By Gigabright

ดูเหมือนว่าหลังจากที่ Nissan Motor Co. ได้แถลงผลประกอบการปีงบประมาณ 2019 และ ทิศทางการดำเนินธุรกิจในอนาคตไปแล้ว จะเกิดกลุ่มคนสองกลุ่มที่มีความรู้สึกแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คือกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกใจชื้นว่าพวกเขาจะยังคงมีงานทำต่อไปในช่วงวิกฤตินี้ ตรงกันข้ามกับอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังจะตกที่นั่งลำบาก จากการตัดสินใจโดยบริษัทแม่ในเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น

นับเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปีที่ผ่านมาของ Nissan ที่จะทำการปิดโรงงานประกอบรถยนต์ลง โดยในครั้งนี้เป็นคราวของโรงงาน Nissan Motor Ibèrica ในเมืองบาร์เซโลนาประเทศสเปน และ PT. Nissan Motor Indonesia ในเมืองปูร์วาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย อันเป็นส่วนหนึ่งจากการเปลี่ยนแปลงแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจล่าสุด ที่จะมุ่งเน้นไปที่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ในแผนยังรวมไปถึงการตัดทอนค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นออก เพื่อฟื้นฟูสถานะทางการเงินของบริษัท โดยส่วนหนึ่งของแผนคือการลดกำลังการผลิตรถยนต์ลง ร้อยละ 20 จากเดิม และการย้ายฐานการผลิตหลักสำหรับภูมิภาคยุโรป – อาเซียน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทั้งสองโรงงาน ต้องยุติการประกอบรถยนต์ลง

เมื่อดูจากรายงานผลประกอบการล่าสุดของ Nissan Co. จะพบว่าในปีงบประมาณที่ผ่านมาบริษัทขาดทุนถึง 671,200 ล้านเยน (ราว 198,000 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และยังเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบหลายปี ที่บริษัทต้องเผชิญกับสภาวะวิกฤติทางการเงินในปี 2009

รวมไปถึงตัวเลขยอดขายรถยนต์เดือนเมษายนที่ลดลงถึง 62 เปอร์เซ็นต์หรือ 150,388 คันเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นาย Makoto Uchida ผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ของแบรนด์ Nissan กล่าวว่า “สถานการณ์ในอนาคตข้างหน้านั้นยังคงไม่มีความชัดเจนเท่าไหร่ และมันช่างยากเหลือเกินที่เราจะคาดเดาได้”

อย่างไรก็ตาม Nissan ก็ยังคงพยายามรักษาความเชื่อมั่น และส่วนแบ่งทางการตลาดไปพร้อมๆกัน โดยจะมอบหมายให้โรงงานประกอบรถยนต์ในเมืองซันเดอร์แลน์ ประเทศอังกฤษ เป็นฐานการผลิตหลักสำหรับตลาดยุโรป และโรงงานที่บางปะกงในประเทศไทยกลายเป็นฐานการผลิตสำหรับตลาดอาเซียน

พร้อมทั้งผลักดันนโยบายการควบรวมรุ่นรถยนต์ที่จะขายสู่ท้องตลาด เพื่อให้มีความสากลมากขึ้นและพุ่งเป้าไปยังกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดหลักของแบรนด์ นั่นก็คือ ญี่ปุ่น จีน และอเมริกาเหนือ “ เราจะยอมรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต และจะนำมันมาเป็นบทเรียนในการตัดสินใจดำเนินธุรกิจ เพื่อให้มุ่งไปสู่ทางที่ถูกที่ควร” CEO Nissan ได้กล่าวเอาไว้

เมื่อโรงงานจะถูกปิดตัวลง แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้าง นอกจากพนักงานในโรงงานกว่า 3,000 ชีวิตที่จะต้องกลายเป็นคนว่างงานแล้ว มีลูกจ้างอีกกว่า 20,000 คนที่ทำงานให้กับกลุ่มบริษัทในห่วงโซ่อุปทานของ Nissan อาจจะโดนหางเลขไปด้วย หากโรงงานประกอบรถยนต์และอีกสองโรงงานในเครือจะยุติการทำงานลงทั้งหมด ซึ่งยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากบริษัทแม่ว่า ชะตากรรมของสองโรงงานนี้จะเป็นอย่างไร

ล่าสุด เกิดการชุมนุมของคนงานเพื่อประท้วง และ เผายางรถยนต์หน้าโรงงานที่บาร์เซโลนากันแล้ว และมีแนวโน้มว่าจำนวนของผู้ชุมนุมจะเพิ่มขึ้นอีกด้วย ในขณะที่โรงงานในเมืองปูร์วาการ์ตายังไม่มีรายงานความเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทาง Nissan Motor Indonesia (NMI) ได้มีการยุติการผลิตรถยนต์ที่โรงงานไปตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาแล้ว

หลังจากนี้ Nissan ก็ยังคงต้องเดินหน้าต่อไปตามแผนใหม่นี้ต่อไปภายใต้ค่านิยมใหม่ “Nissan-ness” โดยจะร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรคือ Renault และ Mitsubishi เพื่อกอบกู้สถานการณ์จากมรสุมที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคดีความการปกปิดตัวเลขค่าตอบแทนผู้บริหารเมื่อครั้ง Carlos Ghosn ดำรงตำแหน่ง CEO ซึ่งในปัจจุบันได้ลี้ภัยไปอยู่ที่บ้านเกิด ในประเทศเลบานอนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หรือ การลาออกของ Hiroto Saikawa ท่ามกลางความสงสัยเกี่ยวกับรายได้ของเขา มาจนถึงวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งนาย Makoto Uchida ได้ให้คำมั่นเอาไว้ว่า “เราจะยังคงเดินหน้าต่อไปด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ แม้ว่าหนทางข้างหน้าจะยากลำบากเพียงไหนก็ไม่หวั่นใจ เพราะเรามีพนักงานชั้นเยี่ยมที่พร้อมจะต่อสู้ไปกับเรา”

โดย ณ ตอนนี้ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตใหญ่ของ Nissan Motors ทั้งผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็ก รวมถึงกระบะ 1 ตัน และ รถยนต์ e-POWER ที่ลงทุนไป 10,000 ล้านบาท เปิดตัว KICKS e-POWER รุ่นแรกไปแล้วเมื่อ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น

 

ที่มา : TIME / ภาพ : BBC