ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่ทำให้ บริษัทยักษ์ใหญ่ ยักษ์เล็กทั่วโลก อยู่รอดได้ในภาวะปัจจุบัน คือการลดทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่จำเป็นออกไป เท่าที่ทำได้ ทุกวิถีทาง แม้กระทั่งลดเงินเดือนผู้บริหารทั้ง ๆ ที่เป็นผู้กุมชะตาชีวิตบริษัท ยิ่งบริษัทที่อยู่ในภาวะล้มละลายการลด การหั่นต้องยิ่งกระทำมากขึ้นเพื่อรักษาชีวิตและหาเงินมาชำระหนี้ให้ได้มาก ที่สุด

 

 

 

Chrysler ตกอยู่ภาวะจำยอมจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นทั้งหมด ผู้ที่เสียสละครั้งนี้คือดีลเลอร์ 789 ราย จากจำนวนดีลเลอร์ทั้งหมด 25% ต้องปิดตัวเองลงโดยไม่มีข้อขัดขืน ผลกระทบครั้งนี้ทำให้คนตกงานเพิ่มมากขึ้นไปอีกตามคำสั่งความคุ้มครองของศาล

เหตุผลที่สนับสนุนอย่างมากก็คืออัตราส่วนจำนวนดีลเลอร์กับยอดขายสวนทางกับคู่แข่งหลัก Chrysler ขายรถปีที่แล้วได้ 1 ล้านคัน ผ่านดีลเลอร์ 3,298 ราย ขณะที่ Toyota ปีที่แล้วขายรถได้ 1.6 ล้านคันแต่จำนวนดีลเลอร์น้อยกว่ามากแค่ 1,242 รายเท่านั้น หรือ Honda ปีที่แล้วขายรถได้ 1.2 ล้านผ่านดีลเลอร์ 1,030 รายเท่านั้น

การเปรียบเทียบเช่นนี้ทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่า ประสิทธิภาพการจำหน่ายของดีลเลอร์ Chrysler ต่ำมาก ต้นทุนดำเนินการสูงกว่าคู่แข่งราว 2-3 เท่าบั่นทอนกำไรอย่างหนัก  หากต้องการขายรถได้เยอะแต่ต้นทุนต่ำลงจำเป็นจะต้องหั่นดีลเลอร์ออกไปก่อนจากนั้นจึงวางแผนระบบการขายระยะยาวให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้

ผลกระทบจากการปิดตัวของดีลเลอร์ดังกล่าวคือจำนวนคนตกงานที่จะพุ่งกระฉูดทันที เจ้าของดีลเลอร์รายอื่น ๆ ก็ต้องเริ่มดิ้นหนีตายทำธุรกิจอื่น ๆ เช่น ศูนย์ซ่อมบำรุง ศูนย์รถมือสอง เป็นต้น

ปัจจุบัน Chrysler มีดีลเลอร์ 3,181 ราย หากเปรียบเทียบกับยุค 1960 จะมีดีลเลอร์มหาศาลถึง 6,500 ราย

ส่วนความคืบหน้าการถือหุ้นใหญ่ของ Fiat แน่นอนว่าจะต้องถือครองหุ้นใหญ่ใน Chrysler ราว 20% และจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 35% ภายในปี 2013 ถ้าสถานภาพของ Chrysler สามารถคืนเงินกู้ให้กับรัฐบาลได้

———————————–///——————————–