นับตั้งแต่ Ferrari ได้ปรับตัวครั้งใหญ่ในยุทธศาสตร์ทางธุรกิจเมื่อหลายปีก่อน นอกจากโครงการ SUV อย่าง Purosangue แล้ว เรายังได้เห็นซูเปอร์คาร์ขุมพลังไฮบริด Plug-in อย่าง Ferrari SF90 Stradale ซึ่งผสานเอาขุมพลัง V8 ทวินเทอร์โบเข้ากับมอเตอร์ไฟฟ้าจนสามารถสร้างพละกำลังได้ถึง 1,000 แรงม้า สร้างตลาดกลุ่มใหม่ที่ไร้คู่ต่อกรสายตรง ตลาดที่กล่าวถึงนี่ก็คือรถที่มีพละกำลังเทียบชั้นระดับไฮเปอร์คาร์ มีมอเตอร์ไฟฟ้าแบบที่สามารถขับเคลื่อนใน EV Mode ได้ ทว่าไม่เหมือนรถอย่าง Enzo หรือ La Ferrari  ตรงที่ SF90 ไม่มีการจำกัดจำนวนการผลิต (แต่รอคิวข้ามปี)

ผลจากการเปิดตัวรถอย่าง SF90 ทำให้ Ferrari ได้พบกับลูกค้ากลุ่มใหม่ เพราะประมาณ 50% ของลูกค้าที่สั่งซื้อ เป็นลูกค้าที่ไม่เคยเป็นเจ้าของ Ferrari มาก่อน นอกจากนี้ทีมวิจัยของ Ferrari ยังพบอีกว่า อายุเฉลี่ยของลูกค้าที่ซื้อ SF90 Stradale นั้น น้อยกว่ากลุ่มลูกค้า Ferrari โดยปกติอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น Ferrari จึงเห็นหนทางในการทำตลาดซูเปอร์คาร์ PHEV ซึ่งมีข้อได้เปรียบด้านพลัง และยังเป็นการช่วยเพื่อนบ้านที่ทำงานกะดึก ไม่ต้องตื่นโดยไม่จำเป็นในเช้าวันอาทิตย์เพราะเจ้าของ Ferrari สตาร์ทเครื่อง ในเมื่อรถแบบนี้สามารถร่อนเงียบออกจากบ้านด้วย EV Mode ได้

นั่นก็คือเหตุผลที่ Ferrari เผยโฉม “SF90 Spider” รวมถึงรุ่นตกแต่งพิเศษ “SF90 Spider Assetto Fiorano” ในวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

รูปทรงของตัวรถ เป็นผลงานการออกแบบจาก Ferrari Centro Style ซึ่งเป็นหน่วยงานออกแบบ In-house ของ Ferrari เอง จากลักษณะของรถ เห็นได้ชัดว่าเกือบจะ 80% ของบอดี้ภายนอก ก็เหมือนกับ SF90 Stradale ยกเว้นหลังคา รูปทรงของรถทั้งส่วนหน้าและหลัง มีการแฝงทรงสามเหลี่ยมของหัวศรธนูเอาไว้ ส่วนหน้าของรถมีจุดเด่นที่จมูกแบบ Winglet ซึ่งมีลักษณะเป็นปีกเล็กแผ่ขยายออกมาขวางไฟหน้า และชุดลิ้นดักอากาศ กับสปอยเลอร์หลัง ซึ่งมาแปลก เนื่องจากไม่ได้ยกตัวขึ้นเพื่อสร้างแรงกด แต่แผ่นสปอยเลอร์จะลดระดับลึกลงไปในตัวถัง ทำให้เกิดทรงขั้นบันไดลมที่สร้างแรงกดด้านท้ายได้

จุดที่พิเศษของ SF90 Spider ที่แตกต่างจากรุ่น Stradale แน่นอนว่าก็ต้องเป็นหลังคา ซึ่งทาง Ferrari นั้นเลือกใช้หลังคาแข็งพับเก็บได้ (RHT-Retractable Hard Top) มาตั้งแต่รุ่น 458 Spider ปี 2011 ซึ่งได้รับการพัฒนาให้ใช้พื้นที่ในการเก็บหลังคาแค่ 100 ลิตร หรือน้อยกว่ารถ RHT ทั่วไปถึงเท่าตัว การใช้อะลูมิเนียมเข้ามาเป็นส่วนประกอบ ส่งผลให้แผ่นหลังคามีน้ำหนักน้อยกว่าหลังคาแข็งค่ายอื่นถึง 40 กิโลกรัม กลไกหลังคาใช้เวลาเปิดแค่ 14 วินาที และสามารถทำงานได้ที่ความเร็วไม่เกิน 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง สาเหตุที่ Ferrari เลือกใช้หลังคาแข็ง เพราะสามารถทนความเร็วสูงได้มากโดยที่หลังคาไม่เสียรูป

ภายในของ SF90 Spider นั้นยกมาจากรุ่น Stradale แผงแดชบอร์ดและอุปกรณ์ต่างๆนั้นจะแตกต่างจากรถ V8 เทอร์โบรุ่นอื่นของทางค่าย เน้นความล้ำยุคมากขึ้น ในยามที่ไม่ได้ติดเครื่องยนต์/ระบบไฮบริด หน้าจอต่างๆจะดำสนิท แต่เมื่อกดปุ่มสตาร์ท ปุ่มและหน้าจอต่างๆก็จะติดขึ้นมาพร้อมลูกเล่นแสงสีพอประมาณ การที่เป็นรถเครื่องวางกลางลำ ทำให้ไม่ต้องเผื่อที่สำหรับอุโมงค์เกียร์ ทำให้แม้ภายในจะมีขนาดเล็กแบบซูเปอร์คาร์สองที่นั่ง แต่พื้นที่สำหรับวางขาตามแนวขวางเหลือเฟือเพราะไม่โดนคอนโซลกลางเบียดบัง

วิธีการออกแบบแดชบอร์ดและปุ่มควบคุมต่างๆนั้น เป็นไปตามปรัชญาการออกแบบเพื่อผู้ขับที่ว่า ตามองถนน มืออยู่บนพวงมาลัยให้ได้มากที่สุด (Eyes on the road, hands on the steering wheel) ดังนั้นสวิตช์ควบคุมใดๆที่เกี่ยวกับการขับขี่ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่เน้นมากที่สุด ก็จะถูกติดตั้งไว้บนพวงมาลัย ลูกเล่นของ SF90 Spider คือสวิตช์ปรับโหมด eManettino ที่สามารถบิดเอาเหมือน Ferrari รุ่นอื่น หรือกดจาก Touch switch ที่ด้านท้ายก็ได้ ปุ่มสตาร์ทอยู่ใต้โลโก้ม้าลำพอง และระบบจอต่างๆ ควบคุมจากสวิตช์แบบแตะสไลด์นิ้ว บนก้านพวงมาลัยด้านขวา ส่วนสวิตช์ระบบปรับอากาศและระบบอื่นที่ไม่ได้จำเป็นในยามขับ ก็ยังวางตำแหน่งไว้บนคอนโซลที่ล้อมเอียงเข้าหาผู้ขับ

มาถึงขุมพลังขับเคลื่อนกันบ้าง องค์ประกอบแห่งพลังระดับพันม้า มีดังนี้

เครื่องยนต์สันดาปภายใน F154CD

เป็นเครื่องยนต์เบนซิน แบบ V8 ขนาด 4.0 ลิตร 3,990 ซีซี. ทวินเทอร์โบ อัตราส่วนกำลังอัด 9.4:1 กระบอกสูบxช่วงชักเท่ากับ 88.0 x 82.0 มิลลิเมตร กำลังสูงสุด 780 แรงม้าที่ 7,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 800 นิวตันเมตร ที่ 6,000 รอบ/นาที เครื่องยนต์รุ่นนี้ พัฒนาต่อยอดมาจากเครื่องยนต์ใน 488 Pista/F8 Tributo โดยนำมาขยายความจุกระบอกสูบ และเปลี่ยนฝาสูบ ท่อไอดี ท่อร่วมไอเสียใหม่ นอกจากนี้ยังติดตั้งเครื่องยนต์ในตำแหน่งที่ต่ำลงกว่า 488 อีก 50 มิลลิเมตรเพื่อลดจุดศูนย์ถ่วงลง

ระบบท่อไอเสียไทเทเนียม นำมาจาก SF90 Stradale แต่มีการปรับปรุงเพื่ออรรถรสด้วย “Tubo Caldo” (แปลเป็นไทยว่า Hot Tube) ซึ่งเป็นท่อที่นำเสียงจากเครื่องยนต์ ทำการ bypass มาเข้าบริเวณใกล้หูคนนั่ง นี่คือจุดหนึ่งที่ไม่เหมือนกับ SF90 Stradale เนื่องจาก Ferrari เชื่อว่าลูกค้าที่เลือกขับรถเปิดหลังคาส่วนหนึ่ง อยากจะได้ยินเสียงเครื่องยนต์ชัดๆ

มอเตอร์ไฟฟ้า

SF90 มีมอเตอร์ไฟฟ้า 3 ตัว โดยชุดที่ 1 จะติดตั้งอยู่ระหว่างเครื่องยนต์กับเกียร์ และอีกสองชุดติดตั้งอยู่ด้านหน้า ตัวมอเตอร์เองนั้นสามารถสร้างกำลังได้ 220 แรงม้า ส่วนแบตเตอรี่ความจุ 7.9kWh นั้นจะถูกติดตั้งอยู่ข้างหลังเบาะคนนั่ง

เมื่อรวมแล้ว Ferrari เคลมว่า SF90 สามารถสร้างแรงม้าได้ทั้งหมด 1,000 ตัว

เกียร์คลัตช์คู่ 8 จังหวะ

พัฒนาขึ้นมาใหม่โดย Ferrari และบริษัท Magna PT เกียร์ลูกนี้จะไม่มีเฟืองถอยหลัง เพราะตัวรถจะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการเลื่อนถอยเสมอ เคสเกียร์มีขนาดเล็กลงเมื่อเทียบกับเกียร์ 7 จังหวะใน 488  น้ำหนักเบาลง 10 กิโลกรัม สามารถรองรับพลังกระชากจากเครื่องยนต์ได้มากขึ้น 35% และเปลี่ยนเกียร์ได้เร็ว 200ms หรือเร็วกว่าเดิมอีก 30%

ขุมพลังของ SF90 Spider สร้างตัวเลขที่เข้าเขตแดนของรถระดับไฮเปอร์คาร์ โดยสามารถเร่งจาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ ภายในเวลา 2.5 วินาที 0-200 กิโลเมตร/ชั่วโมงภายในเวลาแค่ 7 วินาที ทำความเร็วสูงสุดได้ 340 กิโลเมตร/ชั่วโมง

Ferrari ได้นำ SF90 Spider ไปทดสอบที่สนาม Fiorano และทำเวลาได้ 1 นาที 19.5 วินาที ซึ่งนั่นก็ช้ากว่า SF90 Stradale แค่ 0.5 วินาที แต่เร็วกว่าไฮเปอร์คาร์เรือธงของค่ายอย่าง LaFerrari อยู่ 0.2 วินาที และเร็วกว่า 488 Pista อยู่ 2 วินาทีเต็ม

ระบบเบรกของ SF90 Spider ก็ยกมาจาก Stradale เช่นกัน เป็นระบบ Brake-by-wire ใช้ไฟฟ้าควบคุมการเบรกแทนปั๊มไฮดรอลิกแบบดั้งเดิม สาเหตุที่ Ferrari เปลี่ยนมาใช้แบบนี้ ก็คือ ระบบเบรกไฟฟ้า สามารถตอบสนองตามคำสั่งได้เร็วกว่า ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ยังต้องบริหารการเบรกโดยแบ่งเป็นระบบเบรกจากจานเบรก และคาลิเปอร์ กับระบบหน่วงที่มาจากมอเตอร์ไฟฟ้า ในยามที่ขับขี่ด้วยความเร็วต่ำ หรือความเร็วสูงแต่กดเบรกไม่เยอะ ภาระของการหน่วงความเร็ว จะเป็นของระบบหน่วงในมอเตอร์ไฟฟ้า ส่วนชุดเบรกที่มีจานหน้าขนาด 398 มิลลิเมตร และจานหลัง 360 มิลลิเมตรนั้น จะรับหน้าที่เมื่อต้องใช้เบรกหนักขึ้น

คุณประโยชน์อีกประการของระบบเบรกไฟฟ้าคือ เมื่อใช้ร่วมกับระบบจัดการถ่ายทอดกำลัง ไม่ว่าจะเป็น eTraction Control หรือ Torque Vectoring การใช้เบรกแบบไฟฟ้า ทำให้สามารถรับคำสั่งที่ซับซ้อนจาก ECU ส่งผลให้สามารถควบคุมความเหมาะสมในการส่งแรงเบรกได้อย่างอิสระในล้อแต่ล้อข้าง และสามารถปรับแรงเบรกตามสถานการณ์การขับขี่ การเลี้ยว และเร่งได้ในเสี้ยววินาที

การทำงานร่วมกันของเบรกไฟฟ้า และระบบควบคุมอันทันสมัยนี้ ทำให้แม้ SF90 Spider มีน้ำหนักตัวเปล่าถึง 1,670 กิโลกรัม แต่ในการทดสอบหักเลี้ยวโค้งในสนามแข่ง มันสามารถตอบสนองได้คล่องแคล่ว ราวกับว่ารถทั้งคันหนักแค่ 1,470 กิโลกรัม

ส่วนระบบ eManettino ซึ่งมีตัว “e” เพิ่มมาให้ต่างจากระบบที่อยู่ใน Ferrari เบนซินรุ่นอื่นนั้น ก็เพราะโหมดต่างๆที่มีแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยมี 4 โหมดดังนี้

  • eDrive – ใช้ไฟฟ้าขับเคลื่อนรถด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่ล้อคู่หน้าเท่านั้น ในโหมดนี้ SF90 Spider สามารถวิ่งได้ไกล 25 กิโลเมตรจากแบตเตอรี่ 100% และสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 135 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • Hybrid – ให้กล่อง ECU ทำหน้าที่สั่งการว่าเมื่อไหร่จะให้เครื่องยนต์ติด เหมือนรถ Plug-in Hybrid ทั่วไป ซึ่งอาจจะดับเครื่องเวลายกคันเร่ง หรือเมื่อจอดนิ่งๆ
  • Performance – ในโหมดนี้ ECU จะสั่งให้เครื่องยนต์ทำงานตลอดเวลาเพื่อให้พร้อมกระโดดเวลากดคันเร่ง และจะพยายามชาร์จไฟกลับเมื่อมีการยกคันเร่งเพื่อให้มีพลังสำรองพอสำหรับการวิ่งอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องยาวนาน
  • Qualify – เป็นโหมดเปิดพลังที่จะทำให้ SF90 เรียกม้าได้ครบ 1,000 ตัว สมองกลจะสั่งให้รีดเค้นพลังจากแบตเตอรี่และมอเตอร์แบบเต็มพิกัด แต่จะให้ความสำคัญกับการประจุไฟกลับน้อยลงกว่าโหมด Performance

นอกจากรุ่น SF90 Spider ธรรมดาแล้ว ในวันเดียวกัน Ferrari ก็เผยโฉมรุ่นที่ติดตั้งแพ็คเกจพิเศษ กลายเป็น Ferrari SF90 Spider Assetto Fiorano ซึ่งตกแต่งด้วยพาร์ทพิเศษ นอกจากจะใช้ช่วงล่างโช้คอัพ Multimatic สเป็คพร้อมแข่งแล้ว ยังมีการใช้วัสดอย่างคาร์บอนไฟเบอร์และไทเทเนียมบนตัวรถมากขึ้น จนทำให้น้ำหนักลดจาก 1,670 เหลือ 1,649 กิโลกรัม และยังมีหางหลังคาร์บอนไฟเบอร์ขนาดโตกว่ารุ่นธรรมดา ซึ่งเมื่อรวมกับระบบจัดการอากาศพลศาสตร์ส่วนอื่นของรถแล้ว สามารถสร้างแรงกดเสริมบนตัวถังได้เท่ากับน้ำหนัก 390 กิโลกรัม เมื่อวิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง

เมื่อลูกค้าสั่งแพ็คเกจ Assetto Fiorano นี้แล้ว ก็จะได้ยาง Michelin Pilot Sport Cup 2 ซึ่งเน้นการขับซัดจัดหนักบนถนนแห้งหรือพื้นแทร็ค ด้วยเนื้อยางที่เหนียวและดอกยางที่น้อยกว่า และตบท้ายด้วยสีน้ำเงินเทาแบบทูโทน ซึ่งอย่างหลังนี้ลูกค้าจะต้องเพิ่มเงินจากที่จ่ายให้แพ็คเกจหลักไปแล้วอีก

ทาง Ferrari เปิดรับจองจากลูกค้าแล้ว และทางฝ่ายการตลาดกล่าวว่า รถคันแรก จะเริ่มส่งมอบให้กับลูกค้าได้ประมาณไตรมาสที่สองของปี 2021 สำหรับราคาวางจำหน่ายในยุโรป อยู่ที่ 473,000 ยูโร ซึ่งแพงกว่า SF90 Stradale ประมาณ 10% และสอดอยู่กึ่งกลางระหว่างรถระดับเทพของค่าย และรถ V8 อย่าง F8 Tributo

สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีการประกาศราคา แต่จากเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ทาง Cavallino Motors Co. Ltd, ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ Ferrari อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ตั้งราคาเริ่มต้นสำหรับ SF90 Stradale ไว้ 40.9 ล้านบาทนั้น ก็คงพอจะเดาได้ว่า Spider น่าจะมีราคาป้วนเปี้ยนแถวๆ 50 ล้านบาทเป็นแน่แท้

ที่มา: ferrari.com