By Gigabright

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (27 พฤษภาคม 2020) หนึ่งในเครือข่ายพันธมิตรยานยนต์ชั้นนำของโลก อย่าง Renault Nissan Mitsubishi Alliance ได้เปิดเผยแผนกลยุทธ์ความร่วมมือทางธุรกิจล่าสุด โดยมีสาระสำคัญที่จะเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน และเสริมความแข็งแกร่งของบริษัทคู่ค้าทั้ง 3 แบรนด์ผ่านนโยบายต่างๆ ร่วมกัน อาทิ สิทธิประโยชน์ในการจัดซื้อสินค้าราคาที่ต่ำลง จากการจัดซื้อร่วมของบริษัทในเครือข่าย ซึ่งเป็นการช่วยลดต้นทุนในการผลิต โดยใช้อำนาจต่อรองของบริษัทคู่ค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Jean-Dominique Senard ประธานคณะกรรมการบริษัท Renault และเครือข่ายพันธมิตร Renault Nissan Mitsubishi กล่าวว่า “การร่วมมือทางธุรกิจด้วยกลยุทธ์ในรูปแบบเครือข่ายพันธมิตรนี้ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้สามารถอยู่รอด จากการเปลี่ยนแปลงของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ได้เป็นอย่างดี” เขามองว่านี่คือโอกาสดีที่จะได้ดึงเอาจุดแข็ง และความสามารถของแต่ละแบรนด์ออกมา

ทั้งยังหวังให้สามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดของรถยนต์ได้ในทุกกลุ่ม (segment) และภูมิภาค ซึ่งนั่นหมายถึงความยั่งยืนขององค์กร ทั้งในแง่ของผลกำไรและการเป็นที่ยอมรับของสังคมนั่นเอง สำหรับพันธกิจร่วมกันในการเป็นผู้นำ-ผู้ตามของสมาชิกใน Renault Nissan Mitsubishi Alliance นั้นก็คือ

  • การผลักดันและส่งเสริมมาตรฐานใหม่ ของบริษัทภายในเครือข่ายพันธมิตร ที่เริ่มตั้งแต่แพลทฟอร์มไปจนกระทั่งออกมาเป็นรถยนต์สำเร็จ
  • ในตลาดรถยนต์แต่ละกลุ่ม (segment) รถยนต์รุ่นที่มาจากบริษัทผู้นำในกลุ่มนั้นๆ จะเป็นตัวหลักในการออกแบบพัฒนา ในขณะที่บริษัทรองจะทำหน้าที่ให้การสนับสนุนและนำเอาแนวคิดจากผู้นำ มาปรับใช้กับรถยนต์ของแบรนด์ตนเอง
  • ตรวจสอบให้แน่ชัดว่ารถยนต์ที่ถูกผลิตขึ้น ทั้งในบริษัทผู้นำ – ผู้ตามเป็นไปด้วยขั้นตอนและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เป็นที่แข่งขันกับแบรนด์อื่น รวมถึงมีการการผลิตร่วมกันภายในบริษัทคู่ค้าอย่างมีความเหมาะสม
  • มีการแบ่งปันข้อมูลและใช้รูปแบบการผลิตรถยนต์ร่วมกันภายในเครือข่าย ซึ่งสามารถใช้ได้กับทั้งแบรนด์ผู้นำและแบรนด์ผู้ตาม
  • เป็นที่คาดหวังว่ารูปแบบการพัฒนารถยนต์แบบมีผู้นำ – ผู้ตามนี้ จะสามารถช่วยลดต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาได้มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

นอกจากนี้ การพิจารณาตำแหน่งทางการตลาด (Brand positioning) ของรถยนต์ทั้งสามค่ายเองนั้น เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้เป็น กลยุทธ์ของเครือข่ายพันธมิตรในครั้งนี้ด้วย โดยจะมีการตั้งตัวแทนภูมิภาค (Reference region) เพื่อเป็นตัวหลักในการให้ข้อมูลอ้างอิง สำหรับประกอบการวางตำแหน่งทางการตลาด ของทั้งสองแบรนด์รองที่เหลือในภูมิภาคเดียวกัน อันเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับบริษัทคู่แข่งอื่นๆ ในแต่ละภูมิภาค สามารถแบ่งตามยี่ห้อได้ดังนี้

  • Nissan เป็นผู้นำในตลาดจีน, อเมริกาเหนือ และญี่ปุ่น
  • Renault เป็นผู้นำในตลาดยุโรป, รัสเซีย, อเมริกาใต้ และ แอฟริกาเหนือ
  • Mitsubishi เป็นผู้นำในตลาดอาเซียนและโอเชียเนีย

ตามที่ระบุไว้ในพันธกิจว่าการออกแบบและพัฒนารถยนต์นั้น จะเป็นไปตามรูปแบบของ “แบรนด์ผู้นำ-ผู้ตาม” ยังมีข้อมูลอีกมากมายเกี่ยวกับแนวทางการทำการตลาดของบริษัทในเครือทั้งสาม ไม่ว่าจะเป็น แผนการพัฒนารถยนต์แต่ละกลุ่ม (segment) ที่พิจารณาตามแบรนด์ ซึ่งจะเริ่มนำมาใช้จริงในปี 2025 สำหรับรถ C-SUV ที่นำโดย Nissan การพิจารณาตามภูมิภาคที่จะมีการควบรวมรุ่นรถยนต์บางรุ่นให้อยู่ในพื้นฐาน (platform) เดียวกัน

พร้อมทั้งมีการพัฒนาเทคโนโลยีของรถยนต์ ที่จะดึงเอาจุดเด่นจากแต่ละแบรนด์มาเป็นผู้นำในการพัฒนา เช่น เทคโนโลยีการขับขี่แบบอิสระที่นำโดย Nissan, รถยนต์ C/D segment แบบ PHEV โดย Mitsubishi หรือ การพัฒนาเทคโนโลยีการเชื่อมต่อรถยนต์ ผ่านระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์โดย Renault ต้องมาจับตาดูกันว่าแผนกลยุทธ์ใหม่ของ Renault Nissan Mitsubishi Alliance จะนำพาบริษัททั้งสามไปยังเป้าหมาย ที่ตั้งร่วมกันเอาไว้ได้หรือไม่

 

ที่มา: Nissan