ณ มุมหนึ่ง ของ ห้อง Grand Convention Center โรงแรม Centara ณ
Central World ราชประสงค์ ระหว่างงานแถลงข่าวเปิดตัว Minivan รุ่นที่คุณ
กำลังจะได้อ่านรีวิวข้างล่างนี้ ยังคงดำเนินไป…

ผมยืนดูการ Present บนเวที อยู่กับ ป้าศิ PR Honda ผู้ใจดีระดับคุณแม่ แต่
มักพ่ายแพ้ต่อของอร่อยๆ…ทันใดนั้น เพลงโฆษณาของรถรุ่นนี้ ก็ดังขึ้นมา…

“โมบิลิโอ…โอะ โอ้…”

ทันทีที่ภาพยนตร์โฆษณา ฉายจบลง……

“ป้ารู้ไหมครับ ว่าผมนึกถึงเพลงโฆษณา อะไรต่อมา?”

“เพลงอะไรหรือเธอ?”

“แลคตาซอย 5 บาทททททท 125 มิลลิลิตรรรรรรรรรร……”

(ฮาครืน!)

“อีตาบ้า! คิดได้นะเธอ! แหม ฉันมีเวลา 1 เดือน ในการทำให้ผู้คนทั่วประเทศรู้จัก
รถของฉัน มันก็ต้องใช้เพลงให้ติดหูแบบนี้แหละยะ!

ป้าศิพูดไป ขำไป แต่ในใจป้าเค้า คงอึ้ง ว่า “อีจิมมี่! คิดอะไรของแก๊!”

หลังงานเปิดตัว…เวลาผ่านไป….สิ่งที่ผมได้เห็น ได้เจอ มันแอบยืนยันให้ผมรู้ว่า

เออแหะ จริงของป้าศิ เขาเลยหวะ!

ก็แหงสิครับ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เมื่อไหร่ที่มีการพูดถึงรถคันนี้ ไม่ว่าจากเพื่อนฝูง
ของผม ผู้คนในวงการรถยนต์ หรือใครก็ตามที่ผมได้เจอ เขาหรือเธอ เหล่านั้น จะร้อง
ทำนอง ท่อน “โม่บิลิโอ่ โอะ โอ้ะ!”  ออกมาให้ได้ยิน กันจนคุ้นชิน

มันกลายเป็นจิงเกิลโฆษณา ที่แอบติดปากผู้คนจำนวนหนึ่งอยู่เหมือนกัน

จากคอร์สฝึกอบรมการแต่งเพลงโฆษณา ที่ผมเคยเข้าร่วมมา ตอนไปประกวดแต่งเพลง
โฆษณา โลชั่น ซิตร้า เมื่อปี 1998 เขาสอนไว้ช่วงหนึ่งว่า เพลงโฆษณาที่ดี จำเป็นต้อง
สั้น แต่ติดหู ด้วยเวลาอันจำกัดราวๆ 15 – 30 วินาที คุณต้องทำอย่างไรก็ได้ ที่จะสื่อสาร
ทั้งบุคลิกของสินค้าให้ครบถ้วนทั้งหมด ผ่านทางซาวนด์ดนตรี เนื้อร้อง และจะยิ่งดีมากๆ
ถ้ามีท่อนฮุค ที่ง่ายต่อการจดจำ

แต่ต่อให้เพลงโฆษณาจะดีแค่ไหน จดจำง่าย ติดหูประชาชีทั่วปฐพีเช่นใด หากสินค้า
มันไม่ได้ดีเท่ากับที่ทุกคนเห็นจากโฆษณา สุดท้าย มันก็จะเสื่อมความนิยม ขายไม่ดี
แล้วค่อยๆ หายไปจากตลาดได้เหมือนกัน

ไม่เว้นแม้กระทั่งตลาดรถยนต์ในบ้านเรา อันถือว่าเป็นตลาดปราบเซียนมานักต่อนัก!

การมาถึงของ Mobilio นั้น มันเป็นสิ่งที่คนของ Honda ในบ้านเรา และ Indonesia
รอมานานแสนนาน เหมือน การต่อจิ๊กซอร์ ให้เต็มภาพ เพื่อที่จะได้เดินหน้าบุกตลาด
ASEAN ได้เต็มที่กว่าเดิม

Honda เอง ก็รู้ดีว่า ผู้บริโภค คาดหวังกับ Minivan ราคาประหยัดคันนี้ไว้ค่อนข้างมาก
พวกเขาจึงทำการบ้าน และหาทางพัฒนารถคันนี้ขึ้นมา ให้ได้ระดับราคาที่เหมาะสม
พอให้ทุกคนซื้อหามาใช้งานได้

มันถูกใจลูกค้าชาว Indonesia แน่ๆครับ เพราะกระแสหลังการเปิดตัว ยอดขายของ
Mobilio ปีนขึ้นสู่ อันดับ 2 รองจากเจ้าตลาดอย่าง Toyota Avanza และมีแนวโน้ม
ด้วยว่า อาจทำยอดขายแซงขึ้นไปได้ในบางเดือน ในอนาคตอันใกล้

แต่ในเมืองไทยละ? ตลาดบ้านเรา ไม่ได้นิยม รถยนต์ Minivan แบบนี้ มากมายเท่า
แดนอิเหนา แล้วผู้บริโภคบ้านเรา จะรับได้กับทุกสิ่งที่เห็นอยู่นี้หรือไม่ สมรรถนะ
ของมันจะออกมาดีพอให้ลูกค้าคนไทย ซื้อหามาเป็นเจ้าของหรือไม่

คำตอบ อยู่ข้างล่างนี้แล้วครับ….

แต่ก่อนอื่น ผมคงต้องพาคุณย้อนไปดูอดีตสักเล็กน้อย เพื่อให้ได้รู้ว่า อันที่จริงแล้ว
Mobilio ไม่ใช่ชื่อรุ่นใหม่ ล่าสุดแต่อย่างใด เพราะมันเคยถูกใช้มาแล้วครั้งหนึ่งใน
อดีต…ไม่ใกล้ไม่ไกล..ย้อนกลับไปแค่ปี 2001 เท่านั้นเอง…

ช่วงปลายทศวรรษ 1990 หลังจากที่ Honda ไม่ประสบความสำเร็จกับการทำตลาด
รถยนต์ขนาดเล็ก Sub-Compact Hatchback อย่าง Honda Logo และ Honda
CAPA Sub-Compact Minivan ทรงสูง 5 ที่นั่ง ในญี่ปุ่น ทำให้พวกเขาถึงขั้นต้อง
ทบทวนกลยุทธ์ที่ผ่านมาว่าผิดพลาดตรงไหน

ในตอนนั้น Honda มองว่า ตลาดรถยนต์อเนกประสงค์ Minivan มักจะมีขนาด
ตัวถังใหญ่ จึงยังมีช่องว่าง สำหรับลูกค้าที่อยากได้ Minivan ขนาดเล็ก แต่ขับขี่
ใช้งานไปได้ทุกที่ และมีพื้นที่ห้องโดยสาร กว้างขวาง ไม่แพ้ Minivan ขนาด
ใหญ่กว่า ของคู่แข่ง

ดังนั้น Honda จึงนำเอาแนวคิดนี้ ไปควบรวมไว้กับโครงการพัฒนารถยนต์นั่ง
ขนาดเล็ก ที่เรียกว่า Small MAX ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างรถยนต์ขนาดเล็ก แต่
มีพื้นที่ใช้สอยในห้องโดยสารสูงสุด ภายใต้แนวทางดั้งเดิมของ Honda นั่นคือ
Man Maximum , Machine Minimum แต่ต้องมีสมรรถนะสูงสุด บรรลุตาม
เป้าหมายที่วางไว้ ในทุกด้าน

ผลผลิตแรกจากโครงการ Small MAX นั่นคือ Honda Fit เปิดตัวในญี่ปุ่นครั้งแรก
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2001 และได้รับความนิยมอย่างสูง ก่อนที่ต่อมา คนทั่วโลก
จะรู้จักรถคันนี้ในชื่อ Honda Jazz…รถยนต์ซึ่งกลายมาเป็นพื้นฐานให้กับบรรดา
รถยนต์นั่งขนาดเล็กของ Honda ในช่วง ปี 2001 – ปัจจุบัน รวมทั้ง City ในไทย
และเวอร์ชัน Minivan ที่ชื่อว่า Mobilio….

เดือนตุลาคม 2001 Honda เผยโฉม Mobilio เวอร์ชัน ต้นแบบในชื่อ S.U.U
(Smart,Urban,Useful) ณ งาน Tokyo Motor Show ตุลาคม 2001
เป็นการแนะนำตัวสู่สาธารณชน เพื่อประเมินดูกระแสตอบรับจากผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น
ก่อนเตรียมการเปิดตัวในอีก 2 เดือนถัดมา

วันที่ 21 ธันวาคม 2001 Honda เปิดตัว Mobilio รถยนต์นั่งแบบ Sub-Compact
Minivan 7 ที่นั่ง ที่สร้างขึ้นบนพื้นตัวถังของ Fit / Jazz รุ่นแรก (แม้แต่ถังน้ำมัน ก็ยัง
ติดตั้งอยู่ตรงกลางพื้นรถ ใต้เบาะคนขับเหมือนกันเป๊ะ จุดเด่นอยู่ที่ เส้นสายตัวรถ ได้รับ
แรงบันดาลใจจาก โบกี้รถรางไฟฟ้าในยุโรป มาเป็นแนวคิดในการออกแบบ ให้ตัวรถมี
กระจกโปร่งสว่างรอบคัน และเน้นความอเนกประสงค์สุดขีด

ตัวถังยาว 4,055 มิลลิเมตร กว้าง 1,685 มิลิเมตร สูง 1,705 – 1,740 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,750 มิลลิเมตร ช่วงแรกที่เปิดตัว วางเครื่องยนต์ L15A บล็อก 4 สูบ
SOHC 16 วาล์ว 1,496 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 89.4 มิลลิเมตร กำลัง
อัด 10.8 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด PGM-FI พร้อมระบบ 2 หัวเทียน / สูบ i-DSi
90 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.4 กก.-ม.ที่ 2,700 รอบ/นาที
มีทั้งรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า และ 4 ล้อ แต่มีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ CVT เท่านั้น พวงมาลัย
แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า EPS ระบบกันสะเทือนหน้า แมคเฟอร์สันสตรัต
ด้านหลังเป็นคานบิด (ขับล้อหน้า) และแบบ เดอ ดิออง (รุ่น 4WD) ระบบเบรกแบบ
หน้าดิสก์ หลังดรัม พ่วง ABS , EBD

อย่างไรก็ตาม Mobilio ยังไม่อาจดึงดูดใจลูกค้าได้มากมายนัก ต่อให้พยามกระทุ้งตลาด
ด้วยเวอร์ชันเอาใจวัยรุ่น อย่าง Mobilio Spike 5 ที่นั่ง ด้านหลังตู่ทึบ ซึ่งเปิดตัวตาม
ออกมา เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2002 พร้อมตัวถังที่ยาวขึ้นเป็น 4,110 มิลลิเมตร
กว้างขึ้นเป็น 1,695 มิลลิเมตร และยกระดับมาใช้เครื่องยนต์ L15A เวอร์ชันใหม่
i-VTEC 110 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.6 กก.-ม.ที่
4,800 รอบ/นาที พร้อมเกียร์ CVT ล็อกตำแหน่งพูเลย์ได้ 7 จังหวะ เน้นเอาใจลูกค้า
ที่อยากได้รถยนต์ เป็นเครื่องมือในการใช้ชีวิต ทั้งการทำงานและวันพักผ่อน ก็ยังไม่เห็น
ว่าจะมียอดขายดีขึ้นดังที่ตั้งใจ

เหตุผล มีมากมายหลายประการ ตั้งแต่ รูปร่างที่ยังดูแข็งทื่อไปหน่อย เมื่อเทียบกับคู่แข่ง
ในช่วงนั้น จนถึงเครื่องยนต์ที่ยังแรงไม่พอ แม้ว่าจะเพิ่ม ขุมพลังใหม่ L15A 110 แรงม้า
(PS) เข้าไปในระยะหลังๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะช่วยกระตุกยอดขายให้ดีขึ้นมากนัก

ในที่สุด Mobilio รุ่นแรก ก็ต้องยุติการผลิตไปในเดือนเมษายน 2008 เพื่อหลีกทางให้
Minivan น้องใหม่ อย่าง Honda Freed ที่เปิดตัวเมื่อ 29 พฤษภาคม 2008 หรือ
อีก 1 เดือนถัดมา บทบาทของ Mobilio ในตลาดญี่ปุ่นเป็นอันยุติไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม ในซีกโลกทางตอนใต้ ถัดจากประเทศญี่ปุ่นลงมา Honda เอง ก็ยังมี
ปัญหายิ่งใหญ่ระดับหนามยอกอกทิ่มแทงอยู่…และมันกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการ
ปลุกชีพฟื้นร่างคืนวิญญาณให้กับชื่อ “Mobilio” ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต่างไปจากเดิม
โดยสิ้นเชิง!

ตลาดรถยนต์อเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง ราคาประหยัด ในภูมิภาค ASEAN กำลังเติบโต
เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ ประเทศอินโดนีเซีย เป็นลูกค้าที่อุดหนุนรถยนต์แบบนี้
มากเป็นอันดับ 1 ด้วยเหตุผลที่ว่า ชาวอินโด มักจะไปไหนมาไหนกันเป็นครอบครัว
แต่ด้วยรายได้ที่จำกัด และปริมาณการจราจรบนท้องถนนอันคับคั่ง การใช้รถยนต์
Minivan ขนาดใหญ่ จึงไม่เหมาะนักสำหรับประเทศที่มีแต่หมู่เกาะเต็มไปหมด
พวกเขาจึงต้องการรถยนต์ 7 ที่นั่ง ซึ่งสามารถพาสมาชิกในครอบครัว ไปท่องเที่ยว
พักผ่อนหย่อนใจได้ ในราคาที่ไม่แพง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสำเร็จของ Toyota Avanza ที่เปิดตัวทำตลาดแทนตระกูล
Toyota Kijang Innova มาตั้งแต่ปี 2004 มีส่วนผลักดันให้ตลาดกลุ่มนี้ กลาย
เป็นเค้กก้อนใหญ่ ก้อนใหม่ล่าสุด รถยนต์กลุ่มนี้ ขายได้มากถึง 80% จากตัวเลข
ยอดขายรถยนต์ของ Indonesia ในแต่ละปี ดังนั้น จึงไม่ใช้เรื่องแปลกที่บรรดา
ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลาย ต่างจ้องมองและหาจังหวะแย่งชิงเค้กก้อนนี้ ตาเป็นมัน

บางค่ายเลือกเจาะตลาดนี้ ด้วยการนำรถยนต์รุ่นดั้งเดิมที่มีขายกันอยู่แล้ว ในประเทศ
อื่น มาปรับโฉมเล็กน้อย แล้วส่งขึ้นโชว์รูม เช่น Nissan เลือกนำ Note รุ่นแรก มา
ปรับหน้าตาให้ดูจืดขึ้น ออกขายในชื่อ Livina Geniss แต่หลายค่าย ก็เลือกที่จะ
สร้าง รถยนต์รุ่นใหม่ ขึ้นมาจาก งานวิศวกรรมของรถยนต์ที่ผลิตออกขายอยู่แล้ว เช่น
Toyota Avanza,Suzuki Ertiga และ Chevrolet Spin

แน่นอน…Honda เองก็หวังจะสร้างยอดขายใน Indonesia มากขึ้นกว่านี้ เพราะ
ในอดีต Honda ถูกมองว่าเป็นรถเก๋งญี่ปุ่น ราคาแพง ในแดนอิเหนา แต่ละรุ่นที่ขาย
กันอยู่ ค่าตัวไม่ต่ำกว่า 200 ล้านรูเปี๊ยะ ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของ Honda ที่นั่น
ยังไม่มากนัก ถ้าอยากเพิ่มยอดขาย และส่วนแบ่งการตลาด พวกเขาจำเป็นอย่างยิ่ง
ที่จะต้อง พัฒนารถยนต์ Minivan ราคาประหยัดขึ้นมาสักคัน และค่าตัวต้องค่ำกว่า
160 ล้านรูเปี๊ยะ

โครงการพัฒนา Mobilio เริ่มต้นขึ้นช่วงราวๆ ปี 2011 เมื่อ Tomoki Uchida
President & Director ของ Honda Prospect Motor ผู้ผลิตและจำหน่าย
รถยนต์ Honda ใน Indonesia เล่าว่า จากผลสำรวจวิจัยตลาด ทั่วประเทศ
Indonesia เขาพบว่า รถยนต์ที่ลูกค้าชาวอินโดฯ ต้องการ ยังคงเป็นรถยนต์
ประเภท Low-Cost MPV ที่มีพื้นใต้ท้องรถยกสูงเพียงพอให้ลุยน้ำได้ในวันที่
ฝนตกกระหน่ำ มีพื้นที่เหนือศีรษะ และพื้นที่วางขา สำหรับผู้โดยสารกว้างขวาง
มีพื้นที่เก็บสัมภาระได้มาก เบาะนั่งต้องปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ง่าย ที่สำคัญ
มากสุดคือ ต้องประหยัดน้ำมัน เมื่อเขากลับไปญี่ปุ่น เขาบอกผู้บริหารของทาง
Honda ที่ญี่ปุ่น ว่า “เราต้องสร้างรถคันนี้”

Mobilio จึงเป็นผลผลิตจากการทำงานร่วมกันระหว่าง ทีมวิศวกรชาวญี่ปุ่น
ชาวไทย และชาว Indonedia จากศูนย์วิจัยและพัฒนาของ Honda R&D
ประจำภูมิภาค เอเซียแปซิฟิก ซึ่งตั้งอยู่ริมทางหลวงวงแหวนกาญจนาภิเษก
ในประเทศไทย และ P.T. Honda R&D Indonesia

ในเมื่อรถคันนี้ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเอาใจลูกค้าแดนอิเหนา ดังนั้น Indonesia จึง
กลายเป็นประเทศแรกที่ได้เปิดตัว Mobilio เริ่มจากการเผยโฉมเวอร์ชันต้นแบบ
ในงาน Indonesia International Motor Show เมื่อ 19 กันยายน 2013

เมื่อโรงงานแห่งที่ 2 ของ Honda Prospect เสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงทำพิธีเปิด
สายการผลิต เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2014 จากนั้น งานเปิดตัว Mobilio รุ่น
จำหน่ายจริง อย่างเป็นทางการ จึงถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2014
ในกรุง Jakarta

หลังการเปิดตัว ยอดขาย Mobilio ในเดือนเมษายน 2014 ขายได้ 7,526 คัน
หรือประมาณ 50% จากยอดขายของ Toyota Avanza เจ้าตลาดในอินโดนีเซีย
แต่ในเดือนมิถุนายน Mobilio ก็ทำตัวเลขยอดขายได้ถึง 10,896 คัน ในขณะที่
Avanza ทำตัวเลขในเดือนเดียวกันได้ 14,892 คัน และถ้านับตั้งแต่วันเปิดตัว
จนถึงช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม 2014 ที่ผ่านมา Honda Prospect Motor ทำ
ยอดขาย Mobilio รวมแล้วมากถึง 59.377 คัน คิดเป็นตัวเลขกว่า 54% ของ
ยอดขาย Honda ในอินโดนีเซีย ตอนนี้เลยทีเดียว!

ประเทศถัดมา ที่ได้รับสิทธิ์ เปิดตัว Mobilio เป็นประเทศที่ 2 คือ India เมื่อวันที่
23 กรกฎาคม 2014 และที่นั่น ก็ขายดิบขายดี ไม่แพ้ Indonesia เลยทีเดียว

สำหรับเมืองไทย ในตอนแรก เราคาดกันว่า Honda Automobile (Thailand)
คงจะใช้วิธีนำเข้า Mobilio มาจากโรงงาน Honda ใน Indonesia แบบเดียวกัน
กับ Honda Freed แหงๆ

แต่พอใกล้วันเปิดตัวเข้ามา ผมถึงได้รับรู้ว่า คราวนี้ Honda เอาจริงกับตลาดกลุ่ม
B-Segment Minivan มากกว่าที่คิด ถึงขั้น นำ Mobilio มาขึ้นสายการประกอบ
ที่โรงงาน Honda ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นี่แหละ!

Mobilio จึงถือเป็นรถยนต์ B-Segment Minivan คันแรกของไทย ที่ประกอบ
ในประเทศไทย และเป็นรถยนต์ Minivan ของ Honda รุ่นแรกที่ประกอบใน
บ้านเรา!

นั่นคงเป็นเพราะ Honda เอง ก็รับรู้ว่า จุดด่อนที่ทำให้รถยนต์กลุ่มนี้ ไม่ค่อยได้รับ
ความนิยมในบ้านเรานัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกค้าคนไทยยังหวั่นใจ หวาดกลัว กับ
มาตรฐานการประกอบของโรงงานในประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ อาเซียน ที่ด้อยกว่า
โรงงานในเมืองไทย และญี่ปุ่น ดังนั้น การสร้างความมั่นใจ ให้ลูกค้า ด้วยรถยนต์
ประกอบในประเทศไทย จึงกลายเป็นจุดขายใหม่ที่ Honda แอบหวังเอาไว้ว่า
จะช่วยดึงความสนใจของลูกค้า ออกมาจากคู่แข่งในตลาดทั้ง Toyota Avanza
Suzuki Ertiga ,Chevrolet Spin และ Nissan Livinaได้โดยง่าย

การเปิดตัว Mobilio ในเมืองไทย มีขึ้น เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2014 ที่ผ่านมา
คือการอุดช่องว่าง ด้วยการเสริมรุ่นรถยนต์ ในกลุ่ม Minivan ให้มีทางเลือกอย่าง
ครบถ้วนต่อความต้องการของผู้บริโภค ไล่มาตั้งแต่รุ่นใหญ่อย่าง Odyssey รอง
ลงมาด้วย StepWGN คั่นกลาง ด้วย Freed ทั้ง 3 รุ่น เป็นรถยนต์นำเข้าจาก
ญี่ปุ่น และ Indonesia แต่ Mobilio ประกอบในเมืองไทยเป็นรุ่นแรกและรุ่นเดียว

Mobilio มีขนาดตัวถัง 4,386 – 4,398 มิลลิเมตร กว้าง 1,683 มิลลิเมตร สูง 1,603
มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,652 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง (Front & Rear
Thread) อยู่ที่ 1,472 และ 1,475 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนถึงพื้นรถ Ground
Clearance 189 มิลลิเมตร (สูงขึ้น 39 มิลลิเมตรเมื่อเทียบกับ Brio ปกติ ซึ่งอยู่ที่ระดับ
150 มิลลิเมตร) น้ำหนักตัวเปล่า 1,173 – 1,223 กิโลกรัม

ถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งอย่าง Suzuki Ertiga ซึ่งมีตัวถังยาว 4,265 มิลลิเมตร กว้าง
1,695 มิลลิเมตร สูง 1,685 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,740 มิลลิเมตร ความกว้าง
ช่วงล้อคู่หน้า (Front Tread) 1,480 มิลลิเมตร ความกว้างของช่วงล้อคู่หลัง (Rear
Tread) อยู่ที่ 1,490 มิลลิเมตร ความสูงจากพื้นถนนจนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground
Clearance) 185 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวเปล่า มีตั้งแต่ 1,160 – 1,180 กิโลกรัม และ
ความจุถังน้ำมันนั้น แค่ 45 ลิตร จะพบว่า Mobilio ยาวกว่า Ertiga 121 มิลลิเมตร
แคบกว่า Ertiga 12 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า Ertiga 82 มิลลิเมตร และฐานล้อสั้นกว่า
88 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า / หลัง ที่แคบกว่า Ertiga  8 มิลลิเมตร กับ
25 มิลลิเมตร Ground Clearance ต่างกัน 3 มิลลิเมตร และหนักกว่า Ertiga
ราวๆ 13 กิโลกรัม (เทียบตัวเลขด้วยรุ่นต่ำสุดทั้งหมด)

แต่ถ้าต้องเปรียบเทียบกับ Toyota Avanza ซึ่งมีตัวถังยาว 4,140 มิลลิเมตร กว้าง
1,660 มิลลิเมตร สูง 1,695 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,655 มิลลิเมตร เพียงแค่นี้ก็
เห็นได้ชัดแล้วว่า Mobilio ยาวกว่า Avanza ถึง 246 มิลลิเมตร กว้างกว่า Avanza
ถึง 23 มิลลิเมตร เตี้ยกว่าถึง 92 มิลลิเมตร แต่มีระยะฐานล้อสั้นกว่า Avanza แค่
3 มิลลิเมตร

และถ้าเปรียบเทียบกับ Chevrolt Spin Spin ซึ่งมีความยาว 4,360 มิลลิเมตร กว้าง
1,735 มิลลิเมตร สูง 1,664 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,620 มิลลิเมตร ความกว้าง
ช่วงล้อคู่หน้า (Front Track) 1,503 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหลัง (Rear Track)
1,509 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนน ถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance)
157 มิลลิเมตร น้ำหนักรถเปล่า 1,277 กิโลกรัม จะพบว่า Mobilio ยาวกว่า Spin
26 มิลลิเมตร แคบกว่า Spin 52 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า Spin 61 มิลลิเมตร และระยะ
ฐานล้อ ยาวกว่า Spin 32 มิลลิเมตร ส่วน Ground Clearance นั้น Mobilio สูง
กว่า Spin 32 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้าและหลัง แคบกว่า Spin ที่ระดับ
31 มิลลิเมตร และ 34 มิลลิเมตร ตามลำดับ

Atsushi Arisaka  LPL (Large Project Leader) หัวหน้าทีมวิศวกร
พัฒนาโครงการ Mobilio (ซึ่งก็เป็นคนเดียวกับที่เป็น LPL ของโครงการพัฒนา
Brio AMAZE นั่นเองแหละ) จาก Honda R&D Asia Pacific Co.,ltd.
เล่าว่า Mobilio ถูกออกแบบขึ้น ด้วยแนวคิด “Progressive Private Jet”
หรือเครื่องบิน Jet ส่วนตัวที่ล้ำสมัย

(แนวคิดนี้ คุ้นๆเนอะ เหมือน Brio เลย)

องค์ประกอบสำคัญที่ถูกคำนึงถึงในการพัฒนา Mobilio สำหรับลูกค้าชาว ASEAN
คือ ความภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของ ด้วยงานออกแบบที่โดดเด่น และทันสมัย เปี่ยมด้วย
สุนทรียภาพในการขับขี่และโดยสาร รวมทั้ง ความอุ่นใจตลอดอายุการใช้งาน ด้วย
ความคุ้มค่า และได้มาตรฐานความปลอดภัย

เส้นสายตัวถัง แปลกตาด้วยแนวคิด Dual Solid Motion โดยผสานแนว
เส้นสายตัวถังด้านหน้าที่โฉบเฉี่ยวของ ตระกูล Brio กับแนวทางของ
Minivan เข้าไว้ด้วยกัน

เหตุผลที่ต้องใช้แนวเส้นแบบนี้ ก็เพราะว่า แนวเส้นเดิมของ Brio มันถูกลาก
ทิ้งไว้ ให้ต่อเนื่องไปจนสุดเกือบจะถึงหลังคา แต่ถ้าใช้แนวเส้นนั้น ลากยาว
ต่อเนื่อง สุดท้าย กระจกหน้าต่างด้านข้างมันจะออกมาในแนวทางเดียวกับ
Honda Stream ซึ่งทำให้พื้นที่กระจกหน้าต่างด้านหลังไม่มากพอ และ
ยังทำให้ตัวรถดูไม่สวยงาม ทีมออกแบบ เลยใช้วิธี เล่นกับแนวเส้นบริเวณ
กรอบกระจกหน้าต่างด้านล่าง ให้มีแนวขยักไว้เล็กน้อย เพื่อเชื่อมด้านหน้า
และด้านหลังของรถ ให้ต่อเนื่องกัน ถือเป็นจุดเด่นบนเรือนร่างของ Mobilio
ที่เด่นชัดสุด

ชุดไฟหน้า ใช้กรอบเดิม เหมือน Brio แต่มีการออกแบบใหม่ ให้มีไฟหน้า
แบบ Projector พร้อมเส้นไฟหรี่ แบบ LED ดูร่วมสมัย ส่วนไฟเลี้ยว ฝัง
อยู่ในตำแหน่งด้านบนของชุดโคม (รุ่น S และ V จะใช้ชุดโคมไฟหน้าแบบ
Multi Reflector ธรรมดา)

กระจังหน้าทุกรุ่น เป็นแบบ โครเมียม แต่รุ่น RS จะใช้กระจังหน้าแบบพิเศษ
ดูสปอร์ตดุดันยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รุ่น RS จะติดตั้งเปลือกกันชนหน้าแบบสปอร์ต
พร้อมไฟตัดหมอกหน้า สเกิร์ตข้าง และสปอยเลอร์ด้านหลัง แบบมีไฟเบรก
ดวงที่ 3 ปลอกท่อไอเสียสแตนเลส และสัญลักษณ์ RS ที่ฝาประตูด้านหลัง

ทุกรุ่นติดตั้ง ใบปัดน้ำฝนหน้าแบบหน่วงเวลา และใบปัดน้ำฝนหลัง พร้อมที่ฉีด
น้ำล้างกระจก รวมทั้งเสาอากาศแบบสั้น บนหลังคารถ รุ่น S จะให้มือจับประตู
สีเดียวกับตัวรถ ส่วนรุ่น V และ RS จะใช้มือจับแบบโครเมียม และมีไฟเลี้ยว
ฝังที่กรอบกระจกมองข้าง เพิ่มมาให้

ทุกรุ่นใช้กระทะล้อขนาด 15 นิ้ว x 5.5 J โดยรุ่น S จะให้ล้อกระทะเหล็ก พร้อม
ฝาครอบแบบเต็มวงล้อ รุ่น V จะให้ล้ออัลลอยแบบมาตรฐาน ส่วนรุ่น RS จะให้
ล้ออัลลอย ลายใบพัด ชวนใหนึกถึงทั้งล้ออัลลอยของ City กับ Jazz ใหม่ ไป
จนถึง ล้อของ BMW i8….!! ทุกรุ่นสวมยาง Dunlop ขนาด 185/65 R15

การเข้าออกจากรถนั้น Mobilio ทุกรุ่น ให้กุญแจแบบ Wave Key พร้อมสวิตช์รีโมท
คอนโทรล สั่งล็อก – ปลดล็อก และระบบ Immobilizer ฝังมาให้ในตัว หน้าตายังคง
เหมือนกับ กุญแจของ Honda City กับ Jazz รุ่นก่อน (2008 – 2014) และ Brio
กับ Brio AMAZE ไม่มีผิด แต่รุ่น S เกียร์ธรรมดา จะไม่มีสัญญาณกันขโมย มาให้ ส่วน
ระบบล็อกประตูอัตโนมัติ เมื่อรถเคลื่อนตัวออกไป มีมาให้เฉพาะรุ่น RS เท่านั้น

การติดเครื่องยนต์ ใช้วิธีบิดกุญแจที่คอพวงมาลัย ตามปกติ ส่วนสัญญาณกันขโมยมาให้
เฉพาะในรุ่น V ทั้งเกียร์ธรรมดา และ เกียร์อัตโนมัติ ส่วนรุ่น S ไม่มีมาให้แน่นอน

มือจับประตูทั้ง 4 บาน แม้จะเป็นแบบโครเมียม ดูเหมือนจะแข็งแรง แต่ยังคงค่อนข้าง
บอบบางกว่ารถทั่วไป พอกันกับ มือจับประตูของ Brio นั่นละ สรุปว่า ก็ยังไม่ได้แก้ไข
ปรับปรุงในเรื่องนี้ อีกตามเคย

โครงสร้างรอบกรอบช่องทางเข้าบานประตูคู่หน้า เห็นได้ชัดเลยว่า ทั้งคล้ายคลึง
หรือเหมือนกับ Brio และ Brio AMAZE อย่างมาก ไม่ว่าจำเป็น ท่อนล่างของเสา
หลังคาคู่หน้า A-Pillar ฐานธรณีประตู ครึ่งท่อนล่างของเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar
ชุดประตู (ไม่รวมเสากรอบหน้าต่าง) ไปจนถึงแผงประตู

อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะห่างจากพื้นรถของ Mobilio ถูกยกให้สูงเพิ่มขึ้นจาก Brio
รุ่นปกติ 39 มิลลิเมตร ส่งผลให้ ตำแหน่งเบาะนั่ง สูงขึ้น ยิ่งทำให้การเข้า – ออกจาก
บานประตูคู่หน้า จึงสะดวกสบายยิ่งขึ้นกว่า Brio รุ่นปกติ อย่างชัดเจน

แผงประตูคู่หน้า ยกชุดมจาก Brio AMAZE มีการปิดทึบบริเวณเดิม ที่เคยมองเห็น
สีตัวถัง จาก Brio Hatchback มีพื้นที่วางแขน ที่สามารถวางท่อนแขนได้สบายพอดีๆ
และมี ช่องวางขวดน้ำขนาด 7 บาท รวมทั้ง ช่องใส่ของจุกจิก ที่สามารถใส่สมุดบันทึก
ได้สบายๆ เหลือเฟือ

กระนั้น ต้องทำใจว่า ชายล่างขอบประตู ไม่ได้ออกแบบซ่อนรูป เหมือนเช่น SUV
รุ่นใหม่ๆ ดังนั้น การขึ้น – ลงจากรถ อาจยังคงประสบปัญหา ชายกระโปรง หรือ
ขากางเกง เปรอะเปื้อนฝุ่นโคลน ที่ติดอยู่บริเวณชายล่างของตัวรถได้ตามเดิม

ภายในห้องโดยสารของรุ่น RS และ S จะตกแต่งด้วยสีดำ มีเพียงรุ่น V เท่านั้น
ที่จะเปลี่ยนไปใช้สีเบจ มีการเปลี่ยนลายผ้าเบาะตรงกลางเสียใหม่ ให้เน้นความ
โค้งมน พริ้วไหว แฝงบุคลิกสปอร์ต นิดๆ

เบาะนั่งคู่หน้า ยกชุดมาจาก Brio และ Brio Amaze ทั้งดุ้น พนักศีรษะ ฝังเป็น
ชิ้นเดียวกับกับตัวพนักพิงหลัง ซึ่งค่อนข้างบาง และมีปีกเล็กๆ บริเวณสีข้าง ยื่น
ออกมานิดเดียว การรองรับ ก็เหมือนกันกับ ตระกูล Brio ไม่มีผิด พนักพิงหลัง
ยังคงใช้ฟองน้ำที่นุ่ม พิงหลังได้สบายกำลังดี ตามราคาของรถ พอจะหลงเหลือ
สัมผัสของการซัพพอร์ต จากปีกเบาะขนาดเล็ก บริเวณสีข้าง มาให้เพียงเล็กน้อย
แค่พอเป็นพิธี กระนั้น ผมไม่รู้สึกปวดหลังใดๆ ถ้าขับขี่ในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง
ต่อเนื่องกัน ยังถือว่าเป็นเบาะนั่งรถยนต์ราคาประหยัด ที่ดีใช้ได้ สมราคาของมัน

เบาะรองนั่งมีขนาดกำลังดี ยาวพอกันกับ Jazz และ City รุ่นปัจจุบัน (ปี 2012)
แต่ถ้ายาวกว่านี้อีกนิดเดียว ก็จะดีขึ้นอีก เพราะมันสั้นไปนิดนึงสำหรับคนตัวสูงเกิน
175 เซ็นติเมตร หรือคนที่มีช่วงต้นขายาวกว่าชาวบ้านเขา

ตำแหน่งนั่งขับ ไม่แตกต่างจาก Brio ทั้ง 2 ตัวถัง เลย แม้จะไม่มีก้านโยกปรับระดับ
สูง – ต่ำ ของเบาะคนขับมาให้ ทำได้แค่ เลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง และปรับเอนนอน
แต่ ผมแทบจะไม่เห็นว่ามีใคร บ่นถึงตำแหน่งคนขับของ Mobilio ให้ฟังกันเลย

ตำแหน่งนั่งขับ ลงตัวดีมากๆ ติดตั้งมาในความสูงที่ถูกต้อง เหมาะสม ไม่เตี้ย ไม่สูง
จนเกินไป อีกทั้งในเมื่อตัวรถ สูงกว่า Brio อยู่แล้ว พื้นที่เหนือศีรษะ จึงเหลือว่าง
บานทะโร่โท่ บริเวณตำแหน่งคนขับ และผู้โดยสารด้านหน้าฝั่งซ้าย หากคุณมีสรีระ
สูงประมาณ 170 เซ็นติเมตร จะเหลือพื้นที่ด้านบน ราวๆ 1 ฝ่ามือ กับอีก 2 นิ้วมือ
ในแนวนอน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมอยากให้ Honda นำไปปรับปรุงเพิ่มเติม ก็ไม่ต่างจาก Brio
และ Brio AMAZE เลย นั่นคือ อยากให้มีคันโยกปรับระดับสูง – ต่ำ สำหรับเบาะนั่ง
ฝั่งคนขับ มาให้กันเสียที เช่นเดียวกันกับ เข็มขัดนิรภัย แบบ ELR 3 จุด ทั้ง 2 ฝั่ง
ควรปรับระดับ สูง – ต่ำได้แล้ว เพราะ ทั้ง 2 รายการนี้ เป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่พบได้
ในรถยนต์ยุคใหม่ หลังปี 2010 กันหมดแล้ว เลือกจะลดต้นทุนในเรื่องไม่เป็นเรื่อง
แบบนี้ ผมว่าไม่เข้าท่านะครับ

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง บอกเลยว่า ทำได้สบายมากกก ตามคาดหมาย
บานประตูกว้าง ใหญ่ และยาวพอให้ก้าวเข้า – ออกจากเบาะหลังได้ สะดวกสบาย
ช่องทางเข้า – ออก ก็ใหญ่โต พอกันกับ Avanza (ประเด็นเรื่องความกว้างของช่อง
ทางเข้า – ออก บานประตูคู่หลังนี้ Ertiga ยังคงเป็นที่ 1 ในกลุ่ม ตามด้วย Mobilio
และ Avanza นี่ละ)

ตำแหน่งวางแขนบนแผงประตูคู่หลัง วางได้พอดีเป๊ะ แต่กระจกหน้าต่างไฟฟ้า
ไม่สามารถเลื่อนลงมาจนสุดขอบรางได้ อีกทั้งยังไม่อาจหาความสบายจากพื้น
ผิวสัมผัสพลาสติก Recycle ขณะวางแขนได้เลย

บริเวณด้านล่างของแผงประตู มีช่องใส่ขวดน้ำ และกระป๋องน้ำอัดลม แยกช่อง
มาให้ ฝั่งละ 2 ตำแหน่ง รวมทั้งหมด 4 ตำแหน่ง

เบาะแถว 2 มีพนักพิงที่แบนราบ เป็นพื้นกระดาน เสียจนแทบไม่เหลือการรองรับ
ซัพพอร์ตแผ่นหลังกับหัวไหล่เอาเสียเลย โชคดีที่ฟองน้ำอันแสนจะนุ่มแอบนิ่มนิดๆ
พอจะสร้างความสบายให้ผู้โดยสารได้อยู่ แม้จะนั่งในระยะทางไกลๆ ก็ตาม ส่วน
เบาะรองนั่ง ถึงจะสั้น แต่ยังอยู่ในระดับมาตรฐานของรถยนต์นั่งจากญี่ปุ่น ทั่วไป
ไม่สั้นมาก แต่ก็ไม่ยาวมาก เบาะรองนั่ง นุ่มและแอบแน่นนิดๆ กำลังดี

ตัวเบาะนั่ง แยกฝั่งซ้าย – ขวา ในอัตราส่วน 60 : 40  ชัดเจน สามารถแยกปรับ
เอนพนักพิงได้ สูงสุด ตามที่เห็นในภาพนี้ และตัวเบาะ ก็สามารถแยกปรับเลื่อนขึ้น
ไปข้างหน้า – ถอยหลังได้ 100 มิลลิเมตร อีกด้วย

พนักศีรษะเป็นแบบมาตรฐานทั่วไป ผมชื่นชอบมากที่มันไม่ได้ถูกออกแบบมา
ให้เป็นรูปตัว L ความนุ่มสบาย และการรองรับศีรษะทำได้ค่อนข้างดี

ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะสำหรับผู้โดยสารแถวกลาง หากคุณตัวสูง 170 เซ็นติเมตร
จะเหลือพื้นที่ด้านบนมากถึง 1 ฝ่ามือ กับอีก 3 นิ้วมือ ในแนวนอน

ถ้ามองขึ้นไปบนหลังคา จะพบ พัดลมแอร์ Blower ที่เลือกปรับระดับความแรง
ได้ถึง 3 ระดับ เพื่อกระจายความเย็น ไปให้ทั่วถึงพื้นที่โดยสารแถว 2 และ 3
แรงและเย็นเร็ว จนต้องถามว่า นี่จะยกเอาพายุหิมะมาไว้ในรถกันเลยใช่ไหม?

เข็มขัดนิรภัยสำหรับเบาแถว 2 มีทั้งแบบ ELR 3 จุด ฝั่งซ้าย – ขวา และ LR
2 จุด คาดเอว เฉพาะตรงกลาง ทั้ง 2 ฝั่ง มีจุดยึดเบาะนิรภัยของเด็ก ISOFIX

การเข้า – ออกจากเบาะแถว 3 นั้น ใช้วิธีการหมุนคันโยกด้านข้างเบาะแถว 2
(บริเวณ Hip Point) ชุดเบาะนั่ง จะพับพนักพิงให้แบนราบ และจะปลดล็อก
ขายึดเบาะกับพื้นรถ เพื่อให้ตัวเบาะดีดตัวโน้มขึ้นมาข้างหน้าอย่างรวดเร็วแบบ
One Motion เหมือนกับ B-Segment Minivan ทุกรุ่น (ยกเว้น Ertiga)

อย่างไรก็ตาม อยากให้เพิ่มความระมัดระวังในการใช้งาน เพราะไม่มีตะขอ
เกี่ยวยึดเบาะกับวัตถุอื่นใดทั้งสิ้น โอกาสที่เบาะจะดีดตัวกลับลงมา ทับส่วนขา
ของคุณ ก็เป็นไปได้อยู่

การก้าวขึ้น – ลงจากเบาะแถว 3 แม้ว่าคุณจะตัวใหญ่ระดับเดียวกับผม แต่ก็ยัง
สามารถมุดตัวเข้าไปนั่ง และลุกออกมาจากเบาะแถว 3 ได้สบายๆ ถ้าเทียบกับ
คู่แข่งแล้ว Spin จะทำคะแนนข้อนี้ได้แย่สุด ที่เหลือ จะอยู่ในเกณฑ์ไล่เลี่ยกัน
ไม่ทิ้งห่างกันมากนัก

เบาะนั่งแถว 3 มีพนักพิงที่แบนไม่แพ้พนักพิงเบาะแถว 2 แต่ใช้ฟองน้ำแบบนุ่ม
ออกจะนิ่มหน่อยๆ พอจะหาความสบายได้บ้าง ตัวพนักพิง แบ่งพับได้ 2 ฝั่ง ใน
อัตราส่วน 50 : 50 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง และปรับเอนได้ 2 ระดับ

อย่างไรก็ตาม พนักศีรษะรูปตัว L ยังคงจำเป็นต้องตามมาหลอกหลอนผมอยู่บ้าง
เนื่องจากรูปแบของการใช้งานเบาะหลัง ทำให้ทีมออกแบบ จำเป็นต้องยอมเลือก
ใช้พนักศีรษะแบบนี้ ซึ่งถ้าคุณไม่ยกมันขึ้นมาใช้งาน มันก็จะทิ่มตำต้นคอคุณจน
น่ารำคาญ แต่ถ้ายกขึ้นมา ก็มีตัวเกี่ยวยึดล็อกมาให้แค่  1 ตำแหน่ง ด้านบนเกือบ
สุดก้านเหล็ก ด้านบน ตัวพนักศีรษะ มีฟองน้ำที่แน่น กว่าพนักศีรษะของเบาะ
ในตำแหน่งอื่นๆ

ขณะเดียวกัน เบาะรองนั่ง ก็ยาวไม่มากนัก แถมยังติดตั้งอยู่กับพื้นรถ ทำให้ต้อง
นั่งชันขาอย่างไม่สบายนัก แม้ว่าพื้นที่วางขา ไม่เป็นปัญหาใดๆกับหัวเข่า ต่อให้
คุณจะเลื่อนเบาะแถวกลางมาจนสุดระยะเลื่อน ก็ยังมีพื้นที่หัวเข่า เหลืออีกราวๆ
1 ฝ่ามืออยู่ดี

แต่ปัญหามันจะไปเกิดขึ้นกับ ส้นเท้า เพราะมันแทบไม่เหลือพื้นที่ใต้เบาะ
แถวกลาง ให้ผู้โดยสารแถว 3 สอดส้นเท้า เข้าไปใต้เบาะมากพอให้เกิดความ
สบายระหว่างเดินทางกันได้เลย

พื้นที่เหนือศีรษะสำหรับคนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร และจำเป็นต้องขึ้นไปนั่งบน
เบาะแถว 3 จะเหลือเพียงราวๆ 2 นิ้วมือ ในแนวนอน สอดเข้าไประหว่างศีรษะ

แผงผนังด้านข้างสำหรับผู้โดยสารแถว 3 สามารถวางแขนได้พอดี มีช่องใส่
กระป๋องน้ำอัดลม ฝั่งละ 1 จุด รวมทั้ง ช่องวางโทรศัพท์มือถือมาให้ ฝั่งละ 1
ตำแหน่ง (ฝั่งซ้าย จะตื้นกว่าฝั่งขวานิดหน่อย) รวม ทั้งหมด 4 จุด

เข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสารบนเบาะแถว 3 เป็นแบบ ELR 3 จุด ติดตั้งมาให้
ครบทั้ง 2 ตำแหน่ง

ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง ยังคงมาในสไตล์ Honda Minivan ทุกรุ่น คือ
บานใหญ่ ช่องทางเข้า มีขอบด้านล่างต่ำ สะดวกต่อการขนข้าวของสัมภาระ
ที่มีน้ำหนักมาก ขึ้นลง จากด้านหลังรถได้ง่ายดาย มีช็อกอัพไฮโดรลิกค้ำยัน
2 ต้น ใช้กลอนไฟฟ้า ช่วยล็อกเอาไว้ การปลดล็อก สามารถดึงมือจับเปิด
บริเวณแถบเหนือช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง

Mobilio RS มีไล่ฝ้า และใบปัดน้ำฝันหลัง พร้อมที่ฉีดน้ำล้างกระจก รวมทั้ง
เปลือกกันชนหลังสไตล์ สปอร์ต พร้อมแผงทับทิม เพื่อช่วยให้มองเห็นได้
ชัดเจนในยามค่ำคืน ขณะที่จอดอยู่และไม่ได้เปิดไฟท้ายทิ้งไว้

พื้นที่ห้องเก็บของนั้น ดูเหมือนว่า ถ้าต้องการขนของอย่างเป็นกิจลักษณะ
คงต้องขอแนะนำให้ไปซื้อรุ่น S ซึ่งถอดเบาะแถว 3 ออกไป แล้วเพิ่มถาด
วางของอเนกประสงค์ได้แทน พื้นที่ด้านหลังจะกว้างใหญ่ ขนาดที่ว่าให้
คนนั่งหันหน้าเข้าหากันได้อีก 4 คน สบายๆ และขนข้าวของได้อย่าง
ไม่จำกัด

แต่ในรุ่น V กับ RS นั้น  การพับเบาะแถว 3 ก็ยังคงเป็นปัญหา เหมือนเช่น
Minivan รุ่นอื่นๆ ในกลุ่มนี้ เพราะเบาะแถวหลังสุด ไม่สามารถแยกชิ้น ซ้าย –
ขวาได้ ต่อให้พนักพิงเบาะของ Mobilio จะแบ่งพับได้ 2 ฝั่ง แต่เบาะรองนั่ง
ก็ยังเป็นแบบชิ้นเดียว ดังนั้น การพับเบาะแถว 3 ของ Mobilio จึงไม่แตกต่าง
จาก Avanza และ Spin มากนัก คือต้องพับลงมาทั้งชิ้น แล้วก็ตลบเบาะไป
ข้างหน้า แต่ยังขนของได้เหลือเฟือ ถ้าผู้โดยสารไม่เกิน 5 คน

แผงหน้าปัด ถอดยกชุดจาก Brio ทั้ง Hatchback และ AMAZE Sedan
มาทั้งดุ้น เพียงแต่ว่า ถ้าสังเกตดีๆ จะพบความแตกต่าง ทั้งการเปลี่ยนมาใช้
โทนสีดำ เพื่อให้ดูภูมิฐานขึ้น เปลี่ยนลวดลายบนพื้นผิวของแผงหน้าปัดใหม่
ใช้เส้นโครเมียม ประดับไว้รอบช่องแอร์ วงกลม แปะใส่ไว้ให้เลยเสร็จสรรพ

ไม่เพียงเท่านั้น ช่องเก็บของ Glove Compartment บนแผงหน้าปัดฝั่งซ้าย
ยังมีปัญหาชิ้นส่วนเหลื่อมล้ำ ออกมาเหมือน Brio เป๊ะ โดยแทบไม่ได้แก้ไขให้
ปิดได้เรียบเนียนกว่านี้เลย

ผมมองว่า ถ้า Honda ต้องการจะสร้างความแตกต่างให้ลูกค้า แยกแยะออกว่า
Mobilio ไม่ใช่แค่ Brio ต่อตูด ก็ควรจะลงทุนออกแบบแผงหน้าปัดใหม่ทั้งชุด
กันไปเลย เพื่อยกมาใช้ใน Mobilio ก่อน จากนั้น ค่อยไปประยุกต์ เปลี่ยนใส่
ใน Brio และ Brio AAZE ต่อไปหลังจากนี้ ก็ยังได้

มองขึ้นไปด้านบน แผงบังแดด 2 ชิ้น มีกระจกแต่งหน้า พร้อมฝาฟับมาให้ หาก
เป็นรุ่น V และ RS จะมีครบทั้งฝั่งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ส่วนรุ่น S จะมีเฉพาะฝั่ง
คนขับเท่านั้น) ติดตั้งอยู่บนเพดานหลังคา ที่ออกแบบให้มีหลุมเว้า เพื่อรองรับกับ
แผงบังแดดทั้ง 2 ตำแหน่งไว้แล้ว  ส่วนกระจกมองหลังนั้น หน้าตาบ้านๆ ธรรมดา
เรียบๆ เหมือนกันกับ Brio

มองจากขวา เข้ามาทางซ้าย ทุกรุ่น ติดตั้ง กระจกมองข้างปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้า
แต่ เฉพาะรุ่น RS จะเพิ่มระบบพับกระจกมองข้างด้วยไฟฟ้ามาให้ กระจกหน้าต่าง
ของทุกรุ่น เลื่อนขึ้น – ลงได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า เฉพาะฝั่งคนขับ มีระบบเลื่อนลงด้วย
การกดปุ่มจนสุดเพียงครั้งเดียว แบบ One Touch ทว่า กลับไม่สามารถเลื่อน
กระจกหน้าต่างขึ้นครั้งเดียวได้ ต้องใช้นิ้วเกี่ยวสวิตช์ยกหน้าต่างแบบแช่ค้างไว้
รอให้เลื่อนปิดขึ้นมาเอง

เข้าใจนะครับว่า ไม่อยากติดตั้ง ตัวดีดกลับเมื่อมีสิ่งกีดขวาง แต่ไหนๆก็ไหนแล้ว
อุปกรณ์ระดับนี้ มันควรจะมีมาให้ในรุ่นท็อป RS ได้แล้วนะ! อย่างกเลย

พวงมาลัย ยังคงเป็นแบบ ยูรีเทน 3 ก้าน ตกแต่งด้วยลาย Trim สีเงิน และดำ
ยกชุดมาจาก Brio และ Brio AMAZE จับกระชับมือ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง
เหมาะสมดี Grip ยังคงดีเหมือนเดิม และปรับระดับสูง – ต่ำได้ แต่ปรับระยะใกล้
ห่าง จากตัวผู้ขับขี่ ไม่ได้

แต่รุ่น RS จะพิเศษกว่ารุ่นย่อยอื่น เพราะมีสวิตช์ควบคุมเครื่องเสียงบนพวงมาลัย
น่าเสียดายที่ไม่ยอมออกแบบให้มีไฟเรืองแสงจากด้านหลังสวิตช์ เพื่อความสะดวก
ในการใช้งานตอนกลางคืน

ถ้าดูกันแต่เปลือกนอก ทุกอย่างที่คุณเห็น บนตำแหน่งคนขับ ไม่แตกต่างไปจากทั้ง
Brio Hatchback และ Brio AMAZE เลย แต่ความจริงแล้ว พื้นหลังชุดมาตรวัด
ถูกออกแบบขึ้นใหม่ ให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับ Honda รุ่นอื่นๆ ซึ่งเปลี่ยน
มาใช้ Theme สีฟ้า มาตรวัดรอบ อยู่ทั้งซ้ายสุด ส่วนมาตรวัดความเร็ว ตรงกลาง
เปลี่ยน Font ตัวเลขใหม่ ให้อ่านง่ายสบายตามากขึ้น ฝั่งขวาเป็นไฟบอกตำแหน่ง
เกียร์ (เฉพาะรุ่นเกียร์อัตโนมัติ) และไฟสัญญาณเตือนต่างๆ กระจายรายล้อมอยู่บน
พื้นที่ของมาตรวัดทั้ง 3 ช่อง

ชุดเครื่องเสียง ของรุ่น RS จะจัดเต็มกว่าพี่น้องร่วมตระกูล เป็นวิทยุ AM/FM
แบบหน้าจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว Advanced Touch เชื่อมต่อภาพและเสียงผ่าน
ช่องเชื่อมต่อ HDMI ช่องเสียบ USB ระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์ Bluetooth เลือก
ฟังเพลงจากโทรศัพท์มือถือได้โดยไม่ต้องเสียบสายใดๆทั้งสิ้น พร้อมลำโพง 4 ชิ้น
และสวิตช์ควบคุมเครื่องเสียง บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย แต่ไม่มีเครื่องเล่น CD ให้

คุณภาพเสียงอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี เสียงทุ้ม ทำได้ดีมาก แน่น มีมิติในแบบที่
ชุดเครื่องเสียงสำหรับรถยนต์ราคาประหยัดทั่วไป ให้ไม่ได้ดีเท่านี้ แต่เสียงใส
อาจยังขุ่นมัวไปนิดนึง กระนั้น ถือว่า ยอมรับได้ และจัดเป็นเครื่องเสียงติดรถ
ที่ดีสุดในอันดับต้นๆ ของกลุ่ม B-Segment Minivan

อย่างไรก็ตาม ข้อที่ควรปรับปรุงคือ หน้าจอสัมผัส ยังทำงานล่าช้า เลื่อนหรือกด
ลงไป ต้องใช้เวลาอีกเสี้ยววินาทีในการตอบสนอง แถมยังไม่สามารถกดเลือก
ปรับเสียง Eaqualizer ได้มากไปกว่า โปรแกรมสำเร็จรูปที่ตั้งมาให้แล้ว ทั้งแบบ
Rock Beat Jazz ฯลฯ ถือว่าใช้งานไม่ง่ายอย่างที่คิด

อีกประการหนึ่งก็คือ ในตอนกลางคืน ไม่มีไฟเรืองแสงที่สวิตช์ชุดเครื่องเสียง
เลยแม้แต่ชิ้นเดียว ทำให้ต้องคอยเปิดไฟอ่านแผนที่ แล้วละสายตาเพื่อมองหา
สวิตช์ที่ต้องการ อันมี Font ตัวอักษรเล็กมากๆ อีกต่างหาก ใช้งานในยามค่ำคืน
ไม่สะดวกเอาเสียเลย

เครื่องปรับอากาศ ยังคงใช้สวิตช์แบบด่านเจดียืสามองค์ อีกตามเคย ข้อดีก็คือ
ตำแหน่งสวิตชมือหมุน จัดวางไว้อย่างเรียบง่าย สะดวกในการคลำหา ขณะ
ขับขี่ แต่บางที ก็หนาวเย็น จนขึ้นเนฝ้าที่กระจกหน้าต่าง ฝั่งซ้าย มีสวิตช์
A/C ON-OFF ส่วนฝั่งขวา เป็นสวิตช์ไล่ฝ้า กระจกบังลมหลัง และสวิตช์
ไฟตัดหมอกหน้า ย้ายมาอยู่ตรงนี้ แทนที่จะอยู่บนก้านสวิตช์ไฟหน้าและ
ไฟเลี้ยว ฝั่งขวาของคอพวงมาลัย

ถัดลงไป เป็นช่องวางของจุกจิก เหมือนกับ Brio และ Brio AMAZE มีช่อง
วางแก้วน้ำมาให้ 2 ตำแหน่ง แน่นหนาพอใช้ได้ มีสายเสียบต่อเชื่อม Flash
Drive USB และปลั๊กไฟสำรอง รวมทั้งช่องต่อ HDMI มาให้

ด้านข้างลำตัว ไม่ต้องไปมองหากล่องเก็บของใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่มีมาให้
ทั้งที่ควรจะมีกล่องคอนโซลกลาง ได้แล้ว กระนั้น บริเวณเบรกมือ มีกรอบ
พลาสติกรีไซเคิล ครอบทับเพื่อความสวยงาม มีร่องติดตั้งเบรกมือ กับช่อง
วางแก้ว สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง 1 ตำแหน่ง และช่องวางแก้ว สำหรับ
ผู้ขับขี่กับผู้โดยสารด้านหน้า อีก 2 ตำแหน่ง ยกมาจากทั้ง Brio และ Brio
AMAZE กันดื้อๆ แบบนี้แหละ

เสียดายที่ ไม่มีกล่องเก็บของตรงกลาง หรือพนักวางแขนของผู้ขับขี่มาให้เลย

ทัศนวิสัยด้านหน้า แม้จะเหมือนกันกับ Brio ก็ตาม แต่การยกพื้นรถให้สูงขึ้น
อีก 29 มิลลิเมตร นั่นย่อมช่วยให้ การมองทางข้างหน้า ชัดเจนขึ้น คุณแม่บ้าน
ทั้งหลาย น่าจะชื่นชอบ เพราะมองถนนหนทางข้างหน้า ได้ไกลขึ้นไปอีก

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา ยังคงพอจะมีการบดบังรถที่แล่นสวนทาง
มาจากโค้งขวา บนถนนสวนกันแบบสองเลนอยู่บ้าง แต่ยังถือว่า ยอมรับ
ได้อยู่ เพราะมันก็ไม่ได้แตกต่างไปจาก Brio มากนัก

กระจกมองข้าง มีขนาดใหญ่กำลังดี แม้จะ มีขอบมุมฝั่งขวา อาจโดนขอบ
มุมพลาสติกสะท้อนเข้ามาบ้าง แต่ก็แค่นิดเดียว แทบไม่มีผลอะไรเลย

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย ไม่มีการบดบังรถที่แล่นสวนมา ขณะ
กำลังเลี้ยวกลับรถแต่อย่างใด

ส่วนกระจกมองข้างฝั่งซ้าย ก็ยังคงทำหน้าที่ของมันได้ดี เหมือนกับ Brio
ทั้ง 2 ตัวถัง ทุกประการ เพียงแต่ว่า ตำแหน่งนั่งอาจสูงขึ้นนิดหน่อย แค่นั้น

ความแตกต่างอยู่ที่ ทัศนวิสัยด้านหลัง

กระจกหน้าต่างด้านข้างโปร่งตาพอที่จะชดเชยการมองเห็นจากบริเวณ
กระจกหน้าต่างบานหลังสุดได้ ไม่เพียงเท่านั้น กระจกบังลมด้านหลัง
ก็ยังมีขนาดใหญ่เพียงพอ ถ้าไม่ได้ยกพนักศีรษะขึ้นใช้งาน จะพบว่า
ภาพรวมแล้ว ทัศนวิสัยด้านหลังค่อนข้างโปร่งตา เพียงแต่ว่า เมื่อยังมี
พนักศีรษะเบาะแถวกลางคั่นอยู่ การมองเห็นเสาหลังคาคู่หลัง D-Pillar
อาจมิดบอดไปบ้าง ถ้าต้องการมองเห็นให้ชัดขึ้น ต้องปรับพนักพิงเบาะ
แถวกลาง ให้เอนลงไปอีกสักหน่อย

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ทันทีที่เปิดฝากระโปรงหน้าขึ้นมาปุ๊บ ผมก็ต้องเช็คให้แน่ใจว่า เราเปิดดูห้องเครื่องยนต์
ของ Mobilio ไม่ใช่เจ้า City คันที่จอดอยู่ข้างๆกัน ในรั่ว บ้านของผม…ไม่ผิดคันแน่นะ?

เพราะขุมพลังของ Mobilio เวอร์ชันไทยนั้น หลายๆคนคงคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เนื่องจาก
มันเป็นเครื่องยนต์ ลูกเดียวกันกับที่วางประจำการอยู่ใน Jazz กับ City รุ่นปี 2008
ถึง 2014 นั่นแหละ!

ถูกต้องครับ! มันก็คือ เครื่องยนต์ L15Z1 บล็อก 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,496 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 89.4 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.3 : 1 ฉีดจ่าย
เชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิกส์ PGM-FI ลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า Drive-By-Wire DBW
พร้อมระบบแปรผันวาล์ว i-VTEC กำลังสูงสุด 120 แรงม้า (PS) ที่ 6,600 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 14.8 กก.-ม.ที่ 4,800 รอบ/นาที ! ยกมาทั้งดุ้น ไม่ต้องคิดมาก ให้มัน
สิ้นเปลืองงบประมาณพัฒนา และเสียเวลาทำมาหากิน นั่นเอง!

Mobilio ใช้ระบบขับเคลือนล้อหน้า เหมือนกับคู่แข่งทั้ง Ertiga และ Spin (ยกเว้น
Avanza ที่ยังใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลังอยู่)

โดยระบบส่งกำลังหลักนั้น เป็นเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT ลูกใหม่ ที่ถูกพัฒนา
ขึ้น ภายใต้แนวทาง Earth Dream Technologies แม้จะใช้คันเกียร์ กับฐานรอง
คันเกียร์ ยกมาจากพี่น้องร่วมค่ายทั้ง Brio , Brio AMAZE และ Jazz รุ่นที่ 2 ทั้งดุ้น
แต่เกียร์ทั้งลูกจะไม่เหมือนกัน เพราะยกชุดมาจาก City กับ Jazz รุ่นล่าสุด ปี 2014

เกียร์ลูกนี้จะมี ทอร์คคอนเวอร์เตอร์ พร้อมระบบ Lock-up Control ที่ปรับปรุงใหม่
ช่วยถ่ายทอดกำลังได้เต็มที่ และมีไฟบอกตำแหน่งเกียร์ บนมาตรวัดความเร็ว ฝั่งขวา

อัตราทดเกียร์มีดังนี้

อัตราทดเกียร์ D…………………3.484 – 0.562
อัตราทดเกียร์ถอยหลัง…………..3.999
อัตราทดเฟืองท้าย……………….3.941

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ไม่ชอบขับรถเกียร์อัตโนมัติ Honda ยังมีทางเลือกแบบ
เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ไว้ให้เฉพาะ รุ่นย่อย S แบบ 5 ที่นั่ง เพียงรุ่นเดียว แม้จะ
ยังคงติดเครื่องยนต์ได้ โดยไม่ต้องเหยียบเบรก หรือคลัชต์ แต่จะมีกลไกป้องกัน
การเข้าเกียร์ โดยไม่ได้เหยียบคลัชต์ แปลว่าถ้าไม่เหยียบแป้นคลัชต์ จะเข้าเกียร์
ขณะติดเครื่องยนต์อยู่ ไม่ได้

เกียร์ลูกนี้ เป็นรุ่นเดียวกันกับที่ประจำการอยู่แล้วในตระกูลรถยนต์ขนาดเล็กของ
Honda ทั้ง Brio , Brio AMAZE , Jazz และ City มีอัตราทดเกียร์ดังต่อไปนี้

เกียร์ 1                         3.461
เกียร์ 2                         1.869
เกียร์ 3                         1.171
เกียร์ 4                         0.853
เกียร์ 5                         0.727
เกียร์ R                         3.307
อัตราทดเฟืองท้าย            4.294

สมรรถนะจะเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อเทียบกับทั้งคู่แข่ง และพี่น้องร่วมตระกูลด้วยกัน
เราได้ทำการทดลอง จับเวลาหาอัตราเร่ง กันในเวลากลางดึก ภายใต้มาตรฐานเดิม
เหมือนเช่นเคย นั่นคือ เปิดแอร์ นั่ง 2 คน (ผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร น้ำหนักรวมไม่เกิน
170 – 180 กิโลกรัม) เปิดไฟหน้า และผลลัพธ์ที่ได้ มีดังนี้

เห็นตัวเลขแล้ว เป็นอย่างไรบ้างครับ?

ทั้งหมดนี้ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า Mobilio นั้น นอกจากจะทำอัตราเร่งได้ดีที่สุดใน
กลุ่ม B-Segment Minivan แซงหน้าทุกคันไปหมด ไม่เว้นแม้แต่พี่ชายตัวโย่งรุ่น
Freed แล้ว ยังทำเวลาออกมา ไล่เลี่ยกัน ตามหลัง Honda Jazz และ City รุ่นใหม่
ล่าสุด ปี 2014 อีกด้วย!! ทำผลงานได้ ไม่เลวเลยแหะ

(ตัวเลขของ Jazz 2014 :
0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ที่ 11.10 วินาที
80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 8.14 วินาที)

ตัวเลขที่ออกมา เป็นไปตามความคาดหมายส่วนตัวของผมว่า ถ้าเครื่องยนต์ L15A7
มา Featuring กับเกียร์ CVT อัตราเร่งที่ออกมา น่าจะอยู่ในเกณฑ์ดีเทียบเท่ากับ
City เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ คันที่จอดอยู่ในบ้านผม แต่เอาเข้าจริง ช่วงเร่งแซง
80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น ดีเกินคาดไปเล็กน้อย ตอนแรก ผมนึกว่าน่าจะอยู่
แถวๆ 9.1 วินาที แต่ด้วยประสิทธิภาพของเกียร์ลูกใหม่ ที่ช่วยลดการสูญเสียกำลัง
ในระบบขับเคลื่อนลงไปได้พอสมควร ทำให้ อัตราเร่งแซง ทำได้ดีในระดับที่
เทียบเท่ากับรถเก๋ง 1,500 – 1,600 ซีซี ทั่วไป

ผมไม่แปลกใจที่ Mobilio จะทำตัวเลขได้ดีแบบนี้ เพราะเมื่อลองมองดูคู่แข่ง
รอบข้างแล้ว แต่ละรุ่นต่างก็มีแต่ข้อด้อยเต็มไปหมด

Avanza ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง พ่วงกับเครื่องยนต์ และเกียร์อัตโนมัติแบบ
4 จังหวะ รุ่นโบราณกาล จาก Daihatsu บริษัทในเครือของ Toyota นั่นเอง
ทำให้สมรรถนะถูกเค้นออกมาได้เพียงแค่เท่าที่เห็น

Ertiga เอง ก็วางเครื่องยนต์แค่ 1,400 ซีซี จุดเด่นอย่ในช่วงรอบปลายๆ ที่ไหลลื่น
จนสงสัยว่า Suzuki แอบไปเอาระบบ i-VTEC มาแปะกับเครื่องยนต์ของตนด้วย
หรือเปล่า แต่ความจริงก็คือความจริง เครื่องยนต์ 1,400 ซีซี จะไปมีเรี่ยวแรงสู้กับ
1,500 ซีซี กันได้อย่างไรกันเล่า? แถมเกียร์อัตโนมัติ ก็ยังทำงานได้ไม่ถึงกับดีนัก
จึงให้ความสนุกได้แค่รอบช่วงปลายๆ

Spin ? แม้ว่าตัวเลขจะไม่ได้บ๊วยสุดในกลุ่ม แต่การเรียกอัตราเร่งให้เท่ากันกับ
เพื่อนฝูง ต้องใช้เครื่องยนต์ ที่มีความจุกระบอกสูบสูงกว่าชาวบ้าน (1,600 ซีซี)
นี่ไม่นับกับน้หนักตัวรถที่ค่อนข้างหนักอยู่ ส่งผลให้ตัวเลขของ Spin ออกมา
ได้อย่างที่เห็น

Freed ? เครื่องยนต์ L15 ของ Freed มีกำลังน้อยกว่า Mobilio เล็กน้อย แต่
เมื่อเจอเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ (ซึ่งทำงานได้ดี แต่ยังไม่ไหลลื่นเท่า CVT) แถม
ยังมีรูปทรงของรถ มาช่วยต้านลมเพิ่มขึ้น ตัวเลขจึงออกมาแย่อย่างที่เห็น

ส่วนความเร็วสูงสุดนั้น ทีมวิศวกรของ Honda เขา Lock ความเร็วของรถ ด้วยวิธีการ
เขียนโปรแกรมให้สมองกล สั่งหรี่ลิ้นคันเร่ง เอาไว้ที่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพียงแต่
ด้วยค่าความเพี้ยนของมาตรวัดตามมาตรฐานปกติ ทำให้ความเร็วบนมาตรวัดไปจบที่
ตัวเลข 167 กิโลเมตร/ชั่วโมง ณ 5,500 รอบ/นาที ต่อให้ใช้เนินส่งช่วยขนาดไหน
ความเร็วก็จะไม่ขึ้นไปมากกว่านี้ (ความเร็วบนมาตรวัดที่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง GPS
ขึ้นที่ 97 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ ความเร็วบนมาตรวัดที่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง GPS
จะอยุ่ที่ 106 กิโลเมตร/ชั่วโมง)

ถึงแม้ว่า ความเร็วสูงสุด จะถูกล็อก และอยู่ในระดับที่ใครๆ ก็สามารถไต่ขึ้นไปถึงได้
แต่ด้วยมาตรฐานของ Headlightmag เราจึงยังคง มีจุดยืนเดิมที่จะไม่สนับสนุนให้
ใครก็ตาม ที่อ่านบทความนี้จบแล้ว ไปทดลองหาความเร็วสูงสุดกันเอาเอง เพราะมัน
อันตรายต่อชีวิตตนเอง และเพื่อนร่วมทาง ซึ่งก็ถือเป็นความผิดทางกฎหมายจราจร
อีกด้วย จุดประสงค์ของการทำตัวเลขออกมาให้ดู เพื่อให้ได้ทราบข้อเท็จจริง และ
เป็นประโยชน์ในแง่ของการศึกษา ด้านวิศวกรรมยานยนต์ ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น
ต้องเน้นย้ำกันมาเหมือนเช่นเคย

ในการขับขี่จริง อัตราเร่งที่มีมาให้ มันก็พอกันกับทั้ง Honda Jazz หรือ City ที่ใช้
เกียร์ CVT รวมทั้ง Civic FD 1.8 เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ รุ่นปี 2005 – 2012
นั่นเลย ไม่ได้แตกต่างกันหรอกครับ แรงดึงจากจุดหยุดนิ่ง หรือในจังหวะเร่งแซง ไม่ว่า
จะอยู่ในช่วงความเร็วต่ำแค่หน หรือสูงเพียงใด การตอบสนอง จะมาในรูปแบบเหมือนๆ
กัน หรือสไตล์เดียวกัน คือ ลากรอบเครื่องสูงๆ พุ่งออกไปอย่างทันใจ และยังไหลขึ้นไป
ได้ต่อเนื่องตามต้องการ ภายใต้ข้อจำกัดของรูปแบบตัวถังสไตล์ Minivan

แต่ถ้าเทียบกับ Freed แล้ว Mobilio พุ่งกว่ากันชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นช่วงออกตัว หรือ
เร่งแซง เมื่อใดที่คุณต้องการขึ้นนำรถบรรทุกคันข้างหน้า บางครั้ง แค่เพียงเหยียบ
คันเร่ง ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ของระยะเหยียบทั้งหมด รถก็จะพาคุณแซงผ่านพ้นได้ใน
เวลาไม่นาน

หรือถ้าต้องการทำเวลา เร่งไปรับบุพการี ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท มิตรสหาย และ
กลัวจะไม่ทัน จนต้องเปลี่ยนการขับขี่ มาเป็นโหมด “มุด” Mobilio ก็พร้อมรับมือ
กับการขับขี่แนวหฤโหดของคุณ ได้อย่างไม่หวั่นแม้วันมามาก!

อยากจะพุ่ง ก็พุ่งได้ จะฉีกซ้าย ตบขวา ข้นหน้า หรือเร่งแซงสุดแรงเกิด คันเร่งไฟฟ้า
ตอบสนองดีมาก ไว ตามสั่ง แทบไม่ค่อยจะ Lag ด้วยซ้ำ อยากเรียกใช้แรงบิดเมื่อไหร่
และแค่ไหน เหยียบหรือกระทืบคันเร่งลงไปแค่ที่ใจคุณต้องการ เดี๋ยวเครื่องยนต์ กับ
เกียร์ CVT จะช่วยกันทำงาน พาคุณพุ่งไปข้างหน้า อย่างทันอกทันใจในแบบที่คุณ
จะไม่เคยได้รับจาก บรรดา Minivan ประกอบจากอินโดนีเซีย กันเลย

อย่างไรก็ตาม ควรระลึกไว้เสมอว่า Mobilio ใช้เครื่องยนต์ 1,500 ซีซี และดัน Lock
ความเร็วสูงสุดไว้ ฉะนั้น ถ้าคุณเจอ CR-V พุ่งมาจากทางข้างหลัง ขอทาง ก็ควรจะ
หลบให้เขาไปเสียโดยดี ในระหว่างจับอัตราเร่ง ผมเจอ เหตุการณ์ที่ว่านี้มากับตัว
และ CR-V Gen 4th เครื่องยนต์ 2,000 ซีซี คันนั้น ก็กดเต็มตีนต่อเนื่องแซงผมไป
เมื่อลองพยายามกดคันเร่งจมมิด เพื่อไล่ตามดู เรียนตามตรงว่า แอบสงสารเจ้า
L15A7 ขึ้นมาจับใจ นางได้พยายามทำหน้าที่ของนางอย่างสุดความสามารถ
แต่…ก็มิอาจไล่ตาม CR-V ได้ทัน

เลยต้องปล่อยให้ CR-V เขาพุ่งหลาว แซงเรา ไปอย่างรวดเร็ว ตามอัธยาศัย!

แต่ถ้าคุณเป็นเจ้าของรถยนต์ในพิกัด 1,500 ซีซี ด้วยกัน สักรุ่น เครื่องเดิมๆ และ
ไม่ได้นำไปปรับแต่งสมรรถนะ หรือโมดิฟายเพิ่ม หากคิดจะไล่กวดตาม Mobilio
เพื่อจะหาจังหวะแซงแล้วละก็ อาจต้องใช้เวลา และระยะทางไกลพอสมควร คุณ
อาจต้องกดคันเร่งจมมิดตีน ปล่อยให้ อาชาบ้าพลังของคุณ ไต่ขึ้นไปถึงความเร็ว
ระดับ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป จึงจะแซงเจ้า Mobilio ได้!!!

การเก็บเสียงในห้องโดยสารนั้น แอบเงียบกว่ารถยนต์ในกลุ่มเดียวกันคันอื่นๆอยู่ ใน
ช่วงความเร็วต่ำ ถือว่า เก็บเสียงดีตามปกติ แต่ถ้าในช่วงความเร็วสูง แอบดีกว่าที่คิด
โดยเฉพาะเสียงกระแสลม จากซุ้มล้อหลัง ที่ปรากฎว่า น้อยกว่าคู่แข่งคันอื่น กระนั้น
เสียงกระแสลม ยังพอให้ได้ยินบ้าง บริเวณขอบด้านบนของหน้าต่างบานประตูทั้ง
4 บาน เสียงลมจะเริ่มเข้ามารบกวนนิดๆ จางๆ ตั้งแต่ความเร็วแถวๆ 110 – 120
กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป แต่เสียงกระแสลมไหลผานตัวรถทั้งคันจะเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ
ตั้งแต่ความเร็วระดับเดียวกัน จนถึง Top Speed คุณอาจต้องเพิ่มเสียงพูด หรือเร่ง
Volume ของเครื่องเสียงให้ดังขึ้นอีกเล็กน้อย

พวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้าผ่อนแรง EPS (Electronics
Power Steering) อัตราทดเฟืองพวงมาลัย 16.77 : 1 หมุนจากซ้ายสุดไปขวาสุด
3.42 รอบ รัศมีวงเลี้ยว 4.6 เมตร ถูกปรับตั้งอัตราทดเฟืองพวงมาลัยมาให้กระชับ และ
มีน้ำหนักกำลังดีมากๆ จนผมอยากบอกว่า Honda ที่รัก โปรดล็อก ตำแหน่งและการ
เซ็ตแบบนี้ เอาไว้ให้กับรถยนต์ขนาดเล็กของพวกคุณ นับตั้งแต่นี้ต่อไปเลยจะได้ไหม?

เพาะในช่วงความเร็วต่ำ พวงมาลัยเบาก็จริง แต่เมื่อเริ่มหมุนพวงมาลัย จะพบแรงต้าน
ที่มือขึ้นมาชัดเจน ชนิดที่ว่า แม้จะใช้นิ้วเดียวหมุนพวงมาลัยได้ แต่คุณต้องเกร็งนิ้วเพิ่ม
มากกว่ารถยนต์ญี่ปุ่นยุคใหม่ทั่วไป พอสมควร อาจไม่ถึงขั้น เกร็งจนนิ้วหัก แต่ก็ไม่ได้
หมุนง่ายเบาโหวงแน่ๆ น้ำหนักพวงมาลัยที่เหมาะสมแบบนี้ ช่วยให้การเลี้ยวในช่วง
เข้าจอดรถ สะดวก คล่องแคล่ว และสามารถขับขี่ไปตามตรอกซอกซอย ได้กำลังดีมากๆ
ทำให้คุณมุดลัดเลาะไปตามสภาพการจราจรติดขัด ได้อย่างคล่องแคล่ว และว่องไวเกิน
กว่าที่ใครจะคาดคิดว่า รถยนต์ที่มีช่วงตัวถ้ังยาว อย่าง Mobilio จะทำได้

ในช่วงความเร็วสูง พวงมาลัย ยังคงให้ความแม่นยำในระดับกำลังดี มีน้ำหนักขืนมือ
เหมาะสมแล้ว แทบไม่ต้องแก้ไขอะไร การเลี้ยงพวงมาลัยขณะใช้ความเร็วสูงทำได้
สบายมากๆ On Center feeling ค่อนข้างดี อาจยังไม่ถึงกับดีที่สุด แต่ก็แทบไม่ต้องไป
ปรับปรุงแก้ไขอะไรอีก ที่สำคัญ พวงมาลัยนิ่งมาก จนผมสามารถปล่อยมือในขณะ
ที่เข็มความเร็วไต่ขึ้นไปถึง Top Speed 167 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้สบายๆ แถมยัง
ปล่อยมือได้นานเกินกว่า 10 วินาที โดยรถก็ยังคงตั้งตรงแหน่วพุ่งไปข้างหน้านี่ละ!

บุคลิกของพวงมาลัย มาในสไตล์เดียวกับ Brio ที่แอบหนืดขึ้นกระจึ๋งเดียว ผมเชื่อว่า
วิศวกรของ Honda อาจจะไม่ได้ปรับปรุงอะไรกับพวงมาลัยเลยด้วยซ้ำ แต่เมื่อมันมา
อยู่ใน Mobilio กลับกลายเป็นว่า น้ำหนักและการตอบสนองของพวงมาลัย กำลังดีแล้ว
ลงตัวตามที่ใจผมต้องการอยากให้เป็นพอดีเป๊ะ เหมาะอย่างมากในการขับขี่ในเมือง
แต่ก็ยังหมุนเลี้ยวได้คล่องแคล่วว่องไว บังคับเลี้ยวได้แบบตามใจสั่ง

ไม่ต้องไปแก้ไขอะไรมันแล้วนะ ปล่อยมันไว้อย่างนี้ ดีแล้ว อย่าไปยุ่งเด็ดขาด
ถ้ารุ่นต่อไป พวงมาลัย เปลี่ยนไปจากนี้ จะเขียนด่าให้หนักเลยคอยดู!!!

ระบบกันสะเทือน ด้านหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต และด้านหลัง แบบทอร์ชันบีม
H-Shape กลายเป็นจุดเด่น ม้ามืด มาแบบงุนงง ชวนให้ปลาบปลื้มปิติโสมนัส ว่า
ในที่สุด Honda ก็ได้ปรับแต่งระบบกันสะเทือน ในแบบที่ผม ต้องการ สำหรับการ
ขับขี่ของผู้บริโภคชาวไทย ในเมืองใหญ่ และถนนหนทางทั่วไปของประเทศไทย
แห่งนี้ กันได้แล้วเสียที!!!

มันดีขนาดนั้นเลยเหรอ?

ในฐานะของคนที่เพิ่งลงมาจาก Mercedes-Benz C-Class ขอยืนยันว่า ช่วงล่าง
ของ Mobilio ไม่ได้เลวร้าย อย่างที่หลายคนหวาดกลัว จนตีตนไปก่อนไข้ ในช่วงแรก
ตรงกันข้าม ในช่วงความเร็วต่ำ มันช่วยดูดซับแรงสะเทือน จากหลุมบ่อ ฝาท่อ  และ
เนินลูกระนาดต่างๆ ได้อย่างดีเกินความคาดหมาย ดีจน Jazz ใหม่ 2014 ก็ยังทำได้
ไม่ดีเท่า (เพิ่มเติมนิดนึงว่าเป็นความจงใจของวิศวกร ที่จะปรับแต่งช่วงล่าง Jazz ให้
แข็งกว่า พี่น้องตระกูลรถยนต์ขนาดเล็กของ Honda คันอื่นๆ เขานิดนึง)

การขับขี่ บนถนนในเมือง เป็นไปอย่างนุ่มนวลกำลังดี ไม่นุ่มนิ่มย้วยย้อยห้อยเหี่ยว
เกินไป แต่ก็ไม่หลงเหลืออาการแข็งกระเด้ง ให้พบเจอกันอีกเลย นี่แหละครับ ช่วงล่าง
แบบที่ผมนั้นเฝ้าถวิลหาให้ Honda เซ็ตมาให้คนไทยได้ใช้กันเสียที บอกได้เลยว่า
ช่วงล่างของ Freed ก็ยังทำได้ไม่ดีเท่านี้

ขณะเดียวกัน เรื่องที่ผมแอบประหลาดใจนิดหน่อยคือ Mobilio เอง ก็ให้ความมั่นใจ
บนทางโค้ง ได้ดีไม่แพ้ City กับ Jazz เผลอๆ อาจมั่นใจกว่าอยู่นิดนึงด้วยซ้ำ บนโค้ง
ขวารูปเคียว ของทางด่วนขั้นที่ 2 ช่วงเหนือชุมทางมักกะสัน ซึ่งรถยนต์ปกติ จะเข้า
โค้งได้อย่างปลอดภัย หากใช้ความเร็วแถวๆ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง คนส่วนใหญ่จะ
เข้าโค้งนั้น ในตอนกลางวัน โดยใช้ความเร็ว 40 – 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ผมพา Mobilio เข้าโค้งนั้น ด้วยความเร็ว 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง อย่างต่อเนื่อง จนช่วง
กลางโค้ง ยังไหลขึ้นไปได้ถึง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เสียดายว่าแก้มยาง นุ่ม ซีรีส์ ยาง
ค่อนข้างเยอะ มิเช่นนั้น ถ้าได้ยางแก้มเตี้ยกว่านี้ ผมอาจจะพาเจ้า Mobilio เลาะโค้ง
ดังกล่าวไปได้ด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง นิ่งๆ ไปได้ตั้งแต่เริ่มเข้าจนออก
จากโค้งได้อย่างสนุกกว่านี้…

ส่วนโค้งซ้ายต่อเนื่อง ฝั่งตรงข้ามโรงแรม เมอเคียว เชื่อมเข้าทางด่วนชั้นที่ 1 ผมพา
Mobilio ซัดเข้าไปที่ความเร็ว 90 – 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้สบายๆ ตัวรถเอียงครับ
แต่ไม่ได้หวาดเสียวอย่างที่คิด ภาพรวมก็คือ ต่อให้เข้าโค้งต่อเนื่องยาวๆ แม้รถจะ
เอียงมากพอสมควร ตามธรรมดาของรถยนต์ที่เซ็ตช่วงล่างมาในแนวนุ่ม แต่กลับ
มั่นใจได้ว่า มันจะไม่พาคุณแหกโค้งแน่นอน ถ้าคุณไม่ได้ใช้ความเร็วก่อนเข้าโค้ง
มากจนเกินไป

ไม่เพียงแค่นั้น ในย่านความเร็วสูง ต่อให้คุณกดคันเร่งจมมิดตีนทะลุพื้นรถไปยัง
ห้องเครื่อง หากไม่มีกระแสลมปะทะด้านข้าง Mobilio ใหม่ จะให้การทรงตัวใน
ช่วงความเร็วเดินทางจนถึงความเร็วสงระดับ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ดีกว่า
Freed และ StepWGN อย่างมากโข!

เหตุผลง่ายมาก เราต้องไม่ลืมว่า ความสูงของ Mobilio มันไม่ได้มากเท่า พี่ใหญ่ทั้ง
2 รุ่น อีกทั้งแนวตัวถังด้านข้าง ก็ไม่ได้ตั้งตรงจิตพาณิชยการ จนขนานกับพื้นโลก
กันแบบนั้น เหตุผลนี้ จึงทำให้ การไหลผ่านของอากาศทำได้ลื่นไหลดีกว่า อีกทั้ง
ยังลดอาการต้านลมที่มาปะทะด้านข้างได้ดีกว่า ส่งผลให้รักษาการทรงตัวในย่าน
ความเร็วสูงได้ดีกว่า นั่นเอง!

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณคิดจะเปลี่ยนเลนกระทันหัน ต้องทำใจว่า Mobilio เอง มีระยะ
ฐานล้อยาว แถมตัวรถยังมาในสไตล์ Minivan ปกติ รถยนต์ประเภทนี้ ผมจะไม่ลอง
เหวี่ยงเล่นให้หวาดเสียว เพราะโอกาสพลิกคว่ำ จะมีสูงมาก แต่ Mobilio ก็ยอมให้
ผมลองทำแบบนั้นได้

ในความเร็วระดับ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อคุณเริ่มหมุนพวงมาลัน เหวี่ยงรถไปยัง
เลนข้างๆ ในระดับความไวปานกลาง แน่นอนครับ บั้นท้ายจะถูกเหวี่ยงออกไปด้าน
ข้างอย่างรวดเร็ว ถ้าคุณถือพวงมาลัยตั้งล้อให้ตรงในทันทีที่เปลี่ยนเลนกลับมา รถจะ
กลับมาตั้งลำได้ตามเดิม อาจมีเสียวให้ลุ้นบ้าง แต่ยังถือว่า พอจะควบคุมอาการได้อยู่

กระนั้น ผมยังไม่ขอแนะนำให้คุณเปลี่ยนเลนกระทันหัน ในระหว่างขับรถคันนี้ คุณควร
มองทางไกลๆ แล้วตัดสินใจแต่เนิ่นๆ จะดีกว่า เพื่อหลีกเลียงความเสียหายจากการ
เกิดอุบัติเหตุ อันมีสาเหตุจากอาการท้ายออกจนรถเสียการทรงตัว ซึ่งเป็นอาการที่
รถยนต์ทรงสูง Minivan ,SUV และพวกรถยนต์ระยะฐานล้อยาว มักจะเป็นกัน
ตามธรรมชาติของมัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในกลุ่ม B-Segment Minivan ด้วยกัน จะมี Ertiga กับ Spin ที่พอฟัดเหวี่ยงได้ใน
ในเรื่องช่วงล่าง Spin จะมาในแนวหนักแน่นกว่า ขณะที่ Ertiga จะมั่นใจได้ไม่แพ้กัน
ในด้านความนุ่มนวล แต่แอบตึงตังเล็กๆ ช่วงความเร็วต่ำ ช่วงล่างของ Mobilio ถือว่า
เซ็ตมาอยู่ตรงกลาง ระหว่าง 2 คันนี้ โดยมี Avanza ตามมาต้อยๆ อยู่ห่างๆ พี่น้องเขา

ระบบห้ามล้อ ของทุกรุ่น เป็นแบบดิสก์เบรกคู่หน้า ดรัมเบรกคู่หลัง นอกจากนี้ ทุกรุ่น
ยังติดตั้ง ตัวช่วยพื้นฐาน (ของรถยนต์สมัยนี้) มาให้เพียง 2 รายการ นั่นคือ ระบบเบรก
ป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System) และ ระบบกระจายแรงเบรก
ตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake Force Distribution)

ในย่านความเร็วสูง ระบบเบรก ทำงานได้อย่างนุ่มนวล กำลังดี ต่อให้ใช้ความเร็วระดับ
160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็สามารถลดความเร็วลงมาเหลือ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้อย่าง
ฉับไว ช่วยหน่วงความเร็วลงมาได้อย่างมั่นใจ และยังไม่พบอาการ Fade ของผ้าเบรก

แป้นเบรก ถูกเซ็ตมาให้ตอบสนองอย่างนุ่มนวล มีน้ำหนักเหมาะสม ยืดหยุ่นกำลังดี ใน
ขณะขับขี่ไปตามถนนหนทางในเมือง ช่วงที่ใช้ความเร็วต่ำ ถ้าต้องการเบรกชะลอรถให้
นุ่มนวล ไม่มีอาการสะดุดกระชาก ก็ทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ ขณะเดียวกันย ถ้ามี คน
สัตว์ สิ่งของ ตัดหน้าคุณ แตะเบรกอย่างกระทันหันได้ทันที รถจะหยุดอย่างฉับพลันได้
ในเสี้ยววินาที ถือว่าการเซ็ตระบบเบรกของ Mobilio นั้น น่าชมเชยมากๆ แม้จะใช้
ระบบเบรก หน้าดิสก์ หลัง ดรัม ก็ตาม

ด้านความปลอดภัย Mobilio ยังคงใช้แนวทางการพัฒนาโครงสร้างตัวถังแบบ G-CON
กระจายแรงปะทะไปทั่วทั้งคัน นอกจากนี้ Mobilio ยังติดตั้งถังลมนิรภัยคู่หน้ามาให้
2 ตำแหน่ง ครบทุกรุ่นย่อย ตั้งแต่ รุ่น S เกียรืธรรมดา อันเป็นรุ่นถูกสุด จนถึงรุ่น RS
อันเป็นรุ่นแพงสุดอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลการทดสอบการชน ยังไม่มีให้ดูกันในวันที่รีวิวนี้เริ่มเผยแพร่ เพราะยังไม่มี
การทดสอบจากหน่วยงาน ASEAN NCAP ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว และคาดว่าอาจจะ
ต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

แม้ว่า Mobilio จะใช้เครื่องยนต์ L15A7 จาก Jazz กับ City รุ่นปี 2008 – 2014
ที่หลายคน รู้ดีว่า อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง อยู่ในระดับ 15 กิโลเมตร/ลิตร จากมาตรฐาน
การทดลองของเรา (วิ่ง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ขับทางไกล) และ
ระดับ 12 – 13 กิโลเมตร/ลิตร สำหรับการใช้งานในเมือง แบบแปรผัน

ทว่า นั่นก็เป็นตัวเลขของเครื่องยนต์ ที่พ่วงเข้ากับเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ อีกทั้งตัวถัง
ก็ยังเป็นรถยนต์ปกติ มิได้มีส่วนสูง หรือความยาว เพิ่มขึ้นจนส่งผลกับการไหลผ่าน
ของอากาศ และการต้านลม ของตัวรถ

คราวนี้ เมื่อเครื่องยนต์บล็อกเดิมที่คุณคุ้นเคย ต้องมาทำความคุ้นเคยกับเกียร์อัตโนมัติ
CVT ลูกใหม่ แถมยังต้องติดตั้งอยูในเรือนร่างของ Brio ต่อตูด ให้ยาวขึ้นและสูงขึ้น
ตัวเลขอัตราเร่งหนะ อาจจะไม่แตกต่างกัน แล้วตัวเลขความประหยัดน้ำมันละ มันจะ
แตกต่างมากน้อยแค่ไหน?

เพื่อหาคำตอบนี้ เราจึงยังคงทำการทดลองด้วยมาตรฐานดั้งเดิม ด้วยการพา Mobilio
ไปเติม น้ำมันเบนซิน 95 Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex ริมถนนพหลโยธิน
ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน

เนื่องจากเป็นรถยนต์ที่มีเครืองยนต์ ไม่เกิน 2,000 ซีซี ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท
และยังเป็นรถยนต์ที่อยู่ในความสนใจของผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ ซึ่งซีเรียสกับตัวเลข
ความประหยัดน้ำมัน มากกว่าลูกค้ารถยนต์ประเภทอื่นๆ เราจึงเติมน้ำมันด้วยวิธีการ
เขย่ารถ เพื่ออัดกรอกน้ำมันลงไปให้เต็มถังมากที่สุด ให้น้ำมัน ไหลเข้าไปแทนที่
อากาศในถัง ลดปริมาณฟองอากาศในถังให้น้อยที่สุด เพื่อลดความเพี้ยนในการ
ทดลองให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้

ผู้ร่วมทดลอง และสักขีพยาน ยังคงเป็นน้องโจ๊ก V10ThLnD สมาชิก กลุ่ม
The Coup Team ของเรา เหมือนเช่นเคย

เมื่อเติมน้ำมัน เต็มความจุถังขนาด 42 ลิตร (ไม่รวมคอถังอีกนิดหน่อย) แล้ว เราก็เริ่ม
ติดเครื่องยนต์ คาดเข็มขัดนิรภัย เปิดแอร์ แค่สวิชต์พัดลมเบอร์ 1 อุณหภูมิ ปรับแบบ
ปกติ  คือไม่เย็นไปกว่า 25 องศาเซลเซียส แต่ในเมื่อรถคันนี้ไม่มีมาตรวัดอุณหภูมิ
เราจึงเปิดแอร์ ในระดับความเย็น แบบ ปานกลาง

เราออกจากปั้ม Caltex เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน หน้าปากซอยอารีย์สัมพันธ์ แล้ว
ไปเลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะไปออกปากซอยโรงเรียนเรวดี ถึงถนนพระราม 6
จากนั้น เลี้ยวขวาขึ้นไปบนทางด่วนสายอุดรรัถยา ขับมุ่งหน้าตรงไปยัง ปลายทางด่วน
ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วน อีกรอบ รักษาความเร็ว ตามมาตรฐานเดิม
คือแล่นไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดเครื่องปรับอากาศ เปิดไฟหน้า และนั่ง 2 คน

เมื่อลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับรถ
ที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้ว เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex อีกครั้ง
เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ให้เต็มอีกรอบ ด้วยวิธีการเขย่ารถเหมือนครั้งแรก

มาดูตัวเลขของ Mobilio 1.5 RS เกียร์อัตโนมัติ CVT กันเลย!

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด Trip Meter อยู่ที่ 92.7 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.13 ลิตร
คำนวนแล้ว ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉี่ย 15.12 กิโลเมตร/ลิตร

เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งแล้ว จริงอยู่ว่า Mobilio ทำตัวเลขออกมาได้ประหยัดน้ำมัน
มากที่สุด ในกลุ่ม B-Segment Minivan แต่ก็เฉือนเอาชนะ Suzuki Ertiga เกียร์
ธรรมดา ไปเพียงแค่ 0.02 กิโลเมตร/ลิตร เท่านั้น…

จากตัวเลขดังกล่าว บอกได้เลยว่า Mobilio ก็ยังคงให้ความประหยัดน้ำมัน ในระดับ
เทียบเคียงกันได้กับ City และ Jazz นั่นละครับ อีกทั้ง ประหยัดกว่า Freed ไปราวๆ
1 กิโลเมตร/ลิตร กันเลยทีเดียว

มาถึงตรงนี้ ถ้าคุณสงสัยว่า แล้วน้ำมัน 1 ถัง จะพา Mobilio ไปได้ไกลแค่ไหน คำตอบ
ก็คือ หลังจากเติมน้ำมันเสร็จ ไปทดลองจับอัตราเร่งเรียบร้อยแล้ว ขับรถกลับบ้านตอน
ตี 3 วันรุ่งขึ้น ไปทำธุระ ช่วงเย็น เจอรถติดบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ อโศก ฯลฯ อย่าง
หนักหน่วง รวมทั้งไปถ่ายทำคลิป กับคุณแพน Commander CHENG และน้องต๊อบ
Philozophy แห่ง The Coup Team ของเรา ช่วงกลางดึก กลับถึงบ้าน ตี 4 บ่าย
วันเสาร์ ออกจากบ้าน ทำเวลา ไปยังสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ วิภาวดีรังสิต แล้วก็
ไปธุระต่อในช่วงเย็น ขึ้นทางด่วน ใจกลางกรุงเทพฯ กลับถึงบางนา ตอนดึก

ความเร็วที่ใช้ หลากหลายมาก ทำ Top Speed ไป 6-7 ครั้ง เหยียบเรียกอัตราเร่ง
เพื่อทำเวลา อย่างต่อเนื่อง ไปจนถึง ขับแบบคลานๆ ไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน แถบแสดง
น้ำมันที่เหลือในถัง ค้างไว้ 2 ขีด เมื่อ Trip Meter แสดงตัวเลข 391 กิโลเมตร นั่น
ย่อมหมายความว่า น้ำมัน 1 ถัง น่าจะแล่นได้ราวๆ 470 กิโลเมตร ถ้าคุณไม่ได้ระห่ำ
ตะบี้ตะบันขับแบบหนักหน่วง ตลอดเวลา

********** สรุป **********
B-Segment Minivan ที่คุ้มค่าสุด แรงสุด ประหยัดสุด ในตลาด
ขับดีกว่าที่คาด แต่ยังขาดสิ่งจำเป็นบางอย่าง

เราคงต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า B-Segment Minivan ส่วนใหญ่ ที่ขายกันใน
บ้านเราตอนนี้ ล้วนถูกสร้างขึ้น เพื่อเอาใจลูกค้าชาว Indonesia ซึ่งซีเรียสกับการซื้อ
รถยนต์สักคัน ไม่แพ้คนไทย

ในขณะที่ลูกค้าบ้านเรา ต้องการความอเนกประสงค์ ในแบบไทยๆ ชนิดที่ไม่ยอมจะ
Compromise อะไรทั้งสิ้น กรูจะเอา(แม่ง)ทุกอย่างเลย คือ ต้องแรง แต่ต้องประหยัด
ทั้งน้ำมัน และค่าบำรุงรักษา ราคาขายต่อต้องดี (ซื้อมายังไม่ทันใช้รถเลย คิดจะขายต่อ
เสียแล้ว)  อึด ภายในรถต้องกว้างขวาง นั่งสบายแบบรถเก๋ง ขนคนขนของได้เยอะ
ต้องทนทรหด แต่ลุยน้ำได้  สุดท้าย คนไทยเลยเลือกรถกระบะเป็นหลักไว้ก่อน

แต่ลูกค้าชาวอินโดฯ เขาก็อยากได้ความอเนกประสงค์ในแบบของเขา คือ ต้องขนคน
และขนข้าวของไปได้ทั้งบ้าน โดยสารได้จริงทั้งครบ 7 คน เครื่องยนต์ไม่ต้องแรง แต่
ขอประหยัดน้ำมัน ช่วงล่างเน้นนุ่ม อย่าแข็งมาก เพราะไม่ได้วิ่งเร็วไปไหน ที่สำคัญ
หน้าตา ต้องดูเป็นรถเก๋ง ไม่เป็นรถตู้ หรือรถยนต์ประเภทอื่น นั่นคือเหตุผลที่ทำให้
ชาวอินโดฯ เขาถึงนิยม รถยนต์ Minivan 7 ที่นั่ง นั่นเอง

แต่อย่างที่ทราบกันดี คนอินโดฯ เขาก็ไม่ได้ร่ำรวยนัก จะว่าไปก็คล้ายกับคนไทยนั่นละ
เก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิต พอคิดจะซื้อรถยนต์สักคัน จึงต้องคิดแล้วคิดอีก ขอเน้นความ
คุ้มค่าสำคัญยิ่งกว่าความปลอดภัย ตลาดกลุ่ม Minivan ราคาประหยัด (Low-Cost
Minivan หรือ B-Segment Minivan) จึงเกิดขึ้นมาได้ และครองยอดขายถึงกว่า
80% ของ ตลาดรถยนต์ใน Indonesia ไปแล้ว

ในเมื่อ รถยนต์ประเภทนี้ ถูกสร้างขึ้นมา โดยเน้นการกดต้นทุนให้ต่ำที่สุด เท่าที่จะยัง
พอขายได้แบบไม่น่าเกลียดนัก เพื่อขายชาวอินโดฯ เป็นหลัก ดังนั้น มันอาจมีบางสิ่ง
บางอย่าง ที่คนไทยอย่างเราเห็นแล้วหงุดหงิด

Mobilio เอง ก็หลีกหนีความจริงข้อนี้ไปไม่พ้น

การสร้าง Mobilio บนพื้นฐานของ รถยนต์ขนาดกระทัดรัดราคาถูก อย่าง Brio ทำให้
Honda สามารถประหยัดเงินลงทุนในการทำ Minivan รุ่นนี้ไปได้อีกมาก กระนั้น
ในทางกลับกัน มันทำให้ลูกค้าจำนวนหนึ่ง ถึงกับร้องยี้ เดินออกจากโชว์รูมไป โดย
ไม่สนใจจะลองขับเสียก่อน

แหงสิครับ การเปิดประตูรถออกมา แล้วพบว่า แผงหน้าปัด ที่ง่ายต่อการใช้งาน แต่ดู
ไม่สวยเลย รวมทั้งเบาะคู่หน้า ยกมาจาก Brio ชัดๆ เหมือนกันแบบสำเนาถูกต้องเป๊ะ
เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า ปรับสูง – ต่ำ ก็ไม่ได้ เบาะคนขับปรับสูง – ต่ำ ก็ไม่ได้เหมือนกัน
แถมพื้นที่วางขาของเบาแถวหลัง แม้จะมี Legroom เยอะ แต่ก็สอดขาเข้าไปใต้เบาะ
แถวกลางได้ไม่สบายนัก ไฟอ่านแผนที่ในเก๋ง ติดตั้งในตำแหน่งแยงตามากเกินไป
และในรุ่น RS ควรให้ไฟอ่านแผนที่แบบ City / Jazz มาได้แล้ว  ส่วนชุดเครื่องเสียง
ก็ควรจะใช้งานได้ไว ทันใจกว่านี้ มันก็เป็นเรื่องชวนให้หงุดหงิด แม้ไม่มาก แต่ก็พอดู!

เพียงแค่ข้อด้อยที่ควรนำไปปรับปรุงเหล่านี้ มันมีน้ำหนักมากพอจนทำให้ลูกค้าชาวไทย
จำนวนไม่น้อย เลือกที่จะปิดประตูของ Mobilio ไปทันทีอย่างไม่คิดจะแยแสอีก

เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ที่คนเหล่านั้น จะไม่ได้สัมผัสถึงข้อดีของมันที่มีอยู่ เพราะว่า
คุณงามความดีของตัว Mobilio อยู่ที่คุณภาพการขับขี่ในภาพรวมทั้งคัน นั่นต่างหาก!

การวางเครื่องยนต์ 1,500 ซีซี 120 แรงม้า ลูกเดิม เชื่อมเกียร์ CVT ลูกเดียวกับ
City และ Jazz ใหม่ ทำให้อัตราเร่งของ Mobilio มีเรี่ยวแรงใช้ได้ ตอบสนอง
ทันใจ เร่งแซงได้ทันทีทุกเมื่อ ทุกจังหวะ ทุกสถานการณ์ เท่าที่ขุมพลังระดับ
1,500 ซีซี จะรับมือได้ไหว

ยิ่งเมื่อเจอกับพวงมาลัยไฟฟ้า EPS ที่ปรับแต่งมาเหมาะสม กำลังดี ช่วยเพิ่มความ
คล่องแคล่ว แม่นยำ ในขณะมุดลัดเลาะไปมา ท่ามกลางสภาพการจราจรที่ติดขัด
ของกรุงเทพมหานคร

รวมทั้งช่วงล่างที่เซ็ตมาในแนวนุ่มสบาย ซับแรงสะเทือนได้ดีเกินคาด จนทำให้ผม
ประหลาดใจ ว่าในที่สุด Honda ก็เซ็ตช่วงล่าง โดนใจคนไทยได้สียทีแล้วโว้ย!

เช่นเดียวกัน ระบบห้ามล้อ ก็ทำงานได้อย่างเหมาะสมกับตัวรถอย่างนี้ ทัศนวิสัยก็
โปร่งตากว่าเคย ทำให้ Mobilio กลายเป็น Minivan รุ่นเล็ก ที่ขับขี่ในความเร็ว
สูงๆ ได้มั่นใจกว่ารุ่นพี่ใหญ่ อย่างทั้ง Freed และ StepWGN

และทั้งหมดข้างบนนี้ ก็คือข้อดีของ Mobilio ที่หลายคน พลาดไปแล้ว…

คำถามก็คือ ถ้าจะเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาดทั้งหมดเวลานี้ ควรเลือกซื้อคันไหน?

Toyota Avanza ในฐานะผู้มาก่อน บุกเบิกก่อน เลยทำยอดขายขึ้นนำเป็นเจ้าตลาด
มาช้านาน มันไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแม้ว่าตัวรถจะแคบ และสร้างขึ้นจากพื้นฐาน
งานวิศวกรรมของ Daihatsu Terios รุ่นโบราณ แต่ในวันนี้ รุ่นล่าสุด ก็ถูกปรับปรุง
จนดีพอให้เป็นเจ้าของได้แล้ว แต่เครื่องยนต์ ยังเชื่อมกับระบบขับเคลื่อนล้อหลัง
ฟังดูเหมือนจะดีในสายตานักขับรถ แต่สมรรถนะจริงๆ ก็ไม่ได้ดีเด่มากนักเมื่อ
เทียบตัวเลขกับ Mobilio ที่แน่ๆ เบาะแถวกลางยังคงเป็นขวัญใจ อากง อาม่า ใน
ทุกครา ที่ถึงเวลาพาไปหาหมอที่โรงพยาบาลในเขตเมืองใหญ่

Suzuki Ertiga ผู้มาทีหลัง แต่เหนือกว่า ด้วยรูปลักษณ์ภายนอก และห้องโดยสาร
ที่ดูดี หรูหรา นั่งสบาย มากที่สุดในกลุ่มนี้ อัตราเร่ง ควรทำใจ รุ่นเกียร์อัตโนมัติหนะ
อืดอาด เพราะเครื่องยนต์ 1,400 ซีซี เค้นกำลังในช่วงรอบต่ำ ออกมาได้แค่ที่เห็น
เว้นเสียแต่ว่า จะเรียกกำลังในช่วงรอบกลางๆ ไปแล้ว ยิ่งช่วงปลาย จะไหลลื่น จน
ต้องถามว่า นี่เครื่อง Honda หรือเปล่าวะ? น่าเสียดายที่รุ่นเกียร์ธรรมดา ซึ่งแรงดี
แต่ดันให้ออพชันมาขี้เหร่ไปหน่อย เลยไม่ค่อยได้ใจจากผมเท่าใดนัก

Chevrolet Spin มีดีแค่ช่วงล่าง เพียงอย่างเดียว ที่เหลือ แย่สุดในกลุ่ม แม้จะ
ใช้เครื่องยนต์ 1,500 ซีซี แต่ GM ยังทำเครื่องยนต์ 4 สูบบล็อกเล็ก ไม่เก่งเท่า
Honda หรอก ความแรงและความประหยัดจึงหดหาย แต่นั่นยังไม่ร้ายกาจเท่า
เบาะนั่งทั้ง 3 แถว ที่ต้องถามแบบไม่เกรงใจว่า “ให้ไอ้บ้าที่ไหนมันออกแบบวะ”
นั่งไม่สบายอย่างรุนแรง และพาลทำให้ผมตัดสินใจไม่แนะนำให้ใครซื้อ Spin เลย
ถ้าแค่เบานั่ง ยังทำมา ให้นั่งสบายไม่ได้ ส่วนอื่นๆ ของรถ ก็ไม่ต้องไปพูดถึงให้
เสียเวลาหรอก!

Honda Freed เราต้องเอามาเปรียบเทียบด้วย แม้ว่าจะมีราคาแพงกว่า และ
ตำแหน่งการตลาดสูงกว่า แต่ จุดเด่นที่ Freed ยังมี คือความคล่องตัวในแบบ
Mini Alphard สำหรับการเดินทางในเมืองใหญ่ ประตูไฟฟ้าบานเลื่อนยังเป็น
ของเล่นแสนไฮโซ มากพอกับการขึ้น – ลง จากรถ ที่สะดวกสบาย แต่นอกนั้น
หลายๆเรื่อง ยังด้อยกว่า Mobilio ตั้งแต่เรื่องอัตราเร่ง ไปจนถึงการทรงตัวใน
ย่านความเร็วเดินทาง ยิ่งถ้าเจอกระแสลมมาปะทะด้านข้างด้วยแล้ว Mobilio
อาจพอมีอาการแกว่งให้พบตามปกติ แต่จะไม่หนักหนาเท่า Freed ซึ่งมีแนว
ตัวถังด้านข้าง ตั้งตรงแหน่ว ขวางกระแสลมอยู่แบบนั้น

แล้วถ้าตัดสินใจได้ว่า จะซื้อ Mobilio รุ่นย่อยไหน จึงจะเหมาะกับคุณ?

Mobilio มีทั้งหมด 4 รุ่นย่อย ให้เลือก ดังนี้

– รุ่น S มีทั้งเกียร์ธรรมดา 5MT และอัตโนมัติ (CVT) ภายในสีดำ พิเศษ
กว่ารุ่นอื่น เพราะมีเบาะนั่งแค่ 2 แถว ส่วนเบาะแถว 3 ถอดออก แต่มีถาด
วางสัมภาระอเนกประสงค์ มาให้แทน เน้นทำตลาดกลุ่มลูกค้า SME ที่
มองหารถยนต์ ไว้ใช้งานในกิจการของตน รุ่น S 5MT ราคา 597,000 บาท
รุ่น S CVT ราคา 642,000 บาท ถือเป็นรุ่นพื้นฐาน สำหรับใครที่อยากได้
รถแวนคันเล็ก ไว้ขนของ เป็นหลัก ให้นึกถึง Nissan NV Van ในสมัย
ปี 1996 ไว้เลยครับ Mobilio รุ่น S จะทำหน้าที่ตรงนั้นแทนได้แน่ๆ

– รุ่น V มีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ  CVT ภายในสีเบจ เบาะนั่งแบบ 3 แถว
พร้อมระบบปรับอากาศสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ราคา 682,000 บาท
ถือเป็นรุ่นที่ให้ Option มาดีเพียงพอที่จะใช้งานในชีวิตประจำวัน ถ้า
คุณไม่ได้คำนึงเรื่องอุปกรณ์ติดรถมากนัก

– รุ่น RS เกียร์อัตโนมัติ CVT จะเป็นรุ่นที่อัดออพชันมาให้เต็มแน่นสุด
ราคา 739,000 บาท ผมมองว่า ถ้าจะซื้อทั้งที หากไม่ได้คิดจะซื้อไปขน
ข้าวของส่งลูกค้า หรือใช้ในกิจการ SME รุ่น RS คือรุ่นที่คุ้มค่ามากสุด
เพราะด้วยค่าตัวที่ถูกกว่า Jazz รุ่น ท็อป คุณได้ข้าวของมาไม่ยิ่งหย่อน
ไปกว่ากันมากนัก (แต่อย่างไรเสีย Jazz รุ่นท็อป ตัวล่าสุด ยังให้ความ
คุ้มค่าด้านออพชันมากกว่าพี่น้องในตระกูลรถยนต์ขนาดเล็กของค่าย
Honda ในบ้านเรา ทุกรุ่น อยู่ดี)

สีตัวถัง ยังคงเป็นสีน่าเบื่อๆ ทั้ง 4 สี ได้แก่ สีดำคริสตัล (มุก) และสีเงิน
Alabaster (Metallic) ในทุกรุ่น และเพิ่มสีขาว Orchid คิด (มุก) เฉพาะ
รุ่น RS AT และรุ่น V AT ส่วนรุ่น S จะเป็นสีขาว Taffeta แทน

ก่อนจากกัน….อยากจะฝากถึง Honda ไว้สักหน่อย…

ถ้าให้ผมนิยาม Mobilio กันอย่างตรงไปตรงมา ตอนแรก ผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เคย
มองว่ามันคือ Brio ต่อตูด ซึ่งก็คงไม่ต่างจากคนทั่วไปสักเท่าไหร่

แต่หลังจากลองขับ และใช้ชีวิตด้วยกันอยู่ 1 สัปดาห์เต็ม ผมอย่างจะแก้ไขความคิด
ของตัวเองเสียใหม่สักหน่อย…ว่า Mobilio นั้น คือ…

“Brio ต่อตูด นั่งสบายขึ้นเป็น 7 ที่นั่ง เปลี่ยนเครื่องยนต์ เป็น 1,500 ซีซี แรงและ
ประหยัดเท่า City กับ Jazz แถมยังขับนุ่มสบาย สมราคา ดีกว่าที่คาดคิดไว้”

แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดี ที่ผมยังแฮปปี กับ Mobilio แต่เชื่อขนมกินได้เลยว่า คนของ
Honda น่าจะยังไม่ค่อยปลื้มปิตินัก ที่ผมยังคงจับ Mobilio ไปเปรียบเทียบกับ Brio
น้องเล็กผู้สร้างยอดขายถล่มทะลาย ความนิยมท้ายตาราง จนสร้างความปวดกบาลให้
Honda มาตั้งแต่ปี 2011

ไม่แปลกหรอกครับที่หลายคนจะปรามาส Mobilio เอาไว้ตั้งแต่ยังไม่เปิดตัว ว่า รถ
Minivan ต้นทุนต่ำ ที่สร้างขึ้นบนพื้นตัวถัง และงานวิศวกรรมร่วมกับ Brio มันคง
ไม่ได้ดีเด่นมากมายนักหรอก

เพราะพวกเขา ไม่เคยมาลองขับไงละ! เลยยังคงติดภาพว่า Brio เป็นอย่างไร รุ่นพี่
อย่าง Mobilio ก็น่าจะไม่ต่างกันนัก…ซึ่งเป็นความคิดที่..ผิดไปจากความจริง!

คงได้แต่บอกไปว่า ถ้าไม่อยากให้ผมและคนไทยจำนวนไม่น้อย ต้องนึกถึง Brio
ทุกครั้งที่ต้องพูดถึง Mobilio แล้วละก็ Honda คงต้องกลับไปออกแบบชิ้นส่วน
ตัวถังด้านหน้าเสียใหม่ ทำอย่างไรก็ได้ให้มันดูแล้วไม่เหมือน Brio มากอย่างที่
เป็นอยู่

ต่อมา ก็ถอดแผงหน้าปัดชุดปัจจุบันที่ใช้อยู่นี้ออกไปซะ แล้วแทนที่ด้วยแผงหน้าปัด
แบบใหม่ ที่ยังคงใช้งานง่ายเหมือนเดิม แต่มีช่องแอร์ที่ดูดี มีสไตล์ สมกับบุคลิกของ
Minivan มากกว่านี้

เพียงแค่ 2 ข้อข้างบนนี้ ผู้คนก็จะเลิกจดจำ Mobilio ในฐานะ Brio ต่อตูดไปเลย
และนั่นจะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้คนที่อยากเปิดใจ ลองสำรวจดู Mobilio ว่า
เหมาะกับตนเองหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน และอย่างไร…

ถ้าไม่เชื่อ…ก็ลองดูสิครับ!

—————————–///——————————

ขอขอบคุณ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Honda Automobile (Thailand ) จำกัด

เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ

————————————————
บทความของรถยนต์ในกลุ่มตลาดเดียวกัน ที่ควรอ่านเพิ่มเติม

รวมบทความ รถยนต์กลุ่ม B-Segment และ C-Segment Minivan
————————————————

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน ภาพวาดกราฟฟิก เป็นลิขสิทธิ์ของ Honda Motor Co.
ประเทศญี่ปุ่น ส่วน ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
15 ตุลาคม 2014

Copyright (c) 2014 Text and Pictures (All Illustration is own by Honda Motor Co.)
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com

October 15th,2014

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE