอง ควรจะเลือกรุ่นไหนดี ระหว่าง รุ่นถูกสุด 3,299,000 กับ รุ่น Highline ซึ่ง
แพวข้นไปเป็น 3,600,000 บาท ?

ก็คงจะต้องถามกลับไปว่า คุณคิดว่า จอมอนิเตอร์ขนาดใหญ่ พร้อมระบบ iDrive ระบบช่วงล่างปรับความแข็งนุ่ม DDC
และล้ออัลลอย 18 นิ้ว เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคุณหรือไม่ ถ้าคิดว่าไม่จำเป็น ก็เลือกรุ่นมาตรฐานไป เพราะนั่นคือข้าวของ
เพียงไม่กี่รายการ ที่ทำให้ค่าตัวของ X3 ใหม่ทั้ง 2 รุ่น ต่างกันอยู่ 300,000 บาท คุณจะประหยัดงบลงได้อีกพอสมควร

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้ลองเล่นข้าวของดังกล่าวในรถคันที่เราทดลองขับมาแล้ว อยากจะบอกว่า หากคิดจะซื้อ x3
กันจริงๆ ก็ควรจะเล่นรุ่น Highline ตัวท็อป กันไปเลยดีกว่า ค่าตัวต่างกัน 3 แสนบาท เมื่อต้องคำนวนในตารางผ่อนชำระ
ผมว่าไม่น่าจะแตกต่างกันมากมายนัก แต่ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ย ณ วันที่คุณกำลังจะตัดสินใจเซ็นใบจองด้วย

แต่เชื่อสิ คำถามที่ตามามาหลังจากนี้ ก็คงจะมีอยู่ว่า “แล้วถ้าเป็นคุณ J!MMY ละ? จะเลือกคันไหน? ระหว่าง X3
กับ Volvo XC60 D3 และ Land Rover Freelander”

ชื่อหลังสุดนี่ ผมเชื่อว่า หลายๆคน คงจะตัดทิ้งไปก่อนแน่เลย ทั้งที่ ถ้าใครชื่นชอบการขับขี่อย่างแท้จริงแล้ว คุณไม่ควร
ตัด Freelander LR2 TDi ตัวนี้ออกไปจากทางเลือกเลย ถึงแม้ค่าตัวจะแพงระยับระดับมหากาฬ เมื่อเทียบกับขนาด
ของตัวรถ และออพชันที่เขาจะให้คุณมา หลายๆคนที่ใช้ ก็จะติดใจ ชื่นชอบ เสียดายแค่ว่า ราคาอะไหล่มันแพงเอาเรื่อง
ขนาดที่ว่า ถ้าใครเคยคิดว่า Volvo ราคาอะไหล่แพงแล้ว กรุณา ถามคนที่ใช้ Land Rover เสียก่อน รับปรกันความอึ้ง!

ทีนี้ก็จะเหลือ 2 พระหน่อ ที่สุดแสนจะเลือกยากเหลือเกิน ขณะที่ X3 ใหม่ มีจุดเด่นมากมายอย่างที่ผมเขียนถึง
ไปทั้งหมดในบทความข้างบนนี้ แต่ Volvo XC60 D3 ใหม่ ก็ยัง ไม่ใช่รถที่คุณจะละสายตาไปได้ง่ายนัก เอาละ
มันอาจจะไม่มีอุปกรณ์จำพวก ระบบนำทาง GPS หรือช่วงล่างปรับระดับแข็งอ่อน ได้ อันเป็นจุดขายของ X3
รุ่นใหม่ แต่ XC60 ก็มี อุปกรณ์ไม้ตาย ที่ทำให้ผมชะงักงันไปได้ นั่นคือ ระบบความปลอดภัยสุดแสนจะไฮเทค
พิสดารอย่าง City Safety พร้อม Redar Cruise Control ระบบ BLIS และอื่นๆ อีกมากมาย ที่มากพอจะเชื้อเชิญ
ให้คุณลองเดินเข้าโชว์รูม Volvo ไปฟังพนักงานขาย เขาพูดโน้มน้าวใจคุณสัก 1-2 ชั่วโมง

และเชื่อเถอะ เซลส์ของ BMW ก็จะเป่าหูคุณว่า “Volvo อะไหล่แพงนะ ราคาขายต่อก็ตกด้วย ถึง BMW จะร่วง
แต่ก็จะไม่ร่วงมากเท่า Volvo นะคะ” เป็นคำพุดสุดคลาสสิก ที่จะทำให้หลายๆคน ปันใจจาก Volvo ไปได้ โดย
อาจลืมคิดไปว่า BMW เองก็เถอะ โชคดีกว่าชาวบ้านเขาตรงที่มี BSI 5 ปี 100,000 กิดลเมตรมาให้ จับเคลมเปลี่ยน
ชิ้นส่วนได้หมด ยกเว้น ยางกับแบ็ตเตอรี ลองรอให้พ้นจาก 5 ปีนี้ดูสิครับ ราคาอะไหล่ Volvo ที่ว่าแพงๆ หนะ
เจอ BMW ยุคใหม่เข้าไป ขนหน้าแข็ง ก็อาจจะร่วงจนเกือบจะล้านเลี่ยนเตียนโล่ง โดยไม่ต้องใช้ ครีมขจัดขน
โอพิลคา แต่อย่างใด

เฮ้อ…. ผมละเลือกไม่ถูกเลยจริงๆ ! (-_-)

—————————————///————————————–

ขอขอบคุณ / Spacial Thanks :
คุณพิศมัย เตียงพาณิชย์ (พี่ไหม)
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท BMW Thailand จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

บทความที่เกี่ยวข้อง ที่ควรอ่านประกอบควบคู่ไปด้วย

รวมบทความทดลองขับ รถยนต์ Compact SUV คลิกได้ที่นี่

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้น ภาพถ่ายจากต่างประเทศ เป็นลิขสิทธิ์ของ BMW AG เยอรมัน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
1 กรกฎาคม 2011

Copyright (c) 2011 Text and Pictures Except some studio shot from BMW AG.
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.

First publish in www.Headlightmag.com
July 1st,2011

 แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments Are Welcome Click here!