คนไทยเพิ่งจะรู้จักชื่อ Suzuki Carry อย่างจริงจังก็ตอนบริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำเข้ารถกระบะขนาดเล็กคันนี้จากฐานการผลิตประเทศอินโดนีเซียเมื่อหลายปีก่อน (ในตลาดอินโดนีเซียใช้ชื่อว่า Suzuki Mega Carry เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2011 โดยใช้พื้นฐานร่วมกับ Suzuki APV) ด้วยราคาเพียงแค่ 3 แสนกว่าบาท แต่มีจุดเด่นตรงที่ความเป็น Suzuki ที่มีชื่อเสียงด้านรถยนต์ขนาดเล็กจากญี่ปุ่นที่มีความน่าเชื่อถือว่ารถบรรทุกเล็กจากจีนอยู่มาก อีกทั้งด้วยหน้าตาที่ออกไปทางน่ารัก และในช่วงระยะเวลาที่จำหน่าย ก็ยังไปถูกช่วงกระแสการสร้างธุรกิจส่วนตัวของคนรุ่นใหม่กำลังบูม เราจึงได้เห็น Suzuki Carry กลายเป็นรถยนต์ Food Truck ที่มีการตกแต่งสีสันสวยงามน่ารักหลายคัน ตามตลาดนัดคนวัยฮิป

แต่อันที่จริงชื่อ Suzuki Carry มีต้นกำเนิดที่แท้จริงเมื่อปี 1961 ที่ประเทศญี่ปุ่นในชื่อ Suzulight Carry ซึ่งเป็นตระกูลรถยนต์อเนกประสงค์และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ สำหรับเวอร์ชันตัวถังรถกระบะเขาเรียกว่า Suzulight Carry FB และนับตั้งแต่นั้นมาชื่อของ Carry ก็ยังคงกระพันมาจนถึงทุกวันนี้

(1961 Suzulight Carry FB)

และแล้ววันนี้ (26 เมษายน 2019) All NEW Suzuki Carry เวอร์ชันตลาดโลกนั้นก็เปิดตัวอย่างเป็นทางการในอินโดนีเซียแล้ว เพื่อเสริมทัพ Suzuki Carry Pick Up กระบะจิ๋วราคาถูกสุดและ Mega Carry หรือ Carry โฉมเดียวที่ขายกับบ้านเรา

ความเปลี่ยนแปลงของ All NEW Suzuki Carry เวอร์ชันตลาดโลกนั้น คือการออกแบบภายนอกที่ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเหมือนหรือคล้ายกับ Carry ที่ขายในไทยเลย โดยดีไซน์ภายนอกน่าจะได้แรงบันดาลใจมาจาก Suzuki Carry เวอร์ชันญี่ปุ่นมาในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการออกแบบสัดส่วนโครงสร้างของหัวเก๋งที่จะแลดูคล้ายกัน ๆ แต่ All NEW Suzuki Carry เวอร์ชันตลาดโลก จะมีการขยายหัวเก๋งให้ยาวยิ่งขึ้น, ลดความสูงของกรอบกระจกห้องโดยสาร, ปรับเส้นสายให้เรียบง่ายยิ่งกว่า และเปลี่ยนไฟหน้า, กระจังหน้าและกันชนหน้า ที่ดูใกล้เคียงกับ Carry Pick Up ในตลาดอินโดนีเซีย

มิติภายนอก

  • ยาว x กว้าง x สูง : 4,195 x 1,765 x 1,910 มิลลิเมตร
  • ระยะฐานล้อ : 2,205 มิลลิเมตร

(Suzuki Mega Carry หรือ Carry ในเมืองไทย : 4,155 x 1,680 x 1,895 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ : 2,625 มิลลิเมตร)

ระบบกันสะเทือน

ด้านหน้า : แมคเฟอสันสตรัท
ด้านหลัง : แหนบแผ่นซ้อน

All NEW Suzuki Carry ยังคงยึดมั่นปรัชญาในการพัฒนารถบรรทุกขนาดเล็กที่มอบทั้งปริมาตรความจุที่ใหญ่โตพอ, ความแข็งแกร่ง, ความสะดวกสบายและสมรรถนะ พื้นกระบะมีขนาดใหญ่รองรับน้ำหนักบรรทุก 1 ตัน และมีพื้นกระบะค่อนข้างเตี้ย พร้อมฝากระบะเปิดได้ 3 บาน ก็ยิ่งช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถบรรทุกสัมภาระได้ง่ายยิ่งขึ้น

ตัวรถมีขีดความสามารถในการรองรับการขับขี่บนพื้นถนนอันขรุขระ และรองการขนสัมภาระอันหนักหน่วง ด้วยช่วงล่างที่ทนทานต่อการกัดกร่อนและสนิม

ภายในห้องโดยสารมีการออกแบบ Layout ของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ดูคล้ายกับ Suzuki Carry เวอร์ชันญี่ปุ่น แต่ทว่าในเวอร์ชันตลาดโลกกลับมีรายละเอียดการออกแบบภายในห้องโดยสารที่ร่วมสมัยกว่าอย่างเห็นได้ชัด และดูเหมือนว่าเวอร์ชันตลาดโลกจะมีตำแหน่งอุปกรณ์ที่ดูจะโดนใจลูกค้าในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า แต่มีจุดหนึ่งที่น่าแปลกใจไม่น้อยเลยก็คือ ทำไมในเวอร์ชันอินโดนีเซียถึงไม่ติดตั้งพนักพิงศีรษะมาให้?

ไฮไลต์สำคัญที่ทำให้เจ้าของธุรกิจทั้งหลายปรบมือเฮก็คือ มันติดตั้งเครื่องยนต์เบนซินบล็อกใหม่ล่าสุด รหัส K15B-C บล็อก 4 สูบแถวเรียง DOHC 16 วาล์ว 1,462 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 74.0 x 85.0 มิลลิเมตร กำลังสูงสุด 97 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 135 นิวตันเมตรที่ 4,400 รอบ/นาที จับคู่เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ

Suzuki อินโดนีเซียรับผิดชอบในการผลิต All NEW Suzuki Carry สำหรับส่งออกทั่วโลก 100 ประเทศ ด้วยกำลังการผลิตสูงสุด 70,000 คัน/ปี และมีแนวโน้มว่า รถรุ่นนี้อาจจะมีสิทธิ์ทำตลาดในไทย

ที่มา : Suzuki