“ในชีวิตคุณมีเพื่อนสักคนไหม ที่นิสัยดีไปหมด แต่มีข้อเสียเพียงข้อเดียวที่ทำให้คุณไม่อยากยอมรับ”?

มันคงต้องมีบ้างละน่า ประเภทที่ว่า หล่อ เท่ มีน้ำใจ รักเพื่อน แต่เป็นคนที่มี “จังหวะนรก” คือ
ไม่ค่อยรู้กาละเทศะ แถมยิงมุขใส่เพื่อนเมื่อไหร่ จากบรรยากาศกำลังเฮฮา กลายเป็นว่า เงียบกริบ
เหงื่อตกกันไปตามๆกัน พลันความคิดผุดขึ้นมาตรงกันว่า “มึงคิดได้ยังไง? กล้าเล่นเนาะมุขนี้”

เป็นพวก “พูดไม่คิด” เหมือนชื่อเพลงของวง Seasons 5 เขานั่นแหละ!

หรือบางคน หล่อ เท่ เป็นนักกีฬาสุดเฟี้ยว การเรียนดี นิสัยคบได้ แต่เวลาเห็นสาวๆเดินมาแต่ละที
ภาชนะหุงต้มตราหัวม้าลาย ยังถึงกับอาย ต้องวิ่งหนีกลับเข้าป่ากันเลยทีเดียว เพราะเรดาห์ตราหัวงูเห่า
บนศีรษะ จะทำงานอย่างฉับไว ส่งสัญญาณปิ๊งๆๆๆ ให้ตรงดิ่งวิ่งรี่เข้าไปตีสนิททำความรู้จัก และ
ขอเบอร์โทร เพื่อนำเธอเข้าสู่กระบวนการแจกโปรโมทชัน “สนุกกัน ฟันแล้วทิ้ง” ในลำดับต่อไป

(อันนี้ เข้าข่าย เลว ถ้าเจอที่คนแบบนี้ พร้อมกับ งู และแขก อย่าตีงูและแขก แต่ให้รวมหัวแท็คทีม
กับแขก รุมตีมันก่อน! แล้วค่อยจับงูไปกัดปิกาจู๊ของมัน!)

แต่ที่ผู้คนส่วนใหญ่ เจอกันมาบ่อยสุดๆ จนกลายเป็นปัญหาแสน Classic นั่นคือ เพื่อนคนนั้น นิสัยดี
น่าเลื่อมใส ยกเว้นเรื่องเดียว อย่าให้ยืมเงิน! อย่าลงทุนด้วย เพราะเพื่อนจะเบี้ยว ไม่คืน หรือไม่ก็เหนียวหนี้
แถมขี้เหนียว ไม่ยอมจ่ายง่ายๆ

ย้อนกลับขึ้นไปอ่าน 3 ย่อหน้าข้างบน….นี่ตูเขียนอะไรไปวะเนี่ย??

ทำไงได้ครับ ตาแพน Commander CHENG! ของเรา โยนคำถามนี้ มาให้ผม ในวันที่นึกไม่ออก
ว่าจะเปิดหัวเรื่อง เกริ่นนำบทความรีวิว Sonic ที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้ ว่าอย่างไร….

ผมนั่งนึกอยู่ตั้งนาน คลับคล้ายคลับคลาว่า เคยมี แต่ทุกวันนี้ ไม่ค่อยมีเพื่อนแบบนั้นอยู่ในชีวิต
ของผมแล้วละ ผมตัดสินใจ เลิกยุ่ง เลิกคบไปหมดแล้ว ก็เลยไม่รู้จะยกตัวอย่างใครขึ้นมาดี

ครั้นจะให้ไปถาม คุณจอห์น วิญญู เจ้าของรายการ เจาะข่าวตื้น ดูถูกสติปัญญา กับ น้องยิบโซ
พรีเซ็นเตอร์ของ Sonic ตอนนี้ ก็ดึกแล้วละ และเชื่อแน่ว่า เจ้าตัว คงไม่ตอบแหงๆ….แถมอาจ
มีรายการทำหน้ามึนใส่ พร้อมกับเครื่องหมายคำถาม แปะอยูบนหน้าผากของทั้ง 2 คนให้ผม
ได้เห็นก็เป็นไปได้

ว่าแต่ คุณผู้อ่านสงสัยใช่ไหมละครับ ว่า คำถามนี้ มันเกี่ยวอะไรกับ เจ้า Sonic กันละเนี่ย?

ตอนนี้ยังไม่เฉลย จะปล่อยให้งงกันต่อไป อ่านเรื่องราวข้างล่างสักพัก เดี๋ยวก็รู้เองละครับว่า
คำถามของตาแพนข้างต้น เกี่ยวข้องกันอย่างไร กับ อุปนิสัยของรถยนต์นั่งรุ่นล่าสุด จาก
สายการผลิตของ General Motors หรือ GM รุ่นนี้

แต่ก่อนที่เราจะเข้าสู่เรื่องราวของ Sonic ใหม่ ก็คงต้องทำตามธรรมเนียมดั้งเดิมกันก่อน

เดาถูกเผง!…ผมจะขอนำเสนอ ความเป็นมา “คร่าวๆ” ของ Sonic ว่า ต้นตระกูลของมันนั้น
แท้จริงแล้ว มีความเกี่ยวกันกับทั้ง Chevrolet Aveo และ รถยนต์สายพันธุ์เกาหลีใต้อย่าง
Daewoo Lanos ซึ่งเคยถูกสั่งเข้ามาจำหน่ายในบ้านเราด้วย!

ทั้งคู่เกี่ยวกันได้อย่างไรกันละ?…ต้องอ่านดูครับ ไม่ยาวหรอก…เพราะที่คุณจะได้อ่านใน
ย่อหน้าข้างล่างนี้…ผมจับย่อให้หดสั้นเป็นขันทีเพิ่งโดนตอนไปแล้วละ!

สมัยก่อน GM เคยร่วมเป็นพันธมิตรกับ Daewoo Motor ของเกาหลีใต้ มาเรื่อย ตั้งแต่ทศวรรษ 1970
จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 1990 ก็พยายามที่จะยืนอยู่บนขาของตัวเอง ด้วยการประกาศยุติความร่วมมือ
กับ GM ไปในปี 1992 ดังนั้น พวกเขาจึงต้องเริ่มต้นพัฒนารถยนต์นั่งของตนเอง อย่างน้อยๆ 3 รุ่น
คือ Lanos ไว้เจาะกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็ก B-Segment ส่วนรุ่นกลาง Nubira จะเจาะตลาดรถยนต์
พิกัด C-Segment (พัฒนาต่อมา กลายเป็น Daewoo Lacetti / Chevrolet Optra และมาเป็น Cruze
ในปัจจุบันนี้) ท้ายสุดคือรุ่นพี่ใหญ่ Leganza สำหรับเจาะตลาดกลุ่ม Sedan D-Segment (ต่อมา
กลายเป็น Chevrolet Tosca และถูกแทนที่ด้วย Chevrolet Malibu เมื่อปี 2011 ที่ผ่านมานี่เอง)

โครงการพัฒนา Lanos รุ่นแรก เริ่มต้นขึ้นเมื่อฤดูไบไม้ร่วง ปี 1993 เพื่อทำตลาดแทนที่ รถยนต์
Daewoo Nexia / Cielo (หรือ Opel Kadette / Vauxhall Astra รุ่นปี 1985 – 1991) หวัง
จะแข่งขันกับรถยนต์ประเภทเดียวกันกว่า 20 รุ่น โดยเฉพาะ Volkswagen Golf ,Opel Astra และ
Toyota Tercel เส้นสายภายนอก แข่งขันกันระหว่าง Studio ออกแบบ 4 แห่ง ปรากฎว่าผลงาน
ของ Giorgetto Giugiaro แห่ง ITAL Design ถูกเลือกให้นำมาผลิตขายจริง  งานวิศวกรรมเป็น
ฝีมือร่วมกันระหว่าง ศูนย์ Daewoo’s development centre ในเกาหลีใต้ และผู้ผลิตชิ้นส่วนชื่อดัง
อาทิ AC Rochester (เครื่องยนต์และส่วนประกอบ , Delco Chassis Division (ระบบเบรกและ
ABS), GM Powertrain (เกียร์อัตโนมัติ) แม้กระทั่ง Porsche ก็ยังเข้ามาช่วยดูแลงานด้าน วิจัย
การวิเคราะห์โครงสร้าง ช่วงล่าง ชิ้นส่วนของระบบเบรก และการวางแผนทดลองประกอบจริง
T100 ถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถัง T Platform ของ GM ที่ต่อยอดมาจากเทคโนโลยีของ GM ใน
ยุคก่อนหน้านี้ มีให้เลือก 3 ตัวถัง ทั้งแบบ Sedan กับ Hatchback 3 และ 5 ประตู

ในที่สุด เพียง 30 เดือน หรือ 2 ปีครึ่ง หลังการทดสอบในสภาพถนนและอากาศทั่วโลก Lanos
รหัสโครงการ T100 ก็เริ่มออกสู่ตลาด ในปี 1997 และลูกค้าชาวยุโรป ที่มองหารถยนต์ราคาถูก
แต่คุ้มค่า พากันให้การต้อนรับในระดับใช้ได้ จนบริษัทรถยนต์จาก Poland อย่าง FSO และ
AutoVAZ ของ Ukraine ก็ซื้อลิขสิทธิ์ ไปผลิตขายในบ้านตัวเองด้วย ช่วงปี 1997 – 2002
(3 คันแรกของรูปข้างบนนี้) มีเครื่องยนต์ให้เลือก 4 ขนาด แต่โดยหลักแล้ว เป็นขุมพลัง
พิกัด เบนซิน 1.4 และ 1.6 ลิตร ซึ่ง Lanos ก็เคยถูกนำเข้ามาขายในเมืองไทย โดยบริษัท
Daewoo Motor Thailand จำกัด (สำนักงานและโชว์รูมเก่าของ Renault Thailand บนถนน
พระราม 9) เมื่อเดือนสิงหาคม 1997 อยู่ช่วงสั้นๆ จนถึงประมาณ ปี 1999

ถึงจะขายดีในยุโรป โดยเฉพาะในประเทศแถบยุโรปตะวันออก แต่ในสหรัฐอเมริกา พวกเขา
กลับไม่ได้รับการยอมรับเท่าใดเลย ซ้ำร้าย ในช่วงที่รถเปิดตัวนั้น เกาหลีใต้ และเอเซีย กำลัง
เผชิญกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจขั้นรุนแรง ต้มยำกุ้ง Crisis ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 1997 เป็นต้นมา

ดังนั้น ในปี 2002 เมื่อ Daewoo ตัดสินใจ ถอนตัวออกจากตลาดสหรัฐอเมริกา อีกทั้งบริษัทแม่
ในเกาหลีใต้ ยังประสบปัญหาต่อเนื่อง ทำให้ GM ต้องเข้ามาซื้อกิจการ แบบ ควบรวม Takeover
(จากเดิมที่เคยเป็นแบบ Joint-Venture) ในเดือนตุลาคม 2002 และเปลี่ยนชื่อเป็น GMDAT หรือ
บริษัท GM-Daewoo Auto Technology จำกัด

เหตุผลก็เพราะว่า Daewoo ยังมีศักยภาพอยู่ ในบานะ ฐานผลิตต้นทุนต่ำ และมีศูนย์วิจัยพัฒนา
ของตนเอง ถ้าจะต้องแก้ปัญหาทั้งหมด ทั้งด้านการเงิน และแรงงาน ก็ต้องหาทางพัฒนารถยนต์
ที่สามารถจะส่งออกไปทำตลาดได้ทั่วโลก โดยอาศัยความได้เปรียบด้านต้นทุนการพัฒนารถยนต์
ในเกาหลี ที่ต่ำกว่าคู่แข่งเข้ามาช่วย

ขณะนั้น ก็ได้เวลาที่พวกเขาจะต้องเปลี่ยนโฉมให้กับ Lanos พอดีคราวนี้ GMDAT เลยถอดชื่อ
Lanos ออก แล้วส่ง Daewoo Kalos ทั้งแบบ Sedan และ Hatchback 3 กับ 5 ประตู ออกสู่ตลาด
ในช่วงปลายปี 2002 – ต้นปี 2003 รถรุ่นนี้ พัฒนาขึ้นในรหัสโครงการ T200 คราวนี้ เปลี่ยนมาให้
ทางศูนย์ Worthing echnical Center มาช่วยดูแลงานพัฒนา ร่วมกับ ศูนย์วิจัยของ GMDAT ที่
อินชอน ใช้บริการสนามทดสอบของ MIRA (Motor Industry Research Association) ในการ
ปรับแต่งระบบกันสะเทือน พวกเขาสร้างรถต้นแบบทั้งหมด 119 คัน ส่งไปยังสวีเดน สเปน
แคนาดา และจีน เพื่อแล่นทดสอบให้ได้ระยะทางรวมกันกว่า 2.2 ล้านกิโลเมตร สร้างรถยนต์
ต้นแบบ 31 คัน เพื่อทดสอบการชน และเก็บข้อมูลไปปรับปรุงแก้ไข ตามด้วยการทดลอง
ประกอบทั้งหมด 39 คัน เพื่อปรับตั้งค่ามาตรฐานต่างๆ

GM เปิดตัว Kalos ครั้งแรก ในงาน Geneva Auto Show เดือนมีนาคม 2002 ส่วนเวอร์ชันขายจริง
เปิดตัวในสหรัฐอเมริกา กลางงาน Chicago Auto Show เดือน เมษายน 2003 ภายใต้ชื่อ Chevrolet
Aveo ทั่วโลกมีเครื่องยนต์ให้เลือกตั้งแต่ ขนาด 1.2 ลิตร 1.4 ลิตร 1.5 ลิตร และ 1.6 ลิตร

เรื่องที่ขาดไม่ได้สำหรับการทำตลาดรถยนต์ระดับโลกสักรุ่นของ GM คือ การตั้งชื่อ Kalos เองก็
เป็นหนึ่งในรถที่สร้างความปวดกบาลให้กับผม ตอนหาข้อมูลอย่างมาก เพราะในช่วงเริ่มต้น
GMDAT ส่งรถคันนี้ออกสู่ตลาดยุโรปในชื่อ Daewoo Kalos จนถึงสิ้นปี 2004 จึงจับเปลี่ยน
มาใช้ชื่อ Chevrolet Kalos ให้สอดรับกับแผนการ ปลดแบรนด์ Daewoo จากตลาดโลก ซึ่งเริ่มต้น
ที่ตลาดยุโรปก่อน (ส่วน ในเกาหลีใต้เอง ก็เพิ่งจะเปลี่ยนมาใช้แบรนด์ Chevrolet เหมือนกับ
ตลาดต่างประเทศ ตั้งแต่ ต้นปี 2011 มานี่เอง)

ต่อมา ในจีน รถรุ่นนี้ ถูกเปิดตัวในชื่อ Chevrolet Lova พอส่งขายในออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์
ก็เปลี่ยนไปสวมชื่อ Holden Barina (รหัสรุ่น TK) ที่สำคัญ รถร่นนี้ ถูกส่งไปขายในสหรัฐอเมริกา
พร้อมเปลี่ยนกระจังหน้าใหม่ ออกขายทั้งในชื่อ Chevrolet Aveo และ Pontiac G3 กับ Pontiac G3
Wave อันเป็นช่วงก่อนที่ GM จะยุติบทบาท แบรนด์ Pontiac ไปในช่วงสิ้นปี 2009 แบบค่อนข้าง
กระทันหัน จากวิกฤติเศรษฐกิจ จนต้องเข้ากระบวนการล้มละลายเพื่อฟื้นฟูกิจการ Chapter 11
พอเข้าไปผลิตขายในยูเครน มันก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ZAZ Vida และท้ายสุด…รถคันนี้ มีจำหน่าย
ใน แคนาดา ภายใต้ชื่อ Suzuki SWIFT !!! คนละตัวถัง กับ Swift ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี โดยสิ้นเชิง!
ใช้ชื่อ Swift ขายจนถึงแค่ รุ่นปี 2010 เป็นปีสุดท้ายในการทำตลาด

หลังจากที่รุ่น T200 เปิดตัวสู่ตลาดไปจนครบหมดแล้ว รุ่นปรับโฉมครั้งใหญ่ ในรหัสรุ่น T250
ก็ถึงเวลาเปลี่ยนโฉมแทนตัวถัง Sedan รุ่นเดิมที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนัก รถรุ่นใหม่ เปิดตัวใน
เกาหลีใต้ เดือนกันยายน 2005 โดยใช้ชื่อว่า Daewoo GENTRA ก่อนจะทะยอยเปิดตัวในตลาด
ต่างประเทศ ด้วยชื่อ Chevrolet Aveo สร้างขึ้นบนพื้นตัวถัง GAMMA อันเป็นพื้นตัวถังสำหรับ
รถยนต์ B-Segment Sub-Compact ขนาดเล็กขับล้อหน้า เหมือนเดิม

ส่วน T250 ตัวถัง Hatchback ที่มีการปรับโฉมแบบ Big Minorchange ซึ่งเป็นผลงานของศูนย์
PATAC (Pan-Asia Technical Automotive Center) บริษัทร่วมลงทุน ระหว่าง GM และ SAIC
ในจีน ก็คลอดออกมาในงาน Frankfurt Motor Show 2007 แบบไม่ได้มีใครคาดหมายกันมาก่อน
คราวนี้ชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้าทั้งหมด เปลี่ยนใหม่ และใช้ร่วมกับรุ่น Sedan ไม่ได้เลย ส่วนชุด
ไฟท้าย และบานประตูห้องเก็บของด้านหลัง ถูกปรับปรุงใหม่อีกนิดหน่อย

สำหรับตลาดเมืองไทย กว่าที่ T250 Sedan จะได้ฤกษ์ เข้ามาประกอบขายในเมืองไทยต้องรอกัน
ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2006 โดยใช้ชื่อ Chevrolet Aveo แถมยังมีเครื่องยนต์ เพียงแค่ 1.4 ลิตร
98 แรงม้า (PS) พละกำลังเร่งไม่ค่อยออก ลูกค้าพากันบ่น แต่กว่าที่ GM จะปรับตัว ยกเครื่องยนต์
1.6 ลิตร 109 แรงม้า (PS) จาก Optra มาวางให้ เวลาก็ล่วงเลยมาถึงเดือนพฤศจิกายน 2009 ในงาน
Motor Expo และหลังจากนั้น ตามด้วยรุ่น 1.6 ลิตร ติดก๊าซ CNG ในช่วงปลายปีเดียวกัน มีกำหนด
ลากขายเฉพาะรุ่น 1.6 CNG ไปจนถึงสิ้นปี 2014

ถึงแม้ T250 จะเปิดตัวไปในตลาดโลกได้ไม่นานนัก แต่แผนการพัฒนา Aveo รุ่นต่อไป ก็เริ่มขึ้น
ต่อเนื่องแทบจะในทันทีที่รถรุ่น T250 เดิม ทำตลาดไปได้ ยังไม่ทันหายใจหายคอ ภายใต้รหัสรุ่น
T300 และคราวนี้ ชื่อในการทำตลาด จะ ไม่มากมายวุ่นวายวกวนสับสนกันไป เหมือนรถรุ่นก่อน
อีกแล้ว เพราะ GM จะใช้ชื่อในตลาดโลกว่า Chevrolet Sonic ส่วนตลาดยุโรปบางแห่ง อาจยังใช้
ชื่อ Chevrolet Aveo อยู่ แต่ถ้าเป็นตลาด ออสเตรเลีย กับ นิวซีแลนด์ ก็จะกลายเป็นรุ่นเปลี่ยน
โฉมใหม่ของ Holden Barina รถยนต์ขนาดเล็กสำหรับตลาดออสเตรเลีย ที่นำรถยนต์รุ่นนั้นรุ่นนี้
จากแบรนด์ต่างๆ มาสวมชื่อ Holden เข้าไป ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา!

การพัฒนา Sonic ใหม่ มุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ได้จากการศึกษาวิจัยตลาดจากกลุ่มที่
เคยอุดหนุน Aveo รุ่นก่อนๆ รวมทั้งข้อมูลการเติบโตของประชากรในยุคปัจจุบัน นั่นแปลว่า
กลุ่มเป้าหมายของ Sonic ใหม่ คือ คนกลุ่ม Generation Y ซึ่งพักอาศัยในเมืองใหญ่ เพิ่งเริ่ม
ทำงาน หรือเป็นผู้บริหารระดับเริ่มต้น พวก ผู้จัดการระดับหน่วยเล็กๆ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่ง
จากการสำรวจ พบว่า คน Gen Y ชื่นชอบการเข้าร่วมสังคม เกาะติดแฟชั่น รักการแสดงออก
ชอบเป็นจุดสนใจ และที่สำคัญที่สุดคือรักความสนุก ขณะเดียวกัน คนกลุ่มนี้ยังชอบที่จะเห็น
การเปลี่ยนแปลง และอยากสร้างความแตกต่างให้กับตนเองอีกด้วย  

ในตลาดโลก GM เผยภาพถ่ายของ Sonic ครั้งแรกในโลก พร้อมกับการประกาศใช้ชื่อรุ่น Sonic
ผ่านทาง Internet เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2010 จากนั้น ก็นำรถคันจริง มาจัดแสดงบนแท่นในงาน
NAIAS (North American International Motor Show) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2011 
แต่แคมเปญเพื่อเริ่มสื่อสารการตาประชาสัมพันธ์ของ Sonic นั้น เริ่มต้นขึ้นในการถ่ายทอดสด
Superbowl เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2011 พวกเขาทั้งจ้างวง OK GO ซึ่งเป็นวงดนตรี ร็อก ที่
ทำ Music Video แบบแปลกๆ ฮือฮาชาวไซเบอร์ มาทำ Music Video ร่วมกัน ด้วยการขับรถที่
ติดกล้องและอุปกรณ์ทำให้เกิดเสียง ไปตามทางที่จัดวางไว้ ให้ข้าวของที่ติดบนตัวรถ ไปเคาะจังหวะ
หรือไปกวาด Piano 55 หลัง กีตาร์ไฟฟ้า 288 ตัว ฯลฯ จนเรียบร้อย หรือแม้แต่ จัดให้ Sonic
เหวี่ยงลงมาเป็น บันจี้จัมพ์ ขับควงสว่านแบบเด็กเล่นสเก็ตบอร์ด และการพา Sonic ไป
กระโดดร่มจากเครื่องบินที่ระดับความสูงเดียวกับนักโดดร่มใช้กัน…ถือเป็นแคมเปญสร้าง
กระแส ที่ฮือฮาร้อนแรง ไม่แพ้กันกับ คู่แข่งอย่าง Ford เมื่อครั้งเปิดตัว Fiesta ช่วงปีก่อนหน้า

แต่กว่าที่ GM จะพร้อมเริ่มผลิต Sonic ในโรงงาน Orion Assembly เมือง Detroit มลรัฐ Michigan
พวกเขาก็ต้องเตรียมงานกันนานพอสมควร ต้องลงทุนเพิ่มกว่า 545 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการ
เปลี่ยนเครื่องจักรการผลิตใหม่ทั้งหมด และเตรียมความพร้อมให้กับคนงานเพิ่มขึ้นอีกประมาณ
1,000 ตำแหน่ง กว่าที่รถจะเริ่มผลิตได้จริง ก็ล่วงมาถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2011 หลังจากนั้น ในเดือน
ตุลาคม Sonic ล็อตแรก ก็พร้อมส่งถึงผู้จำหน่ายของ GM ทั่วสหรัฐอเมริกา

ส่วนการเผยโฉมครั้งแรกใน ASEAN และ เมืองไทย มีขึ้นในงาน Bangkok International Motor
Show เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2012 (รอบ VIP) โดยขนมาจัดแสดงกัน 2 คันรวด ทั้ง 2 ตัวถัง แต่กว่า
จะออกสู่ตลาดจริง ก็ต้องรอให้ GM เตรียมความพร้อมให้กับสายการผลิตของ Sonic ในบ้านเราที่
โรงงานของตน ในอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง กันเสียก่อน

เมื่อทุกอย่างสุกงอมได้ที่ GM Thailand จึงจัดพิธี ปล่อย Chevrolet Sonic คันแรก จากโรงงาน
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2012 เปิดเผยราคาขายปลีก เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2012 และจัดให้มีงาน
เปิดตัว ที่ ลานด้านหน้า ห้างสรรพสินค้า Siam Paragon เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2012 ที่ผ่านมา

ส่วนตัวถัง Hatchback นั้น เริ่มผลิต ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2012 ถือว่าเปิดตัวพร้อมกัน แต่
การขึ้นสายการประกอบ อาจช้ากว่ารุ่น Sedan ราวๆ 2 เดือน

Sonic มีขนาดตัวถังใหญ่โตระดับเบ้อเร่อเบ้อร่ากว่า Aveo เดิม อย่างชัดเจน ในรุ่น Sedan ที่ทาง
GM พยายามจะเรียกมันว่า Notchback นั้น มีความยาว 4,399 มิลลิเมตร แต่ถ้าเป็นรุ่น Hatchback
5 ประตู จะสั้นลงเหลือเพียง 4,039 มิลลิเมตร ขณะที่ความกว้างนั้น มากสะใจถึง 1,735 มิลลิเมตร
ซึ่งถือว่า กว้างเทียบเท่ารถยนต์ขนาดใหญ่กว่า ในพิกัด Compact C-Segment กันเลยทีเดียว! ส่วน
ความสูง ทั้ง 2 ตัวถังจะเท่ากันที่ 1,517 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ เท่ากันที่ 2,525 มิลลิเมตร ถือว่า
สั้นกว่า Toyota Vios และ Honda City ใหม่ 25 มิลลิเมตร

รูปลักษณ์ด้านหน้า ต้องถือว่าเป็นความกล้าหาญในการออกแบบรถยนต์ของ ทีม GM Design เพราะ
เลือกที่จะใช้กระจังหน้าแบบ 2 ชั้น Dual Port ประดับด้วยลวดลายคล้ายรังผึ้ง เสริมด้วยชุดไฟหน้า
ฝั่งละ 2 ดวง แบบเปิดโล่ง ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก จักรยานยนต์ Big Bike รวมทั้งซุ้มล้อทั้ง 4 ที่
เสริมความทะมัดทะแมงใหื้กับตัวรถ ช่วยกันสร้างบุคลิกให้ Sonic กลายเป็นรถยนต์ขนาดเล็ก ที่ดู
มีมัดกล้าม ดูทรงพลัง และพร้อมพุ่งทะยานลัดเลาะไปตามเส้นทางต่างๆ ดุจรถสปอร์ตสมรรถนะสูง

สิ่งที่แอบเป็นห่วงก็คือ บรรดาร้านล้างรถ เขาฝากบอกมาว่า ชุดไฟหน้าแบบนี้ สวยและเท่ห์ก็จริงอยู่
ไม่มีใครบอกว่า มันเชย หรือย้อนไปหารถยนต์ยุคทศวรรษ 1970 เลยแม้แต่รายเดียว แต่ที่แน่ๆ ถ้า
เจ้าของรถ เป็นพวกตีนผี เท้าขวาหนัก มักใช้ความเร็วสูงตอนกลางคืน บ่อยๆ การกำจัดซากแมลง
ที่มาพลีชีพอยู่บริเวณซอกของชุดไฟหน้า มันคงไม่ใช่เรื่องสนุกของเด็กล้างรถแหงๆ

ด้านข้างของตัวรถรุ่น Hatchback ถูกออกแบบให้มีระยะจากล้อหลัง ถึงกันชนหลัง (Rear Overhang)
สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อเพิ่ม บุคลิกความคล่องตัวให้กับรถ มีแนวเส้นลากด้านข้าง จากหน้า
จรดหลัง กระจกมองข้าง ปรับ และพับด้วยสวิชต์ไฟฟ้า แต่ไม่มีไฟเลี้ยวด้านข้างมาให้

ส่วนรุ่น Hatchback เส้นคาดข้างตัวถัง จะลากจากด้านหน้าของตัวรถ แต่ไปจรดตรงขอบกระจก
หน้าต่างของบานประตูคู่หลัง ช่วยเพิ่มความหนาให้กับเสาหลังคาคู่หลัง และเสริมบุคลิกตัวรถ
ให้ดูทะมัดทะแมงยิ่งขึ้น

บั้นท้ายของรุ่น Hatchback จะถูกออกแบบให้มีสปอยเลอร์ ครอบอยู่เหนือกระจกบังลมหลัง และ
มีมือจับเปิดประตูคู่หลัง ซ่อนอยู่ที่กรอบหน้าต่าง ส่วนรุ่น Sedan จะมีฝากระโปรงท้าย ที่ออกแบบ
ให้ดูเหมือนมีลิ้นสปอยเลอร์ขนาดเล็กในตัว เพื่อเพิ่มบุคลิกสปอร์ตให้กับตัวรถ

ชุดไฟท้ายของทั้ง 2 ตัวถัง ถึงจะเป็นแบบวงกลม 2 วง แนวตั้งคล้ายคลึงกัน ออกแบบมาไม่เหมือนกัน
และไม่สามารถติดตั้งทดแทนกันได้ เพราะรุ่น Sedan จะมีฝาครอบพลาสติก ขณะที่รุ่น Hatchback
จะไม่มีกรอบครอบทับ

ยางติดรถ จะใช้ของ Continental โดยรุ่น LT จะใช้ล้ออัลลอย 15 นิ้ว สวมยางขนาด 195/65R15
ส่วนรุ่น LTZ รวมทั้ง Hatchback ทุกรุ่นย่อย จะใส่ล้ออัลลอย 16 นิ้ว และสวมยางขนาดกว้างขึ้น
เป็น 205/55R16

มาดูภายในรถกันดีกว่า การปลด หรือสั่งล็อกประตู ในรุ่น LT และ LTZ ทุกตัวถัง ใช้กุญแจพร้อม
รีโมทคอนโทรล และระบบ Immobilizer ในตัว อย่างที่เห็นอยู่นี้ เฉพาะรุ่น LT กับ LTZ Sedan
จะมีสวิชต์สั่งเปิดฝากระโปรงหลังได้มาให้ แต่รุ่น 5 ประตู จะทำไม่ได้ ขณะที่รุ่น LS จะให้กุญแจ
แบบมาตรบานมาให้ 2 ดอก คุณสามารถปรับตั้งให้ระบบ ปลดล็อกบานประตูเฉพาะฝั่งคนขับหรือ
รวมทั้ง 4 บานพร้อมกันได้ จากในหมวด Vehicle Setting บนชุดเครื่องเสียง

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หน้า ทำได้ดี สะดวกสบายกว่าที่คิด ไม่มีปัญหาใดๆ ยิ่งถ้าคุณปรับ
ตำแหน่งเบาะคนขับไว้ในระดับเตี้ยสุด ยิ่งสบายใจได้เลยว่า เข้า-ออก สบายแน่ๆ แต่ถ้าเลือก
ปรับตำแหน่งเบาะไว้สูง อาจต้องก้มหัวลงเยอะๆหน่อย ศีระจะได้ไม่เฉี่ยวกับขอบหลังคาด้านบน

 แผงประตูด้านข้าง ออกแบบให้มีตำแหน่งวางแขน เหมาะสม ดีแล้ว สำหรับฝั่งคนขับ แต่ฝั่งของ
ผู้โดยสารด้านซ้ายนั้น เนื่องจากตำแหน่งเบาะนั่ง ด้านข้างคนขับ ล็อกมาตายตัว ปรับระดับสูงต่ำ
ไม่ได้ จึงอาจมีปัญหาในการใช้พื้นที่วางแขน กับบางคนได้บ้าง ด้านข้างของแผงประตูคู่หน้า
มีช่องใส่ของ ซึ่งใส่ขวดน้ำดื่มขนาด 1 ลิตรได้สบายๆ 1 ขวด

อยากให้สังเกตการเก็บงานของบานประตูด้านข้าง และความหนาของพื้นผิวและชั้นสี งานนี้
GM Thailand ทำออกมาได้ ใกล้เคียง หรือเทียบเท่า รถยุโรประดับ Premium ชั้นดีเลยทีเดียว
จุดนี้ ผมกล้าพูดว่า ค่ายอื่น ไม่มีใครใส่ใจในรายละเอียดจุดนี้ออกมาได้เท่ากับ GM Thailand

ทุกรุ่นย่อยจะให้เบาะนั่งหุ้มด้วยผ้าล้วนๆ โดยรุ่น LT และ LTZ ทุกตัวถัง ที่เห็นอยู่นี้ จะใช้
ผ้าเบาะสีดำ แซมด้วยลวดลาย Breva บริเวณ รองรับแผ่นหลัง และบั้นท้าย สวนรุ่น LS จะใช้
ผ้าสีดำ แซมด้วยลวดลายแบบ Flash ในบริเวณเดียวกันข้างต้น เฉพาะเบาะฝั่งคนขับเท่านั้น
ที่สามารถปรับระดับสูง – ต่ำได้ ด้วยก้านโยก ด้านข้างเบาะรองนั่ง การปรับเบาะคู่หน้าเลื่อน
ขึ้นหน้า – ถอยหลัง ใช้ก้านโยก ใต้เบาะรองนั่ง ส่วนการปรับเอน มีก้านโยกบริเวณ Hip Point
ด้านข้างเบาะทั้ง 2 ฝั่ง

เบาะนั่งมีฟองน้ำที่ค่อนข้างจะแน่น พอสมควร พนักพิงหลังนั้น ใช้งานได้สบายๆ แต่พนัก
ศีรษะ แม้มีฟองน้ำบุมาให้ แต่ไม่ได้นุ่มมากนัก แถมมีขนาดใหญ่เกินความจำเป็นไปนิดนึง
เบาะรองนั่ง มาในสไตล์เดียวกับ Cruze อีกแล้ว คือเงยและยกต้นขาสูงขันขึ้นมาเล็กน้อย
โชคดีที่เป็นเบาะผ้า ซึ่งมีฟองน้ำหนาแน่น รองรับบริเวณต้นขา และมีความยืดหยุ่นกำลังดี
แต่ถ้าจะไปหุ้มเป็นเบาะหนังขึ้นมาละก็ ต้องทำใจว่า ความสบายในการนั่ง อาจหายไปได้

การนั่งโดยสารพื้นฐาน เหนือกว่า Aveo เดิมชัดเจน ตำแหน่งนั่งขับ ปรับเบาะลงต่ำสุดมอง
ก็ยังมองเห็นทัศนวิสัยรอบคัน ชัดเจน และโปร่งตากว่าที่คิดไว้มาก การลุกเข้า – ออกจากเบาะ
ก็ทำได้ดี เป็นตำแหน่งนั่งที่ออกแบบมากำลังดี (ถ้าคุณปรับเบาะให้เตี้ยสุด หรือยกขึ้นมาอีก
ไม่เกิน 2 จังหวะ) ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ มีเหลือมากเพียงพอสำหรับผู้โดยสารสูงระดับ
180 เซ็นติเมตร แน่ๆ

และเฉพาะในรุ่น LTZ ทั้ง 2 ตัวถัง จะมี ก้านวางแขน แบบพับเก็บได้ ติดตั้งมาให้ด้านข้าง
เบาะคนขับฝั่งซ้าย ไว้ให้วางแขนซ้าย ได้ในระดับสบายกำลังดีเลยทีเดียว เสียแต่ว่า ถ้าต้อง
ปรับเบาะเอนนอน พนักพิง จะล็อกตายตัวที่ตำแหน่งเดิม ไม่สามารถ ปรับระดับให้ต่ำลง
กว่าตำแหน่งที่ถูกล็อกมาจากโรงงานได้ ถ้าจะเอนนอน ต้องพับที่วางแขนนี้ขึ้นไปจะดีกว่า

เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าของทุกรุ่น เป็นแบบ ELR 3 จุด ปรับระดับได้เฉพาะฝั่งคนขับ แต่จะมี
ระบบดึงกลับอัตโนมัติ Load Limiter มาให้ ในรุ่น LT กับ LTZ ทุกตัวถัง โดยรุ่น LT มีให้
เฉพาะฝั่งคนขับ ส่วน LTZ มีมาให้ ทั้ง 2 ฝั่ง คู่หน้า….งงดีเว้ยเฮ้ย ทำไมไม่ให้มาครบไปเลย
ทุกรุ่นซะทีเดียวละเนี่ย? จะสร้างความสับสนทำไมหนอ?

เรื่องน่าแปลก ก็คือ GM ติดตั้ง ช่องใส่แว่นตา ไว้ ณ บริเวณ เหนือประตูฝั่งคนขับ ซึ่งเหมือนกัน
กับ Ford Fiesta และ Focus ใหม่ ไม่มีผิด! แปลกใจอยู้ว่า จะไปติดตั้งไว้บนนั้นทำไมกัน แทนที่
จะมาติดตั้งไว้บนแผงไฟส่องอ่านแผนที่ ด้านหน้า เหมือนชาวบ้านชาวช่องเขา

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลังนั้น รุ่น Hatchback ทำได้ดีมาก เพราะมีช่องทางเข้าที่
กว้างมาก แต่ถ้าไม่ระวัง โอกาสที่หัวของคุณจะโขกเข้ากับขอบหลังคาด้านบน ก็ยังพอมีอยู่
ในกรณีที่คุณมีสรีระร่างสูงโปร่งเป็นยีราฟ โปรดใช้ความระมัดระวังนิดนึง! บานประตู
เปิดกางออกได้กว้างพอกันกับรถยนต์ทั่วไป

กระจกหน้าต่าง เปิดปิดได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า เลื่อนลงได้ เกือบสุดบาน แผงประตูด้านข้าง
ออกแบบมาให้มี ลวดลายเหมือนกัน สามารถวางแขนได้พอดีๆ โดยไม่ต้องปรับแก้ไข
อื่นใดอีกอีก แต่ ไม่มีช่องใส่ของใดๆมาให้เลยแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูให้ดีๆ จะเห็นว่า แผงประตูคู่หลังทั้ง 2 รุ่น ออกแบบมาให้ต่างกันบริเวณ
ขอบหน้าต่างด้านล่าง ซึ่งทำให้ไม่สามารถถอดสลับกันได้แบบเป๊ะ ไปเสียทั้งหมด อีกทั้ง
บานประตูทั้ง 2 ชิ้น ก็ไม่สามารถถอดใส่กันได้ เหมือนอย่างบานประตูคู่หน้า

มือจับเปิดประตู ในรุ่น LZ ทั้ง Sedan และ Hatchback จะประดับด้วย พลาสติกหุ้ม โครเมียม
แต่ถ้าเป็นรุ่น LT กับ LS จะใช้พลาสติกสีดำ ธรรมดา การวางแขนบนแผงประตูคู่หลัง ทำได้ดี
แต่จะเหมาะกับคนที่มีช่วงแชนยาวนิดนึง

เบาะหลัง ทั้งในรุ่น Sedan และ Hatchback เหมือนกันหมด แถบจะเป็นชุดเดียวกัน คือ
พนักพิงหลัง มีฟองน้ำที่แน่นขึ้น หลงเหลือความนุ่มไว้นิดหน่อย ไม่เยอะนัก ส่วนเบาะ
รองนั่ง มีฟองน้ำที่นุ่มแต่แน่นกว่า Aveo เดิมชัดเจน ความยาวอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้
สำหรับคนช่วงขาสั้นอย่างผม แต่สำหรับคนที่มีช่วงขายาว อาจจะสั้นไปหน่อย ถ้าต้อง
นั่งในระยะใกล้ๆ  ถือว่าพอรับได้ แต่ถ้านั่งทางไกลข้ามจังหวัด ต้องมีแวะพักกันทุกๆ
200 กิโลเมตร ยืดเส้นยืดสายกันแน่ๆ

พนักศีรษะ รูปตัว L เราเจอกันอีกแล้ว วิธีเดียวที่จะกำจัดอาการทิ่มตำต้นคอออกไป คือ
ยกมันขึ้นใช้งานซะดีๆ ผมละไม่ชอบพนักพิงศีรษะแบบนี้จริงๆ แต่ทำไงได้ครับ ในเมื่อ
ผู้ผลิตรถยนต์เขาชอบกันจังเลย เราก็คงต้องทนเห็นมันทิ่มตำต้นคอเรา ยามไม่ใช่งาน
กันต่อไป

จากการออกแบบหลังคาและเพดาน เพียงเห็นแค่รูป คุณก็คงบอกได้ว่า พื้นที่เหนือศีรษะ
ในรุ่น Hatchback เหลือเยอะกว่าร่น Sedan แน่นอน และความจริงที่ผมลองนั่งมา
มันก็เป็นไปตามนั้นไม่มีผิด โปร่งกว่ากันชัดเจน ส่วนพื้นที่วางขา เห็นได้ชัดว่า “เหลือเฟือ”

แต่สิ่งที่ต้องปรับปรุง จะอยู่ในรุ่น Sedan เพราะตัวรถถูกออกแบบให้มี ขอบด้านบนของ
กระจกบังลมหลัง กินพื้นที่เลยเถิดขึ้นไปบนแผ่นหลังคา มากเหลือเกิน ผลก็คือ ศีรษะ
ของผู้โดยสารด้านหลัง จะต้องสัมผัสกับแสงแดด ตอนกลางวันตลอดเวลา แม้กลางคืน
จะไม่มีปัญหาเลยก็ตาม และต่อให้ว่า แม้ GM จะรู้ปัญหา เลยติดแถบสติ๊กเกอร์บังแดด
สีดำมาให้ในบริเวณดังกล่าวแล้ว แต่ ถ้าเป็นตอนเที่ยงๆ แดดเปรี้ยงๆ แถมคนที่นั่งบน
เบาะหลัง ดันมีสภาพศีรษะ แบบเดียวกับนกตะกรุมป่า หรือท่านเจ้าคุณปัจจนึก ใน
นวนิยายสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน แล้วละก็ มันไม่ต่างอะไรกับการเอาดวงอาทิตย์
เข้ามานั่งอยู่ในรถกันเลยทีเดียว!!

เหนือเพดานหลังคาของทุกรุ่น จะมี มือจับที่พวกเรามักเรียกว่า “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” มาให้่
เพราะมันถูกใช้เป็น “เครื่องยึดเหนี่ยว” ทั้งร้่างกาย และจิตใจ ในยามที่ผู้ขับขี่ เกิด
อยากพยายามแปลงร่างให้ Sonic กลายเป็น รถไฟเหาะตีลังกาได้ ซึ่งในความเป็นจริง
มันก็ไม่ง่ายเลยที่จะทำอย่างนั้น….ที่ต้องเขียนแบบนี้ เพราะรถยนต์รุ่นใหม่ๆ สมัยนี้
เช่น Mazda 2 และ Ford Fiesta มักตัดอุปกรณ์ประจำรถชิ้นนี้ออกไป ทั้งที่มันมีความ
จำเป็นกับผู้โดยสารด้านหลังอย่างมาก

เข็มขัดนิรภัยบนเบาะหลัง ของทุกรุ่น เป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้งฝั่งซ้ายและขวา ส่วน
ตรงกลาง จะเป็นแบบ คาดเอว 2 จุด มีมาให้ 1 ตำแหน่ง เสียดาย ที่ไม่มีรุ่นย่อยใด
ให้ที่พักแขนแบบพับเก็บได้ ติดตั้งมาให้เลยแม้แต่รุ่นเดียว

นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นรุ่น Sedan หรือ Hatchback เบาะแถวหลังยังสามารถแบ่งพับได้ใน
อัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง โดยมีสวิชต์ โยกพับเบาะลงมา ติดตั้ง
บริเวณ บ่าของพนักพิงหลัง ทั้ง 2 ฝั่ง ซ้าย – ขวา

ฝาประตูห้องเก็บของ ในรุ่น Hatchback นอกจากจะแตกต่างจากรุ่น Sedan ที่รูปทรงของมัน
รวมทั้งพื้นที่ของเนื้อเหล็กที่ต้อใช้ปริมาณน้อยกว่าแล้ว ยังรวมถึงการติดตั้งช็อคอัพคำยันไว้
ทั้งฝั่งซ้าย – ขวา และมีใบปัดน้ำฝนหลังพร้อมที่ฉีดน้ำล้างกระจก กับไล่ฝ้า เพิ่มมาให้ ส่วน
รุ่น Sedan จะมีแค่ไล่ฝ้าเพียงอย่างเดียว

รุ่น LTZ ที่เห็นอยู่นี้ทั้ง 2 คัน จะถูกติดตั้ง เซ็นเซอร์ กะระยะถอยหลังเข้าจอดมาให้
“จากโรงงาน” ถือเป็นออพชันที่น่าจะมีมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถยนต์สมัยนี้
กันได้แล้วเสียที

ฝาประตูห้องเก็บของ สามารถเปิดยกขึ้นได้จากสวิชต์ Touch Pad บริเวณกึ่งกลางเหนือช่อง
ติดป้ายทะเบียน แต่ในรุ่น Sedan จะสามารถสั่งเปิดฝาท้ายได้ด้วยรีโมทกุญแจ อีกทางหนึ่ง

ห้องเก็บสัมภาระด้านท้ายของรุ่น Hatchback นั้น จะมีความยาว แค่ 716 มิลลิเมตร กว้างถึง
1,103 มิลลิเมตร สูง 716 มิลลิเมตร ความจุ 253 ลิตร อีกทั้งยังมี แผงพลาสติก วางรองพื้นให้
ห้องเก็บของอีก 1 ชั้น สามารถยกขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่วางของ ได้อีกต่างหาก

แต่ห้องเก็บของ ในรุ่น Sedan จะมีความยาวเพิ่มขึ้นเป็น 925 มิลลิเมตร กว้างน้อยกว่า เหลือ
เพียง 998 มิลลิเมตร ความสูงลดลงเหลือ 319 มิลลิเมตร แต่กลับมีความจุ มากกว่า อยู่ที่ 466 ลิตร

และเมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา จะพบทั้ง เครื่องมือประจำรถ แม่แรงยกรถ และยางอะไหล่
ขนาดมาตรฐาน เป็นล้อเหล็กสีดำ ติดตั้งมาให้กับ Sonic ทุกคัน (ในภาพเป็นรุ่น Hatchback LTZ)

การเอาแนวคิด จักรยานยนต์ Bigbike มาเป็นแรงบันดาลใจในงานออกแบบนั้น หาใช่เพียงแค่
รูปลักษณ์ภายนอกไม่ เพราะ GM ยังคงนำเอาคุณลักษณะบางจุด ของ Bigbike มาขัดเกลา และ
ปรับประยุกต์ร่วมกับ งานออกแบบ ในสไตล์ Dual Cockpit จากทั้ง Chevrolet Cruze , Colorado
และ Camaro จนกลายมาเป็นห้องโดยสารของ Sonic ใหม่ ที่หมายจะเอาใจวัยรุ่น Generation Y
เต็มที่ แต่ให้บรรยากาศในการโดยสารที่ สบายกำลังดี ไม่อึดอัด หรือคับแคบแต่อย่างใด

โทนสีการตกแต่งแผงหน้าปัด เบาะนั่ง และแผงข้างนั้น ขึ้นอยู่กับว่า คุณเลือกรุ่นย่อยไหน และ
สีตัวถังอะไร ถ้าเลือกรุ่น LS ก็จะได้ เบาะผ้าลาย Flash กับ แผงหน้าปัดสีเทาอ่อน แต่ถ้าเลือก
รุ่น LT หรือ LTZ จะได้ลายผ้า Breva ขึ้นอยู่กับว่า เลือกสีตัวถังอะไร ถ้าเลือกสีทั่วไป ก็จะได้
ผ้า Breva สีเทาดำ และแผงหน้าปัด เป็นสีเงิน Titanium ตัดกับสีดำ แต่ถ้าเลือกสี Royal
Grey ก็จะได้ภายในสี ส้ม/ดำ แบบเดียวกับ Chevrolet Cruze ไม่มีผิด!

มองขึ้นไปด้านบนเพดานหลังคารถ มีกระจกมองหลัง พร้อมก้านปรับตัดแสงได้ แผงบังแดด
มีกระจกแต่งหน้ามาให้ทั้ง 2 ฝั่ง ซ้าย – ขวา แต่ ไม่มีไฟแต่งหน้ามาให้ มีเพียงไฟอ่านแผนที่
สี่เหลี่ยมผืนผ้า ดวงเล็กๆ ซึ่งก็ไม่ถึงกับให้ความสว่างแก่ชีวิตในยามค่ำคืนมากมายเท่าใดเลย
หนำซ้ำ มันยังเป็น ไฟส่องสว่างในห้องโดยสาร เพียงตำแหน่งเดียวที่มีอยู่ใน Sonic ทุกคัน
เนี่ยสิ!

ไม่เข้าใจว่า ไฟกลางเก๋ง ทำไมไม่ให้มา? การหาข้าวของที่ตกหล่นบนพื้นรถตอนกลางคืน
มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และอาจต้องพึ่งพาไฟฉาย หรือ แสงสว่างจากโทรศัพท์มือถือ คงจะ
ดีกว่านี้แน่ๆ ถ้า GM จะติดตั้งไฟส่องสว่างกลางเก๋งมาให้อีกสัก 1 ตำแหน่ง

จากบานประตูฝั่งขวา เข้ามาทางฝั่งซ้ายของแผงหน้าปัด

กระจกหน้าต่าง ของทุกรุ่น ปรับเลื่อนขึ้น-ลงได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ทั้ง 4 บาน ยกเว้นด้านคนขับ
ที่จะเป็นสวิชต์แบบ One Touch เลื่อนขึ้น – ลงจนสุด เพียงกดหรือดึงสวิชต์ขึ้น ครั้งเดียว และ
มาพร้อมระบบ Jam Protection ดีดกลับทันทีเมื่อมีสิ่งกีดขวาง

ถือเป็นการปรับปรุงมาจาก สมัยของ Aveo ซึ่งมีเพียงแค่กระจกหน้าต่างแบบ One Touch
เฉพาะฝั่งคนขับ และเป็นช่วงเลื่อนลง เท่านั้น ไม่มีระบบ Jam Protection ด้วย มาคราวนี้
GM ก็เลยติดตั้งมาให้ เหมือนกับรถยนต์ทั่วๆไปในตลาดกันเสียที….ไชโย!

กระจกมองข้าง ปรับได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า สร้างความงุนงงให้ผมนิดหน่อย อันที่จริงก็เหมือน
กับ Chevrolet Cruze และ Captiva นั่นละครับ ถ้าหมุนสวิชต์ไปทางซ้าย จะเลื่อนปรับกระจก
มองข้างฝั่งขวา ตรงกันข้าม ถ้าหมุนสวิชต์มาทางขวา จะปรับกระจกมองข้างฝั่งซ้าย มาตอนแรก
มึนไปพักนึงเหมือนกัน รุ่น LS การพับเก็บ ต้องพับด้วยมือ แต่ รุ่น LT กับ LTZ พับเก็บด้วย
สวิชต์ไฟฟ้า เหมือนกัน

ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ สวิชต์ เปิดปิดไฟหน้า เป็นแบบหมุน พร้อมสวิชต์ไฟตัดหมอก ยกชุด
มาจาก Cruze และ Colorado เลยด้วยซ้ำ ใช้งานง่ายดี ไม่ยาก และเหมือนรถยุโรปทั่วไป
รุ่น LS ให้มาเฉพาะไฟตัดหมอกหน้า แต่รุ่น LT และ LTZ เพิ่มไฟตัดหมอกหลังอีก 1 จุด

บนคอพวงมาลัย ก้านสวิชต์ไฟเลี้ยวและไฟสูง อยู่ฝั่งขวา ส่วนก้านสวิชต์ใบปัดน้ำฝน พร้อม
ที่ฉีดน้ำล้างกระจก จะติดตั้งอยู่ฝั่งซ้าย สำหรับใบปัดน้ำฝนหลังในรุ่น 5 ประตู ใช้วิธี หมุน
หัวก้านสวิชต์ และกดดันถอยหลังเพื่อฉีดน้ำล้างกระจกบังลมหลัง

พวงมาลัยทุกรุ่นเป็นแบบ 3 ก้าน ปรับระดับสูง – ต่ำได้ แต่ปรับระยะใกล้ – ห่างจากตัวผู้ขับขี่
ไม่ได้ ในรุ่น LTZ มีสวิชต์ควบคุมเครื่องเสียงเพิ่มมาให้บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา ส่วนพื้นที่
ใต้แป้นแตร และถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับ ประดับด้วยลายสีเงิน Graphite เหมือนแผงควบคุม
ตรงกลาง ขณะที่ รุ่น LT กับ LS จะเป็นแบบ ยูรีเทน ธรรมดา ไม่มีสวิชต์ใดๆติดตั้งมาให้

ชุดมาตรวัดของ Sonic ออกแบบขึ้นโดยจงใจเน้นให้มาตรวัดรอบเครื่องยนต์ อยู่ตรงกลาง
ทีมออกแบบบอกว่า พวกเขาได้แรงบันดาลใจมาจาก ชุดมาตรวัดของจักรยานยนต์ Bigbike
ด้วยเหตุผลที่ว่า สำหรับรถสปอร์ต หรือ Bigbike มาตรวัดรอบเครื่องยนต์ มีความสำคัญ
มากกว่ามาตรวัดความเร็ว เพราะผู้ขับขี่ที่มีประสบการณ์ จะเน้นการเปลี่ยนเกียร์ ให้ได้
ตามรอบเครื่องยนต์ที่ตนเองต้องการ ตามแต่สถานการณ์ มากกว่าจะแคร์เรื่องความเร็ว

ดังนั้น มาตรวัดความเร็ว ก็เลยกลายมาเป็นแบบหน้าจอ แสดงตัวเลข Digital บอกข้อมูล
เท่าที่จำเป็นขณะขับขี่ ทั้งความเร็วรถ ระดับน้ำมันเชื้อเพลิง และตำแหน่งเกียร์ ตลอดจน
ข้อมูลที่สำคัญอื่นๆ

และที่แปลกกว่าชาวบ้านเขาก็คือ แทนที่จะออกแบบให้ชุดมาตรวัดฝังอยู่ในแผงหน้าปัด
เหมือนรถยนต์ทั่วไป แต่ทีมออกแบบได้กำหนดให้มาตรวัดทั้งชุด ต้องติดตั้ง “แยก” และ
“ติด” อยู่กับแผงหน้าปัด เพื่อเพิ่มอารมณ์สปอร์ตล้ำสมัยให้แก่ห้องโดยสาร

อยากบอกว่า ผมชอบมาตรวัดแบบนี้มาก เพราะในการใช้งานจริง ข้อมูลทุกอย่างที่จำเป็น
บอกไว้ในนี้ครบถ้วน ตำแหน่งไฟสัญญาณเตือนต่างๆ มีขนาดและตำแหน่งที่เหมาะสม

ในรุ่น LTZ เกียร์อัตโนมัติ (รูปบน) จะมี ไฟแจ้งตำแหน่งเกียร์อัตโนมัติ และไฟเตือน
ระบบ เซ็นเซอร์กะระยะถอยหลังเข้าจอด มาให้ด้วย แต่เสียดยว่า ทุกรุ่น ให้ Trip Meter
มาแค่ Trip A อย่างเดียว ไม่มี Trip B แถมมาให้ บางทีจะตั้งคำนวนระยะทางมากกว่า
1 รายการ ก็ลำบากนิดนึง แต่ทดแทนด้วย การแจ้งเตือน ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงในถัง
ว่าเหลือพอจะแล่นได้ไกลแค่ไหน มาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ที่สำคัญ
ถ้าอยากเปลี่ยนมาตรวัดความเร็ว ให้แสดงผลจาก กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น ไมล์/ชั่วโมง
ก็ทำได้ในรถรุ่นนี้! แต่ไม่มีมาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น มีแค่ไฟสัญญาณเตือนสีแดง

อีกสิ่งที่แปลกตาไปจากรถคันอื่นๆ ก็คือ ช่องวางของ ข้างแผงควบคุมเครื่องเสียง ซึ่ง
สามารถสอดกล่อง CD วางเข้าไปได้พอดี ออกจะไม่เข้าใจว่า ทำช่องนี้มาทำไม ทั้งที่
แผงหน้าปัดชุดนี้ ก็ไม่สามารถติดตั้งร่วมกับรุ่น Cruze ได้เลย มันถูกออกแบบราวกับว่า
รองรับตำแหน่งช่องแอร์ สำหรับรถที่ติดตั้งหน้าจอระบบนำทาง Navigation System
ในต่างประเทศยังไงยังงั้นเลยแหนะ เหนือช่องแอร์ เป็นถาดวางเครื่องรางของขลังต่างๆ

ชุดเครื่องเสียงของ Sonic ใหม่ จะมี 2 แบบ บนพื้นฐานเดียวกัน คือเป็นวิทยุ AM/FM
พร้อมเครื่องเล่น CD/MP3/WMA 1 แผ่น พร้อม Mode ตั้งค่าระบบไฟฟ้าในรถยนต์
หรือ Vehicle Setting  แต่นอกเหนือจากนี้ มันขึ้นอยู่กับว่า คุณจะเลือกซื้อรถรุ่นย่อยใด

ถ้าเลือกรุ่น LTZ แน่นอนครับ จัดเต็ม มีลำโพงมาให้ 6 ชิ้น พร้อมช่องเสียบ USB และ
สามารถเชื่อมต่อกับ Bluetooth เพื่อสามารถใช้งานโทรศัพท์ และฟังเพลงที่อยู่ในเครื่อง
โทรศัพท์ของคุณได้ ออกแบบในลักษณะ Built in มากับแผงควบคุมตรงกลาง

แต่ถ้าเป็นรุ่น LT คุณจะได้ ชุดวิทยุ ที่มีหน้าตาอนุรักษ์นิยม ดู Conservative (แต่ผมชอบ
เพราะมันใช้งานง่าย สะดวก) มีแค่ช่องเสียบ AUX ไม่สามารถเชื่อมต่อ Bluetooth ได้
และมีลำโพงมาให้แค่ 4 ชิ้น

แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ขอยืนยันว่าคุณภาพเสียง จัดอยู่ในเกณฑ์ดีมากทั้งคู่ เพียงแต่
อาจเก็บรายละเอียดเสียงใส ได้ไม่เท่า ชุดเครื่องเสียงใน Honda City ซึ่งผมก็ยังถือว่า
เป็นเครื่องเสียงที่ติดตั้งมา ดีที่สุดในบรรดา รถยนต์ B-Segment บ้านเรา ทั้งหมดอยู่ดี
เพียงแต่ว่า Sonic เอง ก็จัดได้ว่า เป็นเบอร์ 2 ในกลุ่มแน่ๆ ในประเด็นนี้

เครื่องปรับอากาศทุกรุ่น เป็นแบบสวิชต์มือบิด เรียงตัวกันเหมือนใน Cruze ขอยืนยันว่า
นอกจากจะเย็นเร็วแล้ว ยังเย็นนานอีกด้วย อยากขอเปลี่ยนจากวลี “ลำปางหนาวมาก”
มาเป็น “Sonic หนาวมาก!”

ต่อให้ปรับอุณหภูมิร้อนขึ้นอย่างไร แอร์ก็ยังเย็นสบายในแบบของมันอยู่ดี ราวกับว่า
วิศวกร GM ทำประชดคนไทยขี้ร้อนกันดีนัก ชอบบ่นว่า แอร์ Toyota เย็นเร็วสุด ดีนัก
จัดให้เลยก็แล้วกัน เอาให้หนาวสะใจถึงแอนตาร์กติกา เลยแล้วกัน!

สวิชต์  ปลด-สั่งล็อกประตูจากภายในรถ ติดตั้งไว้ใกล้กับสวิชต์เครื่องปรับอากาศ ใน
ตำแหน่งเดียวกับ Cruze ผมขึ้นมานั่งบนเบาะคนขับ หาสวิชต์ตั้งนานกว่าจะเจอ รุ่น
ต่อไป ช่วยย้ายไปอยู่ในตำแหน่งที่ ง่ายต่อการคลำหาและใช้งานกว่านี้เสียทีเถิด

ฝั่งซ้ายของแผงหน้าปัด เป็น ช่องเก็บของพร้อมฝาปิด ด้านบนที่มีมาให้ เพื่อชดเชยกับ
ขนาดของกล่องเก็บของ Glove Compartment ที่มีขนาดเล็ก พอให้ใส่แค่สมุดคู่มือ และ
สมุดรับประกันกับ เอกสารประกันภัยนิดเดียวเท่านั้น  น่าจะทำออกมาให้มีขนาดใหญ่
กว่านี้อีกสักหน่อย

มองลงไปด้านข้างลำตัวคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า ไม่มีกล่องคอนโซลเก็บของมาให้
มีแค่ ช่องวางแก้ว รวม 3 ตำแหน่ง และคันโยกเบรกมือ รวมทั้งช่องใส่เศษเหรียญ และช่อง
เชื่อมต่อไฟฟ้า สำหรับชาร์จไฟให้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือเครื่องเล่นเพลงในรถ เท่านั้น
เป็นแบบนี้ ทุกรุ่นย่อย เหมือนกันหมด ช่องวางแก้ว อาจหลวมไปนิด สำหรับขวดน้ำดื่ม
ขนาด 7 บาท ดังนั้น ระมัดระวังในการใช้งานด้วยครับ

ทัศนวิสัย ครึ่งคันหน้า ของทั้ง 2 รุ่น จะไม่แตกต่างกันเลยแม้แต่น้อย เพราะใช้เสาหลังคา
คู่หน้า A-Pillar เหมือนกัน ดังนั้น มุมมองต่างๆ จึงเหมือนกันเป๊ะ สำเนาถูกต้อง ประทับ
ตรายางรับรองได้เลย

การมองเห็นสภาพถนนข้างหน้า มองเห็นชัดเจน และไม่มีอะไรให้ตำหนิ เห็นได้ชัดว่า
การออกแบบชุดมาตรวัดเช่นนี้ ช่วยเพิ่มความสะดวกในการละสายตาลงมาอ่านข้อมูล
บนหน้าจอขึ้นด้วยซ้ำ

เสาหลังคา A-Pillar ฝั่งขวา ค่อนข้างหนา และแอบมีมุมบดบังการองเห็นรถที่แล่น
สวนทางมาบนโค้งขวา ที่เรากำลังจะมุ่งหน้าไป ได้นิดนึง แต่ยังพอมองเห็นรถ
คันดังกล่าวอยู่บ้าง กระจกมองข้างมีขนาดกำลังดี ไม่เล็ก ไม่ใหญ่เกินไป แต่มุม
ด้านนอกของกระจกมองข้าง อาจถูกขอบด้านใน ของกรอบพลาสติก ที่ครอบทับ
กระจกมองข้าง บังเข้ามานิดนึง แต่ยังถือว่ายอมรับได้ ไม่ได้บดบังมากนัก

แต่พอย้ายมาฝั่งซ้าย กระจกมองข้าง โดนกรอบกระจกด้านใน ออกแบบมาให้เบียดบัง
พื้นที่ด้านนอกของกระจกเล็กน้อย ส่วนเสาหลังคา A-Pillar ฝั่งซ้าย ยื่นล้ำไปข้างหน้า
มากกว่า Aveo รุ่นเดิมนิดนึง แต่กลับส่งผลตอนเลี้ยวกลับรถน้อยมาก อาจมีบางแยก
ที่มีเกาะกลางขนาดใหญ่ จนกระจกมองข้าง และเสาหลังคา บดบังรถคันที่แล่นสวนมา
แต่ถ้าเป็นถนนแบบไม่มีเกาะกลาง นั่นไม่เป็นปัญหาในการเลี้ยวกลับรถเลยครับ

มองไปทางด้านหลัง เห็นได้ชัดเลยว่า ความพยายามในการออกแบบให้ภายในรถนั้น
โปร่งสบาย ด้วยการยกขอบด้านบนของกระจกบังลมหลัง ให้เลยเถิดขึ้นไปจนแทบ
จะอยู่กลางแผ่นหลังคาอยู่รอมร่อนั้น ให้ผลดี ในแง่ความโปร่งสบาย แต่ก็ช่วยไม่ได้
ถ้าพื้นที่รับแสงแดด จะมีเยอะกว่ารถทั่วไปในพิกัดเดียวกัน

ส่วนรุ่น Hatchback ชัดเจนเลยครับว่า เสาหลังคาคู่หลัง มีส่วนอย่างมากสำหรับคนที่
กะระยะยังไม่คล่องเท่าไหร่นัก มันมีขนาดใหญ่ กว้าง และปิดทึบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 
พลาสคติกสีดำ บริเวณขอบหน้าต่าง ฝั่งประตูหลัง ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก บดบังพื้นที่เยอะมาก  

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

เครื่องยนต์ของ Sonic เวอร์ชันไทย จะมีเพียงแบบเดียว คือรหัส A14XFR หรือรุ่น L2N 
บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,398 ซีซี ความกว้างกระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.4 x 82.6
มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบหัวฉีด MPFI (Multi-Point
Sequential Fuel Injection) ซึ่งถูกปรับปรุงใหม่ ทำงานร่วมกับ Oxygen Sensor เพื่อ
ควบคุมการจ่ายเชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อีกทั้งยังมีระบบแปรผันวาล์ว
ที่หัวแคมชาฟต์ทั้ง ฝั่งไอดีและไอเสีย Double CVC หรือ Double Continuously-
Variable Cam-phasing น้ำหนักรวมตัวเครื่องทั้งหมด เบาเพียง 97 กิโลกรัม เท่านั้น!

เครื่องยนต์ลูกนี้ GM ระบุว่า ใช้รางหัวฉีด แบบมีระบบควบคุมรอบการหมุนของปั้มเชื้อเพลิง
(Return-less Fuel Rail) ซึ่งระบบนี้จะแตกต่างจากระบบทั่วไปซึงมักส่งเชื้อเพลิงที่ไม่ได้ใช้
กลับคืนสู่ถังน้ำมัน ตรงที่ ระบบนี้จะประเมินจำนวนน้ำมันที่ไหลเข้าสู่เครื่องยนต์ และจำกัด
เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น เท่ากับว่า จะไม่มีเชื้อเพลิงส่วนเกินที่มีความร้อนสูง อันเป็นบ่อเกิด
ของมลภาวะ ไหลกลับคืนสู่ถังน้ำมันอีกต่อไป

กำลังสูงสุด 100 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.3 กก.-ม.ที่ 4,000 
รอบ/นาที แต่ยังคง เติมน้ำมันแก็สโซฮอลล์ ได้ถึงระดับ E20 และมีมาตรฐานการปล่อยมลพิษ
ในรุ่น เกียร์อัตโนมัติ 156 กรัม / ระยะทาง 1 กิโลเมตร

ผมตั้งข้อสังเกตนิดหน่อยว่า ทำไมในรถยนต์ ทั้ง 3 คัน ที่ผมยืมมาทำรีวิว นั้น บริเวณหัวน็อต
ณ ท่อร่วมไอเสีย หรือที่เรียกว่า ท่อเขาควาย นั้น มันถึงได้มีคราบสนิมน้ำ อยู่เยอะเอาเรื่อง
แม้ว่าจะเป็นรถใหม่ ที่แล่นมาได้ในระยะทางที่ไม่นานนัก จริงอยู่ว่า มันไม่ได้ส่งผลเสีย
อะไรให้เครื่องยนต์หรอก แต่ในแง่ของผู้บริโภคแล้ว มันอาจก่อความไม่สบายใจให้กับ
พวกเขาก็เป็นได้ ฝากทาง GM Thaland ที่ระยอง หาทางปรับปรุงเรื่องนี้ด้วยครับ

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยทางเลือก ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ สำหรับรุ่นย่อย
1.4 LS และ 1.4 LT ทั้ง Sedan และ Hatchback รวม 4 รุ่นย่อย ทีมวิศวกร จงใจแบ่งซอย
อัตราทดเกียร์ ให้ถี่กว่าปกติทั่วไป เพื่อช่วยเรียกอัตราเร่งได้ดีขึ้นนิดนึง และเพิ่มความ
ประหยัดน้ำมันมากขึ้น และใช้เสื้อเกียร์อลูมีเนียม แบบผิวหน้าชิ้นเดียว ติดตั้งอยู่บน
ฐานรองซึ่งเป็นชิ้นส่วนแยกต่างหาก อัตราทดเกียร์มีดังนี้

เกียร์ 1 ………………………..3.727
เกียร์ 2 ………………………..1.960
เกียร์ 3 ………………………..1.323
เกียร์ 4 ………………………..0.946
เกียร์ 5 ………………………..0.756
เกียร์ถอยหลัง…………………3.308
อัตราทดเฟืองท้าย…………….4.625

การเข้าเกียร์ถอยหลัง ใช้วิธีเดียวกับรถยนต์จากยุโรปทั่วไป คือ ต้องยกวงแหวนใต้หัวเกียร์ขึ้น
แล้วผลักคันเกียร์ไปทางซ้ายสุด ดันคันเกียร์ขึ้นไปยังฝั่งซ้ายบนจนสุด ใครที่คุ้นชินกับเกียร์
ธรรมดา ในรถญี่ปุ่น ระวังเข้าเกียร์ผิดเป็น เกียร์ 1 นะครับ

หรือถ้าขับในเมืองเป็นหลัก ควรเลือกเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ของ GM รุ่น 6T30 ซึ่งจะมี
ปุ่ม บวก-ลบ ติดตั้งที่ข้างคันเกียร์ เหมือน Ford Focus ใหม่ ราวกับนัดแนะมาก่อนล่วงหน้า
ไม่มีผิด อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดจะใช้โหมด บวก – ลบ คุณต้องผลักคันเกียร์ไปที่ตำแหน่ง M
กันก่อน ทั้งที่คู่แข่ง อย่าง Honda City กับ Jazz นั้น สามารถใช้แป้น Paddle Shift
เล่นเกียร์เองได้เลย แม้คันเกียร์อยู่ในตำแหน่ง D ก็ตาม จะเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ในโหมด 
บวก ลบ ทั้งที่ไม่ก่อให้เกิดความมันส์ในอารมณ์เหมือนตอนกระดิก คันเกียร์เอาเองเสียเลย 
ถ้าสามารถปรับปรุงข้อด้อยนี้ได้ และเพิ่มแป้นเปลี่ยนเกียร์หลังพวงมาลัย Paddle Shift  
มาให้ ก็จะช่วยเพิ่มอรรถรสในการขับขี่ ได้ดีกว่านี้ อย่างไรก็ตาม อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

เกียร์ 1 ………………………..4.449
เกียร์ 2 ………………………..2.908
เกียร์ 3 ………………………..1.893
เกียร์ 4 ………………………..1.446
เกียร์ 5 ………………………..1.000
เกียร์ 6 ………………………..0.742
เกียร์ถอยหลัง………………..2.871
อัตราทดเฟืองท้าย…………..4.110

สมรรถนะ จะเป็นอย่าไรกันบ้าง เรายังคงทดลองจับเวลากันด้วยมาตรฐานเดิม นั่นคือ ใช้
ช่วงเวลากลางคืน หลัง 5 ทุ่ม ไปแล้ว ถนนที่เราใช้จะโล่งมาก และปลอดภัยพอ กระแสลม
ปะทะด้านข้างจะน้อยมากจนแทบไม่มีเลย ผมกับ คุณกล้วย BnN แห่ง The Coup Channel
เรา 2 คน ยังคงทำหน้าที่เหมือนเคย ผมขับ คุณกล้วย จับเวลา และบันทึกตัวเลข เปิดแอร์
สวิชต์พัดลมเบอร์ 1 เปิดไฟหน้า และตัวเลขที่ได้ออกมา เมื่อเทียบกับคู่แข่งพิกัดเดียวกัน
ในตลาดคันอื่นๆ มีดังนี้

ก่อนอื่น ต้องขอชี้แจงเล็กน้อย ผมไม่ทราบเหมือนกัน ว่าเหตุใด ตัวเลขอัตราเร่งแซง 80 -120
กิโลเมตร/ชั่วโมง ของรุ่น  Hatchback LTZ จะทำได้เร็วกว่ารุ่น Sedan LTZ ทั้งที่ใช้เครื่องยนต์
และเกียร์เหมือนกันเป๊ะ

คืนที่เราทดลองจับเวลา กระแสลม ก็นิ่งสงบดีทั้ง 2 วัน ลมยาง ก็ 35 ปอนด์/ตารางนิ้ว ตาม
สเป็กที่โรงงานกำหนด ทั้ง 4 ล้อ ครบทั้ง 2 คัน และใครที่ติดตาม Headlightmag.com
ของเรามานาน ก็คงพอจะรู้กิตติศัพท์ ความเที่ยงตรงแม่นยำในการกดจับเวลาของคุณกล้วย
BnN แห่ง The Coup Channel ของเราแล้วว่า เที่ยงตรงและแม่นยำได้ ระดับ “เป๊ะเวอร์”!
ของผู้ชายคนนี้ (0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของ Nissan Sylphy 1.8 CVT พี่แกจับเวลาได้
10.98 วินาที ติดกัน 4 ครั้งรวด! และ 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของ Suzuki Swift 1.2 ลิตร
เกียร์ธรรมดา เจ้าตัวก็กดนาฬิกามาได้ 8.96 วินาที 4 ครั้งติดต่อกัน!!!)

ดังนั้น เหลือเรื่องเดียวที่ผมน่าจะพอให้คำตอบได้คือ สภาพความโทรมของรถ เพราะรุ่น Sedan
LTZ เป็นรถคันเดียวกับที่ผมลองขับ ในบทความรีวิว Exclusive First Impression (รีวิวแรก
ในไทย) ของรถรุ่นนี้ เมื่อช่วงหลายเดือนก่อน และรถคันนี้ สภาพถือว่าน่าจะแอบซ่อนความบอบช้ำ
มากกว่ารุ่น Hatchback ซึ่งมีเลขไมล์น้อยกว่า มีความสดใหม่กว่า เพราะผลิตตามหลังกันมา
หลายเดือนอยู่

จากตัวเลขในตาราง ผมคงไม่ต้องพูดอะไรเพิ่มเติมแล้วนะครับ เห็นได้ชัดเจนเลยว่า เครื่องยนต์
1.4 ลิตร ของ Sonic เวอร์ชันไทย มัน “อืดอาดยืดยาดมากที่สุด เมื่อเทียบกับคู่แข่งทุกคัน”

กระนั้น ก็ยังต้องอธิบายเพิ่มเติมกันสักหน่อย ถึงเหตุผลของความอืดอาดที่เกิดขึ้น

จะไม่ให้อืดได้ยังไงละครับ ดูน้ำ หนักตัวรถกันก่อนไหมละ? 1,158 – 1,295 กิโลกรัม คือน้ำหนัก
ตัวรถเปล่าๆ แล้วถ้ารวมน้ำหนักบรรทุกทั้งหมด ก็จะหนักตั้งแต่ 1,573 – 1,600 กิโลกรัม…!!

เฮ้ย! มันอ้วนปั๊ก เป็นหนูน้อยหยั่นหว่อหยุ่นตราเด็กสมบูรณ์ มากไปหน่อยไหมเนี่ย?

แต่..เมื่อมองกันอย่างถ้วนถี่ การที่เครื่องยนต์ 1.4 ลิตร จะพยายามทำหน้าที่ของตนอย่างสุดความ
สามารถ ในการฉุดกระชากลากถู มวลวัตถุติดล้อ น้ำหนักตัวมากขนาดนี้ ให้ทำอัตราเร่งได้แบบนี้
ถือได้ว่า เค้นแรงมาถึงขีดสุดศักยภาพของตัวมันเองแล้วเหมือนกัน

ถ้า Sonic มีตัวรถที่เบากว่านี้ ตัวเลขน่าจะออกมาดีกว่านี้ 0 – 100 อาจมี 13 วินาทีต้นๆ ให้ได้เห็นกัน

โชคร้ายไปหน่อย ที่ GM เกิดมองว่า อยากให้ Sonic ออกมาเก็บเกี่ยวยอดขาย ทันช่วงเวลาคืนภาษี
รถคันแรก 100,000 บาท ของรัฐบาล แต่ก็กลัวว่า หากนำเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร มาวาง ขายควบคู่ไปด้วย
ก็จะทำให้ขายไม่ออก เหมือนเช่นที่เกิดกรณีนี้มาแล้วกับ Ford Fiesta ดังนั้น GM ก็เลยเลือกส่ง Sonic
ล็อตแรก ออกมาขาย เฉพาะ เครื่องยนต์ 1.4 ลิตร เท่านั้น ผลลัพธ์ของมัน เลยออกมาเป็นแบบนี้ไง

ยิ่งถ้าในด้านความเร็วสูงสุดนั้น แม้ว่าตัวเลขจะอยู่ในระดับพอกันกับคู่แข่งทั่วไปทุกคัน แต่กว่าจะ
ไต่ขึ้นไปถึงความเร็วสูงสุดได้ ใช้เวลาและระยะทางยาวนานมากกกกกกก ผมแทบหัวใจจะวาย
ในการลุ้น กับการใช้สมาธิ ดีแต่ว่า รถยังคงนิ่ง และมั่นใจได้ ผมจึงผ่านพ้นช่วงเวลานั้นมาได้
อย่างไม่ค่อยสบายตัวนัก ขอย้ำเลยว่า การทำตัวเลขนี้ เป็นไปเพื่อให้ทราบถึงศักยภาพของตัวรถ
เพียงเท่านั้น เนื่องจากในแค็ตตาล็อก และตารางสเป็ก ไม่ได้แจ้งข้อมูลนี้ไว้เลย การทำตัวเลข
ครั้งนี้ ก็ยังคงทำด้วยจุดประสงค์เดิม คือ เพื่อเป็นข้อมูล และเป็นไปเพื่อการศึกษา มิใช่การ
นำไปห้ำหั่นกันบนถนนสาธารณะ มันอันตรายต่อชีวิตของคุณและผู้ร่วมสัญจรมาก ดังนั้น
เราทำตัวเลขให้แล้ว คุณๆ ก็ไม่ควรไปทดลองกันเอาเองอีกทั้งสิ้น หากเกิดอะไรขึ้น เราไม่อาจ
รับผิดชอบใดๆได้ ขอโปรดเข้าใจไว้ด้วย

ในการขับขี่ใช้งานจริง รุ่นเกียร์อัตโนมัติ ให้การตอบสนองที่ไม่ดีเท่าที่ควร การเร่งแซงแต่ละครั้ง
เป็นเรื่องน่ารำคาญมาก ถ้าคิดจะเร่งแซง ควรจะผลักคันเกียร์ลงมาในตำแหน่ง M แล้วกดปุ่มเปลี่ยน
ตำแหน่งเกียร์ ที่ด้านข้างคันเกียร์เอาเอง ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่พอจะช่วยแก้ขัดได้ แม้ไม่ถึงกับ
ดีนัก ก็ตาม

เพราะ เกียร์อัตโนมัติของ GM ใน Sonic ก็ยังทำงาน ในแบบเดียวกับที่คุณจะพบได้ใน Cruze
Captiva และ Colorado คือ ต้องคิดก่อนราวๆ 1 วินาที ว่าจะเอายังไงกับชีวิต แล้วจึงค่อยเปลี่ยน
ตำแหน่งเกียร์ให้คุณตามต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนลงเกียร์ต่ำ หรือ จะตบขึ้นเกียร์สูง
มันไม่ทันใจ และบางครั้ง ก็เกือบไม่ทันการ ทางเดียวที่จะเอาตัวรอดพ้นจากสถานการณ์คับขัน
คือเหยียบคันเร่งให้เต็มตีน จมมิดทะลุพื้นรถไปห้องเครื่องยนต์กันเลย!! เพื่อดึงให้เครื่องยนต์
เร่งไปทำงานถึงช่วง หลัง 4,500 รอบ/นาทีไวๆ นั่นละครับ คือ ช่วงที่คุณจะเห็นแรงบิดออกมา
เต็มที่ และรถก็จะพ้นวิกฤติออกมาได้อย่างเฉียดฉิว ชนิด เส้นยาแดงผ่าแปด! มันไม่ได้ต่างไป
จาก Aveo เท่าใดนัก ดีกว่ากันในช่วงรอบเครื่องยนต์สูงๆ แค่นิดหน่อยเท่านั้น

เอาวะ อย่างน้อย ก็ยังดีกว่า เกียร์อัตโนมัติ ของ Citroen DS3 แล้วกัน!

ส่วนเกียร์ธรรมดา หากไม่ดูตัวเลขที่จับเวลากันมา และวัดเอาจากสัมผัสในการขับขี่จริง ก็อาจ
บอกว่าทำได้ดีมากกว่าที่คิดนิดหน่อย Not bad เพราะอัตราเร่งแซง มันก็พอๆกันกับรถยนต์พิกัด
1,600 ซีซี เกียร์อัตโนมัติ ทั่วไป คือไม่ดีเท่าคู่แข่งพิกัดเดียวกันแน่ๆ แต่ก็ยังพอรับได้

แต่ถ้าวัดกันตั้งแต่เริ่มต้นจากจุดหยุดนิ่ง บอกเลยว่า เร่งไม่ไป  ในช่วงที่ต้องทำเวลา บางที ผมต้อง
เปลี่ยนจากเกียร์ 5 ลงมาที่เกียร์ 3 เพราะเกียร์ 4 ไม่ใช่ช่วงที่เหมาะสมในการเรียกอัตราเร่งของมัน
คือต้องลากกันจนสงสารเครื่องยนต์ที่กำลังโดนผมทรมาณอยู่ มันพยายามได้ดีที่สุดแค่นี้

แต่การใช้งานในเมือง ถือเป็นรถเกียร์ธรรมดา ที่ขับสบายกว่าที่คิดมาก แป้นคลัชต์ มีระยะเหยียบ
กำลังดี น้ำหนักกำลังงาม ไม่เบาโหวงเกินไป อย่าง แป้นคลัชต์ของ Mitsubishi Mirage ไม่ต้อง
เกร็งเท้ามาก ระยะตัดต่อกำลัง เซ็ตมากำลังดี เหมาะสม ดีกว่า March กับ Almera ไม่ก่อให้เกิด
ความเมื่อยขาซ้ายมากมายเท่ารถเกียร์ธรรมดาคันอื่นๆ ที่ผมเคยขับมาในชีวิต! นี่คือเรื่องที่น่า
ชมเชยอีกประการหนึ่ง!

ส่วนการเก็บเสียงนั้น ในช่วงความเร็วต่ำกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือว่า ไม่ต้องเพิ่มเสียงพูดคุยกัน
และเสียงลมจากภายนอกรถ ก็เล็ดรอดเข้ามาในห้องโดยสารน้อยมากๆ ดังนั้น ประเด็นเสียงรบกวน
จึงไม่น่าเป็นห่วง แต่ถ้าหลังจาก 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป เสียงลมไหลผ่านตัวรถ ก็จะเริ่มดังขึ้น
เรื่อยๆ อย่างช้าๆ ความดังไม่ได้เพิ่มรวดเร็วนัก

พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน ที่ยังคงใช้เพาเวอร์แบบไฮโดรลิก ผ่อนแรงอยู่ตามเดิม รัศมีวงเลี้ยว
เส้นผ่าศูนย์กลาง 10.44 เมตร คือสิ่งที่ผมคิดว่า ไม่ต้องไปแก่ไขอะไรอีก จริงอยู่ ในช่วงความเร็วต่ำ
อาจต้องออกแรงในการหมุนพวงมาลัย มากกว่ารถยนต์ที่ใช้พวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฟฟ้า แต่การ
เลี้ยวก็ยังคงเป็นไปตามธรรมชาติที่มันควรเป็น น้ำหนักพวงมาลัย ถือว่า หนืดที่สุด ในบรรดากลุ่ม
B-Segment ทุกรุ่น ตอนนี้ แต่ก็ไม่ได้หนักมากขนาดพวงมาลัยเพาเย่อ เหมือน Suzuki Caribbean
ในสมัยก่อน แต่อย่างใด มันยังเบากว่า Chevrolet Optra อยู่นิดนึง ไม่มากนัก พอกันกับ Cruze
ยิ่งในช่วงความเร็วสูงแล้ว การบังคับเลี้ยวก็ยังทำได้แม่นยำ น้ำหนักเป็นธรรมชาติ เอาใจคนชอบ
ขับรถอย่างผม มากๆ แถมยังสามารถปล่อยมือจาพวงมาลัยได้ แม้จะใช้ความเร็วสูงถึงระดับ 180
กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ราวๆ 5 วินาที ถ้าถนนโล่งพอ และไม่มีกระแสลมมาปะทะด้านข้าง

สรุปว่า แม้ว่าจะหนืดไปหน่อยสำหรับคุณสุภาพสตรี หรือใครก็ตาม ที่ชอบพวงมาลัยเบาหวิวๆ
แต่ต้องยอมรับเลยว่า พวงมาลัยของ Sonic ตอบสนองดีที่สุดในกลุ่ม ตอบโจทย์ทุกการขับขี่ทั้ง
ช่วงที่ใช้ความเร็วสูง หรือขับคลานๆในเมือง ดังนั้น GM จ๋า “กรุณา อย่าแก้ไขอะไรมันอีก!!”
ลงตัวดีแล้ว ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน! (เขียนกันแบบนี้ ทั้งทีรู้อยู่ว่า อนาคต ต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบ
พวงมาลัย เพาเวอร์ไฟฟ้า แน่ๆ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง)

ระบบกันสะเทือนหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต คอยล์สปริง ช็อกอัพแกส และเหล็กกันโคลง
แบบชดเชยน้ำหนักรถด้านข้าง ติดตั้งร่วมกับแท่นวางเครื่องยนต์แบบยาว 6 จุด พร้อมจุดยึด
แท่นเครื่องไฮโดรลิค ที่ปรับแต่งมาเพื่อลดเสียงรบกวนและการสั่นสะเทือนให้ดีที่สุดเท่าที่
จะเป็นไปได้ ส่วนด้านหลังเป็นแบบ ทอร์ชันบีม รูปตัว V คอยล์สปริง และเหล็กกันโคลง
ถือเป็น จุดเด่นที่สุดของ Sonic ใหม่ เพราะเซ็ตมาในแนว แน่นและหนึบ ผสมผสานกับ
ความนุ่มกำลังดี แบบรถยุโรปขนาดกลาง! ไม่ใช่สัมผัสแบบเบาโหวง เหมือนรถยนต์ใน
พิกัดเดียวกันคันอื่นๆทั่วไป!

เพราะการตอบสนองในขณะคลานในเมือง โดยเฉพาะตามตรอกซอกซอยต่างๆ จริงอยู่ว่า
มันยังคงมีการสะเทือนมาให้สัมผัสอยู่บ้าง แต่ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับรถยนต์พิกัดเดียวกัน
ทุกรุ่นในตลาด คุณจะพบกับความนุ่มแน่น ในทันทีที่ผ่านเนินสะดุด ลูกระนาด ต่างๆ อย่าง
ชัดเจน แตกต่าง มีความพยายามในการดูดซับแรงสะเทือนอย่างเต็มที่ เท่าที่จะทำได้

ช่วงที่ผมต้องนำ Sonic ไปถ่ายรูปที่ถนนเลียบคลองระบายน้ำสุวรรณภูมิ ในช่วงขากลับ
บริเวณปากทางออก ผมใช้ความเร็วราวๆ 50 และกำลังลดเหลือ 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อ
เตรียมเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนบางนา-ตราด จังหวะนั้น ผมเห็นหลุมลึกดักมอเตอร์ไซค์ ขนาด
ยาวและใหญ่มากอยู่ข้างหน้า…ทำไงดี! ไม่มีทางเลือก ระยะกระทันหันมาก ผมเลยต้อง
เหยียบเบรก พารถประคอง ลงหลุมนั่นไปอย่างไม่อยากจะทำ….แต่….

เฮ้ย! มันนุ่มมาก! ถ้าเป็น Honda City คันที่บ้าน ป่านนี้ ต้องมีเสียงปั๊กๆ ให้สะเทือนใจกัน
แต่ Sonic ลงหลุมนั้นได้ด้วยเสียง กึบๆ! แค่นั้น อู้วววว! นุ่มมากๆ!!!! โห! ทำได้ไงเนี่ย!!
เหวอไปเลย! ถ้าเอาผ้าปิดตาคุณไว้ คุณจะไม่มีทางรู้หรอกว่านี่กำลังนั่งอยู่ในรถยนต์นั่ง
พิกัด B-Segment !!

ส่วนในย่านความเร็วสูง การเข้าโค้ง ทำได้ในช่วงตั้งแต่ 90 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นอยู่ว่า
ลักษณะของโค้ง เป็นอย่างไร แต่ขอแนะนำว่า ความเร็วที่ยังพอจะปลอดภัยในโค้งแบบยาวๆ
คือระดับ 85 – 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นโค้งยาวๆ ต่อเนื่อง ถ้าคุณกล้าพอ ความเร็วระดับ
160 – 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ยังไม่เป็นปัญหาเลยสำหรับ Sonic !! การทรงตัวขณะขับขี่ ใน
ย่านความเร็วสูง ทำได้ดีเยี่ยมมากๆ นิ่ง มีเสถียรภาพดี แต่อาจจะมีอาการดิ้นไปตามรอยต่อ
พื้นผิวทางด่วน ซึ่งนั่นเป็นผลมาจากยางติดรถจากโรงงาน (ยาง Continental) ยิ่งช็อกอัพยุบตัว
ก็จะยิ่งแข็งขึ้นเป็นธรรมชาติ พอเข้าโค้งแรงๆ รถเอาอยู่ได้หมด ต่อให้ยางจะห่วยแตกมาก
ขนาดไหนก็ตาม

ภาพรวมแล้ว ผมยืนยันว่า “นี่คือช่วงล่าง ที่ประเสริฐสุดในบรรดา รถยนต์ Sub-Compact
B-Segment ทุกรุ่นในเมืองไทย” ช่วงล่างของ Sonic นั้น ถึงขั้น ข้ามช็อตขึ้นไปทาบรัศมี
และทำได้ดีเกินหน้าเกินตา บรรดารถยนต์กลุ่ม C-Segment Compact Class ด้วยซ้ำเถอะ!
ยืนยันเลยว่า ช่วงล่างของ Sonic ดีกว่า Corolla ALTIS ดีกว่า Civic FD ดีกว่า Sylphy ดีกว่า
Suzuki Swift ดีกว่า City คันที่บ้าน และดีกว่า ช่วงล่างของ Fiesta ที่ถ่ายทอดความสะเทือน
มาให้รับรู้ได้มากกว่า Sonic เสียอีก

ระบบเบรก เป็นแบบหน้าดิสก์ หลังดรัม เสริมด้วย ระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock
Braking System) และระบบกระจายแรงเบรก ตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronic Brake
Force Distribution) แต่ไม่ได้มีการระบุไว้ใน Spec Sheet ว่า มีระบบ Brake Assist หรือไม่)

การตอบสนองในเมืองนั้น ถือว่าทำได้ดี และเบรกให้นุ่มนวลได้ง่ายดาย ไม่ยาก แป้นเบรก
ตอบสนองไวทันเท้าในระบหนึ่ง แต่ยังมีอีกสักเสี้ยววินาทีเผื่อไว้ให้คุณเปลี่ยนการตัดสินใจ
ได้อยู่ ไม่ช้าครับ แต่แค่ ยังมีช่วงเวลาเผื่อไว้นิดเดียว อาจต้องเหยียบลงไปเกินกว่า 1 ใน 3
ของระยะแป้นเบรกนิดนึง แต่การหน่วงความเร็ว ทำได้ดี นุ่มนวล ไว้ใจได้ สำหรับการขับขี่
ของผู้คนทั่วไป ส่วนการหน่วงชะลอรถจากย่านความเร็วสูงนั้น ถือว่า อยู่ในเกณฑ์ดี ไม่มี
อาการอะไรให้น่าเป็นห่วงนัก

โครงสร้างตัวถังของ Sonic เป็นแบบ BFI (Body-Frame Integral) ซึ่งทีมวิศวกร GM มั่นใจว่า
เป็นโครงสร้างตัวถังที่เหนือกว่า รถยนต์พิกัด B-Segment ทุกรุ่นในโลก เพราะกว่า 65 % ของ
โครงสร้างช่วงล่าง และ 50 % ของโครงสร้างช่วงบน ใช้เหล็กกล้าคุณภาพสูงที่มีความแข็งแกร่ง
และทนทานเป็นอย่างมาก มาเป็นชิ้นส่วนประกอบขึ้นรูปที่สำคัญ เสียดายว่า GM ไม่เปิดเผย
ว่าเป็นเหล็กกล้าแบบ High Tensile หรือเป็น Ultra High Tensile กันแน่?

นอกจากนี้ยังมีคานรับแรงกระแทกด้านข้าง ฝังในบานประตูทั้ง 4 ผลิตจากเหล็กกล้าคุณภาพสูง
เช่นเดียวกัน รวมทั้งยังมีแนวโครงเหล็กเชื่อมโครงหลังคาทั้ง 2 ฝั่งเข้าด้วยกัน โดยหลังคาของ
Sonic ถูกออกแบบให้สามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง 4 เท่าของน้ำหนักรถ เพื่อลดการยุบตัวใน
กรณีที่รถเกิดพลิกคว่ำ แถมฝากระโปรงหน้า ยังมีการออกแบบโครงสร้างเพื่อลดผลกระทบที่
จะเกิดกับคนเดินถนน ในกรณีถูกชนขณะเดินข้ามถนนด้วยความเร็วไม่สูงนัก

ถุงลมนิรภัย จะมีมาให้ตั้งแรุ่น LT ซึ่งจะมีเฉพาะฝั่งคนขับ แต่ถ้าเป็นรุ่น LTZ จะมีถุงลมนิรภัย
ฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า เพิ่มเข้ามาให้อีก 1 ชุด 

ด้วยการออกแบบดังกล่าว ทำให้ Sonic ผ่านการทดสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยมาแล้ว
อย่างครบถ้วนในทุกประเทศที่วางจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นการชนมุมต่างๆ หรือความแข็งแกร่ง
ของโครงสร้างหลังคา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทดสอบการชนในหลายรุปแบบ ทั้งจาก NHTSA
(National Highway & Traffic Safety Administration) หน่วยงานด้านความปลอดภัยของ
รัฐบาลกลาง สหรัฐอเมริกา และการทดสอบจากสหภาพยุโรป EURO NCAP ซึ่ง Sonic
คว้ารางวัลได้ 5 ดาว อย่างสบายๆ ด้วยคะแนน การปกป้องผู้โดยสารที่เป็นผูัใหญ่ได้ดีถึง
95% การป้องกันเด็ก บนเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก 87% คนเดินถนน 54% และการใช้งาน
ระบบอุปกรณ์ตัวช่วยด้านความปลอดภัย รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถคลิกเข้าไปดูได้ที่
www.euroncap.com/results/chevrolet/aveo/2011/437.aspx

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

การซื้อรถยนต์ขนาดเล็กสักคันทุกวันนี้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง คือประเด็นแรกๆ ที่ผมจะต้อง
ได้ยิน และตอบให้คุณผู้อ่านกันบ่อยๆ เลี่ยงไม่ได้นี่ครับ ราคาน้ำมันในตลาดโลก และบ้านเรา
มันพุ่งสูงขึ้นมากในช่วงหลายปีมานี้

จริงอยู่ แม้ Sonic จะใช้เครื่องยนต์พิกัด 1.4 ลิตร หลายๆคนอาจคิดว่า มันน่าจะประหยัดน้ำมัน
แต่ในความเป็นจริง มันก็อาจแตกต่างไปจากสิ่งที่คุณเคยคิดไปเลยก็เป็นไปได้ เราจะทำการ
ทดลองให้คุณดูตามมาตรฐานดั้งเดิมของเรา ที่ยึดถือกันมาตลอดหลายปี

นั่นคือ การพา Sonic ทั้ง 3 รุ่น 3 คัน ไปเติมน้ำมันที่ สถานีบริการน้ำมัน Caltex ถนนพหลโยธิน
ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS ฝั่งตรงข้ามปากซอยอารีย์สัมพันธ์ โดยเราใช้น้ำมันเบนซิน 95 Techron
หัวจ่ายเดิม เหมือนเช่นเดิม ทุกครั้งที่ผ่านมา

และในเมื่อ Sonic อยู่ในกลุ่ม B-Segment หรือ Sub-Compact ซึ่งผู้บริโภคจะซีเรียสกับตัวเลข
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเเพลิงมากพอกันกับพวก ECO Car ดังนั้น เราจึงต้องเขย่า ขย่มรถ เพื่อค่อยๆ
กรอกน้ำมันลงไปในช่องเติม กันอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง การเติมน้ำมันใน Sonic ด้วยวิธีนี้ จะ
ใช้เวลาราวๆ ไม่เกิน ครึ่งชั่วโมง ต่อการเติม 1 ครั้ง ให้เต็มถังน้ำมันขนาด 46 ลิตร (ไม่รวมคอถัง)

สักขีพยานเจ้าเก่า มารับหน้าที่เช่นเคย ครบทั้ง 3 คัน คือ น้องโจ๊ก V10ThLnD แห่ง The Coup Team
ของเรานั่นเอง

เมื่อเติมน้ำมันเสร็จแล้ว เราก็คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ แล้ว ออกรถ จากปั้ม มุ่งหน้า
ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ทะลุไปยังซอยข้างโรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้าย
เข้าสู่ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วนสายเชียงราก ไปลงปลายสุดทาง ที่ด่านบางปะอิน แล้ว
เลี้ยวกลับ ย้อนมาขึ้นทางด่วนสายเดิม มุ่งหน้าย้อนกลับมาทางเดิม

ความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และ นั่ง 2 คน ยังคงเป็นมาตรฐานดั้งเดิมที่เรา
ยึดถืออย่างเคร่งครัด เพื่อให้การทดลอง อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน เหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา

เมื่อลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธินอีกครั้ง มุ่งหน้าไป
เลี้ยวกลับ บริเวณ สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ หน้าโชว์รูม เบนซ์ราชครู แล้วเลี้ยวซ้าย เข้าสถานี
บริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน Techron 95 อีกครั้ง ที่ปั้มเดิม และใช้หัวจ่ายเดิม

วิธีการเติมน้ำมัน ครั้งแรกเป็นอย่างไร ครั้งหลัง เพื่อการสรุป ก็จะต้องเหมือนกัน เราจึงต้องมานั่ง
ขย่มและเขย่ารถ กันอีกคันละ 25 นาที เพื่อให้น้ำมันถูกอัดกรอกลงไปเต็มถังกันจริงๆ โดยไม่เหลือ
พื้นที่ให้อากาศอยู่ในถัง หรือถ้ามี ก็ต้องน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ จนน้ำมันเอ่อขึ้นมาถึงคอถังแบบนี้

เมื่อเติมน้ำมันกันจนเสร็จแล้ว ก็ได้เวลามาคำนวน หาตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองของแต่ละรุ่นกันละ!

เริ่มจากรุ่น Hatchback 1.4 LTZ 6AT กันก่อน

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 93.5 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.85 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 13.64 กิโลเมตร/ลิตร

ตามด้วยรุ่น Sedan 1.4 LTZ 6AT

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 93.7 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.81 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 13.75 กิโลเมตร/ลิตร

รุ่นสุดท้าย Sedan 1.4 LT 5MT

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 93.7 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.22 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 15.06 กิโลเมตร/ลิตร

ประหยัดที่สุดแล้วในบรรดา Sonic ทั้ง 3 คันที่เรานำมาทำรีวิวกันคราวนี้!!!

ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ บรรดาคู่แข่งทั้งหลายแล้ว ทั้งรุ่นต่อรุ่น หรือมองในภาพรวม Sonic มีอัตราสิ้นเปลือง
ที่ชนะรถเพียงแค่รุ่นเดียว นั่นคือ Ford Fiesta 1.4 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ PowerShift นอกนั้น แพ้ให้กับชาวบ้าน
เขาทั้งหมด!

นี่ก็เป็นอีกผลพวงหนึ่ง จากปัญหาที่ตัวรถมีน้ำหนักมากเกินไป ต่อให้พยายามเซ็ตอัตราทดเกียร์ให้ดีที่สุด
อย่างที่ทำอยู่ พยายามปรับให้รอบเครื่องยนต์ต่ำลงมาเท่าที่ทำได้ ผลลัพธ์ก็จะออกมาแบบนี้ อยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่า น้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้ไกลแค่ไหน บอกได้เลยว่า แม้ถังน้ำมันจะมีขนาด 46 ลิตร
ไล่เลี่ยกับชาวบ้านชาวช่องเขา (ปกติ อยู่ที่ 42 – 45 ลิตร) แต่ Sonic สามารถแล่นได้ไกลถึง 480 กิโลเมตร
ก่อนที่ไฟเตือนให้เติมน้ำมันจะเริ่มกระพริบเตือน นั่นหมายความว่า น้ำมัน 1 ถัง หากเติมกันเต็มปรี่จริงๆ
ต่อให้คุณขับตะบี้ตะบันยังไงก็ตาม ระยะทางที่ทำได้ มันจะเกิน 500 – 520 กิโลเมตร อย่างแน่นอน ถือว่า
ทำได้ดีกว่าที่ผมคิดไว้พอสมควร และแน่นอนว่า แล่นได้ไกลกว่า Honda City ของผม ในชีวิตประจำวัน
ตามปกติ (ทำได้ดสุดแค่ 420 กิโลเมตร ก่อนที่ไฟเตือนให้เติมน้ำมันจะสว่างวาบมาให้เสียวเล่นๆ)

********** สรุป **********
ถ้าต้องรีบซื้อในปีนี้ : 1.4 LT 5MT ตัวถังใดก็ได้ คุ้มสุด!
ถ้าไม่รีบ…: รอ เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร มีนาคม 2013 ดีกว่าไหม?

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณเริ่มเข้าใจบ้างแล้วใช่ไหมครับ กับคำถามของ Commander CHENG ?

Sonic เปรียบได้กับเพื่อนของเราคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนที่มีความดีงามในตัวเองหลายอย่างมากๆ
เรียนหนังสือเก่ง เกียรตินิยมอันดับสอง หน้าตาไม่เป็นรองใคร เป็นดาราได้สบายๆ อาจต้อง
ปรับปรุงการแต่งตัวอีกนิด แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ หาเสื้อผ้าดีไซน์เท่ มาช่วยแต่งเติมได้ตามใจชอบ
เล่นกีฬา ก็พอได้ มนุษย์สัมพันธ์ก็โอเค ใจกว้าง อยู่ใกล้ด้วยก็สบายใจ

เสียอย่างเดียว หมอนี่เป็นคนที่กินอะไรตามใจปากชะมัด ไม่รักษาหุ่นของตัวเองเท่าไหร่เลย
พักหลังเลย กลายเป็นว่า ทำอะไรชักช้า ไม่ทันอกทันใจใครเขา (เขียนไปเขียนมา เหมือนว่า
J!MMY มันกำลังด่าตัวเองเลยแหะ!)

ครับ Sonic ก็คือ เพื่อนแบบนี้แหละ

โดยลำพังตัวของมันเองแล้ว คุณงามความดีของรถคันนี้ เยอะมากกว่าที่ทุกคนคาดคิด ทั้ง
การออกแบบภายนอกและภายใน ที่จัดว่า ไม่น้อยหน้าคู่แข่งคันใดในตลาด การปรับแต่งช่วงล่าง
มาให้รองรับได้ทั้งจังหวะบู๊ และจังหวะบุ๋น จะขับเร็วเร่งรีบไล่ล่า หรือขับช้าๆย่องๆคลานๆ
คุณก็มั่นใจได้หมด เพราะระบบกันสะเทือน พวงมาลัย ระบบเบรก โครงสร้างตัวถัง ฯลฯ
ล้วนแล้วแต่ออกแบบมาให้ร่วมกันประสานงานอย่างสอดคล้องกันดี ในแบบที่รถยนต์ GM
ยุคใหม่ๆ พยายามเริ่มสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นกับผู้ยริโภคทั่วโลก

โดยเฉพาะช่วงล่างกับพวงมาลัย ที่ผมเน้นย้ำเลยว่า อย่าได้แก้ไขอะไรไปจากค่าการปรับแต่ง
ในปัจจุบันนี้อีกต่อไป! นี่คือ ช่วงล่างและพวงมาลัย ของ รถยนต์ระดับ B-Segment หรือ
Sub-Compact Class  ที่ลงตัวที่สุด เท่าที่เคยมีมาในเมืองไทย แถมยังดีเด่นแซงหน้ารถยนต์
กลุ่ม C-Segment Compact หลายคันเลยอีกด้วย! นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมตัดใจจาก Sonic ไม่ได้เลย
การเซ็ตปรับแต่งต่างๆ ออกมาได้ เป็นไปตามที่ใจผมเคยคิดอยากได้จากรถยนต์ขนาดเล็ก
แบบนี้ ชนิด “เป๊ะเวอร์!”

ส่วนข้อที่ต้องปรับปรุง….?

เครื่องยนต์ อัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ไง!

วินาทีแรกที่ผมรู้ว่า Sonic ได้เจริญรอยตาม Aveo ในการใช้เครื่องยนต์ 1.4 ลิตร คำถามที่เกิดขึ้นในหัว
ก็คือ..”ยังไม่เข็ดอีกเหรอ?”

เพราะรู้ดีครับว่า GM Powertrain ยังทำเครืองยนต์ขนาดเล็ก ไม่เก่งเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับผู้ผลิตฝั่ง
ยุโรป คำว่าไม่เก่งนั้น หมายรวมถึง สมรรถนะที่ออกมายังสู้คู่แข่งได้แค่ตัวเลขของเครื่องยนต์เปล่าๆ
ที่ยังไม่มีภาระผูกพัน ทั้งเกียร์ เพลาขับ ล้อและยาง แรงเสียดทานการเสียดสีต่างๆ เป็นแบบนี้มา
แต่ไหนแต่ไร

แล้วพอได้ลองขับจริง มันดันมีผลลัพธ์ออกมาตามที่ผมคาดคิดไว้ทั้งหมดเสียด้วยสิ!

พูดให้ง่ายเข้าก็คือ กรุณา หาเครื่องยนต์ใหม่ มาใส่โดยด่วน จะเป็นขนาด 1.6 ลิตร 109 แรงม้า (PS)
จาก Optra และ Cruze ก็ดูเข้าท่า หรืจะเป็น 1.4 ลิตร Turbo เหมือนเวอรชันอเมริกาเหนือ ก็ดูเข้าที
เพราะถ้าจะให้เอาพี่ใหญ่ ขนาด 1.8 ลิตร มาวางลงไป ก็เกรงว่าจะไปทับซ้อนกับ Cruze เขาได้โดย
ไม่จำเป็น

หรือไม่เช่นนั้น ก็ควรจะต้องปรับปรุงเครื่องยนต์ 1.4 ลิตรลูกนี้ กันยกใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น การ
ออกแบบเครื่องยนต์ ให้มีแรงเสียดทานในระบบต่ำกว่านี้ ทำงานได้ประสิทธิภาพดีขึ้นกว่านี้  
ลดทอนการสูญเสียกำลังในะรบบโดยเปล่าประโยชน์ลงไปให้ได้มากกว่านี้

นอกจากนี้ อีกประเด็นที่เชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกันก็คือ น้ำหนักตัว

รถเก๋ง B-Segment 1.4 – 1.6 ลิตร ที่มีน้ำหนักมากถึง 1.5 ตัน นี่มัน หยั่นหว่อหยุ่นตราเด็กสมบูรณ์ชัดๆ
อัดแน่นอุดมไปด้วยชิ้นส่วน ทั้งคันแบบนี้ ต้องการเครื่องยนต์ที่มีกำลังฉุดลากเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ อยู่
ไม่ใช่น้อย และเครื่องยนต์ 1.4 ลิตร แบบมาตรฐาน มันอาจจะเพียงพอให้ฉุดลากไปได้ในความเห็น
ของทีมวิศวกร GM

แต่สำหรับผม ไม่เห็นด้วยครับ แม้จะทำเครื่องยนต์ให้เบา แต่ถ้าเจอตัวรถที่มีน้ำหนักขนาดนี้ หากคิด
จะใช้มุข Downsizing หรือการลดขนาดความจุกระบอกสูบเครื่องยนต์ แต่เค้นสมรรถนะออกมาได้
มากขึ้น อย่างที่ผู้ผลิตชาวยุโรป กำลังเริ่มทำกันอย่างสนุกสนานตอนนี้ ก็ควรจะหาทางปรับปรุงพัฒนา
สักยภาพของเครื่องยนต์ตนเอง ให้มันสอดคล้องกับตัวรถ ที่ผ่านการลดน้ำหนักส่วนเกินที่ไม่จำเป็น
ลงไปแล้วด้วย แต่ยังต้องรักษา จุดดี ของตัวรถไว้ ทั้งการเก็บเสียง การดูดซับแรงสะเทือน การทรงตัว
และการบังคับควบคุมที่คล่องแคล่วพอประมาณแบบนี้เอาไว้ให้ได้ไปพร้อมกัน

ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ แต่ไม่ยากเกินประสบการณ์ 100 ปีเศษของ GM และ Chevrolet เขาหรอก ถ้าแค่
ฝรั่งอเมริกัน คิดจะทำขึ้นมาจริงๆ ว่าแต่ว่า เมื่อไหร่จะได้เห็นกันสักทีละ?

***** BUYER’s GUIDE *****

ในเมื่อ ผมได้บอกแล้วว่า มันเป็นรถเก๋ง กลุ่ม B-Segment ที่ดีที่สุดในทุกๆด้าน แต่มีเครื่องยนต์ที่
อืดและกินน้ำมันที่สุดในกลุ่ม นั่นหมายความว่า เมื่อเทียบกับคู่แข่งคันอื่นๆ ในตลาด ก็ยืนยันได้
ว่า ต่อให้คุณเทียบกับ Vios Yaris City Jazz Mazda2 และ Ford Fiesta ด้านที่ดีกว่าของ Sonic ก็จะ
ดีเด่นโดดเด้งดึ๋ง เหนือคู่แข่งทั้งหมดนี้ ส่วนด้านที่ด้อยกว่า ก็จะด้อยกว่าคู่แข่งทั้งหมดนี้อย่างชัดเจน เช่นกัน ชนิด
ไม่ต้องอรรถาธิบายอื่นใดให้เมื่อยปากกันอีก

ทีนี้ ถ้ามั่นใจแล้วว่าจะเลือก Sonic และยอมรับได้กับข้อดีและข้อด้อยดังกล่าว คำถามก็คือ
รุ่นย่อยไหน ถึงจะคุ้มค่าเงินที่จ่ายออกไปมากที่สุด?

ราคาขายมีดังนี้

รุ่น Sedan / Notchback
NB 1.4 MT LS      548,000 บาท
NB 1.4 AT LA      578,000 บาท
NB 1.4 MT LT      588,000 บาท
NB 1.4 AT LT      615,000 บาท
NB 1.4 AT LTZ    679,000 บาท
รุ่น Hatchback
HB 1.4 MT LT      601,000 บาท
HB 1.4 AT LT      632,000 บาท
HB 1.4 AT LTZ    687,000 บาท

เมื่อมานั่งกางแค็ตตาล็อก เอาตาเพ่งตารางรายละเอียดด้านหลัง ซึ่งมีขนาดเล็กมากจนต้องใช้แว่นขยายช่วยส่อง
ผมพบว่า รุ่น LT เกียร์ธรรมดา ไม่ว่าจะเป็น Sedan หรือ Hatchback คือทางเลือกที่มองว่า น่าสนใจมากที่สุด
เพราะ อัตราเร่ง ถือว่า ไม่อืดมากเท่ากับรุ่น เกียร์อัตโนมัติ การเข้าเกียร์ ก็กระชับดีมาก น้ำหนักคลัชต์ สบายๆ
ไม่เมื่อยเท่าไหร่ ถ้าต้องขับไปตามถนนในกรุงเทพฯ ที่รถติดเป็นวรรคเป็นเวร อุปกรณ์ที่ให้มา ก็คุ้มค่า และ
ถือว่าเพียงพอแล้ว สำหรับรถเล็กๆ (อันที่จริงก็ไม่เล็กเท่าไหร่นะ) ขับคนเดียว ในเมือง หรือเป็นรถสำหรับ
ครอบครัวที่เพิ่งเริ่มต้น ก็ถือว่าใช้ได้อยู่

แต่ถ้าคิดว่ายังรอต่อไปได้ ขอแนะนำว่า ให้รอรุ่นเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ที่จะมาประจำการกันตั้งแต่ มีนาคม 2013
ไปเลยจดีกว่า อย่างน้อย อัตราเร่ง ก็จะกระฉับกระเฉงกว่านี้อีกนิดนึง แม้ดูโหงวเฮ้งแล้วคงไม่มากมายนักหรอก
แต่ก็น่าจะทำเวลาได้ดีกว่าเครื่องยนต์ 1.4 ลิตร 100 แรงม้า (PS) ลูกนี้แน่ๆ

ท้ายที่สุดนี้ ก่อนจากกัน ผมอยากจะขอฝาก ถึง 2 ฝ่าย

ฝ่ายแรก คือกลุ่มลูกค้าที่ ซื้อ Sonic ไปแล้ว รับรถไปแล้ว ใช้งานอย่างมีความสุขอยู่ หรือเพิ่งจองไปแล้ว

ผมมั่นใจว่า บทความรีวิวนี้ มันจะกระทบกับความรู้สึกของคุณ “อย่างรุนแรง” แน่นอนละครับ คุณคงไม่อยาก
ให้ใครที่ไม่รู้จัก อย่างผม มาด่าทอรถที่คุณซื้อ หรือไม่อยากให้ข้อความของผม ไปกระตุกต่อมอะไรของคุณ

คงต้องบอกว่า ช่วยไม่ได้ครับ นาฬิกาจับเวลา มันไม่เคยโกหก คนจับเวลาของเรา ก็คือคุณกล้วย ก็ทำหน้าที่
อย่างที่คุณคงได้เห็นกันมาตลอดแล้วว่า เที่ยงตรงจริงๆ การเติมน้ำมัน เราก็ทำให้คุณเห็นทุกขั้นตอนอย่างละเอียด
ทุกอย่าง มีหลักฐาน ชัดเจน

แต่…ผมก็คงต้องขอย้ำเอาไว้อีกเหมือนกันว่า เครื่องยนต์ คือจุดด้อยเดียวที่สำคัญ ของรถคันนี้ เพราะที่เหลือ
นี่คือ รถยนต์ขนาดเล็ก พิกัด B-Segment ที่ดีที่สุดที่ GM เคยผลิตออกขายในแบรนด์ Chevrolet ทั่วโลก ดังนั้น
การตัดสินใจซื้อ Sonic นั่นย่อมหมายความว่า คุณยอมรับได้กับข้อด้อยดังกล่าว และมองว่ามันไม่ใช่เรื่องแย่
เพราะคุณงามความดีของรถ มันก็เทพจริงในแทบทุกประเด็นอื่นๆ ที่มีอยู่ทั้งคัน

ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณก็ควรจะเปิดใจยอมรับ และมีความสุขกับสิ่งที่คุณเลือกไปครับ เพราะทางเลือกที่คุณตัดสินใจ
มันก็ไม่ใช่การตัดสินใจที่แย่สุดแต่อย่างใด

ดังนั้น ใครก็ตามที่เตรียมง้างปากรอด่าผม หรือเขียนอัดผม สวดผมละก็ ก่อนจะทำเช่นนั้น โปรดไตร่ตรอง
ให้ดีๆ ผมทำหน้าที่ของผม คือการพูดความจริง ให้ทุกคนได้เห็น คุณ ก็ใช้รถของคุณต่อไปอย่างปกติสุข
ไม่ต้องมาแคร์กับความเห็นของผมในเรื่องจุดด้อยของรถมากนัก ก็แค่นี้เอง

ใครจะมาด่า Honda City ผม ก็ด่าไปเลยครับ ด่าได้ เพราะรถทุกคัน มีเรื่องให้ด่าอยู่แล้ว อย่างน้อย 1 เรื่อง
ผมก็จะด่ารถผมเองให้ฟังนี่แหละ ว่า สีพ่นมา บางชะมัด ห่วยมาก! เจออะไรนิดอะไรหน่อย ก็กะเทาะแล้ว ช่วงล่าง
ตอนนี้ จอดไว้นาน ก็มีเสียงอ๊อดๆแอ๊ดๆ นิดหน่อยแล้วเหมือนกัน บอกแล้วครับ รถทุกคันมีข้อดีและเสีย
ด้วยกันทั้งนั้น

ส่วนชาว Sonic คนไหน ที่เคยด่าผมไว้ใน Facebook บอกว่า “คนอย่างจิมมี่ มันเคยขับรถดีๆในชีวิต
บ้างหรือเปล่าวะ เห็นแม่งด่าทุกคัน”

ก็อยากจะบอกว่า Bentley Continental GTC V8 Bi-Turbo เปิดประทุน สีดำเงาแว่บ คันละ 20 กว่าล้าน
นี่ถือว่าเป็นรถที่ดีพอในสายตาคุณไหมครับ? ถ้าใช่ ผมก็จะบอกให้ว่า หลังจากผมลองขับแล้ว พบว่า
มันก็มีข้อด้อยอยู่ดี ตรงที่น้ำหนักพวงมาลัย มันเบาคล้ายคลึงกับ Mercedes-Benz E-Class W212 รุ่น
ปัจจุบันอยู่เหมือนกัน แถมเสียงเครื่อง ตอนเร่ง ก็ยังดังพอกันกับ รถบรรทุก Isuzu รุ่นหน้ายักษ์ เมื่อ
40 ปีที่แล้ว อีกต่างหาก!!

บอกแล้วไงครับ รถทุกคัน มีทั้งข้อดี และข้อด้อย ในตัวของมันเอง ถ้าคุณยอมรับได้ ก็ซื้อไปครับ จบ!

———————————–

ฝ่ายที่ 2 ที่อยากจะฝาก ก็คือ Chevrolet Sales Thailand เอง นั่นแหละ!

ในเมื่อ ลูกค้าให้ความไว้วางใจซื้อรถยนต์จากคุณแล้ว การดูแลพวกเขา ให้ดีๆ ก็คือภาระหน้าที่
สำคัญและยิ่งใหญ่มากๆ ปริมาณศูนย์บริการทั่วประเทศไทย ขณะนี้ ยังไม่ใช่ปัญหาเท่ากับ การ
ควบคุม ฝึกอบรม ละพัฒนายกระดับ ฝีมือช่างซ่อมรุ่นใหม่ๆ ไปจนถึง การดูแลของศูนย์ลูกค้า
สัมพันธ์ และ Call Center ที่กำลังได้ยินว่า ค่อยๆปรับปรุงกันอยู่ แต่ก็ยังไม่ดีพอ

แม้จะเพิ่งมีการแข่งขันฝีมือช่างไปเมื่อเดือนก่อน และถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่นั่นยังไม่พอ
การเลี้ยงดู ช่างที่เก่งๆ ให้อยู่กับคุณนานๆ เป็นหน้าที่ ของทั้ง GM และ ดีลเลอร์ทุกราย จะต้อง
ช่วยกัน เพื่อให้ลูกค้ามีที่พึ่งพาในยามที่รถเกิดปัญหา

แต่ละฝ่าย ขอให้ร่วมมือประสานงานัน และช่วยเหลือลูกค้าอย่างจริงใจ ไม่ว่ามันจะยากเย็น
แสนเข็ญแค่ไหน แม้ว่าเจอลูกค้าเหวี่ยงวีน หรือจะมาในบทร้ายแบบ เรยา ในดอก(ส้มสี)ทอง
หรือ มุตตา ในแรงเงา นั่นคือหน้าที่ และความรับผิดชอบ ของคุณ ที่จะต้องเอาใจเขามาใส่ใจตน
ในการช่วยเหลือพวกเขา

จริงอยู่ เมื่อเทียบกับค่ายรถยนต์เพื่อนร่วมชาติชาวอเมริกันแล้ว ปัญหาของ GM ยังถือว่าน้อยกว่า
แต่ขอทีเถอะ ผมไม่อยากได้ยินเสียงบ่นของลูกค้า GM / Chevrolet มากไปกว่านี้อีกแล้ว อยากให้
ช่วยกันปรับปรุง และร่วมกันทำงานอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้ลูกค้าแฮปปี กันทุกคน

รวมทั้งฝ่ายโรงงานที่ระยอง ก็เช่นเดียวกัน ต่อให้พยายามประกอบรถออกมาเนี้ยบแค่ไหน แต่
การยกระดับคุณภาพของชิ้นส่วนต่างๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ การลดต้นทุนที่มากจนเกินงาม อาจ
นำมาซึ่งหายนะของพวกคุณเองในระยะยาว เรื่องนี้ ทุกคนก็คงทราบดีอยู่แล้ว แต่อย่างเน้นย้ำ
ให้ชัดเจนอีกครั้ง

เพราะลูกค้าทุกคน รวมทั้งผม พร้อมจะแนะนำให้คนรอบข้าง มาซื้อ Chevrolet คันใหม่ๆ
จากคุณอีกเสมอ! ขอแค่ทุกอย่าง มันเข้าที่เข้าทางกว่าที่เป็นอยู่นี้อีกสักหน่อย แค่นั้นเลย

ติดอยู่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวแล้วละ!

———————————–///——————————–

ขอขอบคุณ / Spacial Thanks

Mr. Laurent Berthet
Director of Communication , Southeast Asia
คุณพันธมาศ กรีกุล
ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์
คุณ Vijo Varghese
ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ : สื่อสารผลิตภัณฑ์
และทีม ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท General Motors (Thailand) จำกัด
บริษัท Chevrolet Sales (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

—————————-

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในไทย เป็นผลงานของ ผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพวาด Illustration เป็นลิขสิทธิ์ของ บริษัท General Motors Thailand
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
9 ธันวาคม 2012

Copyright (c) 2012 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
December 9th, 2012

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!