(หมายเหตุ : บทความนี้ ถูกแยกออกมาจากบทความ ทดลองขับรถยนต์ Honda เวอร์ชันญี่ปุ่น
เมื่อครั้งเดินทางไปเยือนศูนย์วิจัยและพัฒนา Honda R&D และ สนามทดสอบของฮอนด้า
ในเมือง Utsunomiya จังหวัด Tochigi วันที่ 18 ตุลาคม 2005 ตามคำเชิญ ของ
บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิลล์ (ประเทศไทย) จำกัด

ภาพ ประกอบของบทความนี้ เป็นภาพถ่ายโดยช่างภาพชาวญี่ปุ่น จากทางฮอนด้า มอเตอร์
ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากในวันเยี่ยมชม เราไม่ได้รับอนุญาตให้บันทึกภาพด้วยตนเอง
และลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Pantip.com ห้องรัชดา เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2005)

ฮอนด้า ประกาศเปิดตัว แอร์เวฟ คอมแพกต์สเตชันแวกอนรุ่นใหม่ เมื่อ 7 เมษายน 2005

แอร์ เวฟ ได้รับการพัฒนาขึ้นบนพื้นตัวถัง GLOBAL SMALL PLATFORM
และใช้เครื่องยนต์ ข้าวของอะไหล่ต่างๆร่วมกับ 4 พี่น้องตระกูลรถเล็กของฮอนด้า
ทั้ง ฟิต และ ฟิต เอริอา (หรือที่บ้านเรารู้จักในชื่อ แจ้ส และ ซิตี) ไปจนถึงมินิแวน
ขนาดเล็กคันโตทั้งโมบิลิโอ และโมบิลิโอ สไปก์ ไม้เว้นแม้กกระทั่งการติดตั้ง
ถังน้ำมันไว้กลางตัวรถ ใต้เบาะคู่หน้า

ถึง แม้ฮอนด้าจะบอกว่า ชื่อรุ่นแอร์เวฟ  การนำชื่อแอร์เวฟมาใช้นั้น หมายถึงอากาศ
และสายลม ตั้งใจสื่อถึงความใกล้ชิดเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ  แต่หลายคนอาจคิดว่า
ชื่อมันคุ้นๆ อย่าแปลกใจ เพราะงานนี้ ฮอนด้า ยังคง นำชื่อรุ่นสกูตเตอร์ที่ตนทำขาย
มาตั้งเป็นชื่อรุ่นรถยนต์ เช่นเดียวกับที่เคยทำมาแล้วในยุค 1990 อาทิชื่อ ฮอไรซัน
ในอีซูซุ บิ๊กฮอร์น/ทรูปปอร์ เมื่อปี 1993 ก็ดึงชื่อของรถจักรยานยนต์มาตั้งเลย

แม้ แต่ฮอนด้า แจ้ส ชื่อเดิมจริงๆแล้ว คนญี่ปุ่นจะเข้าใจว่า เป็นอีซูซุ MU ธรรมดา
ที่ฮอนด้าซื้อมาขายเองในชื่อแบรนด์ตัวเอง ก็ยังนำชื่อรุ่นมาจากจักรยานยนต์ และ
สกูตเตอร์มาใช้กับรถยนต์นั่งบางรุ่น จนถึงปัจจุบัน

บนตัวถังที่ยาว 4,390 มิลลิเมตรกว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูงระหว่าง 1,505-1,530 มิลลิเมตร
และมีระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร นอกจากจะแปลกตาด้วย ชุดไฟหน้าแบบปรับระดับได้
AUTO LEVELING พร้อมหลอดแบบ HID ที่มีให้เลือกเป็นออพชันพิเศษ  ไปจนถึง
กระจังหน้าที่ได้รับอิทธิพลการออกบบมาจากฮอนด้า สตรีม ไมเนอร์เชนจ์ และเสาหลังคากลาง
C-PILLAR ที่ออกแบบให้มีลักษณะแนวเส้นไม่เหมือนใครแล้ว

จุดเด่นสำคัญของแอร์เวฟ คือมีกระจกหลังคาขนาดใหญ่ที่เรียกว่า SKY ROOF  ซึ่งได้รับ
อิทธิพลการออกแบบมาจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาส รวมทั้งโอเปิล แอสตรา คูเป้โฉมใหม่
หลังคากระจกดังกล่าวติดตั้งบนโครงสร้างเสาหลังคา ที่ถูกปรับปรุงให้เพิ่มความแข็งแกร่ง
เป็นพิเศษ และสามารถเปิดรับแสงได้ยาวตั้งแต่เบาะคู่หน้าจนถึงเบาะแถวหลังเลยทีเดียว

ถึง จะสร้างขึ้นร่วมกับ 4 พี่น้องตระกูลรถเล็กของฮอนด้า แต่ทว่า ภายในห้องโดยสาร แปลกตา
พยายามจะให้ลูกค้ารู้สึกถึงความเป็นสปอร์ตอยู่บ้างนิดๆ ด้วยแผงหน้าปัดที่ถูกออกแบบขึ้นใหม่
ชุดมาตรวัดแบบ 4 ช่อง ระบบปรับ อากาศเลือกได้ทั้งแบบฟูลออโต หรือแบบสวิชต์หมุนธรรมดา
ระบบนำร่องผ่านดาวเทียม พร้อมระบบสั่งการด้วยเสียง INTERNAVI PREMIUM CLUB
พร้อมจอมอนิเตอร์ 6.5 นิ้วที่รวมการทำงานของ เครื่องเล่น มินิดิสก์ CD และDVD
วิทยุ AM/FM/TV สั่งติดตั้งได้เป็นพิเศษ

ชุด เบาะหลัง ซึ่งมีที่พักแขนตรงกลางพร้อมที่วางแก้วในตัว สามารถแยกพับได้ในรูปแบบ
ULTRA SEAT เหมือนแจ้ส/ซิตี ทั้งแบบยกเบาะรองนั่งขึ้นเพื่อวางสัมภาระทรงสูงเช่น
กระถางต้นไม้ หรือจะพับในแนวราบ เพื่อเพิ่มความยาวพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ออกไปถึง
1,280 มิลลิเมตร และในรุ่น ACTIVE PACKAGE เบาะนั่งจะหุ้มด้วยวัสดุกันซึมเปื้อนจากของเหลว

ด้านความปลอดภัย อุ่นใจกับถุงลมนิรภัยคู่หน้าเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน แต่ถ้าอยากได้ถุงลมด้านข้าง
i-SIDE SRS ต้องจ่ายเพิ่มอีกต่างหาก เข็มขัดนิรภัย 3 จุด ELR โดยคู่หน้าเป็นแบบลดแรงปะทะ
และดึงกลับอัตโนมัติ จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก ISOFIX  กุญแจอิมโมบิไลเซอร์ ติดตั้งลงใน
โครงสร้างตัวถังกกระจายแรงปะทะแบบ G CON

ขุม พลังมีเพียงแบบเดียว แถมยังมีหน้าตาที่คนไทยคุ้นเคยกันดี เพราะเป็นรหัส L15A 4 สูบ
SOHC 16 วาล์ว 1,496 ซีซี พรร้อมระบบแปรผันวาล์ว VTEC 110 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 14.6 กก.-ม.ที่ 4,800 รอบ/นาที ที่วางอยู่ใน แจ้ส วีเทค รวมทั้ง โมบิลิโอ และ
โมบิลิโอ สไปก์ ในญี่ปุ่นนั่นเอง

เชื่อม การทำงานได้ทั้งเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน CVT HONDA MULTI MATIC-S
ที่มีทั้งแบบมาตรฐาน และแบบ 7-MODE ล็อกอัตราทดได้ 7 จังหวะ ยกชุดมาจากฟิต/แจ้ส
โดยผู้ขับเลือกเปลี่ยนการทำงาน โดยกดปุ่ม 7 SPEED MODE บนพวงมาลัย และบน
แผงหน้าปัดจะมีการยืนยันการทำงาน ทั้งคู่เลือกได้ว่าจะใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า
หรือขับเคลื่อน 4 ล้อ REALTIME

รองรับการใช้งานในเมืองด้วยระบบกันสะเทือนที่ใช้ร่วมกับ ฮอนด้ารุ่นเล็กทุกรุ่นในช่วง
2 ปีที่ผ่านมา เป็นแบบแมคเฟอร์สันสตรัทด้านหน้า ส่วนด้านหลัง หากเป็นรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า
จะเป็นแบบคานแข็งทอร์ชันบีม แต่ถ้าเป็น รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ จะเปลี่ยนไปใช้แบบเดอ ดิออง
เสริมเหล็กกันโคลงทั้งหน้า-หลัง ห้ามล้อด้วยระบบเบรกหน้าดิสก์หลังดรัม แถมเอบีเอส
ระบบกระจายแรงเบรก อีบีดี และระบบเพิ่มแรงเบรกฉุกเฉิน BREAK ASSIST บังคับเลี้ยว
ด้วยพวงมาลัยเพาเวอร์

แอร์ เวฟทั้ง 8 รุ่นย่อย จะทำตลาดผ่านเครือข่ายจำหน่ายทุกแห่งของฮอนด้า
ทั้งพรีโม คลีโอ และเวอร์โน เพื่อเสริมทัพให้กับตระกูลฟิต/แจ้ส และฟิต เอริอา/ซิตี นั่นเอง
ติดป้ายราคาไว้ตั้งแต่ 554,800 – 722,610 บาท ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 4,000 คัน/เดือน

** ความรู้สึกเมื่อทดลองขับ **

คงต้องบอกกันตรงๆว่า

นี่คือ แจ้ส ตัวถัง สเตชันแวกอน
ดังนั้น ฟีลลิงในการขับขี่ทั้งหมด จึงใกล้เคียงกับ
แจ้ส

มิใยที่ผมจะสอบถามทางวิศวกรชาวญี่ปุ่นไปว่า
แต่ละคันมีการเซ็ตที่แตกต่างกันอย่างไร

วิศวกรทั้งสาม ตอบเกือบจะพร้อมกันว่า

แอร์เวฟ มันเเหมือนๆกับแจ้ส
เพียงแต่ว่ามีการออกแบบรูปลักษณ์ใหม่ทั้งหมด
และเซ็ตรถให้มีลักษณะขับสปอร์ตมากขึ้น

ผมบอกเขากลับไปว่า
ผมไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้น เพราะจากที่ได้ขับจริงแล้ว
ดูเหมือนว่าฮอนด้าเซ็ตรถออกมาให้ใช้งานในแนว Cruising
มากกว่าที่จะออกโทนสปอร์ตนิดๆ อย่างที่วิศวกรเขาตั้งใจ

พวงมาลัยมีน้ำหนักเบาไปหน่อยในย่านความเร็วต่ำ
ตั้งใจจะเซ็ตเพื่อให้ขับคล่องตัวในเมือง แต่พอการใช้งานในความเร็วสูง
ผมว่าพอให้ความไว้ใจได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรตาม ตำแหน่งพวงมาลัย ออกจะติดตั้งในตำแหน่งตั้งตรงไปสักหน่อย

ก็แค่นั้น

นอกนั้น ความอเนกประสงค์ในห้องเก็บของด้านหลังถือว่าใช้ได้
เพราะมีพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง ยาวกว่า แจ้ส รุ่นเดิม อยู่เยอะ

สรุปว่า เป็น แจ้ส รุ่นแรก เวอร์ชันต่อตูด และประกอบดีกว่ากันนิดนึง แค่นั้น
——————————–///——————————-

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

– เผยแพร่ครั้งแรกใน Pantip.com ห้องรัชดา
  2 พฤศจิกายน 2005
– เผยแพร่ครั้งที่ 2 ใน www.headlightmag.com
  7 กันยายน 2009

Copyright (c) 2009 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.

– First publish in Pantip.com
  November 2nd, 2005
– Second publish in www.Headlightmag.com
– September 24th,,2009