กฎข้อหนึ่งในการทำรีวิวของ Headlightmag.com เราก็คือ หากเราเคยนำรถยนต์รุ่นใด
มาทดลองขับ และทำรีวิว เผยแพร่ออกสู่สายตาคุณผู้อ่านไปแล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลง
ปรับโฉม ในลักษณะ Minorchange ,Facelifted ,ยกหน้า แต่งหน้าทาปาก หรือจะใช้
ศัพท์แสงบ้าบอคอแตกอะไรก็ตาม มาระบุลักษณะการปรับปรุงดังกล่าว โดยไม่มีการ
เปลี่ยนแปลงใดๆของเครื่องยนต์ หรือระบบส่งกำลัง ไปจนถึงระบบบังคับเลี้ยว และ
ระบบกันสะเทือน เราจะไม่มีการนำรถยนต์รุ่นนั้น กลับมาทำรีวิวซ้ำอีก

ไม่ใช่อะไรหรอกครับ มันเสียเวลา มีรถยนต์รุ่นใหม่คันอื่นๆ รอคิวให้ทำรีวิวอีกเยอะ
บางคัน รอนานจนดองเค็ม จากเค็มจนเปรี้ยว จากเปรี้ยวจนเปื่อยปรุไปหมด

แต่บางกรณี มันก็จำเป็นต้องนำกลับมาทำรีวิวกันอีกครั้ง ด้วยเหตุที่ว่า รถยนต์รุ่นเดิม
เครื่องยนต์เดิม ยกเลิกการทำตลาดไปแล้ว เลิกขายเครื่องยนต์รุ่นนั้น แล้วเปลี่ยนมา
ใช้เครื่องยนต์รุ่นใหม่กว่า หรือแม้แต่ว่า ไม่ได้เปลี่ยนเครื่องยนต์ ทว่า เปลี่ยนเกียร์
ลูกใหม่ ถ้าอัตราทดแตกต่างกันมาก และมีแนวโน้มว่า สมรรถนะอาจดีขึ้น เราก็อาจ
ต้องติดต่อนำรถกลับมาทำรีวิวกันใหม่อีกครั้ง เพื่ออัพเดทข้อมูล ให้กับคุณผู้อ่าน
ที่กำลังค้นหาข้อมูลระหว่างเลือกช็อปปิงรถคันใหม่อยู่ ได้รับทราบกัน

และครั้งนี้ ก็เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่เราจำเป็น ต้องนำรถรุ่นนี้กลับมาทำรีวิวอีกครั้ง….

อย่างเต็มใจ…!

แน่ละ เมื่อไหร่ที่ผมได้รู้ตัวว่าจะมีโอกาสกลับมาขับ Volvo ใจผมจะเต็มไปด้วยความ
รู้สึกผ่อนคลาย แม้จะรู้ตัวว่า นั่งอยู่ในรถที่ “หนัก” จนอัตราเร่ง และความประหยัดมันก็
ทำได้แค่พอๆกันกับชาวบ้านเขา (หรือบางทีก็ด้อยกว่า) รู้สึกมั่นใจ แม้จะใช้ความเร็วสูง
และมันก็เป็นรถที่รื่นรมณ์พอให้ใช้ชีวิตด้วยอย่างสบายใจ แม้จะขับไม่สนุกเท่าคู่แข่ง

Volvo ยังไง๊ยังไง มันก็คือ Volvo รถที่คุณสามารถเดาแคแรคเตอร์ไว้ในหัวได้เลยว่า
มันมักจะเป็นรถที่ ให้ Feel แบบ รถหนักๆ แต่อัดแน่นสารพัดอุปกรณ์ความปลอดภัย
มาให้จนท่วมคัน ราวกับน้ำท่วมมิดหลังคาบ้าน ขับสบายๆแบบมั่นๆ 

ยิ่งโดยเฉพาะกับ XC60 SUV ที่แม้มันจะไม่ได้ติดอันดับใดๆในรางวัล Best Drive
ประจำปี ของเว็บเรา มาก่อน แต่มันเคยหลุดเข้ามาติดอันดับ รถยนต์ที่ผมยืมมาลอง
แล้วไม่อยากคืนกุญแจ เมื่อปี 2010 ผมก็แอบยิ้มที่มุมปากอยู่นิดหน่อย

อย่างไรก็ตาม การที่ Volvo ได้ลดพละกำลังของเครื่องยนต์ ในเวอร์ชันไทยลงจาก
185 เหลือ เพียง 163 แรงม้า (HP) ก็เป็นประเด็นสำคัญ ที่ทำให้เกิดคำถามอัน
นำพาให้ผมตัดสินใจทำรีวิวนี้ขึ้นมา ทั้งที่ตอนแรก ตั้งใจว่า จะไม่ทำ…

ในเมื่อ กำลังเครื่องยนต์ลดลง แล้วสมรรถนะจะเป็นอย่างไร อัตราเร่งจะด้อยลง
หรือเปล่า แล้วความประหยัดน้ำมันละ? จะดีขึ้นไหม? นอกจากนี้ มี Option อะไร
ถูกตัดลดทอนออกไปบ้าง? แล้วค่าตัว 3,099,000 บาท ที่แม้ว่าจะลดลงมาจากรุ่น D5
ถึง 900,000 บาท แต่ก็แพงขึ้นจากรุ่น D3 ขุมพลังเดียวกัน เมื่อปี 2011 อีกราวๆ
100,000 บาท นั้น มันยังคุ้มค่าพอให้คุณจ่ายตังค์ เพื่อแลกกับกุญแจและสิทธิ์ใน
การครอบครองรถคันนี้หรือไม่?

ที่สำคัญ วันนี้ XC60 จะยังคงรักษาตำแหน่ง หนึ่งใน SUV ที่ผมไม่อยากคืนกุญแจ
ต่อไปได้หรือเปล่า?

นั่นคือคำถาม ที่มีคำตอบ ไม่ยาว ไม่สั้น เท่าไหร่ ไม่ต้อง Skip ข้ามไปอ่านช่วงสรุป
ของบทความนี้หรอกครับ เพราะทั้งหมดนั้น มันสั้นกว่าที่คุณคิด และคอยคุณเลื่อน
เมาส์ลงไปอ่าน อยู่ข้างล่างนี้แล้ว…

Volvo เริ่มมีแนวคิดที่จะสร้าง รถยนต์อเนกประสงค์ Crossover SUV ขึ้นมาอีกรุ่น เพื่อ
ทำตลาดในฐานะ SUV ขนาดย่อมเยาว์ กว่าพี่ใหญ่อย่าง XC90 มาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ
2000 พวกเขาซุ่มพัฒนา จนพร้อมเผยภาพถ่ายแรกของรถยนต์ต้นแบบ XC60 Concept
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2006 ก่อนจะนำไปอวดโฉมครั้งแรกในโลก ณ งาน Detroit Auto
Show ต้นเดือน มกราคม 2007

1 ปีเต็มหลังจากนั้น XC60 เวอร์ชันขายจริง ก็เผยโฉมครั้งแรกในโลก ผ่านทาง Internet
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2008 ก่อนที่จะ เผยโฉมอย่างเป็นทางการต่อหน้าสื่อมวลชน และ
สาธารณชนครั้งแรก ในงาน Geneva Auto Salon เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2008

แต่ลูกค้าชาวไทย ต้องรอหลังจากนั้นอีกราวๆ 1 ปี กับอีก 3 เดือน XC60 เวอร์ชันไทย
จึงพร้อมเปิดตัวครั้งแรก เมื่อค่ำวันที่ 9 มิถุนายน 2009 ณ ลานจอดรถ ชั้น P5 ของห้าง
สรรพสินค้า Central World ถือเป็นครั้งแรกของเมืองไทย สำหรับการติดตั้งระบบ
ช่วยเบรกได้เองอัตโนมัติ City Safety นอกเหนือไปจาการระบบ Collision Warning
และระบบ Redar Cruise Control ที่มีมาให้อยู่แล้ว

แต่ในตอนนั้น ปัญหาสำคัญที่ทำให้ XC60 ยังขายไม่ดีในบ้านเรา ก็เพราะราคาค่าตัว
ที่แพงจนชวนก่ายหน้าผาก ทำไงได้ครับ ตอนนั้นยังต้องนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคัน จาก
โรงงานใน Ghent เบลเยียม ผลก็คือ ค่าตัวกระโดดไปถึง 3,999,000 บาท

ดังนั้น วันที่ 23 มีนาคม 2011 ในงาน Bangkok International Motor Show 2011
Volvo เลยตัดสินใจ ยกเลิกการนำเข้ารุ่น D5 จากโรงงาน Ghent แล้วหันมาสั่งนำเข้า
XC60 D3 จากโรงงานในมาเลเซีย แทน ทำให้ค่าตัวถูกลงไปถึง 1 ล้านบาท! เหลือแค่
2,990,000 บาท แต่ว่าบางออพชัน ก็อาจจะถูกถอดหายไปบ้างนิดหน่อย รวมทั้งขุมพลัง
ที่เปลี่ยนมาวางเครื่องยนต์ D5204T3 แทน เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร เดิม

พอทำตลาดมาได้จนถึง กลางปี 2013 ในเมื่อ เมืองนอก มีการปรับทัพตระกูล XC60
กันใหม่ ทำให้ การเรียงลำดับชื่อรุ่น ของ D3 ถูกลดตำแหน่ง ลงไปใช้กับรุ่นเครื่องยนต์
D5204T7 5 สูบ DOHC 20 วาล์ว 1,984 ซีซี 136 แรงม้า (HP) แทน ส่วนรุ่นขุมพลัง
D5204T3 ในบ้านเราเดิม ถูกปรับเปลี่ยนตำแหน่งการตลาด ขึ้นมาแปะป้ายชื่อรุ่นว่า D4
นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ Volvo ในบ้านเรา ต้องเปลี่ยนชื่อรุ่นตามเป็น XC60 D4 ด้วยเหตุ
ประการฉะนี้แล!

XC60 D4 ยังคงมีขนาดตัวถัง ยาว 4,644 มิลลิเมตร กว้าง 1,891 มิลลิเมตร (ไม่รวมกระจก
มองข้าง แต่ถ้ารวมจะมีความกว้างถึง 2,120 มิลลิเมตร ) ความสูง ถ้าวัดจากพื้นถนนจนถึง
เสาอากาศแบบ ครีบฉลามบนหลังคา จะอยู่ที่ 1,713 มิลลิเมตร แต่ถ้าวัดถึงแค่ รางหลังคา
Roof Rail ก็จะเหลือ 1,672 มิลลิเมตร แต่ถ้าเอาความสูงที่สุด เมื่อรวมการเปิดฝากระโปรง
ท้ายบานกว้างๆนั่นด้วยแล้ว ตัวเลขก็จะหยุดอยู่ที่ 2,131 มิลลิเมตร

รูปลักษณ์ภายนอก มีเพียง 3 จุดเท่านั้นที่แตกต่างไปจากรุ่น D5 เดิม นั่นคือ ชุดไฟหน้า
แบบ Bi-Xenon หักเหได้ตามการหมุนของพวงมาลัย Active Bending Headlight
สว่างกว่าไฟหน้า Halogen แบบเดิม ถึง 230% มีมอเตอร์ช่วยปรับมุมจานฉายหักเห
ได้ 15 องศา และปรับระดับสูง – ต่ำอัตโนมัติ Auto leveling ส่วนไฟตัดหมอกหน้า
ไม่มีมาให้ แต่มีไฟตัดหมอกหลังให้อยู่แล้วเท่านั้น ล้ออัลลอย เป็นลาย Merac 6 ก้าน
ขนาด 7.5″ x 18 นิ้ว พร้อมยาง Pirelli รุ่นเทพ P Zero Rosso ขนาด 235/60 R18

การเปิดประตูใช้ระบบ Keyless Entry แค่พกรีโมทกุญแจ PCC เดินเข้าไปใกล้รถ ดึง
มือจับเปิดประตู เพียงเท่านี้ระบบล็อก ก็จะปลดออกเอง และเมื่อจะล็อกประตู ก็กดปุ่มสีดำ
ที่ประตูทุกบาน แถมยังเช็คสถานะระบบล็อกได้ จากปุ่ม i เหมือน Volvo รุ่นใหม่ๆ ทุกรุ่น

การติดเครื่องยนต์ ยังคงใช้วิธี กดปุ่ม Start เหมือนเดิม คุณจะเสียบรีโมทกุญแจ PCC
ไว้ในช่องด้านใต้สวิชต์ติดเครื่องยนต์ หรือพกมันไว้ในกระเป๋ากางเกงตามเดิมก็ได้

ส่วนไฟส่องสว่างยามค่ำคืน ใต้กระจกมองข้าง ยังคงมีมาให้ แต่ใครคงไปปิดมันทิ้งกระมัง
เพราะตลอดเวลาที่ผมใช้ชีวิตอยู่กับรถ มันไม่เคยติดสว่างขึ้นมาให้เห็นเลยแม้แต่ครั้งเดียว

การเข้า – ออก ขึ้น – ลง จากประตูคู่หน้า ยังคงทำได้สะดวกสบายกำลังดี สำหรับคนที่
ตัวสูงระดับ 170 เซ็นติเมตร แค่ก้าวขาเข้าไป แล้วยกตัวเลื่อนขึ้นไปนั่งบนเบาะ หรือ
ก้าวขาออกจากรถมาวางไว้ที่พื้น แล้วเลื่อนตัวออกมายืน ก็เสร็จพิธีอย่างง่ายดาย

ภายในตกแต่งเพียงแบบเดียว เบาะนั่งหุ้มด้วยหนัง และแผงประตู ใช้โทนสี Soft Beige
ตัดกับ Espresso Brown รหัส G116 ส่วน แผงควบคุมกลาง ใช้ไม้แบบ Nordic
Light Oak

เบาะนั่งคู่หน้า ออกแบบให้ดูเหมือนใครสักคน สวมเสื้อกล้ามให้กับเบาะ มีพนักพิงที่
เรียกได้ว่า “เกือบจะแข็ง” กว่าเบาะ Volvo รุ่นอื่นๆทั่วๆไปที่เคยเจอมา แต่ยังรองรับ
แผ่นหลังทั้งหมดได้ดีอยู่ เบาะรองนั่ง ยาวเต็มพื้นที่ไปจนถึงข้อพับของผู้ขับขี่และ
ผู้โดยสาร เบาะนั่งทั้ง 2 ฝั่ง ปรับตำแหน่งด้วยสวิชต์ไฟฟ้า แต่เฉพาะฝั่งคนขับจะมี
หน่วยความจำตำแหน่งเบาะ พร้อมกระจกมองข้างไฟฟ้า มาให้ รวม 3 ตำแหน่ง
แต่ถ้าจะปรับตำแหน่งดันหลัง ยังต้องใช้มือหมุนด้านข้างพนักพิงที่ยังต้องออกแรง
หมุนเพิ่มอีกนิดนึงเหมือนเดิมอยู่ดี มีมาให้ทั้งฝั่งซ้ายและขวา สรุปว่า ตำแหน่งนั่ง
ของเบาะคู่หน้า ยังคงเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

การขึ้น – ลง จากบานประตูคู่หลัง ยังคงทำได้ดีเหมือนเดิม แผงประตูด้านข้างยังคงมีการ
ออกแบบ ตำแหน่งวางแขนที่ดี ชวนให้นึกถึง พื้นที่วางแขน ของ ที่นั่งโดยสารระดับชั้น
Bussiness Class ของสายการบินแถวหน้า ช่องวางของ ด้านล่างของแผงประตู ใส่
ขวดน้ำขนาด 7 บาท ได้ 1 ขวด กระจกหน้าต่างไฟฟ้า เลื่อนลงมาได้ ไม่สุดขอบแผงประตู

เบาะหลัง ไม่ได้แตกต่างไปจาก เบาะของ XC60 คันอื่นที่ผมเคยลองขับก่อนหน้านี้
พนักพิงหลัง อยู่ในระดับ “เกือบจะแข็ง”  เช่นเดียวกับพนักพิงเบาะหน้า แต่ยังคง
รองรับแผ่นหลังได้ดีอยู่ พนักศีรษะ สามารถพับลงมาได้ ทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อเพิ่มทัศนวิสัย
ขณะถอยหลังเข้าจอด

ช่วงกลาง ของเบาะหลัง สามารถดึงลงมา เป็นพนักวางแขนแบบมีช่องเก็บของขนาด
กำลังดี พร้อมฝาปิด และช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ พร้อมฝาพับปิดเก็บได้ พนักวางแขน
ถูกออกแบบมาให้มีตำแหน่งวางแขนในระดับกำลังดี เทียบเท่ากับ ตำแหน่งวางแขน
ของแผงประตูคู่หลัง ส่วนพนักศีรษะท่อนบน สามารถกดปุ่มเพื่อยกขึ้น หรือเลื่อนลง
เก็บได้ในตัว

นอกจากนี้ เบาะรองนั่งด้านหลัง ทั้งฝั่งซ้าย และขวา ยังมีมือจับ ดึงเพื่อปลดล็อก ยก
เบาะรองนั่ง ให้สูงขึ้นมา แล้วล็อกเอาไว้ เพื่อใช้เป็น เบาะนิรภัยสำหรับเด็กโต (อายุ
ไม่เกิน 13 ปี) ได้เหมือนเช่น Volvo ตัวถัง Estate/Wagon คันอื่นๆ อีกด้วย 
ก็แค่ปลดล็อกปุ่มที่เบาะรองนั่ง แล้วยกตัวขึ้นล็อกให้อยู่ในตำแหน่งของมัน ส่วนการ
ปลดออกก็ทำตามขั้นตอน ที่มีระบุเอาไว้ให้เห็นกันชัดๆตรงเบาะได้เลย

เข็มขัดนิรภัย เป็นแบบ ELR 3 จุด พร้อมระบบลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ
Pre-tensioner & Load Limiter ติดตั้งมาให้ครบทั้ง 5 ที่นั่ง ไม่มีข้อยกเว้น

พนักพิงเบาะหลัง สามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 40 : 20 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้อง
เก็บสัมภาระด้านหลัง ถูกออกแบบให้สามารถพับ และมีพื้นที่ราบต่อเนื่องไปจรด
ขอบฝากระโปรงหลัง แต่สำหรับฝั่งขวานั้น ถ้าพับเบาะลงมา จะพับได้ในอัตราส่วน
60 : 40 รวดเดียวเลย ทั้งหมดนี้ ไม่แตกต่างจาก XC60 D5 แต่อย่างใดทั้งสิ้น!

และถ้าคุณคิดว่า พื้นที่วางขา ไม่พอสำหรับคนระดับผู้บริหารอย่างคุณ ที่ดันเลือกรถรุ่นนี้
มาเป็นพาหนะ ไว้นั่งเบาะหลังฝั่งซ้าย Volvo เขาก็แก้ปัญหานี้ไว้ให้ โดยติดตั้ง แป้น
แบบเท้าเหยียบ ทั้ง 2 ฝั่งของฐานด้านหลังของพนักพิงเบาะหน้าฝั่งซ้าย ถ้าเหยียบแป้น
ทั้ง 2 ฝั่งนี้ลงไปพร้อมกัน พนักพิงจะโน้มพับตัวไปข้างหน้า จากนั้น ลงไปปรับสวิชต์
เลื่อนชุดเบาะหน้าฝั่งซ้ายเลื่อนขึ้นไป แค่นี้ คุณก็ได้ทั้งพื้นที่วางขาเพิมเติม หรือพื้นที่
วางของ สำหรับสัมภาระขนาดยาว ได้ง่ายดาย

แผงประตูห้องเก็บของด้านหลัง บุด้วยผ้า ทำให้ดูเรียบร้อย มีราคาขึ้นมาอีกระดับ
กระจกบังลมหลัง มีใบปัดน้ำฝน พร้อมที่ฉีดน้ำล้างกระจกมาให้  ควบคุมได้บน
ก้านสวิชค์ใบปัดน้ำฝน พร้อมระบบ Rain Sensor วัดปริมาณน้ำฝน ให้ใบปัด
ทำงานตามความจำเป็น ติดตั้งที่คอพวงมาลัยฝั่งขวามือ

ถ้าจะเปิดประตูห้องเก็บของด้านหลัง ทำได้ทั้งการกดปุ่มบน รีโมทกุญแจ PCC หรือ
กดสวิชต์กลอนไฟฟ้า ที่ใต้ตัวอักษร Volvo ด้านท้ายรถ เหนือช่องใส่ป้ายทะเบียน
บานประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ใช้ระบบไฟฟ้าในการเปิด และปิด มีช็อกอัพ
ไฮโดรลิก ค้ำยันไว้ 2 ต้น แต่ถ้าต้องการจะปิดลงมา เพียงแค่กดสวิชต์ฝั่งขวาใกล้กับ
ชุดกลอนไฟฟ้า บานประตูห้องเก็บของจะปิดลงมาเองโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังมี
ระบบดีดกลับ เมื่อมีสิ่งกีดขวาง ป้องกันการบาดเจ็บของคน หรือความเสียหายของ
วัตถุ เมื่อลองใช้งานจริง พบว่ามีการปรับปรุง จากเดิมที่แรงกดลงบนหัวไหล่ก่อนที่
ฝาท้ายจะดีดกลับขึ้นไป เยอะจนหัวไหล่ผมเจ็บ ตอนนี้ แค่เอามืแตะเบาๆ ฝาท้าย
ก็ชะงัก ก่อนจะดีดกลับขึ้นไปเองได้ทันที! ไม่เจ็บหัวไหล่มากเท่ารุ่นก่อนอีกแล้ว!

XC60 D4 ทุกคัน จะติดตั้ง ม่านบังสัมภาระด้านหลังมาให้ เพื่อป้องกันการมองเห็น
สัมภาระขณะวางอยู่บนพื้นที่ขนาด 490 ลิตร เมื่อพับเบาะลงทั้งหมดทุกตำแหน่ง
เหลือไว้แค่เบาะคนขับ จะมีพื้นที่วางของเพิ่มขึ้นเป็น 1,450 ลิตร

ผนังห้องเก็บของฝั่งซ้ายและขวา มีช่องเปิดออกได้ สำหรับการเข้าซ่อมบำรุงในจุดที่
ซ่อนเร้น ส่วนผนังฝั่งขวา มีปลั๊กไฟ ขนาด 12 Volt มาให้ สำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้า ต่างๆ

แผ่นรองพื้นห้องเก็บของสามารถยกขึ้นตั้งชัน 90 องศาได้ พร้อมแถบสะท้อนสีเหลือง
เพื่อให้รถที่แล่นมาตอนกลางคืน เห็นรถของคุณ จากระยะไกล หากต้องจอดเปลี่ยนยาง
อยู่ที่ริมไหล่ทาง  เมื่อยกพื้นห้องเก็บของด้านหลัง จะพบถาดรีไซเคิล และกล่องเก็บป้าย
สามเหลี่ยมฉุกเฉิน และเมื่อยกถาดดังกล่าวอก คุณจะเจอ ยางอะไหล่จากจีน ขนาดเล็ก
ใช้ความเร็วหได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง พร้อมเครื่องมือและแม่แรงประจำรถ

แผงหน้าปัด มีการปรับปรุงเล็กน้อย โดยเน้นให้มี อุปกรณ์มาตรฐาน เท่าๆกับ เวอร์ชัน
ต่างประเทศมากขึ้น เริ่มจากจอแสดงข้อมูลขนาดเล็ก ที่เคยยื่นโผล่ขึ้นมา เหนือแผง
ควบคุมตรงกลาง ตอนนี้ หายไปแล้ว กลายเป็นตำแหน่งของลำโพงแทน

แผงควบคุมตรงกลาง เปลี่ยนชุดแผงตกแต่งและแผงสวิชต์ เลื่อนลงไปเล็กน้อย ต้อนรับ
การมาถึงของ จอ LCD Monitor สี ขนาด 7 นิ้ว ในชื่อ Volvo SENSUS ซึ่งจะรวม 
Menu การปรับตั้งค่าระบบต่างๆของตัวรถอีกมากมาย เช่นเปิด-ปิดระบบ DSTC ระบบ
ไฟส่องสว่างภายในรถ ระบบ City Safety ฯลฯ

มองขึ้นไปด้านบนเพดาน ไฟอ่านหนังสือ และไฟส่องสว่างด้านหน้า ถือว่าสว่างดีมาก
ในยามค่ำคืน ยิ่งเมื่อเปิดร่วมกับ ไฟส่องสว่างกลางเพดานห้องโดยสาร พร้อมไฟอ่าน
แผนที่ สำหรับผู้โดยสารด้านหลังด้วยแล้ว โอ้โห สว่างน้องๆ ห้องโดยสารของ Nissan
Teana J32 เลยทีเดียว!

แผงบังแดด มีกระจกแต่งหน้า พร้อมไฟส่องสว่างมาให้ ครบทั้ง 2 ฝั่ง กระจกมองหลัง
เป็นแบบตัดแสงอัตโนมัติมาให้จากโรงงาน (แต่กระจกมองข้าง ทั้งปรับและพับเก็บได้
ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ไม่มีระบบตัดแสดงมาให้ เพราะมีไล่ฝ้า และหน่วยความจำ 3 ตำแหน่ง
ปรับและจดจำร่วมกับตำแหน่งเบาะนั่งคนขับ มาให้อยู่แล้ว)

พวงมาลัย 4 ก้าน ปรับน้ำหนักตามความเร็วอัตโนมัติ และปรับระดับสูง – ต่ำ หรือใกล้ – ห่าง
ได้ ด้วยก้านโยก ด้านใต้คอพวงมาลัย เปลี่ยนงานออกแบบใหม่ เป็นแบบหุ้มหนัง ประดับด้วย
วัสดุสีเงินที่เรียกว่า Silk Metal inlay แต่โทนสีทั้งหมด ยังเป็นสีดำ Charcoal จับแล้วนุ่ม
มือไปหมด มีสวิชต์ ควบคุมชุดเครื่องเสียง ฝั่งขวาของก้านพวงมาลัย

XC60 D4 ทุกคันจะติดตั้ง ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่าง พร้อมหยุด / ออกรถ
อัตโนมัติ Adaptive Redar Cruise Control with Queue Assist และแจ้งเตือน
ระยะห่างจากคันหน้า Distance Alert ปรับระยะใกล้ – ห่าง จากรถคันข้างหน้าได้ด้วย
สวิชต์บนพวงมาลัย ฝั่งซ้าย ในขณะขับรถปกติ แม้จะไม่ได้เปิดระบบ Cruise Control
ก็ตาม ระบบ Distance Alert ยังจะขึ้นไฟเตือนสีแดง เหนือหน้าปัด เพื่อสะท้อนขึ้นไป
กระพริบบนกระจกบังลมหน้า เตือนผู้ขับขี่ว่าเข้าใกล้รถคันข้างหน้ามากไป

นอกจากนี้ยังติดตั้ง ระบบ กล้องและสัญญาณเตือนมุมอับสายตา BLIS (Blind Spot
Information System) แจ้งเตือนรถยนต์ หรือ จักรยานยนต์ ที่แล่นมาขนาบด้านข้าง
ด้านข้าง ลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนเลนโดยไม่ดูตาม้าตาเรือของคุณได้ดีขึ้น พร้อมทั้ง
ระบบ City Safety สั่งเบรกกระทันหันทันทีจนรถหยุดนิ่งสนิท ขณะขับขี่ในเมือง แล้ว
เจอใครก็ไม่รู้ข้ามถนนตัดหน้า และมีระบบเตือนผู้ขับขี่ เมื่อเริ่มเหนื่อยล้า หรือขับรถออก
นอกเส้นแบ่งช่องทางจราจร Driver Alert & Lane Departure Warning ทุก
ระบบที่พูดมานี้ มีสวิชต์ เปิดปิด อยู่ด้านล่างสุดของแผงควบคุมกลาง รายละเอียดการ
ทำงาน ไปอ่านต่อได้ใน Full Review : Volvo xC60 D5 ตาม Link ใต้บทความนี้

ขณะที่ชุดมาตรวัดยังคงเป็นแบบ 2 วงกลม ซ้อนด้วยจอแสดงข้อมูล IDIS (Intelligent
Driver Information System) เหมือนเดิม ควบคุมการทำงานด้วย สวิชต์ปรับเลื่อน
และ สวิชต์ OK  บนก้านไฟเลี้ยว ฝั่งซ้ายของคอพวงมาลัย จอวงกลมฝั่งมาตรวัดความเร็ว
เน้นแสดงผล ทั้งมาตรวัดระยะทางที่รถแล่นมาทั้งหมดตั้งแต่ซื้อรถ Odo Meter กับ
Trip Meter (มี Trip 1 และ 2 มาให้ เลือกกดตั้งวัดระยะทางการขับขี่ได้ครบ) แสดง
ระยะห่างจากรถคันข้างหน้า ที่คุณตั้งไว้ รวมทั้งความเร็วที่ล็อกเอาไว้ผ่านระบบ
Adaptive Cruise Control และ เกจ์น้ำมัน ส่วนจอวงกลมฝั่งขวา ซ้อนทับ
มาตรวัดรอบ เน้นการแจ้งเตือนข้อมูลต่างๆ ของทั้งระบบในรถ หรือระบบแจ้งป้าย
จราจร การเตือนมีหลากร้อยพันรูปแบบ ไปเปิดอ่านที่ด้านหลังของคู่มือผู้ใช้รถ
เล่มหนา ชนิด “ปาหัวหมาแตก” กันเอาเอง!

นอกจากนี้ยังมีระบบ ไฟหน้าส่องสว่างนำทางเข้าบ้านและรถ กระจกหน้าต่างประตู
เลื่อนขึ้น-ลงได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า เป็นแบบ One Touch ทั้ง 4 บาน แบบอัดซ้อนรอบคัน
360 องศา ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้าง และม่านลมนิรภัย IC ช่องเก็บของขนาดใหญ่
และลึกมาก จนแทบจะใส่ วิทยานิพนธ์เข้าไปได้ทั้งเล่ม!

เครื่องปรับอากาศ ยังคงเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมการปรับอากาศ ECC (Electronic
Climate Control) เป็นแบบอัตโนมัติ แยกฝั่ง ซ้าย-ขวา มาพร้อมกับระบบ Clean Zone
Interior Package (CZIP) เพื่อให้ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้สามารถเดินทางได้ในบรรยากาศที่
ปลอดโปร่ง พร้อมระบบคุณภาพอากาศภายในห้องโดยสาร (Interior Air Quality System)
เหมือนเช่นรุ่น D5 และ D3 เย็นเร็วก็จริง แต่ต้องเปิดพัดลมแอร์เบอร์ 3 ของระบบนี้ขึ้นไป
สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง มีช่องแอร์ แยกฝั่งซ้าย – ขวา มาให้ แต่ติดตั้ง ณ เสาหลังคากลาง
B-Pillar ช่องแอร์มีขนาดเล็ก เหมือน Volvo รุ่นอื่นๆ อาจเย็นได้ไม่ถึงใจคนนั่งเบาะหลัง

ชุดเครื่องเสียงที่ติดตั้งมาให้ เป็นแบบ High Performance Sound แบบ 4×40 วัตต์ เหมือนเดิม
มาพร้อมวิทยุ AM/FM เครื่องเล่น CD / MP3 แบบ แผ่นเดียว (รุ่น D5 เคยให้มาเป็นแบบเล่น
ได้ 6 แผ่น) ระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือ พร้อมไฟล์เพลงในเครื่อง กับชุดเครื่องเสียงรถยนต์
ด้วยสัญญาณ Bluetooth ส่วนจอแสดงผล เปลี่ยนมาเป็น จอสี LCD ขนาด 7 นิ้ว ในชื่อ Volvo
SENSUS ซึ่งจะรวม Menu การปรับตั้งค่าระบบต่างๆของตัวรถอีกมากมาย เช่นเปิด-ปิดระบบ
DSTC ระบบ City Safety ฯลฯ

และมีช่องเสียบหูฟัง พร้อมสวิชต์ควบคุมเครื่องเสียง สำหรับผู้โดยสารด้านหลังมาให้ครบ
ทั้ง 2 ฝั่ง พร้อมปลั๊กไฟ 12 Volt อีก 1 ตำแหน่ง ติดตั้งไว้ด้านหลังกล่องเก็บของ คั่นระหว่าง
ผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า

ไม่เพียงแค่ทำหน้าที่แสดงผลให้กับชุดเครื่องเสียง และการควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ แต่จอ LCD
ยังรับสัญญาณภาพ จากกล้องขนาดเล็ก ติดตั้งไว้บริเวณช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง เพื่อช่วยกะ
ระยะขณะถอยเข้าจอด พร้อมเส้นกะระยะ ตามความกว้างตัวรถ ที่จะเบี่ยงเลี้ยวไปตามการ
หมุนของพวงมาลัย นอกจากนี้ยังมี เซ็นเซอร์กะระยะ เพิ่มมาให้ครบ ทั้งด้านหน้าและหลัง
ถ้าถอยรถแล้วยังไปชนใครเขาอีก ขอเรียนเชิญ กลับไปสอบใบขับขี่ใหม่เถอะ!

ส่วนช่องเสียบ USB กับ AUX จะติดตั้งไว้ในกล่องเก็บของข้างลำตัวคนขับ ซึ่งมีขนาดใหญ่
ใช้ได้ ใส่กล้องถ่ายรูปขนาดเล็กได้แน่ๆ พร้อมฝาปิด ที่ตั้งใจออกแบบให้เป็นพื้นที่วางแขน
ไปด้วยในตัว แต่การใช้งานจริง ยังทำได้ไม่ดีนัก เพราะตำแหน่งวางแขนบนฝากล่อง เตี้ยไป
ส่วนช่องวางแก้วน้ำ ทั้ง 2 ตำแหน่ง มีไฟส่องสว่างตอนกลางคืน พร้อมฝาเลื่อนปิด วางลำดับ
ชั้นวางแก้วไว้เหลื่อมกัน เล็กน้อย แถมด้วยปลั๊กไฟ 12 Volt อีก 1 ตำแหน่งในกล่องเก็บของ

ปลั๊กเยอะใช้ได้เลยนะเนี่ย!

คุณภาพเสียง? พอฟังได้ครับ เสียงเบส นุ่มดี มีมิติ แต่ ภาพรวม ก็เหมือนกับเครื่องเสียงใน
รถยุโรปแบบบ้านๆทั่วไป ที่เสียงกลางจะสูงขึ้นมา และเสียงไม่กระจ่างใสชัดเจนเท่าที่ควร
ยังอ้วนๆอูมๆ ฟังแล้วแอบหงุดหงิดเล็กๆ ชวนให้แอบสงสัยว่า เปลี่ยนซัพพลายเออร์ ผลิต
เครื่องเสียงป้อนมาให้ หรือเปล่า?

รายละเอียดด้านทัศนวิสัย กรุณาไปหาอ่านต่อได้ใน Full Review : Volvo XC60 D5
ตาม Link ด้านล่างของบทความนี้

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ในประเด็นนี้ ผมว่าเราจำเป็นต้องมาทำความเข้าใจ ถึง Line-up ของ XC60 ในเมืองไทย
กับความเกี่ยวพันด้านขุมพลังกับเวอร์ชันตลาดโลก กันสักหน่อย เพราะเมื่อมานั่งรื้อค้น
ข้อมูลกันแล้ว ถ้าไม่อธิบายกันตรงนี้ อีกหน่อย อาจมีรายการงุนงงสับสนกันแน่ๆ

เรื่องมีอยู่ว่า XC60 เวอร์ชันไทย นั้น แรกเริ่มเดิมที มีเครื่องยนต์ให้เลือกเพียงแบบเดียว
นั่นคือ ขุมพลังรหัส D5244T4 Diesel 5 สูบ DOHC 20 วาล์ว 2,400 ซีซี กระบอกสูบ x
ช่วงชัก  = 81.0 x 93.15 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด  16.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิง ด้วยระบบ
Common Rail ควบคุมด้วยอีเล็กโทรนิคส์ พ่วงด้วยระบบอัดอากาศ Turbocharger &
Intercooler 185 แรงม้า ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร ที่รอบตั้งแต่
2,000 – 2,750 รอบ/นาที

ต่อมา Volvo Cars Thailand สั่งนำเข้า XC60 D3 จากโรงงานในมาเลเซีย มาขายในบ้านเรา
เพื่อให้ทำราคาถูกลงมากว่าดิมได้ ราวๆ 1 ล้านบาท (จากเดิม 3,999,000 บาท ลดเหลือเพียง
2,990,000 บาท) ดังนั้น สเป็กเครื่องยนต์ จึงแตกต่างออกไปจากเดิม โดยจะเปลี่ยนมาใช้
ขุมพลังรหัส D5204T3 แตกต่างจากรุ่น S80 D3 ซึ่งใช้เครื่องยนต์ รหัส D5204T2 ที่แม้จะ
มีกำลังสูงสุดและแรงบิดสูงสุดเท่ากัน แต่มาในรอบเครื่องยนต์ที่แตกต่างกัน โดย S80 D3
จอยู่ที่ 163 แรงม้า (HP) ที่ 2,900 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร (40.76 กก.-ม.)
ที่รอบตั้งแต่ 1,400 – 2,850 รอบ/นาที

แต่สำหรับรุ่นปี 2013 นั้น แม้ว่าในเมืองนอก รุ่น D4 จะมีเครื่องยนต์ D5244T17 บล็อก 5 สูบ
DOHC 20 วาล์ว 2,400 ซีซี 163 แรงม้า (HP) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 420
นิวตันเมตร (42.79 กก.-ม.) ที่ 1,500 – 2,500 รอบ/นาที มาให้เลือก ในบางตลาด

แต่สำหรับเวอร์ชันไทย รุ่น D4 จะยังยืนหยัดใช้เครื่องยนต์เดิม เหมือนรุ่น D3 ปี 2012
คือ จะยังคงวางเครื่องยนต์รหัส D5204T3 Diesel บล็อก 5 สูบ DOHC 20 วาล์ว 1,984 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 81.0 x 77.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 16.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบหัวฉีด
พร้อมรางแรงดันสูง Common Rail อัดอากาศด้วย Turbocharger พร้อม Intercooler ลำดับ
จังหวะจุดระเบิดของกระบอกสูบอยู่ที่ 1 – 2 – 4 – 5 – 3 รอบเดินเบาตั้งไว้ที่ 700 รอบ/นาที
น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ เป็น Diesel ที่มีค่า Cetane เบอร์ 48

กำลังสูงสุด 163 แรงม้า (BHP) ที่ 2,900 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 40.76 กก.-ม. หรือ 400
นิวตันเมตร ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,500-2,750 รอบ/นาที เรียกได้ว่า แรงบิดสูงสุด มีมา
ให้เรียกใช้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงรอบเครื่องยนต์ดังกล่าว แต่ก็จะเริ่มหมดเรี่ยวแรงหลังจาก
3,000 รอบ/นาที ขึ้นไป

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหนัา ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ จาก AISIN SEIKI รุ่นเดิม
AW TF-80SC พร้อมโหมด บวก-ลบ “GearTronic” ให้ผู้ขับขี่เลือกเปลี่ยนเกียร์เล่นได้เอง
และมาพร้อมหัวเกียร์ออกแบบใหม่ หวังให้ดูล้ำยุคเหมือนรถต้นแบบ แต่กลับกลายเป็นว่า
หน้าตา ช่างคล้ายกับ เมาส์คอมพิวเตอร์ Made in China ซะงั้น! อัตราทดเกียร์ เหมือนกัน
กับรุ่นเดิมไม่มีผิดเพี้ยน แต่เปลี่ยนอัตราทดเฟืองท้ายเล็กน้อย ดังต่อไปนี้

เกียร์ 1……………………..4.148
เกียร์ 2……………………..2.370
เกียร์ 3……………………..1.556
เกียร์ 4……………………..1.155
เกียร์ 5……………………..0.859
เกียร์ 6……………………..0.686
เกียร์ถอยหลัง………………3.394
อัตราทดเฟืองท้าย………….3.604

ถึงจะดูเหมือนไม่เปลี่ยนแปลงอะไรในแง่ข้อมูลเทคนิค แต่สิ่งที่คุณจะเห็นได้ชัดถึงความ
แตกต่างหนะ อยู่ที่ หัวเกียร์ แบบใหม่ ที่มีไฟตำแหน่งเกียร์ในตัว เห็นปุ๊บ ก็รู้และเข้าใจ
ในทันทีว่า ทีมออกแบบของ Volvo พยายามสร้างให้เป็น คันเกียร์ที่ดูคล้ายกับว่ายกชุด
มาจากรถยนต์ต้นแบบ แต่ด้วยโทนสีของหลอด LED ที่รายล้อมประกายรอบอยู่นั้น มัน
ทำให้เราเห็นภาพอื่นใดไปไม่ได้ นอกจากว่า มันเป็นคันเกียร์ที่มาจาก เสิ่นเจิ้น! หรือ
ไม่ก็เป็นผลงานล่าสุดของทีมออกแบบ น้ำหอมติดรถ Glade by Johnson wax

ตัวเลขจะแตกต่างไปจากรุ่นเดิมมากน้อยแค่ไหน เรามาลองจับเวลากัน ภายใต้รูปแบบการ
ทดลองดั้งเดิม คือ ขับในเวลากลางคืน เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า และนั่ง 2 คน (ผมกับผู้จับเวลา)
ตัวเลขที่ได้ เมื่อเปรียบเทียบ ทั้งรุ่นเดิม และคู่แข่งในพิกัดคันอื่นๆ ที่เราเคยทำตัวเลขมา
มีดังนี้

ผมคงไม่ขอเทียบตัวเลขกับรุ่น D3 ในช่วงก่อนหน้านี้ เพราะเราไม่ได้รับรถมาทำการทดลอง
แต่ เชื่อแน่ว่า รุ่น D3 ก็คงทำเวลาไม่ได้แตกต่างไปจากนี้เท่าใดนักหรอก เพราะรุ่น D3 นั้น
ใช้เครื่องยนต์เดียวกันกับรุ่น D4 นี่เลยละครับ

จากตัวเลขที่ออกมา จะเห็นว่า อัตราเร่งของ XC60 D4 นั้น เป็นไปตามการคาดคะเนไว้เบื้องต้น
ทุกประการ ในเมื่อตัวเลขแรงม้า ลดลง แม้จะรักษาแรงบิดสูงสุดเอาไว้ ให้พอกันกับเครื่องยนต์
2.5 ลิตร ที่ออกขายมาก่อนหน้านี้ และยกเลิกการทำตลาดในบ้านเราไปแล้ว แต่ก็ต้องทำใจว่า
การปลอยให้เครื่องยนต์ ความจุ 2.0 ลิตร แถมยังมี 5 สูบ แบกรับภาระในการฉุดลากตัวรถซึ่งมี
น้ำหนักตัวรถเปล่า ที่หนัก ถึง 1,935 กิโลกรัม หากตัวเลขมันจะออกมา เท่ากันกับรถยนต์นั่ง
Compact C-Segment เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร (และไล่เลี่ยกับ Nissan TIIDA 1.6 ลิตร
ของผู้การแพน Commander CHENG) นั่นย่อมต้องถือว่า เป็นตัวเลขที่ดีที่สุดเท่าที่รถรุ่นนี้
พอจะทำได้แล้วละ

อย่างน้อยๆ ก็ทำตัวเลขออกมาได้เร็วกว่า Land Rover FreeLander TD4 HSE 6AT 
MY2008 – 2010 ที่เราเคยทำรีวิวไปตั้งแต่ 4 ปีก่อน เมื่อครั้งที่เพิ่งจะเปิด Website ใหม่ๆ 
ราวๆ 0.1 วินาที ทั้งในหมวด 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง

แล้วถ้าเปรียบเทียบกับ SUV คันอื่นๆ ด้วยกันละ? โชคยังดี XC60 D4 ทำตัวเลขออกมาได้ดีกว่า
Honda CR-V เบนซิน ทั้ง 2.0 และ 2.4 ลิตร ทิ้งห่าง Chevrolet Captiva 2.0 VCDi และ
Hyundai Tucson แต่ ทำตัวเลขได้พอกันกับ Skoda Yeti 1.2 TSI ในหมวด 0 – 100 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ทว่า พอเป็นหมวดเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถึงจะชนะชาวบ้านเขามาหลายคัน
แต่ก็ทำผลงานได้เท่ากันกับ Honda CR-V 2.0 E 4WD รุ่นปัจจุบัน ภาพรวมแล้ว ตัวเลขที่ออกมา
ดีกว่าคู่แข่งในกลุ่ม SUV ด้วยกันในภาพรวม ไปนิดหน่อย แต่ด้อยกว่า XC60 D5 แถมยังโดน
BMW X3 ใหม่ F25 ทิ้งห่างไปอย่างช่วยไม่ได้

ในการใช้งานจริง ตัวเลขอัตราเร่งที่ทำได้ สะท้อนให้เห็นถึงสมรรถนะที่แท้จริงของตัวรถว่า
แรงดึงในช่วงออกตัวนั้น มันแค่พยายามหลอกคุณว่า รถมันแรง เพราะแม้ว่า รถจะพาคุณพุ่ง
ทะยานขึ้นไปข้างหน้า อย่างต่อเนื่อง และมีแรงดึงพอให้ตื่นเต้น อยู่บ้าง แต่ถ้าพินิจกันดีแล้ว
แรงดึงนั้น มันไม่ได้มากมายนัก ช่วงเกียร์ 1 รถค่อยๆออกตัวนุ่มๆ แรงอย่างสุภาพ แต่ช่วง
เกียร์ 2 อัตราเร่งจะดึงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทว่า พอเข้าสู่เกียร์ 3 แรงดึงกลับมาในแบบที่คุณ
เพิ่งจะเจอไปในช่วงเกียร์ 1 แถมยังต้องใช้เวลาในการไต่ความเร็วขึ้นไป นานขึ้นอีกหน่อย
ด้วยซ้ำ ยิ่งหลังจาก 140 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป คุณต้องใช้ระยะทางยาวมากๆ กว่าจะไต่
ขึ้นไปถึงความเร็วสูงสุด ต่อให้ไม่หวาดเสียวเลยตอนนั่งอยู่ในรถ แต่มันก็นานจนไม่ชวน
ให้โสภาในอารมณ์แล้วละ

นอกเหนือจากน้ำหนักตัวที่ ทำให้รถกลายเป็นหนุ่มเจ้าเนื้อมากไปหน่อย อีกเหตุผลที่ทำให้
ตัวเลขออกมาเป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งอยู่ที่การตอบสนองของคันเร่งและชุดลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า
ในทันทีที่คุณเหยียบคันเร่งจมมิดจากจุดหยุดนิ่ง ยังต้องใช้เวลาราวๆ 0.5 วินาที กว่าที่รถจะ
เริ่มออกตัวไปข้างหน้า ในจังหวะเร่งแซง ก็เช่นเดียวกัน ต้องใช้เวลาพอกัน หากต้องเหยียบ
คันเร่งจมมิดลงไป Torque Converter จึงจะเริ่มช่วยเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำ 2 เกียร์ รวด จนรอบ
เครื่องยนต์กวาดขึ้นไปอยู่ในช่วง Peak สุด ที่จะปล่อยแรงบิดทั้งหมด ออกมาหมุนล้อ ครบ
ทุกนิวตันเมตร เมื่อนั้นแหละ คุณจะสัมผัสได้ว่า XC60 D4 คันนี้ มันก็มีเรี่ยวแรงพอใช้ได้อยู่
เหมือนกัน แค่อาจต้องทำใจว่าหลังจาก 3,000 รอบ/นาที แล้ว แรงบิดก็เริ่มเหี่ยวลงไป
ส่วนการตอบสนอง ของระบบส่งกำลัง มันก็ไม่แตกต่างจาก Volvo คันอื่นๆ คือยังช้าอยู่
นิดๆ เปลี่ยนเกียร์แบบเน้นความนุ่มนวล สุภาพ ไม่ได้เน้นเปลี่ยนเกียร์ไวอย่างฉับพลัน
แบบรถสปอร์ตแต่อย่างใด

เรื่องที่ต้องขอชมเชยเลยก็คือ การเก็บเสียงในห้องโดยสารนั้น ทำได้ดีมาก แม้ว่าจะยังพอมี
เสียงลมไหลผ่านตัวรถ ลอดเข้ามาให้ได้ยินเบาๆ อยู่บ้าง จากขอบประตูคนขับ ฝั่งเสาหลังคา
คู่กลาง B-Pillar แต่ ในภาพรวมแล้ว คุณจะยังไม่ต้งเร่งเสียงพูดคุยกับเพื่อนร่วมทางในรถ
จนกว่าความเร็วจะแตะระดับ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือว่า ทำได้ดีมากกว่ารถยนต์หลายรุ่น
ที่ผมพบเจอในช่วงระยะหลังๆมานี้ เลยทีเดียว

พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฮโดรลิคธรรมดา อัตราทด
เฟืองพวงมาลัย 16 : 1 หมุนจากซ้ายสุดถึงขวาสุด หรือจากขวาสุด มาซ้ายสุด ใช้ทั้งหมด
2.9 รอบ เหมือนเดิม

ถึงแม้มันมีน้ำหนัก และความหนืด จนคุณจะต้องออกแรงหมุนพวงมาลัยในช่วงหยุดนิ่ง
หรือขณะถอยเข้าจอด มากขึ้นกว่า BMW X3 ใหม่ F25 อยู่สักหน่อย จนคุณสุภาพสตรี
อาจจะรู้สึกว่า หนืดไปหรือเปล่า? แต่น้ำหนักพวงมาลัยแบบนี้ นี่แหละ คือส่วนหนึ่งที่
ช่วยให้การบังคับเลี้ยว XC60 D4 ลัดเลาะไปตามสภาพการจราตจรติดขัด มันคล่องตัว
เกินกว่าที่ทุกคนจะคาดคิด! กลายเป็น SUV ร่างใหฐญ่พอประมาณ แต่ขับง่าย เลี้ยวง่าย
ขอแค่กะระยะให้ดี ไม่ไปเกี่ยวสอยเพื่อนร่วมเส้นทาง หรือชนขอบปูนตามอาคารลาน
จอดรถ ก็พอแล้ว

ยิ่งในช่วงความเร็วปานกลาง จรนถึงความเร็วสูง พวงมาลัยนิ่งดี น้ำหนักดี แม้ว่ารถคันนี้
จะเซ็ตพวงมาลัยมาให้ติดกินซ้ายนิดๆ จากโรงงาน แต่ไม่มากนัก และถ้าสมมติว่าตั้งศูนย์
จนตรงแหน่วขึ้นมาละก็ รถจะแล่นตรงไปข้างหน้า นิ่งๆ สบายๆ เหมือนใช้ความเร็วแค่
100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งที่ เข็มมาตรวัด มันปาเข้าไป 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วเถอะ!
ลองปล่อยมือจากพวงมาลัย ในความเร็วระดับดังกล่าวดู 3 วินาที รถก็ยังตรงแหน่วไป
ข้างหน้าอย่างสบายๆ ปราศจากความกังวลใจใดๆของผมทั้งสิ้น!

แต่ถ้าถามถึงความแม่นยำในการบังคับเลี้ยวแล้วละก็ อาจต้องทำใจนิดนึงว่า พวงมาลัย
เซ็ตมาในสไตล์รถใหญ่ คือไม่ไว ทันทีที่หักเลี้ยว อาจมีอาการหน่วงนิดหน่อย ขณะ
เลี้ยว เข้าโค้ง  แต่มันก็ยังเชื่อมการสื่อสารระหว่างมือของคุณกับล้อคู่หน้าอยู่ เพียงแต่
อาจมีระยะเวลาในการสื่อสารเพิ่มขึ้นอีกนิดนึง เอาเข้าจริง มันก็เป็นพวงมาลัยแบบ
เดียวกับที่คุณเจอได้ใน Volvo S80 2.5 T นั่นแหละ

ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ มัลติลิงค์ โดย
ยึดพื้นฐาน คอยล์สปริง ช็อกอัพไฮโดรลิก พร้อมเหล็กกันโคลงมาให้ทั้งหน้า- หลัง แม้จะมี
รูปแบบคล้ายกันกับว่าจะยกช่วงล่างมาจาก S80 ก็จริงอยู่ แตในรุ่น D4 นั้น Volvo เลือก
ที่จะตัดระบบ Four-C (Continuously Controlled Chassis Concept) ที่ผู้ขับขี่
สามารถเลือกความแข็งอ่อนของระบบกันสะเทือน ได้ 3 ระดับ ทิ้งไป ดังนั้น เราจึงได้สัมผัส
ประสบการณ์จากช่วงล่าง ในแบบของมันเอง เพียวๆ ล้วนๆ

แน่นอนครับว่า ถ้าคุณเจอเนินลูกระนาด ที่มีการเทยางมะตอย จากฐานต่อเนื่องจนถึงยอด
ลูกระนาด แน่นอนว่า ช่วงล่างก็จะเคลื่อนตัวขึ้นลง อย่างนุ่มนวล จนทำให้คุณเข้าใจไปว่า
ช่วงล่างดูดซับแรงสะเทือนได้ดี

แต่ถ้าไปเจอ ลูกระนาดแข็งๆ เหมือนใครเอาไม้หน้าสามมายึดตรึงไว้กับพื้นถนนปูน ที่
ปากทางเข้าหมู่บ้าน  หรือหลุมบ่อ ที่ปากหลุม แข็งๆและหักตัดเป็นคุ๊กกี้โดนกัด คุณจะ
พบว่าช่วงล่าง แข็งและกระเด้งเอาเรื่องในช่วงความเร็วต่ำ มันแข็งเสียจนผมต้องถามกับ
ตัวองอีกทีว่า นี่เรากำลังขับ Volvo อยู่แน่หรือ? เจอทุกดอก กระเด้งทุกดอก เด้งจนกระทั่ง
อีกนิดเดียว มันก็จะเด้งพอกันกับช่วงล่างของ Mercedes-Benz A180 Style แล้วนะ !

เออ แปลกดีไหม ทั้ง Volvo และ Mercedes-Benz นี่ เป็น 2 ยีห้อ ที่คนส่วนใหญ่ มักจะ
คาดหวังให้ช่วงล่างในแนวนุ่มๆนั่งสบาย แต่ ทั้ง A180 Style กับ XC60 D4 นี่ มาในแนว
แข็งจนกระเด้งในช่วงความเร็วต่ำทั้งคู่! น่าแปลกชะมัด!

อย่างไรก็ตาม ไอ้ช่วงล่างที่เราด่ากันว่ามันกระเทือน กระเด้งกระดอนไปหน่อยในช่วง
ความเร็วต่ำนั้นพอใช้ความเร็วสูง กลับนิ่งสนิท และมั่นใจได้มากๆ มันเป็น SUV 1 ใน
ไม่กี่คัน ที่ผมสามารถ พาเข้าโค้งยาวๆ ด้วยความเร็วสูงถึง 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้โดย
ไม่ต้องผ่อนคันเร่งลดความเร็วลงมาเลยแต่อย่างใด!! แถมยังรักษาการทรงตัวในย่าน
ความเร็วดังกล่าว ได้อย่างนิ่งสนิท ปราศจากความน่ากลัวใดๆทั้งสิ้น (เฉพาะช่วงที่คุณ
เจอแต่พื้นถนนโล่งๆ เปล่าๆ ไม่มีเพื่อนร่วมทางคันใดมารบกวนคุณ ตอนตี 2 )
เป็นช่วงล่างที่เหมาะแก่การขับทางไกล บนทางหลวง ไฮเวย์ หรือทางด่วน อย่างยิ่ง!

ระบบห้ามล้อ เป็น ดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ เสริมการทำงานด้วย ระบบป้องกันล้อล็อกขณะฉุกเฉิน
ABS (Anti-Lock Breaking System) ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD
(Electronic Brake Distribution) และระบบเสริมแรงเบรกในภาวะฉุกเฉินด้วยอีเล็กโทรนิคส์
EBA (Electronic Brake Assistance) เส้นผ่าศูนย์กลาง จานเบรกหน้า 328 มิลลิเมตร หนา
30 มิลลิเมตร ส่วนจานเบรกหลัง อยู่ที่ 308 มิลลิเมตร หนา 22 มิลลิเมตร  ตัวเลขจากโรงงาน
ยังคงเคลมว่าระยะเบรก จาก 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถึง จุดหยุดนิ่ง ใช้ระยะทาง 39 เมตร

การตอบสนองของแป้นเบรกนั้น ยังคงนุ่มนวลเท้าและมั่นใจได้ดี ความเร็วของรถหน่วงลงมา
อย่างรวดเร็ว และชัดเจน ในทุกช่วงความเร็ว ตั้งแต่ขับคลานๆ ไปตามสภาพการจราจรในเมือง
หรือ ช่วงที่ต้องชะลอรถลงมาอย่างเร่งด่วน จากช่วงความเร็วสูงเกิน 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง จน
เกิดจนความมั่นใจในทุกครั้งที่เหยียบเบรก ระยะเหยียบ ตั้งแต่เริ่มต้น จนสัมผัสได้ว่าเริ่มมีการจับตัว
ของผ้าเบรก กับจานเบรกไม่นานอย่างที่คิด ต้องการให้รถชะลอลงแค่ไหน ก็เหยียบไปเท่านั้น

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

เนื่องจาก ในวันที่เราทำการทดลอง น้ำมัน Diesel Techron ในสถานีบริการ Caltex ที่ฝั่งตรงข้าม
ซอยอารีย์ บนถนนพหลโยธินหมดลง เราจึงกลับไป เติมน้ำมัน Diesel V Power ในสถานีบริการ
น้ำมันของ Shell ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แทน ด้วย 2 เหตุผล

1. ถ้าผมไม่ทำการทดลองในคืนวันที่เรากำหนดไว้ ก็จะไม่มีเวลาว่างอื่นใดมาทดลองอัตราสิ้นเปลือง
กันอีกแล้วสำหับรถคันนี้

2. เมื่อครั้งที่เราทำรีวิว XC60 D5 กัน น้ำมันที่เราเลือกใช้ เป็น Shell V Power Diesel เหมือนกัน
ดังนั้น การเติมน้ำมันที่สถานบริการน้ำมัน Shell จึงเท่ากับว่า นอกจากจะไม่ต้องเปลี่ยนไปใช้เส้นทาง
อื่นในการทดลองแล้ว ระยะทางแล่นทั้งหมด ก็จะไม่ผิดเพี้ยน และสามารถเทียบเคียงได้กับ XC60 D5
เมื่อ 4 ปีก่อน ได้อีกด้วย เพราะใช้เส้นทางเดียวกัน น้ำมันแบบเดียวกัน เติมที่สถานีเดียวกัน แถมยังเป็น
หัวจ่ายตำแหน่งเดียวกันอีก มีเพียงแค่ระยะเวลาเท่านั้นที่แตกต่างกัน เพราะในรุ่น D5 นั้น เรายังทำการ
ทดลองช่วงบ่ายอยู่ แต่ในรุ่น D4 เราเปลี่ยนมาทำการทดลอง ช่วงกลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจาก
สภาพการจราจรหนาแน่นเป็นการทดแทน

เราเติมน้ำมันเพียงแค่ให้หัวจ่ายตัด จากนั้น เราเซ็ต 0 บน Trip Meter (กดปุ่มแบบก้านยืนฝั่งขวา
บนมาตรวัด) ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ คาดเข็มขัดนิรภัย แล้วออกรถจากปั้ม เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์
ลัดเลาะมาออกที่ปากซอยโรงเรียนเรวดี จนมาถึงด่านเก็บเงินค่าผ่านทางด่วน พระราม 6 เราขึ้น
ทางด่วน ขับยาวๆ ไปจนถึงปลายสุดทางด่วนอุดรรัถยา (เส้นเชียงราก) เลี้ยวกลับ มาขึ้นทางด่วน
สายเดิม ขับย้อนกลับมาทางเดิม ด้วยมาตรฐานดั้งเดิมที่เราใช้มาตลอดการทำรีวิว ในช่วงหลายปี
ที่ผ่านมา นั่นคือ ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน แต่คราวนี้ เปิดใช้งานระบบ
Redar Cruise Control  ช่วยไปด้วย โดยเลือกให้ ระบบ เว้นระยะห่างจากรถคันข้างหน้าให้น้อย
ที่สุด ซึ่งจะมีเวลาพอให้เราหักหลบออกในเลนอื่นทัน กรณีที่รถคันข้างหน้าขับช้าเกินไป และ
มีช่องทางว่างอยู่ให้แซงผ่านไปได้ โดยตลอดเส้นทาง ขาไป และขากลับ ยกเว้นช่วงเลี้ยวกลับ
ย้อนมาขึ้นทางด่วน และช่วงลงทางด่วน จ่ายเงินผ่านทาง หรือลงทางด่วนเลี้ยวกลับเข้าเมือง
ไม่มีการลดความเร็วต่ำลงจาก 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่อย่างใด

เมื่อถึงทางลงอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้ายเข้าถนนพหลโยธิน มาเลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการ
ของ Shell กันอีกครั้ง เพื่อเติมน้ำมัน Diesel V Power ณ หัวจ่ายเดิม จนเติมถัง และแค่หัวจ่ายตัด
ก็เพียงพอแล้ว สำหรับการทดลองในรถยนต์ประเภทนี้ ที่ลูกค้าจะไม่ซีเรียสกับตัวเลขที่ออกมานัก

เมื่อเติมน้ำมันกันจนเสร็จแล้ว ก็ได้เวลามาคำนวน หาตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองของ XC60 D4 กัน

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 92.5 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.15 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 15.04 กิโลเมตร/ลิตร

ถ้าต้องเปรียบเทียบตัวเลขอัตราสิ้นปลืองเชื้อเพลิง กับ SUV ทั่วไป ในตลาด ผมยังยืนยันว่า
XC60 D4 ทำตัวเลขได้ ดีกว่าคู่แข่งส่วนใหญ่ จนถือว่า ประหยัดในอันดับต้นๆของกลุ่ม SUV
บ้านเรา แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ตัวเลขที่ออกมา ยังแพ้ BMW X3 ใหม่ ขุมพลัง Diesel
Turbo ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเก่า หรือรุ่นล่าสุด อยู่ดี ดูเหมือนจะมีเพียงแค่ BMW นี่แหละ ที่ Volvo
ยังเอาชนะได้ไม่สำเร็จ ยังโค่นคู่แข่งในบรรลังก์นี้ไม่ลงเสียที

แล้วน้ำมัน 1 ถัง ขนาด 70 ลิตร จะแล่นได้ไกลแค่ไหน คำตอบ จะขึ้นอยู่กับว่า คุณขับเร็ว
บ่อยหรือไม่ ขับในเมืองเป็นประจำหรือเปล่า ถ้าคำตอบของคุณคือใช่ ระยะทางที่จะทำได้
น่าจะอยู่ที่ 510 – 600 กิโลเมตร แต่ถ้า ขับไม่เร็ว หรือเน้นขับต่างจังหวัดไกลๆ จะทำได้
ราวๆ 700 -800 กิโลเมตร แต่ถ้าใช้ความเร็วคงที่ ขับเน้นประหยัดจริงๆ มีความเป็นไปได้สูง
ว่าน้ำมัน 1 ถัง อาจพาคุณแล่นได้ไกลถึง 1,000 กิโลเมตร !! (แต่ต้องขับไม่เกิน 120 กิโลเมตร
/ชั่วโมง แช่นิ่งๆ เปิด Redar Cruise Control เท่านั้นนะ)

********** สรุป **********
ทั้งคัน มากันครบจนเกินพอ แต่ความแรงด้อยกว่า D5 ราวๆ 1 วินาที

4 ปีผ่านไป ผมยังจำความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง หลังจากลองขับ XC60 เป็นครั้งแรก ได้อยู่

ทุกสิ่งที่รถมีมาให้ บุคลิกการขับขี่ บวกกับความเข้าใจในบุคลิกที่ Volvo เป็น มาตลอด ผม
มองว่า XC60 D5 สอบผ่านอย่างสบายๆ และมีเพียงเรื่องเดียวให้ต้องตำหนิ นั่นคือ ค่าตัว
อันแพงระยับจับใจ จนแทบจะชวนให้หันไปเล่น Mazda CX-9 ดูจะคุ้มกว่า

มาวันนี้ เมื่อ Volvo เปลี่ยนการนำเข้า XC60 จากโรงงาน Ghent ในเบลเยียม มาเป็น
โรงงานในมาเลเซียแทน พร้อมกับการเปลี่ยนเครื่องยนต์ ลดความแรงลงมาเล็กน้อย
แต่เพิ่มความประหยัดน้ำมันขึ้นมาอีกนิด เพื่อที่จะใส่ออพชันด้านความปลอดภัยสุด
ไฮเทค ได้เต็มที่ จะได้ชูให้เป็นจุดขายหลักไปเลย ก็นับว่า เป็นกลยุทธ์การทำตลาด
ที่ไม่เลว สำหรับ Volvo Cars Thailand

เพียงแต่ว่า…ความรู้สึก “ไม่อยากคืนรถ” มันกลับ”ไม่โผล่ขึ้นมาในใจของผม” หลัง
ลงจากพวงมาลัยและเบาะนั่งของ รุ่น D4

ความจริงแล้ว XC60 D4 มันไม่เลวร้ายนะ ตรงกันข้าม มันเป็นรถที่ดีใช้ได้เลยทีเดียว
สมรรถนะที่เครื่องยนต์ 5 สูบ 2.0 ลิตร มีมาให้ 163 แรงม้า (HP) ก็เพียงพอเหลือเฟือ
สำหรับครอบครัวทั่วไป ที่ไม่ได้ขับรถเร็วนัก อัตราเร่งที่มี อาจต้องรอจังหวะของ
คันเร่งนิดหน่อย อาการรอรอบ มีน้อยลงไปเยอะ แถมยังมีพวงมาลัยที่น้ำหนักดี
ในช่วงความเร็วสูง ช่วงล่างที่มั่นคง นิ่งและเพิ่มความมั่นใจมากๆ ในการเดินทาง
ตำแหน่งนั่งที่สบาย แม้เบาะจะแข็งกว่ามาตรฐานปกติของ Volvo รุ่นอื่นๆ  แถม
ยังอัดแน่นด้วยอุปกรณ์ความปลอดภัยมากมาย เกินหน้าคู่แข่งไปไกล ในราคาที่
ถูกกว่า BMW X3 (ซึ่งแรงกว่า ประหยัดกว่า และชื่อชั้นในสายตาคนไทยดีกว่าอยู่
นิดหน่อย)

แต่สิ่งที่ยังต้องปรับปรุงกันต่อไป ก็คือ อัตราเร่ง ที่แม้ว่าจะพอดีๆ และอยู่ในระดับแถวหน้า
ของกลุ่ม SUV ในบ้านเรา แต่ถ้าได้เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร กลับมา หรือว่า จะพัฒนาให้ขุมพลัง
บล็อกเดิม แรงขึ้นกว่านี้ ก็น่าจะช่วยเพิ่มความสนุกในการขับขี่ ของพวกเท้าขวาโหดได้อีก

ขณะเดียวกัน ระบบกันสะเทือน พอตัดระบบ Four C ออกแล้ว มันเด้งเกินไป ในช่วงความเร็ว
ต่ำ แม้ว่าคุณงามความดี จากการทรงตัวที่เยี่ยมยอดขณะขับขี่ทางไกลด้วยความเร็วสูง พอจะ
ช่วยให้รอดพ้นจากการโดนผมด่า ได้แทบจะเป็นปลิดทิ้ง แต่ ต้องไม่ลืมความจริงว่า เรามัก
ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ณ ช่วงความเร็วต่ำกว่า 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง กันบ่อยกว่า การที่ช่วงล่าง
จะเด้งจนทั้งคนขับและผู้โดยสารบ่น แทบทุกครั้งที่เจอพื้นผิวขรุขระ หรือเจอลูกระนาด
กลางซอย นั่นดูเป็นเรื่องแปลก สำหรับ รถยนต์อย่าง Volvo เจ้าพ่อนุ่มเงียบตามแบบฉบับ
สวิดิช ดั้งเดิม

พักหลังมานี่ มันเกิดอะไรขึ้นไม่ทราบ ผู้ผลิตรถยุโรป หลายค่าย เกิดอาการ Midlife
Crisis กันหรือยังไง? ไม่มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำมาตลอดหรือเปล่า Mercedes-Benz
เลยพยายาม ทำรถเล็กออกมาเอาใจวัยรุ่น ด้วยช่วงล่างแข็งปั๊ก ชนิดขาโจ๋วัยซิ่ง เจอ
หลุมบ่อเข้าไปที ยังร้องโอดครวญว่าเจ็บตูด ส่วน BMW ก็ดันเซ็ตช่วงล่าง 3-Series
F30 ใหม่ ให้นุ่ม จนแม้แต่ คนรุ่น The Palace เฟื่องฟู ยังบ่น “นิ่มผิดวิสัย BMW”

Volvo ก็เช่นกัน ช่วงล่างของ XC60 ในย่านความเร็วต่ำ มันก็แข็งเกินกว่าที่จะเป็น
Volvo คันเดิม ในใจของผู้สูงวัยทั้งหลาย ถ้าแก้เรื่องนี้ได้ ช่วงล่าง XC60 ก็จะถูก
พวกเรายกย่องขึ้นหิ้ง ในฐานะ เทพแห่งความนิ่งสนิทในกลุ่ม SUV อย่างเต็มใจ
กว่านี้

ขณะเดียวกัน Volvo เอง ก็ต้องหาทางลดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ลงกว่านี้ เพื่อที่
จะแข่งขันได้กับรถเยอรมัน แม้ว่าจะทำตัวเลขได้ 15.04 กิโลเมตร/ลิตร และปล่อย
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต่ำเพียง 148 กรัม / กิโลเมตร ของ XC60 D4 จะถือเป็น
เรื่องที่ ยอมรับได้ ในวันนี้ เพราะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของรถยนต์ทั่วโลกไปเพียงเส้น
ยาแดงผ่า 2 กรัม! แต่มันจะดีกว่านี้ ถ้า SUV ของ Volvo ยังประหยัดน้ำมันได้
มากกว่านี้อีกนิดนึง ไม่มากไม่มาย ขอตั้งเป้าหมาย 2 ปีข้างหน้า ต้องแตะให้ได้
16 กิโลเมตร/ลิตร ก็พอ!

แต่ยังไงๆ XC60 D4 ก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดี ในกลุ่มตลาด SUV ระดับ 3 – 4 ล้านบาท
ซึ่งมีตัวเลือกในตลาดไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเพราะค่าตัวระดับนี้ คุณอาจจะได้รถเก๋ง Premium
Compact คันเล็กกว่านี้ เช่น Mercedes-Benz C-Class รุ่นท้อป หรือ BMW 328i
กันไปเลย แต่ได้ขุมพลังที่แรงขึ้น ประหยัดน้ำมันขึ้น แต่ก็จะไม่ได้พื้นที่ห้องโดยสาร ที่เน้น
ความอเนกประสงค์ แบบนี้

มันเป็นเรื่องที่คุณต้องชั่งน้ำหนักในการตัดสินใจให้ดีๆ…ด้วยตัวคุณเอง

——————————————-///—————————————–

ขอขอบคุณ
คุณ ฉันทนา วัฒนารมย์
และ คุณ ณัฎฐา จิตราคม
บริษัท Volvo Cars (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

—————————————–

บทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม
บทความทดลองขับ Volvo XC60 D5 MY 2010 – 2011
บทความทดลองขับ รถยนต์กลุ่ม Premium Compact SUV

—————————————–

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน 
สหพันธรัฐเยอรมนี ส่วน ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
13 สิงหาคม 2013

Copyright (c) 2013 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com

August 13th,2013

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!