ประโยคยอดนิยมเมื่ออีกฝ่ายเพลี่ยงพล้ำไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ตามที่ไม่สามารถดำรงชีวิตได้อีกต่อไปจะถูกอีกฝ่ายกลืนกินอาศัยความได้เปรียบทางพลังกำลังหรือความแข็งแรงด้านใดด้านหนึ่ง พูดสั้น ๆ ว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ยิ่งยุคปัจจุบันที่การแข่งขันสูงยังมีปลาอีกหลาย ๆ ประเภทที่เกิดขึ้นตามความเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่าง ปลาเร็วกินปลาช้า ฝ่ายใดปรับตัวช้าย่อมถูกแซงโดยฝ่ายที่เร็วกว่าแม้จะอ่อนแอกว่าก็ตาม กรณีนี้มักเกิดขึ้นในวงการสินค้าอิเล็กทรอนิคส์ที่จำเป็นต้องตามนวตกรรมและเทคโนโลยีอยู่เสมอ

ยังมีปลาอีกชนิดหนึ่งที่ควรบัญญัติไว้คือ ปลาทะเยอทะยานล่าเหยื่อ พฤติกรรมของปลาเหล่านี้จะค้อยฮุบฝ่ายเมื่อพวกเขาอ่อนแอจนหมดหนทางสู้ แตกต่างจากปลาใหญ่กินปลาเล็กมากตรงที่ผู้ล่าเหยื่อยังเป็นปลาเล็กอยู่ แค่ขอกินเพื่อนำประโยชน์มาใช้กลายเป็นปลาใหญ่ภายภาคหน้า

กรณีนี้เฉกเช่นเดียวกับผู้ผลิตรถจีนท้องถิ่นที่พอสร้างเนื้อสร้างตัวจากการเปิดเสรีอุตสาหกรรมยานยนต์ตลอดเกือบ 10 ปีทำให้พอมีทุนซื้อแบรนด์รถยนต์ที่ประสบความล้มเหลวทางการเงินชนิดที่ยากจะฟื้นฟูโดยคนของบริษัทนั้นจะต้องหาคนนอกมาอุ้มชูกันต่อ ยกตัวอย่างเห็นชัดได้แก่แบรนด์ Rover ล้มเหลวทางการบริหารและการเงินสะสมมากจน BMW ต้องเร่ขายทิ้ง จนกลุ่ม SAIC ซื้อกิจการต่อไปนำความรู้การสร้างรถมาพัฒนาตนเองจนเป็น Roewe รถพรีเมี่ยมจากจีนที่ต้องตาต้องใจมากเกินกว่าผู้ผลิตจีนที่ริจะลอกเลียนแบบสินค้าทำเสียอีก

ล่าสุดแบรนด์ Hummer ถูกเร่ขายจาก GM โดยความจำเป็นเพราะกระแสรถเอสยูวียักษ์แทบจะหมดลมหายใจจากตลาดอเมริกาไปแล้ว ด้วยสายตาอันกว้างไกลของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องกลหนักนามว่า Sichuan Tengzhong ที่ยังมองเห็นช่องว่างการตลาดในจีนอีกมากโดยเฉพาะวงการทหารที่น่าจะต้องการรถประเภทนี้มาก รวมถึงตอบสนองรสนิยมแปลกใหม่ต่อเศรษฐีชาวจีนที่นับวันมีมากขึ้น ประกอบกับความได้เปรียบเรื่องการผลิตเครื่องกลหนักทำให้การเติมเต็มเป็นผู้ผลิตรถยนต์เต็มตัว จึงไม่แปลกใจที่จะตัดสินใจซื้อแบรนด์ Hummer บนพื้นฐานความเชื่อมั่นว่าแบรนด์นี้ยังไม่ตาย

หันมามองซีกยุโรปตะวันตกบ้างเมื่อการเจรจาซื้อขาย Opel ลุล่วงด้วยดีแต่ยังมีแบรนด์เจ้าปัญหาที่ยังไม่มีใครสนใจตอนนี้คือ Saab อาจจะเป็นเพราะมูลค่าการซื้อขายแต่ผู้สนใจที่จะซื้อหุ้นด้วยมีแบรนด์รถจีนเข้าร่วมอีกแล้วนั่นคือ Beijing Automotive Industry Corp (BAIC) พันธมิตรของ Mercedes-Benz ในจีนสนใจร่วมประมูลซื้อแบรนด์นี้เช่นกัน

ปัจจัยเสริมที่ทำให้แบรนด์นี้กล้าร่วมประมูล Saab ครั้งนี้คือการสนับสนุนเต็มที่ของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้เอกชนซื้อกิจการแบรนด์รถยนต์ต่างชาติมาไว้ในเครือข่ายตนเอง

อย่างไรก็ดีนาย Jan-Ake Jognson ประธานบริหาร SAAB เปิดเผยว่าตอนนี้คัดเลือกผู้สนใจแค่ 2 รายเท่านั้น การซื้อขายนี้ไม่ใช่ทอดทิ้งแบบไร้ค่าแต่มันคือการหาผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ ดังนั้น SAAB จึงเคร่งครัดเลือกผู้ร่วมลงทุนรายใหม่อย่างมาก

คาดว่ากลางเดือนมิถุนายนนี้ก็จะประกาศรายชื่อผู้ซื้อกิจการ SAAB ต่ออย่างเป็นทางการ