สารภาพนะครับ ตั้งแต่เกิดมา จนตอนนี้อายุก็ปาเข้าไป 26 ปี ขับรถมาก็เป็น 10 ปี
ผ่านรถมารุ่นนั้น รุ่นนี้มาแล้วก็ไม่น้อย แต่ผมยังไม่เคยขับมินิเลยสักครั้งเดียว !
อย่างมากก็ได้ลองนั่งรถที่จอดอยู่นิ่งๆ และแค่นั้น

ผมก็แปลกใจอยู่ไม่น้อย ทั้งที่ MINI นั้นเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย มากว่า 14 ปีแล้ว
ตั้งแต่ เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2002 เป็นต้นมา โดย BMW Group Thailand นั่นมันเป็นเวลา
นานเกินกว่าครึ่งหนึ่งของอายุผมเสียอีก ! ทำไมน้อ ทำไมกัน

คราวนี้ก็ได้โอกาสอันดี ประจวบเหมาะ กับที่ BMW Group Thailand ได้เชิญ Headlightmag
ให้เข้าร่วมการทดสอบรถ MINI ในครั้งนี้ และ พี่จิมมี่ ก็เลยส่งผมไปเผชิญกับการขับที่ไม่ใช่ทริป
ขับทดสอบธรรมดา แต่หากเป็นการทดสอบในสนามที่มีสถานีต่างๆที่ให้ได้สัมผัมกับตัวรถ
อย่างเต็มที่ ได้เรียนรู้บุคลิกของรถที่เป็น MINI อย่างชัดเจน แม้จะไม่ได้ทำความเร็วมากนัก
แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีกับการสัมผัสตัวตนที่แท้จริงของรถ

เอาล่ะ ! เตรียมพร้อมแล้ว ก็ไปด้วยกันกับ MINI Driving Experience 2016 ณ สนามปทุมธานี
สปีดเวย์ คราวนี้จะได้ลองกันแล้วว่า GO-KART Feeling ที่เค้าว่ากันน่ะ เป็นอย่างไร ?!?!

009

คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ หรือ คุณจอห์น ผู้อำนวยการ ฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร
บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย และ คุณปรีชา นินาทเกียรติกุล หรือคุณจิม
ผู้จัดการทั่วไป มินิ ประเทศไทย กล่าวต้อนรับ พร้อมแนะนำทีม Instructor 4 ท่าน
คือ คุณเบี๊ยด คุณจูน คุณปุ๊ก คุณจิโอ้ ที่จะมาดูแล สถานีทดสอบทั้งหมดในวันนี้

สถานีทดสอบประกอบด้วย 3 สถานีใหญ่ ๆ และอีก 3 สถานีย่อย โดยรายละเอียด
ของแต่ละสถานีจะเล่าให้ฟังกันในส่วนถัดๆไปครับ

1. ELK Test
2. Figure 8
3. Handling Course
3.1 Acceleration 0-100 km/h
3.2 Brake 100-0 km/h
3.3 Handling

ขบวนเหล่า MINI ที่ทางทีมได้จัดไว้ให้ทดสอบ มีทั้งหมด 5 รุ่น 5 คัน มาครบเกือบทุกรุ่น
ตั้งแต่ MINI Hatch 3 Doors, MINI Hatch 5 Doors, MINI Clubman และ MINI
Countryman โดยรถคันที่ผมได้ควบหลักๆ ก็คือเจ้าคัน สีแดงคาดแถบสีดำ เป็นรุ่น
MINI Hatch 3 Doors Cooper S JCW Dress-up + Tuning Kits

006

สถานีที่ 1 : ELK Test

หลายคนอาจจะงงว่า ELK นี่มันอะไร คำนี้มาจากภาษาอังกฤษ มีความหมายเดียวกับ Moose
หรือกวาง ที่ต่างประเทศเหมือนในภาพยนตร์ต่างๆ เวลาขับรถ เขตนอกเมืองหรือใกล้ป่า
จะชอบมีกวางมาตัดหน้าหรือขวางทางอยู่ทำให้เราต้องหักหลบ สถานีนี้จะถูกจำลองสถานการณ์
ให้เป็นการขับรถหักหลบสิ่งกีดขวางกระทันหัน โดยการตั้งไพล่อนไว้ 2 ช่อง ขวา – ซ้าย
โดยรถจะทำการออกตัวจากจุดเริ่มต้น เลี้ยงความเร็วไว้ที่ 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ในช่องขวา
แล้วทำการเปลี่ยนเลนกระทันหันไปที่ช่องซ้าย และ หักกลับมาที่ช่องขวาอีกครั้ง โดยที่ไม่แตะเบรก

ในครั้งแรกผมใช้ความเร็วที่ประมาณ 50-55 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตัวรถนั้นก็ผ่านไปได้อย่าง
สบายๆ แทบจะไม่ออกอาการใดๆ ทั้งนี้เป็นเพราะมินินั้นมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ รวมถึงระยะหน้า
– หลังที่สั้น หรือที่เราเรียกกันว่า Short Overhang ทำให้การเปลี่ยนเลนกระทันหัน ตัวรถ
จะมีบาลานซ์ที่ดี แทบจะไม่ออกอาการเท่าไหร่

005004

จากนั้นในรอบที่สอง มีการเพิ่มความเร็วขี้น เป็น 60-65 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยไม่มีการเบรก
เหมือนเช่นเคย การหักจากขวาไปซ้ายในจังหวะแรก จะยังไม่มีอะไร แต่จังหวะที่หักกลับมา
ด้านขวาอีกครั้ง ท้ายจะเริ่มออกนิดๆ จนรู้สึกได้ว่า ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว Dynamic
Stability Control หรือ DSC  นั้นจะทำงาน โดยมีการเพิ่มแรงดันน้ำมันเบรก รวมถึงคาลิปเปอร์
จะช่วยจับจานเบรกให้ความเร็วลดลง ทำให้กลับมาควบคุมได้ง่ายขึ้น และไม่ให้รถเสียอาการ
ตรงนี้ถือว่าระบบนั้นทำงานได้รวดเร็วดี

 

สถานีที่ 2 : Figure 8

ต่อด้วยสถานีที่สอง คือ Figure 8 ตามชื่อเลยครับ ขับรถวนเป็นเลข 8 โดยพื้นผิวจะถูกรดน้ำ
ทำให้เปียกตลอดเวลา เป็น Wet Track เพื่อทดสอบระบบ ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว
Dynamic Stability Control หรือ DSC ให้เห็นกันชัดๆ

เริ่มกันที่รอบแรกจะปิดระบบ DSC กันก่อน เข้าที่ตรงกลางวง วนไปทางซ้ายก่อน หักเลี้ยว
ให้ชิดไพล่อนที่วางไว้เป็นวงมากที่สุด จุ่มคันเร่งเต็ม เพื่อให้รถออกอาการ จะพบว่าบนพื้น
ที่เปียกนั้น รถจะเริ่มออกอาการหน้าบาน ดื้อโค้ง แถออกนอกวง แหกโค้ง หรือ Understeer

Steer หรือ Steering นั้นแปลว่า การเลี้ยว , Understeer ให้เข้าใจง่ายๆก็คือ เลี้ยวน้อยไป
เราหมุนพวงมาลัยไปแล้ว ตัวรถนั้นไม่เลี้ยวไปตามที่เราต้องการ เกิดจากการที่หน้ายางคู่หน้า
เสียการยึดเกาะกับถนน เลยไม่สามารถพารถเลี้ยวไปได้ ซึ่งอาการนี้จะพบเห็นได้ส่วนใหญ่
ในรถขับเคลื่อนล้อหน้า ซึ่งถ้าหากเจออาการลักษณะนี้การแก้อาการก็ไม่ยากเพียงแค่ถอนคันเร่ง
และควบคุมพวงมาลัยไว้ การถอนคันเร่งนั้นจะลดความเร็วลง และ ทำให้รถมีการถ่ายน้ำหนัก
มาด้านหน้ามากขึ้น หน้ายางก็จะมีพื้นที่สัมผัสถนนมากขึ้น เพียงเท่านี้ ตัวรถก็จะกลับเข้าสู่วงเลี้ยว
ได้ปกติ (ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ควรไปลองบนถนนปกติกันเองนะครับ)

001 002

จากนั้นเมื่อรู้อาการของตัวรถเมื่อปิดระบบกันแล้ว ทีนี้จะมาลองเปิดระบบ DSC กันบ้าง เมื่อเข้าโค้ง
ไปเหมือนตอนแรก หากระบบเริ่มจับอาการจากล้อทั้ง 4 ได้ว่า จะเริ่มแหกโค้ง จะมีการเพิ่มแรงดัน
น้ำมันเบรก คาลิปเปอร์ช่วยจับจานเบรก ชะลอความเร็วลง เหมือนกับการที่เราถอนคันเร่งในครั้งแรก
ทำให้เรายังสามารถควบคุมพวงมาลัยให้รถอยู่ในโค้งได้ง่าย รวมถึงถ้าหากมีการกดคันเร่งเพิ่ม
ระบบจะตัดกำลังจากคันเร่ง ควบคุมไม่ให้ใช้ความเร็วมากไปเมื่อรถเริ่มออกอาการ ทั้งสถานีแรก
ELK Test และ Figure 8 ทำให้ผมรับรู้ได้ว่าระบบนั้นทำงานได้แม่นยำ และ ฉับไวอยู่พอสมควร

 

สถานีที่ 3 : Handling Course

มาถึงสถานีสุดท้ายปิดท้าย ซึ่งจะประกอบไปด้วย 3 สถานีย่อยๆ เริ่มจากการ ทดสอบอัตราเร่ง
จากจุดหยุดนิ่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ การเบรกจาก 100-0 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ชักช้าอยู่ใย เรามาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ

007

*ลองจับอัตราเร่งแบบคร่าวๆ ใน MINI Driving Experience 2016 ณ สนาม
ปทุมธานีสปีดเวย์ นั่ง 1 คน (น้ำหนักมากกว่าคนทั่วไป) เปิดแอร์ ช่วงเวลาประมาณ
16.00 น.  แดดจัด อุณหภูมิภายนอก บนมาตรวัดรถ อยู่ที่ 39 องศาเซลเซียส

ตัวเลขเอาให้ดูกันเล่นๆเบื้องต้นก่อนนะครับ เนื่องจากแต่ละคัน ได้จับเวลา อัตราเร่ง
0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แค่ 1-2 ครั้ง ส่วนตัวเลขอัตราเร่ง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
และ Top Speed ไม่มีโอกาสได้ลองครับ

เกียร์อัตโนมัติในแต่ละคัน จะมีด้วยกัน 3 โหมด คือ

D Mode (Normal)
S Mode (Sport)
M Mode (Manual)

ตัวเลข 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่จับเวลามาเกียร์จะอยู่ในโหมด D ปกติครับ

ไล่เรียงกันทีละคัน เริ่มจากลำดับความแรงของรถ ที่ MINI จัดไว้เป็นขบวน
พร้อมสเป็คเครื่องยนต์ และ ระบบส่งกำลังครับ (โดยผมจะได้ลองครบทุกคัน
สลับตำแหน่งกับพี่ๆสื่อมวลชนท่านอื่น แบบงูกินหาง คือ สลับคันกันไปเรื่อยๆ
ในแต่ละรอบ จนได้ขับครบทั้ง 5 คัน)

MINI Hatch 3 Doors Cooper S John Cooper Works (F56) (คันสีเขียวเข้ม หลังคาแดง)
เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ ขนาด 2.0 ลิตร 1,998 ซีซี. TwinPower Turbo
กำลังสูงสุด 231 แรงม้า ที่ 5,200 – 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 320 นิวตัมเมตร
ที่ 1,250 – 4,800 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
อัตราเร่ง 0-100 km/h* ทำได้  7.05 วินาที

01_MINI

 

MINI Hatch 3 Doors Cooper S – JCW Dress up Edition + Tuning Kits (F56)
(คันสีแดง คาดแถบสีดำ) พื้นฐานเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ ขนาด 2.0 ลิตร 1,998 ซีซี.
กำลังสูงสุด 192 แรงม้า ที่ 4,700 – 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 280 นิวตันเมตร
ที่ 1,250 รอบ/นาที

เพิ่มชุด Tuning Kits ที่มีชื่อว่า John Cooper Works ของแท้จากมินิ สนนราคาประมาณ
95,000 บาท ประกอบด้วย ชุดท่อไอเสียใหม่ Valve Silencer System, ECU Tuning
ปรับจูนซอฟท์แวร์กล่อง ECU ใหม่ , ชุดรีโมทสำหรับเปิดปิดวาล์วท่อไอเสีย และ ปลอก
ปลายท่อไอเสียตกแต่งเพิ่มเติม ทั้งหมดนี้จะเพิ่มกำลังขึ้นจากรุ่นปกติอีก 19 แรงม้า และ
แรงบิด 20 นิวตันเมตร เป็น 211 แรงม้า ที่ 4,700 – 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
300 นิวตันเมตร ที่ 1,250 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
อัตราเร่ง 0-100 km/h* ทำได้ 7.13 วินาที

02_MINI

 

MINI 5 Doors Cooper S JCW Dress up Edition (F55) (คันสีดำ)
เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ 2.0 ลิตร 1,998 ซีซี. TwinPower Turbo
กำลังสูงสุด 192 แรงม้า ที่ 4,700 – 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 280 นิวตันเมตร
ที่ 1,250 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
อัตราเร่ง 0-100 km/h* ทำได้ 7.39 วินาที

03_MINI

 

MINI Clubman Cooper S Hightrim (F54) (คันสีเทาอ่อน คาดแถบสีดำ)
เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ 2.0 ลิตร 1,998 ซีซี. TwinPower Turbo
กำลังสูงสุด 192 แรงม้า ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดที่ 280 นิวตันเมตร
ที่ 1,250 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ
อัตราเร่ง 0-100 km/h* ทำได้ 7.77 วินาที

04_MINI

 

MINI Country Man Cooper SD ALL4 Parklane (R60) (คันสีเทาเข้ม คาดแถบสีแดง)
เครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ 2.0 ลิตร เทอร์โบ กำลังสูงสุด 143 แรงม้า ที่ 4,000 รอบ/นาที
แรงบิด 305 นิวตันเมตร ที่ 1,750 – 2,700 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
อัตราเร่ง 0-100 km/h* ทำได้ 10.61 วินาที

05_MINI

มองแต่ตัวเลข แต่ยังไม่เห็นภาพ ตัวเลขอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง นำหน้าด้วย
เลข 7 วินาที แบบนี้ จะเจอในรถประมาณไหนบ้าง แน่นอนว่าก้าวผ่าน B-C-D-Segment
ปกติไปได้เลย (รวมถึง Sylphy Turbo ของเจ้าของเว็บด้วย ฮ่าๆ) ตัวเลขนั้นจะอยู้ในระดับ
Volkswagen Golf GTi, BMW 328i อะไรทำนองนี้ครับ ฟัดกันได้สบายๆ

สำหรับสถานีเบรก 100-0 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น การทดสอบในวันนี้อาจจะบอกอะไร
ไม่ได้มาก เนื่องจากเบรกนั้นถูกใช้งานมาอย่างต่อเนื่อง และ ค่อนข้างหนัก เลยอาจจะ
แสดงศักยภาพไม่ได้เต็มที่เท่าไหร่ แต่จากระยะเบรกของทั้ง 5 คัน พบว่า คันสีเขียว
หลังคาแดง หรือรุ่น MINI Hatch 3 Doors Cooper S John Cooper Works (F56)
นั้นจะมีระยะการเบรกที่สั้นที่สุด เนื่องจากเบรกมีการเพิ่มขนาดจากรุ่นปกติ เป็นเบรก
จาก Brembo 4 pots จานคู่หน้าขนาด 335 มิลลิเมตร (รุ่น Cooper S 294 มิลลิเมตร)
ส่วนจานคู่หลังมีขนาดเท่ากันกับรุ่น Cooper S คือ 259 มิลลิเมตร ส่วนรุ่นอื่นๆ ก็ถือว่า
เบรกทำหน้าที่ของมันได้ดี แม้ว่าจะผ่านการเบรกที่หนักหน่วงมาหลายครั้ง แต่ก็ไม่ค่อย
ออกอาการเฟดให้พบเจอมากนัก

003008

สุดท้ายและท้ายสุดของการทดสอบจะเป็นส่วนของ Handling Course ให้สัมผัสกับ
ช่วงล่าง พวงมาลัย และบุคลิกของรถแต่ละรุ่น ซึ่งมีความแตกต่างกันอยู่เหมือนกัน
หากคุณต้องการ GO-KART Feeling อย่างเต็มที่คงจะต้องยกตำแหน่งให้กับ
MINI Hatch 3 Doors ทั้ง 2 รุ่น ไม่ว่าจะเป็น John Cooper Works หรือ Cooper S –
JCW Dress up ให้ความดิบ แข็งกระด้าง และ สะเทือน แต่เกาะหนึบ สมชื่อชั้น
ให้ความรู้สึก GO-KART Feeling จริงๆ (ถ้าเทียบกับรถ GO-KART จริงๆแล้ว
มันก็ไม่ได้แข็ง สะเทือนขนาดนั้นนะครับ มันก็มีความนุ่มนวลกว่านั้นอยู่ประมาณนึง)

ขยับมาที่รุ่น MINI Hatch 5 Doors Cooper S กันบ้าง ถ้าเทียบกับรุ่น 3 ประตูแล้ว
มันก็มีความนุ่มนวลของช่วงล่างที่ดีขึ้นในระดับหนึ่ง ซับแรงสะเทือนต่างๆพอใช้ได้
แต่ถ้าให้นุ่มนวลที่สุดในบรรดาขบวนมินิที่มาในวันนี้จริงๆ คงจะเป็นพี่ใหญ่สุดอย่าง
Clubman Cooper S ที่มีขนาดตัวใหญ่ที่สุด เท่าที่มินิเคยมีมา เป็นช่วงล่างที่ผมรู้สึก
ว่านี่แหละพอเหมาะพอดีกับการนั่งโดยสารทางไกล พาครอบครัวไปไหนมาไหน
ได้อย่างสบายๆ ใช้ในชีวิตประจำวันได้สุนทรีย์ที่สุดแล้ว หากคุณเป็นคนที่มีความ
คลั่งไคล้ในมินิ แต่อีกใจหนึ่งก็อยากได้รถที่คนในครอบครัวนั่งสบาย ก็คงจะต้อง
เป็นเจ้า Clubman นี่แหละครับ แถมภายในก็ยังหรูที่สุดในบรรดาทุกๆคันอีกด้วย

ส่วน Countryman ที่กำลังจะตกรุ่นนั้น ความแข็งของช่วงล่างนั้น อยู่กึ่งกลางระหว่าง
Clubman กับ Hatch 5 ประตู ไม่นุ่ม แต่ก็ไม่ได้แข็งอย่างเจ้าคันเล็ก Hatch 3 ประตู
ขุมพลังดีเซลของ Countryman ที่ถึงแม้พละกำลังจะน้อยที่สุดในกลุ่ม แต่การใช้งานจริง
ก็ถือว่าเพียงพอ หากไม่ได้จับเวลา ในการขับทั่วไปก็จะไม่ได้ด้อยไปกว่าตัวเบนซิน
Cooper S เลย จากแรงบิดสไตล์เครื่องดีเซลมันทำให้รู้สึกว่า ดึงใช้ได้อยู่นะ แต่
เบาะหลังควรจะต้องปรับปรุงอย่างแรง เพราะมันแข็งมาก ประหนึ่งนั่งบนไม้กระดาน

010

หลังจากที่ได้ขับมินิมาครบทุกรุ่นแล้ว ความรู้สึกในใจของผมก็ได้เปลี่ยนไปเล็กๆ
ว่ามินิ จากเดิมที่ผมสนใจมันเพียงเพราะดีไซน์และหน้าตาที่ไม่เหมือนใคร และ
ไม่มีใครเหมือน ก็ต้องเปลี่ยนความคิดไปว่า จุดเด่นมันไม่ได้มีแค่นั้นนะเว้ยย !
การขับขี่นี่แหละคือสิ่งที่น่าสนใจ ดึงดูดใจ สำหรับคนชอบขับรถอย่างผมอยู่ไม่น้อย
มันคล่องตัว ให้ความสนุกในการขับขี่ได้ดี อารมณ์ดิบๆ ช่วยปลดปล่อยความซาบซ่าน
ในใจได้เป็นอย่างดี เพียงแต่ราคามันอาจจะเกินเอื้อมสำหรับคนทั่วไปอยู่ ซึ่งผมก็มองว่า
MINI มันคงเป็น The Richman’s Toy ในสายตาคนทั่วไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถ้าใครมีโอกาส ผมก็อยากให้ลองขับกันนะ

MINI จะช่วยปลุกอารมณ์ความสนุก ชาร์จพลังในตัวคุณได้ดีเลยทีเดียวล่ะ !

 

———————–//———————–

 

สำหรับราคาจำหน่ายอย่างเป็นทางการของเหล่า MINI ทั้ง 5 คัน
ที่ผมได้ทำการทดลองขับทั้งหมด (ราคา ณ วันที่ 20/5/2016) มีดังนี้

MINI Hatch 3 Doors Cooper S John Cooper Works (F56) – 3,450,000 บาท
MINI Hatch 3 Doors Cooper S – JCW Dress up (F56) – 2,990,000 บาท
+ JCW Tuning Kits ประมาณ 95,000 บาท
MINI 5 Doors Cooper S – JCW Dress up (F55) – 3,030,000 บาท
MINI Clubman Cooper S Hightrim (F54) – 3,288,000 บาท
MINI Countryman Cooper SD ALL4 Parklane (R60) – 2,590,000 บาท

พร้อม MINI Inclusive Service (MSI) ฟรีค่าบำรุงรักษา 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร
(แล้วแต่ระยะใดถึงก่อน) และ Warranty รับประกันตัวรถ 5 ปี ไม่จำกัดระยะทาง

 


 

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ / คุณปรีชา นินาทเกียรติกุล
BMW Group (Thailand) Co.,ltd
เอื้อเฟื้อการขับทดสอบในครั้งนี้

คุณเบี๊ยด วุฒินันท์ สภาวสุ, คุณจูน, คุณปุ๊ก และคุณจิโอ้
ทีม Instructor ที่ดูแลสถานีทดสอบ และให้คำแนะนำทั้งหมด

 


 

MoO Cnoe

สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ เป็นของผู้เขียน และลิขสิทธิ์ภาพถ่ายเป็นของ
ผู้เขียน และ BMW Group Thailand โดยช่างภาพ คุณแทน Sattaphan

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
21 พฤษภาคม 2016

Copyright (c) 2016 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.

First publish in www.Headlightmag.com
May 21st,2016

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!