กว่าที่ผมจะหาเวลา และโอกาส ที่จะจับ รถกระบะ BT-50 ของมาสด้า มาทดลองขับเต็มรูปแบบ Full review ให้ได้
ลองอ่านกัน เป็นภาค 2 ต่อจากครั้งที่แล้วในวันนี้

เวลาได้ล่วงเลยจากภาคแรกเมื่อครั้งในรีวิวภาคแรก
http://www.headlightmag.com/main/index.php?option=com_content&view=article&id=384:-mazda-bt-50-qq-1-q-1864-q&catid=78:pickup-truck&Itemid=97

นานถึง 9 เดือนเต็ม!

 

ผมไม่คิดมาก่อนหรอกครับว่า จะต้องใช้เวลานานขนาดนี้

แต่ในเมื่อ ทางพี่อุทัย พีอาร์ มาสด้า
แจ้งกับผมว่า รถยังไม่ว่าง ยาวววววววว จนกว่าจะถึงเดือนตุลาคม

ผมก็คงทำอะไรไม่ได้ จนกว่าจะต้องรอ รอแล้วรอเล่า
รอไปรอมา

พอถึงเวลาที่ รถพร้อม

ผมกลับไม่พร้อม
ทั้งงานราษฎร์ งานหลวง และอีกสารพัดงานที่ประดังประเดเข้ามา

พอมีช่วงเวลาว่าง ผมก็ดันทำตัวอารมณ์ศิลปินเสียอย่างนั้น
คือ เอาไว้รอหลังงานมอเตอร์เอ็กซ์โป ที่ผ่านมา
วันรุ่งขึ้น ที่รถกลับมาถึงมือของสำนักงานใหญ่
ผมก็ค่อยไปยืมมาขับ…

 

 

การทดลองขับคราวนั้น
ผมคงต้องหาผู้ช่วย ตามปกติ

ทว่า ด้วยการสับหลีกตารางเวลาชีวิตของผม
ทให้คราวนี้ ผมจำเป็นต้องเปลี่ยนมาทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในช่วงกลางวัน
ก่อนจะไปจัดรายการวิทยุ ให้ทัน

และผู้ที่ช่วยเหลือผมในการทดลองขับ BT-50
ทุกอย่าง ตั้งแต่ต้นจนจบ

ก็คือ นายถัง นั่นเอง

สาเหตุหนึ่งที่ผม ชวนนายถัง มาร่วมงานตรงนี้ด้วย
คือ ผมเองไม่อยากให้ รีวิว การทดลองขับรถรุ่นใดๆก็ตาม
มีเพียงแต่ความเห็นของผมเพียงอย่างเดียว
 

 

จริงอยู่ ว่า ความเห็นผม คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเป็นความคิดเห็นหลัก ในฐานะคนต้นเรื่อง

แต่ คนทั่วไป ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับผมก็ได้
และ น้องๆที่ไปลองรถด้วยกันกับผม อาจจะมีความคิดที่ต่างกันออกไป ทั้งที่นั่งในรถคันเดียวกันก็เป็นได้

ดังนั้น เสียงของน้องๆรอบข้าง ที่ผมดึงเข้ามาร่วมงานด้วย
จึงเป็นอีกมุมมองหนึ่ง ที่ คุณผู้อ่านเอง ก็ไม่ควรที่จะมองข้ามผ่านเลยไปครับ
 

 

รุ่นที่เราได้รับมาลองขับนั้น ตอนแรก ผมก็คิดว่า เป็น 4 ประตู

แต่ พี่อุทัย คว้ากญแจรุ่น ฟรีสไลแค็บ ส่งมาให้
ทั้งสองคัน

ดังนั้น รีวิวของเราคราวนี้ จึงจะมีแต่ตัวถังฟรีสไตล์แค็บ ในแบบยกสูง ทั้งขับสองล้อ และขับสี่ล้อ

และ เราจะเริ่มที่รุ่น 3.0 ลิตร 156 แรงม้า….

 

 

ปัญหาหนึ่งของมาสด้า ที่ผมพบเจอเข้ากับตัวเองก็คือ
ดีไซน์ของตัวรถ

ในวันที่ผม มีนัดซ้อมคิวเพลงและการแสดง กับ ก๊วน คมช.
สำหรับงาน pantip 10 ปี ที่คอนโดมีเนียมแห่งหนึ่ง
ของคุณพี่ กึ่งยิงกึ่งผ่าน
ย่านพระราม 9 – เอกมัย ใกล้ “โนอาห์”

อ่ะอ่ะ ผมไม่ได้เลี้ยวรถเข้าไปผิดที่แน่ครับ
ผมไปซ้อมเพลงแน่นอน

คืนนั้น มีถึง 2 เรื่อง ที่ผมพบเจอเข้ากับตัวเอง
และผมไม่รู้จะหาคำตอบอย่างไรดี

 

 

เรื่องแรก

ระหว่างที่ต้องหาที่จอดรถหน้าคอนโด ริมซอย
ซึ่งดูเสี่ยงภัยพิกล จนต้องคุยกับ รปภ ของคอนโดฯ
ว่าขอเอารถเข้าไปจอดชั่วคราวได้ไหม
รถกระบะป้ายแดง มันไม่ค่อยปลอดภัย

ระหว่างรอที่จอดรถชั้นล่างของอาคาร ว่างลง

พ่อค้าชาวต่างจังหวัด ที่จอดรถกระบะขายผลไม้ของตน
ลงมาเดินดูด้อมๆมองๆ ที่ BT-50 ครับ

พอดีที่ว่า ผมเดินกลับมา เอาของที่ลืมไว้ในรถ
พ่อค้าคนนี้ ถามผมว่า “รุ่นใหม่นี้สวยดีแหะ คันละเท่าไหร่เหรอครับ?”

ผมก็เลยต้องกลายสภาพเป็นเซลส์ขายมาสด้ากลายๆ
โดยไม่ได้อยากทำเลย บอกไปว่า ประมาณ  6-7 แสนกว่าๆ บาทครับ

“สวยดีๆๆ ชอบๆ”

ก็พอดีว่า รปภ. หาที่จอดรถให้ผมได้สำเร็จ
ผมถอยเจ้า BT-50 เข้าไปจอดในช่องจอดรถชั่นล่างสุดของคอนโดฯ
ได้อย่างสบายใจ ที่ไม่ต้องให้ใครมาเดินดูด่อมๆมองๆ
ซึ่งนั่นชวนให้ผมเสียวสันหลังวาบเลย

กลัวรถหายครับ การเอากระบะป้ายแดงมาทดสอบนี่ ความเสี่ยงสูงกว่ารถทั่วไปอยู่มาก

 

เรื่องที่สอง

ซ้อมเพลงเสร็จ ตอน 4 ทุ่ม
ทีม คมช. เราลงจากลิฟต์ เรียมจะแยกย้ายกลับบ้าน

ตา jetboat และ พี่แชมป์ มืกีตาร์ หนึ่งในทีมของเรา
เห็นเจ้า BT-50 แล้ว ถามผมอย่างตรงไปตรงมา
อย่างคนที่ไม่ได้รู้อะไรในเรื่องรถเท่าไหร่ อันเป็นปกติว่า

“เฮ้ย ไอ้จิม รุ่นนี้ มันต่างกับรุ่นเก่ายังไงวะ? พี่ยังไม่เห็นความแตกต่างเลย”

คุณลุง Ryuso Kawakuchi  
หัวหน้าทีมวิศวกรโครงการพัฒนา BT-50 รหัส J97M (และ J97U ด้วย)

โปรดรับทราบด้วยครับว่า

ถ้ายอดขายส่วนหนึ่งของ BT-50 ออกมา ไม่น่าประทับใจ

ส่วนหนึ่ง น่าจะมาจาก รูปลักษณ์ภายนอก ที่ยังมีกลิ่นอายรุ่นเดิม หลงเหลืออยู่แทบจะทั้งคัน!
ทั้งที่ลูกค้า และผ้บริโภค คาดหวังให้เส้นสายตัวถัง ฉีกจากรุ่นเก่ามากกว่านี้

การปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้า และไฟหน้า รวมทั้งกระจังหน้า ให้ดูดีขึ้นกว่าเดิมนั้น

แม้จะดูดีขึ้นจริง แต่ถ้าเส้นสายตัวถัง และชิ้นส่วนต่างๆ
ยังสามารถใช้ร่วมกันกับรุ่นเดิมได้อยู่
เอาง่ายๆ แค่กระจกบังลมหลัง ยังเป็นเบอร์เดียวกันกับรุ่นเดิมเป๊ะเลย

ผมว่า ก็ไม่อาจสร้างความสนใจให้กับลูกค้าส่วนใหญ่ได้มากพอหรอกครับ

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สำหรับรถกระบะมาสด้าแล้ว
มีเพียงครั้งเดียว ที่มีการพลิกโฉมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์
ก็คือ B-Series รุ่น Magnum / Thunder นั่นเองครับ เปิดตัวในปี 1985 และหลังจากนั้น หลังจากปี 1997 เป็นต้นมา
รถกระบะของมาสด้า ก็เหมือนว่าทำว่า “ความสวยที่ดึงดดใจ” หล่นหายไปในท่อระบายน้ำ….

 

 

แต่ เมื่ออ่านเรื่องแรก อีกทีหนึ่ง

ก็ชวนให้มองในทางที่กลับกันได้อีกว่า

หรือว่า รูปลักษณ์ที่ดูไม่ได้เปลี่ยนไปจากรุ่นเก่านัก ยังคงถูกใจผ้บริโภคบางกลุ่ม??

แต่เอาเข้าจริงแล้ว จากสถานการณ์ปัจจุบัน

ตกลงแล้ว ลกค้าที่ซื้อ BT-50 นั้น จากที่ผมได้ยินมา
แทบไมได้ตัดสินใจซื้อ เพราะดีไซน์ของตัวรถ จากภายนอกเลย

ความสวย จะมีผลต่อลูกค้า บางกลุ่ม ก็ต่อเมื่อจำเป็นต้องเลือกระหว่าง
BT-50 กับฝาแฝด ก็คือ ฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ เท่านั้น

 

เอาเข้าจริงแล้ว ลูกค้าของ BT-50 และเรนเจอร์ในตอนนี้
เท่าที่ผมดูแบบคร่าวๆ น่าจะมี 2-3 กลุ่มหลัก

1. กลุ่มที่ซื้อ ด้วยความชอบ และมั่นใจในตัวรถ ในแบรนด์ (ซึ่งบอกตรงๆนะ ว่า ยังมีน้อยอยู่)

2. กลุ่มที่ซื้อ ด้วยข้อเสนอ และเงื่อนไขส่งเสริมการขาย (อันนี้มีในระดับเพิ่มขึ้นมานิดหน่อย อยู่ที่เซลส์จะดีลอย่างไรแล้ว)

3. กลุ่มที่ซื้อ เพราะว่า จัดไฟแนนซ์ เมื่อตอนซื้อ วีโก้ หรือดีแมกซ์ ไม่ผ่าน
(ซึ่งกลุ่มหลังนี้ มีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
แต่โชคดีว่า ลูกค้าที่สามารถหลุดรอดจากปัญหาแบล็กลิสต์
มาเป็นลูกค้าที่มีคุณภาพเพียงพอที่ดีลเลอร์จะปล่อยรถให้
มีไม่มากนัก

ไม่เหมือน ค่ายใหญ่ ที่ล่าสุด ได้ยินมาว่า มีลูกค้า ผ่อนส่งต่อไม่ไหว
ยึดรถคืนกลับมามากมาย แต่ ไฟแนนซ์ รายนั้น คงไม่สนใจ
เพราะแค่ทุกวันนี้ส่งรถไปประมูลขายทอดตลาดต่อ ก็ได้เงินกลับมาแล้ว )

 

เอาละ

ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม

BT-50 ยังคงมีจุดดีอยู่พอสมควร
และเพียงพอให้เราได้มาสำรวจดูกันครับ

อีกรุ่นหนึ่งที่มาอยู่ในมือผม แค่ 2 วัน 1 คืนเท่านั้น

2.5 ลิตร 143 แรงม้า ครับ

 

 บางที สีตัวถังเรียบๆอย่างนี้ ก็ทำให้ตัวรถดูดีได้โดยง่าย ไม่ต้องไปพึ่งพาสีทูโทนเสร่อๆ นั่นเลยแต่ประการใด

 

 

มาดูห้องโดยสารกันบ้างครับ

การเป็นผู้นำรายแรกในเมืองไทย สำหรับบานแค็บเปิดได้
กลายเป็นจุดขายที่มาสด้า/ฟอร์ด ได้เปรียบคู่แข่งเสมอมา

ช่วยให้การเข้าออก ของสัมภาระ และร่างกายผู้โดยสาร
เป็นไปได้อย่างดีขึ้น

วัสดุในภาพรวม ถือว่า อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเดียวกันกับรถยนต์ในยุคสมัยนี้

เพราะพลาสติกเป็นแบบเดียวกัน เกรดเดียวกันกับที่จะพบได้ใน Mazda 3 

 

 

และยิ่งการที่บานแค็บ เปิดได้กว้างเกือบถึง 90 องศา  ด้วยแล้ว….

ยิ่งช่วยให้การเข้าอกสะดวกสบายขึ้นอีกด้วย

 

 

 ลองมาดูนายแบบจำเป็น ก็คือ นายถัง ของเรานั่นเอง

นายถัง สูง 176 เซ็นติเมตร
หนัก 75 กิโลกรัม

 

 

 แล้วลองดูนายถัง ตอนเข้าไปลองนั่งในบริเวณแค็บด้านหลัง
โดยปรับเบานั่งด้านหน้า ให้เหมาะสม เหมือนที่ถังชอบปรับตำแหน่งขับ

ก็พอนั่งได้ ไม่ถึงกับสบายนักครับ ประเดี๋ยวประด๋าวหนะพอไหว

 

 

…พื้นที่ด้านหลังถือว่ามีเพียงพอสำหรับการวางสิ่งของสัมภาระ พร้อม คนอีก 1 คน แต่ต้องนั่งเบียดหน่อย

นี่ละครับ ส่วนหนึ่ง อันเป็นผลมาจาการใช้แชสซีเดิม
การสู้คู่แข่งไม่ได้นี่เรื่องใหญ่เหมือนกันนา

 

 

ส่วนเบาะนั่งคู่หน้า ต้องขอชมเชยกันนิดนึงว่า

นั่งแล้วไม่เมื่อย ไม่ปวดหลัง แม้จะขับหรือนั่งไปในระยะทางยาวไกลครับ

เป็นผลดีจากการที่มาสด้า มีเทคโนโลยีด้านสรีรศาสตร์ขั้นสูง HMI (Human Machine Interface)

แต่ถ้าจะให้บอกกันตามตรงก็คือ

ตำแหน่งท่านั่งขับ ของ BT-50 แทบไม่ต่างอะไรกับไฟต์เตอร์ ตัวเก่าเลย ทั้งมุมองศาพวงมาลัย
ลักษณะของเบาะนั่ง ตำแหน่งของคันเกียร์ ตำแหน่งที่วางแขน บนแผงประตู และที่คอนโซลกลาง ฯลฯ
แทบไม่มีความแตกต่างจากรุ่นเดิมเลย!

เว้นแต่วัสดุ ที่ดีขึ้นจากเดิมอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะลายผ้าเบาะ

รวมทั้งระดับของพวงมาลัย ที่สามารถปรับสูงต่ำได้แล้ว แม้จะปรับได้เพียง 2 องศา ก็ตาม

 

 

แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือบรรยากาศ ของการขับขี่
นั่นคือ แผงหน้าปัด และแผงประตูด้านข้างนั่นเองครับ

 

 

ชุดมาตรวัด ยังคงใช้สีเขียว ซึ่งแม้จะสบายตา แต่ว่า มันดูเชยไปสักหน่อย สำหรับรถสมัยนี้

 

 

คอนโซลกลาง

ทั้งรุ่น 2.5 และ 3.0 ติดตั้งชุดเครื่องเสียง มาเหมือนๆกันครับ

เฉพาะรุ่น 3.0 นั้น มีเครื่องเล่น MP3 และใส่ CD ได้ 6 แผ่น มาให้ด้วย

ให้คุณภาพเสียงที่ถือว่า พอใช้ได้

ดีกว่า ในวีโก้
พอกันกับไทรทัน

 

 เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบมือบิด

ตำแหน่งการจัดวางอุปกรณ์ใช้งานง่ายกว่ารุ่นเดิมอย่างชัดเจน
ใกล้เคียงรถเก๋ง แต่ยังมีเส้นสายแบบแผงหน้าปัดรถบรรทุก

ตอนกลางคืน เรืองแสงสีเขียวแบบนี้

 

 

 นอกจากนี้ ยังมีแสงสลัวๆ ส่องลงมา หวังสร้างบรรยากาศในห้องโดยสาร

แต่ แหมๆๆ จะทำเลียนแบบรถหรูทั้งที ย้ายไปอยู่บนหลังคาดีกว่าไหม มันจะได้บรรยากาศดีกว่ามาติดตั้งแอบซ่อน
อย่างที่เป็นอย่างนี้

 

มาดูรายละเอียดปลีกย่อยดีกว่า

แผงบังแดด 2 ฝั่ง
ฝั่งนขับ ไม่มีกระจกส่องหน้า ให้
แต่ฝั่งผู้โดยสาร ข้างคนขับ มีมาให้
แต่ไม่มีฝาปิด

ตรงนี้ นิสสัน นาวารา ก็เป็นแบบเดียวกันครับ

——————–

เข็มขัดนิรภัย ชาวบ้านเค้ามีแบบปรับระดับสูง-ต่ำ กันได้แล้ว

พี่ท่าน ยังคงใช้เข็มขัด หัวเดิมอยู่เลย!!!

 

 

 กล่องคอนโซลคั่นกลางเบาะคู่หน้า
มี 2 ชั้นครับ ใส่ของได้ตามสมควร

 

อุปกรณ์ที่ถือเป็นจุดเด่นของ BT-50 / เรนเจอร์  รุ่นนี้

คือ นี่เลยครับ

ลิ้นชักบนแผงหน้าปัด!

จุดประสงค์ของคนออกแบบ เขาบอกว่า
เอาไว้ใส่เอกสาร ใส่ CD หรือ สิ่งของกระจุกกระจิก และคู่มือผู้ใช้รถ เป็นหลัก
บางทีเอาไว้รองเขียนได้บ้างนิดหน่อย

แต่ผมเริ่มมองว่า ถ้าจะให้ดี ทำไมไม่ทำให้มันเป็นลูกเล่นที่อเนกประสงค์กว่านี้กันละ
ไม่ใช่ปล่อยให้เปิดออกมาได้สั้นๆ แบบนี้ แล้วทำอะไรไม่ค่อยได้แบบนี้?

———————-

รุ่น 2.5 ลิตร ที่ผมขับ ไม่มีถุงลมนิรภัยมาให้
ส่วนรุ่น 3.0 ลิตร คันที่ผมขับ ก็ไม่มีมาให้

แต่ ตามหลักแล้ว มาสด้าจะมีถุงลมนิรภัยมาให้อย่างน้อย คู่หน้า ครับ

รุ่นไหนมี รายละเอียดเป็นอย่างไร
รุ่นไหนติดตั้งอุปกรณ์อะไรบ้าง

ดูเอาได้ที่ http://www.mazda.co.th ครับ

 

 

***รายละเอียดทางวิศวกรรม และผลการทดลองขับ***

เนื่องจากในบทความภาคแรก
http://www.headlightmag.com/main/index.php?option=com_content&view=article&id=384:-mazda-bt-50-qq-1-q-1864-q&catid=78:pickup-truck&Itemid=97

ผมได้เล่ารายละเอียดของตัวเครื่องยนต์ ว่าพัฒนาอย่างไร
และมีจุดเด่นอะไรบ้าง ไปหมดแล้วนะครับ

ดังนั้น ขอสรุปแต่เพียงสั้นๆว่า

มาสด้า BT-50 มีเครื่องยนต์ให้เลือก 3 ขนาด
โดยนับรวมรุ่นธรรมดา ซิงเกิลแค็บ และ แบบฟรีสไตล์แค็บ พื้นฐาน 84 แรงม้า เครื่องรุ่นเก่า เข้าไปด้วย

แต่ที่ถือเป็นเครื่องยนต์ใหม่จริงๆ มี 2 ขนาด คือ

คือรหัส WLC (MZR-CD)
ดีเซล 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,500 ซีซี คอมมอนเรล เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์
143 แรงม้า (PS) ที่ 3,500 รอบ/นาทิ ให้แรงบิดสูงสุดถึง 330 นิวตันเมตร ที่รอบเครื่องยนต์ต่ำเพียง 1,800 รอบ/นาที

 

 

และ รหัส WEC (MZR-CD)
ดีเซล 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 3,000 ซีซี คอมมอนเรล
เทอร์โบพร้อมครีบแปรผัน VGT พ่วง อินเตอร์คูลเลอร์

แม้จะให้กำลังสูงสุด 115 กิโลวัตต์ หรือ 156 แรงม้า (PS) ที่ 3,200 รอบ/นาที
แต่ให้แรงบิดสูงสุดถึง 380 นิวตันเมตร ที่ 1,800 รอบ/นาที ซึ่งถือว่า
เป็นเครื่องยนต์ที่ให้แรงบิดมหาศาล เป็นอันดับ 2 ในบรรดารถกระบะเมืองไทยระดับเดียวกัน

 

 

จากที่ได้ให้ พี่วินัย บุญโชติ จาก อู่ราชันย์แอร์
ลองตรวจดูระบบปรับอากาศในรถดู

 

 

ปรากฎว่า ชุดตู้แอร์ ยังเหมือนไฟต์เตอร์ เดิม ไม่ค่อยมีอะไรแตกต่าง มากนักนะครับ
 

 

ทุกรุ่นเชื่อมเข้ากับเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
พร้อมเฟืองท้ายแบลบ Dual Mass Flywheel ที่ออกแบบขึ้นเพื่อลดเสียงรบกวน และอาการสั่นสะเทือนขณะทำงาน

ส่วนรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ อดใจรออีกนิดครับ

 

 

การทดลองอัตราเร่งนั้น
มี 2 คนที่ช่วยผมครับ

รุ่น 3.0 คนจับเวลาคือ ตาถัง รวมกับผมแล้ว หนักประมาณ
170 กิโลกรัม

ส่วนรุ่น 2.5 คนจับเวลาคือ น้องกล้วย (Login น้องชายคนเล็ก) ครับ รวมกับผมแล้ว หนักประมาณ 145 กิโลกรัม

ใช้มาตรฐานเดิม เปิดแอร์ นั่งสองคน

อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.  มีดังนี้ครับ

ครั้งที่          2.5 5MT         3.0 5MT  

1                  12.91             12.70       วินาที
2.                 12.57             12.51       วินาที
3.                 12.73             12.78       วินาที
4.                 12.66             12.69       วินาที

เฉลี่ย            12.71             12.67      วินาที

อัตราเร่ง 80-120 กม./ชม
. หรือช่วงเร่งแซงทั่วไป
ที่เกียร์ 4” มีดังนี้ครับ

ครั้งที่           2.5 5MT         3.0 5MT  
1                   8.92               7.67       วินาที
2.                  8.78               7.83       วินาที
3.                  8.85               7.46       วินาที
4.                  8.46               7.82       วินาที

เฉลี่ย             8.72              7.69      วินาที

———————–

อัตราเร่ง 80-120 กม./ชม. หรือช่วงเร่งแซงทั่วไป
ที่เกียร์ 5” มีดังนี้ครับ

ครั้งที่           2.5 5MT        3.0 5MT  
1                  12.62             10.23       วินาที
2.                 11.85             10.83       วินาที
3.                 11.75             10.66       วินาที
4.                 11.37             10.79       วินาที

เฉลี่ย            11.89              10.62       วินาที

———————–

ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่เกียร์ 5
ใช้รอบเครื่องยนต์

รุ่น 2.5 =  2,100 รอบ/นาที
รุ่น 3.0 =  2,100 รอบ/นาที

ความเร็ว 110 กิโลเมตร / ชั่วโมง ที่เกียร์ 5
ใช้รอบเครื่องยนต์

รุ่น 2.5 = 2,400 รอบ/นาที
รุ่น 3.0 = 2,400 รอบ/นาที

———————–
ความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์ ทิ้งเกียร์ไว้ที่ตำแหน่งสูงสุด
กรณีนี้ คือเกียร์ 5 กดคันเร่งสุด ลากจนถึงรอบเครื่องยนต์ตัดเพื่อเปลี่ยนเกียร์
อ่านตัวเลขจากมาตรวัดในรถ

เกียร์         2.5 5MT          3.0 5MT  
     
1            49 @ 4,200       49 @ 4,500
2.           80 @ 4,200       80 @ 4,500
3.         120 @ 4,500     120 @ 4,500
4.         157 @ 4,600     159 @ 4,000
5          160 @ 3,400     160 @ 3,500

——————————
ความเร็วสูงสุด

มาสด้า จงใจจะล็อกเอาไว้ ด้วยเหตผลทางด้านความปลอดภัยครับ

รุ่น 2.5 ลิตร 5MT
160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 3,400 รอบ/นาที

รุ่น 3.0 ลิตร 5MT
160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 3,500 รอบ/นาที

นี่ละครับ ตามรูปนี้เลย มันไม่มีทางขึ้นไปได้เกินกว่านี้แล้วละครับ
สำหรับรถบ้าน ออกใหม่ๆเลย ก็ทำได้แค่นี้คือดีที่สุดของเขาแล้วครับ

 

 

พูดกันอย่างตรงไปตรงมา

ตัวเครื่องยนต์ ทั้ง 2 ขนาด ให้สมรรถนะ ที่ไม่ได้หนีไปกว่ากันมากมายอย่างที่คิด ไม่ว่าจะเป็นอัตราเร่ง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ไม่เว้นแม้กระทั่ง ความเร็วสูงสุด! (มาอีกแล้วมุขแบบนี้)

การออกตัว ถือว่า ทำได้ดีกว่า ไทรทัน นิดนึง ครับ
ห่างกันไม่เยอะมากมายนักหนาหรอก
แรงบิดที่มากกว่า และการเซ็ตอัตราทดเกียร์ที่ดี
ก็ช่วยส่งพละกำลังสู่ล้อได้อย่างดี
พุ่งทะยานไปข้างหน้าได้รวดเร็ว และฉับไว แถม
หลังติดเบาะตามคาด….แต่เมื่อไหร่ที่พ้น 140-150 กิโลเมตร/ชั่วโมง เข็มความเร็วจะขึ้นช้าลง

อีกทั้ง มาสด้ายังติดตั้งระบบเฟืองท้ายแบบ LSD ลิมิเต็ด สลิป มาให้อีกด้วย เพื่อป้องกันการลื่นไถลขณะออกตัว
ซึ่งก็ช่วยได้ในระดับนึง

ทว่า การล็อกความเร็ว ไว้เพียงแค่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น

มุมหนึ่งเป็นเรื่องดี
เพราะเราต้องไม่ลืมว่า รถกระบะนั้น ขับให้เร็วยังไง เครื่องแรงแค่ไหน สุดท้ายก็ยังต้องเป็นรถกระบะเหมือนเดิมอยู่อย่างนั้น

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ผมว่า 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นเพดานที่เตี้ยไปสักนิดสำหรับรถกระบะระดับนี้ เมื่อเทียบกับคู่แข่ง
ถ้าจะปลดล็อก ECU ให้เลื่อนขึ้นไปล็อกแถวๆ 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็จะยังดูน่าสนใจกว่านี้  

รุ่นเกียร์ธรรมดา ยังคงใช้เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
จากรุ่นเดิม ที่ยังพอจะมีเสียงบ่นของลูกค้า ในปัญหาเรื่อง แหวนรองเกียร์อยู่บ้าง

ระบบกันสะเทือนนั้น ด้านหน้า จะเซ็ตมา ถูกเซ็ตในแนวเน้นการขับขี่ให้แข็ง อย่างสมดุลย์ กับด้านหลัง ซึ่งเป็นแหนบ…..
ช่วงล่าง แบบเดียวกับที่มาสด้าถนัด และชอบทำ คือเน้นความมั่นใจในขณะขับขี่ และเข้าโค้งไว้ก่อน

ทว่า เอาเข้าจริงแล้ว ไทรทัน ยังสามารถสาดเข้าโค้งตัว S ทางลงทางด่วน พระราม 6
ได้สบายๆ ที่ความเร็วระดับ 75 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ในขณะที่ BT-50 ต้องใช้ความเร็วที่ต่ำกว่านั้นลงมานิดหน่อย
และผมว่า นั่นน่าจะมีส่วนเล็กน้อย มาจากยางที่ติดรถมาจากโรงงาน

จริงอยู่ว่า ถนนเส้นนั้น ไม่ใช่เส้นที่จะเอารถไปขับเพื่อเก็บผลอะได้ทั้งสิ้น
แต่อย่างน้อย โค้งตัว S ก็ทำมุมได้ลึกเพียงพอที่จะช่วยให้เรารู้จักรถคันหนึ่งได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง

นี่ขนาดว่า มีการปรับแต่งให้นุ่มนวลลงจากไฟต์เตอร์ ที่ได้ชื่อว่า ช่วงล่าง แข็งจนกระเทือน นั้น

ก็ยังถือว่า แข็งอยู่ ไม่ได้นุ่มนวลลงมากมายนัก ลุงคาวากุจิแกคงคิดไปว่า
แค่ว่าพอให้รู้สึกถึงความแตกต่างกันได้ ก็พอแล้ว ซึ่งนั่นไม่ใช่เลย……

ในภาพรวมแล้ว การขับขี่ BT-50 ไม่มีอาการเมื่อยล้าจากอาการปวดหลัง แต่อย่างใด แม้จะขับในระยะทางยาวๆ

แต่ ด้วยความกระเทือนของช่วงล่าง อาจจะก่อให้เกิดอาการอ่อนเพลียสะสม ได้ในบางบุคคล (เช่นผม)

ดังนั้น ผมจึงอยากให้ไปลองขับดูก่อนตัดสินใจจะดีกว่าครับ
เอาให้แน่ๆเลยว่า รถรุ่นนี้จะเหมาะกับคุณหรือไม่

กาสรตอบสนอง และอความรู้สึกทีได้จากช่วงล่างของรุ่นขับสี่ล้อ และขับสองล้อยกสูง หรือ V Hi นั้น
แทบไมได้มีความแตกต่างมากมายนักครับ

ระบบเบรก หน้าดิสก์ หลังดรัม
ถ้าคิดจะเบรกกระทันหัน ขอให้คติดูดีๆก่อน
เพราะควรนเผื่อระยะเบรกเอาไว้สักหน่อยนะครับ จะช่วยได้พอสมควร   
คือเบรกหนะอยู่แน่ครับ มั่นใจได้ พอฝากผีฝากไข้ได้

แต่สำหรับคนที่ชินกับแป้นเบรกที่ตื้น ชนิดไม่ต้องออกแรงเหยียบมาก ระบบเบรกทำงานแล้ว
คนประเภทนี้ ต้องทำใจล่วงหน้าไว้นิดนึง เมื่อมาขับ BT-50  ครับ

 

 

ที่แน่ๆ

เรื่องความแม่นยำของพวงมาลัยนั้น คงต้องทำใจได้เลย
เพราะดูเหมือนว่าขณะนี้ มาสด้า/ฟอร์ด
จะกลายเป็นผู้เล่นรายเดียวในตลาด
ที่ยังติดตั้งพวงมาลัยแบบลูกปืนหมุนวนมาให้

ก็ลองดูแล้วกันนะครับ ขณะที่ผมเข้าโค้งทางขวา
พวงมาลัยนั้นมีระยะฟรีมากเกลือเกิน

 

***การทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง***

เรายังคงใช้มาตรฐานเดิม เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา
ออกเดินทาง จาก ปั้มบางจาก พระราม 6
ขึ้นทางด่วน พระราม 6 ยิงตรงไปถึงเชียงราก แล้วเลี้ยวกลับ
มาลงที่พระราม 6 เหมือนเดิม ขับย้อแนกลับมาที่ปั้มบางจากอีกครั้ง เพื่อเติมน้ำมันกลับเข้าถัง

แล่นด้วยความเร็วระดับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เปิดแอร์ มักเป็นเบอร์ 2 นั่งกัน 2 คน

ตลอดทริปนี้ เราได้ตาถังมาช่วยเขย่าด้วยอีกแรง

ตามเกณฑ์ของผมคือ
รถเก๋ง ต่ำกว่า 2,000 ซีซี หรือรถกระบะ
ลูกค้าที่ซื้อไป มักเป็นห่วงตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองบ้างไหม?
ไม่ค่อยห่วง แต่พอจะมีอยู่บ้างเหมือนกัน
ดังนั้น ต้องจับเขย่ารถทั้งหมด

แต่ถ้าเกิน 2,000 ซีซี ขึ้นไป ไม่เขย่ารถครับ เติมได้หัวจ่ายตัดเท่าไหร่ ก็พอแค่นั้น

ต่อไปนี้ ใครจะมาให้ผม ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ BT-50 หรือเรนเจอร์
ผมจะไม่ทำให้อีกแล้วครับ!

กว่าจะเติมน้ำมันได้ เขย่ากันที่ ครึ่งค่อนขั่วโมง!!!

บางที ผมก็ถือหัวจ่ายเอง
บางที พี่หลานเจ้าของปั้ม ก็ถือเอง

บางที ก็เป็นตาถัง

 

 

ส่วนผม? ก็เขย่า Milk Shake กันกระจุยกระจาย ไขมันอย่างกระเพื่อม!

ใครแวะเวียนผ่านไปผ่านมาที่ปั้มบางจาก พระราม 6 ในวันนั้น
คงจะงงอยู่บ้าง ว่าไอ้สองตัวนี้มันขย่มรถกันทำไม…..

หลังจากเวลาผ่านไปครึ่งชั่วโมง โปรดสังเกตสีหน้าผม….

 

 

 ทัศนวิสัยด้านหน้าโปร่งตา ในแบบที่รถกระบะทั่วไปควรเป็น แผงหน้าปัดไม่ได้บนบังด้านล่างของสายตา กระจกหน้าค่อนข้างตั้งชันแบบรถยุคเก่า

 

 

 

กระจกมองข้างมีขนาดใหญ่โต แต่มีบ้างที่หลอกสายตาเล็กน้อย 

เสาหลังคาฝั่งขวา ไม่บดบังรถที่แล่นสวนมา ขณะเข้าโค้งทางขวาแต่อย่างใด

 

 

เช่นเดียวกัน เสาหลังคาฝั่งซ้าย ก็ไม่บดบังทัศนวิสัยตอนเลี้ยวกลับรถแต่อย่างใด

ทว่า กระจกมองข้างนั้น มุมแหลมของมัน บางครั้ง ทำให้เรามองและกะระยะขณะถอยหลังลำบากอยู่เหมือนกัน

 

 

ทัศนวิสัยด้านหลัง ตอยถอย ก็น่าจะเรียบร้อยในดับหนึ่ง
เสาประตู คู่สุดท้าย อาจจะบังไลน์ได้ในบางกรณี
แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต

 

 

 100 และ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้รอบเครื่องยนต์ เท่านี้…เท่าที่เห็น 

 

 

ในที่สุด

เราก็ต้องกลับมาผจญเวรผจญกรรมกันกับถัง และถังน้ำมันของ BT-50 อีกครั้ง
ปั้มน้ำมันเดิม แถมยังใช้ หัวจ่ายเิดิม
ทั้ง 2 คัน รวมทั้งหมด 4 ครั้ง

คิดเอาแล้วกันว่า กลับถึงบ้านนี่ ปวดเมื่อยกันนิดๆเหมือนกัน
ไมได้เขย่ากันง่ายๆ ตอนเติม ก็ต้องหยอดเข้าช้าๆ ต้องใช้เวลา และวิริยะอุตสาหะ เฮ้อ….

 
ยิ่งเวลาผ่านไป
เหงื่อก็ยิ่งออกที่มือของถังมากขึ้น
ผสมไปกับความเหนียวลื่น และมันเยิ้ม ของน้ำมัน

 ถ้าคิดว่าดูสีหน้าผมไม่พอ
ดูสีหน้าน้องถัง ไปอีกคนแล้วกัน
หน้าพี่ท่าน เซ็งเป็ดขนาดไหน!!

 

 คิดดูว่า ลุงคนนี้ ขี่มอเตอร์ไซค์ส่งกับข้าว
ยังมาแซวพวกเราเลยว่า

“ถ้าหิว บอกได้นะ ในนี้มีเสบียง”

โอ้ย น้าคร้าบ ผมอยากจะเหมาหมดเหมือนกันแหละ แต่เกรงจาย
แล้วสารรูปมันเหมือนอาหารหมูไปนิ้ดส์ๆๆๆๆๆ

 

 ในที่สุด เราก็จบการทดลองของเราจนได้…..

ไชโย้ๆๆๆ

รุ่น 2.5 V Hi ขับสอง ยกสูง

ระยะทางที่แล่นไป บนมาตรวัด        92.4 กิโลเมตร
น้ำมันที่เติมกลับเข้าไป                7.036 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย   13.14 กิโลเมตร/ลิตร

 

 

———————-
รุ่น 3.0 ลิตร ขับ สี่ล้อ ปลดระบบขับสี่ ออก

ระยะทางที่แล่นไป บนมาตรวัด          92.6 กิโลเมตร
น้ำมันที่เติมกลับเข้าไป                  7.135 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย  12.964 กิโลเมตร/ลิตร

สรุปแล้ว ถือว่า มาสด้าเอง ก็แก้ภาพลักษณ์เรื่องการกินน้ำมันออกไปได้สำเร็จเสียที

เพราะตอนนี้ ใช้เทคโนโลยีคอมมอนเรลแล้ว และต้องแรงพอกัน ความประหยัดจึงไม่หนีไปกว่านี้เท่าไหร่ครับ

ใช้ได้แล้วละ!

 

 

 

 

*** สรุป ***

รถกระบะใหม่ ที่ดีขึ้นทั้งคัน แต่ ดีได้ไม่เต็มร้อย แถมยังยากที่จะเต็มร้อย…

ถ้าจะแยกกันทีละคำ ออกจากประโยคที่ผมใช้สรุป เจ้า BT-50 รุ่นนี้

ก็คงจะแยะออกมาได้ว่า

รถกระบะใหม่ ที่ดีขึ้นทั้งคัน

ใช่ครับ ดีขึ้นทั้งคันจริงๆในทุกสัดส่วน แต่บอกไมได้ว่า
ดีขึ้นเท่าไหร่ กี่เปอร์เซนต์ ถ้าจะมองขนาดนั้น ต้องแยกเป็นชิ้นๆ
และคนที่จะตอบได้ดีที่สุด คือ หัวหน้าวิศวกร…

คือ พอเข้าใจได้เลยว่า คุณลุง Ryuso Kawaguchi
ในฐานะ วิศวกรที่ดูแลควบคุมโรงการนี้ทั้งหมด คงปลาบปลื้มไม่น้อย ว่า เอาละ อย่างน้อย ที่ลุงทุ่มเทเป็นบ้าเป็นหลัง มันก็ไม่ศูนย์เปล่า….

อย่างไรก็ตาม
เหตุที่รถกระบะรุ่นใหม่รุ่นนี้ ไม่อาจดีขึ้นได้เต็มร้อยไปกว่านี้ อย่างที่คู่แข่งเขาเป็น
และแถมยังยากที่จะเป็นแบบนั้นด้วย

ก็เพราะแนวคิดในการบริหารและจัดการจากเมืองนอกนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ

แนวคิดที่ ผู้บริหาร ฝ่ายไหนก็ไม่รู้
จะทั้งญี่ปุ่น หรืออเมริกันนั่นละ
ที่ดันไปออกคำสั่งให้สร้างรถกระบะรุ่นใหม่
แต่ต้องใช้พื้นฐาน โครงสร้างเฟรมแชสซี โครงสร้างตัวถัง
ไปจนถึงชิ้นส่วนอะไหล่ ร่วมกับรุ่นเดิมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้….

ด้วยเหตุนี้ การขยับขยาย ขนาดตัวถัง และการออกแบบรูปลักษณ์ให้โดนใจลูกค้าจึงทำได้ไม่สะดวกเท่าที่ควร

กลายเป็นว่า BT-50 จึงมีขนาดตัวรถเล็กกว่าคู่แข่งในตลาดเกือบจะทุกคันเข้าแล้วในเวลานี้ แถมยังมีรูปลักษณ์ที่ พื้นๆ ไม่อาจดึงดูดใจลูกค้าได้กีนัก

แต่ทว่า เล็กกว่ากันนิดหน่อย ต่างกันอยู่แค่ในระดับหลักมิลลิเมตร
จึงงพอจะสู่ต่อไปกันได้ ด้วยการสรรหาจุดเด่นที่เหนือกว่าใคร มาเป็นอาวุธในการเอาใจลูกค้า

อีกทั้ง ผสมเข้ากับจุดเด่นในด้านต่างๆ
ทั้งด้วยเครื่องยนต์ใหม่ ตำแหน่งนั่งขับ
ที่ลดความปวดเมื่อนขณะเดินทาง
ช่วงล่างที่เน้นเอาใจนักขับ แม้จะแข็งกระด้างไปสักหน่อย


แต่ ที่ผมบอกว่า ยากที่จะเต็มร้อย
นั่นก็เพราะว่า

ถ้าฝรั่งมังค่าจากฟอร์ด เดียร์บอร์น
ยังคงมีวิธีคิดต่อมาสด้า ที่ฮิโรชิมา
ในลักษณะอย่างที่ทำกันอยู่
ก็ยากที่รถรุ่นใหม่ๆของมาสด้า

เฉพาะรุ่นซึ่งจำเป็นต้องเกิดจากความร่วมมือกับฟอร์ด เช่นพวกรถกระบะ เอสยูวี ฯลฯ จะกลับมาเป็นผู้นำตลาดได้

และที่แน่ๆ
รถรุ่นนี้ ไม่มีทางเต็มร้อยไปได้เลย…..

ก็แหงสิครับ ชื่อรุ่นหนะ BT-50 ไง
ก็ได้ครึ่งร้อยนั่นละครับ ถูกแล้ว
ถ้าอยากให้เต็มร้อย ก็ตั้งชื่อไปว่า BT-100

อิอิ

และเราก็ได้แต่หวังว่า เจ้า T6 Project ที่ใกล้คลอด ในอีก 2 ปีข้างหน้า

จะกลายเป็นพระเอกขี่ม้าขาว มาช่วยกอบกู้สถานการณ์ ของมาสด้า ในตลาดรถกระบะ 

ให้ไปได้(สวย)ดี กว่าที่เป็นอยู่

 

—————————————–///——————————————-

 

ขอขอบคุณ

คุณ อุทัย เรืองศักดิ์
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ของ บริษัท มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย จำกัด

เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

————————————————–

***** บทความทดลองขับ รถกระบะ ที่ควรอ่านเพิ่มเติม *****

ทดลองขับ Mazda BT-50 ภาคแรก “1,864 โค้ง สู่แม่ฮ่องสอน

http://www.headlightmag.com/main/index.php?option=com_content&view=article&id=384:-mazda-bt-50-qq-1-q-1864-q&catid=78:pickup-truck&Itemid=97

 

J!MMY

สงวนลิขสิทธิ์

เผยแพร่ครั้งแรก ใน www.pantip.com ห้องรัชดา 25 ธันวาคม 2006

ปรับปรุง และออกเผยแพร่ครั้งที่ 2 ใน www.headlightmag.com

17 เมษายน 2009 

 

——————————————————————————-