เชื่อว่า หลายคน คงเคยมีความฝัน แตกต่างกันไป บ้างก็ฝันอยากจะได้ทำอาชีพ โน่น นี่ นั่น
ฝันอยากเป็นเจ้าของกิจการ ฝันอยากเป็นนางงามจักรวาล ฝันอยากเป็นดารา ฝันอยากเอาดารา
ด้วยกันมาเป็นภรรเมีย (จนเกิดเรื่องเกิดราวใหญ่โต อยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์บันเทิงในตอนนี้)
ฝันอยากเป็นมหาเศรษฐี ฝันอยากมีสาวๆ มาคลอเคลียใกล้ๆ ในปริมาณมากพอจะสร้างฮาเร็ม
ส่วนบุคคล แข่งกับสุลต่าน ในประเทศร่ำรวยด้วยน้ำมันทั้งหลาย

บางคน หนักหนาไปกว่านั้น ถึงขั้นฝันอยากหาคู่ครองดีๆ ระดับมหาเศรษฐี ด้วยสำนึกในสัจธรรม
แห่งสังคมไทยสมัยใหม่ ที่ว่า “สามีรวย ช่วยคุณได้”

สำหรับคนบ้ารถ จะมีฝันใด สุขใจเท่ากับ การได้เป็นเจ้าของ หรือแม้เพียงโอกาสในการลองขับ
รถสักรุ่น สักคัน ที่เราใฝ่ฝัน เพียงครั้งเดียว ก็สุดแสนปลื้มปิติโสมนัส อัศจรรย์จิต เป็นล้นพ้น

หนึ่งในรถที่หลายคนใฝ่ฝันนั้น ก็คงหนีไม่พ้น รถเยอรมันชั้นดี จากเมืองชตุทการ์ต แห่ง
สหพันธรัฐเยอรมันี ที่มีตราดาว ดวงเบ้อเร่อ แปะหราอยู่บนหน้ากระจัง

ถ้าถามผม ผมอาจจะมองรถยี่ห้อนี้ ว่าเป็นรถยนต์ชั้นดี มีตำนานยาวนาน ในฐานะรถยี่ห้อแรก
ของโลก ที่ยังอยู่ยั้งยืนยงมาจนทุกวันนี้ และเป็นรถยนต์ระดับพรีเมียมยี่ห้อหนึ่ง จากยุโรป
เพียงเท่านั้น ที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิด จนแก่ตัว ผมบนหัวเริ่มเข้าสู่หลักแสนทำเอาผู้คนรอบข้าง
(โดยเฉพาะ เจ้ากล้วย BnN แห่ง The Coup Team ของเราเนี่ยแหละ) กระแนะกระแหนอยู่ได้ว่า
เป็น “มนุษย์ดาว บาร์โค้ด” ในบัดนี้ ผมก็จะค่อนข้าง รู้สึกเฉยๆ กับรถยี่ห้อนี้ มีบางรุ่นที่ผมชอบ
มากเป็นพิเศษ และบางรุ่น ผมก็ ไม่ชอบ เป็นปกติทั่วไป เฉกเช่นเดียวกับที่ ผมคิด และรู้สึกกับ
ผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่าย

จนมาวันหนึ่ง ไม่นานนี้แหละ ปีที่แล้ว นี้เองมั้ง…ที่ผมเริ่มรู้สึก อยากจะลองขับ รถรุ่นหนึ่ง
ของ Mercedes-Benz ขึ้นมา อย่างจริงจัง แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน!!!

งาน Bangkok International Motor Show ปลายเดือนมีนาคม 2009 นั่นละครับ เป็นสถานที่แรก
ซึ่งผม ได้มีโอกาส พบ และขึ้นไปลองนั่ง E-Class Coupe ใหม่ รหัสรุ่น C207 โฉมจริง คันจริง
หลังจากเห็นแต่ภาพถ่าย ตลอดช่วงเวลาก่อนหน้านั้น และ เมื่อเวลาผ่านไปอีกไม่นานนัก รถรุ่นนี้
ก็พบเห็นได้ ตามถนนสายสำคัญๆ ในกรุงเทพมหานคร

หลายๆคน คงเคยเห็นหน้าค่าตารถรุ่นนี้ แล่นผ่านไป-มา บ้างแล้ว และคงมีจำนวนไม่น้อย
ในหลายคนดังกล่าว อยากจะจับจองเป็นเจ้าของ บางคน แค่อยากลองขับ สักครั้ง หรือบางคน
แค่ได้ลองนั่ง ก็ยิ้มละไมไปหลายวัน

ไม่ปฏิเสธครับ…ผมก็เป็นหนึ่งในคนนั้นด้วยนั่นแหละ!

E-Class Coupe คือ Mercedes-Benz หนึ่งในไม่กี่รุ่น ที่กระตุกต่อมกิเลสผมอย่างแรง จนเกิดความอยาก…
เปล่านะ ไม่ใช่อยากเป็นเจ้าของ เพราะรู้ดีว่า สำหรับผมแล้ว รถเยอรมันชั้นดี จากเมืองชตุทการ์ต แห่ง
สหพันธรัฐเยอรมันี ที่มีตราดาว ดวงเบ้อเร่อ แปะหราอยู่บนหน้ากระจัง นั้น มันช่างเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม
ดังนั้น ความคิดแค่เพียงอยากลองขับเพียงแค่สักครั้ง จึงดูจะเป็นเรื่องที่ น่าจะเป็นไปได้มากกว่า เพราะผม
เริ่มอยากรู้แล้วว่า ทำไม ไฮโซน้อยใหญ่ ถึงพากันติดใจ สั่งจองรถรุ่นนี้ จนคิวจองมันยาวข้ามปีไปแล้ว!?

และ พี่ป้อมสุดเลิฟ กับน้องอุ๋ยสุดน่ารัก แห่ง Mercedes-Benz Thailand ก็เป็นผู้ช่วยจุดประกายความฝัน
ให้พลันเป็นจริง…

เมื่อรถในฝัน กลายเป็นความจริง ที่จอดอยู่ตรงหน้า เส้นสายของตัวรถ มันช่างเชื้อเชิญแกมเย้ายวน
ให้ผม แทบจะขึ้นนั่งประจำตำแหน่งคนขับ เพื่อเตรียมพร้อมรับประสบการณ์ใหม่ ในทันทีที่รับฟัง
ข้อมูล และการอธิบายรายละเอียดของตัวรถ จากพี่ต้อ ฝ่าย Product เหมือนเช่น Mercedes-Benz
ทุกคันก่อนหน้านี้ เสร็จสิ้นลง

แต่เมื่อเคลื่อนรถออกมาจากตึกรัจนากร ฐานบัญชาการใหญ่ของค่ายรถยนต์ตราดาว ไปขึ้นทางด่วน
เพื่อทดลองจับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ผมเริ่มตระหนักได้ว่า บางครั้ง ความฝันอันสวยงาม มันก็อาจ
แปรเปลี่ยนเป็นความจริงที่ชวนฉงน ให้เราได้สนเท่ห์ อย่างยากเกินจะทำใจเชื่อ

เปล่าหรอกครับ แม้จะฟังดูเหมือนแย่ แต่ก็มิได้หนักหนาชั่วร้ายอะไรขนาดนั้น เพราะอย่างน้อย
E-Class ใหม่ W212 Saloon ก็เพิ่งจะผ่านมือผมไปก่อนหน้านี้ รวมแล้ว 3 รุ่น 3 คัน พอจะทำให้ผม
ได้รับรู้ไว้ก่อนแล้วว่า บุคลิกของรุ่น Coup น่าจะออกมาในแนวไหน…

เพียงแต่…คราวนี้ ออกจะมีเรื่องที่เกินความคาดหมายไปสักหน่อย…

จะเป็นเรื่องใด…ก็คงต้องค่อยๆเลื่อนบทความนี้ลงไปอ่านอย่างช้าๆ อย่าเพิ่งรีบรวบรัดตัดความ
เลื่อนพรวดพราดลงไปหาบทสรุปเลยในทันที เพราะมิเช่นนั้น คุณจะพลาดหลายสิ่งหลายอย่าง
อันเป็นคุณงามความดีของตัวรถ ไปมากมายอยู่

เรื่องประวัติศาสตร์ของ Mercedes-Benz นี่ ในบรรดาคนรอบข้างผมทั้งหมด คงต้องยกให้ตาแพน
Commander CHENG ของเราเนี่ยแหละ ที่เรียกได้ว่า เก็บข้อมูล และมีความรู้เรื่อง ประวัติของ
รถยนต์ค่ายตราดาวเยอะ และแน่นกว่าผม เมื่อขอความช่วยเหลือ ตาแพน ก็มาพร้อมข้อมูลมากมาย
ก่ายกอง ดังต่อไปนี้

“แม้คนเล่นรถยนต์ทั่วโลกจะรับรู้โดยทั่วกันว่า ค่ายรถยนต์ตราดาว เริ่มทำรถยนต์ 2 ประตู Coupe
มาช้านาน นานมาก นานจนต้องย้อนประวัติศาสตร์ ไปไกล จนไม่ไหวจะเคลียร์ และเพลียเกินจะย้อน

แต่ถ้าจะนับประวัติศาสตร์ ของ Mercedes-Benz E-Class Coupe กันอย่างแท้จริงแล้ว เราควรจะเริ่มต้น
นับกันตั้งแต่ปี 1969 อันเป็นปีที่ E-Class Coupe รุ่นแรก รหัสรุ่น W114 หรือที่เรียกว่ารุ่น stroke 8
ในภาษาอังกฤษ  Strich Acht ในภาษาเยอรมัน และ ทับ 8 ในหมู่คนเล่นเบนซ์ เมืองไทย ถือกำเนิดขึ้นมา
ตามหลังตัวถัง Saloon W114 / W115 ที่เปิดตัวก่อนหน้านั้น ปีเดียว (ปี 1968) เหตุที่เรียกว่ารุ่น ทับ 8 เพราะว่า
 ใน แผ่นป้ายบอกรายละเอียดของรถแต่ละคัน ของรถ จะมีตัวอักษร /8 ย่อมาจากปี 1968 อันเป็นปีที่เปิดตัว

E-Class W114 / W115 ถือเป็น Mercedes-Benz รุ่นแรก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ได้รับการพัฒนาแชสซี
ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เส้นสายภายนอก ออกแบบโดย ดีไซน์เนอร์ นามว่า Paul Bracq นอกจากนี้ รุ่น Coupe
ยังมี นวัตกรรมใหม่ๆอีกหลายประการ หนึ่งในนั้น คือ ระบบหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ BOSCH D-Jetronic
อันเป็นระบบหัวฉีดไฟฟ้า เต็มขั้นแบบแรกในโลก (แต่ยังไม่ฉลาดเท่ารถยนต์สมัยใหม่ และยังคงมีปัญหา
กับเจ้าของอยู่เนืองๆ)

ตลอดอายุตลาดของ ทับ 8 Mercedes-Benz ผลิตรุ่น Saloon ขายไปทั่วโลกมากถึง 1.85 ล้านคัน แต่ รุ่น Coupe
มีตัวเลขน้อยกว่านั้นมากนักคือเพียงแค่ 67,048 คัน เท่านั้น! เรียกได้ว่า เจอที่ไหน ให้รีบจุดธูปไหว้ แล้ว
เอาพวงมาลัย (ที่ร้อยดอกมะลินะไม่ใช่พวงมาลัยรถ) ไปคล้องได้เลย ไม่ว่าจะเป็นรุ่น 250C เครื่องยนต์
6 สูบเรียง 2.5 ลิตร 130 แรงม้า (PS) กับ 250CE เครื่องยนต์เดียวกัน แต่ใช้ระบบหัวฉีด 150 แรงม้า (PS)
ในยุคแรก หรือรุ่นอัพเกรดขุมพลัง จาก M130 บล็อกเดิม เปลี่ยนเป็น M110 6 สูบเรียง DOHC 12 วาล์ว
 2.8 ลิตร ในรุ่น 280C 157 แรงม้า (PS) กับ 280 CE เพิ่มหัวฉีด 185 แรงม้า (PS) เมื่อปี 1972

หลังจากนั้น เมื่อ E-Class รุ่นถัดมา รหัสรุ่น W123 เปิดตัวสู่ตลาดในปี 1976 รุ่น Coupe 2 ประตู ก็คลานตามออกมา
ในปี 1977 ภายใต้รหัสรุ่น C123 ในระยะแรก ออกสู่ตลาดด้วยรุ่น 230 C เครื่องยนต์ M115 บล็อก 4 สูบ 2.3 ลิตร
109 แรงม้า (PS)  , 280 C เครื่องยนต์ M110 บล็อก 6 สูบเรียง 2.8 ลิตร  คาร์บิวเรเตอร์ 156 แรงม้า (PS) และ 280 CE
หัวฉีดกลไก K-Jetronic จาก BOSCH 177 แรงม้า (PS) แต่หลังปี 1978 ไป จะเพิ่มกำลังเป็น 185 แรงม้า (PS) ส่วน
เวอร์ชันอเมริกาเหนือ จะมีรุ่น 300 CD Diesel Coupe เครื่องยนต์ OM617 5 สูบเรียง 3.0 ลิตร (เอาเครื่อง 240D
มาเพิ่มเข้าไปอีก 1 กระบอกสูบ) รุ่นแรก มี 80 แรงม้า (PS) หลังจาก เดือนกันยายน 1979 เป็นต้นไป ยกระดับขึ้น
เป็น 88 แรงม้า (PS) ให้เลือกเล่นกันอีกด้วย เพื่อเอาใจตลาดรถยนต์ ในช่วงที่โลกเข้าสู่ยุควิกฤติการณ์น้ำมันพอดี
โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่ปัญหานี้ ใหญ่โตมโหระทึก

ปี 1980 เป็นต้นมา 230 CE รับหน้าที่ทำตลาดแทน 230 C ด้วยเครื่องยนต์ M102 บล็อก 4 สูบเรียง 2.3 ลิตร
136 แรงม้า (PS) ส่วนเวอร์ชันอเมริกาเหนือ ก็มีรุ่น 300CD Turbo วางเครื่องยนต์ OM617 บล็อก 5 สูบเรียง
3.0 ลิตร 125 แรงม้า (PS) เพิ่มเข้ามาในปี 1981 ตลอดอายุตลาดทั้งหมด Mercedes-Benz ขายรุ่น Coupe
ของตระกูล 123 ออกไปได้ทั้งหมด 99,884 คัน ขณะที่รุ่น Saloon ขายไปได้ 2.39 ล้านคัน

แต่ยุครุ่งเรือง ที่แท้จริงของ E-Class Coupe  ก็คือ C124 ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในงาน Geneva Motor Show 1987
และเริ่มทำตลาดในเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน มีทั้งรุ่น 230CE เครื่องยนต์ M102 บล็อก 6 สูบ 2.3 ลิตร จาก
C123 มาปรับปรุงรายละเอียด เปลี่ยนหัวฉีด มาเป็น KE-Jetronic 136 แรงม้า (PS) และ 300CE เป็นเครื่องยนต์
M103 บล็อก 6 สูบเรียง SOHC 12 วาล์ว 3.0 ลิตร 188 แรงม้า (PS) นอกจากนี้ ยังมีรุ่น 200 CE เครื่องยนต์ M102
บล็อกเล็ก 2.0 ลิตร 122 แรงม้า (PS) ทำตลาดในบางประเทศ ที่ภาษีเครื่องยนต์ โหดตามความจุกระบอกสูบ
เช่น อิตาลี เป็นต้น

ปี 1989 ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ครั้งแรก เพิ่มกาบด้านข้าง ที่ชายล่างรอบคันรถ และเข้าสู่ยุค Multi-Valve
เครื่องยนต์ 2 วาล์ว ต่อ สูบเดิม ถูกดละทิ้งทั้งหมด รุ่น 200 CE เครื่องยนต์ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร
136 แรงม้า (PS) ตามด้วย 220 CE เครื่องยนต์ 2.2 ลิตร พร้อมระบบแคมชาฟต์แปรผัน (มีเฉพาะรุ่นนี้เท่านั้น)
150 แรงม้า (PS) และ เครื่องยนต์ 6 สูบเรียง รหัส M104 มีทั้งแบบ Phase 1 ซึ่งเปลี่ยนฝาสูบเป็นแบบ DOHC
24 วาล์ว 3.0 ลิตร 220 แรงม้า (PS) ใน 300 CE-24  และ Phase 2 เพิ่มระบบแคมชาฟต์แปรผัน และเพิ่มความจุ
กระบอกสูบเป็น 3.2 ลิตร 220 แรงม้า (PS) วางในรุ่น 320 CE ถึงแม้แรงม้า จะไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย จากรุ่น
300 CE-24 แต่แรงบิด เพิ่มขึ้น จาก 265 นิวตันเมตร เป็น 310 นิวตันเมตร ก็ทำให้รถขับได้คล่องขึ้นมากโข
เลยทีเดียว

เดือน มีนาคม 1993 มีการปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่ และใช้ระบบเรียกชื่อรุ่นแบบปัจจุบัน คือ นำอักษร
บอกระดับตัวถัง มาอยู่ด้านหน้า เป็น E200 – E320

แต่ สำหรับคนเท้าหนักเป็นพิเศษ ก็มีรุ่นพิเศษ E36 AMG Coupe ออกมาในเดือนพฤษภาคม 1993 วางเครื่องยนต์
M104 บล็อก 6 สูบเรียง ที่ให้ AMG ปรับแต่งให้ใหญ่ขึ้นเป็น 3.6 ลิตร เพิ่มกำลังเป็น 272 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด
385 นิวตันเมตร

เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้ ตัวถัง Coupe จะดูสปอร์ตกว่ารุ่น Saloon เพียงใด ทาง Mercedes-Benz กลับไม่ได้นำ
เครื่องยนต์ V8 Multi-Valve จากรุ่น Saloon มาวางในรุ่น Coupe เพื่อทำตลาดเลยแม้แต่รุ่นเดียว”

กลางทศวรรษ 1990 ผู้บริหารของ Daimler AG ก็มองว่า ตลาดรถยนต์ Coupe นั้น แม้จะยังพอขายได้
แต่ยอดขายรวมทั่วโลก คงไม่สดใสนัก และเชื่อว่า ลูกค้าน่าจะต้องการรถยนต์ Coupe ที่มีขนาดเล็กลง
ดังนั้น พวกเขาจึงตัดสินใจ พลิกแนวทางการทำตลาดครั้งสำคัญ ด้วยการสร้างรถยนต์ Coupe รุ่นใหม่
ขึ้นมาบนพื้นฐานแพล็ตฟอร์มของ C-Class เพื่อหวังจะจับกลุ่มลูกค้าที่คิดจะซื้อ BMW 3-Series แบบ
Coupe และ Cabriolet อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ลูกค้าอีกกลุ่ม ที่อยากได้ E-Class ตัวถัง Coupe ยังคงไม่
หนีไปไหน พวกเขาก็เลยนำเส้นสายภายนอก ของ E-Class W210 New Eyes มาใช้กับรถยนต์รุ่นนี้
หยั่งเชิงผู้คนกันก่อน ด้วยการเผยโฉม เวอร์ชันต้นแบบ ในชื่อ Coupe Study เผยโฉมที่ Geneva Motor
Show มีนาคม 1993 หลังจากนั้น ก็ทำเวอร์ชันขายจริง ออกสู่ตลาดในชื่อ CLK รหัสรุ่น C208 โดยวาง
ตำแหน่งการตลาด ให้เป็นรถยนต์ Coupe 2 ประตูแท้ๆ คั่นกลางระหว่าง ตระกูล C-Class และ E-Class
เผยโฉมครั้งแรกในงาน Geneva Motor Show เดือนมีนาคม 1996 และ เริ่มออกสู่ตลาดจริง ในเดือน
สิงหาคม 1996 ตลอดอายุตลาดจนถึงปี 2002 CLK รุ่นแรก ทำยอดขายสะสมทั่วโลกได้มากถึง 230,000 คัน
ครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ Premium Compact Coupe ได้มากถึง 35 เปอร์เซนต์ ในขณะนั้น และถือเป็น
รถยนต์ Coupe ที่ขายได้มากที่สุด เท่าที่พวกเขาเคยทำมาก่อนหน้านี้ แต่นั่นยังไม่ใช่ที่สุด….

ความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ Daimler AG (หรือในขณะนั้น ยังเป็น DaimlerChrysler อยู่) ตัดสินใจเดินหน้า
พัฒนา CLK รุ่นที่ 2 รหัสรุ่น C209 จนพร้อมคลอดสู่สายตาชาวโลกครั้งแรก เมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2002
ตามด้วยการอวดโฉมคันจริงครั้งแรก ณ งาน Geneva Motor Show 7 มีนาคม 2002 และเริ่มทำตลาดจริง
เมื่อ 4 พฤษภาคม 2002 รถรุ่นนี้ก็ยังคงใช้พื้นฐานโครงสร้างวิศวกรรม ร่วมกันกับ C-Class อีกเช่นเดิม
วางตำแหน่งการตลาด แทรกตัวระหว่าง C-Class และ E-Class เหมือนเดิม อีกทั้งยังคงเจาะกลุ่มลูกค้า
ที่กำลังชั่งใจระหว่าง CLK กับ BMW 3 Series Coupe / Cabriolet กับกลุ่มลูกค้า ที่อยากได้ ตัวถัง Coupe
ที่หรูในระดับเดียวกับ E-Class ไปด้วยในเวลาเดียวกัน ซึ่งนอกจากเวอร์ชันธรรมดา เน้นความหรู
คู่ความสปอร์ตนิดๆ แล้ว ยังมีเวอร์ชันแรงข้นอีกระดับอย่าง CLK 55 AMG และ CLK 63 AMG
หรือเวอร์ชันแรงทะลุขั้ว จากสนามแข่ง สู่ถนนจริง อย่าง CLK DTM AMG ให้เลือกอีกด้วย ไม่ต้อง
มาถามว่ายอดขายรวมหนะเท่าไหร่ เพราะเท่าที่นั่งค้นข้อมูลอยู่นี้ ผมยังหาไม่เจอ แต่ที่แน่ๆ แค่เพียง
4 ปีแรกที่ออกสู่ตลาด ยอดขายก็ทะลุ 200,000 คันขึ้นไปแล้ว ดังนั้น เดาต่อกันเอาเองว่า ตัวเลขสรุป
ก่อนรูดม่านปิดฉากอายุขัย CLK ร่นนี้จะทำยอดขายไปได้เท่าใดกัน?

มาถึงวันนี้ ด้วยยอดขายที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ Daimler AG เริ่มมองเห็นลู่ทางที่จะพัฒนาถยนต์ Coupe
รุ่นอื่นๆ ออกขายกันอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การเรียกชื่อรุ่น ที่มากมายก่ายกองเต็มไปหมดนั้น
อาจก่อให้เกิดความสับสนของทั้งลูกค้า ผู้จำหน่าย รวมทั้ง คนของ Mercedes-Benz เองได้

จะไม่ให้งงได้ยังไงละครับ CL = S-Class Coupe รุ่นใหญ่ แต่พอเป็น CLC กลับกลายเป็น เจ้า
C-Class Coupe บั้นท้าย Hatchback ที่ยังต้องลากผลิตขายกันต่อไปอีกระยะ เลยต้องเปลี่ยนชื่อ
เปลี่ยนหน้าตากันเป็นปัจจุบัน ไหนจะมี CLK Coupe / Cabriolet รุ่นขายดี อีก แถมล่าสุด ยังมี
CLS 4 Door Coupe โผล่เข้ามาร่วมวงพงษ์ไพบูลย์ กับเขาอีกต่างหาก มึนไปเลยนะนั่น!

ดังนั้น แทนที่จะพัฒนา CLK รุ่นต่อไป คราวนี้ Daimler AG จึงตัดสินใจ แยกสร้าง รถยนต์ Coupe
ให้กับทั้ง C-Class และ E-Class เอาไปเลย ตระกูลละ 1 รุ่น โดยทั้งคู่จะใช้พื้นฐานแพล็ตฟอร์ม
ร่วมกันกับ C-Class W204 ในปัจจุบัน และเพื่อลดความสับสน ตัวถัง Coupe ของ C-Class ที่จะ
คลอดออกมาในปี 2011 จะใช้ชื่อว่า C-Class Coupe (บั้นท้ายเหมือนรุ่น Saloon นั่นแหละ แต่มี
แค่ 2 ประตู) ส่วน ตัวถัง Coupe ของ E-Class ก็จะใช้ชื่อว่า E-Class Coupe อย่างที่เห็นกันอยู่นี่ละ

 

แต่ถึงแม้จะใช้แพล็ตฟอร์มร่วมกันกับ C-Class W204 ทว่า E-Class Cope จะใช้ชิ้นส่วนข้าวของ
อะไหล่ต่างๆ รวมทั้งงานวิศวกรรมจำนวนมาก ร่วมกับ E-Class Saloon W212 Estate S212
และ Cabriolet A207 มากถึง 60 เปอร์เซนต์ เพียงแต่ว่า ชิ้นส่วนตัวถังภายนอกนั้นจะใช้ร่วมกัน
ได้เพียงแค่กับ รุ่นเปิดประทุน มากหน่อย ก็เท่านั้นเอง

เส้นสายภายนอก จะคล้ายกันกับรถต้นแบบ Concept FASCINATION ในงาน Paris Auto Salon
เดือนกันยายน 2008 ซึ่งเป็นรถต้นแบบที่ Daimler AG ทำออกมาให้ชาวโลกได้รับรู้ว่า E-Class
รุ่นใหม่ จะมีแนวทางการออกแบบ ประมาณที่เห็นกัน และเมื่อออกสู่ตลาดจริง ก็แทบจะมีการ
ปรับปรุง ดัดแปลงจากรถต้นแบบ ไม่มากนัก

Daimler AG เยอรมัน เคลมว่า ตัวเลขค่า Cd ของ E-Class Coupe นั้น ต่ำเพียง Cd.0.24 เท่านั้น
และถือว่าเป็นรถยนต์นั่ง แบบ Mass Production ที่มีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานต่ำที่สุดในโลก
ณ ขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ในเอกสารสำหรับรถยนต์รุ่นที่ทำตลาดในไทย กลับใช้ตัวเลขเป็น Cd.0.25 แทน
ซึ่งพอจะอธิบายได้ว่า ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศนั้น จะแตกต่างกันไป ตามแต่อุปกรณ์
ที่ติดตั้งอยู่ภายนอกของรถแต่ละรุ่นย่อย นั่นเอง

และแล้ว ทุกสิ่งก็พร้อมสำหรับการออกสู่ตลาด Mercedes-Benz ประกาศเผยโฉม E-Class Coupe ใหม่
ภายใต้รหัสรุ่น C207 อย่างเป็นทางการ ครั้งแรกในโลก เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2009 และ นำไปอวดโฉมสู่
สายตาสาธารณชนครั้งแรก ในงาน Geneva Motor Show วันที่ 3 มีนาคม 2009 และแทบจะหลังการ
เปิดผ้าคลุมกันไม่นานนัก Mercedes-Benz ก็พร้อมจะเริ่มทำตลาด E-Class Coupe ใหม่กันเมื่อ
22 เมษายน 2009

เพียง 1 เดือนเศษ หลังจากนั้นการส่งมอบ E-Class Coupe ใหม่คันแรก ก็ถูกจัดขึ้นเป็นพิธี โดยมี
Peter Schabert ผู้จัดการของ โรงงาน Mercedes-Benz ที่ Bremen ได้มอบกุญแจรถ E500 สีเงิน
Palladium Silver พร้อมชุดแต่ง AMG Sport Package และระบบ COMMAND Multimedia System
ให้กับ Siegfried Moller วัย 56 ปี เจ้าของร่วม ของบริษัท Hermann Moller joinery firm ในเมือง Hamm
ประเทศเยอรมันี ผู้เป็นลูกค้าชั้นดีที่ผูกพันกับ รถยนต์ตราดาว มากว่า 25 ปี ในฐานะลูกค้ารายแรก ของ
E-Classs Coupe รุ่นนี้ เมื่อ วันที่ 11 พฤษภาคม 2009 อันเป็นวันแรกของการเริ่มทำตลาดจริง

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน Mercedes-Benz Thailand เอง ก็อาศัยวิธี ชิงความได้เปรียบ สั่งนำเข้า E-Class Coupe
พวงมาลัยขวาคันแรกของโลก บินมาเปิดตัวในเมืองไทย กลางงาน Bangkok International Motor Show
ปลายเดือนมีนาคม 2010 อย่างฉับไว เกาะติดตลาดโลก อย่างแทบไม่น่าเชื่อว่าจะทำได้ โดยในช่วงแรก
มีเพียงแค่รุ่น E350 ติดป้ายราคาเอาไว้ 8 ล้านบาทเศษ ถือว่า เรียกเสียงฮือฮาจากผู้เช้าชมงานได้มากมาย
และนั่นแหละ คือจุดเริ่มต้นของ กระแสความนิยม E-Class Coupe รุ่นปัจจุบัน บนท้องถนนเมืองไทย

มิติตัวถังของ E-Class Coupe นั้น มีความยาว 4,698 มิลลิเมตร กว้าง 1,786 มิลลิเมตร สูง 1,397 มิลลิเมตร
และมีระยะฐานล้อยาว 2,760 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า (วัดจากกึ่งกลาง หน้ายางฝั่งซ้าย ไปยัง
ตำแหน่งเดียวกันของหน้ายางฝั่งขวา) 1,538 มิลลิเมตร ความกว้าง ช่วงล้อคู่หลัง 1,544 มิลลิเมตร น้ำหนัก
รถเปล่า อยู่ที่ 1,580 กิโลกรัม แต่เมื่อรวมน้ำหนักบรรทุกสูงสุด และของเหลวทั้งระบบเข้าไป จะเพิ่มขึ้นเป็น
2.050 กิโลกรัม 

ในรุ่น Elegance คันที่เราทดลองขับกันนี้ ตกแต่งกันในแบบพื้นฐาน ระดับมาตรฐาน ของรุ่น Elegance ที่เน้น
ความหรูสบาย มากกว่าความสปอร์ต ด้านหน้า มีชุดไฟหน้าแบบ Bi-Xenon พร้อมระบบปรับโคมไฟหน้าอัจฉริยะ
ปรับระดับสูง-ต่ำได้เอง ตามสภาพการขับขี่ หรือการปรับตั้งจากผู้ขับขี่ ภายในรถ มีไฟตัดหมอก LED พร้อมไฟ
Daytime Running Lights มาให้ในตัว ติดสว่างในการขับขี่ทุกครั้ง รวมทั้ง Cornering Lights ไฟดวงเล็กๆติดตั้ง
ในโคมไฟหน้าเพิ่มความสว่างเป็นพิเศษ ในขณะเลี้ยว หรือเข้าโค้ง หมุนพวงมาลัยไปทางใด ไฟ Corncering
Light ฝั่งนั้นจะติดขึ้นมา ช่วยให้มองทางยามค่ำคืนได้ปลอดภัยยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมี ชุดฉีดน้ำล้างทำความสะอาด
ไฟหน้ามาให้อีกด้วย

 

ล้ออัลลอยที่ติดรถมาให้ เป็นแบบ 5 ก้านคู่ (Code R52) ขนาด17 นิ้ว สวมเข้ากับยางคู่หน้า ขนาด 235/45 R 17
ส่วนยางคู่หลัง จะมีขนาด 255/40 R 17 ท่อไอเสียด้านหลัง มีเพียงปลอกท่อเดี่ยว (หากเป็นรุ่น E350 จะมี
2 ปลอกท่อ แะ ถ้าเป็น รุ่น E500 ปลอกท่อไอเสีย จะถูกออกแบบให้ฝังเป็นชิ้นเดียวกันกับ เปลือกกันชนหลัง

ในรถคันที่ทดลองขับ ไม่มีหลังคา Panoramic Glass Roof มาให้ เพราะนั่นเป็นออพชันสำหรับรุ่น Avantgarde
ที่จะมาพร้อมล้ออัลลอย 18 นิ้ว ชุดแต่ง AMG รอบคัน และระบบกันสะเทือนที่จะแข็งขึ้นอีกนิดนึง เพื่อความ
สนุกในการขับขี่มากกว่ารุ่น Elegance

 

การเปิดประตูเข้าสู่ห้องโดยสารนั้น ใช้กุญแจรีโมทคอนโทรล พร้อมระบบกันขโมย Immobilizer แบบสหกรณ์
ที่ใช้ในรถหลายๆรุ่นของ Mercedes-Benz ในยุคหลังๆ มานี้ และในรุ่น E-Class Coupe คราวนี้ มีระบบ
Keyless GO เพียงแค่ พกรีโมทไว้กับตัว เอานิ้วแตะกับมือจัประตู ให้ถูกตำแหน่งของมัน ระบบก็จะสั่งล็อก –
ปลดล็อก ให้เดินเข้า – ออก จากรถ แลัว กดปุ่มติดเครื่องยนต์ได้เลย มาให้ ซึ่งสวิชต์ ติดเครื่องยนต์นั้น เป็นแค่
พลาสติกวงกลม เสียบเข้าไปยังรูกุญแจสำหรับติดเครื่องยนต์ แค่นั้นเลย

 

เมื่อเปิดประตูกางออกมา จะพบบรรยากาศในห้องโดยสาร ที่ ดูก็รู้ว่าเป็น E-Class รุ่นใหม่ เพียงแต่มี
หลายอย่างที่แตกต่างกัน แน่นอนว่า ทางเข้าออก ยาวกว่ากันเยอะ จากบานประตูแบบไร้เสากรอบกระจก
(Frameless Door) ที่มีความยาวมากกว่า รุ่น Saloon น้ำหนักบานประตู ยังคงกำลังดี ตามแบบฉบับรถยุโรป
เมื่อปิดประตู เรียบร้อย กระจกหน้าต่าง ก็จะยกตัวขึ้นไปประชิด แนบกับยางขอบประตูด้านบน เหมือนกับ
รถยนต์ Coupe ระดับ Premium รุ่นใหม่ๆ ในยุคนี้ และเช่นเดียวกัน ถ้าเปิดประตูออกมาเมื่อไหร่ กระจก
หน้าต่าง จะลดระดับลงมานิดนึง เช่นเดียวกัน

แผงประตูด้านข้าง ออกแบบมาคล้ายๆ กับ การนำแผงประตูของ E-Class W212 Saloon มาขยายให้ยาวขึ้น
แต่ตำแหน่งการวางแขนนั้น สบาย กำลังดี มีช่องใส่ของด้านใต้ที่วางแขนมาให้ด้วย แต่ใส่ได้อย่างมากสุด
แค่ กล่อง CD หรือ แผนที่ จุกจิกเล็กๆน้อย ใส่ขวดน้ำไม่ได้ และมีตาข่ายใส่ของ ข้างอุโมงค์เกียร์ อย่างที่เห็น

 

ชุดเบาะนั่งคู่หน้า แตกต่างจากเบาะนั่งของ E-Class W212 รุ่น Saloon โดยสิ้นเชิง ใส่แทนกันแทบไม่ได้เลย
สามารถปรับระดับได้ด้วยสวิชต์ ไฟฟ้า ข้างแผงประตู (มาตรฐานเดิม ที่คุ้นเคยกันดีใน Mercedes-Benz แทบ
ทุกรุ่น) และมีหน่วยความจำตำแหน่งของ เบาะคู่หน้า กระจกมองข้างปรับด้วยไฟฟ้า และพวงมาลัยปรับระดับ
สูง – ต่ำ และใกล้ – ไกลห่างจากตัว ด้วยไฟฟ้า มากถึง 3 ตำแหน่ง มี Heater อุ่นเบาะมาให้ 3 ระดับความร้อน
เลือกปรับได้ที่แผงควบคุมใต้เครื่องเสียง มีพนักศีรษะแบบ NECK-PRO head restraints มาให้ เพื่อรองรับ
การเคลื่อนไหว และเพิ่มความปลอดภัย จากอุบัติเหตุ โดยจะทำงานเลื่อนตัวขึ้นมาข้างหน้า และยกตัวขึ้น
เล็กน้อย อย่างฉับพลัน เพื่อลดการบาดเจ็บของกระดูกต้นคอ

ที่พิเศษก็คือ มีระบบ Multi Contour อันเป็นสวิชต์ข้างๆ เบาะรองนั่ง ฝั่งติดกับคอนโซลกลาง มีมาให้ทั้งฝั่งคนขับ
และผู้โดยสารด้านข้าง ถ้าอยากจะให้ปีกข้างของพนักพิงหลัง สามารถหุบเข้า หรือกางออกได้ตามต้องการ หรือ
ปรับตำแหน่งของตัวดันหลัง สูง – ต่ำ หรือ ดันมาก ดันน้อย ก็สามารถเลือกปรับได้ตามใจชอบ เพียงแต่ว่า
ไม่มีระบบนวดหลัง มาให้ เหมือนใน E500 Saloon เพียงแค่นั้นเลย

เบาะนั่ง ค่อนข้างสบายกำลังดีในระดับหนึ่ง ไม่ค่อยปวดหลังในขณะขับทางไกล ในระยะเวลาไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง
ไม่เมื่อยล้า เบาะรองนั่ง ออกแบบมายาวกำลังดี จนสุดขาพับของคนขับ พื้นที่เหนือศีรษะ ไม่ต้องห่วง มีเหลือ
อีกบานตะไท ถ้าไม่ใช่คนตัวสูงเกินเหตุระดับ 2 เมตร ผมว่าน่าจะสบายอยู่ ตำแหน่งที่วางแขน ทั้งแผงประตู
และ บนกล่องคอนโซลกลาง จัดวางมาได้ดี เหมาะกับทุกสรีระ และทุกตำแหน่งในการปรับระดับเบาะนั่ง

ในรุ่น ELEGANCE จะมีการตกแต่งเบาะนั่งด้วยสีโทนเบจสว่าง ๆ ประดับด้วยอะลูมีเนียม และลายไม้
แบบ Burr Walnut เบาะนั่งจะใช้หนังสังเคราะห์ ARTICO ส่วนรุ่น Avantgarde จะตกแต่งภายในด้วย
โทนสีดำ เป็นหลัก ถ้าอยากได้รูปแบบการตกแต่ง อื่นใดนอกเหนือไปจากนี้ หากเปิดกางเว็บไซต์ของ
ประเทศไทย www.mercedes-benz.co.th แล้ว คุณจะพบว่า ถ้าอยากได้ หนังแบบ Passion หรือ หนังแบบ
Nappa อาจต้องจ่ายเงิน เพิ่มอีก 70,000 ถึง 230,000 บาท ตามแต่ละรุ่นย่อย เพื่อการตกแต่งที่คุณต้องการ
(แพงไปหน่อยแหะ) 

 

และที่พิเศษ จนเป็นเอกลักษณ์หนึ่ง ของ Mercedes-Benz Coupe 2 ประตู ซึ่งผู้ผลิตรายอื่นๆ เอาไปทำตามอย่าง
ก็คือ แขนยื่นเข็มขัดนิรภัย Automatic Belt Feeder ซึ่ง Mercedes-Benz นำออกติดตั้งในรถยนต์จำหน่ายจริง
ครั้งแรก ในรถรุ่นใหญ่ 500 SEC และ 560 SEC หรือ S-Class Coupe ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกเมื่องาน IAA Frankfurt
Motor Show เดือน กันยายน 1981 นั่นเอง

ใน E-Class Coupe แขนยื่นเข็มขัดนิรภัย จะทำงานทันที เมื่อคุณปิดประตูรถ และกดปุ่มหรือบิดกุญแจเพื่อ
เตรียมติดเครื่องยนต์ มันจะยื่นเข็มขัดนิรภัยออกมาให้ และรอสักพัก จนกว่าคุณจะดึงเข็มขดไปคาด แต่
ถ้าไม่คาดสักที มันก็จะรอแค่ประมาณ ไม่นานนัก ก่อนจะหดกลับไปอยู่ที่เดิม ถ้าต้องการเรียกใช้งาน
ก็ให้กดปุ่ม บนแผงควบคุมกลาง ใต้ชุดเครื่องเสียง

เข็มขัดนิรภัยเป็นแบบ ELR 3 จุด Pretensioner & Load Limiter ลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ
สิ่งที่ทำให้ผมชอบเข็มขัดนิรภัยของ Mercedes-Benz รุ่นใหม่ๆ ในระยะหลังๆ ก็คือ ทันทีที่คุณคาด
มันจะรัดตรึงให้พอดีตัวคุณ นิดนึงก่อน เพื่อสำรวจว่า สรีระร่างของคุณ อยู่ที่ระดับไหน ก่อนจะคลายตัว
เป็นปกติ ในลำดับถัดไป ทั้งนี้ เพื่อให้ มั่นใจว่า เข็มขัดจะไม่รัดตัวคุณมากเกินไป ในกรณีที่เกิดการ
เบรกกระทันหัน หรือเกิดอุบัติเหตุใดๆ ตามมา

ไม่เพียงแต่จะพบได้ใน E-Class Coupe ทุกวันนี้ คุณยังพบได้ใน C-Class รุ่นประกอบในประเทศ
ที่มีระบบ PRE-SAFE มาให้ด้วยแล้ว!

ส่วนการจะพับเบาะเพื่อเปิดช่องทางเข้าไปนั่งบนเบาะหลัง กลไกการทำงานก็เป็นระบบไฟฟ้า EASY ENTRY 
คือทันทีที่ดึงคันโยก บนไหล่พนักพิงหลัง ชุดเบาะนั่งไฟฟ้า จะถูกเลื่อนโน้มมาข้างหน้า อย่างอ้อยอิ่ง ไฮโซ เป็นที่สุด
ตำแหน่งที่เบาะนั่งจะถูกดันเลื่อนเข้ามาให้จนสุดเอง โดยอัตโนมัติ อยู่ที่ระดับอย่างที่เห็นในภาพ

 

พื้นที่ห้องโดยสารด้านหลัง นั้น เบาะนั่งถูกออกแบบมารองรับเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น ตรงกลาง จะถูกคั่น
ด้วย ช่องวางแก้ว แบบมีฝาพับเก็บได้ มีตาข่าย ใส่ของจุกจิกเล็กน้อย ถัดจากเบาะรองนั่งลงมา อย่างที่เห็น

เข็มขัดนิรภัยด้านหลังเป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 2 ฝั่ง ซ้าย – ขวา ไม่มีที่พักแขนตรงกลางมาให้ และ
ไม่มี ราวจับบนเพดานหลังคา เหนือกระจกหน้าต่าง มาให้ แต่มีเพียงแค่ ตะขอเกี่ยวเสื้อผ้ามาให้
ด้านบนเพดานหลังคา มีไฟส่องสว่างอ่านแผนที่ และไฟสัญญาณของ ระบบเซ็นเซอร์ แจ้งเตือน
ระยะห่างจากวัตถุขณะถอยหลังเข้าจอด Parktronic (สีดำๆ นั่นแหละ)

นอกจากนี้ บนเพดานหลังคา ยังมีการออกแบบให้หลบมุมเล็กน้อย เพื่อให้มีพื้นที่เหนือศีรษะอยู่บ้าง
เมื่อมี ผู้โดยสารมานั่งด้านหลัง..

แต่…ในความเป็นจริง ถ้าถามว่า นั่งได้หรือไม่ ดูรูปข้างล่างนี่เอาแล้วกันครับ

คนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร อย่างผม มีปัญหาหัวติดเพดาน พอดีเลย ต่อให้นั่งแบบไหลๆ ก้นไม่แนบกับพนักพิงหลัง
ก็ยังนั่งไม่สบายเท่าที่ควร และหัวผมก็ยังติดเพดานอยู่ดี ทั้งที่ ตัวเบาะนั่งนั้น ผมว่า ถ้าเป็นเด็กๆ น่าจะชอบกันได้
ไม่ยากนัก ขนาดน้องกล้วย BnN แห่ง The Coup Team ของเรา ยังนั่งแล้ว หัวติดเลย นัประสาอะไรกับคนที่ตัวสูง
เกิน 165 เซ็นติเมตรกันละเนี่ย?

 

แต่ถึงกระนั้น พื้นที่วางขาด้านหลังสำหรับผม ยังถือว่า พอมีให้วางได้บ้าง แม้ว่าจะปรับตำแหน่งเบาะคนขับเอาไว้
ให้เหมาะสมกับสรีระของผมเรียบร้อยแล้วก็เถอะ เบาะรองนั่งสั้นไปนิดนึง แต่ก็ยังถือว่า สำหรับคุณหนูๆ ซึ่งต้อง
ขึ้นมานั่งบนเบาะหลังแล้ว พวกเขาน่าจะไม่มีปัญหากันนะ

ผมละนึกถึงคำพูดของเจ้ากล้วย ตอนที่เราถ่ายทำ Clip Video ทดลองขับรถคันนี้กันเอาไว้ว่า “Mercedes-Benz
กับ BMW แทบทุกรุ่น ไม่รู้เป็นอะไร มักต้องมีปัญหา พื้นที่นั่งด้านหลัง ในประเด็นตรงกันข้ามกันเสมอ
กล่าวคือ BMW มักจะมีเบาะนั่งที่ดี แต่พื้นที่วางขา คับแคบ ขณะที่ Mercedes-Benz จะมีพื้นที่วางขาเยอะ
แต่เบาะรองนั่ง สั้นไปหน่อย”

และ E-Class Coupe ก็ยังคงเป็นหนึ่งในรถที่มีปัญหาเรื่องพื้นที่โดยสารด้านหลังอยู่ดี จะว่าไปแล้ว มันก็ถือเป็น
โจทย์ยากอยู่เหมือนกัน สำหรับการทำรถ Coupe ให้มีพื้นที่นั่งด้านหลังสบาย เพราะส่วนใหญ่ คนซื้อรถประเภทนี้
มักไปไหนมาไหนแค่ 1-2 คน เต็มที่สุด ก็แค่ 3 คน ซึ่งมักจะไม่บ่อย นานๆครั้ง ดังนั้น พื้นที่นั่งด้านหลัง จึงมักถูก
ละเลยไปเสมอๆ อย่างน่าเสียดาย และมีรถเพียงไม่กี่รุ่นในโลกนี้ ที่เป็นรถ Coupe แต่นั่งด้านหลังสบายๆ มากๆ

นอกจากนี้ พนักพิงเบาะหลัง ทั้ง ฝั่งซ้าย – ขวา ยังสามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของ
ด้านหลัง อีกทั้ง ยังมีการออกแบบให้ด้านหลังของพนักพิงเบาะหลัง พับลงมาได้ ราบให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เพื่อให้วางสิ่งของขนาดใหญ่ ได้ต่อเนื่องกันอย่างดี ตัวปลดล็อก พนักพิงทั้ง 2 ฝั่ง อยู่เหนือช่องทางเข้าของห้องเก็บ
สัมภาระด้านหลัง

ฝากระโปรงหลัง มีสวิชต์ไฟฟ้า เปิด อยู่ที่บริเวณ ช่องวางของ ที่แผงประตูฝั่งคนขับ และที่มือจับบริเวณเหนือช่อง
ตดตั้งแผ่นป้ายทะเบียน ดึงสวิชต์ปุ๊บ ฝากระโปรงหลัง จะดีดเด้ง ฟึ๊บ!! อย่างรวเร็ว จนน่ากลัว เหมือนกับ E-Class
ทั้ง W211 รุ่นก่อน และ W212 Saloon รุ่นใหม่ ไม่ผิดเพี้ยน เหตุที่ Mercedes-Benz ไม่ยอมทำฝากระโปรงหลัง
ให้ปิดลงได้นุ่มนวลกว่านี้ ก็เพราะเขาเก็บเอาไว้ เป็นอุปกรณ์ สำหรับรุ่นหรูๆ ขึ้นไป เป็นระบบสวิชต์ เปิด-ปิด ไฟฟ้า
เลยต่างหาก ซึ่งอันที่จริงอยากจะบอกว่า ฝากระโปรง ที่เปิดขึ้นมาเร็วๆแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องดี เนื่องจาก โอกาสที่จะ
ดีดใส่หน้าของ คนซึ่งยืนอยู่ด้านหลังรถ โดยไม่ทันตั้งตัว มีเยอะพอสมควรเลยทีเดียว

พื้นที่ห้องเก็บของมีขนาด 450 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมัน ใหญ่พอสมควรเลยทีเดียว สำหรับรถยนต์ Coupe
2 ประตู อย่าลืมว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของรถประเภทนี้ ชอบเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัด ดังนั้น พื้นที่ห้องเก็บของ
ด้านหลังรถจึงออกแบบให้ใหญ่พอกับกระเป๋าเสื้อผ้า ใบโตๆ และ ถุงกอล์ฟสัก 1-2 ใบ ไม่น่าเกินนี้

เหนือกรอบห้องเก็บของด้านหลัง จะเห็น มีคันโยก ดึงเข้าหาตัว เพื่อปลดสลักล็อก พนักพิงเบาะหลัง ทั้ง ซ้าย
และขวา ให้พับลงไป เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลังได้อีก

ฝากระโปรงหลัง ยังคงมี แถบสามเหลี่ยมฉุกเฉิน เอาไว้สำหรับกางไว้บนพื้นถนนตอนรถเสีย มาให้
พร้อมกับชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น เก็บเอาไว้ที่ฝั่งขวาของผนังห้องเก็บของอย่างที่เห็น

เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมาดู จะพบยางอะไหล่ และชุดเครื่องมือซ่อมรถฉุกเฉิน นอนแอ้งแม้งอยู่อย่างเรียบร้อย
ถ้าจะยกแผงดังกล่าวขึ้นมา ตัวมือจับ ก็สามารถ ยกมาเกี่ยวเอาไว้กับของยาง ของกรอบทางเข้าห้องเก็บของด้านหลังได้

เมื่อขึ้นมานั่งในรถแล้ว ถ้าไม่สังเกต คุณอาจจะคิดว่า แผงหน้าปัด ดูผิวเผิน อาจจะคล้ายกับรุ่น Saloon
แต่ความจริงแล้ว มีชิ้นส่วนเพียงแค่ครึ่งท่อนบน และแผงควบคุมตรงกลางเท่านั้น ที่จะสามารถใช้ร่วมกันได้
เพียงไม่กี่ชิ้น ที่เหลือ แทบไม่เหมือนกันเลย

ช่องแอร์ตรงกลาง นั่นเป็นตัวอย่างแรก ในขณะที่รุ่น Saloon จะมีช่องแอร์ตรงกลาง ออกแบบมาคล้ายกับ
ทรงอ้างหงาย เหมือน S-Class รุ่นใหม่ และมีแถบลายไม้ หรือ Trim ประดับ ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่ช่องแอร์
ตรงกลาง ไปจนถึง ช่องแอร์ ฝั่งผู้โดยสาร ริมประตู แต่ใน E-Class Coupe ช่องแอร์ตรงกลาง จะมีหน้าตา
คล้ายๆ อ่างคว่ำ และ Trim ตกแต่ง จะอยู่ใต้ช่องแอร์ และประดับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

คันเกียร์ของ E-Class Saloon W212 จะมีทั้งแบบที่ตั้งคันเกียร์ เอาไว้ในแบบดั้งเดิม หรือย้ายไปไว้
บนคอพวงมาลัย ฝั่งขวามือ ทว่า ใน E-Class Coupe คันเกียร์ของทุกคัน จะติดตั้งเอาไว้ ในตำแหน่ง
ดั้งเดิม คือ ตรงกลางคอนโซล เท่านั้น

ส่วน แผงบังแดด พร้อมกระจกแต่งหน้า และไฟแต่งหน้า ฝังอยู่บนเพดาน รวมทั้งกระจกมองหลังแบบตัดแสง
อัตโนมัติ ไฟอ่านแผนที่ สีขาวนวล ใต้กระจกมองหลัง และไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสารด้านหน้า ใช้ร่วมกัน
กับทั้ง C-Class W204 และ E-Class Saloon W212

 

กระจกหน้าต่างเป็นแบบไฟฟ้า ขึ้นลงแบบ One-Touch สำหรับหน้าต่างคู่หน้า และ ขาลงเป็นแบบ One-Touch
เพียงอย่างเดียว สำหรับหน้าต่างคู่หลัง สวิชต์เปิด – ปิด ไฟหน้า เป็นแบบ มือบิด ไฟตัดหมอก ก็ดึงมือบิดนั่นละ
เข้าหาตัว 1 แกร็ก อย่างไรก็ตาม ขับๆไป อาจสังเกตว่า ไฟตัดหมอกหน้าแบบ LED ทำงานตลอด อย่าตกใจครับ
นั่นคือ Daytime Running Light หรือไฟสำหรับ เปิดเอาไว้ตอนกลางวัน เพิ่มการมองเห็นรถของคุณ จากมุมของ
รถคันอื่นที่ขับสวนกันมา หรือจะออกจากซอย มาร่วมสัญจรกับคุณ

ก้านควบคุมระบบล็อกความเร็วคงที่อัตโนมตั Cruise Control นั้น ติตตั้งอยู่สูงกว่า ก้านไฟเลี้ยว ที่คอพวงมาลัย
ฝั่งขวา นิดเดียว ดังนั้น คนที่ไม่คุ้นชินกับรถนัก อาจจะเผลอ เปิดระบบ Cruise Control ได้เอง ทั้งที่ตั้งใจจะ
เปิดไฟเลี้ยวขวาก็เป็นได้ อันนี้พบได้ใน Mercedes-Benz รุ่นใหม่ๆ แทบจะทุกรุ่น

นอจากนี้ หากกดก้านสวิชต์นี้ลงไป จะเป็นการเปิดให้ระบบ ล็อกความเร็ว SPEEDTRONIC ทำงาน สมมติดว่า
ต้องการขับแค่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพราะกลัวตำรวจทางหลวงจะเรียก ก็กดก้านสวิชต์ลงไป ให้ไฟสีเหลือง
ที่ก้าน ติดขึ้นมา นั่นหมายความว่า ขับไปเถอะ อยากขับเท่าไหร่ก็ขับไป แต่ถ้าจะเหยียบเกิน 110 กิโลเมตร/
ชั่วโมง แล้วละก็ เหยียบคันเร่งลงไป รถก็จะไม่ตอบสนองใดๆให้คุณเพิ่มมากไปกว่านี้อีก เป็นระบบที่ผมว่า
ดีใช้ได้เลยทีเดียว และน่าจะไปโผล่ในรถยี่ห้ออื่นๆด้วยอีกต่างหาก

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน แม้ว่าขนาดจะใกล้เคียงกับ พวงมาลัย 4 ก้านของ C-Class W204 แต่ก็มีเส้นรอบวง
เล็กกว่ากันนิดเดียวจริงๆ คือ แทบไม่ค่อยเห็นความแตกต่างเท่าใดนัก จับกระชับมือพอประมาณ หุ้มด้วยหนัง
Nappa และปรับระดับด้วยก้านสวิชต์ไฟฟ้า ใต้ก้านไฟเลี้ยว ที่คอพวงมาลัยฝั่งซ้าย ปรับสูง – ต่ำ ได้ 25 มิลลิเมตร
และปรับระยะใกล้ – ห่างจากลำตัว 35 มิลลิเมตร และสามารถเลือกให้ระบบหน่วยความจำ บันทึกตำแหน่ง
ร่วมกับ เบาะนั่ง และกระจกมองข้าง ได้พร้อมกัน

มีสวิชต์ ควบคุม Multi Function ฝั่งขวา เอาไว้เปิดการทำงานของ โทรศัพท์ หรือ ระบบ LinguaTronic
สั่งการด้วยเสียง (ในรถคันที่ติดตั้งระบบนี้) สั่งตัดเสียงลำโพง หรือ Mute ก็กดปุ่มกลางวงกลมฝั่งขวา เพิ่ม-ลด
ระดับเสียง กดปุ่ม บวก หรือ ลบ ตามใจชอบ

 

 

ส่วนสวิชต์ฝั่งซ้าย จะเอาไว้ใช้ควบคุมและตั้งค่า ของหน้าจอ Multi Information System ตรงกลางชุดมาตรวัด
แบบ 5 วงกลม ซึ่งยกชุดมาจาก E-Class Saloon W212 แสดงข้อมูล ได้ทั้ง การปรับตั้งค่าอุปกรณ์ต่างๆของตัวรถ
สถานภาพของระบบต่างๆในตัวรถ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย หรือแบบ Real Time ระยะทางที่พอให้
น้ำมันในถัง พารถแล่นต่อไปได้ แสดงความเร็วแบบ ตัวเลข Digital แจ้ง ตำแหน่ง และชื่อถนน เป็นภาษา
อังกฤษ พร้อมเข็มทิศนำทางในตัว อีกทั้งยังเป็นจอสำหรับ ปรับเปลี่ยนเพลง หรือคลื่นวิทยุ จากชุดเครื่องเสียง
และระบบแจ้งเตือนนำรถเข้าศูนย์บริการ ASSYST PLUS รวมทั้งระบบเตือนคนขับ พักระหว่างทาง ATTENTION
ASSIST ซึ่งจะขึ้นสัญญาณเตือนเป็นรูป กาแฟ (หรือเรียกว่า หน้าจอ Starbucks) เมื่อคนขับไม่ได้พักมานานแล้ว

ถ้าจะปรับความสว่าง หมุนสวิชต์ เล็กๆ ที่เห็นอยู่ ฝั่งซ้ายล่างของรูปข้างบนนี้ได้เลย แต่ถ้าจะ set Trip Meter
ต้อง Set ผ่าน สวิชต์ พวงมาลัยฝั่งซ้าย นี่เท่านั้น นอกจากนี้ มีนาฬิกาแบบเข็ม ขนาดใหญ่มาให้ฝั่งซ้ายมือ
ของชุดมาตรวัด อีกด้วย สงสัยกลัวลูกค้าจะเป็นคนไม่ตรงต่อเวลาขนาดหนัก

 

ชุดเครื่องเสียงนั้น เป็นแบบ COMMAND APS ประกอบด้วย วิทยุ AM/ FM/ MW/ SW พร้อมเครื่องเล่น
CD/ DVD/ MP3 แบบ 6 แผ่น ในตัว มีระบบบันทึกเพลงจาก CD เข้าไปยังฮาร์ดดิสก์ ผ่านระบบ Gracenote
และมี ช่องเสียบต่อสายสัญญาณ Media Interface มาให้ ในลิ้นชักเก็บของ ฝั่งขวา ติดตั้งลึกกว่าตำแหน่งของ
ช่องเดียวกันใน C250 CGI นิดหน่อย ซึ่งคุณจำเป็นต้องซื้อ สายสัญญาณต่อเชื่อม USB ไว้สำหรับเสียบเข้ากับ
เครื่องเล่นเพลง iPod หรือ MP3 ไปจนถึงสามารถเสียบเข้ากับเครื่อง BlackBerry ได้ งานนี้ ขับรถไป ฟังเพลง
จาก BB ของคุณไป และถ้าเป็นู้โดยสาร คุณยัง Chat ผ่านโปรแกรม BB Messanger ตอนรถติดไปด้วย เอาให้
บันเทิงเริงใจกันไปข้างนึงเลย !

คุณภาพเสียง ถือว่า ธรรมดา ไม่ได้เข้าขั้นเทพอะไรมากมายนัก แต่ก็ยังอยู่ในระดับเดียวกันกับ คุณภาพเสียง
จากเครื่องเสียงติดรถยนต์ของ Mercedes-Benz รุ่น MB Audio 20 ในรถคันอื่นๆที่เคยจอมา คือไม่เลวร้าย
แต่ก็ไม่ได้ดีเด่นโดดเด้งแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังติดตั้งระบบนำทาง ผ่านดาวเทียม โดยใช้ข้อมูลแผนที่ จากใน ฮาร์ดดิกส์ HDD Navigation System
แสดงผล เป็นภาษาอังกฤษ แถมยังแสดงภาพแผนที่เป็นแบบ 3 มิติ รวมทั้งแสดงเส้นทางในแบบ Bird Eye Views 
และบอกทางด้วยเสียงจากระบบนำทาง ได้อีกด้วย

ทุกรายการที่กล่าวมาข้างต้น แสดงการทำงาน ผ่าน จอมอนิเตอร์ สี ขนาดใหญ่ สำหรับทั้งชุดเครื่องเสียง และระบบ
เชื่อมต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ Bluetooth และใช้สวิชต์หมุนๆ กด สั่งการได้ ติดตั้งอยู่ถัดลงมาจากคันเกียร์ เหมือนกับ
C-Class และ E-Class รุ่นใหม่ๆ ในระยะหลังๆมานี้

ซึ่ง ใช้งานค่อนข้างยาก และต้องใช้เวลาศึกษาเรียนรู้ระบบกันสักนิดนึง แต่ที่เหมือนกับ Mercedes-Benz เวอร์ชันไทย
คันอื่นๆ ที่ติดตั้งระบบนำทางมาให้ก็คือ ภาษาอังกฤษ ที่ระบบรู้จัก ยังแตกต่างไปจากระบบภาษาอังกฤษที่คนไทยทั่วไป
เรียกกัน เช่น ในระบบนำทางอื่นๆ เราเรียก ถนน ว่า Road ตัวย่อว่า Rd. แต่ระบบนำทาง ของ Mercedes-Benz เล่นเขียน
ทับศัพท์ไปเลยว่า THANON (-_-‘) ซึ่งถ้าวุ่นวายมาก ผมแนะนำให้ จอดรถ แล้วหมุนสวิชต์ มือหมุน ใกล้คันเกียร์ แล้ว
ลาก Cursor ไปชี้เป้าหมายที่ต้องการจะไป แล้วกดปุ่มหมุนนั่นลงไปเพื่อยืนยันตำแหน่ง อีกครั้ง เท่านี้ ง่ายกว่าเห็นๆ
แต่อาจจะต้อง เป็นคนพอนึกลักษณะของแผนที่ใน กรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดที่คุณอยู่ ออกนิดนึง จะช่วยได้เยอะ

ถัดลงมา จะเห็นสวิชต์ของ ฮีตเตอร์ อุ่นเบาะ ปรับความร้อน ได้ 3 ระดับ มีมาให้ทั้งเบาะคนขับ และผู้โดยสารฝั่งซ้าย
สวิชต์ เปิด – ปิด ม่านบังแดดหลัง ไฟฟ้า และสวิชต์ เปิด- ปิด การทำงานของ เซ็นเซอร์ กระยะขณะเข้าจอด รอบคันรถ
และสวิชต์ แขนยื่นเข็มขัดนิรภัย

เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบแยกฝั่งซ้าย – ขวา และด้านหลัง พร้อม สวิชต์ควบคุมสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง
THERMOTRONIC 3 โซน แยกปรับอุณหภูมิกันตามอัธยาศัย ไปเลย จะได้ไม่ต้องมาบ่นร้อนๆ หนาวๆ
เย็นเร็วใช้ได้ เหมือน C-Class W204

ขอชมเชยเรื่องการออกแบบสวิชต์เครื่องปรับอากาศ ว่า หลังจากที่เราด่าไปใน C-Class W204 มาคราวนี้ วิศวกรเยอรมัน
ปรับปรุงใหม่ จนใช้งานง่ายขึ้นมาก แม้จะติดตั้งในตำแหน่งที่เตี้ยเหมือนก่อนๆ ก็เถอะ แต่ยังถือว่า มีพัฒนาการที่ดีขึ้น
สะดวกต่อการใช้งาน และการคลำหาของผู้ขับขี่ ขณะขับรถอยู่

นอกจากจะทำความเย็นด้านหน้าได้ครบถ้วนแล้ว ผู้โดยสารด้านหลัง ยังได้อานิสงค์ ไปด้วย เพราะ E-Class Coupe
มีช่องแอร์ และสวิชต์ ปรับอุณหภูมิ ให้เลือกได้เองตามใจชอบ จากตำแหน่งเบาะนั่งด้านหลัง มีช่องเขี่ยบุหรี่ หรือ
เป็นช่องใส่ขยะเล็กๆ รวมทั้งยังมีช่องเสียบไฟฟ้า เชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ ไว้ในตำแหน่งดังกล่าวอีกด้วย

ช่องแอร์และชุดสวิชต์ ติดตั้งอยู่ด้านหลัง กล่องคอนโซล เก็บของ ขนาดใหญ่เอาเรื่อง จุดนี้ BMW ซีรีส์ 5 ทั้งรุ่นเก่า E60
และรุ่นใหม่ F10 ก็ยังให้ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การเปิด – ปิดใช้งานออกจะลำบากไปหน่อย เพราะปุ่มเปิดฝาแบบบาน
ประตู อยู่ที่ด้านข้าง กล่องคอนโซล ทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งก็เหมือนกันกับ C-Class W204 และ E-Class W212 Saloon เลยนั่นแหละ
เมื่อใดที่ขึ้นขับ Mercedes-Benz รุ่นใหม่ๆ ก็ต้องคลำหาที่เปิดกล่องคอนโซลนี้แทบทุกที ส่วนบริเวณช่องแบบฝาปิดเลื่อนนั้น
เป็นที่อยู่อาศัยของ ช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง

 

ช่องเก็บของพร้อมฝาปิด บนแผงหน้าปัดฝั่งซ้าย นอกจากจะมีขนาดพอประมาณ แล้ว ยังมการติดตั้งช่องเสียบ
สายเชื่อมต่ออุปกรณ์ความบันเทิง ให้ทำงานร่วมกับชุดเครื่องเสียงได้ หรือ Media Interface ซึ่งจะมี สายเสียบเชื่อม
มาให้ 3 สาย และอาจจะต้องสั่งพิเศษ

ทัศนวิสัย จากตำแหน่งคนขับนั้น เมื่อปรับตำแหน่งเบาะนั่งลงจนต่ำสุดอย่างที่เห็น ก็ยังมองทางข้างหน้าชัดเจนดี
ในตำแหน่งนี้ คุณจะเห็นได้ว่า การติดตั้ง จอมอนิเตอร์ ระบบนำทาง หรือควบคุมอะไรก็ตาม ควรจะต้องติดตั้ง
ในตำแหน่งตรงกลาง และควรตั้งจอเอาไว้ อยู่ในระนาบแนวเดียวกันกับชุดมาตรวัดอย่างนี้ เพราะจะสะดวกต่อ
การมองเห็น ลดการละสายตาจากพื้นถนน ได้ในระดับหนึ่ง

ทัศนวิสัยด้านข้างฝั่งขวา นั้น เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar พอจะมีการบดบัง รถที่แล่นสวนมาในโค้งเลี้่ยวขวาอยู่นิดหน่อย
แต่ยังไม่มากนัก กระจกมองข้าง ตามสไตล์ของ Mercedes-Benz จะต้องมีแบ่งครั่ง ราวๆ 1 ใน 3 เบนออกไปให้เห็น
รถที่แล่นตามมาในอีกเลนหนึ่งได้พอสมควร

แต่ทัศนวิสัยฝั่งซ้ายมือ เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย ก็ไม่บดบังรถที่แล่นสวนมา ขณะกำลังจะเลี้ยวกลับแต่อย่างใด
กระจกมองข้างเอง ดูเผินๆ เหมือนว่ามีขนาดเล็ก แต่ ก็มองเห็นรถที่แล่นตามมาจากเลนซ้าย ชัดเจนใช้ได้

 

จุดเด่นที่น่าชมเชย อยู่ที่ การออกแบบให้เสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar มีความหนากำลังดี อีกทั้งกระจกหน้าต่างสำหรับ
ผู้โดยสารด้านหลัง สามารถเลื่อนเปิด-ปิด ได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า แถมด้วยการที่รถคันนี้ ไม่มีเสาหลังคากลาง B-Pillar
ในบริเวณตั้งแต่บานประตูขึ้นไปนถึงขอบหลังคาด้านบน ทำให้บรรยากาศภายในรถ ดูโปร่ง และเปิดกว้างมาก
สำหรับคนที่ขับรถมาเยอะแยะแล้ว น่าจะชอบ E-Class Coupe ตรงที่ความโปร่งของห้องโดยสาร ทั้งที่พื้นที่กระจก
หน้าต่าง ก็ไม่ได้มากมายนัก นั่นเป็นส่วนหนึ่ง

ส่วนทัศนวิสัยด้านหลัง แม้เสาหลังคาจะใหญ่ แต่ก็บัง จักรยานยนต์ทังคันไม่มิดแต่อย่างใด เพียงแต่ การกะระยะ
ขณะถอยหลังนั่น หากเป็นมือใหม่ ต้องทำใจสักหน่อยเพราะจะว่าไปแล้ว การกะระยะ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก สำหรับ
รถคันใหญ่ประมาณนี้

อ้อ! การไม่มีมือจับ บนเพดานหลังคามาให้ ก็ดูจะไม่เข้าที เท่าใดนัก จะบอกว่าคนซื้อรถ 2 ประตูนั้น ไม่ค่อยมีคน
มานั่งด้านหลังก็ตาแต่ กระนั้น ก็ควรจะติดตั้งเอาไว้สักหน่อย เผื่อไว้ดีกว่าขาด

 

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ในปัจจุบัน E-Class Coupe รหัสรุ่น C207 มีเครื่องยนต์ ให้เลือกใช้ ในต่างประเทศ มากถึง 7 ขนาด ดังนี้
– เริ่มจากกลุ่ม เบนซิน ในรุ่น E200 CGI Blue Efficiency เป็นเครื่องยนต์ M271 บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว
  1,796 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ กำลังอัด 9.3 : 1 กำลังสูงสุด 184 แรงม้า (PS) ที่ 5,250 รอบ/นาที
  แรงบิดสูงสุด 270 นิวตันเมตร (27.51 กก.-ม.) ที่ รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,800 – 4,600 รอบ/นาที
  พ่วงทั้งเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และอัตโนมัติ 5 จังหวะ

– E250 CGI Blue Efficiency เป็นเครื่องยนต์ M271 บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,796 ซีซี หัวฉีด
  อีเล็กโทรนิคส์ เหมือนกัน แต่มีการปรับปรุง เพิ่มกำลังอัดเป็น 10.7 : 1 กำลังสูงสุด 204 แรงม้า (PS)
  ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 310 นิวตันเมตร (31.58 กก.-ม.) ที่ รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 2,000 –
  4,300 รอบ/นาที พ่วงได้เฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ

– E350 CGI Blue Efficiency ยกระดับเป็นเครื่องยนต์ V6 DOHC 24 วาล์ว 3,498 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์
  กำลังอัด 10.7 : 1 กำลังสูงสุด 350 นิวตันเมตร ( 35.66 กก.-ม.) ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 2,400 – 5,000 รอบ/นาที
  มีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ 7G-Tronic

– และในรุ่นสูงสุด E500 มาพร้อมขุมพลัง ขนาดมหึมา บล็อก V8 DOHC 32 วาล์ว 5,462 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์
  กำลังอัด 10.7 : 1 กำลังสูงสุด มากถึง 388 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด สูงถึง 530 นิวตันเมตร
  (54.007 กก.-ม.) ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 2,800 – 4,800 รอบ/นาที มีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ 7G-Tronic

– ขณะที่ขุมพลัง Diesel นั้น มีให้เลือกมากถึง 3 ขนาด เริ่มจาก E220 CDI Blue Efficiency วางเครื่องยนต์ OM651
  บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,143 ซีซี อัตราส่วนกำลังอัด 16.2 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบ Common Rail พ่วง
  Turbocharger และ Intercooler กำลังสูงสุด 170 แรงม้า (PS) ที่ 3,000 – 4,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด สะใจถึง
  400 นิวตันเมตร ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,400 – 2,800 รอบ/นาที มีทั้งเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ
  5 จังหวะ

– E250 CDI Blue Effciency เป็นเครื่องยนต์ รหัส OM651 พ่วง Turbocharger และ Intercooler เหมือนกัน แต่มีการ
  ปรับแต่งจนได้กำลังสูงสุด เพิ่มขึ้นเป็น 204 แรงม้า (PS) ที่ 4,200 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด มากถึง 500 นิวตันเมตร
  ที่รอบเครื่องยนต์ 1,600 – 1,800 รอบต่อนาที มีทั้งเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ

– ส่วนรุ่นแรงสุดในกลุ่ม Diesel E350 CDI Blue Efficiency เป็นเครื่องยนต์ V6 DOHC 24 วาล์ว 2,987 ซีซี
  กำลังอัด 15.5 : 1 พ่วง Turbocharger และ Intercooler กำลังสูงสุด 231.2 แรงม้า (PS) ที่ 3,800 รอบ/นาที
  แรงบิดสูงสุด มหาศาลถึง 540 นิวตันเมตร (55.02 กก.-ม.) ที่รอบเครื่องยนต์ต่ำเพียง 1,600 – 2,400 รอบ/นาที
  มีเฉพาะ เกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ 7G-Tronic เท่านั้น

 

แต่ใน เวอร์ชันไทย ที่ Mercedes-Benz Thailand สั่งนำเข้าจากโรงงาน Bremen มาให้เป็นเจ้าของกัน มีเครื่องยนต์
ให้เลือกเพียง 2 ขนาด คือ E350 CGI Blue Efficiency และ E250 CGI Blue Efficiency คันที่เห็นกันอยู่นี้

เครื่องยนต์ ที่ถูกติดตั้งลงใน E250 CGI Coupe Blue Efficiency นั้น อันที่จริง มันก็เป็นบล็อกเดียวกับใน C200 CGI
Blue Efficiency C250 CGI Blue Efficiency E200 CGI Blue Efficiency และ E250 CGI Blue Efficiency นั่นเอง
คือเป็นรหัส M271 ที่เราเริ่มจะคุ้นหน้ากันแล้ว เป็นแบบเบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,796 ซีซี พร้อมเทคโนโลยี
ระบบฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงเข้าห้องเผาไหม้ Direct Injection รวมทั้งติดตั้งระบบอัดอากาศ Turbocharge และ Intercooler
มาให้ด้วย

พละกำลังสูงสุดอยู่ที่ 150 กิโลวัตต์ หรือ 204 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด ก็จะเพิ่มขึ้น
ตามไปด้วย เป็น 310 นิวตันเมตร (31.58 กก.-ม.) ที่ รอบระหว่าง 2,000 – 4,300 รอบ/นาที ปล่อยก๊าซ
คาร์บอนไดอ็อกไซด์ (CO2) สู่ชั้นบรรยากาศต่ำเพียง 164 กรัม ต่อ ระยะทาง 1 กิโลเมตร

ส่งกำลังขับเคลื่อน ไปยังล้อคู่หลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ พร้อมโหมดเปลี่ยนเกียร์ แบบ One Touch
หรือ โหมด + / – ซึ่งแปลกกว่ารถยี่ห้ออื่นๆ เพราะต้องผลักไปทั้ง ซ้าย – ขวา แทนที่จะ ผลักขึ้น – ลง เหมือนกับ
รถยี่ห้ออื่น อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

เกียร์ 1……………..3.95
เกียร์ 2……………..2.42
เกียร์ 3……………..1.49
เกียร์ 4……………..1.00
เกียร์ 5……………..0.83
เกียร์ถอยหลัง R1…..3.15
เกียร์ถอยหลัง R2…..1.93
เฟืองท้าย…………..3.07

เรายังคงจับเวลาหาอัตราเร่งกันด้วยวิธีการดั้งเดิม คือใช้เวลากลางคืน เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า และนั่งกัน 2 คน
ผม กับ เจ้ากล้วย BnN แห่ง The Coup Team ของเราเนี่ยแหละ และผลที่ได้ เมื่อเทียบกันกับ รถที่ใช้
เครื่องยนต์เดียวกันเป๊ะ อย่าง C250 CGI Blue Efficiency รวมทั้งคู่แข่งโดยเยื้องๆกลุ่มตลาด อย่าง
BMW 3-Series มีดังนี้

ถ้าดูจากตารางจะเห็นว่า สมรรถนะจากเครื่องยนต์ M271 เวอร์ชัน 204 แรงม้า ที่ประจำการใน E250 CGI
Blue Efficiency Coupe คันนี้ ไม่ได้แตกต่างอะไรกับ ที่เคยพบเจอกันมาแล้วใน C250 CGI Blue Efficiency
รุ่นล่าสุดแต่อย่างใด ต้องยอมรับเลยว่า นี่คือเครื่องยนต์ ที่มีความจุกระบอกสูบเพียง 1.8 ลิตร แต่ให้พละกำลัง
เกินตัวใช้ได้เลยทีเดียว คุณงามความดีส่วนหนึ่ง ก็คงมาจากการที่ Mercedes-Benz ตัดสินใจถอด Supercharge
ไปเก็บเข้ากรุ แล้วจับ Turbocharge มาติดตั้งแทน ยิ่งถ้าเมื่อเทียบกับว่า สามารถทำตัวเลขได้พอกันกับคู่แข่ง
อย่าง BMW 325i Coupe และ Lexus IS250 ด้วยแล้ว ต้องถือว่า เทคโนโลยีเครื่องยนต์ M271 เครื่องนี้
เจ๋งไม่น้อยหน้าใครเขาเลย

จากจุดหยุดนิ่ง เมื่อเหยียบคันเร่งลงไป รถจะออกตัวด้วยแรงบิดที่มีอยู่ อย่างนุ่มนวล ไม่กระโชกโฮกฮาก
ไต่ความเร็วขึ้นไป นิ่มๆ แต่สัมผัสได้เลยว่า มีพละกำลังที่มากพอจะพาให้รถพุ่งทะยานขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง
มีอัตราเร่ง รอให้เรียกใช้ได้ทันที โดยเฉพาะถ้ารอบเครื่องยนต์ อยู่ในช่วงเกินกว่า 2,500 รอบ/นาที ขึ้นไป
พละกำลังในรอบต่ำ เพียงพอแล้วสำหรับการขับขี่ในเมือง ซึ่งต้องการอัตราเร่งแซงที่ดี เพื่อเอาตัวรอดจาก
สภาพการจราจรสาหัสสากรรจ์ ในกรุงเทพมหานคร และยิ่งถ้าใช้ความเร็วระดับเดินทาง เชื่อแน่ว่า คุณจะ
สนุกสนานกับการเร่งแซงรถคันข้างหน้า ได้ไม่เบาเลยทีเดียว เพียงแต่ว่า คันเร่งไฟฟ้า ยังคงตอบสนอง
ช้าไปหน่อย เหมือนกันกับ รถยนต์ Mercedes-Benz และ BMW รุ่นหลังๆมานี้แทบทุกรุ่นเลย

และต่อให้คุณต้องการแซงพวกที่ขับรถงี่เง่า หรือเหยียบคันเร่ง หนีใครสักคนที่ชอบมาขับจี้บั้นท้ายคุณ
ต่อให้ใช้ความเร็วระดับ 120 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมงอยู่ แค่เหยียบคันเร่งเพิ่มไปตามใจต้องการ ไม่ต้องไป
ยุ่งกับ โหมดบวก ลบ ที่คันเกียร์ แต่อย่างใด เพียงเท่านั้นเอง เดี๋ยว Turbo เขาจะจัดการให้ พาคุณหนีาก
พวกมารยาททรามบนท้องถนน ได้สมใจนึก

สรุปว่า เครื่องยนต์ เพียง 1.8 ลิตร Turbo เท่านี้ ก็เพียงพอแล้ว สำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน
ทั้งวิ่งในเมือง หรือนอกเมืองก็ตาม เป็นเครื่องยนต์ที่ดีมากๆ เครื่องหนึ่ง เท่าที่ผมเคยเห็น รถยนต์
ค่ายตราดาว ทำออกมาขายในประเทศไทย ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเครื่องยนต์เบนซิน ของ
Mercedes-Benz ในยุคก่อนหน้านี้แล้ว M271 เวอร์ชันใหม่ พ่วง Turbo กลายเป็นดาวเด่น
ประจำค่าย ได้ทันที

ทว่า สิ่งที่ผมเป็นห่วงในรถคันนี้ กลับไม่ใช่เรื่องของ พละกำลังจากเครื่องยนต์ หากแต่เป็นเรื่องของ
การเก็บเสียง การเกาะถนน ของระบบกันสะเทือน และการตอบสนองของพวงมาลัย ต่างหาก!

ประเด็นเรื่องการเก็บเสียงนั้น ไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่เลยถ้าคุณขับรถไม่เกิน 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เป็นส่วนใหญ่ เพราะการเก็บเสียงในช่วงความเร็วต่ำกว่าพิกัดที่บอกไป ยังคงทำได้ดี ตามมาตรฐาน
ที่ Mercedes-Benz ทั่วไปทุกรุ่น เคยเป็นมา

แต่เมื่อใช้ความเร็วพ่นจากระดับ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมงแล้ว เสียงลมที่ไหลผ่านตัวรถ จะเริ่มดังเข้ามา
ยังห้องโดยสารมากขึ้นเรื่อยๆ และจะค่อนข้างดังมาก เมื่อใช้ความเร็ว พ้นระดับ 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ขึ้นไป ซึ่งพอจะเข้าใจได้ว่า รถที่ไม่มีเสากรอบประตู และมียางขอบกระจกไม่ถึงกับมากเท่ารถยนต์
แบบ Saloon เก็บเสียงได้แค่นี้ก็ถือว่าดีแล้ว

แต่…สิ่งที่ผมรับไม่ได้ กับประเด็นเรื่องการเก็บเสียงนั้น มันไม่ได้เกิดขึ้น ณ ความเร็วระดับใดทั้งสิ้น
แค่ตอนจอดรถอยู่กับที่ คุณก็จะได้ยินเสียงที่ชวนให้ต้องเริ่มออกปากด่า…แทบจะในทันที ที่เม็ดฝน
หยดแรก หล่นลงมาจากฟากฟ้า กระทบโดน ผิวของหลังคารถ…

ช่วงกลางทศวรรษ 1990 คุณคงเคยได้ยินคำว่า “Honda หลังคากระดาษ” กันมาบ้างแล้วใช่ไหมครับ
มันไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะวัสดุที่ใช้ในการทำวัสดุซับเสียงบนหลังคา ของรถยนต์สมัยนี้ ก็เป็น
กระดาษ Recycle กันทั้งนั้น มันไม่ใช่เรื่องแปลกก็จริงอยู่

แต่กับ E-Class Coupe คันี้ ต้องถามกันก่อนเลยว่า ในชีวิตนี้ คุณเคยพักอาศัย หรือเคยมีบ้านเพื่อน
หรือเคยเข้าส้วมสาธารณะ ที่ใดสักแห่ง อาจเป็นในร้านอาหารริมทาง ต่างจังหวัด ที่มุงหลังคาด้วย
“สังกะสีตราห้าห่วง” ล้อมกำแพงทั้ง 3 ด้าน รวมถึงประตู ด้วยสังกะสี หรือเปล่าครับ? ถ้าเคย คุณ
ยังพอจะจำเสียงตอนที่ ฝนตก ลงบนหลังคาสังกะสี ได้ไหม?

ถ้าจำได้ ก็คงต้องถามต่อว่า “คุณจะเชื่อไหมครับว่า เสียงฝนตกบนหลังคาของ E-Class Coupe
รุ่นหลังคาเหล็ก ที่ไม่มี Panoramic Glassroof เนี่ย เสียงมันเหมือนกับ หลังคาสังกะสี
แบบที่คุณเคยได้ยินมาในชีวิตก่อนหน้านี้ เลยนั่นแหละ!!!!!!!??”

มีแต่คนตกใจ นิ่งอึ้ง และรับไม่ได้ หลังจากที่ได้ยินเสียงผม พรมนิ้วรัวๆ (ขอย้ำว่า พรมนิ้วจริงๆ
พรมอย่างแผ่วเบา ไม่ต้องออกแรงมากแต่อย่างใด) ลงบนหลังคาของ E-Class Coupe คันนี้  
ก็ใครจะไปนึกละ ว่าเสียงหลังคา ของรถคันละ 4.9 ล้านบาท จะดัง เป็นเสียงสังกะสี อย่างนี้
ซึ่ง Mercedes-Benz รุ่นไหนๆ ที่ผมเคยขับมา ก็ยังไม่เคยเจอเสียงน่าเกลียดขนาดนี้มาก่อนเลย

แม้กระทั่ง วันส่งคืนรถ พอดีว่า น้องอุ๋ย พีอาร์ กำลังปล่อยรถให้สื่อมวลชนท่านหนึ่ง อยู่
ผมก็ยังเรียกทั้ง 2 คน มาฟัง เสียง พรมนิ้ว บนหลังคา  โดยเทียบกัน 3 คัน คือ Honda Jazz
ที่จอดอยู่ใกล้กัน Merceds-Benz ML-Class ซึ่งจะมีเสียงหลังคาที่ฟังแล้วแน่นหน้า ตามปกติ
กับ E-Class Coupe คันนี้ และทั้ง 2 คน ก็อึ้งไป ไม่แพ้กับผมนักหรอก

พอจะเข้าใจว่า หลังคา เป็นอีกชิ้นส่วนหนึ่ง ที่สามารถลดน้ำหนักลงไปได้ และจะช่วยเพิ่ม
การใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพทางอ้อม อีกทั้ง เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยที่ ทาง
Mercedes-Benz สั่งสมมา 50 กว่าปี ก็ไม่น่าจะทำให้ใครเกิดอันตรายจากหลังคาที่บางขนาดนี้
หรอกครับ

แต่ ฝากวิศวกรชาวเยอรมันได้ไหม ว่า กรุณา อย่าขี้เหนียว กับวัสดุซับเสียงบนเพดาน
ถึงขนาดนี้อีกเลย มันน่าเกลียดมาก ถ้าคุณจะต้อง นั่งอยู่ในรถที่ติดขัด บนถนนใจกลาง
กรุงเทพมหานคร วันฝนตกพรำๆ แทนที่จะสุนทรีย์ กับเพลงโปรด จากเครื่องเสียงในรถ
แต่กลับต้องมาหงุดหงิดเพราะไอ้เสียงหลังคาที่ฟังแล้ว ไม่ต่างกับสังกะสีตราห้าห่วง
เอาเสียเลย แบบนี้ลูกค้าชาวไทย หรือแม้แต่ต่อให้ชาวอังกฤษ กับชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็น
2 ตลาดใหญ่สุด สำหรัรถพวงมาลัยขวา ของ Mercedes-Benz เองก็เถอะ ไม่น่าจะแฮปปี้แน่ๆ
โปรดแก้ไขปรับปรุงโดยด่วน!!

อีกประเด็นหนึ่ง ที่อยากจะฝากให้พิจารณาปรับปรุงอีกสักหน่อย คือเรือง การทรงตัว ในย่านความเร็วสูงๆ
ซึ่ง ทำผลงานได้ ผิดความคาดหมายไปเลยทีเดียว สำหรับช่วงล่างนุ่มๆ แบบ Elegance ที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้

สิ่งที่จะเกี่ยวข้อง กับการทรงตัวในย่านความเร็วสูงนั้น หากมองจากตัวรถแล้ว จะมีด้วยกันเพียง
5 ประเด็น คือ ระบบบังคับเลี้ยว ระบบกันสะเทือน ยาง การจัดการด้าน อากาศพลศาสตร์ และการ
วางตำแหน่งชิ้นส่วนต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับ 4 หัวข้อนี้ ให้เหมาะสม หรือ Packging

ระบบบังคับเลี้ยวของ E250 CGI Coupe Blue Efficiency ELEGANCE นั้น ยังคงเป็น
พวงมาลัย แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง แบบปรับน้ำหนักตามความเร็วรถ
(speed-sensitive sports steering) เพียงแต่มีการปรับปรุงให้แตกต่างจาก E-Class Saloon
W212 จนสัมผัสได้ว่า พวงมาลัยของทั้ง E-Class ทั้ง 2 ตัวถัง แตกต่างกันจริง

ไม่ว่าจะเป็นการปรับอัตราทดเฟืองพวงมาลัย ให้อยู่ในระดับ 14.5 : 1 หรือไวขึ้นประมาณ
7 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับ CLK รุ่นสุดท้าย และหากดูจากภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิกข้างบนนี้
จะเห็นว่า ตำแหน่งชุดเฟืองเกียร์ของพวงมาลัย ถูกติดตั้ง เยื้องล้ำขึ้นไปด้านหน้า เลยจาก
ตำแหน่งกึ่งกลางล้อคู่หน้า 80 มิลลิเมตร ด้วยความตั้งใจของวิศวกร ที่จะให้มีการคืนกลับเอง
ของพวงมาลัย หลังจากเลี้ยวรถเสร็จสิ้น ดีขึ้น อีกทั้ง ยังจงใจให้พวงมาลัย มีลักษณะช่วย
เสริมให้การบังคับเลี้ยว ออกไปในแนวทาง ดื้อโค้งนิดๆ (slight tendency to understeer)

การเพิ่มระบบเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบ Speed-Sensitive ซึ่งในช่วงความเร็วไม่เกิน 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ความหนืดของพวงมาลัย จะมากกว่า ขณะหมุนพวงมาลัยเพื่อถอยหลังเข้าจอด ประมาณ 1 ใน 3
นอกจากนี้ ยังมี electro-hydraulic speed-sensitive servo valve เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นคง และนิ่ง
ของพวงมาลัย ในขณะใช้ความเร็วสูง

ชุดเสื้อเฟืองเกียร์พวงมาลัย และ valve body ผลิตจากอะลูมีเนียม ขณะที่ชุดแร็คพวงมาลัย
หล่อขึ้นรูปด้วยเหล็กกล้า high-strength steel ด้วยความพยายามในการจัดวางตำแหน่ง
ให้เหมาะสมกับชิ้นส่วนอื่นๆ รายล้อมรอบ ชุดเฟืองเกียร์พวงมาลัย จึงมีน้ำหนักเบากว่า
ของเดิมใน CLK ประมาณ 0.8 กิโลกรัม

ส่วนปั้มเพาเวอร์ของระบบพวงมาลัย มี โซลินอยด์ ควบคุมการจ่ายน้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์
ด้วยอีเล็กโทรนิคส์ ตามความต้องการในขณะขับขี่ ถ้าในขณะขับทางตรง ระบบจะลดแรงดัน
น้ำมันลงมา เพื่อช่วยลดความสิ้นเปลืองน้ำมัน ขณะเดียวกัน แกนพวงมาลัยยังถูกออกแบบ
ให้ยุบตัวได้ถึง 100 มิลลิเมตร หากเกิดอุบัติเหตุ เพื่อลดการบาดเจ็บของผู้ขับขี่

การตอบสนองของพวงมาลัยนั้น เราต้องแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น นั่นคือ การขับขี่ในเมือง
การขับขี่ บนทางด่วน หรือทางหลวง และการตอบสนองต่อการบังคับเลี้ยว ในภาพรวม

หากคุณคำนึงถึงการเลี้ยวลัดเลาะตามตรอกซอกซอย เป็นสำคัญ น้ำหนักของพวงมาลัยในย่าน
ความเร็วต่ำ นั้น ถือว่า พอกัน ใกล้เคียงกันกับ C-Class W204 และถือว่า เบากำลังดี ไม่เบาไป
หรือหนืดไป การบังคับเลี้ยว ทำได้ดีน่าพอใจ และมีระยะฟรีที่ ผมมองว่า กำลังดี ไม่มาก
ไม่น้อยเกินไป ความนิ่งในการเข้าโค้ง อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นช่วงความเร็วใดก็ตาม

ถ้าคุณอยากรู้ว่า พวงมาลัย ตอบสนองฉับไว ใกล้เคียงกับรถแนวสปอร์ต คูเป้ คันอื่นๆ หรือไม่
ก็คงต้องตอบว่า ค่อนข้างไว ครับ ไวจนชวนให้นึกถึง ทั้ง Subaru Legacy รุ่นปี 2006 อันน่า
ประทับใจ กับ Mazda MX-5 ใหม่ เลย กล่าวคือ แค่คิดจะเปลี่ยนเลน ไม่ต้องหักพวงมาลัยมาก
แค่หักเพียงนิดเดียว พวงมาลัยก็จะพาให้รถเปลี่ยนเลนไปอย่างฉับพลัน กำลังดี ขอร้องว่า
ประเด็นนี้ ดีอยู่แล้ว อย่าไปปรับแก้ไขอะไรเพิ่มเติมจากนี้อีกเลย เชียวนะครับ บรรดาวิศวกร
ชาวเยอรมันทั้งหลาย!! เพราะรถที่มีบุคลิกปราดเปรียวอย่าง Coupe 2 ประตู ต้องการพวงมาลัย
ที่ตอบสนองได้ในลักษณะนี้อยู่แล้ว

แต่ถ้าถามว่า น้ำหนัก หรือความหนืดของพวงมาลัย ดีพอไหม ถ้าจะต้อง ขับขี่ด้วยความเร็วสูง
ขอตอบด้วยความสัตย์จริงว่า “เบาไปหน่อยครับ” ระยะฟรี ที่มีพอสมควร ใกล้เคียงกับ พวงมาลัย
ของ C-Class W204 แต่ ความหนืดของพวงมาลัยนั้น ควรจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้อีกสักหน่อย
จริงอยู่ว่า เมื่อเทียบกับรุ่น Saloon W212 แล้ว พวงมาลัยของรุ่น Coupe มีน้ำหนักดีกว่ากัน
นิดเดียว แต่ ก็ยังไม่พอ สำหรับคนชอบขับรถ และอยากได้ รถที่ขับออกทางไกลแล้วไม่เครียดนัก
ขับสบายๆ หนะ ได้เลย แต่ถ้าจะต้องรีบทำเวลากันขึ้นมา ผมว่า ยังต้องขอเพิ่มความหนืดอีกสักหน่อย
จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการเปลี่ยนเลน เร่งแซงรถบรรทุก หรือไล่ตามรถคันข้างหน้า ได้มากขึ้น
ยิ่งกว่านี้อีกไม่น้อยเลยทีเดียว

ระบบกันสะเทือน ของ E-Class Coupe แทบไม่ต้องพึ่งพาเซ็นเซอร์ หรืออุปกรณ์
อีเล็กโทรนิคส์ อื่นใดทั้งสิ้น และยิ่งเมื่ออ่านใน เอกสารสำหรับสื่อมวลชน ภาค
ภาษาอังกฤษ ของรถรุ่นนี้แล้ว พอจะเข้าใจได้ว่า ทีมวิศวกร ตั้งใจปรับปรุงให้ช่วงล่าง
ของ E-Class Coupe ตอบสนองในแนวทางที่ “นุ่มนวลยิ่งขึ้น” เพื่อการขับขี่ที่
นุ่มสบาย (Comfort Ride) โดยเฉพาะรุ่น Elegance ที่เน้นการเยื้องย่างกราย เป็นหลัก

ด้านหน้า เป็นแบบ แท็คเฟอร์สันสตรัต 3 จุดยึด ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ อิสระ MB Multi-Link
ซึ่งถูกออกแบบให้ชิ้นส่วนที่ต้องยึดติดกับล้อ และดุมล้อ ส่วนใหญ่ เช่น Struts และ Sub Frame
ทำจากอะลูมีเนียม ขณะที่ ตัว Rear-Axle Sub-Frame ของระบบกันสะเทือนหลัง ทำจาก เหล็กกล้า
high-strength steel มาพร้อมเทคโนโลยี ช็อกอัพ แบบ AGILITY CONTROL

ในช่วงความเร็วต่ำ ในเมือง คุณจะยังคงพบความนุ่มสบาย ในแบบที่หลายๆคนเคยชื่นชอบ
จาก Mercedes-Benz รุ่นเก่าๆ การซับแรงสะเทือน ทำได้ในระดับปานกลางค่อนข้างดี
แล่นผ่าน หลุมบ่อ และเนินลูกระนาด ไปอย่างสบายๆ ไม่ถึงกับราบเรียบจนไร้สัมผัส
หากแต่ พอให้รู้แค่ว่ากำลังขับผ่านพื้นผิวที่ไม่เรียบอยู่นะ แค่นั้น ที่เหลือ ระบบกันสะเทือน
จะดูดซับเอาไว้ให้ในระดับหนึ่ง 

ถ้าคุณใช้ความเร็วในระดับเดินทาง ราวๆ 80 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง คุณจะพบว่า ระบบกันสะเทือน
ถูกปรับแต่งมา ให้คุณเดินทางอย่างสบายๆ เรื่อยๆ chil chil ขับสบาย รื่นรมย์ใช้ได้ เหมาะแก่การ
ขับขี่ในแนว Cruising ไปเรื่อยๆ เป็นที่สุด

แต่ ถ้าคุณใช้ความเร็วสูงกว่านี้ หลังจากช่วง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมงไปแล้ว ตัวรถจะเริ่มออกอากาศ
พริ้วไปตามพื้นผิวถนน ไม่ให้ความมั่นใจในการขับขี่ความเร็วสูงเท่าที่ควร ต้องเริ่มใช้สมาธิในการ
ควบคุมพวงมาลัยของรถมากขึ้น และยิ่งเมื่อใช้ความเร็วเกินกว่าระดับ 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผม
แอบพบอาการ ท้ายแกว่งเล็กๆ ดุกดิกๆ นิดหน่อยอีกด้วย ซึ่งผมไม่เคยพบใน Mercedes-Benz
รุ่นอื่นๆมาก่อน ยิ่งถ้าเทียบกับ E-Class Saloon ใหม่ด้วยกันแล้ว ช่วงล่างของรุ่น Avantgarde
ให้ความมั่นใจในย่านความเร็วสูง ได้มากกว่า รุ่น Elegance ชัดเจน!!

เพราะช่วงล่างของรุ่น Elegance นั้น หากคุณใช้ความเร็วสูงๆ ตัวรถจะทำให้คุณสัมผัสได้ว่า
อากาศที่ไหลผ่านใต้ท้องด้านหน้า มันช่วยยกส่วนหน้าของรถมากไปหน่อย แรงกดหรือ
Down Force สำหรับรถยนต์ประเภทนี้ มันควรจะมากกว่า รถยนต์ Saloon ด้วยซ้ำ แต่นี่
กลับกลายเป็นว่า รุ่น Saloon ใช้ความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่ากัน แม้ว่าด้านหน้า จะ
เบาๆ เหมือนลอยๆ พอๆกัน แต่น้ำหนักที่กดลงบนบั้นท้ายซึ่งมากกว่า ทำให้อาการบั้นท้าย
แอบดิ้นเล็กๆนั้น ไม่เกิดขึ้นในรุ่น Saloon แต่อย่างใด

ตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนหนึ่ง อาจอยู่ที่ความพยายามอย่างจงใจ ในการทำบั้นท้ายรถให้สั้นลง
เพราะ ระยะห่างจาก ล้อหลัง จนถึงปลายสุดกันชน หรือว่า Rear Overhang นั้นค่อนข้าง
สั้นกว่ารถยนต์ คูเป้ รุ่นอื่นใดที่ผมเคยเจอมาก่อนหน้านี้ และยังไม่นับถึงความพยายามที่จะ
เซ็ตรถออกมา ให้เน้นการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ชิ้นส่วนใดที่ต้องลดน้ำหนัก
วิศวกรเยอรมัน ก็จับมาเข้าคอร์ส ลดน้ำหนักกันเสียเยอะ จนกระทั่ง ได้รถที่ประหยัดน้ำมันขึ้น
แต่การทรงตัวในย่านความเร็วสูง กลับเริ่มไม่น่าไว้วางใจ ราวกับว่า ต้องแลกคุณประโยน์อย่างใด
อย่างหนึ่ง กับสิ่งที่ต้องการจะมุ่งไป

ขณะเดียวกัน บุคลิกของตัวรถเมื่ออยู่ในโค้งนั้น ยังถือว่า มาในแนวทางของรถยนต์ที่ได้รับการ
ปรับตั้งระบบกันสะเทือนมาในแนวนุ่มนวล เพราะหากคุณหักเลี้ยว เข้าโค้งหนักๆ ต่อให้ตัวรถ
จะเอียงกะเทเร่ขนาดไหน รถก็จะเลี้ยว ไปตามโค้ง และช่วงล่างด้านหลัง ก็จะขืนตัวให้จนถึง
จุดสูงสุด เท่าที่ตัวมันเองพอจะรับได้แล้ว ถ้าคุณยังใช้ความเร็วคงที่ต่อจากนั้น หรือเพิ่มมากกว่านั้น
อีกนิดหน่อย ไม่เกิน 5-10 กิโลเมตร/ชั่วโมง จากความเร็วเดิมในโค้ง รถก็จะยังคงเข้าโค้ง ไปตามที่
คุณสั่งให้มันทำ ตามนั้น แต่ถ้าเกินกว่านั้น ก็อาจจะมีสิทธิ์ หลุดได้ เหมือนรถยนต์ทั่วๆไป เป็นปกติ

 

ระบบห้ามล้อ เป็น ดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ โดนจานเบรกคู่หน้า มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 295 มิลลิเมตร
หนา 28 มิลลิเมตร เพราะมีรูระบายความร้อนมาให้ เสริมด้วย ส่วนจานเบรกคู่หลัง มีเส้นผ่า
ศูนย์กลาง 300 มิลลิเมตร หนา 10 มิลลิเมตร พร้อมทั้งสารพัดเทคโนโลยีช่วยเหลือ ตั้งแต่
ระบบรวมโปรแกรมควบคุมเสถียรภาพ ESP (Electronic Stability Program) ซึ่งรวมระบบ
ป้องกันล้อล็อก ABS ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี ASR (Acceleration Skid Control) ระบบ เพิ่ม
แรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน BAS (Brake Assist System) และระบบ ADPATIVE BRAKE
อันเป็นเทคโนโลยีล่าสุด ซึ่งจะทำงานในทันทีที่เซ็นเซอร์พบว่า ผู้ขับขี่ถอนคันเร่งอย่าง
ฉับพลัน แรงดันน้ำมันเบรกเบรก จะถูกปรับเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับ
การหยุดรถอย่างฉุกเฉิน และเมื่อผู้ขับขี่เหยียบเบรกอย่างรุนแรง ภายในเสี้ยววินาที ระบบฯ
จะช่วยชะลอความเร็ว และหยุดรถได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ด้วยระยะเบรกที่สั้นกว่า และ
ใช้เวลาน้อยกว่าปกติ

อีกทั้งยังมี พร้อมฟังก์ชัน HOLD ของเบรกมือไฟฟ้า ในขณะคลานไปตามการจราจรติดขัด
ถ้าเข้าเกียร์ D และกดปุ่ม HOLD เอาไว้ ระบบจะป้องกันไม่ให้ รถเคลื่อนตัวไปข้างหน้า
โดยไม่จำเป็นต้องเหยียบเบรกตลอดเวลา จนกว่าจะต้องการออกรถ ค่อยเหยียบคันเร่ง
หรือไม่ก็ กดสวิชต์ ยกเลิกการทำงาน รวมทั้งยังมีระบบ Start-Off Assist ที่ช่วยในกรณี
รถติดบนทางลาดชัน หากเข้าเกียร์ D ค้างไว้ แล้วถอนเท้าออกจากเบรก รถจะหยุดนิ่ง
ในเวลาไม่กี่วินาที เพื่อให้คุณเหยียบคันเร่ง ส่งรถเคลื่อนตัวขึ้นไปตามทางลาดชันได้
อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องกลัวว่ารถจะไหลไปชน รถคันข้างหลัง

และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ การตอบสนองของระบบเบรก ใน E250 CGI Coupe คันนี้ ถึงทำได้
น่าประทับใจเกินคาด แป้นเบรกที่นุ่มเท้า เหมือนมีแรงต้าน พร้อมจะช่วยชะลอความเร็วตลอดเวลา
ไม่ว่าจะแล่นอยู่ในเมือง ที่จะเผชิญกับสภาพค่อยๆเบรก ค่อยๆ ปล่อยหรือในสภาพ ต้องหยุดรถ
กระทันหัน ให้กับวินมอเตอร์ไซค์พลีชีพ ที่ตัดหน้าออกมาจากซอย และยิ่งโดยเฉพาะ ช่วงที่เรา
จะต้องลดความเร็วคงมาอย่างเร่งด่วนจาก ระดับ 240 กิโลเมตร/ชั่วโมง เหลือครึ่งหนึ่ง คือระดับ
120 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น ถือว่า ระบบเบรก ของ E-Class Coupe ทำได้ดีจนน่าประทับใจเป็น
อันดับต้นๆ ของรถที่เราเคยนำมา ทดลองขับกันเลยทีเดียว

 

สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นจุดแกร่งของแบรนด์ Mercedes-Benz ซึ่งเป็นที่จดจำของผู้คนทั่วโลก คือความเอาใจใส่ในเรื่อง
ความปลอดภัยของทั้งผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และรวมไปถึง คนเดินถนน ซึ่งไม่ใช่แค่ทำรถออกมาให้ผ่านมาตรฐาน
หากแต่ยังต้องเหนือกว่าทุกมาตรฐานทั้งปวงอีกด้วย และ E-Class Coupe ก็เป็นรถยนต์อีกรุ่นที่ไม่ได้รับการ
ยกเว้นแต่อย่างใด

นอกเหนือจากการติดตั้งระบบความปลอดภัย แบบ PRE-SAFE ซึ่งจะทำงานในทันทีที่ ระบบตรวจสอบพบ
ว่าผู้ขับขี่กำลังเหยียบเบรกกระทันหัน เข็มขัดนิรภัยจะตรึงแน่นขึ้น เพื่อรั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารเอาไว้กับเบาะ
กระจกหน้าต่าง และซันรูฟ (ถ้ามี) จะถูกเลื่อนปิดเองอย่างรวดเร็วโดยอัตโนมัติ เตรียมพร้อมให้ทุกระบบความ
ปลอดภัย เช่น ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้าง และม่านลมนิรภัย รวม 6 ใบ พนักศีรษะ NECK-PRO ฯลฯ เข้า
ประจำที่ พร้อมทำงานแล้ว

ภายใต้เส้นสายอันสวยงามของ E-Class Coupe สิ่งที่ซ่อนอยู่นั้น คือโครงสร้างตัวถังนิรภัย กระจายแรงปะทะ
แบบ Crumple Zone (ที่ วิศวกรของ Mercedes-Benz คิดค้นเป็นรายแรกเมื่อ หลายสิบปีก่อน) ที่ถูกปรับปรุง
ให้มีพื้นที่รองรับและกระจายแรงปะทะ มากขึ้น และแข็งแรงขึ้น ทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง เมื่อเทียบกับ 
CLK รุ่นก่อน โดย ชิ้นส่วนโครงสร้าง กว่า 60 เปอร์เซนต์ จะถูกผลิตขึ้นจากเหล็กแบบ High Tensile Steel 

 
 

โครงสร้างเหนือซุ้มล้อคู่หน้า จะรับแรงปะทะ และส่งระจายต่อไปยัง เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar  โดยมีคาน
Crossmember ทำจาก อะลูมีเนียม รับและกระจายแรงต่อไปยัง คาน Side Members ที่ถูกขยายให้มีขนาด
ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกัน Subframe ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและติดตั้ง ของทั้งเครื่องยนต์ ระบบพวงมาลัย
และระบบส่งกำลัง จะสามารถยุบตัว และซับแรงกระแทก จากการชน เพื่อส่งต่อไปยังพื้นตัวถังโครงสร้าง
Floor Side Member ที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ ด้านล่าง ใต้ห้องโดยสาร นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุง ผนังห้อง
เครื่องยนต์ หรือ Firewall ให้หนาขึ้นกว่าเดิม 50 เปอร์เซนต์ โดยแบ่งชิ้นส่วนออกเป็น 4 ชิ้น และ นั่นช่วย
ให้วิศวกร สามารถคำนวน และออกแบบ รวมทั้งเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสมกับความจำเป็นต่อหน้าที่รองรับ
การชน ของแต่ละชิ้นส่วน

 
 
 

นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบโครงสร้างสตรัต แบบพิเศษ รวมทั้ง พื้นที่รับแรงกระแทกบริเวณซุ้มล้อ อีกทั้ง
บริเวณ สเกิร์ตด้านข้าง ยังถูกออกแบบให้แข็งแรงขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อรองรับในกรณีเกิดการชน แบบครึ่งคันหน้า
ป้องกันไม่ให้ล้อยาง พุ่งทะลุเข้ามาถึงพื้นที่วางขา และแป้นคันเร่ง กับเบรก ได้โดยง่าย

ไม่เพียงเท่านั้น วิศวกรของ Mercedes-Benz ที่ Sindelfingen ในเยอรมัน ยังให้ความใส่ใจกับ จุดเชื่อมตัวถัง
ระหว่างพื้นรถ และโครงสร้างเปลือกตัวถังด้านบน ซึ่งช่วยทำให้ ลดการบิดตัวลงในขณะขับขี่ได้อีก 24 เปอร์เซนต์

ความพยายามทั้งหมด ทำให้ Mercedes-Benz สามารถสร้าง E-Class Coupe ออกมา ผ่านมาตรฐาน และข้อกำหนด
ของทาง EuroNCAP จากยุโรป และ  NHTSA จากสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ่านการทดสอบ การชน
จากด้านหลัง ที่ความเร็วถึง 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง

 


********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

เรายังคงใช้มาตรฐานเดิมในการทดลองจับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยกันตามปกติ
นั่นคือ เติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron ที่ปั้ม Caltex พหลโยธิน (เยื้องโชว์รูม เบนซ์ ราชครู)
ใกล้สถานีรถไฟฟ้า อารีย์ ฝั่งขาเข้า ไปยังอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และเช่นเคย รถยนต์ระดับนี้
อัตราการกินน้ำมัน ดูเหมือนจะได้รับความสนใจจากลูกค้าที่คิดจะซื้อ ไม่มากนัก จึงตัดสินใจ
ไม่เขย่ารถ แต่จะใช้วิธี เติมน้ำมัน เอาแค่หัวจ่ายตัด ก็พอ ทั้งขาไป และขากลับ ให้เหมือนกัน

 
 
จากนั้น Set 0 บน Trip Meter ออกรถจากปั้ม เลี้ยวกลับไปยังถนนพหลโยธิน มุ่งหน้าลัดเลาะ
ไปตามซอยอารีย์ ออกไปทางซอยโรงเรียนเรวดี มุ่งสู่ ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วน
สายอุดรรัถยา มุ่งหน้าไปยังปลายสุดทาง ที่อยุธยา เลี้ยวกลับย้อนมาขึ้นทางด่วนอีกครั้ง
ภายใต้มาตรฐานเดิม “ขับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน (ผม 95 กิโลกรัม ส่วน
น้องกล้วย BnN แห่ง The Coup Team ของเรา 50 กิโลกรัม)” โดยเปิด Cruise Control ให้ทำงาน
 
 
เมื่อถึงทางลงอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราก็เลี้ยวซ้าย เข้าถนนพหลโยธิน กลับรถอีกครั้งหน้าโชว์รูม
เบนซ์ ราชครู แล้วเลี้ยวกลับเข้าไปเติมน้ำมัน Caltex Techron 95 ที่ตู้เดิม และ หัวจ่ายเดิม
 
ต่อจากนี้ คือตัวเลขที่ E 250 CGI Coupe Blue Efficiency ทำได้..
ระยะทางแล่นทั้งหมด ตามมาตรวัด Trip Meter อยู่ที่ 93.0 กิโลเมตร
 
 
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.82 ลิตร
 
 
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 13.63 กิโลเมตร/ลิตร ถือว่า ทำได้ดีไม่เลวเลย สำหรับรถที่ใช้เครื่องยนต์
ขนาดแค่ 1.8 ลิตร แต่ต้องลากน้ำหนักตัว รถเปล่า 1,580 กิโลกรัม (รวมน้ำหนักบรรทุกแล้ว 2,050 กิโลกรัม)

 

และถ้าอยากรู้ว่า น้ำมัน 1 ถัง จะสามารถพา รถคันนี้ แล่นไปได้ไกลแค่ไหน เราก็ทดลองให้ดูกันดังนี้
เมื่อ เสร็จจากการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ด้วยการเติมน้ำมันกลับเข้าไปจนเต็มถัง แค่หัวจ่ายตัด
เรา Set 0 บน Trip Meter จากนั้น ก็ขับใช้งานตามปกติ มีทำ Clip Video ซึ่งมีบางช่วง ที่ต้อง เร่งเต็มที่
จากนั้น ก็ขับไปถ่ายรูป กันที่ย่าน ABAC บางนา และต้องไปถึง 2 ครั้ง ขับเข้าเมือง ไปสยามสแควร์
รวมทั้ง ไปทำธุระแถววิภาวดีรังสิต เบ็ดเสร็จ เมื่อส่งรถคืน น้ำมันที่เหลืออยู่ในถังนั้น มีประมาณ 1 ใน 4
ของถังน้ำมันขนาด ลิตร และระยะทางทั้งหมดที่แล่นไปแล้วคือ 451 กิโลเมตร นั่นหมายความว่า ต่อให้
ขับอย่างไรก็ตาม กว่าที่ไฟสัญญาณเตือนให้คุณเติมน้ำมันอีกครั้ง จะสว่างขึ้นมาให้เสียวสันหลังวาบเล่นๆ
ก็ต้องมีระยะทางราวๆ 550 – 500 กิโลเมตร ขึ้นไปแน่ๆ

 
 
เท่ากับว่า E250 CGI Coupe คันนี้ สอบผ่านในเรื่องความประหยัดไปแล้วแน่นอน!! อย่างน้อย ถือได้ว่า
ประหยัดกว่า Mercedes-Benz เครื่องยนต์เบนซิน รุ่นก่อนๆ ที่เราเคยทดลองกันมา ก็หลายคันอยู่
แต่ ก็ถือว่า ไล่เลี่ย พอกันกับ C250 CGI Blue Efficiency ซึ่งใช้เครื่องยนต์เดียวกัน ดังนั้น ค่าเฉลี่ย
ที่แตกต่างกันราวๆ 0.5 กิโลเมตร/ลิตร ผมมองว่า เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ในกรณีนี้ ประหยัดกว่า
BMW 325i Coupe อีกต่างหาก (เทียบกับเครื่องยนต์เบนซินก็พอครับ ไม่ต้องเทียบกับ Diesel Turbo)

********** สรุป **********
ถ้ารักกันจริง เพิ่มเงินอีก 3 แสน ถอย E250 CGI Coupe Avantgarde เลยเถอะ!

ผมพอจะนึกภาพออกว่า คุณผู้อ่าน แต่ละท่าน จะทำหน้าอย่างไร เมื่ออ่านเรื่องราวทั้งหมด มาจนถึงบรรทัดนี้
หลายคน คงรู้สึกสงสัยว่า ทำไม รถสวยๆ อย่างนี้ แถมยังมี ตราดาวดวงเบ้อเร่อ แปะหราอยู่หน้ารถ ถึงได้มีครบ
ทั้งข้อดี และข้อควรปรับปรุง ในสัดส่วนที่ พอกันเลย

ไม่ใช่คุณผู้อ่านเท่านั้นหรอกครับ ผม กับ ตาแพน ก็เช่นเดียวกัน ทันทีที่เราเปิดประตูลงจากรถคันนี้
เรา 2 คน ถึงกับตั้งคำถามในใจว่า ตกลงแล้ว นี่เรากำลังขับ E-Class Coupe หรือ C-Class Coupe
กันแน่?

แต่พอนึกได้ว่า Mercedes-Benz กำลังทำ C-Class Coupe แท้ๆ กันอยู่ และจะคลอดในเร็วๆนี้
ก็ทำให้ผมมั่นใจได้แล้วละว่า  รถที่ขับอยู่นี้ เป็ E-Class Coupe แน่นอน เพียงแต่ว่า เราอาจจะ
คาดหวังกับมันมากไปหรือเปล่า?

ไม่หรอก เราไม่ได้คาดหวังมากเกินไป เพราะโดยปกติ มาตรฐานของ Mercedes-Benz นั้น สูงส่ง
ตลอดมา และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป สมดังสโลแกนใหม่ล่าสุดของพวกเขาที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อ
ต้นปีที่ผ่านมานี้หมาดๆว่า The Best or Nothing มาตรฐานเหล่านี้ ถูกรับรู้โดยทั่วสากลโลกมานาน
หลายสิบปี ว่ารถยนต์ตราดาวนี่แหละ คือผู้กำหนดมาตรฐาน ที่ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายอื่นๆ ต้องทำตาม
ในหลายๆเรื่อง

แต่เมื่อมานั่งนึกดูอีกที ผมพบว่า สิ่งที่ทำให้ผมต้องตื่นจากความฝัน มาเจอความจริงที่่น่าผิดหวังนั้น
แท้จริงแล้ว มันมีอยู่เพียงไม่กี่ประเด็นเท่านั้น และอันที่จริงแล้ว มันมาจาก ระบบกันสะเทือนของ
รถคันนี้ เท่านั้นเองแหละ!!

จริงอยู่ ข้อดีอันน่าประหลาดใจ ของ E-Class Coupe ภายใต้เรือนร่างที่สวยเฉียบ โฉบเฉี่ยว จน
“กระชาก”ทุกสายตาบนป้ายรถเมล์ ให้หันมาจับจ้องรถคันนี้ จนเหลียวหลัง ทำเอาคอแทบเคล็ด
ไปเลยแล้ว ยังอยู่ที่ตำแหน่งนั่งขับ ซึ่งผมว่า ปรับให้เข้ากับสรีระของผู้คนทั่วไป ไม่ยากอย่างที่
กลัวกัน ฟังก์ชันการทำงานของเบาะนั่ง ก็ชวนให้เดินทางไกลพอได้อยู่ แต่อาจมีเสียงบ่นว่าเมื่อย
กันบ้างนิดหน่อย ว่ากันเป็นรายบุคคลกันไป เครื่องยนต์ ที่แรงเร้าใจ ประหยัดน้ำมันได้ ดีเกินคาด
แถมด้วยระบบเบรก ที่ทำงานได้นุ่มนวล แต่หน่วงความเร็วได้อย่างฉับไว แถมยังนุ่มนวล ไม่ชวน
หัวทิ่มอีกต่างหาก เป็นระบบเบรกที่ “ตอบสนองได้ ประเสริฐมากๆ ในทุกรูปแบบการเหยียบเบรก”

แต่ การติดตั้งช่วงล่างแนวนุ่มนวล อันเป็นอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งจะมีเป็นมาตรฐานมาให้ในรุ่นหรู
อย่าง Elegance มาให้นั้น กลับกลายเป็นว่า ทำให้รถคันนี้ มีบุคลิกที่ ก้ำกึ่งระหว่าง C-Class และ
E-Class ใหม่ กันอย่างที่เห็น

ความเป็นจริงที่เราค้นพบตลอด 3 วัน 2 คืน ที่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับรถคันนี้ก็คือ ช่วงล่างของรุ่น Elegance นั้น
ผมว่า ไม่เหมาะกับรถในแนว 2 ประตู อันโฉบเฉี่ยวแบบนี้ มันอาจจะพาคุณเดินทางลัดเลาะไปตามตรอก
ซอกซอย ในกรุงเทพมหานครได้ อย่างนุ่มสบายกำลังดี มีแอบตึงตังบ้างนิดเดียว เมื่อพบเจอลูกระนาด
หรือหลุมบ่อบางรูปแบบ

แต่ทันทีที่คุณพารถคันนี้ ทะยานขึ้นไปถึงระดับ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนทางด่วน คุณจะพบว่า ช่วงล่าง
ของรถคันนี้ มันนุ่มเกินไป จนคิดว่า ความนุ่มในระดับนี้ ควรสงวนเอาไว้ให้ E-Class Saloon W212 รุ่น
E200 CGI Blue Efficiency อย่างเดิมหนะ ดีแล้ว

เมื่อมาประมวลความทรงจำ ที่ผมเคยได้รับ จากช่วงล่าง แบบ Avantgarde ใน Mercedes-Benz E-Class
W212 รุ่นย่อย E300 และ E500 ใหม่ ที่ผมเคยขับขึ้นมาจากกระบี่ – หัวหิน – กรุงเทพฯ ในทริปที่ไป
กับทาง Mercedes-Benz ครั้งนั้น ถ้าคุณยังจำได้ ผมแทบไม่บ่นเรื่องช่วงล่างของรถรุ่น Avantgarde
เลย อาจจะมีบ่นเรื่องพวงมาลัยที่เบาไปหน่อย แต่ก็ดูจะเป็นเรื่องเดียวเท่านั้นที่ผมจะบ่น

และ ถ้าในเมื่อ ช่วงล่างของ E200 CGI Elegance Saloon ก็เป็น Setting เดียวกัน ไม่ต่างกันกับ 
E250 CGI Coupe Elegance คันที่ผมขับอยู่นี้เลย แล้วละก็ พอจะอนุมานได้ว่า ช่วงล่างของรุ่น 
Avantgarde สำหรับ E-Class ทั้ง 2 ตัวถัง น่าจะ Set มาใกล้เคียงกัน หรือไม่ก็อาจจะเหมือนกันเลย

หากเป็นไปตามตรรกะนี้ เท่ากับว่า ต่อจากนี้ ถ้ามีใครสักคนมาถามผมว่า E-Class Coupe น่าเล่นไหม?
น่าซื้อหามาครอบครอง เป็นเจ้าของหรือไม่ ผมว่า ก่อนที่ผมจะตอบคำถามนั้นให้กับคุณ หรือใคร
คงต้อง ถามกลับไปว่า

1. ปกติ เป็นคนขับรถช้าๆ เรื่อยๆ หรือเร็วๆ เร่งๆ
2. คุณชอบรถที่มีช่วงล่างนุ่มๆ หรือ แข็งๆ หรือ กำลังดี
3. แคร์ไหม ที่รถของคุณ อาจจะมีอุปกรณ์น้อยกว่ารุ่นอื่นๆ นิดหน่อย

ถ้าใน 3 คำถามข้างบนนี้ คุณเลือกตอบข้อแรกมากกว่า เลือกรุ่น Elegance ที่เห็นอยู่นี้ ก็อาจจะเพียงพอ
แน่นอนว่า ประหยัดเงินไปได้มากกว่า ได้รถมาใช้ พร้อมอุปกรณ์ ครบเท่าที่จำเป็นต้องมี แถมด้วยเบาะปรับได้
แต่คุณต้องยอมรับได้ กับบุคลิกการขับขี่ ของรถรุ่น Elegance ที่จะ มาในแนวนุ่มๆ นิ่มๆ แต่พวงมาลัยไว
แถมยังต้องทนฟังเสียงฝนตกบนสังกะสี จากหลังคาเหล็กอีกต่างหาก

ถ้าหาก คำตอบของคุณ หนักไปในทางข้อหลังๆ คือ ชอบขับรถเร็ว ชอบช่วงล่างที่เฟิร์มกว่ารุ่นปกติสักหน่อย
ข้อสรุปของผมที่จะมีต่อ E-Class Coupe ก็คือ “มีเงินซื้อรถประเภทนี้ ทั้งที ก็กรุณา “อย่า งก” จ่ายทั้งที ถอย
E250 CGI Coupe “Avantgarde” แถมชุดแต่ง AMG คันละ 5,299 ล้านบาท ไปเลย! เพิ่มอีกแค่คันละ 3 แสนบาท”
แล้วในงบประมาณ 4.5 – 6 ล้านบาท สำหรับรถยนต์ Coupe 2 ประตูแล้ว คุณจะยังมีทางเลือกอื่นใดได้อีกบ้าง?

BMW 3 Series Coupe & Convertible คือคู่แข่งที่พอฟัดพอเหวี่ยงที่สุด แม้ว่าขนาดตัวรถจะเล็กกว่า
นิดเดียว ก็ตาม มันก็ไม่ใช่ปัญหามากนัก พื้นที่เหนือศีรษะเบาะหลัง เยอะกว่า E-Class Coupe ใหม่นิดนึง
คันเร่งตอบสนองไวกว่ากันนิดเดียว อัตราเร่ง และการกินน้ำมัน ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะมองรุ่นย่อยไหน
แต่ ต้องเลือกรุ่นให้ดีๆ เพราะ พวงมาลัยของ 325i ก็ดูจะกระชับ ไวเกินเหตุ แถมระยะฟรีน้อยจนเกินไป
เกาะถนน แน่นหนึบ ไม่เว้นแม้แต่แอ่งหรือเนินเล็กๆ อันเกิดจากการทรุดตัวของชั้นดินใต้ผิวถนน เสียจน
ต้องเกร็งมือจับพวงมาลัยแน่นๆ อ้อ! มีเคล็ดลับนิดหน่อย ถ้าอยากได้รุ่นที่ช่วงล่าง ไม่กระเทือนเซี่ยงจี๊ มากนัก
มองรุ่นเปิดประทุนไว้ แต่ต้องทำใจไว้หน่อยว่า รุ่นนี้เป็นรถนำเข้า ที่มีปัญหาน้ำเข้ารถ ทั้งทีผ่อนไปได้เพียง
แค่ 3 เดือน !! (ไม่เชื่อ? เปิดอ่านในรีวิว รถรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ ใน Headlightmag.com ของเราได้เลย!)
ส่วน 320d Coupe สุดเลิฟของเรา ก็ดันแพงไปหน่อย เมื่อเทียบกับรายการออพชันติดรถ ที่มีให้น้อย เสียจน
ชวนให้คิดว่า Chevrolet Aveo ยังจะให้ข้าวของมาเยอะกว่ากันเลยแหะ!!

Audi A5…คันนี้ผมเคยแค่ลองหย่อนก้นลงนั่งเฉยๆ ยังไม่เคยมีบุญวาสนาได้ลองขับ และสารภาพกันตรงๆคือ
ทุกวันนี้ ผมยังไม่รู้ว่า ตกลงแล้ว ยนตรกิจ เขายังจะทำตลาดรถยี่ห้อนี้ในเมืองไทยอยู่หรือเปล่าอะ? ทุกอย่างช่างดู
เงียบเชียบ เสียจนชวนให้นึกว่า การย้ายออฟฟิศไปอยู่บางชัน มันช่างไม่ต่างอะไรกับการนำคนทั้งบริษัทไปอยู่ใน
“แดนสนธยา” หรือจะให้ไปมองหากับทาง MTM ? ผมว่าเขาก็ไม่มีรถให้ทดลองขับแน่นอนเช่นกัน

Nissan Fairlady Z (370Z) ถ้าคุณรักการขับรถเป็นชีวิต จิตใจฝักไฝ่อัตราเร่ง และความคล่องแคล่ว เป็นหนึ่งเดียว
กับตัวคุณเป็นสรณะ นี่คืออีกทางเลือกที่น่าสนใจ แต่อย่าหวังว่า จะหาความนุ่มสบายอย่างที่ E-Class Coupe มีให้
เพราะ เงินที่คุณจ่ายไป 5 ล้านบาท เศษๆ โดยประมาณ จะแลกมาด้วย บุคลิกแบบรถสปอร์ตแท้ๆ แม้ว่าผมจะยัง
ไม่เคยลองขับ แต่ก็พอจะบอกได้ว่า มันดิบกว่ากันเยอะ (เอาประสบการณ์สมัยขับ 350Z มาเปรียบเทียบกัน
มันอาจยังไม่ใช่ฟีลเดียวกันหมด แต่ก็ใกล้เคียงกันบ้างแหละ)

ดูเหมือนว่า ผมจะนึกตัวเลือกออกมาหมดเพียงเท่านี้ มิเช่นนั้น ก็คงต้องหันไปเล่น SUV รุ่นหรู หรือไม่ก็
Mid-Size Premium Sedan อย่าง E-Class Saloon (ซึ่งก็มีบุคลิกการขับขี่ไม่ต่างกันมากนัก) หรือ BMW
5 Series ใหม่ รหัส F10 กันไปเลย ซึ่งก็ดูจะไม่ใช่แนวทางที่ กลุ่มลูกค้า ผู้คิดจะซื้อรถแนว 2 ประตูแบบนี้
จะมองเอาไว้ตั้งแต่แรก

อย่างไรก็ตาม E-Class Coupe ไม่ใช่รถที่เลวร้าย มันน่าซื้อหามาเป็นเจ้าของ เพียงแต่ คุณควรจะเลือกรุ่นย่อย
ให้ถูกต้อง เหมาะสมกับบุคลิก และการใช้งานในชีวิตประจำวันของคุณ เพียงเท่านั้น และถ้าหากต้องการความ
คุ้มค่าเป็นหลัก แลกกับการที่คุณจะไม่มานั่งบ่นอุบในภายหลัง เรื่องช่วงล่าง ก็ยืนกรานว่า E250 CGI Coupe
Avantgarde เท่านั้น!
ท้ายที่สุดนี้ อยากจะขอฝากไปยัง..อืมม..ใครดีละเนี่ย….เอาเป็นว่า ผู้ดูแลเรื่อง รถยนต์ทดลองขับ
ของ Mercedes-Benz Thailand ก็แล้วกันครับ

คือ โดยส่วนตัว ผมก็เข้าใจดีละครับ ต้นทุนส่วนหนึ่งในการทำประชาสัมพันธ์รถสักรุ่น นั้น ที่แพงไม่ใช่เล่น
สำหรับรถยนต์ในกลุ่มพรีเมียมนั้น ก็คือ การตัดรถที่สั่งเข้ามาสักคัน มาเป็นรถทดลองขับ Demonstration Car
แบบที่ เรามักจะได้รับความอนุเคราะห์จากทางบริษัทรถ ให้ยืมมาทำรีวิวกันอยู่นี่แหละครับ

รถเหล่านี้ ต้องเอาไว้ใช้ตั้งแต่ งานเปิดตัว งานฝึกอบรมการขาย ไปจนถึงการเอาไปจัดแสดงตามศูนย์การค้า
(ส่วนใหญ่ ทุกค่าย จะแยก รถสำหรับโชว์ตัว และรถทดลองขับ แยกจากกัน ไม่ค่อยใช้คันเดียวกัน แต่นานๆ ที
ก็จะมีบางกรณีที่ใช้รถคันเดียวกัน ทั้งลองขับ และโชว์ตัว หากรถรุ่นนั้น ราคาแพงจัด เช่น E500 V8)

เพราะไหนจะต้องมีค่าน้ำมันเต็มถัง ซึ่งต่อให้เป็นค่าใช้จ่ายเบิกบริษัท แต่น้ำมันสมัยนี้ ราคาก็ไม่ใช่ถูกๆ
เติมน้ำมันเต็มถัง 60 ลิตร คำนวนเล่นๆว่า ตอนนี้เป็นน้ำมันแก็สโซฮออล์ 91 หรือ 95 ก็ตาม เฉลี่ย ตีเสียว่า
ลิตรละ 30 บาทถ้วนๆ ก็ปาเข้าไป 1,800 บาท นี่ยังไม่นับเรื่องที่ว่า บริษัทรถยนต์สมัยนี้ ยังต้องทำประกันภัย
ชั้น 1 ให้อีก และเบี้ยประกันของรถยนต์ระดับพรีเมียมเหล่านี้ ตีกันเป็นเลขกลมๆ ก็อยู่ที่ประมาณ 1 เปอร์เซนต์
จากทุนประกัน ซึ่งก็มีทั้ง แบบ คุ้มครองเต็มราคารถ หรือคุ้มครองแค่ 80 เปอร์เซนต์ของทุนประกัน หรือราคารถ
ก็ว่ากันไป

แต่ ไหนๆก็ไหนๆ ในเมื่อ Mercedes-Benz Thailand ถือธรรมเนียมปฏิบัติ เหมือนรถยุโรป และอเมริกันค่ายอื่นๆ
ไปจนถึงรถญี่ปุ่นบางค่าย ซึ่งมักจะเปลี่ยนตัว รถ Demo แต่ละรุ่น แต่ละคัน มาใช้ในกิจกรรมประชาสัมพันธ์ แทบจะ
ทันทีที่รถคันเดิม แล่นไปได้ 10,000 หรือ 20,000 กิโลเมตร โดยคันก่อหน้านั้น ก็ตรวจเช็ค แล้วขายในฐานะ
รถยนต์มือสอง ใช้แล้ว สภาพดี

ดังนั้น ในช่วงสิ้นปีนี้ จนถึงปีหน้า ซึ่งจะถึงเวลาที่ พี่ๆ จะตัดเปลี่ยนรถล็อตใหม่กันอีกครั้ง ลองเอา E250 CGI
Coupe Elegance ออกไป แล้ว เอารุ่น E250 CGI Coupe Avantgarde มาทดแทนเลย น่าจะดีกว่าครับ

ดีกว่าทั้งในแง่ที่ว่า ลูกค้า และสื่อมวลชน รายอื่นๆ ที่จะนำรถไปทดลองขับ จะได้รับประสบการณ์ดีๆ
จากการจับคู่กันอย่างเหมาะสม ระหว่าง เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง พวงมาลัย ระบบกันสะเทือน และเบรก
ในตัวถังที่แทบทุกคนก็หลงรัก ตั้งแต่แรกเห็นอยู่แล้ว ซึ่งนั่นจะยิ่งเป็นการ ขับภาพลักษณ์ด้านดี ของ
E-Class Coupe ให้สาธารณชนได้เห็นกันเด่นเด้ง อย่างแท้จริง

และนั่นก็จะทำให้ Mercedes-Benz เอง น่าจะได้รับ Feedback ดีๆ กลับไปด้วย อีกต่างหาก
ซึ่งนั่นอาจหมายถึง ยอดขายที่เพิ่มขึ้น มากกว่านี้ได้อีก

แม้ว่า ตอนนี้ ยอดจอง จะเยอะอยู่ และต้องรอกันนานหลายเดือน อยู่ก็ตาม!

 

ขอขอบคุณ
บริษัท Mercedes-Benz Thailand จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

————————————————————————-

บทความที่เกี่ยวข้อง ที่ควรอ่านเพิ่มเติม

รวมบทความทดลองขับรถยนต์ ในกลุ่ม รถ Sport & Specialty ทั้งหมด

 

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้น ภาพถ่ายจากต่างประเทศ เป็นลิขสิืธิ์ของ Daimler AG เยอรมัน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
11 ตุลาคม 2010

Copyright (c) 2010 Text and Pictures Except some studio shot from Daimler AG.
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
October 11th,2010

แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เชิญได้ คลิกที่นี่