ณ บ่ายวันหนึ่งของวันทำงาน

ผมกำลังตอบกลับอีเมลให้พี่ไหม – พิศมัย เตียงพาณิชย์ ผู้จัดการฝ่าย PR ของ BMW และ MINI ประเทศไทย
ซึ่งเปรียบเสมือนพี่ใหญ่ใจดี มีความอบอุ่นมอบให้ในทุกครั้งที่เราได้คุยกัน นับเป็นผู้ใหญ่ในวงการคนหนึ่งที่ผมนับถือมากทีเดียว

หัวข้อที่เราโต้ตอบในวันนั้นเกี่ยวกับการขอพา MINI Cooper (F56) มาเข้ารายการ The Coup Channel ตอนใหม่
(อ้าว! รู้กันหมดเลย) แต่หนึ่งในอีเมลที่เรากำลังพิมพ์ตอบกลับไปมานั้น อยู่ดีๆพี่ไหมก็โพล่งถามขึ้นมาว่า

“พี่มีทริปขับรถ xDrive Xperience ไปเช้า-เย็นกลับ ตอยสนใจไปด้วยไหม?”

ทริปอะไรอีกเนี่ย ทริปขับรถนี่เดี๋ยวส่งพี่จิมมี่ พี่แพน ไปดีกว่าเนอะ เราอยู่ถ่ายรายการดีกว่า…..
ว่าแล้วผมก็นำความไปเรียนแจ้งเจ้าของเว็บ แล้วก็ได้คำตอบกลับมาว่า

“เอ็งน่ะแหละ ไปเองเลย จะได้ลองขับรถแบบออฟโรดดูด้วย”

พี่จิมมี่….เขาว่างั้น

alt
alt

นั่นทำให้เช้าตรู่วันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา ผมจึงมายืนอยู่ ณ ตึก CRC Tower All Seasons Place
เพื่อเตรียมตัวขึ้นรถตู้ไปยังสนาม Thai Polo & Equestrian Club ในเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

…..ก็ใกล้ๆกับสนามพีระเซอร์กิตนั่นแหละครับ

เป็นครั้งแรกเลยที่ผมได้มาที่คลับแห่งนี้…ไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าแถวๆสนามพีระเซอร์กิต มีสถานที่อย่างนี้อยู่ด้วย ซึ่งถ้าจะให้บรรยาย
ก็จะมีความคล้ายกับโปโลคลับเมืองนอกอยู่บ้าง มีคอกม้าโดยรอบ สนามหญ้าขนาดกว้าง และมีภูเขาด้านหลัง
ถ้าได้ลองเล่นโปโลน้ำที่นี่สักครั้งก็คงดี

อ้าว….คนล่ะอย่างกันเหรอ ว้า..

alt
alt

กิจกรรมวันนี้ จะไม่เกี่ยวกับความแรงหรือเร็วเท่าไหร่นัก เพราะจะเน้นหนักไปที่ระบบขับเคลื่อน xDrive ล้วนๆกันเลย
ไหนๆก็ไหนๆแล้ว เราจะย้อนไปดูที่มาที่ไปของเจ้าระบบนี้พอสังเขปก่อนแล้วกันนะครับ

อันที่จริงแล้ว BMW เคยพยายามใส่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อให้กับรถยนต์ของตนเป็นครั้งแรก
เมื่อปี 1985 ใน BMW 3-Series (E30) ด้วยรุ่น BMW 325ix ซึ่งได้รับความนิยมพอสมควรในยุโรป
ด้วยยอดขายเกือบ 3 หมื่นคัน ก่อนจะตัดสินใจเปิดตัวใน 5-Series (E34) ตามออกมา และเป็นเพียง 2 โมเดล
ที่ได้รับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อไปติดตั้งในขณะนั้น

alt

ตัดภาพมาที่ปีค.ศ. 1994 ยุคที่รถยนต์เพื่อสันทนาการกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น BMW ในขณะนั้น
ยังไม่มีรถยนต์ที่ตอบโจทย์กลุ่มนี้ ประจวบกับการเข้าซื้อกิจการ Rover Group ซึ่งมีแบรนด์ Land Rover
อันขึ้นชื่อด้านการทำรถยนต์ SUV จึงเป็นจังหวะอันเหมาะอันสมควร ที่ BMW จะเริ่มพัฒนารถยนต์กลุ่มนี้เสียที
โดยที่ BMW พยายามสร้างคำนิยามรถยนต์ของตนใหม่ว่าเป็น ‘SAV’ หรือ Sport Activity Vehicle
และหลีกเลี่ยงการบอกว่ารถยนต์ของตนจะเป็น Sport Utility Vehicle ซึ่งเรื่องนี้มันมีที่มาอยู่เหมือนกัน
(จะอธิบายให้ต่อไปในด้านล่าง)

แน่นอนว่า รถยนต์ตระกูล X-Series รุ่นแรกที่ได้เปิดตัวในปี 1995 ก็คือ BMW X5 (E53) แต่สิ่งที่มาพร้อมกับ
การเผยโฉมรถยนต์ตระกูลนี้เป็นรุ่นแรก คือระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ xDrive นี่ล่ะครับ

alt
alt
alt

การที่ BMW พยายามบอกว่ารถยนต์ของตนไม่ใช่รถยนต์ Sport Utility Vehicle เพราะระบบขับเคลื่อน xDrive นี้
เป็น”ระบบขับเคลื่อนแบบ All-Wheel Drive” แตกต่างจากระบบขับเคลื่อน 4-Wheel Drive ในรถยนต์ SUV พันธุ์แท้พอสมควร
จากการเลือกใช้ Centre Differential แทนที่จะใช้ Transfer Case หลังห้องเกียร์ ซึ่งทำให้ระบบ xDrive นี้
ไม่สามารถเลือกโหมดเกียร์ High/Low ได้เหมือน SUV แท้ๆที่เราคุ้นเคยกันเช่น Pajero ปี 93 หรือ Land Cruiser 80

สิ่งที่ BMW เน้นหนักมากกว่า คือ ความชาญฉลาดของระบบ xDrive ซึ่งแทบไม่ต้องไปยุ่งอะไรเลยในการใช้งาน
จนทำให้คุณผู้ชาย/คุณผู้หญิงที่ไม่เชี่ยวชาญเรื่องการขับออฟโรด สามารถใช้งานและสามารถเอาตัวรอด
ในสถานการณ์การขับขี่แบบออฟโรดได้อย่างง่ายดายมากที่สุด

ความฉลาดที่เด่นที่สุดของระบบขับเคลื่อน xDrive นี้ คือการที่ระบบสามารถวิเคราะห์สถานการณ์การขับขี่ ณ ขณะนั้น
และตัดสินใจถ่ายทอดกำลังและแรงบิดเครื่องยนต์ไปที่ล้อคู่หน้าและหลังได้หลากหลายอัตราส่วน
ตั้งแต่ 0:100/20:80/50:50/60:40/80:20/100:0 ซึ่งจะถูกทำในระยะเวลาอันรวดเร็วภายใน 0.1 วินาที!
(โดยอัตราส่วนหลักจะเป็นล้อหลัง 60 และล้อหน้า 40)

นอกจากนี้ ระบบ xDrive ยังทำงานร่วมกับบรรดาระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆครบครัน ทั้งระบบ Dynamic Stability Control
ช่วยควบคุมเสถียรภาพตัวรถ ระบบ Dynamic Traction Control ช่วยควบคุมการยึดเกาะถนน รวมไปถึง
ระบบ Hill Descent Control ช่วยควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน ที่ได้อานิสงส์มาจากการที่เคยได้
ครอบครองแบรนด์ Land Rover

ปัจจุบัน BMW ยังพัฒนารถยนต์ตระกูล xDrive ด้วยปรัชญา EfficientDynamics ในทุกด้าน ตั้งแต่งานออกแบบที่เน้น
ความลู่ลมมากขึ้น เลือกใช้วัสดุน้ำหนักเบา เช่น วัสดุคอมโพสิท CFRP ที่ถือว่าทันสมัยที่สุด และถูกใช้กับ BMW i8 เป็นครั้งแรก
ไปจนถึงเครื่องยนต์ทรงพลังแต่ประหยัดน้ำมัน เจาะจงใช้เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ เพราะถ่ายทอดกำลังได้ดีที่สุด เปลี่ยนเกียร์แทบ
ไม่กระตุก นุ่มนวลจนหลับตาปิดหูนั่งนึกว่าเป็น CVT

alt
alt

กิจกรรม BMW xDrive Xperiences ครั้งนี้ จะมีรถให้ขับ 2 รุ่นหลัก ได้แก่ BMW X3 LCI xDrive20d ซึ่งเครื่องยนต์
ดีเซล 2.0 ลิตร ถูกปรับปรุงให้มีกำลังเพิ่มขึ้นเป็น 190 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 400 นิวตัน-เมตร และ BMW X5 xDrive30d (F15) ที่เพิ่งเปิดตัว
ในไทยเมื่อปีที่แล้วนี่เอง โดยจะเน้นหนักไปที่การให้หลักความรู้การขับขี่แบบออฟโรด สัมผัสประสบการณ์ออฟโรดจริง
ผ่าน BMW X-Series ซึ่งนอกจากจะจัดให้สื่อมวลชนได้มาลองขับกันแล้ว BMW ยังถือโอกาสคืนกำไรให้กับลูกค้าปัจจุบัน
รวมถึงผู้ที่สนใจ โดยการให้มาลอง BMW X-Series แบบถึงใจ

โดยครึ่งเช้า จะเป็นการขับในรูปแบบ Training หรือฝึกทักษะกันก่อน โดยจะเน้นหนักในการฝึกท่านั่งขับขี่แบบออฟโรด
ฝึกการใช้เท้าซ้าย-ขวาในการขับขี่ และการควบคุมรถบนพื้นทราย รวมถึงโชว์ความสามารถของระบบ xDrive
ส่วนครึ่งบ่ายจะเป็นการขับขี่ในป่าจริง ซึ่งจะมีบางฐานที่เซ็ตสถานการณ์เอาไว้บ้าง

alt
alt
alt
alt

การขับขี่แบบ Training นั้น ทีมครูฝึกได้ชี้แจงว่าการขับขี่แบบออฟโรด ต้องมีการปรับตำแหน่งการขับขี่เพื่อ
ลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บของร่างกาย เพราะจะมีการกระแทกมากกว่าการขับขี่ทั่วไป ดังนั้นจึงควรปรับเบาะนั่ง
ให้มีตำแหน่งหลังที่ตรง รวมถึงการจับพวงมาลัย ไม่ควรเกี่ยวหัวแม่โป้งไว้ในวงพวงมาลัย เพราะการขับออฟโรด
บางครั้งพวงมาลัยจะมีอาการดิ้นจนอาจทำให้นิ้วโป้งบาดเจ็บได้

ฐานแรกเป็นการลองเร่งออกตัวบนพื้นลื่น แสดงให้เห็นการจัดการโอนถ่ายแรงบิดไปสู่ล้อทั้งสี่ได้อย่างฉลาด
จนตัวรถสามารถเร่งออกไปได้อย่างไม่เสียหลัก จากนั้นต้องขับผ่านเนินสลับ ทำให้ตัวรถสัมผัสพื้นไม่พร้อมกันทั้ง 4 ล้อ
ซึ่งตัวรถก็สามารถจัดการส่งกำลังไปยังล้อคู่หน้าและหลังได้อย่างเหมาะสม จนสามารถขับผ่านไปได้อย่างง่าย
โดยที่ผู้ขับขี่แค่ควบคุมคันเร่งและแป้นเบรก

เพียงแต่ในจุดนี้ต้องใช้วิธีควบคุมแป้นเบรกด้วยเท้าซ้าย และคันเร่งด้วยเท้าขวา ซึ่งแตกต่างจากการขับขี่เดิมๆที่ขับมาทั้งชีวิต
และต้องใช้เวลาปรับตัวพอสมควร เหตุผลที่ต้องเปลี่ยนการใช้เท้า เป็นเพราะในการขับขี่ออฟโรดนั้น การถนอมช่วงล่าง
ของตัวรถนั้นสำคัญที่สุด จึงต้องมีการขึ้นเนินและลงเนินอย่างนิ่มนวลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นการใช้เท้าเดียว
ในการเพิ่มและลดความเร็วนั้น อาจทำได้ไม่รวดเร็วพอ ดังนั้นจึงควรแยกเท้าในการควบคุมกันไปเลย (ซึ่งยากอยู่เหมือนกัน
แต่หากปรับตัวได้แล้ว ก็จะชิน และทำได้สบายไปเลย)

alt
alt
alt
alt

นอกจากนี้ยังมีการฝึกขับบนทางลาดเอียง ซึ่งระบบ iDrive จะสามารถแสดงผลตัวรถให้ดูบนหน้าจอจากเซนเซอร์ต่างๆ
ว่าตัวรถกำลังมีองศาการเอียงแนวราบและแนวดิ่งเท่าไหร่ รวมถึงบอกตัวเลของศา ช่วยให้ผู้ขับขี่เห็นภาพของตัวรถ
ได้ดี และช่วยระวังไม่ให้เกินลิมิตของตัวรถ (ในกรณีนี้ BMW X3 จะสามารถเอียงแนวราบได้มากที่สุด 30 องศา)
ซึ่ง X3 ก็ตอบสนองบนพื้นเอียงได้ดี ไม่แสดงอาการให้น่าหวาดเสียวแต่อย่างใด

(แต่ทั้งนี้ ผู้ขับขี่ต้องจิตแข็งเป็นทุนเดิมด้วยด้วยนะ ถ้าเป็นคนทั่วๆไปอาจมีกรี๊ดกันบ้าง)

สุดท้ายคือการขับบนพื้นทราย ฝึกการขับแบบ Power Slide ถือเป็นฐานที่สนุกที่สุดแล้วในทริปนี้ เพราะได้ฟาดทราย
ด้วย BMW X3 แบบเต็มๆ ปิดระบบ DSC, DTC ใช้ความสามารถส่วนตัวกันล้วนๆ เรียกได้ว่าแรงบิด 400 นิวตัน-เมตร
และระบบช่วงล่างได้มีโอกาสฟาดแส้แช่ทราย ทำหน้าที่ถวายตัวกันก็งานนี้ จบฐานด้วยการขับจิมคาน่า (ห้ามผันวรรณยุกต์ผิดเด็ดขาด)
ภาควิบาก ซึ่งสนุกมากๆ แต่อย่าถามผมว่าทำเวลาได้เท่าไหร่ เพราะดันสาดเข้าทรายแอ่งลึก เสียเวลาโข โธ่ถัง!

alt
alt
alt
alt
alt
alt

สำหรับครึ่งบ่ายเป็นของจริงเพราะต้องเข้าป่าหลังคลับแบบจริงๆ งานนี้มี BMW X3 LCI xDrive20d 6 คัน และ
BMW X5 xDrive30d 2 คัน (Luxury Line และ M Sport Line อย่างละคัน) เนื่องจากพี่ๆสื่อมวลชนในกลุ่มผมพร้อมใจ
กันเดินขึ้น BMW X3 กันหมด จึงเป็นโอกาสอันดีที่ผมได้ลองสัมผัส BMW X5 ในรุ่น Luxury Line โฉมใหม่ (คันสีดำ)

คือ..มันเลือกไม่ได้..แต่มองในแง่ดีว่ามันเป็น “โอกาสที่เรามี” ก็แล้วกัน เอาน่า..

BMW X5 โฉมล่าสุดนี้ ใช้รหัสตัวถัง F15 เป็นการเปลี่ยนโฉมใหม่หมดจดจากรุ่นเดิม (E70) ซึ่งเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2006
ต้องยอมรับว่าในครั้งแรกที่ผมได้เห็นรูปลักษณ์คันจริงในงานมอเตอร์โชว์ต้นปีที่แล้ว ผมไม่ค่อยประทับใจกับงานออกแบบเท่าไหร่นัก
เป็นเพราะความรู้สึกส่วนตัวว่าเส้นสายมันช่างรกรุงรัง แถมด้านหน้ายังมีความพยายามเชื่อมโคมไฟหน้าเข้ากับกระจังหน้าไตคู่
ได้ไม่ลงตัวเท่ากับที่เห็นกันใน 3-Series และ 4-Series เท่าไหร่นัก (สองคันในภาพด้านล่าง เป็นคันสีดำ รุ่น M Sport
ที่ BMW จัดมาให้ช่างภาพอิสระได้ถ่ายรูปโดยเฉพาะ คนละคันกับที่ใช้ในกิจกรรม)

alt
alt

แต่หลังจากการเห็นครั้งแรกไปนั้น ผมก็ได้กลับไปทำการศึกษางานออกแบบเพิ่มเติม จนจับใจความได้ว่ารถยนต์รุ่นนี้
เน้นเอาใจกลุ่มลูกค้าผู้ใหญ่และสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ดังนั้นงานออกแบบจึงต้องมาในแนวภูมิฐาน ใหญ่โต และจะ
ไม่ค่อยก้าวกระโดดงานออกแบบจากโฉมที่แล้วมากนัก จะเป็นเหมือนวิวัฒนาการ (Evolution) ของงานออกแบบมากกว่า
(กรณีเดียวกันกับ BMW 7-Series ซึ่งโฉมต่อไป ก็จะไม่แตกต่างจากรุ่นปัจจุบันแบบสุดโต่ง)

นอกจากนี้ฝากระโปรงท้ายยังเป็นระบบฝาบน-ล่าง อันเป็นเอกลักษณ์มาตั้งแต่เจเนอเรชั่นแรก ซึ่งในรุ่นคันสีเงิน จะถูก
ตกแต่งด้วยชุดแต่ง M Sport Package มีความแตกต่างอยู่ที่การเพิ่มชุดแอโรพาร์ทแบบ ‘M’ ขอบหน้าต่างตกแต่งด้วยสีดำเงา
ส่วนภายในเปลี่ยนพวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นเป็นแบบสปอร์ต M ใส่กาบบันไดพิเศษแบบ M และบุเพดานหลังคา
ด้วยสี Anthracite

รายละเอียดทางวิศวกรรมของ BMW X5 (F15) ในบ้านเรานั้น จะทำตลาดด้วยขุมพลังหลักคือ เครื่องยนต์ดีเซล N57
แบบ 6 สูบเรียง ขนาด 2,993 ซีซี พร้อมเทคโนโลยี TwinPower Turbo แต่จะถูกตอนกำลังลงจากเวอร์ชันตลาดโลก
จาก 258 แรงม้า เหลือ 218 แรงม้าที่ 4,000 รอบ/ แต่ยังคงมีแรงบิดสูงสุด 560 นิวตัน-เมตร ตั้งแต่ 1,500-2,000 รอบ/นาที เช่นเดิม
กำลังทั้งหมดจะถูกส่งผ่านเกียร์อัตโนมัติ Steptronic 8 จังหวะ สู่ระบบขับเคลื่อน xDrive

alt
alt
alt

แน่นอนว่า การขับภาคบ่ายนี้ จับอัตราเร่งได้น้อยมากๆแน่นอน เพราะการขับขี่เน้นไปทางออฟโรดเกือบทั้งหมด
ซึ่งจะให้เหยียบคันเร่งมิดลุยโขดหิน Super Splash ลงบ่อน้ำก็ไม่ใช่เรื่อง อย่าลืมว่าการขับออฟโรดซึ่งที่สำคัญที่สุด
คือการถนอมสภาพของรถให้สมบูรณ์มากที่สุด เพราะถ้ารถชำรุดกลางป่า…เราจะอดออกมาจากป่ากันนะครับ

การขับเข้าป่านั้น มีหลากหลายสถานการณ์ที่ต้องฟันฝ่าผ่านไปให้ได้ จนขับๆไปแล้วเริ่มสงสัย…นี่เป็นรายการโหด มัน ฮา
ภาครถยนต์หรือเปล่า? (ฮา) เพราะต้องขับผ่านขอนไม้ กองหินรูปทรงคมชวนหวาดเสียวว่ายางจะแตก ไปจนถึงทรายละเอียด
และบ่อน้ำที่มีความลึกประหนึ่งคราวน้ำท่วมกทม.เมื่อปี 2554 หนักไปกว่านั้น คือบริเวณป่าที่เราต้องขับผ่านไป
ล้วนแต่เป็นดง”งู”! มากันครบทั้งเห่า-จงอาง (คาดว่าถ้าพี่จิมมี่มาทริปนี้แล้วเห็นงู คงได้เห็นภาพ X5 วิ่งผ่าทุ่งข้าวโพดไปรอที่เต็นท์อย่างแน่นอน!!)

alt
alt
alt
alt

กว่าจะผ่านป่ากลับเข้ามาสู่จุดเริ่มต้นได้ ต้องงัดวิชาขับออฟโรดทุกกระบวนท่าออกมาอย่างครบถ้วน ทั้งการจับพวงมาลัย
และที่สำคัญที่สุด คือการใช้เท้าซ้าย-ขวาในการควบคุมแป้นเบรก-คันเร่ง จุดนี้สมาธิต้องแข็งมาก เพราะเป็นสถานการณ์จริง
หากพลาดแล้ว…พลาดเลย โดยเฉพาะด่านกองหิน ซึ่งถ้าลงรถไม่นุ่มนวล รถยนต์เสียหายแน่นอน

สิ่งหนึ่งที่ผมชอบในความแตกต่างของ BMW X-Series คือการติดตั้งระบบ Hill Descent Control ที่ใช้งานง่าย
เพราะเพียงกดปุ่มให้ระบบทำงาน ระบบจะควบคุมความเร็วขณะลงทางชันได้เองทั้งหมด นอกจากนี้ยังสามารถ
ตั้งความเร็วได้ง่ายๆ เพียงแค่เขี่ยปุ่ม +/- บนพวงมาลัย ก็สามารถเซ็ตความเร็วในการลงเนินตั้งแต่ 5-15 กม./ชม.
และระบบ xDrive ก็ช่วยจัดการโอนถ่ายแรงบิดที่เหมาะสมสู่ล้อหน้า-หลังให้เองทั้งหมดอัตโนมัติ
โดยที่ผู้ขับขี่ไม่ต้องจัดการอะไรเลยทั้งสิ้น!!

alt
alt
alt

ที่จับความรู้สึกได้ชัดเจน คือแรงบิดของเครื่องยนต์ดีเซลโดยเฉพาะใน BMW X5 ซึ่งทรงพลังพอจะให้ออกจากสถานการณ์
ในป่าได้อย่างสบายๆกันเลย เพราะบนขอนไม้ หรือแม้กระทั่งทรายลึก หินกรวด มันสามารถพาขับออกมาได้อย่างชิลล์ๆ เชิดๆ
เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

จบการขับป่าด้วยทางดินแดงยาวด้านหน้าที่ถูกขุดเป็นหลุมสลับกัน ผมถูกสั่งให้กดคันเร่งมิด ราวกับโห่ร้อง ฮูเร่!! หลุดป่าแล้ว
ได้สัมผัสกำลังเครื่องยนต์อย่างเต็มๆ พร้อมๆกับสัมผัสช่วงล่างถุงลมที่ถ่ายทอดความกระเทือนมาถึงเบาะได้น้อย (แต่ยังพอ
มีเสียงตึงตังให้ได้ยินบ้าง) จนมาจอดอยู่ที่เต็นท์พักของกลุ่ม อันเป็นการกลับมาสู่จุดเริ่มต้นอย่างสมบูรณ์

alt
alt

สังเกตไหมครับ? ว่าตั้งแต่ต้นบทความ ผมไม่ได้เอ่ยถึงความสำอางค์ เกี่ยวกับหัวข้อที่พะไว้ด้านบนสักนิดเลย

นั่นเป็นเพราะผมอยากให้คุณผู้อ่านลองอ่านตั้งแต่จุดเริ่มต้นของ BMW X-Series และระบบขับเคลื่อน xDrive
ไปจนถึงภาพสถานการณ์ที่รถเหล่านี้ต้องเจอ ใน BMW xDrive Xperience เพราะผมรู้ดีว่าเสียงในหัว
ของคุณผู้อ่านส่วนใหญ่ต้องเกิดคำถามเหมือนหัวข้อข้างต้นอย่างแน่นอน

แม้ผมจะคลางแคลงใจกับประเด็นความถึก ทนทานของตัวรถ อันเป็นประเด็นหลักข้อหนึ่งของรถยนต์กลุ่มนี้
โดยเฉพาะกับ BMW ซึ่งถือว่าเป็นรถยนต์ที่ขึ้นชื่อด้านการซ่อมบำรุงแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดในครั้งนี้
มันช่วยพิสูจน์แล้วว่า ระบบขับเคลื่อน xDrive คือพระเอกที่สามารถพาเราผ่านอุปสรรคต่างๆได้จริงๆ และที่สำคัญ
มันผ่านไปอย่างง่ายดายมากๆ เพราะมีความฉลาดในการจัดการระบบขับเคลื่อน ง่ายเสียจนเราแทบไม่ต้องยุ่งกับตัวรถ
เสมือนมีบอดี้การ์ด(ออฟโรด) เข้ามากันเราออกมาจากสถานการณ์คับขัน พร้อมกับบอกว่า “ไม่เป็นไร ผมช่วยเอง”

ที่สำคัญกว่าการลุยได้จริง คือคาแรคเตอร์ความเป็น ‘BMW’ ที่อัดแน่นอยู่ในตัวรถ ทั้งขุมพลังดีเซลทรงพลัง
การเก็บเสียงภายในห้องโดยสาร คาแรคเตอร์ช่วงล่างเน้นหนึบ แต่นุ่มนวล มันยังไม่จางหายไป
มันกลายไปเป็น ‘BMW ที่พร้อมสำหรับทุกสถานการณ์’

ทั้งหมดนี้มันคงพอจะเป็นคำตอบในตัวมันเองสำหรับคำถามที่คาในใจทุกคนนะครับ ว่า

BMW ทำรถลุย ติดหรู แล้วมันลุยได้จริงๆหรือเปล่า?

alt

———————————–///——————————————

ขอขอบคุณ

คุณ พิศมัย เตียงพาณิชย์ (พี่ไหม)
ฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร
บริษัท BMW Thailand จำกัด
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้

TOYD
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้น ภาพถ่ายขณะทดสอบรถในป่า ภาพรถยนต์ลุยทราย เป็นภาพโดยทีมงานช่างภาพอิสระ

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
28 มกราคม 2015

Copyright (c) 2015 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
January 28th, 2015