ผมล่ะรักภาษาอิตาเลียนตรงที่ความไพเราะของมันจริงๆ โดยเฉพาะเมื่อเป็นภาษาอิตาเลียน
ที่อยู่บนรถยนต์ มันทำให้รถคันหนึ่งดู “เซ็กซี่” ขึ้นมากเวลาเรียกชื่อ ถึงแม้พอรู้คำแปลแล้ว
คุณอาจจะมองว่าดูธรรมดา..ภาษาอิตาเลียนมีสิทธิพิเศษในการก้าวข้ามดีกรีเสน่ห์มากกว่า
ภาษาอื่น อย่างน้อยก็ในมุมมองของคนที่ไม่รู้ภาษาอิตาเลียนนั่นล่ะครับ

ดูอย่างชื่อ Super Leggera ใน Lamborghini สิครับ ฟังดูเหมือนมีนักร้องโอเปร่ากำลัง
แผ่อ้อมแขนเปล่งเสียงอยู่ตรงหน้าเรา แต่พอแปลเป็นไทย มันก็ได้เป็นคำว่า “โคตรเบา”
หรืออย่างชื่อรุ่น Maserati Quattroporte เวลาอ่อนออกเสียง ร.เรือชัดๆ โคตรเซ็กซี่
ควาตโตรปอระเต้ แปลเป็นคำไทยก็คือ “4 ประตู” และ Abarth 595 Biposto ชื่อฟังดู
นึกว่ามีเทอร์โบสองลูก แต่แท้จริงแล้วแปลว่า “2 ที่นั่ง”

นี่ยังไม่รวมถึงคำที่เขียนแล้วดูเซ็กซี่มีอภิสิทธิ์เสน่ห์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Piedi,
Culo, Fegato และ Occhio ซึ่งแปลเป็นไทยตามลำดับว่า ตีน, ตูด, ตับ และตา จะเห็น
ได้ว่าพระเจ้าแห่งโลกรถยนต์ได้ให้ความได้เปรียบทางการตั้งชื่อกับรถอิตาลีมากกว่า
รถจากชาติอื่นๆ ถ้าคนอิตาเลียนสร้างรถ “Quattroporte” มันจะฟังดูหรูหราโดยอัตโนมัติ
แต่ถ้าคนอังกฤษพยายามทำแบบเดียวกันแล้วสร้างรถ..อย่าง..เอ่อ.. Rover Fourdoor
หรือให้คนญี่ปุ่นพยายามทำ…โตโยต้า หยงโด๊อา แมวในซอยคงวิ่งหนีตั้งแต่ได้ยินชื่อแล้ว

832_opener

ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องแปลก ถ้ารถอิตาเลียนสักคันที่เป็นรุ่นสุดแสนพิเศษจะเกิดมาโดย
มีชื่อแค่ว่า “8.32” โดยไม่ได้ใช้สิทธิเสน่ห์ทางภาษา..ถูกล่ะคุณอาจจะบอกว่า Ferrari
ก็ใช้แค่ตัวเลขมาตลอดไม่เห็นต้องมีชื่อรุ่น แต่ถ้าเป็นรถธรรมดาลงมาหน่อย การใช้ชื่อ
เป็นตัวเลขธรรมดานี่ออกจะแปลก Lancia น่ะ สมัยทำ Delta ขาย พอเป็นตัวแรงพิเศษ
ยังกลายเป็น Delta Integrale (อินทิกราลี่) แล้วทำไมพอรถมาดพ่อบ้าน/นักธุรกิจอย่าง
Thema (เทม่า) มีรุ่นพิเศษออกมาบ้าง ทำไมมันจึงใช้ชื่อว่า Thema 8.32 และแค่นั้น?

ก่อนอื่นเราลองมาฟังเสียงเครื่องยนต์และเดินดูรอบคันกันก่อนมั้ยครับ?

 

และพอเปลี่ยนท่อไอเสียตรงเข้าหน่อย.. มันก็กลายเป็นแบบนี้

 

นี่ใครบ้าเอา 1UZ มาวางใส่รถพ่อบ้านอิตาเลียนหรือเปล่า? ตอบได้เลยว่าไม่ใช่ครับ
มันเป็นของมันอย่างนี้ตั้งแต่ออกจากโรงงานเลย แต่เป็นรถรุ่นพิเศษที่ทาง Lancia
ตั้งใจปั้นขึ้นมาเพื่อเติมไฟให้กับตลาดรถหรู โดยเอาเจ้า Lancia Thema นี่ล่ะมาทำ

original_Thema

ก่อนอื่นจะกล่าวย้อนถึง Thema ตัวธรรมดาก่อน..มันก็คือรถยนต์ขนาดใหญ่ (ใหญ่ของอิตาลี
ในสมัยวิกฤตการณ์น้ำมันเพิ่งเริ่มซา) Thema รหัสตัวถัง 834 นี้ใช้โครงสร้างแพลทฟอร์ม
Tipo Quattro (Type 4) ซึ่งลงทุนร่วมกับ Alfa Romeo, Fiat และ Saab ร่วมมือกันตั้งแต่ปี 1978
Alfa เอาแพลทฟอร์มนี้ไปทำเป็นรุ่น 164 ในขณะที่ Fiat เอาไปทำเป็นรุ่น Croma และ Saab
ก็เอาไปเป็นโครงกระดูกให้กับรุ่น 9000 นั่นเอง ไม่เชื่อดูประตูหน้ากับประตูหลังสิครับ
เหมือน Saab 9000 ขนาดไหน ในบรรดาสี่สหายนี่คงมีแต่ Alfa 164 นั่นล่ะที่ได้รับการศัลยกรรม
ภายนอกเสียจนไม่บอกไม่รู้ว่ากระดูกโครงเดียวกัน

ในขณะที่ Alfa ขายความเซ็กซี่ของตัวรถ Saab ขายความปลอดภัย Fiat ขาย..ขายอะไรก็ได้
ที่มันไม่แพงมากนักแล้ววิ่งได้ดี Lancia พยายามชูจุดเด่นให้กับ Thema โดยการเน้นคุณภาพ
การประกอบให้เหนือกว่า Croma และพ่นกันสนิมโลหะหลายต่อหลายจุดเพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็น
Lancia ที่ไม่ขึ้นสนิม Thema ในช่วงเปิดตัวปี 1984 นั้นมีเครื่องยนต์ให้เลือกไม่กี่แบบ และเป็น
เครื่อง 2 วาล์วต่อสูบแบบโบราณ เริ่มตั้งแต่ 2.0 ลิตร 120 แรงม้า ตามมาด้วย 2.0 ลิตรเทอร์โบ
165 แรงม้า และเครื่องดีเซล 2.5 ลิตร 100 แรงม้า

เท่านั้นยังไม่พอ Lancia ได้ยินว่าเพื่อนร่วมก๊วนอย่าง Alfa จะขาย 164 เครื่อง V6 ก็กลัวว่า
ตัวเองจะสู้ไม่ได้ เลยไปหาเครื่อง V6 มาใส่..สมัยนั้น Alfa ยังเป็นค่ายรถอิสระ ไม่ได้อยู่ในเครือ
Fiat นะครับ ดังนั้น Lancia จึงไปเที่ยวขอยืมเครื่องส่งเดชไม่ได้ ก็เลยจบที่การไปเจรจากับ
Renault ซื้อเครื่อง PRV V6 90 องศามาวางใส่ เป็นเครื่อง 2.8 ลิตร 150 แรงม้า แบบเกือบ
เหมือนกับที่อยู่ใน Volvo 264 กับรถ DeLorean DMC-12 นั่นล่ะครับ

แต่ในช่วงปี 1984-85 นั้นเอง กระแสรถสปอร์ตซาลูนพลังสูงค่อยๆก่อตัวขึ้นในยุโรป
สปอร์ตซาลูนที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นก็คือ BMW ซีรีส์ 5 รุ่น 535i, M535i แล้วก็ตามมาด้วย
M5 เจนเนอเรชั่นแรกซึ่งทำให้โลกเกิดศรัทธาแนวคิดการเอาเครื่องยนต์ที่พัฒนาโดยทีม
มอเตอร์สปอร์ตมาวางในรถบ้านแล้วทำให้มันขับสนุกขึ้นกว่าเดิม ในช่วงเวลานั้น Mercedes-Benz
ก็เพิ่งเปิดตัวบอดี้ W124 และได้ช่วยสนับสนุนให้สำนักต่างๆเอา 124 ไปทำเป็นเวอร์ชั่นซิ่ง
ไม่ว่าจะเป็น Brabus 3.2 และ 3.6 ที่ใช้เครื่อง M103 ของรุ่น 300E เป็นพื้นฐาน ไปจนถึง
เวอร์ชั่นโหดจาก AMG ซึ่งซุ่มศึกษาการเอาเครื่อง V8 M117 ของ S-Class W126 มาวาง
แล้วโมดิฟายฝาสูบเป็นแบบ 4 วาล์วต่อสูบ ทั้งหมดนี้เกิดในช่วงกลางทศวรรษที่ 80s ทำให้
Lancia เกิดคึกอยากจะทำสปอร์ตซาลูนพลังสูงกับเขาบ้าง เพราะนับตั้งแต่ Fulvia, Stratos
และ 037 จนถึง Delta นั้น แต่ละรุ่นก็ต่างช่วยกันสร้างชื่อเสียงทางด้านมอเตอร์สปอร์ต
จนกระฉ่อนโลก ดังนั้น Thema ถึงจะเป็นรถหรูผู้ใหญ่ก็ควรจะมีเวอร์ชั่นแรงเด่นๆกับเขาบ้าง
และลำพังแค่รุ่น 2.0 เทอร์โบ 165 แรงม้าน่ะ มันไม่พอสู้พวกเยอรมันได้หรอก

แต่ทำยังไงดี เพราะจะสร้างรถซาลูนมาอีกรุ่นนึงเลยก็คงใช้เงินเยอะ
และไอ้เจ้า Thema ที่ร่วมมือพัฒนากับพันธมิตรน่ะมันเป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้า

Lancia มองซ้ายมองขวา..แล้วก็ไปเจอ Ferrari..แล้วก็นึกขึ้นได้ว่า เออ จริงสิ..ทั้ง Lancia
และ Ferrari นี่มันก็เป็นศิษย์ในสังกัดเสด็จพ่อ Fiat ด้วยกันทั้งนั้น ทั้งคู่ถูก Fiat เข้าซื้อกิจการ
ในปี 1969 เหมือนกัน ดังนั้นถ้าจะขอหยิบยืมเครื่องมาใช้ก็คงจะได้..แล้วก็จะสามารถกระหน่ำ
โฆษณาได้ว่าถึงเป็น Lancia แต่ใช้หัวใจ Ferrari มันก็ต้องมีคนสนบ้างล่ะวะ

Lancia เลยเข้าตีซี้ Ferrari โดยมี Fiat ช่วยเจรจา (แกมบังคับ) ให้ Enzo ก็เลยเซ็นอนุมัติ
ส่งเครื่องยนต์และทีมช่างเทคนิคเข้ามาช่วยปรับปรุงเครื่องให้เหมาะกับการติดตั้งลงใน
รถขับเคลื่อนล้อหน้าเครื่องวางขวาง…จะเรียกมันว่า Ferrari ขับหน้าก็คงเกือบถูกแหละ

 

832_enginebyferrari

เครื่องยนต์ของ Thema 8.32 นั้น ก็คือเครื่องแบบ F105L ที่อยู่ใน Ferrari 308 Quattrovalvole
และ Mondial นั่นเอง เป็นเครื่อง V8 DOHC ต่อฝั่งลูกสูบ ความจุ 2,926 ซี.ซี. อัตราส่วนกำลังอัด
9.5:1 ในรถรุ่นแรก (Series 1) สร้างแรงม้าได้ 215 แรงม้า (PS) ที่ 6,750 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด
285Nm ที่ 4,500 รอบต่อนาที (เครื่องของ Ferrari จะมี 240 แรงม้า แต่แรงบิดเท่าๆกัน)
หลังจากนั้นรถ Series 2 ที่ผลิตตั้งแต่ปี 1989 เป็นต้นไป มีการเพิ่มเครื่องกรองไอเสียเข้ามา
ทำให้แรงม้าลดลงมาเหลือ 205 แรงม้า (PS) และแรงบิดลดลงมาเหลือ  263Nm ที่ 5,000
รอบต่อนาที

อ่านมาถึงตรงนี้คงทราบแล้วว่า 8.32 คืออะไร..8 ก็ 8 สูบไงครับ ส่วน 32 คือจำนวนวาล์ว

บางคนอาจจะสงสัยว่าแรงม้าที่หายไปเมื่อเทียบกับ Ferrari เกิดมาจากอะไร คำตอบคือฝาสูบ
คนละตัวกัน และวาล์วของ Thema 8.32 นั้นมีขนาดเล็กกว่า นอกจากนี้ยังเปลี่ยนเพลาข้อเหวี่ยง
จากแบบ Flat plane มาเป็นแบบ Cross plane ทำให้เสียงของเครื่องยนต์ไม่เหมือน Ferrari V8
แต่กลับไปเหมือนเครื่อง V8 ของ Mustang รุ่นเก่าหรือ 1UZ-FE มากกว่า การเปลี่ยนข้อเหวี่ยง
มีข้อเสียคือจังหวะการคายไอเสียของแต่ละสูบจะมีจังหวะที่ไอเสียตีกัน แรงม้าจะลด แต่ข้อดีคือ
รอบเดินเบาสั่นน้อยกว่า และการทำงานราบเรียบกว่าเวลาเร่ง เพราะจังหวะการจุดระเบิดที่ต่างกัน

นึกไม่ออกว่า Flat plane กับ Cross plane ต่างกันยังไง?..เอ้าดู สังเกตการเคลื่อนที่ขึ้นลง
ของลูกสูบ V8 Flat plane แต่ละฝั่งลูกสูบการเคลื่อนที่ขึ้นลงมันจะเหมือนเครื่อง 4 สูบ

การใช้ข้อเหวี่ยงที่ต่างกันยังทำให้เสียงของเครื่องยนต์ที่ออกมาต่างกันด้วย
ถ้าฟังที่รอบสูงๆ เทียบกับเครื่องของ 308 แล้วจะรู้สึกว่า Ferrari แผดแว๊นกว่าอย่างรู้สึกได้

หลังจากเสร็จเรื่องเครื่องยนต์ ทีมวิศวกร Lancia ก็ได้ปรับส่วนอื่นของรถเพิ่มเพื่อให้รับกับ
ขุมพลัง V8 ที่แขวนไว้ข้างหน้ารถ ช่วงล่างถูกเปลี่ยนใหม่ไปใช้โช้คอัพแบบที่ปรับความแข็ง
ด้วยระบบไฟฟ้าได้ เปลี่ยนเบรกชุดใหม่ แล้วก็เปลี่ยนชุดแร็คพวงมาลัยใหม่เป็นของ ZF
ที่มีอัตราทดไวขึ้นกว่าปกติ

ระบบส่งกำลัง เป็นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ อัตราทดดังนี้
เกียร์ 1-3.500
เกียร์ 2-2.312
เกียร์ 3-1.523
เกียร์ 4-1.156
เกียร์ 5-0.917
เฟืองท้าย-3.563

เมื่อรวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน ผลที่ได้ก็คือ Thema 8.32 รุ่นแรก ซึ่งเปิดตัวในปี 1986

ซีรีส์แรก รุ่นไฟหน้าตั้งขนาดใหญ่ขายตั้งแต่ปี 1986 ไปจนถึงประมาณปี 1989 ก่อนจะไมเนอร์เชนจ์
ตามรถ Thema รุ่นอื่นให้ดูทันสมัยขึ้น รถสีแดงที่สแกนภาพมาจากโบรชัวร์และใช้ในบทความนี้
เป็นรถซีรีส์ 2 พวงมาลัยซ้ายสเป็คที่ส่งขายญี่ปุ่น (ไม่แปลก ในญี่ปุ่นช่วงก่อนหน้านี้ รถยุโรป
มักจะเป็นพวงมาลัยซ้ายกันเยอะ และวิ่งไปตามถนนในญี่ปุ่นได้ บางคนมองว่าเป็นเรื่องเท่ด้วยซ้ำ)

832_Lancia_Stand 832_dimension01 832_dimension02

Thema 8.32 สามารถเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ได้ภายในเวลา 7.2 วินาที (ตามสเป็คเคลมไว้
6.8 วินาที) ควอเตอร์ไมล์ได้ภายในเวลาประมาณ 15.4 วินาที ความเร็วสูงสุด 240 กม./ชม.
เราต้องเลือก ว่าอยากจะมองตัวเลขระดับนี้ในแง่ดีหรือในแง่ร้าย

ถ้ามองในแง่ดี..ตัวเลขนี้อาจจะธรรมดาเมื่อเทียบกับรถบ้าน รถแฮทช์แบ็คเทอร์โบของปี 2015
ในเมื่อ 30 ปีที่แล้วน่ะ S-Class ที่แรงที่สุดจากโรงงานยังมีม้า 300 ตัวถ้วนๆ รถบ้านที่แรงที่สุด
ของประเทศไทยสมัยนั้นคือ Nissan Bluebird Turbo และ Volvo Turbo ซึ่งก็มีแรงม้าอยู่
ราวๆ 135-143 แรงม้า สมัยนั้นการมีม้า 200 ตัวใต้ฝากระโปรงในโลกของคนทั่วไปนี่ถือว่าแรงจัด
ปี 85 นี่รถบ้านในประเทศไทย 85 ม้านี่ก็สมตัวแล้ว สมัยนี้ 140-190 ม้ามีวิ่งกันทั่วไป ถ้าจะพยายาม
สัมผัสความรู้สึกของคนสมัยนั้นว่า 215 ม้าน่าตื่นเต้นขนาดไหน ลองนึกภาพว่าถ้าเป็นสมัยนี้
คุณคิดยังไงล่ะถ้ามีรถบ้านอารมณ์ประมาณ Volvo S80 ที่เอาเครื่อง Ferrari California V8 มาวาง?

ดังนั้น Thema 8.32 นี่ก็ถือว่าแรงใช้ได้

จนกระทั่งคุณมาค้นพบเอาตอนหลังว่ารถ Thema 2.0 i.e. Turbo 8 วาล์วในสายการผลิตธรรมดานั้น
สามารถเร่งประกบออกตัวไปพร้อมๆกันได้ เพราะแรงบิด 290Nm ของตัวเทอร์โบน่ะ ชนะเครื่อง
V8 บล็อคซูเปอร์เล็ก 2.9 ลิตรนิดๆ แถมเรียกใช้ได้ตั้งแต่รอบต่ำ ก็มีแค่ช่วงปลายๆนั่นล่ะที่ 8.32
จะฉีกออกไป ยิ่งตอนหลังปี 1989 เมื่อไมเนอร์เชนจ์แล้ว ตัว 2.0 เทอร์โบได้ฝาสูบ 16 วาล์วมาใช้
ทำแรงม้าได้ 180 แรงม้าในขณะที่ตัว 8.32 พอติดเครื่องกรองไอเสียเข้าไป ม้าลดเหลือ 205 ตัว
กลายเป็นว่าไอ้รถเครื่อง 4 สูบเล็กๆที่ Lancia มองว่าเจ๋งไม่พอในตอนแรกนั่นแหละ ไล่ฆ่าไอ้ 8 สูบ
ได้แบบหนาวสันหลังเหมือนกัน

832_dashboard 832_interior

และด้วยราคาที่แพงระดับ 40,000 ปอนด์เมื่อมันขายในอังกฤษยุคนั้น ทำให้ Thema 8.32
กลายเป็นของแปลกสำหรับคนมีเงิน และคนมีเงินเยอะๆส่วนหนึ่งก็มักเลือกที่จะคบกับ
BMW หรือ Benz มากกว่า Lancia ซึ่งแม้จะพยายามยกตัวเองให้ดูพรีเมียมด้วยลายไม้
ที่เป็นไม้จริง ผ่านการขัดแต่งและเคลือบเงาด้วยมือคนล้วนๆ มีออพชั่นเบาะหนังอย่างดี
จาก Poltrona Frau แถมด้วยหน้าปัดและมาตรวัดเฉพาะตัว นักเลงรถส่วนใหญ่ก็ยัง
มีความรู้สึกว่าหน้าตาของมันจืดชืดผิดวิสัยเซ็กซี่อิตาลี ภายนอกดูไม่ค่อยต่างจากรถทั่วไป
มีแค่ปีกหลังทรงแปลกนั่นล่ะที่เด่น เพราะเป็นปีกหลังทำงานด้วยไฟฟ้า กางและเก็บได้
แถมตั้งโหมดออโต้ให้ปีกกางออกมาโดยอัตโนมัติที่ 128 กม./ชม. ได้อีกด้วย

832_lussointelligente

การมีลูกเล่นกับความหรูหรา ยังไม่สามารถสร้างความโดดเด่นได้มากพอ มันเป็นรถที่ดูน่าสนใจ
เมื่อมันเปิดตัวครั้งแรก แต่โลกของสปอร์ตซาลูนก้าวไปอย่างรวดเร็ว ในปี 1989 เมื่อ 8.32
ถูกไมเนอร์เชนจ์ BMW ก็เผยโฉม M5 E34 ซึ่งมีแรงม้าสูงกว่ากันอยู่กว่า 100 แรงม้า และยัง
เป็นรถขับเคลื่อนล้อหลังที่มีการกระจายน้ำหนัก 50:50 ทำให้เป็นรถที่ขับสนุกกว่า ส่วน Lancia
นั้นประสบปัญหาเดียวกับที่รถขับหน้าเครื่องหนักๆใหญ่ๆทุกคันเจอ นั่นก็คืออาการหน้าดื้อ
อย่างรุนแรงเวลาเข้าโค้ง

832_cutway

นับจากปีนั้นเป็นต้นมา นอกจาก M5 แล้ว บริษัทรถค่ายอื่นๆก็ส่งซาลูนแสบออกมา
Mercedes-Benz ส่ง 500E มาในปี 1992 แต่ก่อนหน้านั้นก็ให้ AMG เอาเครื่อง S-Class
มาโมดิฟายท่อนล่างเป็น 6.0 ลิตร และเปลี่ยนฝาสูบเป็น 4 วาล์วต่อสูบ ทำให้ Hammer
เจนเนอเรชั่นหลังๆมีแรงม้าระดับ 360-375 แรงม้า อย่าว่าแต่ Thema เลยครับ M5 เอง
ยังหนาวๆสั่นๆเมื่อเจอตัวเลขระดับนี้ สุดท้ายมาเจอพันธมิตร Opel/Vauxhall/Lotus
เอารถบ้านอย่าง Opel Omega/Vauxhall Carlton มาให้ Lotus ขยายปอดเป็น 3.6 ลิตร
อัดเทอร์โบ T25 สองตัว สร้างแรงม้าระดับ 382 แรงม้า วิ่งทะลุ 280 ก.ม./ช.ม. ทุกค่ายที่
กล่าวมาข้างต้นคือโดนรับประทานหมดตั้งแต่ 2 เกียร์แรก

Thema 8.32 เลยค่อยๆ เฟด หายไปจากวงการสปอร์ตซาลูนอย่างช้าๆ ยิ่งผ่านปี 90 มา
ฝั่งญี่ปุ่นก็ยิ่งทำรถสไตล์สปอร์ตซาลูนออกมาแข่งมากขึ้น แม้ว่าส่วนมากจะขายอยู่แค่ใน
ประเทศญี่ปุ่น แต่รถอย่าง Subaru Legacy Turbo ก็ถูกนำไปขายในหลายประเทศ
รวมถึงในยุโรป มันมีพลังใกล้เคียงกับ Thema 8.32 แต่ด้วยระบบขับเคลื่อน 4 ล้อทำให้
การบังคับควบคุมคมกว่ามาก และที่สำคัญคือ 8.32 คันนึงราคาแพงเท่าๆกับ Legacy 2 คัน

รถ 8.32 คันสุดท้าย ออกจากโรงงาน San Paolo เมือง Turin ในปี 1992 Lancia ได้ผลิต
Thema 8.32 ไปทั้งสิ้น 3,971 คัน โดยทุกคันออกจากโรงงานเป็นรถพวงมาลัยซ้าย
(บางคันถูกแปลงเป็นพวงมาลัยขวาในภายหลัง) หลังจากรุ่น 8.32 เลิกผลิต ทาง Lancia
ก็ปรับพลังของรุ่น 2.0 Turbo 16V ขึ้นเป็น 205 แรงม้า และขายต่อจนกระทั่ง Thema ทั้ง
เจนเนอเรชั่นถูกยกเลิกการผลิตในปี 1994

ถึงแม้ 8.32 จะไม่ใช่รถมีชื่อเสียงโด่งดัง พูดชื่อแล้วเด็กรู้จักกันมากแบบ M5 หรือ AMG
แต่มันก็เป็นรถที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวตรงที่ความกล้าที่จะลองหาทางออกแบบแปลกๆ
สไตล์อิตาลี เด็กยุคใหม่ที่เกิดมาหลังยุคการกระหน่ำลดต้นทุนในโลกรถยนต์อาจจะ
ไม่ได้เห็นความบ้าในลักษณะนี้อีกแล้ว เพราะอะไรก็ตามที่ทำออกมาแล้วไม่สร้างกำไร
มันก็ไม่มีค่าทางธุรกิจ แต่ของที่ไม่เพิ่มคุณค่าทางธุรกิจหลายต่อหลายอย่างน่ะ
สร้างประวัติศาสตร์มาเยอะแล้ว และยังเป็นอานิสงส์ให้ของธรรมดาๆหลายอย่างของ
ค่ายรถบางค่ายขายดีขึ้นอีกด้วย


 

Pan Paitoonpong
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และภาพถ่าย โดยผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
 5 ธ.ค. 2015

Copyright (c) 2014 Text and Pictures
Use of such content either in part
or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
December 5th, 2015

Copyright © 2009-2015 Headlightmag.com, All rights reserved.