ครั้งหนึ่ง Daimler AG ก็เคยมีความสัมพันธ์กับ Mitsubishi Motor เพื่อช่วยโอบอุ้ม Mitsubishi ในสมัยปี 2000 ที่เจอวิกฤตผลหลังภาวะเศรษฐกิจต้มยำกุ้งระบาดอย่างหนักและการเรียกคืนรถยนต์เพื่อซ่อมแซมครั้งรุนแรงในประวัติศาสตร์ชาติญี่ปุ่นถึง 2 ล้านคัน จนทำให้ Mitsubishi ค่อย ๆ ตกต่ำลงมาเรื่อย ๆ

Daimler AG ก็ฝันหวานว่าการมีหุ้นทั้ง Mitsubishi และ Hyundai จะช่วยให้การบุกตลาดเอเชียสดใสซาบซ่า (นอกเหนือจากการถือหุ้นใน Chrysler เพื่อบุกตลาดสหรัฐอเมริกา) แต่หารู้ไม่มันไม่เป็นอย่างที่ทาง Daimler AG คิดเช่นนั้นเลย เพราะวัฒนธรรมการทำงานที่กดขี่ชาติอื่น ๆ ไม่สามารถสอดประสานวัฒนธรรมองค์กรร่วมกันได้

 
 
 

ท้ายที่สุด Daimler AG ก็ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือ Mitsubishi Motor แต่อันใดเลยจนต้องถอนหุ้นในปี 2004 และทาง Mitsubishi Corp. ก็ต้องถือหุ้นเข้าไปแทนที่ Daimler AG นี่คือประวัติศาสตร์การควบรวมกิจการของ Daimler AG ที่ล้มเหลวมากที่สุด

คราวนี้ Daimler AG ก็อยากหวนคืนประวัติศาสตร์การถือหุ้นกิจการบริษัทรถยนต์เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้เชี่ยวชาญที่ตนเองไม่ถนัดเพื่อลดต้นทุนดำเนินกิจการลง นั่นก็สอดคล้องกับข่าวความร่วมมือกับ Renault-Nissan เพื่อพัฒนารถยนต์ขนาดเล็กระดับ Smart ร่วมกัน แต่ก็กลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก จึงไม่น่าแปลกใจว่าที่จะต้องมีข่าวการร่วมถือหุ้นแบบ Alliance (ต่างฝ่ายต่างถือหุ้น) มิใช่การ Take Over (ที่บริษัทใหญ่กว่าซื้อหุ้นกิจการบริษัทขนาดเล็กจนเกือบหมด)

 
 
 

สำนักข่าว Nikkei ภาคภาษาอังกฤษรายงานความเคลื่อนไหวล่าสุดว่าฝ่าย Renault-Nissan และฝ่าย Daimler AG กำลังพูดคุยกันในเรื่องการซื้อขายหุ้นของแต่ละฝ่าย ฝ่ายละน้อยกว่า 5% เพราะมันเป็นความตกลงร่วมกันพัฒนารถขนาดเล็กเพียงเท่านั้น และฝ่าย Renault-Nissan ก็คงเห็นบทเรียนจาก Daimler AG แล้วเช่นกันว่าไม่อยากให้ฝ่ายเยอรมันมายุ่งกับกิจการหลักของตนทั้งนั้น

จากการสอบถามโฆษกทั้ง Renault และ Nissan ต่างก็ไม่สามารถตอบคำถามและรายงานความเคลื่อนไหวของการเจรจาในครั้งนี้เต็มปากนัก แต่นโยบายหลักของ Renault-Nissan ยุคใหม่คือการเฟ้นหาพันธมิตรที่เกื้อกูลกิจการซึ่งกันและกันไม่จำเป็นจะต้องเป็นรายใหญ่ทั้งหมดขอให้เพียงกล้าที่จะสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น ความร่วมมือผลิตรถยนต์ราคาต่ำคู่แข่ง Tata Nano จึงต้องร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่นอย่าง Bajaj ที่เข้าใจกระบวนการผลิตรถต้นทุนต่ำเป็นอย่างดี

เราก็คงได้แต่รอในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ว่า Daimler AG จะกลายเป็นพันธมิตรรายใหม่ตามนโยบายของ Carlos Ghosn ได้หรือไม่