ยังคงอยู่กับระบบขับขี่อัตโนมัติ ที่ช่วงนี้เป็นข่าวไม่เว้นแต่ละวัน โดยเคสล่าสุดเกิดอุบัติเหตุกับ Tesla Model X ชนเข้ากับแบร์ริเออร์จนผู้ขับขี่เสียชีวิต ต่อมามีการเปิดเผยจากทางผู้ผลิตว่า ระบบ Autopilot นั้นถูกใช้งานในระหว่างที่เกิดเหตุจริง เป็นเหตุให้มีผู้ใช้งาน Tesla รายหนึ่งสงสัย และจำลองเหตุการณ์ในจุดที่เกิดเหตุจริงว่า ระบบทำงานผิดพลาดอย่างไร ผลคือเขาเกือบเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากเส้นถนนทำระบบสับสน

(ภาพจากห้องโดยสาร Tesla Model S คันที่พยายามจำลองเหตุการณ์)

ต้องย้อนรอยกันก่อนว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 23 มีนาคม เกิดเหตุ Tesla Mode X ประสบอุบัติเหตุชนเข้ากับแบร์ริเออร์ บนทางหลวงหมายเลข 101 รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ เป็นเหตุให้ผู้ขับขี่เสียชีวิต และที่โชคร้ายคือ แบร์ริเออร์ดังกล่าวพึ่งถูกรถชนมา และยังไม่ได้รับการซ่อมแซมส่วนซับแรง Tesla คันที่ไปชนซ้ำจึงเสียหายหนัก ต่อมาผลสืบสวนพบว่า มีการใช้ระบบขับขี่อัตโนมัติ Autopilot ในช่วงที่เกิดเหตุจริง

ทั้งนี้ มีการระบุว่า ระบบ Autopilot ได้ส่งสัญญาณเสียงและภาพ เตือนให้ผู้ขับขี่กลับมาจับพวงมาลัย เพื่อควบคุมทิศทางก่อนเกิดเหตุราว 6 วินาที นั่นหมายความว่า ผู้ขับขี่จะมีเวลาราว 5 วินาที หรือคิดเป็นระยะทางประมาณ 150 เมตร ก่อนถึงจุดเกิดอุบัติเหตุ ที่จะตอบสนองโดยกลับไปควบคุมทิศทางเอง แต่กลับไม่ปรากฏหลักฐานว่า ผู้ขับขี่ได้กลับมาจับพวงมาลัยเลย จนเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตในที่สุด

(ภาพอุบัติเหตุ Tesla Model X คันที่ประสบอุบัติเหตุ)

บทสรุปดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้งาน Tesla Model S รายหนึ่งเกิดข้อสงสัยว่า ระบบ Autopilot ได้แจ้งเตือนก่อนเกิดเหตุ ตามที่ผู้ผลิตกล่าวอ้างหรือไม่ เขาจึงมุ่งหน้าไปยังจุดเกิดเหตุด้วยรถยนต์ไฟฟ้าของเขา พร้อมใช้ระบบขับขี่อัตโนมัติ และบันทึกวีดีโอไปด้วย ซึ่งผลที่ได้คือ ก่อนถึงจุดที่เคยเหตุ ระบบไม่มีการเตือนใด ทั้งยังหน่วงพวงมาลัยไปยังแบร์ริเออร์มรณะเองอีกด้วย

เคราะห์ดีที่ผู้ทดสอบดึงพวงมาลัยกลับยัง ทิศทางที่ถูกต้องทันเวลา ทั้งนี้ เราไม่สามารถโทษระบบ Autopilot อย่างเดียว เนื่องจากเส้นถนนบริเวณดังกล่าวมีสภาพไม่สมบูรณ์จริง และแม้แต่มนุษย์เองยังอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นช่องจราจรด้วย ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่า ภาครัฐควรรับผิดชอบการดูแลสภาพเส้นแบ่งถนนให้ดีกว่านี้ ส่วนผู้ขับขี่รถยนต์ขับขี่อัตโนมัติเอง ควรเตรียมพร้อมที่จะบังคับพวงมาลัยอยู่เสมอ

ที่มา: Electrek (1), (2)