By Gigabright

 

นาทีนี้คงต้องยกให้สำนวนสุภาษิตไทยคำไหนที่ว่า “ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” สำหรับค่ายรถยนต์คู่บุญอย่าง Renault – Nissan ที่กำลังตกเป็นประเด็นเรื่องทุจริตผลการทดสอบปริมาณมลพิษจากเครื่องยนต์ดีเซลในประเทศอังกฤษ ซึ่งถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 1.3 ล้านปอนด์ (ราว 49 ล้านบาท) เลยทีเดียว

ข้อมูลจากรายงานเปิดเผยว่ามีรถยนต์เครื่องดีเซลกว่า 700,000 คันจาก Renault และอีกกว่า 600,000 คันจากนิสสันที่เข้าข่ายจากการทุจริตผลการทดสอบในครั้งนี้ ซึ่งในบรรดารถยนต์เหล่านี้นั้นรวมไปถึง Nissan Note, Juke, X-trail และ Renault Clio, Captur, Megane รวมถึง Scenic ด้วย โดยผู้ที่ยื่นเรื่องฟ้องร้องคือสำนักงานกฎหมาย Harcus Parker ในประเทศอังกฤษ ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสารหลักฐานในขณะนี้

ที่น่าแปลกใจไปกว่านั้นก็คือ เหตุการณ์ที่รถยนต์ของ Nissan มีปริมาณมลพิษจากไอเสียสูงกว่าเกณฑ์ในประเทศอังกฤษนั้นเกิดขึ้นมานานกว่า 3 ปีแล้ว เรื่องมาแดงยิ่งขึ้นเมื่อสำนักงานกฎหมายได้สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานด้านการคมนาคมของประเทศอังกฤษ (Department for Transport : DFT) ย้อนหลังไปในเดือนกันยายนปี 2017 แล้วพบว่าเครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.2 ลิตรใน Nissan Qashqai นั้นมีค่ามลพิษจากไอเสียสูงกว่าเกณฑ์ของประเทศอังกฤษถึง 15 เท่า ซึ่งเลวร้ายยิ่งกว่ากรณีของ Volkswagen และ Mercedes-Benz เสียอีก

หลังจากที่ได้ทราบข้อมูลความเสียหายเหล่านี้ ทางสำนักงานกฎหมาย Harcus Parker ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด โดย Damon Parker ที่ปรึกษาอาวุโสของสำนักงานฯ เล่าว่ามีการติดต่อไปยังบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั้งสอง เพื่อขอให้ชี้แจงถึงสาเหตุของตัวเลขที่มากเกินเกณฑ์แบบนี้ ซึ่งดูเหมือนว่าสาเหตุหลักน่าจะมาจากการหยิบเอาผลลัพธ์จากการทดสอบครั้งที่ดีที่สุดมาใช้อ้างอิง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับคำอธิบายที่ชัดเจนจาก Renault และ Nissan อยู่ดี

แม้หน่วยงาน DFT ของอังกฤษจะนำเอารถ Nissan Qashqai มาทำการทดสอบเพื่อวัดปริมาณมลพิษจากไอเสียด้วยตนเองภายใต้สภาวะการใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน จนพบว่ามีค่าปริมาณก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ที่สูงเกินเกณฑ์ แต่ทางการก็ยังไม่สามารถทำอะไรกับผู้ผลิตรถยนต์รายนี้ได้ กระทั่งสำนักงานกฎหมาย Harcus Parker ได้ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือในการรวบรวมข้อมูล และหลักฐานเพื่อยื่นเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมาให้ได้

ทางด้านแบรนด์ Renault ก็ออกมาเคลื่อนไหว โดยโฆษกของบริษัทได้ยืนยันว่า รถยนต์ทุกคันของ Renault ที่ผลิตออกไปนั้นได้รับการทดสอบ และยืนยันว่าผ่านข้อกฎหมายและเกณฑ์ต่างๆ ของประเทศที่กำลังทำตลาดอยู่ ซึ่งรถเหล่านี้ไม่ได้ติดตั้งชิ้นส่วน และระบบจัดการปริมาณเชื้อเพลิงไอเสีย อันเป็นต้นตอของปัญหาการทุจริตผลการทดสอบปริมาณมลพิษจากเครื่องยนต์แต่อย่างใด แต่ในมุมของสำนักงานกฎหมาย Harcus Parker มองว่าลูกค้าผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์ที่เข้าข่ายดังกล่าว สมควรได้รับเงินชดเชยรายละ 5,000 ปอนด์ (ราว 195,000 บาท) จากการใช้รถยนต์ที่สร้างมลพิษให้กับโลกแบบนี้

ที่มา: carscoops