Toyota ประสบความสำเร็จกับการคาดหวังยอดขายกระบะให้เทียบชั้นเท่า Isuzu D-max ภายในเวลา 2 ปีด้วยสินค้าที่ซุ่มประคบประหงมพัฒนาเอาใจตลาดเมืองไทยเต็มที่ที่ชื่อว่า Hilux Vigo มากเสียจนคู่แข่งถึงกับระส่ำระส่ายกับสถานะเจ้าตลาดรถกระบะผูกขาดกว่า 20 ปี

การไม่ครั่นคร้ามของ Toyota นั่นเพราะการมอบโอกาสให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะโครงการ IMV มูลค่าการลงทุนรวมร่วมแสนล้านบาททำให้การตั้งวิทยายุทธ์ทำได้ง่าย ยืดหยุ่นและรวดเร็วกว่าเดิม ยิ่งเป็นรถโมเดลใหม่เพื่อประเทศไทยโดยเฉพาะซึ่งมีรสนิยมการซื้อรถแตกต่างจากตลาดโลกหากเอาใจคนไทยได้แสดงว่าตลาดโลกก็จะสดใสตามไปด้วย

จุดขายหลักของ Vigo คือดีไซน์รถที่ดูทันสมัยขึ้นโค้งมน ขนาดตัวถังที่ฉีกแนวใหญ่ที่สุดในตลาด พื้นฐานงานวิศวกรรมใหม่หมดจดชนิดไม่เหลือของเดิมโดยเฉพาะแชสซีส์ใหม่ที่ใช้ร่วมกับเอสยูวีระดับหรูอย่าง LandCruiser Prado เครื่องยนต์คอมมอนเรลที่ปรับปรุงจากรุ่นก่อนให้ลงตัวกว่าคู่แข่งทั้งหมด ทั้งแรงตีนต้นถึงตีนปลายและประหยัด เรียกว่าเป็นรถที่เด่นมากที่สุดในตลาดขณะนั้นกวาดยอดจองล้นหลามทีเดียว

ทำตลาดครบรอบ 4 ปีต้องปรับปรุงโฉมแบบ Minorchange ครั้งใหญ่หมายมั่นปั้นมือจะทุบตลาดรถกระบะให้จมดินเมื่อกันยายน 2008 เติมความสดใหม่ด้วยกระบะเปิดได้,ออพชั่นระดับสูงที่ใส่ในรถกระบะครั้งแรก แต่แล้วความหวังก็พังทลายลงเมื่อพบว่าคนไทยไม่ได้นิยมชมชอบบานแค๊บเปิดได้อย่างแท้จริง จึงไม่มีเหตุผลกลใดที่จะต้องปลาบปลื้มไปกับ SmartCab ,ลูกค้าต้องการให้ Toyota เปลี่ยนหน้าตารถให้มากกว่าเปลี่ยนแค่กันชนและกระจังหน้าเท่านั้น ประกอบกับอยู่ในช่วงสภาวะ Oil Shocked เป็นจังหวะที่ไม่ดีเอามากทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป

ผลจากพลาดหวังครั้งนี้ทำให้ยอดขาย Toyota ไตรมาสสุดท้ายปี 2008 แพ้ Isuzu ลากมาจนถึงไตรมาสแรกปี 2009 เกิดจากการที่ Isuzu ไม่ลืมจุดแข็งแกร่งของตนเองนั่นคือกระบะที่ให้ความรู้สึกประหยัดน้ำมันที่สุด ขณะที่ Vigo ใหมชูจุดขายทุกอย่างทั้งหมดทำให้จุดขายไม่เด่นชัดทั้ง ๆ ที่คนเริ่มหารถที่ประหยัดน้ำมันมากกว่ารถราคาแพงแต่ออพชั่นมาก

ถึงรุ่นปรับโฉมกลางอายุจะไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าแต่ยอดขายก็ยังบีบบี้คู่แข่งไม่ทิ้งห่างกันอยู่ดี Toyota ยังมีโอกาสทำยอดขายรุ่นนี้ให้แซงหน้า Isuzu ตลอดเวลาจนกว่าจะถึงเวลาเปลี่ยนโฉม และกว่าจะรอคอยเวลานั้นก็อีกยาวนานมาก

หลายคนคงได้ยินข่าวคร่าว ๆ ว่า Toyota Hilux โฉมต่อไปมีนิคเนมสั้น ๆ ว่า IMV2 จะได้ฤกษ์เปิดตัวปี 2011 แต่สืบทราบข่าวที่เกี่ยวข้องทั้งหมด(ขอสงวนนามบุคคลและชื่อบริษัทของแหล่งที่มา)พบว่าโปรเจคท์นี้ยังเป็นแค่ช่วงเริ่มต้นโครงการพัฒนาอยู่มิใช่ช่วงกลางหรือช่วงปลายแต่อย่างใด

ทุกสิ่งทุกอย่างน่าจะดูสวนทางกับการวิเคราะห์ธุรกิจที่ Toyota น่าจะปล่อยรถของตนออกมาช่วงนั้น แต่อย่าลืมว่าปัจจัยลบยังมีอยู่มหาศาลได้แก่

-ความต้องการของรถกระบะโลกไม่แน่นอนผันผวนตลอดเวลา โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้รถกระบะของคนไทยเปลี่ยนไปมากทยอยหันมาใช้รถยนต์นั่งขนาดเล็กมากขึ้น ผลจากการภาวะน้ำมันดีเซลพุ่งขึ้นขีดสุดจนรับไม่ไหว คาดว่าคนไทยจะปรับตัวหันมาหารถกระบะอีกครั้งคงไม่ใช่ระยะเวลาสั้น ๆ แน่

-Toyota ต้องแน่ใจว่าหากลงทุนลงเงินต้องอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งสภาวะเศรษฐกิจ ผลกำไร ค่าเงินเยน ความต้องการตลาด เป็นต้น มากกว่าเพียงแค่ต้องการเอาชนะเป็นที่ 1 ในภูมิภาคนั้นแต่บริษัทแม่กลับต้องรับความเสี่ยงในระดับโลก

-Toyota ต้องการเก็บเกี่ยวกำไรจากการลงเงินลงแรงในระบบไปมากถึง 1 แสนล้านบาทให้คุ้มทุนระดับหนึ่งเสียก่อนที่จะเปลี่ยนโฉม

-ต้องการดูรถของคู่แข่งหลักและคู่แข่งรองในตลาดเพื่อหาข้อเด่นและข้อด้อย และนำไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายให้สมบูรณ์แบบ

ดังนั้น โฉมต่อไปของ Hilux รหัสโปรเจคท์ IMV2 จะถูกพัฒนาขึ้นที่เมืองไทยทั้งหมดที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค (TMAP-EM) ร่วมกับศูนย์วิจัยพัฒนาโตโยต้าญี่ปุ่น ถือเป็นอีกครั้งที่ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์  ส่วนรายละเอียดตัวรถตอนนี้ยังเร็วไปที่พูดถึงตอนนี้หากถึงช่วงกลาง-ปลายงานพัฒนาก็น่าจะมีความคืบหน้านำเสนออีกครั้ง

กำหนดการเปิดตัวคือปี 2014 ถึงจะเปิดตัว Hilux โฉมใหม่หมดจดโดยไม่ใช้ชื่อ Vigo ต่อท้าย ตามธรรมเนียมที่ Toyota มักจะเปลี่ยนชื่อรุ่นย่อยรถตระกูลนี้ทุกครั้งที่เปลี่ยนโฉม แต่ระหว่างที่รอจะมีการปรับโฉมชนิด Big Minorchange เรียกน้ำย่อยอีกครั้งในปี2011 เพื่อดักคอคู่แข่งทั้งหมดที่เตรียมเปิดตัวรถกระบะโมเดลใหม่ไม่ยั้ง ตั้งแต่ Isuzu D-max โฉมใหม่รหัสพัฒนา RT-50 ,Mazda-Ford รหัส T6 และ Chevrolet Colorado ในปีนั้น