ในโลกของอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น มอเตอร์สปอร์ต หรือการแข่งรถในคลาสต่างๆ มีคุณค่าเปรียบได้ดังน้ำจิ้มสุกี้รสเผ็ดที่ช่วยเสริมสร้างให้ธุรกิจหลักในการผลิตรถยนต์นั่งสำหรับคนทั่วไปดูมีความขลังมากขึ้น แต่ความเป็นจริงแล้ว มอเตอร์สปอร์ตไม่ได้มีไว้เพื่อเสริมภาพลักษณ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะหากพิจารณาตามความเป็นจริง เทคโนโลยีหลายอย่างที่อยู่ในรถบ้านของพวกเราทุกวันนี้ ก่อกำเนิดมาจากการทดลอง สังเกตผล และปรับปรุง นับร้อยนับพันครั้งในสนามแข่ง

จะเห็นได้ว่าในบรรดาบริษัทรถชั้นนำของโลกนั้น หากสามารถยื่นมือยื่นเท้าเข้าไปข้องแวะกับโลกมอเตอร์สปอร์ตได้โดยกระเป๋าตังค์ไม่แหก พวกเขาก็จะทำเสมอ บางค่ายอาจจะเคยส่งรถเข้าแข่ง Le Mans บ้าง Formula 1 บ้าง ลงแข่ง World Rally แล้วถอนตัวบ้าง แต่มันก็คือการผละจากจุดหนึ่งไปทุ่มงบกับอีกจุดหนึ่ง เพราะอย่างไรเสีย สุกี้อร่อยแค่ไหนท้ายสุดก็ต้องมีน้ำจิ้มอย่างมอเตอร์สปอร์ตนี่ล่ะ เป็นตัวสร้างความเผ็ดให้ ทั้งในแง่ทักษะทางด้านวิศวกรรม และภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่มีต่อบรรดานักเลงรถ

Nissan ก็เป็นอีกค่ายหนึ่งที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการทำรถลงมาแข่งในมอเตอร์สปอร์ตหลายรายการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าถ้ามองค่ายนี้เป็นคนปรุงน้ำจิ้ม เขาก็คือคนปรุงที่เคยลองทำมาแล้วเกือบทุกรูปแบบ จะทำไปให้ใครที่ไหนกินก็รู้สูตรรู้ทันเขาไปหมด พลังทางมอเตอร์สปอร์ตของ Nissan จึงเปรียบได้กับคลังความรู้ที่สั่งสมมานาน และถ้าคุณพยายามจะหาสาเหตุว่าทำไม GT-R ถึงเป็นรถที่บุคคลผู้มีชื่อเสียงในแวดวงรถต่างมีไว้ในครอบครอง ส่วนคนที่ยังไม่เคยครอบครองก็ถวิลหา ขายวิญญาณแก่นางฟ้าซาตานเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของสักครั้งในชีวิต คำตอบมันก็อยู่ที่คุณลักษณะของรถที่บ่มเพาะมาจากประสบการณ์บนสนามนี่เอง

และเมื่อเมืองไทยมีสนามแข่งรถขนาดใหญ่มาตรฐานสากลตำบลโลกอย่างที่บุรีรัมย์ผุดขึ้นมา เราจึงมีโอกาสได้ชมรายการมอเตอร์สปอร์ตชั้นนำอย่าง Super GT

Super GT มาจากไหน?

เด็กยุคใหม่คงจะคุ้นชื่อรายการแข่งนี้อยู่แล้ว แต่สำหรับคนรุ่นน้ารุ่นลุงที่เคยเป็นนักจับเช็งตัวเอ้ยุค 90s แต่ผันชีวิตไปทำแต่งานจนลืมโลกรถยนต์นั้น ก็อาจจะคุ้นหูมากกว่ากับคำว่า JGTC หรือ All Japan Grand Touring Car Championship ซึ่งนับเป็นรายการแข่งรถคลาส Grand Touring Car ระดับท้อปของญี่ปุ่น ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1993 โดยสมาพันธ์ JAF – Japan Automotive Federation แต่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Super GT เมื่อปี 2005

สาเหตุการเปลี่ยนชื่อ? ก็เพราะในปีนั้นทางผู้จัดเขาวางแผนที่จะไปจัดการแข่งที่เซี่ยงไฮ้ เพิ่มจากเดิมที่มีสนาม Sepang-Malaysia ซึ่งตามกฎของ FIA นั้น จะทำให้รายการ JGTC กลายเป็นการแข่งระดับนานาชาติเพราะจัดการแข่งที่ต่างประเทศเกิน 1 ครั้งต่อปี ดังนั้น “พี่จะเอาคำว่า Japan หรือ All Japan มานำหน้าชื่อรายการแข่งมิได้ครับ” เพราะไม่ใช่การแข่งในชาติเดียวอีกต่อไป รวมถึงกฎต่างๆก็ต้องมาอยู่ในความดูแลของ FIA ดังนั้นก็เลยเปลี่ยนชื่อมาเป็น Super GT แต่ในช่วงหลายปีหลังจากนั้น ก็จัดการแข่งนอกดินแดนแค่ปีละครั้ง และย้ายจากที่มาเลย์มาจัดที่บุรีรัมย์ในปี 2015

รถที่ใช้ในการแข่ง

สำหรับรายการ Super GT นั้น จะมีการแบ่งคลาสออกเป็น 2 รุ่น คือ GT500 (รุ่นโหด) และ GT300 (รุ่นโหดรองลงมา) รถทั้งสองคลาสจะแข่งโดยวิ่งไปบนสนามพร้อมกัน เวลาวิ่งรอบควอลิฟายเพื่อหาตำแหน่งสตาร์ทออกจากเส้นชัยเสร็จ รถ GT500 จะถูกจัดเอาไว้แถวหน้าในขณะที่รถ GT300 จะอยู่ในแถวหลัง การแข่งในลักษณะนี้ดูแล้วมันส์ แต่เพิ่มความยากให้กับผู้ขับรถแข่ง GT500 เพราะด้วยสมรรถนะของรถที่สูงกว่ามาก ทำให้ในการแข่ง 66 รอบสนาม จะมีหลายต่อหลายครั้งที่รถจากคลาส GT500 จะถูกบล็อคโดยรถ GT300 และต้องพยายามหาทางแซงให้ได้เร็วที่สุด

ฟังดูแล้วคุ้น ..มันก็คล้ายกับการแข่ง Blancpain GT Series ซึ่งมีรถคลาส GT2 และ GT3 วิ่งปะปนกันไปนั่นเองล่ะครับ

คุณสมบัติโดยทั่วไปของรถแข่ง GT500

  • ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ 2.0 ลิตร เทอร์โบชาร์จ มีกำลังสูงสุดประมาณ 600 แรงม้า (แล้วแต่การจูนของแต่ละค่าย แต่อยู่ภายใต้กฎของการแข่งขัน)
  • ตัวถังแบบสเปซเฟรม ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการทยอยปรับเปลี่ยนให้มีลักษณะคล้ายสเป็คของรถแข่งทัวร์ริ่งคาร์เยอรมัน (DTM) มากขึ้น เพื่อเข้าสู่มาตรฐานใหม่ที่ชื่อว่า “Class One” และสามารถทำให้ทีมแข่งสามารถใช้เทคโนโลยีเดียวกันในการพัฒนารถเพื่อเข้าร่วมการแข่งในหลายรายการมากขึ้น ลดต้นทุนในการวิจัยพัฒนา ลดงบประมาณ และทำให้กีฬาแบบมอเตอร์สปอร์ตสามารถยืนหยัดอยู่ได้ในระยะยาว
  • มีการกำหนดให้ใช้ชิ้นส่วนบางส่วนร่วมกันระหว่างรถแต่ละยี่ห้อที่เข้าแข่ง หรือให้ใช้สเป็คที่คำนวณแล้วว่าไม่ก่อให้เกิดความได้เปรียบ/เสียเปรียบกัน เช่น เบรก ยาง ลิ้นหน้า ดิฟฟิวเซอร์หลัง สปอยเลอร์หลัง
  • ค่ายหลักที่มีรถแข่งคลาสนี้ ณ ปัจจุบัน ได้แก่ Nissan (GT-R Nismo GT500, Toyota (โดยใช้รถแข่ง Lexus LC500) และ Honda (NSX)
  • รถแข่ง GT500 จะใช้โคมไฟหน้าสีขาวปกติ และสติกเกอร์คาดกระจกเป็นสีขาว

คุณสมบัติโดยทั่วไปของรถแข่ง GT300

  • มีความหลากหลายทางโครงสร้างและเครื่องยนต์มากกว่า GT500 คือมีทั้งเครื่องยนต์ 4, 6, 8 และ 10 สูบ แต่ละเครื่องจะถูกปรับจูนภายใต้เงื่อนไขการควบคุมของ JAF ทำให้ในที่สุดเครื่องยนต์แต่ละแบบมีความได้เปรียบ/เสียเปรียบต่อกันน้อยที่สุด
  • โครงสร้างมีทั้งแบบสเปซเฟรม พัฒนาโดยทีมมอเตอร์สปอร์ตของบริษัทรถยนต์ หรือเป็นโครงสร้างร่วม ที่พัฒนาขึ้นมาโดยบริษัทหนึ่ง จากนั้นจึงให้ทีมแข่งอิสระซื้อโครงสร้างและเครื่องยนต์ไปใช้ จะครอบทับด้วยตัวถังภายนอกของรถอะไรก็แล้วแต่ศรัทธา
  • แรงกดอากาศของแอโร่พาร์ทนั้นจะน้อยกว่ารถคลาส GT500 แต่น้ำหนักตัวรถจะหนักกว่า อย่างไรก็ตาม กฎการแข่งขันใหม่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำให้รถคลาส GT300 ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากทีมอิสระและทีมบริษัทรถทั้งญี่ปุ่นและยุโรป มีอัตราเร่งและความเกาะถนนที่ใกล้เคียงรถ GT500 มากขึ้น
  • รถ GT300 จะมีลักษณะให้สังเกตได้จากไฟหน้าสีเหลือง และสติกเกอร์คาดกระจกหน้าสีเหลือง

ในการแข่งขัน Super GT สนามที่ 4 Chang International Circuit บุรีรัมย์นี้ ทาง Nissan ดันทีม NISMO ส่งรถเข้าร่วมแข่งในคลาส GT500 (หมายเลข 23) ขับโดย Tsugio Matsuda และ Ronnie Quintarelli เป็นผู้ขับ นอกจากนี้ยังได้เชิญสื่อมวลชน (รวมทั้งผม) เข้าร่วมการบรรยายก่อนแข่ง และได้มีโอกาสพบปะกับน้า Michael Krumm ซึ่งเป็นนักแข่งที่ฝากฝีมือไว้อย่างโชกโชนกับการแข่งขัน Super GT, LMP และเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ NISMO ในปัจจุบัน

ซึ่งสิ่งที่พิเศษของงานในครั้งนี้ที่ Nissan ประเทศไทยจัดให้พวกเราคือการได้เดิน Pit walk เข้าใกล้ชิดกับรถแข่งของทีม Nissan และทีมอื่นที่ Nissan เป็น Partner ให้การสนับสนุนรถแข่ง ทำให้ในงาน Super GT ครั้งนี้ มี GT-R ลงในคลาส GT500 ทั้งหมด 4 คัน และ GT300 อีก 2 คัน ซึ่ง Michael Krumm และทีมงานจาก Nissan ประเทศไทยได้ให้เกียรติบรรยายสรรพคุณของรถแข่ง น่าเสียดายเล็กน้อยที่รถแข่งคลาส GT500 นั้นเป็นรุ่นที่มีความลับเยอะ จึงไม่สามารถเปิดให้เราชมได้ แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นภายในของรถ GT300 ก็แล้วกันครับ

GT500 Class – Nissan GT-R NISMO GT500

ขนาดตัวถัง ความยาว 4,725 มิลลิเมตร กว้าง 1,950 มิลลิเมตร สูง 1,150 มิลลิเมตร ความยาวฐานล้อ 2,750 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวถังตามเกณฑ์ ไม่น้อยไปกว่า 1,020 กิโลกรัม

สเป็คเครื่องยนต์ เป็นเครื่องพิเศษสำหรับการแข่งขัน รหัส NR20A แบบ 4 สูบเรียง จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดตรง Direct Injection ใช้เทอร์โบเดี่ยวขนาดใหญ่ แรงม้าตามสเป็คระบุมาแค่ “มากกว่า 550 PS” และเช่นเดียวกับแรงบิดที่บอกแค่ว่า “มากกว่า 50 กก.ม.”  จำกัดพลังด้วยตัวควบคุมการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้อัตราการฉีดน้ำมันสูงได้ไม่เกิน 95 กิโลกรัมต่อ 1 ชั่วโมง

เครื่องยนต์ส่งกำลังผ่านคลัตช์แบบแห้ง 4 แผ่นซ้อน ซึ่งเป็นคลัตช์คาร์บอนขนาด 5.5 นิ้ว ต่อไปยังเกียร์ Sequential แบบ 6 จังหวะ ช่วงล่างด้านหน้าและหลังเป็นแบบดับเบิลวิชโบน เบรกหน้าและหลังใช้จานเบรกคาร์บอน คาลิเปอร์หน้า 6 Pot และหลัง 4 Pot ส่วนล้อหน้า มีขนาด 18 นิ้ว กว้าง 12 นิ้ว หุ้มด้วยยางแข่งไซส์ 30/68 R18 ส่วนด้านหลังเป็นล้อขนาด 18 นิ้วกว้่าง 13 นิ้ว ใช้ยางขนาด 31/71R18

GT300 Class – Nissan GT-R NISMO GT3




ขนาดตัวถัง ความยาว 4,832 มิลลิเมตร กว้าง 2,036 มิลลิเมตร ความยาวฐานล้อ 2,817 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวถังตามเกณฑ์ ไม่น้อยไปกว่า 1,285 กิโลกรัม

สเป็คเครื่องยนต์ เป็นเครื่องที่มีพื้นฐานมาจากบล็อคปกติของ GT-R R35 รหัส VR38DETT แบบ V6 สูบ 3,799 ซี.ซี. เทอร์โบคู่ อินเตอร์คูลเลอร์แบบอากาศสู่อากาศวางแนวเกือบนอน  แรงม้าตามสเป็คระบุมาแค่ “มากกว่า 550 PS ที่ 6,500 รอบต่อนาที” และเช่นเดียวกับแรงบิดที่แจ้งแค่ “มากกว่า 65 กก.ม. ที่ 5,000 รอบต่อนาที”  จำกัดพลังด้วยตัวควบคุมการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้อัตราการฉีดน้ำมันสูงได้ไม่เกิน 95 กิโลกรัมต่อ 1 ชั่วโมง

เครื่องยนต์ส่งกำลังผ่านคลัตช์แบบแห้ง 4 แผ่นซ้อนขนาด 5.5 นิ้ว (ไม่ใช้คลัตช์คาร์บอน) ส่งพลังต่อไปยังเกียร์ Sequential แบบ 6 จังหวะ

ช่วงล่างด้านหน้าและหลังเป็นแบบดับเบิลวิชโบน เบรกหน้าและหลังใช้จานเบรกโลหะ คาลิเปอร์หน้า 6 Pot และหลัง 4 Pot ส่วนล้อและยางทั้งด้านหน้าและหลัง มีขนาดเท่ากันคือล้อขอบ 18 นิ้ว กว้าง 13 นิ้ว หุ้มด้วยยางแข่งไซส์ 330/710R18

อีกอย่างหนึ่งที่ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนบอก แต่สังเกตได้จากที่เห็นคือ มือจับเปิดประตูเป็นสีครีมเบจ หน้าตาเหมือนของ Tiida Latio เป๊ะ (อันนี้แอบดีใจแทนเจ้าของ Tiida หลายคนรวมถึงตัวผมเองด้วย)

นอกจากนี้ เทคโนโลยีสำคัญอย่างหนึ่งในรถแข่ง GT-R NISMO GT3 ที่เราได้เห็นก็คือระบบระบายความร้อนคนขับ ซึ่งเป็นท่อเป่าลมเย็น ต่อจากตัวรถมาที่ส่วนบนของหมวกกันน็อค โดยท่อชุดนี้จะต่อกับเครื่องปรับอากาศแบบพิเศษที่ทำงานเฉพาะเวลาเหยียบเบรก ดังนั้นนอกจากจะมีผลเล็กน้อยในการช่วยหน่วงความเร็วแล้ว ก็ยังช่วยลดความร้อนให้กับตัวคนขับ

ฟังดูอาจจะน่าสงสัยว่าระบบนี้ทำมาเพื่ออะไร แต่ลองนึกดูว่าถ้าคุณเป็นนักแข่ง ที่ต้องขับรถภายใต้ความเครียดสูง แล้วยิ่งเป็นรายการ Super GT ซึ่งต้องวิ่งรอบสนามใหญ่อย่างที่บุรีรัมย์ต่อเนื่องกัน 66 รอบ ไม่ว่าใครก็คงอยากได้สภาพแวดล้อมรอบตัวที่ช่วยให้ผู้ขับผ่อนคลายได้มากที่สุด ความร้อนนั้นส่งผลต่อความเครียดและความเหนื่อยล้า ดังนั้นอุปกรณ์นี้นับว่าช่วยให้คนขับสามารถทำงานที่หนักเท่ากับนักแข่งทีมอื่นได้ในสภาวะที่เป็นใจมากกว่า

ทีมมอเตอร์สปอร์ตของ Nissan เป็นผู้คิดค้นระบบนี้ขึ้น และในปัจจุบันทีมแข่งอื่นๆก็ซื้อลิขสิทธิ์ไปใช้

ฝูงรถจากทีมแข่งที่ใช้ GTR

  • ทีม: NDDP RACING with B-MAX
  • หมายเลข: 3
  • รถที่ใช้: CRAFT Sports MOTUL GT-R
  • คลาสแข่ง: GT500
  • นักขับที่ 1: Satoshi Motoyama
  • นักขับที่ 2: Katsumasa Chiyo
  • ทีม: TEAM IMPUL
  • หมายเลข: 12
  • รถที่ใช้: CALSONIC IMPUL GT-R
  • คลาสแข่ง: GT500
  • นักขับที่ 1: Daiki Sasaki
  • นักขับที่ 2: Jann Marden Borough
  • ทีม: NISMO (ทีมหลักจากทางค่ายเอง)
  • หมายเลข: 23
  • รถที่ใช้: MOTUL AUTECH GT-R
  • คลาสแข่ง: GT500
  • นักขับที่ 1: Tsugio Matsuda
  • นักขับที่ 2: Ronnie Quintarelli
  • ทีม: KONDO RACING
  • หมายเลข: 24
  • รถที่ใช้: Forum Engineering ADVAN GT-R
  • คลาสแข่ง: GT500
  • นักขับที่ 1: Joao Paulo Lima de Oliveira
  • นักขับที่ 2: Mitsunori Takaboshi
  • ทีม: GAINER (คันที่ 1)
  • หมายเลข: 10
  • รถที่ใช้: GAINER TANAX triple a GT-R
  • คลาสแข่ง: GT300
  • นักขับที่ 1: Kazuki Hoshino
  • นักขับที่ 2: Hiroki Yoshida
  • ทีม: GAINER (คันที่ 2)
  • หมายเลข: 11
  • รถที่ใช้: GAINER TANAX GT-R
  • คลาสแข่ง: GT300
  • นักขับที่ 1: Katsuyuki Hiranaka
  • นักขับที่ 2: Hironobu Yasuda

การแข่งขัน – สมหวังกับ GT300

ในวันที่ 30 มิถุนายน 2018 รอบควอลิฟายจัดตำแหน่ง Grid สตาร์ท ผลปรากฏว่าในคลาส GT500 นั้นยังไม่น่าพอใจ โดย Michael Krumm อธิบายว่าช่วงบ่ายที่มีการควอลิฟายนั้นมีฝนตกในระหว่างการแข่งขัน และยางที่เลือกใช้มีผลต่อประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนน โดยทีมแข่งที่ใช้ GT-R ที่สร้างผลงานได้ดีที่สุดในวันนั้นคือหมายเลข 24 ของทีม KONDO RACING ซึ่งทำเวลาได้เร็วที่สุด 1 นาที 23.687 วินาที ได้ตำแหน่งสตาร์ทเป็นอันดับที่ 4

รองลงมาคือรถสีน้ำเงินหมายเลข 12 ของ TEAM IMPUL ทำเวลาได้เร็วสุด 1 นาที 24.146 วินาที คว้าตำแหน่งสตาร์ทอันดับที่ 7 ส่วนตำแหน่งสตาร์ทลำดับที่ 9 ตกเป็นของทีม NDDP RACING กับรถแข่งหมายเลข 3 ทำเวลาได้เร็วที่สุด 1 นาที 30.228 วินาที และทีม NISMO รถสีแดงหมายเลข 24 ออกสตาร์ทเป็นอันดับสุดท้ายใน Grid จากตำแหน่งที่ 15 ทำเวลาเร็วที่สุดในรอบควอลิฟายได้ 1 นาที 31.588 วินาที

ทั้งนี้ รถหมายเลข 12 และ 24 ไม่ได้วิ่งทำเวลาควอลิฟายครบ 2 รอบเหมือนรถคันอื่น คาดว่าเนื่องจากสภาพอากาศใน Session นั้นมีฝนเทลงมาพอสมควร

มาถึงการแข่งขันจริงในวันที่ 1 กรกฎาคมช่วงบ่าย ดำเนินไปด้วยการขับเคี่ยวกันระหว่างทีมรถแข่ง Lexus และ Honda โดยมี Lexus วิ่งนำหัวเป็นส่วนใหญ่ ส่วนทีมแข่งที่ใช้รถ Nissan นั้นมีลุ้นกับความดุของนักแข่งทีม KONDO RACING หมายเลข 24 ขับโดย Joao Paulo Lima de Oliveira ซึ่งพยายามเฆี่ยนไล่ล่าจ่าฝูงทำอันดับ 4-6 เกือบตลอดการแข่งซีกแรก แต่แล้วก็เกิดเหตุไม่คาดฝัน ในรอบที่ 23 จาก 66 รถของเขาสะกิดเข้ากับ GT-R ด้วยกันจากทีม IMPUL หมายเลข 12 สีน้ำเงิน ขับโดย Daiki Sasaki บนทางตรงช่วงผ่านหน้า Grand Stand รถของ Oliveira เสียหลักหมุนคว้างออกเข้ากองหินทราย และทำให้ต้องนำรถออกจากการแข่งขันไปในที่สุดอย่างน่าเสียดาย

ในช่วงครึ่งหนึ่งของการแข่งขัน รถหมายเลข 24 ของทีม NISMO และหมายเลข 3 ของ NDDP RACING ไต่ขึ้นมาจากอันดับที่ 12-13 มาอยู่ที่ 6-7 ตามลำดับ ในขณะที่รถหมายเลข 12 ของ IMPUL RACING อยู่ลำดับที่ 5

เข้าสู่ช่วงรอบที่ 50 ของการแข่ง อันดับของรถทีม Nissan มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยหมายเลข 12 ลงไปอยู่ลำดับที่ 7 เพราะทนแรงกดดันจากความดุของนักขับ Lexus ทีม ZENT ไม่ไหว ส่วนรถหมายเลข 3 ของ NDDP ย้ายมาอยู่ลำดับที่ 8 ในขณะที่หมายเลข 24 ของ NISMO ร่วงไปอยู่อันดับที่ 9

ในช่วงท้ายสุดของการแข่ง มีแต่หมายเลข 12 ของ IMPUL RACING ที่ยังยันอันดับ 7 เอาไว้ได้ ส่วน NDDP กับ NISMO กลับมาอยู่อันดับที่ 12-13 ตามลำดับ ผลสรุปการแข่งขัน คลาส GT500 จบด้วยอันดับ 1-3 ตกเป็นของรถแข่ง Lexus LC500 ของทีม DENSO, WAKO และWedSport ตามลำดับ ส่วนทีม Nissan ก็คงต้องมีการบ้านไปล้างแค้นในศึกถัดไป

ส่วนรุ่น GT300 นั้น ในวันควอลิฟาย รถหมายเลข 11 ของทีม GAINER ขับโดย Katsuyuki Hiranaka/Hironobu Yasuda ทำเวลาได้เร็วที่สุด 1 นาที 33.01 วินาที ยืน Grid ในอันดับที่ 4 ในขณะที่รถทีม GAINER อีกคันเป็นหมายเลข 10 ขับโดย Kazuki Hoshino/Hiroki Yoshida รั้งท้ายเพราะไม่ได้วิ่งควอลิฟายกับเขา ออกสตาร์ทเป็นอันดับสุดท้าย

พอถึงเวลาวิ่งจริง GAINER GT-R หมายเลข 11 อาศัยความเป็นจ่าฝูงตั้งแต่ตอนออกสตาร์ทวิ่งนำในกลุ่มหัวมาโดยตลอด โดยขับไล่กันอย่างดุเดือดกับรถแข่ง BMW M6 GT3 ของทีม AUTOBACS กับ Lexus RC F GT3 ของทีม LM Corsa ก่อนที่ในช่วงท้ายของการแข่งขันจะมี Prius apr GT ของทีม apr ไล่บี้ขึ้นมาจี้ท้ายติดได้เพราะ M6 ของ AUTOBACS ไม่สามารถทำการแข่งขันต่อได้ อย่างไรก็ตามหมายเลข 11 GT-R ของทีม GAINER ก็เข้าเส้นชัยได้เป็นอันดับ 1 ในรุ่น GT300

นี่คือความปกติของโลกมอเตอร์สปอร์ต ทุกความแน่นอน มีความไม่แน่นอน แม้กระทั่งในรอบเกือบสุดท้ายของการแข่งขัน Lexus LC500 ของทีม au TOM’s ซึ่งวิ่งหัวมาเกือบตลอด กำลังอยู่ในอันดับสอง เกิดความขัดข้องทางเทคนิคจนวิ่งต่อไม่ได้ทั้งที่เหลืออีกเพียงรอบเดียวจะเข้าเส้นชัย

อย่างไรก็ตาม คนที่ได้กำไรจากงานแบบนี้มากที่สุด คือคนดู และผู้ใช้รถ ซึ่งมีรายการแข่งดีๆให้ลุ้นกันเกือบตลอดปี และในระหว่างการ Entertain คนดูด้วยความตื่นเต้นนั้น สนามแข่ง ก็เปรียบเสมือนเวทีที่บริษัทรถยนต์ใช้เก็บข้อมูลต่างๆเพื่อนำไปพัฒนารถที่นำมาผลิตออกให้คนทั่วไปซื้อได้

มอเตอร์สปอร์ต กับวงการรถยนต์ และผู้ซื้อรถทั่วไป จึงเปรียบเสมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าที่มีทั้งประโยชน์ การลงทุนมหาศาล และความเหนื่อยของบรรดาวิศวกร แต่ท้ายสุด ผลที่ได้ก็จะวนเวียนอยู่กับพวกเราที่เป็นคนบ้ารถเสมอ สิ่งที่พวกเขาพัฒนาลงไปในรถแข่ง GT-R ในวันนี้ สักวันก็จะมาอยู่ใน GT-R วันข้างหน้าที่คุณเป็นเจ้าของได้ (ถ้ารวยพอ)

ผมขอทิ้งท้ายด้วยบรรยากาศ Pit Walk และ Grid Walk เพิ่มเติมแล้วกันนะครับ

——//////——-


ขอขอบคุณ / Special Thanks to:

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

Communications Department, NISSAN MOTOR (THAILAND) CO., LTD. 

Pan Paitoonpong

สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นของ 

  • ช่างภาพจากทาง Nissan Motor (ประเทศไทย)
  • PR สนาม Chang International Circuit
  • น้องมิก กนกพร ปัญญาวรรณ
  • และผู้เขียน

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com  8 กรกฎาคม 2018

Copyright (c) 2018 Text and PicturesUse of such content either in part or in whole without permission is prohibited. First published in www.Headlightmag.com. 8 July 2018