ไม่น่าเชื่อ ว่าจะเป็นไปได้ โอกาสในการทดลองขับ เปอโยต์ นั้น มัน เป็นเรื่องยาก มาโดยตลอด จนถึงตอนนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น

แต่ในอดีตช่วงขณะหนึ่งของชีวิต มันกลับกลายเป็นเรื่องง่ายดาย

 

 

 

 

 

ส่วนหนึ่ง ต้องขอยกเครดิต ขอบคุณ น้อง เจสัน ในยุตสมัยที่ ครอบครัวของเขา ยังคงทำกิจการ

โชว์รูม เปอโยต์ ประดิพัทธ์  อยู่ แม้ว่า โชว์รูมนี้ จะเลิกกิจการไป

ก่อนจะหันไปค้าขายรถฟอร์ด อยู่ ประมาณ ครึ่งปี แล้วทางเจ้าของที่ดิน

ตัดสินใจ โละทิ้ง ยุติบทบาทโชว์รูมแห่งนี้ไป แล้วปล่อยให้ผู้อื่น มาเช่าทำร้านอาหาร

สีสันดอกกุหลาบ ริมถนนประดิพัทธ์ อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ 

 

 

 

 

สำหรับผม การต้องมานั่งย้อนนึกถึงอดีต อันน่าเสียดายเหล่านั้น

เป็นเรื่องที่ยากจะทำใจยอมรับ แต่ในเมื่อ ทุกสิ่งในโลกนี้ มีเกิด ก็ย่อมมีดับ

เป็นธรรมดาของโลก ฉันใด สรรพสิ่ง ก็ต้องดำเนินไปตามเวลาที่นาฬิกาเดินอยู่ฉันนั้น

 

เช่นเดียวกัน 206 ณ วันนี้ ถูกเปลี่ยบนโฉมไปเป็น 207 เรียบร้อยมานานแล้ว

แต่ในบางประเทศ ก็ยังพอหลงเหลือให้ทำตลาดอยู่บ้าง 

ดังนั้น การเก็บข้อมูลมาเรียบเรียงใหม่ ลงในเว็บไซต์ของเรา จึงยังจำเป็นต้องทำ

เพื่อให้สะดวก ต่อคุณผู้อ่าน ยามจะค้นหาข้อมูลเก่าๆที่เคยมีไว้

เพราะรถรุ่นนี้ แทบนับครั้งได้ว่ามีรีวิวในสื่อมวลชนสายรถยนต์เมืองไทย

 

 

 

 

แม้จะออกมาได้หลายปีแล้ว
แต่รูปลักษณ์ของ 206 ยังคงทันสมัยและอยู่ได้นานอีกหลายปี 

 

ขนาดตัวถัง อาจจะดูเล็ก

มีความยาวตลอดทั้งคัน 3,822 มม.
กว้าง 1,652 มม.
สูง 1,433 มม.
ระยะฐานล้อ 2,445 มม.

จัดอยู่ในพิกัดรถยนต์ B-Segment หรือ Sub Compact Car

 

 

 

 

แต่ห้องโดยสาร ไม่ได้เล็กอย่างที่คิด
เข้าไปนั่งแล้วค่อนข้างสบายในระดับหนึ่ง ต่อให้ปรับเบาะหน้าแล้ว
ผู้โดยสารตอนหลัง ก็ไม่มีปัญหาหัวเข่าติดพนักพิงแต่อย่างใด
ศีรษะก็ไม่ติดหัว

ที่สำคัญ เบาะสีนี้ เข้ากับสีดำภายนอกตัวถังเลยทีเดียว

เบาะหลังสามารถแบ่งพับได้เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลัง
ที่น่าตำหนิก็คือ ไม่มีพนักพิงศีรษะด้านหลังมาให้
ถ้าต้องการ  ต้องสั่งเพิ่มพิเศษได้ในราคา คิดว่าน่าจะไม่กี่พันบาท

 

 

 

ชุดมาตรวัด เรืองแสงด้วยสีแดง อันเป็นโทนสี ที่รถในยุโรปมักจะใช้กันในช่วงหลังๆ

ถุงลมนิรภัย มีมาให้เฉพาะฝั่งคนขับเท่านั้น

 

 

 

 

ชุดเครื่องเสียงที่ติดมาให้กับรถ เป็น Sony Explode ติดตั้งในบ้านเรา
ในวันทดลองขับ ไม่ได้ทดลองฟังคุณภาพเสียงครับ
เวลาน้อยให้ความสนใจกับตัวรถดีกว่า

 

แต่พอได้มีโอกาส ฟังในภายหลังแล้ว

ก็คิดได้แต่เพียงว่า เอาอะไรมากกับวิทยุติดรถยนต์ 1 เครื่อง?

แผงควบคุมสวิชต์แอร์ เป็นแบบมือบิด อันเป็นมาตรฐานของรถยนต์ที่ขายกันในยุโรป

เพราะหากต้องการแอร์ดิจิตอล ในยุโรป เขาก็มีให้เลือกสั่งติดตั้งได้ในราคาพิเศษ

แต่เมืองไทย คงไม่มี เว้นแต่ ต้องไปหาเอาตามร้านอะไหล่มือสอง

 

 

 

 

ในต่างประเทศ เครื่องยนต์ของ 206 นั้นมีให้เลือกมากมายหลายรุ่น
แต่สำหรับเวอร์ชันไทย เปอโยต์เลือกขุมพลังบล็อกเล็กรหัส TU 4 สูบ
1,360 ซีซี 75 แรงม้า DIN ที่ 5,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 12.22 กก.-ม. ที่ 2,800 รอบ/นาที

และพ่วงด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ AL4 Auto Adaptive Porsche Tiptronic
แบบเล่นโหมด บวก/ลบ ได้ มาให้จากโรงงาน!

คันเกียร์ตกแต่งมาเสียหรูขึ้นเงาทีเดียวเชียว อย่างที่เห็นในภาพบนก่อนหน้านี้

เห็นตัวเลขแล้วอย่าเพิ่งร้องยี้!
ไปลองขับเสียก่อน!

เพราะจากที่ผมลองขับแล้ว
อัตราเร่ง ถ้าท่องเอาไว้ในใจว่าเป็นเครื่องยนต์ 1.4 ลิตรแล้ว
ผมเชื่อว่าคุณจะรู้สึกแปลกใจเลยทีเดียวว่า
รถมันพุ่งทะยานดีกว่าที่คาดคิดไว้เสียอีก
แถมการจัดวางห้องเครื่อง ก็ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยดีจังเลย

 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม
เกียร์ก็ยังคงมีนิสัยเดียวกันกับ 307CC
คือต้องขับไปสักพักให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ลักษณะการขับขี่ของเราเสียก่อน
ทำให้การตอบสนองค่อนข้างจะช้า ไม่ฉับไวพอสำหรับคนใจร้อน
ที่ยังไม่คุ้นชินกับรถ

พวงมาลัย ค่อนข้างคม และบังคับได้คล่องตัวดีกว่า 307CC ด้วยซ้ำ
แต่ว่า ปรับระดับสูงต่ำได้น้อยไปหน่อย

ระบบเบรก หน้าดิสก์ หลังดรัม พร้อมเอบีเอส และ อีบีดี
แม้จะให้ความมั่นใจดีในภาพรวม
แต่คันที่ทดสอบ เนื่องจากเป็นรถเดโม สำหรับให้ลูกค้าทดลองขับ
จึงอาจผ่านมาหลายมือแล้ว และแต่ละคัน เชื่อได้เลยว่าต้องทดลองเบรกกันมา
ชนิดเอาเรื่องทีเดียว ดังนั้น อาจมีปัญหาในเรื่องหม้อลมเบรกบ้าง
แต่เป็นปัญหาเฉพาะคันนี้คันเดียว

 

 

 

 

โครงสร้างตัวถังที่แน่นหนา ผสานงานกับระบบกันสะเทือนทั้งหน้า-แม็คเฟอร์สันสตรัต หลัง เทรลลิงอาร์ม แล้ว
ช่วยให้ แคแรคเตอร์หลักของตัวรถนั้น “ดิบ”และ”ขับสนุก”กว่าที่คิดไว้พอสมควรเลยทีเดียว
ระบบกันสะเทือนถูกเซ็ตมาให้แข็ง เอาใจลูกค้าที่ชอบการขับขี่แบบสปอร์ตอย่างชัดเจน
แน่นอนว่า ความแข็งในลักษณะนี้ อาจไม่ถูกใจคนที่อยากได้รถในเมือง ขับนิ่มๆสบายๆ
อย่างแน่นอน

แต่ถ้าคุณชอบรถที่ขับสนุกเป็นหลักแล้ว คุณควรจะลองขับ 206 ให้ได้ครับ

อีกทั้งการประกอบนั้น ถึงแม้จะมาจากอินโดนีเซีย และอาจมีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ
ที่ไม่ค่อยประณีตนัก แต่ก็เป็นแค่จุดเล็กๆ เช่น สวิชต์ล็อกประตูทั้ง 4 บาน
แต่เมื่อดูในภาพรวมแล้ว ความประณีตในการประกอบ ผมถือว่า ดีกว่ารถญี่ปุ่น
ที่ผลิตจากโรงงานอินโดนีเซียทั่วไปด้วยซ้ำ! คือดีกว่าที่คิดนั่นเอง!

เรื่องความปลอดภัย?

Euro NCAP Overall Rating 4 ดาว จาก 5 ดาว // Pedestrian Rating  2 ดาว

ตอนแรกที่ทดลองขับ ผมพบว่าตำแหน่งเบาะนั่งสูงไปหน่อย
แต่พอเจสัน หาที่ปรับระดับสูงต่ำของเบาะจนเจอแล้ว
เรียกได้ว่า จากความรู้สึกด้านลบ พลิกกลับมาเป็นด้านบวกในทันที
เพราะหลังจากที่ได้ลองขับแล้ว 206 เป็นรถอีกคันหนึ่งที่ผมชอบและอยากได้
เสียดายว่า ถ้าผมซื้อมา คงต้องทำอะไรกับมันอีกหลายรายการพอสมควร
ถึงจะได้ดังใจครบถ้วน

แต่ที่ผมอยากได้เนี่ย
มันคือรุ่น 3 ประตูเนี่ยสิ??

 

 

 

 

********** สรุป **********

“รถเล็กอารมณ์ดิบราคาสูง แต่มีดีซ่อนอยู่”

สิ่งที่ผมชอบที่สุดคือ โครงสร้างของตัวรถ รวมทั้งระบบกันสะเทือนของ 206
เพียงแต่ว่า ถ้าซื้อมา ผมคงจับเปลี่ยนยางอีกเช่นเคย
พักนี้ไม่รู้เป็นอะไร ลองรถแต่ละคัน มักจะพบว่า ตัวรถดี แต่อย่างติดรถไม่ค่อยจะได้เรื่อง
อยู่บ่อยๆแหะ
รวมทั้งเรื่องของการประกอบจากอินโดนีเซียที่ประอบในภาพรวมได้ดีเกินคาดคิด

**ล่าสุด รถรุ่นนี้ ถูกประกอบขึ้นในมาเลเซีย ภายใต้การดูแลของกลุ่ม NAZA ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มยนตรกิจเป็นอย่างดี**

สิ่งที่ผมไม่ชอบในรถคันนี้
อยู่ที่การใส่ใจในรายละเอียดการประกอบส่วนลึกๆ บางรายการ
อีกกทั้งแม้ว่าเครื่องยนต์ ที่น่าจะมีทางเลือกมากกว่านี้สักนิด
แม้ว่าเครื่องยนต์ 1.4 ลิตรจะให้การตอบสนองในรอบกลางๆได้ทันใจก็ตาม
เกียร์ ทำงานได้ดี แต่ตอบสนองช้าไปหน่อย (อีกแล้ว อาการเดียวกับ 307CC เลย)

แต่ในการเซ็ตรถภาพรวม
ผมถือว่า ค่อนข้างใช้ได้ดีกว่าที่คิดไว้พอสมควร

ราคา 890,000 – 930,000 บาท
จะคุ้มค่ากับใจคุณผู้อ่านหรือไม่

หากมองในแบบผู้คนทั่วไป พูดได้อย่างเต็มปากเลยว่า ไม่คุ้ม!

แต่ อย่าเพิ่งหันหลังให้มันไปเสียทีเดียว เพียงเพราะค่าตัวของมัน นั่นอาจไม่เป็นธรรมนัก

ไปลองขับดูก่อนครับ

แล้วตัดสินใจเอาเอง

———————————————-///————————————————–

ขอขอบคุณ
เจสัน แห่ง เปอโยต์ ประดิพัทธ์ ที่เอื้อเฝื้อโอกาสในการทดลองขับ

 

 

 

J!MMY

สงวนลิขสิทธิ์

เผยแพร่ครั้งแรก ใน Pantip.com ห้องรัชดา 6 มีนาคม 2005

ปรับปรุงเพื่อการเผยแพร่ครั้งที่ 2 ใน www.headlightmag.com

15 กุมภาพันธ์ 2009