ตั้งแต่เริ่มมีข่าวว่า Mazda Sales Thailand จะนำ CX-3 เข้ามาประกอบขาย
และเปิดตัวในประเทศไทย ตังแต่ช่วง ปลายปี 2014 จนถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้
บรรดาผู้คนที่ติดตามข่าวสารด้านรถยนต์ แม้แต่พนักงานขายตามโชว์รูมของ
Mazda เอง ต่างถามไปตามสื่อมวลชนสำนักต่างๆ กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

ตัวอย่างคำถามที่เจอ หนะเหรอครับ? แทบจะยกขึ้นเป็น คำถาม FAQ
ประจำทุกสัปดาห์ไปแล้วกระมัง!

– CX-3 จะมาเปิดตัวในเมืองไทยหรือเปล่าครับ?
– วางเครื่องยนต์ แบบไหน?
– ราคาเท่าไหร่?
ฯลฯ อีกมากมาย

ไม่เว้นแม้แต่ Headlightmag.com ของเรา ที่ดูเหมือนว่าจะเจอคำถามเหล่านี้
มาตลอดแทบทุกวัน อย่างน้อย วันละ 2-3 ราย

ยิ่งโดยเฉพาะในรายการวิทยุ DR!VE By J!MMY (FM 93.5 MHz. ช่วงบ่าย
วันเสาร์ 16.00 – 18.00 น.) ผมกับ เมธี เจอทุกสัปดาห์ครับ อย่างน้อยๆ ต้องมี
โผล่มาละ 1-2 ราย ที่จะถามถึง B-Segment Crossover รุ่นล่าสุดจากผู้ผลิตรถ
ชาว Hiroshima กันอย่างนี้ บางสัปดาห์ มากัน 5-6 รายเลยทีเดียว!

อย่างเมื่อวันเสาร์ 12 กันยายน 2015 ที่ผ่านมานี่ก็เช่นเดียวกัน ถามมากัน
เยอะ หลายรายมาก จนผมต้องตัดสินใจ ประกาศออกไปให้รับรู้โดยทั่ว

ว่า…ทุกสิ่งที่คุณอยากรู้ เกี่ยวกับ Mazda CX-3 ผมจะตอบให้อย่างครบถ้วน
เท่าที่พอจะเปิดเผยได้ หลังจากที่ผมได้ไปทดลองขับรถรุ่นนี้ ในสัปดาห์
ถัดไป…

เพราะคราวนี้ ผมจะต้องไปเริ่มสัมผัสประสบการณ์แรกกับ CX-3 กันไกล
ถึงดินแดน Down Under ของแผนที่โลก อย่าง Australia!

2015_09_14_17_Mazda_CX_3_Trip_Melbourne_01

ผมไม่เคยเดินทางไป ออสเตรเลีย มาก่อน รู้แต่ว่า เมื่อเอ่ยถึงประเทศนี้
ขึ้นมาเมื่อไหร่ แทบทุกคน จะต้องนึกถึง จิงโจ้ หมีโคอาล่า รวมทั้งการ
ทักทายยามเช้า ด้วยสำเนียงแปร่งๆทะแม่งๆ อย่างเช่น…

“Good die! How are you to die?
เพิ่งเจอหน้ากันแหม็บๆ เขาก็ดันทะลึ่งทักทายเราว่า “เป็นไงบ้างที่ได้ตาย!”

เอ่อ…สำเนียงฝรั่งพื้นเมืองเขาก็ไม่ได้แปร่งถึงขนาดน้านนน!

สำหรับคนชอบรถอย่างผม อาจจะนึกถึงรถยนต์เพิ่มเติมอีก 2 รุ่น นั่นคือ
Holden Commodore / Calais และ Ford Falcon เพราะนั่นคือ 2 ผลผลิต
สำคัญที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเอาใจลูกค้าในประเทศแห่งนี้ รวมทั้งประเทศ
หมู่เกาะทางฝั่งตะวันออก บ้านใกล้เรือนเคียง อย่าง New Zealand

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมรถยนต์ ในออสเตรเลียเอง ก็มาถึงจุดส่งท้าย
ไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อทั้ง GM/Holden , Ford และ Toyota ยอมตัดสินใจ
ประกาศปิดโรงงานของพวกเขา ทั้ง 3 แห่งที่เหลืออยู่ นั่นทำให้บรรดา
ผู้ผลิตชิ้นส่วน และบริาทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่นี่ ต้อง
มาถึงจุดจบพร้อมๆกัน อย่างน่าเสียดาย

นั่นเพราะ ตลาดรถยนต์ที่นี่ และ New Zealand เริ่มหดตัวลง ยอดขาย
รถใหม่ เริ่มนิ่ง ไม่ขยายตัวอีกแล้ว อีกทั้งความต้องการในรถยนต์นั่ง
ขนาดใหญ่แบบมาตรฐาน (Holden ตระกูล Commordors และ Ford
ตระกูล Falcon เริ่มลดลง เริ่มขายไม่ออก จนทั้ง 2 ค่าย เตรียมเลิก
ทำตลาดในช่วงปี 2016 – 2017 นี้ อย่างน่าเสียดาย

แล้วพวกเขาจะซื้อรถใหม่จากไหนกันละ? ไม่ต้องตกใจ เมืองไทยเรา
นี่แหละครับที่จะกลายเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายสำคัญ เข้าไปจำหน่าย
ในบ้านของเขา อย่าลืมว่า ทุกวันนี้ เรามีข้อตกลงทางการค้า FTA หรือ
ย่อมาจาก Free Trade Area กับรัฐบาลออสเตรเลีย อยู่แล้ว นอกจากนี้
ยังมี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และอีกหลายชาติที่มีสำนักงานใหญ่
ของบริษัทรถยนต์แบรนด์ดังๆ ตั้งอยู่ พากันส่งออกรถยนต์ไปยังดินแดน
แห่งนี้อยู่ก่อนแล้ว

แต่สำหรับ Mazda กิจการของพวกเขา ที่นี่ โตวันโตคืน เพราะ Mazda
เป็นรถญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมสูงมาก เป็นรองก็แค่ Toyota กับ Nissan
เท่านั้น เมื่อดูยอดขายในแต่ละปี พวกเขามักจะติดอันดับ Top 5 ของ
ประเทศที่ขาย Mazda ได้เยอะสุด เสมอมา

อีกทั้ง CX-3 ซึ่งเพิ่งเปิดตัวที่เมืองจิงโจ้ไปพักใหญ่ ก็ทำยอดขายขึ้นมา
เป็นอันดับ 3 ฟัดเหวี่ยงกับเจ้าตลาดในกลุ่มอย่าง Hyundai Tuscon
และ Mitsubishi ASX / RVR ได้เลยทีเดียว กลายเป็นความหวังที่จะ
ทำให้ Mazda Australia Pty. ทำยอดขายเข้าเป้า 110,000 คันใน
ปลายปีนี้ ได้ง่ายดายขึ้น

ไหนๆ ก็ไหนๆ Mazda บ้านเรา เลยพามาลองขับ CX-3 กันถึงที่นี่เลย
จะดีกว่า เพราะไหนๆ สเป็กของบ้านเรากับ ออสเตรเลีย จะแตกต่างกัน
ไม่มากนักอยู่แล้วนี่ อีกทั้งทาง Mazda เอง ก็อยากจะพาสื่อมวลชน
ไปลองขับรถบนเส้นทางใหม่ๆ ที่ไม่เคยไปกันมาก่อนด้วย นั่นละครับ
เหตุผลที่ทำให้เราต้องบินมาไกลกันถึง เมลเบิร์น

เอาละ…ถ้าพร้อมแล้ว…ก็….”ไปกันเถอะค่ะ พี่สุชาติ!”

2015_09_14_17_Mazda_CX_3_Trip_Melbourne_02

14 กันยายน 2015

เดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยเครื่องบิน แบบ Boeing 777-300ER
เที่ยวบินที่ TG461 ของการบินไทย ถึงสนามบิน Melbourne เวลา 20.00 น.
ตามเวลาท้องถิ่น

นับเป็นโชคดีเกินคาด สำหรับผม เพราะเที่ยวบินนี้ ว่างถึง 163 ที่นั่ง ดังนั้น
ผู้โดยสารแต่ละคน เมื่อขึ้นเครื่องกันด้วยความรวดเร็ว ต่างก็แยกย้ายกันไป
จับจองเบาะในแถวที่ตนเองต้องการ เพื่อจะแปรสภาพเป็นเตียงนอนจำเป็น
นับเป็นการคืนกำไรให้ผู้โดยสาร อย่างที่ทุกคนก็แฮปปี้ ที่ การบินไทยคงจะ
ไม่ค่อยยินดีเท่าไหร่ งานนี้ ซื้อตั๋ว 1 ใบ เหมือนได้ 3 ที่นั่งรวด งานนี้ผมจึง
ไม่ต้อง Upgrade เป็นชั้น Bussiness Class ให้เสียเงิน เสียไมล์สะสม และ
เสียเวลาเล่นๆ (ไชโย!)

บริการของสจ๊วต เพอร์เซอร์ และ แอร์โฮสเตส ทุกท่าน อัธยาศัยดี และยัง
เป็นกันเอง ดีมากๆ สมดังมาตรฐานของการบินไทยที่เคยมีมาในอดีต

ออสเตรเลีย เป็นประเทศที่ดูจะเข้มงวดมาก กับการนำอะไรก็ตามเข้าไป
ในประเทศของเขา แม้แต่อาหารที่เตรียมมา ก็ต้องทิ้งไว้บนอากาศยาน
พอเครื่องบิน เทียบประตู Gate เรียบร้อย ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ
เดินขึ้นมาตรวจสอบความเรียบร้อยก่อน ว่า ไม่มีสิ่งแปลกปลอมปะปน
เข้าสู่ดินแดนของพวกเขา

ถึงจะดูเข้มงวด สารพัดขู่ต่างๆนาๆ แต่พอเจ้าหน้าที่ ตรวจคนเข้าเมือง
สองคน รู้ว่า พวกเรามาทดสอบ Mazda CX-3 พวกเขาก็ชวนเราคุยกัน
พักใหญ่ และพวกเขาดูจะเป็นมิตรกับเราขึ้นมาทันที!

หลังผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง และรับกระเป๋าเรียบร้อยแล้ว เราเดินทาง
โดยรถบัส ออกจากสนามบิน เข้าพักที่ โรงแรม Westin Melbourne อันเป็น
ที่พักในคืนแรก และคืนที่ 3 ของทริปนี้

ผู้จัดการประจำเวรดึก ผมขอเรียกเธอว่า “เจ๊แหม่ม” นางค่อนข้างเรื่องเยอะ
ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว เจรจาเหมือนจะง่าย แต่ก็ไม่ง่าย เช่นเดียวกันกับ
ลิฟต์ของโรงแรม ซึ่งต่อให้เสียบ Key Card เข้าไป แล้วกดเลือกชั้นที่คุณ
พำนัก บางที มันก็จะออกอาการเอ๋อๆ น่าจะตามช่าง ของ KONE มาซ่อม
ให้เรียบร้อยก็ดี

ห้องพักที่นี่ สะอาดมาก มาตรฐานดีมาก คืนละ 290 เหรียญออสเตรเลีย
มีอาหารเช้าให้ แต่ไม่มี Free Wifi ในห้องนะ ถ้าอยากได้ฟรี ต้องลงมา
นั่งเล่นมือถือที่ Lobby ของโรงแรมเอาเอง

มื้อค่ำคืนแรกในออสเตรเลีย ขอปิดท้ายด้วย เบอร์เกอร์เนื้อวากิว ซึ่งเป็น
Signature ของทางโรงแรม ผมว่า พ่อครัวเก่งใช้ได้เลยในการปรุงเนื้อ
ราคาแพงอย่างวากิว ให้มีรสชาติ ไม่ต่างอะไรกับ เนื้อในเบอร์เกอร์
ของ แม็คโดนัลด์ ในบ้านเรา! แต่แพงมาก จานละ 34 เหรียญ (AUS)!

2015_09_14_17_Mazda_CX_3_Trip_Melbourne_03

15 กันยายน 2015

ตื่นแต่เช้าตรู่ ท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวเหน็บจากสายฝนที่โปรยปราย
มาตั้งแต่เมื่อคืนนี้ พอถึง 8 โมงเช้า ถึงลมจะแรง แต่เมฆเริ่มคลี่คลาย เผย
ให้เห็นแสงแดดเจิดจ้าเต็มท้องฟ้า เป็นนิมิตหมายที่ดี

รับประทานอาหารเช้าในโรงแรมเสร็จแล้ว เราเช็คเอาท์ คืนห้องพัก ก่อน
เข้าห้องประชุม รับฟังรายละเอียดของตัวรถ จากทีมวิศวกรของ Mazda
ที่บินมาจากญี่ปุ่นเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ทั้ง Mr.Tomiyama หัวหน้าทีม
พัฒนา CX-3 และ Mr.Matsuda หัวหน้าทีมออกแบบ รวมทั้งการกล่าว
ต้อนรับจาก เจ้าหน้าที่ฝ่าย PR ของ Mazda Motor Australia Pty และ
ทีม Organizer ผู้จัดเตรียมงานและวางเส้นทาง รวมทั้งการแนะนำให้
เราไดใช้เครื่องนำทาง Tripy-II ซึ่งผมว่า ใช้งานง่าย เข้าใจง่ายกว่าที่คิด

พร้อมแล้ว ก็ออกรถสิครับ! งานนี้ Mazda ปล่อยให้วิ่งกันแบบ Free-run
ไม่ต้องขับเป็นขบวน ใครอยากจะไปทางไหน ขับตามแผนที่ไปได้เลย
เดี๋ยวไปเจอกันที่จุดหมายปลายทาง

Mazda จับคู่ให้ขับรถ คันละ สองคน แต่สำหรับรถคันที่ผมขับ พี่อุทัย
PR ใหญ่ ของ Mazda Sales Thailand จับให้นั่งกับ Navigator ส่วนตัว
ประจำทริปนี้ ไม่ใช่ใครอื่นไกล เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ
Mazda Motor Corporation ที่มาทำงานในเมืองไทย Mr. Saito ที่เรา
คุ้นเคยกันมาหลายปีแล้วนั่นเอง หัวหกก้นขวิดกันมาหลายทริปแล้ว
ตั้งแต่ หลวงพระบาง ปี 2012 CX-5 ไป New Zealand ปี 2013 และ
งานอื่นๆ ในประเทศไทย อีกมากมาย

แอบคิดมาตั้งแต่อยู่เมืองไทยแล้วว่า ถ้า พี่อุทัย จะจับคู่ให้ผมนั่งขับ
กับ Saito-san เหตุการณ์เก่าๆ อาจเกิดขึ้นเหมือนฉายหนังซ้ำแน่ๆ

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ผมไปขับ CX-5 ที่ New Zealand ช่วงระหว่าง
เดินทางไปยังเมือง Wellington พี่เค้า ก็ไม่ได้ช่วยดูทางอะไรเลยฮะ
คุณผู้อ่าน ด้วยความที่พี่แกเพลียมาก ก็หลับปุ๋ยไป..ผมจะไม่ห่วงเลย
ถ้าคืนนั้นผมนอนมาเต็มที่ แต่ตอนนั้น นอนไม่พอ ผลก็คือ ขับไป
ง่วงไป คอยเขย่าตัวเองไปตลอดทาง ฝ่าฝนตก ทางคดเคี้ยว และ
สภาพการจราจรต่าๆ จนถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย ทั้งที่เจ้าตัว
กรนดัง คร่อกกก ฟี้ๆๆ ตลอดทาง….

ภาพวันนั้น มันกลับมาหลอกหลอนผมในทริปนี้จนได้ ฮ่าๆๆๆๆ

แน่สิครับ ออกจากหน้าโรงแรมปุ๊บ ผมก็เริ่มหลงทันที  Saito-san
ก็ดูจะมึนๆ กับสมุดใบนำทาง ที่ทีมงานฝรั่งเขาจัดทำมาให้อย่าง
ละเอียด สุดท้าย ก็ต้องอาศัยขับตามรถคันอื่นที่อยู่ร่วมขบวน
ออกจากตัวเมือง ขึ้นทางด่วนสาย M1 ได้จนสำเร็จในที่สุด

เราเดินทางมาเรื่อยๆ ผ่านเส้นทางราดยางมะตอย แบบลอนคลื่น
ของถนนชนบทในรัฐ Victoria ขึ้นเนินเขาสูงชัน ลัดเลาะมาถึง
จุดแวะพักรับประทานมื้อเที่ยง นั่นคือ ไร่ไวน์ Del Rios Winery
บนภูเขา Mount. Anakie นั่นเอง (http://www.delrios.com.au/)

ที่นี่ตกแต่งด้วยบรรยากาศแบบ ชาวละติน ทำฟาร์มไวน์ อาหาร
ของร้านนี้ จึงมีรูปแบบที่ไม่ต่างจากอาหารของชาวพื้นเมือง
ละตินอเมริกา หากเป็น ซัลซ่า โอเคครับ สดฉ่ำด้วยมะเขือเทศ
แต่ถ้าเป็น ข้าวสีเหลืองๆ หน้าตาคล้ายข้าวหมกไก่ที่เห็นอยู่นี่
บอกเลยว่า รสชาติจืดๆ และไม่ถึงกับอร่อยนัก พอกินได้

ถ่ายรูปกันอีกสักพัก ก็ออกเดินทางต่อ คราวนี้ พี่ Saito ของเรา
ก็พยายามชวนผมคุย แต่ที่บ้าเหลือเชื่อเลยคือ สื่อสารกับผมไป
จนจบประโยคปุ๊บ พอจะตอบกลับ พี่แกดันสัปหงกทันที! แถม
ปลุกเท่าไหร่ก็ยังไม่ตื่นด้วยนะ! กรนอีกต่างหากแหนะ!  (ฮา)

ผมงี้ขำก๊ากกกก เลย ฮามาก จนต้องเปิดกระจกรับลมเย็นจาก
ภายนอกรถ เข้ามาช่วยทำให้ตัวเองตื่นไปตลอดทาง ไม่เช่นนั้น
คงได้สัปหงกคาพวงมาลัยเป็นเพื่อนพี่เค้าไปอีกคนแหงๆ

เราเดินทางมาถึง จุดหมายของเรา ที่พักในค่ำคืนนี้ เป็นโรงแรม
Mantra Erskine Resort ตั้งอยู่ริมอ่าว ในเมือง Lorne รัฐ Victoria
เช่นเดียวกัน

ที่นี่ สมควรจะเรียกว่า รีสอร์ต ตากอากาศ สไตล์ บ้านพักคนชรา
มากกว่า เพราะบรรยากาศการตกแต่ง เป็นไปในแนวทางนั้นจริงๆ
ที่นี่เป็นอาคารเก่า แต่ถูกปรับปรุง บูรณะใหม่ บางส่วนก็รื้อท้ิงแล้ว
สร้างใหม่เสียเลย อากาศริมทะเลในช่วงนี้ หนาวสะใจดี ขนาดว่า
ผมเอง ชอบอากาศประมาณ 14 – 18 องศาเซลเซียสอยู่แล้ว เจอ
กระแสลมพัดโกรกเข้าไป หาเตาผิงไฟแทบจะไม่ทันเลยละ!

มื้อค่ำของเรา ในคืนนี้ อยุ่ที่ร้านอาหาร Lorne Beach Pavillion
ซึ่งมีบรรยากาศชวนให้นึกถึง ร้านอาหาร ซีฟู้ด ริมอ่าวทั่วๆไป
ของบ้านเรา แต่ตกแต่งให้มีบรรยากาศที่เรียบง่าย มีรสนิยม
(http://www.lornebeachpavilion.com.au) กระนั้น อาหาร
แทบทุกจาน จะมาในแนวจืด มิน่าละ ถึงได้มีเกลือป่นวางไว้ให้
ครบทุกโต๊ะ ยกเว้น เนื้อวัว ที่ปรุงแบบ Medium rare มาได้ดี

พอเดินกลับมาถึงห้องพัก…เอาแล้วไง สวนด้านล่าง ตรงห้องผม
มีงานปาร์ตี้ หลังการประชุมของ เบียร์ Asahi ประจำ ออสเตรเลีย
มากันจากทั่วประเทศเลย เสียงเพลง แนว Country ก็กระหึ่มสิครับ
กว่าผมจะข่มตาหลับได้ลง ก็ปาเข้าไปเกือบรุ่งสางอีกแล้ว

2015_09_14_17_Mazda_CX_3_Trip_Melbourne_04

16 กันยายน 2015

แล้วสิ่งที่ผมกลัว ก็กลายเป็นเรื่องซึ่งเกิดขึ้นจริง…

ตื่นสายโด่งสิครับคุณผู้อ่าน!! เขานัดกัน 7 โมง ล้อหมุน 8 โมงครึ่ง
ผมหนะเหรอ 8 โมงครึ่งมันยังนอนเป็นกรมอุตุ อยู่บนที่นอนเลย!!!

มันเป็นเรื่องน่าอับอายขายขี้หน้าอย่างมาก เมื่อคุณตั้งนาฬิกาปลุก
ทั้งในโทรศัพท์มืถอือทั้ง 2 เครื่องที่พกไป แถมด้วยวิทยุนาฬิกาใน
ห้องพักอีก 1 ตัว ทั้งหมดนี้ แถมด้วยการเคาะห้องจากพี่อุทัย PR
ของ Mazda ที่เจ้าตัวบอกว่า เคาะจนมะเหงกแดงเถือกไปหมด!

แต่ก็หาได้นำพาไม่…ไอ้ J!MMY มันก็ยังสลบไร้สติ นอนขึนอืด
อยู่บนเตียงต่อไปนั่นแหละ

สุดท้าย พี่อุทัย ถึงขั้นงัดไม้ตาย ขอ Keycard จาก Reception บุก
เข้ามาปลุกถึงในห้อง กระชากผ้าห่มผมให้นั่นแหละ ถึงจะสะดุ้ง
ตื่นแบบสุดตัว ตายห่า! เขาไปกันหมดแล้วใช่ไหมพี่ ดีนะเนี่ยที่
งานนี้ Mazda ปล่อยรถกันแบบ Free Run วิ่งกันไปตามอัธยาศัย
และดีที่ผมเอง เตรียมเสื้อผ้า ข้าวของ แพ็คใส่กระเป๋าเสร็จสิ้น
ตั้งแต่ก่อนเข้านอนแล้ว เพราะคาดการณ์ไว้เผื่อเรื่องแบบนี้แล้ว
จึงได้รีบตาลีตาเหลือก อาบน้ำ สระผม แต่งตัว ออกจากห้องได้
ในเวลา แค่ 7 นาที มิเช่นนั้น ผมคงโดนสวดชยันโตกว่านี้แหงๆ

เราออกเดินทางได้ในเวลา 8.50 น. เลี้ยวซ้ายออกจากโรงแรม
Mantra Lorne Resort ขับลัดเลาะไปตามเส้นทาง Great Ocean
Road เลียบอ่าว ออสเตรเลีย อันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความงาม
ตามธรรมชาติ ทั้งจากแนวภูเขา คลื่นทะเลที่กัดเซาตลิ่งจนได้รูป

ใครที่มาเยือน ออสเตรเลีย ขอแนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้ เช่ารถ
มาขับบนเส้นทางสายนี้สักครั้งครับ ที่นี่ถือว่าเป็นหนึ่งในถนน
เลียบอ่าว ที่สวยงามมากสุดอีกแห่งของโลก

Tripy-II นำทางเรามาถึงจุดแวะพักรถจนได้ แต่ละคนในคณะ
ผู้ร่วมทริปครั้งนี้ นี่ เห็นหน้าผมปุ๊บ ยิ้มเลย คาดว่า ผมคงโดนพี่ๆ
เค้าแซวเละเทะไปก่อนหน้านี้แล้วแน่ๆ

จะเหลือเหรอฮะ? ก็จริงตามนั้นนั่นแหละ! ฮือๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

Saito-san ก็ก๊วนกวน ดันเมาท์ เรื่องเรา เป็นภาษาญี่ปุ่น ให้กับ
บรรดาวิศวกร Mazda เขาฟัง เราเลยแซวไปเป็นภาษาอังกฤษว่า
“เฮ้ นินทาอะไรช้านนน” Saito เลยแก้ตัวว่า “เปล่าเลย ก็แค่บอก
เรื่องคอมเมนท์ตัวรถที่ยูบอกไว้เมื่อวานนั่นละ แถมด้วยเรื่องที่
ยูตื่นสาย เล่าแค่นิดเดียวเองจริงๆนะ เล่าว่า เพราะยูปกติทำงาน
หนักตอนกลางคืนไม่ใช่เหรอ นอนเช้า ตื่น 10 โมง ไง”

หันไปถาม Tomiyama-san และทีมงาน ทุกคนราวกับนัดกัน
พยักหน้าตอบพร้อมเพรียงกันว่า “YESSS!” แล้วตามด้วยเสียง
หัวเราะ หึหึ….กับรอยยิ้มอย่างมีเลศนัย….

ไอ้หัวเราะ หึหึ นี่แหละ! น่ากลัวเป็นยิ่งนัก! หมดกัน ไม่เหลือ
การไม่ตรงต่อเวลา ในสายตาคนญี่ปุ่น คือหายนะระดับคอขาด
บาดตาย แผ่นดินไหวระดับ 10 ริคเตอร์เชียวนะเมิ้งงงงง!!!!!!

แง๊ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ!

ทำใจ ปลง ขึ้นรถ ขับต่อไปดีกว่า

ระหว่างเดินทางไปยังจุดหมายต่อไป ข้างหน้า ริมทาง ผมเห็น
รถคันหนึ่ง ในคณะของพวกเรา จอดอยู่ โดยมีรถตำรวจ SUV
Nissan Patrol จอดประกบอยู่ข้างทาง…เลยชะลอแวะจอดเพื่อ
เช็คดูว่าเกิดอะไรขึ้น…

อ้อ พี่นักข่าวท่านหนึ่ง โดนจับ เรื่องขับรถเร็วเกินป้ายกำหนด
นั่นเอง!…

ป้ายกำหนดอยู่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่มีเหตุให้พี่เค้าต้องเร่ง
แซงขึ้นไป จนถึง 116 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทันใดนั้น รถตำรวจ
คันดังกล่าว ก็สวนทางมาพอดี จ๊ะเอ๋ ตำรวจแกเลี้ยวกลับมา เปิด
ไฟไซเร็น แล้วก็กระพริบไฟบอกให้พี่เราจอดข้างทาง ก็ต้องยอม
จอดเข้าไหล่ทางแต่โดยดี ไม่มีทางเลือกทางเลี่ยงใดๆเลย

เท่าที่พี่เขาเล่าให้ฟัง มาถึง เขาจะจับเราเป่า แอลกอฮอลล์ด้วย
ถ้าเมาแล้วขับ ที่นี่ ติดคุกทันที เหมือนกฎหมายใหม่ของไทย
แต่ ในเมื่อ พี่นักข่าวท่านนี้ ไม่ได้กินเหล้ามา ก็เลยไม่มีปัญหา
โดนใบสั่งไป 303 เหรียญออสเตรเลีย!! อยากรู้ว่าเท่าไหร่ เอา
25 บาทไทย คูณ เข้าไป จะได้ 7,575 บาท !!!!

สิ่งที่น่าชมเชยก็คือ ตำรวจของออสเตรเลีย นอกจากจะรักษา
กฎหมายอย่างเคร่งครัดแล้ว เขายังสุภาพ และยิ้มให้พวกเรา
นิดๆ ขณะทำตามหน้าที่ด้วย ซึ่งทำให้เราเบาใจลงไปได้เยอะ

ถ้าเป็นตำรวจไทยหนะเหรอ? เหอๆๆๆ ไม่ต้องบอกละกัน
ดูเอาเองตามคลิปใน Youtube นั่นละ จบนะ เฮ้อออออ!!

เราเดินทางไปถึง Farmers Arm Hotel ในเมือง Beeac เพื่อ
รับประทานมื้อเที่ยง ในสไตล์ Aussie Pub Lunch ดีนะที่ผม
สั่งแค่อกไก่ทอดไปจานเดียว ไม่ช่นนั้น คงสลบเหมือดแน่ๆ
จานใหญ่เบ้อเร่อเบ้อร่ามากๆ ขนาดไม่ได้กินมื้อเช้าที่โรงแรม
เจอจานนี้เข้าไป ก็อิ่มแปร้เลย หลายคนถึงขั้น กินไม่หมด

หลังจากนั้น เราก็ขับรถฝ่าสายฝนที่โปรยปรายลงมาเป็นระยะๆ
กลับเข้าสู่ Freeway M1 มุ่งหน้ากลับเข้าสู่ตัวเมือง Melbourne
เพื่อกลับมายังโรงแรม Westin Melbourne อีกครั้ง

ก่อนที่จะถึงโรงแรม แอบหลงทางนิดหน่อย เจอการนำทางของ
เจ้า Tripy-II ที่ละเอียดมาก และ Real Time มาก แต่สติของผม
นั่นแหละ ที่ยังไม่ Reat-Time พอ หลงสิฮะ ลืมเลี้ยวขวาไป
เท่านั้นแหละ หาทางวันกลับให้ได้ ด้วยความงุนงง

Saito-san ก็เริ่มฉายแววอัจฉริยะด้านการนำทางมาให้เห็นเอา
ก็ตอนจะจบทริปนี่แหละครับ ตลอดทางมานี่ นั่งชิลๆ สบายๆ
สลับกับสัปหงกบ้าง (ดีนะ วันนี้ ยังไม่เจอเสียงกรน) พอถึง
คราวที่ผม หลงทาง เข้าตัวก็นำพาผม กลับไปโรงแรมได้อย่าง
เรียบร้อย ขณะที่เข้าเครื่อง Tripy-II ก็ได้แต่ขึ้นโลโก้รูปจิงโจ้
บนหน้าจอ แล้วก็ร้องปี๊ดดดดดดด อยู่นั่นแหละ ทำอะไรไม่ได้
สักอย่าง

นั่นคือ ช่วงเวลาทั้งหมดที่ผมได้อยู่กับ CX-3 รุ่น เบนซิน 2.0 ลิตร
เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ที่มาพร้อมกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แม้
จะเสียดายอยู่บ้าง ที่ไม่ได้ลองขับรุ่นเกียร์ธรรมดา และขับ 2 ล้อ
แต่นั่นก็ทำให้ผมมองเห็นแล้วว่า Setting แบบไหน ที่เหมาะกับ
บุคลิกการขับรถของคนไทย มากกว่ากัน

บอกไว้ก่อนว่า รถคันที่เราลองขับ เป็นรถยนต์ที่มีจำหน่ายใน
ประเทศ Australia ดังนั้น อุปกรณ์ต่างๆ อาจแตกต่างจาก CX-3
เวอร์ชันไทย ที่จะถูกผลิตขึ้นจากโรงงาน AAT จังหวัดระยอง
เพื่อเตรียมจะเปิดตัวในบ้านเรา ช่วง ปลายปีนี้

อยากรู้กันแล้วใช่ไหมละครับว่า ก่อนที่เราจะได้พบกับเวอร์ชัน
สำหรับประเทศไทย ผมคิดอย่างไรกับ สัมผัสแรกใน CX-3 ?

ลากเมาส์ หรือเลื่อนหน้าจอ ลงไปอ่านได้เลย!

2015_09_14_17_Mazda_CX_3_Trip_Melbourne_Car_01

CX-3 เป็นรถยนต์นั่งพิกัด B-Segment Crossover SUV รุ่นใหม่
ที่ Mazda เพิ่งจะเผยโฉมให้สาธารณชนได้เห็นเป็นครั้งแรก เมื่อ
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2014 และเปิดตัวเป็นทางการครั้งแรกในโลก
ในงาน Los Angeles Auto Show สหรัฐอเมริกา อีกไม่กี่สัปดาห์
หลังจากนั้น ก่อนที่จะเริ่มทะยอยเปิดตัวสู่ตลาด ญี่ปุ่น ยุโรป และ
ออสเตรเลีย กับ นิวซีแลนด์ ตามลำดับ

ในอดีต Mazda ไม่เคยมีรถยนต์นั่งประเภทนี้มาก่อน แต่เนื่องจาก
สถานการณ์ของตลาดรถยนต์ช่วง 4 ปีมานี้ เริ่มเปลี่ยนไป ลูกค้าจาก
หลายประเทศทั่วโลก เริ่มอยากได้รถยนต์ประเภท Small Crossover
คันเล็กแต่ยกสูง กันมากขึ้น Mazda จึงต้องพัฒนา CX-3 ออกสู่คลาด
โดยมอบหมายให้ Michio Toriyama ผู้ซึ่งเข้าร่วมงานกับ Mazda มา
ตั้งแต่ปี 1986 จนถึงปัจจุบัน รับหน้าที่ เป็น Program Manager หรือ
หัวหน้าวิศวกรโครงการพัฒนารถยนต์รุ่นนี้ การที่เขาเป็นคนชื่นชอบ
ในด้านอากาศยาน ทำให้เขา นำความรู้ความเข้าใจในเรื่องเครื่องบิน
มาประยุกต์ใช้กับการพัฒนารถยนต์ด้วย

Toriyama-san เล่าว่า “จุดมุ่งหมายในการพัฒนา CX-3 คือการ “สร้าง
มาตรฐานสำหรับรถยนต์ยุคใหม่” แทนที่เราจะมุ่งเน้นไปที่ค่าตัวเลข
จากข้อมูลจำเพาะต่างๆ เรากลับย้อนไปที่กระดานวาดภาพแล้วถาม
ตัวเองว่า “อะไรคือคุณค่าที่ลูกค้ามองหาในรถยนต์ยุคใหม่” ผลลัพธ์
ที่ได้ก็คือ การพัฒนา CX-3 ให้เป็นรถยนต์ที่เหมาะกับการใช้ชีวิตใน
ทุกอิริยาบถ จากการขับขี่ในเมือง กับการเดินทางเพื่อความเพลิดเพลิน
ในกิจกรรมกลางแจ้ง”

Yoishi Matsuda หัวหน้าทีมออกแบบของ CX-3 ผู้ซึ่งเลี้ยงนกกะตั้วไว้
อยู่ที่บ้าน ขับ MX-5 รุ่นแรก และเพิ่งซื้อ CX-3 สีน้ำตาลเป็นของตนเอง
เล่าว่า…

“แนวคิดการออกแบบ CX-3 คือ “Express geniune beauty in a cutting-
edge design ” หรือ การแสดงให้เห็นถึงความงามอย่างแท้จริงที่ซ่อนอยู่
ในงานออกแบบในสไตล์ Cutting-edge”  เพราะลูกค้าของรถคันนี้ จะ
เป็นคนที่ใช้ชีวิตตามรูปแบบที่ตนปราถนาเท่านั้น ชีวิตของพวกเขาช่าง
น่าตื่นเต้น และแสวงหาสิ่งใหม่ๆรอบตัวอย่างต่อเนื่อง ในโลกทุกวันนี้
มันเป็นเรื่องยากที่จะมีใคร ทำรถยนต์ หรือสินค้าอะไรก็ตามออกมาแล้ว
ทำให้คนทั่วโลก รู้สึกว่า “นี่แหละ ใช่เลย สิ่งที่ฉันต้องการ!” ดังนั้น ด้วย
การออกแบบบนพื้นฐานของ Kodo Design แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับ
CX-3 จะช่วยให้รถคันนี้ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับทุกคนที่มองว่า
รถคันนี้เหมาะสมกับ Life Styre ของเขา คุณอาจจะเรียกว่านี่เป็นอีก
รูปแบบหนึ่งของความรัก ก็ได้ ผมหวังว่า คุณจะพบกับ “ความสดใส”
เมื่อได้เห็นรูปโฉมของ CX-3 ใหม่ และไม่มีอะไรให้ผมมีความสุจ
มากเท่ากับที่ลูกค้าทุกๆคน มาบอกเล่าแงปันประสบการณ์กับรถใหม่
คันนี้”

CX-3 เป็นรถยนต์ Mazda “Generation ที่ 6” นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา
พวกเขาเลือกใช้ แนวทางการออกแบบ Kodo Design มาช่วยเสริมให้
ตัวรถ ดูโฉบเฉี่ยว กระฉับกระเฉง จากจุดเด่นของเส้นสายบนตัวรถทั้ง
4 ประการ นั่นคือ การลากเส้นจากกระจังหน้า ให้โค้งยาวต่อเรื่องไป
จนถึงบานประตูคู่หลัง เสริมให้ซุ้มล้อหน้า เด่นเด้งขึ้นมา สร้างบุคลิก
พร้อมพุ่งทะยาน แม้จะจอดอยู่นิ่งๆ

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ลากถอยหลังไปวางไว้ในตำแหน่งที่สมดุล
กระจังหน้า 5 เหลี่ยม ตั้งชัน เพื่อความสวยงาม และเพื่อสร้างแรงกด
Down Force ขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง ร่วมกับแนวฝากระโปรงหน้า

ซุ้มล้อทั้ง 4 ถูกเสริมกาบข้างพลาสติกกันกระแทก สีดำด้าน เพื่อเสริม
ความทะมัดทะแมงให้ตัวรถมากขึ้น เสาหลังคาคู่หลังสุด พ่นสีดำ เพื่อ
ให้เชื่อมต่อแนวหน้าต่างรอบคัน ต่อเนื่องจากฝั่งซ้ายจรดขวา และชุด
ไฟท้ายที่ออกแบบมาให้ สอดรับกับช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง ทั้งหมด
ก็เพื่อให้ตัวรถ สวยงาม และได้ Proposion (ได้สัดส่วน) ที่ถูกต้อง

2015_09_14_17_Mazda_CX_3_Trip_Melbourne_Car_02

CX-3 มีขนาดตัวถัง ยาว 4,275 มิลลิเมตร กว้าง 1,765 มิลลิเมตร สูง
1,550 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,570 มิลลิเมตร

เมื่อเทียบกับ Mazda2 Hatchback ซึ่งมีความยาว 4,060 มิลลิเมตร กว้าง
1,695 มิลลิเมตร สูง 1,495 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,570 มิลลิเมตร
จะพบว่า CX-3 จะยาวกว่ากว้างกว่าและสูงกว่า  Mazda2 Hatchback
อยู่พอสมควร ทุกด้าน แต่ทั้งคู่จะมีระยะฐานล้อยาวเท่ากัน

ทว่า ถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งตรงพิกัด อย่าง Honda HR-V ซึ่งมีขนาด
ตัวถังยาว 4,294 มิลลิเมตร กว้าง 1,772 มิลลิเมตร สูง 1,605 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,610 มิลลิเมตร แล้ว จะพบว่า CX-3 สั้นกว่า ประมาณ
19 มิลลิเมตร แคบกว่าแค่เพียง 7 มิลลิเมตร เตี้ยกว่ากัน 55 มิลลิเมตร
และระยะฐานล้อ สั้นกว่า 40 มิลลิเมตร สรุปง่ายๆ คือตัวเล็กกว่า แต่
ก็ไม่ได้มากมายอย่างที่คิด

ดูตัวเลขแล้ว ยังไม่เห็นภาพ? แล้วคันจริง ตัวเล็กหรือใหญ่ แค่ไหน?

เมื่อผมลองยืนเทียบกันกับตัวรถ ต้องยอมรับครับว่า ดูเหมือนน้องนุช
สุดท้องจากตระกูล Kodo Design คันนี้ จะเล็กกว่า HR-V แต่ก็ไม่มาก
อย่างที่คิด เพราะด้วยการออกแบบเส้นสายต่างๆ ที่เน้นความโฉบเฉี่ยว
ในแบบที่ทำให้เกิดความมีชีวิตชีวา แต่ไม่เลอะเทอะเปรอะเปื้อน อีกทั้ง
การปรับเปลี่ยนให้เสาหลังคาคู่หลัง เป็นสีดำ เพื่อลากให้แนวหน้าต่าง
เกิดความต่อเนื่อง ยาวไปจนถึงกระจกบังลมด้านหลัง ทำให้ตัวรถดู
กระฉับกระเฉง และไม่ชวนให้รู้สึกว่า เล็กหรือใหญ่เกินไป พูดง่ายๆ
คงต้องใช้คำภาษาอังกฤษว่า Just Size! หรือ ขนาดแบบนี้แหละที่พอดี

สรุปว่า เล็กกว่าจริงๆ แต่ก็แค่ ไม่กี่มิลลิเมตร เท่านั้น และเมื่อดูคันจริง
ผมว่าไม่ได้ต่างกันมากมายอย่างที่คิด เพียงแต่อาจต้องทำใจเรื่องพื้นที่
ด้านหลังรถกันสักหน่อย ว่ามันยังคงน้อยอยู่ดี เมื่อเทียบกับ HR-V

CX-3 รุ่นที่จำหน่ายในออสเตรเลีย จะมีให้เลือก 4 ระดับการตกแต่ง
ทั้งรุ่นพื้นฐาน Neo , Maxx , sTouring และรุ่นหรูสุดใช้ชื่อว่า Akari

รุ่นที่ผมลองขับนั้น มีเพียงคันเดียวคือ sTouring 6AT AWD ซึ่งจะมี
การปรับเซ็ตระบบกันสะเทือนที่แตกต่างจากรถคันอื่นๆ ซึ่งเป็นรุ่น
ขับเคลื่อนล้อหน้า FWD ขอให้เข้าใจตรงกันในจุดนี้ด้วยนะครับ 

2015_09_14_17_Mazda_CX_3_Trip_Melbourne_Car_03

กุญแจรถเป็นแบบ Smart Keyless Entry พร้อมระบบติดเครื่องยนต์
ด้วยปุ่ม Push Start ซึ่งจะมีมาให้ในเวอร์ชันไทย อย่างแน่นอน

การเข้า – ออก จากบานประตูคู่หน้า ทำได้ดี ไม่มีปัญหาศีรษะไปชน
เสากรอบโครงสร้างหลังคาคู่หน้า แต่ประการใด ที่สำคัญ ตำแหน่ง
ของเบาะนั่ง ถกติดตั้งอยู่ในระดับความสูงที่เหมาะสม ไม่สูง และ
ไม่เตี้ยจนเกินไป ยิ่งช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้า – ออก มากขึ้น

แผงประตูด้านข้าง แตกต่างจาก Mazda 2 เล็กน้อย ที่บริเวณมือจับ
เปิดประตู จะประดับพื้นที่รอบข้างด้วย แผง Trim อะลูมีเนียมสีเงิน
เพื่อเพิ่มความ Premium ให้กับตัวรถขึ้นอีกหน่อย พนักวางแขนบน
แผงประตูคู่หน้า หุ้มด้วยหนังสีแดง ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากสีแดง
มากกว่า 100 เฉดสี วางข้อศอกได้สบายกำลังดี แต่ถ้าวางทั้งท่อนแขน
ก็จะเป็นเหมือนกับ Mazda 2 คือ วางได้แต่ไม่เต็มท่อนแขน ด้านล่าง
มีช่องใส่ขวดน้ำขนาด 7 บาท และใส่ของจุกจิกได้นิดเดียว

เบาะนั่งคู่หน้า ยกชุดมาจาก Mazda 2 ทั้งดุ้น ดังนั้น อย่าแปลกใจ ถ้า
คุณจะเห็นรูปลักษณ์ของเบาะในรถทั้ง 2 รุ่น ว่าเหมือนกันเปี๊ยบ ไม่เว้น
แม้แต่พนักศีรษะที่แอบดันกบาลผมนิดๆ นั่นแหละครับ

เพียงแต่ว่า ความแตกต่างสำคัญ อยู่ที่ การเลือกใช้โทนสี กับวัสดุหนัง
ที่หุ้มเบาะ ถูก Upgrade ให้มีพื้นผิวสัมผัสดีขึ้นมาก ดุจเบาะหนังชั้นดี
ในรถเก๋งระดับ Premium ราคาแพงกว่านี้

ผมแอบแปลกใจตัวเองเล็กน้อยว่า ทั้งที่ CX-3 ใหม่ ก็ใช้พนักศีรษะ
ชุดเดียวกับ Mazda 2 และ 3 แต่ทำไมถึงดันกบาลผมในขณะขับขี่
น้อยกว่าที่คิด? และแทบไม่มีอาการปวดกระดูกต้นคอเลยแหะ

หรือว่า ผมชินกับพนักศีรษะของ Mazda หนาเตอะ แถมดันกบาล
อย่างนี้ไปเสียแล้ว !!!??

ตำแหน่งเบาะนั่งคู่หน้า ปรับระดับสูง – ต่ำได้ โดยตำแหน่งเตี้ยสุด
ก็ยังสูงกว่าเบาะของ ทั้ง Mazda 2 และ Mazda 3 ใหม่ แต่ยังเตี้ย
กว่าเบาะของ CX-5 นิดหน่อย

พนักพิงเบาะนั่งคู่หน้า นี่ก็เหมือนกันอีก คือใช้ฟองน้ำนุ่มขึ้น และเพิ่ม
ความสูงของพนักพิงหลัง บริเวณตั้งแต่ช่วงไหล่ขึ้นไปอีกเล็กน้อย ให้
รองรับบริเวณหัวไหล่ ได้ดีขึ้น ปีกด้านข้างอาจยังรั้งตัวคนขับไว้ได้
แต่ยังไม่ดีพอ ในขณะเข้าโค้งหนักๆ

ส่วนเบาะรองนั่ง แม้จะนุ่มสบาย แต่ยังคงสั้นเท่ารุ่น Hatchback ถ้า
เพิ่มความยาวอีกนิด น่าจะช่วยรองรับต้นขา ช่วงข้อพับ ได้ดีกว่านี้

2015_09_14_17_Mazda_CX_3_Trip_Melbourne_Car_04

สิ่งที่หลายคนกังวล คือ พื้นที่โดยสารบนเบาะหลัง ว่าจะคับแคบ
เหมือนกับ Mazda 2 หรือไม่ มันใหญ่พอที่จะเทียบเท่า HR-V
ได้หรือเปล่า?

คำตอบก็คือ….

ช่องทางเข้า – ออก บานประตูคู่หลัง มีขนาดเล็กกว่า HR-V ก็จริง
แต่สำหรับคนตัวใหญ่อย่างผม การเข้า – ออก จากเบาะหลัง ยังคง
ทำได้อย่าง สะดวกโยธิน ไม่ได้รู้สึกว่าคับแคบ อะไรมากมายนัก
มันก็พอกันกับ Mazda 2 กระนั้น ไม่ต้องกังวลว่าจะเจอปัญหา
ศีรษะชนเสาขอบหลังคา เพราะ ความสูงของช่องทางเข้า – ออก
สูงตามแนวหลังคา

พนักวางแขนบนแผงประตู ออกแบบมาให้มีตำแหน่งเหมาะสม
วางข้อศอกได้พอดี แต่อาจวางไม่ได้เต็มแขน ด้านล่างมีช่องใส่
ขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาท ได้พอดี 1 ช่อง กระจกหน้าต่างเลื่อนลง
ได้ไม่สุดขอบรางกระจก

เบาะนั่งด้านหลัง ในรุ่นที่ใช้หนังเป็นวัสดุหุ้มเบาะ ให้สัมผัสที่
นุ่มสบาย เกินความคาดหมาย ใกล้เคียงกับ รถยนต์นั่งระดับ
D-Segment แต่ไม่แน่ใจว่า มาถึงเมืองไทยแล้ว วัสดุหนังหุ้ม
เบาะ จะเป็นแบบเดียวกับเวอร์ชันออสเตรเลีย หรือเปล่า?

พนักพิงหลัง เฟิร์มกำลังดี กระเดียดไปทางแข็งนิดๆ แต่กดด้วย
นิ้วแล้วยังพบความนุ่มอยู่ ตั้งชันในองศาที่เหมาะสม น่าเสียดาย
ที่ไม่สามารถปรับเอนได้ ส่วนเบาะรองนั่ง สั้น แต่นุ่มสบายมาก
เกินกว่าที่ผมคิดไว้นิดหน่อย

พื้นที่วางขา ยังมีเหลือเฟือ เพียงพอ ส่วน Headroom หรือ
พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับคนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร ยังเหลือ
ราวๆ 2 นิ้วชี้สอดเข้าไปได้ ถือว่า เหลือเยอะกว่า Mazda 2
Sedan และ Hatchback ชัดเจน

สรุปว่า พื้นที่โดยสารด้านหลัง ใหญ่กว่า Mazda 2 ใหม่แน่ๆ
นั่งสบายขึ้นเยอะ แต่ยังเล็กไปนิด เมื่อเทียบกับ HR-V

2015_09_14_17_Mazda_CX_3_Trip_Melbourne_Car_05

พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ค่อนข้างเล็ก มีความจุ 264 ลิตรตาม
มาตรฐาน VDA เยอรมนี แต่ถ้าพับเบาะหลังลง จะเพิ่มความจุได้
เป็น 1,174 ลิตร (VDA) ซึ่งถ้าคุณคิดจะขนจักรยานแล้วละก็ ยังไงๆ
คงต้องพับเบาะหลังที่สามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 กัน
สถานเดียว แล้วต้องถอดล้อหน้าออกเสียก่อนด้วย ไม่สามารถยก
รถทั้งคันใส่เข้าไปได้เลย มีแผงบังสัมภาระซึ่งสามารถถอดออกได้
แถมมาให้จากโรงงาน

ห้องเก็บของด้านหลัง ผมว่า เล็กไปครับ ใส่กระเป๋าเดินทางขนาด
กลางๆ อย่างที่เห็นในรูปนี่ ก็น่าจะได้ 2 ใบ ในแนวนอน และอีก
1 ใบเล็กในแนวตั้ง นั่นก็แทบจะเต็มพื้นที่แล้ว แต่ถ้าจะออกแบบ
ให้บั้นท้าย ยื่นออกมาอีกนิด ก็อาจส่งผลถึงเรื่องการควบคุมรถ
ในขณะเข้าโค้ง ได้อีก…นี่ละ การทำรถยนต์สักรุ่น มันคือการนำ
ทุกปัญหาที่มีอยู่ มาเชื่อมโยง ผสมผสาน เข้าด้วยกัน เพื่อหาทาง
ให้ทุกประเด็น สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว ไม่ง่ายครับ

2015_09_14_17_Mazda_CX_3_Trip_Melbourne_Car_06

แผงหน้าปัด และชุดมาตรวัด เห็นแล้วนึกออกเลยใช่ไหมครับ นั่นละ!
Matsuda-san ยืนยันกับผมเองเลยว่า ยกมาจาก Mazda 2 ใหม่ทั้งดุ้น
แบบไม่ต้องคิดมาก ยกมากันครบ ทั้งท่อนบน ท่อนล่าง รวมไปถึงช่วง
คอนโซลกลาง พวงมาลัย 3 ก้าน หุ้มหนัง ปรับระดับสูง – ต่ำ และระยะ
ใกล้ – ห่าง ได้แบบ Telescopic พร้อมสวิตช์ควบคุมชุดเครื่องเสียงกับ
หน้าจอ Multi Information Display

เวอร์ชันไทย จะได้ใช้ภายในห้องโดยสารสีดำ ด้วยเหตุผลที่ว่า ผลวิจัย
จากการทำสำรวจกับลูกค้าจริง ส่วนใหญ่ต้องการภายในเป็นสีดำ เพราะ
ดูสปอร์ต และทำความสะอาดง่าย เลอะหรือเปื้อน ก็มองเห็นยาก

คาดว่า เวอร์ชันไทยจะติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ข้างล่างนี้ มาให้เป็นอุปกรณ์
มาตรฐาน ในรุ่นแพงสุด

– ระบบ Infotainment MZD Connect “เวอร์ชัน Upgrade Software ใหม่”
– ระบบควบคุมไฟหน้าสูง-ต่ำ อัตโนมัติ High Beam Control (HBC)
– ระบบตรวจจับรถในจุดบอด Blind Spot Monitoring System (BSMS)
– ระบบเตือนให้อยู่ในช่องจราจร Lane Departure Warning (LDW)
– ระบบตรวจจับรถขณะออกจากช่องจอด Rear Cross Traffic Alert (RCTA)
– ระบบเตือนการชนด้านหน้าและชะลอความเร็ว Smart City Brake Support (SCBS)
– ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง (คู่หน้า-ด้านข้าง-ม่านนิรภัย)
– ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว Dynamic Stability Control (DSC)
– ระบบป้องกันการลื่นไถล Traction Control System (TCS)
– กล้องมองภาพขณะถอยจอด Rear view camera

2015_09_14_17_Mazda_CX_3_Trip_Melbourne_Car_07

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

เวอร์ชันไทย ออสเตรเลีย และตลาดโลก ของ CX-3 จะมีเครื่องยนต์
ให้เลือกรวม 2 ขนาด เป็นแบบ เบนซิน และ Diesel Turbo อย่างละ
1 เครื่อง

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขกำลังสูงสุด ของแต่ละเวอร์ชัน จะแตกต่างกันไป
ตามข้อกำหนดด้านมลพิษ และคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง ของแต่ละกลุ่ม
ประเทศที่ส่งเข้าไปจำหน่าย

เวอร์ชัน ออสเตรเลีย ของ CX-3 วางเครื่องยนต์หลักไว้เป็นแบบเบนซิน
Skyactiv-G 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,998 ซีซี. ระยะช่วงชัก 83.5 x 91.2
มิลลิเมตร กำลังอัด 13.0 : 1  กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/
นาที แรงบิดสูงสุด 192 นิวตันเมตร (19.56 กก.-ม.) ที่ 2,800 รอบ/นาที
มีทั้ง เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และอัตโนมัติ 6 จังหวะ เช่นเดียวกันกับ
ระบบขับเคลื่อน ซึ่งมีทั้ง แบบ ขับเคลื่อนล้อหน้า FWD และระบบ
ขับเคลื่อน 4 ล้ออัตโนมัติ AWD ความจุถังน้ำมัน 48 ลิตร (รุ่น FWD),
และ 44 ลิตร (รุ่น AWD)

ส่วนขุมพลัง Diesel เป็นแบบ Skyactiv-D บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว
1,499 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 76.0 x 82.6 มิลลิเมตร กำลังอัด 14.8 : 1
ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงสู่ห้องเผาไหม้ Electronic Direct Injection ระบบ
อัดอากาศ Turbocharger เป็นแบบ “มีครีบแปรผัน” และมี Intercooler
แบบระบายความร้อนด้วยน้ำ 105 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิด
สูงสุด 270 นิวตันเมตร (27.51 กก.-ม.) ที่ 1,600-2,500 รอบ/นาที มีเฉพาะ
เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ เท่านั้น

ส่วนเวอร์ชันไทย CX-3 จะมีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 ขนาด มาครบทั้งรุ่น
เบนซิน 2,000 ซีซี ยกมาจาก Mazda 3 ใหม่ และ Diesel Turbo 1,500 ซีซี
ยกมาจาก Mazda 2 ใหม่ ตัวเลขสเป็กบางอย่าง อาจแตกต่างจากเวอร์ชัน
ออสเตรเลีย เล็กน้อย

2015_09_14_17_Mazda_CX_3_Trip_Melbourne_Car_08

ถึงแม้ว่า CX-3 เวอร์ชัน ออสเตรเลีย ที่เราลองขับกันในทริปนี้จะมีรุ่น
เกียร์ธรรมดา โผล่มาร่วมขบวน 2 คัน แต่ผมไม่มีโอกาสได้ขับจริง แค่
ได้ลองผลักคันเกียร์ขึ้นลงไปมา ก็พอจะบอกได้ว่า คันเกียร์ถูกปรับปรุง
ให้มี Shift Feeling ดีขึ้น แน่นขึ้น แต่ไม่ต้องออกแรงมากนัก ก็เข้าเกียร์
ได้สบายๆ

ขณะเดียวกัน CX-3 รุ่นที่ผมขับ เป็นแบบ AWD sTouring มีแต่เกียร์
อัตโนมัติ Skyactiv-AT ลูกเดียวกันกับที่ติดตั้งใน Mazda 3  เป๊ะ

น่าเสียดายว่า CX-3 เวอร์ชันไทย จะไม่มีเกียร์ธรรมดาให้เลือกอีกต่อไป
มีเฉพาะแค่ เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ Skyactiv เพียงแบบเดียวเท่านั้น
มีปุ่ม Sport มาช่วยการลากรอบเครื่องยนต์เพิ่ม ในช่วงเร่งแซง เหมือน
ใน Mazda 2 Skyactiv เบนซิน อัตราทดเกียร์ ยังคงเหมือนเดิม ดังนี้

เกียร์ 1…………………………..3.552
เกียร์ 2…………………………..2.022
เกียร์ 3…………………………..1.452
เกียร์ 4…………………………..1.000
เกียร์ 5…………………………..0.708
เกียร์ 6…………………………..0.599
เกียร์ถอยหลัง…………….……3.593
อัตราทดเฟืองท้าย…….….….3.369

2015_09_14_17_Mazda_CX_3_Trip_Melbourne_Car_09

********** สมรรถนะในเบื้องต้นเป็นอย่างไร **********

ผมลองจับเวลาเล่นๆ บนถนนสายรองๆ จำพวก B-Road ซึ่งไม่ค่อยมีรถ
แล่นผ่านมาเท่าไหร่ สภาพพื้นถนนแห้ง และปลอดภัยมากพอที่จะลอง
จับเวลาดู โดยทิ้งระยะห่างจากรถคันข้างหลัง และคันข้างหน้า มากๆ

ผมเป็นคนขับ ผู้โดยสารคือ Saito-san มีกระเป๋าเดินทาง และเป้อีกรวม
3 ใบ น้ำหนักภาพรวมของมนุษย์กับสัมภาระ ไม่เกิน 200 กิโลเมตร แถม
อุณหภูมิ ยังอยู่ที่ 17 องศาเซลเซียส ซึ่งอันที่จริง มันก็เกินจากมาตรฐาน
ปกติเราไปนิดเดียว แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้น ออกมาดังนี้

อัตราเร่งจาก 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ 10.02 วินาที
อัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ที่  7.82 วินาที

ไม่ต้องถามถึงความเร็วสูงสุด เพราะความเข้มงวดของทางเจ้าหน้าที่
ตำรวจ ออสเตรเลีย ทำให้ผมหมดสิทธิ์ทำตัวเลข ในหมวดดังกล่าว
แต่เท่าที่พอจะแอบมีจังหวะกดคันเร่งจมมิด เพื่อจะเช็คเรื่องเสียง
รบกวนที่ลอดเข้าห้องโดยสาร ปรากฎว่า ไปได้ถึง 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง
และแน่นอนว่า ยังไหลต่อเนื่องไปได้มากกว่านี้อีกหน่อย

เช่นเดียวกัน ความประหยัดน้ำม้ันยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะระยะเวลา
เส้นทาง และสภาพการจราจรต่างๆ ไม่เอื้ออำนวยให้ทดลองเลย จึง
มีแค่ข้อมูลว่า จากที่เราขับรถไป – กลับ Melbourne ถึงเมือง Lorne
และกลับมาที่ Melbourne อีกรอบ เข็มวัดน้ำมัน ลดลงไปจนเหลือ
ราวๆ 60% ซึ่งก็ถือว่า ประหยัดน้ำมันน่าจะดีใช้ได้อยู่

ยิ่งดูจากตัวเลขที่ ทั้ง Mazda 3 2.0 ลิตร และ CX-5 รุ่น 2.0 ลิตร ทำ
ตัวเลขเอาไว้ (ระดับ เกิน 14 กิโลเมตร/ลิตร) ก็เชื่อขนมกินได้ว่า
CX-3 น่าจะทำตัวเลขออกมาได้ในระดับใกล้เคียงกัน

ในการขับขี่จริง อัตราเร่งก็พอๆกันกับ Mazda 3 และ CX-5รุ่นที่วาง
เครื่องยนต์ 2,000 ซีซี นั่นละครับ ไม่กระโชกโฮกฮาก เร่งขึ้นไปนิ่มๆ
เว้นเสียแต่คุณจะเหยียบคันเร่งจนมิด ไปแตะโดน Switch ด้านหลัง
ซึ่งแจ้งให้ สมองกล ECM ของเครื่องยนต์ รู้ว่า คุณต้องการเร่งแซง
อย่างฉับพลัน มันจะส่งสัญญาณไปทั้งลิ้นคันเร่งไฟฟ้า หัวฉีด และ
สั่งให้เกียร์เปลี่ยนตำแหน่งลงมา เพื่อให้คุณได้ลากรอบเครื่อง เรียก
แรงบิด ออกมาใช้งานให้ทันต่อสถานการณ์ ณ จุดนั้น คุณจึงจะพบ
กับเสียงเครื่องยนต์ 4 สูบที่แผดร้องอย่างฉับพลัน พร้อมดึงตัวรถให้
ทะยานไปข้างหน้า ในทันที

ทั้งแรงดึง และอัตราเร่ง รวมทั้งบุคลิกการตอบสนองของทั้งคันเร่ง
เครื่องยนต์ และเกียร์ ไม่แตกต่างจาก Mazda 3 และ CX-5 2.0 ลิตร
เลยแม้แต่น้อย

ถามตรงนี้เลยแล้วกันครับว่า เคยขับ Mazda 3 ขุมพลัง 2,000 ซีซี
หรือ Mazda CX-5 รุ่น 2.0 ลิตร มาก่อนหรือไม่?

ถ้ายังไม่เคย ก็ไปหารถทดลองขับตามโชว์รูม Mazda เขาดู แต่ถ้า
เคยแล้ว หรือเป็นเจ้าของ Mazda 3 รุ่นล่าสุด กับ CX-5 2.0 ลิตร
คุณคงจะเดาหรือนึกภาพออกแน่ๆ ว่า ขุมพลังเบนซิน 2,000 ซีซี
Skyactiv-G  จะให้บุคลิกการตอบสนองเป็นอย่างไร

ส่วนการเก็บเสียง ในห้องโดยสาร CX-3 ทำได้ดีมากกว่าที่คิด แทบ
ไม่ได้ยินเสียงกระแสลม จากยางขอบประตู หรือกระจกบังลมหน้าเลย
ต่อให้ไต่ขึ้นไปถึงความเร็วระดับ 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ตาม

ถือเป็นเรื่องแปลกสำหรับ Mazda ยุคใหม่ เพราะบรรดาพี่ๆของ CX-3
มีปัญหาเรื่องเสียงลมเล็ดรอดเข้ามายังภายในรถอยู่ โดยเฉพาะ CX-5
กับ Mazda 3 ซึ่งยังเก็บเสียงได้ไม่ดีนัก แต่ใน CX-3 กลับทำได้ดีขึ้น
อยู่ในระดับเดียวกับ Mazda 2 ใหม่ หรือพูดง่ายๆคือ เงียบกว่าพี่ๆเขา
พอประมาณ

ต่อให้ไต่ขึ้นไปถึงความเร็วระดับ 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง เสียงที่เล็ดรอด
เข้ามา มีเพียงแค่เสียงจากยาง Toyo Proxes ซึ่งกำลังบดพื้นถนนเท่านั้น
โดยจะเริ่มดังขึ้นตั้งแต่ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับลักษณะพื้น
ผิวถนน และจะดังขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าเสียงจากพื้นถนนค่อนข้างดังพอสมควร

2015_09_14_17_Mazda_CX_3_Trip_Melbourne_Car_10

พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS ตอบสนอง
ได้อย่างเป็นธรรมชาติมากๆ จนเรียกได้ว่า เหมือนยกชุดพวงมาลัยของ Mazda 2
มาติดตั้งให้กันดื้อๆ ทั้งดุ้น การตอบสนอง แทบไม่เหลือความรู้สึกของพวงมาลัย
แบบมอเตอร์ไฟฟ้าผ่อนแรงอยู่เลย ในทุกจังหวะที่หักเลี้ยว น้ำหนักกำลังดีแล้ว
ไม่เบาโหวงไปเลยแบบรถญี่ปุ่นยุคใหม่ๆ รวมทั้งให้ความแม่นยำในขณะบังคับ
เลี้ยวได้ดีมากๆ จนไม่ต้องไปปรับแก้ไขอะไรในจุดนี้!

ระบบกันสะเทือนหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ส่วนด้านหลังเป็นแบบทอร์ชันบีม
ในรถรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อที่ผมเจอมานั้น จะดูดซับแรงสะเทือนได้ค่อนข้างดี และ
ไม่กระด้างมากอย่างที่ Mazda ตามปกติเคยเป็นมา

ในจังหวะที่เจอถนนแบบลอนคลื่น ต่อเนื่องเป็นระยะทางยาวๆ นั้น แม้จะมี
ระยะยุบตัวของช็อกอัพ เยอะในระดับที่เกือบเท่า ช็อกอัพของ CX-5 กระนั้น
CX-3 ยังคงให้ความมั่นใจบนถนนในลักษณะนี้ ได้ดีกว่า HR-V อย่างชัดเจน

ส่วนการเข้าโค้งนั้น ตัวรถเอียงในระดับที่ไม่หนีไปจาก CX-5 มากนัก และยัง
เกาะถนนหนึบแน่นดีในช่วงที่ต้องขับรถขึ้น – ลง ถนนบนเขา รวมทั้งบนถนน
สาย Great Ocean Road อันสวยงาม ทีมวิศวกรได้แสดงออกให้เห็นถึงความ
พยายามในการถ่ายทอดบุคลิกของรถ Mazda ที่ขับสนุกทุกทางโค้ง จากพวก
รุ่นพี่ๆเข้ามา ลงใน CX-3 ไว้อย่างครบถ้วน โดยไม่สนใจว่า ตัวรถจะสูงจาก
พื้นถนนเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชน บางท่านที่ร่วมเดินทางในทริปเดียวกัน
แต่ลองขับรุ่น ขับเคลื่อนล้อหน้า เกียร์ธรรมดา และอัตโนมัติ อาจ
มองว่า ช่วงล่างในรถของเขา กระด้างพอสมควร ประเด็นดังกล่าวนี้
Mr.Tomiyama มาเฉลยให้ฟังว่า

“ช่วงล่างของรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ จะถูกปรับเซ็ตช้อกอัพและสปริง
ให้นุ่มกว่ารุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า นิดนึง เพราะลูกค้าที่เลือกซื้อรุ่น
AWD มีแนวโน้มจะพารถไปขับขี่บนเส้นทางหลากหลายรูปแบบ
เลยต้องเซ็ตช่วงล่างเผื่อไว้”

 

ผมกลับมองว่า ถ้า CX-3 เวอร์ชันไทย จะได้ช่วงล่าง ที่เซ็ตมาแบบ
รุ่น AWD สำหรับตลาด ออสเตรเลีย ลูกค้าบ้านเราน่าจะชอบมาก
เพราะสำหรับคนไทยแล้ว ต่อให้รถจะเกาะถนนดี ขับขี่มั่นใจมาก
แค่ไหน แต่ถ้าไม่ยอมเซ็ตช่วงล่าง ให้เหลือความนุ่มสบายไว้แม้
เพียงติดปลายนวมเลย นั่นอาจทำให้ลูกค้าจำนวนมาก อาจพากัน
เบือนหน้าหนีได้

 

แป้นเบรกตอบสนองแทบไม่แตกต่างไปจาก Mazda 2 ใหม่มากนัก
คือไม่นุ่มไม่แข็งไม่หยุ่นเท้า อยู่ในเกณฑ์กลางๆ กำลังดี เอาใจผู้คน
ทั่วไปหน่วงความเร็วจาก 170 ลงมาเหลือ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
และจาก 100 จนถึงจุดหยุดนิ่ง ในระดับ ไว้วางใจได้ หรือจะชะลอรถ
ให้หยุดนุ่มๆ ขณะเจอสัญญาณไฟแดง ณ สี่แยก ก็ยังทำได้สบายๆ

2015_09_14_17_Mazda_CX_3_Trip_Melbourne_Car_11

********** สรุป (เบื้องต้น) **********
– มันคือ Mazda 2 แต่งงานกับ CX-5 รุ่น 2.0 ลิตร
ออกลูกมาเป็น Mazda 2 เวอร์ชันยกสูง วางเครื่องเบนซิน 2.0
ของ Mazda 3

ระยะทางประมาณ 500 กิโลเมตร กับเวลา 2 วัน ที่ได้ขับรถคันนี้ ทำให้ผม
เริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า CX-3 เป็นรถยนต์  B-Segment Crossover ซึ่งมี
บุคลิกเป็นไปตามที่ผมคาดคิดไว้

ต่อให้ Mr.Tomiyama จะบอกว่า เขาและทีมงานของ Mazda สร้าง CX-3
ขึ้นมาด้วยแนวคิดใหม่ทั้งหมด โดยไม่ได้เอาคำว่า Crossover มาจำกัดหรือ
ตีกรอบแนวทางพัฒนา

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บุคลิกการขับขี่ของ CX-3 ใหม่ ทำให้ผมนึกถึง Mazda
หลายๆรุ่น ที่ผมลองขับในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา อยู่ดี

มันเป็น”บุคลิกการขับขี่ในสไตล์ Mazda” (บังคับควบคุมรถได้ดังใจ คล่อง
แม่นยำ แต่ขับสนุก ช่วงล่าง ลดความตึงตังจาก Mazda ในอดีต นุ่มหนึบขึ้น
แต่ยังแข็งกว่าชาวบ้านเล็กน้อย เครื่องแรงขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย) ที่พวกเขา
ตั้งใจสร้างขึ้น แล้วปรับใช้กับรถยนต์แต่ละรุ่น ให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม

ถ้าจะพูดกันชนิดให้เห็นภาพไปเลยก็คือ CX-3 เป็นการนำเอาPlatform ของ
Mazda 2 เป็นพื้นฐานตั้งต้น แล้วต่อยอดด้วยการยกขยายตัวถังให้กว้างขึ้น
อีกนิด สูงขึ้นอีกหน่อย ก่อนที่จะยกเครื่องยนต์ Diesel Turbo ใน Mazda 2
กับเครื่องยนต์เบนซิน ของ Mazda 3 มาวางลงใป แล้วใส่บุคลิกการขับขี่แบบ
Mazda CX-5 เข้าไป จนกลายเป็น Small Crossover สำหรับลูกค้ายุคใหม่ที่
ใช้ชีวิตในเมืองเป็นหลัก ออกไปพักผ่อนตามรีสอร์ตต่างจังหวัดเป็นครั้งคราว
แต่ต้องการความมั่นใจและความสนุกในการขับรถ

แล้วถ้าเทียบกับคู่แข่งอย่าง Honda HR-V ละ เอาแบบสรุปสั้นๆ?

OK…..

– ถ้าคุณชอบเส้นสายของ HR-V รวมทั้งชอบความอเนกประสงค์
ต้องการพื้นที่ใช้สอยเยอะ และชื่นชอบการพับเบาะหลังอันเป็น
จุดเด่น อีกทั้งยอมรับได้กับช่วงล่างที่ไม่ค่อยน่าไว้ใจนักในย่าน
ความเร็วสูง เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง และอาจต้องรอคิวนาน
(ในกรณี สั่งจองรุ่นท็อป) คุณเดินเข้าโชว์รูม Honda ไปได้เลย

– แต่ถ้าประเด็นด้านความสนุก มั่นใจ และคล่องตัวในการขับขี่
เป็นสิ่งสำคัญ ไม่เน้นขนของ แต่หากจำเป็น ก็ยังพอจะมีพื้นที่
ด้านหลังรถ รองรับได้ ดีกว่า Nissan Juke มากพอสมควร แถม
ยังรับได้กับการบริการหลังการขายของ Mazda ซึ่งอยู่ในระดับ
กลางๆ ของตลาด ไม่ดีมาก ไม่แย่มาก แน่นอนครับ งานนี้คุณ
ควรเดินเข้าโชว์รูม Mazda ไปเซนใบจองทิ้งไว้ได้เลยก่อน
สิ้นปีนี้

แต่ถ้าคุณยังอยากรู้ว่า ในเมื่อ เครื่องยนต์ Skyactiv-G 2,000 ซีซี
ถูกนำมาวางลงในตัวถังแบบ “Mazda 2 พองลม” แล้ว จะทำตัวเลข
ทั้งอัตราเร่ง และความประหยัดได้ดีแค่ไหน

เราอาจต้องรอกันอีกสักพัก จนกว่า Mazda Sales Thailand จะพร้อม
เปิดตัว CX-3 เวอร์ชันประกอบในประเทศไทย ออกจำหน่าย ถึงตอนนั้น
ค่อยลองขับเวอร์ชันไทยกันอีกครั้ง

เปิดตัวเมื่อไหร่?

คาดว่า เราคงจะเห็น CX-3 เวอร์ชันไทย พร้อมขายจริง ก่อนงาน
Motor Expo จะเริ่มขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ แน่นอน แต่จะเป็น
ช่วงสัปดาห์ไหนของเดือนพฤศจิกายน บอกเลยว่า ณ วันที่คุณ
กำลังอ่านบทความนี้ แม้แต่คนของ Mazda เอง ก็ยังไม่รู้เลยว่า
จะสรุปเป็นวันไหนในเดือนดังกล่าว

ราคาเท่าไหร่?

จากข้อมูลที่หลุดออกมาก่อนหน้านี้ คาดว่า CX-3 ใหม่ จะมีให้
เลือกซื้อกันได้ทั้งหมด 4-5 รุ่นย่อย ติดป้ายราคาเริ่มตั้งแต่ ระดับ
ประมาณ 800.000 – 1,100,000 บาท

อาจจะบอกว่าแพง แต่ Mazda บอกว่า คราวนี้ พวกเขาจะติดตั้ง
สารพัดออพชัน มาให้แน่นเต็มคันรถ อย่างที่ทุกคนคาดหวังไว้
เป็นการทดแทน

ถ้ารีบ…ไว้รอเปิดตัว ไปทดลองขับ แล้วค่อยตัดสินใจ แต่ถ้าไม่รีบ
รอต่อไป รอจนกว่า Full Review ของรถคันนี้จะคลอดออกมาให้
ได้อ่านกัน

ซึ่งนั่นคงต้องรอกันไปจนกว่าจะถึงช่วง ต้นปี 2016

————————-///————————— 

2015_09_14_17_Mazda_CX_3_Trip_Melbourne_Car_12

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
คุณธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ และคุณอุทัย เรืองศักดิ์

Mazda Sales (Thailand) co.,ltd.
เอื้อเฟื้อการเดินทางในครั้งนี้

2015_09_14_17_Mazda_CX_3_Trip_Melbourne_Car_13

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และภาพ โดยผู้เขียน / ภาพถ่ายขณะรถแล่น
เป็นของ Andrew Hobbs
ส่วน ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย อื่นๆ (ยกเว้นภาพขณะ
รถแล่น)
เป็นผลงานของผู้เขียน ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้
โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
18 กันยายน 2015

Copyright (c) 2015 Text and Pictures
(some is own by Mazda Motor Corporation)

Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.

First publish in www.Headlightmag.com
September 18th,2015

 แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are welcome! CLICK HERE!