ราวๆ ปี 2015 ต่อเนื่องถึงปี 2016

ผมเริ่มได้ยินผู้คน พูดถึงกันว่า Honda คิดจะเอา Civic ตัวถังอื่น ที่ไม่ใช่แค่
Sedan 4 ประตู มาประกอบขายในเมืองไทย…

“หา!!? เอาจริงเหรอ? อารมณ์ไหนเนี่ย?”

ได้แต่คิดอยู่ในใจ ไปพร้อมกับเรื่มเช็คข่าวสารข้อมูลจากแหล่งข่าวทั้งใกล้
และไกลห่างตัว กลัวจะหน้าแตกแหกกระจุยเป็นผุยผง เพราะผมไม่คิดแถม
ยังไม่เคยมีวี่แววมาก่อนว่า Honda จะยอมนำ Civic Hatchback กลับมาให้
ลูกค้าชาวไทย ได้เป็นเจ้าของกัน…อีกครั้ง…

เหตุที่ใช้คำว่าอีกครั้ง เพราะในอดีต ย้อนกลับไปไม่ไกลนัก Honda เคยนำ
Civic Hatchback 3 Door มาขึ้นสายการประกอบในบ้านเรา ก่อนจะเปิดตัว
ในเดือนสิงหาคม 1993 ตอนนั้น Honda สร้างปรากฎการณ์แตกตื่นให้กับ
แวดวงยานยนต์ในไทยอย่างมาก

แหงละ ตอนนั้น Honda เล่นวางสเป็กให้มาแบบ “เอื้ออาทร” แต่แถมสวิตช์
กระจกหน้าต่างไฟฟ้าคู่หน้ามาให้ เล่นตั้งราคาแค่ 361,000 บาท ในรุ่นเกียร์
ธรรมดา ส่วนรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ก็บวกเข้าไปอีก 20,000 บาท เป็น 381,000
บาท ทำสถิติการเป็น Honda ป้ายแดง ราคาถูกที่สุดในประวัติศาสตร์ที่เคย
มีมาในไทยยาวนานมาจนบัดนี้ แม้แต่เจ้าสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาติดล้อ อย่าง
Brio ก็ยังไม่อาจตั้งราคาให้ต่ำได้เทียบเท่าเลย

ยอดจองตอนนั้น 3 วัน รับเละเทะไป 9,000 คัน ทุกคนต่างร้องจ๊ากกันไปทั่ว
ตั้งแต่ ผู้บริหาร ยันภารโรง ทั้งลูกค้า และนักข่าวในยุคนั้น ต่างก็ตื่นตะลึงตึงๆ
กล่าวขวัญกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง ว่า Honda บ้าดีเดือด ปล่อยระเบิดลูกใหญ่
เบ้อเร่อ ถล่มตลาดจนกลุ่มรถเล็ก 1.3 ลิตร ทั้ง Nissan Sunny FF 5 Speed
Mitsubishi Lancer Champ และ Mazda Familia ถึงขั้นยกทีมตายหมู่กัน
เลยทีเดียว

(รายละเอียดต่างๆ อ่านได้ ในบทความ โดย Pan Paitoonpong CLICK HERE!)

ต่อมา เดือนพฤศจิกายน 1997 Honda ส่ง Civic ตัวถังอื่นที่ไม่ใช้ Sedan
เข้ามาประกอบขายในเมืองไทย อีก 1 รุ่น นั่นคือ Honda Civic Coupe รุ่น
ตาโต ทว่า กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะรถรุ่นนี้ ออกสู่ตลาด
บ้านเราในช่วงที่มีวิกฤติเศรษฐกิจ ต้มยำกุ้ง พอดี ยอดขายจึงมีไม่มากนัก

หลังจากนั้นเป็นต้นมา คนไทยเรา ก็ไม่เคยมีโอกาสได้เป็นเจ้าของ Civic
ตัวถังอื่นใด ที่มิใช่ Sedan กันอีกเลย ทั้งๆที่ ตัวถังอื่นๆ ของ Civic ต่างก็
วาดลวดลาย สร้างยอดขายและรายได้ให้ Honda เป็นกอบเป็นกำทั่วโลก
ทั้ง Coupe สำหรับตลาดอเมริกาเหนือเป็นหลัก กับ Hatchback 3 และ 5
ประตู ที่เน้นทำตลาดฝั่งยุโรป เป็นหลัก

2017_04_24_Honda_Civic_Hatchback_Turbo_01

ถ้าเช่นนั้น คราวนี้ Honda เขาคิดอีท่าไหนละ ถึงได้สั่ง Civic Hatchback มา
ให้คนไทยได้ใช้กัน?

ฟังดูน่าสงสัย แต่คำตอบที่ผมได้รับ ไม่น่าแปลกใจครับ

การวางแผนทำตลาดรถยนต์สักรุ่น พร้อมกันทั่วโลก นอกจากต้องคิดให้เยอะ
มองให้รอบด้านว่าจะทำตลาดในประเทศใด ด้วยรุ่นใด Option อย่างไร แล้ว
คุณยังจำเป็นต้องคำนึงด้วยว่าจะผลิตรถยนต์รุ่นนั้น ที่โรงงานแห่งใดบ้าง

เพราะความต้องการของลูกค้าในแต่ละประเทศ รวมทั้งกฏระเบียบภาครัฐ กับ
การจัดเก็บภาษี และความเข้มงวดในด้านมาตรฐานความปลอดภัยกับมลพิษ
ในแต่ละประเทศ ก็แตกต่างกัน การวางยุทธศาสตร์ผิด นั่นอาจหมายถึง กำไร
มหาศาล อาจสูญหายไปก็ได้ หรือบางครั้ง ต้องยอมที่จะไม่ทำตลาดรถยนต์
รุ่นที่คาดว่าลูกค้าต้องการมากๆ ในบางประเทศ เพราะเมื่อคำนวนดูแล้ว ผลที่
ได้รับ มันอาจไม่คุ้มกับสิ่งที่ต้องสูญเสียไป

ยิ่งโดยเฉพาะ Civic เป็นรถยนต์รุ่นสำคัญระดับหัวหอกบุกตลาดของ Honda
ทั่วโลก ไม่ว่าจะเปิดลาดในประเทศใด ย่อมต้องมี Civic ขายอยู่ในโชว์รูม ณ
ประเทศนั้นๆด้วย ยิ่งต้องขบคิดกันให้หนักเป็นพิเศษ

การมาถึงของ Civic Hatchback ในเมืองไทยนั้น เกิดจากการมองตลาดใน
ภาพรวมของ ทีมงานใน Honda Automobile (Thailand) ว่า กลุ่มลูกค้า
ที่อยากได้รถยนต์ C-Segment ในวันนี้ มีอยู่กลุ่มหนึ่ง มักเป็นผู้ชาย วัยรุ่น
หรือวัยทำงาน คนกลุ่มนี้ ชอบรถยนต์ หรือชอบความแรง ศึกษาข้อมูลต่างๆ
ใน Internet มาอย่างดี พวกเขาอยากได้รถยนต์สมรรถนะสูง เทียบเท่ากับ
รถยนต์รุ่นเดียวกันที่ขายอยู่ในตลาดโลก สังเกตได้จากยอดขายของคู่แข่ง
อย่าง Mazda 3 Hatchback ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ (แม้ว่า Ford Focus กับ
Nissan Pulsar จะดับวูบและไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากปัญหาด้าน
ความซับซ้อนของระบบไฟฟ้า ขาดของแต่ง ขาดคนทำ หรือมีจุดอ่อน
ซึ่งส่งผลให้ผู้คนไม่ค่อยอยากซื้อ)

แน่นอนว่า ทีมงานของ Honda ในเมืองไทย มองเห็นช่องว่างดังกล่าว เลย
พยายามขอไปทางฝั่งญี่ปุ่นว่า อยากได้ Civic ตัวถังอื่นที่ไม่ใช่ Sedan มา
สร้างสีสันในตลาดบ้าง

รู้ทั้งรู้แหละ ว่าคงขายได้ไม่มากนักหรอก แต่มันคงจะดี ถ้ามีช่องทางที่ทำให้
ผู้บริโภค ได้ใช้รถยนต์สเป็กเดียวกัน หรือใกล้เคียงกับตลาดเมืองนอกอย่างที่
พยายามร้องแลกแหกกระเชอกันใน Internet มาตลอดหลายปี บ้าง

จังหวะเดียวกัน Honda เพิ่งตั้งโรงงาน แห่งที่ 2 ณ นิคมอุตสาหกรรม โรจนะ 2
จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อเป็นฐานการผลิตรถยนต์นั่งหลายๆรุ่น แต่โดยหลักแล้ว
Civic คือรถยนต์รุ่นหลักที่ถูกกำหนดให้ขึ้นสายการประกอบที่นี่ ทั้งเพื่อป้อน
ตลาดเมืองไทย (ถือเป็นตลาดใหญ่ของ Civic ระดับ 1 ใน 5 ของโลก) และ
เพื่อการส่งออกไปยังภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะส่งเป็นรถยนต์
ประกอบสำเร็จรูปทั้งคัน CBU (Complete Built Unit) หรือชิ้นส่วนอะไหล่
CKD (Complete Knock Down) ป้อนให้กับโรงงาน Honda แห่งอื่นๆ

ดังนั้น ถ้าไหนๆ Honda ต้องผลิต Civic ทั้ง 2 ตัวถัง  ป้อนตลาด Oceania (ทั้ง
Australia – New Zealand) ด้วยอยู่แล้ว ทำไมต้องตั้งสายการผลิตที่โรงงาน
ในญี่ปุ่นซ้ำซ้อนกับเมืองไทยด้วยละ? ให้เมืองไทย รับหน้าที่ผลิตรถ ส่งป้อนให้
ตลาดทั้ง 2 แห่งนี้ไปเลย ซึ่งจะประหยัดกว่า แม้ว่าค่าขนส่งก็พอๆกัน แต่ต้นทุน
แรงงานบ้านเรา ก็ถูกกว่าในญี่ปุ่น

คราวนี้ ไหนๆ ก็จะมาประกอบในบ้านเราแล้ว ก็ทำสเป็กที่คล้ายคลึงกัน เจียดมา
ขายให้ลูกค้าในเมืองไทยไปด้วยเลย สักนิดสักหน่อยก็ยังดี

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ โรงงานที่นิคมฯ โรจนะ 2 ได้รับสิทธิ์ในการประกอบ
Civic Hatchback พ่วงกับรุ่น Sedan ควบคู่ไปด้วยกัน และเปิดทางให้มีการนำ
รุ่น Hatchback มาเปิดตัวในประเทศไทย…อีกครั้ง…ได้เสียที

2017_04_24_Honda_Civic_Hatchback_Turbo_02

Honda เผยโฉม Civic Hatchback รุ่นล่าสุดเป็นครั้งแรก ในรูปของรถยนต์ต้นแบบ
Honda Civic Hatchback Concept ณ งาน Geneva Auto Salon (1 มีนาคม 2016)
จากนั้น ต้องรอกันอีกพักใหญ่ กระทั่งเวอร์ชันจำหน่ายจริง เผยโฉมอย่างเป็นทางการ
เมื่อ 3 สิงหาคม 2016 ตามด้วยการเผยข้อมูลทางเทคนิค เวอร์ชันอเมริกาเหนือ เมื่อ
23 กันยายน 2016 ตามติดมาด้วย การเผยโฉม เวอร์ชันแรงที่สุดในตระกูล Honda
Civic Type-R Prototype ในงาน Paris Auto Salon เมื่อ 29 กันยายน 2016 ก่อน
ถูกขนส่งไปอวดโฉมกันต่อในงานมหกรรมแสดงอุปกรณ์ประดับยนต์ SEMA 2016
ที่สหรัฐอเมริกา ท้ายสุด Civic Type-R และ Civic Hatchback เวอร์ชันยุโรป ก็ได้
ฤกษ์ เปิดผ้าคลุมอย่างเป็นทางการ ในงาน Geneva Auto Salon (8 มีนาคม 2017)
ที่ผ่านมาสดๆร้อนนี่เอง

ตามแผนงานของ Honda แล้ว Civic Hatchback จะมีจำหน่ายเฉพาะในทวีปยุโรป
อเมริกาเหนือ กับอีก 4 ประเทศ ทั้งในไทย Australia New Zealand และ ญี่ปุ่น
(ซึ่งกำลังจะเปิดตัวตามหลังบ้านเราในปีนี้) เท่านั้น!

สำหรับประเทศไทย Honda เปิดตัว Civic Hatchback รุ่นล่าสุดเป็นครั้งแรก เมื่อ
วันที่ 9 มีนาคม 2017 ที่ผ่านมา ก่อนจะส่งไปอวดโฉมในงานแสดงรถยนต์ประจำปี
Bangkok International Motor Show เมื่อ 28 มีนาคม 2017 และเพิ่งเริ่มต้นการ
ส่งมอบให้กับลูกค้า ในช่วงหลังสงกรานต์ เดือนเมษายน 2017 ที่ผ่านมานี่เอง!

ถือเป็นการเปิดตัวตามหลังรุ่น Sedan ราวๆ 1 ปีเต็ม แต่มีให้เลือกเพียงรุ่นย่อยเดียว
ขุมพลังเดียว แบบ 1.5 ลิตร VTEC TURBO โดยไม่มีเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร มาให้ได้
เลือกใช้ด้วยเลย เพื่อเป็นการบอกกับลูกค้าว่า ถ้าอยากได้ตัวถัง Hatchback แล้ว
โปรดใช้ขุมพลังตัวแรง ให้สมกับบุคลิกแบบ Sport Hatchback ไปเลยจะดีกว่า

2017_04_24_Honda_Civic_Hatchback_Turbo_03

Civic Hatchback เวอร์ชันไทย มีความยาว 4,501 มิลลิเมตร กว้าง 1,799 มิลลิเมตร
สูง 1,421 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,697 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง
(Front & Rear Thread) 1,547 – 1,563 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนถึงพื้นใต้
ท้องรถ 133 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถเปล่า 1,316 กิโลกรัม

เมื่อเปรียบเทียบกับตัวถัง Sedan 4 ประตู ซึ่งมีความยาว 4,630 มิลลิเมตร กว้าง 1,798
มิลลิเมตร สูง 1,415 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,700 มิลลิเมตร จะพบว่า รุ่น Hatchback
มีตัวถังสั้นกว่า Sedan 129 มิลลิเมตร ส่วนความกว้าง ต่างกันแค่ 1 มิลลิเมตร ไม่ถือว่า
ต่างกันเลย เช่นเดียวกับความสูงของ Hatchback ที่เพิ่มขึ้นจาก Sedan แค่ 5 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อรุ่น Hatchback สั้นกว่าแค่ 3 มิลลิเมตร ช่วงล้อคู่หน้า / หลัง (Front & Rear
Thread) เท่ากับรุ่น Sedan เป๊ะ ระยะห่างจากพื้นถนนถึงพื้นใต้ท้องรถ 125 มิลลิเมตร
น้ำหนักตัวรถเปล่า ต่างจากรุ่น Sedan 1.5 Turbo RS แค่ 1 กิโลกรัม (1.317 กิโลกรัม)

หากมองจากภายนอก การแยกความแตกต่างของตัวถัง Hatchback (รหัสตัวถัง FK4)
ออกจากรุ่น Sedan (รหัสตัวถัง FC6 ในรุ่น 1.8 และ FC1 ในรุ่น 1.5 ลิตร) อาจไม่ใช่
เรื่องง่ายนัก คุณต้องเป็นคนช่างสังเกตพอสมควร จึงจะพบว่า

1. เปลือกกันชนหน้า ไม่เหมือนกัน รุ่น Hatchback จะมีช่องรับอากาศด้านหน้า พร้อมกับ
แผงประดับตกแต่งลายลังผึ้ง พร้อมชุดเบ้าฝังไฟตัดหมอกคู่หน้ามาให้ในตัว

2. บานประตูคู่หลังของทั้ง 2 ตัวถัง ไม่เหมือนกัน รุ่น Sedan จะมีเส้นจีบด้านข้าง ลากยาว
ต่อเนื่องไปจนถึง ชุดไฟท้าย แต่รุ่น Hatchback แนวเส้นจีบดังกล่าวที่ลากยาวมาตั้งแต่
บานประตูคู่หน้าจะมาสะดุดตัดจบเอาดื้อๆ โดยมีแนวเส้นจีบอีกเส้น โผล่ขึ้นมารับช่วงแบบ
งงๆ ลากยาวไปจรดไฟท้ายเหมือนกัน เพื่อเสริมแนวซุ้มล้อหลัง ให้ดูทะมัดทะแมงขึ้นนิดๆ

3. นอกจากนี้ แนวเส้นสะเอวบริเวณกระจกหน้าต่างของรุ่น Hatchback จะถูกตะวัดขึ้นมา
เพื่อให้รับกับติ่งพลาสติกสีดำ ประดับล้อมกรอบด้วยแถบโครเมียม ที่ แนวเสาหลังคา
คู่ท้าย C-Pillar

4. ชุดไฟท้าย LED รูปตัว C คล้ายกับรุ่น Sedan แต่มีขนาดเล็กกว่าและมีมุมเอียงมากขึ้น
อีกเล็กน้อย แนวด้านบนของชุดไฟท้ายจะต่อเชื่อมกับสปอยเลอร์ด้านหลัง แบบฝังมาให้
ในฝากระโปรงหลัง พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED ครบจากโรงงาน

5. เหนือกระจกบังลมหลังยังมีสปอยเลอร์ ด้านบนมาให้ นอกจากนี้ยังมีใบปัดน้ำฝนหลัง
แถมมาให้เฉพาะตัวถัง Hatchback อีกด้วย เสาอากาศเป็นแบบครีบฉลาม ติดอยู่บน
หลังคารถ

6. เปลือกกันชนพลาสติกแบบ Recycle ด้านหลัง ต่างจากรุ่น Sedan ออกแบบให้มีแผง
พลาสติกสีดำ ลายรังผึ้งพร้อมแถบแผงทับทิมแนวตั้งทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อให้สอดรับกับกันชน
ด้านหน้า เพิ่มความดุดันเข้าไปอีก

Civic Hatchback เวอร์ชันไทย จะใช้ล้ออัลลอย ลายเดียวกับรุ่น Sedan 1.5 Turbo
ธรรมดา (ไม่ใช่รุ่น RS) เป็นลายใบพัด 5 แฉก สวมยางรุ่น Yokohama ADVAN db
(Decibel) ขนาด 215/50 R17 เหมือนรุ่น 1.5 Turbo 4 ประตู (รุ่น RS จะใช้ยาง
Bridgestone Turanza ER33)

2017_04_24_Honda_Civic_Hatchback_Interior_00

ระบบกลอนล็อกประตู เป็นชุดเดียวกับ Civic Sedan คือเป็น Remote Control
พร้อมกุญแจ Honda Smart Key System เมื่อคุณพกกุญแจ แล้วเดินเข้าใกล้
ตัวรถ เพียงแค่เอื้อมมือไปจับมือเปิดประตู ระบบจะปลดล็อก สามารถดึงมือจับ
เปิดบานประตูได้ทันที หากจะสั่งล็อก แค่เพียงปิดประตู แล้วกดสวิตช์สีดำบน
มือจับประตู หรือจะกดสวิตช์ล็อกประตูบนรีโมทด้วยตนเองก็ได้

จุดเด่นที่เหนือกว่าคู่แข่งในระดับเดียวกันทุกคัน คือ ระบบติดเครื่องยนต์
พร้อมเปิดเครื่องปรับอากาศ อัตโนมัติ ด้วยรีโมทกุญแจ (Engine Remote
Start) ซึ่งช่วยลดอุณหภูมิภายในรถได้ดีมาก ในวันที่คุณจำเป็นต้องจอดรถ
กลางแดดร้อนจัดๆ

วิธีใช้งานก็คือ เมื่อคุณเดินเข้าใกล้รถ หากรถจะล็อกอยู่ คุณต้องกดปุ่ม Lock
รูปแม่กุญแจ บนรีโมทก่อน 1 ครั้ง จากนั้น กดุ่มติดเครื่องยนต์บนรีโมทค้าง
ไว้ราวๆ 4-5 วินาที เครื่องยนต์และเครื่องปรับอากาศ จะติดขึ้นมาทำงานเอง

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลด้านควมปลอดภัย ถ้าต้องการจะเข้าไปนั่งในตัวรถ
หลังเครื่องยนต์ติดแล้ว คุณต้องกดปุ่มปลดล็อกที่รีโมท หรือ ใช้มือแตะที่มือ
จับประตู ตามปกติก่อน เพื่อดึงเปิดประตู

จากนั้น เมื่อลงไปนั่งแล้ว คุณยังออกรถเลยทันทีไม่ได้ หากพยายามเข้าเกียร์
ไม่ว่าจะเดินหน้า หรือถอยหลัง เครื่องยนต์และเครื่องปรับอากาศอัตโนมัติจะ
ยุติการทำงานทันที ต้องเหยียบเบรก และกดปุ่มติดเครื่องยนต์ตามปกติ
เพื่อยืนยันอีกครั้งว่า คุณพร้อมจะขับรถแล้ว

ความมึนงงของระบบนี้คือ ถ้าต้องเหยียบเบรก กดปุ่ม Push Start เพื่อเตรียม
จะขับรถ เครื่องปรับอากาศจะตัดการทำงานเองทันทีที่เครื่องติด คุณต้องกด
เปิดเครื่องปรับอากาศเองอีกครั้ง อยู่ดี!!

สิ่งที่รีโมทกุญแจของรุ่น Hatchback จะไม่เหมือนกับรุ่น Sedan คือ บนรีโมท
จะไม่มีสวิตช์เปิดฝาประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่มักจะ
พบได้ในรถเก๋ง C-Segment ทุกรุ่นที่มีตัวถัง Sedan กับ Hatchback ขายคู่กัน
อยู่แล้ว

นอกจากนี้แล้วรุ่น Hatchback ยังมีระบบ Walk Away Auto-Lock ซึ่งจะล็อค
รถให้เองเมื่อคุณพกกุญแจไว้แล้วเดินออกห่างจากรถ สามารถปิดเปิดการทำงาน
ของระบบได้มีเมนูการตั้งค่าของระบบล็อคที่จอกลาง

2017_04_24_Honda_Civic_Hatchback_Interior_01

ภายในห้องโดยสาร ครึ่งคันหน้า แทบไม่ต่างจาก Civic Sedan เลยแม้แต่น้อย
เพียงแต่ว่า ต่อให้คุณจะเลือกสีตัวถังเป็นเฉดไหน คุณก็จะได้ภายในรถ ตกแต่ง
ด้วยโทนสีดำ และเพดานหลังคาบุผ้าสีดำ เพียงแบบเดียว (รุ่น Sedan จะบุด้วย
สีเบจสว่างกว่านี้)

เบาะนั่งคู่หน้า ปรับได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้าได้ เหมือนกับรุ่น Sedan 1.5 Turbo ทั้ง
แบบธรรมดา และ RS โดยเบาะคนขับ ปรับได้ 8 ทิศทาง ฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย
ปรับได้ 4 ทิศทาง พร้อมเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ปรับระดับสูง – ต่ำได้ มีระบบ
สัญญาณเตือนให้คาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งแบบสัญญาณไฟแดงกระพริบบนมาตรวัด
และการเตือนด้วยเสียง ผ่านชุดเครื่องเสียง ถ้าเซ็ตการแสดงผลเป็นภาษาไทย
มันก็จะเตือนเป็นภาษาไทย แต่ถ้าเซ็ตหน้าจอเป็นภาษาอังกฤษ ก็จะเตือนเป็น
ภาษาอังกฤษ

ภาพรวมแล้ว คงไม่ต้องพูดถึงอีกครั้งให้เสียเวลา เพราะเมื่อนั่งลงไป เบาะคู่หน้า
ให้สัมผัสการนั่ง พื้นที่เหนือศีรษะ และตำแหน่งนั่งขับ เหมือนกับ Civic Sedan
ทุกประการ!

อยากรู้ว่านั่งบนเบาะหน้าแล้ว ผมมีความคิดเห็นอย่างไร สามารถคลิกอ่านต่อได้
ในรีวิว Civic Sedan CLICK HERE!

2017_04_24_Honda_Civic_Hatchback_Interior_02

ความแตกต่างจากรุ่น Sedan อยู่ที่ ครึ่งคันหลังของตัวรถ เริ่มกันตั้งแต่บานประตู
คู่หลัง และตัวช่องทางเข้า – ออก ที่กว้างเท่ากัน แต่ด้วยเหตุที่มีแนวขอบหลังคา
ลาดลงเพิ่มขึ้นจากรุ่น Sedan ในระดับที่ต้องสังเกต จึงจะเห็นว่าต่าง และนั่นคือ
เหตุผลที่ทำให้ การก้มลงไปนั่งบนเบาะหลังนั้น คุณต้องก้มหัวมากว่า รุ่น Sedan
นิดนึง มิเช่นนั้น หัวคุณจะโขกกับเสาหลังคาอย่างง่ายดาย

แผงประตูด้านใน ออกแบบและประดับตกแต่งเหมือนรุ่น Sedan พนักวางแขน
ก็อยู่ในตำแหน่งที่ วางได้สบายทั้งท่อนแขนเหมือนกัน แต่แท้จริงแล้ว มีความ
แตกต่างอยู่ที่ การเสริมแนวเส้นที่ขอบด้านบนสุดของแผง ให้ลากเฉียงทะแยง
ขึ้นไปทางด้านบนเพิ่มอีกนิด รวมทั้งลักษณะของกระจกหน้าต่าง ก็ยังมีขนาด
ที่ตีบลงมานิดนึง ชนิดที่ถ้าไม่สังเกตก็จะไม่รู้สึกว่าต่าง กระนั้น กระจกหน้าต่าง
ก็ยังเลื่อนลงมาได้ไม่สุดขอบรางเช่นเดียวกับรุ่น Sedan อยู่ดี

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มตำแหน่งติดตั้งลำโพงทวีตเตอร์ ที่มือจับเปิดประตูหลัง
อีกเป็นพิเศษ ส่วนมือจับศาสดา ยึดเหนี่ยวจิคใจ มีมาให้ครบ 4 ตำแหน่ง แถม
ยังมี ขอเกี่ยวสิ่งของ ที่เสา B-Pillar มาให้อีก 2 ฝั่ง เหมือนรุ่น Sedan อีกด้วย

2017_04_24_Honda_Civic_Hatchback_Interior_03

ตำแหน่งเบาะหลังของรุ่น Hatchback ยังคงค่อนข้างเตี้ย เหมือนรุ่น Sedan
ไม่มีผิดเพี้ยน ทว่า ในรายละเอียดปลีกย่อยแล้ว แอบไม่เหมือนกันหลายจุด

ความแตกต่างที่สำคัญประการต่อมานั่นคือ พนักพิงเบาะหลังมีขนาดใหญ่
และสูงกว่ารุ่น Sedan เล็กน้อย แถมยังสามารถแบ่งพับราบได้ในอัตราส่วน
60 : 40 เพื่อเปิดพื้นที่ไปยังห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ขณะที่รุ่น Sedan นั่น
ทำไม่ได้ เหมาะสำหรับลูกค้าประเภทศิลปิน หรือนักดนตรี ที่ต้องขนบรรดา
ข้าวของเครื่องใช้ประกอบอาชีพ หรือเครื่องดนตรีเยอะๆ

ตัวพนักพิงหลังเอง แม้จะออกแบบให้มีหน้าตาต่างจากพนักพิงเบาะนั่งใน
รุ่น Sedan ทว่า ตำแหน่งติดตั้ง ถูกกำหนดให้มุมเอียง เท่ากับเบาะหลังรุ่น
Sedan เป๊ะ! นุ่มกว่าเบาะคู่หน้าชัดเจน รองรับแผ่นหลังไปจนถึงช่วงไหล่
ได้ดีมาก นั่งสบายกว่าที่คิด

พนักวางแขน แบบพับเก็บได้ มีช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง ยกชุดมาจากรุ่น
Sedan ดังนั้น จึงมีปัญหาเดียวกัน นั่นคือ เมื่อดึงลงมาปุ๊บ ตัวพนักจะหล่นลง
มากองอยู่กับเบาะรองนั่งทันที ทำให้ตำแหน่งวางแขนเตี้ยไปหน่อย พอวาง
ท่อนแขนได้ แต่ข้อศอกจะลอยขึ้นมาพอสมควร

พนักศีรษะ มีมาให้ 3 ชิ้น เพิ่มจากรุ่น Sedan ซึ่งมีแค่ 2 ชิ้น แต่แม้ว่าเอานิ้ว
ลองกดลงไปดูแล้วเหมือนจะนิ่ม แต่พอเอาศีรษะไปวางจริง กลับรู้สึกแข็ง
ไปหน่อย ทั้ง 3 ตำแหน่ง แถมถ้าไม่ยกขึ้นใช้งาน ขอบล่างก็จะยันต้นคอไว้
ทำให้ไม่สบายเท่าที่ควร

เบาะรองนั่ง ยกชุดมาจากรุ่น Sedan หน้าตาเหมือนกันเป๊ะ สัมผัสจากการนั่ง
จึงเหมือนกันเป๊ะ ตามไปด้วย กล่าวคือ มีความยาวเหมาะสม รองรับช่วงน่อง
ได้เต็มที่ ออกแบบให้มีมุมเงยขึ้นเล็กน้อย เพื่อช่วยรองรับขา ลดการนั่งแบบ
ชันขา (อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้โดยสารบนเบาะหลังเมื่อยล้าในการเดินทาง)
ลงไปได้พอสมควร

ด้านในเบาะรองนั่ง เสริมด้วยฟองน้ำที่ให้สัมผัส นิ่ม นิ่มกว่าเบาะคู่หน้าเสียอีก
แอบเป็นห่วงว่า หากใช้งานเบาะหลังบ่อยครั้ง ทุกๆวัน ฟองน้ำอาจเสื่อมสภาพ
เร็วกว่าเบาะหลังของรถยนต์ทั่วไป หรือไม่?

พื้นที่วางขาหรือ Leg Room ไม่แตกต่างไปจากรุ่น Sedan เลย ก็จริงอยู่ ทว่า
เรื่องที่บ้าบอมากสุด คือพื้นที่เหนือศีรษะ ขณะที่รุ่น Sedan เห็นหลังคาเตี้ยๆ
แบบนั้น กลับกลายเป็นว่า เมื่อผมนั่งเบาะหลัง มันมีพื้นที่ Head room เหลือ
ให้ผมสบายๆ แต่พอเป็นรุ่น Hatchback กลับกลายเป็นว่า ถ้าผมนั่งหลังแนบ
กับพนักพิง หัวผมจะชนติดกับเพดานหลังคาสีดำทันที!

เหตุผลส่วนหนึ่ง ต้องมีการออกแบบโครงสร้าหลังคาให้แน่นหนา เพื่อรองรับ
กับการติดตั้งบานประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลังด้วย โครงคานหลังคาเหล็ก
ชิ้นสุดท้าย หนาและกินพื้นที่ลงมาถึงความหนาของเพดานบุหลังคารถ นั่นจึง
ส่งผลให้ Head Room สำหรับผู้โดยสารบนเบาะหลังของรุ่น Hatchback ถูก
เบียดบังพื้นที่ จนเหลือน้อยกว่ารุ่น Sedan ชนิดยากจะทำใจยอมรับได้

เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ติดตั้งมาให้ครบทั้ง 3 ตำแหน่ง เช่นเดียวกับจุดยึด
เบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX มีมาให้ทั้งฝั่ง ซ้าย – ขวา

2017_04_24_Honda_Civic_Hatchback_Interior_04

บานประตูห้องเก็บสัมภาระ มีน้ำหนักค่อนข้างมาก ให้สัมผัสที่หนักคล้ายๆกับ
ฝาท้ายของ Audi TT ใหม่ อยู่เหมือนกัน ใช้ระบบกลอนไฟฟ้า มีสวิตช์กดเปิด
เหนือช่องใส่พร้อมไฟส่องแผ่นป้ายทะเบียนหลัง มีมือจับเพื่อดึงฝาประตูลงมา
ปิดรวม 2 ฝั่ง ซ้าย – ขวา ใช้ช็อกอัพไฮโดรลิคค้ำยัน 2 ต้น ตามปกติ

พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังมีขนาดความจุ 478 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA
เยอรมนี ถ้าวัดจนถึงขอบหน้าต่างด้านล่าง แต่ถ้าวัดจนถึงเพดาน ถือว่าจุได้
550 ลิตร VDA แต่ถ้าพับเบาะแถว 2 ลงทั้งหมด จะได้พื้นที่บรรทุกสัมภาระ
เพิ่มขึ้นมาเป็น 1,245 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เลยทีเดียว

สิ่งแปลกตาอีกประการหนึ่งของ Civic Hatchback คือ การออกแบบแผงบัง
สัมภาระจากสายตาผู้คนนอกรถ ในรูปแบบที่ไม่เหมือนชาวบ้านเขา ตามปกติ
แผงบังแดดแบบ “ม่านรูด” ที่พบได้ในรถยนต์ท้ายตัด ทั้ง Hatchback SUV
หรือ Station Wagon มักใช้ แผงบังแดดม่านรูด แบบดึงเข้าหาตัว แล้วค่อย
ล็อกเข้ากับขอเกี่ยวที่ผนังห้องเก็บของทั้ง 2 ฝั่ง

แต่ด้วยเหตุที่ Civic Hatchback ใหม่ ถูกออกแบบให้บั้นท้ายลาดลงราวกับ
รถยนต์ Liftback ในยุคอดีต ทำให้มีการออกแบบแผงบังแดดแบบม่านรูด
ขึ้นมาใหม่ ให้ดึงมาจากผนังฝั่งซ้าย ไปยึดเกี่ยวไว้กับตะขอ ที่ผนังฝั่งขวา
ขณะเดียวกัน บนฝาประตูห้องเก็บของ ก็ยังมีแผงม่านติดยิดถาวรกันเหนียว
ไว้อีก 1 ตำแหน่ง ดังนั้น ถ้าดึงชุดม่านทั้งหมดนี้มาใช้งานร่วมกัน คนภายนอก
จะมองไม่เห็นทรัพย์สมบัติท้ายรถของคุณเลย

เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา จะพบเครื่องมือประจำรถ พร้อมยางอะไหล่ขนาด
T125/80D16 เหมือนรุ่น Sedan

2017_04_24_Honda_Civic_Hatchback_Interior_05

แผงหน้าปัด พวงมาลัยปรับระดับสูง – ต่ำและระยะใกล้ห่าง (Telescopic) ได้
คอนโซลกลาง ชุดเครื่องเสียง ระบบเบรกมือไฟฟ้า พร้อมสวิตช์ Auto Brake
Hold รวมทั้งกล่องเก็บของ ด้านข้างคนขับ ซึ่งมีช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง แบบ
ถอดยกออกได้ และมีฝาปิด เลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง เป็นพนักวางแขนในตัว
ยกชุดมาจากรุ่น Sedan กันทั้งยวง ดังนั้นจึงแทบไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติม
นอกจากปล่อยให้คุณคลิกเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน บทความ รีวิว
Honda Civic 2016 Sedan ซึ่ง
Click อ่านได้ ที่นี่

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของรุ่น Hatchback เมื่อเทียบกับรุ่น Sedan
1.5 Turbo และ 1.5 Turbo RS นั้น มีดังนี้

1. ชุดมาตรวัด จะเหมือนกับรุ่น Sedan 1.5 Turbo ธรรมดา คือแสดงผลด้วย
โทนสีฟ้า มีมาตรวัดแรงดัน Boost ของ Turbo มาให้

2. สวิตช์ปรับระดับเสียงดัง-เบา ของชุดเครื่องเสียง บนก้านพวงมาลัยฝั่ง
ซ้าย ถอดระบบเพิ่ม-ลดเสียงด้วยวิธีรูดสไลด์นิ้ว (Swipe) ออกแล้ว ซึ่งผม
เห็นด้วย เพราะเอาเข้าจริง ไอ้การใช้งานสวิตช์รูดนิ้วนี่ น่ารำคาญ เพราะ
บางครั้ง ผมต้องการใช้สวิตช์อื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน แต่พอนิ้วไปแตะโดน
เจ้าสวิตช์รูดนิ้ว นี้เข้า เสียงเพลงก็ดังขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว ตกใจ เสียสมาธิ
ในการควบคุมรถไปเลย

3. แผงบังแดด พร้อมกระจกแต่งหน้าแบบมีฝาปิดพับ เปลี่ยนวัสดุหุ้มเป็น
ผ้าสีดำ แบบเดียวกับเพดานหลังคารถ และยังคงไม่ติดตั้งไฟแต่งหน้าให้
ตามเดิม เหมือนรุ่น Sedan เป๊ะ

4. ไม่มีระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System มาให้ ซึ่ง
เหมือนกันกับรุ่น Sedan 1.5 Turbo ธรรมดา

5. ไม่มีระบบกล้องใต้กระจกมองข้าง แสดงภาพยานพาหนะที่แล่นขนาบ
ข้างฝั่งซ้าย บนจอมอนิเตอร์ ทุกครั้งที่เปิดไฟเลี้ยว Honda LaneWatch
มาให้ ซึ่งก็เหมือนกับรุ่น Sedan 1.5 Turbo ธรรมดา

6. เพิ่มแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift ด้านหลังพวงมาลัย ติดตั้งมาให้
เทียบเท่ารุ่น Sedan 1.5 Turbo RS (แต่ไม่มีในรุ่น Sedan 1.5 Turbo
ธรรมดา)

7. เพิ่มม่านถุงลมนิรภัยบนราวหลังคามาให้ทั้ง 2 ฝั่ง เทียบเท่ากันกับรุ่น
Sedan 1.5 Turbo RS (แต่ไม่มีในรุ่น Sedan 1.5 Turbo ธรรมดา) รวมกับ
ถุงลมนิรภัยคู่หน้า และด้านข้าง เท่ากับว่า รุ่น Hatchback จะได้ Airbag
6 ใบ

2017_04_24_Honda_Civic_Hatchback_Interior_06_Visibility

ทัศนวิสัยด้านหน้า ทั้งหมด ไม่แตกต่างจาก Civic Sedan แต่ประการใด
รายละเอียดดูได้ใน รีวิว ทดลองขับ Honda Civic Sedan 2016

อย่างไรก็ตาม ทัศนวิสัยด้านหลังของรุ่น Hatchback จะไม่เหมือนกับรุ่น
Sedan เพราะเสาหลังคาคู่หลังสุด C-Pillar มีขนาดใหญ่ และลาดเอียง
มากเอาเรื่อง ก่อให้เกิดการบดบัง ยานพาหนะที่แล่นมาจากทางฝั่งซ้าย
ของตัวรถ อย่างชัดเจน

ดังนั้น หากต้องการเปลี่ยนเลน เข้าช่องทางคู่ขนาน หรือกำลังจะเลี้ยว
เข้าซอยหมู่้านตนเอง ให้เพิ่มความระมัดระวัง ขณะเบี่ยงรถไปทางซ้าย
เพิ่มขึ้นสักหน่อยจะดีกว่า เพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย

2017_04_24_Honda_Civic_Hatchback_Turbo_Engine_01_EDIT

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ขุมพลังของ Civic Hatchback ใหม่ เวอร์ชันไทย มีให้เลือกเพียงแบบเดียว
ยกมาจากรุ่น 1.5 Turbo และ 1.5 Turbo RS มาทั้งดุ้น เป็นเครื่องยนต์ รหัส
L15B7 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,496 ซีซี. กระบอกสูบ x ช่วงชัก
73.0 x 89.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.6 : 1 พร้อมระบบแปรผันวาล์ว
แบบ Dual VTC แปรผันโดยหมุนแท่งแคมชาฟท์ ทั้งฝั่งไอดีและฝั่งไอเสีย
และไม่มีการเปลี่ยนองศาหรือระยะยกของแคมชาฟท์แบบ Civic รุ่นก่อนๆ

ติดตั้ง ระบบอัดอากาศ Turbocharger แบบ Single Scroll รุ่น TD03 ของ
Mitsubihi Heavy Industry (MHI) แรงดัน Boost 1 บาร์ ลดลงจากเวอร์ชัน
อเมริกาเหนือ (1.15 บาร์ หรือ 16.5 psi) ด้วยเหตุผลด้านคุณภาพของ น้ำมัน
เชื้อเพลิงในบ้านเรา

ช่องระบายไอเสียส่วนเกิน (Wastegate) เป็นแบบควบคุมด้วยไฟฟ้า เพื่อ่ช่วย
นำพลังงานส่วนเกิน กลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหา Turbo
Lag หรือ การตอบสนองหลังจากเหยียบคันเร่งช้า ให้น้อยลงไปได้พอสมควร

กำลังสูงสุด เท่ากับรุ่น Sedan คือ 173 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิด
สูงสุด 220 นิวตันเมตร (22.41 กก.-ม.) 1,700 – 5,500 รอบ/นาที ปล่อยก๊าซ
คาร์บอนไดอ็อกไซด์ 137 กรัม/กิโลเมตร (เพิ่มจากรุ่น Sedan ซึ่งอยู่ที่ 132 กรัม/
กิโลเมตร) ผ่านมาตรฐานไอเสีย Euro IV ยังคงรองรับน้ำมันแก็สโซฮอลล์ แค่
ระดับ E20 เท่านั้น

2017_04_24_Honda_Civic_Hatchback_Turbo_Engine_02_CVT_EDIT

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วย เกียร์อัตโนมัติ CVT ที่วิศวกรของ
Honda เรียกว่า “Large Car Class CVT” ซึ่งถูกปรับปรุงให้สามารถทนต่อ
แรงบิดได้สูงขึ้น มีความทนทานมากขึ้น ในรุ่น RS จะติดตั้งแป้นเปลี่ยนกียร์
หลังพวงมาลัย (Paddle Shift) สามารถกดเล่นเกียร์ได้ทันที หรือเข้าเกียร์
ไว้ที่ตำแหน่ง S แล้วค่อยเล่นก็ได้ (โดยรอบเครื่องยนต์ จะลากขึ้นไปได้สุด
Red-Line แล้วแช่ไว้ให้สักแป๊บเดียว ก่อนจะตัดเปลี่ยนเกียร์ลงมาที่ระดับ
5,000 รอบ/นาที เพื่อไล่รอบเครื่องยนต์ไต่ขึ้นไปอีกครั้ง)

หรือถ้าอยากขับเร็วทันใจ แต่ไม่อยากเล่นเกียร์เอง ก็แค่เข้าเกียร์ S ไว้เฉยๆ
แต่ไม่ต้องเล่นกับแป้นเปลี่ยนเกียร์ รอบเครื่องยนต์ จะถูกดีดขึ้นมาจากปกติ
ประมาณ 1,000 รอบ/นาที เพียงเท่านี้ก็น่าจะพอสร้างความสนุกให้ได้บ้าง
คันเกียร์ จะมีแค่ P – R – N – D และ S แต่ไม่มี L (Low) มาให้

อัตราทดเกียร์ D อยู่ที่ 2.645-0.405
อัตราทดเกียร์ถอยหลัง อยู่ที่ 1.858-1.726
อัตราทดเฟืองท้าย 4.810

สมรรถนะเป็นอย่างไรนั้น เราได้ทำการทดลองจับเวลา ช่วง กลางคืน เปิดแอร์
และ นั่ง 2 คน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานดั้งเดิมของเว็บไซต์ Headlightmag
ผลลัพธ์ที่ออกมา เมื่อเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกัน มีดังนี้

civic_hatchback_turbo_table1
2017_04_24_Honda_Civic_Hatchback_Turbo_Data_Compare

ตัวเลขที่ออกมา ไม่ได้มีความแตกต่างไปจาก Civic Sedan 1.5 Turbo RS ที่เรา
เคยนำมาทำบทความรีวิว กันเมื่อปีที่แล้ว ทำอัตราเร่งจาก 0 – 100 กิโลเมตร ได้
ต่างกันแค่ 0.01 วินาที ถือว่าเท่าๆกัน ส่วนช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
รุ่น Hatchback เร็วกว่า Sedan Turbo RS แค่ 0.07 วินาที

ดังนั้น สมรรถนะของ รุ่น Hatchback จึงยังคงเกาะกลุ่มไปกับรุ่น Sedan Turbo
กลายเป็นหนึ่งในรถยนต์นั่ง พิกัด C-Segment ที่แรงสุดในตลาด ร่วมกับ Ford
Focus 1.5 Turbo ECOBoost และ Nissan Sylphy กับ Pulsar Turbo

2017_04_24_Honda_Civic_Hatchback_Turbo_Engine_03_Top_Speed

การไต่ขึ้นไปยังระดับความเร็วสูงสุด แทบไม่ต่างจากรุ่น Sedan 1.5 Turbo
RS ที่เราเคยทดลองขับมาก่อนหน้านี้เลย ในช่วง 0 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ถือว่าเร็วเพียงพอกับสมรรถนะจากเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง ที่ต้องแบก
น้ำหนักตัวรถแล้ว แต่พอพ้นช่วง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป เรี่ยวแรงจาก
ขุมพลัง VTEC TURBO มันไหลมาเทมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การไต่ขึ้นไป
ถึง Top Speed ที่ความเร็วระดับ 207 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 6,000 รอบ/นาที
เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย รวดเร็ว และใช้เวลาไม่นาน ก่อนที่สมองกลเครื่องยนต์
จะสั่งตัดการจ่ายน้ำมัน ลด Boost ของ Turbo ลงไปเลยครึ่งหนึ่ง เพื่อ Lock
ไม่ให้ความเร็วสูงสุด เลยเถิดไปไกลกว่านี้

ย้ำกันเหมือนเช่นเคยนะครับ เราไม่สนับสนุน ให้ใครมาทดลองทำความเร็ว
สูงสุด เช่นที่เราทำให้คุณผู้อ่านดูนี้ เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมายจราจร เราทำ
ให้ดูกัน ด้วยเหตุผลของการให้ความรู้ เพื่อการศึกษา ไม่ได้กดแช่กันยาวหรือ
มุดกันจนเสี่ยงอันตรายต่อผู้ใช้เส้นทาง เราให้ความสำคัญ และระมัดระวังกับ
เรื่องนี้มากๆ เราไม่อยากเห็นใครต้องเสี่ยงชีวิตมาทำตัวเลขแบบนี้กันเอาเอง
ดังนั้น อย่าทำตามอย่างเป็นอันขาด เพราะถ้าพลาดพลั้งขึ้นมา อันตรายถึงชีวิต
ของคุณเอง และเพื่อนร่วมทาง เราจะไม่รับผิดชอบในความปลอดภัยของคุณ
แต่อย่างใดทั้งสิ้น!

ในการขับขี่จริง ภาพรวมอัตราเร่ง เหมือนกับ Civic Sedan 1.5 Turbo RS แทบ
ทุกประการ จนไม่ต้องเขียนถึงซ้ำอีก แต่ถ้าจะให้กล่าวโดยสรุปสั้นๆ ก็คือ การ
ใชบ้ Turbo ลูกเล็ก ส่งผลให้ทันทีที่เริ่มออกตัว Turbo จะติดบูสต์ ได้เร็วขึ้น
ลดอาการรอรอบลงไปได้ แต่ยังมีอาการ Torque Converter Slip ตอนออกตัว
ให้เห็นนิดๆ คันเร่งไฟฟ้าตอบสนองได้ไว

เช่นเดียวกับการทำงานของเกียร์ CVT ที่ ไม่โง่ เลือกตบแป้น Paddle Shift
เปลี่ยนตำแหน่งล็อกพูเลย์ลงมา 2 จังหวะรวดเดียวก็ทำได้สบายๆ ในเวลาที่
สั้นพอประมาณ แถมยังถูกเซ็ตสมองกลมาให้”ไล่รอบ” ทันทีที่สุดเข็มวัดรอบ
เครื่องยนต์ ก่อนเข้า Red Line เกียร์ก็จะตัดรอบเครื่องยนต์ลงมาที่ 5,000
รอบ/นาที ก่อนจะไล่รอบเครื่องขึ้นไปใหม่

ถ้าคุณไม่เคยขับรถแรงมาก่อน คุณอาจจะมองว่า Civic 1.5 Turbo RS เนี่ย
มันแรงเอาเรื่องเลย และอาจเกินการควบคุมของผู้ที่มีประสบการณ์ในการ
ขับรถมาน้อย รวมทั้งผู้ที่มีวุฒิภาวะในการยับยั้งชั่งใจ น้อย

แต่ถ้าคุณมีประสบการณ์กับรถยนต์สมรรถนะสูงๆ มามาก คุณอาจจะมองว่า
แรงดึงของ Civic 1.5 Turbo RS แรงใช้ได้อยู่เมื่อเทียบกับบรรดารถยนต์
ประกอบในประเทศ ในพิกัด C-Segment และก็ไม่ถึงกับแรงเกินควบคุมไหว

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกอ่านได้ที่ บทความทดลองขับ Civic Sedan 2016
CLICK HERE!

2017_04_24_Honda_Civic_Hatchback_Turbo_Engine_04_JIMMY_Drive

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบ Dual Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง
แบบมอเตอร์ไฟฟ้า DP-EPS (Electronic Power Steering) หมุนจากซ้ายสุด
ไปถึง ขวาสุด 2.22 รอบ อัตราทดของเฟืองพวงมาลัย 10.93 : 1 รัศมีวงเลี้ยว
อยู่ที่ 5.33 เมตร

พวงมาลัย เซ็ตมาให้ตอบสนองเหมือนกับ Civic Sedan เป๊ะ! คือ ค่อนข้างไว
แทบไม่มีระยะฟรี มีน้ำหนักกำลังดี ไม่เนือยเกินไป ทำงานได้ “ตามสั่ง” คือ
สั่งให้เลี้ยวแค่ไหน มันก็เลี้ยวให้แค่นั้น ไม่เลี้ยวน้อยเกินกว่าที่สั่ง แต่แอบเลี้ยว
มากเกินไปกว่าที่สั่งบ้าง ในขณะจอดหยุดนิ่ง แล้วหมุนพวงมาลัยมาครบ 1 รอบ
แล้วเริ่มเคลื่อนรถในการเลี้ยวแบบมุมฉากบนถนนบริเวณใกล้บ้านพี่ Pan พบว่า
รถจะเลี้ยวให้เยอะมาก จนเกือบชิดกำแพงบ้านด้านวงในโค้ง ถือว่าไวใกล้เคียง
กับ Mazda 3 และไวกว่า Nissan กับ Toyota อย่างแน่นอน

น้ำหนักในช่วงความเร็วต่ำ เบากำลังดี แต่หนืดใกล้เคียงกับ Mazda CX-3
และหนืดกว่า Toyota Corolla Altis กับ Nissan Sylphy Turbo ส่วนใน
ช่วงความเร็วสูง พวงมาลัยนิ่งใช้ได้ On Center feeling ดี เมื่อหักเลี้ยวแล้ว
พวงมาลัยจะคืนตัวกลับมาเล็กน้อย เซ็ตมาให้ทำงานได้อย่าง เป็นธรรมชาติ
ใกล้เคียงกับชุดพวงมาลัยเพาเวอร์ที่ใช้กลไกแบบไฮโดรลิค ดั้งเดิม น้ำหนัก
หน่วงมือกำลังดี

ถ้าผมจะบอกคุณว่า ในคืนดึกๆ ถนนไม่มีรถเลย ผมสามารถปล่อยมือจาก
พวงมาลัย ของ Civic Hatchback ใหม่ ที่ความเร็ว 207 กิโลเมตร/ชั่วโมง
(Top Speed) ได้นานถึง 10 วินาที คุณจะเชื่อไหม!!??

จริงอยู่ว่า นี่คือ พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าที่เซ็ตมาได้ดีที่สุดในกลุ่มรถยนต์
Honda ที่ประกอบขายกันในเมืองไทย ช่วงปี 2014 – 2017 แต่ถ้าเทียบกับ
คู่แข่งแล้ว พวงมาลัยของ Mazda 3 กับ CX-3 ให้ความมั่นใจในการบังคับ
ควบคุม มากกว่า

กระนั้น ยืนยันว่า ไม่ต้องไปปรับแก้อะไรมากไปกว่านี้แล้ว เว้นเสียแต่ว่าเพิ่ม
ความหนืดในช่วงความเร็วสูงให้มากขึ้นกว่านี้อีกนิดเดียว ก็น่าจะถูกอกถูกใจ
กลุ่มลูกค้าที่ต้องการความสปอร์ตดิบๆ จาก Civic Hatchback ได้มากกว่านี้

ระบบกันสะเทือน ด้านหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง
ส่วนด้านหลัง เปลี่ยนมาใช้แบบ Multi-Link พร้อมเหล็กกันโคลง ยังคงถูก
ปรับเซ็ตให้เน้นความนุ่มนวลเพื่อเอาใจลูกค้าชาวอเมริกัน และคนส่วนใหญ่
ทั่วโลก ที่ยังอยากได้ช่วงล่างแนวนุ่มๆ

อย่างไรก็ตาม ช่วงล่างด้านหน้าของรุ่น Hatchback จะเหมือนกับรุ่น Sedan
Turbo ทั้ง 2 รุ่นย่อย แต่ช่วงล่างด้านหลังของรุ่น Hatchback จะอยู่กึ่งกลาง
ระหว่างรุ่น Sedan 1.5 Turbo ปกติ และ 1.5 Turbo RS โดยที่ มีผู้อ่านบางท่าน
ยืนยันมาให้ได้ยินว่า Part Number ของชุดสปริงคู่หลัง สำหรับ Civic
Hatchback และ Sedan Turbo RS ไม่เหมือนกัน แต่ยังไม่ทราบเรื่องค่าความ
แข็งของสปริงว่าต่างกันหรือไม่

ในช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับขี่ผ่านหลุมบ่อ ฝาท่อและเนินลูกระนาด ตามถนน
และตรอกซอกซอยต่างๆ ในกรุงเทพฯ ช่วงล่าง ตอบสนอง เหมือนรุ่น Sedan
ไม่ผิดเพี้ยน คือ นุ่มแต่ซับแรงสะเทือนดีกว่า Civic FB เดิม อีกทั้งยังมีความ
เฟิร์มกระชับจาก Civic FC Sedan 1.5 Turbo RS มาเต็มๆ อาการตึงตัง แทบ
ไม่ค่อยโผล่มาให้สัมผัส

ส่วนช่วงความเร็วสูง ช่วงล่างให้ความมั่นใจได้ดีเทียบเท่ากับรุ่น Sedan 1.5
Turbo RS คันที่ผมเคยลองขับ แน่นอนครับ อานิสงค์จากความกว้างช่วงล้อ
ที่เพิ่มขึ้น ตัวรถเตี้ยลง จุดศูนย์ถ่วงต่ำลง ทำให้คุณสามารถใช้ความเร็วสูงๆ
ได้นิ่ง และลดความเครียดในการควบคุมรถได้พอสมควร เมื่อเทียบกับรุ่น FB

การทรงตัวในย่านความเร็วสูง ไม่เกิน 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง นิ่งและมั่นใจได้
มากขึ้นกว่าเดิมชัดเจน ในสภาพที่ไม่มีกระแสลมปะทะด้านข้าง ตัวรถยังไม่มี
อาการวูบวาบใดๆให้หวาดเสียวเล่น แต่ถ้าเกิน 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง อาจต้อง
เพิ่มสมาธิในการควบคุมพวงมาลัยมากขึ้นเล็กน้อย เป็นธรรมดา แต่ยังคงไว้ใจ
ได้จนถึง Top Speed

การเปลี่ยนเลนกระทันหันที่ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง พบว่า อาการบั้นท้าย
สะบัดลดลงไปอย่างมาก ทั้งจากการออกแบบโครงสร้างตัวถังให้มีความแน่นหนา
มากขึ้น แต่…เหมือนช่นรุ่น Sedan เราคงต้องยกคุณงามความดี เกือบทังหมดให้
กับการทำงานของระบบควบคุมเสถียรภาพ VSA ที่ฉับไวใช้การได้

อาการของตัวรถในขณะเข้าโค้ง คล้ายคลึงกับ Sedan 1.5 Turbo RS แต่การใช้
สปริงที่ไม่แข็งเท่า ก็พอจะทำให้บั้นท้ายนุ่มกว่ากันนิดเดียว ชนิดที่ว่าถ้าไม่ถึงขั้น
จับสังเกตอาการกันดีๆ ก็เหมือนจะไม่พบความแตกต่าง

การทดลองเข้าโค้งยาวๆ ทั้ง 5 จุด ที่ผมใช้ทดลองประจำ Civic Hatchback สามารถ
พาผมเข้าโค้งเหล่านี้ได้ ด้วยความเร็ว เท่าๆกับรุ่น Sedan 1.5 RS Turbo เช่นกัน

บนทางด่วน โค้งขวารูปเคียว เหนือย่านมักกะสัน ต่อด้วยโค้งซ้าย เชื่อมเข้าทางด่วน
ขั้นที่ 1 ตรงเพลินจิต ฝั่งตรงข้าม โรงแรม Eastin ผมพา Civic Hatchback เข้าโค้ง
ด้วยความเร็วบนมาตรวัด ประมาณ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้ง 2 โค้ง ก็ถึงจุด Limit
ของตัวรถและยางติดรถแล้ว ทำความเร็วได้เท่ารุ่น Sedan Turbo RS

ขณะเดียวกัน บนทางโค้งขวา , ซ้ายยาว และโค้งขวาต่อเนื่อง ขึ้นจากทางด่วนขั้นที่ 1
เชื่อมขึ้นไปถึงทางยกระดับบูรพาวิถี ผมพา Civic Hatchback เข้าโค้งด้วยความเร็ว
100, 115 และช่วงโค้งขวาขึ้นบูรพาวิถี ทำได้ 126 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้อย่างสบายๆ
แต่ทั้งหมดนี้ก็ถึง Limit ที่ตัวรถและยางจะรับมือไหวแล้วเช่นเดียวกัน

ระบบห้ามล้อของรุ่น Hatchback ก็ยกมาจากรุ่น Sedan นั่นแหละ เป็น ดิสก์เบรกครบ
ทั้ง 4 ล้อ คู่หน้า มีรูระบายความร้อน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 282 มิลลิเมตร จานเบรก
หลังเป็นแบบธรรมดา เส้นผ่าศูนย์กลาง 262 มิลลิเมตร เสริมด้วยระบบป้องกันล้อล็อก
ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรก ตามน้ำหนักบรรทุก EBD
(Electronic Brake Force Distributor) และระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวขณะ
เข้าโค้ง VSA (Vehicle Stability Assist) รวมทั้งยังมีระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน
HSA (Hill Start Assist) เหมือนรุ่น Sedan

ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจครับ การตอบสนองของระบบเบรก ก็เหมือนกับรุ่น Sedan ชนิด
ไมมีผิดเพี้ยนเลยนั่นแหละ มันเป็นแป้นเบรกที่เซ็ตมาในแนวนุ่มนวล เหมาะสำหรับขับขี่
ไปตามสภาพการจราจรติดขัดในเมืองใหญ่ แต่ยังคงต้องเหยียบลงไปสัก 20% จึงจะ
เริ่มเห็นการทำงาน

แต่ในช่วงที่ต้องหน่วงรถลงมาจากย่านความเร็วสูง ถึงแม้จะให้ความมั่นใจได้ดี กระนั้น
ถ้าเบรกเกิดร้อนจัดๆ ก็ยังแอบมีอาการเบรกสั่น ให้ได้พบเห็นอยู่นิดๆ และถ้ายังยำแป้น
เบรกลงไปอีกครั้ง อาการ Fade จะเริ่มปรากฎให้เห็นขึ้นมานิดๆ ตามประสาผ้าเบรกจาก
โรงงานของ Honda เหมือนรุ่น Sedan เลยนั่นแหละ

สรุปว่า ระบบเบรกในภาพรวม เหมือน Civic Sedan แต่ยังด้อยกว่า Mazda 3 นิดหน่อย
มีข้อดีคือ แป้นเบรกมาในสไตล์นุ่มแน่น แปรผันการเบรก ตามการเหยียบของผู้ขับขี่เลย

2017_04_24_Honda_Civic_Hatchback_Turbo_Fuel_Consumption_01

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

หลายๆคน คงอยากรู้ว่า นอกเหนือจากตัวเลขอัตราเร่งที่เหมือนๆกันกับรุ่น Sedan
1.5 Turbo RS แล้ว Civic Hatchback จะประหยัดน้ำมัน พอๆกับรุ่น Sedan ด้วย
หรือเปล่า?

เราจึงทำการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม โดย พา Civic ทั้ง 2 คันนี้ ไปเติมน้ำมัน
Techron เบนซิน 95 ณ สถานีบริการ Caltex พงษ์สวัสดิ์บริการ ริมถนนพหลโยธิน
สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์

ในเมื่อ Civic Hatchback เป็นรถยนต์นั่งพิกัด ไม่เกิน 2,000 ซีซี. ประกอบในไทย
และมีค่าตัวต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท ซึ่งคุณผู้อ่าน ซีเรียสกับตัวเลขอัตราประหยัดน้ำมัน
มากกว่ารถยนต์ประเภทอื่น ดังนั้น เราจึงต้องเติมน้ำมันแบบเขย่ารถ จนกระทั่งน้ำมัน
เอ่อขึ้นมาถึงปากคอถัง อย่างที่เห็น ใช้เวลาขย่มราวๆ 45 นาที ต่อครั้ง จนเต็ม

2017_04_24_Honda_Civic_Hatchback_Turbo_Fuel_Consumption_02

หลังจากเติมน้ำมันเข้าไปจนเต็มถังขนาด 47 ลิตร เราก็เริ่มต้นการทดลองขับ
คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดเครื่องปรับอากาศ ด้วยพัดลมแอร์ เบอร์ 1
อุณหภูมิ 24 – 25 องศาเซลเซียส

เราออกจากปั้ม Caltex เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน หน้าปากซอยอารีย์สัมพันธ์
แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะไปออกแถวๆปากซอยโรงเรียนเรวดี ถึงถนน
พระราม 6 จากนั้น เลี้ยวขวาขึ้นไปบนทางด่วนสายอุดรรัถยา ขับมุ่งหน้าตรงไปยัง
ปลายสุดทางด่วน ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วน เส้นเดิม อีกรอบ
รักษาความเร็ว ตามมาตรฐานเดิม คือแล่นไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดเครื่อง
ปรับอากาศ เปิดไฟหน้ารถ และนั่ง 2 คน

เราพยายามรักษาความเร็วคงที่ด้วยการเปิด Cruise Control ช่วย ซึ่งนิสัยของ
ระบบล็อกความเร็วคงที่ ใน Civic Hatchback ก็เหมือนกับ Honda รุ่นอื่นๆ คือ
แทนที่รอบเครื่องยนต์จะถูกล็อกเอาไว้นิ่งๆ พร้อมกับความเร็วของรถ แต่กลับ
กลายเป็นว่า สมองกลพยายามรักษาตัวเลขความเร็วที่ได้สั่งล็อกเอาไว้เป็นหลัก
ช่วงขึ้นเนิน ต้องพักระบบ Cruise Control ไว้ชั่วคราว เลี้ยงคันเร่งให้รอบเท่าเดิม
แม้ความเร็วจะลดลงไปอยู่แถวๆ 105 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก่อนที่ผมจะเหยียบคันเร่ง
ไล่ความเร็วอย่างเบาๆ กลับขึ้นมาที่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง จึงเปิดระบบ Cruise
Control ทำงานตามเดิม

เมื่อลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน
เลี้ยวกลับที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อ
เติมน้ำมัน Techron เบนซิน 95 ณ หัวจ่ายเดิม

และเพื่อให้เหมือนกันกับการเติมครั้งแรก เรา ก็ต้องมาช่วยกันเขย่า โขยก ขย่มรถ
กันอีกจนกระทั่ง น้ำมันเต็มล้นเอ่อแน่นขึ้นมาถึงปากคอถังเช่นนี้ ตามมาตรฐานเดิม

สักขีพยานมาช่วยทดลอง และ เขย่า ก็ยังคงเป็น น้องเติ้ง กันตพงศ์ สมชนะ กับ
น้อง Joke V10ThLnD จาก The Coup Team ของเรา และคุณผู้อ่านแฟนประจำ
อย่างคุณ Napat Channual

2017_04_24_Honda_Civic_Hatchback_Turbo_Fuel_Consumption_03

มาดูตัวเลขที่รุ่น Hatchback 1.5 ลิตร Turbo ทำออกมา กันก่อน…

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 92.3 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.65 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 16.33 กิโลเมตร/ลิตร 

กินน้ำมันเพิ่มขึ้นจากรุ่น Sedan 1.5 Turbo RS ราวๆ 0.4 กิโลเมตร/ลิตร
แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะตัวเลขจาก ECO Sticker ที่
ทดสอบโดยหน่วยงานภาครัฐของไทย ก็ให้ผลในลักษณะเดียวกันนี้
(คือรุ่น Sedan จะประหยัดกว่า Hatchback นิดนึง) ถือว่าเป็นไปตาม
ความคาดหมาย

civic_hatchback_turbo_table2

แล้วน้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้ไกล กี่กิโลเมตร?
จากการใช้งานจริง หากคุณขับใช้งานแบบอีเรื่อยเฉื่อยแฉะ ใช้งานบน
ทางด่วน เจอรถติดไม่เยอะนัก โอกาสที่จะแล่นได้ถึง 530 กิโลเมตร ก็
เป็นไปได้ แต่ถ้าคุณเป็นประเภทจอมซิ่ง จอมมุด ปาด เขียด ตะขบ แล้ว
อย่าแปลกใจที่จะเห็น แถบเกจ์น้ำมันฝั่งขวาของชุดมาตรวัด จะหล่นลง
เร็วในระดับ ใกล้เคียงกับ มาตรวัดน้ำมันของ Sylphy Turbo!! และอาจ
ทำให้คุณแล่นได้แค่ราวๆ 400 กิโลเมตร ก่อนน้ำมัน หมดถึง ซึ่งนั่นก็
ถือว่า พอกันกับ Honda City และ Jazz ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ถึง
รุ่นปัจจุบัน ที่ถูกใช้งานในเมืองเป็นหลัก

2017_04_24_Honda_Civic_Hatchback_Turbo_04

********** สรุป **********
ต่างแค่บั้นท้าย นอกนั้น ขับเหมือน Sedan งานนี้ แล้วแต่จะเลือก!

ใครที่เคยเฝ้าถามอยู่ใน Internet หรือ Social Media ต่างๆ ว่า ทำไม Honda
ไม่เอา Civic ตัวถัง Hatchback เข้ามาขายเสียที จะเข้ามาหรือเปล่า ราคาละ
จะแพงไหม เท่าไหร่ เปิดตัวเมื่อไหร่ คงจะเลิกถามกันเสียทีได้แล้วนะครับ

วันนี้ Honda เขายอมเอาใจคนไทย กลุ่มที่อยากได้ Civic Hatchback แล้ว
แม้จะรู้ดีว่า ยอดขายจะมีไม่ค่อยเยอะก็ตามเถอะ

ถ้าจะถามว่า แล้วแตกต่างจากตัว Sedan อย่างไร?
คำตอบก็คือ บั้นท้ายและ Option อีกนิดหน่อย นั่นละ

ไล่กันตั้งแต่บานประตคู่หลัง พนักพิงเบาะหลัง เสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar
ฝาประตูห้องเก็บสัมภาระด้านท้าย ชุดไฟท้ายใหม่ เปลือกกันชนหน้า-หลัง
แบบใหม่ ลายรังผึ้งแนวดุดัน สปอยเลอร์ด้านหลังให้มา 2 ชิ้นรวด ใบปัดน้ำฝน
ด้านหลัง ไฟหน้าแบบรุ่น RS รวมทั้งเพิ่มม่านลมนิรภัยมาให้ รวมเป็นถุงลม
นิรภัยทั้งหมด 6 ใบ แต่ตัดระบบนำทาง Navigation System และ Honda
LaneWatch ออก เปลี่ยนชุดมาตรวัดเป็นสีฟ้า แต่มีมาตรวัด Boost Turbo
กับแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift มาให้ และเอาสวิตช์ปรับระดับเสียงของ
เครื่องเสียง บนพวงมาลัย ให้กลับเป็นแบบธรรมดา ไม่มีระบบ Swipe แล้ว

แค่นี้!

แล้วการขับขี่ละ ต่างจากตัว Sedan 1.5 Turbo หรือ 1.5 Turbo RS ไหม?
คำตอบก็คือ “ไม่แตกต่างกันมากนัก”

– อัตราเร่ง การตอบสนองของเครื่องยนต์ คันเร่ง เกียร์ เหมือนกันเป๊ะ!
– พวงมาลัย ก็เช่นเดียวกัน เซ็ตมาไว แต่น้ำหนักกำลังดี นิ่งใช้ได้ในความเร็วสูง
– ช่วงล่าง ด้านหลังจะแข็งขึ้นจาก Sedan 1.8 EL นิดเดียว แต่ยังไม่แข็งเท่ากับ
Sedan 1.5 Turbo RS ส่วนหนึ่งอาจเกี่ยวกับเนื้อยางแต่ละรุ่นที่คนละยี่ห้อกันด้วย
– เบรก เหมือนรุ่น  Sedan 1.5 Turbo RS
– ความสบายสำหรับผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านหน้า เหมือนกันเป๊ะ
– แอบคิดไปว่า นี่ตกลงเราขับ Accord ตัวถัง Hatchback ที่ใส่ช็อกอัพแข็งขึ้น
หรือเปล่าวะ?

จุดด้อยที่ควรปรับปรุง?

– Headroom ผู้โดยสารด้านหลัง แทบไม่เหลือพื้นที่เลย เมื่อเทียบกับรุ่น Sedan
– ถ้าได้ช่วงล่างรุ่น 1.5 Turbo RS มาเลย ก็ดี แต่แค่นี้ก็โอเคแล้วในระดับหนึ่ง
– อยากได้ผ้าเบรกที่ทนต่อการเบรกหนักๆ และอาการ Fade มากกว่านี้อีกหน่อย
– ชุดเครื่องเสียงที่ มีระบบปฏิบัติการ เวอร์ชันใหม่กว่านี้ ไม่ Hank ไม่เอ๋อง่าย

2017_04_24_Honda_Civic_Hatchback_Turbo_05

คู่แข่งในตลาด C-Segment Compact Class ในตอนนี้?

จากเท่าที่ลองศึกษากระแสและแนวคิดของผู้บริโภคแล้ว ผู้ที่คิดจะซื้อ Civic
Hatchback มักเป็นลูกค้าประเภท “ตั้งใจรอ” แบบไม่มองใคร รักเดียวใจเดียว
ฉันจะเอาคันนี้ เสียเป็นส่วนใหญ่ เรียกได้ว่า ทำการบ้านมาดีกว่าพนักงานขาย
ตามโชว์รูมเสียอีก ลูกค้ากลุ่มนี้ ต้องการรถยนต์ที่ช่วยเสริมสร้างบุคลิกความ
เป็นตัวของตนเองมากๆ

Mazda 3 Skyactiv
ครองใจหนุ่มสาวอินดี้ วัยทำงาน เด่นที่การบังคับควบคุมคล่องแคล่วและมั่นใจดี
เป็นอันดับต้นๆในกลุ่ม ประหยัดน้ำมันขึ้นกว่ารุ่นเก่าๆ แต่แรงกว่าเดิมเห็นๆ กระนั้น
เครื่องยนต์ยังไม่มี Turbo แบบที่มีใน Civic แถมยังไวต่อความสะอาดของน้ำมัน
เชื้อเพลิง และมีปัญหา ไฟ Check engine ขึ้น เมื่อเติมแก้สโซฮอลล์ E85 ด้วย
ได้ยินว่าปัญหาแก้ไขได้แล้ว ทั้งด้วยวิธีการด้านซอฟท์แวร์และเปลี่ยนอะไหล่
ด้านศูนย์บริการ ถึงจะเยอะขึ้นมาก เป็นร้อยๆแห่งทั่วประเทศ แต่ยังต้องพัฒนา
คุณภาพการบริการ และ การซ่อมบำรุงกันอีกสักหน่อย

Ford Focus
ตอนนี้เหลือแค่ รุ่น 5 Door 1.5 ECOBoost Turbo ไว้ทำตลาดเพียง 2 รุ่นย่อย
คือรุ่นพื้นฐาน กับรุ่น Top ตัวรถหนะ ขับขี่ดีที่สุดในกลุ่ม เกียร์อัตโนมัติเจ้าปัญหา
Dual Clutch Power Shift (หาย) ถูกถอดยกทิ้งไป แทนที่ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6
จังหวะ แบบปกติแทนเสียที ช่วยให้เปลี่ยนเกียร์ได้นุ่มนวลและต่อเนื่อง ขึ้นอีก
พะเรอเกวียน แต่คุณงามความดีของตัวรถที่มีทั้งหมด ต้องมาโดนบั่นทอนให้กับ
ความน่าหวั่นใจในการซ่อมบำรุงของศูนย์บริการ Ford ซึ่งขึ้นชื่อเสีย (ง) จนเลื่อง
ระบือลือชาในสารพัดด้าน (ลบ)

MG6
อุ้ยอ้ายและแดกน้ำมันมากที่สุดในกลุ่ม แต่ช่วงล่างก็เริ่ดเป็นอันดับต้นๆในกลุ่ม
(ถ้าไม่นับว่า เข้าโค้งแล้วหน้าดื้อไปหน่อย แถมตัวรถหนักอึ้งจนไม่คล่องแคล่ว
เท่าที่ควร) ต่อให้เพิ่มระบบการทรงตัวต่างๆ มาให้แน่นเอียด แต่เกียร์อัตโนมัติ
คลัตช์คู่ 6 จังหวะ ที่ถูกปรับปรุงใหม่ ยังทำงานไม่ดีพอเมื่อเทียบกับชาวบ้านเขา
ด้านศูนย์บริการ ยังไม่แพร่หลาย และพอมี Feedback ด้านลบให้ได้ยินมาบ้าง
เรื่องความล่าช้าในการเบิกอะไหล่

ถ้าหากยังยืนยันว่าจะเลือก Civic ใหม่ รุ่นย่อยไหนเหมาะกับคุณมากกว่ากัน?

ราคา Civic Sedan มีดังนี้
1.8 E CVT  869,000 บาท
1.8 EL CVT  959,000 บาท
1.5 Turbo CVT  1,099,000 บาท
1.5 Turbo RS CVT  1,199,000 บาท

ราคา Civic Hatchback มีดังนี้
1.5 Turbo CVT  1,169,000 บาท

ในเมื่อมีให้เลือกเพียงแค่รุ่นย่อยเดียว เท่ากับว่า ถ้าคุณต้องการตัวถังท้ายตัด
Hatchback 5 ประตู คุณก็ต้องย่อมจายเงินในราคาที่อยู่คั่นกลางระหว่างรุ่น
Sedan 1.5 Turbo รุ่นมาตรฐาน กับรุ่น RS ซึ่งเป็นตัวท็อป โดยไม่มีทางเลือก
อื่นใดให้อีกเลย แต่อุปกรณ์ที่ให้มา ก็ถือว่า ไม่ขี้เหร่ ไม่น่าเกลียดเท่าใดเลย
เมื่อต้องเทียบชั้นกับ รุ่น Sedan Turbo ทั้ง 2 รุ่นย่อย

2017_04_24_Honda_Civic_Hatchback_Turbo_06

Civic Hatchback นั้น ชวนให้ผมนึกเข้าสู่เรื่องในอดีต ที่เคยมีผู้ใหญ่เล่าให้ฟัง
ถึงการทำธุรกิจรถยนต์กับชาวต่างชาติว่า

“ถ้าอยากจะได้รถยนต์รุ่นแปลกใหม่เข้ามาขาย ก็ต้องขายรถรุ่นเดิมๆที่มีอยู่ให้
มียอดขายดีๆเสียก่อน พวกญี่ปุ่นถึงจะยอมปล่อยรถยนต์รุ่นที่เราต้องการเข้ามา
ให้เราทำตลาดได้”

ในมุมของผู้บริโภคแล้ว มันเป็นตรรกะ ที่บ้าบอคอแตกสิ้นดี แต่ในมุมของคนใน
แวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ มันคือตรรกะที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริงอันน่า
เจ็บปวดยิ่ง

ผู้บริโภคจะคิดว่า “ถ้าไม่เอารถยนต์รุ่นดีๆมาขาย แล้วมันจะสร้างยอดขายได้
อย่างไรกัน?” แต่ในมุมของคนลงทุนทำธุรกิจ เขาก็จะมองอีกแบบหนึ่งไปว่า
“ถ้ารถยนต์รุ่นปัจจุบัน ยังขายได้ไม่ดี แล้วจะเอาอะไรมารับประกันได้ว่าการสั่ง
รถยนต์รุ่นแปลกใหม่เข้ามาขาย จะช่วยให้ขายดีขึ้น? แน่ใจเหรอว่าจะมีคนซื้อ?”

ตรรกะ 2 แนวคิดนี้ เถียงกันไปก็ไม่จบหรอกครับ เหมือนคุณเถียงว่าไก่กับไข่
อะไรมันจะเกิดก่อนกันนั่นแหละ ต่างฝ่ายต่างคิดว่าตนเองมองถูกแล้วทั้งคู่

อย่างไรก็ตาม การมาถึงของ Civic Hatchback ใหม่ ได้พิสูจน์ให้เราเห็นว่า
ตรรกะของฝั่งผู้ประกอบการนั้น เป็นความจริง อยู่ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ยังต้องขึ้นกับ
องค์ประกอบและสภาพการณ์รอบด้าน ณ เวลาที่ต้องตัดสินใจด้วย

หากมองอีกมุม มันก็ดูราวกับว่า Civic Hatchback เป็นรถยนต์รุ่นที่ ฝั่งญี่ปุ่น
เขาก็คงจะ “ให้รางวัล” กับทีมงานฝั่งไทย ที่ช่วยกันผลักดันยอดขายให้ จน
Civic กลายเป็นรถเก๋ง C-Segment ที่มียอดขายสูงสุดในไทย (หากไม่นับ
รวม Taxi) มาได้จนถึงทุกวันนี้

ให้มาขายทั้งที่รู้อยู่แล้วละว่าขายไม่ค่อยดีแน่ๆ มันไม่ใช่เรื่องธรรมดาสำหรับ
Honda หรือผู้ผลิตรถยนต์รายใดในบ้านเรานักหรอกครับ!

ก็ต้องขอบคุณในความพยายามของทีมงานคนไทย ผู้อยู่เบื้องหลังการนำ
รถยนต์รุ่นนี้ เข้ามาประกอบขายในเมืองไทยกันทุกคนครับ เดาได้ว่าน่าจะ
เหนื่อยกันเอาเรื่อง กว่าที่ชาวญี่ปุ่นจะยอม ถึงขนาดนี้

ดังนั้น ใครก็ตาม ที่เคยร้องถามปาวๆ อยู่ใน Social Media ทั้งหลายว่า
เมื่อไหร่ Civic Hatchback จะมา นั้น

ตอนนี้ เขาเอามาขายคุณแล้ว ถ้าคิดว่าดูคันจริงแลัวอยากได้ กำลังเงินพอจะ
ซื้อไหว ก็ซื้อไปซะนะครับ

เพราะผมไม่รู้ว่า เราจะได้มีโอกาส เห็น Honda ยอมปล่อยของจากฝั่งยุโรป
และอเมริกาเหนือ มาให้ชาวไทยเราได้อุดหนุนกันแบบนี้ อีกที เมื่อไหร่…

————————-

ทางฝั่ง Honda เอง ก็เหมือนกัน จริงอยู่ว่าพักหลังมานี้ เสียงบ่นเรื่อง Defect
ของ Civic FC ก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่ผ่านพ้นช่วงเปิดตัวไป จาก
การเช็คข้อมูลกับซัพพลายเออร์บางราย ก็พบว่า ยอดเคลมชิ้นส่วนจากลูกค้า
Civic FC ค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นนิมิตรหมายอันดีสำหรับผู้บริโภค

แต่อย่าชะล่าใจ อย่าคิดว่า สถานการณ์ดีขึ้น แล้วจะหาเรื่องลดต้นทุนกันต่อ
ตามสไตล์ของบริษัทญี่ปุ่น ที่จะต้องทำกิจกรรมแบบนี้ หลังจากผ่านการผลิต
ออกจำหน่ายไปสักระยะ (เป็นกันทุกค่าย ทุกยี่ห้อ) เพราะยิ่งพยายามจะหา
กำไรมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่ ฝันร้ายเรื่อง Defect จะตามกลับมาหลอน
มันก็มีเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

บริการหลังการขาย ก็ยังต้องปรับปรุงกันต่อไป อย่าได้ละเลย อย่ามองลูกค้า
เป็นผู้ก่อกวนน่ารำคาญ ถ้าคุณทำรถมาเรียบร้อยแต่แรก ลูกค้าก็แฮปปี้ ไม่มา
กวนใจการทำงานของคุณให้เสียเวลาทำมาหากินของพวกเขาหรอก!

ลูกค้า ไม่ใช่พระเจ้า แต่ลูกค้า คือคนที่ทำให้คุณยังมีงานทำกันอยู่ทุกวันนี้

ถ้าคิดได้ดังนี้ เอาไปใส่ใจในงานที่ทำร่วมกันทุกคน กิจการก็จะก้าวหน้า
และ Honda ก็น่าจะยังนั่งอยู่ในใจผู้บริโภคได้อีกต่อไป…เหมือนที่ผ่านมา

นี่แหละ คือความจริง ที่หลายๆคนใน Honda รวมทั้งดีลเลอร์ของพวกเขา
บางแห่ง ก็อาจจะละเลยหลงลืมกันไปในช่วงพักหลังมานี้

——————————–///———————————

2017_04_24_Honda_Civic_Hatchback_Turbo_07

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Honda Automobile (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ

——————————————————————

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์ในต่างประเทศ ทั้งหมด เป็นของ Honda Motor Co.ltd

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
1 พฤษภาคม 2017

Copyright (c) 2017 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.

First publish in www.Headlightmag.com
May 1st,2017

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!