ทีมงาน Headlightmag มีโอกาสได้ไปสัมผัสรถคันจริงของ NEW Mazda CX-5 ที่มาเลเซีย อันเป็นประเทศที่เป็นฐานการผลิต SUV สายพันธุ์ SKYACTIV ที่นำเข้ามาจำหน่ายในบ้านเราในรุ่นปัจจุบัน และ แน่นอนครับรุ่นใหม่นี้ Generation ที่ 2 (Gen2 : รหัส KF) ก็ยังคงต้องนำเข้าจากโรงงานที่นี่อยู่ เพราะเป็นการร่วมทุนระหว่าง AAT (Auto Alliance) 49 % กับ Sime Darby 51% ทำให้ต้องมีการผลิต CX-5 ที่นี่ เพื่อส่งกลับไปขายยังประเทศไทย

วันนี้เราเลยขอพาชม Mazda CX-5 เปรียบเทียบระหว่าง Gen1 และ Gen2 ทั้งภายนอก และ ภายในห้องโดยสาร ให้เห็นกันชัดๆ

Exterior ภายนอก

งานออกแบบภายนอกของ The NEW CX-5 Gen2 ยังมาใน Design Theme ” KODO DESIGN ” Soul of Motion เช่นเคย แต่เส้นสายภายนอกของรุ่นที่ 2 นี้ จะมาด้วยแนวคิด ” CAR AS ART ” หรือ แปลเป็นไทยก็คือ รถยนต์เปรียบเสมือนกับงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ทำให้เส้นสายต่างๆของตัวรถมีความพริ้วไหวมากขึ้น เสา A-Pillar (เสาด้านหน้ารถบริเวณกระจกบังลมหน้า) ถูกปรับตำแหน่งไปยังด้านหลังประมาณ 35 มิลลิเมตร เพื่อให้เกิดความสมดุลกว่าเดิม

นอกจากนี้ยังขยายระยะห่างระหว่างล้อคู่หน้า / ล้อคู่หลัง ให้กว้างขึ้นอีก 10 มิลลิเมตร จากรุ่นเดิม หน้า / หลัง : 1,585 / 1,590 มิลลิเมตร เป็น 1,595 / 1,600 มิลลิเมตร ทั้งหมดนี้ทำให้ตัวรถนั้นดูต่ำลงในแนวระนาบ ขยายด้านหน้ารถให้ดูกว้าง เพรียวบางมากขึ้นกว่าเดิม ให้ความรู้สึกว่ารถกำลังเกาะถนนไว้อย่างมั่นคง Shinichi Isayama : Chief Designer ของ Mazda CX-5 ได้กล่าวไว้

Dimension มิติตัวถัง

Gen1

  • ยาว x กว้าง x สูง : 4,540 x 1,840 x 1,710 มิลลิเมตร
  • ระยะฐานล้อ Wheelbase : 2,700 มิลลิเมตร
  • ระยะต่ำสุดถึงพื้น Ground Clearance : 215 มิลลิเมตร

Gen2

  • ยาว x กว้าง x สูง : 4,550 x 1,840 x 1,680 มิลลิเมตร
  • ระยะฐานล้อ Wheelbase : 2,700 มิลลิเมตร
  • ระยะต่ำสุดถึงพื้น Ground Clearance : 193 มิลลิเมตร

เมื่อเทียบกับรุ่นเดิม CX-5 Gen2 ยาวขึ้น 10 มิลลิเมตร, กว้างเท่าเดิม และ เตี้ยลง 30 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวเท่าเดิม ส่วนระยะต่ำสุดถึงพื้น Ground Clearance ลดลง 22 มิลลิเมตร

(ภาพบน Gen 1 / ภาพล่าง Gen 2)

อีกอย่างหนึ่งที่น่าจะเป็นข่าวดี คือ สีตัวถังภายนอก ที่คราวนี้ โรงงาน Inokom Plant ที่มาเลเซีย ในเมืองคูลิม (Kulim) รัฐเคดาห์ (Kedah) ได้สร้างโรงพ่นสีตัวถังแห่งใหม่ เสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ CX-5 Gen2 ใหม่นี้ จะเป็นรถที่ผลิตจากโรงงานในมาเลเซียรุ่นแรก ที่สามารถทำสีแดง Soul Red Metallic ได้ (สีแดง Soul Red Crystal เป็นสีแบบ Premium เนื้อสีหนา 3 ชั้น พ่นด้วยเทคนิคพิเศษ ที่พัฒนาให้ดีขึ้นกว่า Soul Red Metallic) รวมถึง สีเทา Machine Grey Metallic และ สีขาวมุก Pearl White

มองในภาพรวมของตัวรถจะดูเหมือนว่า CX-5 Gen2 เหมือนจะเป็นรุ่น Minorchange ที่เปลี่ยนแค่ดีไซน์ภายนอก ด้านหน้า – ด้านหลัง และ ภายในห้องโดยสารเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว โครงสร้างเปลือกตัวถังด้านนอก ถูกเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เพียงแต่ยังคงเอกลักษณ์เส้นสายกรอบหน้าต่างของรุ่นเดิมเอาไว้อยู่ เลยทำให้มองผ่านๆคล้ายรุ่นเดิมมาก

เส้นสายตัวรถทั้งคันเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด รวมถึงแนวขอบหน้าต่างด้านล่าง มีการลดองศาลง และ ตกแต่งด้วยขอบโครเมียม ลากยาวตวัดขึ้นไปบริเวณหน้าต่างโอเปร่าด้านหลังตรงเสา C-Pillar นอกจากนี้บริเวณเสากลาง B-Pillar และ กรอบประตูด้านหลัง ยังใช้วัสดุสีดำเงา Piano Black ตกแต่งด้วย ในขณะที่รุ่นเดิมใช้สีดำด้าน

(ภาพบน Gen 1 / ภาพล่าง Gen 2)

โคมไฟหน้าแบบ Projector Lens LED พร้อมระบบไฟหน้าอัจฉริยะ Adaptive LED Headlamp บีบขนาดให้เล็กลง และ ถูกวางตำแหน่งให้ต่ำลงกว่าเดิม โดยขยายขนาดของกระจังหน้าให้ใหญ่ขึ้น เปลี่ยนจากเส้นแนวนอนสีเทาดำ เป็นแบบรังผึ้งสีดำเงา (ดูรายละเอียดจากรถคันจริงแล้ว ต้องขอบอกว่าอาจจะเหนื่อยพอสมควรกับการล้างตรงจุดนี้) ล้อมกรอบด้วยเส้นโครเมียมที่ลากยาวต่อเนื่องไปกับชุดไฟหน้า แต่ไฟเลี้ยวในโคมไฟหน้ายังคงเป็นหลอดปกติอยู่ ส่วนด้านล่างที่เป็นไฟดวงเล็กๆ คือ ไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบ LED

(ภาพบน Gen 1 / ภาพล่าง Gen 2)

ล้ออัลลอยในรุ่น Top ยังคงใช้ขนาด 19 นิ้ว 5 รู 19 x 7J แต่มีการเปลี่ยนลวดลายใหม่ พร้อมกับทำสีทูโทนไฮไลต์เพื่อเพิ่มมิติให้กับตัวล้อ (อันที่จริงรุ่น Minorchange Gen1 ที่ต่างประเทศก็ได้ล้อแบบทูโทนแล้ว แต่ของไทยได้แบบเดิม) รัดด้วยยาง Toyo Tyres Proxes R46 ขนาด 225/55 R19 (Gen1 ใช้รุ่น R36) Made in Malaysia เหมือนกันทั้งคู่

ครึ่งคันหลังของรถเป็นจุดที่มีความเปลี่ยนแปลงไม่น้อยไปกว่าด้านหน้า เริ่มจากหน้าต่างของบานประตูหลัง จากเดิมที่มีเส้นกรอบกระจกคั่น ก็ถูกดีไซน์ใหม่ให้ไม่มีเส้นดังกล่าว เพื่อความสวยงามมากขึ้น ฝาถังน้ำมันจากวงกลมก็ถูกเปลี่ยนไปใช้สี่เหลี่ยมแทน

ด้านท้ายของ Gen2 ถูกปรับเส้นสายให้ดูเรียบขึ้น มองเผินๆก็คล้ายกับรุ่นน้องอย่าง Mazda 3 เอามายกสูง เส้นสายของ Gen1 จะดูมีเหลี่ยมสัน และ บึกบึนมากกว่า ชายล่างกันชนจากเดิมพลาสติกกันกระแทกสีดำจะกินพื้นที่ขึ้นมาเกือบถึงขอบฝาท้าย แต่รุ่นใหม่นั้นกดระดับให้ต่ำลง มีพื้นที่ของสีกันชนรถที่เป็นสีเดียวกับสีตัวถังมากขึ้น ด้านล่างซ้าย-ขวา ยังคงติดตั้งปลายท่อไอเสียคู่เอาไว้เหมือนเดิม

ความเห็นส่วนตัวแล้ว ส่วนด้านท้ายรถ ผมแอบชอบของรุ่น Gen 1 มากกว่า คิดว่ามันดูมีมิติกว่า ลงตัวกว่า แต่ก็อย่างว่าแหละครับ เรื่องความสวยงาม เป็นเรื่องของรสนิยม คนเราแต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน

(ภาพบน Gen 1 / ภาพล่าง Gen 2)

CX-5 Gen2 มีการปรับองศากระจกบังลมหลังให้เอนมากขึ้น ด้านบนติดตั้งเสาอากาศแบบครีบฉลาม Shark Fin สีเดียวกับตัวรถ ชุดไฟท้ายปรับขนาดให้เพรียว และ เล็กลงตามดีไซน์ด้านหน้ารถ ภายในโคมประกอบด้วยชุดไฟหรี่แบบ LED Tube สวยงามขึ้น และ ไฟเบรกแบบ LED 6 ดวง ส่วนไฟเลี้ยว และ ไฟถอยหลังจะเป็นหลอดแบบปกติ นอกจากนี้ชุดโคมไฟท้ายจะมีการตัดขอบสีดำเงาล้อมเอาไว้ด้วย

ฝาท้ายของรุ่นใหม่ จะเพิ่มระบบเปิด-ปิด ด้วยไฟฟ้า มีสวิตซ์สั่งงานได้จากภายในรถ บริเวณด้านขวาฝั่งคนขับ และ สวิตซ์เปิด-ปิด บริเวณฝาท้าย นอกจากนี้ที่กุญแจที่เป็นแบบ Smart Keyless Entry ยังมีสวิตซ์เปิด-ปิดฝาท้าย มาให้อีกด้วย

(ภาพบน Gen 1 / ภาพล่าง Gen 2)

พื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลัง มีขนาด 505 ลิตร ตามมาตรฐาน DIN (เพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิม 5 ลิตร) มีแผงบังสัมภาระมาให้ สามารถยึดกับชุดฝาท้าย ยกขึ้นเมื่อเปิดออก และ ดึงเก็บได้หากไม่ต้องการใช้งาน

คันโยกพับเบาะนั่งด้านหลังจากท้ายรถก็ยังมีให้เหมือนรุ่นเดิม แบ่งออกเป็นคันโยกด้านซ้าย และ ขวา แยกพับตามเบาะนั่งด้านหลังที่เป็นอัตราส่วน 40 : 20 : 20

ใต้พื้นที่เก็บสัมภาระเป็นที่เก็บยางอะไหล่ ให้ขนาดมาเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นรุ่นล้อ 17 นิ้ว หรือ ล้อ 19 นิ้ว เป็นล้อกระทะขนาด 17 นิ้ว 17 x 5.5 T รัดด้วยยาง 185/80 R17

Interior ภายในห้องโดยสาร

(ภาพบน Gen 1 / ภาพล่าง Gen 2)

ภายในห้องโดยสารของ Mazda CX-5 Gen2 ถูกออกแบบให้เน้นไปที่ 3 หัวข้อหลัก คือ

  • บรรยากาศ Ambience
  • รูปแบบ Form
  • ผิวสัมผัส Texture

ภายใต้แนวคิดหลัก ” Refined Toughness ” หรือแปลเป็นไทย คือ ความแข็งแกร่ง แต่แฝงไปด้วยความปราณีตในทุกๆรายละเอียด โดยคำนึงถึงองค์ประกอบทุกส่วนที่ล้อมรอบผู้โดยสาร


(ภาพบน Gen 1 / ภาพล่าง Gen 2)

ภายในห้องโดยสารยังคงใช้โทนสีดำ แต่มีการปรับวัสดุหุ้มใหม่ ให้มีคุณภาพดีขึ้นกว่าเดิม เพราะถ้าหากเทียบกันแล้ว CX-5 Gen1 ในเรื่องของการใช้วัสดุยังคงตามหลังรุ่นน้อง CX-3, Mazda2, Mazda 3 อยู่ แต่ในรุ่นใหม่ Gen2 มีการปรับให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของหนังที่ใช้หุ้มเบาะ แดชบอร์ด แผงประตู และ เบาะนั่ง มีการเดินตะเข็บด้ายคู่ (Double Stitching) ทั่วคันรถ ทั้งบริเวณแดชบอร์ดหน้า ลากยาวจากซ้ายไปขวา บริเวณแผงประตูทั้ง 4 บาน

วัสดุตกแต่งที่ใช้ภายในห้องโดยสาร มีทั้ง ลายไม้โทนออกสีเทา ผิวแบบกึ่งมันกึ่งด้าน, วัสดุสีดำเงา Piano Black และ ตัดขอบต่างๆด้วย เส้นอะลูมิเนียมสีเงินกึ่งเงากึ่งด้านเช่นกัน ถึงแม้จะมีวัสดุตกแต่งภายในที่หลากหลายแต่เมื่อมาอยู่รวมกันแล้วมันก็ดูลงตัวพอสมควร

จอกลางขนาด 7 นิ้ว แบบระบบสัมผัส Touchscreen จากเดิมที่ฝังอยู่บนแดชบอร์ดหน้า ก็ถูกแยกออกมาเป็นเหมือน Tablet แปะเอาไว้ ตามเทรนด์ของภายใน Mazda ยุคใหม่ๆ แต่สิ่งที่ทำให้จอกลางนี้ ดูไม่ขัดตามากนักหากเทียบกับรุ่นน้องอย่าง Mazda 2, 3 และ CX-3 คือ จอของ CX-5 ใหม่ จะเป็นแบบยาวสี่เหลี่ยมผืนผ้า สัดส่วนด้านแนวนอน จะมากกว่าแนวตั้งค่อนข้างเยอะ เมื่อเทียบกับรุ่นอื่นๆของ Mazda พื้นที่ขอบสีดำข้างจอจะเยอะกว่า คาดว่าต้องการให้ดูขนานไปกับแนวแดชบอร์ดที่เน้นไปที่เส้นแนวนอน ไม่ขัดสายตา คล้ายๆกับจอของ BMW ยุคใหม่

(ภาพบน Gen 1 / ภาพล่าง Gen 2)

แต่สิ่งที่อาจจะทำให้ดูขัดตาคือ ช่องใส่ CD ที่แทรกอยู่ตรงกลางแดชบอร์ด น่าจะเอามาไว้ใต้ช่องแอร์ บริเวณเหนือชุดควบคุมระบบปรับอากาศ น่าจะดูเข้าท่ากว่า ชุดควบคุมระบบปรับอากาศก็ยกมาจากรุ่นเดิม ปรับอุณหภูมิอิสระแยกซ้าย – ขวา Dual Zone ตรงกลางเป็นหน้าจอแสดงผลแบบดิจิตอล

ฐานเกียร์ และ คันเกียร์ถูกปรับให้มีตำแหน่งสูงขึ้นกว่ารุ่นเดิมถึง 60 มิลลิเมตร เพื่อให้คนขับใช้งานได้สะดวกมากขึ้น ฐานเกียร์ตกแต่งด้วยวัสดุสีดำเงา Piano Black เสี่ยงต่อการเกิดรอยขนแมวสูง แต่ก็แลกมาด้วยความสวยงาม (ถ้ามันยังดูใหม่) ตัดขอบด้วยวัสดุอะลูมิเนียมสีเงิน และ เดินตะเข็บด้ายคู่ (Double Stitching) ตรงจุดนี้จะมีการเปลี่ยนสีด้าย จากสีเทาเป็นสีน้ำตาล

การแบ่งสีตะเข็บด้ายคู่ที่เดินรอบคันรถ ครึ่งคันบน ตั้งแต่แดชบอร์ด แผงประตูส่วนบน จะใช้ด้ายสีเทา ส่วนครึ่งคันล่าง บริเวณคอนโซลกลาง แผงประตูครึ่งล่าง และ เบาะนั่ง จะใช้ด้ายสีน้ำตาล

(ภาพบน Gen 1 / ภาพล่าง Gen 2)

ชุดควบคุม Center Commander ก็ยกชุดมาจากรุ่นเดิมเช่นกัน มาพร้อมระบบเบรกมือไฟฟ้า EPB ที่คราวนี้เพิ่มระบบ Auto Hold มาให้แล้ว หลักการทำงานของระบบ Auto Brake Hold คือ เมื่อกดปุ่มให้ระบบทำงาน เมื่อจอดรถนิ่งสนิทที่ตำแหน่งเกียร์ D เกิน 3 วินาทีขึ้นไป สามารถยกเท้าออกจากแป้นเบรกได้ โดยที่รถยังไม่เคลื่อนที่ เมื่อต้องการไปข้างหน้า ก็เพียงแค่เติมคันเร่ง ออกตัวตามปกติ

พวงมาลัยของ CX-5 Gen2 มาพร้อมดีไซน์ใหม่ เหมือนอย่าง Mazda3 Minorchange, Mazda2 และ CX-3 MY2017 นั่นเอง ชุดมาตรวัดมองผ่านๆจะคล้ายของเดิม แต่ถ้าหากดูรายละเอียดดีๆจะพบว่า มีการเปลี่ยน Font ตัวเลขใหม่ เป็นแบบตรงๆไม่เอียง วงซ้ายสุดเป็นมาตรวัดรอบ มีหน้าจอดิจิตอลเล็กๆบอกตำแหน่งเกียร์อยู่ ส่วนวงกลางเป็นมาตรวัดความเร็ว เอาหน้าจอบอกระยะทาง Trip Meter ออกไปรวมกับชุดหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID ขนาด 4.6 นิ้ว แบบสี TFT วงขวาสุด

(ภาพบน Gen 1 / ภาพล่าง Gen 2)

คราวนี้มาถึงสิ่งที่หลายท่านสงสัย และ สนใจค่อนข้างมากคือ เรื่องของเบาะนั่ง ทั้งด้านหน้า และ ด้านหลัง ว่ามีการปรับปรุงไปจากเดิมหรือไม่ เพราะ Gen1 ทำผลงานได้ไว้ไม่ค่อยดีนัก เมื่อเทียบกับคู่แข่งใน Segment เดียวกัน

Minoru Takata, Program Manager ผู้ที่ดูแลโปรเจค CX-5 Gen2 (ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทผลิตถุงลม Takata นะครับ) ได้กล่าวเอาไว้ว่า CX-5 รุ่นใหม่นี้ พยายามเอาใจคนนั่งโดยสารมากขึ้น มีการสำรวจความคิดเห็น และ รับฟังปัญหาจากผู้ใช้งาน CX-5 รุ่นแรก ในส่วนของผู้โดยสารเพิ่มขึ้น เพื่อให้ทุกคนในรถมีความสะดวกสบาย และ รู้สึกประทับใจไม่เฉพาะแค่คนขับ เพราะแต่เดิม Mazda จะถูกตำหนิว่า เอาใจแต่คนขับอย่างเดียว ไม่สนใจผู้โดยสารด้านหลังเท่าไรนัก

(ภาพซ้าย Gen 1 / ภาพขวา Gen 2)

เริ่มต้นกันที่ เบาะคู่หน้ากันก่อน เบาะนั่งหุ้มด้วยหนังสีดำ เดินตะเข็บด้ายสีน้ำตาล มีการปรับปรุงคุณภาพของหนังให้ดีขึ้น แม้ตัวเบาะคู่หน้าในรุ่นเดิมจะไม่ได้มีปัญหาอะไรมากนัก แต่ในรุ่นใหม่ Gen2 มีการปรับส่วน Support ให้ดีขึ้น ออกแบบเบาะนั่งให้มีมิติความลึกมากขึ้น ปรับปรุงในส่วนของชิ้นส่วนที่รองรับส่วนต่างๆของร่างกาย

สำหรับคนตัวใหญ่อย่างผมแล้ว เบาะนั่งคู่หน้าของรุ่นใหม่ Gen2 นั่งสบายกว่าเดิมเล็กน้อย โดยเฉพาะบริเวณส่วนปีกเบาะ ทั้งส่วนที่รองรับสะโพก และ รองรับช่วงเอว ปีกเบาะนุ่มขึ้น ทำให้รู้สึกไม่ถูกดัน แต่สำหรับคนตัวเล็กๆพอดีเบาะ อาจจะรู้สึกว่าเบาะกระชับล็อคตัวน้อยลงกว่าเดิม พนักพิงศีรษะนุ่มสบายขึ้น การวางแขนที่แผงประตูคู่หน้าทำได้ดีขึ้น เนื่องจากส่วนเท้าแขนมีการเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ ให้เป็นแนวยาวจนสุดประตู ไม่ลากยกขึ้นในส่วนของสวิตซ์หน้าต่างไฟฟ้า ทำให้การวางแขนนั้น ทำได้เต็มพื้นที่

เทียบกับคู่แข่งอย่าง CR-V แล้ว ถือว่าเบาะคู่หน้านั้น ทำได้ใกล้เคียงกันมาก แต่ CX-5 รุ่นใหม่ จะทำได้ดีกว่า CR-V เล็กน้อยในส่วนของเบาะรองนั่ง ที่กระชับสรีระได้ดีกว่า แต่ CR-V ก็จะได้ความกว้างของตัวเบาะที่มากกว่า และ ความนุ่มของฟองน้ำที่นุ่มกว่า

เบาะนั่งคนขับ มาพร้อมระบบปรับด้วยไฟฟ้า 10 ทิศทาง พร้อมระบบปรับดันหลัง Lumbar Support ด้วยไฟฟ้า และ หน่วยบันทึกความจำตำแหน่ง Memory Seat 2 ตำแหน่ง ส่วนเบาะนั่งผู้โดยสารตอนหน้า ในรุ่นเดิมปรับด้วยมือ ในรุ่นใหม่เวอร์ชั่นมาเลเซียนั้น จะปรับด้วยไฟฟ้า 6 ทิศทาง ต้องรอดูกันว่าสเป็คของเวอร์ชั่นไทย จะได้ option นี้ด้วยหรือไม่

(ภาพบน Gen 1 / ภาพล่าง Gen 2)

มาที่ห้องโดยสารด้านหลังกันบ้าง เชื่อว่านี่จะเป็นส่วนที่ใครหลายคนน่ารอฟังว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ สิ่งที่เห็นได้ชัดสำหรับ Gen2 เวอร์ชั่นมาเลเซียคือ หลังคา Sunroof เปิด – ปิดด้วยระบบไฟฟ้า เพิ่มเข้ามา ส่วนพื้นที่ห้องโดยสาร และ พื้นที่วางขาด้านหลัง ด้วยระยะฐานล้อเท่าเดิมที่ 2,700 มิลลิเมตร แน่นอนครับ พื้นที่ Leg room นั้นก็เท่าเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ตรงนี้ยังเป็นรองคู่แข่งอย่าง CR-V และ X-Trail อยู่

สิ่งที่ปรับปรุงให้ดีขึ้นคือ ตัวเบาะนั่งด้านหลัง นี่เป็นครั้งแรกของรถยนต์ Mazda ที่ติดตั้งพนักพิงเบาะหลังแบบปรับได้ 2 ระดับ จากเดิมที่หลายคนบ่นกันในรุ่นที่แล้วว่า พนักพิงเบาะตั้งชัน และ ปรับเอนไม่ได้ คราวนี้ปรับเอนได้แล้ว ! แต่…ปรับเอนได้ 1 สเต็ปเท่านั้น ถึงแม้จะปรับเอนได้แค่สเต็ปเดียว แต่ภาพรวมของการนั่งโดยสารสบายขึ้นพอสมควร จนคนนั่งด้านหลังไม่ต้องออกปากบ่นอีกต่อไป

เช่นเดียวกับเบาะหน้า เบาะหลังนั้นมีการออกแบบเบาะนั่งให้มีมิติความลึกมากขึ้น ปรับปรุงในส่วนของชิ้นส่วนที่รองรับส่วนต่างๆของร่างกาย นอกจากนี้ส่วนของเบาะรองนั่งมีการปรับระดับความสูงของเบาะรองนั่งให้ต่ำลง ถ้านับเฉพาะเบาะนั่งอย่างเดียว ถือว่ารองรับสรีระได้ดีกว่า CR-V และ ใกล้เคียงกับ X-Trail นั่งสบาย และ กระชับร่างกายได้ดี แต่ถ้ามองในภาพรวมของการนั่งโดยสารข้างหลังแล้ว ซึ่งมีพื้นที่วางขาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แน่นอนครับว่า ความกว้างขวาง และ ความโอ่โถง CX-5 รุ่นใหม่ ก็ยังเป็นรองคู่แข่งทั้ง 2 อยู่

ด้วยความที่คู่แข่งทั้ง CR-V และ X-Trail ต่างก็จัดเบาะนั่ง เป็นแบบ 5+2 ที่นั่ง ดังนั้นฟังก์ชั่นของเบาะนั่งด้านหลังก็ย่อมมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปรับเอนที่ทำได้มากกว่า และ เบาะที่เลื่อนหน้า – ถอยหลังได้ ทำให้มีอิสระในการปรับเบาะมากกว่า

ตำแหน่งการวางแขนที่แผงประตูคู่หลังจะคล้ายกับด้านหน้า คือ ส่วนเท้าแขนมีการเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ ให้เป็นแนวยาวจนสุดประตู ไม่ลากยกขึ้นในส่วนของสวิตซ์หน้าต่างไฟฟ้า ทำให้การวางแขนนั้น ทำได้เต็มพื้นที่ดีขึ้นกว่าเดิม

(ภาพบน Gen 1 / ภาพล่าง Gen 2)

หมอนรองศีรษะ จากเดิมที่เป็นตัว L คว่ำ จะมีปัญหาเวลาไม่ได้ปรับพนักศีรษะขึ้น คราวนี้มีการเปลี่ยนรูปทรงใหม่ไล่ระดับเป็นลิ่ม ทำให้เมื่อปรับระดับต่ำสุด อาการดันต้นคอก็ลดน้อยลง

ที่วางแขนตรงกลางแบบพับเก็บได้ พร้อมที่วางแก้วน้ำ ถัดจากที่วางแก้วน้ำจะเห็นเป็นร่องว่างๆอยู่ บริเวณนั้นในเวอร์ชั่นเมืองหนาว จะเป็นสวิตซ์ควบคุมระบบอุ่นเบาะ แต่เวอร์ชั่นอาเซียนดูจะไม่จำเป็นกับฟังก์ช่ั่นนี้ก็ปล่อยว่างเป็นร่องเอาไว้ พอจะวาง Smart Phone ได้อยู่ ส่วนด้านในสุด ภายใต้ฝาเปิด – ปิด จะติดตั้งช่องชาร์จไฟ USB 2.1 A มาให้จำนวน 2 ช่อง เป็นอะไรที่ดีงามมาก เพราะสมัยนี้ Smart Phone ดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายสำหรับใครหลายๆคนแล้ว มีช่องตรงนี้มาให้ผู้โดยสารด้านหลังน่าจะมีความสุขขึ้น ไม่ต้องโยงสายจากด้านหน้า หรือ หยิบ Powerbank ออกมา

แต่…ปัญหาจะเกิดขึ้นต่อเมื่อ หากนั่งโดยสารเต็ม 5 คน มีคนนั่งตรงกลาง ช่องชาร์จไฟ USB ตรงนี้ก็จะไร้ประโยชน์ในทันที

นอกจากจะปรับเบาะนั่งให้สบายขึ้นแล้ว CX-5 Gen 2 รุ่นใหม่ ยังติดตั้งช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลังมาให้ด้วย และ ไม่ลืมที่จะตกแต่งด้วยขอบสีเงินอะลูมิเนียม เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆของตัวรถ

และ สุดท้ายคือการเก็บเสียงในห้องโดยสาร ที่เป็นปัญหาอยู่ในรุ่นเดิม คราวนี้เมื่อก้าวเข้ามานั่งในรถ และ ปิดประตู ก็จะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงได้ในทันที เสียงในห้องโดยสารเงียบขึ้นชัดเจน เสียงรบกวนจากภายนอกลดลง บรรยากาศในห้องโดยสารเงียบขึ้น สาเหตุที่จับความรู้สึกได้ เพราะผมได้มีโอกาสลองนั่ง สลับสับเปลี่ยนระหว่างรุ่น Gen 1 และ Gen 2 แทบจะในทันที รถจอดอยู่ข้างๆกันอย่างที่ทุกท่านได้เห็นจากชุดภาพภายนอกรถในตอนแรกของบทความ

เรื่องของการเก็บเสียงขอ remark เอาไว้ก่อนว่า เป็นการเปรียบเทียบจากรถจอดหยุดนิ่ง สตาร์ทเครื่องยนต์เอาไว้ในรอบเดินเบา ทำได้ค่อนข้างดีมาก แต่เมื่อวิ่งบนถนนจริงแล้วจะเป็นอย่างไร ขอติดเอาไว้ก่อน ถ้ามีโอกาสได้ขับอย่างจริงจัง แล้วจะมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งครับ

ทั้งหมดนี้ คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน Mazda CX-5 Gen 2 รุ่นใหม่ ในส่วนของภายนอก และ ภายในห้องโดยสาร ที่มีกำหนดการจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการที่ไทย ในเดือน พฤศจิกายนนี้

ส่วนรายละเอียดด้านการขับขี่, รายละเอียดทางวิศวกรรม และ สมรรถนะเบื้องต้นจะเป็นอย่างไร รวมถึงปัญหาเครื่องยนต์ดีเซลจะได้รับการแก้ไขแล้วหรือไม่ รอติดตามได้ในบทความ First Impression ทดลองขับแบบสั้นๆ ได้หลังจากนี้ครับ


Teerapat Achawametheekul (MoO Cnoe)

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com

5 ตุลาคม 2560

First publish in www.headlightmag.com

October 5th,2017


แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่ >> community.headlightmag.com/61512.0