ตอนที่ทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์ เข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทยใหม่ๆ ร้านขายเทป ซีดี แผ่นเสียง
บ้านเราในตอนนั้นไม่ว่าจะเป็นมิวสิค วัน , โดเรมี, ร้านน้องท่าพระจันทร์, ดีเจสยาม ฯลฯ ก็น่าจะ
สะพรึงในหัวใจไม่น้อย ที่ต้องรับมือกับขาใหญ่ซุปเปอร์มาร์เก็ตเพลงจากสหรัฐอเมริกาที่มี
ต้นกำเนิดจากซาคราเมนโต สถานการณ์ตอนนั้นถ้าผมเป็นร้านเทปเล็กๆที่ดำเนินกิจการ
อย่างพอเพียง เจอข่าวการมาถึงของทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์ ก็คงไม่ต่างอะไรกับโชห่วยที่ถูก
ตีขนาบและล้อมรอบไปด้วยเซเว่น แมคโคร โลตัส พลังทางการตลาด ชื่อชั้นในระดับสากล
จำนวนสาขา พื้นที่ขนาดมโหฬารในแต่ละสาขาที่มีซีดีให้เลือกจุใจ ตลอดทั้งวันคุณสามารถ
เอาชีวิตจมไปกับการเลือกเพลงได้ตั้งแต่ร้านเปิดยันร้านปิด

 

Tower Records on the Sunset Strip circa 1980

 

ทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์ เข้ามาในประเทศไทยยุครุ่งเรืองของแผ่นซีดี แต่ที่อเมริกาบ้านเกิดพวกเขา
เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ยุคแผ่นเสียงเรื่อยมาจนมาเปลี่ยนเป็นซีดีทั้งร้านในยุคที่เรา
ถูกครอบงำว่าระบบเสียงที่คมชัดไร้ที่ติคือความสมบูรณ์แบบที่สุดของการฟังเพลง แต่ใครจะ
ไปคาดเดาเล่าว่าปลายยุค 90 ต่อเนื่องต้นสหัสวรรษใหม่ หลังการมาถึงของเอ็มพีสาม  ยักษ์ใหญ่
อย่างทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์จะปรับตัวไม่ทัน จนกระทั่งล้มละลายในที่สุด แต่ปัจจุบันร้านเล็กๆ
อย่างน้องท่าพระจันทร์ และ โดเรมี เปิดให้บริการอยู่นะครับ

 

001

 

สาขาสุดท้ายในสหรัฐอมเริกาที่ค่อยๆดับไฟลงทีละดวง กล้องซูมเข้าไปภายในร้านที่ว่างเปล่า
มีเพียงชั้นวางโล่งเตียนที่อดีตเคยเต็มไปด้วยซีดี แผ่นเสียง เหมือนหมู่บ้านร้างที่ผู้คนอพยพ
สู่ถิ่นอื่น ทิ้งไว้เพียงร่องรอยการอยู่อาศัยเป็นหย่อมๆทั่วบริเวณ…….นั่นคือฉากเปิดของภาพยนตร์
เรื่อง All Things Must Pass : ทุกสิ่งย่อมพ้นผ่าน แต่มีบางสิ่งเท่านั้นที่เป็นตำนาน

ปัจจุบันทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์ เหลือสาขาเฉพาะที่ญี่ปุ่น 85 แห่ง ประเทศที่ยุคหนึ่งเคยคลั่งไคล้
ดนตรีจากฝั่งอเมริกาอย่างสุดขีด โดยเฉพาะดนตรีแจ็ซ และเป็นสาขาเจ้าของสโลแกน
”NO MUSIC NO LIFE”ที่ทางสำนักงานใหญ่ในอเมริกาขอนำมาใช้เป็นสโลแกนของทาวเวอร์ฯ
ทุกสาขาทั่วโลก !!!!!!!!!!!!!!!!

อีกแห่งที่ยังดำเนินการอยู่คือ ที่กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งคลิป เบเนแกน เจ้าของร้าน
ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “ผมไม่รู้หรอกว่าที่อเมริกาผิดพลาดอย่างไร แต่สำหรับที่นี่
เราแค่ยึดหลักการว่าจงให้ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ร้านที่อยู่รอดคือร้านที่ทำในสิ่งที่คู่แข่งไม่ทำ”
สาขาที่ไอร์แลนด์นี่ไม่ใช่ร้านเล็กๆกระจอกๆนะครับ ใหญ่โตโอฬาร นอกจากจำนวนแผ่นเสียง
ซีดี จำนวนมหาศาลแล้ว ยังมีคาเฟ่ภายในร้านให้ลูกค้าได้จิบกาแฟผ่อนคลายอีกด้วย

 

002

 

All Things Must Pass เหมือนหนังของสมาคมศิษย์เก่าของโรงเรียนที่ปิดกิจการไปแล้ว
กลับมารวมตัวกินข้าว เล่าความหลังที่มีทั้งรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ คราบน้ำตา ความภาคภูมิใจ
ความเสียใจ วีรกรรมที่เคยก่อไว้ Collin Hanks (ลูกชายทอม แฮงค์ส) ในบทบาทผู้กำกับ
ภาพยนตร์ เลือกใช้วิธีการถ่ายสัมภาษณ์บุคคลสำคัญที่อยู่ในทีมบริหารจัดการทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์
สลับกับฟุตเทจเก่าๆ ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มสู่สมัยรุ่งเรืองและจมสู่เหวหายนะ คนที่ถูกสัมภาษณ์
มีตั้งแต่ผู้ก่อตั้ง ”รัสเซลส์ โซโลมอน” และ ลูกชายของเขา ซึ่งต่อมาต้องรับบทประธานบริษัท
ที่ไม่ถูกยอมรับจากพนักงาน ไปจนถึงเพื่อนร่วมงานหลายคนที่ซ่า บ้า เพี้ยน แต่มีจิตใจที่ทุ่มเท
ให้ร้านอย่างเกินร้อย

ขอเตือนไว้ก่อนเลยว่าถ้าคุณไม่ใช่คนที่ทนดูหนังที่มีแต่การสัมภาษณ์ สัมภาษณ์ สัมภาษณ์ และ
สัมภาษณ์ได้นานๆ หรือติดกับการชมภาพยนตร์แอคชั่นบู๊ล้างผลาญ ระเบิดภูเขาเผากระท่อม
เอฟเฟ็คท์ตระการตลอดทั้งเรื่อง คุณอาจจะหลับคาโรงภาพยนตร์ได้ง่ายๆ แหรือจะพูดอีกมุมหนึ่งก็คือ
แฟนพันธุ์แท้ที่รู้จักทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์หรือบรรดาผู้ที่รักเสียงเพลงอย่างเข้าเส้นเท่านั้นที่ตีตั๋วเข้าไปชม
ถึงจะรู้สึกอิ่มเอมไปกับภาพยนตร์ นอกจากสัมภาษณ์ สัมภาษณ์ สัมภาษณ์ และสัมภาษณ์ ผู้คน
มากมายที่ทำงานในทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์ ผู้บริหาร ค่ายเพลง บรรณาธิการนิตยสารดนตรี

ยังมีสัมภาษณ์ ศิลปินอีกหลายคนที่มีชีวิตผูกพันธ์กับคลังเพลง มหึมาแห่งนี้อีก 4คน คือ บรู๊ซ สปริงทีน
ศิลปินที่มียอดขายแผ่นเสียงเกินหลักล้านในยุค 70-80 และยอดขายจำนวนมหาศาลในยุคซีดี,
เดฟ โกรล อดีตมือกลองวงNIRVANAและผู้ก่อตั้งวง FOO FIGHTER ซึ่งเคยเป็นพนักงานที่ร้าน
และเป็นร้านที่ยินยอมให้เขาไว้ทรงผมบ้าบอตามใจชอบ , เอลตัน จอห์น คุณป้าศิลปินที่พนักงาน
คุ้นชินกับภาพเอี้ยวตัวลงจากเบาะหลังรถลีมูซีน เดินเข้ามาซื้อแผ่นที่ร้านทุกเก้าโมงเช้าวันอังคาร
จนกระทั่งทางร้านยินดีเลื่อนเวลาเปิดร้านให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมง เพื่อการนี้โดยเฉพาะ เอลตัน จอห์น
เป็นลูกค้ากระเป๋าหนักที่เขียนลิสต์รายชื่อแผ่นที่ต้องการจะซื้อเดินถือเข้ามาด้วยเสมอ และมักซื้อ
แผ่นจากชุดเดียวกันซ้ำประมาณ2-3ก๊อปปี้ เพื่อที่จะนำไปเก็บไว้ ที่บ้านแต่ละหลัง หนำซ้ำบางครั้ง
ยังให้คำแนะนำทางร้านถึงบางอัลบั้มที่ควรนำมาวางจำหน่าย

 

003

 

จุดเริ่มต้นของทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์ มาจากร้านขายของสารพัดชนิดในซาคราเมนโต สหรัฐอเมริกา
ในทศวรรษที่60 (หรือบ้านเราก็น่าจะเรียกว่าโชห่วย) ของคุณพ่อของรัสเซลส์ มุมหนึ่งของร้าน
ที่เคยทดลองวางขายแผ่นเสียงมือสองถูกขยับขยายเป็นแผ่นเสียงใหม่เอี่ยม เมื่อมองแนวโน้มว่า
การค้าขายแผ่นเสียงมีอนาคต ประกอบกับความใฝ่ฝันส่วนตัวของรัสเซลส์ที่อยากมีซุปเปอร์มาร์เก็ต
ที่จำหน่ายแผ่นเสียงขนาดใหญ่ เมื่อพ่อของเขาขยายร้านออกไปยังพื้นที่ของห้องว่างที่ติดกับโชห่วย
ที่มีอยู่แล้ว เพื่อจำหน่ายแผ่นเสียงใหม่อย่างเต็มรูปแบบ

รัสเซลส์รับช่วงดูแลกิจการส่วนต่อขยายนั้นที่อุดมไปด้วยแผ่นเสียง คือพูดง่ายๆว่ารับไปทั้งสินทรัพย์
และหนี้สิน จะพูดว่าทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์ ถือกำเนิดถูกจังหวะก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะในยุค 60 เป็นยุค
ที่อุตสาหกรรมดนตรีเติบโตอย่างต่อเนื่อง มันคือยุคผู้คนกำลังเยียวยาความรวดร้าวด้วยดนตรี
หลังผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่2มาไม่นาน

จากซาคราเมนโต รัสเซลส์ตัดสินใจลงทุนเช่าตึกหัวมุมแห่งหนึ่งในซาน ฟรานซิสโก หลังจากขับรถ
ไปเที่ยวแล้วตื่นมาจากอาคารเมาค้างแล้วเขามองไปเห้นตึกหัวมุมตึกนั้นจากโรงแรมที่พัก ไอเดีย
บ้าบ้าของเขาถูกยับยั้งจากหลายคน บ้างก็ว่าควรจะหาสินค้าอื่นๆมาวางขายควบคู่กันไปกับแผ่นเสียง
บ้างก็ว่าพื้นที่ใหญ่โตเกินไป ไม่คุ้มค่าเช่า แต่รัสเซลส์ยังคงแน่วแน่ในไอเดียที่จะสร้างซุปเปอร์มาร์เก็ต
แห่งเสียงเพลง

ในที่สุดหลังจากใช้บริการงานปรับปรุงร้านของลูกพี่ลูกน้องในราคา 75,000 เหรียญสหรัฐฯ พร้อม
ป้ายชื่อร้านที่ใช้คู่สีเหลืองแดงเลียนแบบเชลล์ ทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์ ในแบบทีรัสเซลส์ฝันไว้ จึง
ถือกำเนิดขึ้นในที่สุด ความสำเร็จถาโถมเข้ามาหารัสเซลส์ราวกับพายุดีเปรสชั่น ผู้คนหลั่งไหลมา
ที่ทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์ ราวกับหิวโหยเสียงดนตรีมาช้านาน มาเข้าคิวรอซื้อแผ่นเสียงแผ่นโปรด
บ้างก็มายืนจีบกันที่ร้าน จนรัสเซลส์ต้องออกอุบายติดตั้งหลอดฟลูออเรสเซนต์ตรงจุดที่หนุ่มสาว
มักยืนจีบกัน ให้พื้นที่ตรงนั้นมันร้อน เป็นการไล่ทางอ้อมเพื่อให้คนอื่นที่อยากเลือกแผ่นได้มีโอกาส
เข้ามาในร้านบ้าง

จากซาคราเมนโต สู่ซาน ฟรานซิสโก สาขาแล้ว สาขาเล่า พื้นที่แถบตะวันตกถูกทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์
ยึดหัวหาดไว้ทั้งหมด จากนั้นจึงบินไปเปิดสาขาที่ญี่ปุ่น แล้วจึงกลับมาบุกนิวยอร์ค พื้นที่ที่เขา และ
อีกหลายประเทศที่ต่อมากลายสาขาที่สร้างภาระหนี้สินก้อนโต  เพราะรัสเซลส์ไม่ได้รู้จักตลาดเพลง
ในท้องถิ่นอย่างเพียงพอ เป็นการลงทุนที่ตัดสินใจไม่รอบคอบ กระทั่งนำมาสู่หายนะในที่สุด

 

004_1

 

All Things Must Pass บอกกับเราว่าความสำเร็จอะไรก็ตามมักมีองค์ประกอบหลายอย่างที่รวมตัวกัน
กรณีทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์ ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจดนตรีอย่างต่อเนื่องในยุค 60 – ปลาย 90
นอกจากความรักในเสียงดนตรี ความบ้าบิ่น กล้าได้กล้าสียของรัสเซลส์ โซโลมอน ผู้ก่อตั้ง ยังสะท้อน
ให้เห็นว่าคู่หูของเขาที่เป็นคนดูแลเรื่องเงินทองที่ชื่อ บัตต์ ทั้งคู่เปรียบเสมือนหยินหยางที่สร้างความ
สมดุลเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวหน้าอย่างปลอดภัย บัตต์อาจเหมือนไม้เบื่อไม้เมาของพวกพนักงาน
และผู้บริหารหลายคนในหนังที่ถูกสัมภาษณ์ เพราะเขาเป็นคนคุมเงิน วิธีคิดของบัตต์จึงมักมากับคำว่า
”ปลอดภัยไว้ก่อน” อะไรที่เป็นความเสี่ยง เป็นสิ่งที่บัตต์ไม่เอาด้วยอยู่เสมอ แต่เขาก็ต้องยอมรัสเซลส์
อยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งทั้งคู่ระหองหระแหงกัน  ในที่สุดบัตต์ลาออก และเสียชีวิตด้วยโรลูคิเมีย
ก่อนทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์ ล้มละลายได้ไม่นาน

หลายคนที่เคยทำงานในทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์ ที่ถูกสัมภาษณ์ในภาพยนตร์ มีสิ่งที่เหมือนกันกับที่เรา
มักเจอในร้านขายเครื่องดนตรี แผ่นเสียง คือ กวนตีน อีโก้จัด ปากหมา ชอบเมาค้างแล้วมาทำงาน
เป็นคนไร้ระเบียบ แต่งตัวตามใจฉัน แต่คนพวกนี้มักมีไอเดียดีดีเสมอ แล้วเผอิญว่าพวกเขามีเจ้านาย
ที่บ้าบอพอกันอย่างรัสเซลส์ เวลาเสนออะไรไป ก็มักได้รับการตอบสนองอยู่บ่อยๆ แต่ไม่ใช่บัตต์อย่างแน่นอน

TOWER RECORDS คือ บทเรียนเล่มใหญ่สำหรับอนุชนรุ่นหลังที่อยากริเริ่มทำในสิ่งที่ตัวเองรัก
อย่างลุ่มหลง หากมันประสบความสำเร็จ อย่าใช้เวลากับความหลงระเริงในความหอมหวานนานนัก
ต้องรีบหันมาตรวจสอบรอยโหว่ของธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปกับอนาคต
ที่พฤติกรรมการเสพสื่อต่างๆเปลี่ยนไปไม่หยุดหย่อน ไม่เว้นแม่แต่เพลง

 

005

 

ในทรรศะส่วนตัวคิดว่าถ้ารัสเซลส์ไม่ขยายสาขาตามใจชอบ และยอมรับฟังบัตต์ให้มากขึ้นกว่าที่เคยเป็น
เราอาจยังเห็นทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์ อยู่ยงคงกระพันมาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าเราพูดว่าเขาก้าวไม่ทัน
เทคโนโลยีก็ไม่ถูกนัก เพราะในยุคเปลี่ยนผ่านจากแผ่นเสียงสู่ซีดี พวกเขายังสามารถครองความยิ่งใหญ่
เป็นเจ้าแห่งคลังเพลงขนาดมหึมา มีมูลค่ายอดขายชนเพดานได้ ก็แปลว่าพวกเขาย่อมไม่ใช่พวกสายตาสั้น
วันๆเอาแต่ทำงานตามใจตัวเองแน่นอน

หลังจากดู All Things Must Pass จนจบแล้วเดินออกจากโรงภาพยนตร์ สิ่งแรกที่คิดทันที คือ กูเคย
ซื้ออัลบั้มอะไรบ้างวะจากทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์ เท่าที่นึกได้ทันที คือ อัลบั้มThe Best Of Swing Out  Sister
และ The Essential of Motown Records  จริงๆมีมากกว่านั้น แต่ถ้าให้ระบุเฉพาะเจาะจงว่าไม่ผิดแน่นอน
ก็สองชุดดังกล่าว แล้วคุณล่ะครับ? จำได้บ้างรึเปล่าว่าเคยซื้อแผ่นอะไรจากร้านเหลืองแดงร้านนี้

 


 

ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก Documentary Club
เรียงตามลำดับจากบนลงล่าง

-รัสเซลส์ โซโลมอน ผู้ก่อตั้ง Tower Records
-SUEDE วงบริทพ็อพจากอังกฤษ แจกลายเซ็นที่ทาวเวอร์ฯ สาขาสยาม
-Everything But The Girls วงดนตรีจากอังกฤษ ขณะแจกลายเซ็นที่สาขาสยาม
-Michael Jackson ในร้านทาวเวอร์ฯ สาขาสยาม ช่วงที่มาเปิดการแสดง
History World Tour ประเทศไทย
-โปสเตอร์หน้าภาพยนตร์ที่ SFX Crystal Park เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา

 

เมธี เตชะชัยวงศ์
Mayt Taechachaiwong