สำหรับผู้ผลิตรถยนต์แล้ว การพัฒนารถยนต์สักรุ่น ให้ได้รับ ความนิยมจากลูกค้านักขับขี่
ทั่วโลก จนสามารถยืนหยัดมายาวนานเกินกว่า 30 ปี นั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย…

เพราะนั่นหมายความว่า รถยนต์รุ่นนั้น จะต้องมีรูปลักษณ์ที่สวยงาม ล้ำสมัย ท้าทายกาลเวลา
ทั้งในช่วงที่ทำตลาด และหมดอายุตลาดไปแล้วหลายสิบปี  ตอบสนองความต้องการทั้งขั้น
พื้นฐาน นั่นคือ การพาผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ไปถึงจุดหมาย ที่ต้องการ อย่างปลอดภัย
ต้องให้ความสะดวกสบาย ควบคู่ไปด้วยกัน บนพื้นฐานของงานวิศวกรรม ที่สมรรถนะ
อันเหมาะสมต่อผู้ขับขี่ ผลิตและประกอบขึ้นทุกชิ้นส่วน ด้วยความพยายามอย่างสูง
เพื่อบรรลุเป้าหมาย ทั้งความประณีต พิถีพิถัน ใส่ใจแม้รายละเอียด เพียงเล็กน้อย
ความมั่นใจ และไว้ใจได้ เมื่อเป็นเจ้าของ การซ่อมบำรุงที่ไม่ยากนัก ด้วยปริมาณ
อะไหล่ที่แพร่หลาย ในราคาที่สมเหตุสมผล ไปจนถึงความต้องการขั้นสูง นั่นหมายถึง
การเป็นเครื่องบ่งบอกสถานภาพ และรสนิยมอันดี ของผู้ครอบครอง สะดวกต่อการ
นำไปปรับปรุง เสริมแต่ง เพิ่มสมรรถนะ ตามใจชอบ

และเหนือสิ่งอื่นใด คือ รถยนต์รุ่นนั้น ต้องชนะใจลูกค้า ที่มีความต้องการ
อันหลากหลาย ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วทุกมุมโลก อีกทั้งต้องพร้อมเผชิญหน้า กับ
ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งสภาพการเมืองของแต่ละประเทศ สภาพเศรษฐกิจ
ความผันผวนของค่าเงิน ต้นทุนในการพัฒนา การผลิต และการตลาด อีกทั้ง
ยังต้องพร้อมสรรพต่อความเปลี่ยนแปลง ของพฤติกรรมการซื้อรถยนต์ของผู้บริโภค
ในทุกท่วงทีอย่างเท่าทัน

แต่สำหรับ มิตซูบิชิ แลนเซอร์ นั้น การยืนหยัดอยู่ในตลาดรถยนต์กลุ่ม C-Segment
หรือ Compact Class มาได้นานถึง 36 ปี นั่นไม่ใช่เรื่องธรรมดา  เพราะด้วยยอดจำหน่าย
มากเกินกว่า 6 ล้านคัน นับตั้งแต่ เริ่มทำตลาดเมื่อปี 1973 สะท้อนให้เห็นถึง การรักษาไว้ ถึง
คุณค่าที่แท้จริงของตัวรถ นั่นคือ การเป็น รถยนต์ซีดาน สไตล์สปอร์ต ที่ให้สมรรถนะ
เร้าใจ ตอบสนองอย่างฉับไว และแม่นยำ เอาใจคนรัก ความแรง แต่คาดหวังความสบาย
รวมทั้งความปลอดภัย และความไว้ใจได้ ให้กับทุกคนในครอบครัว

นี่แหละ คือคุณค่าสำคัญ อันเป็นจิตวิญญาณ ที่แท้จริง ของ มิตซูบิชิ แลนเซอร์
จิตวิญญาณดั้งเดิม ที่ ไม่เคยเปลี่ยน มาตลอด 36 ปี

1 st Generation
LANCER ไฟ C ไฟ L และ ไฟนอน
ระยะเวลาทำตลาดในญี่ปุ่น 10 มกราคม 1973 – 26 มีนาคม 1979
ระยะเวลาทำตลาดในไทย 1974 – กลางปี 1980

ก่อนที่แลนเซอร์ จะถือกำเนิดขึ้นมาในสารระบบรถยนต์ ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส
ต้องย้อนกลับไปยัง ปี 1972 ขณะนั้น มิตซูบิชิ มอเตอร์ส เพิ่งจะเกิดขึ้นจากการ
ควบรวมกิจการกัน ระหว่างแผนกรถยนต์ของทั้ง Mitsubishi Heavi Industries
West Japan Heavy-Industries (หรือ Mitsubishi Shipbuilding & Engineering)
และ East Japan Heavy-Industries (หรือ Mitsubishi Nihon Heavy-Industries)
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 1970 มาได้เพียง 2 ปี ตอนนั้น มิตซูบิชิ ยังมีรถยนต์รุ่น
ยอดนิยม ในหมู่ลูกค้าทั่วไป โดยเฉพาะครอบครัว ชนชั้นกลาง หรือพนักงาน
บริษัท จำพวก Salary Man คือ Colt Galant (ในยุคที่ยังไม่ได้ใช้ชื่อมิตซูบิชิ 
ในการทำตลาดรถรุ่นนี้) และรถยนต์รุ่น Minica ซึ่งออกสู่ตลาดครั้งแรก (ด้วยชื่อ
Mitsubishi 360) มาตั้งแต่ปี 1961 เพื่อทำตลาด ในประเภท Kei-Jidosha (รถยนต์
ขนาดกระทัดรัด เครื่องยนต์ไม่เกิน 360 ซีซี) อันเป็นพิกัด พิเศษ ในการจัดเก็บภาษี
เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม รถยนต์ในญี่ปุ่น ณ ขณะนั้น ที่ยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้)

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงช่วงเวลาดังกล่าว กิจการรถยนต์ ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส กำลัง
เบ่งบาน รถยนต์หลายๆรุ่น เริ่มได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ผู้บริหารในขณะนั้น
เริ่มมองว่า หาก รถยนต์ตระกูล กาแลนท์ เจเนอเรชันที่ 2 ซึ่งต้องคลอดในปี 1973
จะต้องถูกยกระดับ ให้มีขนาดตัวถังใหญ่ขึ้น ก็จะเกิดช่องว่าง ระหว่าง มินิกา
กับกาแลนท์ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างรถยนต์ขึ้นมา อีก รุ่นหนึ่ง เพื่อ
แทรกตัวอยู่ตรงกลาง ระหว่างรถยนต์ทั้ง 2 รุ่นนี้

ขณะเดียวกัน มิตซูบิชิ ก็เริ่มมองหาการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ
โดยหวังจะส่งออกรถยนต์ ไปยังสหรัฐอเมริกา เฉกเช่นผู้ผลิตรถยนต์
ร่วมชาติ อย่างทั้ง Toytota Nissan กระนั้น การออกไปหยั่งเชิงในตลาด
ต่างประเทศเพียงลำพัง ก็ยังเป็นการเสี่ยงมากไป จึงต้องมีพันธมิตรร่วม
ซึ่งต่อมา Mitsubishi ก็ได้ร่วมมือกับ Chrysler Corporation ในขณะนั้น
รับสั่งรถยนต์ของตนเข้าไปขาย ภายใต้แบรนด์ของพันธมิตร อย่าง Dodge

อีกทั้ง ในฟากทางฝั่ง กีฬามอเตอร์สปอร์ต แม้ว่า มิตซูบิชิ เพิ่งเริ่มให้ความสำคัญ
โดยส่ง Colt Galant  AII GS (Grand Sport) ลงสนามแข่ง Southern Cross Rally
และความตำแหน่ง ที่ 3rd ในปี 1971 และ ที่ 1 ในปี 1972 แต่ด้วยประสบการณ์ใน
สนามแข่งมากว่า 7 ปี ทำให้มิตซูบิชิ รู้ว่า ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนตัวรถแข่ง กันแล้ว
เพื่อที่จะดึงศักยภาพจากตัวรถออกมาใช้ในสนามแข่งได้อย่างเต็มที่มากกว่าเดิม

และทั้ง 2 เหตุผล ในสนามแข่ง และในตลาดรถยนต์ญี่ปุ่น นี่เอง เป็นที่มาของ
การพัฒนารถยนต์ รุ่น แลนเซอร์

เหตุที่ มิตซูบิชิ เลือกใช้ชื่อ แลนเซอร์ นั้น เพราะคำว่า Lancer ในภาษาอังกฤษ
แปลว่า พลทหารถือหอก หรือ ทวน ซึ่งเป็นการเติม Suffix หรือ “er” เพื่อบ่งบอก
ถึงการเป็น คน ตามหลังคำว่า Lance  ซึ่งแปลว่า หอก หรือทวน นั่นเอง

ดังนั้น หากจะว่าไปแล้ว แลนเซอร์ เป็นชื่อที่มีความหมายที่ดี เพราะเปรียบเสมือน
พลทหาร คนสำคัญของมิตซูบิชิ ในการบุกตลาดรถยนต์ทั่วโลก 

มิตซูบิชิเริ่มทำตลาดแลนเซอร์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มกราคม 1973 โดย มีให้เลือก
ทั้งแบบซีดาน 4 ประตู และ ซีดาน 2 ประตู และมีให้เลือกทั้งหมด 12 รุ่นย่อย ใน
ช่วงเปิดตัว ตั้งแต่ รุ่นล่างสุด 1200 Standard จนถึงรุ่นท็อป ในตอนนั้น 1600 GSL
ซึ่งจะมีเฉพาะตัวถังซีดาน 2 ประตู เท่านั้น 

รายละเอียดการตกแต่งภายนอก ของรุ่น 1400 GSL 2 ประตู นั้น จะแตกต่างจากรุ่นธรรมดา
ตรงที่ การติดตั้งไฟตัดหมอกหน้า เอาไว้บนกระจังหน้า ซึ่งมีการออกแบบลวดลาย ให้รองรับ
การเจาะช่องกระจังหน้า เพื่อการติดตั้งไฟตัดหมอกในภายหลังอยู่แล้ว มีไล่ฟ้าที่กระจก
บังลมหลัง ยางเรเดียล (สมัยนั้น ถ้าติดตั้งมาให้ก็ถือว่าหรูแล้ว) มีเข็มขัดนิรภัย แบบ 3 จุด
สำหรับเบาะคู่หน้า และมี ลายสติ๊กเกอร์คาดด้านข้างตัวถัง หรือ Strip ให้เลือก 3 แบบ

ภายในห้องโดยสาร ออกแบบมาให้เน้นความเรียบง่าย ตามยุคสมัย แผงหน้าปัด
ยังคงดูไม่แตกต่างไปจากรถยนต์ในยุคเดียวกันเท่าใดนัก แม้ จะมีลายไม้ มาตกแต่ง
ในบางรุ่น เช่น 1400GL ที่เห็นอยู่นี้ก็ตาม พวงมาลัย เป็นรูป ตัว T ครบทุกรุ่น
ยกเว้นในรุ่น 1400 SL-5 และ สปอร์ต GSL ที่จะได้ พวงมาลัย 3 ก้าน สไตล์รถแข่ง
พร้อม แป้นแตรวงกลม ตรงกลาง คันเกียร์ ติดตั้งอยู่กับพื้น หรือ Floor Shift ตามสมัยนิยม
ซึ่งคนไทยยุคก่อนๆ จะเรียกเกียร์ ที่ติดตั้งแบบนี้ว่า “เกียร์กระปุก” (ซึ่งจะต่างจาก”เกียร์มือ”
ที่ติดตั้งอยู่ ณ คอพวงมาลัย) อย่างไรก็ตาม เครื่องปรับอากาศ ในยุคนั้น ถือว่ายังเป็นอุปกรณ์
สั่งติดตั้งพิเศษอยู่ดี โดยเมืองไทยนั้น ไม่ได้มีมาให้ ในช่วงแรกๆ

เบาะนั่งในรุ่นตั้งแต่ ระดับ GL ขึ้นไป เป็นแบบ ผ้า ตัดกับหนังวีนีล สังเคราะห์ ส่วนรุ่น EL
จะเป็นวีนีลเท่านั้น และนอกจากนี้ ในรุ่น GL ทั้ง 1200 หรือ 1400 ซีซี จะมียางล้อขอบขาว
White Wall Tyre สวมมาให้จากโรงงานอีกด้วย

แถมพวงมาลัยตั้งแต่รุ่น 1200 GL ขึ้นไป สามารถปรับระดับสูง-ต่ำได้อีกด้วย!!

มิติตัวถังยาว 3,960 มิลิเมตร กว้าง 1,525 มิลลิเมตร สูง 1,360 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,340 มิลลิเมตร น้ำหนักรถเปล่า 825 กิโลกรัม

รูปลักษณ์ภายนอก ถูกออกแบบขึ้น ในสไตล์ที่มิตซูบิชิ เรียกว่า Aero Nose Line
โฉมแรก ใช้ไฟท้ายแนวตั้ง แบบที่ คนไทยเรียกว่า “ไฟท้ายรูปตัว C”

มิตซูบิชิ เคลมว่า ได้มีการพัฒนาแลนเซอร์ รุ่นแรก ด้วยวิธีการสร้างรถยนต์ในยุคใหม่
ตามแบบผู้ผลิตรถยนต์ฝั่งตะวันตก ทั้งการทดสอบการชน อัดเข้ากับกำแพง การทดสอบ
ด้านอุณหภูมิที่เปลี่ยนไป ว่าจะมีผลต่อการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆในรถอย่างไร
และ ที่สำคัญ คือการออกแบบโครงสร้างตัวถังแบบ Monocoque เพื่อมุ่งเน้นความแข็งแรงเป็นพิเศษ

ในช่วงแรกของการเปิดตัว มิตซูบิชิ แลนเซอร์ ไฟ C มีเครื่องยนต์ให้เลือก 3 ขนาด ดังนี้

– ขุมพลังตระกูล Neptune รหัส 4G42 บล็อก 4 สูบ OHV 1,187 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 71 x 75 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 9.0 : 1
จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว 70 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 9.7 กก.-ม.ที่ 4,000 เชื่อมด้วยเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ
วางในรุ่น A71 1200 Standard 2 ประตู รวมทั้งรุ่น EL กับ GL ทั้ง 2 และ 4 ประตู

– ขุมพลังตระกูล Saturn รหัส 4G33 บล็อก 4 สูบ SOHC 1,439 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73 x 86 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 9.0 : 1
จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว 92 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 12.5 กก.-ม.ที่ 4,000 วางในรุ่น A72 EL กับ SL ที่เชื่อมด้วย
เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ และในรุ่น SL-5 ที่มีเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ

– ขุมพลังตระกูล Saturn รหัส  4G32 บล็อก 4 สูบ SOHC 1,597 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 76.9 x 86 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 8.5 : 1
จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว 100 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 14.0 กก.-ม.ที่ 4,000  เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ วางในรุ่น
A73 1600 GSL 2 ประตู เพียงแบบเดียว

ระบบกันสะเทือนหน้า แม็คเฟอร์สันสตรัต หลัง แหนบ Leaf Rigid แผ่นเดียว เทรลลิงอาร์ม
ระบบเบรก เป็นแบบดรัมทั้ง 4 ล้อ ยกเว้นตั้งแต่รุ่น 1400 GL SL-5 และ 1600 GSL
ที่จะเป็นแบบหน้าดิสก์ หลังดรัม พวงมาลัยแบบ ลูกปืนหมุนวน Ball and Nuts
ยุบตัวได้ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ถังน้ำมันความจุเพียง 45 ลิตร (เท่ากับ Honda City และ Jazz ในปัจจุบัน)

ในช่วงแรก ที่ออกสู่ตลาด Lancer จะมีให้เลือกเฉพาะเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ
ในรุ่นเครื่องยนต์ 1,200 ซีซี และ 1,400 ซีซี ส่วนเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ จะมีเฉพาะ
รุ่น 1400 SL-5 และ 1600 GSL 2 ประตู เท่านั้น

สีตัวถัง ของรุ่น 1200 Standard จะมีเฉพาะสีขาว พรมปูพื้นสีเทาดำ เท่านั้น
ส่วนรุ่น 1200 EL กับ 1400 EL จะเพิ่มสีเทา สีเขียวอ่อน ใบไม้แห้ง และสีส้ม เนเปิล
และในรุ่น1200 GL กับ 1400 GL จะไม่มีสีส้ม เนเปิล แต่จะเปลี่ยนเป็น สีฟ้าอ่อน
และเพิ่มสีน้ำเงิน มาให้แทน พรมปูพื้น บุด้วยสีแดง และเบาะนั่งจะมีผ้ากำมะหยี่
สลับกับวีนีล แถมด้วยการตกแต่งลายไม้บนแผงหน้าปัด มาให้ด้วย

รุ่น 1400 SL-5 อันเป็นรุ่นท็อปของเครื่องยนต์ 1,400 ซีซี จะมี พวงมาลัยแบบ
3 ก้าน สไตล์รถแข่ง และเบาะหนังกับแผงประตูบุด้วยวีนีลสีแดง มีมาตรวักรอบมาให้
และสีตัวถังจะไม่มีสีเทา แต่มีสีเขียวเข้ม มาให้แทน ส่วนในรุ่น 1600 GSL อันเป็น
ตัวท็อป และมีแค่ ตัวถัง 2 ประตู ในช่วงแรก นอกจาก สีขาว เขียวเข้ม และน้ำเงินแล้ว
จะมีสีพิเศษ คือ สีแดง ให้เลือกด้วย ภายในห้องโดยสาร แผงหน้าปัดประดับด้วยลายไม้
เบาะนั่งเป็นวีนีลสลับผ้า แผงประตูสีดำ พรมปูพื้น สีแดง

หลังจากทำตลาดมาได้สักพักหนึ่ง มิตซูบิชิ ก็เริ่มทะยอยเพิ่มทางเลือกรุ่นย่อย
กระตุ้นตลาด เป็นครั้งแรก เมื่อ 18 กรกฎาคม 1973 โดยเพิ่มอุปกรณ์ตกแต่งพิเศษ
SPORT KIT สำหรับการนำรุ่น 1600 GSL ไปลงแข่งแรลลี โดยอิสระของลูกค้า

จากนั้น 22 สิงหาคม 1973 มีการปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ครั้งใหญ่ อย่างรวดเร็ว
แม้จะทำตลาด กันไปเพียงแค่ 8 เดือนก็ตาม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ในสมัยนี้

การปรับปรุงหลักๆ อยู่ที่การเพิ่มทั้งรุ่นย่อยใหม่ ทั้งในรุ่น 1400 GL เกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ
เพิ่มรุ่น 1600 GSL ให้กับตัวถังซีดาน และเพิ่ม รุ่นท็อปสุด อันเป็นรุ่นสำคัญที่ช่วยบุกเบิกชื่อของ
Lancer ให้ก้าวสู่การยอมรับในวงการ มอเตอร์สปอร์ต และนักนิยมความแรงระดับสากล นั่นคือ
1600 GSR เวอร์ชัน ซีดาน 2 ประตู ตัวแรง ที่ทำความเร็ว ในระยะควอเตอร์ไมล์ (0-400 เมตร)
ได้ในเวลา 16.4 วินาที ซึ่งถือว่าเร็วมากแล้ว สำหรับรถยนต์คอมแพกต์จากญี่ปุ่น ในขณะนั้น

วางเครื่องยนต์ ตระกูล SATRUN 4G32 บล็อก 4 สูบ SOHC 1,597 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
76.9 x 86 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 8.5 : 1 เวอร์ชันคาร์บิวเรเตอร์คู่ ของ SOLEX แรงขึ้น
จากรุ่น GSL เป็น 110 แรงม้า (PS) ที่ 6,00 รอบ/นาที แรงบิดสูสุด 14.2 กก.-ม.ที่ 4,800 รอบ/นาที
มีเฉพาะเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ

นอกจากนี้ ยังมีตัวถัง สเตชันแวกอน ใช้ชื่อ Lancer Van ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรก ในคราวเดียวกัน
โดยวางเครื่องยนต์ เดียวกับรุ่น 1400 GL วางในตัวถัง 5 ประตู ที่ต่อยาวออกไป จดทะเบียนในหมวด
รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ สำหรับ ใช้ในกิจการต่างๆ และ สำหรับ บางครอบครัว ที่อยากได้รถยนต์
คอมแพกต์ สเตันแวกอน ออกสู่ตลาดเพื่อเป็นคู่แข่งกับ Toyota Corolla KE30 Van และ Nissan Sunny
120Y ตัวถังสเตชันแวกอน คู่แข่งทั้ง 2 ราย มีตัวถังแวกอนทั้ง 3 และ 5 ประตู แต่มิตซูบิชิ เลือกที่จะ
ทำ Lancer Van ออกมา บนตัวถัง สเตชันแวกอน 5 ประตู เพียงแบบเดียว

จากนั้น 18 ตุลาคม 1974 มีการปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ครั้งใหญ่ อย่างรวดเร็ว
แม้จะทำตลาด กันไปเพียงแค่ 1 ปีครึ่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ในสมัยนี้
และถือเป็น Lancer รุ่นปี 1975 การปรับโฉมครั้งนี้ ตั้งเป้ายอดขายเดือนละ 5,000 คัน

การปรับโฉมครั้งนี้ หากดูจากภายนอกรถแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงกันถึงขั้น เปลี่ยนชุดไฟท้ายใหม่
ให้เป็นแบบตัว L จากแบบเดิมที่ใช้ไฟท้ายรูปตัวซี พร้อมกันนี้ยังเพิ่มทางเลือกรุ่นย่อยใหม่ๆ
เข้าไปมากถึง 7 รุ่น

ขณะเดียวกัน ยังเพิ่มรุ่นย่อย 1600 GSL ให้กับตัวถัง ซีดาน 4 ประตู
เสริมการทำตลาด นอกเหนือจาก รุ่น ซีดาน 2 ประตู เพียงลำพัง

อีกทั้งยังเพิ่มรุ่น 1400GL AT เกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ
และตัวถัง สเตชันแวกอน 5 ประตู ใช้ชื่อ แลนเซอร์ แวกอน

ไม่เพียงแค่ปรับปรุงรูปลักษณ์ภายนอก หากแต่ยังมีการปรับปรุงภายในห้องโดยสาร
ให้น่านั่ง น่าใช้ ร่วมสมัยยิ่งขึ้น โดยเปลี่ยนแผงหน้าปัดเดิม โละทิ้งไปอย่างรวดเร็ว
เปลี่ยนมาใช้แผงหน้าปัด ที่ถูกออกแบบขึ้นมาใหม่ มีสวิชต์สำหรับระบระบายอากาศภายในรถ
และช่องติดตั้งวิทยุ AM หรือ มาตรวัด 3 ชิ้น มาให้บนแผงหน้าปัด แต่ยังไม่มีช่องแอร์มาให้ 
เพราะในสมัยนั้น ยังไม่ค่อยมีการใช้แอร์ในรถยนต์กันมากนัก ดังนั้น ในระยะต่อมา เราจึงมักเห็น
ช่างแอร์ยุคเก่าๆในบ้านเรา ดัดแปลงพื้นที่ถาดวางของ ใต้แผงหน้าปัด ฝั่งผู้โดยสาร ด้านซ้าย
ให้กลายเป็นพื้นที่ติดตั้ง เครื่องปรับอากาศในรถยนต์ ยุคแรกๆ

เข็มขัดนิรภัย ในทุกรุ่นนั้น เป็นแบบ 2 จุด คาดเอว ยกเว้นตำแหน่งคนขับ ที่จะให้เป็นแบบ 3 จุด
และในรุ่น 1600 GSR ที่จะให้เข็มขัดแบบ 3 จุด กับผู้โดยสารคู่หน้า จากโรงงาน บานประตู
เปิดกว้าง 62 องศา เบาะนั่ง ปรับเอน และโน้มกลับขึ้นมาข้างหน้าได้ ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ที่
ยังคงใช้เป็นจุดขายได้ สำหรับรถยนต์ในยุคสมัยนั้น

ระบบกันสะเทือนยังคงเป็นแบบ คอยล์สปริงหน้า แหนบ ด้านหลัง ตามเดิม
พวงมาลัย สามารถปรับระดับ สูง-ต่ำได้ 35 มิลลิเมตร และเป็นแบบ Ball & Nuts
ตามเคย ทว่า เป็นแบบ อัตราทดเฟืองแปรผัน Variable Gear Ratio
ระบบเบรก หน้าดิสก์-หลังดรัม ยกเว้น รุ่น EL เท่านั้น ที่ยังคงเป็น ดรัมเบรกทั้ง 4 ล้อ

เครื่องยนต์ ยังคงมีทางเลือก 3 ขนาด เช่นเดิม แต่เพิ่มเป็น 4 ระดับความแรง

– ขุมพลังตระกูล Neptune รหัส 4G42 บล็อก 4 สูบ OHV 1,187 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 71 x 75 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 9.0 : 1
จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว 70 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 9.7 กก.-ม.ที่ 4,000 เชื่อมด้วยเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ
วางในรุ่น A71 1200 Standard 2 ประตู รวมทั้งรุ่น EL กับ GL ทั้ง 2 และ 4 ประตู

– ขุมพลังตระกูล Saturn รหัส 4G33 บล็อก 4 สูบ SOHC 1,439 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73 x 86 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 9.0 : 1
จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว 92 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 12.5 กก.-ม.ที่ 4,000 วางในรุ่น A72 EL กับ SL ที่เชื่อมด้วย
เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ และในรุ่น SL-5 ที่มีเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ

– ขุมพลังตระกูล Saturn รหัส  4G32 บล็อก 4 สูบ SOHC 1,597 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 76.9 x 86 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 8.5 : 1
จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว 100 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 14.0 กก.-ม.ที่ 4,000  เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ วางในรุ่น
A73 1600 GSL 2 ประตู และ 4 ประตู (เพิ่มเข้ามาครั้งแรกในรุ่นนี้)

– และ ขุมพลัง Saturn 4G32 เวอร์ชันคาร์บิวเรเตอร์คู่ แรงขึ้นเป็น 110 แรงม้า (PS)
ที่ 6,00 รอบ/นาที แรงบิดสูสุด 14.2 กก.-ม.ที่ 4,800 รอบ/นาที วางเฉพาะรุ่น
A73 1600 GSR 2 ประตู เท่านั้น เหมือนเดิม

แลนเซอร์รุ่นนี้ ถือเป็นรุ่นแรกที่มีการติดตั้งเทคโนโลยีฟอกอากาศ MCA – II B
ซึ่งเนื้อหาสาระสำคัญก็คือ มีการติดตั้งระบบ EGR เพิ่มเข้าไป ลดการปล่อย
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ลงจากรถรุ่นเดิม
จนผ่านมาตรฐานไอเสีย ของรัฐบาลญี่ปุ่น ปี 1975 โดยเรียบร้อย

ทางเลือกรุ่นย่อยของ แลนเซอร์ รุ่นไมเนอร์เชนจ์ครั้งแรก
มีมากถึง 8 รุ่นย่อย ซึ่งมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแตกต่างกัน
และถ้าอยากจะเพิ่มความเท่ ก็สามารถเลือกสั่งติด สติ๊กเกอร์คาดข้างลำคัวรถ
หรือที่เรียกกันว่า Strip ได้ โดยมีให้เลือกทั้งหมด 3 ลาย

การเปิดตัวรุ่น 1600 GSR นั้น ถือเป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้า
ที่อยากได้ สมรรถนะร้อนแรงที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ และพละกำลัง 110 แรงม้า
สำหรับสมัยนั้น ถือว่า มากเหลือล้น ถ้าเปรียบกับสมัยนี้ ก็คงพอกันกับ รถเล็กวางเครื่อง 200 แรงม้า

และรุ่น 1600 GSR ถือเป็นรุ่นที่แรงสุดของตระกูลแลนเซอร์ในตอนนั้น
ถูกนำไปใช้ปรับปรุง เป็นรถแข่ง สำหรับการเข้าร่วมรายการแรลลีโลกต่างๆ
มากมาย โดยเริ่มจาก Australia Rally ในปี 1973 Saint Cross Rally ในปี 1974
และ Africa Safari Rally ในปีเดียวกัน

จากนั้น 17 ตุลาคม 1975 รุ่นซีดาน 4 ประตู 1200GL เปลี่ยนมาใช้ขุมพลังตระกูล Saturn
30 ตุลาคม 1975 ซีดาน 4 ประตู 1200 GL และ 1600 GSR ผ่านมาตรฐานมลพิษ
ของรัฐบาลญี่ปุ่น ปีโชวะที่ 51 หรือ 1976 ก็เริ่มออกสู่ตลาด แทนที่รถรุ่นเดิม

โดยจุดขายหลักของ Lancer นั้น ยังคงเป็นรถยนต์ครอบครัวอยู่ แต่ด้วยการปรับปรุง
เครื่องยนต์ ด้วยเทคโนโลยี MCA (Mitsubishi Clean Air) ที่ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก
กับ Lancer ให้ผ่านมาตรฐานไอเสีย ของญี่ปุ่น สำหรับปี โชวะที่ 51 หรือ ปี 1976
ทำให้ Lancer ใหม่ มีจุดขาย และตำแหน่งการตลาดที่ชัดเจนขึ้นไปอีก ว่าเป็น
Clean & Economy Family Car (แน่ละ ตัวเลขพละกำลังเครื่องยนต์ พากันลดลงนี่นา)

การปรับปรุงครั้งนี้ แทบไม่มีการแตะต้องในด้านรูปลักษณ์ภายนอกกันเลย
เพราะส่วนใหญ่ เน้นไปที่การปรับปรุงอุปกรณ์ และเครื่องยนต์ กันเป็นหลัก
ดังนั้น ต้องสังเกตกันให้ละเอียดๆ จึงจะเห็นความแตกต่าง ระหว่างรถรุ่นปี
1974 และ 1975

คราวนี้ อุปกรณ์ อำนวยความสะดวกสบาย ก็เริ่มถูกติดตั้งเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ
เบาะนั่งปรับเอนได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ ในยุคก่อนหน้า กลายเป็นเรื่องธรรมดา
ที่รถญี่ปุ่นทุกรุ่น ในปีนั้น จะต้องมีมาให้กันได้แล้ว

แต่ที่ ถือว่าใจป้ำจริงๆ ก็คือ พวงมาลัยสามารถปรับระดับสูง-ต่ำได้
ที่เริ่มมีติดตั้งมาให้ “ครบกันทุกรุ่น” เสียที

เบาะนั่งในรุ่นคูเป้ มีการปรับปรุงกลไกใหม่เล็กน้อย ให้การเลื่อนพับเบาะขึ้นมาข้างหน้า
เปิดทางให้ผู้โดยสารปีนเข้าไปนั่งบนเบาะหลัง ทำได้ดีขึ้นนิดหน่อย มีสวิชต์ รับอากาศ
จากภายนอก เข้ามาระบายในห้องโดยสาร และถ่ายเท ออกไปทางด้านหลัง เพราะในยุคนั้น
ยังไม่มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศมาให้ อย่างเป็นล่ำเป็นสัน

รุ่น 1200 ยังมีให้เลือกทั้งตัวถัง ซีดาน 2 และ 4 ประตู เหมือนเคย
โดยรุ่น EL จะมีแค่เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ แต่ในรุ่น GL จะมี
เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เพิ่มเข้ามาให้ เป็นครั้งแรกในรุ่นนี้
ซึ่งก็ถือเป็นการปรับปรุง ตามการเปลี่ยนแปลงของเครื่องยนต์ด้วยเช่นกัน

และเพื่อไม่ให้น้อยหน้ากัน รุ่น 1400 GL ก็จะมีเกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ
แบบใช้ Torque Converter มาให้เลือก เป็นครั้งแรกของตระกูล Lancer ด้วยเช่นกัน

ส่วนรุ่น 1600 GSL ซีดาน 4 ประตู ยังคงจับกลุ่มลูกค้า ประเภทชอบรถขับสนุก แต่
เริ่มมีครอบครัวแล้ว และต้องการรถซีดาน ที่มีบุคลิก ของทั้งการเป็นรถกึ่งสปอร์ตนิดๆ
ติดเอาใจครอบครัว กันมากขึ้น หรือถ้าพูดง่ายๆ คือ กลุ่มลูกค้าเดียวกับที่คิดจะซื้อ
Toyota Carina แต่ งบไม่ถึง หรือต้องการความแตกต่าง นั่นเอง

งานวิศวกรรมหลักๆ ของตัวรถนั้น ยังคงเหมือนรถรุ่นเดิม ยังไม่มีการปรับปรุง
หรือเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ยังคงใช้ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบสตรัต
หลังเป็น แหนบ และใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง อยู่เช่นเดิม

แต่เครื่องยนต์ นี่ละ คือจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด โดยรุ่น 1200 (รหัสรุ่น A75)
จะได้ใช้เครื่องยนต์ใหม่ 4G36 ในตระกูล SATRUN เป็นบล็อก 4 สูบ SOHC 1,238 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 74.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.0 : 1 คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว
ท่อตู่ดูดลงล่าง 73 แรงม้า (PS) ที่ 6.000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.3 กก.-ม. ที่ 3.800 รอบ/นาที
มีเฉพาะเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ และ 5 จังหวะ (ในรุ่น GL-5)

ส่วนเครื่องยนต์ SATURN 4G33 1,439 ซีซี นั้น ผลของความจำเป็นที่จะต้องปรับระดับมลพิษ
ให้ลดลง ส่งผลให้ กำลังของเครื่องยนต์ ลดลงตามไปด้วย จากเดิม 92 เหลือ 85 แรงม้า (PS)
ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด ลดลงเหลือ 11.9 กก.-ม.ที่ 3,800 รอบ/นาที  มีทั้งเกียร์ธรรมดา
4 หรือ 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 3 จังหวะ แบบ มี Torque Converter

และในรุ่น 1600 GSL เครื่องยนต์ SATURN 4G32 1,597 ซีซี ก็ถูกลดกำลังลงมาเหลือ
92 แรงม้า (PS)
ที่ 6.000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.3 กก.-ม.ที่ 3,800 รอบ/นาที
มีเฉพาะเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เพียงอย่างเดียว

กลายเป็นว่า การปรับปรุงเครื่องยนต์ ด้วยเทคโนโลยี MCA เกิดขึ้นเพื่อลดมลพิษจากไอเสียลง
ให้ผ่านค่ามาตรฐาน จนเกิดผลกระทบที่ตามมา นั่นคือ พละกำลังของเครื่องยนต์ ลดลง
แต่ มันก็เป็นทั้งสิ่งจำเป็น และต้องทำ เพื่อให้อากาศบริสุทธิ์ขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

รุ่นย่อยหลักๆ ถูกลดทอนลงไปเหลือ 6 รุ่น ส่วนรุ่น GSR นั้น
ในแค็ตตาล็อกเล่มนี้ อาจจะยังไม่มี เพราะถูกพักทำตลาดอยู่ในตอนนั้น
เนื่องจากเครื่องยนต์ ทวินคาร์บิวเรเตอร์ ยังไม่ผ่านมาตรฐานมลพิษ

อุปกรณ์ที่ติดตั้งมาในรถรุ่นนี้ มีมาให้ เท่าที่จำเป็นต้องใช้งานกันจริงๆ
เพราะในยุคนั้น เทคโนโลยี ก็ยังไม่ก้าวหน้าพอให้รถยนต์ เข้าสู่ยุค
ที่เรียกว่า Electronics Car ซึ่งจะเกิดขึ้นตามมาในยุค 1980

อุปกรณ์พื้นฐานที่ติดตั้งมานั้น มีทั้ง ไฟตัดหมอกหน้า (เฉพาะ 1400 SL-5 และ 1600 GSL)
กระจกมองข้าง ติดตั้งบนตัวถัง ปรับได้ด้วยมือ มีเกือบทุกรุ่น ยกเว้น 1200 EL ชุดระบบปัดน้ำฝน
วิทยุ AM พร้อมเสาอากาศ กระจกมองหลัง และไฟในเก๋ง (มีทุกรุ่น) ช่องรับอากาศบน
ฝากระโปรงหน้า แบบสปอร์ต (มีเฉพาะรุ่น 1400 และ 1600 ทุกรุ่น ไม่มีในรุ่น 1200)
ยางติดรถแบบ Tubeless (มีทุกรุ่น) ไล่ฝ้าไฟฟ้า บนกระจกบังลมหลัง และนาฬิกา
อะนาล็อก (มีเฉพาะ 1200 GL 1400 GL SL-5  และ 1600 GSL)  ดิสก์เบรกหน้า
มีเฉพาะ รุ่น 1200 GL 1400 GL SL-5 และ 1600 GSL) รวมทั้งมี ช่องวางแก้ว
ที่บานประตูคู่หลัง เฉพาะรุ่น 1400 EL และ SL-5
 
และที่น่าทึ่งคือ พวงมาลัยปรับระดับสูง-ต่ำได้ “กลับมีมาให้ครบทุกรุ่น ตั้งแต่รุ่นปี 1975”

8 พฤศจิกายน 1976 ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ครั้งใหญ่ เปลี่ยนชุดไฟหน้าเป็นแบบมีกรอบโครเมียม
เปลี่ยนลายกระจังหน้าใหม่ แบบตะแกรงโครเมียม 4 แถว และเปลี่ยนไฟท้ายเป็นแบบยาว
ส่วนกรอบกระจกหน้าต่างในหลายรุ่น พ่นเป็นสีดำ และเพิ่มความคุ้มค่าด้วยรุ่น 1200 POPULAIRE

คราวนี้ รุ่น 1600 GSR ก็กลับเข้ามาอยู่ในแค็ตตาล็อก เพื่อทำตลาดอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง
โดยจำใจต้องลดความแรง ของเครื่องยนต์ 4G32 SATURN ลง เหลือ 100 แรงม้า (PS)
ที่ 6,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.5 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที เพื่อให้ผ่านมาตรฐาน
มลพิษ
ด้วยเช่นเดียวกับ Lancer รุ่นอื่นๆ ซึ่งยังคงใช้เครื่องยนต์เดิม จากการปรับโฉม
คราวที่แล้ว

การปรับโฉมครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรก ที่มิตซูบิชิ ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ
ให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานกับ แลนเซอร์ บางรุ่น โดยในภาพนี้เป็นรุ่น
ซีดาน 1600 GSL คันสีขาวในภาพบน

ส่วนเบาะนั่ง จากเดิมที่เคยหุ้มกันแต่ หนังวีนีล ในรุ่น 1400 GL
จะเป็นแบบ มีเนื้อผ้าสักกะหลาด เย็บไว้ตรงกลางเบาะ ซึ่งยังคงใช้
หนังวีนีล เป็นส่วนประกอบหลักอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม เบาะนั่งของรุ่นอื่นๆ จะยังคงใช้หนัง วีนีล กันอยู่
และจะมีข้อยกเว้นบางในรถรุ่นล่างๆบางรุ่น ที่มีเบาะผ้าสลับวีนีล
มาให้เลือกด้วย เช่นรุ่น GL ทั้ง 1200 และ 1400 ขณะที่รุ่น 1600 GSR
เบาะนั่งจะเป็นวีนีลสีดำ ขลิบด้วยแถบสีแดง และแถมพวงมาลัยแบบลายไม้มาให้

ขณะที่รุ่น POPULAIRE จะเน้นการติดตั้งอุปกรณ์มาให้เท่าที่จำเป็น และเป็น
รุ่นเดียวที่ตกแต่งด้วย คิ้วยางด้านข้างตัวถัง กับภายในสีน้ำตาล เน้นขายในราคา
สมเหตุสมผล จนได้รับความนิยมระดับปานกลางในตลาดญี่ปุ่น อยู่พักใหญ่

ไม่เพียงแต่จะปรับโฉมให้กับตัวถังซีดาน แต่ คราวนี้ มิตซูบิชิ ยังสั่งปรับโฉม ไมเนอร์เชนจ์
เปลี่ยนกระจังหน้าใหม่ และตกแต่งฝากระโปรงหลัง ของ Lancer Van เสียใหม่ ให้ดูร่วมสมัย
ไปพร้อมๆกัน อีกด้วย

(งานโฆษณาของ แลนเซอร์ รุ่นแรก ช่วงกลางอายุตลาด ในญี่ปุ่น)

 

 

 

ในช่วงปี 1977 ด้วยข้อกำหนดด้านมาตรฐานมลพิษ ที่เข้มงวดขึ้นไปอีกระดับ รวมทั้ง
การแข่งขันในตลาดรถยนต์ ที่รุนแรงขึ้น ท่ามกลางสภาพวิกฤติการณ์น้ำมัน จากตะวันออกกลาง
ซึ่งยังปกคลุมอยู่ ทำให้ ในปีนั้น มิตซูบิชิ มีการปรับปรุง Lancer ถี่ขึ้นกว่าปีก่อนๆ

หากมองแค่ระยะเวลา ก็พอจะสรุปได้ว่า มีการปรับปรุงในลักษณะตามติดต่อเนื่องกันไป โดย
15 กุมภาพันธ์ 1977 มีการปรับปรุงอุปกรณ์ในรุ่น 2 ประตู 1200 GL และ 4 ประตู 1400 GL
27 เมษายน 1977 มีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ ในรุ่น 1200 มาใช้ขุมพลังใหม่ ตระกูล ORION
รหัส G11B บล็อก 4 สูบ 1,200 ซีซี เพื่อให้ผ่านกฎหมายมาตรฐานมลพิษ ปีโชวะที่ 53 (1978)
และ 23 มิถุนายน 1977 ปรับปรุงรุ่นเครื่องยนต์ SATRUN 1,400 SATRUN 80 และ 1,600
ทวินคาร์บิวเรเตอร์ ให้ผ่านกฎหมายมาตรฐานมลพิษ ปีโชวะที่ 53 (1978)

แต่หากมองลึกลงไปในรายละเอียดแล้ว ครั้งนี้ ถือเป็นการปรับโฉมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
ของ Lancer รุ่นแรก กันเลยทีเดียว เพราะครั้งนี้ มีการนำเทคโนโลยี MCA-JET มาใช้
เป็นครั้งแรก 

เทคโนโลยี MCA-Jet นี้ ก็คือ การออกแบบเครื่องยนต์ ให้มี วาล์ว ขนาดเล็กกว่าวาล์วปกติ
เพิ่มขึ้นมา อีก 1 ตัว ในแต่ละห้องเผาไหม้ แยกออกเป็นอิสระจาก วาล์วไอดี และวาล์วไอเสีย
มิตซูบิชิ เรียกมันว่า “Jet Valve” เจ้าวาล์วเล็กๆตัวนี้ จะทำหน้าที่ เปิดให้ส่วนผสมอากาศกับน้ำมัน
เชื้อเพลิง ที่เบาบางกว่าปกติ ไหลเข้าสู่ห้องเผาไหม้ ช่วยเสริมหน้าที่ของวาล์วไอดี อีกแรงหนึ่ง

เจ็ตวาล์ว นี้ หากดูจากรูปแล้ว จะดูคล้าย เทคโนโลยี 3 วาล์ว/สูบ ในเครื่องยนต์ 12 วาล์ว ยุคก่อนๆ
แต่ อันที่จริง ตัววาล์ว จะมีขนาดเล็กกว่าปกติ และจะช่วยเพิ่มการหมุนวนของส่วนผสมอากาศกับเชื้อเพลิง
ในห้องเผาไหม้ ช่วยให้การจุดระเบิดสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และมีเสถียรภาพกว่าเครื่องยนต์รุ่นก่อนหน้า
แม้ว่าจะต้องมีการติดตั้งระบบ EGR (Exhaust Gas Recirculation) หรือระบบนำไอเสียกลับมาหมุนเวียน
อีกครั้ง ที่มีขนาดใหญ่โต ซึ่งระบบ MCA-Jet จะช่วยลดปริมาณก๊าซ ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ลงได้

อย่างไรก็ตาม ความพยายามใดๆในการลดมลพิษจากท่อไอเสีย ของรถยนต์ที่จำหน่ายอยู่ในขณะนั้น
ผู้ผลิตหลายราย ก็ต้องยอมแลกกับ อัตราเร่ง และความแรงที่ลดน้อยถอยลงไป จนกลายเป็นเรื่องปกติ
ที่รถในยุคนั้น มักไม่ค่อยจะแรงได้มากเท่าใดนัก และ Lancer ก็ดูจะเข้าข่ายของรถยนต์ที่ ทั้งผู้ผลิต
กับผู้บริโภค ต้องยอมรับความจริงในข้อนี้ไป  

การเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ครั้งนี้ มีทั้งการเปลี่ยนเครื่องยนต์ ในรุ่น 1200 มาเป็นเครื่องยนต์ใหม่
จากตระกูล ORION รหัส G11B บล็อก 4 สูบ SOHC 1,244 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 69.5 x 82.0 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 9.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง พร้อมระบบ MCA-JET
70 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.7 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที เชื่อมได้เฉพาะ
เกียร์ธรรมดา 4 หรือ 5 จังหวะ

ส่วนรุ่น 1400 ก็จะได้ใช้เครื่องยนต์ใหม่ จากตระกูล SATURN รหัส G33B บล็อก 4 สูบ SOHC
1,439 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 86.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 9.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วย
คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง พร้อมระบบ MCA-JET 82 แรงม้า (PS) ที่ 5,400 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 12.3 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที

ขณะเดียวกัน รุ่น 1600 ซีซี จะมี 2 เครื่องยนต์ โดยรุ่น GSL จะวางเครื่องยนต์ รหัส G32B ตระกูล
SATURN 80 บล็อก 4 สูบ SOHC กระบอกสูบ x ช่วงชัก 76.9 x 86.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด
8.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง พร้อมระบบ MCA-JET ลดความแรงลง
เหลือ 86 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาท แรงบิดสูงสุด 13.5 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที

และรุ่น GSR วางเครื่องยนต์ 4G32 เหมือนเดิม ตัวเลขสมรรถนะเหมือนเดิมเป๊ะ แต่ ลดอัตราส่วน
กำลังอัดลงเหลือ 8.5 :  1 ใช้ทวินคาร์บิวเรเตอร์ 100 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
13.5 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที มีเฉพาะเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เพียงอย่างเดียว 

แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยี MCA-Jet นี้ ช่วยให้มิตซูบิชิ กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์
หนึ่งในรายแรกๆของญี่ปุ่น ที่สามารถผลิตรถยนต์ ออกมาจนผ่านกฎหมายมาตรฐานมลพิษ
ที่จะออกใช้ในปี 1978 (รถออกสู่ตลาดได้ 2 ปีก่อนหน้าการประกาศใช้กฎหมายจริง)

ระบบนี้ ถูกติดตั้งเป็นครั้งแรก ในแลนเซอร์ กับเครื่องยนต์ตระกูลใหม่ ORION รหัส G11B บล็อก 4 สูบ
ออกสู่ตลาด เมื่อ 27 เมษายน 1977 ก่อนจะติดตั้งใน เครื่องยนต์ตระกูล SATURN รหัส G32B
ของ Galant และ Lancer และ ตามด้วย รถเล็กรุ่น Minica ไล่ไปจนถึงซีดานหรูรุ่น Debonair

ด้านรายละเอียดการตกแต่งอื่นๆนั้น ในรุ่น 1600 GSL ซีดาน 1400 SL-5
และ 1200 GL แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไปจากรุ่นก่อนหน้านี้

จะมีก็แต่รุ่น 1400 GL ซีดาน 4 ประตู ที่จะมีการตกแต่งเพิ่มคิ้วยางบริเวณประตูทั้ง 4 บาน
และเปลี่ยนโทนสีห้องโดยสารให้เป็นสีกาแฟนม เบาะผ้าสลับวีนีล สีเดียวกัน

ขณะเดียวกัน ทั้งรุ่น 1200 GL 1200 POPULAIRE และ 1600 GSR ดูเหมือนจะ
ยังไม่มีการปรับปรุงอ่นใดนอกเพิ่มเติมนอกจากเครื่องยนต์ จะมีก็เพียงการเพิ่มรุ่น 1200 Standard
กลับมาให้ลูกค้าได้เลือกกันอีกครั้ง มีเฉพาะตัวถัง ซีดาน 2 ประตู เครื่องยนต์ G11B
เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ เท่านั้น

28 กุมภาพันธ์ 1978 การปรับโฉม Minorchange ครั้งสุดท้าย ก็มาถึง และถือเป็น การปรับโฉม
พร้อมทั้งเพิ่มทางเลือกใหม่ ด้วยระดับการตกแต่ง “GL-Extra”

โดยรุ่นย่อยใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาให้เลือกกันในคราวนี้ มีทั้งรุ่น ซีดาน 1200 GL-Extra
1400 GL Extra (ออกสู่ตลาด ตามมาในวันที่ 28 มีนาคม 1978 หรือ 1 เดือนหลังการ
ปรับโฉมคราวนี้) และ 1600 GL Extra

ภายนอกดูเหมือนจะไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรมากนัก จากรุ่นก่อนหน้านั้น
หากมองแค่ด้านหน้า กระจังหน้าของรุ่นปกติ จะยังคงเป็นแบบซี่นอน
เรียบๆ เหมือนเดิม กันชนหน้า จะยังคงเป็นแบบ โครเมียม เช่นเดียวกับ
กรอบไฟหน้า และ กรอบกระจังหน้า

และความแตกต่างที่สำคัญ ของ Lancer รุ่นนี้คือ การนำไฟท้ายแบบแดงสด อันเป็นไฟท้ายที่
ใช้ในเวอร์ชันส่งออก ไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา (จะกล่าวถึงในลำดับถัดไป) มาติดตั้งให้กับรถ
ในเวอร์ชันญี่ปุ่น โดยมีกันชนหลังขนาดใหญ่ แนว Big-Bumper พร้อมแผงทับทิมสี่เหลี่ยม
ขนาดเล็ก แปะไว้ทั้งมุมกันชนฝั่งซ้าย และขวา (ในภาพเป็นรุ่น 1200 GL Extra)

จุดขายสำคัญของ Lancer ยังคง อยู่ที่ การเน้นนำเสนอ เทคโนโลยี MCA-JET
ที่ยังคงใช้ต่อเนื่อง ไปจนถึง Lancr EX หรือรุ่นกล่องไม้ขีด เจเนอเรชันถัดไป  
และยังมีการปรับปรุง เครื่องยนต์ ให้สอดรับกับมาตรฐานมลพิษของรัฐบาลญี่ปุ่น
กันอีกคำรบหนึ่ง

การเพิ่มระดับการตกแต่ง GL-Extra เข้ามา ก็เพราะต้องการเอาใจลูกค้า ที่อยากได้
ความคุ้มค่า ในแบบครบครัน และสัมผัสที่หรู และดูดีขึ้นกว่ารถรุ่นก่อนอีกสักหน่อย
โดยเฉพาะรุ่น 1600 GL-Extra ที่เห็นอยู่ข้างบนนี้ ถือเป็นการเพิ่มทางเลือก
ให้กับคนที่อยากได้ รุ่นเครื่องยนต์ 1,600 ซีซี แต่ตกแต่งภายใน สไตล์หรูหรา มิใช่
แนวสปอร์ตเข้ม แบบรุ่น 1600 GSL เพียงอย่างเดียว

ภายนอกของรุ่น 1600 GL Extra จะตกแต่งให้ดูดีขึ้นกว่าเดิม ด้วยฝาครอบกระทะล้อเหล็ก
แบบโลหะขึ้นเงา คิ้วยางกันกระแทกที่ประตูทั้ง 4 บาน คิ้วโครเมียม เหนือซุ้มล้อทั้ง 4
รวมทั้งยังมการประดับ้วยโครเมียมตามจุดต่างรอบคัน

ภายในของรุ่น GL-Extra ทุกรุ่น จะใช้โทนสีกาแฟนม ในการตกแต่ง  
มีลายไม้ประดับเล็กๆ บริเวณ ฝาปิดช่องเก็บของบนแผงหน้าปัด
พวงมาลัยเป็นแบบ 2 ก้านพื้นฐาน คันเกียร์ มีหนังหุ้มฐานรองเกียร์

ส่วนเบาะนั่ง ออกแบบใหม่ มีปีกข้าง มาในแนวหรู เหมือนรถที่มีราคาแพงกว่านั้น
รุ่นอื่นๆ ยังคงใช้ วีนีล หรือ วีนีล สลับกับผ้ากำมะหยี่ เฉพาะตรงกลางของตัวเบาะ
แต่ในรุ่น GL-Extra จะหุ้มกำมะหยี่ อย่างดี มาให้เต็มพื้นที่รองนั่ง (ส่วนด้านหลัง
ของชุดเบาะคู่หน้า ยังคงหุ้มวีนีลมาให้ตามเดิม) นอกจากนี้ แผงประตูด้านข้าง
ก็เริ่มบุผ้ากำมะหยี่มาให้เช่นกัน

ในช่วงนั้น มิตซูบิชิ กำลังพยายามทำตลาด Galant Sigma รุ่นปี 1978
โดยเน้นการโฆษณาทางโทรทัศน์ เรื่องภายในห้องโดยสาร ที่หรูกว่ารถยุโรป
ทั้ง Mercedes-Benz และ BMW ทำให้ มิตซูบิชิ เอง ก็ต้องเร่งยกระดับ
Lancer ขึ้นมาด้วยเช่นกัน เพื่อให้ ไม่เหลื่อมล้ำต่ำสูงไปจาก Galant
ในตอนนั้นมากนัก

ด้านขุมพลัง มีการเปลี่ยนแปลงกันอีกครั้ง เฉพาะ เครื่องยนต์ ในรุ่น 1400
ถูกเปลี่ยนใหม่ จากเดิม รหัส G33B กลายเป็นเครื่องยนต์ใหม่จากตระกูล ORION
รหัส G12B บล็อก 4 สูบ SOHC 1,410 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 74.0 x 82.0 มิลลิเมตร
กำลังอัด 9.0 : 1 คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง พร้อมระบบ MCA-JET
80 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.1 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที
มีครบทั้งเกียร์ธรรมดา 4 หรือ 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 3 จังหวะ

ส่วนเครื่องยนต์ ของ รุ่น 1200 และ 1600 ซีซี รวม 3 เครืองยนต์ ที่เหลือ
ไม่มีการปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงใดๆอีก จนกระทั่งหมดอายุตลาด

ขณะที่ ระบบเบรกนั้น ตอนนี้เกือบทุกรุ่น เปลี่ยนมาเป็นแบบ หน้าดิสก์เบรก
หลังดรัมเบรก กันหมดแล้ว บกเว้นรุ่น 1200 Standard เท่านั้น ที่ยังใช้
ดรัมเบรกทั้ง 4 ล้ออยู่

รายการอุปกรณ์มาตรฐาน ของรุ่นสุดท้ายนี้ มีทั้งมาตรวัดรอบ Trip Meter ไฟสัญญาณเตือนน้ำมันในถังใกล้หมด
และไฟเตือนน้ำมันเครื่อง กับแบ็ตเตอรี มีเครื่องปรับอากาศมาให้เกือบทุกรุ่น พวงมาลัยปรับระดับสูง-ต่ำได้ วิทยุ AM
หรือ วิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่นเทปแบบ 8 แทร็ค เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด สำหรับเบาะคู่หน้า นาฬิกาอะนาล็อก
ชุดคอนโซลกลาง แผงประตู คิ้วกันกระแทกที่ประตู คอนโซลใส่กล่องเทป ล้ออัลลอย 13 นิ้ว กันชนหลังแบบ Big-Bumper
และคิ้วโครเมียมประดับซุ้มล้อ

ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่า เบาะนั่งของทุกรุ่น มีการปรับปรุงใหม่ทั้งหมด
มีปีกข้าง โอบกระชับลำตัวผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านหน้า มากขึ้น พนักศีรษะ
ถูกออกแบบใหม่ พร้อมกันด้วย

รุ่น 1200 GL Extra จะต่างจาก 1200 GL ธรรมดา อีกเรื่องหนึ่ง
คือ กันชนหน้า รุ่น GL-Extra จะมีช่องรับอากาศเพิ่มเข้ามา ตรงกลาง
ขณะที่ รุ่น GL ธรรมดา ไม่มี มาให้ อีกทั้งโครงสร้างกันชนของรุ่น
GL-Extra จะมาในแนว Big-Bumper ขนาดใหญ่โตกว่ารุ่นมาตรฐาน
เพราะหยิบเอากันชนหน้า-หลัง ของ Dodge Colt เวอร์ชันอเมริกา มาแปะให้

อีกความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของรุ่นสุดท้ายคือ การตัดตัวถัง ซีดาน 2 ประตู
ออกไปเสียจนเกือบจะเกลี้ยง เหลือเอาไว้ทำตลาดแค่ 3 รุ่นคือ รุ่น
1200 Standard ,1200 POPULAIRE และ 1600 GSR เท่านั้น ที่เหลือ
ทุกทางเลือกรุ่นย่อย จะมีเฉพาะตัวถัง ซีดาน 4 ประตูเท่านั้น

เหตุที่เป็นเช่นนี้ นั่นเพราะว่า ช่วงหลัง ปี 1975 เป็นต้นมา ลูกค้า
ที่อยากได้รถยนต์ตัวถัง ซีดาน 2 ประตู (หรือคนไทยสมัยก่อนมักเรียกว่า
รถกะเทย เพราะมีแค่ 2 ประตู แต่บั้นท้าย เหมือนรถซีดาน 4 ประตู)
มีจำนวนลดน้อยลง เรื่อยๆ เพราะลูกค้าเริ่มมองเห็นว่า ในเมื่อจ่ายเงิน
ไม่ต่างกันนัก ก็จะได้รุ่น 4 ประตูแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลจะต้องซื้อรุ่น 2 ประตู

อีกทั้ง มิตซูบิชิ เอง ก็อยากจะเข็นยอดขาย ของ Lancer Celeste อันเป็นตัวถัง
สปอร์ตคูเป้ ที่ออกสู่ตลาดในยุคนั้พอดี จึงไม่อยากให้มีความซ้ำซ้อนกันเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม มิตซูบิชิ ยังคงเอาใจนักนิยมความแรง ด้วยรุ่น 1600 GSR
ที่ยังมีขายอยู่ ตามเดิม ไม่มีการปลดออกจากแค็ตตาล็อก แต่อย่างใด
แถมจะยังอัพเดทให้ดูดีไม่น้อยหน้าเพื่อนพ้องรุ่นอื่น ทั้งการนำ
กันชนหน้า Big-Bumper จากรุ่น GL-Extra และ 1600 GSL มาติดตั้งให้
เพิ่ม สติ๊กเกอร์แบบ Strip คาดตามยาว ที่ครึ่งท่อนล่างของตัวรถ พวงมาลัย
ยังทำจากไม้ เช่นเดิม แต่มีการเปลี่ยนเบาะนั่งแบบใหม่ รูปทรงเหมือนเพื่อนพ้อง
ร่วมตระกูล แต่หุ้มด้วยผ้าลายสปอร์ต ตัดกับวีนีล รุ่นสุดท้ายนี้ มีรหัสรุ่นว่า B-A73 DNG

แลนเซอร์รุ่นแรก สร้างชื่อเสียงด้วยการคว้ารางวัลจากการแข่งแรลลี่ต่างๆทั่วโลก อาทิรางวัลชนะเลิศจากรายการ
Australia Southern Cross Rally ติดต่อกัน 4 ปีรวด ตั้งแต่ปี 1973-1976,คว้าชัยอันดับ 1 และ 2 ในรายการ 1977
Bandama Rally. รวมทั้งรายการเกียติยศ จากการแข่งขัน East African Safari Rally (WRC) ตลอดปี 1974-1977
โดยแลนเซอร์ คว้าแชมป์ได้ในปี 1976 และส่งผลให้ เคนชิโร ชิโนสุกะ นักแข่งดาวรุ่งของญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักใน
วงการมอเตอร์สปอร์ตมากขึ้น

ในตลาดต่างประเทศ แลนเซอร์รุ่นนี้ นอกเหนือจากจะถูกส่งออกไปทำตลาด
ในหลายๆประเทศทั่วโลก รวมทั้งเมืองไทยของเราด้วยแล้ว ยังมีการส่งไปยัง
สหรัฐอเมริกา โดยในเวลานั้น มิตซูบิชิ ยังไม่พร้อมจะเปิดตลาดเอง จึงใช้วิธี
ร่วมมือเป็นพันธมิตร กับ Chrysler Corporation หนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่
อันดับ 3 ของสหรัฐฯ ในปี 1971 ด้วยการ ส่งรถหลากรุ่นให้กับ ไครส์เลอร์
นำไปแปะยี่ห้อของตนเอง ขายเฉพาะในตลาดทวีปอเมริกาเหนือ โดยแยกเป็น
กลุ่มสายงานที่เรียกว่า Dodge IMPORT

ประวัติศาสตร์ของ Dodge COLT นั้นค่อนข้างน่าปวดเศียรเวียนเกล้าเอาการ
ถ้าจะให้สรุปกันสั้นๆก็คือ หลังทำข้อตกลงกันในปี 1971 มิตซูบิชิ ก็เริ่มส่งออก
Colt Galant Coupe รุ่นแรก ให้ไครส์เลอร์ เอาไปขายเองในชื่อ Dodge Colt
ในฐานะรถรุ่นปี 1972 จากนั้น ก็มีการนำแลนเซอร์ ซีดาน 2 ประตู เข้าไปขาย
ช่วงปี 1976 ในฐานะรถรุ่นปี 1977 ใช้ชิ่อว่า Dodge Colt Coupe M/M (Mileage Maker)
เน้นความประหยัดด้วยเครื่องยนต์ 4 สูบ 1.6 ลิตร เชื่อมด้วยเกีนร์ธรรมดา 4 จังหวะ
และได้รับความนิยมอยู่พักหนึ่ง

อาจกล่าวได้ว่าในยุคแรกๆนั้น Dodge Colt ไม่ใช่ชื่อ ซึ่งใช้เฉพาะ รถตระกูลแลนเซอร์
ที่ส่งเขาไปขายในสหรัฐฯ หากแต่เป็นชื่อสำหรับ รถยนต์ มิตซูบิชิ “ทุกรุ่น”ที่ส่งเข้าไปขาย
ในสหรัฐฯ ช่วงเวลานั้น

รุ่นพิเศษที่เห็นอยู่นี้ คือ รุ่น Red & White Special Package มีเฉพาะรถรุ่นปี 1977
ตกแต่งภายนอกด้วยสีขาว หลังคา และStrip คาดตามตัวถังเป็นสีแดงสด ยางล้อขอบขาว
White Wall Tyre ภายใน มีเบาะหนังวีนีล และแผงประตูวีนีล สีขาวล้วน คาดด้วยเส้นแถบสีแดง
ภานใน ปูด้วยพรมสีแดง เอาใจชาวอเมริกันสุดๆ

——————————————————————–

TO BE CONTINUE : โปรดติดตาม ตอนต่อไป

——————————————————————–

ขอขอบคุณ
– คุณผกามาศ ผดุงศิลป์ และ คุณธิราภร ย้อยแสง
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท MITSUBISHI MOTORS (THAILAND) จำกัด
สำหรับความช่วยเหลือ การประสานงาน และการเปิดกรุ
โกดังคลังเอกสารเก่า ของสำนักงานใหญ่ที่รังสิต ให้ผู้เขียนเข้าไป “ขุดคุ้ย”
 
– คุณ Russel ฝ่ายประชาสัมพันธ์
MITSUBISHI MOTORS CORPORATION ประเทศญี่ปุ่น
สำหรับการนั่งหลังขดหลังแข็ง ตามหา และช่วยสแกน
แค็ตตาล็อกเวอร์ชันญี่ปุ่นแท้ๆ ส่งมายังเมืองไทย ทาง E-Mail
รวมทั้งการประสานงานต่างๆ

——————————————————————–

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ภาพถ่าย และวาดกราฟฟิกทั้งหมด เป็นลิขสิทธิ์ของ Mitsubishi Motors Corporation
ประเทศญี่ปุ่น ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
4 กุมภาพันธ์ 2010

Copyright (c) 2010 Text (All Pictures & Illustration is own by Mitsubishi Motors Corporation)
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com

Febuary 4th,2010