เที่ยงคืนวันหนึ่ง ต้นเดือนมกราคม 2013

SLK สีเงิน กำลังแล่นอย่างสบายๆ อยู่บนถนน ขนาบข้างสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยความเร็ว
แค่ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไร้ซึ่งรถแล่นข้างหน้า ส่วนรถที่ขับตามมา ก็แล่นช้าๆ อยู่ห่างๆไกลๆ

แน่นอนครับ หลังคา VARIO-Roof ถูกเปิดกางออก เพื่อรับบรรยากาศปลายฤดูหนาว ที่ยัง
หลงเหลืออยู่ในกรุงเทพฯ ย่านชานเมือง อุณหภูมิ บนมาตรวัด บอกว่า 24.5 องศาเซลเซียส

ผมกับ แบม เพื่อนเก่าแก่สมัยเรียนด้วยกัน ที่ กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย มานั่งรถกัน คุยถึง
เรื่องราวเก่าๆ มากมายก่ายกอง หลังจากภาระกิจทดลองขับ รถสปอร์ตเปิดประทุนคันนี้ จบ
เสร็จสิ้นหมดลงแล้ว ในทุกหัวข้อ

พูดตามตรง ผมไม่ได้ขับรถแบบ สบายๆ ตามใจตัวเอง เพื่อรับสัมผัสจากรถที่ให้ความสุข
ในการขับขี่ อย่างนี้มานานแล้ว

ตาแพน Commander CHENG! ของเรา เพิ่งบอกกับผมว่า ปี 2012 ผมขับรถไปทั้งหมดถึง
56 คัน! เฉลี่ย สัปดาห์ละ 1 คัน หรืออาจจะมากกว่า และแน่นอนว่า การขับรถส่วนใหญ่
ก็เพื่อ เก็บข้อมูล บรรยากาศ ความรู้สึก เอามาถ่ายทอดให้คุณๆได้อ่านกันในเว็บไซต์
Headlightmag.com ของเรานี่ละครับ

พอมันเป็นการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ ความสุขในการขับรถ ก็เริ่มลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ
เพราะคุณต้องใช่สมาธิกับรถแต่ละคัน มากกว่าการขับรถตามปกติทั่วไป ที่อาจแค่เพียง
ประคองรถ ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ขับไปให้ถึงจุดหมายที่ต้องการ แต่พอเป็นงานแบบผม
คุณต้องจับสัมผัส ทุกอย่าง ที่ตัวรถถ่ายทอดส่งมาให้คุณรับรู้ทางผิวหนัง ผ่านประสาท
สัมผัส เข้าสู่การตีความโดยสมอง ต้องจดจำเพื่อกลั่นกรอง ออกมาเป็นตัวหนังสือ

แต่…วันนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ที่ผมได้ปลดปล่อยตัวเอง ไปกับบรรยากาศ
สบายๆ ขับรถกินลมเย็นๆยามดึก นั่งคุยกับเพื่อนไปเรื่อยๆ มันเป็นการพักผ่อนเล็กๆ
ในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ถึง ชั่วโมง เท่าที่ผมพอจะทำได้ ก่อนจะกลับสู่โลกความจริง

มันทำให้ผมย้อนกลับไปนึกถึง วันที่ได้ลองขับ SLK ครั้งแรก เมื่อปี 2009 วันที่ผม
ยังมองว่า การใช้ชีวิตกับ SLK รุ่นที่ 2 รหัส R171 เปรียบได้กับการเดินควงดาราสาว
ชื่อดัง อย่าง อั้ม พัชราภา ไปเดินช้อปปิง กลางสยามเซ็นเตอร์ ผมได้แต่เป็นเบ๊ คอย
ช่วยถือถุงให้ รองรับอารมณ์ยามถือวีน หรือเหวี่ยง หากไม่พอใจ

ผมได้แต่หวังว่า รถรุ่นต่อไป เราคงจะคุยกันรู้เรื่องมากกว่านี้…..

3 ปีผ่านไป ในที่สุด ผมก็มานั่งอยู่ใน SLK ใหม่ เจเนอเรชันที่ 3 กันเสียที และตอนนี้
คุณก็คงอยากรู้กันแล้วใช่ไหมละครับว่า รถรุ่นนี้ จะคุยกับผม รู้เรื่องมากขึ้นกว่าเดิม
หรือเปล่า?

ก่อนจะไปหาคำตอบกัน มันก็ต้องเข้าสู่ช่วงธรรมเนียมปฏิบัติกันเล็กน้อยตามเดิม
ครับ…ผมจะพาคุณย้อนอดีตอย่างรวบรัด ไปพบกับประวัติความเป็นมา ในแบบสั้นๆ
ที่จะทำให้คุณรู้ว่า ต้นกำเนิดที่แท้จริงของ SLK นั้น มันเริ่มต้นเมื่อใดกันแน่

จุดเริ่มต้นของรถสปอร์ตเปิดประทุนขนาดเล็ก หรือ Roadster ของ Mercedes-Benz นั้น ต้องนับ
ย้อนหลังกลับไปถึงยุคที่ Maximilian Edwin Hoffman พ่อค้าชาวอเมริกันเชื้อสายออสเตรเลียน
เป็นผู้นำเข้ารถยนต์ยุโรป ไปขายในสหรัฐอเมริการายใหญ่ มาตั้งแต่ปี 1946 ตัดสินใจบอกกับ
คณะกรรมการบริหารของ Daimler-Benz ในปี 1953 ว่า พวกเขาควรจะสร้างรถสปอร์ตราคาถูก
ที่ผู้คนสามารถซื้อหาได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม เพื่อขายร่วมกับ 300 SL ในตลาดอเมริกาเหนือ

หลังใช้เวลาในการพัฒนาเพียง 5 เดือนเท่านั้น ในที่สุด งานเปิดตัว 190 SL ก็ถูกจัดขึ้นที่มหานคร
New York เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1954 เคียงข้างกับ 300 SL ตัวถังใหม่ Gullwing (รุ่นประตูปีกนก
อันโด่งดัง) 190 SL ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นรถสปอร์ตดิบๆ ที่เอาใจนักขับ มากเท่า 300 SL แต่
ถูกสร้างขึ้นให้เป็นรถสปอร์ต แนวหรู 2 ที่นั่ง ที่สามารถขับขี่ใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น จึง
มีการดัดแปลง นำอะไหล่ จากรถยนต์หลายๆรุ่น มาประกอบเข้าไปใน 190 SL อาทิ เฟรมแชสซีของ
Mercedes-Benz 180 Saloon ถูกนำมาตัดย่อลง ติดตั้งระบบกันสะเทือนแบบ Single-joint swing axle
ที่ใช้ในรุ่น 220 ส่วนระบบันสะเทือนหน้า พร้อมซับเฟรม ก็ยกชุดมาจากรุ่น 180 / 180 D วางขุมพลัง
4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 1.9 ลิตร 105 แรงม้า (HP) ทำความเร็วสงสุดได้ 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง และทำ
อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ใน 14 วินาที (เกียร์ธรรมดา)

การผลิตออกสู่ตลาดจริง เริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 1955 โดยมีให้เลือกทั้งตัวถังเปิดประทุนแบบ
Roadster หลังคาผ้าใบ รวมทั้งตัวถัง Coupe แบบหลังคาแข็งยกออกได้ ซึ่งเลือกได้ว่าต้องการให้มี
หรือไม่มีหลังคาผ้าใบ ซ่อนเผื่อไว้อีกชั้นหนึ่ง

190 SL ได้รับความนิยมอย่างดีในตลาดอเมริกัน และถูกนำไปใช้ในฐานะรถสปอร์ตชั้นหรู ไม่เว้น
แม้แต่ภาพยนตร์ Hollywood เรื่อง Ten Thousand Bedrooms ก็ยังมีฉากที่ ดาราสุดสวยผู้ล่วงลับ
อย่าง Grace Kelly กับ นักร้องระดับตำนาน Frank Sinatra (ที่เพิ่งจากไปเมื่อไม่กีปีมานี้) ขับรถ
190 SL ปรากฎในของภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อนับยอดผลิตตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม 1953 ถึงวันสุดท้ายในสายการผลิต คือเดือน
กุมภาพันธ์ 1963 โรงงานที่ Sindelfingen ผลิต 190 SL ออกมาทั้งหมด 25,881 คัน ซึ่งเท่ากับว่า ราวๆ
8 ปีในอายุตลาด รถสปอร์ต ที่ขายได้ในระดับนี้ อาจฟังดูน้อยมาก ในปัจจุบัน แต่สำหรับยุคที่รถยนต์
Mercedes-Benz คือเครื่องบ่งบอกสถานทางสังคมที่สำคัญมากของผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็คง
ต้องบอกว่า ขายดีพอใช้ได้เลยทีเดียว

ด้วยความนิยมที่ลดลง หลังจากยุติการผลิตไปแล้ว Daimler-Benz AG ก็ดูจะไม่อยากหวนกลับไปทำ
รถสปอร์ตเปิดประทุนขนาดเล็กอีกเลย

30 ปีผ่านไป เมื่อตลาดรถสปอร์ตเปิดประทุนขนาดใหญ่รุ่น SL เริ่มเข้าที่เข้าทาง Daimler-Benz AG
ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 – 1990 ก็เริ่มคิดแผนขยายแตกไลน์สายพันธุ์ มิให้จำกัดแค่ รถยนต์นั่ง
C-Class , E-Class , S-Class Saloon,S-class Coupe และ SL-Class กับ SUV พันธุ์ถึก 
G-Class อีกต่อไป

พวกเขาเริ่มถามว่า “เราควรจะมี น้องชายของ SL กันได้หรือยัง?”

ใช่ ได้เวลาแล้วละ! ผู้บริโภค เริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้น เศรษฐกิจโลก กำลังดีวันดีคืน (ยกเว้นญี่ปุ่น
ช่วงปี 1992 ที่ฟองสบู่แตก ก่อนจะตามด้วย ไทย ในวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 และ เกาหลีใต้ใน
ช่วงเวลาต่อมา) ความต้องการรถสปอร์ตขนาดเล็ก กำลังเริ่มต้นขึ้น ความสำเร็จของ Mazda
MX-5 (เปิดตัวในปี 1990) คือสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้อีกต่อไป BMW ก็กำลังเริ่มงานพัฒนา
รถสปอร์ตเปิดประทุน Z3 กันอย่างขมักเขม้น เราไม่รู้หรอกว่า ความเคลื่อนไหวของคู่แข่ง
มีผลต่อการตัดสินใจของบอร์ดผู้บริหารหรืไม่ แต่ทั้งหมดนั้น มันก็ไม่มีเหตุผลอื่นใดอีกแล้ว
ที่ Daimler-Benz จะไม่กระโดดลงมาร่วมวงในตลาดกลุ่มนี้กับเขาด้วย

แล้วจะใช้ชื่ออะไรกันดีละ?

SLK ไง ตัวอักษรทั้ง 3 ตัวนี่ละ สะท้อนบุคลิกของรถรุ่นนี้ได้ดีที่สุด เพราะในภาษาเยอรมัน
ทั้ง 3 อักษรนี้ ย่อมาจากคำว่า Sport Leicht และ Kurze ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า 
Sporty, lightweight และ Short (Small)

พวกเขาเริ่มหยั่งเสียงผู้คน ด้วยการเผยโฉม รถยนต์ต้นแบบ SLK Study คันสีเงิน ในงานแสดง
รถยนต์ Turin Motor Show เดือนเมษายน 1994 ถึงปฏิกิริยาตอบรับจากผู้เข้าชมงานจะดีมาก
แต่ Daimler-Benz ก็ยังไม่แน่ใจ ดังนั้น ในเดือนกันยายน ปีเดียวกัน พวกเขาจึงสร้างรถต้นแบบ
SLK Study คันที่ 2 เป็นสีน้ำเงิน มาพร้อมหลังคาแข็งพับได้ด้วยไฟฟ้า Vario-Roof  เครื่องเสียง
Hi-Fi และเกียร์อัตโนมัติ มาจัดแสดงในงาน Paris Auto Salon และปฏิกิริยาที่ตามมา นอกจาก
จะเห็นได้ชัดว่าผู้บริโภคพร้อมจะซื้อมีจำนวนมากแล้ว ยังถือเป็นการประกาศกลายๆว่า ชาว
เยอรมัน เขาจะสร้างมันออกขายจริงกันละคราวนี้!

เมื่อ SLK รหัสรุ่น R170 ออกสู่ตลาดยุโรป เป็นครั้งแรก เมื่อ 14 กันยายน 1996 มันก็กลายเป็น
รถสปอร์ตขนาดเล็กเปิดประทุน สไตล์ Roadster ทีได้รับความนิยมอย่างสูง ต่อเนื่องไปจนถึงรุ่น
ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2000 ท้ายสุด นับจนถึงปี 2004 มี SLK คลอดออกจาก
โรงงาน Bremen ในเยอรมันี มากถึงกว่า 308,000 คัน

ความสำเร็จดังกล่าว ส่งต่อมายัง SLK รุ่นที่ 2 รหัสรุ่น R171 ซึ่งเผยโฉมสู่สายตาชาวโลกครั้งแรก
เมื่อ ต้นปี 2004 และออกแสดงสู่สาธารณชนอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อ 15 มีนาคม 2004 ใน
งาน Geneva Auto Salon ก่อนออกสู่ตลาดยุโรปทันที ในวันที่ 27 มีนาคม 2004 หลายข้อด้อยใน
รถรุ่นที่แล้ว ถูกปรับปรุง แก้ไข จนดีขึ้นเยอะ ทำให้ SLK ใหม่ ได้รับสารพัดถ้วยรางวัลมาครอง
อาทิ รางวัล พวงมาลัยทองคำ “Goldenes Lenkrad” [golden steering wheel] โดยนิตยสาร
“Bild am Sonntag” ของเยอรมัน ในเดือนพฤศจิกายน 2004 และรางวัล Car and Driver’s
Ten Best list ในปี 2005 โดยนิตยสาร Car and Driver ในสหรัฐอเมริกา

กระนั้น การกระตุ้นตลาด ก็ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากรุ่น SLK280 พร้อมเครื่องยนต์ V6
231 แรงม้า (HP) ในเดือนมิถุนายน 2005 ตามด้วย SLK 55 AMG Black Series ตกแต่งด้วยสีดำ
ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2006 มาพร้อมขุมพลัง V8 DOHC 24 วาล์ว (3 วาล์ว / สูบ) 5,439 ซีซี ยกระดับ
ให้แรงขึ้นเป็น 400 แรงม้า

จากนั้น มีการออกชุด New Sports package พร้อมล้ออัลลอย 18 นิ้ว ระบบกันสะเทือนแบบสปอร์ต
และอุปกรณ์อื่นๆ อีกเล็กน้อย ในเดือนกันยายน 2006 รวมทั้งรถรุ่นพิเสษ ที่ไม่ได้มีขายที่ไหน
ทั้ง SLK 55 Track Sport ,SLK 55 Asia Cup และ SLK 55 ‘F1 Safety Car’ สำหรับสนามแข่ง

ตามด้วย SLK-Class “Edition 10” เวอร์ชันพิเศษ ฉลองครบรอบ 10 ปี ของ SLK และยอดขาย
459,000 คัน อวดโฉมครั้งแรกเมื่อ 28 กันยายน 2006 บนเวที Paris Auto Salon และออกสู่ตลาด
เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2006

21 ธันวาคม 2007 รุ่นปรับโฉม Minorchange หรือ Facelift ที่ภถูกปรับปรุงชิ้นส่วนใหม่กว่า 650 ชิ้น
เปิดตัวอย่างเป็นทางการ จากนั้น ไม่กี่เดือนให้หลัง 5 พฤษภาคม 2008 Mercedes-Benz แถลงว่า ได้
ส่งมอบรถ SLK คันที่ 500,000 ไปหมาดๆ ถือเป็นความสำเร็จของค่ายดาวสามแฉก ที่ใช้เวลา 12 ปี
ในการผลิตรถสปอร์ต ขนาดเล็ก เปิดประทุน ออกขายได้มากถึงขนาดนี้ และท้ายที่สุด รุ่น 2LOOK
Edition เป็นรุ่นพิเศษ ตกแต่งด้วย สีขาว-ดำ ออกสู่ตลาดเมื่อ 3 มีนาคม 2009 ถือเป็นรุ่นสั่งลาของ
SLK R171

เพราะนับจากนี้ ก็จะได้เวลาที่ R172 ต้องเตรียมแต่งองค์ทรงเครื่อง รอวันอวดโฉมสู่โลกกว้างเสียที

งานออกแบบ SLK ใหม่ รหัสรุ่น R172 เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 2005 หลังจากรถรุ่นที่ 2 ออกสู่ตลาด
ไปได้ราวๆ 3 ปี แต่พวกเขาก็ไม่ได้เร่งรีบอะไรนัก กว่าที่งานออกแบบที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน จะถูก
เลือกขึ้นมา เพื่ออนุมัติ สู่การผลิตจริง เวลาก็ล่วงเลยมาถึงปี 2008

Prof. Dr. Gorden Wagener, Head of Design หรือหัวหน้าฝ่ายออกแบบ ของ Mercedes-Benz เล่าว่า
“เราออกแบบ SLK ใหม่ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก แนวคิดที่จะสืมทอดมรดกทางเส้นสายของ
รถสปอร์ต Mercedes-Benz ที่เคยโด่งดังในอดีต ทั้ง 190 SL รวมไปถึง 300 SL Gullwing เรานำ
เส้นสายเหล่านั้น กลับมาใช้กับ SLK ใหม่ โดยผสมผสานเส้นสายสมัยใหม่เข้าไป เพื่อสืบทอด
ตำนานรถสปอร์ตเหล่านั้น ให้ก้าวไปสู่อนาคต ของการเป็นรถสปอร์ตที่สวยงาม ร่วมสมัย แต่ยัง
สะท้อนถึง บุคลิกโดดเด่นของรถสปอร์ตจาก Mercedes-Benz

หลังการออกแบบเสร็จสิ้นลง รายละเอียดการตกแต่งทั้งภายนอก และภายใน จะถูกคัดเลือก
อย่างพิถีพิถัน ทุกชิ้นส่วนจะถูกถอดแบบ จัดสร้าง และนำมาประกอบเข้าด้วยกัน เป็นรถยนต์
ทดลองประกอบ ในช่วงนี้ ทุกปัญหา ที่เกิดขึ้จขณะทดลองประกอบ จะถูกค้นพบ วิเคราะห์
และหาหนทางแก้ไข เพื่อให้การประกอบในสายการผลิตจริงแบบ Mass Production ราบรื่น

เมื่อประกอบเสร็จหมดแล้ว และติดเครื่องยนต์ได้สำเร็จ รถยนต์ Prototype เหล่านี้ จะต้องแล่น
ให้ได้ระยะทางรวมกันว่า 7 ล้านกิโลเมตร ในสภาพการทดสอบที่หฤโหดที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการ
ทดสอบช่วงฤดูหนาว ใกล้ขั้วโลกเหนือ ที่ประเทศสวิเดน สนามทดสอบของ Daimler AG เอง
ที่นั่น ปัญหาในการขับขี่จริง จะเกิดขึ้น ถูกค้นพบ และนำไปแก้ไขปรับปรุง ท่ามกลางสภาพ
อากาศ – 40 องศาเซลเซียส

นอกจากนี้ ที่เยอรมัน ยังมีห้องทดลองสร้างสภาพอากาศจำลอง อุณหภูมิ -30 องศา เพื่อทดลอง
สภาพการติดเครื่องยนต์ การขับขี่ ในช่วงอากาศเย็นจัด การเกาะตัวเป็นน้ำแข็งของของเหลว
ในจุดต่างๆ รวมทั้งการทดสอบ ด้านกระแสลมที่ไหลผ่านผู้ขับขี่ ขณะเปิดประทุน การทดสอบ
หารอยรั่วด้วยการฉีดน้ำด้วยหัวฉีดแรงดันสูง พุ่งเข้าใส่ตัวรถรอบทิศทาง แม้เพียงรอยรั่วเดียว
ก็ไม่อาจปล่อยให้เกิดขึ้นได้ ฯลฯ อีกมากมาย รวมทั้งการทดสอบด้านอากาศพลศาสตร์ จนได้
ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ Cd 0.30 ต่ำลงจากรถรุ่นเดิม 0.02

ส่วนการทดสอบในสภาพอากาศร้อน เกิดขึ้นที่ ดูไบ ท่ามกลางอุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส
ทั้งแดดร้อน ทั้งฝุ่นและลม จะโหมกระหน่ำไปที่ตัวรถ ซึ่งต้องทนทานต่อการขับขี่ในสภาพดังกล่าว
ได้เหมือนกับที่ทนต่อสภาพอากาศหนาวเช่นกัน

และนี่ยังไม่นับการทดสอบ นำรถไปเขย่าบนแท่นทดสอบความทนทาน นำเครื่องยนต์ไปทดสอบ
เร่งเครื่องยนต์ที่รอบสูงสุดนานๆต่อเนื่องๆ ไปจนถึงการทดสอบระบบอีเล็กโทรนิคส์ต่างๆอีกมาก
ก่อนที่รถจะพร้อมออกสู่ตลาดจริง

ที่สำคัญ นอกเหนือจากการทดสอบในสนาม ฮ็อกเคนไฮม์ ที่เยอรมันีแล้ว Mercedes-Benz
ยังส่ง SLK ใหม่ ไปทดสอบกันที่ สนามของตนใน Orlando มลรัญ Texas สหรัฐอเมริกา
ที่นั่น วิศวกรถึงขั้นตรวจสอบหาเสียงรบกวนจากการสั่นสะเทือนในฝากระโปรงหลัง ด้วย
วิธี ลงไปนอนในห้องเก็บของด้านท้ายรถ แล้วให้นักทดสอบ ขับรถไปตามสภาพถนน
ขรุขระ เพื่อหาต้นตอของเสียงรบกวนด้วยตัวเอง !!!

ทุ่มทุนสร้างกันจริงๆ

เมื่อการพัฒนาเสร็จสิ้นลง การเตรียมงานด้านอะไหล่ และบริการหลังการขายเริ่มต้น
ควบคู่กันไป Daimler AG เริ่มปูพื้นสู่การเปิดตัว ด้วย การเปิดเผยรายละเอียดด้านความ
ปลอดภัยของ SLK ใหม่ เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2010 และหลังจากนั้น
ก็เริ่มส่งภาพถ่าย Official Pictures ชุดแรก ถึงมือสื่อมวลชนทั่วโลก ทาง Internet เมื่อ
วันที่ 13 มกราคม 2011 พร้อมประกาศเปิดรับจองครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2011

ตามด้วยการจัดงาน เปิดตัวครั้งแรกในโลก ที่เมือง Sindelfingen ในเยอรมันี เมื่อวันที่
29 มกราคม 2011 แต่รถยังไม่พร้อมออกจำหน่าย ต้องรอจนถึงช่วงเวลาที่งานแสดง
รถยนต์ครั้งใหญ่ประจำปีอย่าง Geneva Motor Show กำลังจะเริ่มขึ้น Daimler AG
ก็ทะยอยส่งข้อมูลของ SLK ใหม่ “เวอร์ชันละเอียดยิบ” เต็มรูปแบบ ให้สื่อมวลชน
ทั่วโลก อีกครั้ง เมื่อวันที่ 1 และ 8 มีนาคม 2011 ก่อนจะนำไปจัดแสดงสู่สายตาของ
สาธารณชน ในงานดังกล่าว แต่วันที่ถือว่าเป็น Market Launch Date หรือวันเปิดตัว
ออกสู่ตลาดที่แท้จริง ในสหพันธรัฐเยอรมันี คือวันที่ 26 มีนาคม 2011

ถึงแม้จะเปิดตัวและออกสู่ตลาดแล้ว แต่หลังจากนั้น Mercedes-Benz ยังส่งรุ่นย่อยใหม่
ออกมาให้เป็นทางเลือกสำหรับบรรดา ผู้ชื่นชอบรถสปอร์ตเปิดประทุนคันเล็ก Roadster
แต่อยากได้ความแรงเพิ่มขึ้นกว่านี้

เริ่มจากรุ่น SLK 250 CDI เปิดเผยโฉมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2011 และพร้อมเปิดรับจอง
ในยุโรป เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2011 ก่อนจะเริ่มส่งขึ้นโชว์รูมออกขายอย่างเป็นทางการ
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2011 ถือเป็นครั้งแรกของตระกูล SLK ที่มีขุมพลัง Turbo diesel
พร้อมระบบ Common-Rail 4th Genertion มาประจำการ พร้อมระบบดับและติดเครื่องเอง
Auto Stop & Go แปะป้ายราคา 72,590 Euro

อีกเพียงแค่ไม่กี่วันให้หลัง Mercedes-Benz ก็ส่งรุ่นร้อนแรงที่สุด SLK 55 AMG ตามมา
เผยโฉมครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2011 และเริ่มประโคมข่าว เพื่อเตรียมการออกสู่
ตลาดครั้งแรก ในเดือน มกราคม 2012 ที่ผ่านมา แน่นอนว่า จุดเด่นอยู่ที่การติดตั้งขุมพลัง
V8 DOHC 32 วาล์ว แบบ หายใจได้เอง ไม่ต้องพึ่งพา Turbocharger แต่ กลับมีกำลังสูง
ถึง 421 แรงม้า (BHP) แรกว่า เครื่องยนต์ Bi-Turbo เสียอีก ฯลฯ อีกมากมาย เปิดตัวใน
ราคา 72,590 Euro (รุ่น Edition 1 ตกแต่งพิเศษ เพิ่มเป็น 85,520 Euro และถ้าอยากเพิ่ม
ชุดอุปกรณ์ตกแต่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการยึดเกาะถนน AMG Handling Package
ต้องเพิ่มเงินอีก 4,641 Euro)

จนถึงตอนนี้ ในยุโรป ยังไม่มีรุ่นใหม่ หรือรุ่นพิเศษใดๆ ออกมาเพิ่มเติม และกว่าจะ
ปรับโฉม Minorchange หรือ Facelift อาจต้องรอกันจนถึงปี 2014 เป็นอย่างเร็วที่สุด
ถ้าช้าอีกหน่อย ก็คงเป็นปี 2015 และกว่าจะเปลี่ยนตัวถังกันอีกที คงต้องรอถึงปี 2017
หรือไม่ก็เป็นปี 2018 กันไปเลย!

สำหรับตลาดเมืองไทย Mercedes-Benz Thailand ประกาศเปิดรับจอง SLK 200 ใหม่
อย่างเป็นทางการ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2011 ตั้งแต่ก่อนมหาอุทกภัยครั้งใหญ่
ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศ จะเกิดขึ้นราวๆ 4 เดือน โดยในตอนนั้น นำเข้า
มาเป็นรุ่น SLK 200 พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ตกแต่งแบบ AMG Sport Package ตั้งราคา
ขายปลีกไว้สูงถึง 4,399,000 บาท แต่หลังจากนั้น ราคาก็ลดลงมาเหลือ 4,299,000 บาท
และในตอนนี้ หลังจากที่ SLK 200 AMG Sport ล็อตใหม่ๆ สามารถเติมน้ำมันเบนซิน
Gasohol E20 ได้ (รายละเอียดตามใบราคา ฉบับล่าสุด เดือนพฤศจิกายน 2012) ทำให้
ค่าตัวของ SLK 200 AMG Dynamic Package ถูกหั่นลงมาเหลือแค่ 3,490,000 บาท
เท่านั้น!!!!

ถูกกว่าเดิมเยอะมาก ชนิดที่ลูกค้าเก่าซื้อไป น้ำตาไหลอาบแก้ม ปาดทิ้งแทบไม่ทัน!

SLK ใหม่ มีขนาดตัวถังยาว 4,134 มิลลิเมตร กว้าง 1,810 มิลลิเมตร สูง 1,310 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อยาว 2,430 มิลลิเมตร น้ำหนักรถเปล่า 1,470 กิโลกรัม น้ำหนักที่บรรทุกได้
315 กิโลกรัม หมายความว่า น้ำหนักรวมทั้งของเหลว สัมภาระ และผู้โดยสารกับผู้ขับขี่
ของรถคันนี้ จะอยู่ที่ 1,785 กิโลกรัม

เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นที่แล้ว (ยาว 4,103 มิลลิเมตร กว้าง 1,777 มิลลิเมตร สูง 1,296
มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อยาว 2,430 มิลลิเมตร) จะพบว่า ตัวรถยาวขึ้นกว่าเดิม
27 มิลลิเมตร กว้างขึ้น 33 มิลลิเมตร สูงขึ้น 14 มิลลิเมตร แต่ระยะฐานล้อยาวเท่าเดิม

เส้นสายภายนอก ยังคงอยู่บนพื้นฐานโครงสร้างจากรถรุ่นเดิม (R171) เพียงแต่มีการปรับ
แนวเส้น ให้รับอิทธิพลแนวสันเหลี่ยม จากรถสปอร์ต SLS AMG มามากขึ้นอย่างชัดเจน
ทั้งคัน จากหน้า จรดหลัง ลดความโค้งมน กลมกลึงจากรุ่นก่อนลงไปอย่างเห็นได้ชัดว่า
ตั้งใจให้เป็นเช่นนี้

ชุดไฟหน้าแบบ Xenon พร้อมโคมปรับลำแสงอัตโนมัติ Intelligent Light System ช่วยเพิ่ม
ความสว่าง เมื่อหมุนพวงมาลัยเตรียมเลี้ยวรถ โคมไฟจะส่องพื้นที่ด้านข้างให้ก่อนที่จะเริ่มเลี้ยวรถ
ทั้งฝั่งซ้ายและขวา (Cornering light function) ส่วน country mode ใช้ขับขี่บนถนน
ต่างจังหวัดสวนกันสองเลน Motorway mode ให้ลำแสงเต็มที่เพื่อการขับขี่บนเส้นทางด่วน
หรือทางหลวง และ Active light function เพิ่มไฟตัดหมอกหน้า ในภาวะที่สภาพทัศนวิสัย
ด้านหน้า มีหมอกลงจัด แถมยังมีระบบเปิดไฟหน้าอัตโนมัติมาให้อีกด้วย

กระจกมองข้าง ย้ายตำแหน่งจากมุมสามเหลี่ยมบริเวณขอบประตูติดกับเสาหลังคาคู่หน้า
A-Pillar เปลี่ยนมาติดตั้งที่แผงประตูแทน เพื่อเพิ่มบุคลิกแบบสปอร์ตให้มากขึ้นกว่าเดิม
แต่กระนั้น ก็ไม่เห็นจะต้องทำกระจกสามเหลี่ยม Opera Window ขึ้นมาโดยไม่จำเป็น
อย่างเช่นที่เห็นใน Toyota 86 แต่อย่างใด

ชุดไฟท้ายเป็นหลอด LED ทั้งไฟเบรกและไฟเลี้ยว มีปลายท่อไอเสียหลังแบบ 2 ท่อ เพื่อ
เพิ่มบุคลิกแนวสปอร์ตให้ดุดันขึ้น และมีไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED ฝังไว้ที่ฝากระโปรง
ด้านหลัง เหนือช่องติดแผ่นป้ายทะเบียน

ล้อติดรถ เป็นล้ออัลลอย AMG แท้ๆ ขนาด 18 นิ้ว สวมยาง Continental รุ่น Sport 
Contact 5 ขนาดยางคู่หน้า 225 / 40 R18 ส่วนคู่หลัง เป็นขนาด 245 / 35 R18

ระบบล็อกประตู ยังคงเป็น กุญแจแบบ KEYLESS-GO พร้อมระบบกันขโมย Immobilizer
หน้าตาเหมือนกับกุญแจของ Mercedes-Benz รุ่นใหม่ๆ ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ถ้าคิดจะ
ติดเครื่องยนต์ ก็เสียบกุญแจไขเข้าไปหมุนที่ ช่องเสียบ  บริเวณคอพวงมาลัยฝั่งขวา เหมือน
รถยนต์ปกติทั่วๆไป แต่ถ้าจะเอาพลาสติกครอบช่องดังกล่าวไว้ แล้วกดปุ่ม ก็เป็นสวิชต์สำหรับ
ติดเครื่องยนต์ แบบ Push Start ได้เช่นกัน

ถ้าคุณพกกุญแจมากับตัว ทันทีที่เดินเข้าใกล้รถ ดึงมือจับประตูเข้าหาตัวได้ทันที ไฟเลี้ยวทั้ง
2 ฝั่ง จะกระพริบ เปิดบานประตูกางออกได้เลย และเช่นเดียวกัน เมื่อปิดประตูแล้ว เอานิ้วแตะ
ที่ร่องสี่เหลี่ยม บนมือจับประตูระบบจะสั่งล็อกประตูทั้ง 2 บาน กับฝาห้องเก็บของด้านหลัง

นอกจากนี้ ยังมีไฟส่องสว่างพื้นที่รอบข้างบานประตู ติดตั้งที่ใต้กระจกมองข้างทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อ
ช่วยให้คุณเห็น พื้นที่รอบๆตัวรถยามค่ำคืน ก่อนก้าวขึ้นรถไป

การเข้า – ออกจากตัวรถนั้น แม้ว่า จะเป็นรถที่มีตำแหน่งเบาะนั่งเตี้ย แต่ผมกลับพบว่า การหย่อน
บั้นท้ายลงไปนั่งใน SLK นั้น แค่เล็งตำแหน่งขาให้ดีๆ ก็สามารถเข้าไปนั่ง และลุกออกจากรถ
ได้สะดวกกว่า Toyota 86 ชัดเจน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะ ความสูงจากพื้นถนนจนถึงพื้น
เบาะรองนั่ง ของ SLK อาจจะสูงกว่า 86 นิดนึง ก็เป็นไปได้

บานประตูของรถรุ่นเก่าและรุ่นใหม่นั้น แตกต่างกัน ใช้แทนกันไม่ได้อย่างแน่นอน ส่วน
พนักวางแขนบนแผงประตูด้านข้างนั้น ออกแบบมาให้วางแขนได้พอดี ไม่ว่าคุณจะปรับเบาะ
ให้ต่ำลงไปจนถึงตำแหน่งต่ำที่สุด หรือสูงขึ้นมาอีกสักหน่อยก็ตาม

กาบบันไดด้านข้าง ทำจาก Stainless ที่สวยสะดุดตาคือ สัญลักษณ์คำว่า Mercedes-Benz นั้น
ออกแบบมาให้เรืองแสงได้ในยามค่ำคืน เพื่อความสวยงาม และเพื่อให้คุณได้รู้ว่า ควรก้าวข้าม
สัญลักษณ์นี้เข้าไปนั่ง ไม่เช่นนั้น ก้าวพลาด เสียท่า ล้มคะมำไม่รู้ด้วยนะเออ!

เบาะนั่งทั้ง 2 ฝั่ง ถูกออกแบบขึ้นใหม่ ให้รวมเข้าเป็นชุดเดียวกัน พนักศีรษะมีองศามุมเอียง
เงยขึ้นเล็กน้อย รองรับต้นคอของผู้ขับขี่ได้พอดีๆ มากกว่ารุ่นเดิมนิดนึง ขณะที่ พนักพิงหลัง
พร้อมกับปีกเบาะด้านข้าง มีขนาดกำลังดี โอบและรองรับกับตัวผู้ขับขี่ได้สบายๆ ไม่ว่าสรีระ
ของคุณจะเล็กจิ๋ว เป็นกล้วยไข่  หรือใหญ่โต เป็นตาแพน Commander CHENG ของเว็บเรา
(145 กิโลกรัม) ก็ยังนั่งได้แบบ ที่ไม่ค่อยมีใครบ่น เช่นเดียวกับเบาะรองนั่ง ซึ่งถูกออกแบบมา
ใหม่ ให้มีส่วนโป่งนูนเพิ่มขึ้นจากเบาะของรุ่นเดิม นิดนึง รองรับต้นขาในระดับ กำลังดี และ
นั่งสบายกว่ารุ่นก่อน

เบาะนั่งทั้ง 2 ฝั่ง ปรับตำแหน่งได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า พร้อมหน่วยความจำตำแหน่งเบาะ ตำแหน่ง
ของกระจกมองข้าง ปรับและพับเก็บด้วยไฟฟ้า กับท ตำแหน่งของพวงมาลัยปรับระดับ สูง – ต่ำ
และใกล้ – ห่าง ด้วยไฟฟ้า ได้มากถึง 3 ตำแหน่ง

พื้นที่เหนือศีรษะ เป็นอีกจุดที่ผมว่า งานนี้ทีมออกแบบทำงานมาดี เพราะต่อให้คุณจะสูงเท่าไหร่
ถ้ายังไม่เกินกว่า 190 เซ็นติเมตร คุณนั่งใน SLK ได้แน่ๆ โดยที่ศีรษะของคุณจะไม่ติดกับเพดาน

ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง สามารถสั่งปลดล็อกได้จากสวิชต์บนกุญแจรีโมทคอนโทรล เปิดยก
ขึ้นมา จะมีช็อกอัพไฮโดรลิก 2 ต้น ค้ำยันอยู่ รวมทั้ง มีช่องสำหรับสอดมือเอื้อมปิดฝาประตูห้อง
เก็บของด้านหลัง ถ้าสังเกตดีๆจะพบว่า มีการออกแบบช่องและท่อรับน้ำฝน หรือน้ำจากการล้างรถ
รอไว้แล้ว ในกรณีที่ต้องเปิดฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง เพื่อให้น้ำไหลลงสู่พื้นถนนได้ง่ายขึ้น
และไม่ทิ้งน้ำขังไว้ที่ห้องเก็บของด้านหลังอีกต่อไป ถือเป็นการออกแบบที่ดีมาก และควรมีมาได้
ตั้งนานแล้ว

นอกจากนี้ ยังมี ไฟสัญญาณสีแดง ที่จะติดขึ้นมา เพื่อให้รถคันที่ขับตามมาในตอนกลางคืน
รับรู้ว่า คุณกำลังจอดเปิดฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง อยู่ริมไหล่ทาง เพื่อความปลอดภัย
ซึ่งนี่ก็น่าจะเป็นอีกอุปกรณ์ชิ้นหนึ่ง ที่ควรมีมาให้ในรถยนต์สมัยใหม่ยี่ห้ออื่นๆได้แล้ว

พื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง มีขนาด 225 หรือ 335 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมัน แม้จะมี
ขนาดเพิ่มขึ้นจากรถรุ่นเดิมนิดหน่อย แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า คุณกำลังเปิดหลังคาพับเก็บลงมา
ในห้องเก็บของหรือไม่ ถ้าต้องการพับหลังคาลงมา ต้องดึงถาดพลาสติกแบบคว่ำ ให้เลื่อนมา
ลงล็อกอย่างที่เห็นในภาพแรกด้านบนนี้ มิเช่นนั้น หลังคาจะเปิดพับไม่ได้ เพราะไม่มีที่เก็บ
(ในความเป็นจริง ถาดที่ว่า อาจจะเด้งกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิมของมันได้ ถ้ารถตกหลุม หรือ
ตัวล็อกเริ่มเสื่อมสภาพ)

เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา จะพบยางอะไหล่ขนาดเล็ก หน้าตาเหมือนกับที่พบใน SLK
รุ่นเดิม และมีเครื่องมือประจำรถแถมมาให้ ตามมาตรฐานของรถเยอรมัน แต่คราวนี้ แผง
พลาสติกสามารถยกขึ้นมาเก็บไว้ข้างนอกได้ ทั้งชิ้น

ภายในห้องโดยสาร เลือกได้ว่า อยากได้เบาะหนังสีดำ เย็บด้วยด้ายสีแดง อย่างที่เห็นอยู่นี้
หรือ เบาะสีเทา กับเบาะสีเบจ แผงประตูทั้ง 2 ฝั่ง ติดตั้ง สวิชต์สั่งล็อก และปลดล็อกประตู
ทั้ง 2 บานได้ ฝั่งคนขับ จะมีสวิตช์ปรับและพับกระจกมองข้างไฟฟ้า พร้อมไล่ฝ้าในตัว
กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ทั้ง 2 บาน เป็นแบบ One Touch เลื่อนขึ้น-ลงได้ โดยกดหรือยกปุ่ม
สวิชต์ขึ้นครั้งเดียว การประดับตกแต่งภายใน ใช้ทั้ง Trim อะลูมีเนียมสีเงิน ด้ายแดง ตัด
สลับกับโทนสีดำ ทั้งหมด

สวิชต์ เปิด-ปิด ไฟหน้า และไฟตัดหมอก แม้ว่าจะอยู่ในตำแหน่งดั้งเดิม คือใต้ช่องแอร์
ฝั่งขวา แต่ติดตั้งค่อนข้างลึกไปสักหน่อย เมื่อเทียบกับ Mercedes-Benz รุ่นอื่นๆ เหมือน
คันโยก เปิดฝากระโปรงหน้า อยู่ฝั่งขวา ที่ต้องล้วงลงไปใต้แผงหน้าปัด ลึกเหมือนกัน

แผงหน้าปัดออกแบบมาได้ดีขึ้น สวยงามขึ้น วางตำแหน่งอุปกรณ์ และการใช้งานต่างๆ
ได้อย่างเหมาะสมกว่าเดิม ทั้งตำแหน่งมาตรวัด หน้าจอมอนิเตอร์สี ไปจนถึง แผงควบคุม
ตรงกลาง ที่อยูใกล้มือผู้ขับขี่มากขึ้น ใช้งานง่าย สะดวก และไม่ต้องเหยียดมือไปจนสุด
แขนซ้าย แม้ว่าจำนวนสวิชต์จะใกล้เคียงกับ SLK รุ่นเดิมก็ตาม

การเลือกใช้ช่องแอร์แบบวงกลม คลาสสิกร่วมกันกับทั้ง A-Class , B-Class และ CLA-Class
นอกจากจะช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตได้มากแล้ว ยังช่วยเพิ่มบุคลิกสปอร์ต แถมเมื่อติดตั้ง
ในรถเปิดประทุน ยังช่วยสะท้อนบรรยากาศของการขับรถเะปิดประทุนในยุคทศวรรษ 1960
ให้หวนกลับมาในห้วงคำนึงของผู้ขับขี่ได้อีกด้วย งานนี้ ยิงนกนัดเดียว ได้ 3 ตัวรวดเลยนะ!

ในรถคันทดลองขับนั้น ไฟส่องสว่างในห้องโดยสาร และไฟอ่านแผนที่ ดันพร้อมใจกัน
“เสียครับ” ยังดีที่ ไฟแต่งหน้า ซ่อนอยู่ที่เพดาน เหนือแผงบังแดดแบบพลาสติกแข็ง พร้อม
กระจกแต่งหน้าฝังในตัว (คั่นกลางด้วย ช่องเก็บแว่นตาบุผ้ากำมะหยี่) ยังส่องสว่างทดแทน
ได้ ทำให้ผมกับ ตาแพน Commander CHENG! ของเรา ยังพอถ่ายทำคลิปทดลองขับ
Check Check Out! กันมาได้ ไม่เช่นนั้น คงปวดกบาลมากกว่านี้แหงๆ

ในยามค่ำคืน จะมีแสงไฟ Ambient Light สีแดง หรือ “ไฟไดหมึก” บริเวณขอบทั้ง 2 ฝั่ง
ของแผงประตู ใต้พื้นที่วางแขน และขอบทั้ง 2 ฝั่งของแผงควบคุมกลาง รวมทั้ง ไฟส่อง
พื้นที่วางขา จะสว่างขึ้นมา เพื่อสร้างบรรยากาศภายในห้องโดยสาร ให้ดู “วาบหวาม” ขึ้น
เหมือนอยู่ใน Lounge นิดนึง

แถบโค้ง ทรงเหมือน ทากดูดเลื่อนในป่า ที่โผล่ขึ้นมาทางกลางแผงหน้าปัด และอยู่ตรงกลาง
ระหว่าง เสาค่ำยันเหนือเบาะนั่งทั้ง 2 ฝั่ง เป็น สัญญาณไฟแจ้งเตือนของระบบเซ็นเซอร์
ช่วยการจอด Parktronic ว่า เข้าใกล้วัตถุแค่ไหนแล้ว เหมือนเช่น Mercedes-Benz คันอื่นๆ

พวงมาลัยแบบ 3 ก้านออกแบบใหม่ (อ่านไม่ผิด แบบนี้ให้ถือเป็น 3 ก้านครับ) ออกแบบให้
มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 375 มิลลิเมตร หุ้มด้วยหนังสีดำ มีส่วนกระชับมือ พร้อมลายจุด ให้สาก
มือกว่าปกตินิดๆ บริเวณตำแหน่ง 3 และ 9 นาฬิกา เย็บด้วยด้ายสีแดง ขนาดกระชับมือ และ
น่าใช้ขึ้นกว่า SLK รุ่นเดิม แม้จะดูคล้ายกับ พวงมาลัยของ C-Class Coupe คันที่เราเคยนำ
มาทำรีวิว แต่ พวงมาลัย SLK คันนี้ ต่างกัน ตรงที่ พื้นที่ประดับ Trim สีเงินนั้น ล้อมรอบ
ไปถึงสวิชต์ควบคุมชุดหน้าจอและเครื่องเสียงบนพวงมาลัย แถมขอบโค้งด้านล่าง ยังถูก
ตัดกึ่งตรง ให้ดูคล้ายพวงมาลัยรถแข่งมากขึ้นอีกนิดหน่อย

คอพวงมาลัยฝั่งซ้าย ยังคงเป็นตำแหน่งที่อยู่อาศัยของทั้ง ก้านสวิชต์ไฟเลี้ยว ไฟสูง และ
ระบบบังคับใบปัดน้ำฝน (หมุนที่หัวก้านสวิชต์) ใบปัดน้ำฝนแบบอัตโนมัติ พร้อมยังมี
Rain Sensor วัดปริมาณน้ำฝน เพื่อเพิ่มหรือลดการปัดให้เหมาะสมจากโรงงาน

เหนือขึ้นไปเล็กน้อย ยังคงเป้น ก้านสวิชต์ ของทั้งระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise
Control การใช้งานคือ ยกก้านสวิชต์ล็อกความเร็วที่ต้องการได้ทันที เพิ่มความเร็วได้
ด้วยการกระดกสวิชต์ ครั้งละ 1 ที ก็เพิ่มทีละ 1 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ถ้ากระดกจนสุด
จะเพิ่มทีละ 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าต้องการลดความเร็ว ก็กดก้านสวิชต์ลง โดยจะ
ทำงานลดความเร็วแบบเดียวกัน คือลดทีละ 1 หรือ 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าต้องการ
ยกเลิก ให้ดันสวิชต์ไปทางแผงมาตรวัด

อีกทั้งยังมีระบบ ล็อกความเร็ว ตามต้องการ Speed Limit Assist ในตัว เช่นเดียวกันกับ
Mercedes-Benz รุ่นอื่นๆ การใช้งานก็คือ ถ้าต้องการขับด้วยความเร็ว บนทางด่วน ไม่
ให้เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็กดก้านสวิชต์ลงไปให้ไฟสีเหลืองอำพันติดสว่างขึ้นมา
แล้วยกก้านสวิชต์ กระดกขึ้นไปจนสุด 1 ครั้ง เพียงเท่านี้ ต่อให้เหยียบคันเร่งจมมิด
ความเร็วของรถ ก็จะอยู่ที่แค่ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือที่เราตั้งค่าไว้เท่านั้น เหมาะ
กับการขับขี่ในพื้นที่ เข้มงวดเรื่องความเร็ว เช่นทางด่วนวงแหวนบางพลี – สุขสวัสดิ์
ที่อนุโลมให้เร็วได้ไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เท่านั้น ถ้าต้องการยกเลิก กดที่หัว
ก้านสวิชต์ ให้ไฟสีอำพันดับลง

มาตรวัดยังคงแบ่งเป็น 2 วงกลม เหมือนรุ่นเดิม เพียงแต่ ในตอนกลางวัน จะใช้พื้นสีขาว
แต่ยามค่ำคืน เมื่อเปิดไฟหน้า ตัวอักษรจะเรืองแสงสีขาวนวลขึ้นมาแทน ไฟสัญญาณเตือน
มีเท่าที่จำเป็น ไม่มากมายนัก อ่านข้อมูลง่าย แม้ในยามขับขี่ช่วงกลางคืน ใช้เข็มสีแดง
เรืองแสงเมื่อเปิดไฟหน้า และมีมาตรวัดอุณหภูมิน้ำในหม้อน้ำ กับมาตรวัดน้ำมันมาให้
2 อย่าง ก็เพียงพอ มีนาฬิกา และระบบแจ้งเตือนอาการเหนื่อยล้าขณะขับขี่ทางไกล หรือ
ATTENTION ASSIST ถ้าขับรถทางไกลมานานเกินไป รถจะแสดงถ้วยกาแฟขึ้นมา
บนหน้าปัด บอกว่า พักสักหน่อยไหมจ้ะโยม!

นอกจากนี้ ยังเว้นพื้นที่ตรงกลาง เพิ่มให้กับ จอ Multi Information ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม
ควบคุม ใช้สวิชต์ บนฝั่งซ้ายของพวงมาลัยเลือกดูได้ตั้งแต่มาตรวัดระยะทาง Odo Meter
มาตรวัดแบบ Trip Meter มีเพียง Trip A ให้ เพียง Trip เดียว ตามเดิม มาตรวัดอัตราสิ้นเปลือง
เชื้อเพลิง ทั้งแบบ เฉลี่ยกับแบบ Real-time หรือจะเข้าไปปรับตั้งค่าของระบบต่างๆในตัวรถ
เช่นสัญญาณเตือนต่างๆ ไฟหน้า ไฟในห้องโดยสาร ระบบแจ้งเตือนให้นำรถเข้าศูนย์บริการ
ASSYST PLUS และมีไฟแสดงตำแหน่งเกียร์ กับมาตรวัดอุหภูมิภายนอกรถ เช่นรุ่นก่อน

นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ เป็นหน้าจอ แสดงผลให้กับทั้งชุดเครื่องเสียง และเชื่อมต่อกับระบบ
โทรศัพท์ พร้อมระบบ Bluetooth ในตัว อีกด้วย การปรับความสว่างของชุดมาตรวัด มองไป
ที่สวิชต์หมุน ฝั่งซ้าย ใต้มาตรวัด ยื่นออกมา ให้หมุนเลือกปรับได้ตรงนั้น

ชุดเครื่องเสียง เป็นแบบ Harman Kardon Logic 7 ยกตัวท็อปกันมาเลยคราวนี้ เล่นได้ทั้ง
CD / MP3 / WMA พร้อมช่องเชื่อมต่อ Media Interface ทั้ง USB AUX และ iPhone 
รองรับการใช้งานหลากหลาย ทั้งการโทรศัพท์ หรือฟังเพลงแบบไร้สาย ผ่านระบบ Bluetooth
มีระบบการโอนย้ายสมุดโทรศัพท์ ไปไว้ให้ใช้งานได้ที่ตัวรถ เชื่อมต่อกับระบบ Multimedia
แบบใหม่ COMAND Online ซึ่งสามารถเชื่อมต่อ Internet ได้ ขึ้นอยู่กับรุ่นของโทรศัพท์
มือถือที่คุณใช้ เป็นครั้งแรก พร้อมหน้าจอแสดงผลแบบสามมิติ และระบบสั่งการด้วยเสียง
จากสวิชต์บนพวงมาลัย LINGUATRONIC อีกด้วย จอ Monitor สี ยังแสดงข้อมูลหน้าจอ
ของระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System ติดตั้งสำเร็จรูปมาจากโรงงาน
ยกชุดมาเหมือนกับใน C-Class Coupe C250 Edition 1 เลยนั่นแหละ!

การควบคุมต่างๆ ก็ยังคงต้องทำผ่านสวิชต์วงกลมแบบหมุนและกดได้ อยู่ดี ลักษณะของ Menu
ก็ยังต้องใช้วิธี เลื่อนจากบน ลงล่าง ตามเคย ใช้งานยาก ต้องทำความคุ้นเคยอยู่พอสมควรจน
ใช้งานได้คล่องขึ้น

การแสดงข้อมูลไฟล์เพลงทั้งจาก CD และจาก USB บนหน้าจอมอนิเตอร์สี และหน้าจอแสดง
ข้อมูลบนมาตรวัดนั้น สามารถแสดงได้ทั้งภาษาอังกฤษ และญี่ปุ่นได้ แต่แสดงภาษาเกาหลีกับ
ภาษาไทยไม่ได้

คุณภาพเสียง จัดอยู่ในเกณฑ์ดีใช้ได้ ให้ความรื่นรมณ์ได้แน่ๆ แต่ยังไม่ถึงขั้นดีเยี่ยม ถ้าฟังเพลง
จากแผ่น CD หรือไฟล์เพลงส่งผ่าน Bluetooth จากโทรศัพท์มือถือนั้น ขอแนะนำให้เปิดโหมด
Logic 7 ไว้ เพื่อช่วยให้ได้ยินรายละเอียดเสียง เล็กๆน้อยๆ ต่างๆ ได้กระจ่างชัดขึ้น ภาพรวม ต้อง
ถือว่า ทำได้ดีพอสมควร และเพียงพอที่จะทำให้คุณไม่ต้องไปเปลี่ยนเครื่องเสียงเองในภายหลัง

เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบอัตโนมัติ แต่ไม่แยกฝั่งซ้าย – ขวา มาให้ แสดงการทำงานบนจอ
มอนิเตอร์สีตรงกลางแทน และแน่นอนว่า ต้องมีระบบเปิดหน้ากากรับอากาศข้างนอกเอง ทุกๆ
ครึ่งชั่วโมง มาให้รำคาญใจกันเหมือนเคย คราวนี้ เนื่องจากรถผ่านการใช้งานมาหนักหน่วง
จึงทำให้ผมได้กลิ่นฝุ่นละออง ไม่สะอาดนัก เข้ามาค่อนข้างมากกว่ารถคันอื่นๆ แม้ว่าแอร์จะ
ทำความเย็นได้ดีก็ตาม

ถัดลงมา เป็นช่องเขี่ยบุหรี่ และจุดไฟ สำหรับชาร์จไฟเข้าโทรศัพท์มือถือ หรือ Gadget ต่างๆ
มีฝาปิดสีเงิน ออกแบบมาให้เป็นหนึ่งเดียวกับแผงควบคุมกลาง ส่วนกล่องเก็บของฝั่งซ้าย
ด้านผู้โดยสาร Glove Compartment แบ่งเป็น 2 ชั้น แต่ก็ลึกมาก ใส่ซากแมวตายได้ตัวนึงแน่ๆ!

ออพชันสำคัญที่ขาดไม่ได้ของรถเปิดประทุนก็คือ หลังคา ใน SLK นั้น เลือกใช้หลังคาแข็ง และใช้
กลไกการพับหลังคาแบบ Electro Hydraulic VARIO-Roof สามารถพับเก็บ หรือยกขึ้นปิดได้ ด้วย
สวิชต์ไฟฟ้าที่ออกแบบใหม่ ให้ดูเท่กว่าเดิม คือมีฝาปิด (เหมือนสวิชต์ควบคุมใน S-Class ใหม่ ) ถ้า
จะเปิดหรือปิดหลังคา ต้องเปิดฝาสวิชต์ก่อน เปิดหลังคา ให้ดึงสวิชต์ขึ้น ปิดหลังคา ให้กดสวิชต์ลง

โดยปกติ หลังคาจะใช้เวลา 20 วินาที ในการพับเก็บ หรือยกขึ้นมาปิด ส่วนสวิชต์กระจกหน้าต่าง
ไฟฟ้า ที่ติดตั้งมาให้อยู่ใต้ฝาพับเดียวกันนั้น ก็สามารถเลื่อนกระจกขึ้น-ลง รวดเดียว ทั้ง 4 บาน
ได้พร้อมกัน การทำงานทั้งหมด จะแสดงบนหน้าจอ Multi Information Display บนมาตรวัด
ของตัวรถ

ส่วนใครที่อยากได้ อุปกรณ์พิเศษของ SLK ใหม่ นั่นคือ หลังคากระจกแบบ MAGIC SKY ROOF
ซึ่งเป็นหลังคากระจกแบบที่สามารถปรับความเข้ม-สว่าง ได้ในทันทีโดยอัตโนมัติ และไม่ต้องพึ่งพา
ม่านบังแดดอีกต่อไป คงต้องสั่งเป็น Option พิเศษ กันเอาเอง และไม่ได้รวมอยู่ในรถคันที่เรานำมา
ทดลองขับคันนี้ด้วย

และในขณะที่คุณกำลังขับรถกินลมชมวิว แล้วรำคาญกระแสลม ที่พัดเข้ามาจนทำให้ผมเสียทรง
ขอแนะนำให้เลื่อนแผ่นกันลม Plexiglaass AIRGUIDE ออกมาใช้ บังคมกระแสลม ให้ไหล
วกกลับเข้ามายังห้องโดยสาร บริเวณคอนโซลกลาง แทนที่จะกระจายไปไม่รูทิศรู้ทาง จนทำให้
เส้นผมของคุณ พันกันไปมาอีรุงตุงนัง เป็น แม่มด เมดูซ่า ไปในที่สุด

แผ่น Plexiglass หน้าตาเหมือน หน้ากากกันละอองสเปรย์ฉีดผม ที่ใช้ในร้านทำผมของสุภาพสตรี
ติดตั้งอยู่กับ เสาโครงคุ้มกันผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ขณะเกิดการพลิกคว่ำ เคลือบด้วยอะลูมีเนียม

ด้านข้างลำตัวผู้ขับขี่ และสวิชต์เปิดปิดหลังคา (ซ่อนอยู่ในฝาที่เห็นในภาพข้างบนนี้) จะมีช่อง
วางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง พร้อมฝาเลื่อนปิดได้ และมีช่องต่อเชื่อม USB กับ AUX ซ่อนมาให้ใน
กล่องเก็บของ ข้างลำตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ซึ่งมีฝาปิด เป็นที่วางแขนในตัว วางแขนในระดับ
กำลังดี และยังไม่มีอะไรให้ต้องแก้ไข เพียงแต่เสียดายอยู่บ้าง ที่กล่องเก็บของแนวตั้ง ชิดกับ
ผนังด้านหลังจะถูกตัดออกไปในรถรุ่นนี้

ทัศนวิสัยด้านหน้า ยังคงไม่แตกต่างจากรุ่นเดิมนัก คือมองเห็นรถคตันข้างหน้า และถนนอีกไกล
ได้อย่างดี และต่อให้ปรับเบาะลงในตำแหน่งต่ำสุด ผมก็ไม่มีปัญหาในการขับขี่ SLK ใหม่เลย

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา ยังคงมีความหนา เท่าๆ กันกับรุ่นเดิม การบดบังรถที่แล่นสวนมา
ขณะเลี้ยวขวา บนทางโค้ง สวนกันสองเลน มีอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก การย้ายตำแหน่งกระจกมองข้าง
ไปไว้ที่บานประตู แทนที่จะติดตั้งไว้ที่มุมสามเหลี่ยมของกรอบกระจกหน้าต่างด้านข้าง กลับแสดง
ให้เราเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องทำกระจกหูช้าง Opera ทรง สามเหลี่ยม ขึ้นมา เพิ่มเติมเพื่อให้
รองรับกับบานประตูแต่อย่างใดทั้งสิ้น เป็นตัวอย่างให้ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ ได้เห็นแล้วว่า การ
ติดตั้งกระจกมองข้าง บนบานประตู ไม่จำเป็นต้องมีกระจกหูช้างเพิ่มเข้ามาก็ได้ แต่อาจต้องเพิ่ม
ความยาวของสายไฟสำหรับ กระจกมองข้างพับและปรับด้วยไฟฟ้า มากขึ้นอีกหน่อย แค่นั้นเอง

กรอบด้านในของกระจกมองข้าง ยังคงกินพื้นที่บดบังเข้ามาพอสมควาร ดังนั้น การมองเห็นรถยนต์
หรือจักรยานยนต์ ที่แล่นตามมาทางฝั่งขวา อาจทำได้ไม่ถึงกับดีนัก ควรเหลียวหันไปมองเพิ่มเติม
สักแว่บหนึ่งสั้นๆ ก่อนจะเลี้ยวรถ เพื่อความปลอดภัย

เสาหลังคาด้านหน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย ยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้กับผมว่า เสาหลังคาคู่หน้า และบานกระจก
บังลมด้านหน้าของ SLK ใหม่ น่าจะยกชุดมาจาก SLK รุ่นที่แล้ว เพื่อให้ต้นทุนการผลิต และพัฒนา
ถูกลง ดังนั้น การองเห็นรถคันที่แล่นสวนทางมา ขณะเลี้ยวกลับรถ จึงยังคงทำได้ดีเหมือนเดิม ส่วน
กระจกมองข้างฝั่งซ้าย ไม่มีปัญหาในการมองรถยนต์ และจักรยานยนต์ที่แล่นสวนมาทางซ้าย

และเมื่อหันเหลียวไปมองด้านหลัง พบว่า แม้ขนาดของพนักศีรษะ จะบดบังจนทำให้พื้นที่กระจก
ในระยะสายตาผู้ขับขี่ลดลงจากรุ่นเดิม แต่ SLK ก็ยังถือว่าเป็นรถสปอร์ตเปิดประทุนที่มีทัศนวิสัย
โปร่งตามากที่สุดรุ่นหนึ่งในตลาดอยู่ดี

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ในตลาดต่างประเทศ SLK จะมีขุมพลังให้เลือกมากถึง 5 ขนาด ด้วยกัน โดยในช่วงเปิดตัว จะวาง
เครื่องยนต์เบนซิน ทั้ง 3 รุ่น ก่อนที่รุ่น Diesel Turbo CDI และ SLK 55 AMG จะตามมาในภายหลัง
รายละเอียดเครื่องยนต์คร่าวๆ แทบจะยกมาจาก C-Class Coupe (C204) เลยก็ว่าได้ ดังนี้

SLK 200 BlueEFFICIENCY เครื่องยนต์ M271 บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,796 ซีซี หัวฉีด
อีเล็กโทรนิกส์ พ่วง Turbo 115 กิโลวัตต์ /156 แรงม้า (HP) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิด 25.47 กก.-ม.
/ 250 นิวตันเมตร ที่ 1,600 รอบ/นาที มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ แบบ
7 จังหวะ 7G-TRONICS PLUS

SLK 250 BlueEFFICIENCY เครื่องยนต์ M271 บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,796 ซีซี หัวฉีด
อีเล็กโทรนิกส์ พ่วง Turbo 150 กิโลวัตต์ /204 แรงม้า (HP) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิด 31.58 กก.-ม.
/ 310 นิวตันเมตร ที่ 2,000 – 4,300 รอบ/นาที มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ
7 จังหวะ 7G-TRONICS PLUS

SLK 350 BlueEFFICIENCY เครื่องยนต์ V6 สูบ DOHC 24 วาล์ว 3,498 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิกส์
225 กิโลวัตต์ / 306 แรงม้า (HP) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 370 นิวตันเมตร / 37.70 กก.-ม. ที่
3,500 รอบ/นาที มีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ 7G-TRONICS PLUS

– SLK 55 AMG เครื่องยนต์ V8 สูบ DOHC 32 วาล์ว 5,461 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิกส์ 310 กิโลวัตต์
/ 421 แรงม้า (HP) ที่ 6,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 55.02 กก.-ม. / 540 นิวตันเมตร ที่ 4,500 รอบ/นาที
มีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ AMG Speedshift PLUS 7G-TRONIC

SLK 250 CDI BlueEFFICIENCY เครื่องยนต์ Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,143 ซีซี หัวฉีด
Common Rail Turbo 150 กิโลวัตต์ / 204 แรงม้า (HP) ที่ 4,200 รอบ/นาที แรงบิด 50.95 กก.-ม. /
500 นิวตันเมตร ที่ 1,600 รอบ/นาที มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ
7 จังหวะ 7G-TRONICS PLUS

แต่สำหรับเวอร์ชันไทย SLK มีขุมพลังให้เลือกเพียงแบบเดียว เป็นเครื่องยนต์ รหัส M271 บล็อก
4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,796 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 82.0 x 85.0 มิลลิเมตร กำลังอัด
9.3 : 1 ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีอยู่แล้วใน E-Class รุ่น E200 CGI BlueEFFICIENCY รวมทั้ง
C-Class C200 CGI BlueEFFICIENCY นั่นเอง 

นั่นหมายความว่า ในรายละเอียดเบื้องลึก ก็แทบจะไม่แตกต่างอะไรกับ E200 CGI มากมาย
อย่างที่คิดนัก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อสูบทำจากอะลูมีเนียมหล่อขึ้นรูป เช่นเดียวกับฝาสูบ ที่ทำจาก
อะลูมีเนียม แบบ High-Strength หล่อขึ้นรูป มาพร้อมเทคโนโลยี ระบบฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรง
เข้าห้องเผาไหม้ Direct Injection ด้วยหัวฉีดที่ถูกติดตั้งทำมุม 30 องศา กับห้องเผาไหม้ เพิ่ม
แรงดันสูงสุดได้ถึง 140 บาร์ และ เป็นหัวฉีดแบบมีหลายรูในหัวเดียว หรือ Multi-hole และ
คราวนี้ ก็ถอด Supercharge ออก แล้วติดตั้ง Turbocharger เพียงลูกเดียว เข้าไปทำหน้าที่แทน
โดยมีการปรับบูสต์ของ Turbo เอาไว้ที่ 0.85 Bar

พละกำลังสูงสุด อยู่ที่ 184 แรงม้า (PS) ที่ 5,250 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด อยู่ที่ 270 นิวตันเมตร
(27.51 กก.-ม.) ที่ 1,800 – 4,600 รอบ/นาที โดยแรงบิดสูงสุดมาในแบบ Flat Torque ต่อเนื่อง
ปล่อนก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ที่ 142 กรัม / 1 กิโลเมตร

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะลูกใหม่ 7G-TRONICS PLUS
ที่มีการเปลี่ยนมาใช้ Torque Converter Lock-up Clutch รุ่นใหม่ กับชุด Hydraulic circuit ใหม่
ให้การตอบสนองได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทนทานและลดระดับเสียงรบกวนให้น้อยลง ซึ่งเป็นเกียร์
ลูกเดียวกับที่ผมเคยพบเจอมาแล้วใน C-Class Coupe C 250 Edition 1 สุดเลิฟของผมนั่นเอง

อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

เกียร์ 1……………..4.38
เกียร์ 2……………..2.86
เกียร์ 3……………..1.92
เกียร์ 4……………..1.37
เกียร์ 5……………..1.00
เกียร์ 6……………..0.82
เกียร์ 7……………..0.73
ถอยหลัง R1………..3.42
ถอยหลัง R2………..2.23
เฟืองท้าย…………..3.066

ในเมื่อเป็นเกียร์ลูกเดียวกัน ก็คงต้องขอยกข้อมูลมาบอกกล่าวกันไว้อีกครั้งว่า เกียร์ลูกนี้
จะต้องเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเกียร์ชนิดใหม่ FE-ATF ซึ่งมีการลดความหนืด และมีการใส่
สารเพิ่มประสิทธิภาพเข้าไป ทำให้การใช้งาน ยาวนานขึ้น และมีอายุการเปลี่ยนถ่าย
น้ำมันเกียร์อัตโนมัติลูกใหม่นี้ ที่ระดับทุกๆ 125,000 กิโลเมตร

ตัวเลขของโรงงานผู้ผลิต ในเยอรมัน บอกมาว่า ทำอัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ได้ในเวลา 7.2 วินาที ความเร็วสูงสุด 240 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 6.5 – 7.0
ลิตร / 100 กิโลเมตร และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 152 – 163 กรัม / กิโลเมตร

ตัวเลขเหล่านี้ ทำการทดลองกันที่เยอรมัน แต่ถ้าเป็นสภาพถนนและอากาศในเมืองไทย จะยัง
ทำได้ตามนี้หรือไม่ มากน้อยอย่างไร เราจึงลองจับเวลา ทำอัตราเร่งในตอนกลางคืน เปิดแอร์
เปิดไฟหน้า นั่ง 2 คน ตามเคย ตัวเลขที่ได้ออกมา เมื่อเทียบกับตัวเลขของคู่แข่ง มีดังต่อไปนี้…

จากตัวเลขในตารางจะเห็นได้ว่า เพียงแค่วิศวกรของ Daimler AG ปรับปรุงเครื่องยนต์ M271 เดิม
ให้ดีขึ้น ตัด Supercharger ออก เปลี่ยนเอา Turbocharger มาใส่แทน แถมเปลี่ยนมาใช้เกียร์ลูกใหม่
7G-Tronics ผลก็คือ อัตราเร่ง เร็วขึ้นกว่า SLK 200 Kompressor รุ่นเดิม อย่างชัดเจน

ในช่วง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตัวเลขเฉลี่ย ออกมา รถรุ่นใหม่เร็วกว่าเดิม ถึง 1.1 วินาที ขณะที่
อัตราเร่งแซงช่วง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น กลับเร็วกว่ากันมากถึง 2 วินาที!!! ดังนั้น ถ้าเทียบ
กับตัวเลขของบรรดารถสปอร์ตขนาดเล็กแบบหลังคาแข็งพับเก็บเปิดประทุนได้ ทุกคันที่เราเคย
ทดลองและเก็บตัวเลขอัตราเร่งกันมา เท่ากับว่า SLK 200 ใหม่ ทำตัวเลขออกมาได้ดีที่สุดในกลุ่ม
ทั้งอัตราเร่งตั้งแต่ช่วงออกตัว จนถึงช่วงเร่งแซง

ส่วนความเร็วสูงสุดนั้น ตัวเลขจากโรงงานระบุว่า ทำได้ 237 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ในการทดลอง
ของเรา แค่เหยียบให้ถึง 230 กิโลเมตร/ชั่วโมง และล่อยให้เข็มความเร็วค้างไว้ตรงนั้น 5 วินาที
เป็นเรื่องที่ยากลำบาก และต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมาก อีกครั้งหนึ่งเท่าที่เราเคยเจอมา เพราะว่า
รถที่นำมาทดลองขับนั้น สภาพช่วงล่างไม่ค่อยสมบูรณ์นัก รถจึงมีอาการดิ้นไปมา ซ้ายๆขวาๆ
ตามสภาพพื้นผิวถนน และต้องใช้สมาธิในการควบคุมมากกว่าปกติเหลือเกิน พอถึงช่วงหมด
เกียร์ 5 เข้าสู่เกียร์ 6 เข็มความเร็วยังคงเท่าเดิม แต่เข็มวัดรอบ ตัดลงมาอยู่ที่ 4,900 รอบ/นาที
ดังนั้น ความเร็วสูงสุด จึงต้องอยู่ที่เกียร์ 5 ตามที่เห็นในตารางนั้น ถูกต้องแล้ว

ดังนั้น ในการขับขี่จริง อัตราเร่งที่มีมาให้ เพียงพอที่จะสร้างความสนุกและตื่นใจ หรือพาคุณพ้น
จากสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ทั้งหลายได้ดีมาก มันเพียงพอ และเหลือเฟือสำหรับ นักขับทั่วไป
ที่เน้นการใช้รถในเมืองเป็นหลักมากกว่า หรือเป็นคนที่ชอบ ขับรถกินลมชมวิว บนเขาใหญ่ หรือ
ริมชายทะเล

คันเร่งไฟฟ้า ของ SLK 200 ใหม่ ก็ยังคงตอบสนองในแบบเดียวกับ Mercedes-Benz รุ่นอื่นๆ คือ
ต้านเท้ามาก ต้องออกแรงเหยียบเยอะกว่ารถยนต์ทั่วไป แถมยังตอบสนองตามอารมณ์ของมัน ถ้า
ต้องการอัตราเร่งแบบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ไม่ได้รีบเร่งมากนัก แค่เติมน้ำหนักเท้าขวาลงบนคันเร่ง
จากเดิมอีกสักราวๆ ครึ่งหนึ่ง ของระยะเหยียบทั้งหมด รถก็จะพุ่งทะยานไต่ความเร็วขึ้นไปอย่าง
ทันอกทันใจพอสมควร แต่ถ้าต้องการอัตราเร่งชนิดหลังติดเบาะ ดึงกระชาก คุณควรจะเหยียบ
คันเร่งลงไปจนจมมิด ให้ด้านหลังของคันเร่ง ไปแตะกับสวิชต์ ดัง “ติ๊ก” เพื่อให้สมองกลรู้ว่า
คุณต้องการพุ่งพรวดออกไปอย่างฉับไว รอบเครื่องยนต์จะสนองตอบทันที ส่งพละกำลังลงสู่
ล้อคู่หลังอย่างต่อเนื่อง

ถ้าคุณเหยียบคันเร่งจากจุดหยุดนิ่ง ให้จมพรวดลงไปติดพื้นรถทันทีเพื่อให้รถออกตัวฉับพลัน
คันเร่งจะออกอาการ Lack กว่าที่ควรจะเป็น ราวๆ 0.5 วินาที แต่ถ้ากำลังใช้ความเร็วบนทางด่วน
ประมาณ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง เกิดอยากจะเร่งแซงรถหัวลากคันข้างหน้า หากใช้เกียร์ในโหมด
E (Economy Mode) คันเร่งจะใช้เวลา สั่งการไปยังสมองกลของเครื่องยนต์ราวๆ 0.5-0.7 วินาที
ว่าจะต้องเร่งรถ เพื่อให้พุ่งแซงอย่างด่วนแล้วนะ

และต่อให้กดปุ่มโปรแกรมเกียร์เป็นแบบ S (Sport Mode) คันเร่งจะตอบสนองพอๆกัน ไม่ต่าง
อะไรมากนัก เพราะโหมด S มีขึ้นมาเพื่อให้คุณยังคงลากรอบเครื่องยนต์ได้ต่อเนื่อง อีกนิดหน่อย
แค่นั้นเลย

แต่ถ้าอยากให้เกียร์ เปลี่ยนขึ้น หรือลง ไวอย่างใจต้องการ ให้กดปุ่มไปที่ M หรือ Manual Mode
ซึ่งเกียร์จะยอมให้คุณ เลือกสั่งเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์เอาเองตามใจชอบ โดยมีโปรแกรมควบคุม
ป้องกันการเปลี่ยนเกียร์ลงไปอยู่ในตำแหน่งต่ำเกินกว่าที่ควรเป็น ช่วยดูแลให้ นั่นแปลว่า ถ้าคุณ
ใช้ความเร็ว ราวๆ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่เกิดต้องเร่งแซงรถเทรลเลอร์คันข้างหน้า

ในภาพรวมแล้ว พละกำลังของ SLK 200 ไม่อืด และยังมีอัตราเร่งดีเพียงพอ เหลือเฟือสำหรับ
การใช้งานทั้งในชีวิตประจำวัน หรือขับออกต่างจังหวัด เดินทางไกล ไม่ต้องกลัวว่ามันจะอืด
เพราะมันไม่อืด แถมยังแรงกว่าที่คิดไว้นิดหน่อยเสียด้วย เว้นแต่คุณต้องการความแรงที่มาก
เกินกว่านี้ ก็คงต้องขอให้หันไปมองรุ่นย่อยอื่น ซึ่งยังไม่มีสั่งเข้ามาจำหน่ายในบ้านเรา

การเก็บเสียงรบกวนจากภายนอกนั้น ถือว่าทำได้ดีในระดับพอกันกับรถรุ่นก่อน และอาจมี
เสียงอากาศไหลผ่าน ลอดเข้ามาให้ได้ยินจากทางด้านหลังของตัวรถเพิ่มขึ้นตามความเร็ว
ของรถ แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่ต้องทำใจ สำหรับการขับรถยนต์เปิดประทุน ซึ่งจะต้องมีรอยต่อ
ของหลังคา มากกว่ารถยนต์ปกติทั่วไป

พวงมาลัย เป็นแบบ แร็ค แอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง ซึ่งยังดีที่ เป็นแบบ ไฮโดรลิก
และยังไม่เปลี่ยนมาใช้เพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้าแต่อย่างใด รัศมีวงเลี้ยวเต็มวง 10.52 เมตร
หมุนพวงมาลัยจากซ้ายสุด ไปขวาซุด Lock to Lock ได้ ใน 2.6 รอบ เพิ่มจากเดิม 2.8 รอบ
นอกจากจะมีระบบ Direct Steer เพื่อช่วยเพิ่มน้หนัก และความแม่นยำในการบังคับรถให้
เหมาะสมกับความเร็วในระดับต่างๆ เหมือนเช่น Mercedes-Benz รุ่นอื่นๆแล้ว ยังมีระบบ
ปั้ม ECO steering servo pump ติดตั้งมาให้ในทุกรุ่น ทุกคัน ด้วยการควบคุม โซลินอยด์ 
วาล์ว ด้วยอีเล็กโทรนิคส์ ทำให้การส่งแรงดันน้ำมันเพาเวอร์ไปยังเฟืองพวงมาลัย ทำได้เหมาะสม
ถ้าพวงมาลัยไม่ได้ทำงานมากไปกว่า บังคับรถไปตรงๆ เท่ากับว่า ต้องการกำลังฉุดในระบบน้อย
แรงดันในระบบพวงมาลัย ก็จะลดน้อยลง เพื่อช่วยให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น

ถึงจะมีอัตราทดที่ดีขึ้น น้ำหนักดีขึ้น (คือทั้งหนืดขึ้น และหนักขึ้นตามความเร็วรถที่เพิ่มขึ้น)
ตอบสนองไวขึ้น และแม่นยำมากขึ้น สั่งให้เลี้ยวแค่ไหน ก็เลี้ยวไปตามนั้น ไม่มีอิดออด
เหมือนพวงมาลัยของรถรุ่นเก่า การเข้าโค้ง ยังคงนิ่งพอประมาณ และมั่นใจได้อย่างที่ควร
ไม่ใช่เลี้ยวแล้ว ไม่พอ ต้องเลี้ยวเพิ่มจนกลายเป็นว่าเลี้ยวมากไป อย่างเช่น SLK รุ่นที่แล้ว
ซึ่งมองในภาพรวม ถือว่ามีการปรับปรุงให้พวงมาลัยตอบสนองได้ดีขี้น แต่ดูเหมือนว่า
ควยามพยายามดังกล่าว ยังไม่เพียงพอ เพราะกลับกลายเป็นว่า แอบไม่มีชีวิตชีวามากเท่าที่
ควรและเคยมี

ในช่วงความเร็วต่ำ พวงมาลัยที่เหมือนจะไม่มีระยะฟรี (แต่จรีงๆแล้ว มี ถึงไม่มากนักก็เถอะ)
ดิ้นไปตามประสา ในแทบทุกพื้นผิวถนนที่ขรุขระ พวงมาลัย เหมือนจะหลวม ไปตามสภาพ
ของรถที่ผ่านการใช้งานมากหนักหน่วง ในช่วงเลี้ยวพวงมาลัย 5-10 องศาแรก จะไร้น้ำหนัก
หน่วงใดๆทั้งสิ้น ซึ่งจริงๆแล้ว ควรจะมีหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ พอเริ่มเลี้ยวมากกว่านั้น น้ำหนัก
ก็จะมาถึงแบบกำลังดี ในช่วงความเร็วต่ำ ช่วยให้เลี้ยวเข้าจอด ได้ง่าย โดยไม่ต้องออกแรงมาก

ในช่วงความเร็วสูง พวงมาลัย จะหนืดขึ้น หนักขึ้นนิดนึงก็จริง และเป็นน้ำหนักที่ดีเพียงพอ
สำหรับการใช้งานแล้ว แต่ปัญหาก็คือ การรักษาเสถียรภาพ รักษาพวงมาลัยตั้งตรงๆ อยู่นิ่งๆ
เฉยๆ แม้จะเจอรอยต่อของผิวถนน ขรุขระ ไม่ดิ้นไปมาตามสภาพพื้นถนน เป็นเรื่องยาก

ระบบกันสะเทือนของ SLK นั้น แม้ว่าจะมีตำแหน่งการวางล้อเหมือนกันหมด แต่มีให้เลือก
3 รูปแบบ ยืนอยู่บนพื้นฐานของระบบกันสะเทือนหน้า ที่เปลี่ยนจากแม็คเฟอร์สันสตรัต มา
เป็นแบบ 3 จุดยึด (แต่ในใบตารางสเป็กของเยอรมัน เขียนว่าเป็นแบบ (Multi-Link) ช็อกอัพ
คู่หน้า เป็นแบบ Gas ,Double-Tube ส่วนด้านหลัง ยังคงเป็นแบบ MB Multi-Link อยู่ ช็อกอัพ
คู่หลัง เป็นแบบ Gas เหมือนกัน แต่เป็น Single-Tube

ในรุ่นมาตรฐาน ช่วงล่างจะใช้เหล็กกล้าในทุกจุดเหมือนเดิม แต่มีออพชันให้เลือกเป็นช่วงล่าง
แบบ Sport Suspension ซึ่งจะมีช็อกอัพที่แข็งและหนึบขึ้น สปริงมีระยะยุบตัวน้อยกว่าปกติ
และมีเหล็กกันโคลงแบบ Torsion Bar ปรับลดความสูงของตัวรถลง 10 มิลลิเมตร

และระบบที่ติดตั้งมาในรถคันที่เราทดลองขับกันนี้ เป็นแบบ Dynamic Handling Package
เป็นช็อกอัพไฟฟ้า ใช้อีเล็กโทรนิกส์ ควบคุมการทำงาน เพียงกดปุ่มบนแผงควบคุมกลาง
ให้ไฟสีแดง ที่ปุ่มรูปช็อกอัพ พร้อมคำว่า Sport ติดขึ้นมา ในเวลาเพียง 10/1000 วินาที
ช่วงล่างจะปรับความแข็งขึ้นให้ตึงตังได้อย่างชัดเจนขึ้น โดย SLK ที่ติดตั้ง ช็อกอัพไฟฟ้า
ชุดนี้ จะถูกลดความสูงลงมา 10 มิลลิเมตร เหมือนรุ่นช่วงล่าง Sport

ต้องบอกกล่าวกันไว้ก่อนว่า SLK คันที่ส่งมาให้ผมได้ทดลองขับกันครั้งนี้ ผ่านศึกมาโชกโชนแล้ว
อาการที่เกิดขึ้นคือ  ท้ายรถดิ้นออกแนวระนาบซ้าย-ขวา ไปตามรอยต่อ และพื้นผิวถนนอยู่บ้าง
ในบางจังหวะ คล้ายกับตูดเป็ด Donald Duck แม้จะเป็น “อาการเฉพาะรถคันนี้คันเดียวเท่านั้น”
แต่ผมก็ยังไม่แน่ใจว่า จะยังพบอาการนี้ ในรถคันที่ มีสภาพสมบูรณ์ สดใหม่ ป้ายแดง กว่านี้
หรือไม่ ซึ่งถ้ามีโอกาส คงต้องขออัพเดทกันอีกครั้ง ถ้าหากได้มีโอกาสทดลองขับรถรุ่นเดียวกัน
แต่เป็นคันอื่น

กระนั้น ถ้าไม่นับอาการเฉพาะรถคันนี้แล้ว บอกได้เลยว่า ระบบกันสะเทือนถูกปรับปรุงมาจนถือว่า
เข้าที่เข้าทางมากขึ้นกว่ารุ่นก่อน ลดทอนความดิบลงไปเยอะ ในโหมด Comfort (ปิดสวิชต์ Sport ทิ้ง)
ช่วงล่างให้ความนุ่มนวลแทบจะพอๆกันกับบรรดารถยนต์ Sedan ขนาดใหญ่ เลยทีเดียว การเคลื่อน
ตัวผ่านพื้นผิวขรุขระ และเนินลูกระนาดต่างๆ ทำได้อย่างนุ่มนวล แทบไม่มีความตึงตังมาให้สัมผัส
กันเลย จนสงสัยว่า นี่ผมกำลังขับ SLK หรือ E-Class Saloon กันแน่ (วะ)

พอกดปุ่ม เปลี่ยนเป็นโหมด Sport ช่วงล่างแข็งขึ้นในฉับพลัน ชัดเจน และเพิ่มความมั่นใจในการ
พารถเข้าโค้ง มากขึ้นอีกพอสมควร จับอาการแล้ว เหมือนว่ารถจะเลี้ยวได้คล่องขึ้นนิดหน่อย แต่
ความจริงแล้ว เมื่อเข้าโค้งเดียวกัน ด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง (โค้งขวา จากสุวรรณภูมิ บน
สะพานทางลง เพื่อกลับเข้าสู่บางนา-ตราด ชัดเจนเลยว่า เห็นความแตกต่างครับ การเข้าโค้ง ทำได้ดี
อาการหน้ารถไว และท้ายรถค่อยตามมา ลดน้อยลงนิดหน่อย

น่าเสียดาย ที่สภาพช่วงล่างค่อนข้างแอบโทรมฝังใน จากการใช้งานที่ไม่ทะนุถนอม และขาดการ
ดูแลระหว่างใช้งาน ทำให้อาการดิ้นซ้ายทีขวาที มาปรากฎให้เกิดความน่ารำคาญใจ ลองนึกดูว่า
คุณกำลังจะกินข้าวขาหมู หรือ บะหมี่เกี้ยวน้ำ แล้วพบว่า คนปรุง ดันใส่ถั่วงอกลงมา มันก็เป็น
นิ่วทางอารมณ์ได้เหมือนกันนะ!

ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรก 4 ล้อ จานเบรกคู่หน้ามีรูระบายความร้อน เส้นผ่าศูนย์กลาง 295 มิลลิเมตร
หนา 28 มิลลิเมตร ส่วนจานเบรกคู่หลัง ธรรมดา เส้นผ่าศูนย์กลาง 300 มิลลิเมตร หนา 10 มิลลิเมตร
มีระบบป้องกันล้อล็อก  ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนัก
บรรทุก EBD (Electronic Brake Force Distribution) และระบบเพิ่มแรงดันเบรกกระทันหัน
BAS (Break Assist) ทำงานร่วมกับระบบ ADAPTIVE BRAKE เสริมมาให้

ระบบ ADAPTIVE BRAKE จะรวมการทำงานของ ABS ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี ASR (หรือ
Acceleration skid control system) และเซ็นเซอร์ตรวจจับ Active Yaw Control (GMR)
เพื่อให้ทำงานในกรณีต่อไปนี้

– ถ้าขับขึ้นเขา แล้วต้องเหยียบเบรก ระบบจะช่วยให้รถไม่ไหลถอยหลัง เมื่อถอนแป้นเบรกทันที
– ทำงานร่วมกับ สวิชต์เบรกมือไฟฟ้า เพื่อช่วยให้รถยังคงหยุดนิ่ง ขณะจอดติดไฟแดง หรือบนทาง
   ลาดชัน ด้วยโหมด HOLD แสดงขึ้นมาบนหน้าปัด
– ถ้าผู้ขับขี่ถอนเท้าจากคันเร่งเมื่อไหร่ ผ้าเบรกจะถูกสั่งให้เตรียมทำงาน โดยสัมผัสกับจานเบรก
  เบาๆก่อน เพื่อช่วยเพิ่มให้ระบบเบรก ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อต้องเบรกกระทันหัน
– และบนพื้นถนนเปียกลื่น ผ้าเบรก ก็จะสัมผัสกับจานเบรก เบาๆ เพื่อทำให้ผ้าเบรกแห้งพอ และ
  พร้อมรับงานหนักหากต้องเบรกกระทันหัน
– และถ้าต้องเหยียบเบรกฉับพลันทันที เพื่อหยุดรถกระทันหัน ก็จะกระพริบไฟเบรกเตือนรถคันที่
  ขับตามหลังมา ให้ระมัดระวัง และลดความเสี่ยงในการชนบั้นท้ายของ SLK

การตอบสนองของระบบห้ามล้อ ยังคงทำงานได้ดี หน่วงความเร็วลงได้ ค่อนข้างไว น้ำหนักของ
แป้นเบรก เซ็ตมาในสไตล์รถยุโรป แต่หนึบแน่น และตื้น แต่ เมื่อเหยียบลงไปแล้ว ก็ต่อเนื่อง
Linear ไม่แข็งทื่อ มากเกินไป และ ไว้ใจได้พอสมควร ในการชะลอความเร็วกระทันหัน ระยะ
เหยียบของแป้นเบรก มาในแบบนุ่มแน่น ไม่เบาโหวง ดังนั้น การชะลอรถไปตามสภาพการ
จราจร ติดขัด ก็ยังทำได้นุ่มนวล ยกเว้นตอนที่รถหยุดสนิท ต่อให้เบรกมานุ่มแค่ไหน ยังไงๆก็จะ
มีอาการ สะดุด “กึก” นิดนึง ให้พบอยู่ดี

SLK ใหม่ ทุกคัน เป็น Mercedes-Benz อีกรุ่นหนึ่ง ที่ถูกติดตั้งระบบ PRE-SAFE มาให้จากโรงงาน
หลักการทำงานก็คือ เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์คับขัน จนเซ็นเซอร์ของระบบช่วยเบรก BAS (Brake Assist)
รับรู้ว่า มีการเหยียบเบรกกระทันหัน หรือเมื่อระบบควบคุมเสถียรภาพลดการลื่นไถลทั้งในโค้ง ขณะ
ออกตัว หรือเมื่ออยู่บนพื้นลื่น ESP (Electronic Stability Program) ตรวจจับได้ว่ารถเริ่มสูญเสียการ
ทรงตัว การทำงานของระบบปกป้องก่อนเกิดเหตุต่างๆ จะเริ่มขึ้นทันที ในเวลาเพียงเสี้ยววินาที

ขั้นแรกเข็มขัดนิรภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า แบบ Pretensioner & Load Limiter ผ่อนแรง
และดึงรั้งกลับอัตโนมัติ จะปรับตัวกระชับเข้ากับร่างกาย ผู้ขับขี่ จากนั้น พนักพิงเบาะนั่งคู่หน้า จะถูก
ปรับให้ตั้งตรงขึ้น ซันรูฟและกระจกหน้าต่างทุกบานจะเลื่อนขึ้นปิดเองทันทีอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกัน
การหลุดกระเด็นของผู้ขับขี่และผู้โดยสารออกไปนอกตัวรถ พร้อมกันนี้ พนักศีรษะของเบาะคู่หน้า
NECK-PRO จะเตรียมพร้อมรองรับศีรษะของผู้ขับขี่กับผู้โดยสารตอนหน้า ทั้งหมดนี้ จะเกิดขึ้นอย่าง
ฉับพลันภายในเสี้ยววินาที

หากรถหยุดนิ่งสนิท ไฟฉุกเฉิน Hazzard Light ในชุดไฟเลี้ยวทั้ง 2 ฝั่ง จะติดขั้นเองโดยอัตโนมัติ เพื่อ
เตือนให้รถคันข้างหลังที่ขับตามมา รู้ว่า คุณเพิ่งจะหยุดกระทันหัน

แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุ โครงสร้างตัวถังนิรภัย Crumple Zone ของ SLK R172 ที่ถูกปรับปรุงใหม่ โดยชิ้นส่วน
ตัวถัง ทั้งฝากระโปงหน้า และโป่งข้างเหนือซุ้มล้อคู่หน้า เปลี่ยนมาใช้ อะลูมีเนียมแทน จะดูดซับและส่ง
กระจายแรงปะทะ ไปตามแนวโครงสร้างที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นการปะทะจากด้านหน้า หรือด้านข้าง
ก็ตาม ถุงลมนิรภัย คู่หน้า (หรือด้านข้าง หากเป็นการชนด้านข้าง) และม่านลมนิรภัยด้านข้าง รวม 6 ใบ
จะพองตัวออกมาอย่างฉับพลันด้วยความเร็วในระดับ 1/1000 วินาที พนักพิงศีรษะแบบ NECK-PRO จะ
ยกตัวขึ้นรองรับศีรษะ พร้อมกับแกนพวงมาลัยสามารถยุบตัวได้ เพื่อลดการบาดเจ็บของผู้ขับขี่ รวมถึง
อุปกรณ์นิรภัยต่าง ๆ จะทำงานร่วมกันอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้ เพื่อลดการบาดเจ็บของผู้ขับขี่และ
ผู้โดยสารทุกคน

หลังเกิดอุบัติเหตุ หากร้ายแรงมาก ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของชุดควบคุมจะตัดการจ่ายเชื้อเพลิงโดยอัตโนมัติ
พร้อมๆ กับสั่งให้เครื่องยนต์หยุดทำงานในทันที ขณะเดียวกันประตูทุกบาน จะถูกปลดล็อกโดยอัตโนมัติ
เช่นเดียวกับกระจกหน้าต่างจะถูกปรับเลื่อนลงเพียงเล็กน้อย เพื่อให้ ฝุ่นควันจากถุงลมนิรภัยระบายออก
ได้รวดเร็ว ช่วยให้อากาศภายในห้องโดยสารถ่ายเทได้อย่างสะดวก

นอกจากนี้ ถ้าเกิดอุบัติเหตุกับคนเดินข้ามถนน ฝากระโปรงหน้าจะดีดตัวเด้งขึ้น 85 มิลลิเมตร เพื่อรองรับ
การล้มตัวลงปะทะของร่างกายมนุษย์ และลดทอนความเสียหายที่จะเกิดกับห้องเครื่องยนต์ ไปด้วยในตัว

และถ้าเกิดการพลิกคว่ำ เสาโครงสร้างค้ำยันรูปตัว U เหนือเบาะนั่ง ทั้ง 2 ฝั่ง จะค้ำยันเพื่อลดการบาดเจ็บ
ของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

ในรีวิว SLK เมื่อปี 2009 ผมมีปัญหากับการเติมน้ำมันของ ปั้ม Shell ปากซอยอารีย์ แต่ใครมันจะไปนึกกันละว่า
เหตุการณ์ครั้งนั้น จะหวนกลับมาเกิดขึ้นกับผมอีก ในรถรุ่นเดียวกัน เพียงแต่ ต่างสถานการณ์นิดหน่อย

นับตั้งแต่ช่วงที่น้มันเบนซิน 95 ลดราคาลงมาช่วงสั้นๆ ปรากฎว่า มันขายดีมากจนน้ำมันถึงกับหมดปั้ม ต้อง
สั่งน้ำมันล็อตใหม่ มาลงขายในปั้มกันเลย และมีบ้างเหมือนกัน ที่เกิดปัญหาว่า พอจะทดลองอัตราสิ้นเปลือง
ของรถยนต์ในรีวิวก่อนๆ ปรากฎว่า น้ำมันเบนซิน 95 หรือแม้แต่ Diesel หมด!

ผมกับ เจ้าโต้ น้องเด็กปั้ม ในสถานีบริการน้ำมันของ Caltex บนถนนพหลโยธิน ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS
อารีย เราจะตกลงกันเอาไว้ว่า ก่อนที่ผมจะเข้าไปใช้บริการ จะต้องโทรแจ้ง เพื่อให้โต้ เช็คดูว่า ยังมีน้ำมันเหลือ
อยู่ในปั้ม ปริมาณเพียงอที่ผมจะใช้ทำการทดลองหรือไม่ หรือถ้าผมบอกล่วงหน้า ว่า จะเข้าไปในอีกกี่วันถัดมา
พอถึงวันนั้นจริง น้ำมันที่ผมต้องการใช้ เกิดหมดปั้ม “โต้” จะโทรบอกกับผมว่า วันนี้ น้ำมันตัวนี้หมด เพื่อที่ผม
จะได้ยกเลิก หรือเปลี่ยนแผนการทดลอง ไปใช้แผนสำรองทดแทน (ขอย้ำ นี่ไม่ใช่การกั๊กน้ำมันไว้ใช้เองทั้งสิ้น)

แต่คราวนี้ เกิดเรื่องจนได้ วันจันทร์ก่อนหน้านั้น ผมบอกกับ เจ้าดิน น้องเด็กปั้มคนใหม่ไว้ว่า จะเข้ามาอีกทีราวๆ
วันพฤหัสบดี พอถึงวันจริง ในวันที่รับรถมา และต้องทำการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง นายโต้ เด็กปั้ม
ในสถานีบริการน้ำมัน Caltex ถนนพหลโยธิน มาบอกกับผมว่า น้ำมัน เบนซิน 95 Techron ในปั้ม หมด!

“เฮ้ย! เป็นอย่างนี้ได้ยังไง! ปกติแล้ว ถ้าพี่จะเข้ามาทำการทดลองวันไหน พี่จะต้องบอกก่อนใช่ไหม?”
“ก็วันนี้พี่ไม่โทรมาบอกผมก่อน” โต้พยายามเถียงกลับ
“แต่พี่ก็บอกไว้แล้วนะว่า พี่จะเข้ามาเติมในวันพฤหัส”
เจ้าดิน น้องเด็กปั้มคนใหม่ ยืนยันกับโต้ว่า “พี่เค้าบอกไว้แล้วว่าจะเข้ามาวันนี้หวะ!”

ถึงกับหน้าเจื่อนไปตามๆกัน ทั้งลูกพี่ลูกน้องเลยทีเดียว

ที่สำคัญที่สุด….น้ำมันหมดแล้ว ไม่พอขาย….
“แล้วทำไมไม่ปิดป้ายบอกลูกค้าว่าน้ำมันเบนซิน 95 หมด???

เจ้าโต้ เงียบ

ผมก็เลยระเบิดบึ้ม กลางปั้ม Caltex อารีย์ ไปครั้งนึง เป็นระเบิดแบบเบาะๆ แบบมีสติ  (ผมไม่รู้ ไม่แคร์
และไม่สนใจว่าเสียงด่าของผม มันจะดังลั่นแค่ไหน แต่น่าจะดังพอควร จนเจ้าโต้ ไม่กล้าเข้าหน้าผมอีก)

ถ้าผมรู้ล่วงหน้าว่าน้ำมันหมด ผมก็จะได้เปลี่ยนแผนการทดลองเลย จะได้ไม่ต้องแวะเข้าปั้มนี้ให้เสียเวลา
ถ้าเสร็จแล้ว จะแวะกลับมากินน้ำกินท่า พักรถ พักคน ตามปกติ อันนั้น ก็อีกเรื่อง

สุดท้าย น้อง Joke V10ThLnD สมาชิก The Coup Team ของเรา ผู้ร่วมทดลอง อัตราสิ้นเปลือง ระยะหลังๆ
มาตลอด ก็คิดหาแผนสำรองให้เสร็จสรรพ และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้ผม ต้องรีบ ออกรถ บึ่งมายัง สถานี
บริการน้ำมัน Caltex อีกแห่ง ที่ประชานุกูล เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron กันเต็มถัง ชนิดหัวจ่ายตัด
เพื่อไม่ให้เวลาเดินเข้าสู่ช่วงดึกไปเกินกว่า 5 ทุ่ม มากกว่านี้ (ก่อนหน้านี้ เสียเวลาไปแล้วชั่วโมงนึงเต็มๆ)

เมื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron จนเต็มถังน้ำมันขนาด 60 ลิตร (ลดขนาดลงมาจากรุ่นเดิม ซึ่งเคยอยู่ที่
70 ลิตร) เราก็เซ็ต 0 บน Trip Meter (มีมาให้แค่ Trip เดียว ตามเคยนะ Mercedes-Benz เป็นทุกรุ่นเลย)
คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ออกรถ มุ่งหน้าออกจากปั้ม Caltex ไปตามเส้นทางเดิม และยัง
ใช้มาตรฐานเดิม คือ ความเร็วสูงสุด 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ เบอร์ 1 อุณหภูมิราวๆ 24-25 องศาฯ
และนั่ง 2 คน แต่คราวนี้ ที่มีการปรับแผน เปลี่ยนเส้นทางกันเล็กน้อย ในช่วงจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด

นั่นคือ พอออกจากปั้มปุ๊บ เรามุ่งหน้าไปเลี้ยวกลับ ใต้สะพานข้ามแยกรัชวิภา มุ่งหน้าย้อนกลับมาที่สี่แยก
โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น เลี้ยวขวา แล้วเลี้ยวซ้ายข้นทางด่วน ที่ด่านประชาชื่น จ่าย 15 บาท แล้ว
มุ่งหน้าไปตามทางด่วนสายอุดรรัถยา หรือเส้นเชียงราก เส้นเดิม ไปจ่ายค่าผ่านทาง 55 บาท ณ ปลายสุดทาง
ที่่ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ จ่ายค่าทางด่วนอีก 55 บาท ย้อนกลับเข้ากรุงเทพ กลับมาจ่ายค่าผ่านทางที่ด่าน
ประชาชื่น ขาเข้าเมือง อีก 55 บาท แล้วมุ่งหน้าไปลงยัง อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จากนั้น เลี้ยวกลับที่วินรถตู้
แล้วขึ้นทางด่วนเส้นเดิม อีก 45 บาท มาลงทางด่วนประชาชื่นอีกครั้ง (รวมค่าทางด่วนอย่างเดียว 225 บาท
ในเวลาเพียงแค่ชั่วโมงเศษๆ!!)

จากนั้น เลี้ยวกลับที่สี่แยก โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เพื่อมุ่งหน้ากลับสถานีบริการน้ำมัน Clatex ประชานุกูล
อีกครั้ง ย้อนกลับมาเติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron ที่หัวจ่ายเดิม ณ ตู้หมายเลข 9 เหมือนเช่นตอนเริ่มต้น
และเติมน้ำมันแบบ หัวจ่ายตัด เหมือนตอนแรกเริ่ม เช่นเดียวกัน

ต่อไปนี้ คือตัวเลขที่เราทำออกมาได้

ระยะทางบนมาตรวัด Trip Meter 92.8 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.33 ลิตร
หารออกมาแล้ว ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 14.66 กิโลเมตร/ลิตร

ชัดเจนครับว่า แม้ ทีมวิศวกรจะเลือกใช้ถังน้ำมันให้มีขนาดเล็กลง จาก 70 เหลือแค่ 60 ลิตร
แต่นั่นก็เพียงพอสำหรับการใช้งานร่วมกับเครื่องยนต์ M271 เวอร์ชันใหม่ พ่วงด้วยเกียร์
ลูกใหม่ 7G-TRONIC PLUS ทำให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงประหยัดขึ้นได้มากถึงระดับ
3.61 ลิตร เมื่อเทียบกับตัวเลขที่หารออกมาแล้ว ของรถรุ่นเดิม

แต่ถ้าเทียบระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด ตีซะว่า เท่ากัน คือ 92.8 กิโลเมตร (แม้ว่า รุ่นก่อน
จะทำได้ระยะทางสั้นกว่าคือ 91.9 กิโลเมตร ก็ตาม) และเติมน้ำมันกลับในระดับเท่ากัน
คือ 8.30 ลิตร ในรุ่นก่อน และ 6.33 ลิตร ในรุ่นใหม่ รถรุ่นเดิม ก็จะยังทำตัวเลขได้แค่
11.18 กิโลเมตร/ลิตร อยู่ดี

กลายเป็นว่า SLK 200 จะเป็นรถเปิดประทุนขนาดเล็กที่ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงดีที่สุด
ในตลาด? พูดกันตามตรงว่า ผมก็ยังสองจิตสองใจที่จะยืนยันเช่นนั้น เนื่องจาก การทดลอง
ในครั้งนี้ มีการเปลี่ยนเส้นทาง และเปลี่ยนจุดเริ่มต้น กับจุดสิ้นสุด แม้ระยะทางจะพอกัน
กับการทดลองตามปกติ แต่เส้นทางมันต่างไปจากปกตินิดหน่อย

ถ้าคุณผู้อ่านคิดว่า ตัวเลขที่ได้มานี้ ยอมรับได้ นั่นก็โอเคครับ เพราะถึงจะยอมรับไม่ได้
และอยากให้มีการทดลองซ้ำอีกครั้ง ผมก็คงต้องบอกว่า มี 2 ทางเลือกแล้วนะ นั่นคือ โปรด
หา SLK 200 คันใหม่ มาให้ผมทดลองที หรือไม่เช่นนั้น ก็ต้องติดต่อ ยืมรถจากทาง MBTh
ให้ผมใหม่อีกสักรอบครับ!

อย่างไรก็ตาม ความประหยัดที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เป็นเพียงภาพลวงตา แต่มันคือเรื่องจริง
เพราะจากที่ผมใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันราวๆ 5 วัน 4 คืน นี่คือตัวเลขก่อนที่ผมจะตัดสินใจเติม
น้ำมันเบนซิน 95 Techron กลับเข้าไป เพื่อให้แล่นใช้งานต่อได้จนถึงวันส่งคืนรถ

เห็นไหมครับ ยังเหลืออีกราวๆ 100 กิโลเมตร เข็มน้ำมันน่าจะเตือนไฟสัญญาณ
ให้ผู้ขับขี่รับทราบ ตั้งแต่ระยะประมาณ 630 -640 กิโลเมตร เป็นต้นไป

589 กิโลเมตร และยังมีน้ำมันเหลืออีกเกือบ 1 ใน 4 ของถังเนี่ยนะ! ประหยัดใช้ได้เลยละ!!

********** สรุป **********
คุยกันรู้เรื่องขึ้น แต่น่าเสียดาย ที่แอบโทรมมาก่อน อยู่สักหน่อย

ตี 1 กว่าๆ ผมมาส่งแม ถึงหน้าปากซอย หมู่บ้าน เลคไซด์ วิลลา ซึ่งมันก็อยู่ไม่ห่างไกล
จากบ้านผมเท่าใดนักหรอก

แบมขอบคุณผม บอกว่า เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ในการนั่งรถเปิดประทุน ท่ามกลาง
สภาพอากาศสบายๆ กำลังดี บรรยากาศดีๆ

ผมก็อยากจะขอบคุณด้วยเช่นกัน ที่ SLK ยังคงเป็นรถเปิดประทุน ที่ให้ความรื่นรมณ์
ในแบบที่มันควรจะเป็น ได้อย่างดี แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ที่อยู่ด้วยกัน แต่ผมก็
แฮปปีดี ที่คราวนี้ SLK ใหม่ พูดคุยสื่อสารกับผม รู้เรื่องมากขึ้น ไม่เอาแต่ใจตัวเอง
มากเท่ากับรถรุ่นก่อน

อัตราเร่งที่แรงขึ้นชัดเจน ประหยัดน้ำมันขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แถมยังทำตัวเลขออกมา
ได้แรงสุด และประหยัดสุดในกลุ่มอีกด้วย นี่ถือเป็นเรื่องน่าชมเชยมากๆ นอกเหนือจาก
การออกแบบให้ภายในห้องโดยสาร ใช้งานได้ดีขึ้น นั่งขับนานๆ ก็สบาย ไม่ปวดเมื่อย
หรือเหนื่อยล้าอะไรเลย ระบบกันสะเทือนที่เลือกได้ 2 ระดับความแข็งอ่อน ตามใจชอบ
นี่ก็ถือเป็นเทคโนโลยีที่ผมชื่นชอบ เพราะทำให้ SLK ขับสบายขึ้นเวลาคลานไปตาม
พื้นขรุขระในเมือง หรือ จะต้องซัดเข้าโค้งแรงๆ บนทางด่วน ผมมั่นใจขึ้น และหมด
ความกลัว เรื่องการตอบสนองพวงมาลัย ไปเลย เพราะ เลี้ยวได้แม่นยำขึ้น น้ำหนักดีขึ้น
ส่วนเรื่องระบบเบรก ก็ยังคงทำได้ดีขึ้นอีกนิดหน่อย

ใครที่ห่วงเรื่องน้ำรั่วซึ้มนั้น บอกเลยว่า ต่อให้ฉีดน้ำล้างรถกันอย่างเต็มที่ ผมก็ยังไม่เจอ
ปัญหา น้ำก็ไม่รั่วซึมเข้ารถเลย ซึ่งก็ถือว่า ทำได้ดี (เพราะ SLK รุ่นแรกนี่ ขึ้นชื่อลือชา
เรื่องปัญหาน้ำเข้าค่อนข้างมาก)

แต่แน่นอนครับ ไม่มีรถคันใดที่ดีไปหมดทุกสิ่ง ประเสริฐไปหมดทุกอย่าง

จุดที่ยังต้องปรับปรุงของ SLK ใหม่นั้น มีไม่เยอะอย่างที่คิด อาจจะมีน้ำหนักคันเร่ง ซึ่งยัง
ถือว่าหนืดไปนิดนึง ถ้าปรับให้หนืดน้อยลงกว่านี้ได้ ก็จะดีขึ้น ไม่ต้องเกร็งน่องมากนัก และ
อยากให้ตอบสนองไวขึ้นกว่านี้ เพราะการเหยียบเต็มมิด แล้ว Lack หายไปเลย 1 วินาทีนั่น
ในโหมด E ไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆถ้าคุณใช้รถบนถนนบางนา-ตราด เป็นประจำ ผมกลัวโดนรถ
สิบล้อ มันสอยผมเอาไปกินเหลือเกิน

นอกจากนี้ การทำงานของเกียร์ ในโหมด E กับ S ที่ยังต้องการความไว มากกว่านี้ คือควรจะ
ไวเทียบเท่ากับโหมด M ที่ให้คนขับเปลี่ยนเกียร์เล่นเองได้ เพราะการเซ็ตให้เกียร์เปลี่ยนไว
แต่เปลี่ยนได้นุ่มนวลกำลังดี มีอาการกระตุกนิดๆ แผ่วๆ ไม่ใช่กระตุกแบบ สะเทือนทั้งคัน นั่
นคือสิ่งที่ทำให้ลูกค้าซึ่งอยากซื้อรถสปอร์ตเปิดประทุน จะมีความสุขในการขับขี่ มากกว่า การ
ตอบสนองที่ช้าพอกันกับเกียร์อัตโนมัติ ในรถเก๋งรุ่นที่มีขนาดใหญ่กว่า

รวมทั้งระบบ COMMAND ที่ควรไปปรับปรุงให้ใช้งานง่ายกว่านี้อีกสักหน่อย เสียที

แต่……สิ่งที่น่าเสียดายที่สุด สำหรับรถคันนี้ในสายตาของผมก็คือ การที่รถคันนี้ ถูกใช้งานมา
อย่างหนักหน่วง ทั้งจากลูกค้า สื่อมวลชน และผู้คนอีกมากมาย ในหลายครั้ง ก่อนที่รถจะมา
ถึงมือผม นั่นทำให้ระบบกันสะเทือนหลังออกอาการดิ้นซ้าย-ขวา ทุกครั้งที่เจอรอยต่อบนผิว
ทางด่วน หรือพื้นผิวขรุขระ ทั้งๆที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้น ดิ้นกันจนเป็น Donald Duck ส่าย
สะโพกโยกสะเอว เต้นระบำฮาวาย กันเลยทีเดียว!

แถมพวงมาลัยยังหาระยะฟรีตรงกลางแทบไม่เจอ มันโหวงไปในช่วงหักเลี้ยวไม่เกิน 10 องศา
แม้จะหนืดดีแล้วในช่วงอื่นๆก็ตาม อีกทั้งยังคงกินซ้ายอย่างหนัก ทั้งที่ผมได้รับแจ้งมาแล้วว่า
มีการส่งไปตั้งศูนย์แล้ว แต่ทาง ศูนย์บริการ (เบนซ์ พระราม 3 ) บอกว่า รถรุ่นนี้ตั้งศูนย์ไม่ได้
เลยส่งรถกลับมาทั้งที่เป็นแบบนี้

เฮ้ย! ตัวเองไม่มีเครื่องตั้งศูนย์ หรือตั้งไม่เป็น ก็บอกมาตรงๆดิ! มาบอกว่าตั้งไม่ได้นี่มันไม่ใช้แล้ว!

แถมไฟส่องสว่างในรถ รวมทั้งไฟส่องแผนที่ ก็ดันใช้การไม่ได้เสียอย่างนั้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้
คุณกล้วย BnN แห่ง The Coup Team ของเรา เคยมีโอกาสลองขับรถคันนี้ ในช่วงเดือนธันวาคม
ปี 2012 ก็ยืนยันว่า ไฟในห้องโดยสาร ติดสว่างดีตามปกติ

สรุปว่า ความไม่สมบูรณ์ของรถคันนี้ เฉพาะคันนี้ เท่านั้นนั่นแหละ ที่ผมไม่ประทับใจ ที่เหลือ มันโอเคนะ

เมื่อเทียบกับคู่แข่งละ? SLK น่าสนใจไหม?

ผมต้องถามคุณก่อนว่า อยากได้รถสปอร์ตเปิดประทุน มากน้อยแค่ไหน และเพื่ออะไร?

ถ้าแค่ต้องการรถคันที่ 2 ไว้ขับโฉบไปรับสาวๆ แถวทองหล่อ ไปพร้อมๆ กับการใช้งานในชีวิต
ประจำวัน จะทั้ง SLK หรือ BMW Z4 คู่แข่งตัวฉกาจ ก็ตอบโจทย์นี้ด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ว่า
ถ้าคุณนั่งอยู่ใน SLK โอกาสที่คุณจะถูกมองว่าเป็น ลูกอาเสี่ยก็มีอยู่บ้าง (ผมโดนมาแล้วกับตัว!)
มันขึ้นอยู่กับมาด ท่วงท่า หน้าตา และลีลาของคุณในการปรากฎตัวให้ผู้คนเขาเห็นมากกว่า

แต่ถ้าต้องการ รถสปอร์ตเปิดประทุน ที่ใช้งานในเมืองได้ ประหยัดน้ำมัน แต่ก็แรงได้ ซ่าส์ได้
พอประมาณ SLK คือคำตอบที่ผมว่า เหมาะสมที่สุดในตอนนี้

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณต้องการ รถเปิดประทุน ขับดิบนิดๆ กำลังดี และรับได้กับด้านหน้าของรถ
ที่ยาวเป็นพิเศษ BMW Z4 ก็เป็นอีกทางเลือกที่ไม่เลวเลย

แต่อันที่จริง ถ้าต้องการรถขับสนุก ไว้ลัดเลาะตามเขาใหญ่ วังน้ำเขียว หรือภาคเหนือ จะว่าไปแล้ว
Mazda MX-5 ก็ให้คุณได้เพียงพอแล้ว ยิ่งถ้าเลือกเกียร์ธรรมดาได้ คุณจะยิ่งสนุกไปกับความดิบ
กำลังดี เป็นเนื้อสเต็กโกเบ แบบ Medium Rare กันเลยด้วยซ้ำ แต่จ่ายในราคาที่ถูกกว่ากัน เกือบ
1 ล้านบาท เพียงแต่ อัตราเร่ง ก็อาจสู้ใครเขาไม่ได้ ถ้าเป็นเกียร์อัตโนมัติ ต้องทำใจ

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเลือกซื้อ SLK ก็คงมีเพียงรุ่นเดียว คือ SLK 200 AMG Dynamic Package
ซึ่งจะมีอุปกรณ์มาให้พอประมาณ ในราคา 3,549,000 บาท คุณต้องไปสอบถามกันเอาเองที่
โชว์รูม “ผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการของ Mercedes-Benz Thailand” กันเอาเอง

มาถึงจุดนี้ ก็คงต้องย้ำกันอีกสักที เพราะหลายคนชอบพูดว่า ซื้อรถจากเกรย์ ดีกว่า ซึ่งในวันนี้
ก็อยากจะถามเหลือเกินว่า S.E.C ที่ปิดบริษัทหนีไปนั่น ถามตรงๆเถอะ ยังไม่เข็ดกันอีกเหรอ?

แน่นอนว่า ถ้าคุณซื้อรถจากผู้ค้ารายย่อย Grey Market รายใดก็ตาม คุณอาจได้อุปกรณ์มากกว่า
แต่บอกไว้ด้วยว่า ผมไม่แน่ใจ ในเรื่องการซ่อมบำรุง ว่าพวกเขาทำได้ดีแค่ไหน เครื่องมือต่างๆ
ที่อ้างว่า สามารถตรวจเช็คได้ อันนั้น ใครก็สั่งซื้อจากจีน ได้ครับ แต่คนที่ทำเป็น วิเคราะห์
ปัญหาเป็น และแก้ปัญหาให้คุณได้นั้น จะมีอยู่ที่ไหนกันบ้าง? ผมไม่ทราบนะครับ
แหล่งที่มาของรถ เป็นอย่างไร การเข้ามาของรถ ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ไม่มีใคร
บอกคุณได้หมดแน่ๆ

ดังนั้น ผมคงต้อบงขอย้ำกันตรงนี้ว่า ซื้อรถ Benz จาก MBTh ถ้ารถคุณมีปัญหา ผมยังพอจะ
ตามเช็คให้คุณต่อได้ ยังพอจะโวยให้ได้ แต่ซื้อรถจากเกรย์ ผมช่วยคุณไม่ได้นะครับ ผมไม่มี
คอนเนคชันใดๆกับพวกเขานะ

นั่นเป็นเรื่องที่คุณต้อง “บริหารจัดการความเสี่ยงในชีวิต กันเอาเอง!”

——————————————–///————————————————-

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Mercedes-Benz (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ
————————————————————-

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขวิทธิ์ภาพถ่ายต่างประเทศ และภาพ Illustration ทั้งหมด
ในบทความนี้ เป็นของ Daimler AG.
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ในเมืองไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
25 มกราคม 2013

J!MMY
Copyright (c) 2013
Text and Pictures
All Illustration is Copyright of Daimler AG.
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
January 25th,2013

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are welcome! CLICK HERE!