(Video Clip version of this Full Review is now available at the end of this article)
(วีดีโอ คลิป ทดลองขับ ของรถคันนี้ เลื่อนลงไป อยู่ด้านล่างสุดของบทความนี้ )

————————————

“ถ้านึกถึงชื่อ Corolla คุณจะนึกถึงอะไร?”

ผมลองโยนคำถามนี้ ลงไปใน Facebook ส่วนตัว บรรดาญาติสนิทมิตรสหาย ต่างพากันถล่ม Comment อย่างรวดเร็วเอาเรื่อง ทั้งที่เป็นเช้าวันอาทิตย์ ซึ่งมักเป็นช่วงเวลาที่ถูกวิจัยพบว่า ผู้คนจะเล่น Social Media น้อยมากๆ

คงต้องขอเลือก Comment ที่น่าสนใจ มาให้คุณๆได้อ่านกันสักหน่อย

“ตัวแทนความ กลางๆ Segment , Performance , F/C (Fuel Consumption) , Design , Etc. ยกเว้น Durability ที่โดดเด่นมาก เคยขับ น้ำแห้ง แล้วยังใช้มาได้อีกหลายปี” (จากคุณ Best Pimuk”)

“ทนทาน เชื่อถือได้ แท็กซี่” (คุณ Jirapol Rujivipat)

“แท็กซี่ ที่ผูกพันกับคนไทยมาอย่างช้านาน ทนทาน ซ่อมง่ายยย อะไหล่มีเกลื่อน” (จากคุณ ธนกร ดีบุญมี)

“เป็นรถที่ทนมาก สะเทินน้ำสะเทินบก และเพื่อนๆ ชองแซวตอนขับไปเรียน Taxi มาแล้วจ้า” (จากคุณ Kankawee Gomez)

“Taxi แน่นอนที่สุด เวลาจะเปิดตัวรุ่นใหม่ จะนึกในใจเสมอว่า ยี่คือการเปิดตัว Taxi รุ่นใหม่ ที่พวกเราจะได้นั่ง (จากคุณ Tuey Chuenprapar)

สังเกตได้ว่า คนไทย เอา ชื่อ Corolla ไปผูกโยงกับ Taxi มากๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ บรรดาสหกรณ์ หรืออู่ Taxi ในกรุงเทพฯ มักจะเหมาะซื้อ Corolla กันหลายๆคัน เอาไปปล่อยให้สมาชิกของตนได้เช่าขับ มาตั้งแต่รุ่น KE30 ช่วงหลังจากปี 1975 เป็นต้นมา และต่อให้คุณจะมองด้วยสายตาหยามเหยียดกันแค่ไหน ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า ในทางกลับกัน มันคือการพิสูจน์ความทนทานของ Corolla ให้ผู้บริโภคได้ประจักษ์ไปในตัว เหมือนเช่น บรรดา Toyota รุ่นเก่าๆ ที่เริ่มทำ Taxi ในเมืองไทย มาตั้งแต่ Toyopet Corona (Tiara) RT10 ตามด้วย Toyopet Corona RT40 ในปี 1964 และ Toyota Corona RT80 ในปี 1972 และจนถึงทุกวันนี้ Corolla ก็ยังคงพิสูจน์์คุณค่าของมันบนถนนเมืองไทยมาหลายทศวรรษ ในประเด็นนี้…

บ้างก็เอาไปผูกกับ อาหารการกิน เช่น…

“ต้มจืด” (คุณ Adin Adele Rta)

“ไข่เจียว ครับ หน้าตาเรียบๆดู Classic ปรับเปลี่ยนได้หลายเมนู แต่ไม่ทิ้งความเป็นไข่เจียว รสชาติกลางๆค่อนไปทางอร่อย ราคาสำหรับคนทั่วไป อยู่คู่คนไทยมานาน และจะอยู่ต่อไป” (คุณ Unique Shane)

“เหมือนข้าวผัดอะพี่ แก้หิว ไร้รสชาติ ทั่วโลกรู้จัก กินได้ทั่วไป แต่อิ่มคุ้มค่าแน่นอน The best simply” (จากคุณ Piyapong Pheunghua)

“เวียนเน็ตต้าอะ ดังตอนเราเด็กๆ พ่อแม่ขับ แต่โตมา มีเงินซื้อเอง ตัดออก Choice แรกเลย ดูแก่และ Taxi มากๆ” (คุณ Napaporn Eamdeengamlert ก็เอาไปเทียบกับ ไอศครีม Wall’s ตัวแพง ที่เพิ่งเอากลับมาขายเสียอย่างนั้น)

บางคน ก็เอาประสบการณ์ร่วมที่พวกเขาเจอมาในชีวิต พิมพ์ตอบมาดังนี้

“รถคันแรก ที่ขับไปเรียน…แล้วเพื่อนก็ดึงเบรกมือ หมุนไปชนกับ Taxi ฝั่งตรงข้าม” (จากคุณ Seng Bhongbhinit Suntrakulraksa)

“นึกถึงรถคันแรก ที่หลายๆคน ขโมยพ่อออกมาขับไปรับเพื่อนไปหลีหญิง แล้วก็เป็นรถคันแรกที่ขโมยเพื่อน ที่ขโมยพ่อมาอีกที ออกไปส่งหญิง มันเป็นรถในความทรงจำของวัยรุ่นตอนปลายๆ (จาก พี่ปลิ้น Pakpoom Plin Wannaseang)

“รถของคุณแม่ ใช้ไปรับไปส่ง ตั้งแต่ ม.ต้น จนจบ ม.ปลาย เป็นรถที่ทนชิบหาย” (จากคุณ Ravisut Kanitkunset)

“กิ๊ก!!!!….. ความลับสมัยเยาว์วัย ที่บอกใครไม่ได้ 555 แต่มี Corolla ประกอบฉาก” (จากพี่ Arun Samutsara)

แต่ Comment หนึ่ง ที่ผมว่า จริงที่สุด…คือ ข้างล่างนี้

“เอาจริงนะ ผมนึกถึงรถรุ่นหนึ่งที่อยู่กับคนไทยมานาน ส่งต่อความไว้ใจในแบรนด์จากรุ่นสู่รุ่น ปู่ใช้ พ่อขับ ลูกชอบ อะไรทำนองนี้ คล้ายๆครั้งหนึ่ง พี่โตเคยทำโฆษณาทำนองนี้ มีใหม่ เจริญปุระ ร้องเพลง “รักแล้วรักเลย” ประกอบ” (คุณ Keng Nattasak)

รถที่ทนทาน อะไหล่ให้เลือกใช้หลายเกรด แท้ เทียม แท็กซี่ หากเพื่อนซื้อรถมือสดง ก็ระบุโตโยต้า โคโรลลา ไปเลย ซ่อมนิดหน่อย ใช้นานๆ (จากคุณ Nat Jan Saengsri)

และ

“รถยนต์นั่งจากค่ายญี่ปุ่น ที่อยู่ยงคงกระพันคู่กับสังคมไทยมายาวนานหลายยุคหลายสมัย มีความคงทน ซ่อมง่าย และใช้งานได้ดีครับ นึกไม่ออกบอกไม่ถูก เลือกตัวนีไว้ก่อนฮะ (จากคุณ Fig Makornkewkeyoon)

ไม่ว่าทุกคนจะคิดเห็นกับ Corolla กันอย่างไร ความจริงก็คือ กว่า 54 ปีมาแล้ว ที่ Toyota เปิดตัว Corolla ออกสู่ตลาด นับตั้งแต่ปี 1966 เป็นต้นมา ยักษ์อันดับหนึ่งจากแดนอาทิตย์อุทัย ผลิต ส่งออก และจำหน่าย Corolla ใน 150 ประเทศทั่วโลก ไปแล้ว ในจำนวนรวมกว่า 48 ล้านคัน! และกลายเป็น 1 ใน 3 รถยนต์ที่ขายดีมากสุดในโลก ตลอดกาล ร่วมกับ Ford Model-T และ Volkswagen Beetle !! คงไม่ต้องอวดอ้างสรรพคุณอื่นใดให้เสียเวลากันอีก

ทว่า ในยุคสมัยปัจจุบัน ผู้คนแทบทั้งโลก พากันเปลี่ยนรูปแบบการซื้อรถยนต์ จากเดิมที่ ผู้คนในยุคปู่ยาตาทวด จนถึงคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เรา คุ้นชินกับรถเก๋ง Sedan จนกาลเวลาหมุนเวียนมาถึงยุคปัจจุบัน ที่บรรดา SUV พากันครองโลก เสียจนกระทั่งผู้ผลิตรถยนต์ ต่างพากันทำ SUV ออกขายเต็มโชว์รูมไปทั่วทุกหย่อมหญ้า คิดเอาแล้วกันว่า ขนาดผู้ผลิตรถยนต์กลุ่ม Super Sports Cars ทั้ง Aston Martin Ferrari Lamborghini Porsche และผู้ผลิตกลุ่ม Ultra Luxury อย่าง Bentley และ Rolls Royce ก็ยังแอบซุ่มพัฒนา SUV ของพวกตนออกขาย กันเป็นล่ำเป็นสัน ไม่ว่าจะเป็น Porsche Cayenne ที่ช่วยพลิกสถานภาพการเงินของผู้ผลิตรถสปอร์ตชาวเยอรมัน ให้ฟื้นกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง จนเริ่มเห็นอนาคต ทำญาติผู้น้องอย่าง Macan ออกมากวาดลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึง Lamborghini Urus , Aston Martin DBX , Ferrari Purosan (เลื่อนการเปิดตัวไปเป็น 2022) Bentley Bentayga หรือแม้แต่ Rolls Royce Cullinan ก็กลายเป็นตัวทำกำไรให้ผู้ผลิตรถยนต์เหล่านี้ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

สำหรับ ยักษ์อันดับหนึ่งจากแดนอาทิตย์อุทัยอย่าง Toyota แล้ว พวกเขามี SUV สารพัดรุ่น ที่พร้อมตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกมากมาย ถ้าคุณเปิดดู Website ของ Toyota ทั่วโลก ณ วันนี้ ปี 2020 คุณจะพบว่า Toyota มี SUV ให้เลือก มากมายถึง 11 รุ่นหลักๆ (ไม่นับบรรดารุ่นที่เลิกผลิตไปแล้วอีกนับไม่ถ้วน) ไล่กันตามพิกัดขนาด และตำแหน่งการตลาด ให้เหมาะสมกับการใช้งาน ได้ดังนี้

  • Toyota Raize : (ฝาแฝดร่วมกับ Daihatsu Rocky) พิกัด B-SUV 1.5 ลิตร เพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นเดือนมกราคม 2020 ขายเฉพาะในญี่ปุ่น เท่านั้น และขายดีใช้ได้ทีเดียว
  • Toyota Yaris Cross : Global B-SUV เน้นขายญี่ปุ่นและยุโรป เป็นเวอร์ชัน SUV ของ Yaris ทำตลาดแทน Toyota ist / Urban Cruiser วางเครืองยนต์ เบนซิน 3 สูบ 1.5 ลิตร ทั้งแบบ Turbo และ Hybrid THS-II เพิ่งเปิดตัวเมื่อ 23 เมษายน 2020
  • Toyota C-HR : รายละเอียดต่างๆ Click Here!
  • Toyota RAV4 : Global CD-Segment SUV ที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 1994 และขายดีทั่วโลก (ยกเว้นในไทย) แถมมีรุ่น PHV (Plug-in Hybrid) ออกมาขายควบคู่กันไปด้วย
  • Toyota Harrier : ต้นกำเนิดของ Lexus RX ในปี 1997 ก่อนถีบส่งให้ RX แยกไปลุยตลาดโลก ในปี 2008 ส่วน Harrier ถูกสานต่อและสงวนไว้เฉพาะลูกค้าชาวญี่ปุ่น ในรุ่นที่ 3 (เปิดตัว 2 ธันวาคม 2013 – 2020 ) พอถึงรุ่นที่ 4 (เปิดตัวในญี่ปุ่น 13 เมษายน 2020) จึงส่งไปบุกตลาดอเมริกาเหนือในฐานะ รุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ของ Toyota Venza Gen 2 วางเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ทั้งแบบ ธรรมดา แบบพ่วง Turbo และเบนซิน 2.5 Hybrid THS-II
  • Toyota Venza : เปิดตัวครั้งแรก พฤศจิกายน 2008 ขายเฉพาะในทวีปอเมริกา ทั้งเหนือและใต้ รวมทั้งตลาดส่งออกบางแห่ง วางเครื่องยนต์ เบนซิน 2.7 ลิตร และ เบนซิน V6 3.5 ลิตร แต่ขายไม่ดี เวอร์ชันอเมริกาเหนือเลยเลิกผลิตในเดือนมิถุนายน 2015 ส่วนตลาดส่งออก เลิกปี 2017 ก่อนที่ Toyota USA จะสั่ง Harrier รุ่นล่าสุด กลับเข้าไปขายใหม่ ในชื่อ Venza เมื่อ 18 พฤษภาคม 2020 วางขุมพลัง เบนซิน 2.5 ลิตร Hybrid THS-II
  • Toyota Highlander : แตกหน่อออกมาจาก Harrier / Lexus RX รุ่นแรก เปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2000 เคยขายในญี่ปุ่นด้วยชื่อ Toyota Kluger แต่ก็เลิกไปในภายหลัง ตอนนี้กลายเป็น SUV แบบใช้ Platform รถเก๋ง คันใหญ่สุด ที่ Toyota ทำขาย รุ่นล่าสุด Gen 4 เพิ่งเปิดตัวเมื่อ 17 เมษายน 2019 วางขุมพลัง เบนซิน V6 3.5 ลิตร และ เบนซิน 2.5 ลิตร Hybrid THS-II
  • Toyota Fortuner : เปิดตัวในไทยครั้งแรกในโลก เมื่อ พฤศจิกายน 2005 บนพื้นฐานรถกระบะ IMV (Hilux Vigo และ Revo) กลายเป็นเจ้าแห่งความกร่างเต็มถนนจนถึงทุกวันนี้
  • Toyota 4Runner : เปิดตัวในปี 1984 บนพื้นฐานของ Hilux Hercules Hero เริ่มดังจากญี่ปุ่น ไปทั่วโลก แต่หลังปี 2009 เริ่มเหลือทำตลาดไมกี่ประเทศ และเน้นที่อเมริกาเหนือเป็นหลัก รุ่นปัจจุบัน Gen 5 เปิดตัวเมื่อ วางเครื่องยนต์เบนซิน 2.7 ลิตร และ V6 4.0 ลิตร
  • Toyota Land Cruiser Prado : แตกหน่อออกมาจาก Land Cruiser ครั้งแรก เมื่อเดือนเมษายน 1990 วงตัวให้เป็นรุ่นหรูของ Land Cruiser 70 ที่เปิดตัวมาตั้งแต่พฤศจิกายน 1984 รุ่นปัจจุบัน Gen 4 เปิดตัวตั้งแต่ปี 2009 มีเครื่องยนต์ให้เลือกเยอะมก ทั้งเบนซิน และ Diesel ไล่ตั้งแต่ 2.7 ถึง 4.0 ลิตร
  • Toyota Land Cruiser V8 : Off-Road รุ่นแรกในประวัติศาสตร์ Toyota เปิดตัวครั้งแรกในฐานะรถจี๊ปทางทหาร BJ เมื่อเดือนมกราคม 1951 ก่อนจะแตกหน่อขยายสายพันธ์ออกไปเป็นจำนวนมาก รุ่นปัจจุบัน ตระกูล 200 เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2008 วางขายในอเมริกาเหนือ ยุโรปและตะวันออกกลางเป็นหลัก ขุมพลังเบนซิน V6 4.0 กับ 4.6 ลิตร รวมทั้ง V8 4.7 และ 5.7 ลิตร รวมทั้ง Diesel V8 4.5 ลิตร Turbo อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณพิจารณาดูให้ดีๆ จะพบว่า มันยังมีกลุ่มตลาดหนึ่ง ที่ดูเหมือนว่ายังขาดหายไป…นั่นคือพื้นที่ตรงกลางระหว่าง C-HR กับ RAV4 นั่นเอง…

จริงอยู่ว่า ในอดีต Toyota มี RAV4 ไว้รองรับความต้องการของลูกค้า ที่ต้องการ SUV พิกัด C-SUV มาตั้งแต่ปี 1994 ทั้งที่ความจริงแล้ว มันถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถัง และโครงสร้างวิศวกรรมร่วมกับ Toyota Corona / Carina / Celica มาตั้งแต่ต้น กระนั้น เมื่อ คู่แข่ง ทั้ง Honda CR-V , Nissan X-Trail , Mazda CX-5 ฯลฯ พยายามขยับขยายขนาดตัวรถให้ใหญ่โตขึ้น RAV4 เองก็จำเป็นต้องเติบโตขึ้นตามไป จนมีขนาดใหญ่ขึ้น กลายเป็นพิกัด CD-Segment และยังมีแนวโน้มว่าจะใหญ่โตขึ้นไปกว่านี้ได้อีก ลูกค้ากลุ่มครอบครัว ก็จะเริ่มต้องจ่ายเงิน ประมาณ 1,400,000 – 1,800,000 ล้านบาท (เมื่อเทียบกับค่าเงินในต่างประเทศ) เพื่อซื้อ RAV4 สักคัน

ส่วน C-HR ซึ่งถูกออกแบบมาเอาใจตลาดยุโรปเป็นหลัก ก็ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มครอบครัว ที่อยากได้ B หรือ C-SUV ในพิกัดราคา 800,000 – 1,400,000 บาท ได้มากเท่าที่ควร อันเนื่องมาจากรูปลักษณ์ที่เน้นความสปอร์ตมากจนทำให้ ดูไม่อเนกประสงค์นักในสายตาของลูกค้า

ขณะเดียวกัน ความนิยมของ SUV ในเมืองไทย ที่เพิ่มมากขึ้น ก็ช่วยกระตุ้นให้ ลูกค้าสายรักครอบครัว จำนวนมาก เกิดอยากจะลองหันมาใช้ SUV ดูสักคันเหมือนกับเพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมงานกันบ้าง แต่งบไม่ได้มากพอจะปีนขึ้นไปอุดหนุน Fortuner แต่ครั้นจะนำ RAV4 มาประกอบในเมืองไทย ราคาขายปลีก ก็อาจจะแพงในระดับเดียวกับ Fortuner จนแย่งยอดขายกันเองได้ ดังนั้น Toyota จึงต้องพัฒนา SUV รุ่นใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกรุ่น บนพื้นตัวถัง TNGA-C เหมือนกับ Corolla และ C-HR โดยมุ่งเน้น ด้านอรรถประโยชน์ใช้สอยสูงสุด ให้เหนือกว่า C-HR และคู่แข่งพิกัดเดียวกัน

นั่นคือ ที่มา ของ C-SUV ขนาดกลางรุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งถูกตั้งชื่อว่า…

Corolla CROSS…!!

พูดกันตามตรง ครั้งแรกที่ได้ยินว่า C-SUV คันนี้ จะถูกใช้ชื่อว่า Corolla Cross ผมนี่ถึงกับด่าออกรายการวิทยุ DR!VE By J!MMY FM98.0 EDS ตอนบ่ายวันเสาร์ 14.00 น. เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2019 เลยว่า

“คนญี่ปุ่น ในทุกบริษัทรถยนต์ ยุคหลายปีมานี้ ช่าง สิ้นคิด ในการตั้งชื่อรถยนต์รุ่นใหม่กันแล้วหรือยังไง? อย่าง Mitsubishi Motors ก็ชอบเอาคำว่า Plus , Sport กับ Cross ไปแปะใส่ท้ายชื่อรุ่นดั้งเดิม เมื่อครั้งจะแตกหน่อออกมาเป็นรถยนต์รุ่นใหม่…เช่น Triton Plus , Pajero Sport , Eclipse Cross เป็นต้น นี่ Toyota ก็เอากับเขาบ้างแล้วเหรอเนี่ย? มีชื่อให้เลือกอีกตั้งเยอะตั้งแยก ในคลังชื่อเก่าๆของพวกเขา ทำไมไม่ขุดมาใช้กันละ?”

แต่ยิ่งเวลาผ่านไป ยิ่งหลังจากที่รถคันนี้ ถูกเปิดตัวสู่สายตาสาธารณชน ยิ่งได้เห็นบนท้องถนน ผมเริ่มรู้สึกว่า “กูคิดผิด”

ข้อแรก ตอนนี้คุณเริ่มเห็นชัดเจนแล้วใชไหมครับว่า ทำไม Toyota ถึงต้องใส่ Subname ให้กับ Corolla Altis ในเมืองไทย มาตั้งแต่ปี 2000 ? เหตุผล ไม่เพียงแค่จะยกระดับ Corolla ให้เหนือขึ้นไปกว่าปกติ เมื่อเทียบกับเวอร์ชันอื่นๆในตลาดทั่วโลกแล้ว พวกเขา ยังเผื่อไว้สำหรับการแตกหน่อออกตัวถังใหม่ ในตระกูลเดียวกันอย่างนี้ด้วย

ข้อต่อมา ความจริง Toyota จะสรรหาชื่ออื่นที่พวกเขาเคยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอาไว้ มาใช้ก็ได้ แต่เพื่อให้เห็นภาพลักษณ์ของตัวรถที่เด่นชัดว่า ถูกสร้างขึ้นมา ให้เป็น C-SUV ร่วมตระกูลเดียวกันกับ Corolla รวมทั้งยังมีบุคลิกหลักๆ เฉกเช่นญาติพี่น้องร่วมตระกูล Corolla พวกเขาจึงเลือกที่จะนำชื่อ Corolla มาใช้กับ C-SUV คันนี้ โดยต้องเพิ่มคำว่า Cross ตามหลัง เพื่อแยกความแตกต่างจากตัวถัง Sedan ในสายตาผู้บริโภคอีกด้วย

ข้อสุดท้าย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การอ่านเกมที่ขาด ทะลุปรุโปร่งของ Toyota ในครั้งนี้ ช่วยให้พวกเขาอยู่รอดได้ท่ามกลางสถานการณ์ การระบาดของ Covid-19 ตลอดปี 2020 ได้อย่างเส้นยาแดงผ่าแปด เพราะในขณะที่คู่แข่งทั้งหลาย ได้แต่ประคับประคอง เอาตัวรอดกันอยู่นั้น Toyota กลับทำยอดสั่งจอง และยอดขาย Corolla Cross รวมแล้ว เกินกว่า 7,000 คัน อย่างรวดเร็ว หากวันนี้ คุณเพิ่งเซ็นใบสั่งจอง Corolla Cross ไปหมาดๆ คุณอาจต้องรอนานถึงต้นปีหน้า กว่าจะได้รับรถ นั่นทำให้ชาว Toyota หลายๆคน ถึงกับเรียก SUV คันนี้ว่า “พระผู้ช่วยให้รอด”!!

จนถึงตอนนี้ เชื่อว่า หลายคนคงยังสงสัยว่า คุณควรจะเลือก Corolla Cross ดีหรือไม่? แล้วขุมพลังเบนซิน กับ เบนซิน Hybrid แบบไหน จะเหมาะกับชีวิตของคุณมากกว่ากัน? จะยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นไปเล่นรุ่นย่อยที่สูงขึ้นดีไหม? หรือว่า จะยอมอยู่กับรุ่นเบนซิน Sport ธรรมดา แล้วเก็บรถไว้ใช้งานยาวๆกันดี? บทความนี้ น่าจะทำให้คุณมีคำตอบในใจชัดเจนขึ้นได้แน่ๆ

แต่ก่อนอื่น เราควรจะเข้าใจความเป็นมาของรถคันนี้กันสักเล็กน้อย และคนที่จะเล่าให้คุณฟังได้ชัดเจนสุด ก็คงต้องเป็น หัวหน้าทีมวิศวกร คนที่ทำรถคันนี้ออกมา นั่นแหละครับ…

Mr,Daizo Kameyama , Chief Engineer หรือหัวหน้าทีมวิศวกรพัฒนา Corolla Cross จาก Toyota Motor Corporation เล่าว่า

“Corolla เป็นรถยนต์ที่ได้รับความนิยมมาทุกยุคสมัย และเมื่อย้อนกลับไปในแต่ละรุ่น Corolla ก็สามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี เช่นในยุคทศวรรษ 1980 ที่ ลูกค้า มองหาสมรรถนะการขับขี่ เราเคยทำ Toyota Corolla Levin / Sprinter Trueno AE86 ออกมาเอาใจผู้บริโภค หรือในยุคปี 1997 ถึงต้นทศวรรษ 2000 เริ่มเกิดกระแสความต้องการรถยนต์ Minivan 7 ที่นั่ง ขนาดเล็กในยุโรป เราจึงพัฒนา Toyota Corolla Spacio และ Corolla Verso ออกสู่ตลาด แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความต้องการของผู้คนก็เปลี่ยนแปลงตาม กระแสของรถยนต์ SUV กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้น การที่เราพัฒนา Corolla ตัวถัง SUV ออกมา ในราคาที่สามารถ จับต้องได้ ก็เป็นไปตาม เอกลักษณ์ของ Corolla ซึ่งจะต้องตอบสนองต่อความต้องการของตลาดให้ดีที่สุด”

“รถยนต์รุ่นนี้ ถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิด Corolla Meets SUVซึ่งก็คือ การนำ DNA ของรถยนต์รุ่น Corolla อันได้แก่การเป็นรถยนต์ครอบครัว ซึ่งมีขนาดเหมาะสม ภายในกว้างขวาง สมรรถนะที่เพียงพอต่อการใช้งาน ทนทาน ไว้ใจได้ ในราคาที่ทุกคนก็เป็นเจ้าของได้ ในแทบทุกยุคสมัย มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นรถยนต์อเนกประสงค์ SUV (Sport Utility Vehicle) รุ่นใหม่ ซึ่งมีขนาดตัวถังในกลุ่ม C-Segment SUV บนพื้นตัวถัง TNGA-C Platform ร่วมกับ Corolla Altis กับ C-HR”

จุดเด่นสำคัญ ของ Corolla Cross คือ สมรรถนะและประโยชน์ใช้สอย ที่เหนือกว่าความคาดหมายของลูกค้า แฝงมากับรูปลักษณ์ภายนอก ซึ่ง ถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิด Urban Toughness (ความแข็งแกร่งสำหรับชีวิตในเมือง) ซึ่งเห็นได้ชัดเส้นสายด้านนอก และการออกแบบให้ชวงล้อ (Wheels Thread) จากฝั่งซ้าย ไปขวา ที่กว้างกว่ารถยนต์ในพิกัดเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ขนาด 487 ลิตร ซึ่งมากกว่ารถยนต์ในพิกัดเดียวกัน รวมทั้งบานประตูคู่หลังที่เปิดกางออกได้กว้างมาก เพื่อความสะดวกต่อการขึ้นลง รวมทั้งยังมีพื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับผู้โดยสารแถวหลัง ค่อนข้างมาก และจำนวนกระจกหน้าต่างรวมกันมากถึง 10 ชิ้น เพื่อเพิ่มทัศนวิสัยรอบคันให้ดีขึ้น

เรามั่นใจว่ารถยนต์อเนกประสงค์คันนี้ เต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ดึงดูดใจ ทั้งความสวยงามโฉบเฉี่ยวล้ำสมัย แฝงไว้ด้วยความทรงพลัง กระตุ้นและมอบแรงบันดาลใจให้ผู้ขับขี่ออกไปเผชิญความท้าทายใหม่ๆ โดยมอบความสะดวกสบายและอรรถประโยชน์ใช้สอยอย่างเหนือระดับในทุกด้าน”

Toyota เปิดตัว Corolla Cross เป็นครั้งแรกในโลก ที่ประเทศไทย เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 9 กรกฎาคม 2020 ณ ศูนย์ทดลองขับ Toyota Driving Experience (TDEX) ริมถนนบางนา-ตราด กม.3 โดยเป็นการเปิดตัวแบบเชิญสื่อมวลชนมาทดลองขับรถคันจริง ร่วมกับการนำเสนอ File Video บันทึกเทปไว้ แต่ยิงออกอากาศทั่วโลกผ่าน Facebook Live พร้อมกันกับการปล่อยชุดภาพข่าวประชาสัมพันธ์ ร่วมกันกับทางสำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นวิธีการที่ Toyota เคยทำมาแล้ว กับการเปิดต้ว Hilux Revo Minorchange / Fortuner Minorchange เมื่อช่วงก่อนหน้านั้นเพียง 1 เดือน

ผลตอบรับจากลูกค้าชาวไทย ถือว่าดีเกินคาด เพราะเพียงระยะเวลาหลังงานเปิดตัว 3 เดือนแรก Toyota ได้รับยอดสั่งจอง Corolla Cross มากถึง 5,855 คัน และคาดว่า กว่าที่ต้นฉบับนี้จะปล่อยออกสู่สายตาของคุณๆ ยอดสั่งจอง น่าจะเกินขึ้นไปกว่า 7.000 คัน แล้ว

จากนั้น ตลาด Vietnam เป็นประเทศลำดับ 2 ที่ Toyota นำ SUV คันนี้ไปเปิดตัว เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2020 โดย Toyota Motor Vietnam ใช้วิธีสั่งนำเข้าจากโรงงาน Gateway ในเมืองไทย แบบสำเร็จรูปทั้งคัน (CBU : Complete Built Unit) มีให้เลือกรวม 3 รุ่นย่อย คือ เบนซิน 1.8 G , 1.8 V และ Hybrid 1.8 HV โดยมีการตกแต่งให้แตกต่างจากเวอร์ชั่นไทยเล็กน้อย ด้วยการเพิ่มแถบคาดกระจังหน้าผ่านโลโก้, คิ้วช่องดักลมกันชนหน้า, คิ้วกลางไฟท้าย และ คิ้วไฟทับทิมในกันชนหลัง ทั้งหมดนี้เป็นสีโครเมี่ยมในรุ่นเบนซิน และ สีฟ้าในรุ่น Hybrid รายละเอียดต่างๆ Click อ่านต่อได้ที่นี่ Click Here

เพียง 1 วันให้หลัง P.T. Toyota Astra ผู้ผลิตและจำหน่าย Toyota ใน Indonesia ก็ส่ง Corolla Cross ขึ้นโชว์รูมแดนอิเหนา ตามมาติดๆ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2020 ที่ผ่านมา ชูจุขายสำคัญด้วย ขุมพลัง Hybrid รวมทั้ง Power Moonroof และ ฝา้ายเตะเปิดไฟฟ้า แบบเดียวกับเวอร์ชันไทย

ล่าสุด เวอร์ชัน Taiwan เผยโฉมไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2020 โดยทาง Hotai Motor ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ Toyota ใน Taiwan เปิดเผยรายละเอียดทางเทคนิค และจุดเด่นด้านอุปกรณ์ความปลอดภัย ซึ่งเหมือนกับเวอร์ชันไทย ทุกประการ แต่พวกเขาเลือกจะใช้วิธี เปิดรับจอง Pre-order กันก่อน ภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์หลังจากนั้น Hotai Motor ประกาศ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2020 ว่า ชาว Taiwan พากันสนใจสั่งจอง Corolla Cross ใหม่ มากถึง 3,000 คัน ในระยะเวลาเพียง 25 วัน เท่านั้น ส่วนการเปิดตัว และส่งขึ้นโชว์รูมใน Taiwan เพิ่งมีขึ้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2020 ที่ผ่านมา สดๆร้อนๆ

มิติตัวถังภายนอก / Dimension & Comparison

Corolla CROSS มีมิติตัวถังภายนอก ยาว 4,460 มิลลิเมตร กว้าง 1,825 มิลลิเมตร สูง 1,620 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,640 มิลลิเมตร รุ่นที่ติดตั้งล้อ ขนาด 18 นิ้ว จะมีความกว้างช่วงล้อหน้า 1,559 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหลัง 1,571 มิลลิเมตร ส่วนรุ่นที่ติดตั้งล้อ ขนาด 17 นิ้ว จะมีความกว้างช่วงล้อหน้า 1,569 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหลัง 1,581 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากพื้นถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 161 มิลลิเมตร ความจุถังน้ำมันของรุ่นเบนซิน มีขนาด 47 ลิตร ส่วนรุ่น Hybrid มีขนาด 36 ลิตร

เมื่อเปรียบเทียบกับพี่น้องร่วมค่ายที่ใช้แพลตฟอร์มเดียวกัน อย่าง C-HR ซึ่งมีมิติตัวถังภายนอก ยาว 4,360 มิลลิเมตร กว้าง 1,795 มิลลิเมตร สูง 1,565 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,640 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถึงใต้ท้องรถ 154 มิลลิเมตร จะพบว่า Corolla CROSS ใหญ่โตกว่าในทุกมิติ ยาวกว่าถึง 100 มิลลิเมตร กว้างกว่า 30 มิลลิเมตร สูงกว่า 55 มิลลิเมตร Ground Clearance สูงกว่า 7 มิลลิเมตร แต่มีระยะฐานล้อยาวเท่ากัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขนาดตัวรถในภาพจะใหญ่โตขึ้นกว่า C-HR แต่น้ำหนักตัวรถที่ระบุใน Eco Sticker ของหน่วยงานรัฐบาลไทย กลับน้อยกว่า C-HR โดย Corolla CROSS Hybrid Premium Safety จะมีน้ำหนักตัวรถ อยู่ที่ 1,430 กิโลกรัม น้อยกว่า C-HR Hybrid Hi ซึ่งมีน้ำหนักตัวรถ อยู่ที่ 1,460 กิโลกรัม และ Corolla CROSS 1.8 Sport มีน้ำหนักตัว อยู่ที่ 1,395 กิโลกรัม น้อยกว่า C-HR 1.8 Mid ซึ่งมีน้ำหนักตัวรถ อยู่ที่ 1,405 กิโลกรัม

เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกันที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อช่วงต้นปี อย่าง Nissan Kicks e-POWER ซึ่งมีมิติตัวถังภายนอกยาว 4,290 มิลลิเมตร กว้าง 1,760 มิลลิเมตร สูง 1,615 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,615 มิลลิเมตร จะพบว่า Corolla CROSS ยาวกว่าถึง 170 มิลลิเมตร กว้างกว่า 65 มิลลิเมตร สูงกว่า 5 มิลลิเมตร แถมยังมีระยะฐานล้อยาวกว่า 25 มิลลิเมตร

หากเปรียบเทียบกับ Mazda CX-30 ซึ่งมีมิติตัวถังภายนอกยาว 4,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,795 มิลลิเมตร สูง 1,540 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,655 มิลลิเมตร จะพบว่า Corolla CROSS ยาวกว่า 65 มิลลิเมตร กว้างกว่า 30 มิลลิเมตร สูงกว่า 80 มิลลิเมตร แต่มีระยะฐานล้อสั้นกว่า 15 มิลลิเมตร

หากเปรียบเทียบกับ Honda HR-V (RS) ซึ่งมีมิติตัวถังภายนอกยาว 4,346 มิลลิเมตร กว้าง 1,790 มิลลิเมตร สูง 1,605 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,610 มิลลิเมตร ก็จะพบว่า Corolla CROSS ยาวกว่าถึง 114 มิลลิเมตร กว้างกว่า 35 มิลลิเมตร สูงกว่า 15 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อยาวกว่า 30 มิลลิเมตร

หรือเปรียบเทียบกับ MG ZS ซึ่งมีมิติตัวถังภายนอกยาว 4,323 มิลลิเมตร กว้าง 1,809 มิลลิเมตร สูง 1,653 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,585 มิลลิเมตร ก็จะพบว่า Corolla CROSS ยาวกว่าถึง 137 มิลลิเมตร กว้างกว่า 16 มิลลิเมตร แต่เตี้ยกว่า 33 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อยาวกว่า 55 มิลลิเมตร

หรือต่อให้เปรียบเทียบกับ Subaru XV ซึ่งมีมิติตัวถังภายนอกยาว 4,465 มิลลิเมตร กว้าง 1,800 มิลลิเมตร สูง 1,615 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,665 มิลลิเมตร ก็จะพบว่า Corolla CROSS สั้นกว่าเพียง 5 มิลลิเมตร แต่กว้างกว่า 25 มิลลิเมตร สูงกว่า 5 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อสั้นกว่า 25 มิลลิเมตร

จากตัวเลขข้างต้น จะเห็นได้ว่าตัวถังภายนอกของ Corolla CROSS นั้น มีขนาดใหญ่โตกว่าคู่แข่งในพิกัดเดียวกัน อย่าง Nissan Kicks, Mazda CX-30, Honda HR-V รวมถึง MG ZS ในเกือบทุกมิติ และมีขนาดใกล้เคียงกับ Subaru XV

ภายนอก / Exterior

รูปลักษณ์ภายนอก ด้านหน้า โดดเด่นด้วยกระจังหน้ารูปทรงตัว U คว่ำลง ชวนให้นึกถึงคนที่กำลังทำหน้าตาบึ้งตึง จนโดนหลายคนแซวว่า “หน้าตาคล้ายนางร้ายในตำนาน กิ๊ก สุวัจนี (ชัยมุสิก) พานิชชีวะ ตอนทำท่าทางเบะปากคว่ำ” ตั้งแต่นาทีแรกที่ภาพ Official ของ Corolla CROSS ถูกเผยออกสู่สายตาคนไทย

ซี่กระจังหน้าเป็นรูปตัว U เรียงซ้อนกันในแนวนอน คล้ายแผงรังผึ้ง รุ่น 1.8 Sport และ Hybrid Smart จะเป็นซี่จังหน้าสีดำ ส่วนรุ่น Hybrid Premium และ Hybrid Premium Safety จะเป็นสีดำเงา ล้อมกรอบด้านในด้วยแถบสีเงิน Metallic

ชุดโคมไฟหน้า ของรุ่น 1.8 Sport จะเป็นแบบ Bi-Beam Projector Lens (ไฟสูง และไฟต่ำ รวมอยู่ในเลนเดียวกัน) ให้แสงสว่างด้วยหลอด Halogen ไฟเลี้ยวเป็นหลอดไส้ธรรมดา พร้อมไฟส่องสว่างในเวลากลางวัน Daytime Running Light แบบหลอด Halogen เช่นเดียวกัน แต่ชุดไฟหน้าของรุ่น Hybrid จะเป็นแบบ Full-LED ประกอบด้วย ไฟต่ำ – ไฟสูง แบบ Bi-Beam LED ไฟเลี้ยวแบบ LED ที่มุมด้านในสุดของโคมไฟ และไฟส่องสว่างในเวลากลางวัน Daytime Running Light แบบ LED Light Guiding พร้อมตกแต่งรายละเอียดภายในโคมด้วยพลาสติกสีฟ้า เพื่อเพิ่มความ Exclusive ให้กับรุ่น Hybrid

ชายขอบด้านล่าง และกรอบของช่องดักอากาศ บนเปลือกกันชนหน้า ของทุกรุ่นย่อย ประดับด้วยชิ้นงานพลาสติกสีดำ ตามสไตล์รถ Crossover ทั่วไป มุมซ้าย – ขวาของช่องดักอากาศ ในรุ่น Hybrid Premium และ Hybrid Premium Safety จะเป็นไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบ LED ส่วนรุ่นอื่นจะเป็นเพียงช่องวงกลม ที่ถูกปิดเอาไว้ เพื่อให้สามารถติดตั้งไฟตัดหมอกจากศูนย์บริการเพิ่มเติมได้ในภายหลัง

เมื่อมองจากด้านข้าง จะพบกับการออกแบบแนวกระจกหน้าต่างรอบคัน แบบ 6 Windows แบบเดียวกับที่พบได้ในรถยนต์ Crossover/SUV ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ กรอบหน้าต่างของรุ่น 1.8 Sport และ Hybrid Smart จะเป็นสีดำ แต่รุ่น Hybrid Premium และ Hybrid Premium Safety จะประดับแถบโครเมียมเพิ่มเติมมาให้ มือจับเปิดประตูด้านนอกของทุกรุ่นเป็นสีเดียวกับตัวรถ ชายขอบประตูด้านล่าง รวมถึงคิ้วซุ้มล้อทั้ง 4 ตกแต่งด้วยพลาสติกสีดำ ตามสไตล์รถยนต์ SUV ด้านบนสุด เป็นเสาอากาศแบบครีบฉลาม นอกจากนี้ รุ่นท็อป Hybrid Premium Safety จะติดตั้งราวหลังคา Roof Rack มาให้ เพิ่มความอเนกประสงค์รองรับการบรรทุกสัมภาระ และสร้างความแตกต่างจากรุ่นอื่นๆ ได้ทันที เมื่อมองจากภายนอก

ด้านท้ายรถ ของรุ่น 1.8 Sport จะได้ชุดไฟท้ายแบบธรรมดา ไฟหรี่ และไฟเบรก เป็นหลอด LED ทรงกลม แต่ไฟเลี้ยว และไฟถอย เป็นหลอดไส้ ส่วนไฟตัดหมอกหลังเป็นแบบ LED มีมาให้แค่ฝั่งซ้าย ฝั่งเดียว เท่านั้น ขณะเดียวกัน ชุดไฟเบรกหลังของรุ่น Hybrid จะเป็นแบบ LED Light guiding แต่ไฟเลี้ยว และไฟถอย ยังคงเป็นหลอดไส้ และไฟตัดหมอกหลังเป็นแบบ LED เช่นเดียวกับรุ่น 1.8 Sport

กระจกบังลมหลังของทุกรุ่นย่อย จะมีระบบลวดไล่ฝ้า ก้านปัดน้ำฝน พร้อมระบบฉีดน้ำทำความสะอาด ด้านบนสุด เป็นสปอยเลอร์หลังสีเดียวกับตัวรถ พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED ติดตั้งสัญลักษณ์ Corolla CROSS มาให้เหนือช่องติดแผ่นป้ายทะเบียน ชายล่างของเปลือกกันชนหลังตกแต่งด้วยพลาสติกสีดำ เสริมด้วยพลาสติกสีเดียวกับตัวรถ มุมด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง เป็นแผงไฟทับทิมเรืองแสงสีแดง วางในแนวทแยง รับกับเส้นสายขององค์ประกอบอื่นๆ ด้านท้ายรถ

ล้อและยาง ของรุ่น 1.8 Sport จะเป็นล้ออัลลอย ขนาด 17 นิ้ว แต่ถูกครอบด้วยฝาครอบล้อพลาสติกอีกทีหนึ่ง เพื่อลดอากาศหมุนวนที่ล้อ ในขณะที่รุ่น Hybrid Smart จะเป็นล้ออัลลอย ลาย 10 ก้าน ขนาด 17 นิ้ว ทั้ง 2 รุ่นนี้ จะรัดด้วยยาง Bridgestone Alenza 001 ขนาด 215/60 R17 ส่วนรุ่น Hybrid Premium และ Hybrid Premium Safety จะเป็นล้ออัลลอย สีทูโทน ปัดเงา ลาย 10 ก้าน ขนาด 18 นิ้ว รัดด้วยยาง Michelin Primacy 4 ขนาด 225/50 R18

ภายในห้องโดยสาร / Interior

ระบบกลอนประตูของทุกรุ่นย่อย เป็นรีโมทคอนโทรล Smart Keyless Entry พร้อมกุญแจ Wave key แบบฝังไว้ด้านในตัวรีโมท เมื่อพกกุญแจ เดินเข้าใกล้รถ แล้วเอื้อมมือไปจับมือเปิดประตู ระบบจะปลดล็อกให้อัตโนมัติ และหากต้องการสั่งล็อกประตู ก็สามารถทำได้โดยการสัมผัสเบาๆ ที่ขีด 2 ขีด ด้านข้างมือจับประตู หรือ จะกดปุ่มล็อก ปลดล็อก ที่กุญแจรีโมท เพื่อสั่งงานจากระยะไกล ก็ได้เช่นกัน

รีโมทคอนโทรล ของรุ่น 1.8 Sport จะมีฝาครอบด้านนอกเป็นพลาสติกสีดำด้าน ตกแต่งด้วยสีดำเงา ประดับสัญลักษณ์ Toyota พร้อมสัญลักษณ์ชื่อรุ่น Corolla CROSS สวิตช์บนรีโมท ประกอบด้วย สวิตช์สั่งล็อก – ปลดล็อก และสวิตช์ Panic Alarm

แต่รุ่น Hybrid สัญลักษณ์ Toyota จะถูกแรเงาพื้นด้วยสีน้ำเงิน เพื่อบ่งบอกว่าเป็นกุญแจสำหรับรุ่น Hybrid นอกจากนี้ สำหรับรุ่น Hybrid Premium และ Hybrid Premium Safety ยังเพิ่มสวิตช์สั่งเปิด – ปิด ฝาท้ายมาให้ ใช้งานร่วมกับระบบเปิด – ปิด ฝาท้ายแบบไฟฟ้า พร้อมระบบป้องกันการหนีบ อีกด้วย

ทุกรุ่นย่อย จะถูกติดตั้งกุญแจนิรภัย Immobilizer และสัญญาณเตือนการโจรกรรม TDS (Theft Deterrent System) มาให้เป็นระบบรักษาความปลอดภัยมาตรฐาน จากโรงงาน

การเข้า -ออก จากบานประตูคู่หน้า ทำได้สะดวกโยธินขึ้นกว่า C-HR พอสมควร เนื่องจากความกว้างของช่องประตู ค่อนข้างเยอะกว่ารถเก๋งจากยุโรปหลายรุ่น อีกทั้งตำแหน่งเบาะนั่ง ถูกติดตั้งไว้ให้มีจุด Hip Point อยู่ในระดับที่ “เหมาะสม” ในสไตล์เดียวกับ Subaru Forester หรือ XV ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถหย่อนก้นลงไปบนเบาะ แล้วค่อยหันตัวยกขาเข้าไปในรถ ได้อย่างสะดวกสาย (ถ้าคุณปรับเบาะนั่งกดลงไปในตำแหน่งต่ำสุด) และการก้าวลงจากรถ ก็จะสะดวกมาก สำหรับคนที่มีสรีระปกติ

นอกจากนี้ บานประตูทั้ง 4 ยังถูกออกแบบให้ชายล่าง ครอบคลุมลงไปจนถึงพื้นตัวถังด้านล่าง ช่วยลดปัญหาขากางเกงหรือชายกระโปรง เปื้อนฝุ่นโคลนบริเวณขอบใต้ท้องรถ ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างเสากรอบด้านบน แม้จะตั้งชันขึ้นมากกว่า C-HR ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวก ลดการก้มหัวเข้าไปนั่งในรถแล้ว แต่ในบางกรณี หากคุณเป็นคนตัวสูงกว่าปกติ ยังพอมีโอกาสที่หัวคุณ อาจเฉี่ยวขอบหลังคาด้านบนได้นิดๆ ทางแก้ก็คือ ต้องปรับเบาะคนขับให้กดลงไปจนต่ำสุด และอาจต้องก้มหัวเพิ่มขึ้นจากปกติเล็กน้อย เพื่อช่วยให้เข้าไปนั่งบนเบาะคนขับง่ายขึ้น

แผงประตูคู่หน้า ส่วนบน เป็นวัสดุบุนุ่ม เดินตะเข็บด้ายจริง มือจับดึงปิดประตูเป็นแบบกึ่งลอยตัว ตกแต่งด้วยแถบสีเงิน Metallic เชื่อมติดระหว่างแผงประตูส่วนบน และพนักวางแขน ด้านข้าง ซึ่งบุฟองน้ำ หุ้มด้วยหนังมาให้ เสร็จสรรพ สามารถวางท่อนแขนได้สบายต่อเนื่องตั้งแต่ข้อศอก มือจับเปิดประตูจากด้านในของทุกรุ่นย่อยเป็นแบบพลาสติกชุบโครเมียม  ขณะเดียวกัน แผงประตูด้านล่าง ออกแบบมาให้เป็นช่องวางของ และช่องวางขวดน้ำขนาด 1.5 ลิตร 1 ขวด และติดตั้งลำโพงมาให้ ฝั่งละ 1 ตำแหน่ง

เบาะนั่งคู่หน้า ทุกรุ่นย่อย เป็นสไตล์สปอร์ต กึ่ง Bucket Seat คล้ายเบาะนั่งคู่หน้าของ C-HR และ Corolla Altis วัสดุหุ้มเบาะของรุ่น 1.8 Sport ทุกสี รวมทั้งรุ่น 1.8 Hybrid Smart ทุกสี และรุ่น Hybrid Premium / Hybrid Premium Safety ที่เป็นสีเทา (Metal Stream Metallic) สีแดง (Red Mica Metallic) สีน้ำเงิน (Nebula Blue) และสีน้ำตาล (Graphite Metallic) จะเป็นหนัง และวัสดุสังเคราะห์ สีดำ ฉลุลายจุด

ส่วนวัสดุหุ้มเบาะนั่ง ของรุ่น 1.8 Hybrid Smart / 1.8 Hybrid Smart Premium ที่เป็นสีเงิน (Celestite Gray Metallic) สีขาวมุก (Platinum White Pearl) และสีดำ (Attitude Black Mica) จะเป็นหนัง และวัสดุสังเคราะห์ สีน้ำตาลแดง Terra Rossa ฉลุลายจุด

เบาะนั่งฝั่งคนขับ ของรุ่น 1.8 Hybrid Premium และ 1.8 Hybrid Premium Safety ปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้าข้างฐานเบาะ ได้ถึง 8 ทิศทาง ทั้งเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ปรับองศาพนักพิงหลังเอน – ตั้งชัน ปรับระดับสูง – ต่ำ และปรับมุมเงยของส่วนรองรับต้นขา แต่เบาะนั่งฝังคนขับ ของรุ่น 1.8 Hybrid Smart รุ่น 1.8 Sport รวมถึงเบาะนั่งฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า ของทุกรุ่นย่อย จะเป็นแบบเดียวกันคือ ปรับด้วยมือทั้ง 4 ทิศทาง แถมยังสามารถปรับระดับสูง – ต่ำได้ ด้วยคันโยกที่ด้านข้างฐานเบาะรองนั่ง

เบาะนั่งคู่หน้าของทุกรุ่นย่อย ให้สัมผัสที่เหมือนกันหมด พนักพิงหลังถูกออกแบบให้รอบรับช่วงไหล่โดยเฉพาะช่วงสบักได้ดีมาก มีปีกข้างค่อนข้างหนาเสริมความกระชับให้กับลำตัวผู้ขับขี่ได้ดีมาก ไม่เพียงเท่านั้น ฟองน้ำโครงเบาะ ยังมาในสไตล์นุ่มแน่น ถูกออกแบบให้รองรับช่วงกลางแผ่นหลังรอบรับช่วงกลางหัวไหล่จนถึงสะโพกได้ดีมาก คล้ายคลึงกับเบาะคู่หน้าของ C-HR

ทว่า สำหรับพนักศีรษะนั้น แม้จะลดอาการดันกบาลลงจาก C-HR ลงไปนิดหน่อย แต่ก็แอบดันอยู่นิดๆ ซึ่งเมื่อใช้งานไปนานๆ ก็แอบมีอาการเมื่อยต้นคอได้อยู่ดี ทางแก้ที่พอทำได้คือต้องปรับพนักพิงหลังให้เอนลงจากปกติ(ที่ถูกต้องกับสรีระของคุณ) 1 step หรือไม่ก็ต้องยกพนักศีรษะขึ้นในตำแหน่งที่ 3 คือ สูงสุด ไปเลย

เบาะรองนั่ง ออกแบบให้มีมุมเงยเหมาะสม ฟองน้ำมาในสไตล์นุ่มแน่นมีปีกข้างเสริมกระชับช่วง โอบกระชับช่วงสะโพกไปจนถึงต้นขาได้ดี แม่จะแอบให้อยากมีความยาวรองรับได้ถึงของช่วงเบาะยาวอีกนิดเดียวก็ตาม เพื่อให้ขอบเบาะรองรับได้ถึงขาพับพอดีกว่านี้

เข็มขัดนิรภัยสำหรับเบาะนั่งคู่หน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 2 ตำแหน่ง พร้อมระบบดึงรั้งกลับ และผ่อนแรงอัตโนมัติ (Pretensioner & Load Limiter) สามารถปรับระดับสูง – ต่ำได้ และมีสัญญาณไฟเตือนการรัดเข็มขัดนิรภัยมาให้

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง ทำได้สบายขึ้นกว่า C-HR ชัดเจนแบบไม่ต้องสืบ ช่องประตูมีความกว้างเพิ่มขึ้นชัดเจน ดังนั้น ต่อให้คุณจะเป็นคนอ้วน ก็เปิดกางประตูและขึ้นลงจากรถได้สะดวกสบายชัดเจน เรียกได้ว่า ประเด็นนี้ ชนะชาวบ้านชาวช่องในตลาดตอนนี้ เกือบทั้งหมด อีกทั้งคุณเองก็ไม่ต้องมานั่งกังวลว่า หัวจะโขกกับเสากรอบช่องประตูด้านบนหรือไม่  สำหรับคนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร อาจก้มหัวลงมาเพียงนิดเดียว ก็เข้ามานั่งบนเบาะหลังได้สบายแล้ว

อย่างไรก็ตาม ตอนลุกออกจากเบาะหลัง รองเท้าของคุณ อาจต้องเหวี่ยงไปโดนแผงประตูด้านข้าง หรือไม่ก็แผงพลาสติกตกแต่งเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar อยู่ อาจต้องใช้ความระมัดระวังขณะเหวี่ยงขาหย่อนลงพื้นถนนมากขึ้น สักหน่อย

แผงประตูคู่หลัง ด้านล่าง ติดตั้งลำโพงมาให้ฝั่งละ 1 ตำแหน่ง ส่วนด้านบน เป็นวัสดุบุนุ่ม เดินตะเข็บด้ายจริง ติดตั้งมือจับเปิดประตูจากด้านในแบบโครเมียมมาให้ เช่นเดียวกับแผงประตูคู่หน้า พนักวางแขนด้านข้างประตู บุฟองน้ำ หุ้มด้วยหนังมาให้ ออกแบบมาให้มีช่องสำหรับดึงปิดประตู และช่องสำหรับวางแก้วน้ำ 1 ตำแหน่ง

ต้องขอชมเชยทีมออกแบบ ที่ย้ายตำแหน่งช่องวางแก้ว ขึ้นมาไว้ด้านบน ในตำแหน่งเดียวกับแผงประตูคู่หลังของ C-HR แบบนี้ ซึ่งสอดคล้องกับการใช้งานจริงของผู้โดยสารส่วนใหญ่มากกว่า และได้แต่หวังว่า จะเป็นมาตรฐานใหม่ สำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ๆของ Toyota นับจากนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวพนักวางแขนนั้น แม้จะวางท่อนแขนได้พอดี แต่ก็อยู่ในตำแหน่งเตี้ยไปหน่อย เมื่อเทียบกับพนักวางแขนพับเก็บได้บนเบาะหลัง

เบาะนั่งด้านหลัง หุ้มด้วยหนัง และวัสดุสังเคราะห์ สีเดียวกันกับเบาะนั่งคู่หน้า ตามแต่ละรุ่นย่อย มีพนักวางแขนตรงกลาง ซึ่งสามารถพับเก็บได้ และมีช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง แบบไม่มีฝาปิด พนักพิงศีรษะปรับระดับสูง – ต่ำได้ ทั้ง 3 ตำแหน่ง ส่วนพนักพิงหลังสามารถแยกพับ และปรับเอนได้ 1 จังหวะ ทั้งฝั่งซ้ายและขวา ในอัตราส่วน 60 : 40 ด้วยการปลดตัวล็อกบริเวณบ่าของพนักพิงหลัง

พนักพิงหลัง ถูกออกแบบมาให้มีมุมเอียงที่เหมาะสม ทั้งตอนตั้งชัน หรือเอนลงไป อย่างไรก็ตาม พื้นที่รองรับแผ่นหลังนั้น ถูกออกแบบให้เป็นลักษณะเหมือนจะเรียบแต่มีปีกข้างเสริม ลอยขึ้นมานิดนึง ให้สัมผัสที่เหมือนจะแข็งนิดๆ ทั้งที่ตัวฟองน้ำเป็นแบบแน่นนุ่ม พอจะให้ความสบายในการเดินทางไกลอยู่บ้างแค่ว่าแอบแข็งไปนิด

พนักวางแขนแบบพับเก็บได้พร้อมช่องวางแก้วน้ำ2 ตำแหน่ง ใช้ฟองน้ำที่นุ่มแอบแน่นเล็กๆวางแขนได้สบายถึงข้อศอก เพียงแต่ว่า ตำแหน่งจุดหมุน อาจสูงไปนิดนึง ทำให้การวางแขน บนพนักพับได้ ไม่สัมพันธ์กับ ควมสูงของพื้นที่วางแขนบนแผงประตูคู่หลัง

พนักศีรษะบุด้วยฟองน้ำมาในสไตล์แน่นเกือบแข็ง มีข้อดีก็คือไม่ว่าคุณจะมีสรีระอย่างไร หรือจะยกใช้งาน 1 step หรือไม่ก็ได้ คุณก็ยังพอหาความสบายได้เหมือนๆกัน เพราะตัวพนักศีรษะเอง มีขนาดเล็ก จึงไม่ได้ก่อความรำคาญ รบกวนกับช่วงต้นคอมากนัก

ส่วนเบาะรองนั่ง ใช้ฟองน้ำแบบ”นุ่มแอบแน่นนิดๆ” ความยาวเท่าๆกับเบาะรองนั่งคู่หน้า แุถมยังติดตั้งมาให้มีมุมองศาราบไปนิดนึง มันจะให้ความสบายถ้าคุณวางขาสอดใต้เบาะคู่หน้า แต่ถ้าคุณวางขาในตำแหน่งปกติอาจจะพบว่ามุมเงยของเบาะรองนั่งน้อยไปนิดนึง

พื้นที่ Headroom สำหรับคนสูง 170 ซม เหลือบานตะเกียงมากถึง 1 ฝ่ามือกับ 1 นิ้วชี้ในแนวตั้ง ส่วนพื้นที่วางขานั้นเนื่องจากตัวเบาะคู่หน้ายังค่อนข้างหนา ดังนั้นขึ้นอยู่กับว่าคนขับตัวสูงมากแค่ไหน ถ้าพลขับตัวสูงราวกับเปรตวัดสุทัศน์ คุณก็ต้องทำใจ เพราะคุณจะวางขาแทบไม่ได้เลย แต่ถ้าผู้ชับขี่ตัวสูงไม่เกิน 180 หรือมีช่วงขาที่สั้น พื้นวางขาของคุณก็จะเหลือให้ผู้โดยสารนั่งไขว่ห้างได้

เข็มขัดนิรภัยสำหรับเบาะนั่งตอนหลัง เป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 3 ตำแหน่ง พร้อมติดตั้งจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก (ISOFIX & Top Tether) มาให้ครบทั้ง 2 ฝั่ง ซ้าย – ขวา

ฝาท้ายของทุกรุ่น เปิด – ปิดด้วยกลอน และสวิตช์ไฟฟ้า ค้ำยันด้วยช็อกอัพไฮดรอลิก 2 ต้น อย่างไรก็ตาม รุ่น 1.8 Sport และ 1.8 Hybrid Smart จะเป็นฝาท้ายแบบธรรมดา แต่รุ่น 1.8 Hybrid Premium และ 1.8 Hybrid Premium Safety จะเป็นฝาท้ายไฟฟ้า สั่งเปิด – ปิด ได้จากกุญแจรีโมท สวิตช์เหนือช่องติดแผ่นป้ายทะเบียนด้านหลัง และสวิตช์ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวาคนขับ นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชัน Kick Activated สำหรับเปิด – ปิดฝากระโปรงท้ายแบบไม่ต้องใช้มือ  แต่ใช้เท้า กวาดผ่านเซ็นเซอร์ ใต้เปลือกกันชนหลัง หรือที่เรียกกันว่า “ฝาท้ายเตะเปิดด้วยไฟฟ้า” มาให้ด้วย

เมื่อยกเปิดฝาท้ายของทุกรุ่นขึ้น ก็จะพบกับพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ที่มีพื้นที่ ความยาว (ลึก) 841 มิลลิเมตร กว้าง 1,369 มิลลิเมตร (วัดจากผนังห้องเก็บของ จุดที่กว้างสุด) และสูง 847 มิลลิเมตร เมื่อคำนวนตามสูตรแล้วจะมีปริมาตร ความจุ 487 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมนี ใหญ่กว่า C-HR ซึ่งมีความจุ 377 ลิตร แต่ก็ยังเล็กกว่า Honda HR-V ซึ่งมีความจุถึง 565 ลิตร อยู่ดี

ระยะความสูงจากขอบด้านบนของเปลือกกันชนหลัง จนถึงพื้นถนน อยู่ที่ 720 มิลลิเมตร สะดวกต่อการขนถ่ายสัมภาระขนาดใหญ่เข้าไปไว้ในพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลังรถ

การที่แบตเตอรี่ของระบบ Hybrid ถูกนำไปวางไว้ที่ใต้เบาะรองนั่งผู้โดยสารตอนหลัง นอกจากจะช่วยให้จุดศูนย์ถ่วงของตัวรถต่ำลงแล้ว ยังทำให้ไม่ศูนย์เสียพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลังไป และมีความจุเท่ากันกับรุ่นเครื่องยนต์เบนซินอีกด้วย ดังนั้น พื้ที่ด้านหลังรถของทุกรุ่น จึงเหมือนกันเปี๊ยบ ไม่เว้นแม้กระทั่ง ผนังด้านข้างฝั่งซ้าย ซึ่งมีไฟส่องสว่างมาให้ในยามค่ำคืน เชื่อมต่อกับไฟส่องสว่าในห้องโดยสาร

เมื่อดึงแผ่นปิดพื้นห้องสัมภาระขึ้นมา ก็จะพบกับแม่แรงยกรถแบบกลไก รวมถึงตะขอลากจูง พร้อมชุดปะยางฉุกเฉิน ประกอบด้วย ปั๊มลม และน้ำยาอุดรอยรั่ว ซึ่งถูกติดตั้งมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในทุกรุ่นย่อย แทนที่ยางอะไหล่ เพื่อลดน้ำหนักตัวรถลง เช่นเดียวกับ C-HR และรถยนต์รุ่นใหม่ หลายรุ่น

แผงหน้าปัดด้านหน้า ถูกออกแบบขึ้นโดยใช้แนวคิด “Clean & Wide” เน้นเส้นสายตามแนวกว้าง และมีความเรียบง่าย คำนึงความสะดวกในการใช้งานจริง ดีไซน์ของแผงหน้าปัด รวมถึงหน้าจอชุดมาตรวัด มีความใกล้เคียงกับ Corolla Altis พอสมควรเลยทีเดียว แต่ยังมีจุดแตกต่างที่พอให้สังเกตได้อยู่บ้าง ได้แก่ แนวการเดินตะเข็บด้ายบนผิววัสดุบุนุ่ม ของ Corolla CROSS จะคาดยาวระหว่างริมขอบด้านข้างแผงหน้าปัด แต่แนวการเดินตะเข็บด้ายของ Corolla Altis จะตวัดเฉียงขึ้นไปรับกับขอบล่างของช่องแอร์ฝั่งซ้าย – ขวา อีกทั้ง Corolla CROSS ยังเพิ่มวัสดุสีเงินเข้ามาเชื่อมแผงหน้าปัดด้านหน้าส่วนล่าง เข้ากับฐานคันเกียร์ด้วย

โทนสีภายในห้องโดยสาร บริเวณวัสดุบุนุ่มบนแผงหน้าปัดด้านหน้า วัสดุบุนุ่มบนแผงด้านข้างประตู รวมถึงวัสดุหุ้มเบาะนั่ง ของรุ่น 1.8 Sport รุ่น Hybrid Smart และรุ่น Hybrid Premium / Hybrid Premium Safety ที่พ่นสีตัวถังภายนอกด้วย สีเทา (Metal Stream Metallic) สีแดง (Red Mica Metallic) สีน้ำเงิน (Nebula Blue) และสีน้ำตาล (Graphite Metallic) จะเป็นโทนสีดำ ส่วนรุ่น Hybrid Premium และ Hybrid Premium Safety ที่เป็นสีเงิน (Celestite Gray Metallic) สีขาวมุก (Platinum White Pearl) และสีดำ (Attitude Black Mica) จะเป็นโทนสีน้ำตาลแดง Terra Rossa

เมื่อมองขึ้นไปด้านบน รุ่น Hybrid Premium Safety ติดตั้งกระจกมองหลังตัดแสงระบบกวนจากไฟหน้ารถคันข้างหลังแบบอัตโนมัติ (Electro Chromic) แต่รุ่นอื่นๆ จะเป็นกระจกมองหลังแบบมาตรฐาน พร้อมก้านคันโยกตัดแสง ตามปกติ

กระจกบังลมหน้าของรุ่น Hybrid ทุกรุ่นย่อย จะถูกอัพเกรดเป็นแบบกันเสียงรบกวน (Acoustic Glass) ด้านหลังเป็นกล่องที่รวบรวมสารพัดเซ็นเซอร์ และกล้อง ของระบบน้ำฝนอัตโนมัติ และ Package อุปกรณ์ความปลอดภัย Toyota Safety Sense P ซึ่งถูกติดตั้งมาให้เป็นพิเศษ สำหรับรุ่น Hybrid Premium Safety เท่านั้น

ถัดขึ้นไปอีกนิด รุ่น Hybrid Premium Safety จะมาพร้อมกับไฟอ่านแผนที่ ซึ่งถูกรวมเอาไว้ด้วยกันกับแผงสวิตช์ควบคุมการเลื่อนเปิด – ปิด และส่วนท้ายกระดกขึ้น – ลง ของหลังคากระจก Moon Roof ในขณะที่รุ่นอื่นๆ จะเป็นไฟอ่านแผนที่แบบธรรมดา สามารถเปิด – ปิด ด้วยการใช้นิ้วกดลงไปบนฝาครอบโคมไฟได้เลย

ม่านบังแดด ฝั่งคนขับ และฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า ของทุกรุ่นย่อย มาพร้อมกระจกแต่งหน้า พร้อมไฟส่องสว่าง ซึ่งจะติดขึ้นโดยอัตโนมัติ เมื่อดึงม่านบังแดดลงมา แล้วเลื่อนฝาเปิดออก

จากฝั่งขวา ไปฝั่งซ้าย

แผงควบคุมบริเวณบานประตูฝั่งคนขับ เป็นตำแหน่งติดตั้งสวิตช์เลื่อนกระจกหน้าต่าง ขึ้น – ลง แบบ One-Touch พร้อมระบบป้องกันการหนีบ Protection Jam ทั้ง 4 บาน สวิตช์ล็อกกระจกหน้าต่างฝั่งผู้โดยสาร 3 บาน สวิตช์ปรับมุมมอง และพับ กระจกมองข้าง รวมถึงสวิตช์ล็อก – ปลดล็อกกลอนประตู Central Lock

ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวาคนขับ ทุกรุ่นย่อย จะมีสวิตช์ปรับระดับไฟหน้ามาให้ สามารถปรับองศาจานฉายได้ถึง 6 ระดับ (0 – 5) ใกล้กัน จะเป็นสวิตช์สั่งเปิด – ปิดฝาท้ายไฟฟ้า ด้วยการกดค้างไว้ จากภายในห้องโดยสาร (มีเฉพาะรุ่น 1.8 Hybrid Premium และ 1.8 Hybrid Premium Safety) นอกจากนี้ ยังมีสวิตช์เปิด – ปิดการทำงานของระบบไฟสูงอัตโนมัติ AHS : Automatic High Beams (เฉพาะรุ่น 1.8 Hybrid Premium Safety) ด้วย ถัดลงมาด้านล่าง จะเป็นคันโยกดึงเปิดฝากระโปรงหน้าที่มีมาให้ในทุกรุ่น

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ยกมาจาก Corolla Altis ปรับตำแหน่งด้วยคันโยกใต้คอพวงมาลัย ได้ 4 ทิศทาง ทั้งระดับสูง – ต่ำ และระยะห่างใกล้ – ห่าง จากลำตัวผู้ขับขี่ (Telescopic) วงพวงมาลัยหุ้มด้วยหนังสีดำ และเย็บตะเข็บด้ายจริง ก้านพวงมาลัยด้านล่าง ตกแต่งด้วยแถบสีเงิน สวิตช์บนก้านพวงมาลัย ฝั่งขวา นอกจากจะมีไว้สำหรับเปลี่ยนคลื่นวิทยุ หรือเปลี่ยนเพลง และปรับโหมดการทำงานของชุดเครื่องเสียงแล้ว ในรุ่น 1.8 Hybrid Premium Safety ยังเป็นสวิตช์ควบคุมการทำงานของระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน DRCC (Dynamic Radar Cruise Control) พร้อมสวิตช์ปรับตั้งระยะห่างจากรถคันข้างหน้า และเป็นสวิตช์ควบคุมการทำงานของระบบ Cruise Control แบบธรรมดา ในรุ่นอื่นอีกด้วย ส่วนสวิตช์บนก้านพวงมาลัย ฝั่งซ้าย สำหรับเรียกใช้งานระบบสั่งการด้วยเสียง เพิ่ม – ลดระดับเสียง รับสาย – วางสายโทรศัพท์ ปรับตั้งค่าตัวรถ และปรับการแสดงผล ของหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID (Multi Information Display)

ทุกรุ่นย่อย ติดตั้ง ก้านสวิตช์ควบคุมที่คอพวงมาลัย ฝั่งขวา สำหรับควบคุมการเปิด – ปิดไฟเลี้ยว ชุดไฟหน้า – ไฟท้ายแบบอัตโนมัติ ไฟตัดหมอกหลัง มาพร้อมระบบควบคุมการเปิด – ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ และระบบหน่วงเวลาการปิดไฟหน้าหลังจากดับเครื่องยนต์ Follow-Me-Home รวมถึงสวิตช์เปิด – ปิดไฟตัดหมอกคู่หน้า ในรุ่น 1.8 Hybrid Premium และ 1.8 Hybrid Premium Safety

ส่วนก้านสวิตช์ที่คอพวงมาลัย ฝั่งซ้าย ของรุ่น 1.8 Sport และ Hybrid Smart จะใช้สำหรับควบคุมการทำงานของก้านปัดน้ำฝนด้านหน้า และด้านหลัง แบบหน่วงเวลาได้ แต่รุ่น 1.8 Hybrid Premium และ 1.8 Hybrid Premium Safety จะติดตั้งระบบใบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ พร้อม Rain Sensors เพิ่มมาให้

ใต้ช่องแอร์ฝั่งซ้ายคนขับ ใกล้กับแผงควบคุมเครื่องปรับอากาศ ในรุ่น 1.8 Sport จะเป็นปุ่มสตาร์ท และดับเครื่องยนต์ (Start/Stop Engine) แต่รุ่น 1.8 Hybrid ทั้ง 3 รุ่นย่อย จะทำหน้าที่เป็นทั้งปุ่มสตาร์ท และดับเครื่องยนต์ และเปิด – ปิดการทำงานของระบบ Hybrid (POWER) ในเวลาเดียวกัน

ชุดมาตรวัด ของรุ่น 1.8 เบนซิน Sport และ 1.8 Hybrid Smart จะเป็นแบบ Analog วงกลมตรงกลางเป็นมาตรวัดความเร็ว และแสดงระดับน้ำมันเชื้อเพลิงในถัง วงกลมฝั่งซ้ายของรุ่น 1.8 Sport จะเป็นมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ และมาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น แต่พอเป็นรุ่น Hybrid Smart มาตรวัดรอบ จะถูกเปลี่ยนเป็นย่านการทำงานของระบบ Hybrid (Off/Charge/ECO/Power) ส่วนฝั่งขวาของชุดมาตรวัด ทั้ง 2 รุ่น จะเป็นหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID (Multi Information Display) แบบสี TFT ขนาด 4.2 นิ้ว

ส่วนชุดมาตรวัด ของรุ่น 1.8 Hybrid Premium และ 1.8 Hybrid Premium Safety จะเป็นแบบผสม ไม่มีมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ ฝั่งซ้าย จะเป็นเข็มแสดงย่านการทำงานของระบบ Hybrid (Off/Charge/ECO/Power) ฝั่งขวา จะเป็นเข็มบอกระดับน้ำมันเชื้อเพลิงในถัง และอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น ส่วนตรงกลาง จะเป็นหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID (Multi Information Display) แบบสี TFT ขนาด 7 นิ้ว สามารถปรับเป็นมาตรวัดแสดงความเร็วแบบตัวเลขดิจิตอลก็ได้ หรือจะปรับเป็นแบบเข็มอนาล็อกก็ได้เช่นกัน ฟังก์ชันหลักกึ่งกลางหน้าจอ นอกจากนาฬิกา ตำแหน่งเกียร์ อุณหภูมิภายนอก และ ODO/Trip Meter แล้ว ยังมีฟังก์ชันอื่นให้เลือกแสดงด้วยเช่นกัน ประกอบด้วย (เรียงจากซ้ายไปขวา)

  1. อัตราการสิ้นเปลืองเพลิง แบบ Realtime และแบบค่าเฉลี่ยหลังจาก Reset เลือกหน่วยที่แสดงได้ ทั้งแบบ km/L และ L/100km พร้อมบอกระยะทางที่น้ำมันเชื้อเพลิงในถังพอจะแล่นต่อไปได้
    .
  2. การทำงานของระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control แบบธรรมดา ในรุ่น 1.8 Sport, Hybrid Smart และ Hybrid Premium และระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน DRCC (Dynamic Radar Cruise Control) เฉพาะรุ่น Hybrid Premium Safety
    .
  3. หน้าจอแสดงการทำงานของระบบ Hybrid ในลักษณะ Energy Flow
    .
  4. การตั้งค่าตัวรถต่างๆ ได้แก่ ตั้งค่านาฬิกา เปิด – ปิด ระบบ BSM/RCTA ตั้งค่าฝาท้ายไฟฟ้า ตั้งค่าระบบแจ้งเตือนแรงดันลมยาง ตั้งค่าภาษา (เวอร์ชันไทย มีให้เลือกทั้ง ภาษาไทย อังกฤษ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลี และเวียดนาม) และตั้งค่ารูปแบบมาตรวัด
    .
  5. แสดงข้อความ หรือจะกดปิดฟังก์ชันแสดงผลกึ่งกลางหน้าจอไปเลยก็ได้

จากฝั่งซ้ายมาทางขวา ใต้แผงหน้าปัดด้านหน้าฝั่งซ้าย เหนือหัวเข่าผู้โดยสารด้านหน้า เป็นกล่องเก็บของ Glove Compartment ซึ่งมีขนาดใหญ่เท่ากับ Corolla Altis และ C-HR (ก็ยกชุดกันมาเลยทั้งยวงนั่นแหละ) สามารถใส่คู่มือผู้ใช้รถ เอกสารประกันคุณภาพ กรมรรม์ประกันภัย ไปพร้อมกับการวางกล้องถ่ายรูปขนาด Compact 1 ตัว ได้พอดี

ถัดลงมาจากชุดหน้าจอเครื่องเสียง จะเป็นช่องแอร์กลาง 2 ตำแหน่ง กึ่งกลางช่องแอร์เป็นสวิตช์ปุ่มกด สำหรับเปิด – ปิด สัญญาณไฟฉุกเฉิน (Hazard Signal Light) ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม สะดวกต่อการจดจำและเอื้อมไปกดใช้งานยามฉุกเฉิน

เครื่องปรับอากาศ ของรุ่น 1.8 Hybrid จะเป็นแบบอัตโนมัติ Dual Zone พร้อมหน้าจอแสดงผลแบบ Digital สามารถแยกปรับได้อย่างอิสระ ทั้งฝั่งซ้าย และฝั่งขวา หรือจะปรับให้ Synchronize ควบคู่กันไปเลยก็ได้เช่นกัน ส่วนรุ่น 1.8 เบนซิน Sport จะได้เครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ พร้อมหน้าจอแสดงผลแบบ Digital เช่นกัน แต่ไม่สามารถปรับอุณหภูมิแยกอิสระซ้าย – ขวาได้ ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ก็ทำความเย็นได้เร็ว สมกับเป็นระบบเครื่องปรับอากาศจากซัพพลายเออร์คู่บุญของ Toyota อย่าง DENSO จริงๆ

ทุกรุ่นย่อย มีฟังก์ชันมาตรฐานของเครื่องปรับอากาศในรถยนต์ทั่วไปมาให้ครบครัน ไม่ว่าจะเป็น A/C On-Off การปรับอากาศหมุนเวียนภายในห้องโดยสาร ปรับรูปแบบการเป่าลม ปรับระดับความแรงพัดลม ปรับการทำงานของเครื่องปรับอากาศเป็นแบบ ECO เปิด – ปิดระบบไล่ฝ้า หน้า – หลัง และปิดการทำงานของเครื่องปรับอากาศ

ถัดลงมาจากชุดแผงควบคุมเครื่องปรับอากาศ จะเป็นช่องเก็บของแบบไร้ฝาปิด โดยรุ่น 1.8 Hybrid Premium และ 1.8 Hybrid Premium Safety จะติดตั้งไฟส่องสว่างสีฟ้ามาให้ด้วย

ระบบความบันเทิงภายในรถของทุกรุ่นย่อย เป็นชุดเครื่องเสียง ซึ่งประกอบไปด้วย วิทยุ AM/FM สามารถเล่น MP3/ WMA หน้าจอแสดงผลเป็นระบบสัมผัส Touchscreen ขนาด 9 นิ้ว รองรับ Apple CarPlay และ Android Auto (แสดงแผนที่และการนำทางจาก App Google Map ในโทรศัพท์มือถือของคุณได้) รวมถึงรองรับการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือไร้สายผ่านระบบ Bluetooth พร้อมช่องเชื่อมต่อ USB Port ติดตั้งลำโพงมาให้ 6 ตำแหน่ง รวม Tweeter ที่มุมส่วนบนของแผงหน้าปัดด้าน ใกล้กับเสาหลังคา A-Pillar ทั้ง 2 ฝั่ง คุณภาพเสียง จัดอยู่ในเกณฑ์ดี ยอมรับได้ ไม่เลวเลย

นอกจากนี้ยังมีระบบ T-CONNECT TELEMATICS ซึ่งเป็นระบบเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับ WiFi Box ทำให้เกิดฟังก์ชันใหม่ให้กับผู้ขับขี่และใช้งานได้จริงผ่านอุปกรณ์ Smartphone, Apple Watch และหน้าจอวิทยุ โดยมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • Find My Car ตรวจสอบตำแหน่งตัวรถแบบ Real Time ได้ทุกที่ ทุกเวลา
  • Maintenance Reminder แจ้งเตือนเข้าศูนย์บริการ พร้อมประสานงานนัดหมาย
  • Geo-Fencing ระบบแจ้งเตือนเมื่อรถเคลื่อนตัวออกจากขอบเขตที่กำหนดไว้
  • Stolen Vehicle Tracking ตรวจสอบตำแหน่งรถยนต์ เมื่อถูกโจรกรรม พร้อมประสานความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง
  • Vehicle Information แสดงสถานะรถยนต์ ข้อมูลการขับขี่ สรุป Trip เดินทาง พร้อมให้คุณแชร์ลง Social อีกทั้งบริการแจ้งเตือนต่อทะเบียนประจำปีล่วงหน้าอัตโนมัติ
  • SOS ประสานงานช่วยเหลือฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง (อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในบางกรณี)
  • Insurance (PHYD) ประกันภัยรถ ขับดี ลดให้ สิทธิพิเศษด้วยเบี้ยประกันจ่ายตามพฤติกรรมการขับขี่ อีกทั้งช่วยแจ้งเตือนต่อประกันล่วงหน้าอัตโนมัติ (สำหรับการทำประกันภัยกับบริษัทที่กำหนดไว้เท่านั้น)
  • Concierge Services บริการผู้ช่วยส่วนตัว พร้อมดูแลตลอดการเดินทาง

นอกจากนี้ ยังมี กล้องมองภาพด้านหลัง ถูกติดตั้งมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในทุกรุ่นย่อย แต่เฉพาะรุ่น 1.8 Hybrid Premium Safety จะถูก Upgrade เป็นกล้องมองภาพรอบทิศทาง (Panoramic View Monitor) พร้อมฟังก์ชันปรับมุมมองให้เป็นแบบ 3 มิติ ตัดการแสดงภาพบนหน้าจออัตโนมัติ เมื่อวิ่งด้วยความเร็วเกิน 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป

ทัศนวิสัยด้านหนัา คล้ายคลึงกับ C-HR อยู่บ้าง เห็นได้ชัดว่า สูงกว่าตำแหน่งนั่งของรถเก๋ง Sedan ทัวไป อยู่นิดหน่อย แต่คราวนี้ ต่อให้คุณนั่งอยู่บนเบาะคนขับ ในตำแหน่งเตี้ยสุด คุณก็จะมองเห็นฝากระโปรงหน้าได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งถือว่าแตกต่างจาก C-HR ชัดเจน

ปัญหาสำคัญของ SUV นั่นคือ ทัศนวิสัยบริเวณเสาหลังคาคู่หน้า คราวนี้ ทีมวิศวกร Toyota จึงตัดสินใจย้ายตำแหน่งกระจกมองข้าง มาไว้บนแผ่นประตู แทนที่จะติดตั้งไว้ในตำแหน่งสามเหลี่ยมของบานกระจกหน้าต่างคู่หน้าตามเดิม โดยเพิ่มกระจกหูช้าง Opera Fixed Windows ในตำแหน่งดังกล่าวเป็นการทดแทน

ถึงแม้จะดูขัดหูขัดตา แต่ก็ช่วยให้ มุมมองบริเวณ เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ทั้งฝั่งซ้ายและขวา โปร่งตาขึ้นชัดเจน บดบังพื้นที่การมองเห็นรถที่แล่นสวนมา ขณะเตรียมเลี้ยวกลับรถ ไม่มากนัก ส่วนกระจกมองข้างฝั่งขวา มองเห็นยานพาหนะที่แล่นตามมาทางฝั่งขวา ชัดเจน ไม่โดนกรอบกระจกมองข้าง กินพื้นที่ตัวบานกระจกฝั่งขวา ขณะที่กรอบกระจกมองข้างฝั่งซ้าย แอบเบียดบังเข้ามาในพื้นที่กระจกมองข้างเพียงนิดเดียว

ส่วนทัศนวิสัยของเสาหลังคาคู่หลัง C และ D – Pillar ซึ่งเคยถูกบดบังเสียจนกระทั่ง แทบมองรถที่มาจากฝั่งซ้ายไม่ค่อยเห็นเลย ใน C-HR นั้น มาคราวนี้ ด้วยเส้นสายภายนอก ที่มาในรูปทรงกล่องมากขึ้น ทำให้พื้นที่กระจกหน้าต่างรอบคัน สูงขึ้น กว้างขึ้น และช่วยให้การมองเห็นรอบคัน จากตำแหน่งคนขับ โปร่งตามากขึ้นกว่าบรรดาคู่แข่งในระดับเดียวกันแทบทุกรุ่น เพียงแต่ว่า เสาหลังคา D-Pillar คู่หลัง ยังแอบหนาไปหน่อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำใจ เนื่องจากงานออกแบบภายนอก บีบบังคับให้เป็นเช่นนี้ ภาพรวมถือว่า ทัศนวิสัย โปร่งตาขึ้นกว่า C-HR ชัดเจนเป็นคนละเรื่อง

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
*********** Technical Information & Test Drive ************

สำหรับตลาดเมืองไทย Corolla Cross จะมีขุมพลังให้เลือก 2 แบบ คือ เบนซิน 1.8 ลิตร มาตรฐาน และ เบนซิน 1.8 ลิตร HYBRID แบบ THS-II

รุ่น HYBRID จะวางเครื่องยนต์มาตรฐาน แบบเดียวกับ Corolla Altis Hybrid และ C-HR Hybrid ในแทบทุกตลาดทั่วโลก นั่นคือ ขุมพลังรหัส 2ZR-FXE บล็อก 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว VVT-i ขนาด 1.8 ลิตร 1,798 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 80.5 x 88.3 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 13.0 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ EFI จุดระเบิดแบบ Atkinson cycle (ดูดไอดีเข้าห้องเผาไหม้ ก่อนจะบ้วนคืนออกมาบางส่วน เพื่อรอดูดกลับเข้ามาอีกครั้งในรอบการจุดระเบิดครั้งถัดไป)

กำลังสูงสุด 98 แรงม้า (PS) ที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 142 นิวตัน-เมตร (14.46 กก.-ม.) ที่ 3,600 รอบ/นาที

ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า Permanent Magnet Synchronous Motor แบบ P610 Hybrid Transaxle MG1 / MG2 มีแรงดันไฟฟ้า AC 600 Volt ให้กำลังสูงสุด 72 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 163 นิวตัน-เมตร (16.6 กก.-ม.)

พ่วงกับแบตเตอรี่แบบ Nickel metal Hydride (Ni-MH) DC 201.6 V168 Cell 6 cell x 28 Modules 6.5 Ah ติดตั้งอยู่ใต้เบาะหลัง พร้อมพัดลมระบายความร้อนด้วยไฟฟ้า และชุดกรองฝุ่น นอกจากนี้ยังมี Auxiliary battery สำหรับระบบไฟฟ้าของอุปกรณ์ต่างๆในตัวรถ ติดตั้งอยู่ในห้องเครื่องยนต์ นอกจากนี้ยังมีการออกแบบให้ Inverter with Converter assembly ที่ติดตั้งอยู่ด้านบนของชุดมอเตอร์ มีขนาดเล็กและมีน้ำหนักเบา บูสต์ไฟฟ้าแรงสูงได้อย่างรวดเร็ว

รวมพละกำลังจากทั้งเครื่องยนต์ และ มอเตอร์ไฟฟ้า จะได้กำลังสูงสุด 122 แรงม้า (PS) ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 149 กรัม/กิโลเมตร แต่รองรับน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ทั้ง เบนซิน Octane 91 เบนซิน Octane 95 Gasohol 95 E10 และสูงสุด คือ Gasohol E20 เท่านั้น

ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ แบบ E-CVT (รวมชุดเกียร์เข้าไปในมอเตอร์ไฟฟ้า) อัตราทดเฟืองท้าย 3.218 : 1

*** หลักการทำงานของระบบ Hybrid ของ Toyota / Lexus ***

ระบบขับเคลื่อนแบบ Hybrid ที่มีการพัฒนาขึ้นมากันในโลกนี้ มี 3 รูปแบบ หลักๆ คือ

  • Series HYBRID = เครื่องยนต์ ทำหน้าที่ ปั่นไฟ เพียงอย่างเดียว ส่งให้ มอเตอร์ไฟฟ้า หมุนล้อขับเคลื่อนรถ (ตัวอย่างคือ ระบบ e-Power ของ Nissan Kicks)
    .
  • Pararell HYBRID = เครื่องยนต์ กับ มอเตอร์ จะช่วยกันหมุนล้อขับเคลื่อนรถ แต่ เครื่องยนต์ จะเป็น “พระเอกหลัก” (และช่วยปั่นไฟไปเก็บในแบ็ตเตอรีบ้าง) ส่วน มอเตอร์ จะเป็น “พระรอง” ช่วยเสริมแรงขับเคลื่อน ตอนเร่งแซงบ้างนิดๆหน่อยๆเท่านั้น (ตัวอย่างของระบบนี้ คือระบบ Honda IMA ใน Civic HYBRID, INSIGHT และ Jazz HYBRID รุ่นเก่า)
    .
  • Series/Pararell HYBRID = เครื่องยนต์ กับ มอเตอร์ ผลัดกันทำหน้าที่ ทั้งขับเคลื่อนรถ และชาร์จไฟกลับเข้าแบ็ตเตอรี ให้มอเตอร์ได้ดึงไปใช้งาน

ระบบ THS II (Toyota Hybrid System II) เป็นระบบขับเคลื่อนแบบ Series/Pararell HYBRID ที่ผสมผสานการทำงานของ ระบบ Series HYBRID กับ Pararell HYBRID เข้าไว้ด้วยกัน ความแตกต่างที่ัชัดเจนคือ เครื่องยนต์ หรือ มอเตอร์ไฟฟ้า ต่างจะแยกกันขับเคลื่อนรถได้ ทั้งเพียงลำพัง หรือจะช่วยกัน หมุนล้อขับเคลื่อน ก็ได้ ตามสถานการณ์

  • หลังออกรถ ถ้าใช้ความเร็วต่ำ คลานตามการจราจร มอเตอร์ ก็จะดึงไฟจากแบ็ตเตอรี มาหมุนล้อขับเคลื่อน
    .
  • แต่ถ้า เติมคันเร่ง เพื่อเร่งรถให้เร็วขึ้น จะเหยียบแค่ไหนก็ตาม เครื่องยนต์จะเข้ามาช่วยมอเตอร์ทำงานอีกแรง
    .
  • เมื่อถึงระดับความเร็วที่ต้องการ เครื่องยนต์จะทำงานอย่างเดียว หรือมอเตอร์ จะทำงานร่วมด้วย หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาพการขับขี่ และเท้าขวาของคนขับ
    .
  • ถ้าถอนคันเร่ง หรือเหยียบเบรกเมื่อไหร่ เครื่องยนต์ จะหยุดทำงาน มอเตอร์ ก็จะปั่นไฟกลับไปเก็บในแบ็ตเตอรี
    .
  • รถหยุดเมื่อไหร่ เครื่องยนต์ มอเตอร์ จะหยุดทำงานหมด เหยียบคันเร่งออกตัวเมื่อไหร่ ก็ค่อยเริ่มทำงานอีกครั้งถ้าเหยียบเบาๆ มอเตอร์จะทำงานอย่างเดียว แต่ถ้าเหยียบครึ่งคันเร่ง หรือเต็มตีน เครื่องยนต์จะเข้ามาช่วยมอเตอร์อีกแรง

*** ข้อมูลการบำรุงรักษา ***

– น้ำมันเครื่อง ค่าความหนืด 0W-20 , 5W-20 , 5W-30 , 10W-30
– น้ำมันเครื่อง มาตรฐาน API SL “Energy-Conserving” , SM “Energy-Conserving” SN “Resource-Conserving” หรือ SN PLUS “Resource-Conserving” หรือ ILSAC
– ปริมาณน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนถ่ายแบบมีไส้กรอง 4.2 ลิตร ถ้าไม่มีไส้กรอง 3.9 ลิตร
– หัวเทียน DENSO FC16HR-CY9 ระยะห่างเขี้ยวหัวเทียน 0.9 มิลลิเมตร (0.035 นิ้ว)
– น้ำหล่อเย็น Toyota Super Long Life Coolant สำหรับตัวเครื่องยนต์ 5.4 ลิตร ชุดควบคุมพลังงาน 1.4 ลิตร
– น้ำมันเกียร์ Hybrid Toyota Genuine ATF WS 3.6 ลิตร
– ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง 36.0 ลิตร

ส่วนรุ่นเบนซิน 1.8 ลิตร จะยังคงเป็นการนำขุมพลัง 1.8 ลิตร จาก Corolla ALTIS และ C-HR เบนซิน มาวางให้ เป็นเครื่องยนต์ รหัส 2ZR-FBE บล็อก 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว 1.8 ลิตร 1,798 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 80.5 x 88.3 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด EFI พร้อมระบบแปรผันระยะยกของวาล์ว ทั้งฝั่งไอดีและไอเสีย Dual VVT-i กับท่อทางเดินไอดีแบบ ACIS (Acoustic Control Induction System) ซึ่งจะปรับทางเดินท่อไอดีให้เหมาะสมกับการทำงานของรอบเครื่องยนต์ เพื่อสร้างกำลังและแรงบิด ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ตั้งแต่ รอบเครื่องยนต์ต่ำๆ จนถึงรอบเครื่องยนต์สูงๆ

กำลังสูงสุด 140 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 175 นิวตัน-เมตร (17.83 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที รองรับน้ำม้นเบนซิน Octane 91 เบนซิน Octane 95 Gasohol 95 E10 , Gasohol E20 และสูงสุดได้ถึง Gasohol E85 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 150 กรัม/กิโลเมตร

ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน Super CVT-i ล็อกตำแหน่งพูเลย์ได้ 7 จังหวะ พร้อมโหมด +/- Sequential Shift ให้ผู้ขับขี่เลือกเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ได้เองตามต้องการ และช่องสำหรับเสียบกุญแจด้านข้างคันเกียร์ เพื่อปลดล็อกคันเกียร์จากตำแหน่ง P หรือ Shift Lock ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข็นเคลื่อนย้าย ขณะจอดรถขวางหน้าบ้านใครเขา

อัตราทดเกียร์เดินหน้า 2.480 – 0.396  เกียร์ถอยหลัง 2.604 – 1.680  อัตราทดเฟืองท้าย 5.698

ตัวเลขสมรรถนะจริงบนสภาพถนนและสภาพอาอากาศเมืองไทย จะเป็นอย่างไรนั้น เรายังคงทำการทดลองด้วยวิธีการดั้งเดิม นั่นคือ จับเวลาหาอัตราเร่ง ด้วยมาตรฐานดั้งเดิม ในตอนกลางคืน เปิดไฟหน้า เปิดแอร์ นั่ง 2 คน น้ำหนักตัวไม่เกิน 170 – 180 กิโลกรัม ผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง รวมทั้ง Toyota Prius รุ่นที่ 3 ซึ่งเคยนำเข้ามาประกอบขายในบ้านเรา และใช้ขุมพลังเดียวกัน แต่ไม่ได้ปรับจูนแรงม้าลงเหมือน C-HR มีดังนี้…

เห็นตัวเลขแล้ว ชัดเจนนะครับว่า ตัวเลขที่ได้ แทบไม่แตกต่างจาก C-HR กันเลย สำหรับ Corolla Cross รุ่น 1.8 Hybrid นั้น ทำเวลาด้อยกว่า C-HR ในหมวด 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แค่ 0.12 วินาที ยิ่งถ้าเป็นช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อเฉลี่ย ออกมาแล้ว ด้อยกว่าเพียงแค่ 0.01 วินาที เท่านั้น!

คุณอาจจะมองว่า มันอืด แต่ความจริงแล้ว การจับเวลาหาอัตราเร่งของรถยนต์ Hybrid นั้น มีเรื่องที่ต้องคำนึงมากกว่ารถยนต์ทั่วไปอยู่ประเด็นหนึ่ง นั่นคือ อุณหภูมิของแบ็ตเตอรี และปริมาณกำลังไฟในแบ็ตเตอรี เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อตัวเลขอัตราเร่ง ถ้าคุณเพิ่งเริ่มติดเครื่องยนต์ ในช่วงที่แบ็ตเตอรียังเย็น และมีไฟในแบ็ตเยอะอยู่ การตอบสนอง จะแอบไวขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย ไม่ใช้นาฬิกาจับเวลา แต่เมื่อเวลาผ่านไป แบ็ตเตอรีร้อนขึ้น หรือมีกระแสไฟลดลง ตัวเลขอัตราเร่ง จะ Drop ลง เป็นธรรมดา

เพราะในช่วงที่ผมเริ่มต้นทดลองจับเวลาครั้งแรก ปริมาณไฟในแบ็ตเตอรี มีอยู่ราวๆ 5 ขีด และผมเพิ่งจะติดเครื่องยนต์ แล่นด้วยความเร็วต่ำ ได้สักแค่ 2 กิโลเมตร เท่านั้น จึงเริ่มกดคันเร่งพร้อมกับนาฬิกาจับเวลา ปรากฎว่า ทำได้ 11.47 วินาที! แต่เมื่อผ่านเวลาไปสักระยะ ในบางช่วงของการจับเวลา ตัวเลขก็เลยเถิดไปอยู่ที่ 13.10 วินาที ก็ยังมี! เป็นเช่นนี้ เหมือนกับการจับเวลา รถยนต์ Hybrid แทบทุกรุ่นที่ผมเคยเจอมา และยิ่งถ้าคุณ ต้องเร่ง และเบรกต่อเนื่องกันบ่อยๆ ในระยะเวลาติดๆกัน ตัวเลขจะออกมาช้าลงอย่างเห็นได้ชัด จำเป็นต้องปล่อยให้รถ แล่นรับอากาศมาช่วยระบายความร้อนสักพักหนึ่ง ก่อนจะเริ่มการจับเวลาครั้งต่อๆไป สลับกันแบบนี้ จนกว่าจะได้ตัวเลขที่นิ่งพอ

ดังนั้น สิ่งที่เราทำเหมือนเช่นปกติก็คือ เราจะไม่ใช้ตัวเลขที่เร็วที่สุด มาสรุปผล แต่เราจะนำ “ตัวเลข ช่วงเวลา” ที่รถคันนั้น ทำได้ “บ่อยครั้งที่สุด อย่างต่อเนื่องที่สุด” มาสรุปแทน เพื่อให้เป็นไปตามอัตราเร่งจริงที่รถคันนั้นทำได้ ในสภาพปกติที่สุด

ส่วนรุ่น เบนซิน 1.8 ลิตร นั้น ถ้าเปรียบเทียบกับญาติพี่น้องร่วมตระกูลแล้ว Corolla Cross จะทำตัวเลขออกมาพอกันกับ C-HR 1.8 เบนซิน เร็วกว่ากันแค่ 0.04 วินาที ขณะที่หมวดเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง Corolla Cross เบนซิน 1.8 ลิตร จะช้ากว่า C-HR เบนซิน 1.8 ลิตร แค่เพียง 0.06 วินาที เท่านั้น ถือได้ว่า อัตราเร่ง พอกัน ไม่แตกต่างกันมากนัก

การไต่ขึ้นไปยังความเร็วสูงสุดนั้น แน่นอนว่า รุ่น เบนซิน 1.8 ลิตร ยังคงทำได้รวดเร็ว และต่อเนื่องดีกว่า รุ่น Hybrid เป็นเหมือนกับ C-HR และ Corolla Altis เป๊ะ ยิ่งถ้าหากคุณใช้ความเร็วแถวๆ 80 จนถึง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่แล้ว หากจะไต่ขึ้นไปถึง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นเรื่องง่ายดายมากๆ เหยียบแป๊บเดียวเพลินๆ มารู้ตัวอีกที อ้าว 140 แล้วเหรอ แต่ถ้าหลังจากนั้นไป ก็จะไต่ขึ้นไปช้าลงเล็กน้อย และเมื่อผ่าน 160 กิโลเมตร/ชั่วโมงไป ก็จะยิ่งไต่ช้าลงไปอีกนิดหน่อย จนกระทั่งมาถึง 196 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั่นคือช่วงที่เข็มจะหยุดนิ่งแล้ว แต่ถ้าหากขับขึ้นเนิน แล้วปล่อยรถลงมาจากเนินเพื่อหวังจะไปให้เร็วกว่านี้ เข็มความเร็วสูงสุด จะไหลเพิ่มขึ้นไปเล็กน้อย  ก่อนที่กล่อง ECM (Engine Control Module) จะตัดการจ่ายน้ำมัน จนรถมีอาการหน้าทิ่ม เข็มความเร็วจะลดลงย้อนกลับมาอยู่ที่ 196 กิโลเมตร/ชั่วโมง อันเป็นความเร็วสูงสุดอย่างเป็นทางการ ตามเดิม อยู่ดี

ขณะเดียวกัน รุ่น Hybrid 1.8 ลิตร ก็ยังคงให้บุคลิกภาพรวม เหมือนกับ C-HR 1.8 นั่นละครับ แม้จะให้อัตราเร่งในช่วงต้นที่ไม่หวือหวาเท่า และแค่พอยอมรับได้ แต่พอหลังจาก 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ก็ไม่มีอะไรให้น่าลุ้นต่อเลย เผลอๆ จะไต่ความเร็วขึ้นไป ช้าพอๆกับ Eco Car 1.2 ลิตร บางรุ่นด้วยซ้ำ กว่าจะถึง Top Speed ได้เร็วๆ คงต้องใช้ช่วงลงเนินเป็นตัวช่วย มิเช่นนั้น ลากกันจนหมดถนน กว่าที่เข็มความเร็วจะขึ้นไปแตะ 178 กิโลเมตร/ชั่วโมง อันเป็นช่วงสูงสุด และได้แค่นั้น ก็ต้องใช้เวลานานพอสมควร

ย้ำกันอีกสักทีว่า เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น มันไม่

ในการขับขี่จริง อัตราเร่งของรุ่น Hybrid 1.8 ลิตร ก็ยังคงตอบสนองไม่แตกต่างจาก C-HR 1.8 Hybrid เลย คือมีเรี่ยวแรงพอกันกับ Toyota Vios ยุคที่ยังใช้เครื่องยนต์ 1NZ-FE 109 แรงม้า (PS) จับคู่เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ รุ่นปี 2002 – 2015 นั่นละครับ ในช่วงที่กดคันเร่ง เต็มตีน แรงดึงที่เกิดขึ้น อาจจะมีเพียงพอให้ผู้โดยสารซึ่งไม่คุ้นชินกับการขับรถเร็วๆ ได้แอบตื่นเต้นเล็กๆ แต่ถ้าใครที่เคยขับรถแรงๆมาเยอะแล้ว หรือเคยขับ Prius กับ Vios มาก่อน อาจจะรู้สึกเฉยๆ คือไม่แรงนะ แต่มันเพียงพอสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันของผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยแน่ๆ

เพียงแต่ว่า ในบางกรณี หากคุณ ซัดมาบนทางด่วน มีเหตุให้ต้องเบรก เพราะมีรถคันข้างหน้าขับช้าแช่ขวา งี่เง่า แล้วคุณมีจังหวะที่จะตบออกซ้าย ในเสียววินาทีนั้น ถ้าคุณตอกคันเร่งเต็มตีนลงไปเลยทันที คุณจะรู้สึกได้ว่า รถมันยังไม่พร้อมจะพุ่งออกไปในบัดดล คุณอาจต้องทนรออีกสัก 1-2 วินาที ให้เครื่องยนต์ Hybrid รวบรวมน้ำมันในท่อส่งเท่าที่มี รวมกับกำลังไฟในแบ็ตเตอรีทั้งหมด ส่งมาช่วยหมุนล้อคู่หน้า เพื่อจะพารถทะยานขึ้นอย่างเนิบๆ อาจต้องใช้เวลาสัก 4-5 วินาที กว่าจะไต่ความเร็วกลับขึ้นมาอยู่ในจุดเดิมก่อนเหยียบเบรกได้ ซึ่งในบางกรณี มันอาจจะช้าเกินไป

ดังนั้น ภาพรวมด้านอัตราเร่ง สำหรับรุ่น Hybrid 1.8 ลิตร ยังคงถือว่า เป็นไปตามความคาดหมายของผม คือ เรี่ยวแรงที่มีมาให้ เหมือนกับ C-HR 1.8 Hybrid ไม่ผิดเพี้ยน มันเพียงพอสำหรับการใช้งานของครอบครัวไทยทั่วๆไป ไม่แรง แต่ก็ไม่ถึงกับอืดอาด รสชาติเหมือนแกงจืด ที่ใส่คะนอร์ แค่ 1/5 ของก้อนเล็ก และอย่าคาดหวังความแรงเกินไปกว่า Toyota Vios รุ่นแรก (2002) และรุ่น 2 (2007)

ส่วนอัตราเร่งของรุ่น เบนซิน 1.8 ลิตร นั้น ก็ยังคงให้การตอบสนอง ที่เหมือนกับ C-HR 1.8 เบนซิน และ Corolla Altis 1.8 GR ไม่มีผิดเพี้ยน บุคลิกเหมือนกันไม่ใช่แค่ระดับ Xerox หรืองาน Copy กระเป๋าแบรนด์เนม Grade A หากแต่เป็นการ กดปุ่ม Ctrl C (Copy) แล้วนำมาแปะ Ctrl V. (Paste) ลงไปบน Platform TNGA เลยเถอะ! ต้องการพละกำลังแค่ไหน ก็กดคันเร่งไปเท่านั้น คันเร่งไม่ Lack ตอบสนองทันตีน พร้อมพาคุณพุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างทันอก ทันใจ ทันตาเห็น คงต้องยกให้กับบุคลิกการเซ็ตคันเร่งให้เลี้ยงง่าย และการเซ็ตสมองกลเกียร์ ที่มีส่วนช่วยเพิ่มความสนุกในการขับขี่มากขึ้น

แต่ถ้าจะถามว่า อัตราเร่งของรุ่นเบนซิน 1.8 ลิตร พอจะฟัดเหวียงกับเครื่องยนต์ เบนซิน 2.0 ลิตรของ Mazda CX-3 หรือ CX-30 ได้หรือไม่ ก็คงต้องบอกว่า แรงพอจะเกาะกลุ่มไปกับเขาได้อยู่ แต่อาจจะไม่ได้แรงเท่าๆชาวบ้านเขานัก พละกำลังที่มีมาให้ ก็สมตัว เป็นไปตามความคาดหมายของผมในช่วงก่อนหน้านี้ ทุกอย่าง เช่นเดียวกัน

การเก็บเสียง แรงสั่นสะเทือน อาการสะท้าน
NVH (Noise Vibration & Harshness)

ประเด็นที่หลายคนสงสัยกันก็คือ การเก็บเสียงของ Corolla Cross มันแย่จริงเหรอ?

อันที่จริง Toyota ก็พยายาม ลดเสียงรบกวนภายในห้องโดยสาร ด้วยการติดตั้งวัสดุซับเสียง ตามจุดต่างๆ ตั้งแต่ใต้ฝากระโปรงหน้า (ลดเสียงจากห้องเครื่องยนต์) ผนังกั้นห้องเครื่องยน์กับห้องโดยสาร (Dash inner silencer) วัสดุซับเสียงที่พื้นรถ Floor silencer เพดานหลังคา Ceiling silencer ยางขอบประตูด้านล่างทุกบาน Door trim ribs ไปจนถึงบริเวณห้องเก็บของด้านหลัง sound proofing material ทั้งบริเวณ ผนังห้องเก็บของด้านข้าง และพื้นที่เก็บยางอะไหล่

เพื่อคลายข้อสงสัยด้านตัวเลข เราจึงมีเครื่องมือวัดเสียง ซึ่งผ่านการ Calibrate จากผู้จำหน่ายเรียบร้อยแล้ว มาใช้งานให้ดูกัน เป็นครั้งแรก โดยเราเลือกจะใช้พื้นถนน บริเวณทางด่วนเฉลิมมหานคร ช่วงทางราบบ่อนไก่ และทางราบ สุขุมวิท 62 ซึ่งเป็นหนึ่งในช่วงที่มีพื้นผิวยางมะตอย ใหม่ที่สุด เรียบเนียนที่สุด มาเป็นมาตรฐานในการวัดความดังของเสียงในห้องโดยสารกัน และตัวเลข ก็ออกมาอย่างที่คุณเห็น

ภาพรวมแล้ว การเก็บเสียงของทั้ง รุ่น 1.8 เบนซิน และรุ่น 1.8 Hybrid ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก หากคุณใช้ความเร็ว ต่ำกว่า 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง การเก็บเสียง ถือว่า ทำได้ดีมากๆ แต่พอพ้น 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป เสียงจะเริ่มดังขึ้น โดยหลักแล้ว เสียงกระแสลม มาจาก เสาหลังคาคู่กลาง B-Pillarโดยเฉพาะช่วงด้านบนสุดของขอบแผงประตู

ส่วนเสียงจากกระจกบังลมหน้าของรุ่น 1.8 Hybrid จะเบากว่ารุ่น 1.8 เบนซิน นิดนึง แต่ก็ไม่ต่างกันนัก อีกทั้ง เสียงลมที่ไหลผ่านกระจกมองข้าง ซึ่งมีระยะห่างจากกระจกหน้าต่างรถ และเสาคู่หน้า A-Pillar ค่อนข้างเยอะ และมักเป็นจุดกำเนิดเสียงรบกวน กลับไม่ได้ดังมากอย่างที่คิด

ดังนั้น ถ้าทีมวิศวกรจะแก้ไขปัญหานี้ ให้ลองปรับปรุงวัสดุซับเสียง (Insulator) ที่ติดตั้งอยู่ใต้พรมปูพื้นรถ บริเวณ ห้องโดยสาร และซุ้มล้อคู่หลัง อีกนิดนึง รวมทั้ง ยางขอบประตู บริเวณ เสากรอบประตูคู่หน้า ที่ใกล้กับเสาหลังคา B-Pillar ทั้งหมด ก็น่าจะช่วยลดทอนปัญหานี้ลงไปได้

ระบบบังคับเลี้ยว / Steering Wheel

พวงมาลัยเป็นแบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electric Power Steering) รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 5.2 เมตร ระยะฟรีพวงมาลัย น้อยกว่า 30 มิลลิเมตร มีการปรับจูนเพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบของรถที่มีจุดศูนย์ถ่วงสูงขึ้น และปรับน้ำหนักพวงมาลัยแปรผันตามความเร็วรถ เพื่อให้สอดคล้องกับบุคลิกของตัวรถที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเอาใจครอบครัวทั่วไปเป็นหลัก

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่พวงมาลัยของ”น้องบึ้ง” ทั้งรุ่น เบนซิน และ Hybrid จะตอบสนองเหมือนกัน กล่าวคือ ทั้งคู่ จะถูกเซ็ตมาให้มีทั้งความเหมือน และต่างจาก C-HR

สิ่งที่พวงมาลัยของ “น้องบึ้ง” เหมือนกันกับ C-HR นั่นคือ ยังคงให้ความต่อเนื่องในการหมุนจากซ้ายไปขวา หรือขวาไปซ้าย (Linear) ทั้งในช่วงความเร็วต่ำ และความเร็วสูง ที่ดีเหมือนๆกัน ให้ความมั่นใจในการถือประคองพวงมาลัยไปตรงๆ ในย่านความเร็วสูง (On Center feeling) ที่นิ่งสนิท มั่นใจได้ดีเหมือนกัน รวมทั้งยังให้ความแม่นยำในการหมุนพวงมาลัยบังคับทิศทาง ในทุกย่านความเร็ว ได้ดีเทียบเท่ากับ C-HR

ทว่า สิ่งที่ทำให้พวงมาลัยของทั้ง 2 รุ่น แตกต่างกัน นั่นคือ การปรับอัตราทดเฟืองพวงมาลัยของ Corolla Cross ไว้ที่ 13.5 : 1 ซึ่งอยู่ตรงกลาง ระหว่าง Corolla Altis (13.3 : 1) กับ C-HR และ Camry 2.5 Hybrid (13.7 : 1) รวมทั้งการปรับเปลี่ยน Software ของ กล่องสมองกลควบคุม EPS รวมทั้งการปรับปรุงช่วงล่าง ไปจนถึง ความแข็งแรงของล้อ (alloy wheel rigidity)

การปรับเซ็ตทั้งหมด ส่งผลให้ น้ำหนักพวงมาลัย ในย่านความเร็วต่ำ พวงมาลัยของ Corolla Cross เบากว่า C-HR ขึ้นอีกเล็กน้อย จากเดิมที่ถือว่าเบาอยู่แล้วประมาณหนึ่ง แรงตึงมือลดทอนลงไปจาก C-HR ชัดเจน ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นสุภาพบุรุษกำยำ หรือสุภาพสตรีสะโอดสะอง ก็สามารถหมุนบังคับพวงมาลัยของ Corolla Cross เพื่อถอยเข้าจอด หรือขับขี่ไปตามตรอกซอกซอย ได้คล่องแคล่วขึ้น เบาแรงขึ้น ช่วยเพิ่มความคล่องตัว ขณะเลี้ยวเปลี่ยนเลน ระหว่างมุดลัดเลาะไปตามสภาพการจราจรที่ติดขัดในเมือง มากขึ้น

ผมมองว่า พวงมาลัยของ “น้องบึ้ง” ถูกเซ็ตมาให้ใช้งานในช่วงความเร็วต่ำ ไม่เกิน 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ดีมากแล้ว คือเบาแรงกว่า C-HR นิดหน่อย แต่ยังพอมีแรงขืนที่มือนิดๆ ส่วนช่วงเกินกว่า 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป ก็มีน้ำหนักกำลังดี

เพียงแต่ว่า ถ้าปรับเพิ่มน้ำหนักในช่วงความเร็ว 50 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นอีก “กระจึ๋งนึง” ก็น่าจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ขับขี่ ที่มีประสบการณ์แตกต่างกัน ได้มากกว่านี้ แต่โดยรวม เมื่อมองตามโจทย์ของการเซ็ตรถรุ่นนี้แล้ว ผมยอมรับได้กับ Setting แบบนี้ แต่ส่วนตัวของผม มองว่า ยก Setting พวงมาลัยของ C-HR มาใส่ ใน Corolla Cross ไปเลย ก็น่าจะดีกว่า

ระบบกันสะเทือน / Suspension

ช่วงล่างด้านหน้า เป็นแบบ MacPherson Strut พร้อมเหล็กกันโคลง ถึงจะดูหน้าตาคล้ายกับ ช่วงล่างด้านหน้าของ C-HR แต่ “ถอดสลับใส่แทนกันไม่ได้” ส่วนด้านหลัง ถูกเปลี่ยนแปลงรูปแบบ จากแบบ ปีกนกคู่ Double Wishbone ซึ่งประจำการอยู่ใน C-HR มาเป็นแบบคานบิดกึ่งอิสระ Torsion Beam พร้อมเหล็กกันโคลง

ช่วงล่างด้านหลังได้รับการออกแบบโครงสร้างของคานบิด ขึ้นใหม่ สำหรับ Corolla CROSS โดยเฉพาะ มีการปรับ Bushing และเหล็กกันโคลงให้มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึงติดตั้งสปริง และช็อกอัพ ให้เฉียงไปทางด้านหน้ามากขึ้น เพื่อลดแรงกระแทกจากพื้นถนนสู่ห้องโดยสาร

นอกจากนี้ ทั้งช็อคอัพ และคอยสปริง ยังปรับจูนให้เข้ากับ ความแข็งแรงของโครงสร้างตัวถัง (body rigidity) ที่ถูกปรับปรุงให้เน้นความสบายในการขับขี่ทั่วไปมากกว่า รวมทั้ง ขนาดยางที่ใหญ่ขึ้น ทั่งหมดนี้ ส่งผลให้ช่วงล่างของ Corolla Cross จึงนุ่มกว่า C-HR

ในช่วงความเร็วต่ำ ช่วงล่างของ “น้องบึ้ง” จะดูดซับแรงสะเทือนขณะขับขี่ผ่าน เนินสะดุด ลูกระนาด ในตรอกซอกซอย ได้ “นุ่มนวลขึ้นกว่า C-HR ชัดเจน” ชนิดที่เรียกว่า หากใช้ความเร็วแค่ไม่เกิน 20 – 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง บุคลิกช่วงล่างของ “น้องบึ้ง” รุ่นนี้ ใกล้เคียงกับ Lexus RX ญาติห่างๆผู้พี่ กันเลยทีเดียวแหละ!!

(RX ถูกเซ็ตช่วงล่าง ในความเร็วต่ำให้นุ่ม และเฟิร์ม ส่วน C-HR นั้น ช่วงล่าง จะกระเดียดไปใกล้เคียงกับ Lexus UX ซึ่งถูกเซ็ตมาให้ “กระชับ” กว่า)

ในช่วงความเร็ว 30 – 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง Corolla Cross จะให้ความสงบ นุ่ม นิ่ง และเนียนบนพื้นถนนยางมะตอย อาจมีแรงสะเทือนนิดๆ บนพื้นถนนปูนซีเมนต์เสื่อมสภาพ แต่ถ้าเจอพื้นยางมะตอยปุๆปะๆ จากผู้รับเหมาที่แม่งไม่เคยซ่อมถนนให้เรียบได้เลย คุณก็ยังสามารถพา Corolla Cross รูดไปบนพื้นผิวตะปุ่มตะป่ำเหล่านั้นได้อย่างนุ่ม แต่แอบกระชับ สมกับค่าตัวรถ

ส่วนการทรงตัวในย่านความเร็วสูงเกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป ไม่มีอะไรให้น่าเป็นห่วง ตัวรถนิ่งสนิท และมั่นใจได้ในระดับเดียวกับ C-HR ไปจนถึงความเร็ว 170 กิโลเมตร/ชั่วโมงกันเลยทีเดียว

แต่ถ้ามีกระแสลมมาปะทะด้านข้างแรงๆ ขณะแล่นบนทางยกระดับบูรพาวิถี “น้องบึ้ง” ก็แอบจะมีอาการเป๋ได้บ้าง เป็นธรรมดาเหมือนรถยนต์ทั่วไป และจุดที่ยังพอจะปลอดภัยอยู่ ท่ามกลางกระแสลมระดับนั้น คือความเร็วระดับ 130 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งก็ถือว่า ดีกว่ารถยนต์ปกติอยู่แล้ว

มาดูทางโค้ง 5 จุด บนระบบทางด่วนเฉลิมมหานคร ที่ผมใช้ทดลองเข้าโค้งหนักๆกับรถทดสอบทุกคัน (ตัวเลขความเร็ว อ่านจากมาตรวัด อาจเพี้ยนจากความเร็วจริงบน GPS เล็กน้อย อ่านได้จากตารางข้างบน)

– โค้งขวารูปเคียว เหนือทางด่วนย่านมักกะสัน รถทั่วไป 80 – 100 Corolla Cross ทั้ง 2 คัน ซัดเข้าได้ที่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง

– ต่อเนื่องไปยัง โค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin จรดทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงเพลินจิต Corolla Cross ทั้ง 2 คัน ซัดเข้าได้ที่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ยางเริ่มจะยึดเกาะไม่อยู่

– โค้งขวา โค้งซ้ายต่อเนื่องยาวๆ และโค้งขวา รูปตัว S ที่เชื่อมจากทางด่วนชั้นที่ 1 ช่วง สุขุมวิท 50 ขึ้นไปยังทางยกระดับบูรพาวิถี ผมพา Corolla Cross รุ่น Hybrid ใหม่เข้าโค้งได้ด้วยความเร็วบนมาตรวัด 100 , 115 และ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่พอเป็นรุ่น เบนซิน 1.8 ผมกลับทำได้ที่ 100 , 115 และ 125 กิโลเมตร/ชัวโมง

ถ้าเปรียบเทียบกันแล้วจะพบว่า ตัวรถจะเอียงเทออกทางด้านข้าง เพิ่มขึ้นจาก C-HR ชัดเจน ชวนให้คนที่ไม่คุ้นเคยแอบหวาดเสียวได้นิดหน่อย แต่ถ้าตราบใดที่คุณไม่ได้ใช้ความเร็วเกินกว่าขีดจำกัดของตัวรถ Corolla Cross ก็จะยังพาคุณเข้าโค้งต่อเนื่องด้วยความเร็วสูงแบบนี้ได้สบายๆ แม้ว่า ความเร็วใน 5 โค้งดังกล่าว จะลดลงราวๆ 5 – 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) เมื่อเทียบกับ C-HR ก็ตาม แต่ส่วนหนึ่ง ก็มาจากยางติดรถ ของรุ่น 1.8 Hybrid ซึ่งเป็น Michelin Primacy4 ที่ให้การเกาะถนนบนพื้นแห้งได้ดี แต่พอเจอพื้นลื่น หรือทางโค้งหนักๆ ก็ด้อยกว่ารุ่น 1.8 เบนซิน ซึ่งมาพร้อมยาง Bridgestone Alenza อยู่นิดนึง แค่เปลี่ยนยางรถ บุคลิกการขับขี่ก็ดีขึ้น

ยอมรับเลยว่า แม้ช่วงล่างจะถูกเซ็ตให้นุ่มลง แถมเปลี่ยนรูปแบบช่วงล่างด้านหลังเป็นแบบคานบิด ซึ่งตามหลักการแล้ว มักจะให้ประสิทธิภาพด้อยกว่าช่วงล่างอิสระ แต่การใช้ Platform TNGA เป็นพื้นตัวถังรถนั่น ก็มิได้ทำให้ การทรงตัว บนทางตรง และการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง ลดทอนลงไปมากนัก อย่างที่หลายคนกังวล

ตรงกันข้าม หากจำลองสถานการณ์คับขัน เช่นในวันที่คุณจำเป็นต้องพาลูก ส่งตัวเข้าห้อง I.C.U. อย่างเร่งด่วน ถึงขั้นจำเป็นต้องมุด เร่งแซง เบียดซ้าย ป่ายขวา ไปบนทางด่วน ช่วงล่างของ Corolla Cross บน Platform TNGA ยังคงให้ความคล่องตัว แม่นยำ และมั่นใจได้ในทุกรูปแบบการขับขี่ ได้อย่างแน่นอน

บุคลิกของช่วงล่าง Corolla Cross นั้น เห็นช่วงล่างนุ่มๆอย่างนี้ แต่มันก็แอบขับสนุก เหมือนกับรถยนต์ที่ใช้ Platform TNGA รุ่นอื่นๆ นั่นแหละ หากเป็นคุณพ่อบ้านขาซิ่ง ที่เริ่มจับรถจนคุ้นมือแล้ว จะหาความสนุกในการขับขี่ได้ง่ายดาย อย่างไรก็ตาม คุณแม่บ้าน ที่ไม่คุ้นเคยกับการขับรถเร็วๆ อาจรู้สึก เหวอๆ หวั่นๆ กับอาการของบั้นท้าย ที่แอบจะเหวี่ยงออกด้านข้างนิดๆ ขณะเข้าโค้ง คล้ายกับ ช่วงล่างของ Subaru Forester รุ่นล่าสุด (ซึ่งใช้ Subaru Global Platform) รวมทั้งอาการของรถ ขณะเปลี่ยนเลนไปมา ซึ่งอาจจะลดทอนความมั่นใจลงมาจาก C-HR นิดนึง แต่ยอมรับได้ ถ้าคุณเรียนรู้บุคลิกของตัวรถกันสักพัก น่าจะจับจุดได้ว่า Limit ของรถ อยู่จุดไหน ซึ่งช่วยบรรเทาความรู้สึกดังกล่าวลงได้ ทีนี้แหละ คุณก็จะสนุกกับ Corolla Cross ได้มากขึ้น

ระบบห้ามล้อ / Brake

ระบบห้ามล้อ เป็นแบบดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ จานเบรกคู่หน้า มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 305 มิลลิเมตร หนา 28 มิลลิเมตร มีครีบระบายความร้อน ส่วนจานเบรกคู่หลัง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 281 มิลลิเมตร หนา 10 มิลลิเมตร ระยะห่างแป้นเบรก 126 มิลลิเมตร ระยะฟรีแป้น 1-6 มิลลิเมตร (0.04 – 0.26 นิ้ว)

เสริมการทำงานด้วย ระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake Force Distribution) ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist เสริมการทำงานเข้ากับระบบควบคุมเสถียรภาพ VSC ( Vehicle Stability Control) พร้อมระบบป้องกันล้อหมุนฟรี ทั้งขณะออกตัวและขณะอยู่บนพื้นลื่น TRC (Traction Control)

นอกจากนี้ ยังมีระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC (Hill-Start Assist Control) ระบบป้องกันการออกตัวฉุกเฉิน Drive Start Control และเมื่อคุณเหยียบเบรกกระทันหัน ระบบไฟฉุกเฉิน ESS (Emergency Brake Signal) จะติดขึ้นมาทำงานทันที เพื่อแจ้งให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะที่แล่นตามหลังมารับทราบ และหาทางหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ

สำหรับรุ่น Hybrid ซึ่งใช้แม่ปั้มเบรกไฟฟ้า ชุดเดียวกับ ญาติพี่น้อง อย่าง C-HR แป้นเบรก มีระยะเหยียบ ไม่สั้นไม่ยาว เท่าๆกันกับ Corolla Altis และ C-HR นั่นแหละ เหมือนจะเบา แต่จริงๆแล้ว น้ำหนักต้านเท้า เยอะอยู่ เพิ่มจากรุ่นเบนซินเล็กน้อย ยังคงควบคุมเบรกได้ตามสั่ง จะเบรกแบบใช้นิ้วหัวแม่เท้ากดเบาๆ หรือ กระทืบลงไปจมสุดระยะเหยียบ รถก็จะหน่วงความเร็วลงมาให้ ตามสั่ง ตามที่คุณต้องการ เหยียบแค่ไหน ก็หน่วงลงมาไวตามนั้น เบรกค่อนข้างนุ่มนวล แต่ถ้าคุณจำเป็นต้องปล่อยเบรกให้รถเคลื่อนตัวไปตามสภาพการจราจรที่ติดขัด อาจต้องเหยียบเบรกลงไปลึกนิดนึง รถจึงจะหยุด ซึ่งในสถานการณ์เดียวกันนี้ แป้นเบรกของรุ่น เบนซิน 1.8 ลิตร ตอบสนองได้ดีกว่าชัดเจน

ระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน (Active Safety) และ เชิงปกป้อง (Passive Safety)

สำหรับ Corolla Cross แล้ว Toyota จัด Package อุปกรณ์ Toyota Safety Sense P มาให้ “น้องบึ้ง” ยกชุดมาให้เหมือนๆกับ C-HR เยอะอยู่ ประกอบไปด้วย…

  • ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลน พร้อมหน่วงพวงมาลัยอัตโนมัติ Lane Departure Warning (LDA) With Steering Assist : ถ้าคุณขับรถอยู่ แล้วเกิดง่วง หรือเผลอไปคลำหาโทรศัพท์มือถือที่ตกลงบนพื้น จนรถเบี่ยงออกนอกเลน เซ็นเซอร์ ซึ่งอ่านเลนถนนข้างหน้าอยู่ จะร้องเตือน และขึ้นสัญญาณเตือน บนจอ MID ของมาตรวัด พร้อมกับหน่วงพวงมาลัยคืนกลับเข้าเลนให้คุณเอง ข้อแม้ของระบบนี้ก็คือ ถ้าคุณชอบเปลี่ยนเลนโดยไม่เปิดไฟเลี้ยว ระบบนี้จะทำงานทันที ถ้าไม่ต้องการให้ทำงาน ก็จงเปิดไฟเลี้ยวก่อนเปลี่ยนเลนซะ แต่น่าเสียดายว่า หากคุณขืนพวงมาลัย ฝืนระบบ คุณก็ยังคงเปลี่ยนเลนได้ตามเดิม และรถคุณก็จะเบี่ยงออกนอกเลนเดิมได้อยู่ดี…
    .
  • ระบบความปลอดภัยก่อนการชน และ เบรกอัตโนมัติ Pre-Collision System : ถ้าจู่ๆ พอคุณเลี้ยวซ้ายเข้าซอย แล้วพบรถส่งของ จอดอยู่ริมถนน หน้า 7-11 ปากซอยบ้านคุณ แล้วไม่มีทางเลี่ยงใดๆอีก เซ็นเซอร์และเรดาห์จะตรวจจับวัตถุหน้ารถ พร้อมสั่งให้คุณเบรก โดยขึ้นสัญญาณเตือนบนจอ MID ตามปกติแล้ว สัญชาตญาณของคนขับ มักตกใจ และเหยียบเบรกทันที ระบบเสริมแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist จะเข้ามารับช่วงต่อ โดยเพิ่มแรงดันน้ำมันเบรกให้มากกว่าปกติ เพื่อช่วยให้คุณหยุดรถได้ทันเวลา
    .
    แต่ถ้าระบบพบว่า ในเสี้ยววินาทีนั้น คุณยังไม่ได้เหยียบเบรก ระบบจะตัดกลับมาสั่งเบรกเองจนรถหยุดนิ่ง ซึ่งมันอาจเป็นไปได้ว่า หยุดทันเวลา ก่อนถึงกันชนท้ายรถส่งของคันนั้น หรืออาจจะชนเข้าบั้นท้ายรถส่งของคันนั้นไปเบาๆ ขึ้นอยู่กับโชคชะตาและความซวยในชีวิตคุณช่วงนั้นๆ ระบบมันจะช่วยคุณได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถรับรองผลได้เสมอไป อีกทั้ง ระบบนี้ ไม่ได้ออกแบบมารองรับการตรวจจับวัตถุที่วิ่งฉวัดเฉวียนในซอยบ้านคุณ อย่างเด็กแว๊น พี่วิน และ LINE Man พลีชีพด้วย ดังนั้น คุณควรไม่ประมาทหรือไว้ใจระบบมากเกินไป
    .
  • ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ แบบแปรผัน Dynamic Radar Cruise Control with Lane Tracing Assist : ถ้าคุณขับรถทางไกล แล้วเบื่อๆ อยากเปิด Cruise Control ซึ่งมีมาให้ใน Corolla Cross ทุกรุ่นย่อย ก็แค่ กดปุ่ม เปิด ที่หัวของก้านสวิตช์ ซึ่งติดตั้งอยู่ที่ด้านขวาล่างของแป้นแตร แล้วก็เหยียบคันเร่งไปถึงความเร็วที่ต้องการ จากนั้น กดก้านสวิตช์ลง 1 ครั้ง เพื่อ SET ความเร็ว แล้วถอนเท้าจากคันเร่งได้เลย รถก็จะแน่นไปข้างหนาเอง ถ้าอยากยกเลิก ให้เหยียบเบรก เพื่อยกเลิกชั่วคราว แล้วยกก้านสวิตช์อีกครั้ง เพื่อดึงรถกลับขึ้นไปสู่ความเร็วเดิมที่ตั้งไว้ ถ้าจะเลิกใช้ก็ ก็กดปุ่มที่หัวก้านสวิตช์ เพื่อปิดระบบ
    .
    แต่สำหรับรุ่น 1.8 Hybrid Premium Safety จะพิเศษกว่ารุ่นอื่น นั่นคือ มีระบบ Dynamic Redar Cruise Control ที่จะใช้เรดาห์ และเซ็นเซอร์ ช่วยรักษาระยะห่างจากรถคันข้างหน้า สมมติว่า คุณตั้งระบบไว้ให้วิ่งแค่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จู่ๆ มีรถแล่นแทรกตัวมาจากเลนคู่ขนาน มาอยู่น้ารถคุณ ระบบจะสั่งชะลอความเร็ว และปรับความเร็วรถให้ใกล้เคียง หรือเท่ารถคันข้างหน้า โดยคุณสามารถปรับระยะห่างได้จาก แป้นสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา เลือกได้ 3 ระดับความใกล้ – ห่าง แต่ถ้ารถคันข้างหน้า เบี่ยงออกนอกเลนอื่นไปแล้ว และข้างหน้าคุณ ว่างโล่ง ระบบจะดันความเร็วรถคุณกลับไปอยู่ที่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่คุณตั้งไว้ตามเดิม แต่ถ้ามีเหตุฉุกเฉิน เช่นมีไอ้บ้าสักตัว เกิดเบรกกระทันหันตัดหน้าคุณขึ้นมา ระบบ Pre-Collision จะเข้ามารับช่วงทำงานต่อทันที ย้อนกลับไปอ่านในหัวข้อข้างบน
    .
  • ระบบควบคุมไฟสูงอัตโนมัติ Automatic High Beam : หากคุณกำลังขับรถ ตอน 4 ทุ่ม บนเส้นทางที่เปลี่ยว คุณตัดสินใจเปิดไฟสูง สอ่งนำทาง ทันใดนั้น คุณก็พบเจอยานพาหนะที่กำลังจะแล่นสวนทางมา ระบบนี้จะสั่งลดไฟสูง กลับมาเป็นไฟส่องทางแบบปกติให้ เมื่อคุณแล่นสวนทางกับยานพาหนะไปแล้ว ระบบจะกลับมาเปิดไฟสูงให้เองอีกครั้งตามปกติ
    .
  • ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตาที่กระจกมองข้าง Blind Spot Monitoring : หากคุณกำลังจะเปลี่ยนเลน แล้วจู่ๆ มี Vigo Revo หรือ Fortuner บ้าพลัง พุ่งขึ้นมาทางด้านข้างอย่างรวดเร็ว โดยไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหนทั้งสิ้น เซ็นเซอร์ของระบบก็จะตรวจเจอ แล้วขึ้นสัญญาณไฟสีเหลืองนวล สว่างขึ้นมาบนกระจกมองข้าง เพื่อเตือนไม่ให้คุณเปลี่ยนเลนเข้าไปเบียด พวกบ้าพลังเหล่านั้น ลงไปนอนข้างทาง
    .
  • ระบบช่วยเตือนเมื่อมีรถตัดผ่านขณะถอยหลัง Rear Cross Traffic Alert : ถ้าคุณกำลังจะถอยรถออกจากช่องจอด จู่ๆ มี แว๊นบอย กับสก๊อยเกิร์ล หรือ LINE Man พลีชีพ แล่นย้อนศรสวนทาง กำลังจะผ่านตัดท้ายรถคุณไป  ไม่ว่าจะเป็นฝั่งซ้าย หรือขวา เซ็นเซอร์ของระบบก็จะตรวจเจอ แล้วร้องเตือนคุณดัง ติ๊ดๆๆ เพื่อเตือนไม่ให้คุณต้องเผลอถอยไปทับเยาวชนของชาติ(หน้า) กระเด็นกระดอน หัวโหม่งพสุธา จนต้องเสียเวลามาเคลียร์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ปกครองของแว๊นน้อย และบริษัทประกันภัย
    .
  • Corolla Cross ทุกรุ่นย่อย มาพร้อมอุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐานของ Toyota ยุคใหม่ หลังปี 2016 ทั้ง ถุงลมนิรภัย SRS ที่ติดตั้งมาให้ ถึง 7 ตำแหน่ง ประกอบไปด้วย ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ถุงลมนิรภัยด้านข้างเบาะคู่หน้า 2 ใบ ม่านลมนิรภัยตามแนวหลังคา 2 ใบ และถุงลมนิรภัยสำหรับหัวเข่าผู้ขับขี่ อีก 1 ตำแหน่ง เข็มขัดนิรภัย 3 จุด ELR ทุกตำแหน่ง แต่เฉพาะคู่หน้า เป็นแบบ Auto Pull Back & Tension Reducer ปรับระดับสูง – ต่ำได้ 3 จังหวะ รวมทั้ง จุดยึดเบาะนิรภัยมาตรฐาน ISOFIX ที่ฐานพนักพิงหลังของเบาะหลังทั้ง 2 ฝั่ง และจุดยึดบนบ่าของพนักพิงหลัง ทั้ง 2 ฝั่ง เช่นกัน

ด้านความปลอดภัยเชิงปกป้อง (Passive Safety) Toyota พัฒนา Corolla Cross บนพื้นฐานโครงสร้างตัวถังนิรภัย ที่ใช้ร่วมกับ TNGA Platform มีทั้งการใช้เหล็กรีดร้อนแบบทนแรงดึงสูง น้ำหนักเบา แต่เมื่อขึ้นรูปแล้ว จะแข็งแรงกว่าเหล็กยุคเดิมมากๆ หลากหลายระดับความทนต่อแรงกด/ดึง และกระแทก ทั้งแบบ High Tensile ที่ทนแรงดึงได้ 340 MPa (เมกกะปาสคาล) ไปจนถึง แบบ Ultra High Tensile ที่ทนแรงดึงได้สูงถึง 1,620 MPa เพื่อช่วยในการรองรับแรงปะทะ และลดผลกระทบต่อผู้ขับขี่และผู้โดยสาร นอกจากนี้ ยังมีการเสริมโครงสร้างบริเวณกรอบช่องประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการชนด้านหลัง อย่างไรก็ตาม เวอร์ชันไทย กลับไม่มี คานกันชนด้านหลังมาให้ ทั้งที่ เวอร์ชันไต้หวัน ติดตั้งมาจากโรงงาน

******การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย******
*************Fuel Consumption Test *************

ถึงแม้ว่า Corolla Cross จะวางขุมพลัง เหมือนๆกันกับ C-HR และ Corolla Altis แต่หลายคนคงอยากรู้ว่า การเปลี่ยนมาใช้โครงสร้างตัวถัง (Top Hat) ขนาดใหญ่ขึ้นแบบนี้ จะส่งผลต่อตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง มากน้อยแค่ไหน และเมื่อเปรียบเทียบกับ C-HR แล้ว รุ่นไหนจะประหยัดน้ำมันกว่ากัน

เราจึงยังคงทำการทดลองด้วยมาตรฐานดั้งเดิมของเว็บเรา ด้วยการนำรถไปเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ณ สถานีบริการน้ำมัน Caltex ริมถนนพหลโยธิน ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน โดยเติมเต็มถัง หัวจ่ายตัด เพราะทางปั้ม ไม่อนุญาตให้เราเขย่ารถกันอีกต่อไป… (-__-‘)

ถังน้ำมัน มี 2 ขนาด เหมือนตลาดโลก รุ่น Hybrid ความจุ 43 ลิตร ส่วนรุ่น เบนซิน 1.8 ลิตร อยู่ที่ 50 ลิตร (ตัวเลขของทั้งคู่ ไม่รวมคอถัง)

เมื่อเติมน้ำมันเสร็จเรียบร้อย เราก็ขึ้นรถ คาดเข็มขัดนิรภัย กดสวิตช์ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ Set 0 บน Trip Meter หมวด 1 บนปุ่ม Odo Meter และ Trip Meter บนก้านพวงมาลัย จากนั้น กดปุ่ม Ok บนพวงมาลัยฝั่งซ้าย Set ระบบวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงให้เป็นค่าเริ่มต้น ใหม่ ทั้งหมด

เราเริ่มเดินทาง จากปั้ม Caltex ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดไปออก ปากซอย โรงเรียนเรวดี สู่ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วน มุ่งหน้าไปสุดปลายทาง ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ ขับขึ้นทางด่วน ย้อนเส้นทางเดิม โดยทั้ง 2 คัน จะใช้มาตรฐานการทดลองดั้งเดิม คือ ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน

เมื่อลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมัน Techron เบนซิน 95 ณ หัวจ่ายเดิม และใช้วิธีเติมแบบหัวจ่ายตัด เหมือนช่วงที่เติมครั้งแรกทุกประการ ทั้ง 2 คัน

มาดูตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันดีกว่า
เริ่มจาก รุ่น 1.8 Hybrid Premium Safety กันก่อน

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 91.7 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 4.72 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 19.42 กิโลเมตร/ลิตร

ส่วนรุ่น เบนซิน 1.8 Sport CVT นั้น

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 92.1 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.65 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 16.30 กิโลเมตร/ลิตร

แม้ว่าตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง จะด้อยกว่าญาติผู้พี่อย่าง C-HR แต่ก็เพียงแค่เล็กน้อย แทบจะเรียกได้ว่า อยู่ใน Range ใกล้เคียงกัน โดยรุ่นเบนซิน เมื่อเทียบกัน น้องบึ้ง จะด้อยกว่า C-HR แค่ 0.3 กิโลเมตร/ลิตร ส่วนรุ่น Hybrid นั้น จะด้อยกว่า C-HR ราวๆ 0.8 กิโลเมตร/ลิตร ทั้งนี้ คาดว่าน่าจะมีผลมาจาก รูปลักษณ์ภายนอก ของ C-HR นั้น เล่นกับกระแสลม ตามหลักอากาศพลศาสตร์ได้ดีกว่า ทำให้ต้านลมน้อยกว่า น้องบึ้ง ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องแปลก

แต่สำหรับคุณผู้อ่านที่สงสัยว่า น้ำมัน 1 ถัง จะพาน้องบึ้ง แล่นไปได้ไกลแค่ไหน จากเท่าที่เราใช้ชีวิตอยู่กับ รถทั้ง 2 คัน รุ่นละ 1 สัปดาห์ ทำให้เราได้พบว่า มันก็พอกันกับ C-HR นั่นละครับ

รุ่น Hybrid 1.8 ลิตร หากเติมเต็มถังอัดแน่นจริงๆ และขับใช้งานทั้งในเมือง และบนทางด่วน จะได้ระยะทางประมาณ 600 กิโลเมตร เว้นเสียแต่ว่า กดหนักๆ บ่อยๆหน่อย ก็อาจจะเหลือราวๆ 500 กิโลเมตร

ส่วนรุ่น เบนซิน 1.8 ลิตร นั้น หากขับแบบอัดๆ โหดๆหน่อย น้ำมันจะหล่นลงถึงครึ่งถังเร็วมาก  หากหมดถัง ก็จะได้ระยะทางราวๆ 400 -450 กิโลเมตร แต่ถ้าขับแบบสุภาพชน และใช้ทางด่วนกับในเมืองผสมกัน จะได้ระยะทางเพิ่มกลับมาคือราวๆ 500 กิโลเมตร โดยประมาณ

********** สรุป / Conclusion **********
“น้องบึ้ง” ผู้นุ่มนวลขึ้นกว่า C-HR เอาใจครอบครัว
ลงตัวตามแนวคิด Corolla Meets SUV แต่ยังมีเรื่องที่ต้องปรับปรุงอีกหน่อย

การเปิดตัว Corolla Cross ถือเป็นไฮไลต์สำคัญ ของวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ เมืองไทย ประจำปี 2020 เลยทีเดียว แน่นอนว่า ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ที่ทำให้ทั้งโลกปวดเศียรเวียนเกล้ากันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนขนาดนี้ การที่ Toyota สามารถสร้างยอดขายของ Corolla Cross ได้ในระดับที่มี Back order ให้กับโรงงาน Gateway นานถึง 2 เดือนขนาดนี้ เป็นเรื่อง ไม่ธรรมดา

เหตุผล ที่ทำให้ Corolla Cross ประสบความสำเร็จในเมืองไทย และแทบทุกตลาดที่ถูกส่งเข้าไปผลิตจำหน่าย นั่นคือ การที่ตัวรถ ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็น C-SUV ที่มีขนาดตัวถังเหมาะสม ไม่เล็ก ไม่ใหญ่ จนเกินไป รูปลักษณ์สวยงาม รวมสมัย โดนใจลูกค้าแทบทุกกลุ่ม ไม่มีอะไรให้น่าตำหนินัก (ยกเว้นขนาดของกระจังหน้า ในสายตาของผม กับขนาดของไฟท้ายในมุมมองของหลายๆคน)

ต้องยอมรับว่า ทีมวิศวกรของ Toyota รับฟังความคิดเห็นของลูกค้าไปเยอะมาก เพื่อการแก้ไขปรับปรุง ทุกจุดด้อยของ C-HR ให้หายไป เมื่อมาอยู่ใน Corolla Cross คันนี้ จนลงตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทัศนวิสัย ความโปร่งสบายของภายใน การก้าวขึ้น-ลง เข้า-ออกจากรถ ตำแหน่งเบาะนั่ง ไปจนถึงสมรรถนะในภาพรวม ซึ่งยังคงให้อัตราเร่งในระดับกลางๆของกลุ่ม แต่ให้ความประหยัดน้ำมันดีเด่น ในระดับเดียวกันกับ บรรดา รถเก๋ง Toyota ที่ใช้ขุมพลัง Hybrid 1.8 ลิตร THS-II และ ขุมพลัง เบนซิน 1.8 ลิตร พ่วงเกียร์ CVT ที่ยังคงผลิตขายกันอยู่ในเมืองไทย ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ดี

อีกจุดเด่นสำคัญของ น้องบึ้ง ก็คือความพยายามในการผสานคุณสมบัติเด่นของ Platform TNGA เข้ากับการปรับเซ็ตตัวรถให้เอาใจลูกค้ากลุ่มมวลชน ทำให้ตัวรถมีบุคลิกการขับขี่ที่ให้ความนุ่มสบายในความเร็วต่ำ มั่นใจได้ในการเดินทางไกลด้วยความเร็วสูง ที่สำคัญก็คือ ยังเผื่อให้คุณได้เล่นบทบู๊อยู่บ้าง ในวันฉุกเฉิน เช่นพาลูกดิ่งเข้าโรงพยาบาลกลางดึกตอนตี 2 หรือต้องมุดลัดเลาะไปตามสภาพการจราจร ยามเช้าวันเปิดเทอมใหญ่

ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุด เมื่อเทียบกับ C-HR ก็คือ Corolla Cross กลายเป็น C-SUV ที่ถูกปรับเซ็ตให้ มีช่วงล่างนุ่มกว่า C-HR พวงมาลัยเบากว่า C-HR (กะว่า เอาใจคุณแมบ้านมากขึ้น) และให้ความอเนกประสงค์ รวมทั้งทัศนวิสัยรอบคัน ที่โปร่งโล่งสบายกว่า C-HR ซึ่งรายนั้น ถูกทำมาเพื่อเอาใจลูกค้า คนโสด ที่ไม่เคยคิดจะอุดหนุน Toyota มาก่อน และอยากได้ SUV ซึ่งมีงานออกแบบ แตกต่างจากชาวบ้านชาวช่องเขา เท่านั้นเลย เรียกให้ง่ายๆคือ เป็น C-HR ที่เติมฟองนมเข้าไป จนกลายเป็น น้องบึ้ง สายนุ่ม นั่นเอง!

นี่เป็นความพยายามที่จะทำรถออกมาเอาใจครอบครัวส่วนใหญ่ ซึ่งกำลังมองหา SUV ขนาด Compact สักคัน ได้ใกล้เคียงความสมบูรณ์แบบอยู่ พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างดี ในการทำรถออกมา ได้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ในวันและเวลาที่ เหมาะสม เพราะ ณ ช่วงเวลาที่รถรุ่นนี้เปิดตัว แทบจะไม่มีคู่แข่งรายได้ เตรียมความพร้อมในการทำรถออกมาต่อกรกับ Corolla Cross มาก่อน ส่วนรถที่ขายกันอยู่ในตลาด ทำได้อย่างมากก็แค่มีคุณสมบัติใกล้เคียงเท่านั้น

แต่ แน่นอนละครับว่า น้องบึ้ง ยังมีเรื่องให้ต้องปรับปรุงกันต่อเนื่องอยู่อีก อย่างน้อยๆ ก็ 6 ประเด็นหลักด้วยกัน

ข้อที่ควรปรับปรุง

1. ปรับเปลี่ยนงานออกแบบกระจังหน้าใหม่ ให้ลดความบึ้งตึงลงกว่านี้ เพื่อให้ตัวรถมีบุคลิกอันเป็นมิตร และดึงดูดใจผู้คน เพิ่มขึ้นมากกว่านี้ คาดว่าน่าจะได้เห็นกันในรุ่นปรับโฉม Minorchange ซึ่งคาดว่า อาจต้องรอกันจนถึงปี 2022

2. โปรดใส่ Option ให้กับรุ่นเบนซิน 1.8 ลิตร เพิ่มมากขึ้นกว่านี้ อย่าเน้นขายแต่รุ่น Hybrid จนทำให้รุ่นเบนซิน กลายเป็นลูกเมียน้อย เลย

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา Toyota พยายามจะดันยอดขายรถยนต์ Hybrid ให้มากขึ้น แน่นอนว่า เป็นธรรมดาที่บริษัทรถยนต์ อยากทำเช่นนั้น เพราะว่า พวกเขาอยากจะเก็บเกี่ยวผลกำไรต่อคันรถ มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ โดยมีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เข้าสู่ชั่นบรรยากาศ เป็นผลพลอยได้

ถึงแม้ว่า ณ วันนี้ ผู้บริโภคเริ่มหันมาให้ความสนใจ อยากทดลองเป็นเจ้าของ รถยนต์ พลังไฟฟ้า และรถยนต์ Hybrid มากขึ้น ทว่า ในมุมมองของผู้บริโภค ก็ยังมีบางครอบครัว หวั่นใจกับระบบ Hybrid เนื่องจากบางบ้าน เลือกจะเก็บรถยนต์คันใหม่ของตนไว้นานเกินกว่าการรับประกันคุณภาพ 10 ปี ที่ Toyota มอบให้ ดังนั้น ราคาอะไหล่ และค่าบำรุงรักษา ที่ต้องจ่ายกันจริงๆ เมื่อถึงเวลานั้น ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่ไม่น้อย เพราะแบ็ตเตอรีของระบบ Hybrid ลูกนึง แม้ว่าราคาจะลดลงมาจากระดับหลักหลายแสนบาท จนเหลือเพียง 50,000 – 60,000 บาท แถมยังสามารถถอดแยกเปลี่ยนหรือซ่อม รายกล่องเซลส์ได้แล้วก็ตาม แต่ระบบ Inverter และแผงฟิวส์ควบคุมการตัดต่อกำลัง ก็ยังมีราคาแพงมาก อยู่

อีกประเด็นหนึ่ง ก็คือ ประเทศไทย มักพบปัญหาน้ำท่วมขังเป็นประจำทุกปี เราไม่มีทางรู้ว่า ปีไหนมันจะมาเจอแจ็กพ็อตที่บ้านเรา การจอดรถทิ้งไว้ แล้วเจอน้ำท่วมขังขึ้นมา ก็เป็นความเสี่ยง แม้ Toyota จะเคยสาธิตมาแล้ว เมื่อครั้งเปิดตัว Camry Hybrid ในเมืองไทย ช่วงปี 2009 ว่า ต่อให้น้ำท่วมถึงระดับครึ่งคันรถ ถ้าตราบใดที่ยังไม่ท่วมถึงแผงวงจรระบบตัดต่อกำลัง กำลังไฟที่เหลืออยู่ในระบบ 60% ก็จะยังช่วยให้รถแล่นได้ และมันไม่พังง่ายๆ ก็ตาม แต่ในใจของลูกค้า ก็ยังหวันๆถึงค่าซ่อมและค่าใช้จ่ายที่จะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์อันเกี่ยวข้องกับระบบขับเคลื่อน ที่จะตามมาหลังน้ำท่วมอยู่ดี (ซึ่งในแง่ของการรับประกันคุณภาพ มักไม่ครอบคลุมกรณีรถเจอภัยธรรมชาติ)

3. แผงบุเพดานเหนือห้องโดยสาร ควรเป็นสีโทนสว่าง เพื่อเพิ่มความรู้สึกทางจิตวิทยา ให้ผู้โดยสารรู้สึกว่า ภายในรถดูโปร่งโล่งสบายกว่านี้

4. ปรับปรุง การเก็บเสียง บริเวณเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar ให้ดีกว่านี้ อาจจะเปลี่ยนหรือเพิ่มยางขอบประตูให้ช่วยลดเสียงรบกวนจากกระแสลมที่ไหลผ่านตัวถังด้านข้างรถมากกว่านี้ หรืออาจเพิ่มวัสดุซับเสียง ในแผงประตูด้านในอีกนิดหน่อย ก็น่าจะลดทอนปัญหานี้ลงได้

5. ปัญหาเรื่องน้ำเข้าห้องเครื่องหลังขับฝ่าสายฝน เรื่องนี้ ลูกค้าชาวไทยรับรถไปแล้ว บางราย พบปัญหานี้ อยากให้ปรับปรุง เพื่อลดปัญหากวนใจดังกล่าวนี้ลงไปด้วย

6. น้ำหนักพวงมาลัย ขอแบบ C-HR มาเลย น่าจะจบกว่า เพราะแม้ว่า ภาพรวมแล้ว น้ำหนักพวงมาลัยจะเบาในแบบที่ลูกค้าสุภาพสตรีจะชื่นชอบ แต่ในการขับขี่ย่านความเร็วเดินทาง จนถึงความเร็วสูง ถือว่า เบาไปหน่อย และน้ำหนักพวงมาลัยของ ญาติผู้พี่อย่าง C-HR นั้น ทำมาจบครบลงตัวกว่า

ส่วนเสียงเรียกร้องจากลูกค้านั้น เพิ่มเข้ามาอีก 3 ข้อ

7. เครื่องยนต์ Hybrid ควรมีเรี่ยวแรงเพิ่มขึ้นกว่านี้อีกหน่อย ไม่ใช่ว่าโดยตอนกำลังลงมา เนื่องจากหวังผลด้านการลดมลพิษ จนกระทั่งช่วงออกตัว และช่วงปลายเหี่ยวหงอย พอกันกับ C-HR และ Corolla Altis แบบนี้

8. ผู้บริโภคจำนวมาเรียกร้องให้มีการติดตั้งเบรกมือไฟฟ้า พร้อมระบบ Auto Brake Hold มาให้ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย ทัดเทียมกับคู่แข่ง (ส่วนตัวผม เฉยๆในประเด็นนี้ และมองว่า มันไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ไม่ใช่เรื่องจำเป็น แต่ถ้าใส่มาให้ เสียงด่า ก็จะลดลงไปกว่านี้)

9. ผู้บริโภคบางกลุ่ม คิดเห็นว่า มีการลดต้นทุนด้านภายในห้องโดยสาร ทั้งที่ในความเป็นจริง ก็แค่แชร์ชิ้นส่วนกับ Corolla Altis ตามแนวทางปกติ ที่ Toyota เป็นมาตลอดอยู่แล้ว และวัสดุที่ใช้นั้น ส่วนตัวผมมองว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่แย่ และมันก็ใช้งานได้ดี เพียงแต่ว่า คู่แข่งอย่าง Mazda CX-30 ดัน Set Standard ด้านการเลือกใช้วัสดุตกแต่งห้องโดยสารได้ดีงามมากๆ จนลูกค้านำไปเปรียบเทียบกับ Toyota เท่านั้นเลย

***** คู่แข่งในตลาด / Competitors *****

พูดกันตามตรง Corolla Cross จัดเป็นรถยนต์นั่งในพิกัด C-Segment SUV อย่างไม่ต้องสงสัยอะไรกันอีก เพราะชื่อ Corolla มันพะยี่ห้อมาตั้งแต่แรกแล้ว เพียงแต่ว่า ด้วยการตั้งราคา ทำให้ น้องบึ้ง ต้องตกอยู่ภายใต้วงล้อม ของบรรดา B-Segment SUV (ซึ่งแต่ละคัน ก็มีขนาดตัวรถพอๆกับ C-SUV) หลายๆรุ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังรายนามต่อไปนี้

Honda HR-V : อดีตเจ้าตลาดกลุ่มนี้ ในเมืองไทย จากยอดขายเดือนละราวๆ 2,500 คัน แต่ปัจจุบันเข้าสู่ช่วงปลายอายุตลาด ด้วยยอดขาย เฉลี่ย 300 คัน/เดือน ถ้าคุณชอบเส้นสายงานออกแบบภายนอก ที่เน้นความโค้งมน รวมทั้งต้องการพื้นที่ใช้สอยด้านหลังรถที่เยอะ และชื่นชอบความอเนกประสงค์จากการพับเบาะหลังอันเป็นจุดเด่น (เบาะหลัง Ultra Seat พับได้แบนราบแบบเดียวกับ Honda Jazz ) อีกทั้งยอมรับได้กับช่วงล่างที่นุ่มโยนไปหน่อย จนไม่ค่อยน่าไว้ใจนักในย่านความเร็วสูง เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ซึ่งทาง Honda เขาปรับปรุงแก้ไขแล้วในรุ่น Minorchange แต่ก็ยังไม่ถึงกับจบดีนัก) รวมทั้งยอมรับได้ว่าอาจเจอปัญหา Defect ประจำรุ่น เช่น เสียงดังตามจุดต่างๆ หรือน้ำรั่วซึมตามขอบหลังคากระจก ที่เกิดจากการประกอบ และชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์ต้นทาง ไปจนถึงปัญหาเรื่องสนิมในระยะยาว ซึ่งมีเรื่องราวเล่าลือมาหนาหูตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแล้ว คุณเดินเข้าโชว์รูม Honda ไปได้เลย แต่ถ้าไม่รีบร้อนนัก HR-V Full Modelchange จะเผยโฉมในตลาดโลก ภายในสิ้นปีนี้ และน่าจะพร้อมเปิดตัวในเมืองไทยได้ ทั้งรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน และ Hybrid i-MMD ช่วงกลางปี 2021

Mazda CX-30นี่คือการนำ CX-3 ที่เราคุ้นเคย มาปรับปรุงใหม่แทบทั้งคัน แก้ไขในจุดด้อยต่างๆ เพิ่มขนาดตัวรถให้ใหญ่ขึ้นอีกนิดหน่อย จนกลายเป็น CX-3 ในแบบที่มันควรจะเป็นตั้งแต่แรก และกลายเป็นหนึ่งใน Crossover SUV ที่สวยสุด น่าใช้สุด น่าอุดหนุนมากสุด หากคุณเป็นคนโสด และไม่มีปัญหาเรื่องงบ อีกทั้งการเซ็ตรถ ยังกระเดียดไปทาง Mazda 3 มากจนเราควรจะเรียกมันว่า Mazda 3 เวอร์ชัน Crossover Coupe SUV มากกว่า แน่นอนว่า CX-30 ใหม่ ถูกจัดให้ขึ้นบรรลังก์อันดับ 1 ในด้านคุณภาพงานประกอบ การเลือกใช้วัสดุ และการตกแต่งภายในห้องโดยสาร ทว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงของ CX-30 ก็คือ…ประเด็นเรื่องศูนย์บริการ ทั้งในแง่บริการหลังการขายที่ต้องเสี่ยงดวงเอาตามแต่ผลบุญที่ทำมา และความดื้อรั้นของ Mazda ญี่ปุ่น ที่ไม่ยอมให้เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์อัตโนมัติ ตลอดอายุรับประกันคุณภาพของตัวรถ

MG HS : SUV แดนมังกร แอ๊บทำตัวเป็นคนลอนดอน จุดเด่นอยู่ที่ความสวยงาม และการประกอบที่ประณีตกว่า MG รุ่นอื่นๆ แถมให้ Feeling ช่วงล่าง บวกกับความหนักของรถ ที่ช่วยให้การเข้าโค้ง มั่นใจในมุมของคนที่อยากได้ SUV แน่นๆ ในราคาเริ่มต้น เพียง 919,000 บาท อย่างไรก็ตาม ข้อด้อยของ HS ก็คือ พละกำลังที่น่าจะแรงได้มากกว่านี้ น่าจะประหยัดน้ำมันได้มากกว่านี้ การทำงานของเกียร์ ต้องลดความกระฉึกกระฉักลงไปกว่านี้ ไม่เพียงเท่านั้น Defect จากงานปะกอบเฉพาะคัน และบริการหลังการขายที่ไม่ได้เรื่อง ในหลายๆโชว์รูม ก็ยังคงมีตามมาหลอกหลอน ลูกค้า ที่อยากลองของใหม่กันอยู่ดี ยิ่งเพิ่งออกรุ่น PHEV ด้วย ยิ่งแอบเป็นห่วงในด้านความทนานของ ระบบขับเคลื่อน และแบ็ตเตอรี ในระยะยาวอยู่เหมือนกัน

Nissan Kicks E-Power : อันที่จริง Kicks มีขนาดเล็กกว่าชาวบ้านเขา แต่ในเมื่อคนญี่ปุ่นและฝรั่งของ Nissan ที่ Yokohama มั่นหนังหน้า ใส่ขุมพลัง Series Hybrid ที่เรียกว่า E-Power เข้ามาขาย หวังจะเพิ่ม Margin ต่อคัน ทำให้ค่าตัวของ Kicks ขยับขึ้นมาเทียบเท่ากับ Corolla Cross เลยกลายเป็นมวยคู่จำเป็นไปอย่าง ช่วยไม่ได้จริงๆ แน่นอนว่า Kicks จะมีการบังคับควบคุมที่คล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง มีห้องโดยสารที่โปร่งโล่งสบายที่สุด แต่วัสดุข้างใน ก็ไม่ต่างจากญาติผู้น้องอย่าง Nissan Almera 1.0 Turbo เอาเสียเลย ด้านขุมพลัง แม้ว่า ทำอัตราเร่งได้ดีที่สุดในกลุ่ม (0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 9.34 วินาที) และเน้นความประหยัดน้ำมันในเมืองที่มากกว่าใครเพื่อน แต่แน่นอนว่า ถ้าใช้งานทางไกลยาวๆ ขุมพลัง E-Power จะประหยัดน้ำมันแค่พอกันกับค่าเฉลี่ยของรถยนต์ทั่วไปในปัจจุบัน (16- 18 กิโลเมตร/ลิตร) ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกันตัวต่อตัว Corolla Cross ได้เปรียบกว่าชัดเจนในเกือบจะทุกด้าน

Subaru XV : เพิ่งเปลี่ยนโฉมใหม่ไปเมื่อ ปลายปี 2017 คราวนี้ เปลี่ยน Platform ใหม่ และโครงสร้างตัวถังใหม่ ช่วยให้ตัวรถเบาขึ้น คล่องขึ้น และมีพวงมาลัยกับช่วงล่าง ที่สูสีตีคู่กับ C-HR แถมในบางด้าน เผลอๆชนะ C-HR ด้วยซ้ำ แต่กำลังเครื่องยนต์ก็ด้อยกว่า นิดนึง เป็นผลมาจากระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ติดตั้งมาให้จากโรงงาน เพียงรุ่นเดียวในตลาด แถมพนักศีรษะก็แข็ง ชนิดที่ว่าถ้าเขวี้ยงใส่หมา อาจชักกระแด่วตายได้ โดยไม่ต้องเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ด้านบริการหลังการขาย แม้พยายามขยายโชว์รูมและช่องซ่อมเพิ่มทั่วไทย แต่เอาเข้าจริง ศูนย์บริการ ที่พึ่งพิงได้ มีอยู่ไม่กี่แห่ง ที่แน่ๆ ไม่ใช่ในเครือของ Tan Chong ชัวร์ๆ!

***** ถ้าตัดสินใจจะเลือก Corolla Cross ควรเลือกรุ่นย่อยไหนดี? *****

Toyota Corolla Cross เวอร์ชันไทย มีให้เลือก 4 รุ่นย่อย ดังนี้

  • 1.8 Gasoline Sport 959,000 บาท (ปรับราคาขึ้นเป็น 989,000 บาท หลัง 30 กันยายน 2020)
  • 1.8 Hybrid Smart 1,019,000 บาท
  • 1.8 Hybrid Premium 1,089,000 บาท
  • 1.8 Hybrid Premium Safety 1,199,000 บาท

สีตัวถังภายนอก มีให้เลือกทั้งหมด 7 สี ในทุกรุ่นย่อย

  • สีเทาฟ้า Celesite Grey Metallic
  • สีขาว Platinum White Pearl
  • สีดำ Attitude Black Mica
  • สีน้ำตาล Graphite Metallic
  • สีเทา Metal Stream Metallic
  • สีแดง Red Mica Metallic
  • สีน้ำเงิน Nebula Blue

ภายในห้องโดยสาร มีให้เลือก 2 โทนสี (ขึ้นอยู่กับสีตัวถังภายนอก)

  • สีดำ Black
  • สีน้ำตาลแดง Terra Rossa (*เฉพาะรุ่น Hybrid Premium / Hybrid Premium Safety)

* เฉพาะรุ่น Hybrid Premium / Hybrid Premium Safety
ภายในห้องโดยสาร สีดำ Black

  • สีเทา Metal Stream Metallic
  • สีแดง Red Mica Metallic
  • สีน้ำเงิน Nebula Blue
  • สีน้ำตาล Graphite Metallic

ภายในห้องโดยสาร สีน้ำตาลแดง Terra Rossa

  • สีเทาฟ้า Celesite Grey Metallic
  • สีขาว Platinum White Pearl
  • สีดำ Attitude Black Mica

มาพร้อมเงื่อนไข Ultimate Ownership การรับประกันตัวรถ, ระบบ Hybrid

  • ทุกรุ่น ฟรีค่าแรงเช็คระยะ นาน 5 ปี
  • ทุกรุ่น ขยายเวลารับประกันคุณภาพรถใหม่ Warranty เป็น 5 ปี หรือ 150,000 กม.
  • รุ่น Hybrid รับประกันระบบ Hybrid นาน 5 ปี โดยไม่จำกัดระยะทาง
  • รุ่น Hybrid รับประกันแบตเตอรี่ Hybrid 10 ปี โดยไม่จำกัดระยะทาง

รายละเอียดอุปกรณ์มาตรฐานของแต่ละรุ่นย่อย Click Here

แน่นอนว่า รุ่น 1.8 Hybrid Premium Safety คือรุ่นที่ให้อุปกรณ์มาเยอะที่สุด และเป็นรุ่นที่ ค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับเงินที่ต้องจ่าย กระนั้น ลูกค้าส่วนมาก ก็มักเลือกยอมกัดฟันจ่าย เพื่อให้ได้อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยร่วมสมัย โดยเฉพาะ Package Toyota Safety Sense ที่ให้มาค่อนข้างครบถ้วน

แต่สำหรับใครก็ตามที่อยากลองซื้อรถยนต์ Hybrid แต่จ่ายเงินไปเล่นรุ่น Top ไม่ไหว ผมมองว่า รุ่น 1.8 Hybrid Premium ก็ให้ข้าวของมาค่อนข้างครบครันแล้ว แถมยังได้การตกแต่งภายนอก ที่เหมือนกับรุ่น Hybrid Premium Safety อีกต่างหาก

กระนั้น ใครก็ตามที่คิดอยากจะซื้อรถคันใหม่ เอาไว้ใช้งาน เกินกว่า 10 ปี ใช้งานหนัก ออกต่างจังหวัดบ่อยๆ ต้องการสมรรถนะในการขับขี่ โดยเฉพาะอัตราเร่งที่ต้องทันใจทันเท้าพอสมควร หรือเป็นกลุ่มลูกค้าที่ซื้อรถมาไว้เผื่อสำรองใช้เน้นหนักเป็น “สายจอด” มากกว่า รุ่น เบนซิน 1.8 Sport ก็น่าจะเหมาะกับความต้องการของคุณมากสุด แม้ว่า อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยที่คุณอยากได้ จะโล้นไปหน่อย แต่ อุปกรณ์พื้นฐานที่รถสมัยนี้พึงต้องมีกันได้แล้วนั้น มีมาให้ครบ อีกทั้ง ยังไม่ต้องกังวลเรื่องแบ็ตเตอรีระบบขับเคลื่อน เสื่อมในระยะยาว ในกรณีที่คุณไม่ค่อยได้ขับขี่ใช้งานอีกด้วย

Toyota Corolla Cross ถือเป็นความพยายามครั้งใหม่ของ Toyota ในการรักษา “คุณค่า ความเป็น Corolla” อันได้แก่ “การเป็นรถยนต์ครอบครัว ขนาดตัวถังกำลังเหมาะสม ซึ่งถูกออกแบบมาให้รองรับกับความต้องการพื้นฐานของสมาชิกทุกคนในบ้าน เน้นความทนทาน ทนมือทนตีน ไม่จุกจิก สมรรถนะพอตัว ขับขี่คล่องแคล่ว ง่ายดาย เข้าใจง่าย ซ่อมบำรุงไม่แพงนัก จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ Toyota ที่คนทั้งโลกรู้จักดี” ให้ยังคงยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันเชี่ยวกราก และท่ามกลางกระแสที่โลกกำลังบ้าเห่อ SUV เสียจนแทบไม่เหลือที่ยืนให้กับรถยนต์ซึ่งมีตัวถังเป็นแบบอื่นๆเอาเสียเลย

มันไม่ใช่เรื่องง่าย ในการนำ Corolla มาปรับประยุกต์ ให้เข้ากับวิถีชีวิต และความต้องการของผู้คนในเจเนอเรชันใหม่ ซึ่งคาดหวังความอเนกประสงค์จากรูปแบบรถยนต์ C-SUV เพื่อให้แบรนด์ Corolla ยังคงสืบทอดคุณค่า ต่อเนื่องไปถึงทศวรรษหน้า แต่ครั้งนี้ ต้องถือว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ของ Toyota แม้ว่าในช่วงก่อนเปิดตัว กระแสข่าวที่เล็ดรอดออกมา อาจสร้างความสับสนให้กับตลาดมากเอาเรื่อง ทว่า พอรถคันจริง ออกมา เสียงตำหนิ ก็ดูจะน้อยกว่าเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญ

ทว่า ในเมื่อ น้องบึ้ง ประสบความสำเร็จอย่างสูง สมดังความคาดหวังของ Toyota แล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ลูกค้าที่ตัดสินใจจะซื้อ Corolla Altis Sedan มีจำนวนไม่น้อย ที่เปลี่ยนใจ หันไปอุดหนุน น้องบึ้ง เป็นการทดแทน ไม่เพียงเท่านั้น การมาถึงของน้องบึ้ง ก็ยังทำให้ C-HR มียอดขายที่ลดลงตามไปด้วย ช่วยไม่ได้ครับ มันคือความจริงที่ว่า การมาถึงของ น้องบึ้ง เป็นการแย่งลูกค้าไปจาก Altis Sedan และ C-HR ด้วยกันเอง

ภาระกิจต่อไปที่ยังรอพวกเขาอยู่คือ การทำอย่างไรที่จะรักษาคุณค่าของ Corolla ตัวถัง Sedan ทั้งแบบ มาตรฐานในญี่ปุ่น เวอร์ชันอเมริกาเหนือ และแบบ Sedan Altis สำหรับตลาดจีนและ ASEAN ให้สามารถแข่งขันกับตลาดได้มากกว่านี้ ทั้งในรุ่นปรับโฉม Minorchange ที่คาดว่าต้องเปิดตัวในปี 2021 รวมทั้ง รุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคัน Full Modelchange ที่คาดว่าจะเปิดตัวในช่วงปี 2023 – 2024 ควบคู่ไปกับการรักษาคุณค่าของแบรนด์ Corolla เอาไว้ในใจผู้บริโภคให้ได้ ขณะเดียวกัน อนาคตของ C-HR ในตลาดโลก และในเมืองไทย ก็ยังดูไม่แน่นอนเอาเสียเลย

นี่เป็นโจทย์ข้อใหม่ ที่ Toyota ยังคงต้องคบคิดหาทางออกกันต่อไป

——————————///—————————-

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:

– ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และฝ่ายเทคนิค
Toyota Motor (Thailand) Co.ltd.
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ และประสานงานด้านข้อมูลตัวรถ

– Yutthapichai Phantumas (QCXLOFT)
เตรียมข้อมูลตัวรถในภาพรวม

———————————————–

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้นลิขสิทธิ์ภาพถ่าย หรือ Computer graphic จากต่างประเทศ
เป็ของ Toyota Motor Corporation , Toyota Motor (Thailand) Co.,ltd.
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
4 ธันวาคม 2020

Copyright (c) 2020 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
December 4th, 2020

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! Click Here!

—————————————————–