จำได้ไหมว่า ครั้งสุดท้าย ที่คุณได้ยินข่าวคราวของ Lexus GS หนะ มันเมื่อไหร่กัน? ถ้าคุณลืมไปแล้ว
ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะ เล็กซัส หน่วยงานรถยนต์ระดับหรู ของ โตโยต้า ทำตลาด Grand Toring Sport Sedan
รุ่นนี้ กันอย่างเรื่อยๆ จนหลายคนอาจลืมไปเลย ดังนั้น เพื่อไม่ให้ลูกค้าส่วนใหญ่ ลืมว่ายังมีรถยนต์รุ่นนี้
อยู่บนโลกมนุษย์ โตโยต้า ก็เลยจัดการปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ให้ใหม่ซะเลย ออกสู่ตลาดญี่ปุ่นไปเรียบร้อยแล้ว
เมื่อ 27 สิงหาคม 2009  ที่ผ่านมา

 

ประวัติของ GS เริ่มต้นจากการเป็นรถยนต์ แกรนด์ ทัวริง ซีดาน ที่สร้างขึ้นบนพื้นตัวถังของ โตโยต้า คราวน์
ภายใต้การออกแบบของ สำนักออกแบบ Ital Design ออกสู่ตลาดครั้งแรก ในญี่ปุ่น เมื่อปี 1991 ภายใต้ชื่อ
Toyota ARISTO และส่งไปทำตลาดภายใต้แบรนด์ Lexus GS ในฐานะรถรุ่นปี 1992 – 1993 นับจากนั้น
เป็นต้นมา โลกก็ได้รู้จักความแรงสะใจของ อริสโต และ GS ในฐานะ รถยนต์ ซีดาน ที่วางเครื่องยนต์ ตระกูล JZ
ซึ่งแรงที่สุดในตระกูลนี้ ลงใน ตัวถัง เจเนอเรชันที่ 2 เวอร์ชันญี่ปุ่น แบบ 4 ตา ซึ่งคลอดเมื่อปี 1998

 

ส่วนรุ่นปัจจุบัน เปิดตัวครั้งแรก เมื่อปี 2005 โดยประเทศไทย เป็นประเทศที่ 2 ในโลก ที่มีการเปิดตัว
รถรุ่นนี้ ต่อจากสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะเปิดตัวในญี่ปุ่น เดือนกรกฎาคม 2005 ครั้งนั้น ผู้เขียนเคยนำ
รถยนต์รุ่นนี้ มาทำรีวิว แม้ว่าสมรรถนะ จากเครื่องยนต์ V6 ตระกูล GR จะแรงเร้าใจ แต่ด้วยพวงมาลัย
ที่เบาไปหน่อย และทัศนวิสัย ที่บีบอัด ด้วยพื้นที่กระจกหน้าต่างรอบคัน มีน้อย ทำให้ GS กลายป็น
รถยนต์ที่เหมาะแก่การขับขี่ของผู้มีอันจะกิน อารมณ์เปลี่ยว กันเพียง 2 ต่อ 2 เท่านั้น

วันเวลาผ่านไป หลายคนก็เลยลืมกันไป ว่า เล็กซัส ยังคงมี GS ทำตลาดอยู่ด้วย โตโยต้าจึงเพิ่มทางเลือก
เครื่องยนต์ใหม่ๆ และอุปกรณ์ใหม่ๆ จากรถรุ่นพี่ อย่าง LS หรือ Crown Majesta เข้าไปอยู่เนืองๆ

การปรับโฉมคราวนี้ มีขึ้นที่ ชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้าเป็นหลัก กระจังหน้า ถูกขยายให้มีพื้นที่ด้านข้าง
แนบชิด ติดชุดไฟหรี่ดวงเล็ก ข้างชุดไฟหน้าแบบ Projector Discharge ส่วนรุถ่นไฮบริด จะมาพร้อม
กระจังหน้า ลายพิเศษ มีแนวเส้นพาดผ่านตรงกลางให้เด่นชัดขึ้น สอดคล้องกับ Lexus HS250
(อันเป็นเล็กซัสรุ่นแรก ที่เกิดมาเพื่อเป็นรถยนต์ไฮบริด ล้วนๆเพียงอย่างเดียว  โดยไม่มีเรื่องยนต์
เบนซิน ปกติให้เลือกเลย) ที่เพิ่งเปิดตัวไปก่อนหน้านี้ไม่นานนัก

มิติตัวถัง ยังคงไม่ต่างจากเดิม ยาว 4,850 มิลิเมตร กว้าง 1,820 มิลลิเมตร สูง 1,425 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อยาว 2,850 มิลลิเมตร

ภายในห้องโดยสาร เพิ่มระบบนำทางแบบ HDD ที่มีระบบ Map On Demand มาให้เช่นเดียวกับ
รถรุ่นที่หรูกว่า มีการปรับปรุงรายละเอียการตกแต่ง โทสีของห้องโดยสารนิดหน่อย

ไม่เพียงแค่นั้น การปรับโฉมครั้งนี้ มีการปรับทัพขุมพลังกันด้วย โดย เวอร์ชันญี่ปุ่น จะทำตลาด
เครื่องยนต์ ถึง 3 แบบ โดยรุ่นเบนซินนั้น เริ่มจาก GS350 วางขุมพลังรหัส 2GR-FSE
บล็อก V6 DOHC 24 วาล์ว 3,456 ซีซี หัวฉีด EFI ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบ D-4 ระบบแปรผันวาล์ว
Dual VVT-i กระบอกสูบ x ช่วงชัก 94.0 x 83.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 11.8 : 1 กำลังสูงสุด
315 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 38.4 กก.-ม.ที่ 4,800 รอบ/นาที เชื่อมเฉพาะ
เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ Super ECT มีทั้งรุ่นขับเคลื่อนล้อหลัง (GRS-191) หรือ ขับเคลื่อน
4 ล้อ AWD (All-Wheel Drive) รหัสรุ่น GRS-196

ในรุ่นแรงสุด GS460 รหัสรุ่น URS-190 ยกเครื่องยนต์ ของพี่ใหญ่ LS460 มาวางกันง่ายๆเลย
เป็นรหัส 1UR-FSE บล็อก V8 DOHC 32 วาล์ว 4,608 ซีซี หัวฉีด EFI แบบ D-4 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิง
แบบ D-4 ระบบแปรผันวาล์ว Dual VVT-i กระบอกสูบ x ช่วงชัก 94.0 x 83.0 มิลลิเมตร อัตราส่วน
กำลังอัด 11.8 : 1 กำลังสูงสุด 347 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 46.9 กก.-ม.ที่
4,100 รอบ/นาที เชื่อมเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ Super ECT ที่เน้นความนุ่มนวลและ
ต่อเนื่องในการเปลี่ยนเกียร์อย่างมาก

และในรุ่นไฮบริด GS450h รหัสรุ่น GWS-191 นำเครื่องยนต์ 2GR-FSE มาปรับปรุงใหม่
ให้เป็นแบบ Atkinson Cycle ลดกำลังเหลือ 295 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
37.5 กก.-ม.ที่ 4,800 รอบ/นาที เชื่อมต่อกับมอเตอร์ระบบขับเคลื่อนที่ให้กำลังสูงถึง 200 แรงม้า
(PS) หรือ 147 กิโลวัตต์ แรงบิดสูงสุด 28.0 กก.-ม. และแบ็ตเตอรีแบบนิกเกิล ไฮดราย ระบบ
ส่งกำลังสู่ล้อคู่หลังเป็นแบบ โซ่ขับเคลื่อน ในรูปแบบหนึ่งของ e-CVT

ระบบกันสะเทือนหน้า แม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลัง แบบมัลติลิงค์ พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน
พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง ดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อมรูระบายความร้อน ทุกตำแหน่ง

GS ใหม่ เริ่มทำตลาดในญี่ป่นแล้ว โดย GS350 ที่มาพร้อมระบบนำทาง HDD Navigation System
ชุดเครื่องเสียง Lexus Premium Sound System (ดีพอที่จะไม่ทำให้คุณถึงกับต้องอัพเกรดไปเป็น
ชุดเครื่องเสียงของ Mark Levinson พร้อมระบบสื่อสาร Telematics G-LINK (จาก บริษัท
TOKYO GAS จำกัด) เริ่มต้นที่ 5,420,000 เยน หรือ 1,951,200 บาท จนถึง 7,650,000 เยน
หรือ 2,754,000 บาท ในรุ่น GS460

และในรุ่น GS450h ไฮบริดนั้น มีค่าตัวตั้งแต่ 6,870,000 เยน หรือ 2,473,200 บาท
จนถึง 7,870,000 เยน หรือ 2,832,200 บาท ทั้งหมดนี้ รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ของญี่ปุ่น
แต่ไม่รวมภาษีนำเข้าของบ้านเรา ซึ่ง ถ้าอยากรู้ว่า หากนำเข้ามา โตโยต้าจะคิดราคาเท่าไหร่
ไม่ยาก แค่เปลี่ยนชื่อหน่วย จากเยน เป็น บาท ก็เท่านั้นเอง…!!

——————————————-///————————————————