กระแสของ Honda Freed ในประเทศไทยพอจะมีเชื้ออยู่บ้างเล็กน้อยในช่วงแรกเมื่อรถถูกเปิดตัวในประเทศญี่ปุ่นในฐานะรถซับคอมแพคท์เอ็มพีวีที่มาต่อกรกับ Toyota Sienta เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2008  และภาระกิจหลักสำคัญของ Honda Freed คือต้องมากู้หน้าตลาดมินิแวนขนาดเล็กให้จงได้

ชัดเจนว่า Honda Freed ต้องมาแทนที่ Honda Mobilio ซึ่งเป็นรถซับคอมแพคท์เอ็มพีวีทรงกล่องรูปโฉมโดดเด่นด้วยดีไซน์ทรงกล่องสะกดสายตาคนอยู่บ้างแต่เส้นสายรอบคันก็ถือว่าเป็นรถที่เชยไปแล้วเช่นกันเพราะ Honda กลับยืมเส้นสายจากรถทรงกล่อง 5 ที่นั่งรุ่น S-MX ที่เคยเปิดตัวในปี 1997 ทำให้ไม่โดนใจกลุ่มเป้าหมายนักเมื่อเทียบกับคู่แข่ง หนำซ้ำการออกแบบตัวถังของ Honda  Mobilio เวอร์ชัน 5 ที่นั่งเพื่อต่อกรกับ Nissan Cube และ Toyota bB ในนาม Honda Mobilio Spike นั้นไม่โดนใจลูกค้าหนุ่มสาวผู้รักเสียงเพลงอย่างรุนแรงซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ Honda ตั้งเอาไว้

ประการสำคัญHonda ยังตกม้าตายที่การจัดสรรตำแหน่งเบาะคนขับและผู้โดยสารทั้ง 3 ตอนที่ไม่สามารถหาความสะดวกสบายได้เอาเสียเลย  แม้ความปลอดโปร่งของพื้นที่กระจกรอบคันจะต่ำแค่ไหนแต่การวางตำแหน่งเบาะกลับเตี้ยเกินไปเมื่อเทียบกับความสูงของหลังคา

 
 

แม้ว่าบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัดไม่ได้วางจำหน่าย Honda Mobilio แต่ผู้เขียนก็เคยสัมผัสรถคันจริงจากผู้นำเข้าอิสระ (Gray Market) รายหนึ่งที่ใจกล้านำเข้ามาจำหน่าย(ผู้เขียนไม่อาจจำชื่อผู้นำเข้ารายนี้ได้)และจัดแสดงในงาน Motor Expo ผู้เขียนขอยืนยันว่าห้องโดยสารตอนที่ 3 มีเนื้อที่คับแคบเสียเหลือเกินทั้งเข้าออกลำบากและเนื้อที่วางขาก็น้อยมากหนำซ้ำ Honda ออกแบบกระจกบานที่ 3 แคบเกินไปจนทำให้บรรยากาศดูอึดอัดเกินไป ผมจึงไม่แปลกใจว่าทำไม Toyota Sienta ถึงขายดีกว่า

ในเมื่อจุดด้อยหลักของ Honda Mobilio มีมากมายเหลือเกินทำให้ Honda Motor ประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจพลิกวิธีการออกแบบรถมินิแวนขนาดเล็กของตนครั้งสำคัญด้วยการขยับรูปแบบไปยังมินิแวนทรงรถตู้สูงเหมือน Honda StepWGN ที่ใช้เนื้อที่ทุกตารางเมตรให้คุ้มค่าจะดีกว่า

 
 
 

นั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ Honda Motor ประเทศญี่ปุ่นตั้งใจพัฒนารถมินิแวนไซส์ซับคอมแพคท์ได้ดีที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยพัฒนามา การกำเนิดของ Honda Freed ก็คือคำตอบที่ลบล้างข้อผิดพลาดและข้อจำกัดของการออกแบบมินิแวนไซส์เล็กได้ดีที่สุดในตลาด

และก็ไม่เสียแรงที่ทีมวิจัยและพัฒนาของ Honda ลงทุนลงแรงเต็มที่จนทำให้ Honda กวาดยอดขาย Freed เป็นกอบเป็นกำตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2008 จนถึงเดือนตุลาคม 2009 มากถึง113,005 คันเลยทีเดียว!!

กระแสความร้อนแรงของ Honda Freed ในญี่ปุ่นถูกส่งตรงถึงเมืองไทยในโลกไซเบอร์แค่ไม่กี่คลิ๊กอึดใจว่ารถคันนี้เป็นรถยอดนิยมของประเทศญี่ปุ่นจริง ๆ หนำซ้ำบริษัทฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัดก็ยังส่ง Honda Freed ขึ้นแท่นอวดโฉมในงาน Bangkok MotorShow 2008 สด ๆ ร้อน ๆ จากสายการผลิตโรงงาน Honda Prospect Motor ประเทศอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ นั่นคือการส่งสัญญาณมาแล้วว่า Honda น่าจะถึงฉะตลาดเอ็มพีวีขนาดเล็กเสียที

 
 
 

ดีไซน์ภายนอก…ลบภาพมินิแวนเดิมออกไป
 
ทีมออกแบบของ Honda ต้องการฉีกแนวรถครอบครัวอเนกประสงค์ทั่ว ๆ ไปที่เน้นแต่ภายในห้องโดยสารลูกเดียวโดยละเลยการออกแบบภายนอกไปเสียหมดทำให้รถมินิแวนทั้งหลายดูเหลี่ยมเป็นกล่องทรงสูง ๆ ไม่ได้สัดส่วนที่สมดุลมากนัก

Honda Freed ก็คือคำตอบของแนวคิดดังกล่าวที่ตอบโจทย์ข้อนี้ได้แตกละเอียดทีเดียว ทีมออกแบบอ้างว่าพวกเขาใช้แนวคิดรูปทรง 1 กล่องสามเหลี่ยม + 1 กล่องสี่เหลี่ยม (อันที่จริงมันก็เป็นรูปแบบมินิแวนทั่ว ๆ ไปล่ะครับ) เพิ่มความแตกต่างด้วยการออกแบบเส้นสายรอบคันให้ดูมีพลวัตร (Dynamic) ทั้งการเกลาเส้นเสา A ให้ลากต่อเนื่องไปยังหลังคา,เพิ่มขอบซุ้มล้อทั้ง 4 ล้อ ให้ดูพลิ้วไหว,ลากเส้นบ่าจากซุ้มล้อหน้าเฉียงขึ้นไปจรดไฟท้าย และลากเส้นชายล่างประตูลากยาวจรดซุ้มล้อหลัง

 
 
 

ผลของการออกแบบทั้งหมดทำให้ Honda Freed ดูแตกต่างจากรถมินิแวนทั่ว ๆ ไปที่มักจะดูทื่อ ๆ เหลี่ยม ๆ ให้เป็นรถที่ดูปราดเปรียว ดูมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลาสามารถตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์เป็นตัวของตัวเองและตอบโจทย์การใช้งานความอเนกประสงค์ได้อีกด้วย

มิติตัวถังของ Honda Freed มีความยาว 4,315 มม. ความกว้าง 1,700 มม.ความสูง 1,735 มม. ฐานล้อยาวสะใจ 2,740 มม. ยาวกว่าฐานล้อ Civic FD 40 มม.

ห้องโดยสารที่กว้างขวาง

ทีมออกแบบ Honda ได้แรงบันดาลใจจาก Open Café ที่นิยมกันในประเทศในหมู่เหล่าทวีปยุโรปที่กินบรรยากาศแบบไม่มีหลังคาปิดบัง การตกแต่งที่ให้ความร่มรื่นโปร่งตาและใช้สีสันที่ดูเป็นธรรมชาติ นำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มาพัฒนาให้เป็นรถที่มีห้องโดยสารรื่นรมย์ โปร่งตา และยังมีพื้นที่ใช้สอยมากอีกด้วย ผู้เขียนต้องยอมรับว่า Honda สามารถพัฒนาการออกแบบห้องโดยสาร Freed ได้ดีกว่า Mobilio ชนิดคนละขั้ว แม้จะให้ความรู้สึกสบายตาเช่นกันแต่ความสวยงามของห้องโดยสาร Freed ก็นำหน้า Mobilio ไปหลายขุมเช่นกัน

 
 

แผงคอนโซลหน้าแบบ 2 ชั้นออกแบบให้โค้งเว้าที่ทำให้รู้สึกถึงความกว้างขวางและยังใช้งานได้อเนกประสงค์เพราะสามารถวางอาหารและเครื่องดื่มได้สบาย ๆ โดยเฉพาะช่องวางเครื่องดื่มเท่าที่ดูด้วยตาเปล่าน่าจะรองรับขวดน้ำอัดลมความจุ 1.25 ลิตรได้แน่ ๆ ครับ

 
 

ความสูงพื้นห้องโดยสารสูงจากพื้นถนนแค่ 410 มม.เท่านั้น ทำให้ผู้โดยสารสามารถก้าวขึ้นลงรถได้สะดวกตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุ นอกจากนี้ Honda ยกตำแหน่งเบาะนั่งทุกที่นั่ง ให้สูงขึ้นกว่า Mobilio จนรู้สึกได้แต่ก็ไม่ทำให้เนื้อที่เหนือศีรษะน้อยลงไปแต่อย่างใดเพราะความสูงของห้องโดยสารที่มากถึง 1,265 มม.

 
 
 

การเข้าห้องออกห้องโดยสารตอนที่ 2 และตอนที่ 3 ไม่ลำบากจนเกินไปนักเพราะออกแบบให้เบาะแถวที่ 2 แยกออกจากกันหรือที่นั่งแบบ Captain Seat ทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทะลุได้ถึงกัน หนำซ้ำยังสามารถเดินทะลุไปยังห้องโดยสารตอนที่ 1 ได้อีกด้วย  ผนวกกับบานหลังเป็นแบบสไลด์เลื่อนเปิดได้กว้างสุด 600 มิลลิเมตรทำให้ก้าวข้ามมาห้องโดยสารหรือออกห้องโดยสารได้รวดเร็ว

 
 
 

เบาะที่นั่งผู้โดยสารตอน 3 สามารถพับเก็บแนบกับผนังห้องโดยสาร (วิธีพับเบาะแบบเดียวกับ Toyota Fortuner) ค่อนข้างเบาแรงไม่เป็นภาระต่อแม่บ้านหรือผู้สูงวัยมากนักเพื่อเพิ่มเนื้อที่ห้องโดยสารมากถึง 670 ลิตรซึ่งเป็นความจุที่สามารถบรรทุกถุงกอล์ฟ 4 ใบหรือกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ 3 ใบ ส่วนจักรยานเสือภูเขาคาดว่าน่าจะบรรทุกเข้าไปได้ หากคุณขับคนเดียวหรือนั่งกันแค่ 5 คนเป็นประจำ ทางเราขอแนะนำว่าอย่าได้พับเบาะแถว 3 แนบผนังห้องโดยสารเด็ดขาดเพราะมันจะบดบังทัศนวิสัยไปจนหมดครับ

งานประกอบชิ้นส่วนภายในห้องโดยสารถือว่าทำได้ดีเกินคาด ดีเหนือกว่ารถนำเข้าจากอินโดนีเซียเมื่อหลาย ๆ ปีก่อนนั่นส่วนหนึ่งก็เพราะ Honda นำชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นแทบทั้งดุ้น (SKD) แทบไม่มีการใช้ชิ้นส่วนในท้องถิ่นเลย ในเมื่อมันดีเด่นขนาดนี้ก็ย่อมต้องมีข้อเสียบ้างซึ่งผมจะเฉลยในตอนหลัง

งานวิศวกรรม

Honda Freed ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นตัวถัง Global Small Platform เจเนเรชั่นที่ 2 ร่วมกับ Honda Jazz และ Honda City จึงไม่น่าแปลกใจว่าถังน้ำมันใต้พื้นตัวรถก็ยังคงติดตั้งไว้เหมือนกันทุกประการ แต่สำหรับ Honda Freed ทีมวิศวกรพัฒนาให้ถังน้ำมันมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมเพื่อลดความสูงของพื้นห้องโดยสารและทำให้พื้นห้องโดยสารราบเรียบไม่มีอะไรสะดุดครับ

 
 

เครื่องยนต์ก็ใช้ร่วมกับ Jazz และ City ด้วยเครื่องบล๊อก L15A 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,497 ซีซี หัวฉีด PGM-FI วาล์วแปรผัน i-VTEC ให้พละกำลังสูงสุด 118 แรงม้าที่ 6,600 รอบต่อนาที ถูกลดทอนแรงม้าให้น้อยลงกว่าเครื่องที่ติดตั้งใน Jazz และ City แรงบิดสูงสุด 14.9 กิโลกรัมเมตรที่ 4,800 รอบต่อนาที ถูกจับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ ควบคุมการเปิด-ปิดลิ้นปีกผีเสื้อด้วยอิเล็กทรอนิคส์

 
 

ช่วงล่างหน้าระบบแมคเฟอสันสตรัทพร้อมเหล็กกันโคลง ช่วงล่างด้านหลังระบบทอร์ชันบีมแบบ H-Shape พวงมาลัยแบบแรคแอนด์พิเนียนพร้อมพาวเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า (EPS) ติดตั้งระบบเบรค ABS ระบบกระจายแรงเบรค EBD ระบบเสริมแรงเบรค BA ให้ทุกรุ่นย่อย

อุปกรณ์มาตรฐานและสนนราคา

Honda ซอยรุ่นย่อยของ Freed ให้ตอบสนองความทุกความต้องการที่แตกต่างกันถึง 4 รุ่นย่อยดังต่อไปนี้

 
 
 

-รุ่น S มีอุปกรณ์มาตรฐานพื้นฐานได้แก่
ล้ออัลลอย 15 นิ้ว
ภายในสีเบจ,กระจกมองข้างปรับไฟฟ้า
กุญแจรีโมต,พนักเท้าแขนเบาะนั่งแถวที่ 2
เครื่องเสียงวิทยุ CD/MP3 แบบ 1 แผ่น พร้อมช่องเชื่อมต่อ USB และช่อง AUX สำหรับเชื่อมต่ออุปกรณ์บันเทิงอื่น ๆ
ลำโพงรอบคัน 4 จุด
สนนราคาที่ 894,000 บาท

 
 

รุ่น E มีอุปกรณ์มาตรฐานที่เพิ่มจากรุ่น S หลายประการได้แก่
กระจังหน้าโครเมี่ยม
ประตูสไลด์ซ้าย-ขวาระบบไฟฟ้าควบคุมด้วยรีโมต
แผงคอนโซลหน้าตกแต่งด้วยเมทัลลิค
ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ
กระจกมองข้างสามารถพับไฟฟ้าได้
พนักเท้าแขนด้านคนขับ
ไฟอ่านแผนที่ด้านหน้า
แผงบังแดดคู่หน้าพร้อมกระจกส่องหน้าแบบมีฝาปิด
ช่องเก็บของหลังเบาะแถว 1 พร้อมตะขอเกี่ยว
ถุงลมนิรภัยคู่หน้า
เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าดึงกลับอัตโนมัติ
สนนราคาที่ 974,000 บาท

รุ่น E Sport เป็นรุ่นตกแต่งแบบสปอร์ตเพิ่มชิ้นส่วนตกแต่งภายนอกและภายในดังต่อไปนี้
กระจังหน้าแบบสปอร์ต
ไฟตัดหมอกคู่หน้า
สปอยเลอร์หลัง
คิ้วบันไดสแตนเลส
หัวเกียร์หุ้มหนัง
สนนราคาที่ 1,014,500 บาท

รุ่น E Navi Sport มีอุปกรณ์มาตรฐานเหมือนรุ่น E Sport แต่เพิ่มอุปกรณ์ให้แบบ Full Option ได้แก่
ระบบนำทางเนวิเกเตอร์
เครื่องเสียง DVD
กล้องส่องภาพด้านหลัง
สนนราคาที่ 1,074,500 บาท

ราคาทั้ง 4 รุ่นย่อยเป็นราคาที่หักภาษีนำเข้าอัตราพิเศษระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนหรือ AFTA เหลือ 0% เรียบร้อยแล้ว และนั่นก็น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้อ่านสงสัยแน่นอนว่าทำไมราคาของ Honda Freed ถึงได้แตะระดับรถ PPV และ SUV ที่มีขนาดใหญ่กว่าถึงขนาดนี้

สาเหตุสำคัญเพราะว่า Honda Indonesia นำเข้าชิ้นส่วน Freed จากญี่ปุ่นมาแทบจะ 100% ทำให้ต้นทุนสูงกว่าการสั่งชิ้นส่วนภายในประเทศเสียอีก นั่นก็เป็นเหตุผลที่สืบเนื่องจาก Honda Motor ประเทศญี่ปุ่นไม่ต้องการให้ Freed เป็นรุ่นที่จะต้องทำตลาดไปทั่วโลกเหมือน Civc,Accord และ Jazz เป้าหมายที่แท้ของ Freed คือทำตลาดเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น Honda Motor ประเทศญี่ปุ่นจึงไม่จำเป็นต้องควบคุมต้นทุนการผลิตให้ต่ำ

ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย หากจะผลิตรถรุ่นใดสำหรับตลาดโลก Honda จะต้องหาแหล่งผลิตชิ้นส่วนที่ถูกที่สุดในโลกหรือสั่งให้ขึ้นแม่แบบชิ้นส่วนในประเทศนั้น ๆ  อย่างน้อยก็สามารถส่งออกชิ้นส่วนไปยังประเทศอื่น ๆ ได้ เป็นต้น

กรณีของ Honda Freed ก็ชัดเจนแล้วว่าไม่สามารถกดต้นทุนให้ต่ำลงได้เนื่องจากนำเข้าชิ้นส่วน SKD จากญี่ปุ่นแทบทั้งคัน และเท่าที่ผมทราบทางบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัดก็ไม่พอใจที่ Honda Freed มีต้นทุนสูงกว่าที่คิดเช่นกันจึงพยายามกดราคากันสุด  ๆ ให้ลูกค้าชาวไทยพอจะรับไหว มิใช่ตั้งราคาอย่างไร้เหตุผลดังที่ผู้อ่านหลายคนเข้าใจผิดไปครับ

 
 

ดังนั้นเป้ายอดขาย Honda Freed 5,000 คันภายใน 12 เดือนแรกนั้นต้องย่อมมาจากลูกค้าที่ต้องการรถมินิแวนขนาดกะทัดรัดเน้นดีไซน์ทั้งภายนอกและภายในที่สวยสะดุดตา นั่งได้ 7 คน ขับขี่คล่องแคล่ว สมรรถนะพอไหว้วานไปไหนมาไหนได้ และเชื่อมั่นในแบรนด์ Honda มากกว่าคู่แข่ง

หากคุณผู้อ่านแน่วแน่ว่าฉันจะต้องเป็นลูกค้า 1 ใน 5 พันคันภายใน 1 ปีต่อไปนี้แล้วล่ะก็ กรุณาอดใจรอสักเล็กน้อยเพื่ออ่านรีวิว Honda Freed โดยคุณ J!MMY นักทดสอบขาประจำเว็บ Headlightmag.com ครับ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะเซ็นใบจองด้วยความมั่นใจก็น่าจะรอติดตามกันนะครับ