“พิพิธภัณฑ์ Suzuki Museum เนี่ยนะ? จะมีอะไรให้ดู?
สงสัยเต็มไปด้วยมอเตอร์ไซค์ แหงๆ เลย ฮ่าๆๆๆ”

คุณกำลังคิดอย่างนี้อยู่ใช่ไหมละครับ ตอนคลิกเข้ามาอ่านบทความนี้?
ถ้าคำตอบ คือ ใช่ ผมก็มีความยินดีจะเรียนให้ทราบว่า

“กรุณาลืมสิ่งที่คุณคิดไปเองนั่นซะให้หมด!”

จริงอยู่ มีมอเตอร์ไซค์ หรือจักรยานยนต์ รุ่นเก่าๆ จอดให้ชมกันหลายต่อหลายคัน
แต่ นั่นไม่ใช่ทั้งหมด และเป็นเพียง “เศษเสี้ยวเล็กๆ ของความน่าตื่นตระการตา
ตื่นตู้มตกใจ ที่ คุณจะพบได้ ที่นี่ Suzuki Reishikan หรือ Suzuki Plaza

แล้วมันตั้งอยู่ที่ไหนกันละ?

ตั้งอยู่ ณ อาคาร 3 ชั้น ฝั่งตรงข้ามกับ อาณาจักร สำนักงานใหญ่ และโรงงานขนาดหลายไร่
ของ Suzuki Motor Corporation ในเมือง Hamamatsu จังหวัด Shizuoka นั่นเอง

เปล่าครับ รูปแรกนี่ คือ อาคารแรก หน้าทางเข้าสำนักงานใหญ่ของ Suzuki อยู่ฝั่งตรงข้ามหนะ

ถ้าอยู่ในญี่ปุ่น จะเดินทางไปดูได้อย่างไร?

ถ้ามากันราวๆไม่เกิน 10 คน ก็ขึ้น รถไฟหัวจรวด Shinkansen จาก สถานี Tokyo
มาได้เลย เร็วที่สุดแล้ว เลือกขึ้นรถไฟขบวน Tokaido Shinkansen Line นะครับ
อย่าไปขึ้นขบวนอื่นเชียวละ ใช้เวลาเดินทางราวๆ 1 ชั่วโมงหน่อยๆ ก็จะมาถึง
สถานี Hamamatsu จากนั้น ก็ต่อรถไฟท้องถิ่น JR Tokaido Main Line มาลงที่
สถานี Takatsuka แล้วก็เดินออกมาจากสถานี แค่ 10 นาทีเท่านั้น ก็ถึงแล้ว…
อากาศดีๆอย่างญี่ปุ่น คุณเดินได้เป็นวันๆ ละครับ มันไม่เหมือนอากาศในเมืองไทยหรอก

เพียงแต่ คราวนี้ อย่างที่คุณผู้อ่านคงทราบกันดีว่า เราเดินทางไปญี่ปุ่น
เพื่อไปชม Tokyo Motor Show 2009 กับทาง TOA ด้วยการดูแลของทาง
Itochu บริษัท Trading Company ที่ใหญ่ 1 ใน 5 ของ ญี่ปุ่น และ
Suzuki Motor Corporation ดังนั้นการที่เราเดินทางมาแค่ 5 คน
ไม่ได้มากันเป็นกลุ่มใหญ่ ทาง Itochu ก็เลย ส่ง คุณน้า Yamanoi
(อ่านว่า ยามาโนอิ ไม่ใช่ ยามานอย) กับหนุ่มน้อยที่ชื่อ Kimio Ohu
มาดูแลพวกเรา ในทริปนี้ มาเจอกันที่ สถานี Hamamatsu เช้าวันอังคาร
ที่ 20 ตุลาคม 2009 นั่นละ

แล้วเราก็นั่งแท็กซี่จากสถานี Hamamatsu ประมาณ 10 นาที
โดยมีลุงคนขับหน้าตา น่ากลัวพิลึก พามาส่ง ถึงที่หมาย

คุณ Keiichi Suzuki ซึ่งตามแหน่งในนามบัตร ระบุว่า
เป็น Assistant Manager แผนก Asia Automobile Marketing Group
ฝ่าย Global Marketing ของ Suzuki Motor Corporation มาต้อนรับเราอย่างดี
พาเข้าไปยังห้องประชุม ที่เตรียมไว้ ชั้นล่าง เอากระเป๋าเดินทางไปเก็บ
แล้วก็เดินถลาร่อน ออกมาโต้ลมหนาวกัน หน้าพื้นที่ของสำนักงานใหญ่
ที่เห็นอยู่นี้ อากาศ เย็นสะใจกำลังดี เพราะถ้าหนาวกว่านี้ เห็นที่จะไม่ไหว
เหมือนกัน

จุดที่ยืนอยู่นี้ คือพื้นที่ด้านหน้าสุด ของสำนักงานใหญ่ ด้านหลังของเรา
เป็นประตูทางออก และป้อมยามขนาดใหญ่ สังเกตดีๆ จะเห็นว่า
อาคารหลังนี้ จะมี เสาค้ำยันแนวเฉียง ทั้ง 2 ฝั่ง เหตุผลที่ต้องมี
ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะต้องไม่ลืมว่า ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีแผ่นดินไหว
อยู่เรื่อยๆ ดังนั้น กฎหมายในการสร้างอาคาร จึงระบุไว้ชัดเจนว่า สิ่งปลูกสร้าง
ต้องมีการออกแบบเพื่อรองรับการเกิดแผ่นดินไหว นั่นเอง

มองไปทางซ้ายสุดลูกหูลูกตา คือ พื้นที่ของโรงงาน Takatsuka
ใช้ที่ดินในอาณาบริเวณเดียวกับสำนักงานใหญ่ ผลิตจักรยานยนต์เป็นหลัก

มองมาทางขวา อาคารที่เห็นนี้ คือ อาคารหลักของสำนักงานใหญ่
ชั้นล่างนั้น เอาไว้เป็นพื้นที่ ของฝ่ายขาย และฝ่ายการตลาดทั้งใน
และต่างประเทศ ส่วนชั้น 2 เป็นที่ทำงานของทีมวิศวกร ฝ่ายพัฒนา
และวิจัย รวมทั้ง หน่วยงาน จักรยานยนต์ 

มองไปด้านหลังทั้ง 2 ภาพ ดังกล่าว จะเห็น โรงจอดรถดับเพลิง
เขาเตรียมพร้อมเหตุฉุกเฉินในเบื้องต้นกันใช้ได้

ส่วนรถเก๋ง 2 คันที่คุณเห็นนั้นหนะ สงสัยใช่ไหมครับว่า รถของประธานหรือเปล่า
Cadillac STS คันสีเงิน นั้น ถามไถ่กันได้ความว่า เปล่าครับ นั่นไม่ใช่รถของ
Osamu Suzuki ผู้เป็นประธานใหญ่ของที่นี่ แต่อย่างใด รถคันนั้น ซื้อเอาไว้
เพื่อต้อนรับ แขกบ้านแขกเมือง ระดับสำคัญๆ

แล้วลุง Osamu ใช้รถคันไหนอยู่หนะเหรอ?
นี่เลยครับ SX-4 Sedan คันสีน้ำเงิน เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร คันนั้นต่างหาก!!

ประธานบริษัทขับ SX-4 !!! รถคอมแพกต์ รุ่นนั้นเนี่ยนะ!!!

โหวววว ไม่ธรรมดาเว้ยเฮ้ย!! ดีครับๆๆๆๆ นี่แหละ อีกตัวอย่างหนึ่ง
ของความพอเพียง อย่างแท้จริง!! ชีวิตประจำวัน ในยามที่ไม่ต้อง
ไปพบปะแขกบ้านแขกเมืองที่ไหน ลุง Osamu แกก็นั่งรถ คันสีน้ำเงิน
ที่เห็นเนี่ยแหละ มาทำงาน!

เอ้า ดูกันไว้นะครับ พวกที่ยังคิดจะซื้อรถเอาไว้อวดศักดา บารมี หนะ
ดู ตัวอย่างนี้เถอะ! ขนาดเป็นถึงเจ้าของบริษัท เขายังนั่งรถธรรมดาๆทั่วๆไป
ดังนั้น ใครที่คิดอะไรตกยุค ล้าสมัย แถมยังไม่เข้าท่า แบบนั้น เปลี่ยนความคิดได้แล้ว!!

อาณาจักรสำนักงานใหญ่ของ Suzuki นั้น หากมองแต่ผิวเผิน ดูเหมือนจะไม่ใหญ่โตอย่างที่คิด
แต่ ถ้ามีโอกาส ขึ้นไปดูทัศนียภาพจากด้านบน จะเห็นได้ว่า ไม่ธรรมดา เพราะมีขนาดพื้นที่
มากถึง 182,000 ตารางเมตร พื้นที่ใช้สอย 139,000 ตารางเมตร แค่พนักงานที่ทำงานในนี้
เพียงแห่งเดียว ก็มากถึง 10,430 คน อย่างที่บอกไปว่า ที่นี่ เป็นศูนย์รวมของผู้คนในแผนกหลักๆ
รวมทั้ง พนักงานในโรงงานผลิตจักรยานยนต์ Takatsuka ก็มีจำนวนเยอะอยู่

จุดที่เรายืนอยู่ในภาพ ก็คือ อาคาร 3 ชั้นด้านหน้า ทางเข้า ตรงทางม้าลายหนาเตอะ นั่น
และทริปของเรา ในคราวนี้ จะเริ่มต้นที่ อาคาร 3 ชั้น ในแนวสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังใหม่
ที่อยู่ด้านล่างของรูปข้างบนนี้

ครับ มันอยู่ข้างหลังเราแล้วละ…..
แต่ ถ้าเดินข้ามถนน ก็ดูเป็นผู้คนที่ไม่ศิวิไลซ์ เท่าใดเลย

พวกเราทั้งหมด จึงต้องเดินย่ำต๊อก ลงไปยัง อุโมงค์ลอดใต้ถนน
ที่ลงทุนสร้างซะสวยงามโอเวอร์ ราวกับว่า จะโผล่ไปยังสถานีรถไฟใต้ดินได้ อย่างนั้นแหละ
แถมยังออกแบบเอาไว้ เผื่อให้กับมนุษย์ล้อ บน Wheelchair อีกด้วย

เพื่อไปโผล่ยังอาคารฝั่งตรงข้าม

ถึงแล้วครับ Suzuki Rekishikan หรือ พิพิธภัณฑ์ Suzuki Plaza

ประตูบานเลื่อนไฟฟ้า เปิดออก พร้อมกับที่ เราได้เห็นบรรยากาศภายใน
เจ้าหน้าที่ต้อนรับของทางพิพิธภัณฑ์ เข้ามาต้อนรับพวกเรากันอย่างดี
ในวันนั้น มีคณะสื่อมวลชน จากสหรัฐอเมริกา และแขก..แขกจริงๆ
แขกประเทศไหนไม่รู้ รู้แต่ว่า คุยกันภาษาถิ่นของเขา โขมงโฉงเฉงเลย
เข้ามาเยี่ยมชมที่นี่ ในเวลาเดียวกับเราด้วย

พื้นที่ชั้นล่างนั้น จัดแสดงรถยนต์บางรุ่น ที่ยังทำตลาดอยู่ในญี่ปุ่น

 

และถ้ามองไปทางซ้ายมือ จะเป็น พื้นที่ของเจ้าหน้าที่ Reception รถมอเตอร์ไซค์แข่ง GSX-R 1000
ซ้ายสุดตกขอบภาพไปแล้ว เป็น ห้องน้ำ…(อย่างหลังนี่ จะเขียนบอกทำไมเนี่ย)

มองกลับมาตรงหน้า ก็จะมีชั้นวาง แค็ตตาล็อก เวอร์ชันญี่ปุ่น ของรถยนต์
และจักรยานยนต์ “ทุกรุ่น” ที่ทำตลาดอยู่ในตอนนี้ เลือกเดินหยิบได้ตามอัธยาศัย
ถ้าหยิบมามาก เจ้าหน้าที่จะเดินมา แล้วก็ถามว่า

“ซิมาเซ็ง…เอาถุง ไหมคะ?”  พร้อมกับยื่นถุงให้คุณ 1 ใบ

ถุงใส่แค็ตาล็อกที่คุณหยิบนะครับ ไม่ใช่ถุงอย่างอื่น…

และอย่าตกใจ ถ้าจะเห็นว่า เจ้าหน้าที่เขาหยิบมีแค็ตตาล็อก ไวน์ จาก Hungary ส่งให้คุณ
เพราะ Suzuki ในญี่ปุ่นนั้น นอกจากจะทำรถยนต์ และจักรยานยนต์ขายแล้ว
ยังทำธุรกิจเครื่องยนต์เรือ เครื่องยนต์อเนกประสงค์ บ้านสำเร็จรูปถอดประกอบได้
ไปจนถึง การนำเข้าไวน์ จากฮังการี และรับเป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค
ตั้งแต่ เนื้อสด อาหารแห้งประจำท้องถิ่น ไปจนถึง ผงซักฟอกอีกด้วย รับเขามาขายต่ออีกที!!!

บ้าไปแล้ว!!! จะเยอะไปไหนนั่น!!

ก่อนที่จะบ้าไปกว่านี้ เรามาเริ่มต้น ดูรถยนต์ Suzuki เวอร์ชันญี่ปุ่น กันดีกว่า
เพราะต่อให้คุณ มีเวลาเดิน Tokyo Motor Show คุณก็จะไม่มีเวลา
สำรวจ โน่นนี่นั่น ของรถแต่ละคัน ได้เยอะ เท่ากับ เดินเข้าไปลองนั่ง
ในโชว์รูมท้องถิ่น อย่างนี้

Suzuki Wagon-R รุ่นล่าสุด จอดมองพวกเราอยู่นานแล้ว

คนไทย อาจจะไม่คุ้นกับ Wagon-R แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว เขาจำกันได้ดีว่า
นี่คือรถรุ่นดังที่สุดอีกรุ่นหนึ่งของ Suzuki นอกเหนือจาก รถเล็กอย่าง Alto
Swift Escudo และ รถจี๊ป ตระกูล SJ เพราะนับตั้งแต่ออกสู่ตาดครั้งแรก ช่วง
ปลายปี 1993 Wagon-R ก็มียอดขายพุ่งแรงแซงชาวบ้านชาวช่องเขาพรวดพราด
ขึ้นมาเป็น  รถยนต์ที่ขายดีที่สุด ของญี่ปุ่น ติดต่อกันมานานหลายปี ทำรายได้
ให้ซูซูกิ เป็นกอบเป็นกรรม จากรูปทรงที่เรียบง่าย แต่ดูแล้ว มีเอกลักษณ์ของตัวเอง
ด้วยสไตล์ รถเล็ก หลังคาสูงแบบ Tall Boy นั่นเอง

จากนั้น ก็มการขยายตลาดออกไป ให้ตัวรถ กว้างขึ้นกว่าพิกัด Kei-Jidosha (K-Car)
ขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 660 ซีซี ไม่เกิน 64 แรงม้า (PS) จนกลายเป็นรุ่นใหม่ๆที่
มีตัวถังกว้างขึ้น เกินพิกัดเดิม  ใส่เครื่องยนต์ใหญ่กว่าเดิม ตั้งแต่ 1,000 – 1,300 ซีซี
แต่ยังทำตลาดควบคู่กัน อย่าง Wagon-R WIDE บ้างละ Wagon-R SOLIO บ้างละ
ฯลฯ อีกมากมาย

รุ่นที่เห็นอยู่นี้ คือรุ่นที่ 5 เริ่มออกสู่ตาดญี่ปุ่นเมื่อ 25 กันยายน 2008 และทันทีที่
ขึ้นโชว์รูม ก็คว้าทั้งรางวังานออกแบบยอดเยี่ยมของญี่ปุ่น หรือ Red Dot Award
และรางวัล RJC Car of the Year ประจำปีนี้ไปครองได้สำเร็จ แถมยอดขาย ก็ยังไม่ลดลง
ตามสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่บักโกรก เท่าใดนัก

การปลี่ยนแปลงของ Wagon-R ครั้งนี้ จะแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา
เพราะนอกจากรูปลักษณ์ภายนอกที่ ตัดเอากระจกหน้าต่างโอเปร่าบ้านเล็กๆ
ด้านหลังประตู คู่หลัง ออกไปแล้ว ยังพยายาม เน้นงานออกแบบให้เรียบง่าย
แต่ยังคงแนวทาง เหลี่ยมสัน ในสตไล์ กล่องติดล้อแบบ Tall Boy เอาไว้
ด้วยมิติตัวถังยาว 3,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,475 มิลลิเมตร สูง 1,660 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ ถูกขยายออกไปเป็น 2,400 มิลลิเมตร

ด้วยการออกแบบพื้นตัวถังขึ้นมาใหม่ รวมทั้งความพยายามขยายล้อทั้ง 4
ไปอยู่ในมุมตัวถังแต่ละมุมให้มากที่สุด เท่าที่เป็นไปได้ ซูซูกิ เคลมว่า
จะช่วยให้การขับขี่ ของ Wagon-R ใหม่ ดีขึ้นกว่าเดิม อย่างชัดเจน

Wagon-R มีให้เลือก 2 แบบการตกแต่งหลัก คือ แบบมาตรฐาน
และแบบ Stingray ซึ่ง มาในแนว ซิ่ง เอาใจวัยรุ่นชายเอาไปแต่งต่อ
อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว แต่คันที่จอดโชว์อยู่ เป็นรุ่นท็อปของ รุ่นตกแต่ง
แบบมาตรฐาน FX-Limited รุ่นเดิม (ถ้าเป็นรุ่นใหม่ FX-Limited II
กระจังหน้าจะเป็นแบบโครเมียม มีเส้นขีดพาดผ่านกลาง เปิดเว็บ
www.suzuki.co.jp ดูได้ ณ บัดนาว)

การเข้าออกจากห้องโดยสารนั้น ทำได้ดี กรอบประตูใหญ่ขึ้นกว่า
รถรุ่นเดิมนิดหน่อย ที่ 345 มิลลิเมตร บานประตู เปิดได้กว้าง
ช่วยให้ก้าวขึ้นรถ ได้สะดวกกว่าเดิม

เบาะนั่ง สบายยิ่งขึ้น ใช้ผ้าบุที่ดีขึ้น มีที่วางแขนตรงกลาง ซึ่งพอใช้งานได้
เบาะนั่งทั้ง ซ้ายและขวา แม้จะมาในแนว ม้านั่ง ยาว Bench Seat type
แต่ความจริงแล้ว สามารถแยกปรับเลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลังได้อิสระ
พื้นที่เหนือศีรษะ ก็เหลือยู่พอประมาณ

ประตูทางเข้าแถวหลัง เข้าออกได้ สะดวกกว่าที่คาดไว้นิดหน่อย
ที่วางแขน บนแผงประตูทั้ง 4 ออกแบบมาในตำแหน่งที่ดี

เบาะนั่งแถวหลังนั้น นอกจากจะสามารถแบ่งพับในอัตราส่วน 50 : 50
ให้ลงมาราบเรียบไปกับพื้นห้องเก็บของด้านหลัง แบบเดียวกับ
Honda Fit/ Jazz ได้แล้ว ยังสามารถ แยกปรับเลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลังได้ อิสระ
หรือถ้าอยากเพิ่มพื้นที่เก็บของให้ยาวขึ้น จนสุดไปถึงด้านหน้า ก็สามารถ
พับเบาะนั่งผู้โดยสารตอนหน้า ฝั่งซ้าย ให้วางของได้อีกด้วย
ด้วยการ ยกเบาะรองนั่งขึ้นหงายก่อน แล้วค่อยพับพนักพิงลงจนราบสุดๆ
ห้องเก็บของด้านหลังนั้น กว้างสุด 915 มิลลิเมตร ลึกสุด 1,055 มิลลิเมตร

อย่างไรก็ตาม บาะนั่งด้านหลัง สั้นไปหน่อย นั่งได้ ไม่เต็มพื้นที่ก้น ยังเหลืออีก
พอสมควรกว่าจะถึงข้อพับขา แต่พนักพิงหลัง และพื้นที่เหนือศีรษะหนะ ยังโอเคอยู่

แถมมีขอเกี่ยวถึถุงช้อปปิ้ง รับน้ำหนักได้ไม่เกิน 3 กิโลกรัม มาให้ด้วย 

แผงหน้าปัดมาในสไตล์ที่เรียบง่าย และเน้นความสะดวกในการใช้งาน
รอบห้องโดยสาร มีช่องเก็บของ รูปแบบต่างๆมากมาย มีหรือไม่มีฝาปิดบ้าง
รวมถึง 15-16 ตำแหน่ง

ทัศนวิสัยรุ่นใหม่ โปร่งตา พอประมาณ แต่การมีกระจกหูช้างเพิ่มเข้ามา
ก็ อาจจะไม่ถึงกับเป็นข้อดีนัก กระนั้น ถือว่ายังพอรับได้ หากเทียบกับรุ่นก่อน

แต่ยังไงๆ Wagon-R 1st Generation ตัวแรก ทัศนวิสัยก็ดีที่สุดแล้วละ

เครื่องปรับอากาศในรถคันที่จัดแสดงเป็นแบบดิจิตอล ชุดเครื่องเสียง
เป็นแบบ Built-in เล่นแผ่น CD-MP3 ไฟล์ WMA ได้ มีช่องเสียบ USB มาให้
พร้อมลำโพง 6 ชิ้น (เฉพาะรุ่น FX ธรรมดา จะให้มาแค่ 2 ชิ้น) และในรุ่น
FX-Limited II จะมี กุญแจรีโมทแบบ Smart Keyles Entry กดปุ่มบนมือจับประตู
เพื่อสั่งล็อก-ปลดล็อก และติดเครื่องยนต์ด้วยการกดปุ่ม เป็นพิเศษ

มีถุงลมนิรภัยมาให้ แค่ คู่หน้า 2 ใบ เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบ ELR 3 จุด
พร้อมระบบ Pretensioner & Load Limiter ดึงกลับอัตโนมัติ และลดแรงปะทะ
ส่วนเข็มขัดนิรภัยด้านหลัง  เป็นแบบ ELR 3 จุด 2 ที่นั่ง และ แบบ 2 จุด 1 ที่นั่งตรงกลาง

เครื่องยนต์ เป็นรหัส  K6A บล็อก 3 สูบเรียง DOHC 12 วาล์ว 658 ซีซี
มีให้เลือก 2 ระดับความแรง หากเป็นเวอร์ชันปกติ จะมีระบบแปรผันวาล์ว VVT
มาให้ กำลังสูงสุด 54 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 6.4 กก.-ม.
ที่ 3,500 รอบ/นาที มีทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เฉพาะรุ่น FX อัตโนมัติ 4 จังหวะ
เลือกได้ครบทุกรุ่น และอัตโนมัติ CVT เฉพาะ รุ่น FX-Limited II
ทั้งหมดนี้ เชื่อมได้ครบทั้งระบบขับเคลื่อนล้อหน้า หรือขับเคลื่อน 4 ล้อ 4WD

แต่ในรุ่น Stingray นอกจากจะมีเครื่องยนต์ K6A มาตรฐาน (เฉพาะรุ่น X
มีทั้งเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ CVT ครบทั้งรุ่นขับล้อหน้า
และขับเคลื่อน 4 ล้อ 4WD) แล้ว

ยังมี K6A เวอร์ชันแรงกว่า ซึ่งจะไม่มีระบบ VVT มาให้ ทว่า ติดตั้ง Turbo
พร้อม Intercooler มาให้แทน แรงขึ้นชนพิกัด 64 แรงม้า (PS) ที่
6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 9.7 กก.-ม. ที่ 3,000 รอบ/นาที มีให้เลือก
เฉพาะเกียร์อัตโนมัติ CVT แต่ เลือกได้ทั้งรุ่นขับล้อหน้า หริอขับสี่ล้อ 4WD
วางในรุ่น T และ TS

พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียนพร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง รัศมีวงเลี้ยว 4.2 เมตร
ในรุ่น ที่ใช้ล้อ 13 นิ้ว (ถ้าใช้ล้อ 14 นิ้ว จะเพิ่มเป็น 4.4 เมตร) ระบบกันสะเทือน
หน้าแมคเฟอร์สันสตรัต หลัง แบบ ITL (Isolated Trailing Link) ส่วนระบบห้ามล้อ
เป็นแบบ หน้าดิสก์ หลังดรัม พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS ระบบกระจายแรงเบรก EBD
และมี ระบบเพิ่มแรงเหยียบเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist มาให้ ด้วย

รุ่นธรรมดา Wagon-R ใหม่ (ที่ไม่ใช่ Stingray รุ่น 64 แรงม้า) มี 2 ระดับการตกแต่ง
คือ FX และ FX Limited II รวม 8 รุ่นย่อย ราคาตั้งแต่ 1,044,750 – 1,330,350 เยน
หรือ 386,557 – 492,229 บาท เมื่อแปลงเป็นเงินไทย และยังไม่รวมภาษีนำเข้าบ้านเรา

คันต่อไป คือ Suzuki Alto Lapin จัดเป็น 1 ในรถยนต์ อีกรุ่น ในกลุ่ม Kei-Jidosha
(K-Car) ความจุกระบอกสูบเครื่องยนต์ไม่เกิน 660 ซีซี อวดโฉมครั้งแรกในงาน
Tokyo Motor Show 2001 และ ส่งเวอร์ชันตกแต่งมากมาย เข้าร่วมจัดแสดงในงาน
Tokyo Auto Salon 2002 ก่อนจะออกสู่ตลาดครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2002

ส่วนรุ่นที่เห็นนี้ เป็น 2nd Generation ออกสู่ตลาดครั้งแรก เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2008

Alto Lapin รุ่นใหม่ ยังคงพัฒนาขึ้นบนพื้นตัวถังหรือ Platform เดียวกันกับ Alto
และ Wagon-R ซึ่งนับเป็นกลยุทธิ์การลดต้นทุนที่ชาญฉลาดมาก เพราะเพียง
แพล็ตฟอร์มเดียว แต่ใช้กับรถยนต์นั่งได้ทุกรุ่น และส่งผลให้ซูซูกิกลายเป็น
หนึ่งในผู้นำด้านการลดต้นทุนการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่

รูปทรงของตัวถังที่มีความยาว 3,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,475 สูง 1,510 มิลลิเมตร
และระยะฐานล้อ 2,400 มิลลิเมตร มาในแนวกล่องติดล้อ แต่เน้นการลบเหลี่ยมมุม
เพิ่มความโค้งมน เน้นความคลาสสิกสไตล์ย้อนยุค หากสังเกตดูจะ พบว่า Alto Lapin
มีเส้นสายที่ได้แรงบันดาลใจ จากรถ Mini รุ่นแรกของ Sir Elec Issigonis อยู่มาก
จนเห็นเด่นชัด

การเข้าออกทำได้สะดวกโยธิน เพราะบานประตูคู่หน้า ออกแบบให้เปิดกางออก
ได้ถึง 66 องศา แล้วโน้มเอียงไปข้างหน้ารถเล็กน้อย แน่นอนกว่า เข้าออกได้
สะดวกกว่า Wagon-R แต่ก็ไม่เยอะมากนัก

การที่ Alto Lapin สร้างขึ้นบนแพล็ตฟอร์มเดียวกันกับ Alto และ Wagon-R ใหม่
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ชุดเบาะนั่ง ของ Lapin จะยกมาจาก Wagon-R ทั้งด้านหน้า
และด้านหลัง การนั่งโดยสาร จึงเหมือนกันเป๊ะ คือสบายพอตัวเลยทีเดียว แม้ว่า
เบาะรองนั่งอาจจะสั้นไปนิดนึง เหมือนกัน แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก พื้นที่เหนือศีรษะ
ก็โล่งโปร่งสบายไล่เลี่ยกัน

ส่วนบานประตูคู่หลัง ออกแบบให้กางออกได้มากถึง 80 องศา
เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวก ในการเข้าออก จากเบาะนั่งแถวหลัง
กระจกหน้าต่างบานหลัง เปิดลงได้จนสุดขอบประตู มีสวิชต์ Child Lock มาให้ ด้วย

เรื่องเหลือเชื่อ ของ Lapin ก็คือ แม้ว่าจะเป็นรถยนต์ K-Car ที่ดูเหมือนว่าภายนอกมีขนาดเล็ก
แต่ผมกลับสามารถเข้าไปนั่งภายในห้องโดยสารได้อย่างสบาย กำลังดี โทนสีตกแต่งเบาะนั่ง
เป็นโทนอ่อน สบายตา แต่อาจจะสกปรกได้ง่าย เมื่อมาอยู่ในมือลูกค้า  เบาะนั่งด้านหลัง
อาจจะมีเบาะรองนั่งที่สั้นไปสักนิดสำหรับผม แต่ถ้าสำหรับสุภาพสตรีส่วนใหญ่แล้ว
จะนั่งได้เต็มก้นพอดีๆ  แน่นอนว่า พื้นที่เหนือศีรษะหนะ โปร่งสบายมากกกก ไม่แพ้
Wagon-R กันเลย

ก็แน่ละ ถ้าดูดีๆ ชุดเบาะนั่งของ Lapin เป็นคนละชุดกับใน Wagon R นะ! 

ถ้าไม่เชื่อในเรื่องความสบาย ดูตัวอย่าง การนั่งด้านหลังได้ จากนายแบบประจำทริปของเรา นายกล้วย BnN ก็ได้ครับ

อย่างไรก็ตาม เบาะหลัง แม้จะแบ่งพับได้ ในอัตราส่วน 50 : 50 แต่ก็เป็นแค่ส่วของพนักพิง
เพราะ เบาะรองนั่งนั้น เป้นแบบติดตั้งตายตัว ไม่สามารถแยกกันเลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลัง
อย่างที่ Wagon-R จะทำได้ ดังนั้น เบาหลังของ Lapin จะพับลงได้ แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น
ส่วนพื้นที่ ห้องเก็บของด้านหลัง ก็ ไล่เลี่ยกันกับ Wagon-R เพียงแต่หลังคาอาจจะเตี้ยกว่ากันนิดนึง

แต่เมื่อเข้ามานั่งในห้องโดยสาร หากสังเกตดีๆ จะพบว่า การจัดวางตำแหน่งของ
อุปกรณ์ต่างๆนั้น มันช่างคล้ายกับที่คุณจะพบได้ใน Wagon-R เลยทีเดียว เพียงแต่
มาในรูปลักษณ์ ที่ต่างออกไป ในสไตล์ Retro เอาใจสุภาพสตรีเต็มที่ อย่างที่เห็น
ก็เท่านั้นเอง

เครื่องปรับอากาศในรถคันที่จัดแสดงเป็นแบบมือหมุน แต่มีรุ่น แอร์ดิจิตอลให้เลือกอีกด้วย
เช่นเดียวกับชุดเครื่องเสียง แบบ Built-in เล่นแผ่น CD-MP3 ได้ พร้อมลำโพง 6 ชิ้น (เฉพาะรุ่น
G จะให้มาแค่ 2 ชิ้น) เชื่อมต่อกับ USB ได้

นอกจากนี้ อุปกรณ์พิเศษ ในรถบางรุ่นย่อย ยังมีกุญแจรีโมทคอนโทรล Smart Keyless Entry
กดปุ่มบนมือจับประตู ก็สั่งล็อก หรือปลดล็อกรถได้ทั้ง 4 บานประตู กระจกหน้าต่างไฟฟ้าทั้ง 4 บาน
ติดเครื่องยนต์ได้ด้วยปุ่ม Start-Stop มีระบบดีดกลับเมื่อมีสิ่งกีดขวาง เฉพาะฝั่งคนขับ บานเดียว
แถม ที่แผงประตู ยังมีช่องวงกลม ออกแบบมาไว้ให้เจ้าของรถ สามารถใส่รูป คนที่ตนรัก หรือ
รูปอื่นๆ ได้ตามต้องการอีกด้วย เป็นกรอบรูปขนาดเล็ก เคลื่อนที่ มีมาให้ทั้ง ฝั่งซ้ายและขวา

เครื่องยนต์ เป็นรหัส K6A บล็อก 3 สูบเรียง DOHC 12 วาล์ว 658 ซีซี
มีให้เลือก 2 ระดับความแรง หากเป็นเวอร์ชันปกติ จะมีระบบแปรผันวาล์ว VVT
มาให้ กำลังสูงสุด 54 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 6.4 กก.-ม.
ที่ 3,500 รอบ/นาที มีทั้งเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ และอัตโนมัติ CVT
เลือกได้ครบ ทั้งระบบขับเคลื่อนล้อหน้า หรือขับเคลื่อน 4 ล้อ 4WD
มีในรุ่นย่อย G กับ X (รหัสตัวถัง DBA-HE22S)

แต่ในรุ่น T (รหัสรุ่น CBA-HE22S) จะไม่มีระบบ VVT มาให้ ทว่า ติดตั้ง
Turbo พร้อม Intercooler มาให้แทนแรงขึ้นชนพิกัด 64 แรงม้า (PS) ที่
6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 9.7 กก.-ม. ที่ 3,000 รอบ/นาที มีให้เลือก
เฉพาะเกียร์อัตโนมัติ CVT แต่ เลือกได้ทั้งรุ่นขับล้อหน้า หริอขับสี่ล้อ 4WD

พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ รัศมีวงเลี้ยว 4.4 เมตร
ระบบกันสะเทือนก็ยังใช้ของรวมหม้อข้าวเดียวกันกับรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า
ทุกรุ่นของซูซูกิ โดยด้านหน้าเป็นแบบแมคเฟอร์สันสตรัท ด้านหลัง แบบ ITL
(Isolated Trailing Link) ส่วนระบบห้ามล้อเป็นแบบ หน้าดิสก์ หลังดรัม
พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS และ ระบบกระจายแรงเบรก EBD

Alto Lapin มีให้เลือกมากถึง 12 รุ่นย่อย จาก 4 ระดับการตกแต่งคือ
รุ่น G กับ X อย่างละ 4 รุ่นย่อย และรุ่น T มาตรฐาน กับ T แบบ L Package
(รุ่นหรูสุดนั่นเอง) วางเครื่องยนต์ Turbo มี รุ่นละ 2 รุ่นย่อย
ราคาเริ่มตั้งแต่ 1,074,150 – 1,554,000 เยน หรือ แปลงเป็นเงินไทย
เท่ากับ 397,435 – 574,980 เยน (ไม่รวมภาษีนำเข้าของบ้านเราทั้งสิ้น)

ใครว่า รถเมืองไทยราคาแพง และรถในญี่ปุ่นถูกหนะ จะบอกว่า
ไม่เสมอไปนะคร้าบบบบบบ Lapin นี่ก็เป็นตัวอย่าง ที่ดีได้ ตัวอย่างนึง
เลยทีเดียว เงิน 4-5 แสนบาท ในญี่ปุ่น ซื้อได้แค่ K-Car 660 ซีซี แล้วนะ สมัยนี้

คันที่ 3 เป็น Suzuki SPLASH

ไม่เกี่ยวข้องกับ น้ำส้มที่ขายอยู่ในบ้านเราแต่อย่างใด เป็นผลผลิตของทาง
โรงงาน Suzuki ใน Hungary เป็นฐานการผลิตรถรุ่นนี้ ลุยตลาดยุโรปเป็นหลัก และบางส่วน
ส่งกลับมาขายในญี่ปุ่นด้วย พอมีลูกค้าอุดหนุนกันอยู่เรื่อยๆ ยอดขายพอไปวัดไปวาได้
เปิดตัวในญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อ 21 ตุลาคม 2008 1 ปี หลังการปรากฎตัว ใน Tokyo Motor Show 2007
และการเปิดตัวที่มีขึ้น ในช่วง งานแฟรงค์เฟิร์ต มอเตอร์โชว์ 2007 นั่นเอง

Splash มีให้เลือกเพียงรุ่นย่อยเดียว รหัสรุ่น DBA-XB32S มีความยาวตัวถัง 3,715 มิลลิเมตร
กว้าง 1,680 มิลลิเมตร สูง 1,590 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,360 มิลลิเมตร

ผมมองว่า รถคันนี้ เหมาะมากในการสั่งเข้ามาทำขาย เป็น ECO Car
แต่อย่างว่าละครับ ในเมื่อ ซูซูกิ ไปลงทุน ทำฐานผลิตที่ Hungary ไว้แล้ว
เรื่อองะไรที่เขาจะต้องย้ายรถรุ่นนี้ มาลงทุนตั้งไลน์กันใหม่ในบ้านเรา
สู้ เปิดตัว รถรุ่นใหม่กว่านี้ไปเลย น่าจะดีกว่า นั่นคือวิธีคิดของ Suzuki
ดังนั้น แน่นอนแล้วว่า SPLASH จะไม่ใช่ ECO Car ของ Suzuki
ในบ้านเราอย่างแน่นอน…..

บานประตู เปิดกางออกได้กว้างพอประมาณ แผงประตูด้านข้าง
วางตำแหน่งได้ดี  พื้นที่เหนือศีรษะ ยังคงโปร่งสบาย เหมือน Suzuki
รุ่นอื่นๆที่เราเข้าไปลองนั่งกันมา ตำแหน่งเบาะนั่ง ถือได้ว่า ลงตัวดีมาก
ถ้าคุณคิดว่า นี่คือรถเล็ก ปรับให้สูง-ต่ำได้ 30 มิลลิเมตร เลื่อนขึ้นหน้า-
ถอยหลัง 40 มิลลิเมตร

เพียงแต่ วัสดุหุ้มเบาะ ของรถที่ประกอบเพื่อขายในยุโรปเป็นหลัก
ชัดเจนเลยว่า จะแตกต่างจาก รถที่ประกอบขายในญี่ปุ่น
รายละเอียด เนื้อผ้า พื้นผิว Texture ต่างๆ ของรถที่ขายในยุโรป
จะหยาบกร้าน กว่า รถเวอร์ชันญี่ปุ่น ซึ่งมักเป็นผ้ากำมะหยี่อย่างดี
แต่ อย่างว่า ถ้าใช้ผ้าแบบญี่ปุ่น กับรถในบ้านเรา การเก็บฝุ่น
ก็จะเกิดขึ้นง่ายกว่า และทำความสะอาดยากกว่า หากเปรอะเปื้อน
รอยคราบด่างชนิดสาหัสสากรรจ์

อีกทั้ง ยังไม่มี ที่วางแขน สำหรับผู้ขับขี่มาให้เลย ซึ่งรถเล็กสมัยนี้
ควรจะมีมาให้สักหน่อยได้แล้ว แหม ที Wagon R กับ Lapin
ยังมีมาให้ แล้วทำไม Splash จะมีมาให้บ้างไม่ได้?

นอกจากนี้ บานประตูคู่หลัง ยังเปิดได้ ไม่กว้างมากอย่างที่ควรจะเป็น
ทางเข้าไปนั่งเบาะหลังนั้น แม้ส่วนศีรษะจะโล่งสะดวกโยธิน
แต่กับ ส่วนเท้า อาจจะยังติดขัดกับเสาหลังคากลางอยู่เล็กน้อย
จะบอกว่า เป็นปัญหาเดียวกับที่พบได้ใน Swift นั่นแหละ
The same Problem. ส่วนกระจกน้าต่างด้านหลัง เปิดลงได้จนสุดขอบประตู

เบาะหลัง นั่งได้ปานกลาง เบาะรองนั่งสั้นนิดๆ พนักพิงหลังกำลังดี เข็มขัดนิรภัย มีมาให้เป็นแบบ ELR 3 จุด 
ทุกที่นั่ง คู่หน้าเป็นแบบ Pretensioner & Load Limiter ส่วนเบาะหลัง ที่นั่งตรงกลาง ให้เป็นแบบ 3 จุด  
แถมด้วยพนักศีรษะ เพื่อให้เดินทางกันได้ 5 คนอย่างสบายๆพื้นที่วางขา เหลือเฟือพอประมาณ แต่พื้นที่ศีรษะ โปร่งสบาย

เบาะหลังสามารถแบ่งพับได้ ในอัตราส่วน 60 : 40
เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง แต่ดูเหมือนว่า
ขนาดของพื้นที่ห้องเก็บของ ไม่น่าจะมากมายเท่ากับ
Wagon-R และ Lapin เพราะดูเหมือน Suzuki จะไม่ค่อย
เน้นการโฆษณา Splash ในจุดนี้เท่าไหร่นัก

พื้นห้องเก็บของด้านหลัง สามารถยกเปิดขึ้นมา เป็นฝาสำหรับ
กล่องเก็บของ สำหรับอาหารสด หรือ สิ่งของที่อาจก่อให้เกิดกลิ่นรบกวน
ในห้องโดยสารได้ เป็นกล่อง พลาสติก รีไซเคิล

แผงหน้าปัด ออกแบบมาได้เหมาะสมกับตัวรถภายนอกมากๆ
แผงหน้าปัดออกแบบในสไตล์เรียบง่าย ไม่มีมาตรวัดรอบมาให้
แต่มีไฟบอกตำแหน่งเกียร์ทดแทน อีกทั้งไม่มีชุดเครื่องเสียงใดๆ
ติดตั้งมาให้ ลูกค้าต้องสั่งซื้อเพิ่มเองต่างหาก

อุปกรณ์ที่น่าสนใจแม้มีแค่ กุญแจ Immobilizer อย่างเดียว แต่ ถุงลมนิรภัยนั้น
อัดแน่นมาให้สะใจ มากถึง 6 ใบ! คู่หน้า 2 ด้านข้าง 2 ม่านลมนิรภัย อีก 2 ใบ
ที่สำคัญ SPLASH ยังผ่านมาตรฐาน ทดสอบการชน จาก EuroNCAP ในระดับ 5 ดาว 
และปกป้องคนเดินถนนในระดับ 3 ดาว มาแล้วอีกด้วย

เครื่องยนต์ที่ติดตั้งใน Splash มีรหัส K12B บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,242 ซีซี
พร้อมระบบแปรผันวาล์ว VVT 88 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
11.9 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที เกียร์อัตโนมัติ CVT (มี Lock-up Toque Converter)
ขับเคลื่อนล้อหน้า พวงมาลัยแบบ แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง
รัศมีวงเลี้ยว 5.2 เมตร ระบบกันสะเทือนหน้า แมคเฟอร์สันสตรัต หลังทอร์ชันบีม
ระบบเบรก หน้าดิสก์ หลังดรัม พร้อม ABS และ EBD สวมยาง 185/60R15 84H
ถังน้ำมัน จุ 45 ลิตร

ราคาขายในญี่ปุ่น 1,239,000 เยน หรือราวๆ 458,430 บาท ไม่รวมภาษีนำเข้าบ้านเรา 

คันต่อมา ก็คือ SX-4…รถยนต์ซึ่งผมไม่รู้จะเรียกจำกัดความว่าเป็นรถประเภทไหนดี
เอาเป็นว่า มันคือ C-Segment Compact Crossover Hatchback ละกันวะ! ลงตัวที่สุดแล้ว

แต่ ยังก่อน เราจะยังไม่พูดถึงรถคันนี้ ในตอนนี้ เรื่องมันยาว ขอเก็บเรื่องราวเอาไว้
เล่าสู่กันฟังอีกครั้ง ในรีวิว Exclusive First Impression ลองขับ บนถนนในกรุงโตเกียว
อันเป็นตอนจบ ของซีรีส์ ท่องญี่ปุ่น 2009 จะดีกว่าครับ

งั้น เราข้ามไปที่ รถคันข้างๆกันเลย

คันสุดท้ายที่จะพาไปดูกันแบบเต็มๆ คือ Suzuki Palette เผยโฉมครั้งแรก
เมื่อ Tokyo Motor Show ตุลาคม 2007 และออกขายในอีก 1 เดือนหลังจากนั้น
และเพิ่งมีการปรับโฉม Minorchange ครั้งแรก รวมทั้ง เพิ่มรุ่น Sport
ในชื่อ Palette SW ไปเมื่อ 17 กันยายน 2009 ที่ผ่านมานี้เอง

การพัฒนารถคันนี้ ไม่มีอะไรซับซ้อน ในเมื่อ มีลูกค้ากลุ่มครอบครัว
อยากได้ K-Car ที่มีพื้นที่ห้องโดยสาร โอ่โถง โปร่งสบาย มากที่สุด
เท่าที่จะเป็นไปได้ และมีรูปแบบตัวรถ คล้ายกับ Minivan ระดับ
Compact จำพวก Nissan Serena Honda StepWGN หรือ Toyota Noah/Voxy
กับ Mazda Biante เพียงแต่ว่า ใช้ประตูแบบบานเลื่อน เพราะลูกค้า
ในญี่ป่น เริ่มมีแนวโน้มอยากได้ประตูคู่หลังแบบบานเลื่อนกันมากกว่า
อีกทั้ง เพื่อเป็นการดักคอ คู่แข่งอย่าง Daihatsu Tanto ซึ่งมีจุดขาย
ที่ต่างออกไปคือ รายนั้น ไม่มีเสาหลังคากลาง B-Pillar ทำให้ ประตูฝั่งซ้าย
ทั้ง บานหน้า และหลัง เปิดทะลุโล่ง ไร้ขีดจำกัด

Palette เปิดตัวชนกับ Tanto พอดี แต่ก็มีจุดเด่นอยู่ที่ ขนาดห้องโดยสาร
ที่ยังไง๊ยังไง ก็ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม K-Car ทั้งหมด นั่นเอง 

มิติตัวถังยาวแค่ 3,395 มิลลิเมตร และกว้าง 1,475 มิลลิเมตร เท่า K-Car
คันอื่นๆ ตามกฎหมาย Kei-Jidosha หรือรถยนต์ขนาดจิ๋วของญี่ปุ่นนั่นละ
แต่ จุดที่ทำให้รถมันดูใหญ่โตได้ถึงเพียงนี้ ก็เพราะความสูงที่ปาเข้าไปถึง
1,735 – 1,745 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อ ยาวสะใจถึง 2,400 มิลลิเมตร นั่นเอง!

ถูกต้องแล้ว Palette ก็สร้างขึ้นบนพื้นตัวถังของ Wagon-R และ Alto รวมทั้ง
Alto Lapin นั่นเอง! เพียงแต่ มีความสูงโปร่งสบายหัว มากกว่ากันเยอะเลย
แค่ประตูทางเข้าห้องโดยสาร นี่ก็น่าจะบอกอะไรกับคุณผู้อ่านได้บ้างแล้วละครับ

จุดเด่นของ Palette อยู่ที่ความโปร่งสบายของห้องโดยสาร แม้ว่าจะไม่สามารถ
ทำเสาหลังคากลาง B-Pillar ฝั่งซ้าย ให้หายไปอย่างที่ คู่แข่งตัวฉกาจ
Daihatsu Tanto ทำได้ก็ตาม แต่พื้นที่ความสบายในห้องโดยสาร ไม่ได้แพ้
รถที่มีขนาดใหญ่กว่าเลย

ผมตั้งข้อสังเกตด้วยซ้ำว่า ซูซูกิ จะเลือกใช้วัสดุในห้องโดยสารของพาเลตต์ ดีกว่า
ที่ใช้กับรถยนต์รุ่นเก่าๆของตนเอง รวมทั้งเจ้ารถขายดีประจำแบรนด์ของตน
อย่าง Wagon R ด้วยซ้ำ

กระนั้น โครงสร้างเบาะนั่งคู่หน้า ก็เหมือนกันกับ ทั้ง Wagon-R และ
Alto Lapin เป๊ะเลย!! ต่างกันแค่ ที่วางแขนพับได้ ตรงกลาง เท่านั้นเลยจริงๆ!

ถ้านึกไม่ออกว่า หลังคามันสูงโปร่งแค่ไหน ดูนายกล้วย BnN นายแบบของเราก็แล้วกันนะครับ

การใช้ประตูบานเลื่อนแบบไฟฟ้า สั่งการได้ทั้งจากสวิชต์ในรถ และ รีโมทกุญแจ
ทำให้พื้นที่ทางเข้าห้องโดยสารของ Palette นั้น มีขนาด ใหญ่ ใกล้เคียงกับ รถตู้
Compact Minivan ทั้งหลาย ที่ได้เอ่ยชื่อเสียงเรียงนามไปในย่อหน้าบนๆ

และเนื่องจาก เบาะนั่ง แถวหลัง ถูกออกแบบโครงสร้างใหม่ ให้สะดวกต่อการ
เลื่อน ขึ้นหน้า-ถอยหลัง ได้ใฝนระยะ 165 มิลลิเมตร พนักพิงเบาะหลัง
ปรับเอนนอนได้ เล็กน้อย ดังนั้น แน่นอน ว่า สามารถแบ่งพับได้
ในอัตราส่วน 50 : 50 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง
ด้วยวิธี พับพนักพิงลงมาก่อน แล้วจึง ดึงสลักล็อก ใต้เบาะ
ก่อนที่จะกดตัวเบาะจมลงไปติดพื้นตัวถังรถ เท่านี้ ก็แบก
จักรยานแม่บ้าน 24 นิ้ว เข้าไปใน K-Car คันนี้ได้อย่างสบายๆ!

พื้นที่ห้องโดยสารทั้งหมดนั้น ยาวถึง 2,080 มิลลิเมตร สูงถึง 1,365 มิลลิเมตร
และยิ่งถ้าพับเบาะหลังลงสุดแล้ว ความยาวห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง
จะมากถึง 1,100 มิลลิเมตร กว้างถึง 985 มิลลิเมตร

เจ้ากล้วย BnN กระโดดลงจากเบาะหน้า แล้วขึ้นไปนั่งเบาะหลัง ให้เราดูถึงความโอ่โถงของ Palette 

ถุงลมนิรภัยมีมาให้ คู่หน้า 2 ใบ และด้านข้าง อีก 2 ใบ รวม 4 ใบ
เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบ ELR 3 จุด พร้อมระบบ Pretensioner
& Load Limiter ดึงกลับอัตโนมัติ และลดแรงปะทะ ส่วนเข็มขัดนิรภัย
ด้านหลัง  เป็นแบบ ELR 3 จุด 2 ที่นั่ง และ แบบ 2 จุด 1 ที่นั่งตรงกลาง

ภาพนี้ ถ่ายโดยเอากล้อง ขึ้นไปยันติดกับเพดานรถ
เป็นไงครับ สูงเอาเรื่องเลยใช่ไหมละ! แผงหน้าปัด
ออกแบบมา ในสไตล์ที่ชวนให้นึกถึง แผงหน้าปัด ของ
Nissan Sunny NEO (หรือที่ในญี่ปุ่นรู้จักในชื่อ Bluebird Sylphy
รุ่นปี MY2000-2005)  ผสมกับการวางตำแหน่งที่คล้ายกับ
Wagon-R รวมทั้ง Alto Lapin อีกนั่นแหละ

เพียงแต่ เมื่อมานั่งมองดูแผงควบคุมตรงกลางแล้ว
พลาสติกที่ใช้ เป็นแบบ High Glossy กว่า และดูน่าใช้กว่ากันเยอะ
เครืองปรับอากาศ เป็นแบบ ดิจิตอล ชุดเครืองเสียง CD/MP3
เล่นไฟล์ WMA พร้อมช่องเสียบ USB มาแบบ 6 ลำโพง ตามสูตร

แต่ในบางรุ่น สามารถสั่งติดตั้ง จอ มอนิเตอร์ พร้อมระบบนำทาง
GPS Navigation System พร้อม กล้อง กะระยะด้านหลัง ขณะถอยเข้าจอด
Back Monitor Camera ได้อีกต่างหาก แต่ในรถคันที่จอดโชว์อยู่นี้ ไม่มีให้ดู

ดูจากทัศนวิสัยด้านหน้าแล้ว เสาหลังคา คู่หน้า A-Pilar จะมีการบดบังทัศนวิสัย อยู่บ้างเหมือนกัน

ส่วนฝั่งซ้ายมือ อาจจะพอมีปัญหาอยู่บ้าง แต่กลับดูเหมือนไม่มากนักอย่างที่คิดไว้ในตอนแรก 

ส่วนเครื่องยนต์ ก็ยังคงไม่แตกต่างไปจาก Alto Wagon-R และ Alto Lapin
คันข้างบนๆนั่นเลย เป็นรหัส  K6A เหมือนเดิม บล็อก 3 สูบเรียง DOHC 12 วาล์ว
658 ซีซี มีให้เลือก 2 ระดับความแรง หากเป็นเวอร์ชันปกติ จะมีระบบแปรผันวาล์ว VVT
มาให้ กำลังสูงสุด 54 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 6.4 กก.-ม.
ที่ 3,500 รอบ/นาที มีทั้งเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ เฉพาะรุ่น G และอัตโนมัติ CVT
เฉพาะ รุ่น L กับ X ทั้งหมดนี้ เชื่อมได้ครบทั้งระบบขับเคลื่อนล้อหน้า หรือ
ขับเคลื่อน 4 ล้อ 4WD ถ้าอยากได้เครื่องยนต์เวอร์ชัน Turbo 64 แรงม้า
คงต้องหันไปหา Palette SW เวอร์ชันที่ร้อนแรงกว่า เอาใจวัยรุ่นจอมเฮี้ยว
แถมเพื่อนเยอะ มากกว่า (ในเมื่อ 3 รุ่นนี้เครื่องยนต์เดียวกัน ดังนั้น ถ่ายมาให้ดูคันเดียวก็พอ)

พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง รัศมีวงเลี้ยว 4.2 – 4.5 เมตร
ระบบกันสะเทือนหน้า แมคเฟอร์สันสตรัต หลังแบบ ITL (Isolated Trailing Link)
ระบบเบรก หน้าดิสก์-หลังดรัม ถ้าเป็นรุ่น 4WD จานเบรกหน้าจะเป็นแบบ
มีรูระบายความร้อน มาให้ เสริมด้วย ระบบป้องกันล้อล็อก ABS และ
ระบบกระจายแรงเบรก EBD

Palette รุ่นมาตรฐาน มีให้เลือก 3 ระดับการตกแต่ง คือ G L และ X
รวม 10 รุ่นย่อย ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1,134,000 – 1,431,150 เยน หรือ
419,850 – 529,525 บาท (ไม่รวมภาษีนำเข้าของไทย ใดๆทั้งสิ้น)

แต่งงนิดนึงว่า คันที่จอดโชว์ ราคาปาเข้าไป 1,470,00 เยน แถมไม่มี Back Monitor มาให้แหะ?? งงจัง

ยังไงก็ตาม อยากบอกเอาไว้ว่า ผมชอบ Palette มากๆ และน่าจะมีใครสั่งเข้ามาใช้สักคันนะ

ส่วน Suzuki Escudo เวอร์ชันญี่ปุ่น หรือ ที่บ้านเรารู้จักในชื่อ Grand Vitara นั้น
คงไม่ต้องไปดูให้เสียเวลา เพราะอยากจะบอกว่า ที่เคยสัมผัสมานั้น วัสดุ
ในห้องโดยสาร ของเวอร์ชันญี่ปุ่น ยังไงก็ตกแต่งได้ดีกว่าเวอร์ชันไทย
ที่ผลิตมาจาก อินโดนีเซียแน่ๆ

แล้วในรุ่นล่าสุด ตอนนี้ มีทางเลือกเครื่องยนต์ J24B บล็อก 4 สูบ
DOHC 16 วาล์ว 2,393 ซีซี VVT 166 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 22.9 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที เชื่อมได้ทั้งเกียร์
ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 4 จังหวะ ต่อเข้ากับระบบ
ขับเคลื่อน 4 ล้อ Full Time 4WD เพียงเท่านั้น ไม่มีทางเลือกอื่น

พวงมาลัย แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง
ระบบกันสะเทือนหน้า แมคเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง
หลังมัลติลิงค์ ไม่มีเหล็กกันโคลงมาให้ ดิสก์เบรกมีรูระบายความร้อน
มีให้ครบ ทั้ง 4 ล้อ แถมด้วย ABS และ EBD สวมยาง 225/65R17 101H

ราคาขาย เกียร์ธรรมดา 2,089,500 เยน (773,115 บาท ไม่รวมภาษีนำเข้าของไทย)
เกียร์อัตโนมัติ 2,194,500 เยน (811,965 บาท ไม่รวมภาษีนำเข้าของไทย)

ปลายสุดทางเดินชั้นล่าง เป็นพื้นที่สำหรับจัดประชุมเล็กๆ จุคนได้ประมาณหลักร้อยต้นๆ พร้อมจอ Video Presentation

ส่วนจักรยานยนต์ที่จัดแสดงอยู่นั้น
อย่างที่เห็นละครับว่ามีหลายคัน แต่ที่เลือกจะเล่าข้อมูล
ให้อ่านกันเล่นๆ ก็มีไม่กี่คัน เลือกมา สัก 4 คันดีกว่า

Suzuki Bandit 1250S ABS

รถคันนี้ มีระบบเบรก ป้องกันล้อล็อก ABS มาให้ด้วยนะครับ
เครื่องยนต์ เป็นแบบ 4 จังหวะ DOHC 4 วาล์ว
1,254 ซีซี พร้อมระบบ Suzuki Dual Throttle Valve
100 แรงม้า (PS) ที่ 7,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 10.9 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที
ราคาขาย…แพงเอาการครับ 1,050,000 เยน

แล้วก็มี Genma Scooter ทรงล้ำสมัย
เครื่องยนต์ 4 จังหวะ DOHC 4 วาล์ว 249 ซีซี
22 แรงม้า (PS) ที่ 7,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 2.2 กก.-ม.ที่ 5,500 รอบ/นาที
ถังน้ำมันจุ 12 ลิตร ขายจริงแล้วในราคา
คันละ 681,450 เยน

และคันข้างหน้าสุด คือ Skywave 250 Type M
เครื่องยนต์ 4 จังหวะ DOHC 4 วาล์ว 249 ซีซี
26 แรงม้า (PS) ที่ 7,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 2.5 กก.-ม.ที่ 6,000 รอบ/นาที
คันละ 703,500 เยน

กับ Scooter รุ่น Let’s 50 cc. เจ้าเปี๊ยกนี่ ไม่ธรรมดาหนะคร้าบ
เพราะ นอกจากจะมี กระเป๋าใส่ของตามจุดต่างๆแล้ว
ตะกร้าหน้ารถ ยังสามารถจุของได้มากถึง 25 ลิตร
โดยเฉพาะใครที่ห่วงว่าจะต้องใส่ผักสด อาหารสดต่างๆ
ก็มีม่าน ปิด แบบเดียวกับ แผงบังสัมภาระ
ในรถ Station Wagon เลยนะนั่น!
มีตะขอเกี่ยวถุงจ่ายกับข้าวพับเก็บได้
แต่รับน้ำหนักได้แค่ 1.5 กิโลกรัม
ในขณะที่ ตะขอแบบเดียวกัน ในรถเก๋ง รับน้ำหนัดได้
3 กิโลกรัม มีไฟเลี้ยวที่ตะกร้าด้านหน้า และ ที่ลำตัวด้านข้าง
กุญแจก็เป็นแบบนิรภัย

เครื่องยนต์ SOHC 2 วาล์ว 49 ซีซี 5 แรงม้า (PS)
ที่ 8,000 รอบ/นาที…..(รอบจัดไปไหนพี่น้อง?)
แรงบิดแค่ 0.46 กก.-ม. ที่ 6,500 รอบ/นาที โอ้วววว
ราคาขาย 146,950 เยน…

น่าซื้อไว้จ่ายกับข้าวสักคันเลยนะเนี่ย

เมื่อชมรถใหม่กันจนอิ่มตาแล้ว
อยากรู้ไหมครับว่า กว่าที่จะมาเป็นรถสักรุ่นหนึ่งเนี่ย
มันต้องมีขั้นตอนอย่างไร เตรียมงานกันอย่างไร

คุณ Keiichi Suzuki ไกด์นำทัวร์ กิติมศักดิ์ของเรา
จะพาขึ้นปชม การยกบริษัท Suzuki Motor ทั้งหมด
มาย่อส่วน ให้เล็กลงในพื้นที่ชั้น 2 ของ
Suzuki Reshikan แห่งนี้

ตามคุณพี่เขาไปข้างบนกันเลยดีกว่าครับ

แผนผังของอาคาร ชั้น 2 จะเป็นส่วนจัดแสดง ให้ทุกๆคนได้รู้ว่า
กว่าจะมาเป็นรถยนต์สัก 1 รุ่นนั้น มันมีขั้นตอนอย่างไร
ยากลำบากเอาการขนาดไหน ไล่กันตั้งแต่ห้องประชุม ไปจนถึง
การตรวจสอบขั้นสุดท้าย ก่อนปล่อยรถออกจากสายการผลิต!
จัดแสดง ในทางเดินแบบวนขวา

และ เราก็จะพาคุณเข้าไปชมกัน ตามเส้นทางที่เห็นอยู่นี้ เป๊ะ

จุดแรกของการเริ่มต้น พัฒนารถยนต์สักรุ่นหนึ่ง
มักจะเกิดขึ้นจาก ไอเดียของใครสักคน ในการประชุม
ครั้งใดครั้งหนึ่ง หลายๆคนคงนึกภาพไม่ออกว่า
เขาประชุมกันอย่างไร

Suzuki ใช้วิธีจำลองภาพการเริ่มต้นโครงการพัฒนารถเล็ก
รุ่น Splash ให้เราได้ชมกัน ผ่านทาง การจัดแสดง Video Presentation
ที่ ทำให้เราได้เห็นภาพและเสียงกันชัดเจน เหมือนจริง

ในแต่ละจุดที่เราไป หากจุดไหน มี Video presentation
เขาจะทำป้ายโลหะ เฉพาะจุดนั้นๆ แปะเอาไว้ พร้อมสวิชต์
ให้เรากด เลือกได้ว่าจะฟังภาษาญี่ปุ่น หรือภาษาอังกฤษ

เช่น จุดนี้ มี Presentation ยาว 4 นาที 20 วินาที
โปรดสังเกตว่า Prop ประกอบฉาก ก็จัดเตรียมจำลองมาไว้
เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ เอกสาร กำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
ตัวเลขผลวิจัยตลาดต่างๆ จะอยู่ในแฟ้มสีดำข้างหน้านี้ทั้งหมด

เราเลือกภาษาอังกฤษ กดเข้าไป วิศวกรหนุ่ม ก็เริ่มออกมาบรรยายคร่าวๆ
เปิดเรื่องราว ที่จะได้รับชมกันต่อไป ไม่นานนัก….

ภาพก็ตัดไปที่ การจำลองให้เห็น ถึงการประชุมครั้งหนึ่ง เมื่อ เดือนมีนาคม 2004
ที่ห้องประชุมหมายเลข 008 ของอาคารสำนักงานใหญ่  นั่นเอง…

จดจำชายคนที่ใส่แว่น นั่งอยู่ตรงกลางเอาไว้ให้ดีนะครับ
เพราะ เราจะมีโอกาสได้พูดคุยกับเขา หลังจากนี้
ก็แน่ละ เขาเป็น Chief Engineer ที่ดูแลการพัฒนา Swift ด้วยนี่นา!!

ซึ่งนี่ก็เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า นักแสดงที่เราเห็นในวีดีโอนี้
เป็นพนักงาน Suzuki ตัวจริง เสียงจริง! 

สมาชิกที่เข้าร่วมประชุมนั้น ไล่จากซ้าย ไปขวา ก็จะเป็นตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ
เท่าที่ผมพอจะจำได้คือ คนที่ยืนพูดอยู่หนะ เป็น Designer ถัดมาทางขวาคือ
Chief Engineer วิศวกร ด้านระบบส่งกำลัง ตามด้วย อาเจ๊ จากฝ่ายการตลาด
และคนริมขวาสุดคือ Assistance Chief Engineer ต่างก็จะนำเสนอข้อมูล
จากฝ่ายตน เช่นว่า แนวโน้มของตลาดเป็นไปในทิศทางใด ควรจะทำรถแบบไหน
กลุมลูกค้าเป้าหมาย ที่เขาอยากจะได้รถคันที่เราจะทำหนะ มีรูปแบบการใช้ชีวิต
อย่างไร ชอบ หรือไม่ชอบสิ่งใดบ้าง

นี่แค่คร่าวๆนะ ยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดมากมายเท่ากับการประชุมที่เกิดขึ้นจริง
แต่ ก็ถือได้ว่า จำลองออกมาได้ใกล้เคียงมากๆๆๆๆๆๆๆๆ 

สรุปได้ว่า ทีมงานจะพัฒนารถยนต์ Compact Car ที่เห็นอยู่ใน ช่อง 3 มิติ แบบนี้! เป็นเหมือนก้อนความคิดกันเลย

และต้องย้ำกันอีกทีว่า พนักงานที่อยู่ใน Video Presentation ชุดนี้
เป็นพนักงานจริงๆ ที่มีส่วนร่วมในโครงการพัฒนา Splash ใหม่ ไม่ใช่แค่พนักงานส่วนอื่นใดไม่รู้

เมื่อได้ข้อสรุปจากการประชุมแล้ว ก็จะมีการสรุปข้อมูลต่างๆ
แล้วเรียกให้ฝ่ายออกแบบ จาก Design Center มารับ Brief ว่า
โจทย์ต่อไป จะต้องออกแบบรถรุ่นใหม่ ในแนวทางใด….

เราก็จะเดินเลี้ยวมาเจอ กับ Studio ของฝ่ายออกแบบ…..

ซึ่ง จำลองออกมาได้ เหมือนมากๆๆๆๆๆ
และ ตกแต่งไว้อย่างดี ชวนให้ตื่นตา มิใช่เล่น

นี่ละ บรรยากาศของหน่วยงานที่กำหนด Styling ของตัวรถกันละ!

ชิ้นส่วน Mock up ต่างๆ รถโมเดล หนังสือ และข้าวของต่างๆ จัดแสดงไว้จนได้บรรยากาศโต๊ะทำงานนักออกแบบจริงๆเลย

โปรแกรมที่ใช้ มีหลายแบบ ตั้งแต่ Photoshop Illustrator ฯลฯ อีกมาก แต่เวลาวาด ใช้เมาส์ปากกา 

อยากจะบอกว่า ภาพวาด Spyshot ของ Headlightmag.com ที่คุณ NTP วาดให้ ปกติก็ใช้วิธีการนี้แหละครับ

และเมื่อดูให้ดีๆ จะเห็นว่า แรงบันดาลใจของดีไซน์เนอร์ ซูซูกิ นั้น น่าจะมาจาก ทั้ง Fiat 500

และนิตยสาร Car Styling ที่เห็นเป็นพร็อพประกอบฉากอยู่นั่นด้วย 

แล้ว Video ในจอ ก็จะ Capture หน้าจอเมื่อภาพวาดเสร็จสมบูรณ์ให้เราได้ดูกัน ว่ามันสวยแค่ไหน

ผนังข้างๆ จัดแสดง หุ่นจำลองขนาด 1 : 4 ของ Suzuki P.X รถต้นแบบในงาน Tokyo Motor Show 2005

ตู้โชว์ ในห้องออกแบบจริงๆ ก็จะเต็มไปด้วย Mock-up ชิ้นส่วนตัวรถ หนังสือออกแบบ เพื่อใช้อ้างอิง Reference อย่างนี้แหละครับ

ภาพสเก็ตช์ บนบอร์ดขนาดใหญ่นี้ หากนับไปถึงแค่กึ่งกลาง
ก็จะเห็นภาพสเก็ตช์ ของทั้ง รถต้นแบบ Kisashi รถต้นแบบรุ่นต่างๆ
ใน Tokyo Motor Show ไปจนถึง Alto สำหรับตลาดโลก และ SX-4

ส่วนภาพสเก็ตช์ บนบอร์ดสุดท้ายนี้ มีให้เห็นกันครบ
แทบจะทุกรุ่นที่เหลืออยู่ จากซ้ายไปขวา บนลงล่าง ตั้งแต่
Palette Swift Sport XL-7 สำหรับตลาดอเมริกาเหนือ Alto
Cervo ใหม่ MR-Wagon รุ่นที่ 2 SX-4 Sedan และ Wagon-R Stingrey

เมื่อได้ภาพวาดสเก็ตช์ เป็นจำนวนหนึ่งแล้ว
ขั้นต่อไป ของทีมออกแบบก็คือ เลือกเอาภาพวาด
ที่ดูแล้ว มีเค้าโครงเหมาะสมต่อการนำไปพัฒนา
เป็นรถคันจริง มาสร้างเป็นหุ่นจำลองดินเหนียว
ซึ่งแล้วแต่ว่า บริษัททั้งหลายจะกำหนดขนาดกันเท่าไหร่

สมัยก่อน เรายังเห็นหุ่นดินเหนียวขนาด 1: 10
หรือว่า 1: 5 แต่สมัยนี้ ส่วนใหญ่ สตูดิโอออกแบบรถยนต็์
ของทุกค่าย นิยม ทำหุ่นดินเหนียวกัน ด้วยขนาด 1 : 4

บางราย อาจจะทำขึ้นมาให้เสร็จทั้งคัน จะได้เห็นภาพชัดๆ
แต่บางแห่ง อย่าง Suzuki เลือกที่จะ ประหยัดงบ ด้วยการ ทำหุ่นดินเหนียว
แปะกับกระจกเงาเอาไว้  ให้เห็นภาพของตัวรถครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่ง
ดูเอาได้จากการสะท้อนเงาของกระจก

วิธีนี้ แม้จะมีข้อเสียว่า ผู้ร่วมโครงการ อาจจะไม่เห็นรถครบทั้งมุมซ้าย และขวา
แต่ว่า ข้อดีก็คือ ประหยัดงบประมาณ ดินเหนียว พวกนี้ ราคาค่อนข้างสูงครับ
ดังนั้น การใช้ประโยชน์ ให้ได้มากที่สุด ด้วยการ ใช้หุ่นดินเหนียว
1 ก้อนใหญ่ ทำรถออกมา 2 แบบไปเลย น่าจะดูเข้าท่ากว่า

ตามปกติ ผู้ผลิตรถยนต์ มักจะสร้างแบบออกมาจากภาพสเก็ตช์
อยู่ที่ประมาณ 10 แบบ เป็นหุ่นดินเหนียว แล้วค่อยๆโหวตคัดออก
ตามความเหมาะสม จนได้รถออกมา ราวๆ 4 แบบ หลักๆ
ที่ประเมินแล้ว มีความเป็นไปได้ในการนำไปผลิตขายมากกว่า
มีรูปทรงที่ เมื่อ นำไปเข้ากระบวนการวิจัยลูกค้า หรือ Focus Group แล้ว
ลูกค้าน่าจะตอบรับดีกว่า

พวกเขาจะเลือกจาก 4 เหลือแค่ 2 แบบ ครับ
เพื่อสร้างหุ่นดินเหนียว ขนาดใหญ่เท่า คันจริง หรือ 1 : 1
ในการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนกันต่อไป

และ 1 ในแบบสเก็ตช์คราวนี้ ก็ต้องมีหุ่นดินเหนียวของ Splash อยู่ จริงไหม?

ใครไม่เคยเห็นดินเหนียว สำหรับการปั้นแบบ
Suzuki ก็เอามาจัดแสดงให้ดู กันชัดๆ
แต่คงไม่ให้จับต้องกันหนะครับ
ยังจำได้เลยว่า Honda เคยเอา หุ่นดินเหนียว
ของ Jazz รุ่นที่แล้ว มาให้ผู้เข้าชมงาน
บางกอก มอเตอร์โชว์ มาลองฝึกปรือฝีมือ ขูดกันเล่นๆดู

การสร้างแบบรถ จากหุ่นดินเหนียวนั้น ไม่ใช่ปั้นด้วยมือ
เหมือนเครื่องปั้นดินเผานะครับ พวกเขาจะต้องใช้เครื่องมือ
ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ แตกต่างกันไป ช่างทำหุ่นดินเหนียวจากแบบ
ภาพสเก็ตช์ แต่ละคน ต้องใช้ฝีมือ เวลา และลงทุนลงแรงไปเยอะมากมาย
กว่าจะได้หุ่นดินเหนียว มาสัก คันนึง ยิ่งถ้าขนาดเท่าของจริงนี่
มีกระอักเลือดกันได้โดยง่ายเลยด้วยซ้ำ

ถ้านึกไม่ออกว่า มันใหญ่ขนาดไหน เดินถัดมา
ก็จะเห็นครับ คันเบ้อเร่อ เลยทีเดียว!

การปั้นหุ่นดินเหนียว นั้น ถือเป็นศาสตร์และศิลป์ สำคัญ
ที่มีส่วนร่วมอยู่ในวัฒนธรรมของชนชาติญี่ปุ่นมาช้านาน
พวกเขาถ่ายทอดประสบการณ์ สั่งสมความรู้ความชำนาญ
ใส่ลงไปในงานสร้างหุ่นดินเหนียว จากรุ่นสู่รุ่น

แต่ด้วยวิทยาการสมัยใหม่ ทำให้การสร้างหุ่นดินเหนียว
ขนาดเท่าของจริง ง่ายขึ้นไปในระดับหนึ่ง มีการนำ คอมพิวเตอร์
และเครื่องมือสลักหุ่นดินเหนียวที่เกี่ยวข้องมากขึ้น
ทำให้ช่วยลดขั้นตอนความวุ่นวายลงไป อีกทั้งพนักงาน
ก็จะสามารถเข้าไปดูแลงานชิ้นอื่นๆ ได้ ในขณะที่ตน
ปล่อยให้เครือง แกะสลักดินเหนียว นี้ ทำงานไปจนจบ
จากช้อมูลตัวรถที่โปรแกรมเอาไว้ ที่เหลือ ก็มานั่งเกลาเก็บชิ้นงานกันอีกที

ส่วน สีรถที่เห็นข้างนอกนั้น ใช้วิธี ฟิล์ม ที่พิมพ์สีซึ่งออกแบบเอาไว้
แปะทาบลงไปบนตัวรถ แล้วรีดให้เรียบๆ จนเนียนเสมอเหมือนเป็นเนื้อเดียวกัน

งานทำต้นแบบ สินค้าที่จะผลิตจริงนั้น
ไม่ได้จำกัดอยู่แค่รถยนต์นั่ง หากแต่ จักรยานยนต์เอง
ก็มีการใช้ดินเหนียว ในการสร้างหุ่นจำลองต้นแบบ
หรือแม้กระทั่งการออกแบบเครื่องยนต์ ก็ยังมีดินเหนียว
มาช่วย ไปจนถึง การสร้างหุ่นจำลองเครื่องเรือ ก็อาจจะใช้ ไส้ใน เป็นไม้
แล้วก็ หล่อชิ้นงานไฟเบอร์ หรือพลาสติก ที่เกี่ยวข้อง ประกบเข้าไป
จนได้รูปชิ้นงานตามที่ต้องการอย่างที่เห็นอยู่นี้

เมื่องานออกแบบเสร็จสิ้นลง ได้แบบที่ต้องการแล้ว ทีมออกแบบ
และวิศวกร จะใช้เครื่องยิงเลเซอร์ ไปยังตัวแบบจำลองดินเหนียว
เพื่อสร้าง ภาพจำลองในรูปแบบ ของ Computer Graphic

ใช้เวลาประมวลผลกันพอสมควร แล้วจึงออกมาเป็นรถในแบบ Virtual อย่างที่เห็น…เป็นรูปแบบ 3D

ด้วยเทคโนโลยี สมัยใหม่ ก็ช่วยให้เรา สามารถจำลองภาพของรถ เมื่อเสร็จเป็นคันจริง
ออกมาได้ ทั้งการใส่สีตัวรถ ให้เป็นไปอย่างที่ต้องการ ในเบื้องต้น

หรือถ้าอยากเปลี่ยนสีรถ ระบบก็สามารถสั่งเปลี่ยนให้ และแสดงภาพเคลื่อนไหวได้ทันที

แถม ถ้าอยากจะเปลี่ยนแบ็กกราวนด์ เป็นแบบต่างๆ ในเมือ ชนบท ระบบก็พร้อมจะเปลี่ยนให้อย่างรวดเร็ว

เมื่อได้แบบต่างๆเรียบร้อยแล้ว งานในอีกแผนกหนึ่ง ที่จะต้องทำควบคู่กัน
คือ การออกแบบภายในห้องโดยสาร ด้วยการสร้าง Mock-up จำลอง
ให้เห็นภาพที่ใกล้เคียงกับคันจริงมากที่สุด เป็นงานของทีม Interior Design

รวมถึงการออกแบบรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ เช่น โลโก้ชื่อรุ่น ที่จะต้องแปะลงไป
บนรถคันจริง การเลือกสีตัวถังภายนอก และการตกแต่งภายใน ให้ดูเข้ากันกับรถทั้งคัน
ซึ่ง จะเป็นหน้าที่ของ งานในกลุ่ม Colour Design

การออกแบบโทนสีในห้องโดยสาร ให้เหมาะสม ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความต้องการของ
ลูกค้าในแต่ละประเทศ แต่ละทวีป ก็ไม่เหมือนกัน แถมยังยากเกินจะคาดเดา นักออกแบบ
Colour Design ที่ดี จะต้องมีความรู้พื้นฐาน ด้านการเลือกใช้สี การตัดกันของโทนสี มีไหวพริบ
ในการแก้ปัญหา สมัยนี้ดีกว่าสมัยก่อนตรงที่ มีคอมพิวเตอร์ เข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้จนทุกฝ่าย
ทำงานได้ง่ายดายขึ้น 

นอกจากนี้ ยังต้องเลือกสรรวัสดุที่ใช้ ให้เหมาะสมกับต้นทุน ความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
คนที่จะทำงานในด้านนี้ได้ จำเป็นต้องติดตามความก้าวหน้า และความเคลื่อนไหว ด้านแฟชัน
โทนสี การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมโลก ไม่เว้นแม้แต่ ต้องติดตามความก้าวหน้าในด้านวัสดุศาสตร์
เพื่อให้ทันยุคทันสมัย และมองหาแหล่งวัสดุ ใหม่ๆ ที่เหมาะสม มาทำรถรุ่นต่อๆไปอยู่เสมอ

ขณะเดียวกัน ฝ่ายวิศวกรรม ก็จะต้องออกแบบ เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง
ระบบกันสะเทือน และกำหนดจุดต่างๆ ของโครงสร้างตัวถัง ออกมาเป็นพิมพ์เขียวของรถ

ในขั้นตอนนี้ ปัจจุบัน การใช้ เทคโนโลยี โปรแกรม คอมพิวเตอร์ ทั้ง CAD CATIA ฯลฯ
เข้ามาช่วย ก็ยิ่งทำให้ย่นระยะเวลาทำงานลงไปได้มาก  ด้วยเหตุนี้ Suzuki เลยจำลองให้เราดู
กันสดๆเลยว่า เมื่อกำหนดเครื่องยนต์ และรูปแบบงานวิศวกรรมต่างๆ เสร็จแล้ว
สิ่งที่ ทีมวิศวกรจะได้เห็น บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ณ โต็ะทำงานของเขา จะเป็นอย่างไร

เรียกว่า Digital Mock-up Lab

การจัดแสดงโซนนี้ ผู้เข้าชม สวามารถ กดเลื่อนดูตัวรถ ในรูปแบบต่างๆ มุม และมิติต่างๆ
จะให้พลิกหงายท้อง หรือคว่ำรถลงมา จับหมุนซ้าย หมุนขวา ดูได้หมด

จะดูตัวรถในแบบที่เป็น เส้นร่างธรรมดา หรือว่า ดูออกมาเป็นภาพกราฟฟิก
ให้รถค่อยๆ คลายตัวเอง หรือ เริ่มไหลกลับมารวมตัวกันใหม่ ได้ทั้งสิ้น
รับประกันความเพลิดเพลินของผู้เข้าชมแน่ๆ

และเมื่อมีการปรับแก้ไข ชิ้นส่วนต่างๆ กันจนลงตัวแล้ว ก็จะถึงเวลา
เขียนแบบพิมพ์เขียวของตัวรถกัน ลงรายละเอียดกันไป ในช่วงเบื้องต้น
เพื่อส่งให้กับ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ ได้เตรียมงานของตน ในการสร้าง
ชิ้นส่วนตัวอย่าง Tier 1 Tier 2 หรืออะไรก็ว่ากันไป แล้วนำมาประกอบเป็น
รถคันต้นแบบ

ในขั้นตอนนี้ โดยปกติแล้ว เมื่อถึงกำหนด บริษัทรถยนต์ จะเรียกผู้ผลิตชิ้นส่วน
เอาชิ้นส่วน ที่สั่งไป ให้มาประกอบเข้ากับชิ้นส่วนต่างๆนับหมื่นชิ้น จากผู้ผลิต
ทุกราย หากสามารถประกอบแล้ว ติดเครื่องยนต์ได้เลย แสดงว่า ตำแหน่งการทำงาน
ทุกอย่าง เป็นไปตามที่ระบุไว้ในพิมพ์เขียวทุกประการ

แต่เชื่อเถอะครับ โดยปกติแล้ว ฝันไปเถอะ ว่า เมื่อนำชิ้นส่วนมาประกอบรวมกันครั้งแรก
สำเร็จได้ จะสามารถติดเครื่องยนต์ ชิ่งเดียวติดในทันที ส่วนใหญ่แล้ว มักจะติดเครื่องยนตฺ์ได้
ในครั้งที่ 2 หรือ 3 หรือเกินกว่านั้น

ถ้าสามารถติดเครื่องยนต์ได้แล้ว ก็จะมีการ ยืนยัน แบบของชิ้นส่วน ที่จะสั่งไป
ขั้นต่อมา ผู้ผลิต จะต้องเอาชิ้นส่วนของตัวเอง กลับไป ทดสอบความทนทาน
กันอีก โดยไม่สนใจว่า ก่อนหน้านี้ จะเคยทดสอบมาบ้างแล้วหรือไม่ และอย่างไร
ทุกอย่าง จะต้องผ่านมาตรฐาน หรือข้อกำหนด ของผู้ผลิตรถยนต์ทุกประการ

เพราะเมื่อถึงเวลาต้องนำมาขึ้นสายการผลิตจริง ถ้าชิ้นส่วนใดมีปัญหา
ไม่ว่าจะยังอยู่ในไลน์ประกอบ หรือว่าหลุดรอดไปถึงมือผู้บริโภคแล้ว
นั่นหมายถึงว่า ผู้ผลิตรถจะต้องตามหาจำเลยมารับเคราะห์กันแน่นอน
และ มักจะเป็นผู้ผลิตช้นส่วน ต้นตอของปัญหานั่นละครับ ที่จะรับเคราะห์หนักๆ
ไปเป็นหลัก ส่วนบริษัทรถยนต์เอง ก็ต้อง รับหน้าที่ ออกเอกสารแจ้ง Recall กันไป
หลังจากมีการตรวจสอบจากฝ่ายเทคนิค และวิศวกร เป็นอย่างดีแล้ว

นี่เราว่ากันตามหลักการล้วนๆนะครับ การปฏิบัติจริง ของแต่ละค่าย
อาจจะมีขั้นตอนดำเนินงานที่แตกต่างกันไป

รถคันที่ผ่าครึ่งจัดแสดงให้ชมกันนี้คือ Suzuki Swift Sport เป็นเวอร์ชันแรงสุดของ ตระกูล Swift ใหม่

ขั้นต่อมา เมื่อชิ้นส่วนทั้งหมดประกอบขึ้นเป็นรถได้สำเร็จ ติดเครื่องยนต์
ได้เรียบร้อย และออกแล่น ได้ เบรกได้ เลี้ยวได้ ครบถ้วน
ก็จะมีการสั่งชิ้นส่วนต่างๆ เข้ามาประกอบเพิ่มเติม สร้างรถยนต์ต้นแบบ
Pre-Production Vehicle กันก่อน แต่ละยี่ห้อ จะเรียกแตกต่างกันไป
หลายเจ้า ก็เรียก Tier 1 Tier 2 ถ้าเป็น Toyota ก็เรียก โกจิ 1 โกจิ 2 เป็นต้น

ทีนี้ละครับ ก็จะมาถึง รถที่มีหน้าตาคุ้นๆ กับที่เราเคยเห็นกันดี
รถยนต์เหล่านี้ ในระยะแรก ๆจะมีการทดสอบ อยู่ในสนามทดสอบ
ของบริษัทรถยนต์กันเอง เป็นการภายในก่อน จนกว่าจะผ่านมาตรฐานต่างๆ
และค่ากำหนดต่างๆที่วางเอาไว้ หรือตั้งเป้าไว้ จึงจะเริ่มนำรถ ออกไปวิ่งทดสอบ
ในสภาพถนนจริงๆ ทั่วโลก ตามแผนที่วางไว้

ส่วนใหญ่ จะมีข้อกำหนดว่า รถแต่ละรุ่นจะต้อง มีเลขไมล์ ของรถต้นแบบทั้งหมดทุกคัน
รวมกัน กี่แสนกิโลเมตร – กี่ล้านกิโลเมตร ก็ว่าไป เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพกันอย่างแท้จริง

ในระหว่างทดสอบ รถเหล่านี้จะต้องถูกพรางตัว จะด้วยสก็อตเทป เทปกาวหนังไก่ หรือ
สติ๊กเกอร์ลายพร้อย หลากสีพรรสรรพราง ประโคมกันเข้าไป หวังอย่างเดียวว่าจะไม่มีใคร
สามารถ ระบุได้ว่า รถที่เห็น เส้นสายเป็นอย่าบงไร เพราะทุกค่าย ต่างก็ต้อง ดำเนินการ
ในด้านการเก็บความลับของตัวรถ ระหว่างการพัฒนาเอาไว้ด้วย

สิ่งที่ติดอยู่บนฝากระโปรงรถ คือ เครื่องยิงเลเซอร์…เปล่านะ มันไม่ได้มีไว้
เพื่อยิงข้าศึก เหมือนในหนังฮอลลีวูด หากแต่มีไว้ เพื่อการคำนวนค่า ความสูงของตัวรถ
ทั้งด้านหน้า กลางลำตัว และด้านหลังของรถ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดการขับขี่

ส่วนเครื่องที่ติดอยู่กับพวงมาลัย และแกนของมัน ก็คือ เครืองบังคับทิศทางของพวงมาลัย
ให้รถแล่นไปในสนาม ที่ได้กำหนดเอาไว้

คอมพิวเตอร์ ที่ติดตั้งในรถ มีไว้เพื่ออ่านค่าต่างๆ ซึ่งบรรดาสารพัดอุปกรณ์รกๆ ราคานับล้านๆบาท
เหล่านี้ มันส่งข้อมูลขึ้นมาให้ผู้ทดสอบ รับรู้ ความเปลี่ยนแปลงต่างๆของตัวรถ

ตรงหลังคากลาง มีเสาค้ำยัน ด้วยเหตุผลในด้านความปลอดภัย รถเหล่านี้ บางคัน
ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อให้สามารถ ยืด หรือหดขยายได้ ด้วยหมุด น็อตสกรู เพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น
และเป็นการประกอบเข้าด้วยกันแบบหลวมๆ ดังนั้น มันต้องปลอดภัยพอให้ผู้ทดสอบ
สามารถเอาชีวิตไปเสี่ยงได้ เพราะที่ผ่านมา ก็เคยมีเหตุที่ นักทดสอบประจำบริษัทรถ
ก็เคยถึงชั้นเสียชีวิมาแล้ว จากการทดสอบรถที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาเหล่านี้

และอุปกรณ์สุดท้าย ก็คือ ล้อที่พ่วงติดหลังรถ หน้าตาคล้ายล้อจักรยานอย่างนี้ มีเรดาห์ติดตั้งอยู่ด้วย
เอาไว้สำหรับการวัดความเร็วที่แท้จริงของรถ รวมทั้งระยะทางที่รถแล่นไป ให้เที่ยงตรง
และแม่นยำ ซึ่งมีผลมาก ในการคำนวนค่าต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งขณะ และหลังการทดสอบ

นอกจากจะใช้ เรดาห์ และการคำนวนจากล้อยางนี้แล้ว ยังมีการคำนวนจาก ดาวเทียมนำร่อง GPS อีกด้วย 

เอาให้ชัวร์กันไปข้างนึงเลยทีเดียว!

การทดสอบนั้น มีขึ้นตามจุดต่างๆ ทั่วโลก โดยมุ่งเน้นสภาพถนน และสภาพอากาศ
ที่โหดร้าย ทั้งร้อนจัด อย่าง Death Valley ใน Nevada U.S.A ไปจนถึง เทือกเขาอันสูงชัน
ในอิตาลี เทือกเขาแอล์ป ในยุโรป เลยเถิดไปขับกันไกลถึงบริเวณที่หน่าวที่สุด ทางตอนเหนือ
ของสวีเดน ไม่ละเว้นแม้แต่สภาพผิวถนน ของ Belgium และ Italy ที่เก่าแก่ และได้ชื่อว่า
สามารถทำลายช่วงล่างของรถได้อย่างง่ายดายมาก

นี่คือตัวอย่างของ พื้นถนนใน Belgium

ส่วนอันนี้ คือ รูปแบบของ อิฐปูถนน ที่มักพบได้ในทวีปยุโรป

หรือแม้กระทั่ง ถนนแบบก้อนกรวด ซึ่งมีหลากรูปแบบ ตั้งแต่ก้อนกรวดที่สะกัดลงมา
จากภูเขา ไปจนถึง ก้อนกรวด ผิวมันลื่น อย่างที่เห็นอยู่นี้ ทั้งหมด มีผลต่อระบบกันสะเทือนของรถทั้งสิ้น

ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการออกแบบและปรับปรุงโครงสร้างตัวถัง
รวมทั้งการกำหนดอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยต่างๆ ให้เหมาะสม
ต่อการทำตลาดจริง และต้องผ่าน หรือเหนือกว่า มาตรฐานการทดสอบการชน
ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

บริษัทรถยนต์ ทุกราย จะต้องนำรถยนต์ของตน ไปทดสอบการชน ใน Crash Test Lab
ของตัวเอง บางราย จะเน้นการทดสอบด้วยมาตรฐานเดียวกัน เหมือนกันทุกรุ่น
สำหรับรุ่นที่ขายทั่วโลก หรือ สำหรับรุ่นที่ขายในญี่ปุ่น ก็จะต้องผ่านมาตรฐาน
JNCAP ( มันก็คือการกำหนดมาตรฐานการชนของรถในญี่ปุ่น แบบที่ยุโรปเขาทำ
Euro NCAP นั่นละครับ)

แต่บางราย เลือกที่จะเข้มงวด กับรถรุ่นสำคัญๆ
และ เอาแค่พอให้สอบผ่าน กับรถยนต์ ในระดับบ้านๆทั่วๆไปก็มี

เท่าที่เคยไปชม Crash Test Lab ของ Honda ใน ศูนย์ Tochigi R&D
นักวิจัยของเขา บอกกับผมว่า ปกติแล้ว Honda จะทดสอบการชน
กับรถรุ่นใหม่ๆในรูปแบบต่างๆ รวมแล้ว เฉลี่ย ประมาณ 50 ครั้ง
อาจจะมากกว่า หรือน้อยกว่านี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเข้มงวด
ของตลาดที่จะส่งรถรุ่นนั้นๆไปขาย

รถทดสอบการชนเหล่านี้ เมื่อเสร็จภาระกิจแล้ว จะต้องถูกเจาะรู
และนำไปทำลายทิ้ง โดยผู้รับเหมา Junk Yard จากข้างนอกบริษัท
เพื่อไม่ให้มีการนำกลับมาซ่อม แล้วหลอกขายเป็นรถใหม่โดยเด็ดขาด

เมื่อภาพยนตร์จบลง กระจกที่ขุ่นมัว ก็ใสขึ้นเอง เผยให้เห็น โครงสร้างของ SX-4
ที่ผ่านขั้นตอนทดสอบการชนแบบไม่เต็มหน้า (Offset Crash)
เป็นไงครับ ดูแล้วโครงสร้าง แข็งแรงใช้การได้ไหมครับ?

บางครั้ง ก่อนที่รถบางรุ่นจะออกสู่ตลาด อาจจะมีการเตรียมแผนการตลาด
หรือประชาสัมพันธ์ ด้วยการ สร้างรถยนต์ต้นแบบที่เรียกว่า Concept Car
เพื่อจะออกอวดโฉม ในงานแสดงรถยนต์สำคัญๆ ที่รถรุ่นซึ่งกำลังพัฒนาอยู่
มีแผนจะต้องไปเปิดตัว

การทำรถต้นแบบออกมา หลักๆแล้ว ไม่ใช่แค่เพื่ออวดเทคโนโลยี ที่ตนมี
หากแต่จะเป็นการทำสำรวจตลาด ต่อพฤติกรรม หรือปฏิกิริยาของลูกค้า ผู้บริโภค
ที่มีต่อรถยนต์ต้บแบบ คันที่ตนได้เห็น ซึ่งข้อมูลที่ได้ จะเอามาเป็นพื้นฐาน
ในการตัดสินใจเดินหน้า จัดทำ แคมเปญการตลาดในช่วงเปิดตัวเป็นลำดับต่อไป

รถต้นแบบที่จอดโชว์อยู่นี้ ฝั่งซ้ายคือ Suzuki Ionis Compact Minivan
จากงาน Tokyo Motor Show 2005

และรถต้นแบบ EV-Sport ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทน ให้เห็์นถึง
แนวเส้นสายของ Swift รุ่นปัจจุบัน ที่คลอดออกมา ตามหลังจากนั้น ไม่กี่ปี

ขั้นต่อไป ก็ต้องมีการเตรียมสายการผลิต ในโรงงาน วางไลน์ประกอบ
สร้าง หรือสั่งซื้อหุ่นยนต์ต่างๆ และป้อนโปรแกรม ให้ทำงานตามหน้าที่
ฝึกอบรม ผู้คนในโรงงาน ถึงวิธีการประกอบรถรุ่นใหม่ ในจุดนี้ Suzuki ก็ยกเอาหุ่นยนต์
ออกมาให้ชมกัน 1 ตัว ทำงานได้เร็วจนน่ากลัวมากถ้ามันจะต้องอยู่ใกล้ๆกับมนุษย์จริงๆ

วิธีการเล่นก็คือ  ดูแผงฝั่งขวาก่อน ว่าอยากจะย้ายประตูหมายเลขใด จากฝั่งซ้าย
ย้ายไปอยู่ในหมายเลขใดก็ตามในฝั่งขวา ที่มีแท่นว่างพอให้วางประตูทั้งบาน
ลงไปได้

จากนั้น มาดูกันที่แผงควบคุม สวิชต์ไฟ จะขึ้นสัญญาณไฟ เตือนว่า ตำแหน่งไหน
ที่ไม่สามารถย้ายไปได้ เพราะมีประตูอยู่แล้ว จากนั้น กดปุ่มสั่งการ Enter ล่างสุด ตรงกลาง

หัวของหุ่นยนต์ จะพุ่งอย่างรวดเร็ว ไปหาบานประตู ที่เราต้องการ เช่นสั่งให้ย้ายประตูหมายเลข 3
ไปไว้หมายเลข 5 เป็นต้น หัวของหุ่นยนต์ จะพุ่งรี่เข้าไปหาบานประตู แต่เมื่อถึงแล้ว
ก็จะค่อยๆลดความเร็วลง สอดแขนกล เข้าไปล็อกตำแหน่งของประตู อย่างช้าๆ นุ่มนวล
เพื่อไม่ให้ประตูเป็นรอยขีดข่วน จากนั้น จะรีบหมุนดัว โยกตัว ย้ายไปอยู่ในตำแหน่ง
ที่เรากำหนดเอาไว้ อย่างรีบเร่ง แต่เมื่อถึง แท่นตั้งวาง ก็จะค่อยๆลดความเร็วลงช้าๆ
ปล่อยประตู วางในตำแหน่งที่ถูกต้อง อย่างนุ่มนวล

แล้วค่อยหันหัวหมุนมา “แฮ่!” ใส่คนดูพวกเราให้ตกใจเล่น นึกว่า หัวงูพุ่งเตรียมพร้อมอยู่!

เดินมาถึงจุดนี้ เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑฺ จะแจกแว่นตา 3 มิติ
ซึ่ง สามารถเอาเก็บกลับบ้านไปได้ แต่ว่า ถ้าไม่อยากเก็บ
ก็จะเป็นการดี เพราะจะมีกล่องใส่ ให้เผื่อแผ่กับผู้อื่นในรอบต่อไป

ที่ต้องแจกแว่นตา กัน ก็เพราะว่า เราก็จะเข้าโรงภาพยนตร์ 3D Theatre
เพื่อจะชมภาพยนตร์ 3 มิติ ที่จะเล่าถึง ขั้นตอนในการผลิตรถยนต์
ในส่วนที่ อันตรายเกินกว่าจะปล่อยให้ผู้เข้าชม ได้เข้าไปดูด้วยตัวเอง

Suzuki คำนึงในจุดนี้ เลยจัดทำภาพยนตร์ 3 มิติ ขึ้นมา
ได้อย่างดี คือ นอกจาก เด็กๆจะดูแล้วสนุก ผู้ใหญ่อย่างพวกเรา
ก็ยังดูแล้วเพลิดเพลินตามไปด้วยได้ไม่ยาก

หนัง เปิดเรื่องด้วย ตัวการ์ตูนเด็กน้อย ที่โอ้อวดว่า
ใครอยากรู้เรืองรถอะไร ถามมาได้เลย เขารู้ทุกอย่าง

แต่ ลุง ทีวี ก็บินมา ลองภูมิ เจ้าหนูของเราตอบไม่ได้

ลุงทีวี เลยเฉลยว่า รถเนี่ย ทำมาจาก เหล็ก อะลูมีเนียม แล้วก็พลาสติก
ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ลุง ทีวี บินได้ เยลพาหนูน้อยจำไม เข้าไปใน
โรงงานประกอบรถยนต์ รุ่น Swift นั่นแหละ เพื่อให้ดูว่า เขาทำงานกันอย่างไร

เริ่มจากการ หล่อชิ้นส่วน การขึ้นรูปตัวถังเหล็ก ด้วยแท่นแม่พิมพ์ ขนาดยักษ์
การหล่อชิ้นส่วน เฟือง เกียร์ เครืองยนต์ เสื้อสูบ ฝาสูบ ลูกสูบ แหวน ประเก็น ฯลฯ
การขึ้นรูปชิ้นส่วนโครงสร้างตัวถังรถยนต์

…ที่น่าสนใจคือ ภาพยนตร์เรื่องนี้ มีการแทรกใส่ เจ้าหนูจำไม กับ ลุงทีวี บินได้
เข้าไปในเฟรมภาพ ซะอย่างเนียนเลย ราวกับว่า เจ้าตัวการ์ตูนทั้ง 2
ไปร่วมอยู่ในประสบการณ์จริงมาหมาดๆ

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งกล้องเอาไว้ที่โครงสร้างตัวถัง ขณะเชื่อมประกอบจริง!

เจ้าหนูจำไม จะได้ร่วมอยู่ในหลายๆเฟรม
เจอประสบการณ์แปลกๆมากมาย
ตั้งแต่การล้างคราบไขมัน บนตัวถัง

ไปจนถึง การลงไปอยู่ในโครงสร้างรถ ที่กำลังจุ่มลงไป
ในบ่อสีกันสนิม EDP

จากนั้น ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการพ่นสี ซูซูกิ เป็นอีกบริษัทหนึ่ง ที่ใช้ืหุ่นยนต์ในการพ่นสีที่มีความละเอียดสูง

เมื่อถึงขั้นตอนทำสีรถเสร็จหมดแล้ว
เจ้าหนู จำไม กับ ลุง ทีวี บินได้ ก็จะบอกลาคุณผู้ชม บ๊ายบาย
เพื่อให้เราเดินออกมา ชมการจัดแสดงในไลน์ประกอบจำลอง
ซึ่งตั้งอยู่ด้านนอก กันต่อไป

เดินออกมาจากโรงภาพยนตร์ 3 มิติ ก็มีตัวอย่างของ
การขึ้นรูป หล่อ Casting ให้ได้ชมกัน พร้อมตัวอย่างวัสดุ และการสาธิตเล็กๆน้อยๆ

มองออกไปยังทางเดินที่เราต้องเดินกันต่อไป…
เอ๊ะ เจ้ากล้วย พี่เอ พี่วิชา และพี่ชลธี กำลังทำอะไรกันหว่า
แบบนี้ต้องรีบตามเข้าไปขอดูกับเขาด้วย

แต่ละบูธที่จัดแสดง ก็จะมี Video ที่จัดทำขึ้นมาเฉพาะแต่ละจุดกันเลยทีเดียว
เรียกได้ว่า งานนี้ค่อนข้างจะทุ่มทุนสร้างมากมายเลย

ในส่วนของงานทำชิ้นส่วนโลหะนั้น ก็เป็นอีกงาน ที่ต้องอาศัยความละเอียด
ในการ เจาะ เฉาะ กลึง เจียร ฯลฯ (ได้ข่าวว่า ไอ้เฉาะ นี่มันไม่เกี่ยวแหะ)

แต่ ตั้งแต่เดินมาจนถึงตอนนี้ ผมชอบ การพรีเซนต์ จุดนี้ที่สุด….
คือ การขึ้นรูปเม็ดพลาสติก ให้กลายมาเป็นชิ้นส่วนในรถยนต์

วิธีการสาธิต ไม่ยากเย็นอะไร ง่ายดาย เข้าใจง่าย….

เริ่มจาก เม็ดพลาสติก ต้องทำให้หลอมละลาย ด้วยความร้อน

จากนั้น ก็เทพลาสติกเหลว ลงไปในแม่มพิมพ์ที่ออกแบบไว้ แล้วอัดด้วยแรงดัน

พลาสติก ก็จะแข็งตัวขึ้นรูปตามที่เราต้องการ…(นี่แปลเป็น Sub title จากในรูปเลยนะเนี่ย)

และนั่นคือ กระบวนการขึ้นรูปพลาสติก อย่างง่ายๆ….(เหรอ แค่เห็นเอ็งทำพรีเซ็นเตชันแล้ว ฉันก็เหนื่อยแทนแล้วละ)

แล้ว รถคันในจอภาพ ก็ไหล กร๊กๆๆๆๆ
ลงมาออก ที่ช่องเล็กๆ ตรงกลางนั่นละครับ

เป็นรถจำลอง Swift สีแดง ใส่วงกลมพลาสติก
แจกฟรี เด็กอนุบาล ที่เดินล่วงหน้าไปก่อนเรา ยิ้มเลยครับพี่น้อง
กดกันมันส์เลย

ปัญหาเดียวคือ ถ้าอยากจะได้อีก คุณต้องกดให้ระบบ
โชว์ พรีเซ็นเตชัน ทั้งหมด อีกรอบ กินเวลาราวๆ 2-3 นาที
แล้วรถจะค่อยๆไหลออกมา ทีละคันเท่านั้น…

ถ้าเด็กอนุบาลทั้งกลุ่ม อยากได้รถแบบเดียวกัน
ครูที่คุมมา คงต้องยืนกด ให้คุณหนูๆ เขาดูกันอยู่ตรงนั้น
ไม่ต้องไปไหนกันต่ออีกแน่ๆ

สรุปว่า คราวหลัง ถือใส่ถุง เอามาแจกเป็นเรื่องเป็นราวไปเลย
ก็น่าจะดีนะครับ กลุ่มทัวร์ 5 คนอย่างพวกเรา จะได้รับอานิสงค์ไปด้วยเลย (ฮา)

ในที่สุด กระบวนการทั้งหมด กำลังจะมาถึงช่วงปลายทาง…
นั่นคือ เมื่อทำสีตัวถังเสร็จแล้ว ก็ต้องประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าไป
ในตัวรถกัน

Suzuki ใช้วิธี จำลองไลน์ประกอบให้ชมกันเป็นขวัญตา
เอารถที่จหน่ายจริง มาแขวนห้อยไว้บ้าง ถอดประกอบบ้าง
เป็น พร็อพประกอบฉากเป็นหลักกันเลย มีแม้แต่ พลาสติกกันรอยขูดขีดสีฟ้าตามตัวรถ

ทุ่มทุนสร้างดีจริงๆ

หนๆ ก็ไหนๆ โอกาสที่เราจะได้เห็น Swift “เปลือย” แบบนี้
มันมีไม่บ่อยนัก เพราะฉะนั้น ก็เลยถ่ายเก็บมาฝาก พ่อแม่พี่น้องกันตรงนี้
จะได้เห็นเลยว่า ใต้รถคันละ 649,000 บาท ที่คุณขับๆกันอยู่หนะ
ต่อให้ประกอบจากอินโดนีเซีย มันก็จะมีพื้นตัวถังอยู่ในสภาพแบบนี้
ตอนอยู่ในโรงงาน เหมือนกันนั่นละครับ ทั้งด้านหน้า…
เปลือยกันให้เห็น ชุดสายไฟเลยทีเดียว

ส่วนด้านหลัง หลุมที่คล้าย น้ำพุ หน้าหมู่บ้าน นั่น คือช่องเก็บยางอะไหล่
เข็มขัดนิรภัย เบาะหลัง ติดตั้งเอาไว้กับตัวถังกันเลยทีเดียว

มีเรื่องเล่าสู่กันฟังนิดนึงว่า ถ้าทุกวันนี้ เห็นรถใหม่ๆ
ทำสีในจุดซ่อนเร้น ไม่เรียบร้อยนัก อย่าตกใจครับ
ผู้ผลิตรถยนต์สมัยใหม่ เลือกท่จะพ่นสีเฉาพะจุดที่คนเห็น
รวมแล้วน่าจะประมาณ 80% ของทั้งคันรถ ส่วนที่เหลือ
เขาไม่พ่น ส่วนหนึ่ง เพราะว่า ช่วยลดมลภาวะ จากการพ่นสี
อีกส่วนหนึ่ง ก็ช่วยให้ ประหยดต้นทุนไปได้ มีสีเหลือพอ
สำหรับจะพ่นรถคันอื่นๆได้อีกเยอะ! เป็นกันทุกยี่ห้อครับ Suzuki ก็ไม่เว้น

รถในสายการผลิต ที่จะต้องทำขายจริงนั้น มีรุ่นย่อยให้เลือกเยอะมากกกกกก
เพราะต้องทำส่งออกต่างประเทศด้วย ในโรงงานจึงมาทำระบบ ใบสเป็ก ขึ้นมา
เหมือนกับ เป็นใบสั่งอาหาร ส่งให้ คนครัว เขาปรุงอาการ มาให้คุณ ตามต้องการเป๊ะ
ไม่ขาดไม่เกิน วิธีเดียวกันครับ เพราะพนักงานในไลน์ประกอบจะรู้เลยว่า รถคันนี้
จะต้องใส่ชิ้นส่วนอะไร อย่างไร และตรงไหนบ้าง คันไหน ไม่ต้องใส่ ทั้งหมดนี้
จัดการด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะต้องทำงานต่อเนื่องจากการยืนยันคำสั่งซื้อ
จากระบบคอมพิวเตอร์ของสำนักงานใหญ่

ต่อไปเป็นการประกอบเครื่องยนต์
เคยสงสัยไหมครับ ว่าเขาเอาเครื่องยนต์วางใส่ลงไปในรถได้อย่างไร

อันที่จริงแล้ว เครื่องยนต์ ชุดเกยร์ และระบบกันสะเทือน
รวมๆกันแล้ว มันค่อนข้างหนัก ดังนั้น ถ้าจะใช้แรงคน ชักรอกสมัยเก่า
ไม่ทันกินพอดีครับ ผู้ผลิตรถยนต์หลายราย ก็เลยใช้แท่นแบบที่เห็น
ตามเวทีคอนเสริ์ตแบบนี้ ช่วยในการ ยกเครื่องยนต์ เสียบยึดเข้ากับตัวรถ

การทำงานในขั้นตอนนี้ ต้องอาศัยความระมัดระวังอย่างมาก
ติดตั้งผิดนิดเดียว เผลอๆ อาจมีรายการ “งานเข้า” ก็เป็นได้

ส่วนการติดตั้ง ยางรถยนต์ ในแต่ละล้อนั้น ยี่ห้ออื่นทำอย่างไร ก็แล้วแต่เขาไป
ทว่า ของ Suzuki นี่ สงสัย คนเซ็ตระบบนี่ คงชอบดู Popeye มาก
เลยออกแบบคาน ยกยาง ให้มีหน้าตาคล้าย เครื่องมือ ดีดผักโขม ไปในอากาศ

พอเวลาทำงานที ก็ดีด ผึง! ขึ้นมาที ราวกับว่า มีใครป้อน ไวอะกร้า ให้มันกินซะงั้น

แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่า ก็คือ พอเราเดินมาถึง Swift Sport คันสีเหลืองนี้…

จู่ๆ ก็มีเบาะ Recaro พุ่งตัวมาหาเรา “อย่างน่ากลัว ราวกับมีผีสิงอยู่ที่เบาะ!”

ขนลุกซู่เลย น่ากลัวมาก

ไม่ใช่อะไรหรอกครับ มันเป็น ระบบลำเลียงเบาะ ในสายการผลิต
ที่ Suzuki คิดค้นขึ้นเอง เพื่อช่วยลดระยะเวลา ในการจัดส่ง เบาะนั่ง
อ้อมไลน์ผลิต ให้ เป็นแบบ ทางข้ามถนน Shortcut กันอย่างนี้นั่นเอง

ผมได้แต่บอกกับพี่วิชาว่า พี่ๆๆ เรามาช่วยกัน แอบยกเบาะ Recaro ตัวนี้
ขนกลับเมืองไทยกันเถอะ!!

ข้างบน เพิ่งดู ภายในแบบเปลือยๆ ของ Swift ตอนนี้ ก็เลยจะยกเอา
ภายใน แบบนุ่งน้อยห่มน้อย (ยังใส่ของไม่ครบ) ของ แฮตช์แบ็ก K-Car
รุ่น Cervo ใหม่ ให้ดูกันไปด้วยเลย ดูแล้ว นึกถึงตอนที่ต้องมานั่ง
รื้อพรมในรถ หลังน้ำท่วมจังเลย

สายพานการประกอบ ยังคงดำเนินต่อไป มาถึงจุดที่
ชิ้นส่วนในห้องโดยสาร จะต้องใส่เข้าไปจนครบ
แล้ว บานประตู ก็จะกลับมา Wedding กันอีกครั้งหนึ่ง
กับตัวรถที่ไหลมาถึงพอดี พนักงานจะ นำบานประตู
ใส่ชุดเครื่องมือติดตั้ง แล้ว เสียบลงล็อกเข้ากับตัวรถ

ส่วนยางอะไหล่นั้น Suzuki เขาคิดเครื่องมือที่จะช่วยพนักงาน
ในสายการผลิต ยกยางอะไหล่ ใส่หลังรถ ได้สะดวก เบาะแรง
และปลอดภัย ต่อการทำงาน ในโรงงานอีกด้วย ก็เลยไปลอง
ยกดูกับเขาหน่อย ถ้าสวิชต์ ขึ้นสีแดง แสดงว่าตัวเครื่องมือนี้
จะไม่มีการทำงาน ยกล้อแทบจะไม่ขึ้นเลย

แต่พอกดปุ่มให้สวิชต์ทำงาน ทุกอย่าง กลับง่ายดาย
เด็ก 3 ขวบ ก็น่าจะยกได้ไหวอยู่นะ

และเมื่อถึงขั้นตอนนี้ ก็เหลือแต่การตรวจสอบคณภาพในทุกจุด
อย่างละเอียด และรอบคอบในขั้นสุดท้าย ปรับตั้งไฟหน้า ไฟ้าย
ไฟเลี้ยว และ เติมลมยาง ให้แข็งเข้าไว้ก่อน เติมน้ำมัน
และของเหลว ในระบหล่อเย็นต่างๆ แล่นทดสอบอีกครั้ง บนลูกกลิ้ง
Dynamometer แล้วก็ขับเข้าไปให้น้ำฝนสาดโครมลงมา ในห้อง Shower Test
และ ออกวิ่ง ฟังเสียงกุกกัก อีกครั้ง หากไม่มีอะไรต้องแก้ไข ก็เท่ากับว่า
รถคันนั้นๆ ผ่านการตรวจสอบด้านคุณภาพแล้ว

เมื่อผ่านพ้นไลน์ประกอบ ก็เท่ากับว่า รถเสร็จออกมาเป็นคันแล้ว
ก็จะส่งขายยังตลาดในญี่ปุ่น และต่างประเทศ ถึงตรงนี้ Suzuki
ก็ใช้พื้นที่ทั้งหมด รวบรวม ทั้งวิสัยทัศน์ และ ให้ความรู้ใน้านเทคโนโลยี
ต่างๆ เพิ่มเติมอีกนิดหน่อย

ก่อนที่เราจะเดินผ่าน ลูกโลกขนาดใหญ่บึ้ม ซึ่งจะระบุ บอกถึง แผนที่
การทำธุกิจของ Suzuki ในทวีปต่างๆ และ จุดนี้ เราต้องเดินข้ามมาครับ
เพราะเวลาเริ่มกระชั้นเข้ามาแล้ว

กระนั้น เราก็มาหยุดให้ความสนใจกับ
พื้นที่จัดแสดงวัฒนธรรม ของแต่ละชนชาติ ที่ Suzuki ไปลงทุนอยู่

ผมชอบแนวทางนี้ ของ Suzuki มานานแล้วครับ
ในงาน Tokyo Motor Show เมื่อราวๆ 10 กว่าปีก่อน
ก็มีการจัดบูธ โดยแบ่งพื้นที่ แสดงถึงวัฒนธรรม ของแต่ละประเทศ
และมีรถยนต์ Suzuki ที่ทำตลาดในแต่ละประเทศ มาจัดแสดงด้วย
ซึ่งตอนนี้ เมืองไทยเรา ได้รับโอกาสให้ส่ง พนักงานหญิงท่านหนึ่ง
ไปยืนใส่ชุดไทย  เคียงข้างกับ Suzuki Carribean คันสีแดง
ซึ่งก็สั่งนำเข้าไปจากเมืองไทย เป็นกรณีพิเศษ อีกนั่นละครับ

ไม่นึกว่า แนวคิด Global Culture แบบนี้ จะยังคงมีให้เห็นอยู่ ที่นี่

ก็ดูสิครับ เขาจัดแสดง และช่วยกันแพร่วัฒนธรรมของไทยเรา
เอาไว้เป็นบูธ เลย แถมยังมี มวยไทย มี การหล่อปูนปั้น
รวมทั้ง มีคำถามคำตอบให้เล่นเป็นภาษาญี่ปุ่น เกี่ยวกับ
วัฒนธรรมไทยอีกด้วยเนี่ยสิ! โอ้วววว เจ๋งไปเลย!

เช่นคำถามนี้ พี่วิชา แปลให้ฟังคร่าวๆว่า เกี่ยวกับคำถามเรื่องของ การ “สวัสดี” 

ถ้าตอบถูก จะมีเครื่องหมาย ถูก โผล่มาเต็มจอ และถ้าตอบผิด ก็จพะเป็นเช่นที่เห็นอยู่นี้

ส่วนกิจการของ Suzuki ในไทยนั้น
หลักๆ ก็มี Thai Suzuki Motor Co.,ltd
ผลิตและจำหน่าย จักรยานยนต์ Suzuki นั่นละครับ
โรงงาน อยู่แถวรังสิต คลองหลวง
ริมถนนรังสิต องครักษ์ ตั้งต้นจาก ฟิวเจอร์ พาร์ค นั่นละ
ขับไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เจอว่าอยู่ทางซ้ายมือ พื้นที่ มีขนาดใหญ่
319,000 ตารางเมตร คนงาน 1,100 คน กำลังการผลิต 63,000 คัน/ปี

คนที่ดูแลด้านการจำหน่าย ทุกวันนี้ มี 2 เจ้า
ก็คือ S.P. Suzuki เป็นของกลุ่มพรประภา ดูแลตลาดซูซูกิ
ทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้

อีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่ม บ้านซซูกิ ดูแลแต่ตลาดภาคใต้
โดยเฉพาะ และขายดีเป็นอันมาก

ส่วนกิจการรถยนต์ นั้น กล่าวโดยสรุปคือ
ในอดีต Suzuki ญี่ปุ่น ให้ทาง กลุ่มพรประภา สยามกลการเดิม
เป็น ผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่าย รถยนต์ Suzuki ในบ้านเรามานาน
จนกระทั่ง ตัดสินใจ เข้ามาร่วมลงทุน ในประเทศไทยด้วยการ
เปิดบริษัท Suzuki Automobile Thailand จำกัด (SMT)
แต่ให้ทางกลุ่มพรประภา บริหารไป ญี่ปุ่นก็ถือหุ้นไป

แต่ด้วยเหตุที่ต้อง เตรียมแผนการบุกตลาดเมืองไทยครั้งใหม่
และจะต้องตั้งโรงงานผลิต ECO Car ด้วย กอปรกับ สัญญาการทำตลาด
ของทาง กลุ่มพรประภา ก็ใกล้จะหมดอายุ Suzuki เลยมองหา
พันธมิตร รายใหม่ มาร่วมทำตลาด ทาง ITOCHU ในฐานะของ
Trading Company อันดับ 1 ใน 5 ของญี่ปุ่น ที่เป็นพันธมิตร
กับทาง Suzuki มาช้านาน
ก็เลยช่วยหาพันธมิตรรายใหม่
เลยมองมาทาง กลุ่มบริษัทสี TOA ซึ่งดูจะมีศักยภาพ และอยากจะ
ลองชิมลางกับตลาดรถยนต์ในบ้านเราดู

ดังนั้น ทางญี่ปุ่นเลยตั้ง บริษัท Suzuki Automobile MANUFACTURING Thailand จำกัด
(SAMT) ขึ่นมาใหม่ เพื่อมาปูทางการบุกตลาดเองของบริษัทแม่ในญีปุ่น ร่วมกับ
พันธมิตรใหม่ ทาง TOA กับ ITOCHU ก็เลย ตั้งบริษัท iTOA ขึ้นมาเป็น ดีลเลอร์ เพื่อขาย
รถ Suzuki ไปด้วย ในอีกทางหนึ่ง

เรื่องทั้งหมดหนะ มีอยู่เพียง เท่านี้ ครับ

เมื่อมาถึงตรงนี้ ก็คงจะต้องพักการเดินทางกันไว้ก่อน
เพราะในตอนหน้า เราจะมาย้อนรำลึกเรื่องราวในอดีตของ Suzuki กัน
ว่าจากธุรกิจผลิตเครื่องทอผ้า กลายมาเป็นบริษัทอุตสาหกรรมยานยนต์
ชั้นนำของโลก ไปได้อย่างไร วิสัยทัศน์ ของใครกัน ที่นำพาให้ซูซูกิ
ก้าวข้ามอุปสรรคมากมาย มาสู่ความแข็งแกร่ง ในปัจจุบันนี้…

คุณ Keiichi จะพาพวกเราขึ้นบันไดนี้ ย้อนกลับไปสู่การเดินทางอันยาวไกล กว่า 100 ปี ไปด้วยกัน…

———————————————///———————————————-

SPECIAL THANKS
ขอขอบคุณ

Mr.Keiichi Suzuki
Assistant Manager
Asia Automobile Marketing Group
Global Marketing
Suzuki Motor Corporation
www.suzuki.co.jp
www.globalsuzuki.com

ITOCHU Corporation

Mr.Toshiyuki Yamanoi
Manager
Europe & Asia Section
Automobile Department No.1
Automobile Division
Machinery Company

& Mr.Kimio Oku
Europe & Asia Section
Automobile Department No.1
Automobile Division
Machinery Company

www.itochu.co.jp/en/business/machinery/field/03/

และ บริษัท TOA Paint (ประเทศไทย) จำกัด

โดย คุณ วนรัชต์ ตั้งคารวะคุณ (พี่เอ)
ประธานกรรมการบริหาร

คุณวิชา เจ็งเจริญ
Senior Manager
Automotive Bussiness Department

และ คุณชลธี คชา
ผู้จัดการทั่วไป
www.itoa.co.th

————————————————————————————————
บทความ ในชุด Yokoso Japan 2009 By Headlightmag.com

– Tokyo Motor Show 2009 With J!MMY & BnN

– Yokoso Japan 2009 ตอนที่ 1 : Nagoya
– Yokoso Japan 2009 ตอนที่ 2 : Nagoya กับบรรยากาศ แบบ “เรียวคัง”

————————————————————————————————

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ในเมืองไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
24 ธันวาคม 2009

Copyright (c) 2009 Text and Pictures (Some of Pictures from Daimler AG.)
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
December 24th,2009

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่