เป็นไงครับ รอกันนานจนลืมไปเลยใช่ไหม?

ก็รู้ตัวดีมาตลอดละครับว่า ยังไง๊ยังไง Headlightmag.com ของเรา จะต้องมี Full Review ของรถยนต์นั่ง
ที่ขายดีที่สุดในโลกรุ่นนี้ ประดับไว้อยู่ในเว็บ ให้คุณผู้อ่าน ได้เข้ามาค้นหาข้อมูล กันบ้าง ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

เพราะตั้งแต่ช่วงปี 2009 เป็นต้นมา มีคุณผู้อ่าน มาถามไถ่อยู่เรื่อยๆ ว่า เมื่อไหร่ เราจะทำรีวิว ของ Toyota
Corolla Altis กันเสียที ยิ่งเมื่อรุ่นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร เปิดตัวในเมืองไทย ช่วง เดือนพฤษภาคม 2009
คำถามังกล่าว ก็เริ่มได้ยินเข้ามาถึงูของผม กับน้องๆ The Coup Team ของเรามากขึ้น ว่าเมื่อไหร่
อีตาจิมมี่ มันจะเขียนรีวิว Altis กันเสียที

เพียงแต่ ไม่นึกเหมือนกันว่า กว่าที่รีวิวนี้ จะเอาขึ้นเว็บกันได้ คุณผู้อ่านก็ต้องรอนานถึงเพียงนี้

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ในช่วงแรก ที่ตั้งใจจะทำ Full Review ของ Corolla Altis เดิม โดยเติม
ภาคผนวกของ Corolla Altis 2.0 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ เข้าไปด้วย

แต่…เนื่องจากว่า..รถที่ทาง Toyota จัดมาให้ มีสติ๊กเกอร์ แปะด้านข้างไว้หราเลย ว่า “Corolla ALTIS
2.0 NEW!” ข้าพเจ้าเลยเกิดความเซ็งเป็ด อย่างถึงที่สุด…เพราะรูปที่ถ่ายออกมา มันจะไม่เข้าพวก
กับรูปถ่ายของ รุ่น 1.6 ลิตร คันสีดำ และ 1.8 ลิตร คันสีเงิน ที่เคยเอาลงรีวิว ในเว็บเก่าๆ ที่ข้าพเจ้า
เคยโดนหลอก ให้เอารีวิวที่ตัวเองทำ ไปลงในเว็บของเขาอย่างนั้น ซึ่งถ้าจะต้อง เอามาทำเป็นเวอร์ชัน
Re-Make ก็จะดูไม่งาม

อีกทั้งจากนั้นไม่นาน ก็มีกระแสข่าว ลอยมาเข้าหูว่า ปี 2010 Toyota ก็จะมีรุ่นปรับโฉม Minorchange
ให้กับ Corolla Altis กันอีกรอบ แถมใส่เครื่องยนต์ใหม่ และมีเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT มาให้

เลยตัดสินใจว่า เอาอย่างนี้แล้วกัน เพื่อไม่ให้เสียเวลา ไม่ให้เหนื่อยเปล่าฟรีๆ ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว
มาทำรีวิว รถรุ่นนี้ กันอีกรอบทั้งที ก็ทำแบบ Full Review กันไปเลย รวดเดียว แล้วแอบ แปะข้อมูล
และสัมผัสในเชิงเปรียบเทียบ กับรถรุ่นก่อนปรับโฉม ทั้งหมดไปด้วยเลย จะดีกว่า

เหตุที่ตัดสินใจ ทำรีวิวของ Corolla Altis คราวนี้ โดย ยกระดับขึ้นเป็น Full Review ทั้งที่เป็นเพียง
รถยนต์รุ่นปรับโฉม Minorchange นั้น อธิบายไม่ยากเลยครับ

โดยปกติแล้ว ถ้าเป็นรถยนต์รุ่นปรับโฉม Minorchange ทั่วๆไป หากมีกระแสถามไถ่ว่าอยากให้ทำรีวิว
The Coup Team ของเรา ก็จะมาสุมหัวคุยกัน พิจารณากันว่า มันมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ หรือ
รายละเอียดข้างใน รวมทั้ง ระบบส่งกำลังหรือไม่

หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในประเด็นทั้ง 2 เท่ากับว่า เราไม่ต้องทำการทดองอัตราเร่ง และอัตรา
สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยกันใหม่ ดังนั้น เราจึงสามารถนำตัวเลขที่เคยทำเก็บเอาไว้อยู่แล้ว มาใช้
ในการอ้างอิง ลงบทความได้เลย เพียงแต่ อาจจะต้องมีการจับตัวเลขกันแบบไม่จริงจังอีกสัก 2-3 ครั้ง
เพื่อยืนยันว่า ไม่ได้แตกต่างจากรถรุ่นเดิม ที่เราเคยทำตัวเลขกันไปก่อนหน้านั้น ตัวอย่างที่เคยผ่านมือ
เราในกรณีเช่นนี้มาแล้ว มี Honda Accord 2.0 Minorchange , Volvo S80 2.5 FT และ Nissan TIIDA
1.6 S Minorchange

แต่ในกรณีนี้ นอกจากจะปรับรูปลักษณ์ภายนอก ปรับเพิ่ม และถอดอุปกรณ์ ในรุ่นย่อยต่างๆ กันวุ่นวาย
ไปหมดแล้ว Toyota ยังเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ ให้กับรุ่น 1.6 ลิตร กับ 1.8 ลิตรกันเลย แถมเอาเกียร์อัตโนมัติ
แบบ อัตราทดแปรผัน หรือ CVT มาติดตั้งในรถรุ่นนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ Toyota ในเมืองไทย

เมื่อเป็นเช่นนี้ เท่ากับว่า รถรุ่นนี้ มีการปรับปรุงขนานใหญ่ จนทำให้เราจำเป็นต้อง ติดต่อขอยืม Corolla
Altis ใหม่ มาจับเวลาหาอัตราเร่ง และทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย กันใหม่ แทบทุกรุ่น รวม
3 คัน กันอีกรอบหนึ่ง

เพราะไม่เพียงแต่ คุณผู้อ่านหรอก ที่อยากจะรู้ว่า Corolla Altis ใหม่ จะมีความเปลี่ยนแปลง ไปในทางที่ดีขึ้น
จากรุ่นเดิม มากน้อยแค่ไหน และอย่างไรบ้าง…

ผมเอง รวมทั้ง The Coup Team ทุกคน ก็อยากรู้เหมือนคุณๆนั่นละครับ ว่า อัตราเร่งจะดีขึ้นใหม่ จะประหยัด
กว่ารุ่นก่อนหรือเปล่า แล้วพวงมาลัยที่เบาหวิว จะแก้ไขกันแล้วหรือยัง คันเร่งจะยังแอบทำเสียว ค้างๆ คาๆ
อยู่บ้างไหม?

มาหาคำตอบไปด้วยกัน เลยดีกว่า!

สำหรับ Toyota แล้ว Corolla คือรถยนต์นั่งที่ถือว่ามีความสำคัญมากที่สุดในบรรดารถยนต์แทบทุกรุ่นที่ยักษ์
อันดับ 1 จากญี่ปุ่นรายนี้ พัฒนา และผลิตออกขาย เพราะเป็นรถยนต์นั่งที่ผลิตออกมามากที่สุด และแน่นอน
ว่ายังพ่วงตำแหน่ง รถยนต์ขายดีที่สุดประจำค่าย อีกด้วย จนกลายเป็นรถยนต์ 1 ใน 5 รุ่นสำคัญ ที่ถือเป็น
รถยนต์รุ่นยุทธศาสตร์ สำหรับการบุกตลาดของ Toyota ทั่วโลก (4 รุ่นที่เหลือ ก็คือ Camry Prius Hilux IMV
หรือ Vigo และ Vitz/Yaris)

Corolla รุ่นแรก เปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1966 หรือเมื่อ 45 ปีที่แล้ว ยุคที่เรียกกันว่า ประชายนต์นิยม หรือ
Motorization กำลังเบ่งบานในแดนอาทิตย์อุทัย ยุคที่ ครอบครัวญี่ปุ่นเริ่มแยกตัวออกมามีขนาดเล็กลงเพียง
พ่อ แม่ ลูก ยุคที่พวกเขา เริ่มมีฐานะที่ดีขึ้นจากเศรษฐกิจ ซึ่งกำลังเติบโต จนมองหาสินค้า 3 C’s อันได้แก่
air-Conditioners, Color televisions and Cars : เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์สี และรถยนต์ มาไว้อำนวยความ
สะดวกสบายแก่ครอบครัวมากขึ้น

 

สิ่งที่ Mr.Tatsuo Hasegawa อดีต Chief Engineer หัวหน้าวิศวกรโครงการพัฒนา Corolla คนแรก (หรือที่
รู้จักกันในนาม “บิดาแห่ง Corolla”) มองในตอนนั้นคือ เขาไม่ได้คิดจะสร้างแค่รถยนต์ธรรมดาทั่วๆไป
แต่เขาต้องการสร้างรถยนต์ครอบครัว ในราคาที่ทุกคนก็ซื้อหามาขับใช้งานได้ แต่ต้องมีคุณภาพดี ต้อง
ไม่ลดคุณภาพไปพร้อมกับการลดต้นทุน ทุกชิ้นส่วนของรถ จะต้องได้คะแนนในการประเมินด้านคุณภาพ
เกินกว่า 80 คะแนน บางชิ้นจะต้องทำให้ได้ถึง 90 คะแนน จาก เต็ม 100 คะแนน ด้วยซ้ำ

เมื่อถึงเวลาเปิดตัว ในขณะที่ Nissan Sunny คู่แข่งสำคัญที่ Toyota ตั้งใจจะโค่น มีเครื่องยนต์แค่ 1,000 ซีซี
Toyota ตัดสินใจ พัฒนาเครื่องยนต์ K คาร์บิวเรเตอร์ ให้มีความจุกระบอกสูบ เพิ่มขึ้นอีก 100 ซีซี แล้วก็โหม
โฆษณาว่า “คุณค่าที่มากกว่า 100 ซีซี” ในตอนแรก สื่อมวลชนต่างพากันช็อค ว่า เป้าหมายยอดผลิตในปี 1967
ของ Corolla รุ่นเดียวจะต้องมากถึง 30,000 คัน (ทั้งที่ในขณะนั้น กำลังการผลิตต่อปีของ Toyota ทำได้แค่
50,000 คัน เท่านั้น) หนำซ้ำ พนักงานขายส่วนใหญ่ ก็ยังไม่เข้าใจว่า 100 ซีซี ที่เพิ่มเข้ามา มันแตกต่างมากน้อย
แค่ไหน แต่หลังจากนั้นไม่นาน Corolla ก็เริ่มมียอดขายนำลิ่ว ตีตื้น แล้วก็แซงหน้า Nissan Sunny ขึ้นไปได้
จนกลายเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ในวงการรถยนต์ญี่ปุ่น (และนับตั้งแต่นั้นมา ต่อให้ Nissan พยายามทำรถ Sunny
Sentra และบรรดารถยนต์ขนาดเล็กรุ่นอื่นๆ ออกมาอย่างไร ดีแค่ไหน ก็ไม่อาจเทียบยอดขายกับ Corolla ได้เลย)

นับจากนั้น จนถึงวันนี้ Corolla ก็ยังคงครองตำแหน่งรถยนต์นั่งยอดนิยมมากที่สุดของผู้คนทั่วโลก ทั้งในด้าน
ยอดขาย และชื่อเสียงที่สั่งสมกันมานาน ในฐานะ รถยนต์นั่งขนาดมาตรฐาน คุณภาพระดับโลกยอมรับทั้งใน
ด้านความทนทาน ประโยชน์ใช้สอย สมรรถนะ ที่อยู่ในระดับกลางๆ ประหยัดน้ำมัน ดูแลรักษาไม่ยาก และ
เป็นมิตรกับทั้งสิ่งแวดล้อม จนครองใจผู้คนทุกชนชั้น นี่แหละ คุณค่าของ Corolla ที่แท้จริง

ตัวเลขสถิติที่น่าสนใจก็คือ นับตั้งแต่เปิดตัว โคโรลล่า ครองแชมป์รถยนต์ขายดีที่สุดในญี่ปุ่นต่อเนื่องกันมาแล้ว
ถึง 36 ปี! ด้วยยอดขายรวมเฉพาะในญี่ปุ่น เพียงแห่งเดียว กว่า 11 ล้านคัน!! แต่ความจริง Corolla ทำยอดผลิต
ทั่วโลก ผ่านหลัก 10 ล้านคัน มาตั้งแต่ เดือนมกราคม 1983 แล้ว!!!!! ปัจจุบันนี้ Corolla ทุกรุ่น ทุกตัวถัง มีจำหน่าย
มากกว่า 140 ประเทศในโลก ด้วยยอดขายรวม เกินกว่า 36 ล้านคันทั่วโลกเข้าไปแล้ว!!!!!!!!!! เรียกได้ว่า ประเทศ
ไหน มี Toyota เข้าไปขายรถยนต์ ประเทศนั้น ต้องมี Corolla ขายด้วย ตัวเลขเหล่านี้ ยืนยันได้ถึงความไว้วางใจ
ของลูกค้าทั่วโลก ที่มีต่อรถยนต์คอมแพกต์รุ่นสำคัญที่สุดและขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Toyota และของ
วงการรถยนต์ทั่วโลกได้อย่างดียิ่ง เพราะขายดีจนเกินหน้าเกินตา Volkswagen Golf และ Ford Model-T 
ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น อีก 2 รถยนต์รุ่นขายดีที่สุดของโลก ตั้งแต่เริ่มมียานพาหนะชนิดนี้กันมาเลย

สำหรับตลาดเมืองไทย Toyota เริ่มนำ Corolla รุ่นแรก KE10 เข้ามาขาย แบบสั่งนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคันจาก
โรงงาน Takaoka ในญี่ปุ่น มาเปิดตัวถึงเมืองไทย เมื่อปี 1966 ถึง 1967 ส่วนเจเนอเรชันที่ 2 หรือ KE20 KE25
เปิดตัวในปี 1970 ตามห่างตลาดญี่ปุ่นไม่นานนัก

Corolla เริ่มถูกสั่งเข้ามาขึ้นสายการผลิตในเมืองไทยอย่างเป็นทางการ ในรุ่นที่ 3 KE30 เมื่อปี 1974 – 1975
ณ โรงงานประกอบรถยนต์ที่สำโรง ทำตลาดเรื่อยมา ในฐานะรถยนต์นั่งรุ่นยอดนิยมที่ขายดีที่สุดในเมืองไทย
อย่างต่อเนื่องมายาวนาน จนถึงรุ่นที่แล้ว เจเนอเรชันที่ 9 ZZE122 อัลติส ที่ย้ายมาขึ้นสายการประกอบที่โรงงาน
เกตเวย์ ฉะเชิงเทรา ตลอด 44 ปีที่ผ่านมา จำนวนประชากรของโคโรลล่า ในเมืองไทย มียอดขายสะสมมากถึง
กว่า 530,000 คัน!!

จริงอยู่ว่า ยากที่ใครจะอาจหาญมาโค่นบรรลังก์รถยนต์รุ่นสำคัญที่คนทั่วโลกนิยมกันมากที่สุดลงได้ง่ายๆ แต่ก็
ใช่ว่าจะไม่มีใครพยายามจะฮึดสู้ อย่างไรก็ตาม ในปี 2002 สัญญาณแห่งความถดถอยของ Corolla ก็เริ่มปรากฎขึ้น
เมื่อยอดขายในญี่ปุ่นของ Toyota Corolla โดน Honda Fit/Jazz รุ่นแรก เบียดแซงขึ้นไปครองแชมป์ยอดขายรถยนต์
ในญี่ปุ่น อันดับ 1 แทน อยู่ 1 ปี และในอีกไม่นานหลังจากนั้น Honda Fit/Jazz ก็สามารถแย่งแชมป์ ไปจากมือของ
Corolla ได้สำเร็จ…จนทุกวันนี้ ยอดขายของ Corolla ทำได้ดีที่สุด ก็แค่ติดอันดับ 1 ใน 5 รถยนต์ขายดีของญี่ปุ่นใน
แต่ละเดือน เท่านั้น

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันน่าฉงน สื่อมวลชนในญี่ปุ่น ต่างพากันสงสัยว่า ฤา นี่จะเป็นลางบอกเหตุ แห่งการ
สิ้นสุดยุคสมัยของ Corolla?

ถึงแม้ตลาดอเมริกาเหนือ และอื่นๆทั่วโลก รวมทั้งในเมืองไทย Corolla ก็ยังคงความนิยม ด้วยยอดขายในระดับ
สูงพอให้ยังคงอยู่รอดได้ในตลาด เพราะกลุ่มลูกค้าที่คิดจะซื้อรถยนต์ C-Segment Compact Class Sedan ยังเป็น
กลุ่มลูกค้าหลักในตลาดหลายๆแห่งทั่วโลก

แต่สำหรับตลาดญี่ปุ่นแล้ว ความนิยมในรถยนต์ Sedan 4 ประตู ที่เริ่มลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ จากการก้าวเข้ามา
แทนที่ของรถยนต์กลุ่ม มินิแวน MPV ทั้งหลาย รวมทั้งการพัฒนาของรถยนต์ รุ่นต่างๆ ทั้งในค่าย Toyota เอง
หรือจะเป็นคู่แข่งยี่ห้ออื่นๆ ให้มีขนาดตัวถังใหญ่โตขึ้น และมีอรรถประโยชน์ใช้สอย รวมทั้ง สมรรถนะ และ
ความประหยัดน้ำมัน ที่เริ่มเหนือชั้นกว่า Corolla เรื่อยๆ จนทำให้ คุณค่าของ Corolla ถูกบดบังรัศมีลงไปเรื่อยๆ
ทุกขณะ ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น เริ่มมองไม่เห็นความจำเป็นท่จะต้องซื้อ Corolla มาใช้งานต่อไป ในเมื่อพวกเขามี
รถยนต์ Hybrid อย่าง Prius มีรถยนต์ขนาดเล็กสุดอเนกประสงค์ อย่าง Honda Fit/Jazz มี มินิแวน ที่ตอบโจทย์
ครอบครัวยุคใหม่มากขึ้นเช่น Nissan Serena หรือ Honda StepWGN ไม่เว้นแม้แต่ Toyota Noah / Voxy หรือ
Wish เองเสียด้วยซ้ำ

ตระกูล Corolla ในญี่ปุ่น นอกจากรถยนต์สำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์ รุ่นหั่นออพชันออกไปจนหมดแล้ว
ดูเหมือนจะมีเพียงรุ่นเดียวที่ยังพอเชิดหน้าชูตาได้ ในด้านยอดขาย นั่นคือ Corolla Fielder ตัวถัง 5 ประตู
Station Wagon ที่ยังมีจุดขาย ด้านความอเนกประสงค์ เอาใจลูกค้าวัยรุ่น ที่อยากได้รถขนาดเล็ก พื้นที่จุของ
กว้างขวาง แต่รถต้องใหญ่ขึ้นมาจากระดับ Vitz / Yaris สักเล็กน้อย 

ถึงแม้ว่า Takeshi Yoshida อดีต Cheif Engineer ระดับดาวรุ่งของ Toyota ที่เคยรับหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการ
พัฒนา Soluna WISH Matrix/ Voltz / Pontiac Vibe จะเคยทุ่มความพยายามทั้งหมดในการพลิกโฉม Corolla
รุ่นที่ 9 ภายใต้แนวคิด “Corolla ที่ไม่ใช่ Corolla แบบเดิมๆ อีกต่อไป” รวมทั้ง การสร้าง Corolla ออกมา 2 ขนาด
ความกว้างตัวถัง ทั้งรุ่นมาตรฐาน หน้า-หลังสั้น กว้าง 1,695 มิลลิเมตร ในชื่อ Normal Body สำหรับตลาดญี่ปุ่น
ออกสู่ตลาดเมื่อเดือนสิงหาคม 2000 และตลาดส่งออกในเอเซียและตะวันออกกลางบางประเทศ กับรุ่นตัวถังกว้าง
Wide Body ขายในตลาดเอเซียด้วยชื่อ Corolla Altis เปิดตัวในไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2001 แต่การณ์กลับเป็นว่า
รุ่นตัวถัง Wide Body ในชื่อ Altis กลับทำยอดขายสะสม ภาพรวม ได้ดีกว่า เวอร์ชันตัวถังสั้น ซึ่งเริ่มมียอดขายค่อยๆ
ลดลงเรื่อยๆ ในตลาดญี่ปุ่น

ดังนั้น ในปี 2003 Toyota จึงตัดสินใจสร้าง Corolla รุ่นที่ 10 ภายใต้รหัสรุ่น ZZE-150 Series โดยฝากความหวัง
ในการกอบกู้คุณค่าความเป็น Corolla กลับมาในสายตาของลูกค้าทั่วโลก เอาไว้กับ Executive Chief Engineer
หรือหัวหน้าวิศวกรผู้เข้ามารับหน้าที่ดูแลโครงการพัฒนา Corolla รุ่นปัจจุบัน ผู้มีชื่อว่า Soichiro Okudaira

 

Okudaira-San เข้าร่วมงานกับ Toyota Motor Corporation ในปี 1979 (อันเป็นปีที่ Corolla รุ่นที่ 4 หรือรุ่น
ทีคนไทยเรียกว่า DX เพิ่งจะเปิดตัว) ในช่วง12 ปีแรกที่ Toyota Okudaira-san ได้รับมอบหมายแต่บรรดางาน
ออกแบบจิปาถะไปเรื่อยเปื่อย ตั้งแต่ ใบปัดน้ำฝน จนถึง ระบบ Power Door Locks ของ Lexus LS400 รุ่นแรก
(หรือ Toyota Celsior ในญี่ปุ่น) ในแผนก Body Engineering

พอปี 1992 เขาก็ย้ายไปทำงานที่ Washington D.C. นาน 3 ปี เพื่อร่วมเป็นหนึ่งในทีมงานศึกษาวิจัย แนวโน้ม
ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยจากการชน และศึกษาข้อกฎหมายด้านความปลอดภัยในการขนส่ง
ที่กระทรวงคมนาคมของสหรัฐอเมริกา กำหนดขึ้นในช่วงนั้น เพื่อนำมาปรับปรุงจนเป็นโครงสร้างตัวถังนิรภัย
GOA (Global Outstanding Assessment) ที่คนไทยคุ้นหูกันดีนั่นเอง

ปี 1995 เขาถูกเรียกตัวกลับมาญี่ปุ่น เพื่อมารับงานวางแผนพัฒนาพื้นตัวถัง (Platform) ใหม่ สำหรับรถยนต์
ขับเคลื่อนล้อหลัง FR (front engine, rear wheel drive) ซึ่งเริ่มจากรุ่น Aristo 2nd Generation ที่แผนก Body
Engineering Division 1 ในศูนย์พัฒนายานยนต์ Toyota Development Center 1

จากนั้น ในปี 1999 เมื่อ Aristo รุ่นที่ 2 ออกขายไปแล้ว เขาก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการพัฒนา รถยนต์
ขับเคลื่อนล้อหลัง ฝาแฝดร่วม Platform และงานวิศวกรรม อย่าง Toyota Pregres และ Toyota Brevis ในฐานะ
ผู้จัดการด้านงาน Product Planning ซึ่งหลังจากที่ได้รับมอบหมายให้เป็น Chief Enginneer ของ Sedan รุ่น
Brevis ในปี 2001 แล้ว เขาก็ยังย้ายไปอยู่ ศูนย์พัฒนายานยนต์ Toyota Development Center 2 เพื่อรับเป็น
Cheif Engineer ให้กับรถยนต์ Sub-Compact Crossover บนพื้นฐานของรถยนต์ขับล้อหน้าขนาดเล็ก อย่าง
Toyota IST 2nd Generation (ปัจจุบันขายในสหรัฐฯด้วยชื่อ Scion xA และ Toyota Urban Cruiser ในยุโรป

เป็นไงครับ ประสบการณ์มากขนาดนี้ เพียงพอหรือไม่สำหรับการได้รับมอบหมายงานชิ้นสำคัญที่สุดใน
ชีวิตของเขา ณ ตอนนี้ นั่นคือ การเข้ามาดูแลโครงการ Corolla รุ่นที่ 10 ในช่วงปี 2003 อันเป็นปีที่ Corolla
รุ่นที่คุณเห็นอยู่นี้ เพิ่งเริ่มต้นงานพัฒนากัน

 

สิ่งแรกที่ Okudaira-San คิดขึ้นมา ในช่วงเริ่มต้นการสร้าง Corolla รุ่นปัจจุบัน ก็คือ Toyota จำเป็นต้อง
สร้างรถรุ่นนี้โดยเปลี่ยนแนวทางการคิดของตน และรับฟังมุมมองของลูกค้าเสียใหม่  เพราะในการ
พัฒนา Corlla รุ่นก่อนๆ นั้น พวกเขาใช้วิธี สร้างรถขึ้นจากพื้นฐานความต้องการของลูกค้าชาวญี่ปุ่น
แล้วค่อย ใส่เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าไปให้กับแต่ละตลาดที่แตกต่างกัน

แต่คราวนี้ Okudaira-San กลับคิดและมองต่างออกไป เขามองและตั้งเป้าหมายให้ Corolla ใหม่ สามารถ
ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั่วโลก เป็นหลัก โดยเริ่มต้นงานด้านการพัฒนาสมรรถนะและการขับขี่
ในยุโรป ส่วนเรื่องขอการรักษาสิ่งแวดล้อม และการออกแบบให้ง่ายต่อการใช้งานของทุกๆคน (User’s
FriendlyX ในสหรัฐอเมริกา และเริ่มต้นคำนึงถึงขนาดความสบายในห้องโดยสาร กันตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น
ของโครงการพัฒนารถรุ่นนี้กันเลยทีเดียว

ผลลัพธ์ที่ออกมา ก็คือ Corolla Sedan 2 ตัวถัง สำหรับ 2 กลุ่มตลาด เหมือนเช่นรุ่นก่อน โดยในเวอร์ชันญี่ปุ่น
จะเป็นครั้งแรกที่ Toyota เพิ่มชื่อ Sub Name ต่อท้ายรุ่น Sedan ภายใต้ชื่อ Corolla AXIO (ชื่อนี้ มาจากคำว่า
AXIA ในภาษากรีก อันแปลว่า “คุณภาพ” บ่งบอกถึงความพยายามครั้งใหม่ ในการยกระดับความคุ้มค่าที่เป็น
จุดขายหลักของ Corolla มาช้านาน ให้ดียิ่งขึ้น (ส่วนรุ่นแวกอน ยังคงมีชื่อต่อท้ายว่า “Fielder” เหมือนเดิม)

เหตุผลที่ต้องทำตัวถังแยก เป็น 2 ขนาดความกว้าง เพราะว่าในญี่ปุ่น มีกฎหมายการแบ่งพิกัดขนาดรถยนต์
เพื่อการจัดเก็บภาษีอยู่ 3 แบบ คือ

– แบบ K-CAR ไม่เกิน 660 ซีซี ไม่เกิน 64 แรงม้า (PS) เสียภาษีต่างๆต่ำสุด
– รถยนต์ขนาดเล็ก 5 NUMBERS เครื่องยนต์ไม่เกิน 2,000 ซีซี แรงม้าไม่เกิน 200 ตัว (PS) ตัวถังกว้างไม่เกิน 1,700 มิลลิเมตร
– รถยนต์นั่งมาตรฐาน 3 NUMBERS ที่มีขนาดใหญ่เกินพิกัดทั้ง 2 ข้อข้างบนขึ้นไป เสียภาษีต่างๆเยอะสุด

สาเหตุที่ Corolla ขายดีในญี่ปุ่นตลอดมา เพราะว่าขนาดตัวถัง ถูกจำกัคความกว้างไว้ไม่ให้เกิน 1,700 มิลลิเมตร
ทำให้ลูกค้า เสียภาษีในกลุ่ม 5 NUMBERS แต่ขณะเดียวกัน ความกว้างแค่นี้ ลูกค้านอกญี่ปุ่น เริ่มมองว่า
มันแคบไป เมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดฝั่งญี่ปุ่น ที่ทะยอยยกระดับไปชิงดีชิงเด่นกันนอกญี่ปุ่นเกือบจะ
หมดแล้ว (เหลือ Nissan TIIDA เอาไว้ รุ่นเดียวที่ยังคิดจะโค่น Corolla อยู่) โชคดีที่ Toyota มีงบเยอะพอ
ที่จะสร้างตัวรถออกมา 2 ขนาดความกว้าง สำหรับความต้องการในตลาดที่แตกต่างกัน ผิดกับค่ายอื่น ที่
ต้องเลือกไปเลยว่า จะต่อสู้กันแค่ตลาดในญี่ปุ่น และเอเซย หรือว่าจะยกระดับ ไปซัดกันบนเวทีที่ยุโรป
หรืออเมริกาเหนือไปเลย

การทำตัวถังแยกออกมาเป็น 2 ขนาดความกว้างนั่นไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับ Toyota เพราะในสมัยก่อน
Toyota เคยใช้วิธีนี้ในการทำตลาด Camry รุ่นปี 1990-1994 ช่วงนั้น Camry ยังต้องการยอดขายในญี่ปุ่น
อยู่ เพราะยังขายดี เนื่องจากตัวถังกว้างไม่เกิน 1,700 มิลลิเมตร ทำให้เสียภาษีในพิกัด 5 NUMBER อยู่
อย่างไรก็ตาม ตลาดต่างประเทศ ต้องการรถที่มีตัวถังกว้างขึ้น เพื่อให้ Camry สามารถแข่งขันกับคู่แข่ง
อย่าง Honda Accord และ Ford Taurus ในตอนนั้นได้  จึงต้องทำเวอร์ชันตัวถังกว้าง WIDE BODY
ผลิตในทั้งสหรัฐอเมริกา ที่โรงงาน Kentucky และโรงงานที่ Australia ออกขายในตลาดต่างประเทศ
ควบคู่กันไปด้วย แล้วก็มีบางส่วนส่งกลับมาขายในญี่ปุ่นเองด้วยชื่อ Scepter แล้วตามด้วย Camry Gracia
แต่ ปัจจุบันนี้ Camry ขายดีในสหรัฐอเมริกา และทั่วโลก มากพอที่จะไม่ต้องแยแสตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเปลี่ยน
รสนิยม หันไปซื้อ Minivan กันมากขึ้น Generation ที่ 5 กับ 6 ของ Camry จึงมีตัวถังเพียงขนาดเดียว
เพียงแต่มีหน้าตาต่างกัน 2 เวอร์ชันเท่านั้น คือเวอร์ชันญี่ปุ่น-อเมริกา และ เวอร์ชันออสเตรเลีย-เอเซีย
อย่างที่เห็นในบ้านเรา ซึ่งทั้งหมด ก็เป็นสถานการณ์เดียวกันกับที่กำลังเกิดขึ้นใน Corolla Altis รุ่นนี้

เวอร์ชันที่ทำตลาดในญี่ปุ่นของ Corolla Axio และ Fielder ถือเป็นรุ่น NORMAL BODY ซึ่งมาพร้อมกับ
ขนาดตัวถังเท่ากันกับรุ่นเดิมทั้ง 2 แบบ ด้วยความยาว 4,410 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,460 ถึง
1,470 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ 2,600 มิลลิเมตร

แต่ สำหรับเวอร์ชันตลาดโลก ซึ่งเป็นตัวถังเดียวกันกับ เวอร์ชันไทย ที่เรากำลังเริ่มจะพูดถึงกันนับจากนี้
จนจบบทความ ใช้ตัวถังแบบ WIDE BODY หรือมีความกว้างเกินพิกัดรถยนต์ขนาดเล็กของญี่ปุ่นที่
1,700 มิลลิเมตร นั่นเอง เมื่อมีการขยายความกว้างเรียบร้อยแล้ว ตัวรถของเวอร์ชันไทยจะมีขนาดตัวถัง
ยาวขึ้นกว่าเดิม 4,530 เป็น 4,540 มิลลิเมตร กว้างขึ้นจากเดิม 1,710 เป็น 1,760 มิลลิเมตร ถือว่ากว้างที่สุด
ใน บรรดารถยนต์ C-Segment Compact Class จากฝั่งญี่ปุ่น ความสูงอยู่ที่ 1,490 มิลลิเมตร แต่ยังคงมีระยะ
ฐานล้อเท่ารถรุ่นก่อนที่ 2,600 มิลลิเมตร

Corolla Altis รุ่นปัจุบัน เผยโฉมครั้งแรกในเมืองไทย บนแท่นหมุน ในงาน Motor Expo เมื่อวันที่
28 พฤษภาคม 2007 ณ Challenger Hall เมืองทองธานี ตามปกติแล้ว เมื่อใดที่ Toyota เปิดตัว Corolla
ในเมืองไทย กระแสความฮือฮา จะเยอะมาก เพราะเป็นรถยนต์ที่ผู้คนเฝ้ารอติดตามดูความเปลี่ยนแปลง
เพื่อหวังจะซื้อหามาเป็นเจ้าของกัน

แต่ ในวันนั้น ผมยังจำได้ดีว่า ปฏิกิริยา ของผู้เข้าชมงาน แม้แต่พนักงานขายของ Toyota จากดีลเลอร์ต่างๆ
เอง ก็เถอะ  สายตาที่จับจ้องไปยัง รถคันสีทองบนแท่นหมุนนั้น ถ้าไม่รู้สึกเฉยชา ก็คงรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ
อยู่บ้าง ซึ่งมันแตกต่างไปจากการเปิดตัว Corolla รุ่นเปลี่ยนตัวถังใหม่ ทุกครั้งที่ผ่านมา อย่างน่าหวั่นใจ
ยิ่งพอเป็นรอบประชาชนทั่วไป ยิ่งเห็นได้ชัดว่า ในวันนั้น ผู้คน ไม่ได้ตื่นเต้นอะไรเลย บ้าง ก็ มอง อย่าง
ไม่เชื่อสายตา เข้าไปดูใกล้ๆ แล้วหันไปพูดกับผองเพื่อนอีกสองคนที่มาด้วยกันว่า “เนี่ยเหรอวะ รุ่นใหม่
ไม่เห็นว่ามันจะต่างจากเดิมเลยหวะ!” แล้วก็พากันเดินเฟดหายตัวจากไป

นั่นคือลางบอกเหตุได้อย่างดีว่า หลังการเปิดตัว เมื่อ 29 มกราคม 2008 ที่รัชดาลัยเธียร์เตอร์ ศูนย์การค้า
และโรงภาพยนตร์ The Esplanard ถนนรัชดาภิเษก ชะตากรรมของ Corolla Altis ใหม่ ในช่วงเริ่มต้น
เป็นอย่างไร แม้ว่า Toyota จะพยายามเดินตามรอยทางแห่งความสำเร็จของ Corolla Altis รุ่นก่อนหน้า
ด้วยภาพยนตร์โฆษณา ที่ดึงเอา ดารา Hollywood อย่าง ออลแลนโด บลูม มาเป็น พรีเซ็นเตอร์ แต่ด้วย
เหตุที่หนังเรื่องนั้น มีพล็อตเรื่องจืดชืด แถมยังใช้สโลแกน ตุ่นๆ ว่า Be your own star (ซึ่งมันควรเป็น
สโลแกน สำหรับ Mercedes-Benz มากกว่า) ผนวกับการที่ งานออกแบบภายนอก ไม่ได้สร้างความ
แตกต่างไปจากรุ่นก่อนมากมายนัก ทำให้ เป้าหมายยอดขายระดับ 2,500 คัน/เดือนนั้น กว่าจะไต่
ไปถึงได้ ต้องเรียกว่า เหนื่อยกันจนหืดขึ้นคอ แถมยังโดนค่อนขอดทุกครั้ง เมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบ
กับคู่แข่งตัวฉกาจอย่าง Honda Civic FD ซึ่งมียอดขายในระดับ 3,500 คัน/เดือน ว่า ถ้าตัดยอดขาย
จากลูกค้ากลุ่ม สหกรณ์ Taxi ที่ซื้อ Corolla LIMO (เปิดตัว ช่วงปลายปี 2008) ออกไป ตัวเลขก็จะเท่ากัน
หรือน้อยกว่า Civic แหงๆ แน่นอน กระแส ดับสนิท ผิดกับ โฆษณาในยุค Brad Pitt โดยสิ้นเชิง!

ต่อมา ภาพยนตร์โฆษณา ชุดออร์แลนโด บลูม ที่สร้างขึ้นจากการลงขันใช้งบร่วมกันในหมู่ผู้จำหน่าย
Toyota โซนเอเซีย ที่มีรถรุ่นนี้เข้าไปขาย ถูกปลดออกมา แล้วแทนที่ด้วย ภาพยนตร์โฆษณา เรื่องใหม่
ซึ่งถ่ายทำแถวๆ สนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมกับ เสียงของ Narrator ที่เน้นถ้อยคำเชิงโฆษณา ขบกัด
คู่แข่งอย่าง Honda Civic โดยอ้อมๆ

พอล่วงเข้าปี 2009 Toyota ก็เอาใจลูกค้าที่บ่นๆ ว่าอยากได้รุ่น 2.0 ลิตร และปิดจุดอ่อนของตน ด้วยการ
เปิดตัว Corolla Altis 2.0 ลิตร ออกมา เมื่อ 7 พฤษภาคม 2009 ใส่เครื่องยนต์ 3ZR-FE 141 แรงม้า (PS)
เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ Super ECT อัดออพชัน พร้อมระบบนำทางมาให้ ราคาเริ่มตั้งแต่ 949,000 บาท
ในรุ่น 2.0 G 1,044,000 บาท ในรุ่น 2.0 V และ 1,184,000 บาท ในรุ่น 2.0 V Navi แต่ Toyota ก็ไม่ได้หวัง
ยอดขายจากรุ่นนี้มากนัก เพราะตั้งเป้าไว้แค่เดือนละ 250 คัน ซึ่งก็คงจะได้แถวๆ เป้าหมายไปตามคาด
ตามด้วยรุ่น 1.6 Advance CNG ติดตั้งก๊าซธรรมชาติอัดมาให้จากโรงงาน แต่ยอดขาย ก็ยังทำได้ดีขึ้นแค่
ส่วนหนึ่ง

ทั้งหมดนั้น คือที่มา ของการปรับโฉม Minorchange ครั้งใหญ่ ตามอายุขัยในตลาด เมื่อ 5 สิงหาคม 2010
ณ โรงแรม พลาซา แอทธินี ถนนวิทยุ คราวนี้ Toyota ตัดสินใจสร้างกระแสด้วยการดึง คุณโฬม นักแสดง
ละครโทรทัศน์จาก วิกช่อง 3 มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ พร้อมกับทำหนังโฆษณาออกมา ได้โดนใจลูกค้ามากๆ
เพราะแทบทำให้คนที่ไม่รู้เรื่องรถมาก่อน เชื่อสนิทใจว่า มีการเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคัน ทั้งที่จริงแล้ว เป็น
แค่การปรับโฉม Minorchange ครั้งใหญ่ เท่านั้น

เริ่มจากการปรับรูปโฉมด้านหน้ารถ ซึ่งโดนลูกค้าตำหนิ ถึงความไม่สวย ของรุ่นก่อน คราวนี้ กระจังหน้า
และเปลือกกันชนหน้า ถูกออกแบบให้แตกต่างกัน 3 ลักษณะ

หากเป็นรุ่น 1.6 ลิตร ทั้ง รุ่น J และ LIMO CNG จะเป็นกระจังหน้า แบบ 2 แถบนอน ออกแบบให้ดูคล้ายกับ
กระจังหน้าของ Toyota Camry รุ่นปัจจุบัน ถ้าเป็นรุ่น 1.6 E ขึ้นไป รวมทั้งรุ่น 1.8 ลิตร จะคาดแถมโครเมียม
เพิ่มเข้ามาให้ ทั้ง 2 แถว (ภาพประกอบบทความนี้ รุ่น 1.6 ลิตร เป็นคันสีเขียวอ่อน และรุ่น 1.8 ลิตร คือคันสีดำ)

และถ้าเป็นรุ่น 2.0 ลิตร (ภาพประกอบบทความนี้ เป็นรถคันสีขาว) กระจังหน้าจะเปลี่ยนเป็น ลายตาข่าย
พร้อมกระจังหน้าสีเทาควันบุหรี่ เมทัลลิก ดูสปอร์ตเข้มข้น ยิ่งขึ้น ชุดไฟหน้า ถูกปรับปรุงใหม่ ให้มีแนว
ขอบด้านล่าง สอดรับ และแอบมีมุมย้อยเล็กๆ ไฟหน้าทุกรุ่นเป็นแบบ ฮาโลเจนธรรมดา ยกเว้นรุ่น 2.0 V
และ V Navi ที่จะใช้ไฟหน้าแบบ HID พร้อม โครมรมดำแบบ Smoked Chrome (ปรับระดับโดยอัตโนมัติ)
พร้อมระบบเปิด-ปิด ไฟหน้า อัตโนมัติ ไฟตัดหมอกหน้า มีให้เฉพาะรุ่น 2.0 ลิตรเท่านั้น ติดตั้งฝังในเบ้ายึด
ไฟตัดหมอก ที่ออกแบบมาให้ดูคล้ายกับ ใน Toyota Prius ใหม่ล่าสุดที่เพิ่งจะส่งเข้ามาประกอบขายในไทย

 

ส่วนด้านหลังรถ ทุกรุ่น เปลี่ยนชุดไฟท้ายเป็นลายใหม่ รวมทั้ง แผงทับทิม บนฝากระโปรงหลัง ก็ถูกออกแบบ
ให้สอดรับกับไฟท้ายมากขึ้น โดยไม่คิดจะเปลี่ยนร่องติดแผงทับทิม บนชิ้นส่วนฝากระโปรงหลัง ให้เล็กลง
แต่อย่างใด แต่เปลือกกันชนหลัง ออกแบบใหม่ ให้มีไฟทับทิมขนาดเล็ก ที่ดูโฉบเฉี่ยวสะดุดตามากขึ้นกว่า
แบบวงกลมเล็กๆ บื้อๆ ในรุ่นเดิม

ด้านข้างตกแต่งคล้ายคลึงกัน มือจับประตูด้านข้างสีเดียวกับตัวรถทุกรุ่น ส่วนคิ้วกันกระแทกก็เป็นสีเดียวกับ
ตัวรถเช่นกัน กระนั้น ตั้งแต่ รุ่น 1.6 E ขึ้นไป จะมีแถบโครเมียม ฝังในคิ้วมาให้ด้วย พร้อมกับจะมีสเกิร์ต
ด้านข้าง เสริมมาให้ครบถ้วนเสร็จสรรพ และในรุ่น 2.0 ลิตร จะมี สปอยเลอร์ด้านหลัง เสริมมาให้อีกด้วย

กระจกมองข้างของทุกรุ่น Toyota ใจป้ำ ให้มาเป็นสีเดียวกับตัวรถ แถมยังมีไฟเลี้ยวในตัวทุกคัน และ
ปรับตำแหน่งด้วยสวิชต์ไฟฟ้าทุกรุ่น ยกเว้นรุ่น LIMO อย่างไรก็ตาม รุ่น 1.6 J และ LIMO ยังต้องใช้วิธี
พับเก็บด้วยมือ ขณะที่รุ่นอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ เป็นแบบ พับด้วยสวิชต์ไฟฟ้ากันหมดแล้ว

ล้ออัลลอย ในรุ่น 1.6 ลิตรทุกรุ่น จนถึง 1.8 E จะเป็นล้ออัลลอย 15 นิ้ว ลาย 7 ก้าน พร้อมยางขนาด 195/65 R15
ส่วนในรุ่น 1.8 G และ 2.0 ลิตรทุกรุ่น จะใช้ล้ออัลลอยลายใหม่ 5 ก้าน สปอร์ต ขนาด 16 นิ้ว พร้อมยางขนาด
205/55 R16

 

กุญแจในรุ่น 2.0 V / 2.0 V Navi จะเป็นแบบ รีโมทคอนโทรล Smart Entry พร้อม Immobilizer ซึ่งมีหน้าตาตัวรีโมท  
เหมือนกันตั้งแต่ Lexus จนกระทั่ง Camry HYBRID ยัน Yaris เลยทีเดียว บอกไปตั้งหลายรอบแล้วว่า ช่วยยกกลับไป
ดีไซน์มาใหม่เสียทีเถอะ ให้มันดูดีมีชาติตระกูลกว่านี้หน่อย แต่ก็เปล่า สุดท้าย หน้าตารีโมท ก็ยังดูเหมือนรีโมทกุญแจ
กันขโมย ABT หรือ รีโมทสวิชต์เปิด-ปิดประตูรั้วบ้าน อยู่ดี เขียนถึงไปหลายที แต่ชาวญี่ปุ่น เขาก็ยังไม่คิดจะปรับปรุง
กันเสียทีเลยแหะ…การติดเครื่องยนต์ ใช้วิธีกดปุ่ม Push Start เหมือน Toyota / Lexus หลายๆรุ่น

ขณะที่กุญแจของรุ่น 2.0 G รวมทั้งรุ่น 1.8 ลิตร และ รุ่น 1.6 ลิตร (ยกเว้น 1.6 J เกียร์ธรรมดา จะมีสวิชต์ ปลด
และสั่งล็อก มาให้ ฝังในลูกกุญแจเลยเสร็จสรรพ มีระบบ Immobilizer ด้วยเช่นเดียวกัน หน้าตา คุ้นๆว่า
เหมือนกุญแจใน Hilux Vigo และ Vios กับ Yaris ชอบกลแหะ

และเพื่อให้เห็นว่า กุญแจของรุ่น 1.6 ลิตร เหมือนกับรุ่น 1.8 ลิตรจริงๆ เราก็เลยถ่ายรูป มาให้ชมกันชัดๆ ข้างบนนี้
การติดเครื่องยนต์ ของทั้งรุ่น 1.6 ลิตร และ 1.8 ลิตร ยังคงต้อใช้วิธี เสียบกุญแจเข้ารูที่คอพวงมาลัยฝั่งขวา แล้วบิด
หมุน ติดเครื่องยนต์ ตามวิธีการดั้งเดิม อยู่ดี

 

เอาละครับ นับจากนี้ ผมจะขอพาคุณผู้อ่านเข้าสู่ โลกแห่งความน่าปวดหัว อันเกิดจากความแตกต่าง
อย่างละเอียดยิบ ในทุกรุ่นย่อย ของ Corolla Altis Minorchange ใหม่กันเสียที อุปกรณ์ที่เยอะแยะ
ไปหมดขนาดนี้ บางรุ่นมีสิ่งนั้น บางรุ่น ไม่มีสิ่งนี้ อีกรุ่นหนึ่ง ขาดสิ่งนั้น อีกรุ่นหนึ่ง ไม่มีสิ่งนี้
วุ่นกันเข้าไป สนุกสนานบานตะไทจริงๆเลยทีเดียว

ตอนแรก นึกในใจว่า สงสัยคงได้ชวนคุณผู้อ่าน เล่น Photo Hunt จับผิดภาพเหมือน กันอีกแหงๆ
เพราะดูเหมือนว่า ไม่น่าจะมีอะไรแตกต่างกัน แต่ทันทีที่เปิดประตูรถ รุ่น 2.0 ลิตรเข้าไป ผมก็
พบว่า คงจะเอามุข Photo Hunt มาใช้ ไม่ได้เสียแล้วละ

ดูโทนสีที่ใช้สิครับ ดำขรึมมาแต่ไกลเลยทีเดียว แถมยังใช้ลายไม้ด้าน สีน้ำตาลเข้มประดับแผงประตู
ช่วยทำให้ วัสดุภายในซึ่งด้อยกว่าคู่แข่งอย่างชัดเจน ดูดี และสวยงามขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ในขณะเดียวกัน รุ่น 1.8 ลิตร ก็ยังให้โทนสีภายในแบบเดิม คือสีเบจ แตกต่างกันตรงที่ ลายประดับ
บนแผงประตูด้านข้าง เปลี่ยนมาใช้ ลายสีเงินเมทัลลิก เหมือนรุ่น 1.6 ลิตร ทุกรุ่น แทน

การเข้าออก จากรถ ทำได้ดีเป็นปกติ ของรถยนต์ในระดับนี้ ถ้าสังเกตดีๆ เมื่อเทียบกับ Corolla Altis
รุ่นเก่า (รุ่นปี 2001 -2008 ) คุณจะพบว่า เบาะนั่งมีตำแหน่งเตี้ยลงกว่าเดิม นิดนึง ไม่เยอะนัก
แต่ก็หย่อนก้นลงไปนั่งได้สบายๆ

รุ่น 1.6 ลิตร ก็เป็นเช่นเดียวกันนี้ ไม่ด้แตกต่างกันไปมากนัก หากมองเพียงผิวเผิน

มือจับเปิดประตูจากภายในรถ พยายามจะออกแบบให้สวยงาม แต่ว่า รายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อย
ที่ขาดหายไป บริเวณรอบๆ พื้นที่สำหรับแหย่นิ้วเข้าไปในร่อง เพื่อดึงมือจับเปิดประตู ยังทำออกมา
ไม่เรียบร้อยพอ ทำให้เมื่อใช้งานจริง บางคนก็รู้สึกแปลกๆไปเองก็มี เป็นเรื่องนานาจิตตังกันไป

มือจับประตูในรุ่น 1.8 และ 2.0 ลิตร จะเป็นสีเงินเมทัลลิค ส่วนรุ่น 1.6 ลิตรลงไป (รูปล่าง) เป็นเรซิน

แต่ปัญหาสำคัญ ที่ผมมองว่า เกี่ยวข้องกับความสบายในการเดินทางเลยทีเดียว หนะ อยู่ที่การออกแบบ
แผงประตู ให้มีที่วางแขน ซึ่งไม่สามารถจะวางข้อศอกลงไปได้เลย หากคุณนั่งในตำแหน่งเบาะฝั่งซ้าย
ด้านข้างคนขับ และต่อให้นั่งอยู่ในตำแหน่งคนขับเอง ก็จะวางข้อศอกได้ไม่ดีนัก เว้นแต่จะปรับตำแหน่ง
เบาะคนขับให้เตี้ยต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงจะได้ใช้ประโยชน์จากที่วางแขนทรงแปลกๆนี้

ถ้าต้องการวางข้อศอกลงไปได้ คุณต้อง เอียงตัว ลงไปให้ข้อศอก วางลงไปได้พอดี ซึ่งถ้าดูเหมือนว่า
จะมีเพียง สิ่งมีชีวิตประเภทเดียว ที่มีแขน และข้อศอก ยาวพอจะวางศอกตนเอง บนที่วางแขน ณ
แผงประตูข้างของ Altis ใหม่ได้ ก็คือ ลิงอุรังอุตัง นั่นเอง!

น่าแปลกใจว่า ทำไม รถรุ่นเก่า มีแผงประตูที่วางแขนได้สบายดีแล้ว พอมารุ่นใหม่ กลับแก้ไข
เสียจนคุณงามความดีข้อนี้ หายไปเกลี้ยง และกลับกลายเป็นสิ่งน่าตำหนิ ไปเสียฉิบ! จนป่านนี้
ผมก็ยังไม่รู้สาเเหตุที่แท้จริงว่า ทำไม ทีมออกแบบภายใน ถึงเลือกที่จะทำแผงประตูออกมาให้
ลาดเอียงมากถึงเพียงนี้ จนทำให้ไม่อาจใช้งานได้จริง แถมจนป่านนี้ พวกเขาก็ยังไม่คิดแก้ไขกันเลย

 

เบาะนั่งคู่หน้าแม้จะถือว่า นั่งสบายขึ้น และมีความยาวของเบาะรองนั่งยาวขึ้นกว่า Altis รุ่นเดิม
(รุ่นปี 2001 -2008) อยู่นิดนึง แต่ เมื่อต้องขับรถรุ่นนี้ติดๆกัน เป็นสัปดาห์ๆ จริงอยู่ว่า ผมยังไม่พบ
อาการปวดหลังแต่อย่างใด ทว่า เบาะนั่ง ก็ยังไม่ถึงขั้น นั่งสบายเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับคู่แข่ง
ในตลาด รุ่นใหม่ๆ ทั้งหลายที่ทะยอยเปิดตัวในช่วง 2 ปีมานี้ แต่อย่างใด

เฉพาะรุ่น 2.0 V และ 2.0 V Navi ที่จะมีเบาะคนขับปรับด้วยไฟฟ้า มาให้

ตำแหน่งเบาะนั่ง ที่ไม่ได้สูงเท่ากับ Altis รุ่นปี 2001 – 2008 มากนัก เป็นผลมาจากความพยายาม
ลดความสูงของตัวรถลงมา 15 มิลลิเมตร เพื่อหวังให้ตัวรถขับขี่ได้ดีเข้าโค้งได้ดีขึ้นด้วย มีส่วน
ทำให้ ทีมวิศวกรจำเป็นต้องรักษาพื้นที่เหนือศีรษะเอาไว้ ให้โปร่งพอจะรองรับ ความสูงของ
ใครก็ตามที่ สูงเกิน 180 เซ็นติเมตร และนั่นทำให้ต้องลดความสูงของตำแหน่งเบาะลดลงไปด้วย
นิดนึง อาจจะทำให้การเข้าออกจากเบาะนั่ง ต้องลดตัวหย่อนก้นลงไปนั่งมากกว่ารุ่นเดิม ก็จริงอยู่
แต่ ก็ไม่ถึงกับเตี้ยมากมาย อย่างที่ Corolla AE-111 เป็นมา

ฝั่งขวาในรูป เบาะคู่ห้า ทุกรูป ทุกรุ่น คือตำแหน่งของเบาะที่เตี้ยสุด เมื่อเทียบกับตำแหน่งของ
เบาะผู้โดยสารข้างคนขับ ที่ยึดตายตัวปรับสูงต่ำไม่ได้

แต่กระนั้น จุดที่ผมอยากจะขอให้ปรับปรุงกันคือ วัสดุที่นำมาใช้ เป็น หนังหุ้มเบาะ ซึ่งไม่ว่าจะเป็น
รุ่น 1.6 G ยัน 2.0 V Navi ลูกค้า ก็จะได้รับเบาะนั่ง ที่หุ้มด้วยหนังสังเคราะห์ เหมือนกันทั้งหมด
พื้นผิว ก็สะอาดดีอยู่หรอก เพียงแต่ว่า หากใช้หนังหุ้มเบาะ แบบเดียวกับ Toyota Camry หรือ
ใกล้เคียงกัน ต่างกันไม่มากนัก เชื่อว่า ความรู้สึกของผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย ที่เคยมองว่าห้องโดยสาร
ของ Altis ใหม่ มีเบาะนั่งที่ Look Cheap จะหายไปในที่สุด

ตั้งแต่รุ่น 1.6 G ขึ้นไป เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าจะเป็นแบบ ELR 3 จุด ปรับระดับสูง – ต่ำ ได้ พร้อมระบบ
ลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ Pre-tensioner & Load Limiter มาให้ ครบทุกรุ่น แต่ในรุ่น 1.6 E
1.6 J และ 1.6 CNG ทั้ง เกียร์อัตโนมัติ และ ธรรมดา จะไม่มีระบบนี้มาให้

การเข้าออกจากประตูคู่หลัง ก็ยังคงทำได้ดีพอกันกับ Corolla Altis ตัวถังที่แล้ว (รุ่นปี 2001 – 2008)
บานประตูเปิดกางออกได้กว้าง แค่เพียงเท่าที่เห็นอยู่นี้ กระจกหน้าต่างไฟฟ้าคู่หลัง เลื่อนลงมาได้
แค่เกือบสุดขอบ ลงไปไม่ได้มากกว่านี้อีกแล้ว แผงประตูด้านข้าง มีช่องใส่แก้วน้ำ หรือขวดน้ำขนาด
เล็ก 7 บาท มาให้ ใส่พอดีๆ และยังเป็นช่องใส่ของจุกจิกในตัว ได้อีกต่างหาก

รุ่น 2.0 ลิตร ตกแต่งด้วยสีดำ จนดูขรึม เหมือนเป็นรถราคาแพง (แต่ลองเอามือลูบลงไปบนหนัง
หุ่มเบาะ คุณก็จะรู้ว่า นี่ก็คือ Toyota 1 คันนั่นเอง

รุ่น 1.8 ลิตร จะตกแต่งด้วยสีเบจ และทำให้ภายในรถดูสว่างตา อย่างไรก็ตาม สังเกตดีๆ จะเห็นว่า
ที่บริเวณกรอบประตูด้านล่าง จะมีแผ่น สครัพ เพลท สีเงินๆ ติดมาให้จากโรงงาน ทั้งในรุ่น 2.0
และ 1.8 ลิตร ขณะที่รุ่น 1.6 ลิตร (ในรูปข้างล่างนี้) จะไม่มีแผ่นดังกล่าวติดตั้งมาให้แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม หากสังเกตที่รุ่น 1.6 G ให้ดีๆ จะพบว่า ช่องใส่หนังสือ ด้านหลังของพนักพิงเบาะคู่หน้า
จะลดลงจาก 2 ฝั่ง เหลือเพียงแค่ ฝั่งผู้โดยสาร ด้านซ้าย มาให้เท่านั้น ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็ค่อนข้างเหมาะสม
กับลักษณะการใช้งานองรถประเภทนี้ ที่มักจะถูกใช้เป็นรถยนต์ประจำตำแหน่งตามบริษัทต่างๆ และมักมี
ผู้เดินทางไปเพียงแค่คนเดียว บนเบาะหลัง ส่วนใหญ่ นั่งกันฝั่งซ้าย ดังนั้น ตำแหน่งช่องใส่หนังสือที่
มีมาให้ ถือว่า เหมาะสมดี (คือดีกว่าไม่ให้มาเลยสักช่อง) พร้อมกันนี้ ยังมีที่เขี่ยบุหรี่ แบบมีฝาปิดมาให้
เหมือนกับรุ่นอื่นๆ

 

เบาะนั่งด้านหลัง ก็ยังพอจะนั่งได้ สบายกว่ารถรุ่นก่อน (หมายถึง Altis รุ่นปี 2001)  มีมุมเอนมากขึ้นนิดนึง
ไม่เยอะนัก พื้นที่เหนือศีรษะ มีมาให้พอดีๆ ไม่มากน้อยไปกว่าที่คาดคิด เหมือนเดิม ถ้าใครสูง ไม่เกิน
180 เซ็นติเมตร ผมว่า คงยังไม่เจอปัญหาหัวติดเพดานมากนัก เบาะรองนั่ง ก็ยังคงเหมือนเดิม คือ ขาดอีก
นิดเดียว จะนั่งได้เต็มก้นกว่านี้ พื้นที่วางขาด้านหลัง เป็นแบบ เรียบขนานทั้งฝั่งซ้าย และ ขวา ควรจะทำ
เบาะรองนั่งออกมาให้ยาวกว่านี้อีกสักหน่อย ไม่ใช่สั้นเต่อขนาดนี้

การวางแขนบนแผงประตู ก็ ไม่ได้แตกต่างอะไรจากประตูคู่หน้าเลย วางข้อศอกลงไปไม่ได้ แค่เอาข้อมือ
ไปวางแหมะ เอาไว้บนแผงสวิชต์ หน้าต่างไฟฟ้า ได้ นั่นก็ดีใจแล้ว ผิดกับ ที่วางแขนด้านหลัง พับเก็บได้
ซึ่ง วางแขนได้กำลังดีกว่ากันนิดหน่อย มีช่องวางแก้วน้ำมาให้ 2 ตำแหน่ง พร้อมฝาปิดในตัว ซึ่งโอกาสจะ
กระเด้งกระเดิดเปิดกางออกมาเอง ก็มีอยู่เหมือนกัน

การตกแต่งของรุ่น 2.0 ลิตร ใช้โทนสีดำ ยิ่งทำให้ เบาะนั่งด้านหลัง ดูจากรูปแล้ว เหมือนว่าภูมิฐาน เป็น
ผู้ใหญ่ ติดสปอร์ตนิดๆ ประดับตกแต่ง แผงสวิชต์หน้าต่างไฟฟ้า บนแผงประตู กับ ฝาปิดช่อวางแก้ว เป็น
ลายไม้ด้าน สีน้ำตาลเข้ม เหมือนกับด้านหน้าของรถ

นอกจากนี้ ในรุ่น 2.0 V และ 2.0 V Navi ยังจะมี ม่านบังแดดหลัง แบบ อัตโนมือ (ใช้มือยกขึ้น-ยกลงเอง)
มาให้เป็นพิเศษ และจะไม่มีในรุ่น 2.0 G หรือ รุ่นอื่นๆ

เบาะหลัง ในรุ่น 1.8 ลิตร ก็ยังคงเป็นเบาะชุดเดียวกันกับ รุ่น 2.0 ลิตร เพียงแต่จะแตกต่างกันเล็กน้อย
ทั้งการใช้โนสีเดิม คือสีเบจสว่างๆ ประดับแผงสวิชต์หน้าต่างไฟฟ้า และฝาปิดช่องวางแก้ว บนที่วางแขน
แบบพับเก็บได้ตรงกลางเบาะหลัง เป็นลวดลายสีเงินเมทัลลิค แทนที่จะยังเป็นลายไม้ สีน้ำตาลปานกลาง
แบบเดียวกับรถรุ่นก่อนปรับโฉม

ทั้งรุ่น 2.0 ลิตร และ 1.8 ลิตร จะให้ เข็มขัดนิรภัยเบาะหลัง แบบ ELR 3 จุด ครบทุกตำแหน่ง

ส่วนเบาะหลังในรุ่น 1.6 ลิตร จะไม่มีทั้งที่วางแขนพับเก็บได้ ถ้าอยากจะวางแก้วน้ำ ก็ไปวางที่แผงประตู
อีกทั้ง เบาะหลัง ยังไม่สามารถพับทะลุไปยังห้องเก็บของด้านหลังได้ แต่อย่างใด อีกทั้งจะมีเข็มขัด
นิรภัยแบบ ELR 3 จุด มาให้ ทุกตำแหน่งเบาะนั่ง เฉพาะรุ่น 1.6 G คันที่เห็นอยู่นี้เท่านั้น ส่วนรุ่น 1.6 E
1.6 J เกียร์ธรรมดา และอัตโนมัติ รวมทั้ง รถรุ่น 1.6 CNG จะมีเข็มขัดนิรภัยด้านหลังแบบ ELR 3 จุด
มาให้เฉพาะ ฝั่งซ้าย และ ขวา ส่วนตรงกลาง จะเป็นแบบคาเอว ELR 2 จุดมาให้แทน ตามเดิม

 

ขณะที่เบาะหลัง ของรุ่น 2.0 ลิตร ทุกคัน จะแบ่งพับได้ ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของ
ด้านหลัง สามารถทะลุถึงกันได้

และรุ่น 1.8 ลิตร ก็จะสามารถแบ่งพับเบาะได้แบบนี้ เหมือนกัน (แหงละสิ เบาะนั่ง ชุดเดียวกัน ต่างแค่
วัสดุหุ้มเบาะ ที่มีโทนสีต่างกันแค่นั้นเลยนี่นา)

การพับเบาะ ต้องดึงก้านโยก บริเวณ ด้านบนสุดของพนักพิงเบาะหลัง สังเกตให้ดีๆ จะอยู่ติดกับ
พนักศีรษะตรงกลาง ของทั้งฝั่งซ้าย และขวา ดึงขึ้นมา แล้วยกพนักพิง พับลงมาอย่างที่เห็นในรูปได้เลย

 

ฝากระโปรงหลังของทุกรุ่น ยกขึ้นมา แบบนี้ ไม่มีช็อกอัพคอยค้ำยันให้ยกตัวขึ้นนุ่มๆ แต่อย่างใด
อาจเพราะว่าเป็นของ ที่วิศวกรมองว่า ไม่จำเป็นต้องใส่มาให้สิ้นเปลือง ในตอนที่ลูกค้าจะต้อง
เคลมปลี่ยนชิ้นส่วน

ในรุ่น ตั้งแต่ 1.6 ลิตร และ 1.8 ลิตร ทุกรุ่น จะมีไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED ติดตั้งอยู่ด้านล่างของ
กระจกบังลมหลัง ส่วนรุ่น 2.0 ลิตร จะย้ายตำแหน่ง ไฟเบรก LED ไปติดตั้งไว้บนสปอยเลอร์หลัง
เป็นการทดแทน

พื้นที่ห้องเก็บของด้านหลังนั้น Toyota เคลมว่า ใหญ่พอจะใส่ถุงกอล์ฟ ได้ถึง 4 ใบ เอาใจนักกอล์ฟ
กันสุดๆ จะใหญ่แค่ไหน ผมก็ไม่รู้ รู้แต่ว่า ผมลงไปนอนแล้ว ยังพอมีพื้นที่เหลือให้ใส่ถังก๊าซ LPG
หรือ CNG สำหรับรถยนต์ ได้อีก 1 ถัง แถมด้วยคนร่างผอมๆ อย่างเจ้ากล้วย BnN แห่ง The Coup Team
ของเราได้แน่ๆ ก็แล้วกัน ความจุที่ Toyota ระบุเอาไว้คือ 475 ลิตร เมื่อยังไม่พับเบาะหลัง

 

เมื่อยกพื้นห้องเก็บของด้านหลัง ขึ้นมา จะพบว่า มีเครื่องมือประจำรถ แม่แรง และยางอะไหล่ ขนาด
เดียวกันกับยางติดรถทั้ง 4 ล้อมาให้ เพียงแต่เป็นกระทะล้อเหล็ก ซึ่งถือว่า เป็นความพยายามของ Toyota
ที่จะบอกว่า ยางอะไหล่ นั้น ควรจะมีหน้าที่ทำตัวเป็นแค่ยางอะไหล่ ไว้ ใช้พาคุณจากจุดที่จำเป็นต้อง
เปลี่ยนยาง มุ่งหน้าไปยัง ร้านขายยาง ที่ใกล้ที่สุด แล้วถอดเปลี่ยนยางอะไหล่ ไม่ใช่ เอามาใช้ทดแทน
กับยางเส้นที่ชำรุดกันไปเลย เหมือนอย่างที่เราๆ ท่านๆ มักจะทำกันอยู่ ดังนั้น Toyota จึงไม่ได้ให้
กระทะล้ออัลอย มาให้ หากแต่ ใช้กระทะล้อเหล็กสีดำ แทน ซึ่งก็ถือเป็นความคิดที่ดี เพราะอย่างน้อย
ยังพอจะควบคุมรถให้เดินทางไปถึงจุดหมายได้ โดยไม่ต้องใช้ความเร็วแค่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เช่นยางอะไหล่แบบบาง ล้อเหลือง ที่นิยมใส่ประจำรถกันมาให้ในญี่ปุ่น

ที่เขียนเรื่องนี้ยาวกว่าปกติ เพราะ ก่อนหน้านี้ Toyota เคยมีการประชุมในเรื่องนี้กันแล้ว เมื่อ ปี 2009
เนื่องจาก การใส่ล้ออัลลอยมาให้ แน่นอนว่านอกจากจะเพิ่มต้นทุนของรถแต่ละคันแล้ว มันยังเพิ่ม
น้ำหนักบรรทุกให้กับรถอีกด้วย ซึ่งส่ผลต่ออัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง แม้จะไม่มานักก็ตาม แต่ ด้วย
ลักษณะการใช้รถของคนไทย ที่ยังไม่ค่อยอยากจะยอมรับในประเด็นนี้ ดังนั้น ในเบื้องต้นถ้า
Toyota จะทำแบบนี้ ผมก็มองว่า เป็นเรื่องที “พบกันครึ่งทาง” ระหว่างผู้บริโภค กับผู้ผลิต กันดี
แล้วละ (แต่ถ้าจะให้ดี ใส่ล้ออัลลอย ขนาดเดียวกับรถมาให้อย่างเดิมนั่นแหละ ดีที่สุดแล้ว)

ถ้าคุณเห็นว่า สีตัวถัง พ่นมาให้ไม่ครบ อย่าตกใจครับ รถยนต์แทบทุกยี่ห้อในสมัยนี้ จะพ่นสีกัน
เฉพาะในส่วนที่คุณมองเห็นได้จากภายนอกเท่านั้น หรือประมาณ ร้อยละ 80 จากพื้นที่พ่นสีของ
รถยนต์ทั้งคัน ในสมัยก่อน เนื่องจาก ผลิตทุกราย มองเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องพ่นสีให้เยอะ เพื่อเป็น
การสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ และสัดส่วนของสี ที่ลดลงมาได้นั้น อาจจะมากพอให้นำไปพ่นกับรถยนต์
คันอื่นๆ ในสายการผลิต ตามมาได้พอดี กับสัดส่วน ร้อยละ 80 นี้ด้วยอีกต่างหาก และด้วยกรรมวิธี
การนำโครงตัวถังรถยกขึ้นไปชุบลงในบ่อสีกันสนิมทั้งคันอยู่แล้ว ดังนั้น เรื่องสนิม จึงไม่ใช่ปัญหา
ที่น่าห่วงมากนัก หากคุณไม่ได้นำรถไปใช้งานในย่านที่เสี่ยงต่อความเค็ม เช่น ริมทะเล

 

มาดูแผงหน้าปัด และการตกแต่งภายในกันบ้าง

รุ่น 2.0 ลิตร จะตกแต่งด้วยโทนสีดำเข้ม ตัดกับลายไม้ด้านสีน้ำตาลเข้ม และประดับข้างแผงควบคุม
หรือคอนโซลกลาง ด้วยลายเมทัลลิค สีเงิน ทำให้แผงหน้าปัด ดูดีมีชาติตระกูลขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์

ไฟในห้องโดยสาร มีทั้ง ไฟส่องสว่างกลางเพดานหลังคา และไฟอ่านแผนที่ อย่างที่เห็นในรูป
แผงบังแดด มีกระจกแต่งหน้าแบบเลื่อน เปิด-ปิด ได้ พร้อมไฟส่องสว่างมาให้ ครบทั้งฝั่งซ้าย – ขวา

ด้านหลังกระจกมองข้าง สังเกตให้ดีๆ จะมีเซ็นเซอร์ วัดแสง สำหรับระบบเปิด – ปิด ไฟหน้าอัตโนมัติ

พอมาเป็นรุ่น 1.8 G โทนสีภายใน ตอนนี้ จะเหมือนกับรุ่น 1.6 ลิตร ทั้งหมด คือ ใช้สีเท่าดำ ตัดกับ ตรีมอ่อน
 คอนโซลกลาง จะตกแต่งด้วยลายเมทัลิคสีเงิน แทนที่จะเป็นลายไม้ เหมือนอย่างรถรุ่นก่อนปรับโฉม
มีไฟอ่านแผนที่มาให้ แผงบังแดด มีกระจกแต่งหน้า พร้อมฝาเลื่อน เปิด-ปิด ได้ ทั้งฝั่งซ้าย – ขวาแต่ตัด
ไฟส่องแต่งหน้าออกทั้งคู่

และในรุ่น 1.6 ลิตร แม้จะตกแต่งเหมือน รุ่น 1.8 ลิตร แต่ แผงบังแดด แบบมีกระจกแต่งหน้าและฝาเลื่อน
เปิดขปิด มีมาให้ครบทุกรุ่น ในฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย ทว่า จะไม่มีกระจกแต่งหน้า มาให้ในแผงบังแดด
ฝั่งคนขับ ของรุ่น 1.6 J ทุกรุ่น

 

พวงมาลัยของทุกรุ่นสามารถปรับระดับได้แบบ Telescopic ปรับสูง-ต่ำ และระยะใกล้-ไกล ได้ 4 ทิศทาง

พวงมาลัยของรุ่น 2.0 ลิตรนั้น จะเป็นแบบ 3 ก้าน หุ้มหนัง ทรงสปอร์ต เอาเรื่อง จะว่าไปแล้ว
นี่ถือเป็นพวงมาลัยจากโรงงานของ Toyota ที่ผมชอบสุด ตั้งแต่ พวกเขา เริ่มประกอบรถยนต์
ในเมืองไทยเลยก็ว่าได้ เป็พวงมาลัยที่ยกมาจาก Toyota Auris หรือ Corolla ตัวถัง Hatchback
5 ประตูนั่นเอง จับกระขับเต็มอุ้งมือ บังคับเลี้ยวรถได้ดีมากๆ แถมยังมีแป้น Paddle Shift ทำจาก
พลาสติก ไว้ให้ผู้ขับขี่ เลือกเปลี่ยนเกียร์ ได้เองตามต้องการอีกด้วย อีกทั้งยังมีหัวเกียร์หุ้มหนังมาให้

แต่…ความแตกต่าง ก็มีให้เห็นอยู่ ในรุ่น 2.0 G และ 2.0 V จะมีก้านสวิชต์ระบบควบคุมความเร็วคงที่
Cruise Control รวมทั้งสวิชต์ ควบคุมชุดเครื่องเสียง และ หน้าจอ Multi Information Display บนหน้าปัด
เพียงลำพัง แต่ในรุ่น 2.0 V Navi จะมีปุ่มรับและวางสายโทรศัพท์ เติมเข้ามาให้ เชื่อมต่อกับระบบ
Blutooth ในรถ

ขณะที่พวงมาลัยเฉพาะในรุ่น 1.8 G ยกจาก Camry รุ่นปัจจุบัน มาสวมให้แทนพวงมาลัยแบบเก่าไปเลย
มีสวิชต์ควบคุมชุดเครื่องเสียง และหน้าจอ Multi Information Display มาให้ แถมยังหุ้มหนังให้กับ
พวงมาลัย และหัวเกียร์ให้อีกด้วย

และพอเป็นรุ่น 1.8 E ลงไป รวมทั้ง 1.6 ลิตร ทุกรุ่น พวงมาลัย และหัวเกียร์ จะเป็นแบบยูรีเทน 4 ก้าน
ออกแบบเหมือนรุ่น 1.8 G แต่จะไม่มีสวิชต์ใดๆบนพวงมาลัย มาให้เลยแม้แต่อย่างเดียว เรียบ โล้น
โล่งโจ้ง ไปอีกแบบ

Corolla Altis ทุกรุ่น จะให้กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ครบทั้ง 4 บาน โดยฝั่งคนขับ จะเป็นแบบ One Touch
กด หรือยกขึ้น สุดๆ ครั้งเดียว หน้าต่างฝั่งคนขับ จะเลื่อนขึ้น หรือ ลงเองโดยอัตโนมัติ พร้อมระบบ
ดีดกลับอัตโนมัติ เมื่อมีสิ่งกีดขวาง Jam Protection มาให้ ฝั่งคนขับ และมีกระจกมองข้างปรับ และ
พับได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า (ยกเว้นรุ่น 1.6 J เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ที่ปรับด้วยไฟฟ้า แต่ยังคงพับด้วยมือ)

ชวนให้สงสัยเล็กน้อยว่า ทำไม รถอย่าง Corolla Altis ยังมีกระจกมองข้างพับไฟฟ้ามาให้ แต่รถอย่าง
Prius ที่แพงกว่า กลับไม่มีติดตั้งมาให้? งงดีเหมือนกัน

ชุดมาตรวัด ของ Corolla Altis Minorchange MY 2011 จะมี 2 แบบ คือ แบบ Optitron ในรุ่น 1.8 G
และ 2.0 ลิตรทุกรุ่นย่อย เรืองแสงสีฟ้าขาวอ่อนๆ ช่างตัดกับแสงไฟบนจุดต่างๆของแผงหน้าปัด
ซึ่งเป็นสีส้มอำพัน มากไปหน่อยไหม?

มีจอ MID (Multi Information Display) แสดงข้อมูลหรือสัญญาณเตือน ทั้งอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ขณะขับขี่แบบ Real time อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ระยะทางที่น้ำมันในถัง เหลือพอให้รถ
แล่นต่อไปได้ โดยประมาณ ความเร็วเฉลี่ย ระยะเวลาในการขับขี่ Trip Meter A และ B มาตรวัด
แสดงการขับขี่ประหยัดน้ำมัน นาฬิกา และวัดอุณหภูมินอกรถ แบบ Digital   

รวมทั้งมี ไฟดวงเล็กตรงกลาง สีเขียว ECO จะโผล่ขึ้นมา เมื่อคุณขับรถ โดยเหยียบคันเร่งไม่เยอะนัก
เพื่อบอกว่า ตอนนี้ กำลังขับประหยัดอยู่นะ ไฟดวงนี้ จะอ่านค่าจากการเหยียบคันเร่ง และการคำนวน
ของกล่อง ECU ในการจ่ายน้ำมัน ผสมผสานกันไปด้วย ถ้าสัดส่วน ลงตัว เหมาะสม ตามที่คอมพิวเตอร์
คิดไว้ ก็จะแสดงไฟ ECO สีเขียวเรืองแสงขึ้นมา ให้ผู้ขับขี่ดีใจว่า “โอ้ ฉันขับประหยัดอยู่นะเนี่ย”  แม้
ตอนนั้น คุณจะใช้ความเร็วอยู่ที่ 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ตาม!! (เอ้า! จริงๆนะ มันจะดับไปตอนช่วง
140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ครับ)

แต่มาตรวัดที่ผมว่า อ่านง่าย สบายตายามค่ำคืนที่สุด กลับเป็น มาตรวัดแบบพื้นฐาน ในรุ่น 1.6 และ 1.8 ลิตร
ทุกรุ่น (ยกเว้น 1.8 G) ที่ใช้สีเหลืองอำพันตามเดิม มีตัวเลขจัดเรียงอย่างเหมาะสม อ่านแล้วยังไม่ลายตา
ขับเร็วๆ เหลือบตาลงมามอง ก็ยังอ่านข้อมูลได้ง่าย ฝั่งซ้ายมีจอ MID มาให้เหมือนกัน การแสดงผลอาจจะ
ไม่หวือหวา เท่ารุ่นที่ใช้มาตรวัด Optitron แต่ก็มีข้อมูลอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง มาให้เท่าที่จำเป็น และนั่น
เพียงพอแล้วสำหรับการขับรถในยามค่ำคืน แถมมีไฟ ECO สีเขียว เพิ่มมาให้ เหมือนกันอีกต่างหาก

แต่ที่แน่ๆ ทุกรุ่น มีมาตรวัดอุณหภูมิระบบหล่อเย็นมาให้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะมี และขาดหายไปจากรถรุ่นใหม่ๆ หลายรุ่นเลย

 

ในรุ่น 2.0 V Navi นั้น ให้ชุดเครื่องเสียง วิทยุ AM/FM พร้อมช่องใส่แผ่น DVD / CD 1 แผ่น รองรับทั้ง
DVD / CD / MP3 / WMA แต่ “ไม่มีช่องเสียบ USB หรือ AUX ใดๆ มาให้!”  มีจอมอนิเตอร์ สี 7 นิ้ว
ถ่ายทอดสัญญาณภาพจาก กล้องขนาดเล็กเหนือป้ายทะเบียนหลัง เพื่อช่วยกะระยะขณะถอยหลังเข้าจอด
นอกจากนี้ ยังมีระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation Display ด้วยข้อมูล บนแผ่นแผนที่ DVD
(มีช่องใส่แผ่นข้อมูลแผนที่ แยกให้อีก 1 ช่อง กดปุ่ม Open รอให้หน้าจอเลื่อนลงมา จะเห็นช่องใส่แผ่น
รวม 2 ช่อง ช่องล่าง ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน จนกว่าคิดจะเปลี่ยนแผ่นแผนที่ใหม่ ช่องบน เอาไว้เล่นแผ่นเพลง)
นอกจากนี้ ยังมีระบบ Bluetooth สามารถใช้หน้าจอของระบบนำทาง เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ในตัวได้อีกด้วย
ติดตั้ง พร้อมลำโพง 6 ชิ้น ให้คุณภาพเสียงที่ จัดอยู่ในเกณฑ์ ดีเกินหน้าเกินตา Toyota รุ่นอื่น อยู่เล็กน้อย
แน่นอนว่าคุณภาพเสียงภาพรวมดีกว่า Honda Civic ด้วยซ้ำ

ส่วนตั้งแต่รุ่น 2.0 V ธรรมดา 2.0 G จะให้ ชุดเครื่องเสียง AM/FM เล่นแผ่น CD / MP3 / WMA ได้ 6 แผ่น
แถมยังมีช่องเสียบ AUX มาให้อีกด้วย พร้อมลำโพง 6 ชิ้น ทั้ง 2 แบบ คุณภาพเสียง แทบไม่ได้ต่างจากรุ่น
2.0 V Navi เลย

แต่ใน รุ่น 1.8 ลิตร ทั้ง 1.8 G (คันที่อยู่ในภาพ) และ 1.8 E จะเป็นเครื่องเสียงชุดเดียวกัน แต่ลดเหลือเพียง
4 ลำโพง และเล่น CD ได้ เพียง แผ่นเดียว เหมือนกันกับรุ่น 1.6 ลิตร

เครื่องปรับอากาศ ของรุ่น 1.8 ลิตร และ 2.0 ลิตร ทุกรุ่น จะเป็นแบบหน้าจอ Digital ซึ่งมันมีเรื่องแปลกอย่างนึง
แม้ว่า ทีมออกแบบ จะทำออกมาได้สวยงาม แต่ถ้าในยามค่ำคืน หากคุณต้องการเห็นแสงสว่างครบทั้งหมด
คุณต้องจำใจ เลือกที่จะให้ไล่ฝ้าทำงาน แต่แอร์ก็จะไม่ทำงานด้วย อย่างเช่นที่พยายามถ่ายมาให้ดูกันในรูป
ก่อนหน้ารูปข้างบนนี้ แอร์ยังไม่ใช่แบบแยกฝั่งซ้าย – ขวา แต่อย่างใด

 

ส่วนความแตกต่างในรุ่น 1.6 ลิตร นั้น เครื่องปรับอากาศ จะไม่มีปุ่มกดอะไรให้มันดูหรูหรา มากเกินไปกว่า
สวิชต์กลมๆ ทรงฝากระบอกยา เหมือน Toyota Yaris แปะเอาไว้ 3 ฝา ปุ่มกด บนเบรกมือ ก็เป็นวัสดุธรรมดา
ไม่ได้เป็นโลหะสะท้อนแบบรุ่นอื่นๆเขา

แต่ชุดเครื่องเสียงนั้น หน้ากาก เหมือนๆกัน กับรุ่น 1.8 ลิตร แต่ไส้ใน เป็นวิทยุ AM/FM เล่นแผ่น CD / MP3 /
WMA ได้แค่แผ่นเดียว ลำโพง มีมาให้ 4 ชิ้น (ถอดทวีตเตอร์ จากรุ่นแพงกว่านี้ออกไป 2 ชิ้น) คุณภาพเสียง
เอาเข้าจริงแล้ว คล้ายคลึงกับในรุ่น 1.8 ลิตรมาก แทบไม่ต่างกันนัก ขาดเพียงแค่ลำโพงทวีตเตอร์ สักคู่ เท่านั้นเลย

ต่อให้อุปกรณ์แต่ละรุ่นย่อย แตกต่างกันอย่างไร อย่างน้อย จะมี 2 รายการ ที่ให้มาเหมือนกันครบทุกรุ่น
อุปกรณ์แรก ก็คือ ลิ้นชักเก็บของบรแผงหน้าปัด ซึ่งมีมาให้ครบ ทั้ง 2 ชั้น ด้านล่าง เอาไว้ใส่เอกสารประจำรถ
คู่มือผู้ใช้รถ คู่มือระบบนำทาง (ในรถคันที่ติดตั้งมาให้) รวมทั้ง สีแต้มกรณีเป็นรอยถลอก ซึ่งทุกวันนี้
Toyota ดูเหมือนจะป็นเพียงบริษัทรถยนต์ รายเดียวในเมืองไทยแล้วกระมัง ที่ยังใจดี แถมสีแต้ม
ให้ลูกค้าเอาไปใช้ได้อยู่ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ผมชอบมาก

ส่วนช่องบนนั้น เอาไว้ใส่ของจุกจิก แต่ ก็ใช้งานได้ไม่มากมายนัก พอจะเอาแว่นกันแดดไปวางไว้
หรือจะติดเครื่องรางของขลัง ประจำรถ ก็คงจะได้อยู่

รวมทั้งช่องวางของ ที่ด้านข้างแผงควบคุมกลาง ซึ่งพอจะวางของจุกจิกได้อีกนิดหน่อย มีมาให้ทุกรุ่น

อีกอุปกรณ์หนึ่ง ซึ่งจะมีมาให้เหมือนกันทั้งหมด ทุกรุ่น นั่นคือ ช่องวางแก้วน้ำ แบบมีฝาปิด ที่ไม่มีลูกเล่น
อะไรมากมายให้ดูรู้สึกหรูหราเลย มีฝาปิดแยกชิ้น แบบทื่อๆ มาให้ทั้ง 2 ตำแหน่ง เรียกได้ว่า เปิดฝาปุ๊บ
วางแก้วน้ำแหมะลงไป ก็พอแล้ว

ส่วนกล่องคอนโซลกลางนั้น จะมี 2 ชั้น โดยมีที่พักแขน แบบเลื่อนเข้า – ออกได้ เป็นฝาปิดในตัว เป็นฝาปิด
เมื่อเปิดออก จะพบถาดขนาดเล็ก วางของ หน้าตาเหมือนกับ ถาดในปิ่นโต ทัพเพอร์แวร์ ใส่ข้าวกลางวัน
ของเด็กประถม ไม่มีผิดเพี้ยน พอยกฝาทัพเพอร์แวร์นั้นขึ้นมา ก็จะเป็นกล่องคอนโซลขนาดลึก วาง
กล่อง CD ได้ ตามสมควร

เบรกมือ ของรถทุกรุ่น ยังคงติดตั้งเอาไว้ในตำแหน่งเดิม เหมาะสำหรับใครที่อยากจะดริฟต์ หรือล็อกล้อ
เอาไว้ขณะจอดบนทางลาดชัน ฯลฯ

เคยมีคุณผู้อ่านสอบถามเข้ามาเหมือนันว่า เราน่าจะลองทำ ทัศนวิสัยตอนกลางคืน บ้าง
งานนี้ ก็เลยทดลองถ่ายภาพมาในช่วงหัวค่ำ มาให้ได้ชมกัน และใช้แสง สีจริง โดยไม่ได้
มีการปรับแต่งใดๆ ทั้งสิ้น

ทัศนวิสัย ด้านหน้า เมื่อมองออกไปจากตำแหน่งคนขับ ก็มองเห็นชัดเจนปกติดี ไม่มีอะไร
ที่ผิดแปลกไปจากปกติ เว้นเสียแต่ว่า ถ้าปรับตำแหน่งเบาะนั่งคนขับ ลงต่ำสุด ก็จะพบว่า
ตำแหน่งเบาะคนขับ ในระดับต่ำสุด จะเตี้ยกว่าตำแหน่งต่ำสุดของเบาะนั่งใน Altis รุ่นก่อน
(ZZE-122 รุ่นปี 2001 – 2007 ) อยู่นิดหน่อย

เสาหลังคาคู่หน้าฝั่งขวา ดูเหมือนจะบาง และดูราวกับว่ามีมุมมองที่ดีขึ้นกว่ารถรุ่นเดิม
แต่ก็แอบบดบัง รถที่แล่นสวนมา บนทางโค้งขวา อยู่บ้าง ส่วนกระจกมองข้าง ก็มีขนาดปกติ
มาตรฐาน ในแบบที่คนไทยคุ้นเคย มองเห็นครบถ้วนดี

เสาหลังคาคู่หน้า ฝั่งซ้ายมือ จะดูเหมือนหนา และ เหมือนจะมีการบดบัง แต่ความจริง ก็ยัง
ไม่เห็นว่าจะบดบังการเลี้ยวกลับมากมายอย่างที่คิด ข้อนี้ แตกต่างจาก Camry รุ่นปัจจุบัน
นิดหน่อย กระจกมองข้าง ขนาดมาตรฐาน ก็ยังคงทำหน้าที่ของมันได้ดี เช่นดียวกับฝั่งขวา

เสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar ก็มีขนาดใหญ่ ไม่แพ้ Altis รุ่นเดิม และทัศนวิสัยด้านหลัง ก็ยังดูเหมือน
จะมีการบดบัง จักรยานยนต์ พอสมควรเหมือนเดิม แต่เอาเข้าจริง พื้นที่กระจกบังลมด้านหลัง
ที่ใหญ่ และไม่ทำมุมลาดเอียงมากเกินไป ก็ช่วยให้ลดปัญหาการบดบังดังกล่าวลงไปได้

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ของ Corolla Altis ใหม่ อยู่ที่ เครื่องยนต์ และระบบส่งกำลังที่เปลี่ยนมาใช้ของใหม่
เกือบทั้งหมด และนั่นเท่ากับว่า เครื่องยนต์ของ รุ่น Minorchange หากไม่ใช่รุ่นติดก๊าซ CNG ที่จะยังใช้
เครื่องยนต์เดิมแล้ว จะเปลี่ยนมาใช้ตระกูล ZR บล็อกใหม่ พร้อมระบบ Dual-VVT-i ทั้งหมด เรียบร้อยแล้ว

งต้องอธิบายกันแบบง่ายๆนิดนึงว่า ทำไมต้องทำระบบ Dual VVT-i ออกมา แล้วระบบนี้ มันคืออะไร ?

มันก็คือ ระบบแปรผันวาล์ว ในรูปแบบหนึ่ง นั่นเองครับ เหตุที่ต้องทำเครื่องยนต์ ให้มีระบบแปรผันวาล์ว
ก็เพราะว่า ในเครื่องยนต์แบบเดิมๆ มีการตั้งวาล์วมาให้มีระยะยก เปิด-ปิด เพื่อรับอากาศเข้า-ออก ห้องเผาไหม้
กันแบบตายตัว

Toyota อธิบายเอาไว้ค่อนข้างดี และเข้าใจง่ายครับ เขาเปรียบเทียบกับคน ใน 3 ลักษณะ คือ 1.นั่งเฉยๆ
2.วิ่งเหยาะๆ 3.วิ่งเร็วๆ ถ้ามีการหายใจด้วยความถี่หรือความแรงเท่าเดิมตลอด จะมีแค่ช่วงวิ่งเหยาะๆ เท่านั้น
ที่เราจะหายใจได้พอดี กับระยะยกวาล์ว ที่ตั้งมาจากโรงงาน

เพราะว่า ถ้าหายใจถี่ๆ แต่นั่งอยู่เฉยๆ เราก็ได้รับอากาศมากไป และเร็วไป โดยไม่ได้ออกแรงวิ่งเลย ในทางกลับกัน
ถ้าเราลุกขึ้นออกวิ่ง แต่หายใจช้าๆ ก็ไม่มีแรงจะวิ่ง เพราะหายใจไม่ทัน อากาศก็จะเข้าสู่ปอดได้น้อยกว่าที่ร่างกาย
ต้องการ

ดังนั้น ถ้าในเมื่อ คนเรายังต้องการอากาศในการหายใจ ด้วยปริมาณที่ต่างกัน ตามแต่ละช่วงเวลา ดังนั้น
ไฉนเลย เครื่องยนต์จึงไม่ต้องการเช่นนั้นบ้างละ? นี่คือ แนวคิดที่ทำให้มีการออกแบบระบบแปรผันวาล์ว
นั่นเอง

ระบบแปรผันวาล์วในเครื่องยนต์สมัยนี้ มีความแตกต่างหลากหลายกันมา แต่ว่า ทั้งหมด ล้วนแต่สร้างขค่น
บนพื้นฐานที่คล้ายคลึงกัน 3 รูปแบบหลักๆ คือ

1. แปรผันที่หัวแคมชาฟต์ ใช้ลูกเบี้ยวเดิม แต่ระยะยกและระยะเวลาในการยก เท่าเดิม เช่น VVT-i ของ Toyota
   VANOS ของ BMW และ CVTC ของ Nissan (ไม่เกี่ยวกับเกียร์ CVT นะครับ อย่าเข้าใจผิด)
2. แปรผันที่ลูกเบี้ยว ทั้งหมด ทั้งช่วงเวลา ความนาน และระยะยก ออกแบบกระเดื่องใหม่ ให้สลับลูกเบี้ยวได้
   เช่น VTEC ใน Honda , MIVEC ของ Mitsubishi Motors
3. แปรผันมันทั้งหมดเลยนั่นละ คือ เปลี่ยนระยะยกที่หัวแคมชาฟต์ และลูกเบี้ยว ด้วยเลย เช่น i-VTEC ของ
   Honda และ VVTL-i ใน Toyota Celica รุ่นสุดท้าย

ก่อนหน้านี้ เครื่องยนต์ Toyota ยุคหลังๆ จะมีระบบแปรผันวาล์ว VVT-i มาให้ ซึ่งก็คือ มีการออกแบบให้
ตัวเครื่องยนต์ สามารถแปรผันระยะยกของวาล์ว ผ่านทางหัวแคมชาฟต์ (ที่ต้องมีโซ่สายพานไทม์มิงของ
เครื่องยนต์มาคล้องเอาไว้นั่นละครับ) เพียงแต่ที่ผ่านมา จะมีเฉพาะ หัวแคมชาฟต์ ฝั่งวาล์วไอดีเท่านั้น
ที่จะมีการติดตั้ง หัวแคมชาฟต์แปรผันได้แบบนี้

แต่ ใน Dual VVT-i ก็เพิ่ม การติดตั้ง หัวแคมชาฟต์ แปรผันได้ ให้กับฝั่งวาล์วไอเสียด้วย เท่านั้นเอง! ไม่เพียงแต่
ช่วยให้ การรับอากาศ หายใจเข้าดีขึ้นแล้ว การหายใจออก หรือคายไอเสีย ก็จะดีขึ้นตามไปด้วย ได้กำลังเต็มที่ยิ่งขึ้น

โดยในรุ่น 2.0 ลิตร จะยังคงเป็นเครื่องยนต์ จากรุ่นก่อนปรับโฉม Minorchange รหัส 3ZR-FE บล็อก 4 สูบ
เรียง DOHC 16 วาล์ว 1,987 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 80.5 x 97.6 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.0 : 1
จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด EFI พร้อมระบบแปรผันวาล์ว Dual VVT-I และระบบ ACIS (Acoustic Control
Induction System)
ซึ่งปรับเปลี่ยนความยาวท่อไอดีให้เหมาะสมกับการทำงานของเครื่องยนต์ เพื่อสร้างกำลัง
และแรงบิด อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในทุกรอบความเร็วตั้งแต่ รอบเครื่องยนต์ต่ำๆ จนถึงรอบเครื่องยนต์สูงๆ
กำลังสูงสุด 145 แรงม้า (PS) ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 187 นิวตัน-เมตร (19.07 กก.-ม.)
ที่ 3,600 รอบ/นาที

แต่ ในรุ่น 1.8 ลิตร กับ 1.6 ลิตร เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ ตระกูล ZR ที่มาพร้อมระบบแปรผันวาล์ว Dual VVT-i
ซึ่งเป็นระบบแปรผันวาล์ว ที่หัวแคมชาฟต์ ทั้งฝั่งไอดี และไอเสีย กันแล้วเสียที โดยในรุ่น 1.8 ลิตร จะใช้รหัส
2ZR-FE บล็อก 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว 1,798 ซีซี  กระบอกสูบ x ช่วงชัก 80.5 x 88.3 มิลลิเมตร อัตราส่วน
กำลังอัด 10.0 : 1 หัวฉีด EFI พร้อมระบบแปรผันวาล์ว Dual VVT-I และระบบ ACIS กำลังสูงสุด เพิ่มขึ้นเป็น
140 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 173 นิวตัน-เมตร (17.64 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที

เครื่องยนต์ทั้ง 2.0 ลิตร และ 1.8 ลิตร จะถูกเชื่อมต่อกับเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน CVT ซึ่งถือเป็นครั้งแรก
ที่ Toyota นำเกียร์อัตโนมัติรูปแบบนี้ มาใช้กับรถยนต์ที่ผลิตขายในเมืองไทย แน่นอนว่า ความแตกต่างจาก
เกียร์อัตโนมัติทั่วไป คุณผู้อ่านก็คงเห็นแล้วจากในรูป ว่า เกียร์อัตโนมัติโดยทั่วไป มักจะมาในรูปของชุด
เฟืองต่างๆสลับซับซ้อนวุ่นวายกันไปหมด

แต่เกียร์ CVT นั้น สรุปง่ายๆ คือ มี พูเลย์ขับ (Drive Pulley) พูลเลย์ตัวแรก ต่อตรงเข้ากับคลัชต์ ที่ส่งกำลังจาก
เครื่องยนต์แค่ 2 ชุด คือชุดขับเคลื่อนเดินหน้าและถอยหลัง ทำหน้าที่เปลี่ยนอัตราทดเกียร์ และถ่ายทอดแรงบิด
จากเครื่องยนต์ ไปยัง พูเลย์ตาม (Driven Pulley) ที่จะผันแปรกำลังขับเคลื่อนลงสู่ล้อ ตามความเหมาะสม โดยมี
โซ่สายพานโลหะ (Steel Belt) ประกอบไปด้วยข้อต่อโลหะ ที่มีความหนา อย่างเหมาะสม เรียงต่อกัน มีความ
ยืดหยุ่นเหมือนหนังยางรัดผม เป็นตัวเชื่อมต่อการทำงานของ พูเลย์ทั้ง 2 ตัว เพื่อพาแรงบิดลงสู่เฟืองท้าย ก่อนจะ
ส่งต่อไปยังล้อขับเคลื่อน (ในกรณีนี้ เป็นรถขับเคลื่อนล้อคู่หน้า)

จากภาพที่ให้มา ดูเหมือนว่า เกียร์ CVT ของ Toyota ลูกนี้ จะมีลูก Torque Converter มาให้อีกด้วย

โดยเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน ลูกนี้ จะเป็นแบบ Super CVT-i พร้อม โหมด บวก / ลบ Sequential Mode
ให้ผู้ขับ เลือกเปลี่ยนตำแหน่งการล็อกพูเลย์ ได้ 7 ตำแหน่ง จากคันเกียร์ และเฉพาะ รุ่น 2.0 ลิตร จะมีแป้น
เปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift ด้านหลังพวงมาลัย มาให้เป็นพิเศษ อีกด้วย และแน่นอนว่า มีปุ่ม Shift Lock
มาให้ สำหรับการปลดเกียร์ว่าง หลังจากจอดรถในบริเวณที่ จำเป็นต้องจอดขวางชาวบ้านเขา

ในรุ่น 2.0 ลิตร จะมีอัตราทดเกียร์ อยู่ที่ 2.396 – 0.428 : 1 อัตราทดเกียร์ถอยหลัง 1.668 : 1 และ อัตราทดเฟืองท้าย
5.182 : 1 แต่ในรุ่น 1.8 ลิตร จะมีอัตราทดเกียร์ อยู่ที่ 2.386 – 0.411 : 1 อัตราทดเกียร์ถอยหลัง 2.505 : 1 และ อัตรา
ทดเฟืองท้าย 5.356 : 1

ส่วนในรุ่น 1.6 ลิตร นั้น หากเป็นรุ่นมาตรฐาน ทั้ง รุ่น 1.6 E และ 1.6 J ทั้งรุ่นเกียร์ธรรมดา หรืออัตโนมัติ
จะเปลี่ยนมาใช้ เครื่องยนต์ ใหม่รหัส 1ZR-FE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,598 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
80.5 x 78.5 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.2 : 1 หัวฉีด EFI พร้อมระบบแปรผันวาล์ว Dual VVT-i แรงขึ้น
เป็น 122 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 154 นิวตัน-เมตร (15.69 กก.-ม.) ที่ 5,200 
รอบ/นาที (เครื่องที่อยู้ในรูปข้างบนนี้)

แต่ถ้าหากเป็นรุ่นเติมก๊าซธรมชาติอัด 1.6 CNG ทั้งรุ่น เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และ 1.6 E CNG อัตโนมัติ 4 จังหวะ
จะยังคงใช้เครื่องยนต์ดั้งเดิม คือรหัส 3ZZ-FE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,598 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
79.0 x 81.5 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.5 : 1 หัวฉีด EFI พร้อมระบบแปรผันวาล์ว VVT-i (ที่เฉพาะ
หัวแคมชาฟต์ฝั่งวาล์วไอดี ต่างจาก Dual VVT-i ที่มีระบบเยื้ององศาหัวแคมชาฟต์ฝั่งวาล์วไอเสียมาให้ด้วย)
109 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 145 นิวตันเมตร (14.79 กก.ม.) ที่ 5,200 รอบ/นาที
(เราไม่ได้ทำการทดลอง รุ่น 1.6 CNG ในบทความชิ้นนี้ แต่เคยทำการทดลองรุ่น 1.6 ลิตร เครื่องยนต์บล็อกนี้
ไปแล้ว ในบทความ Full Review ของ Corolla Altis เวอร์ชันเก่า)

รุ่นเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ทั้ง 2 แบบ จะใช้เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ คันเกียร์แบบ Gate-Type ขั้นบันได ตามเดิม
มี Shift Lock มาให้ แต่ไม่มีโหมด บวก/ลบ มาให้ อัตราทดเกียร์ ที่ทาง Toyota เคลมเอาไว้จากโรงงาน มีดังนี้

เกียร์ 1……………………….2.847
เกียร์ 2……………………….1.552
เกียร์ 3……………………….1.000
เกียร์ 4……………………….0.700
เกียร์ถอยหลัง………………..2.343
อัตราทดเฟืองท้าย……………4.237

ส่วนในรุ่นเกียร์ธรรมดานั้น งานนี้ Toyota แอบทำเซอร์ไพรส์มาให้ ด้วยการนำเกียร์ธรรมดา แบบ 6 จังหวะ
มาใช้เป็นครั้งแรกกับรถยนต์นั่ง ซีดาน ประกอบในประเทศไทย แต่น่าเสียดายว่า เรายังไม่มีโอกาสทดลอง
ว่า เกียร์ลูกนี้ จะทำงานเข้าคู่กันดีกับเครื่องยนต์ Dual VVT-i หรือเปล่า การเข้าเกียร์ถอยหลัง ต้องทำเหมือน
รถยุโรป คือ ยกวงแหวนใต้หัวเกียร์ ขึ้น แล้วผลักไปทางซ้ายสุด ดันขึ้นไป เพื่อป้องกัน การเข้าเกียร์ผิด ส่วน
อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

เกียร์ 1……………………….3.538
เกียร์ 2……………………….1.913
เกียร์ 3……………………….1.310
เกียร์ 4……………………….0.981
เกียร์ 5……………………….0.818
เกียร์ 5……………………….0.700
เกียร์ถอยหลัง………………..3.333
อัตราทดเฟืองท้าย……………4.562

ข้อสงสัยของคุณผู้อ่านก็คือ การเปลี่ยนแปลงในระบบขับเคลื่อนเยอะมากมายขนาดนี้ จะให้ผลลัพธ์ออกมาอย่างไร

เรายังคงทำการทดลองโดยใช้มาตรฐานดั้งเดิม คือ ใช้เวลากลางคืนในการทดลอง เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า และนั่ง เพียง
2 คน คือผู้เขียน น้ำหนักตัว 95 กิโลกรัม และ เจ้ากล้วย BnN แห่ง The Coup Team น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม เหยียบ
คันเร่งเต็มมิดตอนออกรถ ผลการจับเวลาออกมา เมื่อเทียบกับรถยนต์รุ่นอื่นๆ ทำได้ ดังต่อไปนี้…

เมื่อดูจากตัวเลขที่ได้มา เราพบว่า Corolla Altis ใหม่ ทุกรุ่น นอกจากจะมีอัตราเร่งที่ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนปรับโฉม
อย่างชัดเจนแล้ว ยังสามารถ ทำตัวเลขออกมาได้ ดีขึ้นจนเหนือกว่า คู่แข่งในพิกัดของแต่ละรุ่น กันเลยทีเดียว

ถ้าแยกดูกันเป็นคู่ๆ ไป ก็จะพบว่า ในพิกัด 2.0 ลิตร Corolla Altis 2.0 สามารถทำตัวเลขเอาชนะคู่ปรับ
ตลอดกาล อย่าง Honda Civic 2.0 ไปได้แบบฉิวเฉียด อัราเร่ง 0 -100 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น Altis 2.0 จะ
ชนะกันอยู่เพียงแค่ 0.8 วินาที แต่ในด้านอัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง Altis 2.0 จะชนะ
Civic 2.0 แค่เพียง 0.01 วินาที เท่านั้น

และที่สำคัญ สาวก Ford Focus TDCi ทำใจรับฟังข่าวร้ายต่อไปนี้ได้เลยครับ เพราะผมจะบอกว่า ตัวเลข
อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ เร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั่งคู่ ทำเวลาออกมาได้
พอกันเลย Focus จะชนะเฉียดฉิว เพียงแค่ 0.01 และ 0.02 วินาที เท่านั้น!!! ยังไม่ต้องนับ Mitsubishi
Lancer EX 2.0 CVT และ Mazda 3 รุ่น 2.0 ลิตร กันอีกด้วย แม้ว่า อัตราเร่งแซง 80 -120 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ของ Mazda 3 รุ่น 2.0 จะยังทำได้ดีกว่า Altis 2.0 CVT เพียงแค่ 0.2 วินาที ก็ตาม

ส่วน Corolla Altis 1.8 ลิตร คราวนี้ สร้างความประหลาดใจให้กับพวกเรา ด้วยตัวเลขที่สวยหรูมาก
กลายเป็น รถยนต์นั่ง 1.8 ลิตร ที่มีอัตราเร่งดีที่สุดในพิกัดเดียวกัน เล่นเอา Civic FD 2.0 ลิตรเอง
ก็ยังมีหนาว เพราะตัวเขออกมาใกล้เคียงกันมากกกกก ถึงมากที่สุด!

ในรุ่น 1.6 ลิตร ตัวเลขที่ออกมา ก็ทัดเทียม และสูสีกันกับคู่แข่งอย่าง Nissan TIIDA ที่ต่างมีทั้งด้านเด่น
และด้านด้อยของตนเอง ให้นำไปปรับปรุงต่อกันทั้งสิ้น จนกินกันไม่ลง กลายเป็นว่า ทั้งคู่ เบียดกัน
แย่งชิงตำแหน่ง รถยนต์พิกัด 1.6 ลิตร กลุ่ม C-Segment Compact Cars ที่ให้อัตราเร่งแดีที่สุด มาแล้ว

(ภาพจากรุ่น 1.8 G คันสีดำ)

แล้วสัมผัสที่เกิดขึ้นจริง โดยเอานาฬิกาจับเวลาวางไว้ข้างๆตัว ไม่เอามาเกี่ยวข้องกันด้วยละ?

โอ้ แม่เจ้า!! มันช่างไหลลื่นปรู๊ดปร๊าด เกินคาดคิดไปเลยนะสิ!

อัตราเร่ง ในรุ่น 1.8 ลิตร ค่อนข้างน่าประทับใจขึ้นมาก เร่งได้เร็วขึ้น พุ่งปรู๊ดมากขึ้น เป็นสัมผัสที่แตกต่าง
ไปจาก Corolla Altis 1.8 ลิตร รุ่นเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ก่อนหน้านี้เลย อย่างชัดเจน หลัง 3,000 รอบ/นาที
ขึ้นไปแล้ว รอบเครื่องยนต์ กวาดขึ้นอย่างต่อเนือง และเร็วผิดหูผิดตา เป็นความเปลี่ยนแปลง ที่น่าประทับใจ
มากที่สุด ในบรรดา Altis ทั้ง 3 คันที่เรานำมาทำรีวิวกันคราวนี้ มันกระฉับกระเฉง ไม่อืดอาดยืดยาด และยัง
มีความต่อเนื่อง แถมด้วยความยืดหยุ่นพอประมาณ ในช่วงจังหวะการเร่งแซง เป็นการจับคู่กันทำงานที่
ลงตัวมากๆ

ความเร็วสูงสุดของรุ่น 1.8 ลิตร นั้น ดูจากภาพด้านบนนี้ได้เลยครับ ในวันที่เราถ่ายภาพนิ่ง ทำได้ ที่ระดับ
185 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ในวันถ่ายทำคลิปวีดีโอ เราทำได้ถึง 190 กิโลเมตร/ชั่วโมง แน่นอนว่า เข็มความเร็ว
คงต้องมีผิดเพี้ยนกันไปแน่ๆ เพราะดูเหมือนว่า งานนี้ Toyota น่าจะล็อกความเร็วไว้แถวๆ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง

แต่ พอเป็นรุ่น 2.0 ลิตร เราคาดว่า อัตราเร่งน่าจะแรงขึ้นมากกว่ารุ่น 1.8 ลิตรแน่ๆ ทว่า ความจริงที่เกิดขึ้น
ก็คือ คุณจะพบว่ามันเร็วกว่ารุ่น 1.8 จริง ก็ต่อเมื่อ กดนาฬิกาจับเวลา นั่นละ จึงจะเห็นว่า รุ่น 2.0 ลิตร
ทำเวลาเร็วกว่ารุ่น 1.8 ลิตร ประมาณ เกือบๆ 1 วินาที แถมลองดูตัวเลข ความเร็วสูงสุด ในรูปข้างล่างนี้สิครับ
185 กิโลเมตร/ชั่วโมง พอกัน หรือด้อยกว่า รุ่น 1.8 ลิตร นิดเดียว  เสียด้วยซ้ำ!

เรื่องความเร็วสูงสุดนี้ Toyota คงต้องเขียนโปรแกม ล็อกความเร็วเอาไว้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย
กับชุดเกียร์ ในช่วงการทำงานที่รอบเครื่องยนต์สูงๆ ขึ้นไป อีกทั้ง ยังเป็นการ ตัดตอนพวกบ้าพลัง
ที่หวังจะเอา Altis รุ่นใหม่ ไปไล่บี้ Vigo และ Fortuner อย่างที่เห็นกันเป็นประจำ บนทางด่วน และ
มอเตอร์เวย์ ช่วงเช้าๆ และช่วงเลิกงานตอนเย็น (ไม่รู้พวก Altis รถบริษัทเหล่านั้น มันจะรีบไป
ตายโหงตายห่าที่ไหนกัน?)

เพราะ ในการขับขี่จริง สัมผัสที่ได้รับมาจากรถ มันแทบไม่ต่างกันเลยเนี่ยสิ!! รู้ว่าแรง แต่ อาการไม่
มากเท่ากับที่จับสัมผัสได้จากรุ่น 1.8 ลิตร เลยไม่รู้ว่า อันที่จริงแล้ว เราควรทดลองขับรุ่น 2.0 ลิตร
ก่อนที่จะย้ายมาขับ รุ่น 1.8 ลิตร กันหรือเปล่า?

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับ Corolla Altis 2.0 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ รุ่นก่อนปรับโฉม Minrochange
พบว่า อัตราเร่ง ที่มีมาให้นั้น ไหลลื่น และไม่รู้สึกว่ามีอะไรสักอย่างมาหน่วงรถเอาไว้ เหมือนอย่างที่
รถรุ่นก่อนปรับโฉม มีให้สัมผัสกัน อัตราเร่งแซง และตัวเลขที่เกิดขึ้น ก็น่าจะยืนยันสมรรถนะได้ว่า
ดีขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย เพียงแต่ ถ้าลองขับเฉยๆ โดยไม่มีนาฬิกาจับเวลา อาจคิดไปว่า ไม่แตกต่างกัน

 

(ภาพจากรุ่น 2.0 V Navi คันสีขาว)

ตั้งข้อสังเกตกันว่า การทำงานของเกียร์ CVT ใน Corolla Altis ใหม่นี้ มีบุคลิกที่แปลกไปจากเกียร์ CVT
ในรถยนต์รุ่นอื่นๆ ที่ผมเคยเจอมา และออกจะคล้ายกับ เกียร์ CVT ใน Lancer EX อยู่นิดหน่อย

กล่าวคือ ถ้าคุณ เข้าเกียร์ D แล้วกดคันเร่งเต็มตีน เหยียบมิดติดเหล็กรถ เมื่อความเร็วขึ้นไปอยู่ที่ระดับ
60 กิโลเมตร/ชั่วโมง และเข็มวัดรอบ กวาดขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 4,800 รอบ/นาที จังหวะนั้น เข็มวัดรอบ
เหมือนจะชะงักไปนิดนึง ราวกับจงใจโปรแกรมมา มาให้รอบเครื่องกวาดพรวดขึ้นไปรวดเดียวถึง
ระดับ 6,000 กว่ารอบ/นาที ในทันที เพื่อป้องกันความเสียหายของชุดเกียร์

จากนั้นอีกชั่วอึดใจ เข็มวัดรอบก็เริ่มกวาดต่อเนื่องขึ้นไป จนถึงระดับ 6,000 รอบ/นาที และเข็มความเร็ว
อยู่ที่ 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง รอบเครื่องยนต์จะลดลงมายังระดับ 5,000 รอบ/นาที ต้นๆ  และไล่รอบขึ้นไป
ใหม่อีกครั้งหนึ่ง….

แต่ถ้าคุณ เข้าเกียร์ D แล้วผลักไปที่ โหมด M บวก/ลบ แล้วเหยีบคันเร่งเต็มตีน ตอนออกตัว บุคลิกการ
เปลี่ยนเกียร์ จะคล้ายคลึงกับเกียร์อัตโนมัติทั่วไปมากขึ้นในทันที รอบเครื่องยนต์จะถูกลากขึ้นไป
จนถึงระดับ 6,000 รอบ/นาที แล้วก็ลดลงมาเหลือ 5,000 รอบ/นาที เป็นอย่างนี้ ไล่ตั้งแต่เกียร์ 1 ถึง 5
สรุปว่า เกียร์ จะเปลี่ยนตำแหน่งล็อกอัตราทดของพูเลย์ ไล่ขึ้นไปให้เอง ความเร็วในช่วง ที่มีการ
เปลี่ยนเกียร์นั้น ได้แก่ 70 100 120 140 และ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง หลังจากนั้น ความเร็วจะเริ่มไต่
ขึ้นไป ช้าลงกว่าเดิม และรอบเครื่องยนต์ ก็จะเริ่มลดลงเหลือระดับ 4,500 รอบ/นาที อันเป็นรอบ
สูงสด ที่สัมพันธ์ับความเร็วสูงสุด ของรถทั้ง 2 รุ่น

เฮ้ย CVT อะไรกันหว่าเนี่ย! แอบมีวิธีเปลี่ยนเกียร์ แบบรถเกียร์อัตโนมัติทั่วๆไปมาให้เห็นด้วยนิดนึง!
อาการดึงในช่วงเปลี่ยนเกียร์ ไล่ขึ้นไปนั้น จะดึงแบบเล็กๆ สั้นๆ จึ๊ก จึ๊ก ไม่ใช่แบบ วืด วืด เหมือนอย่าง
ใน Lancer EX เป็น นี่แหละ ใครว่า CVT ขับแล้ว ไม่แรง ไม่สนุก กรุณา มาลองขับ Corolla Altis ใหม่
1.8 กับ 2.0 ลิตร เสียก่อนเถอะ เป็นได้เปลี่ยนความคิดกันแน่ๆ

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมไม่คาดว่าจะได้พบเจอก็คือ เสียงหอนของเกียร์ CVT ซึ่งจะเกิดขึ้นเฉพาะกับ
รถรุ่น 1.8 ลิตร คันสีดำ ที่เห็นกันอยู่ในรีวิวนี้

ในรถคันสีขาว 2.0 CVT นั้น สภาพค่อนข้างจะยังสดใหม่ และยังไม่มีเสียงหอนใดๆ เกิดขึ้นมารบกวน
โสตประสาท ทว่า ในรุ่น 1.8 ลิตร คันสีดำ ผมไม่แน่ใจว่า ก่อนหน้านี้ ไปตกระกำลำบากที่ไหนมาก่อน
หรือเปล่า กลายเป็นว่า ขณะขับขี่ปกติ เสียงหอนหนะไม่มี เกียร์ก็ทำงานได้ดีตามโฆษณากันเลย คือ
นุ่ม ลื่น เงียบ ใช้ได้

แต่พอเข้าเกียร์ถอยหลัง จะเอารถถอยจอดเข้าบ้านเท่านั้นแหละ โอ้โห เสียงหอนนี่ดังมากมาย ลั่นซอย
ดังอย่างกับ น้องหมาเห็นหมี…เอ้ย เห็นผี กันเลยทีเดียว! คงต้องบอกกับคุณผู้อ่านกันนิดนึงนะครับว่า
เกียร์ CVT หนะ เขาทำออกมา เพื่อเน้นความนุ่มสบาย และให้อัตราเร่งแซงที่ดี แต่ถ้าคุณจะออกรถ
กันแบบ เด็กแว๊นขี่ Fino ซิ่งออกจากสี่แยกไฟแดง กันเป็นประจำละก็ บอกได้เลยว่า เกียร์ในรถคุณ
จะถึงแก่กรรม ก่อนวัยอันสมควร ได้โดยง่ายมาก ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายต่างๆที่จะตามมา
กรุณาออกตัวให้นุ่มๆ ไว้ก่อน จากนั้น อยากจะกระทืบ เร่งแซง ไล่ตะบี้ตะบัน กับใครเขา ก็เชิญ ถ้า
ไม่กลัว ลูกปืนปริศนา ที่ยิงออกมาจาก Toyota Fortuner สีขาวป้ายแดง (ที่ป่านนี้ เจ้าของรถ คงจะ
กบดานอยู่ที่ไหนสักแห่งหนึ่ง)

ส่วนการตอบสนองในรุ่น 1.6 ลิตรนั้น บอกได้เลยว่า กระฉับกระเฉงขึ้นกว่าเดิม  นิดหน่อย อัตราเร่ง
ทำได้ น่าประทับใจเลยทีเดียว ถ้าคุณระลึกอยู่ตลอดว่า คุณกำลังขับรถที่วางเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร เดิมๆ
จากโรงงาน เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ยังคงทำงานอย่างนุ่มนวล และน่าคบหา อยู่อย่างเคย จนชวนให้
นึกเลยเถิดไปว่า นี่ถ้าได้ลองขับรุ่นเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ มันจะแรงขนาดไหนกันละหนอ? พละ
กำลังจากเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร บล้อกใหม่ คราวนี้ ผมว่า เหลือเฟือ และเพียงพอแล้ว สำหรับเดินทางไกล
โดยไม่ต้องไปคิดเพิ่มงบ เพื่อเล่นรุ่น 1.8 ลิตร ที่แรงกว่ากันด้วยซ้ำ ยิ่งถ้างบประมาณของคุณไม่มากพอให้
ปีนป่ายขึ้นไปเล่นรุ่น 1.8 ลิตร ด้วยแล้ว 1.6 ลิตร Dual VVT-i ผมว่า สบายๆ และมีความสุขที่จะใช้ชีวิต
ด้วยอย่างแน่นอน ถ้ามองในเรื่องเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลังกันเป็นหลัก

คันเร่งของทุกรุ่น มีลักษณะการตอบสนองที่คล้ายคลึงกันกับ คันเร่งไฟฟ้าของ Toyota Fortuner กล่าวคือ
มันจะเปรียบเสมือนว่ามี แรงบิดมารอให้เหยียบอยู่ที่เท้าขวากันเลยทีเดียว แค่เหยียบลงไป เบาๆ รถก็แทบจะ
พุ่งในทันที ไม่ต้องมารอคิดก่อนสัก 1 วินาที ว่าจะเอายังไงกับชีวิต แล้วค่อยทำงานกัน เหมือนคันเร่งไฟฟ้า
ใน Vios และ Yaris เป็นคันเร่งไฟฟ้า ที่ตอบสนองไว และให้สัมผัสที่แทบไม่ต่างจากคันเร่งสาย

 

นอกเหนือจากเครื่องยนต์แล้ว ด้านอื่นละ? มีการปรับปรุงไปมากน้อยแค่ไหน

พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronics Power Steering)
รัศมีวงเลี้ยว 5.3 เมตร ได้รับการปรับปรุง ให้มีระยะฟรีเยอะขึ้นกว่ารถรุ่นก่อน แถมยังมีความหนืด
ในช่วงความเร็วตั้งแต่ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง – ท็อปสปีด ที่หนืดดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งจะสังเกตได้
ในโค้งยาวๆ ที่สามารถใช้ความเร็วสูงๆ ได้

ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่ละทิ้งความคล่องแคล่ว และเบาสบาย ในการหมุนพวงมาลัย เพื่อถอยรถเข้าจอด
แบบเดียวกับที่เคยมีอยู่ในรถรุ่นก่อนปรับโฉม ถือว่า ทีมวิศวกรได้นำความมั่นใจในการขับขี่ กลับคืน
สู่ตระกูล Corolla กันอีกครั้งนึงแล้ว

แต่..จะว่าไป ก็ยังไม่ถึงกับดีเด่นโดดเด้งนัก เมื่อเทียบการตอบสนองของพวงมาลัยในภาพรวม กับ
คู่แข่งในตลาดคันอื่นๆ ความหนืดในช่วงความเร็ว ระดับ 60 -140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ควรจะเพิ่มขึ้น
มากกว่านี้อีกสักหน่อยนึง ความแม่นยำ และความฉับไวในการตอบสนองนั้น ยังไม่ถึงกับดีพอ
เพียงแต่ว่า มีความนิ่ง และเสถียร On Center Feeling ดีขึ้น กว่าเดิม เท่านั้น

ฉะนั้น ถ้าอยากจะรู้ว่า พวงมาลัยที่รถอย่าง Corolla ควรจะมีนั้นเป็นอย่างไร อยากให้ลองศึกษา
จากพวงมาลัยของ VW Golf , Suzuki Swift , Subaru Legacy รุ่นที่แล้ว น่าจะช่วยให้ทีมวิศวกร
มองเห็นภาพได้ว่า ควรจะทำอย่างไร กับพวงมาลัยของ Corolla ในรุ่นต่อไป

ระบบกันสะเทือนหน้า แม็คเฟอร์สันสตรัต และด้านหลัง แบบทอร์ชันบีม แม้จะยังคงยืนหยัด
อยู้่บนหน้าตาพื้นฐานแบบเดิมๆ เหมือนๆกัน ซึ่งผมมองว่า มันก็ นุ่มนวล และมั่นใจได้กำลังดี
อยู่แล้ว แต่การปรับโฉม Minorchange คราวนี้ ผลก็คือ กลายเป็นว่า รุ่น 1.6 ลิตร ที่มาพร้อมยาง
แก้มหนา ล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว กลับจะให้คุณได้สัมผัสได้ถึงความสบายในการขับขี่ผ่าน
ลูกระนาด เนินกระโดด หลังเต่า ต่างๆ ไปจนถึงหลุมบ่อ หลายรูปแบบ ด้วยสัมผัส กำลังดี
ในแบบที่ Corolla Altis 1.6 ลิตร รุ่นก่อนปรับโฉม Minorchange เคยเป็นมา ขณะเดียวกัน
ก็ยังคงให้ความมั่นใจในการขับขี่ย่านความเร็วสูงได้อยู่ ตราบเท่าที่ คนขับยังมีสมาธิกับสติ
อยู่ด้วยกัน และความนุ่มนวลกำลังดีตรงนี้ ต้องยอมรับกันเลยว่า แก้มยางที่หนาขึ้นนั่นละ
เป็นองค์ประกอบสำคัญเลยทีเดียว

เพราะในรุ่น 1.8 ลิตร และ 2.0 ลิตร นั้น ใส่ล้อ 16 นิ้ว เนื่องจากทาง Toyota ยืนยันมาในวันส่งรถ
แล้วว่า ได้เช็คลมยางไว้ที่ 32 ปอนด์ ต่อตารางนิ้ว อันเป็นค่าปกติที่ผมเองก็ใช้อยู่เป็นประจำ ทำให้
สัมผัสได้ว่าการขับผ่านลูกระนาด หลังเต่า และหลุมบ่อ ในตรอกซอกซอยต่างๆ โดยเฉพาะ ซอยอารีย์
อันเป็นเส้นทางประจำที่เราใช้ในการจับสัมผัสจากช่วงล่าง ในการขับขี่ความเร็วต่ำนั้น พบว่าช่วงล่าง
ช่วงล่างทั้งด้านหน้าและหลัง จะมีจังหวะยุบตัว น้อยลงจาก Corolla Altis 1.8 และ 2.0 ลิตร รุ่นก่อนนี้
เล็กน้อย ทำให้ส่งความสะเทือน เข้ามามากกว่ารุ่นเก่านิดนึง แต่พอเข้าสู่ช่วงความเร็วสูงบนทางด่วน
ช่วงล่างของ ทั้งรุ่น 1.8 และ 2.0 ลิตร ยังคงให้ความมั่นใจได้ดีในแบบที่รถรุ่นก่อนปรับโฉมเคยเป็นมา

ส่วนอากัปกิริยาของรถขณะเข้าโค้งแรงๆ นั้น ค่อนข้างเป็นกลาง น้ำหนักถ่ายเทไปข้างหน้า แต่ควบคุม
รถได้ง่าย ไม่ยากนัก เพียงแต่ระวังสัมผัสจากพวงมาลัยที่ยังเบาไปนิดนึง เอาไว้เสียหน่อย ก็เป็นพอ

ระบบห้ามล้อ “ทุกรุ่น ตั้งแต่ถูกสุด ยันแพงสุด” เป็นแบบ ดิสก์เบรก 4 ล้อ คู่หน้ามีครีบระบายความร้อน
นอกจากนี้ ทุกรุ่น (ยกเว้นรุ่น 1.6J ทั้งเกียร์ธรรมดา และอัตโนมัติ) จะติดตั้งระบบป้องกันล้อล็อก ABS
(Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรก ตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake
Force Distributor) ระบบ เสริมแรงดันน้ำมันเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist มาให้

ส่วนระบบควบคุมเสถียรภาพ VSC (Vehicle Stability Control) ที่จะตัดการทำงานของเครื่องยนต์
พร้อมกับส่งแรงเบรก ไปยังล้อที่ลื่นไถลหรือหมุนฟรี มากกว่าล้ออื่น ขณะเข้าโค้ง หรืออยู่บนทางลื่น
กับระบบ TRC Traction Control ควบคุมอาการหมุนฟรีขณะออกตัว บนพื้นลื่น ถูกตัดออกไปจากรุ่น
1.8 ลิตร ทั้งหมดแล้ว เพื่อไปติดตั้งให้กับรุ่น 2.0 V และ V Navi แทน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผมมอง
ประเด็นนี้ว่า Toyota ควรจะใส่ อุปกรณ์ชิ้นนี้มาให้ อย่างน้อย ก็ต้องมีให้ครบในรุ่น 1.8 และ 2.0 ลิตร
ก็ยังดี

การตอบสนองของระบบเบรก ยังคงทำได้ดีจนน่าประทับใจตามเดิม แป้นเบรก อยู่ในระดับกำลังดี
ไม่แข็งทื่อ และมาในแนวนุ่มเท้า แต่ก็ไม่ถึงกับนุ่มนิ่มไปเลย เหมือนแป้นเบรกรถยุโรปสมัยนี้
หลายๆคัน แค่ต้องการให้รถหยุด ช่วงไหน ก็เหยียบลงไปเท่านั้น ในช่วงความเร็วคลานตามตรอก
ซอกซอย ก็ยังเบรกได้นุ่ม สมราคารถ ขณะที่ ถ้าจะต้องหน่วงความเร็วลงมาจากย่านความเร็สูง
ก็ทำได้ดี ยังไม่เจออาการ Fade ง่ายๆ แต่อย่างใด ถือได้ว่า ให้ประสิทธิภาพในการเบรกได้ดีมาก

ส่วนการเก็บเสียงในห้องโดยสารนั้น ยังไม่ถึงขั้นดีนัก แต่พอรับได้ ในการขับขี่ด้วยความเร็วสูง
เสียงลม ที่ลอดเข้ามา มักจเป็นเสียงของกระแสลมที่ไหลผ่านตัวถังไป มากกว่าจะเป็นเสียงลม
แบบอื่นๆ สรุปว่า ประเด็นเรื่องการเก็บเสียง ก็ไม่ได้แตกต่างจากรถรุ่นก่อนหน้านี้ เท่าใดนัก

ส่วนเสียงเครื่องยนต์ ที่มีบางคัน มีปัญหา แล้วมากระหน่ำโพสต์คลิปลงในเว็บบอร์ดของ Headlightmag.com
เราได้ลองฟัง เพื่อหาดูว่า มีปัญหาเดียวกันกับที่คุณ aceraspire บอกมา ว่ามีหรือไม่ และคำตอบ นี่พูดกันตรงๆเลย
ว่า เราไม่ได้ยินเสียงใดๆ แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในรถของคุณ aceraspire แต่อย่างใดทั้งสิ้น ขอเรียนด้วยความสัตย์จริง

 

**********การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

ในเมื่อ Corolla Altis เปลี่ยนเครื่องยนต์กันใหม่ เปลี่ยนระบบส่งกำลังกันใหม่ แล้วทำให้เราต้องจับเวลา
หาอัตราเร่งกันใหม่ ทั้งหมด ทุกรุ่น แล้ว เราก็ยังต้องมานั่งทำการทดองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันใหม่
ไปด้วย เพื่อให้ ครบสูตรกันไปเลย

 

เราจะเริ่มกันที่คันสีขาว รุ่น 2.0 ลิตร ก่อน

การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ในช่วงนี้ จะทำตอนกลางคืนเป็นหลัก เนื่องจากรถว่าง สะดวก
ไม่ต้องมาคอยปวดหัวกับไอ้พวกแสดงนิสัยหื่นกามตามท้องถนน (ขับจี้ตูด) มากนัก เราเติมน้ำมันเบนซิน 95
แบบมาตรฐาน Techron กันที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex บนถนนพหลโยธิน

และเช่นเคย เราก็ยังคงเขย่ารถให้น้ำมันไหลเข้าไปถังไปให้มากที่สุด โดยดันฟองอากาศออกมาจากในถังให้ได้
มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมต้องใช้เวลานานพอสมควร นานจนอยากให้คุณดูสีหน้าของเด็กปั้ม
สองคนนี้ ว่าเขาน่าจะคิดอะไรกับการทดลองของเรากันอยู่….

เมื่อเราเขย่ารถกันจนเห็นว่า น้ำมันไม่สามารถไหลลงไปได้อีก ก็จะหยุดเติม ถ่ายรูป บันทึกไว้เป็นหลักฐาน แบบนี้
กดปุ่ม เซ็ต 0 บน Trip Meter ให้เรียบร้อย เพื่อใช้ Trip Meter ในการวัดระยะทาง

จากนั้น เราจะใช้วิธีการดั้งเดิม คือ ขับออกจากปั้ม เลี้ยวกลับที่ถนนพหลโยธิน เข้าซอยอารีย์ เลี้ยวขวาลัดเลาะ
ไปออกซอยโรเงรียนเรวดี ถนนพระราม 6 ขึ้นทางด่วน ที่ด่านพระราม 6  แล้วก็ ขับรถกันไปยาวๆ จนถึงปลายสุด
ของระบบทางด่วน สายอุดรรัถยา เลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วนสายเดิม มุ่งหน้าย้อนกลับเข้ากรุงเทพฯ โดยใช้ความเร็ว
110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน ตามมาตรฐานเดิม

เมื่องทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้าย มุ่งหน้ามาตามถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่ หน้าโชว์รูม
เบนซ์ ราชครู แล้วขับเข้าไปเติมน้ำมันยังสถานีบริการของ Caltex ตามเดิม

แล้วก็เติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron กันเช่นเดิม เขย่ารถกันอย่างสนุกสนาน เพื่อให้น้ำมันเอ่อล้นขึ้นมา
จนไม่อาจจะเติมเข้าไปให้เต็มได้อีก ซึ่งต้องใช้เวลาเขย่ากันนาน เกือบๆ ครึ่งชั่วโมง ในแต่ละครั้งที่เราเติม

ในครั้งนี้ ตาหน่อย Webmaster ของ Website โทรศัพท์มือถือ และ Gadget อย่าง MXphone.com อันเป็น
พันธมิตรของเรา ก็ได้รับคำชวน ให้มานั่งร่วมเป็นหุ่น ในการทดลอง เป็นสักขีพยาน และเป็นผู้ช่วยของผม
ในค่ำคืนนั้น และต่อจากนี้ คือผลลัพธ์ที่ได้..

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด บนมาตรวัด : 91.4 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 7.06 ลิตร…เหอ?

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 12.94 กิโลเมตร/ลิตร

เฮ้ย! ไม่เชื่อ! ทำไมตัวเลขมันต่ำเตี้ยเรี่ยดินขนาดนี้ มันจะพอกันกับ Lancer EX 2.0 ตอนเติม 95 เลยเนี่ยนะ?
ไม่น่าเป็นไปได้ ในรุ่น 2.0 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ คันเดิมที่เราทดลองมา ตัวเลขก็ยังออกมาดีกว่านี้ งั้นแสดงว่า
เราอาจจะเติมน้ำมันในครั้งแรกลงไป ไม่เต็มแน่นดีพอ ถึงยังสามารถเติมต่อได้อีกขนาดนี้….

เมื่อสงสัย ก็ไม่ควรปล่อยให้ค้างคา แต่ต้องทำการทดลองซ้ำอีกครั้ง เพื่อหาผลลัพธ์กันอีกครั้งหนึ่ง
และคราวนี้ ก็ทดลองกัน ในบ่ายวันรุ่งขึ้น คราวนี้ เราให้ ตาหลุยส์ แห่งร้านเป็ดย่างแมนดาริน
เพื่อนสนิทของผม และถือเป็นอีกหนึ่งใน The Coup Team ของเราไปเรียบร้อยแล้ว มาร่วม
ทำการทดลองไปด้วยกัน

เราทำการทดลอง ย้อนสูตรเดิม โดยเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron เหมือนเคย เขย่าให้เต็มถัง
ล้นเอ่อ ขึ้นมาถึงคอถังอย่างที่เห็น จนแน่ใจว่า คราวนี้จะเติมไม่ลงกันอีกแล้วจริงๆ จากนั้น
ก็ออกเดินทาง ย้อนเส้นทางเดิม เป๊ะ ขับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ขึ้นทางด่วน
พระราม 6 ไปเลี้ยวกลับที่ปลายทางด่วน สายอุดรรัถยา เช่นกัน และใช้ Cruise Control ควบคุม
ความเร็วคงที่เอาไว้ เช่นเดียวกัน

เมื่อถึงทางลงพหลโยธิน เราก็ขับย้อนกลับมาเติมน้ำมันที่ปั้มแห่งเดิม น้ำมันชนิดเดิม เบนซิน 95
และที่หัวจ่ายเดิม เขย่า โขยกๆๆ กันไปเหมือนเดิม จนน้ำมันล้นเอ่อขึ้นมาถึงคอถังเหมือนกัน
คราวนี้ ผมกับหลุยส์ ก็ช่วยกันเขย่ารถ ส่วนน้องเด็กปั้มจอมกวนบาทา ก็ช่วยเติมน้ำมันให้เรา
กันอย่างดี

สิ่งที่อาจจะแตกต่างกันบ้าง ก็คือ ปริมาณการจราจร บนพื้นราบ ที่มีรถหนาแน่น เราใช้ความเร็ว
ได้น้อยลง แต่บนทางด่วน เราก็ยังใช้ความเร็วกันได้สบายๆ ตามที่ต้องการเหมือนเคย อีกทั้ง
อุณหภูมิ ในช่วงคืนวันที่เราทดลองครั้งแรก อยู่ที่ 29 องศาเซลเซียส จากมาตรวัดของรถ แต่
ในบ่ายวันรุ่งขึ้น ที่ทำการทดลองซ้ำ อุณหภูมิอยู่ที่ 33 องศาเซลเซียส และผลลัพธ์ที่ได้ มีดังนี้

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด 91.4 กิโลเมตร เท่ากันกับเมื่อคืน พอดีเป๊ะ (ก็แน่ละ เส้นทางเดียวกันเลยนี่นา)

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.47 ลิตร โอ้! เติมกลับน้อยลงไป 0.5 ลิตร ทั้งที่ระยะทางเท่ากัน

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยอยู่ที่ 14.12 กิโลเมตร/ลิตร ถือว่าตัวเลขออกมาได้ผล ใกล้เคียง
พอกันกับรถรุ่นก่อนหน้านี้ ที่ใช้เกียร์อัตโฯมัติ 4 จังหวะ Super ECT ถือได้ว่า งานนี้ เสมอตัว

รายการต่อไป ก็เป็นคิวของ รุ่น 1.8 ลิตร CVT คราวนี้ เราก็ยังคงทำการทดลองในเวลากลางคืน
อีกเช่นเดียวกัน เหมือนเช่นเคย เราซีเรียสกับการเติมน้ำมันในถัง ลงไปในครั้งแรกอย่างมาก
เพื่อลดโอกาสเกิดความผิดเพี้ยนในผลตัวเลขที่จะเกิดขึ้น

และเพื่อให้เห็นกันเลยว่า เราเขย่ารถกันจนเติมไม่ลงอีกแล้ว เลยต้องบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐาน
เมื่อพรอ้มแล้ว เราก็ Set 0 ที่ Trip Meter เพื่อวัดระยะทางแล่นทั้งหมด ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์
แล้วขับออกจากสถานีบริการน้ำมัน

ลัดเลาะไปตามเส้นทางเดิม แถวละแวกย่านซอยอารีย์ มุ่งหน้าไปขึ้นทางด่วน พระราม 6
ขับไปยาวๆ เลี้ยงคันเร่งไปใช้ความเร็ว ไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน
คราวนี้ ไปกับ ตาหลุยส์ แห่งร้านเป็ดย่างแมนดาริน ทองหล่อ เพื่อนสนิทและผู้ช่วยในการ
ทดลองรถยนต์ของข้าพเจ้าตามเคย ไปวนกันถึงจุดเลี้ยวกลับเดิม ปลายทางด่วนสายอุดรรัถยา
แล้ววกกลับมาขึ้นทางด่วน ย้อนลับเส้นทางเดิมอีกครั้ง

เมื่อมาลงที่ ทางลงอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก็เลี้ยวซ้าย เข้าถนนพหลโยธิน จากนั้น เลี้ยวกลับ
ที่หน้าโชว์รูม เบนซ์ ราชครู ชิดซ้าย เลี้ยวเข้าสถานีบริการ น้ำมัน Caltex กันอีกครั้ง

เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron เหมือนเดิม ที่หัวจ่ายเดิม และต้องเขย่าจนกระทั่ง
น้ำมันเอ่อขึ้มาถึงคอถังันเช่นนี้เหมือนเดิม ใช้เวลาไปประมาณ 20 กว่านาที เกือบครึ่งขั่วโมง
และต่อจากนี้คือผลลัพธ์ที่ได้

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด บนมาตรวัด : 91.4 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.96 ลิตร

ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย อยู่ที่ 15.33 กิโลเมตร/ลิตร !
เดี๋ยวก่อน ตัวเลขนี้ มันเท่ากับ Honda Civic FD 1.8 ลิตร รุ่นล้อ 16 นิ้ว เลยนี่นา!
ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์ดั้งเดิม ซึ่งทำตัวเลขได้แถวๆ 12.5 กิโลเมตร/ ลิตรแล้ว
ต้องถือว่า เครื่องยนต์ใหม่นี้ ทำตัวเลขดีขึ้นได้มาก อย่างเห็นได้ชัดเจนเลยทีเดียว
แสดว่าตอนนี้ Corolla Altis Minorchange 1.8 ลิตร แรงด้วย และประหยัดด้วย อีกต่างหาก!

ตาหลุยส์ ยังคงมาเป็นสักขีพยาน และผู้ช่วยในการทดลองกับเรา ในคืนนั้นเหมือนเช่นเคย
เราเติมน้ำมันเบนซิน Techron 95 ของ Caltex ที่สถานีบริการ ริมถนพหลโยธิน

ที่พูดถึงชื่อ Caltex บ่อยๆนี้ เราไม่ได้ค่าโฆษณากันแต่อย่างใด หากแต่เป็นเพราะ ต้องการให้รู้ว่า
เราใช้น้ำมันอะไรเติมเข้าไป เนื่องจาก มาตรฐานน้ำมันแต่ละยี่ห้อนั้น อาจมีความแตกต่างกันอยู่
เล็กน้อย ตามแต่ สารเพิ่มคุณภาพ หรือ Additive ซึ่งจะไม่เหมือนกัน ตามแต่ละผู้ผลิต

ถ้า Caltex จะใจดี มอบ Fleet card แบบไม่ระบุป้ายทะเบียนมาให้เราใช้เติมน้ำมัน หรือเป็น
บัตรเติมน้ำมันฟรี รายเดือน เดือนละ ไม่เกิน 5,000 บาท ก็จะเป็นพระคุณอย่างสูง (ฮา)

จากนั้น เขย่ารถ แล็วก็ค่อยๆ กรอก น้ำมันเข้าไปจนเต็มล้นปรี่ขึ้นมาถึงคอถังกันแบบนี้
เอาให้ชัวร์เลยว่า ฟองอากาศจะหลงเหลือในถังน้อยที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ น้องๆเด็กปั้ม
เริ่มถามเราอีกครั้งว่า “พี่ไม่เบื่อเหรอ ต้องทำแบบนี้”

ก็อยากจะบอกว่า เบื่อแหละ แต่ ต้องทำ เพราะนี่ดูจะเป็นวิธีเดียว ที่ง่าย และสะดวก แถมยัง
ให้ผลที่ใกล้เคียงความจริงได้มากที่สุด โดยไม่ต้องเสียเงินทำถังแยก หรือจัดการทดลอง
ให้มันวุ่นวาย อีกทั้ง มันก็เป็นวิธีที่ คุณผู้อ่านเอาไปทดลองทำกันเองกับรถของคุณก็ได้

เติมน้ำมันเสร็จ Set 0 บน Trip Meter แล้วติดเครื่อง เปิดแอร์ พัดลมเบอร์ 1 ขับรถออกมา
เลี้ยวกลับไปยังซอยอารีย์ ลัดเลาะเข้าไปตามเส้นทางเดียวกันกับทั้ง 2 คันข้างบนนี้
ทะลุออก ไปขึ้นทางด่วนที่ด่านพระราม 6 มุ่งหน้าไปยังปลายสุดทางด่วน อุดรรัถยา
เลี้ยวกลับที่ปลายทางด่วน ย้อนเส้นทางกลับมาอีกครั้ง ด้วยความเร็วตามมาตรฐานคือ
110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน

พอลงทางด่วน ที่อนุเสาวรียฺชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย ขับมาตามถนนพหลโยธิน
เลี้ยวกลับหน้า โชว์รูม เบนซ์ ราชครู แล้วก็เข้าไปเติมน้ำมัน Techron 95 ที่หัวจ่ายเดิม
ณ ปั้ม แห่งเดิม แถมเด็กปั้ม ก็ยังคงเป็น..ก๊วนเดิม!

แน่นอน เพื่อให้การทดลองนี้สมบูรณ์ เราก็ต้องเขย่ารถเพื่อกรอกน้ำมันกลับเข้าไปให้เต็มปรี่
ขึ้นมาถึงคอถังขนาดนี้ด้วยเช่นกัน การทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงนั้น จะเพี้ยนมากน้อย
แค่ไหน นอกจากอยู่ที่สภาพการขับขี่ อุณหภูมิ ปริมาณการจราจรแล้ว ตัวแปรสำคัญ จะอยู่ที่
การเติมน้ำมกันกลับเข้าไปนี่ละครับ ถ้าเติมเพี้ยนไปนิดเดียว ตัวเลขจะออกมาแตกต่างกัน
กับรถคันอื่น ไปไกลโข และอาจถึงขั้นต้องทำการทดลองกันใหม่เลย ก็มีมาแล้ว เช่นในรุ่น
2.0 ลิตร เป็นต้น และต่อจากนี้ คือผลลัพธ์ที่รุ่น 1.6 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ทำได้

ระยะทางบนมาตรวัดที่แล่นมา 93.0 กิโลเมตร (น่าจะแตกต่างจากรุ่นอื่นๆ เพราะขนาดของยางนิดหน่อย)

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ…6.14 ลิตร…เหย น้อยนะเนี่ย 

 

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 15.14 กิโลเมตร/ลิตร ถือว่า ตัวเลขออกมาใช้ได้เลย เมื่อเทียบกับ คู่แข่ง
เมื่อมาถึงตรงนี้ อยากให้ดูตารางเปรียบเทียบผลการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ที่เรา
เก็บรวบรวมข้อมูล ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เอาไว้สักหน่อย

 

หากดูจากตัวเลขในตารางจะพบว่า รุ่น 2.0 ลิตร นั้น มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ ไล่เลี่ยกันกับรถรุ่นเดิม ก่อนหน้านี้
ทำตัวเลขออกมาได้ดีพอมสควร แต่เมื่อเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกัน แน่นอนว่ายังประหยัดสู้ Honda Civic FD 2.0 
ไม่ได้เท่ากันนัก กระนั้นก็ดีขึ้นกว่ารุ่นเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ก่อนปรับโฉม Minorchange ด้วยราวๆ 0.4 กิโลเมตร/ลิตร
ถ้าเราไม่นับตัวเลขของ Focus 2.0 TDCI ที่ถือว่าดีสุดในกลุ่ม รวมอยู่ด้วย เพราะเป็นเครื่องดีเซล เทอร์โบ

ขณะเดียวกัน ในรุ่น 1.8 ลิตรนั้น การเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ กลายเป็นว่า ช่วยเพิ่มความประหยัดน้ำมันให้ได้ค่อนข้าง
มากกว่าเดิมอย่างชัดเจน แบบไม่ต้องสาธยายอะไรมากไปกว่านี้ 2 กิโลเมตร/ลิตร ที่ทำได้ดีขึ้นนั้น ยกความดีให้เกียร์
CVT ลูกใหม่นี้ไปเต็มๆ ตัวเลขถือว่า เทียบชั้นเท่ากับ Honda Civic FD 1.8 ไปเรียบร้อยแล้ว!!

ส่วน พิกัด 1.6 ลิตรนั้น หากเราไม่นับรวม รถยนต์ในกลุ่ม B-Segment Sub-Compact อย่าง Ford Fiesta 1.6 ลิตร แล้ว
Nissan TIIDA จะยังคงครองแชมป์ความประหยัด ในกลุ่ม C-Segment Compact Class Sedan & Hatchback ทั้งหมด
อยู่ดี ด้วยตัวเลข 15.94 กิโลเมตร/ลิตร และยังเป็นรอง Honda Civic FD 1.8 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ อยู่นิดหน่อย
(15.36 กิโลเมตร/ลิตร) แต่ Corolla Altis 1.6 ก็ถือได้ว่า ประหยัดเป็นอันดับ 2 รองจาก TIIDA 1.6 ลิตร

อย่างไรก็ตาม หากนับรวมกลุ่มรถยนต์ที่มีขนาดเล็กกว่าเข้าไปด้วย งานนี้เรา คงต้องยกรางวัลให้กับ Ford Fiesta 1.6 ลิตร
เกียร์อัตโนมัติ Power Shift Dual Clutch เขาไป ด้วยตัวเลขที่รถรุ่นนี้ ทำได้ถึง 16.4 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งตอนนี้ดูจะยัง
ไม่มีรถยนต์กลุ่ม B-Segment และ C-Segment คันใด ทาบรัศมีความประหยัดของ Fiesta ได้

แต่ถ้าถามว่า Corolla Altis ไม่ประหยัดหรือ คำตอบก็คือ อย่าคิดเช่นนั้น เพราะความจริงแล้ว รถรุ่นนี้ ขนาดตัวถังใหญ่
ประมาณนี้ ทำตัวเลขออกมาได้ขนาดนี้ ถือว่า ดีแล้ว ไม่น่าเกลียด แถมยังดีกว่าเพื่อนฝูงร่วมกลุ่ม กันอีกมากเลยทีเดียว
เพียงแต่ อาจจะด้อยกว่า 2 รุ่นดังกล่าว ก็เท่านั้นเอง

สรุปว่า Corolla Altis Minorchange ประหยัดน้ำมันขึ้นกว่าเดิมในทุกรุ่น และมีตัวเลขในระดับที่ควรจะเป็นเรียบร้อยแล้ว!!

และถ้าจะต้องขับใช้งานกันในชีวิตประจำวันละ? น้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้ไกลแค่ไหน?
ลองดูตัวเลขจาการใช้งานจริงของผมแล้วกันนะครับ นี่คือ ตัวเลขที่ได้คร่าวๆ จากรถรุ่น
1.6 ลิตร ในวันส่งคืนรถ เราแล่นไป 376.2 กิโลเมตร เข็มของมาตรวัดปริมาณน้ำมันในถัง
หล่นลงมาต่ำกว่าขีดกลาง (ครึ่งถัง) ลงมานิดเดียว นั่นหมายความว่า หากขับใช้งานด้วย
ความเร็วระดับ ตั้งแต่ 40 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง แถมด้วย กดคันเร่งเต็มเท้า เพื่อวัดอัตราเร่ง
แถมทำคลิปวีดีโอ ด้วยแล้ว ยังเหือน้ำมันให้เราแล่นไปได้อีกน่าจะราวๆ เกือบๆ 600 กิโลเมตร
ก็น่าจะทำได้อยู่ ถ้าหลังจากจุดนี้ไป คุณจะขับประหยัดๆ กันเต็มที่จริงๆ

ถือว่า เรื่องความประหยัดนั้น Corolla Altis ใหม่ ถือว่า สอบผ่าน ในระดับ น่าพอใจ แทบทุกรุ่น

********** สรุป **********
ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ยังเติมต่อได้อีก ถ้าคิดซื้อ 1.6 และ 1.8 ก็เหลือเฟือ!!

ผมว่า ผมคิดถูกนะ ที่ตัดสินใจ ทำรีวิว Altis Minorchange ขึ้นใหม่ทั้งหมด ด้วยการติดต่อ ขอยืมรถจาก
ทาง Toyota Motor Thailand ถึง 3 รุ่นย่อย รวม 3 คัน รวด 

เพราะกว่า 12 วัน 11 คืน ที่ผมใช้ชีวิตอยู่กับ Corolla ALTIS Minorchange ใหม่ เมื่อมองย้อนกลับไป
ตั้งแต่รถคันแรก จนถึงคันสุดท้าย ผมสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลง จาก Altis ใหม่ รุ่นดั้งเดิมก่อน
ปรับโฉม Minorchange ไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะตัวรถ ถ่ายทอดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งหมด
ให้เราได้รับรู้กัน อย่างชัดเจน

ถึงจะเชื่อว่า ไม่ใช่ แต่ก็แอบดีใจเล็กๆ ว่าสิ่งที่ผม เคยเขียนเอาไว้ว่า อยากเห็นการปรับปรุง รถยนต์
C-Segment Compact Sedan รุ่นยอดนิยมของคนทั่วโลก และคนไทย ในหลายๆ เรื่อง ถูกนำไป
ปรับปรุง และแก้ไข จนตอนนี้ ภาพรวมของรถออกมาในแนวทางที่ “ยอมรับได้ ในการแนะนำ
ให้คุณผู้อ่านซื้อหามาใช้งาน” กันเสียที ไม่ใช่รถที่ก่อให้เกิดความกระอักกระอ่วนทุกครั้งที่ต้อง
ตอบ เมื่อมีคุณู้อ่านถามมาว่า “Altis ใหม่น่าซื้อหรือไม่?” อย่างที่รุ่นก่อนปรับโฉม เคยเป็นมา และ
นั่นต้องถือว่า Toyota เองก็ได้ทำในสิ่งที่ผมอยากจะให้พวกเขาทำ ใน Corolla Altis ใหม่ไปแล้ว
เท่าที่พอจะทำได้

สิ่งที่ Toyota จัดการปรับปรุงแก้ไข จนกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ผมมองว่าดีขึ้นนั้น
ข้อแรกที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือ สมรรถนะจากเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร ที่พุ่งปรู๊ดปร๊าด สนุกสนาน
สะใจมากกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด แถมพกเอาความประหยัดน้ำมัน เทียบเท่า Honda Civic FD 1.8
เจ้าของแชมป์เก่าในพิกัด 1.8 ลิตร จนตอนนี้ Altis 1.8 สามารถเอาชนะความแรงของ Civic FD 1.8
ได้เรียบร้อยแล้ว!!

คุณงามความดีเหล่านี้ นอกจากจะต้องยกให้กับเครื่องยนต์ 1.8 ลิตรบล็อกใหม่แล้ว ยังต้องยกให้กับ
เกียร์อัตโนมัติ CVT ที่ลดการสูญเสียกำลังในระบบขับเคลื่อนไปได้พอสมควร ทำงานนุ่มนวลแบบ
พอประมาณ พอให้ยังรู้สึกว่าคล้ายเกียร์อัตโนมัติอยู่นิดๆ ไม่ชวนให้หงุดหงิด เกียร์ลูกนี้ ยังไปโผล่
อยู่ในรุ่น 2.0 ลิตร ซึ่งก็ให้อัตราเร่ง ที่เร็วกว่าเดิมถึง 1 วินาที และแน่นอนว่า ชนะ Civic FD 2.0 ไปแล้ว
พร้อมกันด้วยอีกต่างหาก! (แต่อัตราสิ้นเปลือง ยังเป็นรอง Civic FD 2.0 อยู่นิดนึง)

ขณะเดียวกัน สมรรถนะจากเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ก็ดีขึ้นกว่าเดิม นิดนึง ไม่ได้แย่ และยังถือว่าดีกว่า
เพื่อนฝูงเขาอยู่นิดนึง อาจจะแค่เป็นรอง เครื่องยนต์ 1.6 ลิตรของ Nissan TIIDA ด้านความประหยัด
แต่ ก็ยังถือว่า ทำผลงานได้ดีอยู่ ไม่น่าเกลียดเลย

ประการต่อมา ข้อนี้ ขอเน้นย้ำเลยคือ พวงมาลัย ในที่สุด ได้มีการปรับเพิ่มระยะฟรี ให้มากขึ้นกว่าเดิม
และมีน้ำหนักในความเร็วต่ำ เบาพอให้หมุนเลี้ยวเข้าจอดได้คล่องแคล่วเหมือนเดิม แต่มีความหนืด
ในช่วงความเร็วสูงๆ มากกว่าเดิม (แต่ยังถือว่า ไม่ดีพอ เมื่อเทียบกับคู่แข่ง)

ระบบกันสะเทือน ในรุ่นที่ใส่ล้อ 16 นิ้ว แอบแข็งขึ้นนิดนึง พอจะพบความตึงตังในการลัดเลาะตาม
ตรอกซอกซอย แต่ยังพอจะให้ความมั่นใจในช่วงความเร็วสูงได้อยู่ ขณะที่รุ่นล้อ 15 นิ้ว ซึ่งได้ยาง
แก้มหนาเข้ามาช่วย ทำให้สัมผัสที่รับได้จากเบาะคนขับ กลับประเสริฐกว่านิดหน่อย อันที่จริง
มันก็เหมือนกันกับรถรุ่น 1.6 เดิม ก่อนหน้านี้ เปี๊ยบเลยอยู่ดี นั่นแหละ

สรุปได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ เกิดขึ้นในด้านสมรรถนะการขับขี่ เป็นสำคัญเลยจริงๆ

 

แล้วสิ่งที่จะต้องปรับปรุงกันต่อไปละ?

โอ้ เยอะไม่ใช่น้อยอยู่เหมือนกันนะเนี่ย

ข้อแรก น้ำหนักพวงมาลัยที่หนืดกว่านี้อีกสักหน่อย น่าจะช่วยให้การขับขี่ในย่านความเร็วสูงทำได้ดียิ่งขึ้น
มากกว่านี้อีก ช่วงความเร็วต่ำ น้ำหนักเบากำลังดีแล้ว แต่ในช่วงความเร็วสูง อยากให้ปรับเพิ่มความหนืดขึ้น
อีกนิดหน่อย

ต่อมา การออกแบบห้องโดยสาร มีข้อให้ต้องปรับปรุงอยู่หลายอย่าง ตั้งแต่แผงประตู ที่ไม่รู้ว่าจะออกแบบมา
รองรับสรีระของคนที่มีช่วงต้นแขนยาว เหมือนลิงอุรังอุตัง เพียงสปีชีส์ เดียวกันเลยหรืออย่างไร ไม่คิดจะ
ออกแบบให้คนธรรมดาทั่วไป เขาวางแขนวางมือ ให้ผ่อนคลายสบายจิตกันบ้างเลยหรือ ทำไมรถรุ่นเก่า
ถึงวางแขนได้สบายกำลังดี แต่รุ่นนี้ ทำเช่นนั้นไม่ได้? ต่อให้อ้างในเรื่องความปลอดภัยจากการชนด้านข้าง
แต่นั่นแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว ยังมีช่องทางในการปรับปรุงแผงประตู ให้วางแขนสบายได้มากกว่านี้
อีกอยู่ดี และนั่นไม่ใช่ข้ออ้างที่ดีเลย ถ้าคิดจะอ้าปากบอกผมในเรื่องนี้?

เรื่องเบาะนั่งนี่ก็อีกเช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้ก่อให้การปวดหลังมากมายนัก แต่ ก็สร้างความเมื่อยล้า ให้กับสรีระ
ของผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านซ้าย ได้บ้างเหมือนกัน เบาะรองนั่ง ถ้าเพิ่มความยาวมากกว่านี้ ออกมาอีกนิด
น่าจะเพิ่มความสบายช่วงบั้นท้าย และต้นขาได้มากกว่านี้อย่างแน่นอน

เบาะหลังเองก็ไม่แพ้กัน เบาะรองนั่ง สั้นเกินไปหน่อย ถ้าเพิ่มความยาวได้อีกนิด จะดีมาก แต่นั่นหมายความว่า
อาจต้องส่งผลไปถึงการปรับตำแหน่งของ ระยะฐานล้อ หรือตำแหน่งของระบบกันสะเทือนหลังด้วย ซึ่งตรงนี้
ต้องพิจารณากันให้ดีๆ เพราะอันที่จริง เพิ่มความยาวขึ้นมาอีกนิดเดียว ไม่ต้องเยอะ แค่ไม่กี่มิลลิเมตร ก็เพียงพอ

การใช้วัสดุภายในนั้น มีความท้าทายใหม่เกิดขึ้นมาว่า จะทำอย่างไร ให้แผงหน้าปัด และแผงประตู รวมทั้ง
ชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ผ่านกระบวนการ Recycle ได้ มีพื้นผิวที่น่าสัมผัส ไม่หยาบกระด้าง และไม่ก่อความรู้สึกว่า
Look Cheap ในสายตาของลูกค้า ขณะเดียวกัน ก็ยังต้องควบคุมต้นทุนให้อยู่ในระดับเหมาะสมอีกต่างหาก
เพื่อไม่ให้ราคาแพงเกินไป

นอกจากนี้ ระบบเกียร์ CVT นั้น น่าจะมีปัญหาเรื่องเสียงหอน หากเจ้าของรถ เป็นพวกขับเร็ว ตีนผี
และตะบี้ตะบันเร่งรถ เร่งเอา เร่งเอา ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น เกียร์น่าจะพังได้ในเวลาไม่นาน ระหว่างนี้
Toyota เอง ก็ควรจะให้ความรู้กับลูกค้า เรื่องการใช้เกียร์ CVT อย่างถูกวิธี เพื่อยืดอายุการใช้เกียร์ให้
ยาวนานขึ้น และลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการ เกียร์หอน อย่างในรถคันที่ผมทดลองขับ (คันสีดำ) เป็นอยู่

นอกจากนี้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรุ่นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร แม้ว่าจะทำได้เกินกว่า 14 กิโลเมตร/ลิตร
ขึ้นมา จากมาตรฐานการขับขี่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และนั่ง 2 คนก็ตาม ทว่า ผมอยากเห็นตัวเลข
ที่ดียิ่งขึ้นกว่านี้อีก แต่มีข้อแม้ว่า พละกำลังที่ออกมาจะต้องเทียบเท่ากันกับเครื่องยนต์ชุดปัจจุบัน หรือแรง
ยิ่งกว่าเดิม เพราะถ้าไม่สามารถหาความแตกต่างจากรุ่น 1.8 ลิตร ได้มากละก็ โอกาสที่ลูกค้าจะเลือกรุ่น
2.0 ลิตร ก็น่าจะไม่มากเท่ากับรุ่น 1.8 ลิตร และเมื่อเป็นเช่นนั้น ยอดขายคงสู้ไม่ได้ และต้องปลดเครื่องยนต์
2.0 ลิตร ออกไปเลย ในรุ่นต่อไป น่าจะดีกว่า หรือเปล่า? ขอย้ำในประเด็นนี้ว่า ปัญหา ไม่ได้มาจากว่า
เครื่องยนต์ไม่ดี เพราะความจริงแล้ว เครื่องยนต์หนะ แรงกำลังดี ประหยัดกำลังเหมาะ เพียงแต่ว่า
ความแตกต่างจากเครื่อง 1.8 ลิตร ตัวใหม่ ไม่ได้มากมายเท่าที่ควรจะเป็น

และที่สำคัญ การออกแบบ จะต้องดึงดูดใจลูกค้ามากกว่าที่เป็นอยู่ อย่าได้มุ่งหน้าแต่เอาชนะคู่แข่ง จนลืมไปว่า
คุณค่าที่แท้จริง ของ ความเป็น Corolla หนะ คืออะไร? แล้วเราจะพัฒนาให้สามารถรักษาความเป็นผู้นำได้
ในทุกด้าน อีกทั้งยังต้องตาโดนใจลูกค้า ทั้งวัยรุ่น และกลุ่มผู้ใหญ่ ได้อย่างไร? นี่คือโจทย์ที่หนักหนามากๆ

ถ้ายังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือก รถยนต์ Sedan กลุ่ม C-Segment 1.6 – 2.0 ลิตร รุ่นไหนดีละก็…
แม้จะเคยเขียนสรุปไปแล้วใน บทความ Full Review ของ Mitsubishi Lancer EX ทว่า เราลอง
มาอัพเดทกันอีกสักรอบก็ดี ว่า ถึงวันนี้ รถแต่ละรุ่น ในกลุ่มตลาดระดับราคา 7 แสนบาทกลางๆ
ถึง 1 ล้านบาทต้นๆ จะมีตัวเลือกอะไรให้น่าซื้อ นอกเหนือจาก Corolla Altis กันบ้าง ไล่เรียงกัน
ตามปริมาณยอดขายในแต่ละเดือน ซึ่งมีตัวเลขฟ้องอยู่

รถที่ขายดีที่สุดในกลุ่มนี้ รองลงไปจาก Corolla Altis ก็เห็นจะเป็น Honda Civic เจ้าเก่า แม้ว่าจะเปิดตัวมา
ตั้งแต่ เดือน พฤศจิกายน 2005 แล้ว ก็ยังขายดี แม้ว่า Defect เรื่องแอร์เหม็น กับกระจกหน้าต่างไฟฟ้าติดขัด
ก็แก้ปัญหาได้แล้ว แต่คุณอาจต้องทำใจกับ คุณภาพของชิ้นส่วน จากซัพพลายเออร์ และการประกอบในบางคัน
รวมทั้ง สีที่พ่นมาบางไปหน่อย รุ่น 1.8 ลิตร อาจจะยังมีบางคัน ที่มีเสียงเครื่องยนต์ดังต๊อกๆ อยู่ ดูจะยังแก้
ไม่หาย ขณะที่รุ่น 2.0 ลิตร เครื่องแรงที่สุดและประหยัดที่สุดในกลุ่ม 2.0 ลิตร เบนซิน ด้วยกัน แถมอุปกรณ์
ครบครันกว่า ในราคาที่ไม่หนีกันนัก และที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องก็คือ ศูนย์บริการ ดีๆ ที่น่ารักจนไม่ค่อยมีเสียง
ลูกค้าบ่นหรือก่นด่า เริ่มมีจำนวนลดลง (คือจำนวนศูนย์บริการ เยอะเป็นเบอร์ 2 ในตลาดกลุ่มนี้ แต่ศูนย์ฯ ที่
ดูแลลูกค้าดีๆ และ ซ่อมเก่ง ช่างเก่ง คุยกับลูกค้ารู้เรื่องนั้น น้อยลงจริงๆนะ)

Mazda 3 ตอนนี้ บอกเลยว่า รอรุ่นใหม่เถอะ 2 เดือนข้างหน้า (มีนาคาม 2011) ก็เจอกันแล้ว ส่วนรุ่นปัจจุบัน
แม้ว่าการขับขี่จะดีเป็นอันดับต้นๆในกลุ่ม แต่ รุ่น 2.0 ลิตรนั้น ทั้งแรงกว่า แถมยังประหยัดกว่ารุ่น 1.6 ลิตร
ซึ่งอืดอาด และกินน้ำมันมาก ด้านศูนย์บริการ ถึงจะเยอะขึ้นมาก เป็นร้อยกว่าแห่งทั่วประเทศแล้วในตอนนี้
แต่ก็ยังต้องพัฒนาคุณภาพการบริการ และ การซ่อมบำรุงกันอีกสักหน่อย

Nissan TIIDA “ไอ้ติ๋ม” รุ่นปรับช่วงล่าง ให้ใกล้รถยุโรปขึ้นอีกนิด มีคุณงามความดีซ่อนอยู่ที่เครื่องยนต์ 1.6
และ 1.8 ลิตร ที่แรงและประหยัด แถมเกียร์อัตโนมัติ ที่สูญเสียกำลังในระบบขับเคลื่อนน้อยมาก รวมทั้ง
ห้องโดยสารที่ยาวเกินคาดกว่าใครทั้งปวง แต่ ถ้าอยากได้รถขับสนุกๆ ก็ต้องบอกกันตรงๆว่า แม้รถจะแรง
แต่ก็ยังไม่ถึงขั้น ขับสนุกแต่อย่างใด ศูนย์บริการ มีเยอะทั่วไทย แต่ หาช่างเก่งๆ ดูแลลูกค้าได้ดี มีไม่เยอะ

Mitsubishi Lancer EX รถก็ดี แต่ขายไม่ดี เพราะ ออพชันไม่เยอะเท่าชาวบ้านเขา ช่วงล่าง และพวงมาลัย
คือจุดเด่นของพวกเขา มาแบบรถคอมแพกต์จากยุโรป เน้นความนุ่มสบาย และเสถียรขณะเดินทางไกล
แต่เครื่อง 1.8 ลิตร อืด แถมกินน้ำมันไปหน่อย ขณะที่ 2.0 ลิตร แรงเทียบชั้น Civic 2.0 แต่ ด้อยกว่า Altis
2.0 นิดนึง อีกทั้ง ศูนย์บริการของ Mitsubishi ที่เห็นว่าดีพอให้พึ่งพาได้ ซ่อมเก่ง ดูแลลูกค้าดีมากๆ มีอยู่
เพียง ไม่กี่ศูนย์ฯ เท่านั้น กำลังจะมีรุ่นปรับอุปกรณ์ ออกมาในเดือนหน้า รอดูก่อนก็ดี

Ford Focus รถดีนะ แต่รุ่น 1.8 ลิตร ก็อืดพอกันกับ Lancer EX 1.8 นั่นแหละ ห้องโดยสาร อาจจะมีปัญหา
กับบางคน พื้นที่นั่งด้านหลัง ยังไงๆ Lancer EX ก็เหนือกว่า แต่ถ้าว่ากันที่เครื่องยนต์แล้ว 2.0 TDCi ดีเซล
คอมมอนเรล เทอร์โบ คือสุดยอดเครื่องยนต์ในฝัน ที่เป็นความจริง ในพิกัดรถยนต์ระดับนี้ แต่ก็มาติดตรงที่
ศูนย์บริการ คือเรื่องน่าหนักอกของ Ford อยู่ ถ้ายังคิดจะทำตลาดในไทยกันต่อไป เพราะนอกจากจะน้อยแล้ว
การดูแลลูกค้า และการซ่อมบำรุง ก็ยังต้องถือว่า ภาพรวมแล้ว ด้อยกว่า Nissan และ Mitsubishi ที่ว่าเห่ยๆ เสียอีก

Chevrolet Cruze น้องนุชสุดจะสดใหม่ ห้องโดยสารเจ๋งสุดในกลุ่ม น่าจับตามองรุ่น 1.8 ลิตร ซึ่งให้อัตราเร่ง
ตีนต้นดี แต่ปลายเหี่ยว? และ 2.0 Turbo Deisel ที่ยกเครื่องยนต์ Captiva มาวางให้ นิสัยเหมือนกันเกือบจะเป๊ะ
เร่งในบางช่วงก็ดี บางช่วงก็ไม่ทันใจ ถ้าเทียบกันแล้ว Focus TDCi เครื่องยนต์ยังไงก็ดีกว่า แต่ถ้าเรื่องพวงมาลัย
ช่วงล่าง เบรก วัดกันในโค้งแล้ว งานนี้ Cruze ชนะ Altis Civic TIIDA ไปเรียบร้อย ชนิดที่ว่า ลืม Optra ทิ้งไป
ได้เลย แต่ยังถือว่า สูสี กับ Lancer EX ในทางตรง และ คู่ตี่กับ Focus ในช่วงทางโค้ง ส่วนรุ่น 1.6 ลิตร อย่าไป
สนใจมากเพราะเครื่องก็ยกมาจาก Optra ดังนั้น เรี่ยวแรงอย่าคาดหวังมากนัก เช่นเดียวกับศูนย์บริการของ
Chevy ที่แม้จะเยอะขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีเสียงบ่นของลูกค้า ทั้งเรื่องการเคลมอะไหล่บางชิ้น ที่ทำไม่ได้ และ
การซ่อมบำรุง ที่ไม่เก่ง เน้นจับเปลี่ยนเป็นหลัก มากกว่าจะซ่อม

อย่างไรก็ตาม ถ้าในท้ายที่สุด ตัดสินใจได้ว่า จะเลือก Altis คำถามก็คือ จะเลือกรุ่นไหนดี?
คงต้องเริ่มจาก มาดูราคาค่าตัวของแต่ละรุ่นกันก่อน

– Corolla Altis CNG 5MT• 744,000 บาท (เหมาะกับตลาด TAXI เท่านั้น)
– Corolla Altis CNG 5MT Color Key • 756,000 บาท
– Corolla Altis 1.6 J 6MT • 751,000 บาท
– Corolla Altis 1.6 J 4AT • 779,000 บาท
– Corolla Altis 1.6 E 4AT • 799,000 บาท
– Corolla Altis 1.6 G 4AT • 834,000 บาท
– Corolla Altis 1.6 E CNG 4AT• 854,000 บาท
– Corolla Altis 1.8 E CVT • 864,000 บาท
– Corolla Altis 1.8 G A/T • 919,000 บาท
– Corolla Altis 2.0 G A/T • 969,000 บาท
– Corolla Altis 2.0 V A/T • 1,054,000 บาท
– Corolla Altis 2.0 V Navi • 1,194,000 บาท

เท่าที่นั่งกางแค็ตตาล็อก ดูรายการอุปกรณ์ และเทียบกับใบราคากันแล้ว รุ่น 1.6 ลิตร กับ 1.8 ลิตร ดูจะ
เพียงพอต่อการใช้งาน โดยไม่จำเป็นต้อง ปีนป่ายขึ้นไปเล่นรุ่น 2.0 ลิตร ให้สิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุ
แต่อย่างใด อย่างที่สรุปกันเอาไว้แล้วว่า เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร นั่้น ทำอัตราเร่งออกมาได้ ใกล้เคียงกัน
กับเครื่องยนต์ 2.0 ลิตรมากๆ จนแทบไม่รู้สึกความแตกต่าง มากมายอย่างที่ควรจะเป็นเอาเสียเลย

ถ้าคิดจะซื้อรุ่น 1.8 ลิตร ก็จะมีเพียง 2 ทางเลือก ความแตกต่างมีเพียงแค่ว่า รุ่น 1.8 G (คันสีดำในรูปประกอบ)
ซึ่งจะมี พวงมาลัย Multi Function หัวเกียร์หุ้มหนัง ชุดเบาะหลัง ยกมาจากรุ่น 2.0 ลิตร พับได้และมีช่องวางแก้ว
พร้อมฝาปิด กระจกหน้า มี Top Shade มาให้ และ แค่นั้น!! แต่ราคาต่างกันขนาดนี้ ถ้าคิดว่า คำนวนเงินผ่อนแล้ว
ไม่มีปัญหา และไม่เป็นภาระอะไรมากนัก เอารุ่น 1.8 G ไปเลย แต่ถ้าไม่จำเป็น 1.8 E ก็เพียงพอ เว้นเสียแต่ว่า
คุณอยากได้เบาะหลังพับได้ กับพวงมาลัยที่มีปุ่มให้กดเล่น

แต่รุ่นที่ดูแล้วน่าจะสนใจมากที่สุด ก็คงจะเป็นรุ่น 1.6 ลิตร ซึ่งให้สมรรถนะที่ดีสมตัว ห้องโดยสาร
ขนาดกำลังดี สมกับเป็นรถยนต์ครอบครัว อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 15.1 กิโลเมตร/ลิตร ดีขึ้นกว่า
รุ่นก่อนนิดนึง และไม่จำเป็นต้องจ่ายแพง เพื่อแลก กับรถรุ่นสูงกว่านี้แต่อย่างใด

รุ่นที่คุ้มค่ามากสุด ในความเห็นของผม คือ 1.6 G 4AT อันเป็นรุ่นท็อป เพราะว่า ในรุ่น 1.6 ลิตร ที่มี
ค่าตัวถูกกว่านี้ แม้ว่า รุ่น 1.6 E จะมี ABS  EBD และ Brake Assist มาให้ แต่แทนที่จะมีถุงลมนิรภัย
ฝั่งคนขับมาให้สักใบ กลับไม่มีติดตั้งมาให้เลย ทำให้ค่าตัวดูแพงเกินกว่าที่สมควรจะจ่าย เพราะในเมื่อ
รถที่มีราคาถูกกว่า อย่าง Vios ยังมีมาให้ครบถ้วน แล้วทำไมต้องจ่ายแพงกว่า เพื่อรถที่ไม่มีถุงลมนิรภัย?

แต่ 1.6 G (คันสีเทาเขียว ในรูประกอบบทความนี้) ได้ข้าวของมาค่อนข้างครบ เพียงแต่ว่า ค่าตัวก็จะ
สูงกว่า Lancer EX 1.8 รุ่นล่างสุด แค่ 3,000 บาท (วัดกันเฉพาะ ราคาตั้ง หน้าโชว์รูม ยังไม่รวมส่วนลด
ที่ต้องไปคุยตกลงกันต่อเอาเอง ในแต่ละโชว์รูม) แต่คุณยังได้ เบาะหนังจากโรงงาน แบบที่พนักงานขาย
หน้าไหน ก็ไม่มีทางเอาของนอกโชว์รูม มาหลอกว่าเป็นของโรงงาน แถมให้คุณได้

อย่างไรก็ตามถ้าเป็นรุ่นติดก๊าซ CNG คงต้องดูให้ดีๆ ถ้าอยากได้อุปกรณ์มาแบบครบครัน แต่ไม่ยักมี
ถุงลมนิรภัยมาให้เลยสักใบ มีเพียงระบบ ABS EBD และ Brake Assist มาให้ แถมอุปกรณ์ ก็ยัง
เทียบเท่ารุ่น 1.6 E ซึ่ง ในราคาที่สูงตั้ง 854,000 บาท เพิ่มเงินอีก 10,000 บาท ก็ได้รุ่น 1.8 E CVT
มาครอบครองแล้วนั้น ผมว่า มองหา Mitsubishi Lancer CNG รุ่นแซยิด ไปด้วยน่าจะดีกว่า ถึงแม้ว่า
ความสดใหม่หนะ ไม่มีทางสู้ Altis ได้ เพราะ Lancer ตัวถังนี้คลอดมานานตั้งแต่ปี 2000 ในตลาด
ญี่ปุ่น และตุลาคม 2001 ในไทย ปรับโฉม ก็เมือ เดือนมีนาคม ปี 2005 แต่ ข้อเท็จจริงก็คือ ทุกวันนี้
Lancer ร่นนี้ ยังมีขายในญี่ปุ่นกันอยู่ และยังไม่มีแนวโน้มจะยุติการผลิตแต่อย่างใด ในช่วง 1-2 ปีนี้
อีกทั้ง ด้วยค่าตัวถูกเพียง 692,000 บาท มี ABS EBD มาให้ (ไม่มี Brake Assist ให้) แต่ต้องยอมรับ
ด้วยว่า เครื่องยนต์ แค่ 102 แรงม้า (PS) ไม่แรงเท่า Altis และ ไม่มีรุ่นใด ให้ถุงลมนิรภัยเลยสักรุ่น
เหมือน Altis CNG

ท้ายสุด สิ่งที่อยากจะฝากถึง Cheif Enginner และทีมวิศวกรที่อยู่ในระหว่างกำลังพัฒนา Corolla รุ่นต่อไป
แม้ว่า จะยาวไปสักน่อย แต่อยากให้รู้ว่า เขียนออกมา ด้วยใจจริง และด้วยจิตคารวะ

เพราะเราคงรู้กันดีว่า ในระยะหลังมานี้ ตลาดรถยนต์นั่ง กลุ่ม C-Segment Compact Class นั้น มีความ
เปลี่ยนแปลงอย่างมาก แม้ว่าในระดับสากล รถยนต์พิกัดนี้ ยังคงทำรายได้ให้กับบริษัทรถยนต์ มากมาย
แต่ความท้าทาย ทั้งจากรถยนต์ขนาดเล็ก B-Segment ซึ่งกำลังจะก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในตลาด
รถยนต์ทุกแห่งทั่วโลก ข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ต้นทุนการผลิต ค่าเงิน ปัจจัยด้าน
เศรษฐกิจ และการอ่านใจลูกค้า คาดเดาความต้องการของผู้บริโภค ทั้งในบ้านเกิดของตน และตลาด
ส่งออกนั้น เริ่มยากขึ้นเรื่อยๆ ทุกทีๆ

Corolla เอง แม้่าในตลาดโลก จะยังคงทำยอดขายไปได้ดี แต่ด้วยการท้าทายจากคู่แข่งจำนวนมาก
ทำให้ รัศมีของ Corolla นับวันยิ่งค่อยๆอับแสงลงเรื่อยๆ ยิ่งในตอนนี้ ที่ญี่ปุ่นเอง การที่ Toyota
พยายามผลักดัน Prius ให้เป็นตัวแทนของรถยนต์แห่งสหัสวรรษใหม่ แถมด้วยแรงจูงใจด้าน
ภาษีที่รัฐบาลญี่ปุ่น เริ่มมอบให้กับ รถยนต์ ประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อม อย่าง รถยนต์
Hybrid และรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่ชัดเจน ทำให้ลูกค้าพากันหันไปซื้อ Prius อย่างมาก จนยอดขาย
ของ Corolla เริ่มได้รับผลกระทบ และค่อยๆร่วงลงมา จากอันดับ 1 เหลือแค่อันดับ 1 ใน 5 รถยนต์
ขายดีของญี่ปุ่น แทน นั่นส่งผลให้เกิดข่าวลือถึงอนาคตของ Corolla ให้พอได้ยินมาเป็นระยะๆ
จากทั่วทุกมุมโลก

อย่างไรก็ตาม หากเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของ Corolla ในช่วงตลอด 45 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า
มี Corolla อยู่รุ่นหนึ่ง ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในด้านยอดขาย และการยอมรับของลูกค้า นั่นคือ
Corolla AE-90 Series (รุ่นปี 1987 – 1991) รวมทั้ง รุ่น AE-100 Series (รุ่นปี 1991 – 1995)

เคล็ดลับของความสำเร็จ ที่ทำให้ Corolla ทั้ง 2 รุ่นนี้ กลายเป็นรถยนต์ยอดนิยม ขายดี และยังมี
ลูกค้าถวิลหาในตลาดรถมือสองอยู่ไม่น้อย จนถึงตอนนี้ นอกจากจะเป็นเพราะคุณงามความดี
ทั้ในด้านความสะดวกสบาย สมขนาด คุ้มค่าสมราคา พละกำลังสมพิกัด และความทนทานเกินคาด
เพราะการลดต้นทุนที่ยังไม่มากมายนัก เมื่อเทียบกับรถรุ่นใหม่ๆในทุกวันนี้แล้ว

Corolla AE-90 Series ยังเป็นรถยนต์ที่ถูกพัฒนาขึ้น ด้วยแนวทาง Corolla ที่เหนือกว่า Corolla
นำเอาความหรูหราและอุปกรณ์ต่างๆ จากรถยนต์ระดับหรูอย่าง Toyota Crown มาติดตั้งลงไป
ในรถยนต์ขนาดเล็ก จนรถรุ่นนี้ ได้รับฉายาในญี่ปุ่นว่า “Baby Crown” ช่วยให้ AE-90 Series
ขายดีเป็นพลุระเบิด ขณะเดียวกัน Corolla AE-100 Series ก็ถูกสร้างขึ้น เพื่อให้เป็น งานระดับ
Masterpiece ที่สุดในตระกูล Corolla ทุกรุ่นเท่าที่เคยมีมา แม้ว่ายอดขายในญี่ปุ่น จะไม่เป็นไป
ตามเป้านัก เพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ช่วงขาลงในปี 1991 ที่รถเปิดตัวพอดี ก็ตาม แต่ ทั้ง
2 รุ่น ก็จะยังเป็น Corolla ที่ดีที่สุด และน่าจดจำที่สุด ตลอดมา และตลอดไป

ดังนั้น เพื่อให้ Corolla ยังคงเดินทางต่อไปได้นับจากนี้ สู่อีก 10 ปีข้างหน้า อย่างสมบูรณ์
ต่อให้รู้ทั้งรู้ว่า ไม่วันใด ก็วันหนึ่ง Toyota อาจจะโละ Corolla ออกจากสายการผลิตได้
ในอนาคต แต่อย่างน้อย ก่อนที่โลกจะต้องโบกมืออำลาให้กับ Corolla เรา ในฐานะ คนรักรถ
ยังคงอยากจะเห็นสิ่งหนึ่ง ซึ่ง Toyota เคยทำได้ดี และอย่างสวยสดงดงาม อีกสักครั้งหนึ่ง

นั่นคือ การสร้าง Corolla รุ่นต่อไป ให้กลายเป็น Corolla ที่ดีที่สุด เหนือทุกความคาดหมาย
ดียิ่งกว่าที่ AE-90 และ AE-100 เคยสร้างมาตรฐานเอาไว้ ในทุกด้าน การขับขี่ ต้องสนุกสุด
ประเสริฐ ไร้ข้อตำหนิใดๆ เมื่อเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกัน ความปลอดภัย ที่ต้องเหนือชั้น
อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ให้อัตราเร่งที่ดีเยี่ยม ประหยัดน้ำมันเหนือคู่แข่ง และเป็นมิตรกับ
สิ่งแวดล้อม ยิ่งกว่าทุกรุ่นที่เคยมีมา พร้อมกับรูปลักษณ์ ที่งามสง่า น่าตกตะลึงว่า นี่หรือ Corolla 
ขณะเดียวกัน ดูปุ๊บ ต้องรู้เลยว่า นี่แหละ Toyota ในแบบที่ทุกคนยังมั่นใจและเชื่อถือได้ เอาใจ
ทุกเพศ ทุกวัย เน้นไปที่วัยรุ่น เพิ่งเริ่มทำงาน และวัยผู้ใหญ่ ที่ยังจงรักภักดีกับ Corolla อยู่
เพราะนี่แหละ คือ 2 กลุ่มลูกค้าสำคัญ ที่จะยังทำให้ Corolla สามารถเอาตัวรอดในตลาด
ต่อไปได้

เหนือสิ่งอื่นใด รถรุ่นใหม่ จะยังต้อง รักษาไว้ ซึ่ง “คุณค่าความเป็น Corolla” ทั้งความสะดวก
ในการใช้งาน การซ่อมบำรุง ดูแลรักษา ร่วมสมัย หรือนำสมัย เชื่อถือได้ เป็นเพื่อนประจำบ้าน
ที่ไว้ใจได้ของทุกคน ไม่ไฮเทคเกินไป และ ไม่ดูเป็นกลไก ที่ใช้งานยากจนเกินไป

มองไปมองมา ผมกับแพน มีความเห็นตรงกันว่า จะเป็นไปได้ไหม ที่ ทีมวิศวกร จะมองแนวทาง
การพัฒนา Corolla รุ่นต่อไป โดยนำเอา Crown รุ่นปัจจุบัน มาเป็นแม่แบบ

อย่าลืมว่า Crown มีประวัติศาสตร์ ที่ยาวนานที่สุดในบรรดารถยนต์ญี่ปุ่นด้วยกันในตอนนี้
11 Generation ที่ผ่านมา เป็นเครื่องรับประกันได้อย่างดีว่า นี่แหละ คือรถยนต์ที่รักษาคุณค่า
ของตนเอาไว้ ได้ อย่างดี และมีการพัฒนาให้ล้ำหน้าเหนือชั้น ยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ แม้ว่า
สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร คู่แข่งทั้งหลาย ก็ไม่อาจทำอะไร Crown ได้เลย
Crown ยังคงยืนหยัดมาได้ตราบจนถึงปัจจุบัน และยังไม่มีทีท่าว่าจะถึงทางตันในการ
พัฒนาง่ายๆนัก เพราะยังมีลูกค้าที่จงรักภักดีกับ Crown เยอะมากๆ ในญี่ปุ่น และความ
หรูหราในแบบของ Crown นั่นละ ที่ยังคงตราตรึงใจลูกค้าคนไทยส่วนใหญ่ตลอดมา

ดังนั้น ถ้า Corolla Altis รุ่นต่อไป จะนำแนวทาง ความเป็น Crown มาใช้ในการพัฒนา ทำตลาด
และเพื่อเข้าถึงผู้คนบ้างละ? โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ถ้า สามารถจำลอง ความเป็น Crown Athlete
อันเป็นเวอร์ชันแนวสปอร์ต ของ Crown ลงใน Corolla Altis ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ละ?
แต่ยังต้องคงความเป็น Corolla เอาไว้ ในจิตวิญญาณของมันละ?

สรุปง่ายคือ งานออกแบบภายนอกภายใน ดู Crown Athlete เป็นแบบอย่าง สมรรถนะภาพรวม
ดู VW Golf ใหม่ เอาไว้เป็นแม่แบบ ความประหยัด และความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็มองไปที่
Prius ใหม่ แต่ทั้งหลายทั้งปวง ยังต้องคงคุณค่าความเป็น Corolla ที่เคยเป็นมาตลอด 45 ปีไว้ให้ได้!

ผมกับแพน เราต่างเชื่อว่า นี่แหละ คือแนวทาง ที่จะทำให้ Corolla ยังคงรักษาสถานภาพ
ของตนเองต่อไปได้ ท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาด C-Segment ทั่วโลก และ
ความร้อนแรงของรถยนต์ Hybrid ที่มีต้นทุนต่ำลงเรื่อยๆ จนมีราคาถูกลง ง่ายต่อการซื้อหา
และท้าทายความอยู่รอดของ Corolla มากขึ้นชั่วขณะ

คำถามนี้ ผมอยากจะขอส่งสาสน์ ไปถึง Cheif Engineer ที่เกี่ยวข้อง ใครก็ได้ ฝากแปลให้เขาอ่านที

อยากให้ โปรดรับไว้ พิจารณา ด้วยครับ!

————————————///—————————————-

ขอขอบคุณ
คุณสมบูรณ์ มูลหลวง
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Toyota Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆเป็นอย่างดียิ่ง

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
20 มกราคม 2011

Copyright (c) 2011 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.

First publish in www.Headlightmag.com
January 20th,2011 
 

แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เชิญได้ คลิกที่นี่