Bugatti แบรนด์รถยนต์ Hyper Car อันโด่งดัง กำลังค้นคว้าและพัฒนา ส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในระบบห้ามล้อ ซึ่งได้แก่ คาลิปเปอร์เบรก ที่ทำจากขึ้นจากวัสดุสุดแข็งแกร่งและมีน้ำหนักเบาอย่าง Titanium โดยใช้เครื่องพิมพ์ขึ้นรูปแบบ 3D-Printed ในการผลิตเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะใช้วิธีการผลิตแบบดังกล่าว กับรถยนต์ในเครือ Volkswagen Group รุ่นต่างๆในอนาคต

จากคลิปวีดิโอดังกล่าว เป็นการนำ คาลิปเปอร์เบรก 3D-Printed ที่ปั๊มรูปทรงขึ้นมา ซึ่งมีขนาดสัดส่วนเท่ากับของดั้งเดิมที่ติดตั้งใน Bugatti Chiron รถบ้าพลังที่สุดของค่าย โดยวิศวกรผู้พัฒนากล่าวว่า ต้องใช้ระยะเวลาถึง 45 ชั่วโมง ในการผลิตมันขึ้น เพราะด้วยกระบวนการทั้ง ขั้นตอนการหลอมละลายผง Titanium ด้วยเครื่องยิงเลเซอร์ 400 วัตต์ จำนวน 4 ตัว ก่อนนำมาทับซ้อนเลเยอร์ Titanium จำนวนมหาศาลถึง 2,313 ชั้น จากนั้นก็ชุบเคลือบพื้นผิวด้วยความร้อนจนแล้วเสร็จ ถึงจะนำมาเข้าขั้นตอนสุดท้ายในการขึ้นรูปจากเครื่อง 3D-Printed แบบ 5 แกน

หลังจากนั้น มันก็ถูกนำเข้ามายังห้องทดสอบ ซึ่งเหล่าวิศวกรก็ได้ติดตั้ง คาลิปเปอร์เบรก ตัวนี้เข้าที่ และจำลองการทำความเร็วสูงเสมือน Chiron ที่สามารถวิ่งได้กว่า 400 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วกระทืบเบรกเพื่อหน่วงความเร็วของตัวรถลงมาอย่างรวดเร็ว

ซึ่งจากการเร่งความเร็วไปแตะ 400 กิโลเมตร/ชั่วโมง สลับกับการเบรกอย่างหนักหน่วง 3 ครั้ง ส่งผลให้อุณหภูมิเบรกจากเครื่องวัดค่าออกมา มีความร้อนสะสมพุ่งไปแตะถึงกว่า 1,000 องศาเซลเซียส จนทำให้จานเบรกกลายเป็นสีส้มลาวา และเกิดเปลวไฟลุกโชนขึ้น แต่อย่างไรก็ดี คาลิปเปอร์เบรก แบบดังกล่าว ยังคงสามารถทนทานต่อความร้อนที่สามารถหลอมละลายทุกอย่างให้กลายเป็นจุลได้ในทันที นอกจากนี้ ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คือ มันมีน้ำหนักที่เบากว่าแบบเดิมที่ติดรถ Chiron ถึง 2 เท่า

สอดคล้องกับ เมื่อช่วงเดือนก่อนหน้านี้ที่ Volkswagen ได้เปิดโรงงานผลิตชิ้นส่วนหลังใหม่ ในเมือง Wolfsburg ประเทศเยอรมนี ซึ่งโรงงานแห่งดังกล่าว มีการติดตั้งเครื่องจักรตัวใหม่ สำหรับผลิตขึ้นรูปพาร์ทชิ้นส่วนในลักษณะ 3D-Printed ที่คิดค้นร่วมกับ Hewlett Packard (HP) จึงได้ริเริ่มประเดิมงานสร้างนี้ขึ้นมา

ส่งผลให้ Bugatti ซึ่งเป็นรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในเครือ จึงทำให้เป็นแบรนด์แรกที่เหมาะสมที่สุด ในการทดลองชนิดที่ว่า สุดขีด ดังเช่นที่เราได้เห็นจากคลิปวีดิโอดังกล่าวที่ถูกปล่อยออกมา ขณะเดียวกัน ยังเป็นผลดีให้กับ Volkswagen Group ในการนำไปต่อยอดพัฒนาให้กับรถยนต์แบรนด์อื่นๆต่อไปในอนาคต

อย่างไรก้ดี เราจะได้เห็นชิ้นส่วนรถยนต์ชนิดอื่นๆในอนาคต ด้วยนวัตกรรมการผลิตแบบดังกล่าวจากเครือ Volkswagen Group อีกมากน้อยเพียงใด ต้องติดตามชมวิทยาการดังกล่าวนี้กันให้ดี

ที่มา : motor1