โทรศัพท์มือถือเครื่องเก่า อายุ 4 ปี ดังขึ่นในช่วงสายวันทำงานวันหนึ่ง ชื่อของคนที่โทรเข้ามา ชวนให้คิดไปว่า
น่าจะมีเรื่องราวอะไรสักอย่างเกี่ยวกับ Subaru ซึ่งที่ผ่านมา เรื่องที่เราพูดคุยกัน มันจะมีอยู่แค่ 3 ข้อ เป็นไปได้
ทั้งการชวนให้รับรถรุ่นใหม่ไปขับ แจ้งโปรโมชันใหม่ หรือ เรื่องราวอื่นใดอีกมากมายในแง่ความเคลื่อนไหว
ของวงการรถยนต์บ้านเรา…

แล้วก็จริงเสียด้วย…..ข้อแรกสุดเลยนั่นแหละ!

เป็นเวลา เกินกว่า 1 ปีมาหลายเดือนแล้ว นับตั้งแต่ครั้งหลังสุด ที่ผมได้สัมผัสยานยนต์ยี่ห้อดาวลูกไก่ จากผู้ผลิต
อากาศยาน สัญชาติญี่ปุ่นที่ชื่อ Fuji Heavy Industries ครั้งนั้น ผมยังจำได้ดีว่า Legacy Wagon 2.0i แม้จะทำให้ผม
ต้องเสียดายในบุคลิกความปราดเปรียวที่ Legacy รุ่นก่อนหน้านี้ แต่ก็แอบสร้างความประหลาดใจให้เรางุนงงกัน
โดยเฉพาะในเรื่องของอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ที่แสดงให้เราอึ้งกันไปเลยว่า เครื่องยนต์สูบนอน Boxer รหัสรุ่น
EJ20 แบบบ้านๆ เดิมๆ ที่ประจำการมานานหลายสิบปีของ Subaru เนี่ยแหละ แค่ใส่เกียร์ CVT ลูกใหม่เข้าไป
ความประหยัดก็พุ่งพรวดพราดจนชวนให้พวกเราอึ้งกันไปเลยมาแล้ว

ด้วยภาพลักษณ์ของการเป็นรถยนต์ เพื่อคุณลุงคุณป้าใจดี ที่อยากพักผ่อนหลังเกษียร ด้วยการขับรถใหญ่ ที่ปลอดภัย
และมั่นใจได้ เดินทางท่องเที่ยวตามต่างจังหวัดกันสองคน ตามประสา สองตายาย ทำให้วันนั้น เราตั้งชื่อให้ Legacy
Wagon 2.0i ว่า “ป้าอ้วน”

วันนั้น ผมทิ้งท้ายรีวิวเอาไว้ว่า ถ้าเป็นไปได้ อยากเห็นขุมพลังขนาด 2.5 ลิตร มาวางลงในใต้ฝากระโปรงของ Legacy
เวอร์ชันไทยกันเสียที ยิ่งถ้าเป็นเครื่อง Turbo ในรุ่น 2.5 GT นั่นน่าจะยิ่งกระตุ้นต่อมอยากลองของผม ให้เกิดกิเลส
ไปมากกว่านี้…

วันนี้ ป้าอ้วนใจดี กลับมาเจอกับเราอีกครั้ง แถมยังเป็นเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ตามที่ผมอยากจะเห็นเสียด้วย เพียงแต่ว่า
น่าเสียดายที่ ป้าอ้วนของเรา ไม่ได้พก Turbo มาด้วย แถมยังเป็นระบบ SOHC ด้วยเถอะ กะว่าเน้นความประหยัดกัน
เต็มที่ และต้องพอมีแรงบิดให้เรียกใช้สอยได้ พอประมาณ กระนั้น ป้าอ้วน ก็มามาดทะมัดทะแมงขึ้น แต่งตัวด้วยหมวก
ปีกกว้าง เสื้อเชื้ตลายสก็อต ซ้อนทับเสื้อยืดสีขาวที่สวมอยู่ข้างใน ใส่กางเกงขาสั้น Camel Trophy สวมรองเท้าของ
Timberland พร้อมปืนยาวข้างกาย

หืม! ปืนยาวข้างกาย? หมายความว่าอย่างไรกัน?

ก็หมายความว่า ป้าอ้วนของเรา เขากระฉับกระเฉงมากขึ้น อาจจะไม่ถึงขั้นแข่งยิงปืนยาวคว้าเหรียญทองทีมชาติ
แต่ก็ไวพอจะยิงปืนใส่พวกแมวขโมย ที่จ้องเข้ามาตระครุบเหยื่ออันโอชะ ในอาณาบริเวณบ้านไร่ของนายพราน
ผู้เป็นสามีของคุณป้าเขาหนะสิ….

ที่สำคัญ ป้าอ้วน ยังคงความประหยัด มัธยัสถ์ ให้เราได้ประหลาดใจกันอีกเหมือนเช่นเคย!

รอช้าอยู่ใย ผมจะพาคุณผุ้อ่าน ไปรู้จักกับ อีกมุมหนึ่งของชีวิตป้าอ้วน กัน…

ป้าอ้วน เวอร์ชันยกสูง ที่ใช้ชื่อว่า Outback!

Subaru เริ่มต้นเปิดตัว Outback รุ่นแรก เมื่อปี 1994 ด้วยเหตุผลที่ว่า ช่วงต้นทศวรรษ 1990 นั้น กระแสความต้องการ
รถยนต์ เพื่อการพักผ่อนจำพวก RV (Recreation Vehicles) ของชาวญี่ปุ่น หรือ SUV (Sport-Utility Vehicles) ที่คน
ทั่วโลกรู้จัก เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ Subaru ยังไม่พร้อมที่จะทำรถยนต์ประเภทนี้ออกขายในช่วงเวลานั้น
พอเข้าใจได้อยู่ว่า การลงทุนจะทำรถยนต์สักรุ่นนั้น ต้องใช้งบหลายร้อยพันล้านบาท และถ้าพลาดพลั้งขึ้นมา อาจ
หมายถึงหายนะของบริษัทรถยนต์รายนั้นเลยก็ได้

Subaru จึงเลือกทำอะไรพิเรนทร์ๆ ด้วยการนำรถยนต์นั่งขนาดกลาง Legacy Touring Wagon เจเนอเรชันที่ 2 มายก
ให้สูงขึ้นจากเดิม 15 มิลลิเมตร เป็น 200 มิลลิเมตร วางเครื่องยนต์ EJ25 บล็อก 4 สูบนอน BOXER 2.5 ลิตร แล้วส่ง
ไปขึ้นสายการผลิต ณ โรงงาน SIA (Subaru Of Indiana) ในเมือง Lafayette มลรัฐ Indiana ขายในสหรัฐอเมริกา เพื่อ
เปิดตัวในงาน New York Auto Show เดือนเมษายน 1994 ในชื่อ Subaru Outback ก่อนจะออกสู่ตลาดญี่ปุ่นในเดือน
สิงหาคมปีเดียวกัน ด้วยชื่อ Subaru Legacy Grand Wagon

ถึงจะเป็นแนวคิดพิลึกพิลั่น แต่ชาวอเมริกันชอบม๊ากกกกกกกก ผลก็คือ Outback ขายดิบขายดีในตลาดอเมริกาเหนือ
จนทำให้ Subaru ตัดสินใจให้ Legacy ทุกรุ่นนับแต่นั้นเป็นต้นมา ต้องมีเวอร์ชัน Wagon ยกสูง ตามออกมาด้วย ถึงจะ
ใช้ชื่อในการทำตลาด แต่ละทวีปแตกต่างกันก็ตามเถอะ เดือนกันยายน 1997 เจเนอเรชันที่ 3 คลอดออกมา โดยในญี่ปุ่น
ใช้ชื่อใหม่ Subaru Legacy Lancaster อย่างไรก็ตาม ตลาดอเมริกาเหนือ ก็จะยังคงใช้ชื่อ Outback ตามเดิมต่อไป แถม
ยังบ้าหนักขนาดว่า มี Legacy Sedan เวอร์ชันยกสูงออกมา เรียกว่า Subaru Outback SUS (Sport Utility Sedan) ไว้
ทำตลาดเฉพาะในอเมริกาเหนือเท่านั้นอีกด้วย โรคคลั่ง SUV ของชาวอเมริกัน ก็ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับ Outback รุ่นล่าสุดที่เห็นอยู่นี้ เปิดตัวครั้งแรกในงาน New York Auto Show เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2009 และ
เป็นรุ่นแรกที่ Subaru ตัดสินใจ ทำตลาดทั่วโลกในชื่อ Outback เหมือนกันทั้งหมด และรถรุ่นนี้ ก็เริ่มถูกนำมาเปิดตัว
ครั้งแรกในเมืองไทย เมื่องาน Motor Expo 2010 ปลายปีที่ผ่านมานี้เอง!! มากันแบบเงียบเชียบ จนผมเองก็ยังไม่รู้เลย
มารู้ตัวอีกที ว่ารถคันนี้เปิดตัวแล้ว ก็ต้องไปเดินในงานดังกล่าว กันอีกรอบนั่นแหละ ถึงได้รุ้ว่า Outback ใหม่ มาถึงแล้ว

ในเมื่อ Outback ใช้ตัวถังร่วมกับ Legacy Wagon ใหม่ รุ่นป้าอ้วน ดังนั้น ขนาดตัวถังในภาพรวม จึงไม่ได้แตกต่างกัน
มากนัก คงความยาวไว้ที่ระดับ 4,775 มิลลิเมตร เท่ากับรถรุ่น Wagon แต่ลดลงจาก Outback เดิม 20 มิลลิเมตร ขณะที่
เพิ่มความกว้างจาก Outback รุ่นก่อนขึ้นไปอีก 50 มิลลิเมตร กลายเป็น 1,780 มิลลิเมตร เพิ่มความสูงจากรุ่น Wagon
ที่ระดับ 1,535 มิลลิเมตร เป็น 1,605 มิลลิเมตร (สูงขึ้นจาก Outback รุ่นเดิม 105 มิลลิเมตร) ระยะฐานล้อยาว 2,745
มิลลิเมตร เพิ่มขึ้นจากเดิม 70 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นดินจนถึงพื้นใต้ท้องรถ หรือ Ground Clearance เพิ่มขึ้น
จากเดิม 200 มิลลิเมตร มาอยู่ที่ 220 มิลลิเมตร ให้สะดวกต่อการขับคร่อมไปบนเส้นทางลูกรัง หรือทุระกันดานมากขึ้น
กว่าเดิมอีกเล็กน้อย แถมระยะห่างจากล้อหน้า ไปถึงมุมล่างสุดของกันชนหน้า (Front Overhang) และระยะห่างจาก
ล้อหลัง จนถึงมุมล่างของกันชนหลัง (Rear Overhang) ถูกปรับให้สั้นลง 90 มิลลิเมตร

ให้พูดกันตรงๆ การตัดสินใจจ่ายเงินเพิ่มขึ้น ประมาณ 5 แสนบาท จากรุ่น Wagon 2.0i นั้น หากไม่นับรวมเครื่องยนต์
ที่มีความจุกระบอกสูบใหญ่ขึ้นแล้ว สิ่งที่คุณจะได้รับเพิ่มเติม ก็คือ กระจังหน้าลายเฉพาะของรุ่น ซึ่งดูแล้ว ออกจะเป็น
แนว Transformer ไปสักหน่อย ความสูงตัวรถที่เพิ่มขึ้น ล้ออัลลอย 18 นิ้ว ลายเฉพาะของรุ่น Outback เปลือกกันชนหน้า  
ออกแบบให้ดูบึกบึนขึ้น แต่มีความหรูแอบแฝงในเวลาเดียวกัน เปลือกกันชนหลัง มีแผงทับทิมแนวตั้ง ขนาดใหญ่กว่ารุ่น
Wagon  มีแร็คหลังคาสำเร็จรูป รองรับการขนสัมภาระบนหลังคามาให้ ซึ่งทั้งหมดนี้ ช่วยเสริมภาพลักษณ์ของตัวรถให้
ดูจริงจัง และคล้ายคลึงกับ SUV มากขึ้นกว่าแต่ก่อน…

 

การเปิดประตูรถ ทำได้ด้วยกุญแจ พร้อมสวิชต์รีโมทคอนโทรล ฝังในตัว หน้าตาดูดีกว่ากุญแจรีโมทของ
Honda นิดนึง เหมือน Legacy Wagon นั่นละครับ รูปแบบการใช้งาน ก็เหมือนกันเป๊ะ ยกเว้นว่า ถ้ากดปุ่ม
ปลดล็อก 1 ครั้ง จะมีเฉพาะประตูด้านคนขับเท่านั้นที่ระบบจะปลดล็อกให้ ต้องกดปุ่มเดิมอีกครั้ง ประตู
ทุกบานถึงจะปลดล็อกตามมา อาจไม่สะดวกนัก แต่ปลอดภัยมาก สำหรับใครที่มักใช้รถคนเดียว และต้อง
จอดรถทิ้งไว้ในที่เปลี่ยวๆ บ่อยๆ แต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีระบบ Smart Entry ติดเครื่องยนต์ด้วยการกดปุ่ม
เหมือนอย่างในเวอร์ชันส่งออกและเวอร์ชันญี่ปุ่นเขา เลย

เมื่อเปิดประตูออกมา การเข้าออกจากตัวรถ ก็ยังคงทำได้ง่ายดาย เหมือนกับ Legacy Wagon เพียงแต่ว่า
พื้นรถที่สูงกว่ารุ่น Wagon นิดหน่อย แต่ยังคงสามารถเข้าไปนั่งได้อย่างง่ายดายเหมือนเดิม

แผงประตูด้านข้าง ออกแบบเรียบง่าย แต่วางแขนได้สบายพอดีๆ นี่แหละ คือสิ่งที่ผมอยากได้จากผู้ผลิต
รถยนต์ทั้งหลาย ไม่ต้องไปทำแผงประตูด้านข้างให้มันวิลิศมาหรานักหรอก ท่องเอาไว้พี่น้องที่รักทั้งหลาย
Simply is the best!! มีช่องใส่ของด้านข้าง และช่องใส่ขวดน้ำดื่ม อย่างนี้ แค่นี้ก็พอแล้ว

เบาะนั่งฝั่งคนขับ ปรับด้วยสวิชต์ไฟฟ้าอัตโนมัติ ทั้งเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ปรับระดับ สูง – ต่ำ หรือปรับ
พนักพิงให้เอนลงไป มีสวิชต์ไฟฟ้าสำหรับปรับตำแหน่งดันหลังแถมมาให้อีกต่างหาก อีกทั้งยังมีสวิชต์
บันทึกตำแหน่งเบาะนั่งคนขับได้อีกถึง 2 ตำแหน่ง ติดตั้งบริเวณมือจับเปิดประตูฝั่งคนขับ ส่วนเบาะหน้า
ฝั่งซ้าย สำหรับผู้โดยสาร ปรับด้วยระบบอัตโนมือ กลไกแบบพื้นฐาน เหมือนรถบ้านคันอื่นๆทั่วไป
จริงๅแล้ว รถระดับนี้ น่าจะให้เบาะนั่งฝั่งซ้ายปรับด้วยไฟฟ้ามาให้ได้แล้ว อย่างไรก็ตาม มันก็ยังไม่ใช่
ความจำเป็นมากนักที่จะต้องติดมาให้ในสายตาของผม ผิดกับเจ้า ฮีตเตอร์อุ่นเบาะ ที่ดูเหมือนจำเป็น
ต้องติดมาให้ ด้วยเหตุผลของการเตรียมรุ่นย่อย เพื่อการผลิตส่งออกสู่ตลาดทั่วโลก จะให้ตัดออกไป
ก็คงวุ่นวายในสายตาของคนในโรงงาน Ota ของ Fuji Heavy Industries กันกระมัง

แม้ว่าโครงสร้างเบาะ จะเหมือนกันกับ Legacy Wagon 2.0i คันก่อนที่ผมเคยลองขับ แต่พอเปลี่ยนวัสดุ
หุ้มเบาะ จากผ้า มาเป็นหนัง ผมกลับรู้สึกว่า เหมือนกับนั่งอยู่บนเบาะของ Nissan TIIDA คันของตาแพน
Commander CHENG ของเราเลยนั่นละ เพียงแต่ว่า ปีกด้านข้างที่โอบลำตัว จะหนากว่า ใหญ่กว่า และ
กระชับกว่ากันชัดเจน เบาะรองนั่งถึงจะยาวกว่ารถทั่วไป แต่ถือว่าสั้นอยู่ ยังน่าจะยาวได้มากกว่านี้อีกนิด
แผ่นหลังยังคงสัมผัสถึงความสบายปานกลาง แต่ถ้าไม่ปรับดันหลังช่วยเลย ก็คงเมื่อยได้เหมือนกันหาก
ต้องขับรถในระบยะทางยาวๆ ต่อเนื่องหลายชั่วโมง (ซึ่งก็ไม่ควรทำอยู่แล้ว) ขณะเดียวกัน ส่วนที่รองรับ
หัวไหล่นั้น ยังคงเหมือนับ Legacy Wagon คือแทบไม่ได้รองรับไหล่เลย ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรในจุดนี้
พื้นที่เหนือศีรษะยังคงปลอดโปร่งโล่งสบายเหมือนเดิม แต่พนักศีรษะกลับแข็ง และดันศีรษะมากเกินไปนิดๆ

เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าเป็นแบบ ELR 3 จุด ทุกที่นั่ง คู่หน้าเป็นแบบ ลดแรงปะทะและดึงกลับอัตโนมัติ
Pretensioner & Load Limiter และปรับระดับสูง-ต่ำได้

พื้นที่เหนือศีรษะ ไม่แตกต่างจาก Legacy Wagon คือสูงโปร่ง โล่งสบายเหมือนกัน เหมาะกับคนตัวสูงๆ

ทางเข้าประตูคู่หลัง ยังคงออกแบบมาให้กว้างพอจะเอื้ออำนวยให้ผู้โดยสาร ทุกขนาดร่างกาย เข้าออกจากรถ
ได้สะดวกในระดับที่รถขนาดกลางควรจะเป็น เหมือนเช่นรุ่น Wagon เพียงแต่ช่วงที่จะต้องก้าวออกมาจากรถ
รองเท้าของคุณ อาจจะไปเฉี่ยวๆโดน ลำโพงที่แผงประตูด้านข้างได้นิดนึง แต่จะว่าไปแล้ว ยังไม่ใช่ปัญหา
ใหญ่โตนัก

เบาะนั่งด้านหลัง มีฟองน้ำที่นุ่มกำลังสบาย พนักพิงหลัง ไม่ต่างจาก Legacy Wagon คือยังไงๆก็ควรต้องยก
พนักศีรษะรูปตัว L ที่แข็งไม่แพ้กับพนักศีรษะของเบาะคู่หน้า ขึ้นใช้งาน เพราะการออกแบบพนักศีรษะในลักษณะ
รูปตัว L คว่ำ แบบนี้ เน้นความสะดวกในการพับเบาะใช้งานเป็นหลัก พนักพิงสามารถปรับเอนนอนได้เยอะ ถ้าคิด
จะเอนนอนสักงีบหนึ่ง เบาะหลังของ Outback จะให้ความสบายได้ดีใช้ได้เลยทีเดียว

พื้นที่เหนือศีรษะ มีความโปร่งสบายขึ้นกว่ารถรุ่นเดิม เช่นเดียวกับด้านหน้าเบาะรองนั่งมีความยาวกำลังดี
นั่งได้เต็มก้น จนถึงข้อพับขา การวางแขนทั้งบนแผงประตู และที่วางแขนแบบพับเก็บได้ พร้อมช่องวาง
แก้วน้ำในตัว 2 ตำแหน่ง ออกแบบมาถูกต้องตามหลักสรีรศาสตร์ วางได้สบายอย่างที่รถทั่วไปควรจะเป็นกัน

พื้นที่วางขา ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลเลยสำหรับ Outback เพราะมีพื้นที่เหลือเยอะสบายๆ เกือบจะนั่งไขว่ห้าง
ได้เลยด้วยซ้ำ ไม่ต่างอะไรกับ Legacy Wagon นั่นแหละ

เข็มขัดนิรภัยด้านหลังนั้น เป็นแบบ ELR 3 จุด ครบทั้ง 3 ที่นั่ง โดยสายเข็มขัดของผู้โดยสารคนกลางนั้น
ถูกม้วนซ่อนพับเก็บไว้บนเพดานหลังคา ในร่องใส่เฉพาะ อย่างที่เห็นในรูปข้างบนนี้

นอกจากนี้ เบาะหลังสามารถแบ่งพับในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่สัมภาระของผู้โดยสารด้านหลัง
ได้อีกด้วย โดยการพับเบาะมี 2 วิธี ข้อแรก มองไปที่ด้านล่างของพนักพิงเบาะ จุดที่ใกล้กับซุ้มล้อที่สุด จะมี
คันโยกพลาสติก เรียบๆ แค่ดึงปุ๊บ พนักพิงเบาะจะพับลงมาในทันที (จุดเดียวกันนี่แหละครับ ที่ใช้ปลดล็อก
เพื่อปรับพนักพิงเบาะให้เอนได้ตามต้องการ)

หรือไม่เช่นนั้น ก็เปิดฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง มองหาผนังด้านข้าง จะมีคันโยก หน้าตาคล้าย มือเปิดประตู
แค่ดึงคันโยกนั้น เบาะจะพับลงไปอย่างรวดเร็ว และเป็นแนวระนาบเดียวกับพื้นห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง อัน
เป็นวิธีการที่เหมือนกับ Legacy Wagon ใหม่ เป๊ะ

พื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง มีขนาด ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมัน ใหญ่มากพอที่จะให้ผู้โดยสาร 7 คน นั่ง
ล้อมวงกันเล่นป๊อกเด้งได้ หลังรถ (เมื่อพับเบาะแล้ว) ระหว่างเดินทางไกล กันเลยทีเดียว! หรือไม่ ก็ใหญ่พอให้
3 พ่อแม่ลูก นอนเบียดตัวกันระหว่างไปปิคนิคตอนกลางคืน โดยไม่ต้องเอาเต๊นท์ ไปนอนกลาง ก็ว่าได้

เมื่อยกพื้นห้อวงเก็บของขึ้นมา จะพบว่า Subaru ออกแบบให้มีช่องเก็บม้วนแผงบังสัมภาระเอาไว้อย่างดี
เป็นระเบียบ เรียบร้อย แถมยังไม่รบกวนการบรรทุกสัมภาระอีกต่างหาก ถือว่าออกแบบมาได้ชาญฉลาดดีแท้
แต่น่าแปลกว่า ทำไม Legacy Wagon คันที่เราเคยลองขับ ถึงไม่มีช่องเก็บซ่อนรูปแบบนี้มาให้บ้างหว่า?

บรรยากาศภายใน ชวนให้สัมผัสได้ถึงความคุ้นเคย ที่ไม่ได้แตกต่างไปจาก Legacy Wagon เลย ก็แหงหละสิ
แผงหน้าปัดเขาออกแบบมาให้เหมือนกัน ใช้ร่วมกันได้เลย ดังนั้น อุปกรณ์พื้นฐานต่างๆ จึงแทบไม่มีความ
แตกต่างใดๆ จากตระกูล Legacy ใหม่คันอื่นๆ เพียงแต่ อาจมีอุปกรณ์บางอย่างติดตั้งมาให้แตกต่างกันเล็กน้อย

มาดูสิ่งที่เหมือนกันกับ Legacy Wagon 2.0i กันก่อน โทนสีภายในจะตกแต่งด้วยสีดำ ตัดด้วยลายอะลูมีเนียม
สีเงิน ทั้งบนแผงหน้าปัด แผงควบคุมกลาง และแผงประตูด้านข้าง พวงมาลัยจะเป็นแบบ 3 ก้าน ทรงกึ่งผู้ใหญ่
กึ่งสปอร์ต มีระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control มาให้ มีระบบเบรกมือ เป็นแบบสวิชต์ไฟฟ้า ติดตั้งอยู่ที่
ด้านขวามือของพวงมาลันย ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ พร้อมสวิชต์ปรับกระจกมองข้าง สวิชต์ เปิด – ปิด ระบบออกตัว
บนทางลาดชัน และสวิชต์เปิด – ปิด ระบบควบคุมการลื่นไถล Traction control

สวิชต์ปรับระดับความสว่าง ของชุดมาตรวัดความเร็ว ก้านสวิชต์ไฟหน้า ไฟตัดหมอก และไฟเลี้ยวต่างๆ จะอยู่ที่
ฝั่งซ้าย ขณะที่ก้านสวิชต์ระบบปัดน้ำฝนทั้งด้านหน้า และด้านหลัง จะอยู่ฝั่งขวาของคอพวงมาลัย ถือว่ามาแปลก
กว่าเพื่อนร่วมสัญชาติญี่ปุ่นทั่วไป จนดูก็รู้ว่า เอาใจคนยุโรปมาก เพราะพวกเล่นย้ายฝั่งพวงมาลัย แต่ไม่ยักย้าย
ตำแหน่งก้านสวิชต์ ให้เหมาะสมกับนิสัยการขับรถของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มประเทศ

ทันทีที่บิดกุญแจติดเครื่องยนต์ เข็มของชุดมาตรวัด จะกวาดไปจนปลายสุด 1 รอบก่อน…

จากนั้น ไฟสัญญาณต่างๆ บางส่วนจะดับลง แสดงว่าอยู่ในสภาพพร้อมติดเครื่องยนต์ มีจอ แสดงตำแหน่งเกียร์
และมาตรวัดระยะทางรวมทั้งหมดที่แล่นใช้งานมา Odo Meter รวมทั้งมาตรวัดระยะทางสำหรับผู้ขับขี่ ใช้จับ
ระยะทางเอาเอง Trip Meter A และ B อยู่ตรงกลาง ชุดมาตรวัดทั้งหมด ก็ยกชุดมาจาก Legacy ใหม่ รุ่นอื่นๆ
ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน นั่นละครับ (ถ้าเป็นรุ่น Diesel ในเมืองนอก มาตรวัดรอบ จะมีตัวเลขน้อยกว่านี้ ตาม
ปกติ ของรถที่ใช้รอบเครนื่องยนต์ไม่สูงเท่าเครื่องยนต์เบนซิน)

สังเกตดีๆ จะพบว่า มีไฟเตือนอุณหภูมิน้ำมันเกียร์มาให้ แต่ไม่ยักมีมาตรวัดอุณหภูมิระบบหล่อเย็นมาให้ (-_-)

ขณะเดียวกัน เหนือแผงควบคุมกลาง มีมาตรวัด Multi Informtaion System คอยแจ้งข้อมูล นาฬิกา อุณหภูมิ
ภายนอกรถและอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย เป็นหน่วย ลิตร / 100 กิโลเมตร และด้านล่างสุดของแผง
ควบคุมกลาง มีเครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ แยกฝั่งปรับอุณหภูมิได้ทั้งซ้าย – ขวา ที่เย็นเร็วใช้ได้ แต่
ถ้าอยากให้เย็นเร็วทันใจ พอขุึ้นรถแล้ว ต้องเร่งตัวเลขลงไปอยู่ในระดับ 20 องศาเซลเซียสก่อน จากนั้น
พอเย็นได้ที่ ค่อยๆ ปรับตัวเลขอุณหภูมิให้อุ่นขึ้นมาตามต้องการ

ทั้งหมดนั้น คือสิ่งที่คุณจะพบได้จากทั้ง Outback และ Legacy ใหม่รุ่นอื่นๆ แต่สิ่งที่ทำให้ Outback คันนี้
แตกต่างไปจาก Legacy Wagon 2.0i  นั่นคือ ชุดเครื่องเสียงจากโรงงาน เป็นวิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น
CD / MP3 ได้แค่แผ่นเดียว (Legacy Wagon เล่นได้ 6 แผ่น) มีช่องเชื่อมต่อ USB AUX มาให้ เชื่อมต่อกับ
สายสัญญาณ โดยต้องเปิดลิ้นชักเก็บของฝั่งซ้าย เพราะทุกสิ่งอย่างจะอยู่ในนั้นเกือบทั้งหมด อีกทั้งยังมี
ช่องเสียบ Micro SD Card มาให้อีกต่างหาก การแสดงผลทุกอย่าง จะต่อเชื่อมผ่านทางจอมอนิเตอร์สีแบบ
Touch Screen ขนาดใหญ่ ซึ่งฟังดูแล้วเหมือนจะใช้ง่าย แต่ความจริงแล้ว แอบใช้งานยากเหมือนกัน

คุณภาพเสียงถือว่า ใช้การได้ ค่อนข้างจะดี แต่ยังดีไม่ถึงที่สุด และจะน่าประทับใจกว่านี้ หากสามารถติดตั้ง
ชุดเครื่องเสียง McIntosh แม้ๆ จากโรงงานได้ ผมยังจำได้ดีถึงความสุดยอดของชุดเครื่องเสียงยี่ห้อนี้ จากใน
Legacy B4 Sedan รุ่นก่อนหน้า แต่ถ้าใครอยากจะสั่งเข้ามา ก็คงต้องลองสอบถามทาง Motor Image Subaru
กันนอกรอบ เอาเอง นะครับ

นอกจากนี้ ชุดเครื่องเสียงจะถูกเชื่อมต่อกับ ระบบนำทาง GPS Navigation System ซึ่งในรถคันทดลองขับ
มีติดตั้งมาให้ เพียงแต่ว่า ชุด Software นั้น เป็นของ Outsource ดังนั้น การทำงานก็เลยจะดู เอ๋อๆ งงๆ
ไปสักหน่อย ยังรับสัญญาณ GPS ได้ไม่ไวพอ บางครั้ง ขับอยู่ใต้ทางยกระดับนิดหน่อย สัญญาณก็อาจ
ผิดเพี้ยน ตำแหน่งรถบนหน้าจอ ก็จะคลาดเคลื่อนได้พอสมควรในบางขณะ อย่างไรก็ตาม หน้าจอนี้
จะมาพร้อมกับ กล้องขนาดเล็ก สำหรับถ่ายทอดภาพจากด้านหลังรถ แสดงผลบนจอมอนิเตอร์ เพื่อให้
สะดวกขณะถอยหลังเข้าจอด เพราะรถคันนี้ ไม่มีสัญญาณเตือน Parking Sensor ที่กันชนมาให้ แต่
อาศัยว่ามีกล้องมองหลังมาให้ทดแทนไป ถ้าอยากได้ เพิ่มเงินจากรุ่นมาตรฐานอีก 100,000 บาท
เฮือก!!! แพงไปหน่อยนา อันนี้…

อีกจุดหนึ่งที่แตกต่าง หากสังเกตดีๆ คือ สวิชต์ ฮีตเตอร์อุ่นเบาะนั่งคู่หน้า ที่ติดตั้งเสริมเข้ามา และทำให้
ช่องวางของจุกจิกถัดจากคันเกียร์ มีขนาดเล็กลงนิดหน่อย

กล่องคอนโซลกลาง ข้างลำตัวผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านข้าง มีฝาปิด เป็นพื้นที่วางแขนในตัว เปิดล็อก
ยกขึ้นมา จะพบว่า มี 2 ชั้น ช่องกลาง เอาไว้ใส่นามบัตร หรือ ของจุกจิกเล็กๆน้อย และเมื่อเปิดยกขึ้นอีก
ก็จะพบกล่องเก็บของขนาดใหญ่โตมาก พอสำหรับวางกล้อง Digital Compact และพอให้ใส่ กล่อง CD
ได้ราวๆ 10 กล่อง ส่วนช่องวางแก้ว มีมาให้ 2 ตำแหน่ง พร้อมฝาปิดสีเงิน ต่อเนื่องจากคอนโซลกลาง

แหงนมองขึ้นไปข้างบน จะพบกับ Sunroof  เปิด – ปิด ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า มีม่านบังแสงในตอนกลางวัน
แผงบังแดด มีกระจกแต่งหน้า และไฟส่องสว่างมาให้ ทั้ง 2 ชิ้น  ไฟส่องสว่างในเก๋งมีมาให้ตรงกลาง
เพดานหลังคา ถัดขจาก Sunroof ไปนิดนีง ไฟอ่านแผนที่ซ้าย – ขวา เปิด – ปิด ได้งท่าย และสะดวก
รวมทั้งมีช่องเก็บแว่นกันแดดมาให้ ใช้งานได้จริง อย่างที่ควรจะเป็น

มาดูทัศนวิสัยรอบคัน จากตำแหน่งเบาะนั่งกันบ้าง อันที่จริง ก็แทบจะไม่ได้แตกต่างอะไรไปจาก
Legacy Wagon 2.0i เลย เพียงแต่ว่า ระยะห่างจากพื้นดินที่เพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อยนั้น ช่วยเพิ่มระยะ
การมองเห็นรถคันข้างหน้า อีกเพียงนิดหน่อยเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้น สูงขึ้น จนมองเห็นไฟแดง
แยกหน้าอันไกลลิบ เหมือน SUV แท้ๆ บางรุ่นแต่อย่างใด

เช่นเคย ผมปรับตำแหน่ง เบาะคนขับ ให้เตี้ยที่สุดทุกครั้ง ที่ขับรถคันไหนก็ตาม เพื่อให้คุณๆได้เห็น
ภาพชัดเจนขึ้น ว่า ถ้าปรับเบาะเตี้ยสุด คุณจะมองเห็นภาพข้างหน้าอย่างไรได้บ้าง และ Outback 2.5
ก็ยังควงมองเห็นทุกอย่างได้ตามปกติ เหมือนที่รถยนต์ทั่วไปควรจะเป็น เช่นเดียวกัน

เสาหลังคาคู่หน้า ฝั่งขวา มีการบดบัง รถที่แล่นสวนมาจากเลนขวานิดหน่อย ในบางจังหวะ แต่อย่างไร
ก็ตาม กระจกมองข้าง มีขนาดใหญ่โต สะใจมาก ราวกับว่า กำลังนั่งอยู่ในรถกระบะก็ไม่ปาน ช่วยให้
มองเห็นรถคันที่ตามมาได้ชัดเจน และผมแทบไม่มีปัญหากับการเปลี่ยนเลนเลย เมื่อขับรถคันนี้

ส่วนเสาหลังคาฝั่งซ้าย อาจมีการบดบังทัศนวิสัยตอนเลี้ยวกลับได้นิดนึง ในบางจังหวะ เช่นบนถนน
พหลโยธิน ใต้สถานีรถไฟ BTS คุณอาจต้องยื่นหน้ารถล้ำไปข้างหน้าเล้กน้อย เพื่อที่จะมองเห็น รถที่
แล่นสวนทางมานิดเดียว แต่ก็ยังถือว่ายอมรับได้ และไม่มีปัยหาอะไร เช่นเดียวกัน กระจกมองข้าง 
ฝั่งซ้ายทำหน้าที่ของตนได้ดี เหมือนกัน

แต่ทัศนวิสัยด้านหลังนั้น แม้จะดูเหมือนโปร่งขึ้น จากความสูงของกระจกหน้าต่างรอบคัน แต่ ด้วยเหตุที่
เสาหลังคาคู่หลังสุด D-Pillar ที่หนาเป้ง ซะขนาดนั้น เมื่อเทียบกับ รถรุ่นก่อน ซึ่งใช้การออกแบบ โดยเล่น
แนวกระจก ให้ยาวต่อเนืองไปจรดกับบานประตูห้องเก็บของด้านหลัง นั่นกลับทำให้ บดบังจักรยานยนต์
ที่มุดๆๆๆ ซอกแซก มาตามสภาพการจราจรได้ ด้อยกว่า Outback รุ่นก่อน อยู่นิดนึง 

กระนั้น ภาพรวม ต้องถือว่า บรรยากาศภายในรถ โปร่งตาขึ้นเยอะกว่ารถรุ่นเดิมชัดเจน

 

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ในต่างประเทศ Subaru Outback เวอร์ชันส่งออก จะมีเครื่องยนต์ให้เลือก ทั้งหมด 3 ขนาด ได้แก่
เครื่องยนต์ BOXER 6 สูบนอน DOHC 24 วาล์ว 3,630 ซีซี 260 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิด
สูงสุด 35.7 กก.-ม. ที่ 4,400 รอบ/นาที รวมทั้งเครื่องยนต์ Diesel BOXER ใหม่ล่าสุด 4 สูบนอน DOHC
16 วาล์ว 1,998 ซีซี ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด Commonrail พร้อม Turbocharger 150 แรงม้า (PS) ที่
3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 35.7 กก.-ม. ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,800 – 2,400 รอบ/นาที

แต่ Outback เวอร์ชันไทย ที่ทาง Motor Image สั่งเข้ามาขายนั้น จะเป็นเครื่องยนต์หลัก ที่ใช้ทำตลาด
เหมือนกันในทุกประเทศทั่วโลก คือ เครื่องยนต์แบบ EJ25 3KUAFE บล็อก 4 สูบนอน (Boxer) SOHC
16 วาล์ว 2,457 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 99.5 x 79.0 มิลลิเมตร อัตรส่วนกำลังอัด 10.0 : 1 ฉีดจ่าย
เชื้อเพลิง ด้วยระบบหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ พร้อมระบบลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า Drive By Wire

สังเกตดีๆจากรูปล่างบนนี้ จะเห็นว่า แม้เครื่องยนต์ EJ25 เวอร์ชันนี้ จะมีเพลาราวลิ้น 2 ชิ้น เหมือนจะ
เรียกว่าเป็นระบบเพลาราวลิ้นคู่เหนือฝาสูบ DOHC (Double Over Head Camshaft) ได้ แต่ความจริงแล้ว
ต้องเรียกว่าเป็นแบบ เพลาราวลิ้นเดี่ยวเหนือฝาสูบ SOHC (Single Over Head Camshaft) หนะ ถูกแล้ว
เพราะเพลาราวลิ้น ทั้ง 2 แท่ง ติดตั้งแยกฝั่ง ออกจากกัน แต่ละแท่ง ดูแลควบคุมระบบขับวาล์วทั้งวาล์วไอดี
และวาล์วไอเสีย ของลูกสูบแต่ละฝั่งอย่างชัดเจน นั่นเอง

 

การปรับปรุงเครื่องยนต์ EJ25 บล็อกเดิม ให้เป็นเวอร์ชันใหม่ในคราวนี้ มีทั้งการเปลี่ยนรูปทรงของ Port ไอดี
ปรับปรุงระบบระบายความร้อนบริเวณฝาสูบ ออกแบบรูปทรงของหัวลูกสูบใหม่ ปรับองศาของเพลาราวลิ้น
(Camshaft) เปลี่ยนหัวเทียน และคอยล์จุดระเบิดใหม่ ปรับเปลี่ยนท่อทางเดินไอดีใหม่ รวมทั้งท่อร่วมไอเสีย
แบบใหม่ ปรับปรุง ระบบฟอกไอเสีย Catalytic ใหม่เพิ่มประสิทธิภาพในการชาร์จไฟของ Alternator ฯลฯ

ส่งผลให้ กำลังสูงสุด เพิ่มเป็น 167 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด อยุ่ที่ 229 นิวตันเมตร หรือ
23.4 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที
ซึ่งสามารถปรับมาตรฐานมลพิษให้สูงขึ้นไปถึงระดับ EURO 5 ได้สบายๆ

ส่งกำลังจากเครื่องยนต์ สู่ล้อขับเคลื่อนทั้ง 4 ด้วยเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน Lineartronic CVT
ลูกเดียวกันกับที่พบได้ใน Legacy 2.0i Wagon ซึ่งในครั้งนั้น เราบอกกับคุณผู้อ่านไปว่า เกียร์ลูกนี้
ทำให้ Subaru กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกในโลก ที่นำเกียร์ CVT แบบวางตามยาว มาติดตั้งกับ
รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ

โดยในรุ่น Outback 2.5 ลิตร จะมีแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift บวก ลบ ที่ด้านหลังของพวงมาลัย
ติดยึดกับตัวพวงมาลัย มาให้จากโรงงาน เพิ่มเติมจากรถรุ่นอื่นๆ ไม่มีช่อง บวก/ลบ ที่คันเกียร์อีกต่อไป

เกียร์ CVT ลูกนี้จะแตกต่างจากเกียร์ CVT ในรถทั่วไป ตรงที่ การใช้ชุดโซ่ ซึ่งถูกนำมามาร้อยเรียง
ให้เป็นสายพานเส้นหนาๆ ในการขับเคลื่อน แทนที่สายพานแบบปกติ อีกทั้งยังเป็น เกียร์ CVT
ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการทำงานกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อโดยเฉพาะ แถมยังติดตั้งเกียร์แบบ
วางตามยาว ไปด้านหลังรถ

อัตราทดเกียร์นั้นมีด้วยกัน 2 โหมด หากอยู่ในเกียร์ D ปกติ อัตราทดจะแปรผันตั้งแต่ 3.525 – 0.558 : 1
แต่ถ้าอยากจะเล่นสนุกกับการเปลี่ยนเกียร์เอง คอมพิวเตอร์ ก็จะสั่งล็อกตำแหน่งชุดพูเลย์ขับและตาม
เอาไว้ในอัตราทดที่กำหนดไว้  ในตำแหน่งดังต่อไปนี้
เกียร์ 1                3.525
เกียร์ 2                2.238
เกียร์ 3                1.641
เกียร์ 4                1.194
เกียร์ 5                0.850
เกียร์ 6                0.611
เกียร์ R                2.358
อัตราทดเฟืองท้าย    3.900 (ใน Legacy 2.0i Wagon ทดเอาไว้ที่ 3.700)

ระบบขับเคลื่อน ยังคงเป็นแบบ Symmetrical All Wheel Drive (AWD) มาพร้อมกับระบบกระจายแรงบิด
ตามที่แต่ละล้อต้องการ Active Torque Spilt เพื่อการขับขี่ที่ดี บนถนนลื่นๆ นอกจากนี้ยังมีระบบ Traction
Control ติดตั้งมาให้อีกด้วย

ทางโรงงานที่ญี่ปุ่น แจ้งตัวเลขสมรรถนะเอาไว้ว่า อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง มี 10.4 วินาที
ความเร็วสูงสุด 198 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 8.4 ลิตร/ 100 กิโลเมตร และมี
ค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เฉลี่ยที่ระดับ 194 กรัม / ระยะทาง 1 กิโลเมตร

แล้วสมรรถนะที่ Headlightmag.com ทดลองจริง ตามมาตรฐานของเรา คือ จับเวลาในช่วงกลางคืน
เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า นั่ง 2 คน (ผู้เขียน 95 กิโลกรัม และ เจ้ากล้วย BnN แห่ง The Coup Team อยู่ที่
49 กิโลกรัม) จะได้ผลออกมาอย่างไรบ้าง คำตอบอยู่ข้างล่างนี้แล้วครับ

ตัวเลขที่ได้ แสดงให้เห็นว่า Outback ยังคงทำตัวเลขได้ ด้อยกว่า รถยนต์ Sedan เจ้าตลาด ทั้ง Toyota Camry
Honda Accord และ Nissan Teana ที่ใช้เครื่องยนต์ 2.4 และ 2.5 ลิตร หนะใช่ จริงอยู่ แต่เราทุกคนก็ต้องไม่ลืม
ข้อเท็จจริงว่า เรากำลังนำตัวเลขของรถยนต์ตรวจการ Station Wagon แถมยกสูงอีกต่างหาก ไปเปรียบเทียบกับ
รถยนต์ Sedan 4 ประตู ซึ่งมักถูกออกแบบให้มีอากาศที่ไหลผ่านตัวรถจากหน้า จรดหลัง (อากาศฃพลศาสตร์)
ดีกว่า รถยนต์ตรวจการอยู่แล้วเป็นทุนเดิม แถมเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ใน Outback ยังต้องพ่วงระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ
AWD ตลอดเวลา ซึ่งทำให้แทนที่เครื่องยนต์ จะส่งกำลังลงสู่ล้อคู่หน้าอย่างเดียว หรือล้อคู่หลังอย่างเดียว กลับต้อง
ส่งแรงบิดลงสู่ล้อทั้ง 4 ตลอดเวลา อย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่า การสูญเสียกำลังในระบบขับเคลื่อน ก็จะมีมากกว่า
รถยนต์ทั่วไปอยู่แล้วโดยธรรมชาติของตัวมันเอง

แต่คุณประโยชน์ที่คุณจะได้รับ แน่นอนว่า การเกาะถนนบนทางลื่น และการถ่ายทอดกำลังสู่ล้อทั้ง 4 จะเกิดขึ้น
อย่างต่อเนื่อง และสมดุลย์ อย่างเหมาะสม ตามความต้องการของแต่ละล้อ นั่นคือสิ่งที่จะทำให้คุณสามารถขับรถ
ผ่านสภาพถนนยางมะตอย หรือลูกรัง ที่ลื่น และเสี่ยงอันตราย ได้ดีกว่ารถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า หรือหลัง เพียง
อย่างเดียวทั่วไป อีกทั้งตัวเลขที่ Outback ทำออกมาได้ ก็ต้องถือว่า ไม่เลวร้าย และทำได้ดีสมตัว สมเหตุผลที่เป็น

เมื่อดูการตอบสนองจริง อัตราเร่งที่ออกมานั้น กระฉับกระเฉงกว่า Legacy Wagon ชัดเจน แหงละสิ
เครื่องยนต์ก็ตั้ง 2.5 ลิตร ขืนจะอืดอาดพอกันกับ 2.0 ลิตร คงโดนลูกค้าด่าตายแหงๆ เลย แรงดึงที่เกิดขึ้น
ก็ใกล้เคียง กับ Nissan Teana 250XV กันเลยทีเดียว

แม้จะใช้ระบบ Drive By Wire หรือลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า แต่การตอบสนองของคันเร่ง ก็ถือว่า ไวต่อเท้า กำลังดี
ไม่หน่วงให้ช้าลง ออกคำสั่งลงที่เท้าขวาเมื่อไหร่ ลิ้นปีกผีเสื้อ ก็พร้อมทำงานแทบจะในเสี้ยววินาที ตามต้องการ
ซึ่งตรงนี้ ไม่มีอาการขี้เกียจ ชวนง่วงนอน อย่างที่ Legacy Wagon 2.0i เคยเป็น แต่อย่างว่าละครับ แรงบิดที่
มากกว่า เหมาะสมกับน้ำหนักตัวรถมากกว่า ดังนั้น พอเรียกใช้ เราก็จะรู้สึกได้ว่า มันไวกว่า ทั้งที่น้ำหนักของ
แป้นคันเร่ง จริงๆแล้ว ก็เหมือนกันกับ Legacy wagon 2.0i นั่นแหละ คือ พยายามจะเซ็ตให้เป็นแนวทางเดียว
กับรถยุโรปยุคใหม่ๆ ที่แป้นคันเร่งจะหนืดๆหน่วงๆนิดๆ

ส่วนการเปลี่ยนเกียร์ แน่นอนว่า ต่อเนื่อง และนุ่มนวล แทบไม่พบอาการกระตุกในขณะขับขี่ อาจจะมีอาการ
กระตุกนิดเดียวเท่านั้น ช่วงที่เปลี่ยนจากเกียร์ D ไป R หรือ P ซึ่ง ก็เป็นอาการที่พบได้อยู่แล้วในรถยนต์ ซึ่ง
มีแรงบิดเยอะ น้ำหนักเยอะ ตัวรถใหญ่โต และต้องใช้เกียร์อัตโนมัติในการขับเคลื่อนอยู่แล้ว และแป้นเปลี่ยน
เกียร์ Paddle Shift ที่มีมาให้ ก็ทำงานได้อย่างรวดเร็ว ถ้าคุณเร่งความเร็วขึ้นไปเต็มที่ มันจะ

พวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronics Power Steering)
 มีระยะฟรี ที่เหมาะสมกับบุคลิกของรถยนต์ Wagon ออกแนว SUV แบบนี้ คือมีระยะฟรีพอประมาณ ไม่มาก
ไม่น้อยเกินไปเป็นพวงมาลัยที่ ผมว่า สุภาพสตรีทั้งหลายน่าจะมองว่า มีน้ำหนัก กำลังดี สำหรับการขับขี่ เลี้ยว
ไปมา ตามตรอกซอกซอยต่างๆ ของตัวเมือง น้ำหนักจะแตกต่างจาก Legacy Wagon เพียงนิดหน่อย คือ หนืด
กว่ากันนิดเดียว ไม่มากนัก แต่พอใช้ความเร็วสูง พวงมาลัยถือว่ายังคงนิ่ง และไว้ใจได้ในระดับเหมาะสม
อย่างที่เราคาดหวังจะเห็นกันจากรถประเภทนี้

ระบบกันสะเทือนหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังเป็นแบบปีกนกตู่ Double Wishbone พร้อม
คอยล์สปริง ช็อกอัพ วางเชื่อมอยู่กับ Sub-Frame ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีการปรับปรุงจากรุ่นเดิม
โดยเน้นความนุ่มนวล เอาใจผู้ใหญ่มากขึ้นกว่าเดิม แต่ยังต้องคงบุคลิกความเป็น Station Wagon
ยกสูง ในแบบที่ Outback เคยเป็นมาตลอด เอาไว้ด้วยพร้อมกัน ซึ่งก็ไม่ว่างนักสำหรับการบ้านข้อนี้

การตอบสนองนั้น หากเป็นในช่วงความเร็วต่ำ ถือว่าค่อนข้างมีอาการสะเทือนอยู่บ้าง ในขณะขับขี่ไปตาม
ตรอกซอกซอย ที่มีหลุมบ่อ ฝาท่อ และลูกระนาด เยอะแยะไปหมด แม้จะไม่เยอะถึงขั้นแข็งกระเทือนจน
ท้องไส้เลื่อนลั่น อย่าง Suzuki SX4 ก็ตาม

พอเข้าสู่ช่วงความเร็วเดินทาง ในระดับปกติ ตามกฎหมายกำหนด ไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง คุณจะเริ่ม
พบว่า การวับแรงสะเทือนจากผิวถนน จนถึงรอยต่อเชื่อมต่างๆ ของระบบกันสะเทือนด้านหน้า ทำมาค่อนข้างดี
แต่พอเป็นด้านหลังรถ กลับกลายเป็นว่า ผู้โดยสารร่วมทางของผม บางคน บอกว่า นั่งแล้วเวียนหัว เพราะช็อกอัพ
และสปริง ค่อนข้างจะนุ่ม และยวบยาบไปสักหน่อยนึง โดยเฉพาะเมื่อเจอคอสะพาน จะพบอาการดีดตัวค่อนข้าง
ชัดเจน ตา BackSeat Driver สมาชิกใหม่ของ The Coup Team ของเรา ถึงกับบ่นอุบ ตลอดทางที่เรากำลังถ่ายทำ
คลิปวีดีโอลองรถคันนี้ กันเลยทีเดียว แปลกมาก ว่า ผุ้ชายคนนี้ กลับบ่น ทั้งที่ใน Camry Hybrid ของเขา เจ้าตัว
กลับไม่บ่นสักคำ….ผมละงงจริงๆ

แต่ที่น่างงไปยิ่งกว่านั้นก็คือ พอเข้าสู่ช่วงความเร็วสูงกว่าระดับ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป เรากลับพบว่า ตัวรถนิ่ง
และเคลื่อนตัวผ่านรอยต่อถนนไปได้อย่างนุ่มนวลกำลังดี นิ่ง เฟิร์ม มั่นใจ และวางใจได้ยิ่งกว่าตอนที่ใช้ความเร็ว
แค่ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง กันเสียอีก เป็นความนิ่งในแบบเดียวกับที่รถยุโรปชั้นดีหลายๆรุ่น เคยมี (ครับ ผมใช้คำ
ถูกแล้วครับว่า “เคยมี” เพราะทุกวันนี้ หลายรุ่น ในช่วงความเร็วสูงๆ เท่าๆกัน ยังไม่นิ่งเท่า Outback เลยเถอะ!)

สำหรับการเข้าโค้ง ถือว่า Outback ยังมีความยวบยาบ ในลักษณะของรถที่เซ็ตระบบกันสะเทือนมาในแนวนุ่ม
เอาใจผู้ใหญ่ แต่อาศัยที่ว่า มีระบบขับสี่ล้อ ทำให้สามารถเลี้ยงคันเร่ง หรือแม้กระทั่ง กดคันเร่งส่งให้รถผ่านออก
จากโค้งไปได้สบายๆ แบบเดียวกับที่เราพบใน Impreza รุ่นบ้านๆ คันอื่นๆ ที่เราลองขับมา ดังนั้น ถ้าเข้าโค้งหนักๆ
ก็ยังถือว่า พอให้ความมั่นใจได้อยู่ แต่จะให้ถึงขั้นเฉียบคม แบบ subaru รุ่นอืนที่เตี้ยกว่านี้ เห็นทีจะยากละครับ
ต้องไม่ลืมว่า นี่คือรถยกสูงกว่า รถรุ่นปกตินิดนึงนะครับ ได้ขนาดนี้ ก็ดีมากแล้ว

ระบบเบรก เป็นแบบ ดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ พร้อมรูระบายความร้อน ที่ล้อคู่หน้า (แบบ Twin Port) ติดตั้งระบบป้องกัน
ล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรนกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake
Force Distribution) และระบบเพิ่มแรงดันน้ำมันเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist แถมด้วยการติดตั้งระบบ
เบรกมือ ที่เปลี่ยนมาเป็นสวิชต์ ไฟฟ้า ใช้มอเตอร์ควบคุมการเบรกดุมล้อหลังแทน เบรกมือแบบเก่า

การทำงานของระบบเบรก ภาพรวม ไม่ได้ถึงกับมีอะไรโดดเด่นมากนัก คือ หน่วงความเร็วได้ดี แต่อาจจะยัง
ไม่ถึงขั้น Mercedes-Benz หรือ BMW เพราะตัวรถเองก็มีขนาดมีใหญ่ น้ำหนักมาก และการจะชะลอความเร็ว
รถยนต์แบบนี้ ลงมา อาจต้องใช้ระยะทางยาว ใกล้เคียงกับ SUV แท้ๆ คันอื่นๆ ทั่วไป ก็เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้า
ถามว่า แป้นเบรกตอบสนองอย่างไร ผมก็มองว่า นุ่ม หยุ่นเท้า และพยายาม จะเซ็ตให้ใกล้เคียงกับแป้นเบรก
ของ Mercedes-Benz บางรุ่น อยู่บ้างเหมือนกัน

ระบบกันสะเทือน และเบรก ถูกเชื่อมต่อเข้ากับโครงสร้างตัวถังที่ได้รับการปรับปรุงให้มีความแข็งแกร่ง
เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณจุดยึดระบบกันสะเทือน และเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ที่ถูกเพิ่ม
ความแข็งแรงขึ้น ด้วยการเปลี่ยนมาใช้เหล็กแบบ High Tensile รวมทั้งการคำนวนปรับปรุงจุดยึดใหม่
ผลก็คือ ลดน้ำหนักลงได้ 3 กิโลกรัม แถมยังเพิ่มความแข็งแรงในบริเวณจุดยึดระบบกันสะเทือนหน้า
ทั้งหมดอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการนำโครงสร้างแบบ Craddle Frame มาใช้ ทั้งในบริเวณจุดเชื่อมต่อ
ระหว่างแผ่นเหล็กกั้นห้องเครื่องยนต์กับห้องโดยสาร รวมทั้งมีการติดตั้งชิ้นส่วนเหล็กไว้ที่ด้านใต้ยาง
รองแท่นเครื่อง ในแบบ Craddle Mount เพื่อลดเสียงและการสั่นสะเทือนจากเครื่องยนต์ ขณะเดียวกัน
ก็ยังจะช่วยเพิ่มการควบคุมรถให้ทรงตัวดีขึ้น แถมยังช่วยรับแรงปะทะจากการชนได้ดีขึ้นอีกด้วย และ
ช่วยลดน้ำหนักลงไปได้อีก 6 กิโลกรัม

ส่วนโครงสร้างด้านหลัง ก็มีการเสริมความแข็งแกร่งบริเวณเชื่อมต่อระหว่าง โครงสร้างประตูคู่หลัง
กับซุ้มล้อหลัง อีกทั้ง บานประตูห้องเก็บของด้านหลัง เป็นแบบ 4 ชิ้น (มี 2 ขนาดความหนา) ซ้อนกัน
เพื่อให้เกิดความแข็งแรงมากขึ้น ในภาพรวม

สิ่งที่จะต้องบอกกันตรงนี้คือ ในรถรุ่นก่อน มีการใช้ชิ้นส่วนอะลูมีเนียมกับฝากระโปรงหน้า และหลัง
แต่ในรถรุ่นใหม่ วัสดุในจุดดังกล่าว ถูกเปลี่ยนมาเป็นเหล็กแบบ High Tensile แทน ด้วยเหตุผล ในเรื่อง
ของต้นทุนการพัฒนาที่สูงขึ้น ทำให้ทีมวิศวกรมองหาทางในการจะลดข้อจำกัดต่างๆ และเปลี่ยนมาใช้
วัสดุใหม่ๆ ซึ่งท้ายที่สุด พวกเขาก็สามารถทำชิ้นส่วนจากเหล็ก ให้มีน้ำหนักเบา แต่แข็งแกร่ง และรองรับ
กับการปะทะ ได้ดีไม่แพ้ อะลูมีเนียม แถมยังทำราคาต้นทุนได้ถูกกว่าอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ Outback ใหม่ จึงผ่านการทดสอบการชนของหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางถนนของรัฐบาล
สหรัฐอเมริกา NHTSA ตามมาตรฐานของรถทุกคันที่จะต้องส่งเข้าไปขายในสหรัฐฯ รวมทั้ง ผ่านมาตรฐาน
การชนของ ANCAP (Australia New Car Assesment Program) หรือ การทดสอบการชนที่ออสเตรเลีย ด้วย
คะแนนระดับ 5 ดาว แม้ว่า ตอนนี้ Euro NCAP ยังไม่ได้ทำการทดสอบการชนรถคันนี้ แต่เท่าที่ดูผล คาดว่า
น่าจะได้คะแนน 5 ดาวเป็นขั้นต่ำ จากการชนแบบไม่เต็มพื้นที่ด้านหน้ารถ ที่ความเร็ว 64 กิโลเมตร/ชั่วโมง
อันที่จริง ถ้าอยากดูรายละเอียดมากกว่านี้ เปิด Youtube.com แล้วเสริชหา Subaru Outback NCAP ก็จะ
เจอคลอิปการทดสอบการชนของ Outback ใหม่ ครบถ้วน นั่งดูกันให้อิ่มเอมใจไปข้างนึงเลยทีเดียว

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
คราวที่เราทำการทดลองอัตราการกินน้ำมันของ Legacy Wagon 2.0i เราได้ตัวเลขออกมาสวยหรูมากๆ
ในระดับ 15.6 กิโลเมตร/ลิตร!! ซึ่งผมก็ไม่อยากเชื่อเท่าไหร่หรอก แต่มันก็เป็นไปแล้ว ดังนั้น คำถามก็คือ
แล้วอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ Legacy Outback 2.5 ลิตร คันนี้ละ ในเมื่อ เครื่องแรงกว่า แถมยังยกสูง
ใส่ล้อใหญ่กว่า อัตราสิ้นเปลืองชื้อเพลิงจะออกมาได้เท่าใด?

เราก็เลยทำการทดลองตามมาตรฐานเดิม ที่เรายึดถือกันมาตลอดหลายปี คือ นำรถไปเติมน้ำมันเบนซิน
Techron 95 ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex ถนนพหลโยธิน เติมให้เต็มถังน้ำมันความจุ 65 ลิตร จนกระทั่ง
หัวจ่ายตัด ก็เพียงพอ

จากนั้น Set 0 บน Trip Meter ติดเครื่องยนต์ ออกรถ มุ่งหน้าเลี้ยวกลับ ลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ เพื่อจะ
เลี้ยวไปขึ้นทางด่วนที่ด่านพระราม 6 มุ่งหน้าไปยังปลายสุดสายทางด่วน อุดรรัถยา ที่อยุธยา แล้วเลี้ยวกลับ
ย้อนมาขึ้นทางด่วนเส้นเดิม ขับกลับทางเดิม ภายใต้มาตรฐานเดิมทั้งหมด คือ วิ่ง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เปิดแอร์ นั่ง 2 คน

เรามาลงทางด่วนกันที่ อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพหลโยธิน ไปเลี้ยวกลับที่หน้าโชว์รูม
เบนซ์ ราชครู แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex แห่งเดิม เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน Techron 95
ที่ปั้มเดิม และหัวจ่ายเดิม

ตัวเลขที่ Outback 2.5 ลิตร CVT ใหม่ ทำได้ มีดังนี้
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบน Trip Meter อยู่ที่ 94.0 กิโลเมตร พอดี

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.42 ลิตร

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 14.64 กิโลเมตร/ลิตร

น่านไง! เอาอีกแล้วครับคุณผู้อ่าน หลอนกันอีกแล้ว Subaru คันใหญ่เท่าบ้าน แต่กินน้ำมันเท่า Toyota Vios
ประหยัดกว่า Toyota Yaris กับ Avanza และประหยัดเท่ากับ Toyota Camry 2.4 ธรรมดา ที่ไม่ใช่ Hybrid

นี่มันอะไรกันนนนนน! ประหยัดได้อย่างน่าแปลกใจ ผมเองก็ไม่รู้จะอธิบายยังไงดี เพราะในเมื่อรถอย่าง Nissan
Teana เอง เครื่อง 2.5 ลิตรเหมือนกัน ขับเคลื่อนล้อหน้า และใช้เกียร์ CVT เหมือนกัน แต่ทำได้แค่ระดับ
12 กิโลเมตร/ลิตร ก็หรูแล้ว เหตุใด รถที่พ่วงระบบขับเคลื่อน 4 ล้อเข้ามาด้วย น้ำหนักตัวก็น่าจะมากกว่า
ล้อก็ใหญ่ เส้นรอบวงดูน่าจะมากกว่า แต่กลับทำอัตราสิ้นเปลืองได้ประหยัดกว่า

Amazing Subaru อีกแล้ว นี่สงสัยจริงๆเลยนะ ว่าตกลงตอนนี้ ค่ายดาวลูกไก่ เขาจะสร้างภาพลักษณ์ใหม่หรือเปล่า?
เพราะ Legacy ใหม่ ทั้ง wagon และ Outback ทำอัตราสิ้นเปลืองออกมาได้ ประหยัดจนแทบลอยขึ้นสวรรค์กันเลย
ตาแพน Commander CHENG ของเรา เปรียบเปรยไว้ตอนทำคลิปวีดีโอของรถคันนี้กันว่า “สมัยก่อน ถ้าใครอยาก
ได้รถประหยัดน้ำมัน ให้ซื้อ Toyota และถ้าอยากได้รถแรง ให้ซื้อ Subaru แต่สมัยนี้ สงสัยต้องพูดกลับกันแล้วมั้ง?
ว่า ถ้าอยากได้รถแรง ให้ซื้อ Toyota แต่ถ้าอยากได้รถประหยัดน้ำมัน ให้ซื้อ Subaru !!!???”

โอยยย บ้าไปแล้วเหอะ!!!!

********** สรุป **********
ป้าอ้วน ผู้มัธยัสถ์ ในมาดที่พร้อมลุยกว่าเดิมอีกนิด

แสงแดด ยามเย็น เริ่มตกกระทบกับผิวตัวถังสีขาวมุก ของรถ Station Wason ยกสูง คันนี้ ขณะจอดให้ผมถ่ายรูปอยู่ริมบึง
แม้ว่าตัวรถ จะดูไม่สวยงามในสายตาของผม มากเท่ารุ่นที่แล้ว แต่อย่างน้อย ก็ยังพอหามุมที่จะทำให้รถคันนี้ดูสวยได้

ก็คงเหมือนกับการทำบทความรีวิวรถยนต์ออกมาให้คุณอ่าน ในแต่ละครั้ง ต่อให้เราจะรักจะชอบรถคันไหนเป็นการส่วนตัว
ก็ไม่อาจจะนำเอาความรู้สึกที่ดีเหล่านั้น มาปะปนลงในเนื้องานได้จนหมด เพราะมันจะกลายเป็นการเขียนเชียร์ในสายตา
ของคุณผู้อ่านไป

และในทางกลับกัน ก็เป็นเช่นเดียวกัน ต่อให้คุณรู้สึกย่ำแย่กับรถคันไหนเป็นการส่วนตัวก็ตาม เราก็ต้องระมัดระวังกับการ
เลือกสรรถ้อยคำในการบรรยายถึงสิ่งที่เราเจอมาจากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับรถคันนั้น เพราะมันจะกลายเป็นการใช้
พื้นที่ส่วนตัว เพื่อ “ผรุสวาท” มากกว่าจะติเพื่อก่ออย่างสร้างสรรค์ ตามนโยบายของ Headlightmag.com

แต่คราวนี้ ผมกลับมองรถคันนี้ ด้วยสายตาที่นิ่ง สงบ เหมือนกับผิวน้ำที่อยู่ด้านหลังรถในภาพถ่ายทั้งหมดที่คุณเห็นอยู่
เป็นความนิ่งสงบ อันเกิดจากความพยายามเข้าใจ ในความเปลี่ยนแปลงไปของโลก

ครั้งหนึ่ง Subaru Legacy เคยได้ชื่อว่าเป็น รถยนต์ Sedan และ Station Wagon ที่มุ่งเน้นสร้างความสนุกสนานในการขับขี่
แบบที่ชาย – หญิง วัย 35 ปีขึ้นไป แต่ยังมีใจรักสนุก ชื่นชอบ มันเคยเป็นรถยนต์ที่ให้ความฉับไวในทุกการตอบสนอง
คล่องแคล่ว เหมือนเป็นส่วนหนึ่งกับร่างกายของผู้ขับ และนั่นละ คือเสน่ห์ที่สำคัญ อันทำให้ Legacy ยังคงมีพื้นที่ยืนหยัด
อยู่ได้ ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก อันเกรี้ยวกราด

มาวันนี้ ด้วยเหตุผลด้านความอยู่รอดทั้งยอดขาย และสถานะทางการเงินของบริษัทแม่ในญี่ปุ่น กลายเป็นว่า Legacy ใหม่
จำเป็นต้องมีบุคลิกที่ “อนุรักษ์นิยม” มากขึ้น ลดทอนความสนุกสนานในการขับขี่ในรุ่นมาตรฐานลงไป จนกลายร่างเป็น
ป้าอ้วนใจดี ที่ขับแล้วชวนง่วงนอนไปเสียฉิบ

อย่างไรก็ตาม พอมาเป็นเวอร์ชันยกสูงอย่าง Outback เมื่อต้องเปรียบเทียบกับรถรุ่นเดิมแล้ว ผมกลับพบว่า ต่อให้มีรูปลักษณ์
และบุคลิกการขับขี่ในสไตล์ “ป้าอ้วน” เข้ามาในตัวรถเยอะมาก แต่ Outback ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่น่า
กังวลเท่า Legacy แต่อย่างใด ประเด็นไหนที่เคยเป็นข้อดี ทั้งในด้านความพร้อมลุยบนทางกรวดลูกรัง ความสบายในการ
ขับขี่ หรือใช้ชีวิตด้วย รวมทั้ง อากัปกิริยา ในแบบที่ Crossover Wagon ควรจะเป็น ก็ยังคงมีอยู่ใน Outback ใหม่ ครบถ้วน
มิได้หนีหายไปไหน

แต่สิ่งเดียวที่ Outback ใหม่ จะทำให้ผมประหลาดใจได้ คือความประหยัดน้ำมัน ผมไม่อยากเชื่อเลยว่า Crossover Wagon
คันใหญ่ยาวเฟื้อยแบบนี้ จะทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงออกมาได้ ประหยัดเท่ากับ Toyota Vios ดีกว่า Toyota Yaris กับ
Avanza และแน่นอนว่า เทียบเท่าทัดเทียมกับ Toyoya Camry 2.4 ลิตรธรรมดาๆ เลยด้วยซ้ำ ทำให้ผมได้รู้ว่า ป้าอ้วนของเรา
ยังคงความมัธยัสถ์เสมอต้นเสมอปลาย

เพียงแต่ว่า โชคยังดีอยู่นิดหน่อย ที่ Outback เป็น Subaru ที่มีบุคลิกหลัก แตกต่างไปจาก Subaru คันอื่นๆในตระกูล และเป็น
รถยนต์ที่ออกแบบมาเพื่อเอาใจผู้ใหญ่อยู่แล้ว ดังนั้น การรักษาบุคลิกพื้นฐานดั้งเดิมของรถไว้ แล้วเติมสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่า พร้อม
กับการแก้ไขข้อด้อยเก่าๆ ไป ก็เป็นสิ่งที่ ค่ายดาวลูกไก่ เดินมาได้ถูกต้อง และทำถูกทาง แต่อาจจะมีงานออกแบบที่ยังไม่ถูกใจ
ลูกค้ากลุ่มเดิมๆ ที่เคยรักเคยชอบ Subaru ไปบ้าง ก็คงเท่านั้น

ด้วยค่าตัว 2,540,000 บาท ในรุ่นมาตรฐาน (เพิ่มอีก 100,000 บาท สำหรับระบบนำทาง พร้อมกล้องมองหลัง) คุณอาจมองว่า
เงินจำนวนนี้ สามารถหารถยนต์แนวสปอร์ตขนาดเล้ก จากยุโรปคันอื่นๆ เล่นได้อีกมาก เช่น Volkswagen Golf GTi หรือ
ต่อให้ Scirocco เลยด้วยเถอะ Volvo C30 , BMW X1 sDrive 18i (ซึ่งไม่ค่อยมีออพชันอะไรกับเขาหรอก ล้านเลี่ยนเตียนโล่ง
กว่า BMW คันอื่นๆในตระกูลเลยทีเดียว แต่มาในค่าตัวที่ถูกกว่า Outback 3 แสนกว่าบาทปลายๆ )

แต่คำถามก็คือ ถ้าจะต้องซื้อรถสักคัน คุณจะมีโจทย์อย่างไร ต้องการอะไรจากรถคันนั้น แน่นอน หากต้องการความสปอร์ตแท้ๆ
ดิบๆ ข้าม Outback ไปแล้วมองไปยัง รถรุ่นอื่นๆ เหล่านั้นจะดีกว่า แต่ถ้าคุณต้องการรถยนต์ตรวจการ Station Wagon สักคัน ที่
ให้ครบทั้งในด้านอัตราเร่ง ที่ไม่ถึงกับหวือหวา แต่ไม่น่าเกลียดแน่ๆ หากเทียบกับรถยนต์ Sedan ในพิกัด D-Segment เหมือนกัน
การทรงตัวที่เผื่อเหลือเผื่อขาดเอาไว้ทั้งบนทางเรียบ และลูกรัง การบังคับเลี้ยวในสไตล์รถใหญ่แบบปานกลาง ที่วางใจได้ ว่าจะ
พาคุณเดินทางไกลไปพักผ่อนต่างจังหวัดกับครอบครัวได้เรื่อยๆ สบายๆ

หรือว่า ถ้าชอบ Legacy Wagon อยู่แล้ว แต่ยังรู้สึกว่า เครื่อง 2.0 ลิตร ยังแรงไม่พอ และ ต้องการความแรงเพิ่มขึ้น แต่ไม่ต้องถึง
ระดับไปวางเครื่องยนต์ Turbo ในตระกูล Subaru ด้วยกัน ให้มันวุ่นวายชีวิตเล่นๆ เอาแค่ มีแรงบิด พอให้วิ่งทางไกลได้ไม่เหนื่อย
และได้ความสูงใต้ท้องเพิ่มขึ้นมา โดยที่ไม่ได้สูญเสียการทรงตัวของรถ มากเท่าที่คิด นั่นละ Outback 2.5 CVT ก็น่าจะตอบโจทย์
ของคุณได้แทบจะครบ

หากมองด้วยเหตุผล Outback ใหม่ ก็เป็นรถที่ทำออกมาสำหรับการใช้เหตุผลด้านการใช้งาน ในการตัดสินใจซื้อเป็นหลัก
มันอาจไม่ใช่รถที่ทำออกมาแล้ว ดึงดูดใจให้คุณเดินเข้าไปหาในทันที อาจต้องใช้เวลาสักหน่อย เพื่อที่คุณจะเดินมาเจอ
แล้วก็อาจจะชอบ ลงท้ายด้วยการเซ็นใบจอง

แต่มันไม่ใช่รถที่จะทำให้คุณ พุ่งเข้าหาทันทีเพียงแว่บแรกที่เห็นแน่ๆ ไม่เหมือน Subaru รุ่นก่อนๆ หลายๆรุ่น และนี่แหละ
คือสิ่งที่ผมมองว่า Subaru รุ่นใหม่ๆ ขาดหายไป…สิ่งที่ผมเรียกมันว่า “เสน่ห์” ซึ่งทุกวันนี้ ผมชักเริ่มไม่แน่ใจว่า แม้จะปรับ
ตัวรถให้เดินมาถูกทาง แต่ พอถึงประเด็นเรื่องงานออกแบบ มันกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น

เหตุผลที่ Subaru ต้องทำแบบนี้ ก็มีนะครับ มาวันนี้ ลูกค้าที่เคยประทับใจ Subaru ในช่วง 10 – 20 ปีที่ผ่านมา มีอายุมากขึ้น
เริ่มมีครอบครัว และบางคน ก็ต้องการรถยนต์สำหรับผู้ใหญ่ เอาไว้ขับไปโน่นมานี่ ออกเที่ยวบ้าง ลุยทางลูกรังบ้าง ว่าง่ายๆก็คือ
Outback ใหม่เป็นรถยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดึงรั้งลูกค้าอายุ 40 กว่าๆ ซึ่งเคยขับ เคยรัก หรือแม้แต่รู้คุณค่า ของ Subaru เอาไว้
ให้ยังคงยืนหยัดอยู่กับแบรนด์ Subaru ต่อไปนั่นเอง

ดังนั้น ต่อให้ผมยังอยากเห็นป้าอ้วนคันนี้ วางเครื่อง 2,500 ซีซี Turbo มันอาจเป็นหนทางที่จะทำให้ป้าอ้วนของเราคันนี้ มีเสน่ห์
เพิ่มขึ้นได้ง่ายมาก แต่ในขณะเดียวกัน มันก็อาจเป็นวิธีผลักไสลูกค้าหลายราย ให้ถอยหลังไป ด้วยป้ายราคาที่สูงจากฤทธิ์ของ
ภาษีนำเข้า อย่างง่ายๆ ไปเช่นกัน ครั้นจะให้รอเครื่องยนต์ Disel Boxer Turbo 2,000 ซีซี จนป่านนี้ ผมก็ยังไม่อาจทราบได้ว่า
พละกำลังจะออกมาสมค่าการรอคอยหรือไม่ และที่สำคัญคือ น้ำมันดีเซลในบ้านเรา จะสะอาดพอรองรับเทคโนโลยีหัวฉีด
ไฮเทคทั้งหลายเหล่านั้นได้โดยเครื่องไม่พังไปก่อนหรือไม่?

เพราะผมยังไม่มีคำตอบให้กับตัวเองเลยเหมือนกันครับ…

ขอขอบคุณ / Spacial Thanks to :
คุณอภิชัย ธรรมศิรารักษ์
ผู้จัดการทั่วไป
บริษัท Motor Image Subaru (Thailand) จำกัด

เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพ illustration ทั้งหมด เป็นของบริษัท Fuji Heavy Industry จำกัด
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
10 พฤษภาคม 2011

Copyright (c) 2011 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
 without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
May 10th,2011

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่