หัวข้อยาวเฟื้อยขนาดนี้คงไม่ใช่โครงการธรรมดา ๆ แค่นำรถมาประกอบในไทยขายปุเลง ๆ ไปวัน ๆ แต่มันมีความสำคัญถึงระดับ Global ที่หวังยอดขายเป็นกอบเป็นกำและอุดช่องว่างรถขนาดเล็กอย่างเฉียบคมและเด็ดขาดรวมทั้งเป็นความหวังของ Nissan ประเทศไทยและอาเซียนที่จะพลิกกลับมาติดตลาดได้อีกครั้ง

บทความที่ทุกท่านได้อ่านนี้ผมรวบรวมข้อมูลมานานกว่า 2 ปีจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ไม่สามารถเปิดเผยได้รวมทั้งข้อมูลเอกสารของบริษัทแม่ที่กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของโครงการนี้ นำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์โดยใช้ดุลพินิจของความจริงประกอบกันไปด้วยครับ

เชื่อว่า SpyNews หรือ Spyshot ของรถรุ่นนี้คงไม่มีแค่ครั้งเดียวแน่ ผมจะพยายามติดตามข่าวสารและสรุปไว้ใน Headlightmag.com ก่อนใครครับ

ตำนาน Nissan March ประเทศไทย

ประเทศไทยเคยมีประวัติศาสตร์ Nissan March K10 มาแล้วในสมัยผู้ดูแลการตลาดโดยคุณพรพินิจ พรประภา ภายใต้หัวเรี่ยวหัวแรงเจ้าสัวใหญ่ คุณถาวร พรประภา ที่ยิ่งใหญ่ขับเคี่ยวกับ Toyota ถึงพริกถึงขิงในอดีตดำรินำชิ้นส่วน CKD จากญี่ปุ่นมาประกอบขายในไทย เปิดตัวปี 1985 เพราะเล็งเห็นรถเล็กยังมีช่องทางอยู่ (เช่นเดียวกับ Toyota มองเห็นอนาคตว่า Corolla จะต้องอัพเกรดขึ้นไปเรื่อย ๆ จึงนำ Starlet มาจำหน่ายช่วงไล่เลี่ยกัน)

ปรากฏว่าล้มเหลวอย่างหมดรูป ด้วยจังหวะการนำเสนอที่ผิดที่ ผิดเวลายิ่งนัก อย่าลืมว่าสมัยก่อนราคาของ Sunny,Corolla,Lancer จัดว่าถูกที่สุด ประหยัดน้ำมันและความคุ้มค่าลงตัวที่สุด ขณะที่รถเล็กกว่าทั้งหลายทำราคาต่ำกว่าไม่มากเพราะต้นทุนไม่แตกต่างจากรถคอมแพคท์นักอีก(นำเข้าชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นเสียส่วนใหญ่อีกต่างหาก) จุดเด่นความประหยัดก็ไม่ชัดเจนจึงทำให้รถเล็กทุกแบรนด์ต้องมีอันม้วยมรณาไป

March ทำยอดขายสูงสุดแค่ 30 คันต่อเดือนเท่านั้น ขณะที่ Sunny รถยอดนิยมทำยอดขายเฉลี่ยเดือนละ 200 คัน ส่วนคู่แข่ง Toyota Starlet ถึงขั้นเชิญสื่อมวลชนไปเยี่ยมโรงงานที่ญี่ปุ่นและให้ทดลองขับก่อนวางจำหน่ายจริงเป็นเดือน ๆ ยังทำยอดขายสูงสุดแค่ 50 คัน หลังจากนั้นจึงแผ่วปลายลงไป

ผมสืบเสาะข่าวต่าง ๆ จากหลาย ๆ แหล่งเรามาดูทัศนคติของผู้สันทัดกรณีที่เคยสัมภาษณ์ลงในนิตยสารผู้จัดการฉบับพฤศจิกายน 2529

“สาเหตุที่มันไปได้ไม่ค่อยดี เนื่องจากความหรูหรา ความสวยงามหลายสิ่งหลายอย่างถูกตัดออกเกือบหมดเมื่อนำเข้ามาเมืองไทย ซึ่งเทียบกับของยี่ห้ออื่นแล้ว ยี่ห้ออื่นเขาให้อะไรมากกว่ามาร์ชในญี่ปุ่นถ้าคุณเห็นแล้วคุณจะชอบมาก ภายในมันหรูหราหน้าปัดอะไรต่างๆ พราวไปหมด ยิ่งโดยเฉพาะวัยรุ่นเห็นเป็นต้องชอบ แต่พอเอาเข้ามาในตลาดเมืองไทย สิ่งที่ไม่จำเป็นถูกตัดออกเหลือเพียงเข็มวัดน้ำมัน วัดไมล์ เข็มวัดความร้อน แล้วก็ไฟ แค่นั้นเอง บางสิ่งบางอย่างที่มันสวยหรือที่คนชอบมากกว่านี้ ไม่ได้ใส่เข้าไป มันก็ไม่ชวนให้ใช้ ไม่หรู ดูแค่เรียบๆ เท่านั้นเอง ซึ่งถ้าเทียบกับซูซูกิรุ่นเอสเอ 413 (หรือ Suzuki CULTUS – ผู้เขียน) ซึ่งเป็นรถที่ในเครือสยามกลการเข้ามาเหมือนกันแล้ว จะเห็นถึงความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซูซูกิเขามีเข็มวัดรอบให้ภายในเขาสวยหรู เบาะก็ลายสวยหรู ดูแล้วมันเร้าใจอยากขับ หุ้นก็สวยมีสปอยเลอร์ให้อีก มันน่าใช้”

จากบทสัมภาษณ์ข้างต้น สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ March ไม่ประสบความสำเร็จ คือการตัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากเกินกว่าลูกค้าส่วนใหญ่ยอมรับได้ ถ้าเทียบกับ Starlet ให้เครื่องยนต์และอุปกรณ์มาตรฐานเหนือชั้นกว่าแถมดูปราดเปรียวกว่าเล็กน้อยเพราะเป็นโมเดลเชนจ์ที่เปิดตัวตามหลัง March ถึง 3 ปี แต่ประเทศไทยเพิ่งนำมาขายจึงหมดโอกาสกวาดยอดขายก่อน Starlet จะมานั่นเองครับ จนต้องยุติการทำตลาดภายในปี 1987 อย่างน่าเสียดายทำให้ March K10 ในไทยกลายเป็นของหายากเสียแล้ว

นับแต่บัดนั้นมาเราไม่เคยมีข่าวคราวว่า สยามกลการเตรียมแผนการประกอบรถขนาดเล็กในประเทศไทยอีกเลย กระทั่งกลางยุค 90 ที่สองค่ายคู่แข่ง Toyota และ Honda เปิดตลาดรถขนาดเล็กราคาประหยัดมาอุดช่องว่างรถราคา 3-4 แสนอย่างลงตัว ขณะที่ Corolla และ Civic ขยับราคาจนแตะ 6 แสนบาทแล้ว   แน่นอนประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามช่วยต่อยอดสร้างฐานลูกค้าเป็นกอบเป็นกำจากการมีสินค้าระดับล่างสุด (Bottom Of Range) อย่างถูกที่ถูกเวลา

ทำให้นิสสันภายใต้แกนนำคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช อยากจะมีส่วนร่วมกับตลาดซีดานขนาดเล็กบ้าง ทั้ง ๆ ตนเองเพิ่งประสบความล้มเหลวในตระกูล NV ความฝันที่อยากจะมีรถแห่งชาติของตนเองกลับกลายเป็นการนำตระกูล Sunny California หรือ Wingroad ที่ใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกับ Sentra B13 เปิดตัวผิดเวลาอย่างมหันต์เพราะช่วงนั้นตลาดเปิดเสรีรถนำเข้าแล้ว และราคา NV-A แวกอนไม่ถูกจริงนัก มีเพียง NV-B ที่ทำยอดขายได้ไม่เลวเพราะรถราคาถูก ปราดเปรียวและแรงจัดน้ำหนักเบา ว่ากันว่าสมัยนั้นอาจจะนำ NV-A มาดัดแปลงอีกทีหนึ่งและกดราคาต่ำให้เหลือ 2 แสนปลาย ๆ แต่กาลเวลาทำให้ข่าวนี้เงียบหายไปกับสายลม หลังจากนั้นภาพลักษณ์ความยิ่งใหญ่ของ Nissan ก็ค่อย ๆ เลือนไปเพราะไม่มีรถเล็กอุดช่องว่าง

จนกระทั่งเปลี่ยนมือไปสู่ยุคคุณพรเทพ พรประภา ความคิดริเริ่มที่จะทำรถเล็กก็ไม่เป็นรูปร่างเสียที มาชัดเจนอีกทีช่วงที่เปิดตัว Nissan Sunny Neo เดือนกันยายน 2000 ตอกย้ำแนวคิดว่ารถเล็กนั้นโตยากทั้ง ๆ ที่ช่วงนั้นยังเพิ่งฟื้นจากพิษต้มยำกุ้งไม่นานนัก แต่จากการโหมกระหน่ำของ Toyota Soulna Vios และ Honda City ช่วงปลายปี 2002 ตลาดรถยนต์นั่งขยายตัวที่รวดเร็วเกินกว่า Nissan จะขยับยอดขายให้ใกล้เคียงคู่แข่งได้เพราะมีแค่ Sunny และ Cefiro ทำตลาดเท่านั้น นับตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา Nissan ไม่สามารถครองบัลลังก์ยอดขายรวมอันดับ 3 ของประเทศรองจาก Isuzu ได้อีกเลยจนถึงปัจจุบัน

เมื่อคู่แข่งโกยฐานระดับล่างเป็นก็เท่ากับว่าสร้างฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งกว่า Nissan จนยากที่จะปฏิเสธ ถามว่าพวกเขาไม่มีความคิดที่จะทำรถระดับนี้ขายหรือช่วงระหว่างปี 1998-2002 คำตอบคือไม่มีแผนสร้างรถเล็กระดับอาเซียน สาเหตุประการสำคัญ นิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น บีบให้สยามกลการขายหุ้นอย่างเบ็ดเสร็จจึงไม่มีรถรุ่นใหม่ ๆ หรือสิ่งใหม่ ๆ สู่ตลาดได้ทำให้ภาพพจน์ความเป็นผู้นำค่อย ๆ เลือนหายไปจากผู้บริโภค

แต่เมื่อซื้อหุ้นเสร็จสรรพเรียบร้อยภายในไทยปี 2003 ทำให้จิ๊กซอว์ของ Carlos Ghosn ชัดเจนขึ้นทีละขั้นเมื่อร่วมลงุทนกับกลุ่มดงเฟิงประเทศจีนในปี 2003 และก่อตั้งแบรนด์นิสสันครั้งแรกในอินเดียในปี 2004 เมื่อ 3 ดินแดนพร้อมสรรพขนาดนี้โปรเจคท์รถขนาดเล็กที่ราคาถูกที่สุด (Bottom of Range)ของ Nissan น่าจะทำให้ฝันเป็นจริงได้

Nissan A-platform ปิดจุดอ่อนด้วยยุทธศาสตร์ระดับโลก

จุดอ่อนของ Nissan ณ เวลานี้คือขาดรถยนต์นั่งระดับโลก (Global Passenger Model) ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นจนกวาดยอดขายติดอันดับต้น ๆ ในหลายประเทศ แม้รถเล็กหลายรุ่นที่เกิดมาในยุคของ Carlos Ghosn จะช่วยสร้างยอดขายในตลาดญี่ปุ่น และยุโรปแล้วก็ตาม แต่ความโดดเด่นกลับตกอยู่ที่ รถยนต์ขนาดใหญ่ หรือรถสปอร์ตอันหรูหราและมีตลาดจำกัดในวงแคบ จำหน่ายแค่บางประเทศเท่านั้น ได้แก่ 350Z,เอสยูวีใหญ่ Murano แม้กระทั่งรถครอสโอเวอร์คอมแพคท์ Qashqai ที่ประสบความสำเร็จล้นหลามในยุโรปก็ไม่ได้เป็นสินค้าระดับ Global เลย ทำให้ภาพของ Nissan ยังไม่เด่นชัดว่า จะมุ่งเอาใจทุกทวีปด้วยสินค้าที่แตกต่างกันได้จริงหรือ? ขนาดคู่แข่งพัฒนาสินค้าเอาใจตลาดทั่วโลกกลับเป็น Class Leading เป็นที่พูดถึงในเซ็กเมนต์นั้นมากกว่า

ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือรถยนต์ในกลุ่มคอมแพกต์ หรือ C-Segment อย่าง Tiida ที่ดูเหมือนจะทำตลาดแนว Global แต่กลับค่อยๆทำตลาดในยุโรปตะวันตก อย่างเงียบๆ หนำซ้ำกลับขายดีแค่บางภูมิภาคเท่านั้น เช่น จีน ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง นอกนั้นอยู่ในขั้นพอไปได้จนถึงล้มเหลวสุด ๆ เฉกเช่นในประเทศออสเตรเลียและอาเซียน 

ตัวอย่างต่อมาที่ล้มเหลว อย่างชัดเจนที่สุดคือ Sentra รุ่นปัจจุบัน ซึ่งเปิดตัวในปี 2006 แม้จะออกแบบขึ้นสำหรับชาวอเมริกันโดยเฉพาะ แต่ไม่สามารถซื้อใจลูกค้าได้เลยเพราะงานดีไซน์ที่สู้คู่แข่งไม่ได้ทั้งความกลมกลืน ความทันสมัย และความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี ทำยอดขายสูงสุดเพียง 13,000 คันเท่านั้น ปัจจุบันมียอดขายเพียง 6,000 กว่าคันต่อเดือน ขณะที่คู่แข่งรวมไปถึงคู่แข่งสัญชาติอเมริกันแท้ๆอย่าง Ford Focus ทำยอดขายทิ้งห่างไปไกลลิบ

ดังนั้น หาก Nissan กล้าทุ่มทุนสร้างรถ 1 รุ่นเอาใจตลาดทั่วโลกแต่โดดเด่นทั้งงานออกแบบ และคุณสมบัติต่าง ๆ ก็ดูจะคุ้มทุนกว่าและทำให้ภาพลักษณ์ผู้นำรถสัญชาติญี่ปุ่นดูชัดเจนขึ้น

เหตุนี้ นิสสัน จึงริเริ่มโครงการพัฒนารถยนต์ขนาดเล็กบนพื้นตัวถังใหม่ A-Platform ในปี 2005 อุดช่องว่างรถเล็กระดับโลกที่ Nissan ขาดหายไป พลิกแนวคิดให้ประเทศต้นทุนการผลิตต่ำ 5 ประเทศป้อนรถยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วนให้แก่กว่า 150 ประเทศทั่วโลกหรือกลุ่มเหล่านี้ว่า Leading Competitive Country (LCC) ได้แก่ ไทย,อินเดีย,จีน,เม็กซิโก และอีก 1 ประเทศที่ยังไม่เปิดเผยในตอนนี้ โดยโรงงานผลิตที่ญี่ปุ่นและอังกฤษจะผลิตรถรุ่นอื่นๆแทน

เหตุผลสำคัญที่ต้องย้ายฐานการผลิตชนิดพลิกแผ่นดินขนาดนี้เพราะต้นทุนประเทศที่พัฒนาแล้วสูงมากไม่ว่าจะเป็นค่าแรงงาน,ค่าวัตถุดิบ,ค่าขนส่งการเดินทาง และค่าเงินบาทที่นับวันจะแข็งค่าขึ้นเรื่อย ๆ  อีกทั้งกลุ่มประเทศLCC เหล่านี้มีทรัพยารกรและภูมิศาสตร์ที่ดีมากต่อการส่งออก,ข้อเสนอการลงทุนสูง,ต้นทุนการผลิตต่ำ

เมื่อแนวคิดการลดต้นทุนเป็นแกนนำทำให้ต้องสร้าง Infrastructor ด้านการผลิตชิ้นส่วนใหม่,พยายามหาแหล่งชิ้นส่วนหรือซัพพลายเออร์ที่ถูกที่สุดในกลุ่มประเทศ LCC,ออกแบบ Logistics การขนชิ้นส่วนข้ามประเทศใหม่ทั้งหมดช่วยลดค่าใช้จ่ายได้,ใช้ชิ้นส่วนภายในกลุ่มประเทศ LCC สูงสุด 90% รวมทั้งวิธีการลดต้นทุนอื่น ๆ ที่ยังปิดเป็นความลับอยู่ทำให้ลดต้นทุนการผลิตลงถึง 30% เมื่อเทียบกับการผลิต March รุ่นปัจจุบัน

Nissan คาดหวังยอดขายรถตระกูล A-platform มากกว่า 1 ล้านคัน/ปีจาก 150 กว่าประเทศทั่วโลก เมื่อฐานการผลิตทุกประเทศผลิตเต็มกำลัง

March รุ่นต่อไป 1 ในโครงการ A-platform (Global Entry Level)คันแรก

รถที่อยู่ในโครงการ A-platform ทำตลาดทั่วโลกเตรียมผลิตถึง 3 ตัวถัง ได้แก่
1.  March/Micra โฉมถัดไปรหัสพัฒนา X02A (หรือบางครั้งเรียกว่า B02A)
2.  ซีดานขนาดซับคอมแพคท์รหัส L02B
3.  รถอเนกประสงค์รหัส W02C

ความโดดเด่นของรถในโครงการ A-platformมีดังต่อไปนี้
1.  ราคาที่ซื้อหาได้ (Affordable) เพื่ออุดช่องว่างในตลาด Entry-Level
2.  ขนาดตัวถัง,ความกว้างขวางของห้องโดยสาร และเทคโนโลยีแบบ B-segment
3.  อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง,ค่าใช้จ่ายต่ำ ได้แก่ ค่าบำรุงรักษา,ค่าอะไหล่ เหมือนรถ A-segment

การถือกำเนิดขึ้นของมาร์ชใหม่ บนพื้นตัวถัง A-platform ถือว่าถูกจังหวะที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะช่วงนี้กระแสตอบรับรถขนาดเล็กทั่วโลก เพิ่มสูงขึ้นมาก อันเกิดจากหลาย ๆ  ประเทศได้รับสิทธิ์งดเว้นภาษีในรูปแบบต่าง ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศ LCC ที่มีสิทธิทางภาษีเช่น ประเทศอินเดีย งดเว้นภาษีสำหรับรถขนาดไม่เกิน 4 เมตร เครื่องยนต์ 1.2 ลิตร,ประเทศจีน งดเว้นภาษีรถยนต์ขนาดต่ำกว่า 1,600 ซีซี,ประเทศไทย ก็มีภาษีอีโคคาร์ 17% อย่างที่ผู้อ่านทราบกันดีล่ะครับ

Nissan March โฉมใหม่นับเป็นเจเนเรชั่นที่ 4 ยังคงความโค้งมน น่ารักกลมกลึง คลาสสิคกึ่งโมเดิร์นไว้ แต่เพิ่มความทันสมัยแห่งรถยุคทศวรรตใหม่ เส้นสายจะดูปราดเปรียวและเพิ่มความสปอร์ตมากขึ้นดูเป็นหนุ่มมากกว่าเดิม ลบจุดอ่อน March K12 ที่อ่อนช้อยเกินไปสำหรับลูกค้าผู้ชาย ดังที่จะนำเสนอผ่านภาพวาดที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับ Marchโฉมใหม่ทั้งหมดรังสรรค์ขึ้นโดยคุณ NTP นักวาดภาพมืออาชีพประจำเว็บเรา

ขนาดตัวถังใหญ่ขึ้นกว่าโฉมปัจจุบัน ความยาวจะอยู่ระหว่าง 3,750-3,850 มม. ความกว้าง 1,690-1,695 มม.ความสูงจะอยู่ที่ 1,510-1,530 มม.ขนาดตัวถังพอ ๆ กับ Yaris,Mazda2,Fiesta และ Jazz นั่นเอง (L02B ซีดานขนาดตัวถังจะพอ ๆ กับ Honda City เมื่อเป็นเช่นนั้น Latio โฉมต่อไปจะต้องขยายไซส์แตะระดับเดียวกับหรือใหญ่กว่า Honda Civic )

จุดแตกต่างที่ช่วยเรียกลูกค้าผู้ชายด้วยการถอดกระจังหน้าทรงปีกนกขนาดใหญ่ทิ้งใส่กระจังหน้าแบบมีช่องดักลมสี่เหลี่ยมเปียกปูนดูละม้ายกระจังหน้า GT-R เพิ่มลูกเล่นความลึกของไฟหน้าด้วยขอบเบ้าไฟหน้าคล้าย ๆ Toyota Vios รุ่นปัจจุบัน แต่ยังคงรักษาทรงไฟหน้าแบบวงรีไว้เหนียวแน่นrพร้อมกันชนหน้าแบบใหม่ที่ออกแบบช่องดักลมให้กว้างขึ้น ไฟสปอตไลต์ทรงกลม และคิ้วขอบกันชนทำให้ดูทะมัดทะแมงมากขึ้น

การออกแบบบั้นท้ายมาคราวนี้จะไม่มาแนวแบบ Beetle หรือทรงฟักทองอีกต่อไป ซึ่งจุดนี้ทำให้ลูกค้าผู้ชายบางท่านคิดว่าอ่อนหวานเกินไปจึงปรับให้บั้นท้ายลาดเอียงต่อเนื่องไม่มีเส้นตัดที่ลากจากด้านข้างจรดฝากระโปรงอีกต่อไป หากไม่เห็นภาพนึกถึงบั้นท้าย Toyota Yaris,Mazda 2 นั่นแหล่ะครับ

ภายในห้องโดยสารเอาใจวัยรุ่นเต็มที่ด้วยแนวดีไซน์ทรงวงกลมและวงรีดูน่ารักเก๋ไก๋ แม้กระทั่งปุ่มกดแอร์ได้แรงบันดาลใจจากปุ่มกดเครื่องเล่นเกมส์

เครื่องยนต์ใหม่เป็นไฮไลต์เด็ดที่โดดเด่นเกินหน้าเกินตาเครื่องยนต์เบนซินในค่ายตัวเอง บล๊อก 3 สูบ 1.2 ลิตร มีความเป็นไปได้สูงว่าจะบรรจุเทคโนโลยีหัวฉีดคู่ (Dual Fuel Injection) พร้อมวาล์วแปรผัน CVTC ฝั่งไอเสียหลักการคล้าย Dual-VVTi ของ Toyota ทำให้ประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้น 4 % เมื่อเทียบความจุเดียวกันและลดมลภาวะลงทำให้ลดต้นทุนวัสดุหายากในแคตตาไลติค คอนเวอร์เตอร์ลงได้ถึง 50% รีดแรงม้าได้ระหว่าง 90-110 แรงม้า

จับคู่กับเกียร์ XtronicCVT เจเนเรชั่นใหม่ที่ประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกกว่า 10% ผลของเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าทั้งหมดจะทำให้สมรรถนะรถรุ่นนี้โดดเด่นหรืออาจจะดีกว่าเครื่อง 1.4 ลิตรของบางแบรนด์ และทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ระดับ 25 กิโลเมตร/ลิตร

ส่วนตลาดญี่ปุ่นจะมีรุ่นเครื่อง 1.0 ลิตรสำหรับทำตลาดรุ่นราคาประหยัดและรุ่นเครื่องเทอร์โบชาร์จและซุเปอร์ชาร์จสำหรับวางในรุ่นสปอร์ตเหมือนในยุค March Super Turbo

ระบบกันสะเทือนยังไม่เด่นชัดนักว่ามาในรูปแบบไหน แต่จุดเด่นที่ชัดเจนของ A-platform คือน้ำหนักเบา ใช้เนื้อที่น้อย และต้นทุนไม่แพงนัก มีความเป็นไปได้สูงว่าช่วงล่างของ March เวอร์ชันเมืองไทยจะถูกเซ็ตมาให้ถูกใจลูกค้าชาวไทยที่ชอบทั้งความหนึบและความนุ่มแบบพอดี ๆ ภาพรวมจะดีกว่า Tiida ล๊อตปัจจุบัน

กำหนดการเปิดตัว

ประเทศไทยถูกจารึกในประวัติศาสตร์ของ Nissan Motor ว่าเป็นประเทศแรกในโลกที่เปิด March โฉมใหม่ครั้งแรกในโลกก่อนญี่ปุ่นภายในเดือนมีนาคม 2010 ในฐานะผู้นำตลาด Eco-car รายแรกของเมืองไทยและมีความเป็นไปได้สูงว่า Micra โฉมใหม่จะถูกเผยโฉมที่งาน Geneva MotorShow มีนาคมปีหน้าพร้อมกับ Qazana ครอสโอเวอร์รุ่นเล็ก

หลังจากนั้นโรงงานบางนา กม.21 จะเริ่้มประกอบส่งออกทำตลาดในไทย ก่อนจะส่งไปยังประเทศญี่ปุ่นราวเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2010 ล็อตแรก จำนวน 5,500 คัน ส่วนประเทศอินเดียจะเปิดตัวผลิตขายในเดือนพฤษภาคม 2010 เริ่มส่งขายตลาดยุโรปตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2010 เป็นต้นไป ประเทศจีนจะเปิดตัวและผลิตขายไม่เกินเดือนมิถุนายน 2010

ส่วนประเทศเม็กซิโกและอีก 1 ประเทศที่ยังไม่เปิดเผย ยังไม่แน่ชัดว่าจะผลิตช่วงเวลาใดคาดว่าคงจะผลิตช่วงสิ้นปี 2010-2011

กลยุทธ์การตลาดและการประชาสัมพันธ์จะใช้ในระดับ Global จึงไม่แปลกใจเราอาจจะได้เห็นข่าวคราว ทางอินเตอร์เน็ต หรือโฆษณาทางโทรทัศน์ที่เหมือน ๆ กันในหลายประเทศทั่วโลก

ราคาจำหน่าย

จุดขายของ Nissan March/Micra โฉมใหม่ทั่วโลกคือเป็นรถที่มีตัวถังใหญ่ระดับ B-segment ระดับเดียวกับ Honda Jazz,Toyota Yaris,Mazda 2 ห้องโดยสารโปร่งกว้างสบาย แต่เคาะราคารุ่นเครื่อง 1.0 และ 1.2 ลิตรระนาบเดียวกับ A-segment

ประเทศญี่ปุ่นจะวางจำหน่ายรุ่นเครื่อง 1.0 ลิตร เคาะราคาราว 890,000 – 900,000 เยน ราคาถูกกว่าหรือใกล้เคียงกับรถ K-car บางรุ่นบางยี่ห้อ ไม่ใกล้ไม่ไกล Nissan Pino 660 ซีซีราคาเริ่มต้น 861,000 เยน มีความเป็นไปได้สูงมากว่า Nissan จะหยุดสั่งซื้อ Pino ที่นำรถ Alto จากค่าย Suzuki มาแปะตราของตนเองอย่างถาวร เพื่อหลีกทางให้ March 1.0 ลิตรทำตลาดได้เต็มที่ แม้จะเริ่มต้นสั่งซื้อ Pino มาได้เพียง 1 ปีเศษๆเท่านั้น นอกจากนี้ เวอร์ชันญี่ปุ่น จะมีเครื่องยนต์ 1.4 ลิตร Turbo ให้เลือกเป็นพิเศษอีกด้วย โดยเครื่องยนต์ดังกล่าว จะถูกประกอบขึ้นในเมืองไทยของเรานี่เอง แต่อย่าหวังว่าจะได้เห็นเครื่องยนต์ตัวนี้ มาทำตลาดในบ้านเราได้ง่ายนัก

นิสสันประเทศไทยได้รับสิทธิ์ภาษีอีโคคาร์ 17% และลดเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสามารถทำราคาอยู่ระหว่าง 3-4 แสนบาทได้ ราคาเริ่มต้นเป็นข้อกังหาว่าจะกดราคาไว้ที่เท่าไรแต่ที่แน่ ๆ ราคาต้องเริ่มต้นต่ำกว่า 4 แสนบาทถือเป็นการปิดช่องว่างรถราคา 3-4 แสน (Bottom of Range) เฉกเช่นในอดีต

ความคาดหวัง

A-platform ถือเป็นงานยักษ์ระดับช้างยิ่งกว่าหลายโครงการที่ Carlos Ghosn เคยดูแลมา ตั้งเป้ายอดขายทั่วโลกไว้มากกว่า 1 ล้านคันจากฐานการผลิตทุกแห่งที่วางแผนไว้ เมื่อทุกฝ่ายตั้งความหวังสูงไว้เช่นนี้ มันช่างประจวบเหมาะเป็นความหวังครั้งใหม่ ของนิสสันประเทศไทยและอาเซียน ที่จะหวนกลับมามียอดขายและภาพพจน์แบรนด์ให้ยิ่งใหญ่ติดตลาดเฉกเช่นอดีตในฐานะเป็นผู้นำตลาดอีโคคาร์รายแรกของเมืองไทย เปิดตลาดเซกเมนต์ใหม่ในรอบสิบกว่าปี

ตลาดอีโคคาร์ดูเผิน ๆ เหมือนจะมีคู่แข่งมากแต่ด้วยจังหวะที่เหมาะสมของ Nissan ที่ไม่มีคู่แข่งทำตลาดจนกว่าจะถึงปี 2011 ทำให้ตลาดนี้กลายเป็นบ่อน้ำแอ่งใหม่ที่สามารถสร้างยอดขายและรากฐานแบรนด์ให้แน่นจนขยายความแข็งแกร่งของตนเองต่อไป

หากดูจากหลายสิ่งหลายอย่างก็เชื่อว่าน่าจะทำให้ Nissan ถึงเป้าหมายได้โดยเฉพาะตลาดรถเล็กขยายตัวแบบนี้ ถือเป็นจังหวะที่ดีไม่น้อย

และบังเอิญCarlos Ghosn ก็เชื่อมั่นเช่นนั้น เหมือนกัน

 


สงวนลิขสิทธิ์ [2009] ทั้งบทความและภาพเฉพาะที่มีลายน้ำตราสัญลักษณ์ Headlightmag.com
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
Headlightmag.com

Copyright (c) [2009] Text and Pictures only with watermark of Headlightmag Logo
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
Headlightmag.com

 

 แสดงความคิดต่อบทความ Spyshot นี้คลิ๊กที่นี่