ตระกูล Mark X บางท่านคงทราบแค่ว่ามันเป็นเพียงแค่ Mark X เจเนเรชั่นที่ 2 เท่านั้น แต่หารู้ไม่หน้าที่ของ Mark X นอกจากจะเป็นรถซีดานขนาดกลางขับเคลื่อนล้อหลังปะทะกับ Nissan Skyline โดยเฉพาะแล้ว ยังรับหน้าที่เป็นตัวตายตัวแทนของตระกูล Mark II อีกด้วย

ตระกูล Mark II เจเนเรชั่นแรกรหัสตัวถัง T60 และ T70 ถือกำเนิดในปี 1968 ด้วยการใช้พื้นฐานตัวถังร่วมกับ Corona เจเนเรชั่นที่ 3 รหัส T40 และ T50 เพื่ออุดช่องว่างระหว่าง Toyota Corona และ Toyota Crown ให้แคบลงดังนั้น Mark II เจเนเรชั่นแรกจึงมีนามว่า Toyota Corona Mark II นั่นเอง จนยุติการผลิตในปี 1972

 
 

Toyota Mark II เจเนเรชั่นที่ 2 เริ่มเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพมาแนวสปอร์ตมากขึ้นจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาชื่อ Corona อีกต่อไป จนมาถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อสิ้นสุด Mark II เจเนเรชั่นที่ 9 แล้ว Toyota จึงเปลี่ยนแปลงแนวคิดรถซีดานขนาดกลางขับเคลื่อนล้อหลังที่เน้นความหรูหรามาสู่มาดสปอร์ตมากขึ้น

Toyota Mark X เปิดตัวครั้งแรกในปี 2004 จัดว่าเป็น Mark II รุ่นตัวถังที่ 10 ก็ว่าได้ ตัวรถมีแนวคิดใหม่เน้นเอาใจผู้ขับขี่มากขึ้นหรือเน้นแนวสปอร์ตมากกว่าซีดานขนาดกลางรุ่นอื่น ๆ ของ Toyota ยุคนี้ ผลจากความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญก็สามารถปลุกชื่อ Mark X ให้กระหึ่มได้ไม่น้อย

 
 
 

ล่าสุดวันที่ 19 ตุลาคม 2009  Toyota Motor ญี่ปุ่นเปิดตัว Toyota Mark X เจเนเรชั่นใหม่พร้อมจัดแสดงในงาน Tokyo Motorshow 2009 อีกด้วย

Toyota Mark X โฉมใหม่ยังคงรักษาบุคลิกรถซีดานขนาดกลางขับเคลื่อนล้อหลังแนวสปอร์ตและหรูหราเช่นเคยด้วยดีไซน์ภายนอกที่ดูคล้ายของเดิมแต่ถูกปรับปรุงให้ทันสมัยในสไตล์ Vibrant Clarity ประจำยุคทศวรรษใหม่ โดยรวมสวยทันสมัยขึ้น

 
 

ขนาดตัวรถก็คงเส้นคงวาด้วยความยาว 4,730 มม. ความกว้าง 1,795 มม. และความสูง 1,435 – 1,445 มม. Toyota เคลมว่าความสูงของ Mark X ใหม่เตี้ยลงกว่าเดิม และขยายความกว้างของรถและความกว้างฐานล้อถึง 20 มม.ทำให้จุดศูนย์ถ่วงตัวรถต่ำลงส่งผลดีต่อความมั่นใจการขับขี่

 
 

ภายในห้องโดยสารถูกปรับปรุงให้ทันสมัยเช่นกัน ยังคงเน้นเอาใจผู้ขับขี่เหมือน Mark X เจเนเรชั่นก่อนเช่นเคย  แต่ก็ใช่ว่าจะละเลยความสะดวกสบายของผู้โดยสารตอนหลังนะครับ Toyota จึงขยายความกว้างของห้องโดยสารตอนหลังถึง 25 มม.และยืดระยะเลกรูมอีก 20 มม.เพื่อลบจุดอ่อนในรุ่นที่แล้วที่ไม่เผื่อให้ผู้โดยสารตอนหลังนั่งสบายเลย

เครื่องยนต์มีให้เลือกบล๊อก 4GR-FE V6 DOHC 24 วาล์ว 2,499 ซีซี ฉีดเชื้อเพลิงตรง (D-4) Dual VVT-I 203 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 24.8 กิโลกรัมเมตรที่ 4,800 รอบต่อนาที

อีกบล๊อกหนึ่งเครื่องยนต์รหัส 2GR-FSE V6 DOHC 24 วาล์ว 3,456 ซีซี  ฉีดเชื้อเพลิงตรง (D-4S) Dual VVT-I 318 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 38.7 กิโลกรัมเมตรที่ 4,800 รอบต่อนาที

 
 

เครื่องยนต์ทุกรุ่นจับคู่เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ รุ่นขับเคลื่อนสองล้อหลังมีรุ่นเครื่องยนต์ 3.5 ลิตรและ 2.5 ลิตร ส่วนรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อมีเฉพาะรุ่นเครื่อง 2.5 ลิตรเท่านั้น

เคาะราคาเริ่มต้น 2,380,000 เยน จนไปถึง 2,905,250 เยน ในรุ่นบนสุด ตั้งเป้าจำหน่ายมากถึง 3,000 คันต่อเดือน

 
 

Toyota SAI อ่านว่า โตโยต้า ซาย เป็นรถ Hybrid อนุกรมเอกเทศใหม่ล่าสุดที่สานต่อความโด่งดังจาก Prius รถ Hybrid ชื่อดังด้วยรูปแบบตัวถังซีดาน

ดูเผิน ๆ นึกว่านำ Lexus HS250h มาโมดิฟายด์ในสไตล์ Toyota แต่เชื่อหรือไม่ว่าทั้ง Toyota SAI และ Lexus HS250h ต่างก็ถูกพัฒนาบนพื้นฐานงานวิศวกรรมร่วมกับ Toyota Prius ครับ ถ้าจะนิยามว่าทั้ง Lexus HS250h และ Toyota SAI  มันก็คือ Toyota Prius เวอร์ชันซีดานก็คงไม่ผิดนัก

แม้จะเปิดตัวให้ชาวญี่ปุ่นได้คุ้นเคยกันในวันนี้แต่กว่าจะวางจำหน่ายจริงก็ปาไปวันที่ 7 ธันวาคม 2009 นี้

 
 

ความหมายของคำว่า SAI สามารถแบ่งเป็น 2 ความหมายดังนี้
หากเขียนอักษรคันจิ แปลว่า พรสวรรค์
หากเขียนอักษรคันจิ แปลว่า การให้สีสัน

ดีไซน์ตัวรถมาในแนวรถซีดานขนาดกลางที่ทุกรุ่นของ Toyota ที่เคยผ่านหูผ่านตามาแล้วทั้งนั้น บางมุมก็นึกถึง Toyota Camry โฉมบ้านเรา บางมุมก็เหมือน Toyota Prius (แน่นอนใช้โครงสร้างครึ่งคันหน้าร่วมกัน) แต่โดยรวมแล้วตัวรถออกโทนหรูหราและทันสมัยกว่ารถซีดานขนาดกลางรุ่น Premio และ Allion อยู่พอสมควร

 
 

โพสิชั่นนิ่งของ Toyota SAI อยู่ระหว่าง Toyota Prius และ Toyota Crown Hybrid อย่างพอดิบพอดี มิติตัวถังจัดว่าอยู่ในระดับ C-segment เฉกเช่นเดียวกับ Corolla ตลาดโลก และขนาดตัวถังถือว่าใหญ่กว่า Premio และ Allion อยู่พอสมควร

Toyota SAI มีความยาว 4,600 มม. ยาวกว่า Corolla เวอร์ชันตลาดโลกเล็กน้อย ความกว้าง 1,770 มม. ความสูง 1,495 มม. ความยาวฐานล้อ 2,700 มม.เท่ากับ Toyota Prius พอดี

เมื่อเทียบมิติระหว่าง Toyota Corolla ตลาดโลกและ Toyota SAI ก็พบว่าไม่แตกต่างมากจนเป็นนัยยะสำคัญแต่ทำไมโพสิชันนิ่งของ Toyota SAI ดูสูงกว่า

 
 

นอกจากการออกแบบรถที่เน้นความหรูหราแล้วระบบ Hybrid ที่ติดตั้งใน Toyota SAI จัดว่าเหนือชั้นกว่า Toyota Prius และ Toyota Corolla พอสมควรด้วยขุมพลังเครื่องสันดาปภายใน 2AZ-FXE 4 สูบ DOHC 2,362 ซีซี EFI VVT-I ให้กำลัง 150 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 19.1 กิโลกรัมเมตรที่ 4,400 รอบต่อนาที ผนวกกับมอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลัง 143 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 27.5 กิโลกรัมเมตร เมื่อขุมกำลังทั้งสองขับเคลื่อนไปพร้อมกันก็จะได้พละกำลัง 190 แรงม้า (PS) เก็บประจุไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ นิเกิล เมทัล ไฮดรายด์ จับคู่เกียร์ CVT สามารถทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงสูงสุดโหมด 10-15 ได้ 23.0 กิโลเมตรต่อลิตร

ถ้าให้พูดง่าย ๆ ว่ามันก็ยกชุดขับเคลื่อนมาจาก Toyota Camry Hybrid เวอร์ชันเมืองไทยและออสเตรเลียมาใส่ไว้ใน Toyota SAI ที่มีน้ำหนักเบากว่าสามารถเค้นสมรรถนะและอัตราสิ้นเปลืองที่ดีกว่า

 
 

สนนราคาที่ถือว่าแทรกกลางระหว่าง Toyota Prius (2,050,000 – 3,270,000 เยน) และ Toyota Crown Hybrid (5,950,000 – 6,190,000 เยน) ได้อย่างเหมาะเจาะด้วยราคาเริ่มต้นที่ 3,380,000 เยนไล่จนถึง 4,260,000 เยน ตั้งเป้าไว้ที่ 3,000 คันต่อเดือนถือเป็นเป้าที่กลาง ๆ เพราะราคาถือว่าไม่ถูกเลยเพราะมันแพงกว่า Toyota Camry รุ่นเครื่องยนต์ปกติ (2,505,000 – 3,470,000 เยน) เล็กน้อยครับ