บ่ายวันหนึ่ง กลางสัปดาห์ แห่งฤดูหนาวอันร้อนระอุ
กลางเดือนพฤศจิกายน 2009 อุณหภูมิภายนอก 38 องศาเซลเซียส…

ผมไม่นึกหรอกว่า แค่ แวะมาทำธุระ เรื่อง เจ้า City คันสีแดงของตัวเอง…
ที่สำนักงานใหญ่ฮอนด้า แถวบ้านผม ย่านบางนา

… แล้วจู่ๆ จะมีโอกาสได้ลองขับ รถอีกรุ่นหนึ่ง ที่สร้างขึ้น บนพื้นฐานวิศวกรรมร่วมกัน
กับเจ้า City ของผม แต่มี ผู้คนจำนวนมาก เฝ้ารอมานาน กันเป็นปี ถึงขั้นเปิดเว็บไซต์ชมรม
ผู้ใช้รถรุ่นนี้ รอกันล่วงหน้าเอาไว้แต่ไก่โห่

แม้ลองได้ไม่เต็มที่ เพราะมีเวลามากำกับไว้ แถมรถก็ยังไม่ใช่ คันขายจริง
ยังต้องเอาเทปกาวหนังไก่แปะโลโก้ เอาไว้อยู่เลย ทั้งที่จะเปิดตัว ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านั้นแล้ว

กระนั้น ผมว่า ผมก็ได้คำตอบจากตัวของรถเอง มาเยอะพอ

จนต้องขอยกเอา ชื่อภาพยนตร์ ของคุณ เป็นเอก รัตนเรือง มาดัดแปลง
เป็นชื่อรีวิว ในครั้งนี้กันเสียเลย…

การขับ มินิแวน 6 ที่นั่ง เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร คันนี้ ลัดเลาะไปบนถนนสุขุมวิท
ในเวลาที่ยังต้องแปะเทปกาวสีดำ ที่โลโก้รอบคันรถ ชวนให้ผมนึกขึ้นได้ว่า
เวลานี้ เว็บไซต์ของเรา ก็เข้าใกล้อายุ 1 ปีแล้วแหะ นับตั้งแต่ เราได้ลองขับ
Nissan Teana คัน Pre-Production ซึ่งก็ต้องพรางตัว เหมือนกัน ต้องเอาเทปกาว
ปิดทับโลโก้ เช่นเดียวกัน เพียงแต่ Freed ยังแปะเทปเบาบางอยู่ ไม่ดูรกรุงรัง
เหมือนคราวนั้น

ตอนแรก ไม่ได้คิดเท่าไหร่เลย ว่าจะมีโอกาสได้ขับ ฟรี๊ด เร็วขนาดนี้
เพราะในอดีตที่ผ่านมา แม้ ฮอนด้า มักจะปล่อยรถที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ ให้ผมเป็นรายแรกๆ
แต่ กลับไม่ใช่ เจ้า City รถคันที่ท้ายที่สุด ผมตกลงใจซื้อ เพราะต้องไปลองขับกันที่
โชว์รูมสุขาภิบาล 2 ด้วยความช่วยเหลือ ของน้องอ็อพ เซลส์แมน หนุ่มน้อย
แฟนประจำคอลัมน์ของผม คนนั้นนั่นแหละ

(ซึ่ง เวลานี้ รถก็โอเคหมดเกือบทุกอย่าง จะเซ็งที่สุดก็คือ อุตส่าห์รักษาทะนุถนอม แทบตาย
ล้างเคลือบทุกสัปดาห์ เข้าศูนย์ แมคไกวร์ ดูแลอย่างดี แต่เวลานี้ เบื่อไอ้พวกชอบเปิดประตูมาชน
ตัวถังด้านข้างมากๆ เป็นรอยทีไร เจ็บปวดใจเหลือเกิน แต่ละลักยิ้ม จะต้องมีรอยฝังถึงเนื้อตัวถัง

อยากตบกบาลไอ้พวกมักง่าย ตัวก่อเหตุทั้งหลาย ให้คว่ำคะมำหงาย กระเด็นไปถึงสุดขั้วโลกใต้กันจริงๆ!
City Minorchange 2010 – 2011 ช่วยแถมคิ้วกันกระแทกให้ลูกค้าในอนาคตด้วย จะดีมาก!)

ผมก็เลยคิดในใจว่า ฮอนด้า เค้าคงไม่ได้สนใจเราแล้วมั้ง…

ทั้งที่ความจริง ก็ได้ยินมาว่า เขา มอนิเตอร์ เว็บของเรากันโดยตลอด
แถมเขายังสงสัยด้วยว่า ทำไมรีวิว รถฮอนด้า ใน Headlightmag.com มันน้อยจังเลย

แหม พี่คร้าบ ไม่ให้น้อยได้ยังไงละ ก็ไอ้ที่ทำๆมาทั้งหมดหนะ ตอนนี้
มันอยู่ที่ไหนละ มันก็อยู่ที่เดิมนั่นแหละ โดนเขาเอาไปดองไว้ซะอย่างนั้นแล้วนี่

ไม่เป็นไร เดี๋ยว ขอ ช่วงปีหน้า ก่อนเถอะ จะเริ่มทะยอย ทำรีวิวของฮอนด้า
เก็บให้ครบทุกรุ่น กันใหม่ อีกครั้ง! ทีนี้ จะเอาให้ครบมันทุกรุ่นกันเลยทีเดียว!

แต่ตอนนี้…ผมควรจะตั้งสติ และสมาธิ กับน้องโย่งคันนี้ ที่ผมขับอยู่…พล่ามมาเยอะไปแล้วแหะ…

ที่มาของ ฟรี๊ด ไม่มีอะไรซับซ้อนซ่อนเงื่อน เหมือน ซีรีส์สุดฮิต CSI หากแต่ มาจากการที่ ฮอนด้า
จำเป้นต้องสร้าง มินิแวน 7 ที่นั่ง บนพื้นฐานงานวิศวกรรม และแพล็ตฟอร็์ม ร่วมกับ Fit/Jazz และ City

ก่อนหน้านี้ ฮอนด้า มีรถแบบที่ว่า ขายอยู่แล้วในญี่ปุ่น ชื่อว่า Mobilio และ Mobilio Spike ซึ่งข้าพเจ้า
ก็เคยลองขับแบบสั้นๆ มาแล้ว ในสนามทดสอบ โตชิกิ ของฮอนด้า (รายละเอียด อ่านได้ที่นี่ คลิก)

ทีนี้ เมื่อถึงเวลา ต้องเปลี่ยนโฉมรถรุ่นนี้ ฮอนด้าก็เริ่มคิดว่า เอ๊ะ ฉันว่า ฉันก็ทำรถออกมา ได้ตามแนวคิด
ทีลูกค้าต้องการแล้วนี่หว่า แต่ทำไมยังขายไม่ดี…ดูไปดูมา อ๋อ งานดีไซน์ แบบ เอาขบวนรถรางไฟฟ้า
ในยุโรป มาแปลงใส่เป็นตัวถังรถ อย่างที่พบใน Mobilio รุ่นแรกนั้น มันยังไม่โดนใจลูกค้าชาวญี่ปุ่น
เท่าใดเลย

ถ้าเช่นนั้น ก็เปลี่ยนแนวเส้นสายกันเสียเลย จะดีที่สุด พอเปลี่ยนแนวทางการออกแบบแล้ว คราวนี้
ก็เปลี่ยนชื่อไปด้วยเลย เพราะชื่อเดิม ไม่น่าจะช่วยให้ขายได้อีกต่อไป อีท่าไหนไม่รู้ ชาวญี่ปุ่น เลย
ตั้งชื่อให้มันว่า FREED หรือ อ่านว่า ฟรี๊ด

รูปร่างหน้าตาของมัน ชวนให้ผมนึกถึง Mercedes-Benz Vaneo ที่ทำขายอยู่ได้แค่ไม่กี่ปี
ก็มีอันปลดจากสายการผลิตไปดื้อๆ งานออกแบบนั้น คล้ายกันอยู่บ้าง จนชวนให้นึกเล่นๆว่า
ถ้าเอาตราดาวสามแฉก แปะเข้าไปบนกระจังหน้า น่าจะมีใครบ้างแหละ เชื่อว่า มันเป็น เบนซ์ รุ่นใหม่!
แต่ แน่นอน พวกเขาคงสงสัย เบนซ์รุ่นอะไรหว่า หน้าตา มันคล้าย ฮอนด้า จังเลย

ทีนี้ พอเปิดตัวในญี่ปุ่น ข่าวคราวความเคลื่อนไหว ก็สะพัดมาไกล ผ่านอินเตอร์เน็ต สู่คนไทย
และคนอาเซียน พอเห็นปุ๊บ ต่างพากันร้องบอกฮอนด้าว่า “เฮ้ย คุณ ผมอยากได้ อยากซื้อ เอามาขายซะทีเด่ะ!”

งานนี้ ก็ร้อนอาสน์ ฮอนด้า เลยต้องสั่งชิ้นส่วนไปประกอบใน อินโดนีเซีย (เพราะโรงงานในไทย เต็มแล้ว
กระจายให้ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ที่ท่าทางจะขายรถรุ่นนี้ได้เยอะแยะกว่าบ้านเรา อย่างอินโดนีเซีย
เขาประกอบซะบ้างเสะ จะงกไว้ประกอบเอง เพื่ออะไรละ? ไหนยังต้องเตรียมไลน์ผลิต Eco Car อีก)

พอประกอบเสร็จ ก็ส่งลงเรือเข้ามายังเมืองไทย ใช้ข้อได้เปรียบ จากการทำ FTA กับประเทศในอาเซียน
นั่นแหละ ที่มาของ ฟรี๊ด ซึ่งคุณคงจะได้เห็นวิ่งเล่นบนถนนในเมืองไทย กันเสียที แต่ด้วยจำนวนที่
ผม และอีกหลายๆคน ประเมินกันว่า อาจจะน้อยกว่าที่คิดไว้สักหน่อย…

ทำไม?
ยังก่อน ยังไม่เฉลย ในตอนนี้ครับ
อ่านไปเรื่อยๆ เดี๋ยวรู้เอง
ระหว่างนี้ เราเปิดประตูเข้าไปดูห้องโดยสารกันดีกว่า!

บานประตูคู่หน้า เมื่อเปิดกางออกไป ก็จะโน้มไปข้างหน้ารถเล็กน้อย แบบเดียวกับ Mobilio รุ่นก่อนเคยเป็น
การขึ้นลงจากรถ ทำได้ง่ายดาย สะดวกคล่องแคล่วดี ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด แม้ว่าบานประตูจะใหญ่โต
เบ้อเร่อเบ้อร่า พอกันกับประตูห้องนอนบ้านจัดสรรเพื่อเศรษฐี ก็ตาม

เบาะนั่งคู่หน้า นั่งสบาย และยิ่งดี ที่มี ที่วางแขน ฝั่งคนขับ พับเก็บได้ เป็นสิ่งที่ มีใน Jazz แต่ไม่ยั้กมีใน City แหะ?
ถ้ามองเรื่องการนั่งอย่างเดียว ยังไม่มองเรื่องการควบคุมรถมาเกี่ยวข้อง เบาะนั่งถือว่า ออกแบบมาโอเค กับราคา
แต่ ถ้ารวมเรื่องตำแหน่งนั่งขับไปด้วย ผมว่าชักไม่ใช่แล้ว เพราะผมต้องพยายามปรับตำแหน่งเบาะอยู่ สองสามครั้ง
กว่าจะลงตัว พอรับได้ เพราะ ในรถคันที่ผมลองขับอยู่นี้ เบาะคนขับ ปรับได้แค่ เลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลัง
และปรับพนักพิงเอนขึ้น-ลง เท่านั้น จะปรับระดับเบาะนั่งให้สูง หรือต่ำไม่ได้ครับ!

เอ่อ…มีมาให้เถอะ เรื่องแค่นี้เอง นะ อย่างน้อย รุ่นท็อป กับรองท็อป ควรจะมีมาให้ครับ

พื้นที่เหนือศีรษะ หายห่วง โปร่งโล่ง ราวกับ หลังคาอินดอร์สเตเดียมหัวหมากเลยแหะ

จุดเด่นของ Freed อยู่ที่ ประตูทางขึ้นสำหรับผู้โดยสารตอนหลัง  เป็นแบบบานเลื่อน
ถือเป็นรายเดียวในไทย สำหรับกลุ่มตลาด มินิแวน ระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทที่มีมาให้
สังเกตว่า กระจกหน้าต่าง เป็นแบบเลื่อนเปิด-ปิดด้วยสวิชต์ไฟฟ้ามาให้ด้วย

แถมมีระบบเปิด-ปิดด้วยไฟฟ้า ที่เคยมีอยู่ในรถราคาแพงๆ อย่างพวก Toyota Alphard
ฮอนด้า ก็พยายาม เอาเข้ามาใส่ในรถเวอร์ชันไทย ครบทั้งฝั่งซ้าย-ขวา
ควบคุมการเปิด-ปิด ด้วยรีโมทคอนโทรล อีกต่างหาก!!

ไฮโซมากๆๆๆๆๆๆๆ

การเข้าออกจากเบาะแถว 2 ทำได้สบายๆ ไม่มีปัญหาอะไรนัก 

พื้นที่เหนือศีรษะ ก็ไม่ต้องพูดถึง ถ้าคุณสามารถเข้าไปนั่งใน Ssangyong Stavic ได้
รถคันนี้ ก็มีพื้นที่ด้านบนโปร่งโล่งสบายให้คุณแน่ๆ ครับ

แอร์แถวหลัง?
รู้สึกว่า จะไม่มีนะครับ แต่ ในฐานะคนขับ ผมเลยยังไม่เจอปัญหาว่ามันร้อนจนรับไมได้แต่อย่างใด
เพราะจากที่นั่งอยู่บนเบาะหน้า มันก็ทำงานได้ไว เย็นได้เร็วเพียงพอ สำหรับผม

แต่สำหรับผู้โดยสารแถวหลัง ผมยังไม่ทราบแน่ชัดครับ

ส่วนเบาะแถว 3 นั้น แบ่งพับ 50 : 50 เก็บด้วยวิธีการ ยกพับฐานเข้าที่ ก่อนยกขึ้นไป
แขวนไว้กับราวจับ ที่ติดอยู่บนเพดานหลังคา แบบเดียวกับ Toyota Fotuner ไม่มีผิด
พนักพิงปรับเอนให้มากกว่าที่เห็นในรูปนี้ได้ ตำแหน่งเหนือศีรษะ ก็โปร่งดีอยู่

แต่จากภาพนี้ จะแสดงให้เห็นว่า การปรับเลื่อนตำแหน่งเบาะ ให้พอดีกับการใช้งาน
บรรทุกผู้โดยสารนั้น เพียงแค่เปลี่ยนตำแหน่งไม่กี่ มิลลิเมตร ใครสักคน อาจไม่สะดวกสบาย ต้องทำใจ
ว่า หัวเข่า อาจจะชนกับด้านหลังพนักพิงเบาะ แต่ถ้าจะปรับแบบไม่ให้ หัวเข่า
ผู้โดยสารด้านหลัง ชนเบาะ แถว 2 นั้น ต้องทำใจว่า ผู้โดยสารแถว 2 อาจจะนั่งไม่สบายนัก
ต้องหาวิธีเลี่ยงกันเอา ตามสะดวก เป็นปัญหาเดียวกับที่เจอใน Freed เวอร์ชันญีปุ่นแหะ…

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องตำหนิ คือ แผงประตูคู่หน้าเนี่ย ทำไมถึงปล่อยให้มาแต่ พลาสติกรีไซเคิลชั้นดีพอประมาณ
แต่โล่งเปล่าเล่าเปลือยกันอย่างนี้ จะมีผ้า หรือวัสดุอะไรสักอย่าง หุ้มประดับไว้นิดๆ
ให้มันดูดีกว่านี้ไม่ได้เลยเชียวหรือ? ที City ยังมีการประดับด้วยผ้าสักกระหลาดเล็กๆ
ที่แผงประตู มาให้เลย…

 แผงหน้าปัดมีการออกแบบ ให้เน้นสัมผัส จากเครื่องใช้ไม้สอยในตัวบ้าน มาช่วยใช้ในการออกแบบจนเป็นอย่างที่เห็น

 

ตำแหน่งของชุดมาตรวัดนั้น ฮอนด้า พยายามออกแบบ ให้ลดการละสายตาจากพื้นถนน มากที่สุด
เท่าที่จะเป็นปได้ และมันคือที่มาของการติดตั้งชุดมาตรวัดเอาไว้อย่างที่เห็น ตัวเลขความเร็ว อ่านง่าย
ในความเร็วต่ำ และสูง แบ่งแยกเอาไว้ชัดเจน กระนั้น มาตรวัดรอบ แบบ แถบขีดดิจิตอล อ่านยากไปนิด
มีสวิชต์ปรับระดับความสว่างของชุดมาตรวัดมาให้ พร้อมแถบมาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
แบบ Real Time ติดตั้งอยู่บนแถบ โครเมียม ที่เอาเข้าจริงแล้ว ดูดีกว่า เวอร์ชันญี่ปุ่นซะอีก!

คันที่ผมลองขับนี้ ติดตั้งระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS ด้วยข้อมูลจากแผ่นแผนที่ DVD
ยกมาจาก Civic FD เลยว่าง่ายๆ หน้าตาตัวเครื่อง ช่างคล้ายกับพวก จอ DVD จาก ZULEX หรือสะพานเหล็ก

ที่แน่ๆ ใครที่เคย ตั้งฉายา สวิชต์แอร์ แบบมือบิดของรถรุ่นนี้ว่า สวิชต์แอร์ แบบ “ลัคกี้ เฟรม”
“จุดประกายความสุข ทุกการเดินทาง” (คิดได้ยังไงฮะเนี่ย? ชอบๆๆ )  เอาไว้

ขอแสดงความยินดีด้วย สวิชต์แอร์แบบที่ว่า จะโผล่มาให้เห็น เฉพาะรุ่นล่างสุด แค่นั้น
ที่เหลือ จะเป็นสวิชต์แอร์ แบบ ดิจิตอล ไฮโซ อย่างที่เห็นนี้ ทั้งหมดนะครับ!!
แถมคันเกียร์ ยังหุ้มหนังมาให้ ดีไซน์ สวยเชียว น่าใช้งานมากๆ!

ดีดีดี ให้ของดีๆ มาแบบนี้ ทั้งที ก็ต้องชมเชยกัน!

ที่วางแก้ว แบบเลื่อนเปิด-ปิดได้ ชวนให้นึกถึง วัตถุชนิดเดียวกันนี้ แต่อยู่ในรถ BMW ซีรีส์ 3 และ 5…
เปล่าหรอก ไม่ใช่ว่าดีนะ แต่ว่า มัน คลอน และไม่ค่อยมั่นคง คล้ายจะเสี่ยงแตกหักได้ไม่ยากนัก  
เหมือนกันทั้งของ BMW และ Freed เลยหนะแหละ

เปิดฝากระโปรงหน้าดู เครื่องยนต์ที่วางใน Freed เอ๊ะ หน้าตาคุ้นๆ จัง เหมือนรถบ้านตูเลย นะได้ข่าว

แหงละสิ มันคือ L15A 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,497 ซีซี พร้อมระบบแปรผันวาล์ว i-VTEC หน้าตาเหมือนกันกับ
ที่พบได้ใน Jazz และ City ใหม่ เปี๊ยบ แต่มีการปรับปรุง ให้มีแรงบิดดีขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย เพราะกลัวว่า
ถ้านั่งอัดกันเต็มที่ 7 คน เวอร์ชันเดิมๆ มันอาจจะลากไปไม่ไหว

ตัวเลขออกมาอย่างที่เห็น กำลังสูงสุด ลดลงเล็กน้อย 2 ตัว เหลือ 118 แรงม้า (PS) ที่ 6,600 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด เพิ่มเป็น 14.9 กก.-ม. ที่ 4,800 รอบ/นาที ส่งกำลังสู่ล้อคู่หน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ

ดุยกันเพียงเท่านี้ น่าจะเพียงพอ แต่ก่อนออกรถ ก็ต้องตรวจเช็คลมยางกันสักหน่อย
ถ้าใครจะบอกว่า ผมไม่ค่อยเช็คลมยางนี่ สงสัย คงจะรู้ไม่จริง รู้มั่วๆ แล้วเอามาแอบกัดลับหลังหนะครับ

ลมยาง ของ Freed คันนี้ ไม่เท่ากันสักล้อ ก็เลยต้องปล่อยลมออกให้อยู่ในระดับ 32 ปอนด์ฯ เท่ากันทั้ง 4 ล้อ

ต่อจากนี้ ผมจะพาออกสู่ถนนบางนา-ตราดกันละ!

 

มาดูทัศนวิสัยกันก่อน นี่คือตำแหน่งคนขับของฟรี๊ด จะมองเห็นภาพรถคันข้างหน้า สูงกว่ารถทั่วไป อย่างนี้

 

กระจกมองข้าง มีขนาดกำลังดี แต่ว่า บางมุมก็ยังแปลกๆ มองไม่ถึงกับดีนัก แต่ ก็รับได้

แม้ว่ารถจำเป็นต้องมีกระจกหูช้าง เพิ่มเข้ามา แต่ ทัศนวิสัยด้านหน้า ก็โปร่งตาดี
ตามประสาของรถอเนกประสงค์ หัวจรวด คล้ายรถตู้

แต่ทัศนวิสัยด้านหลังนั้น หากจะถอยหลัง หรือเปลี่ยนเลน ต้องระวังให้ดีครับ
กระจกโอเปรา บานหลัง หรือ D-Pillar ที่มีขนาดเล็กอยู่แล้ว ยังจะถูกบดบัง ด้วย พนักศีรษะขนาดใหญ่ จาก City นั่นอีก

บุคลิกการขับขี่ บนถนนจริง ของฟรี๊ด น้อย นั้น มันชัดเจนแจ่มแจ้งแดงแจ๋ เหมือนก้นลิง จ.ลพบุรี มากเลยว่า
อัตราเร่ง และสมรรถนะจากเครื่องยนต์ หนะ เหมือนแจ้ส แต่อาจต้องใช้เวลาในการเร่งแซง เยอะกว่ากันหน่อย
เพราะต้องระลึกไว้ตลอดว่า

1. เครื่องยนต์เดียวกัน ถ้าอยู่ในตัวถังที่ เล็กกว่า เบากว่า รถย่อมแล่นได้เร็วกว่า ไวกว่า และประหยัดกว่า
2. Freed เป็นรถสูง ตำแหน่งเบาะนั่งสูง ดังนั้นจงระลึกไว้เสมอว่า คุณกำลังขับรถตู้ มินิแวน ซึ่งปกติ
มันจะมาพร้อมกับความนุ่มกว่ารถเก๋งหลายรุ่น ตำแหน่งเบาะนั่ง สูงโด่ง น้ำหนักตัวก็มิใช่น้อยๆ
มันคล่องตัวได้ดี ในการใช้งานในเมือง แต่ถ้าเรื่องความมั่นใจในการเดินทาง ด้วยความเร็วที่สูงกว่า
120 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป จัดอยู่ในขั้นที่ แม้จะ”ยอมรับได้” แต่ถ้าปรับปรุงให้ดีกว่านี้ได้อีกก็จะดี

3. ต้องเข้าใจว่า การสร้างมินิแวน บนพื้นตัวถัง แจ้ส นั้น ฮอนด้า พยายามตอบโจทย์การใช้งานในเมือง
ตามสไตล์คนญี่ปุ่นเยอะไปหน่อย จนลืมไปว่า คนเอเซีย ที่ขับรถเร็วๆ ก็มี ไม่น้อย

อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ฃั่วโมง จับเล่นๆ ขำขำ แบบไม่รู้ว่า เติมน้ำมันอะไรมาให้
แบบไม่รู้ว่าสภาพรถก่อนหน้ามาถึงมือผมจะเป็นอย่างไร นั่งไปคนเดียว ก็ต้องจับเวลาคนเดียว
ได้ 14.26 วินาที…

เอ่อ…อืด นะ…พอกันกับ Toyota Avanza เลย “แต่มีคำอธิบาย”

อย่างที่บอกไปข้างต้นแล้วว่า เครื่องยนต์แม้จะเหมือน Jazz และ City แต่ รถทั้ง 2 คันที่ว่า ก็เบากว่า
ไม่สูงเท่า Freed ทำให้ไม่ต้านลมเท่า Freed อีกทั้ง น้ำหนักตัวรถนั้น ชัดเจนอยู่แล้วว่า Freed หนะ
มีมากกว่า ทั้ง 2 คัน อยู่เยอะ ดังนั้น ถ้าใช้เครื่องเดียวกัน ออกแรงที่มีอยู่ ฉุดลากน้ำหนักตัวที่หนักกว่า
มันก็เหมือน เด็ก ลากตู้เย็น กับ ผู้ใหญ่ลากตู้เย็น นั่นละครับ

พอมองเห็นภาพไหม? นั่นละครับ คือคำอธิบายคร่าวๆ ว่าทไม ตัวเลขถึงด้อยกว่า
ทั้ง Jazz และ City ถึง 2 วินาที โดยประมาณ

ความเร็วสูงสุด? ยังไม่รู้ครับ รู้แต่ว่า กดคันเร่งลงไปเต็มเท้า หลังจาก 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ก็ขึ้นอืดแล้ว
และ เข็มวัดความเร็ว ก็สามารถไต่ไปถึง 170 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้แน่ๆ เพียงแต่ ต้องรอกันหน่อย

เอาน่า ก็รถเขาทำมาเอาไว้รับส่งลูกหลาน ไม่ได้เอาไปซี้ซั้วซิ่งซ่า แข่งกับเด็กแว๊น ที่ไหนนี่ อู้ววว!
ได้แค่นี้ ก็ดีถมถืดแล้ว รถบ้านๆ ตัวโย่งๆ ขับเร็วๆ มากไป มันก็ไม่ดีเนาะ…

 

 

พวงมาลัยไฟฟ้า EPS ที่จำเป็นต้องปรับแต่งให้มัน”หนืดกว่านี้อีกหน่อย” เมื่อใช้ความเร็วเกิน
40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไปแล้ว เพราะมันเบาไปหน่อย สำหรับการเดินทางไหล การปรับแต่ง
ที่สำเร็จรูปมาจากรถบ้าน ทั้ง Jazz และ City จำเป็นต้อง revise กันอีกครั้ง เมื่อมาอยู่ในร่าง
ที่สูงกว่าเดิม และตำแหน่งคนขับ ที่สูงกว่าเดิม แถม ระยะห่างจากด้านหน้ารถจนถึง ล้อคู่หน้า
มันค่อนข้างสั้น มาในสไตล์ Short Front Overhang พอกับ Jazz เลยทีเดียว
ดังนั้น เวลาเปลี่ยนเลน หรือเลี้ยวรถ จึงให้สัมผัสที่คล้ายคลึงกับรถตู้ มากกว่ารถเก๋งอยู่ไม่น้อย

สิ่งที่ผมชื่นชอบก็คือ ระบบกันสะเทือน หน้าแม็คเฟอร์สันสตรัต หลังคานบิด ทอร์ชันบีม
ที่ให้การตอบสนอง ตลอดเส้นทาง บนบางนา-ตราด (ช่วงไม่เกิน กิโลเมตร ที่ 8 หน้าบ้านผม)
สะพานเลี้ยวกลับรถ จนถึง ทางโค้งยกระดับ ข้ามสี่แยกบางนา รวมทั้ง ถนนสุขุมวิท
แถวๆ ออฟฟิศฮอนด้า ออโตโมบิลล์ (ประเทศไทย) ได้อย่างสุภาพ นุ่มกำลังดี
เก็บซับแรงสะเทือนจาก ผิวถนนที่รอใบรับรองจากองค์การ NASA ว่ามันคือ ถนนจริงๆ
ไม่ใช่พื้นผิวดวงจันทร์) ได้อย่างดี พูดง่ายๆคือ ถ้าจะเรียงลำดับความแข็ง นุ่มของช่วงล่าง
รถยนต์กลุ่มนี้ของ ฮอนด้าแล้ว Jazz จะแข็งสุด City รองลงมา และ Freed จะนุ่มถูกใจคนไทย
มากกว่า แน่ๆ

ส่วนหนึ่งมาจากน้ำหนักตัวรถที่กดลงไปบนระบบกันสะเทือน ส่วนหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่า
ฮอนด้า ที่ประกอบใน อินโดนีเซียนั้น ช่วงล่างจะนุ่ม กำลังดี นั่งสบาย มาตั้งแต่ รุ่น Stream แล้ว

เป็น 2 สาเหตุที่ผมพอจะนึกออกในตอนนี้

การตอบสนองของระบบเบรก หน้าดิสก์-หลังดรัม ยังทำได้ดี เพียงพอต่อการใช้งาน
แม้ว่าจะมีเหตุให้ต้องเบรกกันมากกว่าปกติ จากความเร็วสูงๆ การหน่วงความเร็ว ทำได้ดีสมตัว

********** สรุป เบื้องต้น **********
รถหนะพอรับได้ มีดีมีด้อยเป็นธรรมดา แต่ราคาหนะ ดุเดือดไปนะ

ก่อนที่เราจะจบบทความชิ้นนี้กัน

อยากจะขอเรียนให้ทราบว่า
บทความนี้ เขียนขึ้น โดย ที่ ผมไม่ได้มีอคติ อะไรกับทางฮอนด้า
เรายังรักกันดี และแทบทุกคนที่ผมรู้จัก ซึ่งทำงานอยู่ในฮอนด้า ออโตโมบิลล์ (ประเทศไทย)
ก็ยังคงเป็นผู้คนที่ผมรัก และให้เกียรติกัน เหมือนอย่างปกติ ที่เคยเป็นมา…
ในฐานะ พี่พ้องน้องเพื่อน ร่วมสายอาชีพ ด้านยานยนต์ ด้วยกัน

แต่ ในฐานะของพี่พ้องน้องเพื่อน นี่แหละ
ถ้าเรามัวแต่คิดว่า ต้องเขียนให้เบาๆ เขาจะได้ลงโฆษณากับเราเยอะๆ

ผมว่า นั่นไม่ใช่ทางแห่งการนำไปสู่ ความเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันในระยะยาวได้เลย

การเป็นเพื่อนกัน ในมุมที่ผมมองคือ
ถ้าเมื่อไหร่ ที่ผม หรือเพื่อน ใครทำอะไรไม่เข้าท่า มันจะดีกว่ามาก ถ้าเราจะคอยเตือนซึ่งกันและกัน
คอยช่วยเหลือกัน อย่าง ตรงไปตรงมา ด้วยจิตที่ปราถนาดีต่อกัน…

ไม่คิดร้าย หมายมุ่งแต่จะเอาประโยชน์เข้าตนแต่อย่างเดียว เหมือนเช่นที่ใครทั่วไปเขาทำ

ผมเลือกเดินทางนี้ ทางที่ผมเชื่อว่า เพื่อนที่ดีของผม อย่างฮอนด้า อาจจะโกรธเคืองบ้าง
แต่ ถ้าเราไม่เตือนกันเอง แล้วจะรอให้ใครมาเตือนกันตรงๆละครับ?

พวกชอบประจบประแจง วันๆจะขอแต่ให้คุณ หรือใคร ช่วยลงโฆษณาให้เขา
พอไม่ได้โฆษณา ก็เอาคุณไปด่ากราด ในหน้าหนังสือ หรือออกอากาศกระจายเสียงหนะ
เขาจะไม่มีวันมาเตือนคุณ ด้วยจิตใจที่ยังรักและเป็นห่วงเป็นใยคุณอยู่แบบนี้แน่ๆ

ดังนั้น โปรดอภัยในสิ่งที่จะต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ข้างล่างนี้
และผมเชื่อว่า ในส่วนลึก คุณๆเองก็คงจะทราบดีอยู่แล้ว ว่า
สิ่งที่คุณจะได้อ่านต่อจากนี้ มันจริงเท็จประการใด…

. . . . . . . . . . . . .

จำได้แม่นยำ ว่าก่อนหน้าที่ Freed จะเปิดตัว ผมเคยเขียนเอาไว้ใน Webboard
ของ Headlightmag.com กระทู้ใด กระทู้หนึ่ง ในทำนองที่ว่า…

“ถ้า Freed จะขายได้ ราคา ควรจะอยู่ที่ 6 แสนปลายๆ ในรุ่นล่าง
และอย่าเกิน 8.5 แสนบาท ในรุ่นท็อป ถ้าเกินกว่านี้ ตาย หมดอนาคต….”

และพอได้มาทดลองขับคันจริง ผมว่า ผมก็ยังยืนยันความเห็นเดิมนะ

แต่…คงไม่ถึงกับตาย มันยังพอมีช่องทางรอดอยู่บ้าง…แม้จะไม่มากนักก็ตาม

คุณอาจจะสงสัยว่า “จิมมี่ คุณเป็นใคร เก่งมาจากไหน กล้าดียังไง ถึงมาทำนายอนาคตรถรุ่นนี้ กันแบบนี้?

คุณไม่ต้องมาเกิดใหม่เป็นผมหรอกครับ และไม่จำเป็นต้องทำงานในฝ่าย Product Planning
ของบริษัทรถยนต์ค่ายใดทั้งสิ้น เพียงแค่คุณ เป็นคนบ้ารถเข้าเส้นเลือดใหญ่ คุณก็คงจะมี
ญาณวิเศษ จากอดีตชาติ ที่พอจะช่วยให้มองเห็นอนาคต ของรถยนต์ แต่ละรุ่น ที่แต่ละค่าย
คิดจะนำเข้ามาขายในบ้านเราได้อย่างดี

และผมเชื่อว่า เอาเข้าจริงแล้ว คุณ ก็น่าจะพอมองเห็นอนาคตของ Freed แล้วเช่นเดียวกัน…

เมื่อผมได้ลองขับเรียบร้อยแล้ว ยืนยันว่า ตัวรถหนะ ไม่ใช่ปัญหาเลย จุดด้อยก็พอมี จุดดี ก็เยอะอยู่
อย่างที่ได้เขียนถึงไปแล้ว ข้างบน ทั้งหมด  จุดที่ผมชอบมากคือ ความอเนกประสงค์ ในห้องโดยสาร
การออกแบบแผงหน้าปัด ที่ดูดี (แต่ช่องแอร์บางตำแหน่งก็มีปัญหาจากการใช้งานนิดนึง
ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร)

รวมทั้งช่วงล่าง ที่นุ่มนวลกำลังดี เหมาะที่จะดูดซับแรงสะเทือนจากสภาพถนนเมืองไทย
แถมยังมีทัศนวิสัยด้านหน้า ที่โปร่งตา เห็นได้ชัดเจนไปจนถึงสี่แยกไฟแดงข้างหน้า อีก 3 แยกรวด
บานประตูไฟฟ้า พร้อม ทำงานด้วยรีโมทคอนโทรล ทั้งซ้าย-ขวา คือลูกเล่นชิ้นใหม่ ที่น่าจะโดนใจหลายๆคน

จุดด้อยที่พอมี ก็คือ การตกแต่งแผงประตูด้านข้าง ที่ น่าจะหาผ้าสักกะหลาดมาตกแต่งบ้างนิดหน่อยก็ยังดี
ไม่ใช่ปล่อยเอาไว้ให้เห็นเนื้อพลาสติกรีไซเคิล กัดลายขึ้นรูปแบบนั้น มันดูล้านเลี่ยนเตียนโล่งไปหน่อย
และพวงมาลัยไฟฟ้า EPS ที่จำเป็นต้องปรับแต่งให้มัน”หนืดกว่านี้อีกหน่อย”

นอกจากนี้พวงมาลัย ในรถคันที่ผมลองขับ ยังคงปรับได้อย่างมากแค่ระดับสูง-ต่ำ แต่ไม่สามารถ
ปรับระยะใกล้-ไกล แบบ Telescopic ได้เลย หนำซ้ำ เบาะนั่งคนขับ ยังปรับระดับ สูง-ต่ำ ไม่ได้อีกต่างหาก
(ทั้งที่ ทั้งหมดนี้รุ่นท็อปของทั้ง Jazz และ City ปรับได้ครบเลย)
ทั้งหมดนี้ ผมจะพอยอมรับได้ ถ้าราคาเปิดตัว อยู่ที่ 6 แสนบาทปลายๆแก่ๆ ถึง 8.5 แสนบาท

แต่หลังจากที่ได้ฟังตัวเลขราคาเริ่มต้น และรุ่นท็อป ของเจ้า 6 ที่นั่ง คันสีเงิน
ตรงหน้า  ผมรู้สึกได้เลยว่า มีอะไรช่วยคลายร้อนให้ผมบ้างได้ไหม?

คำตอบ คือ ไม่มี ทำใจเถิด

ปลง……..

ราคาหนะ ไม่ใช่แค่แพงธรรมดาครับ แต่ผมมองว่า ดุเดือดกว่าที่คิดไปไกลเลยทีเดียว
และสาเหตุที่ทำให้มันแพงนั้น ขอกล่าวโดยสรุปเลยแล้วกันว่า ฮอนด้า ได้พยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว
ที่จะกดราคาเจ้าฟรี๊ดน้อย ให้ลงต่ำที่สุด เท่าที่ทำได้ แต่ด้วยต้นทุนของรถ จากอินโดนีเซีย ที่คิดมาแพงเหลือเกิน
บวกกับต้นทุนค่าขนส่ง และค่าจิปาถะโน่นนี่นั้น มากมายก่ายกองเป็นภูเขาเลากา มันพาให้ราคาของ ฟรี๊ดน้อย
พุ่งกระฉูด ทะลุจุดที่ผู้บริโภคทั่วไป คาดหวังเอาไว้ว่ามันควรจะเป็น

เลยกลายเป็น ฟรี๊ดน้อยคันนิด มหาศาล ไปอย่างน่าเสียดาย

มันเป็นเรื่องที่ คนนอกอย่างผม ซึ่งยืนดูเรื่องราว จากวงนอก
ได้แต่รู้สึกเห็นใจ คนที่ทำงานอยู่วงใน โดยเฉพาะ คนที่ต้องดูแล โครงการนี้
และคงมีประชาชนทั่วไป น้อยคนนักที่รู้ว่า ความจริงแล้ว ส่วนหนึ่ง
ของราคาที่แพงจนเกินไปจากที่คาดกันไว้นั้น มาจาก การใช้ชิ้นส่วน
จาญี่ปุ่น ค่อนข้างเยอะมากกว่า ที่เคยทำกันมา ท้ายสุด ก็โดนเรื่องต้นทุนเล่นงาน
จนทำให้อยู่ในภาวะ กลืนไม่เข้า คายไม่ออก และเลี่ยงไม่ได้

ปัญหานี้ มันก็ไม่ต่างอะไรกันกับ Mitsubishi Lancer EX ซึ่ง พึ่งพา ชิ้นส่วน
สำเร็จรูป นำเข้าจากญี่ปุ่น เยอะ เพราะการประเมินในตอนแรกว่า ไม่คุ้มต่อการตั้งไลน์ผลิต
ชิ้นส่วน นอกญี่ปุ่น เท่าใดนัก ท้ายที่สุด Lancer EX และ Freed ก็เลยมีปัญหา
ในการตั้งราคา ที่คล้ายคลึงกัน

แต่ สถานการณ์บนโชว์รูม ของ ทั้ง 2 คันนี้ เหมือน DVD คนละเรื่อง ที่มีพล็อตเรื่องคล้ายๆกัน
Lancer EX ยังไงๆ ก็จะขายได้ และขายดี แน่ๆ แต่ Freed นั้น กลับจะเหนื่อยกว่ากันมาก
อย่างเห็นได้ชัดเจน จากกระแสของผู้บริโภค ที่ตอบรับกันบนอินเตอร์เน็ต ในทุกวันนี้

น่าเห็นใจ คนที่ทำงานในโปรเจกต์นี้ ของฮอนด้า ออโตโมบิลล์ บ้านเรา ที่ทั้งได้ทดสอบ
เตรียมการจำหน่าย และวางแผนการตลาดมาอย่างดี แต่ พอเจอราคาแบบนี้เข้าไป
ก็ถึงขั้นปาดเหงื่อกันแน่ๆ

แต่กระนั้น ถ้ามองให้ดีๆ ฟรี๊ด เองยังมีช่องทาง เอาตัวรอดจากสถานการณ์นี้ได้อยู่
นั่นคือ การมองหากลุ่มลูกค้าที่อยากได้ มินิแวน 6 ที่นั่ง เป็นรถคันที่ 2 ของบ้าน
ขนาดของตัวรถต้องไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป เพียงพอให้วิ่งรับส่งบุตรหลาน
จากโรงเรียนอนุบาลในซอยร่วมฤดี ที่รถติดเป็นตังเม วิ่งรับส่งแขกผู้ใหญ่
จากออฟฟิศ ไปยังกลางใจเมือง

หรือ คนที่อยากได้รถ มินิแวน เอาไว้สำหรับใช้เป็น People Carrier ในเมือง…

เอาง่ายๆ ก็คือ เป็นคนที่อยากได้รถอย่าง Toyota Alphard หรือ Vellfire
แต่ไม่ well funded! (ไม่ค่อยมีตังค์)

(มุขนี้ ขอขอบคุณ คุณ P_Wut ที่ช่วยสงเคราะห์นึกคำให้ ว่า Freed = Mini-Alphard!!)

เฮ้! มันยังมีช่องทางออก ที่พอจะทำให้ฟรี๊ดขายได้ อยู่นี่นา! 

ดังนั้น…

ถ้าใครจะถามผมว่า Freed เป็นอย่างไร ผมคงต้องถามคุณกลับ ด้วย 2 คำถามสำคัญ แล้วละครับว่า…

1. คุณเคยขับ Jazz มาก่อนบ้างไหม จะรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ไม่เกี่ยง ขับสั้นๆ เป็นวันๆ หรือขับยาวกว่านั้นเป็นปีๆ

2.ชีวิตนี้ คุณเคยขับรถตู้ รุ่นใด ยี่ห้อใดก็ตาม ในสากลโลก มาก่อน บ้างไหม?

ถ้าคุณตอบว่า เคย ทั้ง 2 ข้อ หรือ แค่ เคยเฉพาะข้อ 2 คุณก็คงจะจำได้ ว่า บุคลิกของ รถทั้ง 2 แบบที่ว่าหนะ เป็นอย่างไร?

และ FREED คือรถที่ ผสาน 2 บุคลิกจากรถยนต์ทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว เอาไว้ด้วยกัน อย่าง (เกือบจะ) ลงตัว ด้วยราคาที่แพงกว่าที่คาดคิด

3. คุณ ควรเป็นคนที่ มีรถอยู่ในบ้านแล้ว อย่างน้อย 1 คัน และต้องมั่นใจว่า อยากได้ เจ้าฟรี๊ดน้อย มาอยู่ด้วยจริงๆ

ยังก่อน ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงความคิดเห็นเบื้องต้น คร่าวๆ จากการได้ลองขับรถคันหนึ่ง ในเวลาประมาณ
ไม่เกิน หนึ่งชั่วโมง เพียงแต่มีโอกาสขับเร็วได้สักหน่อยนึง และขับไปไกลกว่าที่ใจคิด ไว้นิดเดียว

ยังเหลือ ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ที่ยังน่าสงสัยว่า จะประหยัดขึ้นตามที่ฮอนด้า บอกกับเราหรือเปล่า?
อัตราเร่ง ของคันที่จะขายจริง มันจะอืดเท่ากับคันที่ผมลองขับนี้หรือไม่? แล้วการใช้งานจริงๆ ของ The Coup Team ละ
เจ้า Freed จะรองรับ ความผาดโผนทะโมนทะยาน (เขียนไม่ผิดครับ) ของพวกเราทั้งกลุ่ม ได้แค่ไหน…

เช่นเคย เหมือนเช่นหลายๆ บทความ First Impression ในช่วงนี้ครับ….

รอดู Full Review ที่น่าจะเสร็จสิ้นได้ ภายในปลายเดือนธันวาคม 2009 ! (ไม่ใช่ 2010 นะ)

ถ้าคนในฮอนด้า ยังคงยิ้มได้ เมื่ออ่านบทความนี้ จบลง…

————————————————-///—————————————————

ขอขอบคุณ

บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิลล์ (ประเทศไทย) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ตั้งแต่ต้น จนถึงภาพเครื่องยนต์ เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
23 พฤศจิกายน 2009

Copyright (c) 2009 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
November 23th,2009  

  แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่