โอ้โห !!! นี่หรือการปรับโฉม Minorchange เรียก Modelchange เลยดีกว่ามั้ย ?
นี่คือเสียงตอบรับจากคนอ่านในโลก Social Media อย่าง Facebook หรือแม้กระทั่ง
ความคิดเห็นในเว็บบอร์ดรถยนต์ต่างๆมากมาย ที่มีต่อการปรับโฉมครั้งนี้ ของกระบะ
Ford Ranger ลากยาวรวมไปถึงการที่ฟอร์ดปรับปรุงเรื่องการส่งมอบรถ จากคราวก่อน
ที่โดนคนที่จองก่นด่ากันทั่วบ้านทั่วเมือง ว่ากว่าจะได้รถมาขับ รอกันเกือบปีในบางรุ่น
มาคราวนี้ฟอร์ดขอแก้ตัว พร้อมส่งมอบรถทันทีที่เปิดตัว ทุกรุ่น ทุกเครื่องยนต์ !

อันที่จริงเหตุผลหลักๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าหน้าตามันเปลี่ยนไปจากรุ่นเดิมมาก เรียกว่า
ชิ้นส่วนต่างๆด้านหน้าตัวรถ ทั้งกันชน เบ้าไฟหน้า กระจังหน้า ไม่สามารถเอาของรุ่นใหม่
มาใส่ในเบ้าของรุ่นเดิมกันได้ทันที ต้องยกชิ้นส่วนตัวถังใหม่ทั้งหน้า ไม่เหมือนอย่างที่
หลายๆค่ายนั้นนิยมทำกัน รวมถึงภายในแผงแดชบอร์ดต่างๆนั้นเปลี่ยนแปลงชนิดที่ว่า
แทบไม่เหลือเค้าโครงเดิมให้เห็นกันเลย จะไม่ให้คนเข้าใจว่านี่เป็น Modelchange
รึเปล่า? ได้อย่างไรกัน  ก็พี่เล่นปรับเยอะซะขนาดนี้ !

 

001

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 23 มีนาคม 2011 เป็นการเปิดตัวครั้งแรกของ Ford Ranger T6 ในไทย
และยังเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย นอกจากนี้ในตัวถัง Open Cab
ก็มาเปิดตัวในไทยเป็นที่แรกในโลกเช่นเดียวกัน เพราะแน่ละ หากเป็นกลุ่มรถกระบะ Compact
Truck แล้ว ประเทศไทยถือว่าเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลก จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านมาจนกระทั่ง
เวลาล่วงเลยไปเกือบครบ 4 ปี ฟอร์ด ประเทศไทยก็ได้ทำการเปิดตัวรุ่นปรับโฉม Minorchange
ของ Ford Ranger อย่างเป็นทางการ เมื่อ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากวิ่งทดสอบกันมา
หลายต่อหลายเดือน บรรยากาศงานเปิดตัวนั้น ถือว่าเป็นความตั้งใจของทีมงานฟอร์ดที่จะให้ตรง
คอนเซปและภาพลักษณ์ของตัวรถมากที่สุด ทำให้ได้รับคำชมเชยมากมายจากทั้งสื่อมวลชนและ
คนทั่วไป ว่าเป็นงานเปิดตัวรถยนต์ที่ดีเป็นอันดับต้นๆ เท่าที่เคยมีมา หลายคนที่ยังไม่มีโอกาส
ได้สัมผัสบรรยากาศงานเปิดตัว เราก็จัดมาให้ชมกันครับ

 


Ford Ranger Minorchange นั้นมีด้วยกัน 3 ตัวถังเช่นเคย คือ หัวเดียว Standard Cab, รุ่นแค็ป
2 ประตู Open Cab และ 4 ประตู Double Cab แบ่งเกรดไปตาม Option ที่ใส่มาให้ มีทั้ง XL, XLS,
XLT และ Wildtrak รวมทั้งหมด 19 รุ่นย่อย แบ่งออกเป็น Standard Cab 3 รุ่น – Open Cab 7 รุ่น
และ Double Cab 9 รุ่น ซึ่งคุณผู้อ่านสามารถดูสเป็ค-ราคา ว่าแต่ละรุ่นให้อุปกรณ์ Option อะไรบ้าง
ทั้งหมดได้ที่นี่ // เจาะสเป็ค-Option-ราคา-รุ่นย่อย Ford Ranger Minorchange แบบละเอียด //

 

สำหรับสีตัวถังที่มีให้เลือกนั้น จะมีให้เลือกด้วยกันถึง 8 สี อันได้แก่

– สีขาว Cool White (ทุกรุ่น)
– สีเงิน Aluminum Metalic (ทุกรุ่น)
– สีดำ Black Mica (ทุกรุ่น)
– สีน้ำเงิน Aurora Blue (เฉพาะรุ่น XLS, XLT)
– สีแดง True Red (เฉพาะรุ่น XLS, XLT)
– สีฟ้าคราม Blue Reflex (เฉพาะรุ่น XLT)
– สีเทา Metropolitan Grey (เฉพาะรุ่น XLT, Wildtrak)
– สีส้ม Pride Orange (เฉพาะรุ่น Wildtrak)

004

 

มาดูมิติตัวรถกันดีกว่า แน่นอนว่ามันเป็นการปรับโฉม Minorchange ภายใต้ตัวถังเดิม
เพราะฉะนั้นแล้วขนาดสัดส่วนต่างๆก็จะเท่ากับรุ่นเดิมเป๊ะๆ ยกเว้นความยาวที่เพิ่มขึ้น
3 มม. ยาว 5,362 มม. (รุ่นเดิม 5,359 มม.) กว้าง 1,860 มม. สูง 1,815 มม. ระยะฐานล้อ
3,220 มม. ระยะห่างล้อคู่หน้า / หลัง 1,560 มม. ส่วนระยะ Ground Clearance อยู่ที่
230 มม. น้อยลงกว่าเดิม 2 มม.

ด้านหน้าตัวรถนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในการปรับโฉม Minorchange ครั้งนี้
เริ่มกันตั้งแต่กระจกบังลมหน้าเป็นต้นมานั้น เปลี่ยนแปลงทั้งหมด ย้ำว่าทั้งหมด !
ไม่ว่าจะเป็นที่ปัดน้ำฝนเปลี่ยนมาเป็นแบบ Frameless พร้อมระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ
แผงจิ้งหรีดที่มีปัญหาก็ถูกออกแบบขึ้นใหม่ พร้อมที่ฉีดน้ำกระจกหน้าซ่อนอยู่ตรงนี้
จากเดิมที่แปะอยู่บนฝากระโปรงหน้า ตัวฝากระโปรงหน้าเองก็ถูกออกแบบใหม่ให้มี
เหลี่ยมสันมากขึ้นตรงกลาง มาพร้อมกับกระจังหน้าแบบใหม่ทรง 6 เหลี่ยม แต่ยังคง
DNA เอกลักษณ์ของกลุ่มกระบะฟอร์ดไว้เหมือนเดิม เป็นเส้นแนวนอน 3 แถบ ดีไซน์
ให้ต่อเนื่องกับกันชนหน้าที่ดูแล้วคล้ายกับใน Everest แต่ก็ไม่เหมือนกันซะทีเดียว
ใน Ranger จะดูมีความใหญ่โตและบึกบึนมากกว่า ในรุ่น XLT จะเป็นโครเมียมทั้งชิ้น
ส่วนรุ่น Wildtrak จะเป็นผิวมันสี Gun Metalic ด้านล่างเสริมด้วยการ์ดกันชนสีเงิน
Metalic ประกบด้วยไฟตัดหมอกคู่หน้า ไฟตัดหมอกเองนั้นในรุ่น XLT กับ Wildtrak
สังเกตดีๆจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ในรุ่น XLT เป็นดวงกลมแทรกในช่องสี่เหลี่ยม
แต่รุ่น Wildtrak จะเป็นไฟเต็มทั้งช่องสี่เหลี่ยม

002

 

ด้านข้างนั้นตั้งแต่เสา A เป็นต้นไปจนถึงกันชนท้าย จะเหมือนกับรุ่นเดิมทุกประการ
มีเพียงบันไดข้างที่เปลี่ยนไป จากเดิมดีไซน์คล้ายแป๊ปเหล็ก เปลี่ยนมาเป็นบันไดข้าง
แบบปกติ มีพื้นที่หน้าตัดที่ให้เหยียบก้าวขึ้น – ลง กว้างขึ้น ทำให้การเข้าออกปีนป่าย
ตัวรถนั้นง่ายขึ้น ในรุ่น XLT ล้ออัลลอยให้มาขนาดเท่าเดิมคือ 17 นิ้ว แต่เปลี่ยนลายใหม่
ที่ดูแล้วละม้ายคล้ายกับฝาครอบล้อกะทะเหล็กเสียเหลือเกิน ลายล้อของตัวเดิมนั้น
แอบสวยกว่า ยางที่ใส่มาให้จะเป็น Dunlop Grandtrek ขนาด 265/65 R17

003

 

ส่วนในรุ่น Wildtrak จะเป็นล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว ลายใหม่ 6 ก้านคู่ คล้ายๆกับที่อยู่
ในรุ่น 3.2 Wildtrak เดิม แต่มีการปรับดีไซน์ใหม่ปัดเงาพร้อมทำสี Gun Metalic สลับ
มาด้วยในบางส่วน พร้อมกับยาง Bridgestone Dueler H/T 684 II ขนาด 265/60 R18
มาครั้งนี้ในรุ่น Minorchange Ford ก็จัดล้อ 18 นิ้วให้กับ Wildtrak ทุกรุ่นไม่ว่าจะเป็น
รุ่น 2.2 ลิตร หรือ 3.2 ลิตร ถ้ามองแต่ภายนอกแล้ว คุณแทบจะแยกไม่ออกแน่นอนว่า
คันไหนเป็นคันไหน ถ้าไม่เห็นป้าย Tag ที่บอกความจุเครื่องยนต์ บริเวณแก้มข้างตัวถัง
ด้านหน้าซะก่อน

DSCF3670

 

รายละเอียดด้านท้ายนั้นเหมือนรุ่นเดิมทุกประการ จะมีจุดต่างแค่เพียงเล็กน้อย ซึ่งถ้าไม่
สังเกตก็จะไม่เห็น นั่นก็คือ บริเวณไฟเบรกดวงที่ 3 บนหัวเก๋งนั่นเอง ชุดไฟจะยื่นนูนออกมา
มากกว่ารุ่นเดิม เพราะจะมีการเพิ่มไฟส่องสว่างบริเวณท้ายกระบะแบบ LED มาให้ด้วย
กันชนหลังก็จะมีเซนเซอร์กะระยะ 4 จุดมาให้แสดผลที่หน้าจอตรงกลาง ทั้ง XLT และ
Wildtrak แต่ใน Wildtrak จะมีกล้องมองภาพขณะถอยจอดเพิ่มมาให้ ติดตั้งอยู่บริเวณ
โลโก้ด้านหลังที่นูนๆออกมานั่นเอง

DSCF3696
(รุ่น Double Cab 3.2 XLT 4×4 6A/T )

 

การเข้าออกตัวรถ น่าเสียดายที่ยังไม่มีระบบ Smart Keyless มาให้ แต่เป็นรีโมทแบบ
พับเก็บได้ กดสวิตซ์เปิด-ปิดที่รีโมท หรือจะเสียบกุญแจเอาก็ได้ เมื่อเปิดเข้ามาภายใน
รุ่น XLT จะพบกับห้องโดยสารโทนสีเทาตกแต่งด้วยวัสดุสีเงินด้าน ส่วนในรุ่น Wildtrak
จะใช้โทนสีดำเป็นหลัก มีการหุ้มหนังให้ในส่วนของแผงแดชบอร์ดด้านบน เดินตะเข็บจริง
ด้ายคู่สีส้ม ของจริงดูสวยและพรีเมียมกว่าในรูปเยอะ ส่วนในรุ่น XLT ก็จะเป็นพลาสติก
ขึ้นรูปปั้มลายTexture คล้ายหนังแทน และมีช่องวางของให้ตรงกลาง หรือจริงๆแล้วก็
อาจจะเป็นที่ถูกอก ถูกใจเจ้าของรถกระบะหลายท่านก็เป็นได้ ขอเรียกว่า ช่องวางพระ
เป็นที่ประดิษฐานของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระพุทธรูปจำลอง

ในรุ่น Wildtrak จะตกแต่งด้วยวัสดุผิวกึ่งมันกึ่งด้าน ลวดลายคล้ายกับคาร์บอนไฟเบอร์
ตรงกลางเป็นจอควบคุมส่วนกลาง มีทั้งระบบเครื่องเสียง ที่สามารถสั่งการด้วยเสียง SYNC2
เช่น การเลือกเพลง หรือแม้กระทั่งเพิ่มพัดลมแอร์ก็ยังได้ เป็นจอระบบสัมผัส Touchscreen
ขนาด 8 นิ้ว เป็น Center Control ระบบต่างๆในรถ แม้กระทั่งระบบปรับอากาศก็ยังแสดงผล
และสามารถควบคุมได้ที่หน้าจอนี้ การสัมผัสถือว่ายังแอบช้าอยู่บ้างในบางจังหวะมาพร้อมกับ
ลำโพง 6 ตัว คุณภาพเสียงที่ฟังคร่าวๆถือว่าเป็นที่น่าพอใจ มีช่องเชื่อมต่อ AUX และ USB มาให้
2 ช่อง พร้อมกล้องมองภาพขณะถอยจอด มี GPS มาให้ แต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีระบบนำทาง
มาให้ มีแต่ช่อง SD Card ซึ่งก็เหมือนกันกับมาสด้า ต่างกันก็ตรงที่ในมาสด้า มีซอฟท์แวร์
รองรับไว้อยู่แล้ว สามารถซื้อการ์ดมาใส่เพิ่มได้เลย แต่ฟอร์ดยังไม่มี

ทาง Ford เองไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะพวกเขาก็ทราบ Feedback จากลูกค้าและปัจจุบัน
กำลังเจรจากับทาง Ford Global เพื่อพัฒนาระบบให้รองรับต่อไป

DSCF3767
( รุ่น Double Cab 2.2 Wildtrak Hi-rider 6A/T)

 

ส่วนในรุ่น XLT จะเป็นจอแสดงผลอเนกประสงค์ของเครื่องเสียงขนาด 4 นิ้ว รายล้อมด้วยปุ่ม
ควบคุมต่างๆทั้งปุ่มสำหรับกดเบอร์โทรศัพท์ ที่เชื่อมต่อไร้สาย Bluetooth หรือควบคุมฟังก์ชั่น
ต่างๆของชุดเครื่องเสียง บางครั้งผมก็เบลอๆ แอบเผลอไปจิ้มๆที่หน้าจอ เอ๊ะ ทำไมมันไม่
ตอบสนองอะไรเลย นึกขึ้นได้อีกที อ๋อ มันไม่ใช่หน้าจอ Touchscreen นี่หน่าในรุ่น XLT ฮ่าๆๆ

ถัดลงมาจะเป็นปุ่มไฟฉุกเฉิน และช่องสำหรับใส่ CD/MP3 อยู่ติดๆกับ ชุดควบคุมระบบ
ปรับอากาศ ซึ่งในรุ่น XLT นั้นจะเป็นระบบปรับอากาศแบบธรรมดา แต่หน้าตาดูคล้ายกับ
แบบอัตโนมัติ ถึงแม้ว่าจะเป็นระบบธรรมดา แต่ควบคุมการเปิด-ปิดด้วยสวิตซ์ไฟฟ้า มีปุ่ม
สำหรับหมุนปรับแรงลม และความเย็นขนาบอยู่ทั้ง 2 ข้าง ส่วนในรุ่น Wildtrak จะเป็นระบบ
ปรับอากาศนั้นเป็นแบบอัตโนมัติ แยกฝั่งอิสระซ้าย-ขวา ควบคุมอุณหภูมิได้ที่จอกลาง 8 นิ้ว
ข้างบนได้อีกด้วย มีช่องสำหรับชาร์จไฟ 12 V มาให้ 2 ตำแหน่ง

DSCF3741
(รุ่น Open Cab 3.2 XLT 4×4 6M/T)

 

ถัดลงมาจะเป็นชุดเกียร์ ลักษณะเป็นถุงหุ้มด้วยหนัง เดินตะเข็บด้ายจริงมาให้ ในรุ่นขับเคลื่อน
4 ล้อจะมีปุ่มสำหรับบิดเลือกโหมดการขับขี่มาให้ 2H – 4H – 4L รุ่นเกียร์อัตโนมัติจะอยู่ด้านขวา
ของคันเกียร์ ส่วนในรุ่นเกียร์ธรรมดาจะอยู่ด้านล่างของคันเกียร์

ลงมาอีกนิดก็จะเป็นช่องสำหรับวางแก้วน้ำ 2 ช่อง และช่องเก็บของตรงกลางคอนโซลขนาดใหญ่
ในรุ่น Wildtrak จะมีการต่อท่อแอร์มาไว้ที่กล่องนี้ด้วย เปิด/ปิดได้ ทำให้สามารถแช่เครื่องดื่ม
ได้ระหว่างการเดินทาง ด้านหลังก็จะมีช่องชาร์จไฟ 12V มาให้ 1 ช่อง และในรุ่น Wildtrak
จะเพิ่มช่องชาร์จไฟแบบ 230V มาให้อีก 1 ช่องเหมือนไฟบ้าน เสียบปลั๊กปกติได้เลย

พวงมาลัยมีการเปลี่ยนทรงใหม่เป็นแบบ 4 ก้าน มีการบุหุ้มหนังใหม่ เพิ่มกริปให้ค่อนข้าง
หนานุ่มและกระชับมือ แต่ผมแอบรู้สึกว่ามันหนาไปนิดนึง แต่เนื่องจากมันนุ่มเลยไม่ค่อย
ขัดใจเท่าไหร่ ปุ่มควบคุมบนพวงมาลัยนั้นแยกเป็น 2 ชุดบนล่าง และแยกเป็นสองฝั่ง ซ้าย-ขวา
มาดูที่ชุดสวิตซ์ด้านซ้ายกันก่อน ส่วนบนเป็นชุดควบคุมหน้าจอแสดงผลของระบบเครื่องเสียง
ส่วนด้านล่างจะควบคุมความดัง และปุ่มรับสาย-โทรออกของระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์ไร้สายบลูทูธ
ส่วนชุดสวิตซ์ด้านขวาส่วนบนจะควบคุมหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID ส่วนด้านล่างจะเป็น
สวิตซ์ควบคุมระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติหรือ Cruise Control

 

meter1

 

มาตรวัดในรุ่น XLT จะเป็นแบบใหม่ 2 วงพื้นดำ ตัวเลขและตัวอักษรสีขาว เข็มอนาล็อกสีฟ้าอ่อน
ด้านซ้ายเป็นวัดรอบเครื่อง อยู่ในวงเดียวกับมาตรวัดอุณหภูมิเครื่องยนต์ ด้านขวาเป็นมาตรวัด
ความเร็ว รวมอยู่กับวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้ง 2 วงประกบอยู่กับจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID
แสงสีฟ้าตรงกลาง ที่มีแถบบอกตำแหน่งเกียร์อัตโนมัติอยู่ด้านล่าง

meter2

 

ในรุ่น Wildtrak จะเป็นมาตรวัดแบบจอสีคู่ TFT เหมือนกันกับใน Everest สามารถแสดงผลข้อมูล
ได้มากมาย ฝั่งซ้ายจะเป็นระบบ Entertainment ส่วนฝั่งขวาจะเป็นข้อมูลการขับขี่ มาตรวัดความเร็ว
จะเป็นวงตรงกลางเข็มแบบอนาล็อก มีจุดที่น่าตำหนิคือ มาตรวัดรอบที่แสดงผลเป็นเข็มแบบดิจิตอล
นั้นมีขนาดเล็กเกินไป แถมยังไม่มีขีดบอกระหว่างตัวเลข มีแค่ 1 2 3 4 5 6 ค่อนข้างจะดูยากไป

ในรุ่น XLT ผ้าบุหลังคานั้นจะเป็นสีเทา ส่วนรุ่น Wildtrak จะเป็นสีดำ เหมือนจะดูอึดอัด แต่เอาเข้าจริง
ผมว่าการใช้ผ้าบุหลังคาสีดำ ส่วนตัวผมคิดว่ามันทำให้รถดูพรีเมียมมากขึ้นกว่าเดิมพอสมควร

DSCF3712
(รุ่น XLT)

 

เบาะคนขับ จะเป็นแบบปรับมือ 6 ทิศทาง ส่วนเบาะคนนั่งจะเป็นแบบปรับมือ 4 ทิศทาง
เหมือนกันทั้งรุ่น XLT และ Wildtrak ส่วนเบาะคนขับปรับด้วยไฟฟ้า 8 ทิศทางนั้นสงวนสิทธิ์
ให้เฉพาะรุ่น 3.2 Wildtrak รุ่นเดียวเท่านั้น (ถ้าใส่มาให้ใน Wildtrak ทุกรุ่นก็จะดีมาก เพราะคู่แข่ง
ก็ใส่มาให้ในหลายๆรุ่นย่อยแล้วนะ) เบาะนั่งก็เป็นทรงเดียวกันกับรุ่นเดิมนั่นแหละครับ ในรุ่น XLT
ก็จะเป็นเบาะผ้า วัสดุหุ้มเบาะก็เหมือนในรุ่นเดิม ส่วนรุ่น Wildtrak จะแตกต่างจากรุ่นเดิมค่อนข้างมาก
วัสดุเป็นผ้าสีส้มสลับด้วยหนังสีดำบางส่วน มีการใช้ส่วนของผ้าสีส้มมาแทนที่เยอะขึ้น

 

DSCF3774
(รุ่น Wildtrak)

 

ตัวเบาะนั้นให้ความนุ่มสบาย พนักพิงศีรษะไม่ดัน แต่ผมคิดว่ามันจะออกจะแข็งไปสักหน่อย
เป็นเหมือนกันทั้งเบาะผ้าและเบาะหนังแบบ Wildtrak เบาะรองนั่งยาวกำลังดี พนักพิงรองรับ
แผ่นหลังนั้นสบาย ด้านข้างโอบกำลังดี

 

DSCF3713
DSCF3789

 

เบาะหลัง พนักพิงศีรษะก็มีมาให้ครบทั้ง 3 ตำแหน่ง อยากจะบอกว่ากระบะค่ายอื่นๆครับ บางค่าย
ที่ยังไม่มี ก็ขอให้ใส่มาเถอะครับ พนักพิงศีรษะตรงกลางเนี่ย ผมล่ะเห็นใจคนที่นั่งตรงกลางจริงๆ
บางทีเจอถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ผมได้ยินเสียงหัวโขกดังโป๊กทุกที ในรุ่น Minorchange จะเพิ่ม
ที่วางแขนตรงกลางพร้อมช่องวางแก้วน้ำมาให้ เบาะรองนั่งสามารถยกพับขึ้นได้ ใต้เบาะรองนั่ง
ด้านล่างเมื่อยกขึ้นมาแล้วจะมีช่องเก็บของมาให้ 2 ช่องแต่ไม่มีฝาปิด

แผงประตูข้างนั้นเหมือนเดิม แต่มีการเพิ่มปุ่มล็อก – ปลดล็อกมาให้ที่บริเวณใกล้ๆกับมือเปิดประตู
ที่ประตูคู่หน้าทั้งซ้ายและขวา จากเดิมที่ปุ่มปลดล็อกจะอยู่ที่ตรงกลางแผงแดชบอร์ด

DSCF3790
(เครื่องยนต์ 2.2 ลิตร)

 

*** เครื่องยนต์และรายละเอียดทางวิศวกรรม ***

ถึงแม้จะเป็นเครื่องยนต์เดิม แต่ก็มีการปรับปรุงรายละเอียดในหลายส่วน และเปลี่ยนจาก Puma
Version 3.0 เป็น Puma Version 3.5 โดยส่วนที่มีการปรับปรุงก็เช่น ชุดหัวฉีดใหม่ ระบบหมุนเวียน
ไอเสีย EGR, ท่ออินเตอร์คูลเลอร์ และมีการจูนอัพ Calibration ใหม่ รวมถึง Software และระบบ
อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆด้วย

ในรุ่นเครื่องยนต์ 2.2 ลิตร ดีเซล 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว Duratorq TDCi ขนาด 2,198 ซีซี
พร้อมเทอร์โบแปรผัน แบบมีครีบ VG Turbo พร้อมIntercooler แรงม้าเพิ่มขึ้น เดิม 150 แรงม้า
เป็น 160 แรงม้า ที่ 3,200 รอบ/นาที (เพิ่ม 10 แรงม้า) ในส่วนของแรงบิดเดิม 375 นิวตันเมตร
เป็น 385 นิวตันเมตร ที่ 1,600 – 2,500 รอบ/นาที (เพิ่ม 10 นิวตันเมตร)

 

DSCF3729
(เครื่องยนต์ 3.2 ลิตร)

 

ส่วนของเครื่องยนต์ 3.2 ลิตร ดีเซล 5 สูบแถวเรียง 20 วาล์ว Duratorq TDCi ขนาด 3,198 ซีซี
พร้อมเทอร์โบแปรผันแบบมีครีบ VG Turbo พร้อมIntercooler ให้กำลังสูงสุด 200 แรงม้า (PS)
ที่ 3,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดที่ 470 นิวตันเมตร ที่ 1,750 – 2,500 รอบ/นาที แม้จะมีพละกำลัง
เท่าเดิม แต่ก็มีการปรับปรุง re-tuned ใหม่ทั้ง Hardware และ Software เช่นเดียวกับ 2.2 ลิตร
ดังที่กล่าวไปข้างต้น

หลายท่านเห็นรูปแล้วคงอาจจะงง เอ๊ะ ทำไม 2.2 มีฝาครอบเครื่อง แต่ 3.2 ดันไม่มีฝาครอบเครื่อง ?
คือแบบนี้ครับ ในรุ่น XLT จะไม่มีฝาครอบเครื่องมาให้ ไม่ว่าจะเครื่องยนต์ใด รวมถึงแผ่นบุกันความร้อน
ที่ฝากระโปรงหน้าก็ไม่มีด้วย ส่วนในรุ่น Wildtrak จะมีมาให้ทั้ง 2 อย่างไม่ว่าจะ 2.2 ลิตร หรือ 3.2 ลิตร
แต่ๆๆๆๆ ทั้ง XLT และ Wildtrak จะมีโช็คฝากระโปรงหน้ามาให้ เป็นรายแรกของกระบะ เพื่อช่วย
ในการเปิด-ปิด ฝากระโปรงหน้าให้ง่ายขึ้น

 

DSCF3705
DSCF3771

 

ด้านระบบส่งกำลัง จะเป็นเกียร์อัตโนมัติ แบบ 6 จังหวะ พร้อมโหมดเปลี่ยนเกียร์แบบธรรมดา
เหมือนกันทั้ง 2 ความจุเครื่องยนต์ อัตราทดเกียร์มีดังนี้

เกียร์ 1 ……………………… 4.171
เกียร์ 2 ……………………… 2.342
เกียร์ 3 ……………………… 1.521
เกียร์ 4 ……………………… 1.143
เกียร์ 5 ……………………… 0.867
เกียร์ 6 ……………………… 0.691
เกียร์ถอยหลัง ……………….. 3.400
อัตราทดเฟืองท้าย …………. 3.730

 

DSCF3745

 

ส่วนเกียร์ธรรมดาก็เป็นแบบ 6 จังหวะเช่นเดียวกัน อัตราทดเกียร์มีดังต่อไปนี้

เกียร์ 1 ……………………… 5.441
เกียร์ 2 ……………………… 2.839
เกียร์ 3 ……………………… 1.721
เกียร์ 4 ……………………… 1.223
เกียร์ 5 ……………………… 1.000
เกียร์ 6 ……………………… 0.794
เกียร์ถอยหลัง ……………….. 4.935
อัตราทดเฟืองท้าย …………. 3.550

 

ใน Wildtrak ทุกรุ่นไม่ว่าจะ 2.2 ลิตร หรือ 3.2 ลิตร ทั้งขับเคลื่อน 2 ล้อ และ 4 ล้อ จะมาพร้อมกับ
เฟืองท้ายไฟฟ้าแบบ Locking Rear Differential (เรียกกันง่ายๆว่า Diff lock) ส่วนในรุ่น XLT
ขับเคลื่อน 4 ล้อทั้ง Open Cab และ Double cab จะให้ เฟืองท้าย Limited Slip มาแทน
ระบบบังคับเลี้ยวเป็นพวงมาลัยพาวเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า EPAS (Electric Power Assisted
Steering) เป็นรุ่นแรกและรุ่นเดียวในกลุ่มกระบะ สำหรับหลายคนที่เป็นห่วงว่าพอเป็นพวงมาลัย
ไฟฟ้าแล้วจะลุยน้ำลุยโคลนได้มั้ย ถามมาให้จากวิศวกรของฟอร์ดแล้วว่าตัวชุดมอเตอร์ไฟฟ้า
จะติดตั้งอยู่บนชุดแกนแร็ค แต่จะเป็นระบบปิด มีการซีลรอบตัวป้องกันน้ำและฝุ่น มีแค่ส่วนปลั๊ก
เท่านั้นที่ออกมาด้านนอกซึ่งก็ไม่ต่างจากไดชาร์จ ไดสตาร์ทปกติที่มีอยู่แล้ว ส่วนในเรื่องความ
ทนทาน มีการทดสอบวิ่งจริงทั้งวิ่งรถเปล่า ทั้งบรรทุก ก่อนจะออกขายอย่างที่เราๆเห็นกันบ่อยๆ
ว่าวิ่งอ่อยกันเกือบปี มาแล้วกว่า 100,000 กิโลเมตรก็ยังไม่พบปัญหาอะไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้อง
ดูกันต่อไปครับ ว่าทั้งถนนในเมืองไทยและการขับขี่ของผู้ใช้งานกระบะของคนไทย จะมีผลต่อ
ความทนทานมากน้อยขนาดไหน

ด้านของระบบความปลอดภัยและ Option ช่วยเหลือการขับขี่ ก็จัดเต็มมาให้เหมือนเช่นเคย
มีการใส่ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control มาให้กันตั้งแต่รุ่น XLS กันเลยทีเดียว
ทั้งเกียร์ธรรมดาและเกียร์อัตโนมัติ ส่วนระบบ Active Safety ช่วยเหลือการขับขี่ต่างๆ ก็มีมาให้
ครบครันถูกประโคมอัดใส่มาในรุ่น Wildtrak ทั้ง ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESP,
ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCS, ระบบช่วยออกตัวขณะจอดบนทางลาดชัน HLA, ระบบควบคุม
ความเร็วขณะลงทางชัน HDC (เฉพาะรุ่น 4×4), ระบบควบคุมการทรงตัวขณะลากจูง TSC,
ระบบลดความเสี่ยงจากการพลิกคว่ำ ROM และระบบไฟฉุกเฉินอัตโนมัติเมื่อเบรกกะทันหัน ESS
ถุงลมนิรภัยก็ให้มาเป็นมาตรฐานคู่หน้า 2 ตำแหน่งตั้งแต่รุ่นเริ่มต้นอย่าง XL, XLS และ XLT
ส่วนในรุ่น Wildtrak จะให้ถุงลมนิรภัยด้านข้าง 2 ตำแหน่ง และม่านถุงลมนิรภัยมาเพิ่มให้

 

The New Ford Ranger 125

 

เอาล่ะ เข้าสู่ช่วงทดลองขับกันดีกว่า คันแรกที่ได้ขับและนั่งเป็น line up ใหม่ของ Ranger
นั่นก็คือ รุ่น Double Cab 3.2 XLT 4×4 A/T มีโอกาสได้ไปกับพี่บอล จาก Autodeft.com
คันเร่งนั้นตอบสนองดีขึ้น ไวขึ้นกว่ารุ่นเดิมแบบรู้สึกได้  เกียร์ก็ทำงานนุ่มนวลและไวขึ้น
กดคันเร่งลงไปเร่งแซงก็พุ่งขึ้นไปแบบสุภาพๆ แนวผู้ใหญ่สุขุมนุ่มลึกแต่มีพลังแฝงไว้ข้างใน
ส่วน D-max 3.0 จะมาในแนววัยรุ่นเลือดร้อน ดึงหลังติดเบาะแต่แรงจะหมดไวกว่า ส่วน
Colorado 2.8 จะคล้ายๆกับ D-max 3.0 แต่พละกำลังจะมากกว่า ช่วงออกตัว Hilux Revo
2.8 จะแอบจี๊ดจ๊าดกว่า แต่พอหลังช่วงความเร็ว 70 km/h ขึ้นไป Ranger 3.2 ไต่ความเร็ว
และมีพละกำลังมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด เสียงเครื่องยนต์นั้น ก็เบาลงกว่ารุ่นเดิม เช่นเดียวกัน
กับสิ่งที่หลายๆคนบ่นเรื่องเสียงพัดลมแอร์ที่ดังในรุ่นก่อน ในรุ่นใหม่นั้นเสียงเบาลง เปิดแอร์
เบอร์ 2 เบอร์ 3 แต่เสียงเงียบกว่าเบอร์ 1 ในรุ่นเดิม จุดนี้ Ford ก็ปรับปรุงให้ด้วยเช่นกัน

ช่วงล่างการซับแรงสะเทือนนุ่มขึ้นพอประมาณ ดีดเด้งน้อยกว่ารุ่นก่อน แต่ก็ยังหลงเหลือ
ความดีดดิ้นเต้นๆตามพื้นถนนคอนกรีตให้เห็นอยู่บ้างตามปกติของรถกระบะ แต่ด้านหลัง
จะดีดดิ้นน้อยกว่า NP300 Navara และ Hilux Revo เล็กน้อย การเดินทางในความเร็วต่ำ
Triton และ Dmax ยังนุ่มนวลและสบายกว่า แต่ในความเร็วสูง Ranger จะทำได้ดี ให้ความ
มั่นใจได้ดีกว่ามากๆ (เข้าโค้งตัว J ด้วยความเร็วประมาณ 120-140 km/h ได้สบายมาก)

DSCF3672

 

พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าน้ำหนักเบามาก หมุนสบายคล่องมือ แต่ไม่โหวง แต่โดยส่วนตัว
อยากให้เพิ่มความหนืดมากกว่านี้อีกนิดในช่วงความเร็วต่ำ แต่ในช่วงความเร็วสูง ก็ปรับ
ความหนืดมากขึ้น กำลังดีแล้ว ไม่ต้องแก้อะไร ความหนืดของพวงมาลัยไฟฟ้า EPAS
นั้นจะแปรผันตามความเร็ว เพราะฉะนั้นแล้วเมื่อใช้ความเร็วไม่มากอาจจะต้องระวัง
สักเล็กน้อย หากต้องมีการหักพวงมาลัยกระทันหัน เพราะตัวรถจะหักเลี้ยวมากกว่า
กระบะคันอื่นๆที่เคยขับมาอย่างชัดเจน

แป้นเบรกมาในแนวแป้นลึก หน่วงความเร็วได้ดี แต่ต้องออกแรงกดมากกว่าปกติ
ต้องใช้ความคุ้นชินมากขึ้นหน่อย หากคุณขับรุ่นเดิมมาก่อน แล้วโดดมาขับรุ่นใหม่ทันที
เพราะฟีลลิ่งแป้นเบรกนั้นจะต่างกันชัดเจน

 

DSCF3686

 

การเก็บเสียงลมตามขอบประตูอยู่ในระดับดี มีเข้ามาบ้างช่วงความเร็ว 120 km/h ทำได้ดี
อยู่ระดับต้นๆของกลุ่ม ใน Hilux Revo แอบเก็บเสียงลมตามขอบหน้าต่างประตูได้ดีกว่า
Ranger Minorchange เล็กน้อย แต่เสียงยางบดพื้นถนน Ranger Minorchange เก็บเสียง
ได้ดีกว่า ในภาพรวมให้คะแนนพอๆกัน

อัตราเร่งในรุ่นเดิม Double Cab 3.2 Wildtrak 4×4 A/T ตามมาตรฐานของ headlightmag
จับเวลา (ช่วงกลางคืน อุณหภูมิประมาณ 25-27 องศาเซลเซียส) อัตราเร่ง 0-100 km/h
ทำได้เฉลี่ย 11.19 วินาที ส่วนในรุ่น Minorchange Double Cab 3.2 XLT 4×4 A/T
จับเวลาอย่างไม่เป็นทางการ ขับโดยพี่บอลจาก Autodeft ช่วงกลางวัน อุณหภูมิ
35 องศาเซลเซียส) อัตราเร่ง 0-100 km/h ทำได้เท่ากัน 2 ครั้ง คือ 10.90 วินาที
ถ้าจับเวลาตามมาตรฐานปกติคาดว่าตัวเลขน่าจะดีขึ้น อาจจะอยู่ที่ 10 วิกลางๆ หรือต้น
แต่แน่นอนว่าอัตราเร่งยังเป็นรอง Colorado 2.8 ลิตร Duramax2 อยู่ดี

บนมาตรวัด ความเร็ว100 km/h รอบเครื่องอยู่ที่ 1,750 รอบ/นาที (GPS 96.5 km/h)
ความเร็วสูงสุด หรือ Top speed ล็อคเอาไว้เท่ากันกับรุ่นเดิม อยู่ที่ 182 km/h บนมาตรวัด

3.2 XLT 4×4 A/T 1,019,000 บาท ได้เครื่อง 3.2 200 แรงม้า ได้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ
แต่ข้าวของก็ยังขาดไปหลายรายการเช่น ระบบควบคุมการทรงตัว ESP แต่ก็เข้าใจใน
gradewalk ว่ารุ่นย่อย XLT  นั้นไม่มีเป็นลักษณะสเป็คตาม Global นโยบาย One Ford
ต้องข้ามไปเล่นในรุ่น Wildtrak แต่ใจจริงแล้วในรุ่นเครื่องยนต์ 3.2 ลิตร อยากให้ใส่มาด้วย
เหมือนกันไม่ว่าจะรุ่นย่อยไหนเพื่อรองรับแรงบิดและความแรงของเครื่อง ไม่อย่างนั้นคาดว่า
ลูกค้าที่ซื้อไปอาจจะเผลอลงข้างทางกันได้ง่ายๆ เพราะตัวผมเองมีอยู่จังหวะนึง ออกตัวจาก
อาคารสาทรสแควร์ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางนี้ เจ้าคันนี้ก็เกิดอาการล้อหมุนฟรีและ
ออกอาการท้ายปัดเมื่อเติมคันเร่งเข้าไปหลังหักเลี้ยวออกจากอาคาร

DSCF3568

 

เมื่อมาถึงจ.กาญจนบุรี ก็เข้าสู่โหมดการทดสอบแบบกึ่ง Off-Road แบ่งออกเป็น 5 สถานีด้วยกัน
สถานีที่ 1 เป็นการทดสอบระบบช่วยออกตัวขณะจอดบนทางลาดชัน HLA ( Hill Launch Assist )
มีเนินด้วยกัน 3 เนินที่ใช้ คือขึ้นที่องศาความชัน 50 องศา ขับขึ้นไปแล้วเหยียบเบรกเพื่อหยุด
จากนั้นปล่อยเบรกเพื่อเตรียมไปต่อ ระบบก็จะช่วยประคองรถไม่ให้ไหลลงไป ประมาณ 3 วินาที
ซึ่งก็เพียงพอต่อการค่อยๆ เหยียบคันเร่งเพื่อไปต่อ หากเลย 3 วินาทีไปแล้วตัวรถก็จะปลดระบบ
แต่ไม่ต้องห่วงครับ เพียงเหยียบเบรกอีกครั้งเพื่อหยุด แล้วปล่อยเบรกระบบก็จะทำงานให้

 

DSCF3569

 

หลังจากนั้นเราก็มาถึงทางลงบ้างเพื่อทดสอบระบบควบคุมความเร็วขณะลงจากทางชัน HDC
( Hill Descent Control ) เพียงแค่กดปุ่มเพื่อเปิดระบบโดยไม่ต้องหยุดรถ ระบบก็จะทำงานทันที
ช่วยประคองรถให้ลงทางชันแบบช้าๆ โดยเราไม่ต้องเหยียบเบรกใดๆทั้งสิ้น เพิ่มแรงดันน้ำมันเบรก
และคาลิปเปอร์ให้จับ ค่อยๆลงไปอย่างช้าๆ เราสามารถเพิ่มความเร็ว หรือลดความเร็วได้โดย
กดปุ่ม + – ของระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัตหรือ Cruise Control จากการทดสอบทั้ง 2 รอบ
ทั้ง 2 ระบบถือว่าทำงานได้จริง และช่วยการขับขี่ขึ้น – ลงทางชันได้ง่ายขึ้น

 

IMG_9442
The New Ford Ranger 502

 

สถานีต่อไปเป็นการทดสอบความนุ่มนวลของช่วงล่างทั้งบนทางหิน ช่วงล่างนั้นนุ่มนวลขึ้น
กว่าตัวเดิม แต่ก็ยังถือว่าสะเทือนกว่าคู่แข่งอย่าง Triton แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ไม่ได้สะเทือน
ตับแตกอะไรมากมาย  อีกส่วนจะเป็นทางที่เป็นคลื่นจะสามารถจับอาการระยะยืดหยุ่นของช่วงล่าง
ได้ดี ตรงนี้ Ranger ถือว่าทำได้น่าพอใจ ตัวรถนิ่งมั่นคง ถึงแม้จะไม่ได้นุ่มเหมือน D-max แต่แน่นอน
ว่ามันก็ไม่ได้เด้งดึ๋งแบบลูกชิ้นปลาเหมือนอย่าง D-max เช่นเดียวกันเมื่อเจอกับถนนที่มีลักษณะ
เป็นคลื่นลอนต่อเนื่องแบบนี้

 

 

The New Ford Ranger 427
DSCF3492

 

ต่อไปเป็นการลงไปลุยน้ำเล่นๆ แต่พอดีว่าน้ำในวันนี้ออกจะแห้งกว่าปกติไปสักหน่อย ระดับน้ำนั้น
สูงแค่ประมาณ 40 เซนติเมตร อยู่แนวเดียวกับขอบประตูล่างพอดี ก็เลยได้แค่ลงไปวิ่งพอเป็นพิธี
อดทดสอบระดับน้ำที่สามารถลุยได้จริง 80 เซนติเมตร อย่างที่ฟอร์ดได้เคลมเอาไว้ น่าเสียดาย !

 

 

DSCF3493

 

สถานีสุดท้ายเป็นลักษณะคล้ายๆกับ Mini Gymkhana เพื่อทดสอบพวงมาลัยไฟฟ้า EPAS
ก็เป็นไปตามคาดว่าพวงมาลัยไฟฟ้าที่มีน้ำหนักเบาช่วยให้การเลี้ยวเข้าโค้งในแต่ละไพล่อน
ที่ตั้งเอาไว้เป็นไปอย่างง่ายดายไม่ต้องออกแรงมาก แต่ผมก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่า อยากได้
ความหนืดมากกว่านี้อีกนิดในช่วงความเร็วต่ำในการวิ่งบนถนนปกติใช้งานประจำวัน

 

DSCF3733

 

ขากลับมีโอกาสได้ขับรุ่น Open Cab 3.2 XLT 4×4 6M/T – 859,000 บาท เดินทางกลับจาก
จ.กาญจนบุรี มุ่งหน้าสู่ อาคารสาทรสแควร์ อันเป็นที่อยู่ของออฟฟิศสำนักงานของ Ford Thailand
เมื่อมานั่งโดยสารคันนี้ สิ่งที่รู้สึกได้อย่างทันทีคือ ช่วงล่างนั้นแตกต่างจากรุ่น Double Cab 4 ประตู
ค่อนข้างชัดเจน ช่วงล่างจะแข็งกว่าเนื่องจากต้องเซ็ตมาเผื่อให้รองรับน้ำหนักบรรทุกด้วย ทำให้การ
แรงสะเทือนต่างๆ มีเข้ามามากกว่า รวมถึงช่วงล่างด้านหน้าและด้านหลังที่ดีดมากกว่าตัว 4 ประตู
สำหรับการเป็นคนนั่งโดยสารนั้น อาจจะไม่สบายและนุ่มนวลเมื่อเวลาต้องเดินทางไกล หรือแม้กระทั่ง
รูดหลุมและรอยต่อถนนในเมือง

แต่เมื่อมาเป็นคนขับ ช่วงล่างแบบนี้นี่แหละ ที่ตอบสนองกับการขับขี่ได้อย่างสนุกสนาน การทิ้งโค้ง
ต่างๆตัวรถนิ่งและให้ความมั่นคง แต่ก็ยังต้องพึงระวังไว้สักเล็กน้อยกว่ารุ่นนี้ ไม่มี ESP และกระบะท้าย
นั้นไม่ได้บรรทุกน้ำหนักอะไรไว้ อาจจะทำให้ท้ายปัดได้ง่ายเมื่อเจอกับแรงบิดระดับ 470 นิวตันเมตร
ในเครื่องยนต์ 3.2 ลิตรของคันนี้

 

DSCF3737

 

เครื่องยนต์ตอบสนองและไหลลื่นได้ดีเมื่อจับคู่กับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ที่ระยะชิฟท์นั้นสั้นและกระชับ
เหมือนรถเก๋ง แรงจะหมดแถวๆ 4,100 รอบ/นาที ซึ่งเป็นปกติทั่วไปของเครื่องยนต์ดีเซลในรถกระบะ
ยกเว้น Nissan NP300 Navara และ Mitsubishi Triton ที่ยังลากไปต่อได้ไกลกว่าอีกนิดนึง แต่นั่น
ไม่ใช่ประเด็นสำหรับคันนี้ เพราะช่วงเร่งแซงแม้อยู่ที่เกียร์ 6 ก็ตาม ความเร็วยืนพื้นอยู่ที่ 80 km/h
พอกดคันเร่งเท่านั้นแหละ มองกลับมาอีกที ก็ไปแตะที่ 160 km/h แล้ว ถือว่าไต่ทำความเร็วไปได้ไว
โดยไม่ต้องลดเกียร์เพื่อเรียกกำลังแต่อย่างใด แต่น่าเสียดายที่ Combination เครื่องยนต์ 3.2 ลิตร
กับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะคู่นี้ จะมีอยู่ในแค่รุ่น Open Cab นี้เท่านั้น ตัวถัง 4 ประตู Double Cab อด !

ลองจับเวลาคร่าวๆ อย่างไม่เป็นทางการนั้น อัตราเร่ง 80-120 km/h อยู่ที่ 7.0 วินาที (เกียร์ 4)
จับเวลา 2 ครั้ง ช่วงกลางวัน อุณหภูมิประมาณ 35-36 องศาเซลเซียส ถ้าภายใต้มาตรฐานปกติ
ของ Headlightmag.com ที่จะทำช่วงกลางคืน จับเวลาโดยพี่ J!MMY นั้นน่าจะทำเวลาได้ดีกว่านี้
(ความเร็วบนมาตรวัด 100 km/h GPS 96.5 km/h เท่ากันทุกรุ่น)

มาดูรอบเครื่องยนต์กันบ้างในแต่ละย่านความเร็ว ความเร็ว @ รอบเครื่องยนต์ (M/T เกียร์ 6)
100 km/h @ 1,900 รอบ/นาที
110 km/h @ 2,050 รอบ/นาที
120 km/h @ 2,300 รอบ/นาที

 

DSCF3748

 

คลัตซ์นั้นจะค่อนข้างมาในแนวแข็ง สไตล์รถซิ่ง เวลาขับเร็ว สับเกียร์เร็วจะทำให้ดีดรถได้ดีมาก
คนขับรถค่อนข้างเร็ว หรือขาซิ่งที่มาจากรถเก๋งซิ่ง ย้ายมาขับคันนี้จะรักมันแน่ๆ ลงตัวทั้งระยะ
ชิฟท์เกียร์ที่สั้นกระชับ คลัตซ์ที่ดีด แต่…. ช่วงออกตัวหรือการขับขี่ในเมือง สภาพการจราจรที่
ติดขัดอาจจะเมื่อยหน่อย ต้องเลี้ยงคลัตซ์หรือเดินคันเร่งช่วยนิดนึง

ส่วนอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงนั้น การขับรถลักษณะไปเป็นทริปแบบนี้ การทดสอบตัวเลขที่ได้
ไม่เอื้ออำนวยอย่างยิ่งครับ ไว้รอให้เราเอารถมาทดสอบแบบ Full Review แล้วค่อยมาดูกันอีกที
ที่ Ford เคลมไว้ว่า เครื่อง 2.2 ลิตรปรับปรุงใหม่นั้นจะประหยัดขึ้น 20% จะทำได้จริงหรือไม่
และเครื่องยนต์ 3.2 ลิตรจะประหยัดมากขึ้นแค่ไหน รอติดตามชมกันได้ครับ

DSCF3756

 

ในทริปขับทดสอบนั้นมีโอกาสได้ขับรุ่น 2.2 ลิตรแค่เพียงสั้นๆ แต่เพื่อความจะมาตอบคำถาม
ให้คุณผู้อ่านได้นั้น ก็เลยตัดสินใจไปโชว์รูมฟอร์ดทันทีหลังจากกลับมาจากทริป เพื่อไปลองขับ
รุ่นเครื่องยนต์ 2.2 ลิตรเพิ่มเติมอีกครั้ง หลังจากก่อนไปก็ไปทำการบ้านขับมาแล้วรอบนึงแล้ว
ขับมาทั้งรุ่นเดิมและรุ่นใหม่ เพื่อให้เห็นความต่างและการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นอย่างไรบ้าง

Double Cab 2.2 L Wildtrak 4×2 A/T 965,000 บาท – รุ่นนี้แหละคุ้มค่า คุ้มราคา
เพียงพอต่อการใช้งาน

คันเร่งนั้นตอบสนองได้ไวขึ้น ช่วงออกตัวเมื่อเทียบกับรุ่นเดิมแล้ว พุ่งไวขึ้นอย่างชัดเจน การเปลี่ยน
แปลงในรุ่น 2.2 ลิตรนั้น รู้สึกได้มากกว่ารุ่น 3.2 ลิตร ทั้งแรงม้าที่เพิ่มมา 10 ตัว และแรงบิดเพิ่มมา
อีก 10 นิวตันเมตร อาการคล้ายๆกับใน Ford Everest คือ รุ่น 2.2 ลิตรนั้นจะให้ความรู้สึกพุ่ง
ออกตัวได้ไวและไหลลื่นกว่า 3.2 ลิตรเสียอีก แต่ในช่วงเร่งแซงนั้นถึงจะเห็นความต่างว่ารุ่น 3.2 ลิตร
จะเรียกพละกำลังมาได้ดีกว่า แต่ในรุ่น 2.2 ลิตรเองก็มีกำลังมาให้ใช้งาน ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งาน
ของคนทั่วไป ช่วงตั้งแต่ 80 km/h ขึ้นไป อาจจะไต่ความเร็วไปได้ช้าหน่อย แต่ก็ไม่ได้ช้ามากจน
น่ารำคาญอะไร ถ้าคุณขับรุ่นเดิมมาก่อน แล้วโดดขึ้นมาขับรุ่นใหม่ จะรักมันแน่นอน รวมถึงเกียร์อัตโนมัติ
6 จังหวะ ที่ถูก Calibrate Software มาใหม่ ให้ทำงานต่อเนื่องและนุ่มนวลมากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้ขับสนุก
มากขึ้นกว่ารุ่นเดิมจนค่อนข้างน่าประทับใจเลยทีเดียว

DSCF3759

 

พวงมาลัยทั้งในรุ่น XLT และ Wildtrak ก็เป็นพวงมาลัยไฟฟ้า EPAS เหมือนกัน ลองมาแล้วทั้ง 3 คัน
ที่ได้ขับมาในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกัน พบว่าทั้งความหนืดและเซตติ้งต่างๆเหมือนกัน แต่ถ้าเปรียบเทียบ
ระหว่างใน Ranger และ Everest จะพบว่ามีความต่างอยู่ พวงมาลัยใน Everest นั้นจะมีความหนืด
มากกว่าทั้งในช่วงความเร็วต่ำและความเร็วสูง ทำให้มีความมั่นใจมากกว่าใน Ranger อยู่นิดหน่อย
เพราะโดยส่วนตัวผมเองชอบฟีลลิ่งพวงมาลัยที่หนักๆอยู่แล้ว ถ้า Ranger ได้เซตติ้งความหนืด
เหมือนอย่างใน Everest ก็จะดีมากๆ

ส่วนช่วงล่างในรุ่นที่เป็นเครื่องยนต์ 2.2 ลิตรซึ่งจะมีน้ำหนักของตัวรถน้อยกว่ารุ่น 3.2 ลิตร พบว่า
ช่วงล่างนั้นจะมีความสะเทือนมากกว่ากันอยู่เล็กน้อย แต่จากการสอบถามวิศวกรของฟอร์ดมาแล้ว
ได้คำตอบมาว่าเซตติ้งช่วงล่างนั้นเหมือนกันทั้งรุ่น 2.2 ลิตรและ 3.2 ลิตร แต่อาจจะด้วยน้ำหนักตัว
ที่กดลงไปมากกว่ากัน รวมไปถึงน้ำหนักส่วนหน้ารถของรุ่น 3.2 ลิตร ที่เครื่องยนต์นั้นเพิ่มมาอีก
1 สูบ และตำแหน่งการวางเครื่องยนต์ที่ล้ำมาข้างหน้ามากกว่า จะทำให้บาลานซ์ต่างกันเล็กน้อย
แต่โดยรวมถือว่านุ่มนวลกว่ารุ่นเดิม ใกล้เคียงกันกับ Mazda BT-50Pro

 

***** สรุปเบื้องต้น Ford Ranger Minorchange 2.2 L & 3.2 L *****

 

รุ่น Minorchange นั้นถือว่าได้มีการปรับปรุงส่วนต่างๆ ให้ดีขึ้นอย่างมากทั้งด้านดีไซน์และ
การใช้งาน ฟังเสียงตอบรับ Feedback จากลูกค้า รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นใน Part ชิ้นส่วน
ก็มีการแก้ไขให้ดีขึ้น ซึ่งขอชื่มชมในความตั้งใจของฟอร์ดตรงนี้ การปรับโฉม Minorchange
ของ Ranger นั้นเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจริงๆ ไม่ใช่แค่เพียงแต่งหน้า ทาปาก นิดหน่อย
รมดำสีโคมไฟหน้า ไฟท้าย ถือโอกาสเพิ่มราคาและแค่นั้น… อย่างที่หลายๆค่ายทำ

ยังมีอีกหลายๆส่วนที่ถูกปรับปรุงแต่เราอาจจะลงรายละเอียดไปไม่หมด ไว้รอเอามาทดสอบ
แบบ Full Review (ไม่นานเกินรอ) แล้วจะมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง นอกจากปรับปรุง เปลี่ยนแปลง
ในส่วนของดีไซน์และการใช้งานแล้ว ในด้านการขับขี่ก็มีการปรับเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์
พวงมาลัย ช่วงล่างล้วนแล้วแต่พัฒนาให้ดีขึ้น จนเกือบจะสมบูรณ์ในทุกๆด้าน แต่อย่างไรก็ตาม
เป็นปกติของรถทุกคันอยู่แล้วที่จะมีข้อดี ข้อเสีย แตกต่างกันไป ไม่มีคันไหนเฟอร์เฟ็คไปซะหมด
เช่นเดียวกับ Ranger Minorchange ถึงแม้ภาพรวมจะดีขึ้น แต่ก็ยังมีบางส่วนที่คู่แข่งอาจจะ
ทำได้ดีกว่า เช่น ระบบ Entertainment ในรถยนต์ที่ยังเป็นรองอยู่ ระบบนำทางที่ยังไม่มีมาให้
รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆก็ยังขาดไปบ้าง เช่น Push Start – Smart Entry ที่สำหรับ
ใครหลายๆคนอาจจะคิดว่าไม่จำเป็น แต่ถ้ามองในมุมกลับกัน คู่แข่งเกือบจะทุกรายก็ให้มา

ความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ฟอร์ด สำหรับลูกค้าในกลุ่ม Ranger อาจจะมีสูงกว่ากลุ่มรถยนต์นั่ง
ปัญหาที่เจอยังถือว่าค่อนข้างน้อยถ้าเทียบกันแล้ว จะมีบ้างก็ถือว่าเป็นปกติของทุกรุ่น ทุกค่าย
ที่จะต้องเจอ Defect ของตัวรถอยู่แล้ว แต่ก็จะต้องขอพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า การรับมือต่อปัญหา
และการบริการหลังการขายของฟอร์ดยังไม่ดีนักเมื่อเทียบกันกับหลายๆค่าย แม้จะมีการพัฒนา
ขึ้นแล้ว แต่ก็ยังต้องพัฒนากันต่อไปอีกมาก ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการต้อนรับของศูนย์บริการ
นะครับ หลายๆคนอาจจะเข้าใจผิด บอกเห้ยห้องรับรองเค้าก็ดีนะ มีขนม มีน้ำให้กิน แอร์เย็น
พนักงานสุภาพ นั่นมันก็เป็นส่วนหนึ่งครับ ซึ่งจากการที่ผมไปสำรวจด้วยตัวเอง ถือว่าทำได้ดี
แล้วในด้านนี้กับหลายๆศูนย์บริการที่เจอมา

แต่ที่เป็นส่วนสำคัญหลักๆคือ การรับมือ การแก้ปัญหา เมื่อรถลูกค้ามีปัญหา ยังทำได้ไม่ดี
หลายๆครั้งกว่าจะบอกลูกค้าได้ว่า ปัญหานี้เกิดจากอะไร แล้วจะทำอย่างไรต่อไป แก้อย่างไร
ยังใช้เวลาในการให้คำตอบกับลูกค้านานไป ผมยกตัวอย่างค่ายญี่ปุ่นเจ้าหนึ่งที่เน้นขายกระบะ
เค้ามีนโยบายเลยว่า ถ้าลูกค้ามีปัญหาเข้ามาช่วงเช้า ไม่เกินเย็นวันนั้นต้องมีข้อสรุปให้ลูกค้า
ได้เลยว่าเป็นที่อะไร แล้วจะแก้ไขอย่างไร ถึงแม้ว่าปัญหาจะแก้ไม่เสร็จหรือเรียบร้อยในวันนั้น
แต่อย่างน้อยต้องมีคำตอบและแนวทางแก้ไขสรุปจบให้ลูกค้า หากเข้ามาช่วงบ่าย ต้องไม่เกิน
24 ชั่วโมง ต้องมีข้อสรุปเช่นกัน อาจจะนัดมาเคลมอะไหล่ หรือแก้ไขทีหลัง แต่อย่างน้อย
ต้องมีข้อสรุปให้ลูกค้าได้ในเวลาที่เค้าวางเป้าหมายไว้ และผมก็ได้รับการพิสูจน์มาแล้ว
ว่าเค้าสามารถทำได้จริง ตรงนี้อยากให้ฟอร์ดลองศึกษาดูครับ

เหลือแค่ตรงจุดนี้แหละครับ ที่ฟอร์ดยังต้องทำการบ้านอีกพอสมควร ถ้าจะอยากได้ส่วนแบ่ง
ทางการตลาดมากกว่านี้ สำหรับลูกค้าคนไทยอาจจะไม่เหมือนกับที่อื่น ไม่ใช่ซื้อรถไปแล้วจบ
รถดี ขับดี บริการหลังการขายก็ต้องพัฒนาดีตามขึ้นไปด้วย สำหรับ Ranger นั้นตัวรถเอง
มีความเจ๋ง ความดีอยู่ในตัวอยู่แล้ว อาจจะเสริมการตลาดเข้าไปนิดหน่อยเพื่อช่วยส่งเสริมกัน
เอาใจช่วยครับ เพราะเห็นถึงความตั้งใจในการทำผลิตภัณฑ์ออกมาอย่างดีที่สุด แต่ก็ต้อง
ตั้งใจพัฒนาในด้านอื่นควบคู่กันไปด้วย เชื่อว่าไม่ยากเกินความสามารถที่จะทำ

 

DSCF3691

 

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Ford Motor Company (Thailand) จำกัด
สำหรับทริปขับทดสอบในครั้งนี้

 

MoO Cnoe
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความและภาพถ่าย โดยผู้เขียน
ภาพถ่าย โดยผู้เขียน , ทีมช่างภาพจาก Ford Thailand
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
27 สิงหาคม 2015

Copyright (c) 2014 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
August 27th, 2015

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome, CLICK HERE!

———————————————————————————————————–

บทความที่น่าสนใจควรค่าต่อการอ่านเพิ่มเติม

+ เจาะรถเด่น : เปรียบเทียบ Spec-Option กระบะ 4 ประตูตัวท๊อปจากทุกค่าย !!!
+ First Impression- ทดลองขับ Ford Ranger MC Double Cab 4×4 3.2L Wildtrak 6A/T