นวัตกรรมที่แต่ก่อนใครก็คงคิดว่ามันเป็นเพียงแค่ความเพ้อฝัน ได้กลับกลายมาเป็นความจริงแล้วในวันนี้ สำหรับการประดิษฐ์คิดค้นหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์อย่างเราๆ โดยล่าสุดได้มีการพัฒนาหุ่นยนต์จอดรถอัตโนมัติ หรือชื่อเรียกสั้นๆว่า STAN เตรียมนำมาทดลองใช้งานจริงที่สนามบิน Gatwick กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในช่วงเดือน สิงหาคม ที่กำลังจะถึงนี้

สำหรับเจ้า STAN ตัวนี้ ถูกคิดค้นขึ้นโดยบริษัท Stanley Robotics ซึ่งอาจจะเรียกว่าอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นบริการรับจอดรถลักษณะเดียวกับ Valet Parking ที่เราคงจะคุ้นเคยกับดีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำรถไปจอด-รับ ให้คุณ แต่คราวนี้ได้เปลี่ยนเป็นมาใช้งานเจ้าหุ่นยนต์อัตโนมัติแทนนั่นเอง

โดยหลักการทำงานของมันไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด เพียงแค่คุณนำรถมาจอดในโซนที่ถูกกำหนดไว้ และกดล็อกรถให้เสร็จเรียบร้อยโดยเก็บไว้กับตัว แล้วเข้ามาทำการเลือกช่องจอดผ่านหน้าจอ Touchscreen ที่ตั้งอยู่ในซุ้ม Kiosk หลังจากนั้น เจ้าหุ่นยนต์อัตโนมัติ ก็จะมาเทียบประชิดกับรถ เพื่อยกรถในลักษณะแบบ Forklift ช้อนใต้ล้อทั้ง 4 ล้อ แล้วนำไปจอดตามช่องจอดที่คุณได้เลือกไว้ โดยใช้การกำหนดพิกัดอย่างแม่นยำด้วย GPS และ ชุดเซ็นเซอร์ ซึ่งมีความละเอียดระดับใช้ทางการทหารเลยทีเดียว

ทั้งยังส่งผลในเรื่องของความมีประสิทธิภาพในการบริหารพื้นที่จอดรถ ที่จะรองรับปริมาณการจอดรถได้มากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องมนุษย์ในการเปิดประตูเพื่อเข้าไปบังคับหรือขยับรถ ทำให้ตัวรถสามารถจอดแนบชิดติดกันในระยะห่างใกล้กันระดับมิลลิเมตร โดยไม่มีการกระทบกระทั่งใดๆทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ภายในสมองกลของหุ่นยนต์ตัวดังกล่าว จะใช้รายละเอียดข้อมูลเที่ยวบินของคุณ เพื่อให้แน่ใจว่าตัวรถนั้นอยู่ในโซนการจอดที่พร้อมจะนำออกมาให้คุณในเวลาที่เหมาะสมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เจ้า STAN จะถูกนำมาทดลองใช้งานครั้งแรกในที่จอดรถระยะยาว โซน B ส่งผลให้สามารถรองรับการจอดรถได้เพิ่มขึ้นเป็น 270 คัน จากเดิมที่ใช้ฝีมือมนุษย์ ซึ่งจะนำรถมาจอดได้เพียง 170 คัน ตลอดจนยังมีแผนในการขยายการบริการดังกล่าวออกไปในพื้นที่จอดรถ โซน C และ D ในอนาคต

In Fact : ระบบจอดรถด้วยหุ่นยนต์อัตโนมัติ ถูกทดลองใช้ไปแล้วในหลายสนามบินของทวีปยุโรป อาทิ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส, เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส, เมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าว จะเป็นครั้งแรกที่นำมาใช้ในสนามบินบนเกาะอังกฤษ

ที่มา : drivetribe