ย้อนกลับไปยังช่วงที่ Mitsubishi Motors เพิ่งเปิดตัว Hatchback คันจิ๋วรุ่น Mirage ครั้งแรก
ในเมืองไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2012 หลายๆคนที่ได้ไปดูรถคันจริงกันมา เริ่มมีคำถามในใจว่า ทำไม
มีแต่ตัวถัง 5 ประตู ละ? แล้วรุ่น Sedan 4 ประตู มีแผนจะเปิดตัวตามมาเหมือนคู่แข่งเขาหรือเปล่า?

ผมรู้อยู่แล้วว่า ยังไงๆ รถยนต์คันที่ผู้บริโภคถามถึง ก็ต้องถูกปล่อยออกสู่ตลาด ในระยะเวลาอีกราวๆ
1 ปีครึ่ง นับจากนั้น แน่ๆ เพียงแต่ว่า การเปิดตัวมันแอบเร็วขึ้น กว่าที่คิดเอาไว้ สักหน่อย

แถมมันยังมาพร้อมกับชื่อรุ่นที่ชวนให้ตั้งคำถามกับผู้บริหารชาวญี่ปุ่น ของ Mitsubishi Motors
ฝั่งสำนักงานใหญ่ที่ Tokyo กันว่า มีฤาษีใบ้หวยตนไหน เข้าฝันให้ตั้งชื่อรุ่นรถยนต์กันแบบนี้
ด้วยหรือเปล่า?

เชื่อหรือไม่ว่า จนถึงตอนนี้ ชื่อรุ่น Attrage มันยังคงก่อความรำคาญให้ชีวิตผมอย่างต่อเนื่องมา
ตั้งแต่วันที่บทความ First Impression เผยแพร่ให้คุณได้อ่านกันเลยทีเดียว เวลาพูดคุยกับใคร
ผมก็มักเผลอเรียก Mirage ไปดื้อๆ คนที่คุยด้วย ต้องแก้ให้ว่า หมายถึงเจ้า “แอ็ต-ตลาด” ใช่ไหม?

ไม่ต้องอื่นไกล แค่ตอนที่เราถ่ายทำคลิปรายการ Healightmag The Clip ของเรา ทั้งผม ทั้งตาแพน
Commander CHENG ต่างคนต่างก็เผลอเรียกรถคันนี้ว่า Mirage ไปคนละ 2-3 ครั้งเลยทีเดียว

ผมชักสงสัยว่า หลังจากที่ผม ก่นด่าเรื่องการตั้งชื่อรุ่นไปแล้วนั้น ชาวญี่ปุ่น เขาทำอย่างไรกันต่อ
บรรดา เวอร์ชันส่งออกของ Attrage จากโรงงานแห่งใหม่ ที่แหลมฉบัง จะยังคงใช้ชื่อรุ่นอันแสน
จะดัดจริตทางภาษา เหมือนบ้านเรากันหรือเปล่า?

บังเอิญ ผมไปพบว่า ในตลาด Philipines เขาเรียกเจ้า “แอ๊ต-ตลาด” ด้วยภาษาที่ง่ายกว่ากันเยอะเลย
ว่า….”Mirage G4″

โอ้ละหนอพ่อตาเหวอ! ทำไมชาวญี่ปุ่นเขาถึงไม่ยอมให้ บ้านเรา ได้ใช้ชื่อนี้กันแต่แรก! มันเป็น
ชื่อรุ่นที่เหมาะสมกับตัวรถมากที่สุดแล้ว! เรียกง่าย จำง่าย แม้ว่า ชื่อ G4 จะถูกใช้ในญี่ปุ่นอยู่แล้ว
กับ Subaru Impreza แต่ในเมืองไทย Motor Image Subaru เขาเองก็ยังไม่เอามามาใช้เลย!

เอาละ ในเมื่อ เรื่องชื่อรุ่นมันแก้ไม่ได้แล้ว และผมเองก็ได้เขียนตำหนิไปมากพอแล้ว ตั้งแต่บทความ
Exclusive First Impresson ดังนั้น ผมก็คงได้แต่บอกว่า ทำใจ และได้แต่กลับมามองกันที่คุณสมบัติ
ของตัวรถว่า มันจะสามารถตอบโจทย์ลูกค้าคนไทย ได้ทั้งเรื่องความประหยัดน้ำมัน และสมรรถนะ
การขับขี่ ดีแค่ไหน ด้อยอย่างไร มีข้อไหนที่ต้องชื่นชม และข้อไหนที่สมควรปรับปรุงต่อไป

เพราะนั่นละ คือเป้าประสงค์สำคัญ ที่ทำให้ ผู้บริหารของ Mitsubishi Motors ญี่ปุ่น ตัดสินใจ
เปิดไฟเขียว ให้มีการพัฒนารถยนต์ Sedan รุ่นนี้ ออกมา

Mitsubishi Attrage ถือเป็นรถยนต์นั่งขนาดตัวถังในระดับ B-Segment Sedan เพียงแต่วางเครื่องยนต์
พิกัด เบนซิน 1,200 ซีซี เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย ECO Car เฟสแรก ของรัฐบาลไทย ถูกพัฒนาขึ้น
ภายใต้โครงการ Global Small Car ร่วมกับ Mitsubishi Mirage ภายใต้แนวคิดในการออกแบบที่เรียกว่า
The Proud Compact เพื่อให้เป็นรถยนต์นั่ง Sedan ขนาดเล็ก ที่ตอบความต้องการของกลุ่มลูกค้าทั่วไป
ทั้งชาย และหญิง ซึ่งมีรายได้ไม่สูงนัก ต้องการรถยนต์นั่งระดับ ECO Car ตัวถัง Sedan ที่มีภายใน
กว้างขวาง เน้นความประหยัดในการขับขี่

เป้าหมายของ Attrage คือการเติมเต็ม Line up ในกลุ่มรถยนต์นั่งตัวถัง Sedan ของ Mitsubishi ที่
เคยขาดหายไปจากตลาดดลก โดยเฉพาะในตลาดเมืองไทย เป็นเวลานานแล้ว (ตั้งแต่ปี 1996 อันเป็น
ปีสุดท้ายที่ Mitsubishi Lancer CHAMP ทำตลาดในบ้านเรา)

นอกจากนี้ Attrage ยังต้องรับหน้าที่ ประกบกับคู่แข่ง โดยตรงอย่าง Nissan Almera และ
Honda Brio AMAZE รวมทั้งคู่แข่งทางอ้อม หรือกลุ่มรถยนต์นั่ง B-Segment Sedan 1,500 ซีซี
อย่าง Toyota Vios , Honda City , Mazda 2 Sedan Ford Fiesta Sedan 1.4 ลิตร และ 
Chevrolet Sonic 1.4 ลิตร โครงการนี้ เริ่มต้นพร้อมๆกับการพัฒนา Mirage ในช่วงปี 2008

หลังจากมีกระแสข่าวถึงความคืบหน้าในการพัฒนามาเป็นระยะๆ ในที่สุด Mitsubishi Motors
ก็ออกเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ (Press Release) เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2013 ว่า พวกเขาเตรียม
เผยโฉมรถยนต์ต้นแบบ ตัวถัง Sedan 4 ประตู ขนาดเล็ก ชื่อ Mitsubishi Concept G4 ในงาน
Bangkok International Motor Show วันที่ 24 มีนาคม 2013 (รอบสื่อมวลชน) และ 25
มีนาคม – 7 เมษายน 2013

การใช้ชื่อ Concept G4 นั้น ตัว G ย่อมาจากคำว่า Global ส่วน 4 มาจาก 4 Door Sedan สื่อให้
เห็นว่า นี่แหละ คือรถยนต์ Sedan คันเล็ก รุ่นใหม่ ที่พวกเขาตั้งใจจะผลิตเพื่อ ส่งไปบุกตลาด
ทั่วโลก

ทันทีที่เห็นรูปโฉม ทั้งในภาพถ่าย และรถคันจริง ผมมั่นใจได้ทันทีว่า แท้จริงแล้ว Concept G4
คือการนำรถยนต์รุ่นพร้อมจำหน่ายจริง ที่ใกล้จะออกสู่ตลาดหลังจากนั้น มาถอดเปลี่ยนชิ้นส่วน
บางรายการ เช่นกระจังหน้า ล้ออัลลอย ไฟท้าย รวมทั้งพ่นสีตัวถัง ให้มีบุคลิกล้ำสมัยในสไตล์
Futuristic สมกับการเผยโฉมในฐานะรถยนต์ต้นแบบ

ยิ่งถ้าหากครึ่งคันหน้า ใช้ชิ้นส่วนตัวถังร่วมกับ Mirage แล้ว ภายในห้องโดยสาร ก็น่าจะมีความ
เป็นไปได้สูงมาก ว่าจะใช้แผงหน้าปัด มาตรวัด และชิ้นส่วนอะไหล่ รวมทั้งเครื่องยนต์กลไก
กับโครงสร้างวิศวกรรม ร่วมกับ Mirage 5 ประตู เยอะแน่ๆ

หลังการปรากฎตัวในเมืองไทย Mitsubishi Motors ก็ส่งรถยนต์ต้นแบบคันนี้ ไปจัดแสดงต่อที่
งาน Shanghai International Automobile Industry Exhibition เมื่อวันที่ 20 – 29
เมษายน 2013 รวมทั้งตระเวณส่งไปอวดโฉม ณ งานแสดงรถยนต์หลายแห่ง ทั่วภูมิภาคเอเซีย
ตะวันออกเฉียงใต้

แต่เพียง 1 เดือนหลังจากนั้น Mitsubishi Motors ก็ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2013
ว่า ตัดสินใจ ใช้ชื่อ Attrage กับรถยนต์ Sedan รุ่นใหม่คันนี้ พร้อมกับเผยภาพถ่ายรถยนต์เวอร์ชัน
พร้อมจำหน่ายจริง

โดยชื่อรุ่น “ แอททราจ  (ATTRAGE) ” มาจากคำในภาษาอังกฤษ  Attractive (แอ็ด-แทร็ค-ทีฟ)
หมายถึงความมีเสน่ห์ ดึงดูดใจ กับชื่อรุ่น Mirage เดิม ซึ่งจะเท่ากับว่าเป็น Mirage ที่น่าดึงดูดใจ
มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม….

พอวันที่ 4 มิถุนายน ก็เปิดราคาขายออกมาอย่างรวดเร็ว พร้อมกับเผยข้อมูลรายละเอียดต่างๆ
ของตัวรถ จนหมดเปลือก ซึ่งถือว่า ผิดวิสัยปกติ ที่ Mitsubishi Motors เคยทำตลอดหลายปีที่
ผ่านมา

เพราะโดยปกติ บริษัทนี้จะต้องปิดทุกอย่างให้เป็นความลับกันจนกระทั่งวันสุดท้ายก่อนการ
เปิดตัว แต่คราวนี้ กลับเผยข้อมูลทุกซอกทุกมุม แถมยังเปิดราคากันก่อนเริ่มขายจริง ถึงเกือบ
1 เดือนเต็ม แล้วค่อ ยจัดงานเปิดตัว ที่ลานด้านหน้า ห้างสรรพสินค้า Siam Paragon เมื่อวันที่
4 – 7 กรกฎาคม 2013 แล้วก็เริ่มปูพรม ให้ผู้แทนจำหน่ายในแต่ละจังหวัด จัดกิจกรรมเชิญ
ลูกค้าเข้าโชว์รูมมาทดลองขับ และรับจองในงานพร้อมอัดสารพัดแคมเปญตั้งแต่แรกเริ่ม
ในทันทีที่เปิดตัว ไม่ได้แตกต่างไปจากงานเปิดตัว Mitsubishi Mirage มากนัก เพราะครั้งนั้น
ก็ใช้วิธี เปิดตัว พร้อมอัดแคมเปญแรงๆ กันตั้งแต่เริ่มออกจำหน่ายเลยทีเดียว

Attrage มีขนาดตัวถังใกล้เคียงกับ Toyota Vios รุ่นปี 2007 – 2012 อย่างมาก ด้วยความยาวตลอดคัน
4,245 มิลลิเมตร กว้าง 1,670 มิลลิเมตร สูง 1,510 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร เท่ากับ
Toyota Vios ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ มีน้ำหนักตัวรถ ตั้งแต่ 885 – 925 กิโลกรัม ถือว่า เบาไม่ต่างจาก
Mirage เท่าใดเลย

เมื่อเปรียบเทียบกับ Honda Brio AMZE ที่ยาว 3,990 มิลลิเมตร กว้าง 1,680 มิลลิเมตร สูง 1,485
มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,405 มิลลิเมตร จะพบว่า แม้ Attrage จะยาวกว่าถึง 255 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อก็ยาวกว่า 145 มิลลิเมตร แต่ก็แคบกว่า 10 มิลลิเมตร และสูงกว่า 25 มิลลิเมตร

หรือถ้าจะเปรียบเทียบกับ Nissan Almera ซึ่งมีความยาว 4,426 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร
สูง 1,500 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อ 2,600 มิลลิเมตร จะพบว่า Almera ยาวกว่า Attrage อยู่
ถึง 181 มิลลิเมตร กว้างกว่ากัน 25 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 10 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อยาวกว่าอยู่
50 มิลลิเมตร

การออกแบบตัวถังภายนอก ที่เน้นหนักในเรื่องอากาศพลศาสตร์ อีกทั้งยังมีการออกแบบเพื่อลด
แรงยกอันเกิดจากกระแสลม ขณะไหลผ่านใต้ท้องรถ เพื่อช่วยให้การทรงตัวย่านความเร็วสูงดีขึ้น
อีกด้วย ส่งผลให้ Attrage ลู่ลมด้วยค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ Cd.0.29

แม้ว่า Attrage จะใช้พื้นตัวถัง รวมทั้งเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar กระจกบังลมหน้า บานประตูคู่หน้า
และเสาหลังคา คู่กลาง B-Pillar ร่วมกันกับ Mirage แต่ต้องยอมรับว่า การออกแบบของ Attrage นั้น
ดูดี และลงตัวกว่า Mirage พอสมควร

นั่นเป็นเพราะมีการออกแบบ ชิ้นส่วนเปลือกกันชนหน้า พร้อมกระจังหน้า และชุดไฟหน้าดีไซน์ใหม่
ที่ดูสวยงาม เพิ่มบุคลิกให้ตัวรถ ดูหรูขึ้น ยิ่งเมื่อ เป็นสีตัวถัง แบบ ขาว White Pearl แล้ว ตัวรถจะยิ่งดู
เหมือนรถยนต์ระดับ Premium มากขึ้นไปอีก

Attrage มีเส้นสาย ที่ชวนให้สัมผัสได้ว่า Mitsubishi Motors น่าจะตั้งใจศึกษารายละเอียดของคู่แข่งใน
พิกัดเดียวกันนี้อย่าง Nissan Almera และ Honda Brio AMAZE มามากพอที่จะสร้างรถยนต์ของตน
ด้วยแนวคิดที่ว่า ถ้า Mitsubishi Motors คิดจะออกแบบเจ้า Almera ขึ้นมาในเวอร์ชันของตนเอง มันก็
จะออกมาเป็น Attrage นี่ละ!

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมเราถึงไม่พบแนวเส้นสายอันเป็นเอกลักษณ์ในการออกแบบรถยนต์
Sedan 4 ประตู ที่ Mitsubishi Motors เคย ทำมาตลอด ทั้งด้านหน้าแบบหัวปลาฉลาม (นึกถึงหน้าของ
Lancer EX ปี 2007 – ปัจจุบัน, Galant VR4 ปี 1987-1992 และ Galant GDi ปี 1996)ไปจนถึงแนว
เส้นหลังคาบริเวณผู้โดยสารด้านหลัง ที่โป่งขึ้นมาเล็กน้อย (Galant VR-4 ปี 1987, Mirage Sedan ปี
1988, Lancer Cedia ปี 2000 – 2012) หลงเหลือปรากฎบนเรือนร่างของ Attrage อยู่เลย

ทุกรุ่นติดตั้งไฟหน้า Halogen ใบปัดน้ำฝนด้านหน้า พร้อมระบบหน่วงเวลา 1-2 จังหวะ มือจับเปิด
ประตู และเปือกกันชนหน้า – หลัง สีเดียวกับตัวรถ

แต่ในรุ่น GLS และ GLS Ltd. คันสีฟ้า ที่เห็นอยู่นี้ นอกจากจะเพิ่มไฟตัดหมอกหน้า พร้อมแถบ
โครเมียมด้านข้างแล้ว ยังมีกรอบกระจกมองข้างแบบมีไฟเลี้ยวในตัว ล้ออัลลอย 15 นิ้ว ลายใบพัด
ที่สวมเข้ากับยางขนาด 185/55 R15 ทำให้ตัวรถ ดูดีขึ้นมาก เพราะในรุ่น GLX จะยังคงใช้ล้อเหล็ก
พร้อมฝาครอบล้อแบบเต็ม Full Wheel Cover ขนาด 14 นิ้ว พร้อมยาง Bridgestone Ecopia ขนาด
175/65 R14 เหมือน Mirage GLX

การเปิดประตูรถนั้น หากเป็นรุ่นมาตรฐาน ทุกรุ่น จะใช้กุญแจพร้อมสวิชต์รีโมทคอนโทรลในตัว
เพื่อกดปุ่มสั่งล็อก หรือปลดล็อก เปิดประตู เข้าไปนั่ง เสียบกุญแจลงไปในรู ก่อนจะบิดสตาร์ท
เหมือนรถยนต์ทั่วๆไป ตัวดอกกุญแจยังคง เป็นกุญแจสหกรณ์ เหมือนเช่นที่คุณจะพบอยู่แล้วใน
Mirage, Triton PLUS และ Pajero Sport นั่นแหละ!

แต่ถ้าเป็นรุ่นท็อป 1.2 GLS กับ GLS Limited กุญแจที่ให้มากับรถ จะเป็นรีโมท ที่เรียกว่า
KOS (Keyless Operation System) แค่พกรีโมทกุญแจนี้ไว้กับตัว เดินเข้าใกล้บานประตู
ฝั่งคนขับ หรือฝากระโปรงหลัง ในระยะรัศมี 70 เซนติเมตร ก็สามารถ กดปุ่ม สั่งล็อก หรือปลดล็อก
เปิดประตูบานใดก็ตามได้เลย หรือถ้าจะล็อกรถ เมื่อปิดประตูแล้ว ก็กดปุ่มสั่งล็อก ที่บานประตูทั้งคู่
ก็ได้เช่นเดียวกัน

ในกรณีที่แบ็ตเตอรีของรีโมทหมด ยังสามารถ ถอดลูกกุญแจในตัวรีโมท ออกมาไขเปิดประตูฝั่งผู้โดยสาร
ด้านซ้าย ได้ หมุนซ้ายครั้งขวาครั้ง เป็นอันปลดล็อก เมื่อเข้าไปนั่งในรถได้แล้ว ก็ควรจะเอารีโมท KOS
เสียบไว้ในช่องเสียบ ใค้แผงหน้าปัด เหนือช่องวางแก้ว ตรงกลาง และถ้าลืมกุญแจในรถ เมื่อปิดประตู
รถจะส่งเสียงเตือนออกมาเอง

รุ่น GLS และ GLS Limited มีระบบกุญแจนิรภัย Immobilizer มาให้ แต่ รุ่น GLX ไม่มีให้

มือจับเปิดประตู ยังมีหน้าตาโบราณ เหมือน Mirage ไม่ผิดเพี้ยน คาดว่าคงเน้นการลดต้นทุนเป็นหลัก

ในเมื่อ ครึ่งคันหน้า ของ Attrage มันก็เหมือน Mirage ดังนั้น การเข้า – ออก จากเบาะคู่หน้า
จึงเหมือนกันไม่มีผิดเพี้ยน บานประตู เปิดกางออกมา โน้มไปข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อให้ผู้ขับขี่
และผู้โดยสารด้านหน้า เข้าออก จากตัวรถได้สบายขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ใช้ เกิดความรู้สึกว่า
บานประตู และช่องทางเข้า มีขนาด กว้างมาก

มองมาที่แผงประตู หน้าตาก็เหมือน Mirage ทุกประการแหละครับ มือจับเปิดประตูด้านใน
หากเป็น รุ่น GLX จะเป็นสีดำด้าน แต่ รุ่น GLS กับ GLS Limited จะเป็นแบบโครเมียม

แผงประตูด้านข้าง ถูกออกแบบมาให้ ใส่ได้ทั้ง เอกสารขนาด กระดาษ A4 กล่อง CD รวมทั้ง
ขวดน้ำ ซึ่งจะมีสัญลักษณ์เอาไว้เลยว่า ไม่เหมาะแก่การวางแก้วกระดาษใส่น้ำอัดลม จากร้าน
Fast Food ทั้งหลาย เพราะอาจทำให้ หกเลอะเทอะได้ บริเวณพื้นที่วางแขน ออกแบบมาได้ดี
วางแขนได้สบายพอสมควร แต่จะดีกว่านี้ ถ้าช่วงแขนของคุณยาว เพราะสำหรับผม ตำแหน่ง
การวางข้อศอก เตี้ยไปเล็กน้อย

การตกแต่งภายในของทุกรุ่นย่อย จะใช้เบาผ้าสีดำ ลายผ้า แตกต่างจาก Mirage รุ่นล่างๆ แต่ในรุ่น
1.2 GLS Limited ตัวท็อป จะเปลี่ยนมาหุ้มเบาะด้วยหนัง และวัสดุสังเคราะห์ สีเบจ

โครงสร้างเบาะคู่หน้า ก็ยกมาจาก Mirage นั่นละครับ แถมตำแหน่งติดตั้งเบาะคู่หน้าของ Attrage
จะสูงกว่า Mirage อยู่นิดเดียว เพื่อเพิ่มทัศนวิสัยขณะขับขี่และช่วยให้เข้า – ออก ได้สะดวกสบาย
เอาใจเหล่า สาวๆ ที่ชอบขับรถเบาะสูงๆ แต่ถ้าคุณคิดว่า มันสูงเกินไป เบาะคนขับ จะมีมือหมุน
สำหรับปรับตำแหน่ง สูง – ต่ำของเบาะรองนั่ง ซึ่งจริงๆแล้ว ผมอยากเรียกมันว่า มือหมุน เพื่อปรับ
ระดับการเอนเอียงของเบาะรองนั่งมากกว่า เพราะมันไม่ได้ช่วยให้เบาะเตี้ยลงเลย เพียงแต่ ช่วย
ให้เบาะรองนั่ง ซึ่งสั้นพอกับรถญี่ปุ่นทั่วๆไป มีมุมเงย ที่กระชับกับต้นขาของผมเพิ่มขึ้นอีกนิดนึง
แค่นั้นเอง!

ดังนั้น คนที่มีรูปร่างเล็ก จะนั่งสบาย ขณะที่คนร่างใหญ่อย่างผม ต้องปรับเบาะกันเล็กน้อย ให้ได้
ตำแหน่งพอดีๆ จึงจะนั่งได้อยู่  วัสดุฟองน้ำที่ขึ้นรูปเป็นเบาะนั่ง ค่อนข้างนิ่ม รองรับสรีระของผู้
ขับขี่ และผู้โดยสารได้ดีกว่า March / Almera อยู่เล็กน้อย ต่างกัน ไม่มากนัก เพราะถึงแม้จะ มีการ
ออกแบบให้มีส่วนนูน รองรับ บริเวณกลางแผ่นหลัง และมีปีกข้างที่แอบจะโอบกระชับร่างของ
ผู้ขับขี่เหมือน Mirage แต่ดีกว่ากันนิดนึง

พื้นที่เหนือศีรษะ เหมือนกับ Mirage เป๊ะ คือเหลือในระดับพอสมควร ไม่ถึงกับโปร่งมาก เพราะ
มีแผงบังแดดด้านหน้า ซึ่งเมื่อเปิดกางลงมาใช้งานแล้ว อยู่ใกล้ระดับสายตาไปหน่อย อันป็นผล
จากการออกแบบแนวหลังคา ให้ลู่ลมตามหลักอากาศพลศาสตร์ จึงจำเป็นต้องมีแนวหลังคาแบบนี้
ส่งผลให้ การติดตั้งแผงบังแดดอยู่ใกล้สายตาอย่างที่เป็น

เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด หากเป็นรุ่น GLS ขึ้นไป จะมีระบบลดแรงปะทะ และ
ดึงกลับอัตโนมัติ มาให้ทั้ง 2 ฝั่ง แต่ถ้าเป็นรุ่น GLX จะมีมาให้เฉพาะฝั่งคนขับเท่านั้น แหม!
เรื่องแค่นี้ อย่างกไปหน่อยเลย ใส่มาทั้งที ใส่มาให้ครบๆ ไปเถิด!

ความแตกต่างที่แท้จริง ระหว่าง Mirage กับ Attrage อยู่ที่ ประเด็นข้างล่างนี่ละครับ พื้นที่การนั่ง
โดยสาร บนเบาะหลัง และพื้นที่เก็บสัมภาระ

สำหรับบานประตูคู่หลัง ถ้าใครเคยบ่นว่า ทางเข้าเบาะหลังของ Mirage มันเล็ก และแคบ ขอแนะนำ
ให้หันมามอง Attrage เพราะ บานประตู กว้าง จนทำให้มีพื้นที่สำหรับการลุก เข้า -ออก เพิ่มมากขึ้น
คนตัวใหญ่อย่างผม สามารถลุกเข้า – ออก ได้อย่างสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิม ใกล้เคียงกับ คู่แข่งอย่าง
Nissan Almera แม้จะไม่ถึงกับเทียบเท่าพอดีเป๊ะก็ตาม แต่ การก้มหัว เข้า – ออกจากประตูคู่หลังนั้น
ทำได้ง่าย และไม่ต้องเสี่ยงต่อการเจอปัญหาหัวชนขอบกรอบประตูด้านบน อย่างที่เจอใน Almera

กระจกหน้าต่าง เปิด – ปิด ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ทุกรุ่น สามารถเลื่อนขึ้น – ลงได้จนสุดขอบล่าง

เบาะนั่งด้านหลัง ออกแบบขึ้นใหม่ มีขนาดใหญ่ มันคือ โฟม/ฟองน้ำ ที่นุ่ม ออกแนวนิ่มพอสมควร
พนักพิงหลัง นิ่ม ถ้านั่งในระยะทางสั้นๆ น่าจะสบาย แต่ถ้านั่งไกลๆ บางคนอาจปวดเมื่อยได้ ควร
ทดลองนั่งในระยะทางไกลนิดนึง ก่อนตัดสินใจซื้อ

เบาะรองนั่ง ยาวใช้ได้ ถ้าคนที่มีช่วงขาสั้น อย่างผู้เขียน ยิ่งไม่มีปัญหาเลย นั่งได้ชิดพอดีกับช่วงขา
แต่ถ้าคนที่มีช่วงขายาว อาจพบว่า เบาะรองนั่ง สั้นไปเพียงนิดเดียว ซึ่งก็ต้องทำใจว่า รถยนต์นั่งที่
มีห้องโดยสาร ขนาดเท่านี้ ความยาวของเบาะรองนั่ง คงต้องยาวได้เพียงเท่านี้ มิเช่นนั้น อาจต้อง
ปาดขอบเบาะเพิ่ม จนทำให้การเข้า – ออก เกิดการติดขัด ของท่อนขา ก็เป็นได้ ส่วนพื้นที่วางขา
มีความยาว เหลือเฟือ ไล่เลี่ยกันกับ Nissan Almera เลยทีเดียว! นี่ถือเป็นจุดขายสำคัญ อีกหนึ่ง
ประเด็น ของ Attrage เชียวนะ!

พนักศีรษะ ใช้โฟมขึ้นรูปเช่นเดียวกันกับ Mirage เหมือนจะนุ่ม แต่ความจริงแล้ว ถ้ามันยังไม่ยุบตัว
จะถือว่าค่อนข้างแข็ง รักษาทรงของมันไว้ ซึ่งอาจก่อความรำคาญต่อท้ายทอย จนต้องยกขึ้นใช้งาน
แถมยังยกได้แค่ 1 จังหวะ ขนาดก็เล็กไปสักหน่อย พอจะใช้เป็นหมอนหนุนคอได้บ้างในบางกรณี
เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ขอเสริมให้อีกนิดว่า เป็นธรรมดา ที่รุ่นเบาะผ้า จะมี พื้นผิวผ้าหุ้มฟองน้ำ ที่ยืดหยุ่นกว่า
จึงให้สัมผัสที่นุ่มสบายกว่ารุ่นเบาะหนัง เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย อยากให้เข้าใจในข้อนี้ไว้ด้วยครับ

พื้นที่เหนือศีรษะ หากนั่ง แบบก้นกับแผ่นหลังชิดกับพนักพิง จะเหลือ พื้นที่เหนือศีรษะน้อยมาก คือ
แค่เพียงเศษเสี้ยวเส้นผม ขาดเพียงราวๆ 1 เซ็นติเมตร หนังศีรษะของผม (สูง 171 เซ็นติเมตร) ก็จะ
ชนเพดานหลังคาแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีพนักวางแขนพับเก็บได้ มีช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง ในตัว ซึ่งอาจจะวางแขนได้ แต่
จะเอาข้อศอกวางยันลงไป ก็ยังไม่ถึงกับพอดีนัก เตี้ยไปเพียงเศษเสี้ยวมิลลิเมตร เท่านั้นเลย รวมทั้ง
มีเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด มาให้ 2 ฝั่ง ส่วนตรงกลาง ยังคงเป็นแบบคาดเอว ELR 2 จุด แถมมีมือจับ
ศาสดา (ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ) เหนือช่องทางเข้าประตูบานหน้าฝั่งซ้าย และคู่หลังมาให้ รวม 3 ตำแหน่ง

แต่น่าเสียดายว่า เบาะหลัง ไม่สามารถพับลงมาเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลังได้แต่อย่างใด

การเปิดฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง ทุกรุ่น จะมีคันโยกเล็กๆ ติดตั้ง ไว้บนพื้นรถ ฝั่งคนขับ ร่วมกับ
คันโยกเปิดฝาถังน้ำมัน ดึงก้านโยกเล็กๆนั้นยกขึ้นแล้วปล่อยมือ หรือไม่เช่นนั้น หากเป็นรุ่น GLX
อาจต้องใช้ กุญแจ ไขเปิดประตู เหมือนรถยนต์ สมัยโบราณ แต่ในรุ่น GLS และ GLS Ltd. คุณแค่
พกรีโมท แล้วกดปุ่มสีดำ บริเวณช่องใส่ป้ายทะเบียน ฝาประตูจะปลดล็อก แต่คุณต้องยกฝาหลังขึ้น
ด้วยตัวเอง  ด้านในของฝาประตูหลัง ไม่ได้บุวัสดุซับเสียง มาให้ แต่ผนังห้องเก็บของ บุมาให้แบบ
เรียบร้อย สมราคารถ

ส่วนช่องทางเข้าออก ของสัมภาระนั้น ถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งแล้ว ดูแค่สายตา ก็พอรู้ว่า Attrage
จะมีช่องทางที่แคบกว่าชาวบ้านเขา นิดเดียว ไม่เยอะนัก

ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีความจุ 450 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมัน ถึงจะใหญ่กว่า พื้นที่ของ
Brio AMAZE (420 ลิตร VDA) แต่ก็ยังเล็กกว่า พื้นที่ของ Almera (490 ลิตร VDA) กระนั้น ยังถือว่า
มีขนาดใหญ่พอจะใส่จักรยานแบบพับได้ 1 คัน สบายๆ แถมยังมีพื้นที่เหลืออีกกว่า 2 ใน 3 ด้วยซ้ำ

เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา จะพบยางอะไหล่ขนาดเล็ก พร้อมเครื่องมือประจำรถแถมมาให้ แต่
ถ้าคุณจะมองหาแม่แรงยกรถแล้วละก็ ให้ทำแบบเดียวกับ Mirage ครับ คือ มองหาบริเวณ ใต้เบาะนั่ง
ด้านหน้า ฝั่งซ้าย มันถูกติดตั้งไว้ตรงนั้น

แผงหน้าปัด ยกชุดมาจาก Mirage ทั้งดุ้น แบบไม่ต้องคิดมาก เพราะโดยพื้นฐานของมันเอง ถือว่าเป็น
แผงหน้าปัดที่ออกแบบมาให้เน้นการใช้งานที่ง่ายดาย ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน ตำแหน่งการจัดวางสวิชต์
ถือว่า สะดวก ใช้งานได้ดี ขนาดของปุ่ม ใหญ่โตกำลังเหมาะ และอัดแน่นทั้งแผงหน้าปัด สร้างความ
รู้สึก ให้ลูกค้าว่า มีปุ่มให้กดเยอะแน่นดีเต็ม แผงควบคุมตรงกลางที่ประดับด้วยพื้นผิวสีดำมันเงาแบบ
Piano Black (ซึ่งพร้อมจะเป็นรอยขนแมวได้ง่ายๆ)

มองขึ้นไปบนเพดาน แผงบังแดดมีขนาดใหญ่ จนบังกระจกบังลมหน้าเกือบมิดถ้าคุณ ตัวสูง และดึง
ลงมาใช้งานจริง รุ่น GLS และ GLS Limited จะมีกระจกแต่งหน้ามาให้ ทั้ง 2 ฝั่ง แต่รุ่น GLX จะมี
กระจกแต่งหน้ามาให้เฉพาะฝั่งคนขับ เท่านั้น

ไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสาร ก็ยังคงมีอยู่ในตำแหน่งเดียว คือ ตรงกลางระหว่าง แผงบังแดดทั้ง 2 ฝั่ง
และที่หนักกว่านั้นก็คือ มีขนาดเล็ก และไม่ค่อยสว่างพอเท่าที่ควร หากคุณทำของตกบนพื้นเบาะหลังใน
ตอนดึกๆ ขอแนะนำว่า พกไฟฉาย หรือใช้ไฟส่องสว่างจากโทรศัพท์มือถือของคุณจะสว่างกว่าเยอะ!

มองจากฝั่งขวา เข้ามาด้านใน ฝั่งซ้าย

กระจกหน้าต่าง ของทุกรุ่นย่อย เปิด – ปิดได้ ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ทั้ง 4 บาน มีเฉพาะฝั่งคนขับที่เป็นแบบ
One – Touch กด หรือยกสวิชต์ ครั้งเดียว หน้าต่าง จะเลื่อนขึ้น หรือลง จนสุดเอง แถมยังมี สวิชต์ล็อก
กระจกหน้าต่างฝั่งผู้โดยสาร 3 บานที่เหลือ พร้อม Central Lock (แบบไม่มีสวิชต์แยกออกมา ต้องกดปุ่ม
ปลดล็อกที่มือจับประตูเอาเอง) มาให้ ครบทุกรุ่นย่อย

ไม่เข้าใจว่า ทำไมไม่มีแถบสีส้มสะท้อนแสง บอกให้รู้กันสักหน่อยว่า ประตูถูกล็อกแล้ว ต้องนั่งเดาเอง

เช่นเดียวกับ สวิชต์ ปรับ และพับกระจกมองข้างด้วยไฟฟ้า อยู่ทางขวามือ ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวาสุดของ
แผงหน้าปัด มีมาคราวนี้ มีมาให้ครบทุกรุ่นย่อย ตั้งแต่ GLX GLS และ GLS Limited แค่ผู้ขับขี่ล็อก
ประตู ด้วยวิธีการใดก็ตาม กระจกมองข้าง ก็จะพับเก็บเองโดยอัตโนมัติ และเมื่อปลดล็อก มันก็จะ
กางออกเองโดยอัตโนมัติ เช่นเดียวกัน

พวงมาลัยของทุกรุ่นเป็นแบบ ยูรีเทน 3 ก้าน ออกแบบขึ้นใหม่ มีขนาดเส้นรอบวงกำลังดี ไม่เล็กหรือใหญ่
จนเกินไป ฝังถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับเอาไว้ข้างใน Grip สำหรับจับพวงมาลัย ถือว่า อยู่ในระดับมาตรฐาน
ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป เช่นเดียวกัน

แต่ในรุ่น 1.2 GLS Limited ตัวท็อป พวงมาลัยจะถูกหุ้มด้วยหนังสังเคราะห์ และมี Trim ประดับเป็นสีเงิน
พร้อมกับสวิชต์ควบคุมชุดเครื่องเสียง บนพวงมาลัย แถมให้เป็นพิเศษเพียงรุ่นเดียว

การติดเครื่องยนต์ ในรุ่น GLX ใช้กุญแจ เสียบเข้าไปในรู ตรงคอพวงมาลัยฝั่งขวา แล้วบิดสตาร์ตตามปกติ
ส่วนรุ่น GLS และ GLS Limited มีปุ่มติดเครื่องยนต์แบบ Push Start มาให้ ถ้าไฟสีแสดขึ้น แสดงว่าพร้อม
ให้กดปุ่มแล้ว และเมื่อกดเข้าไป ไฟจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว แสดงว่า กำลังติดเครื่องยนต์แล้ว

ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ CVT ฐานรองเกียร์ ถูกตกแต่งใหม่ ให้ดูสวยงามยิ่งกว่าเดิม ด้วยโทนสี Piano Black
ขลิบขอบนอกด้วยสีเงิน Silver Decoration

ถุงลมนิรภัยในรุ่น GLX จะมีแค่ฝั่งคนขับเท่านั้น แต่ในรุ่น GLS ขึ้นไป จะเพิ่มถุงลมฯฝั่งผู้โดยสารด้วย รวมเป็น 2 ใบ

ชุดมาตรวัด ยกชุดมาจาก Mirage ทั้งดุ้น ไม่ต้องออกแบบลวดลาย Graphic ใหม่ใดๆเลย เป็นแบบ
Combination Meter 3 วางกลม ซ้อนกัน ตรงกลางเป็นมาตรวัดความเร็ว ฝั่งซ้ายเป็น มาตรวัดรอบ
และแสดงสัญญาณไฟเตือนในระบบสำคัญๆ ฝั่งขวา แสดงสัญญาณไฟเตือนในระบบ ที่สำคัญ
รองลงมา รวมทั้งมีไฟ ECO สีเขียว จะติดสว่างขึ้น เมื่อใช้ความเร็ว เหมาะสม สัมพันธ์กับรอบ
เครื่องยนต์ แสดงว่า ขับได้อย่างประหยัดน้่ำมัน ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจว่า ขนาดขับอยู่ตั้ง 120
กิโลเมตร/ชั่วโมง ไฟ ECO จะยังคงคิดสว่างขึ้นมา

มันฟังดูแปลกๆนะ แต่ ไฟ ECO ของรถญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ ก็มักทำตัว ฮาๆ แบบนี้กันทุกยี่ห้อละครับ!

ในรุ่น GLX กรอบมาตรวัดความเร็วจะเป็นสีดำ แต่ในรุ่น GLS และ GLS Limited มาตรัดความเร็ว
จะถูกล้อมกรอบด้วยวงแหวนสีเงิน ส่วนไฟหน้าปัด ของทั้ง 2 รุ่นจะเรืองแสงด้วยสีส้ม

หน้าจอตรงกลาง ใต้มาตรวัดความเร็ว เป็นหน้าจอ Multi-Information Display แสดงข้อมูลทั้งระยะทาง
ที่รถแล่นมาทั้งหมด Odo Meter ระยะทางที่ผู้ขับขี่ตั้งค่าได้เอง Trip Meter A และ Trip Meter B ปรับ
ความสว่างของมาตรวัดทั้งหมด ระยะทางที่น้ำมันในถัง เหลือพอให้รถแล่นต่อไป อัตราสิ้นเปลือง
เชื้อเพลิงเฉลี่ย และแจ้งเตือนการบำรุงรักษา ด้วยการกด-ปล่อย ที่สวิชต์ปรับตั้งบนมาตรวัด ถ้ารถถึง
กำหนดเข้าศูนย์บริการตรวจเช็ค จะขึ้นสัญลักษณ์รูปประแจ ให้เห็นกันแบบข้างบนนี้

การมองเห็นตัวเลข ไม่แตกต่างจาก Mirage เลยครับ ในขณะขับขี่ คุณจะมองเห็นตัวเลขชัดเจน แต่
ถ้าต้องการอ่านรอบเครื่องยนต์ อาจต้องเพิ่งกันเพิ่มขึ้นนิดหน่อย และถ้าสังเกตสักนิดจะพบว่า มาตรวัด
ชุดนี้ ถูกออกแบบมารองรับการติดตั้ง ระบบ ควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control ระบบช่วยลดโอกาส
การลื่นไถล หรือล้อหมุนฟรี จำพวก Traction Control หรือ VSC ที่สำคัญ ยังแอบรองรับสัญญาณระบบ
ดับเรื่องเองเมื่อจอดติดไฟแดง และติดเครื่องเองอีกครั้งเมื่อออกรถ Auto Stop&Go มาให้ด้วย! แต่เสียดาย
ว่าระบบทั้งหมดในย่อหน้านี้ จะไม่ถูกติดตั้งกับ Mirage และ Attrage  ที่จำหน่ายในเมืองไทย ตอนนี้

มองไปทางซ้ายมือ ช่องเก็บของฝั่งผู้โดยสาร มีขนาดใหญ่พอประมาณ แต่น่าเสียดายว่า ฝั่งซ้าย
ของกล่องด้านใน เว้า และเผยให้เห็นถึงสายไฟระโยงระยาง ที่ซ่อนอยู่หลังแผงหน้าปัด มันดู
ไม่ค่อยเรียบร้อยแบบที่รถยนต์รุ่นใหม่ๆ ควรจะเป็นกันสักเท่าไหร่

ใต้แผงควบคุมกลาง จะมีช่องเสียบกุญแจ KOS (เฉพาะรุ่น GLS Limited) หรือช่องวางของจุกจิก
ขนาดใหญ่พอประมาณ พอให้วางกระเป๋าสตางค์ได้ (ในรุ่น GLX และ GLS) รวมทั้งช่องวางแก้วน้ำ
2 ตำแหน่ง ที่ใช้งานได้จริง

ในรุ่น GLX นั้น เครื่องปรับอากาศ จะเป็นแบบ มือบิด พร้อมกับก้านเลื่อนเปิด – ปิด ช่องรับอากาศ
จากภายนอกรถ ซึ่งก็ถือว่า เย็นเร็วในระดับใช้ได้ เช่นเดียวกัน ขณะที่เครื่องเสียง จะเป็น วิทยุแบบ
AM/FM เล่นแผ่น CD/MP3 ได้แค่แผ่นเดียว พร้อมลำโพง 4 ชิ้น เสียงเบส ออกมาใช้ได้ เสียงใส
ยังแอบอู้อี้นิดๆ ถือว่า พอใช้ได้ คุณภาพเสียง กลับกลายเป็นว่า ไม่เลวร้าย เมื่อเทียบกับราคาของรถ
คงเป็นเพราะ ให้ลำโพงมา 4 ชิ้น ทุกรุ่น ทั้ง 2 รายการนี้ หน้าตา ไม่ต่างจาก Mirage GLX กันเลย

รุ่น GLS และ GLS Limited จะเป็น 2 รุ่นย่อย ที่ได้ใช้เครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ ถูกออกแบบมาให้มี
แผงควบคุมสวิชต์ ใช้งานง่ายดาย และคลำหาปุ่มต่างๆ แล้วเจอแทบทันที ยกมาจาก Mirage อีกนั่นละ!
เพียงแต่ว่า เสียงกดปุ่มดัง “ปี๊บ” นั้น แอบชวนให้นักถึง เตาไมโครเวฟ อุ่นอาหาร ที่บ้านกันอยู่บ้าง!

ส่วนช่องเสียบ USB สำหรับเชื่อมต่อกับวิทยุ หรือชุดเครื่องเสียงนั้น ติดตั้งอยู่ที่ลิ้นชักเก็บของฝั่งซ้าย
ทั้งที่ ควรจะติดตั้งไว้บนแผงควบคุมเครื่องเสียงไปเลยมากกว่า กระนั้น Attrage ก็ยังมีการออกแบบ
รูสำหรับสอดและร้อยสายไฟ โผล่ออกมานอกกล่องเก็บของกันแล้ว เพื่อเสียบขั้วต่อสำหร้ับ โทรศัพท์
มือถือ Smart Phone ทั้งหลาย นอกจากนี้ ด้านบนช่องเก็บของ ยังมีการออกแบบ ร่องวางของแนวยาว
บนแผงหน้าปัดฝั่งซ้าย สำหรับการวางข้าวของจุกจิกต่างๆ ซึ่งแนะนำว่า อย่าวางโทรสัพท์มือถือ เพราะ
มีโอกาสหล่นลงมาหลังจากเบรกกระทันหันได้

แต่ชุดเครื่องเสียงในรุ่น 1.2 GLS Limited นั้น แตกต่างจาก Mirage ชัดเจน เพราะคราวนี้ ทีม
Product Planning และฝ่ายการตลาด ตัดสินใจ เปลี่ยนหน้าจอเครื่องเสียง วิทยุ AM/FM พร้อม
เครื่องเล่น DVD / CD / MP3 4 ลำโพง และมีหน้าจอ Touch Screen ขนาด 6.5 นิ้ว พร้อม
ระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System เล่นภาพยนตร์ จาก จอได้ แต่สัญญาณ
ภาพ จะตูกตัด ขณะขับรถ เพื่อความปลอดภัย

การใช้งาน ค่อนข้างง่ายดาย และสะดวกขึ้นกว่ารุ่นเดิม หน้าจอทำงานไวขึ้นมาก แต่ยังมีบางครั้ง
ที่พบอาการหน่วง หรือ ทำงานช้ากว่าที่ควรเป็น การนำทาง ทำได้ดี แถมยังมีระบบเตือนกล้องจับ
ความเร็ว ซึ่งค่อนข้างอัพเดทใช้ได้ ยกเว้นระบบแจ้งตัวเลขค่าผ่านทางด่วน ที่อาจต้องอัพเดท
เป็น 50 บาท กันได้แล้ว แต่การป้อนข้อมูล ยังแอบยาก และไม่สามารถเลือกตำแหน่งตามที่
เราต้องการได้เป๊ะมากมายนัก อาจต้องเลือกพื้นที่ใกล้เคียง ให้ระบบนำทางไปก่อน แต่ที่เจ๋ง
ก็คือ มีการแสดงภาพทางออกจากทางด่วน ที่เราควรจะมุ่งหน้าไป ตามทางที่เราตั้งไว้ให้ระบบ
นำทางไปด้วย

ส่วนกล้องมองหลัง ขณะกำลังเข้าเกียร์ R เพื่อถอยรถเข้าจอดนั้น แอบทำเอาผมงุนงงกับการ
ต่อสายไฟในรถคันนี้มาก เพราะทันทีที่เข้ากียร์ถอยหลัง เสียงเพลงจะดับลง ราวกับว่าจะให้
ผู้ขับขี่ ใช้สมาธิในการถอยเข้าจอดเป็นหลัก และเมื่อเข้าเกียร์ D หรือ P เพลงจะกลับมาดัง
เหมือนเดิม ทั้งที่ความจริงแล้ว ผมมองว่า เปิดเพลงต่อไปก็ไม่น่าจะทำให้สมาธิคนขับดีขึ้น
ไปกว่าเดิมเท่าไหร่นักหรอกครับ

คุณภาพเสียง บอกได้เลยว่า มาแนวทางเดียวกับ Mirage และ Lancer EX คือ เครืองเสียงใน
รถรุ่นถูกกว่า จะมีคุณภาพเสียงโดยรวม ดีกว่า รุ่นที่ใช้หน้าจอ Touch Screen อยู่พอสมควร
เพราะ เสียงเบส ก็ไม่ค่อยจะมี เสียงใส ยิ่งอู้อี้ รำคาญหู หาความลงตัวกันไม่ค่อยจะได้นัก

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะเลือกซื้อ Attrage รุ่นใดก็แล้วแต่ ตาม บริเวณพื้นห้องโดยสารตรงกลาง
จะติดตั้ง เบรกมือแบบมาตรฐาน ยกขึ้น ยกลง มาให้ พร้อมกับช่องวางแก้วน้ำ สำหรับผู้โดยสาร
ด้านหลัง 1 ช่อง เพียงเท่านี้จริงๆ และ…แค่นี้! ซึ่งก็เหมือนกับ Mirage และคู่แข่งอย่าง Brio
กับ Brio AMAZE นั่นแหละ ส่วน Almera จะให้ช่องวางแก้วม 2 ตำแหน่งในจุดเดียวกันนี้ 

นอกจากนี้ Mitsubishi Motors ยังติดตั้ง ระบบควบคุมลูกเล่นไฟฟ้าต่างๆ ภายในห้องโดยสาร ETACS
(Electronic Time And Alarm Control System) ซึ่งเป็นลูกเล่นที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์ Mitsubishi 
ที่ผลิตขายในเมืองไทย มาตั้งแต่สมัย Galant Sigma ปี 1984 แล้วมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนถึง
ปัจจุบัน มาให้ด้วย เหมือนกันกับ Mirage

ลูกเล่นที่ว่านี้ มีหลายอย่างเหมือน Mirage ได้แก่
– กุญแจรีโมทพร้อมระบบควบคุมการพับและกางกระจกมองข้างอัตโนมัติ
– ไฟหน้าปิดได้เองโดยอัตโนมัติ โดยระบบจะตัดการทำงานของไฟหน้ารถโดยอัตโนมัติหลังจากดับ
   เครื่องยนต์ แล้วเปิดประตู ช่วยให้ไฟในแบตเตอรี่ไม่หมด
– ใบปัดน้ำฝนปรับความเร็วอัตโนมัติ ใหากผู้ขับเปิดที่ปัดน้ำฝนในตำแหน่งปัดเป็นจังหวะเมื่อรถแล่น
   ถึงความเร็วที่กำหนดที่ปัดน้ำฝนจะเปลี่ยนเป็นจังหวะที่ 1 โดยอัตโนมัติ และจะกลับมาที่ตำแหน่งปัด
   เป็นจังหวะเหมือนเดิมเมื่อความเร็วลดลงหรือหยุดรถ
– ระบบล็อคประตูซ้ำอัตโนมัติ หากกดปุ่มปลดล็อกที่รีโมทแล้ว ยังไม่เปิดประตูรถ ระบบจะล็อคประตู
  ทุกบานให้เองโดยอัตโนมัติ ภายใน 30 วินาที
– ระบบสัญญาณไฟเลี้ยวเพื่อเปลี่ยนเลน เพียงขยับก้านไฟเลี้ยวเพียงเล็กน้อยสัญญาณไฟเลี้ยวและ
  สัญญาณไฟเตือนบนหน้าปัดจะกระพริบ 3 ครั้ง (แบบรถยนต์ยุโรปชั้นดี)
– ระบบหน่วงเวลาปิดไฟในห้องโดยสารภายใน 15 วินาที
– ระบบหน่วงเวลาเปิด-ปิดกระจกไฟฟ้าหลังจากดับเครื่องยนต์ โดยยังสามารถเปิด-ปิดได้อีกใน 30 วินาที

ด้านทัศนวิสัย ในเมื่อ ครึ่งคันหน้า ก็ใช้เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar รวมทั้งกระจกบังลมหน้า
แผงหน้าปัด พวงมาลัย และกระจกมองข้าง ร่วมกันกับ Mirage ดังนั้น ทัศนวิสัยด้านหน้า
ของตัวรถ จึงไม่แตกต่างไปจาก Mirage เลย สามารถหาอ่านได้ในบทความ Full Review
ของ Mirage ซึ่งอยู่ท้ายบทความรีวิวนี้

แต่สิ่งที่ต่างกัน อยู่ที่ เสาหลังคาด้านหลัง C-Pillar ซึ่งถูกออกแบบให้มีความโปร่งตาใช้ได้
เมื่อมองไปทางด้านหลัง จะพบว่าพื้นที่กระจกบังลมด้านหลัง มีค่อนข้างมาก และไม่ตีบ
เท่ากับ Almera แต่พื้นที่ของกระจกหน้าต่างฝั่งประตูคู่หลัง ก็ยังอยู่ในระดับพอกันกับ
คู่แข่งทุกคันในระดับนี้ การถอยรถเข้าจอด อาจต้องใช้ความระมัดระวังสักหน่อย

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ในเมื่อ Attrage ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานโครงสร้างวิศวกรรมกับ Mirage อีกทั้งยังจำเป็น
ต้องทำตามข้อกำหนด ในการทำรถยนต์ ECO Car ของรัฐบาลไทย ดังนั้น รายละเอียด
เครื่องยนต์กลไก จึงเหมือนกันกับ Mirage แทบทุกประการ ชนิดที่ว่า สามารถยกเข้า
ถอดสับสลับใส่ได้แทบทุกชิ้น ตราบเท่าที่อะไหล่ชิ้นนั้น ยังไม่เกี่ยวข้องกับบั้นท้ายของรถ

หลายคนคงเริ่มคุ้นเคยกับขุมพลังของ Attrage กันแล้ว เพราะมันคือ เครื่องยนต์ รหัส
3A92 บล็อก 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว ขนาด 1,193 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 75.0 X 90.0
มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิง ด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ ECI-Multi
(Electronically Controlled Multi-Point Fuel injection) ควบคุมด้วยสมองกลคอมพิวเตอร์
32 Bit พร้อมระบบแปรผันวาล์ว ที่หัวแคมชาฟต์ฝั่งวาล์วไอดี MIVEC (Mitsubishi
Innovative Valve timing Electronic Control system) ยกมาจาก Mirage ทั้งดุ้นนั่นเอง

กำลังสูงสุด 78 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 100 นิวตันเมตร (10.2 กก.-ม.)
ที่ 4,000 รอบ/นาที

ถ่ายทอดกำลัง ลงสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วย 2 รูปแบบของระบบส่งกำลัง มีทั้ง เกียร์ธรรมดา
5 จังหวะ มีเฉพาะรุ่น GLX 5MT แบบเดียวเท่านั้น ใช้น้ำมันเกียร์ API GL4 หรือ SAE 75 W 80
อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

เกียร์ 1……………………..3.545
เกียร์ 2……………………..1.913
เกียร์ 3……………………..1.310
เกียร์ 4……………………..0.973
เกียร์ 5……………………..0.804
เกียร์ถอยหลัง………………3.214
อัตราทดเฟืองท้าย………….4.055

ส่วนรุ่นอื่นที่เหลือ ทั้ง GLX CVT , GLS และ GLS Ltd. จะใช้เกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน CVT
(Continous Variable Transmission) ของ Jatco รุ่น CVT 7 ซึ่งเป็นเกียร์แบบ สายพาน
คล้องกับพูเลย์ รุ่นเดียวกัน กับที่ติดตั้งอยู่แล้ว ทั้งใน Nissan March และ Almera กับ Suzuki 
Swift 1.2 ลิตร จะว่าไปแล้ว มันก็เป็นเกียร์ลูกเดียวกับใน Nissan Sylphy และ Pulsar ด้วยนะ!
เรียกได้อย่างเต็มปากว่านี่คือ “เกียร์ CVT สหกรณ์”ของแท้!)

แต่ความแตกต่างที่ชัดเจนก็คือ Attrage และ Mirage จะใช้กล่องสมองกลคอมพิวเตอร์ สำหรับควบคุม
เกียร์ที่ Mitsubishi Motors พัฒนาขึ้นเองนั่นคือระบบ INVECS-III (Intelligent & Innovative
Vehicle Electrics Control System) เจเนอเรชัน ที่ 3 ระบบนี้ แบ่งการทำงานเป็น 2 แบบ คือ

1. เปลี่ยนเกียร์ตาม “สภาพการขับขี่”  (Optimum Shift Control)
กล่องคอมพิวเตอร์ จะวิเคราะห์ การเหยียบคันเร่ง เพื่อดูองศาการเปิดของลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า การ
เหยียบเบรก เลี้ยวพวงมาลัย และความเร็วของรถในขณะนั้น เพื่อให้ได้ตำแหน่งเกียร์ ที่เหมาะ
กับสภาพเส้นทาง และการขับขี่ในช่วงเวลานั้นๆ ให้มากที่สุด

2. เปลี่ยนเกียร์ตาม “พฤติกรรมผู้ขับขี่” (Adaptive Shift Control)
กล่องคอมพิวเตอร์ จะศึกษาพฤติกรรมการขับขี่ แล้วเปลี่ยนเกียร์ไปตามนิสัยคนขับ เช่น ถ้าเป็นคน
ชอบเหยียบคันเร่งจมมิด เรียกอัตราเร่งแซงตลอดเวลา กล่องคอมพิวเตอร์จะสั่งให้เปลี่ยนตำแหน่ง
พูเลย์ บีบถ่าง ในชุดเกียร์ช้าลง ลากรอบเครื่องยนต์ ไปสู่รอบสูงๆ นานขึ้น แต่ถ้าเป้นคุณลุงคุณป้า
ขับช้าๆ สบายๆ ชิลๆ กล่องระบบก็จะสั่งให้เปลี่ยนตำแหน่งพูเลย์ ในชุดเกียร์ เร็วขึ้น เพื่อให้ใช้
รอบเครื่องยนต์ต่ำลง โดยเร็ว กว่าปกติเล็กน้อย

นอกจากนี้ เกียร์ลูกนี้ มีระบบ Idle Neutral Control โดยเป็นชุด Forward Clutch ทำหน้าที่
ตัดการส่งแรงบิดจากเครื่องยนต์ ไปยังล้อขับเคลื่อนคู่หน้า ขณะเหยียบเบรก ติดไฟแดง แล้วเข้าเกียร์ D 
ทิ้งไว้เพื่อช่วยลดภาระของ Torque Converter ไม่ให้หนักเกินไป ใช้น้ำมันเกียร์ CVTF-J4 มี
อัตราทดเกียร์ ดังต่อไปนี้

เกียร์สูงสุด…………………….4.007
เกียร์ต่ำสุด…………………….0.550
เกียร์ถอยหลัง…………………3.771
อัตราทดเฟืองท้าย……………3.757

แล้วสมรรถนะ เป็นอย่างไร? จะเหมือนหรือต่างจาก Mirage บ้างหรือเปล่า? เราทำการทดลอง
จับเวลาหาอัตราเร่งในตอนกลางคืน ตามมาตรฐานดั้งเดิม นั่นคือ เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า นั่ง 2 คน
ผมกับผู้ช่วยจับเวลา น้ำหนักตัว ของเราสองคน รวมกันต้องไม่เกิน 170 กิโลกรัม และผลัพธ์ที่
ออกมา มีดังต่อไปนี้

จากตัวเลขในตารางจะพบว่า อัตราเร่งในรุ่นเกียร์ธรรมดานั้น แม้ว่าจะด้อยกว่า Mirage 5MT
ซึ่งยังคงเป็นแชมป์อัตราเร่งในกลุ่ม ECO Car ในทุกหมวดอยู่ แต่ยังต้องถือว่าเป็น ECO Car
ตัวถัง Sedan ที่เร็วสุดในกลุ่มของตนอยู่ดี เพราะทำตัวเลข ทั้ง 0 – 100 และ 80 – 120 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ไวกว่า ทั้ง Almera และ Brio AMAZE เกียร์ธรรมดาด้วยกันประมาณ เกือบ 1 วินาที
เรียกได้ว่าแซงกันขาดลอย

ส่วนความเร็วสูงสุดนั้น รุ่นเกียร์ธรรมดา แอบทำตัวน่าแปลกใจอยู่สักหน่อย ที่พอเข้าเกียร์ 5 แล้ว
ความเร็วของ Attrage กลับลดลงมา เหลือตัวเลขดังกล่าว คือ เข็มไม่ได้แตะที่ระดับ 180 พอดี รอบ
เครื่องยนต์ก็ยังลดลงต่ำกว่า 5,500 รอบ/นาที อย่างชัดเจน

แต่ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ CVT ตัวเลข จากจุดหยุดนิ่ง ออกมา เร็วกว่า Almera แค่เพียง 0.1 วินาที
เท่านั้น และแน่นอนว่า ช้ากว่า Brio AMAZE ราวๆ 0.6 วินาที แต่ถ้าเทียบกับ Mirage CVT แล้ว
จะพบว่า Attrage CVT ออกตัวได้อืดกว่า ราวๆ 1.2 วินาที !

และในเกมจับเวลาอัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง กลับกลายเป็นว่า Attrage ทำตัวเลข
ด้อยกว่าทั้ง Brio AMAZE และ Almera อยู่ราวๆ 0.06 วินาที เท่านั้น

ขณะที่ความเร็วสูงสุดนั้น เข็มความเร็ว ไต่ขึ้นไปแตะระดับสูงกว่า Mirage CVT อยู่ 5 กิโลเมตร/
ชั่วโมง เมื่ออ่านจากมาตรวัด แต่ความเร็วจริง วัดจาก GPS จะอยู่ที่ 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ผมยังขอเตือนคุณผู้อ่านกันเอาไว้ตรงนี้เช่นเคยว่า เราไม่ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้คุณไปทดลอง
ความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเอง เพราะนอกจากจะผิดกฎหมาย พรบ.จราจรทางบกแล้ว ยังอาจก่อให้
เกิดอันตรายต่อตัวคุณเอง และเพื่อนร่วมทางได้ เราทำตัวเลขมาให้ดูเพื่อให้คุณและผู้ที่สนใจศึกษา
ในด้านวิศวกรรมยานยนต์ได้มีข้อมูลกันไว้เท่านั้น อย่าไปลองทำกันเองโดยเด็ดขาด! ยิ่งรถยนต์
ประเภท ECO Car ที่มีช่วงล่างเบาๆ และนิ่มจนน่าเป็นห่วงในความเร็วสูง ทุกรุ่นทุกคันทุกยี่ห้อ

ในการใช้งานจริง เสียงติดเครื่องยนต์ แหลมบาดหู ไม่แพ้ Mirage แต่เครื่องยนต์ 3 สูบ 1.2 ลิตร
ก็ตอบสนองได้ไม่แตกต่างจาก Mirage เลยเช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่า จะเชื่อมต่อกับระบบส่งกำลัง
แบบไหน

หากเป็นรุ่นเกียร์ธรรมดา ไม่ว่าคุณจะอยู่ในเกียร์ 2 3 4 หรือแม้แต่ 5 ถ้าอยู่บนทางด่วน แล้วอยาก
เร่งแซง รถสิบล้อคันข้างหน้า แค่เหยียบคันเร่ง จะครึ่งหนึ่ง หรือจมมิดก็ได้ทั้งนั้น รอจนถึงรอบ
เครื่องยนต์ที่เหมาะสม หรือไม่ก็เหยียบคันเร่งลากรอบให้ไปจนสิ้นสุดที่ราวๆ 6,500 รอบ/นาที
แล้วค่อยเปลี่ยนเกียร์ขึ้นไป เพียงเท่านี้ คุณก็จะได้อัตราเร่ง เทียบเท่ารถยนต์นั่งขุมพลัง 1.5 ลิตร
เกียร์อัตโนมัติ สักรุ่นกันแล้ว บอกได้เลยว่า เครื่องยนต์ลูกนี้ ทำงานร่วมกับเกียร์ธรรมดา ได้อย่าง
ลงตัว อัตราเร่ง ให้ชีวิตชีวาในการขับขี่ใช้ได้เลย เมื่อคิดถึงค่าตัวและพิกัดของรถรวมเข้าไปด้วยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ด้วยเรี่ยวแรงที่มีแค่ระดับ ECO Car ดังนั้น การเร่งแซง อาจจำเป็นต้องพึ่งพาเกียร์
3 เข้าช่วยเรียกแรงบิดมารอที่เท้าขวาของคุณ เพราะบางที เกียร์ 4 อาจไม่พอในบางกรณี

คันเร่งไฟฟ้าที่เซ็ตมาให้ตอบสนองไว ช่วยให้การขับขี่รุ่นเกียร์ธรรมดา ทันใจ ทันเท้า ทันต่อ
ความต้องการ เพียงแต่ต้องยอมรับให้ได้ ว่าแรงบิด มันไม่ได้มากมายเท่าเพื่อนพ้องร่วมถนนเขา
มันแรงในระดับ ECO Car ถ้ารับความจริงข้อนี้ได้ ก็ขับไปเลย ถึงไหนถึงกัน

ส่วน Shift Feeling ของคันเกียร์ นั้น ระยะเข้าเกียร์ยังคงกระชับ แต่คราวนี้ มีการปรับปรุงให้
คันเกียร์ สามารถเข้าได้แม่นยำขึ้นนิดหน่อย เข้าง่ายขึ้นชัดเจน หากเทียบกับ Mirage คันที่
ผมเคยลองขับเมื่อปีก่อนๆ เกียร์ถอยหลังเข้าง่ายขึ้นแล้ว แต่อาจได้ยินเสียงเฟืองเกียร์หอน
ในช่วงเกียร์ 3 อย่บ้าง คาดว่า น่าจะเป็นอาการเฉพาะรถคันทดลองขับมากกว่า

ขณะที่แป้นคลัชต์นั้น ระยะเหยียบยังคง สั้น เหมาะสมดีแล้ว คราวนี้ Friction Point หรือจุดตัดต่อ
กำลัง ถือว่าจับตัวกับเฟืองท้ายได้ดีขึ้น ไวขึ้นนิดเดียว แม้จะยังต้องถอนแป้นคลัชต์เกือบจะสุด
อยู่ก็ตาม

แต่ถ้าเป็นเกียร์ CVT ละก็ การเหยียบคันเร่ง อาจไม่พอ คุณอาจต้องลากลงมาที่ตำแหน่ง L ซึ่ง
อันที่จริง ก็ไม่ควรทำบ่อยๆ เพราะต้องไม่ลืมว่า เกียร์ CVT ชอบให้คุณ ปรนนิบัติกับมันอย่าง
ละมุนละไมละม่อม เหมือนเอาแป้งเท้ายายม่อมละเลงลงไปบนเสื้อเกียร์

อัตราเร่งของรุ่นเกียร์ CVT ในจังหวะออกตัว อืดอาด แม้จะพุ่งออกไปอย่างต่อเนื่อง แต่จริงๆแล้ว
ก็แรงแค่พอกันกับ Almera นั่นละ ไม่ได้ต่างกันเลย Brio AMAZE ยังจะกระฉับกระเฉงกว่ากัน
นิดนึงเสียด้วยซ้ำ การเร่งแซง ขอแนะนำว่า หากต้องกระทำอย่างปัจจุบันทันด่วน การลดคันเกียร์
บงมาที่ตัว S จะช่วยให้ คันเร่ง ตอบสนองได้ดีขึ้นนิดเดียว เพราเกียร์จะลากรอบเครื่องยนต์ขึ้น
ไปรอไว้ให้ในระดับที่สูงกว่า เกียร์ D ธรรมดา เมื่อคุณเหยียบคันเร่งในระดับเท่ากันเป๊ะ

แต่ถ้าคุณไม่อยากเปลี่ยนเกียร์ลงมาที่ตัว S ทางเดียวที่จะช่วยให้คุณเร่งแซงผ่านอุปสรรคข้างหน้า
ได้ฉับไว คือการเหยียบคันเร่งเต็มมิดตีน จนคันเร่งแทบจะทะลุเข้าไปในห้องเครื่องยนต์ นั่นละ
รถถึงจะค่อยๆเร่งเสียงเครื่องยนต์ให้ดังขึ้น เข็มความเร็วค่อยๆไต่ขึ้นตามมา จากนั้น รถก็จะค่อยๆ
เร่งผ่านหน้าอุปสรรคที่คุณต้องการจะแซงขึ้นไป…มันหมือนจะแรงนะ เสียงเครื่องยนต์คำราม
เหมือน แมวอารมณ์เสีย ที่เพิ่งอกหักตอนตี 2 ร้องครางได้อย่างน่าสงสารชะมัด

แน่นอนว่า หลังพ้นจาก 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไปแล้ว ทั้ง 2 ระบบส่งกำลัง จะพาคุณไต่ขึ้นไป
ยังช่วงความเร็วสูงกว่านี้ ในระดับเดียวกันกับ หอยทากเพิ่งหัดบิน ไม่ต้องไปคาดหวังความ
ฉับไวจากอัตราเร่งของรถยนต์พิกัดนี้ มากเกินไปกว่านี้อีกแล้ว มันทำได้แค่นี้แหละ

ด้านการเก็บเสียงในห้องโดยสารนั้น ทำได้แค่ในระดับ สมตัว สมราคา คือเงียบใช้การได้
ในช่วงความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ถ้าเร็วกว่านั้น ขึ้นไป บอกได้เลยว่า เสียง
เครื่องยนต์ และเสียงกระแสลมที่ไหลผ่านตัวรถนั้น แม้จะค่อนข้างดังเอาเรื่อง แต่ก็ต้อง
แยกแยะกันสักหน่อย

เพราะถ้าเป็นบริเวณเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar เสียงลมมาปะทะ จะไม่มากนัก แต่พอเป็น
เสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar เสียงจะเริ่มดังขึ้น และจะดังสุด เมื่อกระแสลมไหลผ่านไปยัง
เสาหลังคาคู่หลังสุด C-Pillar อีกทั้งในช่วงความเร็วสูงสุด 160 – 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง
จะมีเสียงหวีดร้องอันเกิดจากกระแสลม บริเวณ ครึ่งคันหน้าของตัวรถอีกด้วย คาดว่าน่าจะ
มาจากแนวขอบกระจกชิ้นใดชิ้นหนึ่ง ผมไม่มีเวลาหาต้นตอของเสียง เพราะลำพังแค่การ
ควบคุมรถในช่วงเวลานั้น ไม่ให้ปลิวลงข้างทาง ก็ต้องใช้สมาธิมากพออยู่แล้ว

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า EPS (Electronics
Power Steering) รัศมีวงเลี้ยวที่ล้ออยู่ที่ 4.8 เมตร แม้ว่า จะหนืดขึ้นไปตามความเร็วของรถ
แต่การตอบสนองในภาพรวม ก็ไม่ต่างจากพวงมาลัยของ Mirage กันเลย

จริงอยู่ว่า ในการขับขี่บนสภาพการจราจรที่ติดขัดของ กรุงเทพมหานคร พวงมาลัยของ Attrage
จะเบา ไว ทดเฟืองมาค่อนข้างเหมาะสม และพาคุณซอกแซก ลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอย หรือ
หมู่ยานพาหนะที่ร่วมสัญจรไปพร้อมกับคุณ ได้อย่างคล่องแคล่ว ว่องไว อีกทั้งยังช่วยให้เลี้ยวกลับ
ได้ด้วยวงเลี้ยวที่แคบ ใกล้เคียงกันกับ Mirage ด้วย เพราะมีวงเลี้ยวที่แคบสะใจมากๆ หลบหลีก
สถานการณ์ต่างๆ ในช่วงความเร็วต่ำกว่า 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผ่านพ้นได้อย่างสบายๆ

แต่ในช่วงความเร็วสูง ผมชักอยากจะขอแก้ไข สิ่งที่ผมเคยเขียนไปในบทความ Full Review
Mirage เมื่อปีที่แล้ว ว่า แม้พวงมาลัยของ Attrage จะหนืดขึ้นอย่างชัดเจน แต่ระยะฟรีที่เหมือน
ไม่มากนัก ในตอนแรก จะเพิ่มขึ้นตามน้ำหนักของพวงมาลัย จนสัมผัสได้ว่า มีระยะฟรีเยอะ
อยู่พอประมาณ คุณจะสัมผัสได้ หากลองแกว่งพวงมาลัย ซ้ายที ขวาที เบาๆ นิดๆ อย่าแกว่งเยอะ
ในช่วงความเร็ว ตั้งแต่ 50 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะพบว่า ล้อยังคงพารถพุ่งตรงไปข้างหน้า แม้
ในขณะที่คุณกำลังแกว่งพวงมาลัยราวๆ 10 – 15 องศา ซ้ายๆ ขวาๆ จากจุด center และยังถือว่า มี
การตอบสนอง ไม่เป็นธรรมชาติเท่าที่ควร ก็ต้องทำใจว่า ถ้าพวงมาลัยถูกเซ็ตมีระยะฟรีน้อยกว่านี้
อีกนิดเดียว ก็จะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการควบคุมบังคับรถย่านความเร็วสูง ได้ดีกว่านี้

ระยะฟรีที่มากพอสมควรนี้ มันทำให้ผมต้องพยายามเลี้ยงพวงมาลัยเกือบตลอดเวลาที่ขับขี่
ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงที่ต้องขับบนทางด่วน ในช่วงพายุฝนกำลังเริ่มเทกระหน่ำ มีกระแสลม
โหมตามมา แม้เพียงสายลมที่พริ้วไหว ก็อาจทำให้ตัวรถออกอาการเป๋ไปทางด้านข้าง ตาม
แรงลมได้ เช่นเดียวกับ Mirage นั่นละ

นั่นหมายความว่า ต่อให้คุณ ขึ้นทางด่วน ในวันที่กระแสลมปะทะด้านข้างน้อยๆ ก็ตาม Attrage
จะยังคงมีนิสัยเหมือน Mirage คือ ให้ความสบาย และไม่เครียดในการขับขี่  บนมอเตอร์เวย์
ทางด่วน หรือ ทางยกระดับ ได้จนถึงความเร็วประมาณ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง  เพราะถ้าหากว่า
มีกระแสลมด้านข้างปะทะ ตัวรถจะเริ่มออกอาการวูบวาบไปมา ตามด้วย อาการดิ้นนิดๆ ซ้ายนิด
ขวาหน่อย ที่มักพบได้ในรถยนต์ซึ่งใช้ระบบ พวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฟฟ้า และถูกเซ็ตมายัง
ไม่ถึงกับดีพอ แล่นไปตามสภาพพื้นผิวถนนซึ่งมีทั้งลักษณะเป็นลอนคลื่น หรือที่อาจเรียกได้ว่า
On-Center feeling ที่นิ่งใช้ได้ดีในช่วงลมสงบ จะเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อกระแสลมแรงขึ้น ทั้งสอง
ปัจจัย จะทำให้ยากต่อการควบคุมรถ และต้องเริ่มชะลอความเร็วลงมาอยู่ในระดับไม่เกิน 100
กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งมันก็เป็นอาการเดียวกับที่คุณจะพบได้ในทั้ง March Almera และ Brio
(ส่วนใน Swift ก็มีอาการนี้เช่นเดียวกัน แต่น้อยกว่าชัดเจน)

เพียงแต่ว่า ในกรณีของ Attrage นั้น มันก็เหมือนกับ Mirage คือไม่ต้องให้มีกระแสลมมาปะทะ
ด้านข้างตัวรถมากมายนักหรอกครับ แค่ใช้ความเร็วเกินกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป คุณก็จะ
เริ่มพบว่า ช่วงล่าง มันเริ่มออกอาการน่ากลัวขึ้นกว่าเดิมแล้วละ

กระนั้น ภาดพรวมแล้ว ยังถือว่า ให้ความมั่นใจในการควบคุมรถ ได้ดีกว่า Nissan Almera อยู่
เพียงนิดเดียว เหตุผลที่ว่านั้น นอกเหนือจากระบบบังคับเลี้ยวแล้ว ยังต้องเชื่อมโยงไปยัง
ปรเด็นของระบบกันสะเทือนอีกด้วย

ระบบกันสะเทือนหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังแบบคานบิดทอร์ชันบีม เพิ่มเหล็กกันโคลง
มาให้เฉพาะด้านหน้า ยังคงทำให้ผมหวั่นใจ ในช่วงความเร็วเกินกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ดี
เพราะมันยังคงถูกเซ็ตช็อกอัพและสปริงมาให้ “นิ่ม และเน้นความสบายเพื่อการขับขี่ในเมือง” จน
มากไป แบบเดียวกับที่คุณจะพบได้ใน Mirage ไม่มีผิดเพี้ยน

การขับขี่ในช่วงความเร็วต่ำ ไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ ถึงจะหลงเหลืออาการตึงตังอยู่บ้าง แต่ก็
น้อยมาก มีพอเป็นพิธี ช็อกอัพยุบตัวค่อนข้างมาก มีจังหวะ Stroke ของช็อกอัพค่อนข้างยาวอยู่
พอสมควร เวลาขับผ่านเนินลูกระนาดต่างๆ ขึ้นอยู่กับขนาด และความแข็ง ของแนวสันลูกระนาด
เหล่านั้น  การขับผ่านหลุมบ่อต่างๆ ก็พอมีอาการตึงตังให้เห็นอยู่ ไม่ได้ถึงกับนุ่มนัก แต่ถือว่าช่วย
ดูดซับแรงสะเทือนไว้ได้ในระดับหนึ่ง ยังไม่ถึงกับดีเด่นนัก

พอขึ้นทางด่วน การขับขี่ในย่านความเร็วสูงตั้งแต่ 100 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะพบว่า ในช่วงไม่เกิน
120 กิโลเมตร/ชั่วโมง การทำงานของช่วงล่าง ถือว่าทรงตัวดีพอใช้การได้ สำหรับ ECO Car Sedan

แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณขับเกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป หรือในวันที่มีแม้เพียงกระแสลมไหลอ่อนๆ
พอให้โชยมานิดๆ หรือต่อให้เป็นแค่พื้นผิวถนนแบบลอนคลื่นนิดๆ คุณจะเริ่มสัมผัสได้ ถึงอาการ
วูบวาบ ดิ้นเล็กๆ ไปทางซ้ายๆ ขวาๆ ของตัวรถ ได้ชัดเจนขึ่น การเคลื่อนไหวในแนวด้านข้างเพิ่มขึ้น
คุณจะพบว่า ช็อกอัพ กับสปริง เริ่มแสดงความนิ่มนวล และเริ่มย้วย ออกมาให้เห็น การขับขี่บน
ทางด่วน หรือ มอเตอร์เวย์ ต้องใช้สมาธิพอสมควร การเข้าโค้ง ยาวๆ บนทางด่วนให้ปลอดภัย ขอ
แนะนำว่า ใช้ความเร็ว ไม่เกิน 85 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นโค้งประจำที่ผมชอบเล่น ทั้งช่วง
โค้งขวารูปเคียว เหนือมักกะสัน  โค้งซ้ายฝั่งตรงข้ามโรงแรมเมอเคียว (จุดนี้ อย่าเกิน 80 กิโลเมตร/
ชั่วโมง จะยังปลอดภัยอยู่ แต่เฉียดเส้นหวาดเสียวมากๆแล้ว) โค้งรูปเคียว เหนือย่านคลองเตย
ช่วง โรงเรียน พระหฤทัยคอนแวนท์ นี่ก็อย่าเกิน 85 กิโลเมตร/ชั่วโมง และถ้าในโค้งมีพื้นผิวเป็น
ลอนคลื่น ขอแนะนำว่า อย่าซ่าส์ อย่าเสี่ยง ช่วงล่างมาในแนวนิ่มแบบนี้ โอกาสดีดออกนอกโค้ง
โดยไม่ตั้งใจ เป็นไปได้สูงอยู่เหมือนกัน
 
ยิ่งถ้าสภาพอากาศ ลมพายุแรง ฝนฟ้าคะนอง เริ่มมีกระแสลมพัดมาทางด้านข้าง มากขึ้นแค่ไหน ตัวรถ
จะเริ่มออกอากาศวูบวาบ ไปทางด้านข้าง มากขึ้นชัดเจน แม้ว่าคู่แข่งคันอื่น จะมีปัญหานี้เช่นกัน แต่
บอกได้เลยว่า Attrage กับ Almera จะมีอาการจากกระแสลม เยอะไม่แพ้กันเลย

สรุปกันอย่างตรงไปตรงมาคือ ช่วงล่างแบบเดิมๆ ของ Attrage ก็เหมือน Mirage นั่นแหละ คือใช้งาน
ได้ดีสมตัว ในช่วงความเร็วต่ำกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ถ้าเร็วกว่านั้น ช่วงล่างจะเริ่มออกอาการ
นิ่มยวบยาบจนน่าเป็นห่วงมาให้เห็น และต้องใช้สมาธิในการควบคุมรถมากๆ จัดเป็นช่วงล่างเดิมๆ
ที่เป็นมิตร เฉพาะคนที่ขับรถช้าๆ ไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เท่านั้น!

ระบบห้ามล้อ เป็นแบบ ดิสก์เบรก คู่หน้า แบบมีรูระบายความร้อน ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ ดรัมเบรก
ตามมาตรฐานของรถยนต์ขนาดเล็กทั่วๆไป แต่ Mitsubishi Motors ติดตั้งระบบป้องกันล้อล็อก
ขณะเบรกกระทันหัน ABS (Anti-Lock Braking System) และระบบกระจายแรงเบรกให้สมดุล
กับน้ำหนัก บรรทุก EBD (Electronics Brake-Force Distribution) มาให้จากโรงงานแบบ
“ครบทุกรุ่นย่อย” (น้ำมันเบรก ใช้เกรด DOT 3 หรือ DOT 4 เหมือน Mirage นั่นละครับ)

การตอบสนองของแป้นเบรกนั้น ยังคงทำได้ดี เหมาะสมกับน้ำหนักของรถในภาพรวม แป้นเบรก
Linear ใช้ได้ ไม่ทื่อนัก การหน่วงความเร็ว ช่วงความเร็วต่ำ ทำได้มั่นใจดี ต้องการให้รถชะลอแค่ไหน
ก็เหยียบแป้นเบรกลงไปเพียงแค่นั้น ในภาวะการขับขี่ปกติ แป้นเบรกมีน้ำหนักค่อนข้างดี ให้สัมผัส
ที่แน่นและแม่นยำพอประมาณ แต่ระยะเหยียบอาจลึกนิดนึง ถึงจะเริ่มพบว่า ระบบห้ามล้อกำลัง
ทำงานอยู่

ขณะที่การหน่วงความเร็วสูงๆ ลงมาจนถึงเกือบหยุดนิ่งนั้น รถคันที่ผมลองขับมาแล้ว มีทั้งรถใหม่
ป้ายแดงที่ยังไม่เคยผ่านมือใครทั้งสิ้น ไปจนถึง รถทดลองขับ ที่ผ่านการใบช้งานอย่างหนักหน่วง
มาแล้ว 11,000 กิโลเมตร พบว่า ยิ่งระยะเวลาผ่านไป การปรับตั้งระยะเหยียบเบรก และการตรวจ
เช็คผ้าเบรกเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจาก การตอบสนอง แตกต่างกันชัดเจนมาก ยิ่งถ้าใช้งานแบบโหดๆ
ไม่ทะนุถนอมด้วยแล้ว การตอบสนองของเบรกจะด้อยลงจากรถยนต์คันที่สภาพดีกว่าจนเห็นได้ชัด
การเบรกกระทันหันในช่วงความเร็วสูง อาจต้องระวังอาการท้ายรถไม่นิ่งอยู่บ้าง ในบางกรณี

ด้านโครงสร้างตัวถังยังคงพัฒนาขึ้นตามแนวคิด RISE Body มาพร้อมคานกันกระแทกด้านข้าง
ที่ประตูทั้ง 4 บาน ที่เสริมความแข็งแกร่งด้วยส่วนรับแรงกระแทกจากเหล็กที่แข็งแรงเป็นพิเศษ
“High Tensile Steel”  โดยเหล็กในโซนสีแดงนั้น สามารถทนต่อแรงอัดได้สูงถึง 980 Mpa
(เมกกะปาสคาล) โซนสีน้ำเงิน รวมทั้งคานกันชนด้านหน้า ทนแรงอัดได้ 590 Mpa โซนสีเขียว
ทนแรงอัดได้ 440 Mpa และที่เหลือ จะเป็นเหล็กทั่วไปที่ต้องออกแบบให้ยุบตัวได้ง่าย ทนต่อ
แรงอัดได้ 270 Mpa จึงทำให้ปกป้องผู้โดยสาร จากการชน ได้ในระดับผ่านมาตรฐานด้านความ
ปลอดภัยสากลทั่วไป

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

หลังจากที่ผมเข็ดขยาดกับการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ Mirage ไปแล้ว เนื่องจาก
ต้องใช้เวลานานมากๆ รถ 2 คัน เติมน้ำมัน เขย่ารถ ออกไปลองขับ 2 รอบ จาก 4 ทุ่ม เลิกตี 4 ครึ่ง
จนสภาพของทั้งผม น้องต๊อบ Philozophy น้องในทีมของเรา จนถึง คุณหนุ่ม จันดารา และทีม
จาก Mitsubishi Motors เอง ก็สะบักสบอม ขอบตาแข่งกับหลินปิงไปตามๆกัน

ถึงแม้รู้ว่า ในอีก 1 ปีถัดมา ผมก็ต้องทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ Mirage ตัวถัง 4 ประตู
กันอยู่ดี ต่อให้เฝ้าประวิงเวลาไว้อย่างไร มันก็คงเหมือนอารมณ์เดียวกันกับที่คุณ รู้ตัวว่าจะต้อง
โดนเกณฑ์ทหาร ไม่อยากไปจับใบดำใบแดง แต่ท้ายที่สุด คุณก็ต้องเสี่ยงดวง จับขึ้นมา 1 ใบ
ลุ้นกันจะจะไปเลยอยู่ดี

ท้ายสุด วันนั้น ที่ผมเฝ้ารอให้ไกลห่างจากชีวิตที่สุด มันก็มาถึง และกว่าจะผ่านไปได้ ก็แทบ
หมดลมปราณกันไปทั้งผม ทั้งสักขีพยาน / ผู้ช่วยทดลอง น้องโจ๊ก V10ThLnD สมาชิกของ
The Coup Team เรานี่เอง แม้แต่ เจ้าโต้ และ เจ้าดิน น้องเด็กปั้ม ประจำ สถานีบริการน้ำมัน
Caltex ถนนพหลโยธิน เยื้องสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ก็แทบหมดสติ ตาแดงก่ำไปตามๆกัน

จริงอยู่ว่าเราเติมน้ำมันกันตามมาตรฐานปกติ สำหรับรถยนต์นั่งกลุ่ม ต่ำกว่า 2,000 ซีซี นั่นคือ
เติมน้ำมันเบนซิน Techron 95 เพียวๆ จนเต็มถัง อัดกรอกลงไป สลับกับการเขย่ารถเพื่อดัน
ให้น้ำมันไหลลงไปอยู่ในถัง และคอถังมากที่สุด ลดอากาศในถังให้เหลือน้อยที่สุด เหมือน
เช่นเคย ทั้งตอนเริ่มต้น และตอนเติมกลับ

แต่ด้วยคอถังที่มีรูปร่างแปลกๆ แถมยังมีการขยายความจุถังน้ำมันจาก 35 ลิตร เดิม ใน Mirage
มาเป็น 42 ลิตร ไม่รวมคอถัง ด้วย ทำเอาผมถึงขั้นแทบอยากเอาตีนขวาชี้ฟ้าแล้วก่ายหน้าผากกัน
เลยทีเดียว มิน่า ทำไมตอนเติมน้ำมัน ถึงขั้นปาเข้าไป 35 ลิตร ถังที่เข็มวัดน้ำมันบอกว่ายังมี
เหลืออยู่ในถัง อีก 3 ใน 4 !

เมื่อเติมน้ำมันเสร็จแล้ว เราก็เซ็ต 0 บน Trip Meter (Attrage ให้มาทั้ง Trip A และ Trip B)
เพื่อวัดระยะทาง คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ แล้ว ออกรถ จากปั้ม มุ่งหน้าไปเลี้ยวกลับ
บน ถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ทะลุไปยังซอยข้างโรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนน
พระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วนสายเชียงราก ไปลงปลายสุดทาง ที่ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ
ย้อนมาขึ้นทางด่วนสายเดิม มุ่งหน้าย้อนกลับมาทางเดิม

โดยยึดมาตรฐานเดิมที่เราใช้ในการทดลองตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อย่างเคร่งครัด คือใช้ความเร็ว
ไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า และ นั่ง 2 คน เพื่อให้การทดลอง อยู่บน
มาตรฐานเดียวกัน เหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา

เมื่อลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธินอีกครั้ง มุ่งหน้าไป
เลี้ยวกลับ บริเวณ สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ หน้าโชว์รูม เบนซ์ราชครู แล้วเลี้ยวซ้าย เข้าสถานี
บริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน Techron 95 อีกครั้ง ที่ปั้มเดิม และใช้หัวจ่ายเดิม

วิธีการเติมน้ำมัน ครั้งแรกเป็นอย่างไร ครั้งหลัง เพื่อการสรุป ก็จะต้องเหมือนกัน เราจึงต้องมานั่งขย่ม
และเขย่ารถ กันอีกคันละเกือบ 1 ชั่วโมง เพื่อให้น้ำมันถูกอัดกรอกลงไปเต็มถังกันจริงๆ โดยไม่เหลือ
พื้นที่ให้อากาศอยู่ในถัง หรือถ้ามี ก็ต้องน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ จนน้ำมันเอ่อขึ้นมาถึงคอถังแบบนี้

เมื่อเติมน้ำมันกันจนเสร็จแล้ว ก็ได้เวลามาคำนวน หาตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองของแต่ละรุ่นกันละ!

เริ่มจากรุ่น 1.2 GLS CVT กันก่อน

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 91.7 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.23 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 17.53 กิโลเมตร/ลิตร

ส่วนกรุ่น 1.2 GLX 5MT ซึ่งเป็นรุ่นเกียร์ธรรมดา เพียงรุ่นเดียวของ Attrage นั้น

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 92.1 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.09 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 18.25 กิโลเมตร/ลิตร

ถือว่ายังคงจุดเด่นของ Mirage อันแข็งแกร่ง ในเรื่องความประหยัดน้ำมันได้อย่างเยี่ยมยอดมากๆ!

ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งด้วยแล้ว จะเห็นภาพชัดเจนเลยว่าถึง Mirage จะยังครองแชมป์
รถยนตื ประหยัดน้ำมันที่สุดในกลุ่ม ECO Car แต่ Attrage ก็ยังจะคว้าแชมป์ ในฐานะ
รถยนต์ที่ประหยัดสุดในกลุ่ม ECO Car Sedan กันตามคาด

แล้วถ้าจะถามว่า น้ำมัน 1 ถัง แล่นไปได้ไกล แค่ไหน มันขึ้นอยู่กันิสัยการเหยียบคันเร่ง
ของคุณชัดเจนครับ การเพิ่มขนาดถังน้ำมันเป็น 42 ลิตร รวมกับคอถังที่ยาวบ้าบอคอแตก
มันทำให้ Mirage ทั้ง 2 ระบบส่งกำลัง แล่นได้ไกลถึง ราวๆ 600 – 720 กิโลเมตร กว่าที่
น้ำมันจะหมดถัง หรือขึ้นไฟเตือน ซึ่งถือว่า ทำได้ดีที่สุดในกลุ่ม และดีกว่า Mirage
ซึ่งมีถังน้ำมันเล็กกว่า (35 ลิตร) เสียด้วยซ้ำ!

********** สรุป **********
ไปปรับเซ็ตพวงมาลัย และช็อกอัพกับสปริงชุดใหม่ให้ดีกว่านี้ แค่นั้นพอ!

ถึงแม้ว่าโดยปกติแล้ว ผมมักใช้เวลาค่อนข้างนาน ในการเตรียมบทความรีวิวรถยนต์สักรุ่น แบบที่
คุณผู้อ่านแฟนประจำ (ซึ่งมักอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ และไม่ได้เลื่อนจากหัวบทความ เพื่อลงมาอ่าน
ช่วงสรุป ตั้งแต่แรก เช่นที่หลายคนกำลังทำอยู่ตอนนี้ หึหึหึ) มักทราบดี

แต่สำหรับบทความ รีวิว Attrage ที่คุณอ่านอยู่นี้ ต้องขอยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบาน ว่าผมใช้เวลา
เตรียมงาน สั้นกว่าปกติ เขียนเนื้อหาขึ้นมาใหม่น้อยกว่าที่ตั้งใจไว้ เลยเสร็จสิ้นได้ในเวลาสั้นมากๆ

แทบจะยกบทความ Full Review ของ Mirage มา Copy and Paste ตัดแล้วปะ กันได้เลยทีเดียว!

เปล่านะ ไม่ได้ขี้เกียจ แค่เป็นคน ขี้ตรงเวลา ขี้รับอรุณ ขี้ภาคเที่ยง และ “บ่ายนี้ขี้เป็นไฟ” เท่านั้น!
(ยืมสำนวน ตาแพน Commander CHENG เค้ามาดื้อๆแบบนี้แหละ อิอิ )

แหงสิครับ ก็ Attrage มันคือ Mirage ในตัวถัง Sedan 4 ประตู ดังนั้น ในเมื่อ อะไหล่ตัวถัง โครงสร้าง
เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง ช่วงล่าง มันแทบจะยกจาก Mirage มาทั้งยวง ดังนั้น บุคลิกการขับขี่ จึง
แทบหาความแตกต่างกันได้ยาก พอกันกับ แยกความแตกต่าง ระหว่าง ฝาแฝดสักคู่ หรือไข่ไก่ 2 ใบ!

ว่ากันตามตรง Attrage มีคุณสมบัติพื้นฐานของการเป็นรถยนต์ที่ดี นั่นคือ พาคุณจากจุด A ไปถึงจุด B
ได้อย่างสบาย สมแก่ฐานานุรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพการจราจร ของกรุงเทพมหานครอันแสน
จลาจล มีจุดเด่นอยู่ทีห้องโดยสาร ซึ่งแม้จะเป็นการขยายด้านหลังรถออกไปให้ยาวกว่า Mirage แต่
ทีมวิศวกรของ Mitsubishi Motors ก็พยายามที่จะจัดสรรพื้นที่เบาะนั่งด้านหลัง ให้สบายเพียงพอ
สำหรับทุกๆคน แม้ Leg Room หรือพื้นที่วางขาด้านหลังจะสั้นกว่า คู่แข่งอย่าง Nissan Almera
แต่ก็แค่นิดเดียว แถมยังยาวกว่ารถยนต์นั่ง B-Segment หรือ C-Segment หลายๆคันด้วยซ้ำ อีกทั้ง
พื้นที่เหนือศีรษะ ยังเอื้อต่อผู้สูงสรีระร่างมากกว่าที่ชาวบ้านเขาจะให้คุณได้

ไม่เพียงเท่านั้น Attrage ยังคงถ่ายทอดบุคลิกด้านดี ของ Mirage มาครบทุกกระเบียดนิ้ว ไม่ว่าจะเป็น
ความคล่องตัวเพื่อการขับขี่ในเมือง พวงมาลัยน้ำหนักเบาหวิวในความเร็วต่ำ พาคุณลัดเลาะซอกแซก
ซอกซอน เข้าขจัดคราบฝังลึก…เฮ้ย! ไม่ใช่! ไปตามตรอกซอยต่างๆ อย่างไม่หวั่นแม้วัน(รถ)มามากๆ
อัตราเร่งจากเครื่องยนต์ 3 สูบ 1.2 ลิตร ที่มีชีวิตชีวา ในระดับของมัน คือประหยัดแบบ ECO Car แต่
แรงเท่ารถยนต์ เครื่อง 1,500 ซีซี (ย้ำว่า เมื่อทำงานร่วมกับเกียร์ธรรมดา เท่านั้น)  อีกทั้งการขับขี่ก็ยัง
สะดวก ใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งมาชนิดเน้นความคุ้มค่าแน่นคันรถ ได้อย่างง่ายดาย แบบ User
Friendly

พูดกันแบบตรงไปตรงมา Attrage มันน่าใช้ น่าเป็นเจ้าของมากกว่า Mirage เสียด้วยซ้ำ แน่ละครับ
ถ้าในเมื่อค่าตัว ไม่ได้แพงต่างกันมากมายหลายหมื่นบาท สิ่งที่คุณจะได้เพิ่มเข้ามา ทั้งพื้นที่หลังรถ
ที่ยาวขึ้น นั่งสบายขึ้น การประกอบที่ดีขึ้น (เพราะช่างประกอบรถ ที่ โรงงานแห่งใหม่ของพวกเขา
ฝีมือเริ่มนิ่งขึ้นแล้ว) และอุปกรณ์พื้นฐาน ที่ให้มาครบ เพียงพอ (ไม่ใช่แค่พอเพียง) ตั้งแต่รุ่นถูกสุด
มันคุ้มค่ากว่าเพื่อนพ้องพิกัดเดียวกันอยู่ไม่ใช่เล่น

ฟังดูเหมือนว่า มีแต่ข้อดี แต่อันที่จริงแล้ว Attrage ยังมีข้อที่ควรปรับปรุงอยู่มาก ไม่น้อยหน้าคู่แข่ง
คันอื่นเขาเลยเช่นกัน!

ประเด็นที่ Mitsubishi Motors ควรจะนำไปปรับปรุง Attrage อย่างยิ่ง ในรุ่นปรับโฉม Minorchange
เพื่อให้ตัวรถมีความสมบูรณ์มากขึ้น มี 3 ข้อหลักๆ ดังนี้

1. ช็อกอัพและสปริง นิ่มเกินไปสำหรับการใช้งานของลูกค้าชาวไทย

อย่าลืมว่า คนไทย ที่ซื้อรถยนต์คันแรกในชีวิต เขามักคาดหวังสิ่งที่ตนจะต้องได้รับจากรถยนต์ที่ซื้อมา
สูงมากครับ มันจะต้องใช้งานในเมืองได้ดี คล่องตัว แต่ถ้าจะขับออกต่างจังหวัดไปเที่ยวพักผ่อน แม้
จะเป็นเพียงแค่ ปีละครั้ง หรือ 2 ครั้ง แต่พวกเขา ก็มักขับรถด้วยความเร็วสูงราวๆ 120 – 140 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ดังนั้น ช่วงล่าง ก็จะต้องหนึบแน่นพอ จนสร้างความไว้ใจในการขับขี่ ไม่ใช่นิ่ม แอบย้วย และ
มีอาการดิ้นออกทางด้านข้าง ขณะเข้าโค้งยาวๆ หรือแม้แต่การขับขี่ ทางตรง บนถนนเป็นลอนคลื่น
อย่างที่ Attrage เป็นอยู่ ต่อให้จะเถียงว่า ดีกว่า Almera แต่บอกเลย ว่า Brio AMAZE ยังมีอาการนี้
น้อยกว่านะ!

ถ้าถามว่า เซ็ตช่วงล่างสำหรับรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ควรเซ็ตแบบไหน ถึงจะเหมาะกับคนไทย?

ผมขอแนะนำง่ายๆว่า รถยนต์ Benchmark ที่ควรจะนำมาศึกษาเพิ่มเติมนั้น ไปดู Honda City ,
Toyota Vios (เฉพาะรุ่น 1.5 G หรือ E เท่านั้น อย่าเอารุ่น S มาเชียวละ!) และ Chevrolet Sonic
เอาแค่ 3 คันนี้ ก็น่าจะเห็นไอเดียเพิ่มเติมได้แล้ว

2. การตอบสนองของพวงมาลัย ต้องเป็นธรรมชาติกว่านี้ On center Feeling ต้องนิ่ง และมั่นคงกว่านี้
ขณะเดียวกัน พวงมาลัยก็ต้อง มีระยะฟรีที่เหมาะสม เลี้ยวแล้วเฉียบคมกำลังดี อยากให้ใช้พวงมาลัย
ของ Toyota Vios รุ่นแรก ปี 2002 หรือ Chevrolt Sonic รุ่นปัจจุบัน เป็น Benchmark

3.เข็มขัดนิรภัยแบบปรับระดับสูง – ต่ำ ได้หนะ ช่วยใส่มาให้ด้วย ทั้ง Attrage และ Mirage นั่นแหละ
มันเป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน ที่ควรติดตั้งมาให้ในรถยนต์ทุกคันที่ขายได้แล้ว อย่าคิดจะ
ตัดออพชันนี้ออกไปเลยทีเดียว

4. การปรับสูง – ต่ำของเบาะรองนั่ง ไม่ใช่แค่การปรับมุมองศาเงยของตัวเบาะ แต่มันคือ ระดับสูง-ต่ำ
ของเบาะทั้งชิ้น ดังนั้น การใช้ก้านโยก ช่วยปรับระดับ น่าจะทำให้สะดวกต่อการใช้งานมากกว่า

5. ปรับเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนารถยนต์ แทนที่จะวัดและประเมินรถยนต์ เทียบแค่คู่แข่ง
ในพิกัดเดียวกันอย่างเดียวเหมือนเช่นที่ผ่านมา ผมอยากให้ลองปรับแนวทาง ไปนำรถยนต์
รุ่นสูงกว่า เช่นพวก C-Segment มาเปรียบเทียบกันด้วย

ถ้าอยากขายดี ก็ต้องทำรถยนต์ ออกมาให้ดีกว่าคนอื่น ชนิด ฉีกแซงชาวบ้านเขาไปทั้งหมด
ถ้ามัวแต่ ทำรถยนต์ให้ออกมาดีกว่าคู่แข่ง แค่เพียงด้านละนิด ด้านละหน่อย สุดท้าย ลูกค้าที่
ไม่เห็นความแตกต่าง ก็จะพากันเฮละโล ไปหาคู่แข่งที่มี ศูนย์บริการมากกว่า และบริการดีกว่า

6. บริการหลังการขาย

นี่คือสิ่งที่ผมยังคงต้องบ่นถึง Mitsubishi Motors กันอยู่เรื่อยๆ แม้ว่า จะมีศูนย์บริการในเขต
ต่างจังหวัด ที่บริการดี น่ารักๆ หลายๆแห่ง แต่ในกรุงเทพมหานคร อันเป็นฐานสำคัญ กลับ
มีศูนย์บริการที่ไว้ใจได้ บริการดีจริงๆ ลูกค้าชื่นชอบ เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น นับได้ไม่เกิน
1 ฝ่ามือข้างเดียว

ล่าสุด ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ การดูแลลูกค้า ของตัวแทนจำหน่ายแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ
ตามที่เราได้นำเสนอไปแล้วในข่าว PR News (กรุณาเปิดค้นหากันต่อเอาเอง) นั้น ก็ยัง
ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้า Mitsubishi Motors ทางภาคเหนือกันเยอะอยู่

ดังนั้น ปัญหาด้านบริการหลังการขาย จึงยังต้องเป็นประเด็นสำคัญ ที่ผมอยากเห็นทาง
Mitsubishi Motors แก้ไขอย่างเร่งด่วน กันต่อไป เพื่อให้ลูกค้าเก่าสบายใจ และลูกค้าใหม่
มั่นใจที่จะเซ็นใบจองได้มากขึ้น

เอาน่า ยังไม่ถึงขั้นเลวร้ายเท่ารถยนต์บางยี่ห้อหรอก!

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คุณอยากจะมองหาทางเลือกอื่น เพื่อเปรียบเทียบกัน นอกเหนือจาก Attrage
ยังมี คู่แข่ง รุ่นใดอีกบ้างไหม?

คงนต้องแบ่งแยกเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก คือ B-Segment ECO Car Sedan เครื่องยนต์ เบนซิน พิกัด 1,200 ซีซี

แน่นอนว่า Nissan ALMERA คือ ผู้ท้าชิงรายสำคัญที่สุด การมมีตัวถังยาวกว่าชาวบ้าน ทำให้พื้นที่ภายใน
ห้องโดยสาร ยาวจนมีพื้นที่วางขาที่มากสุดในกลุ่ม แถมยังมีห้องเก็บของด้านหลังใหญ่กว่า เป็น 490 ลิตร
และมีห้องโดยสารที่ดูหรู แต่อย่าหวังว่าการขับขี่จะดีนักเพราะแม้เครื่องยนต์ เรี่ยวแรงพอได้ แต่ อัตราเร่ง
ก็อืดพอกับ Attrage นั่นละ แถมการทรงตัว และการตอบสนองของพวงมาลัย ก็ไม่ได้ดีไปกว่า Attrage เลย
เน้นโดยสาร และวิ่งทางตรงในเมืองเป็นหลัก

ไม่เช่นนั้น ก็คงต้องหันไปดู Honda Brio AMAZE ที่มีตัวถังสั้นกว่าชาวบ้าน แต่พื้นที่วางขาด้านหลัง
ยาวไม่น้อยหน้า Attrage กับ Almera อย่างที่คิด! มีดีอยู่ตรงที่ ขับสนุกกว่าทั้ง 2 รุ่น แถมเพิ่งมีทางเลือก
ห้องโดยสารสีดำมาให้ แต่ต้องทำใจว่าความเร็วสงสุด ล็อกไว้แค่ 140 – 145 กิโลเมตร/ชั่วโมง เท่านั้น
และช่วงล่างกับพวงมาลัย ก็ดีขึ้นกว่า ทั้ง Attrage และ Almera นิดหน่อย ไม่ถึงกับมากนัก

แต่ถ้าไม่รีบร้อน อาจจะรอไปถึงปี 2015 ก็ได้ เพราะ Suzuki YL1 Sedan จะเปิดตัวออกสู่ตลาดเมืองไทย
พวกเขาหมายมั่นปั้นมือว่าจะออกมา ฆ่า ECO Car Sedan ทุกคันในตลาด ด้วยการออกแบบที่ หรู และ
ใช้วัสดุคุณภาพดี เกินราคา เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ Swift ช่วงปี 2012 ส่วนขุมพลัง ก็เดาได้
ว่า เป็นเครื่องยนต์ เบนซิน 1,200 ซีซี แน่นอน กำหนดเปิดตัว น่าจะเกิดขึ้นได้ช่วง ไตรมาสแรก ปี 2015

อีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือ B-Segment Sedan เครื่องยนต์ พิกัด 1,500 ซีซี ทั้ง Toyota Vios, Honda City ,
Mazda 2 Ford Fiesta 1.4 ลิตร และ Chevrolet Sonic 1.4 ลิตร ซึ่งถ้าพูดกันแค่สมรรถนะแล้ว รถยนต์ใน
กลุ่มนี้ ก็กินขาด Attrage ไปเกือบทุกรุ่น แบบไม่มีข้อสงสัย (ยกเว้นกลุ่ม 1.4 ลิตร) แต่ความสบายในการ
โดยสาร บนเบาะหลัง ของ Mazda 2 Sedan กับ Ford Fiesta Sedan ก็ด้อยกว่า Attrage ชัดเจน อุปกรณ์
บางรายการ Attrage ก็ให้มาคุ้มราคาพอสมควร มันอาจไม่มีระบบอีเล็กโทรนิคส์บ้าบอพิสดาร แต่การ
ขับขี่ไป-กลับ บ้าน-ที่ทำงาน และเน้นคลานไปตามสภาพการจราจรในเมือง รถทุกคันในพิกัดนี้ ต่าง
ตอบโจทย์คุณได้ทั้งสิ้น แค่เพียง ต้องถามใจตัวเองดีๆ ว่า ออกต่างจังหวัดบ่อยหรือไม่ และคำนึงถึง
อัตราเร่งแซงเป็นเรื่องสำคัญหรือเปล่า ถ้าคำตอบของคุณคือใช่ และงบประมาณไม่ได้เยอะนักละก็
ดู B-Segment 1,500 ซีซี รุ่นถูกๆ อย่าง Toyota Vios 1.5 E และ Honda City 1.5 S หรือ 1.5 V
น่าจะเป็นคำตอบที่ลงตัวกับคุณมากกว่า

สรุปง่ายๆ

– ถ้าจะเลือก ห้องโดยสารยาวใหญ่ และแอบหรูกว่านิดนึง แต่ต้องทำใจกับ Headroom ด้านหลัง และ
สมรรถนะจากพวงมาลัยกับช่วงล่างในภาพรวม ที่ด้อยกว่า Attrage อยู่สักหน่อย ไปหา Nissan Almera

– ถ้าจะเลือก รถยนต์ที่มีพื้นฐานขับขี่สนุก แต่งบไม่มากนัก ทำใจยอมรับได้กับบั้นท้ายที่สั้นกุด แต่
มุดลัดเลาะในเมืองได้คล่องแคล่วสุดๆ และมีภายในที่ไม่เลวร้ายอย่างที่คิด ไปหา Brio AMAZE

– ถ้าจะเลือก ความคุ้มค่า จากอุปกรณ์ที่ให้มา เทียบกับราคา และแคมเปญ เน้นความประหยัด ไม่อัตคัต
พื้นที่ใช้สอย เร่งแซงไม่ต้องคอย (เฉพาะเกียร์ธรรมดา) แต่ยอมรับได้กับช่วงล่างนิ่มๆ ไปหา Attrage

– แต่ถ้าอยากได้อัตราเร่งสมใจ แซงสิบล้อง่ายดาย ภายในนั่งสบาย ขับทางไกลและในเมืองด้วย ไปหา
รถยนต์ B-Segment Sedan 1,400 – 1,600 ซีซี เถอะ!

แล้วถ้าตัดสินใจเลือก Attrage แน่นอนแล้วละ? ควรเลือกรุ่นย่อยไหนดี?

รุ่น GLX เกียร์ธรรมดา ราคา 443,000 บาท และ GLX เกียร์อัตโนมัติ CVT ราคา 477,000 บาท
เป็นรุ่นย่อยที่ผมมองว่า เพียงพอต่อการใช้งาน มากกว่ารุ่นราคาถูกของคู่แข่งหลายคัน เพราะให้ข้าวของ
ที่จำเป็นมาเกือบครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น

– กระจกมองข้างปรับและพับด้วยไฟฟ้า
– กระจกไฟฟ้าพร้อมระบบปรับขึ้นลงอัตโนมัตและระบบ Safety  (ด้านคนขับ)
– กุญแจรีโมท
– ที่พักแขนเบาะนั่งด้านหลังพร้อมที่วางแก้ว
– วิทยุ-เครื่องเล่นซีดี เอ็มพี 3 พร้อมช่อง AUX-in และ ช่อง USB สำหรับอุปกรณ์ต่อพ่วง
– มาตรวัดแบบ Combination meter พร้อมไฟ ECO และจอ Multi Information Display
– พรมปูพื้น
– ถุงลมนิรภัยด้านคนขับ (ไหนๆก็ไหนๆ ทำไมไม่ติดตั้งมาให้ครบเป็น 2 ใบไปเลย อย่ากลัวต้นทุนแพง)
– ABS/EBD  และเหล็กกันโครงหน้า

ส่วนรุ่น GLS เกียร์อัตโนมัติ CVT ราคา 530,000 บาท จะเพิ่ม อุปกรณ์ หรูหราขึ้นมาให้อีกเล็กน้อย
มีทั้งอุปกรณ์จำเป็น และไม่ต้องมีก็ได้ ปะปนกันมาให้ ดังนั้นถ้าคุณไม่ได้ต้องการรุ่นท็อป แต่อยาก
ได้รถยนต์ที่มีอุปกรณ์ครบๆ พอสมควร และไม่ได้สนใจระบบนำทาง หรือข้าวของ Gadget เช่น
ที่จะพบได้ในรุ่น GLS Ltd. นี่คือรุ่นย่อยที่เหมาะสมกับความต้องการของคุณ และเป็นรุ่นที่คุ้มค่า
พอประมาณเลยทีเดียว เพราะอุปกรณ์ที่เพิ่มจากรุ่น GLX มีดังนี้

– ไฟตัดหมอกหน้า พร้อมตกแต่งแบบโครเมียม
– ล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว 185/55R15
– กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยวแบบ LED
– มือจับประตูด้านในแบบโครเมียม
– แผงบังแดดหน้าแบบมีกระจกแต่งหน้าพร้อมฝาปิด  (ด้านคนขับและผู้โดยสารตอนหน้า)
– เครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ
– กุญแจอัจฉริยะ KOS พร้อมระบบกุญแจป้องกันการโจรกรรม Immobilizer
– ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์
– ถุงลมนิรภัยคู่หน้า

ส่วนรุ่นท็อป GLS Ltd. เกียร์อัตโนมัติ CVT ราคา 582,000 บาท ผมว่า แพงไปสักหน่อย ราคานี่
เทียบเท่า รุ่นล่างๆ ของบรรดา B-Segment 1,500 ซีซี ทั้ง Vios City Mazda 2 Fiesta และ
Sonic 1.4 ลิตร กันแล้ว เพียงแต่ สิ่งที่คุณจะได้เพิ่มเข้ามา เป็นแค่อุปกรณ์ไฮเทคกว่าชาวบ้าน ซึ่ง
ไม่ค่อยจำเป็นเท่าใดนัก รายการข้าวของที่เพิ่มเข้ามา มีดังนี้

– เบาะหนังสีเบจ
– พวงมาลัยหุ้มหนัง พร้อมการตกแต่งสีเงิน สไตล์ “Silver Decoration”
– กล้องมองหลัง
– สวิชต์ควบคุมเครื่องเสียงบนพวงมาลัย    
– ระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System
– ระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์แบบไร้สาย Bluetooth
– วิทยุ-เครื่องเล่น DVD / CD / MP3  พร้อมจอภาพ Touch Screen 6.5 นิ้ว และช่อง USB

และถ้าคุณอยากได้สีขาวมุก ไวท์เพิร์ล (White Pearl) W54 ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 6,000 บาท เป็น
ค่าใช้จ่ายในการพ่นสีด้วยกรรมวิธีพิเศษกว่าสีตัวถังมาตรฐานทั่วไป ซึ่งต้องใช้เวลาในการพ่นและอบสีให้
แห้ง นานกว่าปกติ ซึ่งก็เหมือนกับผู้ผลิตรถยนต์แทบทุกค่าย ที่จำเป็นต้องคิดเงินกับลูกค้าเพิ่มกับลูกค้า
ที่อยากได้สีขาวมุกในลักษณะนี้

ไม่เช่นนั้น ก็ต้องเลือกสีตัวถังมาตรฐาน ทั้ง สีเงิน Cool Siver Metallic (A66) สีเทาดำ Elsen
Gray Mica (A02) สีดำ Pyrness Black (X08) สีแดง Red Mettalic (P19) และสีฟ้า Cerulean
Blue Mica (T69) อันเป็นสีโปรโมท กันไป….แต่…เอ๊ะ!….สีหลังสุดนี่..ชื่อคุ้นๆเนาะ…..

ดังนั้น รุ่นที่ผมคิดว่า น่าเลือกใช้ที่สุด คือ GLX เกียร์ธรรมดา และ CVT เป็น 2 รุ่นย่อยที่ติดตั้งอุปกรณ์
มาให้ครบถ้วนอย่างเหมาะสม ขาดแค่ล้ออัลลอย ถุงลมนิรภัยฝั่งผู้โดยสาร และเข็มขัดนิรภัยคู่หน้า
แบบปรับระดับสูง-ต่ำ ได้ นอกนั้น มาครบ เท่าที่คุณควรจะได้รับจากการซื้อรถยนต์ขนาดเล็กสักคัน

เพราะเพียงเท่านี้ คุณก็น่าจะได้รับความคุ้มค่าจากรถยนต์คันนี้ สมดังตั้งใจกันแล้ว แต่จะยิ่งดีกว่านี้อีก
ถ้าเปลี่ยนช็อกอัพทั้ง 4 ต้น ให้หนืดขึ้นกว่านี้ และมั่นใจยิ่งกว่านี้ เพราะนั่นละ คือข้อเสียสำคัญ เพียง
1 ในไม่กี่ข้อ ของ Attrage ที่คุณเอง ก็สามารถแก้ไขได้ โดยไม่ต้องรอ รุ่นปรับโฉม Minorchange ให้
เสียเวลา!

อย่างว่าละครับ ค่ายนี้ กว่าจะขยับตัวได้ที นานจนหลับไปแล้วหลายรอบ ก็ยังเหมือนเดิม!

————————-///————————-

ขอขอบคุณ

ฝ่ายประชาสัมพันธ์   
บริษัท Mitsubishi Motors (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ และการประสานงานในด้านต่างๆ อย่างดียิ่ง 

บทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม
ทดลองขับ Mitsubishi MIRAGE (Full Review)
รวมบทความทดลองขับ รถยนต์กลุ่ม B-Segment 1.2 ลิตร ECO Car
—————————————

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน 
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
15 ตุลาคม 2013

Copyright (c) 2013 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
October 15th,2013 

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!