นับตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา ญี่ปุ่น กลายเป็นประเทศที่ผมเดินทางไปเยี่ยมเยียน และทำงาน บ่อยครั้งถี่ยิบ ยิ่งกว่าไปเยือนบ้านญาติตัวเองเสียอีก จนตอนนี้ เลิกนับไปแล้วละว่า เคยไปมากี่ครั้ง ที่แน่ๆ มันบ่อยยิ่งกว่าที่คุณจะเห็นผมขึ้นรถไฟฟ้า BTS ในช่วง 2 ปีมานี้ ก็แล้วกัน!

บ่อยจนกระทั่ง…ไม่ใช่แค่ เพื่อนฝูงรอบข้าง…หากแต่…ล่าสุด สดๆร้อนๆ…ยังรวมถึง คุณพ่อผม ก็เริ่มออกปากแล้วว่า…

“จิม..ป๊าว่า จิมน่าจะหาซื้อบ้านสักหลังที่ญี่ปุ่นก็ดีนะ…!!!!”

เดี๋ยวๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ แค่ไอ้บ้านหลังใหม่นี่ กัดฟันเก็บตังค์ซื้อให้บุพาการีสุดที่รักทั้งสองได้ นี่ก็เลือดกลบปากแล้วนะ ถ้าเป็นบ้านที่ญี่ปุ่น มันจะยิ่งถึงหนักหนาสาหัสขนาดไหนวะเนี่ย???

แต่ถึงจะมาเยือนที่นี่ถี่ยิบขนาดไหน ผมก็ไม่เคยมาเยือนดินแดนอันหนาวเย็นที่สุดของญี่ปุ่น อย่างเกาะ Hokkaido มาก่อน!! ได้แต่จินตนาการว่า ที่นั่นคงจะมีสถานทีท่องเที่ยวสวยๆ ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเย็นสุดขั้ว

แต่ก็อย่างว่าละครับ…ยังไม่ทันจะขึ้นปีใหม่ พ้นมาได้นานนัก จู่ๆ ทริปญี่ปุ่น ทริปแรกประจำปี 2018 ก็โผล่มาเยือนจนได้ มาแบบกระทันหัน มาแบบงงๆ ไม่ทันให้ตั้งตัว แถมมาพร้อมกับความท้าทาย ทั้งเรื่องเวลาและสภาพอากาศ

เพราะเมื่อดูจากปฏิทินงานแล้ว ทันทีที่กลับจาก ลองขับ Mercedes-Benz CLS ใหม่ ณ เมือง Barcelona ประเทศ Spain เพียง ไม่ถึง 24 ชั่วโมง ต่อมา ผมก็ต้องพาสาระร่าง และกระเป๋าเดินทางใบเดิม (และเสื้อผ้าบางตัวที่ยังเป็นชุดเดิม ซึ่งยังไม่ได้ใส่ จากทริปก่อน) กลับมาอยู่บนเครื่องบินอีกครั้ง คราวนี้ กัปตัน ทองสุก แห่งสายการบินไทย พาคณะสื่อมวลชนจากไทย 15 ชีวิต บินในสภาพ “สุกๆ” ผ่านสารพัดหลุมอากาศ มายังสนามบิน New Chitose เกาะ Hokkaido ได้โดยสวัสดิภาพ เป็นครั้งแรกในชีวิตของผม และอีกหลายๆคน ท่ามกลางสภาพอากาศ หนาวจัดระดับ “หิมะ สูงท่วมหัวเด็กประถม!”

ลองนึกภาพนะครับ จากกรุงเทพฯ บินไปเปลี่ยนเครื่องบินที่ Zurich Switzerland ก็เจอ -1 องศาเซลเซียส มาแบบออร์เดิร์ฟ ไปอยู่ Barcelona เจออากาศเย็นแถวๆ 2 – 12 องศาเซลเซียสเข้าไป ก็หนาวสั่นยันไข่แล้ว อยู่ได้ 2 วัน 1 คืน ต้องบินกลับมาเมืองไทย เจออากาศ ร้อนตับแลบ 33 องศาเซลเซียส และอยู่ได้แค่ 24 ชั่วโมง ก็ต้องบินมาถัง Hokkaido ซึ่งพายุหิมะ เพิ่งผ่านพ้นไป ทิ้งความหนาวเย็นระดับ -1 ถึง – 15 องศาเซลเซียส… ให้พวกเราไว้ดูกันต่างหน้า…แถมยังมีหิมะตกโปรยปรายลงมาเป็นระยะๆอีกต่างหาก นี่ยังไม่นับว่า กลับไปเมืองไทยแล้ว ต้องจัดกิจกรรม ลองขับ Suzuki Swift กับคุณผู้อ่านของ Headlightmag.com เราอีก รวม 3 วัน ท่ามกลางอากาศร้อนจัดระดับ 33-38 องศาเซลเซียส อีกแหนะ!

ถ้าหลังจากนี้ ผมเข้า โรงพยาบาล ก็อย่าตกใจนะครับ…

ว่าแต่…ทำไมงวดนี้…ต้องเป็น Hokkaido?

เหตุผลก็เพราะ Mazda มีสนามทดสอบของตนเอง ชื่อ Kenbuchi Proving Ground ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะ Hokkaido นั่นเอง พวกเขาอยากให้สื่อมวลชนชาว ASEAN ผู้ซึ่งประเทศของพวกเขา (และไทยเราด้วย) ไม่มีโอกาสได้เจอหิมะ หรือความหนาวเย็น ให้ได้มาลองขับรถยนต์ในสภาพพื้นผิวที่ลื่น และชื้นแฉะ จะได้เข้าใจในแนวทางการสร้างรถยนต์ของชาว Hiroshima อย่างพวกเขา มากขึ้น ก็เท่านั้นเอง

Mazda เริ่มทดสอบรถยนต์ในสภาพอากาศหนาวจัด หิมะตกหนัก และลื่นไถลได้ง่าย ใน Kenbuchi มาตั้งแต่ปี 1987 จนกระทั่งตัดสินใจ สร้างสนามทดสอบแห่งนี้ เสร็จสมบูรณ์ในเดือนมกราคม 1990 เพียงแต่ในอดีตที่ผ่านมา พวกเขาไม่เคยเปิดสนามหรือจัดกิจกรรม ให้บุคคลภายนอก เข้ามาทดสอบรถยนต์ในพื้นที่แห่งนี้มาก่อน จนกระทั่ง เดือนธันวาคม 2015 จึงเริ่มเปิดให้สื่อมวลชนชาวญี่ปุ่น เข้ามาทดสอบระบบเบรก ABS ระบบ ควบคุมเสถียรภาพ DSC ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี Traction Control ฯลฯ ได้เป็นครั้งแรก และนับแต่นั้นเป็นต้นมา พวกเขาก็เริ่มจัดกิจกรรมลักษณะนี้ ในทุกต้นปี เพราะโดยปกติแล้ว ช่วงเวลาที่ Hokkaido ถูกปกคลุมไปด้วยหิมะ จะยาวไปจนถึงปลายเดือนมีนาคม แต่ สนาม Kenbuchi จะเต็มไปด้วยหิมะ ยาวกว่านั้น ไปจนถึงประมาณเดือนพฤษภาคม เลยทีเดียว!

สนามแห่งนี้ มีพื้นที่สำหรับทดสอบรถยนต์ หลายรูปแบบ ตั้งแต่ เนิน High Speed Sloped ถนนคดเคี้ยวตามเชิงเขา วงเวียนขนาดใหญ่ รวมทั้ง พื้นที่ซึ่งมีหิมะกำลังละลาย และเกิดน้ำท่วมขังเจิ่งนอง

แม้ว่าพื้นที่สนาม เป็นของ Mazda แต่ในบางกรณี พวกเขาก็เช่าพื้นที่ถนนโดยรอบสนาม Kenbuchi จากทางเทศบาลของเมือง ในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึง มีนาคม ของทุกปี เพื่อการทดสอบรถยนต์ โดยปกติแล้ว การทดสอบจะมีขึ้นระหว่างเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ แต่ในช่วงเวลาที่ไม่มีการทดสอบ ถนนโดยรอบ จะถูกเปิดให้ใช้ เป็นถนนสาธารณะ ที่ใครก็ตาม สามารถขับรถยนต์ผ่านรอบๆสนามได้

สนาม Kenbuchi แห่งนี้ Mazda ไม่ค่อยเคร่งครัดอะไรกับพวกเราเลย และดูเหมือนว่า พวกเขาจะโปรดปรานกับการต้อนรับเราในสถานที่แห่งนี้ด้วยซ้ำ มีเรื่องเล่ามากมายที่ถูกถ่ายทอดให้เราได้รับฟังกัน…เช่นว่า เมื่อ ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าคณะพวกเรามาเยือน มีนักขับคนหนึ่ง พารถแหกโค้ง เอาหน้ารถทดสอบไปสไลด์ไถพรืดไปกับแถบกำแพงหิมะอันสูงหนา จนหน้ารถ แหกถลอกปอกเปิกไปหมด…เปล่าครับ รถทดสอบคันนั้น ไม่ใช่ Mazda หากแต่เป็น Volkswagen Golf ใหม่…!!!

ไม่เพียงเท่านั้น สนามแห่งนี้ ยังตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติแห่งขุนเขา เราจึงไม่แปลกใจ ถ้าจู่ๆ ขณะที่คุณกำลังขับรถทดสอบที่นี่ แล้วจะเจอ หมีสีน้ำตาล ตัวเบ้อเร่อ (ซึ่งถูกเล่าขานกันมาว่า มีสต๊าฟบางคนเคยเจอ) หรือ เมื่อสัปดาห์ก่อนที่เราจะมาเยือน นักขับทดสอบคนหนึ่ง กำลังเข้าโค้งด้วยความเร็ว 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนทางหิมะ…เจอกวาง 1 ตัว ทำท่าว่าจะข้ามถนน!

ไม่ต้องอื่นไกลครับ ในวันที่เราไปเยือนนั้น จู่ๆ ก็มี สุนัขจิ้งจอกตัวน้อย น่ารักขนปุย เดินลงมาทักทาย คาดว่าคงหิว พอมีนักข่าวสาวจากสิงค์โปร์ แกะขนมโยนให้กิน น้องเค้าก็ก้มกินหน้าตาเฉย เหมือนน้องหมาแถวบ้านเราเลย คาดว่าคงหิว เลยเดินลงมาพร้อมกับข้อความว่า “หนูหิว ขอของกินหน่อยจิ มนุษย์!” ลงมาทักทายพอเป็นพิธี กินขนมไปนิดหน่อย น้องเค้าก็เดินกลับเข้าป่าแถวนั้นไปเอง

ให้ตายเถอะ…ชอบบรรยากาศแบบนี้จังเลย! อยากกลับไปอีกนะ สนามทดสอบรถยนต์ที่มีบรรยากาศเป็นกันเองได้มากขนาดนี้ มันไม่ค่อยมีหรอกบนโลกนี้!

กิจกรรมการทดลองขับของเราในวันนี้ เน้นการพาชม สนามทดสอบ โดยรอบ รวมทั้งการลองขับเพื่อให้เข้าใจการทำงานของระบบควบคุมเสถียรภาพ DSC (Dynamic Stability Control) ในลักษณะแบบ สลาลอม Gymkhana การทดลองเรียนรู้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ติดตั้งอยู่ในรถเก๋ง Mazda ที่จำหน่ายเฉพาะในญี่ปุ่น และไฮไลต์ สำคัญ ก็คือ การพาทุกคนไปลองขับ SUV 7 ที่นั่ง รุ่นใหม่ล่าสุด อย่าง Mazda CX-8

ในเมื่อรถยนต์รุ่นนี้ กำลังอยู่ในระห่าง เตรียมเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ระหว่าง ปลายปี 2018 ถึง ต้นปี 2019 ดังนั้น เราก็ควรจะหาโอกาสมาลองขับสักนิด เพื่อให้ได้รู้ว่า รถคันนี้ แตกต่างจาก CX-5 ญาติผู้พี่ที่มีลำตัวสั้นกว่า มากน้อยแค่ไหน

มาลองดูกันครับ!

Mazda CX-8 เป็นรถยนต์นั่งตรวจการอเนกประสงค์ SUV (Sport Utility Vehicle) 7 ที่นั่ง ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานโครงสร้างตัวถังและงานวิศวกรรมร่วมกับ Mazda CX-5 รุ่นที่ 2 และ Mazda CX-9 รุ่นที่ 2 เผยโฉมครั้งแรกในโลก เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2018 ณ ประเทศญี่ปุ่น

CX-8 มีขนาดตัวถังยาว 4,900 มิลลิเมตร กว้าง 1,840 มิลลิเมตร สูง 1,730 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,930 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า/หลัง 1,595 / 1,600 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 200 มิลลิเมตร น้ำหนักตัว ตั้งแต่ 1,790 – 1,900 กิโลกรัม ตามแต่ละรุ่นย่อย และ Option ที่ติดตั้งเข้าไปจากโรงงาน

เมื่อเปรียบเทียบกับ Mazda CX-5 รุ่นล่าสุด ซึ่งมีความยาว 4,550 มิลลิเมตร กว้าง 1,840 มิลลิเมตร สูง 1,675 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ : 2,700 มิลลิเมตร จะพบว่า CX-8 จะยาวเพิ่มขึ้นจาก CX-5 ถึง 350 มิลลิเมตร กว้างเท่ากัน สูงกว่า CX-5 อยู่ 55 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ ยาวกว่า CX-5 ถึง 230 มิลลิเมตร

แต่ถ้าเปรียบเทียบกับ ญาติผู้พี่ อย่าง Mazda CX-9 รุ่นล่าสุด ซึ่งเป็น SUV 7  ที่นั่ง สำหรับตลาดอเมริกาเหนือ ที่มีความยาวถึง 5,075 มิลลิเมตร กว้าง 1,969 มิลลิเมตร สูง 1,747 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,930 มิลลิเมตร จะพบว่า CX-8 สั้นกว่าถึง 175 มิลลิเมตร แคบกว่าถึง 129 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 17 มิลลิเมตร แต่กลับมีระยะฐานล้อยาวเท่ากันกับ CX-9 ส่วนถังน้ำมันมีขนาดใหญ่ถึง 74 ลิตร

เวอร์ชันญี่ปุ่น มีให้เลือก 3 ระดับการตกแต่ง รวม 10 รุ่นย่อย คือ XD 2WD (ขับล้อหน้า FF) / 4WD มีทั้ง 6 หรือ 7 ที่นั่ง ราคาเริ่มต้น 3,196,800 เยน หรือ 1,022,976 บาทไทย (ไม่รวมภาษีนำเข้า) ตามด้วย XD Proactive 2WD (FF) / 4WD เพิ่มกล้อง 360 องศา และระบบความปลอดภัยอีกสเต็ปขึ้นมา แต่รุ่นแพงสุดคือ XD L Package 6 ที่นั่ง มีทั้งรุ่น 2WD (FF) และ 4WD ซึ่งมีค่าตัวแพงสุดที่ 4,190,400 เยน หรือ 1,340,928 บาท (ไม่รวมภาษีนำเข้า)

รูปลักษณ์ภายนอก บริเวณครึ่งคันหน้า ตั้งแต่เปลือกกันชนหน้า จนถึงเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar ยกชุดมาจาก CX-5 ใหม่แทบทั้งดุ้น ชุดไฟหน้าเป็นแบบ Projector Lens ALH (Adaptive LED Headlamp) พร้อมระบบไฟสูงตัดเป็นไฟต่ำอัตโนมัติเมื่อมีรถแล่นสวนทางมา HBC (High Beam Control) กระจกมองข้าง ปรับและพับด้วยไฟฟ้า พร้อมไฟเลี้ยว เสาอากาศแบบครีบฉลาม Shark Fin ชุดไฟท้าย แบบ LED เพิ่มไฟตัดหมอกหลังมาให้ รวมทั้งปลอกท่อไอเสียแบบคู่ และเพิ่มราวหลังคาบรรทุกสัมภาระ Rack Roof จากโรงงาน

รุ่น XD พื้นฐาน สวมล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว พร้อมยางขนาด 225/65R16 102H ส่วนรุ่น Proactiv และ L Package จะมาพร้อม ล้ออัลลอย 19″ x 7″J พร้อมยาง 225/55 R19 99V เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน แต่ลายล้อของ 2 รุ่นหลัง จะแตกต่างกันนิดหน่อย

กุญแจ เป็นแบบ Smart Keyless Entry หน้าตา “สหกรณ์” ที่พบได้ใน Mazda ยุค SKYACTIV ทุกรุ่น สำหรับพกไว้กับตัว เวลาจะขึ้นรถ ก็ให้กดปุ่มสีดำที่มือจับเปิดประตู เช่นเดียวกันกับเวลาล็อครถ ตัวรีโมตสามารถใช้เปิดฝากระโปรงท้ายได้โดยกดค้างไว้ แล้วฝาท้ายไฟฟ้าจะค่อยๆเลื่อนเปิด แบบ Power Gate Lift

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หน้า ไม่แตกต่างไปจาก CX-5 ใหม่ เลย สำหรับคนตัวใหญ่ ขอแนะนำให้ปรับเบาะลงต่ำสุด เพื่อการเข้า – ออกที่สบายขึ้น แผงประตู เหมือนกับ CX-5 ใหม่ แต่วัสดุด้านใน ถูก Upgrade ขึ้นไปอีกเล็กน้อย มีทั้งหนังสังเคราะห์ ซ้อนด้วยฟองน้ำแบบบาง บุนุ่มซ้อนข้างใน ให้พื้นผิวสัมผัสที่ดีขึ้น

เบาะนั่ง 3 แถว มีให้เลือก 3 รูปแบบ

  • แบบ 2 – 3 – 2 ที่นั่ง (7 ที่นั่ง)
  • แบบ 2 – 2 – 2 ที่นั่ง (6 ที่นั่ง มี Captain Seat พร้อมพนักวางแขน)
  • แบบ 2 – 2 – 2 ที่นั่ง (6 ที่นั่ง มี Captain Seat พร้อมกล่องเก็บของคอนโซลกลางและที่วางแขนสำหรับผู้โดยสารแถว 2)

วัสดุเบาะนั่ง มีให้เลือก 3 แบบ (ตามแต่รุ่นย่อย)

  • เบาะนั่งหุ้มด้วยหนัง Nappa Leather สีน้ำตาลแดง Deep Red (Ebony Stitch)
  • เบาะนั่งหุ้มด้วยหนัง Nappa Leather สีขาว Pure White (Light Grey Stitch)
  • เบาะนั่งหุ้มด้วยผ้าสีดำ Square Mesh Cross

เบาะนั่งคู่หน้า ยกงานออกแบบมาจาก CX-5 ก็จริง แต่ด้วยวัสดุหุ้มเบาะที่หรูขึ้นมาก เทียบเท่ารถยุโรประดับ Premium ทำให้บรรยากาศในห้องโดยสาร ดูหรูหราขึ้นผิดหูผิดตา รุ่น XD มาตรฐาน เป็นแบบ ปรับเอน – เลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง และยกระดับสูง – ต่ำ ด้วยคันโยก 3 ตำแหน่ง แต่รุ่น XD Proactive รวมทั้ง L Package จะให้เบาะคู่หน้าปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้า โดย เบาะคนขับ ปรับได้ถึง 10 ตำแหน่ง (รวมทั้งตัวปรับดันหลัง และปีกข้างด้วย) ส่วนเบาะผู้โดยสารฝั่งซ้าย ปรับได้ 6 ตำแหน่ง รวมทั้งมีพัดลมระบายอากาศ และ Heater อุ่นเบาะคู่หน้ามาให้ครบถ้วน

พนักพิงหลัง รองรับสรีระบริเวณแผ่นหลังได้ กำลังดี ปีกข้าง พอจะช่วย Support แผ่นหลังได้ในระดับเดียวกับ Premium SUV จากแบรนด์ยุโรป พนักศีรษะ แข็งแต่แอบบุวัสดุอ่อนนุ่มข้างในเอาไว้ ส่วนเบาะรองนั่ง มีความยาว เท่ากับ CX-5 คือ ยาวแล้วแหละ แต่อยากให้ยาวกว่านี้อีกนิดนึง

พนักศีรษะ ยังคง แน่นเกือบแข็ง แถมยังดันกบาลหน่อยๆ เหมือนกับ CX-5 รุ่นที่ 2 ไม่มีผิดเพี้ยน ประเด็นนี้ วิศวกร Mazda เองรับทราบเรื่องแล้ว เท่าที่ได้ยินมาคือ ไม่ใช่แค่ผมเท่านั้นที่บ่น ลูกค้าชาวต่างประเทศเขาก็บ่นเรื่องนี้กันอุบเลย สำนักงานใหญ่ Hiroshima เขาก็พยายามแก้ปัญหานี้กันอย่างหนักหน่วงอยู่

จุดเด่นที่ทำให้ CX-8 แตกต่างจาก CX-5 อยู่ที่ ช่องทางเข้า – ออก บานประตูคู่หลัง ซึ่งมีขนาดกว้างขึ้นจาก CX-5 ชัดเจน ราวกับว่า มีใครเอา CX-5 มาทำเป็นเวอร์ชัน Limousine ดังนั้น การเข้า – ออกจากเบาะแถว 2 จึงแทบไม่มีปัญหาเลย ขึ้นลงจากรถได้สบายกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับ CX-5 ใหม่

กระจกหน้าต่างของบานประตูคู่หลัง ติดตั้งม่านลดแสงแดดแบบม้วน ยกเลื่อนลงเก็บได้ แผงประตู มีพนักวางแขน ซึ่งวางท่อนแขนได้สบายเกือบจะกำลังดี (ข้อศอกแอบลอยนิดนึง) มีช่องวางขวดน้ำขนาด 7 บาท ข้างล่าง และช่องใส่ของจุกจิกประมาณหนึ่ง

CX-8 ที่เราทดลองขับกัน เป็นรุ่นย่อย XD L Package FWD (ขับล้อหน้า) 6 ที่นั่ง เบาะนั่งแถว 2 มีระบบ Heater อุ่นเบาะ เหมือนเบาะคู่หน้า! เท่ากับว่า ชุดเบาะแถว 2 จะไม่เหมือนกับ CX-5 ใหม่ในบ้านเรา

พนักพิงหลัง แน่นแต่แอบนุ่ม ในสไตล์ SUV ยุโรป แทบไม่ผิดเพี้ยน ปีกข้างเสริมซัพพอร์ตด้านข้างลำตัวผู้โดยสารไม่มากนัก พนักศีรษะ แน่นเกือบแข็ง แต่แอบนุ่มนิดๆส่นเบาะรองนั่ง แน่นสบาย ไม่ต้องนั่งชันขา เพราะตัวเบาะมีมุมเงยที่เหมาะสม มารองรับอยู่แล้ว แต่ขอบเบาะถูกปาดโค้งลงด้านล่าง คล้ายทรงกระเป๋านักเรียนญี่ปุ่นนิดๆ แถมยังมีความยาวเหมาะสม ยาวมาถึงข้อพับขา ทำให้นั่งสบายพอสมควร ไม่เพียงเท่านั้น การขยายความยาวตัวถัง และระยะฐานล้อของตัวรถ ทำให้พื้นที่วางขา โล่งโจ้งเพิ่มขึ้นชัดเจนระดับที่ผมสามารถนั่งไขว่ห้างได้สบายๆ

พนักวางแขนตรงกลาง สามารถวางท่อนแขนได้สบายพอดีๆ เปิดกางออกมาเป็นช่องเก็บของจุกจิก และมีช่องใส่แก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง ในรุ่นที่ให้กล่องคอนโซลแบบนี้มา ไม่สามารถยกพับเก็บได้ เพราะติดตั้งมาตายตัวกับพื้นรถ แต่ถ้าเป็นรุ่นปกติ จะสามารถลุกเดินทะลุไปยังเบาะแถว 3 ได้เลย โดยไม่ต้องเปิดประตูรถ

การเข้า – ออกจาก เบาะแถว 3 นั่น ค่อนข้างสะดวกสำหรับเด็กตัวเล็กๆ แต่ลำบากพอสมควรสำหรับผม แม้จะไม่เลวร้ายเท่า Ford Everest หรือ Toyota Fortuner แต่ก็ใกล้เคียงเหมือนกัน คุณต้องยกคันโยกที่ฐานเบาะขึ้น เพื่อโน้มพนักพิงและชุดเบาะเลื่อนขึ้นไปข้างหน้า ก่อนจะเข้าไปนั่ง หรืลุกออก จากเบาะแถว 3

พื้นที่เหนือศีรษะสำหรับผู้โดยสารบนเบาะแถว 3 นั่น ถ้าเป็นคนตัวสูงไม่เกิน 170 เซ็นติเมตร สบายมากครับ ไม่มีปัญหา แต่ถ้าคุณตัวสูงเกินจากนี้ หรือมีช่วงลำตัวยาวกว่าช่วงขา อาจเจอปัญหาหัวชนเพดานหลังคาด้านหลังได้เลยทันที  พนักพิงหลังก็แบนพอสมควร นั่งสบายกว่า SUV แบบ PPV หลายๆรุ่นในบ้านเรา พนักศีรษะ แน่น แอบนิ่มนิดๆ ส่วนเบาะรองนั่ง ค่อนข้างสั้น และออกแบบให้เป็นนั่งได้พอสบาย แม้บางคนอาจต้องนั่งชันขาบ้าง ผนังด้านข้างเหนือซุ้มล้อคู่หลัง ออกแบบเป็นแผงพลาสติก Recycle ขนาดใหญ่ มีพื้นที่วางแขนได้สบายพอดี และมีช่องวางแก้วน้ำมาให้ด้วย

เบาะแถว 2 และ 3 สามารถแบ่งพับได้ ในอัตราส่วน 60 : 40 และ 50 : 50 ตามลำดับ การพับเบาะ มีคันโยกช่วยพับติดอยู่กับตัวเบาะ ซึ่งคุณควรเปิดฝาท้ายขึ้นก่อน แล้วค่อยดึงคันโยกพับเบาะลงไป

ฝาท้าย เปิด – ปิดด้วยสวิตช์ไฟฟ้า Power Lift Gate พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังรถ มีขนาด 239 ลิตร ซึ่งเพียงพอกับการใส่ถุงกอล์ฟขนาดมาตรฐานถึง 2 ใบ แต่เมื่อพับเบาะแถว 3 ลง จะเพิ่มขนาดพื้นที่เป็น 572 ลิตร รวมทั้งยังมีช่องเก็บของใต้พื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลัง 65 ลิตร (ลึก 307 มิลลิเมตร)

แผงหน้าปัด และชุดมาตรวัด ยกมาจาก CX-5 ใหม่ทั้งดุ้น แบบไม่ต้องคิดมาก แต่ตกแต่งให้ดูสวยงามและหรูหรา Premium มากขึ้น ออกแบบตามแนวคิด “Refined Toughness” คือ ดูแกร่งกร้าว แต่แฝงความละเมียดไว้ในรายละเอียดปลีกย่อย วัสดุภายใน มีทั้ง Trim ลายพิเศษ Trim สีดำ Piano Black ตัดขอบด้วยอะลูเนียมสีเงิน ทั้งที่แผงประตู แผงหน้าปัด ฐานคันเกียร์ตรงคอนโซลกลาง

สวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า เป็นแบบ One-Touch เลื่อนขึ้น – ลงได้ ด้วยการกดหรือยกสวิตช์เพียงครั้งเดียว ครบทั้ง 4 บาน! กระจกมองข้าง ปรับและพับด้วยสวิตช์ไฟฟ้า พวงมาลัยแบบ 3 ก้าน ดีไซน์ใหม่ ยกมาจาก CX-5 ใหม่ Grip จับกำลังดี มี Heater อุ่นมืออยู่ทั้ง 2 ฝั่ง ก้านพวงมาลัย ฝั่งซ้าย ควบคุมการทำงานของชุดเครื่องเสียงและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนฝั่งขวา ควบคุมระบบล็อกความเร็วและปรับเพิ่มหรือลดความเร็วได้เองตามระยะห่างของรถคันข้างหน้า MRCC (Mazda Radar Cruise Control) ตัวพวงมาลัยหุ้มหนังอย่างดี ปรับระยะสูง – ต่ำ และระยะใกล้ – ห่าง Telescopic ได้

เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบอัตโนมัติ (Auto Air-Condition) แยกฝั่ง 3 Zone ทั้งซ้าย – ขวา และสวิตช์พร้อมหน้าจอ Digital สำหรับผู้โดยสารแถว 2 แยกต่างหาก ด้านความบันเทิง มีจอมอนิเตอร์สี ขนาด 7 นิ้ว WVGA นอกจากติดตั้งระบบ MZ CONNECT มาให้แล้ว รุ่น XD ปกติ จะมีวิทยุ AM/FM เครื่องเล่น CD/DVD/Digital TV Tuner (OneSec.) พร้อม Bluetooth , HandsFree Michophone และช่องเสียบ USB 2 ตำแหน่ในกล่องคอนโซลกลางมาให้ รุ่น XD มี 4 ลำโพง ส่วน XD Proactiv จะมี 6 ลำโพง แต่สำหรับรุ่น L Package จะมีชุดเครื่องเสียง BOSE SoundSystem AUTOPILOT + Centerpoint®2 พร้อมลำโพง 10 ชิ้น ให้เลือกสั่งติดตั้งพิเศษอีกด้วย!

CX-8 เวอร์ชันญี่ปุ่น มีเครื่องยนต์ให้เลือกเพียงแบบเดียว คือ SKYACTIV-D รหัส SH-VPTS Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 2.2 ลิตร หากดูเผินๆ อาจคิดว่าเป็นขุมพลังเดียวกับ CX-5 เวอร์ชันไทย แต่ความจริงแล้ว รายละเอียดไส้ใน แตกต่างกันนิดหน่อย

ขุมพลัง 2.2 SKYACTIV-D ที่ใช้อยู่ปัจจุบันใน CX-5 เวอร์ชันไทย นั้น มีความจุ 2,191 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 86.0 x 94.3 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 14.0 : 1 กำลังสูงสุด 175 แรงม้า (PS) ที่ 4,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 420 นิวตัน-เมตร (42.79 กก.-ม.) ที่ 2,000 รอบ/นาที

แต่ขุมพลัง 2.2 SKYACTIV-D ใน CX-8 (ซึ่งถูกนำไปใช้กับ CX-5 MY 2018 เวอร์ชันญี่ปุ่นแล้ว) มีความจุ ลดลงเหลือ 2,188 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชักลดลง 0.1 มิลลิเมตร เป็น 86.0 x 94.2 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด ก็เพิ่มขึ้น 0.4 เป็น 14.4 : 1 เพียงแต่ว่ายังคงจ่ายเชื้อเพลิงแบบ Direct Injection ด้วยระบบหัวฉีด Common-rail และพ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger แบบ 2-Stageและ ระบบระบายความร้อนให้กับไอดีก่อนส่งเข้าห้องเผาไหม้ Intercooler เหมือนกัน

ด้วยการปรับจูน Software เครื่องยนต์ใหม่ ทำให้กำลังสูงสุดเพิ่มขึ้นจากเดิม 15 แรงม้า (PS) เป็น 190 แรงม้า (PS) ที่ 4,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดเพิ่มขึ้น 30 นิวตัน-เมตร (3.057 กก.-ม.) เป็น 450 นิวตัน-เมตร (45.85 กก.-ม.) ที่ 2,000 รอบ/นาที

CX-8 เวอร์ชันญี่ปุ่น มีให้เลือก ทั้งระบบขับเคลื่อนล้อหน้า และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ อัตโนมัติ Real-Time AWD โดยทั้งคู่ จะใช้เกียร์อัตโนมัติ SKYACTIV-DRIVE 6 จังหวะ อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

เกียร์ 1………………………………..3.487
เกียร์ 2………………………………..1.992
เกียร์ 3………………………………..1.449
เกียร์ 4………………………………..1.000
เกียร์ 5………………………………..0.707
เกียร์ 6………………………………..0.600
เกียร์ถอยหลัง……………………….3.990
อัตราทดเฟืองท้าย (ทุกรุ่น)………4.411
อัตราทดเพลาท้าย (รุ่น AWD)….2.928

ต้องบอกกับคุณผู้อ่านกันก่อนว่า การลองขับของเราในครั้งนี้ ค่อนข้างสั้น และสภาพเส้นทาง วนเป็น Loop เล็กๆ ในเส้นทาง Melt Snow (ดูแผนที่ข้างบนประกอบ) ทางจะอ้อมจากหน้า Lab และอาคารสำนักงาน ไปทางซ้าย ลัดเลาะอ้อมด้านหลัง Garage หรือโรงเก็บและซ่อมรถ) ก่อนวนกลับมายังจุดเริ่มต้นหน้าอาคารอีกครั้ง ดังนั้น เราจึงไม่ได้มีโอกาสลอง อัตราเร่ง ใดๆ มาให้เลย ได้แค่จับฟีลลิงว่า การตอบสนองในช่วงความเร็วต่ำ ไม่เกิน 50 – 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง เหมือนกับ CX-5 ใหม่ แทบทุกประการ สิ่งที่พอจะ Focus ได้บ้างในคราวนี้ คือบุคลิกของพวงมาลัย และช่วงล่าง

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) ถูกปรับเซ็ตมาให้มีบุคลิกเหมือนกับ CX-5 รุ่นล่าสุด คือ มีอ้ตราทดไวขึ้นกว่า CX-5 รุ่นเดิม ทว่า น้ำหนักเบากว่า CX-5 รุ่นเดิม ยิ่งในช่วงความเร็วต่ำ มันเบาเสียจนกระทั่งต้องถามว่า นี่เราขับ Mazda 2 อยู่หรือเปล่า?

ยิ่งพอได้มีโอกาสลองขับ CX-3 ทั้งรุ่นปัจจุบัน และรุ่นปรับโฉม Minorchange ที่กำลังจะเปิดตัว เปรียบเทียบกับ CX-8 ด้วแล้ว ยิ่งเห็นได้ชัดเลยว่า อัตราทดพวงมาลัย ของ CX-8 จะไวใกล้เคียงกับ CX-5 และ CX-3 เพียงแต่ การสะเทือน ขณะขับผ่านพื้นผิวขรุขระ นั้น CX-8 จะมีอาการสะท้านขึ้นมาบนพวงมาลัย น้อยกว่า CX-3 มากๆ เรียกได้ว่า แทบไม่เหลือเลยด้วยซ้ำ

ระบบกันสะเทือนหน้าแบบ อิสระ MacPherson Strut พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นแบบอิสระ Multi-ink พร้อมด้วยเหล็กกันโคลงเช่นกัน สัมผัสได้ว่า การซับแรงสะเทือน ขณะขับผ่านพื้นผิวขรุขระ ทำได้นุ่มนวลกว่า CX-5 นิดนึง ยิ่งพอลองผ่านพื้นผิวเดียวกัน ด้วยความเร็วเพิ่มขึ้นจาก 30 เป็น 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง แม้จะมีการสะเทือนเข้ามานิดหน่อย แต่ก็ถือว่าน้อยกว่าที่คิดไว้มาก นั่งบนเบาะหลังก็ไม่มีอาการเมารถ ใดๆ อาการโคลงน้อยมาก

ระบบห้ามล้อ เป็นแบบดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ เฉพาะจานเบรกคู่หน้า มีรูระบายความร้อน เสริมความปลอดภัยด้วยตัวช่วยมาตรฐาน ทั้งระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกระทันหัน  ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักการบรรทุก EBD (Electronic Brake Force Distribution) ระบบช่วยเพิ่มแรงเบรคในภาวะฉุกเฉิน BA (Brake Assist) ระบบควบคุมเสถียรภาพและการทรงตัว  DSC (Dynamic Stability Control) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี และลื่นไถล TCS (Traction Control System) ส่วนเบรกมือ เป็นแบบไฟฟ้า EPB (Electromechanical Parking Brake) พร้อมระบบ Auto Brake Hold สั่งให้เบรกมือไฟฟ้า ทำงานทันทีที่ผู้ขับขี่ เหยียบเบรกจนรถหยุดนิ่งสนิท ช่วยให้ผู้ขับขี่ ถอนเท้าจากทั้งแป้นเบรกได้ขณะรถติด และจะยกเลิกทันทีที่ผู้ขับขี่เริ่มเหยียบคันเร่งอีกครั้ง ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน  HLA (Hill-Start Assist) ช่วยคาแรงดันน้ำมันเบรกไว้ 3 วินาที หลังปล่อยแป้นเบรก เพื่อให้เหยียบคันเร่ง นำรถพุ่งขึ้นทางลาดชันได้ง่ายดาย

แป้นเบรก ตอบสนองด้วยบุคลิกที่ให้ความมั่นใจเพิ่มขึ้นจาก CX-5 อย่างชัดเจน แตะเบาๆก็เริ่มชะลอให้ ระยะเหยียบเบรก ใกล้เคียงกัน แต่ CX-8 กลับให้ความมั่นใจได้มากกว่า CX-5 เสียอย่างนั้น!

ไม่เพียงเท่านั้น CX-8 เวอร์ชันญี่ปุ่น ยังมาพร้อมกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และระบบช่วยเหลือในการขับขี่ อีกมากมาย ภายใต้ชื่อ i-ACTIVSENSE ดังนี้

  • ระบบควบคุมแรงบิดขณะเข้าโค้ง G-Vectoring Control (ซึ่งมีอยู่แล้วใน Mazda เวอร์ชันไทย บางรุ่น)
  • ระบบเบรกอัตโนมัติด้านหน้า  Advanced SCBS (Smart City Brake Support )
  • ระบบเบรกอัตโนมัติด้านหลัง SCBS – R  (Smart City Brake Support – Rear )
  • ระบบช่วยชะลอความเร็วอัตโนมัติ SBS (Smart Break Support)
  • ระบบไฟสัญญาณฉุกเฉินเมื่อเบรกกะทันหัน ESS (Emergency Stop Signal)
  • ระบบเตือนแรงดันลมยาง TPMS (Tire Pressure Monitoring System)
  • ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องจราจร LAS (Lane Keeping Aid)
  • ระบบเตือนเมื่อรถออกนอกช่องจราจร LDWS (Lane Departure Warning System)
  • ระบบเตือนเมื่อมีรถอยู่ในจุดอับสายตา BSM (blind spot monitor system)
  • ระบบเตือนเมื่อมีรถตัดผ่านขณะถอยหลัง RCTA (Rear Cross Traffic Alert)
  • ระบบเตือนเมื่อผู้ขับขี่เหนื่อยล้า DAA (Driver Attention Alert )
  • ระบบเตือนสัญญาณจราจรนมาตรวัดความเร็ว TSR (Traffic Sign Recognition)
  • ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง (คู่หน้า,ด้านข้าง,ม่านนิรภัย)
  • เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ทั้ง 6 หรือ 7 ตำแหน่ง ตามรุ่นย่อย โดยคู่หน้าและเบาะแถว 2 เป็นแบบ ลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ (Pre-tensioner & Load Limiter) รวม 5 ตำแหน่ง

ยังไม่หมดครับ CX-8 ยังสามารถลากรถพ่วงที่มีน้ำหนักบรรทุกรวมไม่เกิน 750 กิโลกรัม (เช่นเรือเล็ก) โดยมี ระบบช่วยรักษาเสถียรภาพขณะลากจูงรถพ่วง TSA (Trailer Stability Assist) ซึ่งจะเริ่มทำงานเมื่อ รถลากพ่วง เริ่มเกิดอาการท้ายปัดจนส่ายไปมาอีกต่างหาก!

********** สรุป (เบื้องต้น) **********
CX-5 ตัวถังยาว เพิ่มเบาะแถวหลังเป็น 7 ที่นั่ง…ตามคาด! แต่หรูขึ้นจริง!
ยังลองไม่เต็มที่ คงต้องมีนัดล้างตา หลังจากนี้ ก่อนขายจริง ต้นปีหน้า

แม้จะถือว่าเป็นครั้งที่ 2 ในชีวิต สำหรับการขับรถท่ามกลางสภาพอากาศอันหนาวเย็น และมีหิมะปกคลุมบนพื้นถนนมากขนาดนี้ (ครั้งแรก ที่ Are ในเมือง Ostersund ประเทศ Sweden กับ Volvo V90 Cross Country เมื่อต้นปี 2017) แต่นี่เป็นประสบการณ์อันมีค่ามาก มีไม่บ่อยครั้งนักที่บริษัทรถยนต์ จะเปิดสนามทดสอบในบ้านของตัวเอง ให้แขกเหรื่อจากต่างประเทศมาเยือนกันขนาดนี้ แถมจัดกิจกรรมให้เราได้ลองขับรถกันเล่นสนุกได้อย่างนี้

จริงอยู่ว่า ช่วงเวลาเพียงแค่ 2 รอบสั้นๆ ในความเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง คงไม่สามารถบอกอุปนิสัยของตัวรถได้มากนัก แต่นั่นก็พอจะทำให้ผมเข้าใจได้คร่าวๆว่า CX-8 ก็คือ CX-5 ในเวอร์ชัน ฐานล้อยาวขึ้น เพิ่มเบาะแถวหลัง รวมเป็น 7 ที่นั่ง และตกแต่งให้หรูขึ้นจนสัมผัสได้ สำหรับประเทศที่ไม่ได้จำเป็นต้องใช้รถที่มีตัวถังกว้าง อย่าง CX-9

นอกจากความหรูหราในห้องโดยสารที่ถูก Upgrade วัสดุภายในขึ้นมาอีกระดับ เทียบเท่า SUV ระดับ Premium จากยุโรปแล้ว ผมเริ่มเห็นความแตกต่างจาก CX-5 มากขึ้น ทั้งจากการบังคับเลี้ยว ที่แม้จะเซ็ตอัตราทดเฟืองพวงมาลัยมาพอๆกัน แต่แอบหนืดต่างกันนิดเดียวจริงๆ คาดว่าน่าจะมาจากน้ำหนักของยางและล้อ ไม่เพียงเท่านั้น ช่วงล่างถูกปรับให้ซับแรงสะเทือนดีขึ้น และนุ่มขึ้นกว่า CX-5 อีกนิดนึง

พูดตรงๆว่า ยังไม่ค่อยได้เรียนรู้จักตัวรถมากเท่าไหร่ ก็ต้องถึงคราวลาจากกันไกลอีกแล้ว ผมยังไม่รู้ว่า เมื่อไหร่ จะได้กลับมาพบกับรถคันนี้อีกครั้ง อาจจะเป็นทริปทดลองขับในต่างประเทศที่ไหนอีกสักแห่ง ก่อนการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย จะมีขึ้นช่วง ต้นปี 2019

เมื่อถึงวันนั้น การได้พบเจออีกครั้ง ก็น่าจะช่วยให้เห็นข้อดีข้อด้อย และความแตกต่างจาก CX-5 มากกว่านี้…

หวังไว้ สักวันหนึ่ง!

——————-///——————

ขอขอบคุณ / Spacial Thanks to :
คุณอุทัย เรืองศักดิ์ : ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Mazda Sales (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อทริปทดลองขับในครั้งนี้

J!MMY Thanesniratsai
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และลิขสิทธิ์ภาพถ่ายเป็นผลงานของ ผู้เขียน
และช่างภาพของ Mazda Motor Corporation ประเทศญี่ปุ่น

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
8 มีนาคม 2018

Copyright (c) 2018 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.

First publish in www.Headlightmag.com
March 8th, 2018

แสดงความคิดเห็น? เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!