31 ธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา คือวันที่ General Motors (Thailand) หรือ GMTh บริษัทในเครือ General Motors (GM) ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐอเมริกา ประกาศยุติการผลิต และทำตลาดรถยนต์ Chevrolet ในประเทศไทย รวมทั้งรถยนต์ Holden ใน Australia และ New Zealand คงเหลือไว้แค่เพียง การจำหน่ายชิ้นส่วนอะไหล่ และการดูแลศูนย์บริการคู่สัญญา ที่ยังคงเหลืออยู่ในตอนนี้ เท่านั้น

ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นมาจากการประเมินถึงความคุ้มค่าในการลงทุนในระยะยาว ว่า ในอดีต GM ต้องผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวา ออกจำหน่าย ในประเทศไทย รวมทั้ง Australia และ New Zealand ในลักษณะ ขาดทุนแทบทุกคัน โดยเฉพาะกลุ่มรถเก๋ง ทั้ง Chevrolet Optra , Cruze , Aveo , Sonic หรือแม้กระทั่ง รถกระบะ Chevrolet Colorado รุ่นตัวเตี้ยทั้ง Single Cab และ Extended Cab มีเพียง Chevrolet Colorado รุ่น Crew Cab , Chevrolet Trailblazer และ Chevrolet Captiva รุ่นแรก C100 เท่านั้น ที่ยังพอได้กำไรติดปลายนวมมาบ้าง

ซ้ำร้าย GM Thailand ไม่สามารถนำชิ้นส่วนอะไหล่ เข้ามาผลิตในประเทศ ได้มากเท่าที่ควร เนื่องจาก บริษัทแม่ในต่างประเทศ จะบังคับให้เสียค่าลิขสิทธิ์ในการนำชิ้นส่วนเข้ามาจ้าง ซัพพลายเออร์ อื่น ที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนหลักของอะไหล่ชิ้นนั้นๆ เพิ่ม อีกด้วย ซึ่งเป็นนโยบายที่แตกต่างจากบริษัทอื่นๆพอสมควร หากทำเช่นนั้นจริง รถยนต์ทุกรุ่นจะมีราคาแพงขึ้นกว่าที่เคยขายให้ลูกค้าชาวไทย คันละอีกเกือบ 100,000 บาท!!

ยอดขายรถยนต์พวงมาลัยขวา ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจจะไม่คุ้มต่อการลงทุนอีกต่อไป และ GM เองต้องการจะสำรองเงินสดไว้สำหรับการพัฒนารถยนต์พลังไฟฟ้า สำหรับตลาดในสหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งกลายเป็นฐานที่มั่นสำคัญของพวกเขาไปเสียแล้ว นำมาซึ่งการเจรจาขายศูนย์การผลิตของตนที่จังหวัดระยอง อย่างลับๆให้กับ Great Wall Motor บริษัทรถยนต์สัญชาติจีน เมื่อทุกอย่างสำเร็จลง GM จึงประกาศเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2020 ว่าจะถอนตัว เลิกผลิตและจำหน่าย รถยนต์ Chevrolet ในประเทศไทย เลยเถิดรวมไปถึง รถยนต์ Holden ใน Australia และ New Zealand อีกด้วย ในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา เป็นการปิดฉากการลงทุนในภูมิภาคเอเซีย ของ GM อย่างถาวร ไม่ย้อนกลับมาอีก

ถึงตอนนี้ รถยนต์ Chevrolet ในสต็อกทุกคันถูกจำหน่ายออกไปจนเกลี้ยงหมดแล้ว และ GM ก็ยุติการทำตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวา ทั้งหมดแล้ว แต่ในวาระที่ทุกอย่างมาถึงจุดสิ้นสุด เราอยากจะเปิดเผยให้คุณรับรู้ กันเป็นครั้งสุดท้าย ว่า การจากไปของ GM ในครั้งนี้ ผู้บริโภคชาวไทย อดพบเจอและอดเป็นเจ้าของรถยนต์รุ่นใหม่ รุ่นใดกันบ้าง โดยเราจะเรียงลำดับตาม Timeline ซึ่งควรจะเกิดขึ้น…แต่มันก็ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง

Chevrolet Silverado

สำหรับแบรนด์อเมริกันแล้ว ศักดิ์ศรีระหว่างเพื่อนร่วมชาติในแต่ละตลาดที่เข้าไปลงทุน เป็นเรื่องสำคัญ ในเมื่อ Ford ตัดสินใจ นำเข้า Mustang กลับเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากหายไปหลายสิบปี ทางฝั่ง GM เอง ก็ไม่ยอมน้อยหน้า เลือกฉีกแนวออกไป ด้วยการเสริมภาพลักษณ์ ต้นฉบับกระบะแกร่ง จากสหรัฐฯ ด้วยการสั่งนำเข้า รถกระบะ Full Size Truck รุ่นยอดนิยมในแดนคาวบอย อย่าง Chevrolet Silverado ซึ่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร เกินกว่าบรรดารถกระบะทุกรุ่นที่มีขายอยู่ในตลาดเมืองไทย

ตำนานของรถกระบะ GM นั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่ รถกระบะ Chevrolet แบบ One-Ton ในปี 1918 สืบทอดต่อเนื่องมาจนถึงการปรากฎตัวของ Nameplate Silverado เป็นครั้งแรก เมื่อปี 1975 ในฐานะรุ่นตกแต่งหรูสุดของ รถกระบะ Chevrolet C/K Pickup Full Size ก่อนจะค่อยๆหายไป แล้วกลับมาอีกครั้งในฐานะ ชื่อรุ่นใหม่ อย่างเป็นทางการ ของรถกระบะ Full Size รุ่นเปลี่ยนโฉม Full Modelchange เมื่อเดือนสิงหาคม 1998 ออกสู่ตลาดในฐานะรถรุ่นปี 1999 จำหน่ายควบคู่กับฝาแฝดร่วมโครงสร้างวิศวกรรมอย่าง GMC Sierra นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (ประวัติคร่าวๆ จากเว็บไซต์ History of Chevy Truck Click Here)

รุ่นปัจจุบันของ Silverado เผยโฉมครั้งแรกในโลก เมื่อ 16 ธันวาคม 2017 ที่ Texas Motor Speedway ในเมือง Fort Worth มลรัฐ Texas สหรัฐอเมริกา แต่กว่าจะพร้อมออกสู่จำหน่ายจริง ต้องรอกันจนถึง เดือนสิงหาคม 2018 มีให้เลือก ทั้งแบบ กระบะตอนเดี่ยว Single Cab ทั้งแบบกระบะสั้น หรือยาว หรือ Cab-Chassis ไม่มีกระบะหลัง ไปจนถึง ตัวถัง Double Cab 4 ประตู (บานประตูคู่หลังสั้น) ทั้งรุ่นกระบะสั้น และกระบะยาว ไปจนถึงรุ่น Crew Cab 4 ประตู (บานประตูคู่หลังยาว) มีทั้งรุ่นกระบะสั้นและกระบะยาว และมีระดับการตกแต่งมาถึง 8 แบบ ไล่กันตั้งแต่ รุ่นพื้นฐาน สำหรับธุรกิจ WT , รุ่นตกแต่งมาเพียงพออย่าง Custom , รุ่น Custom Trail Boss สำหรับสายลุยแนวดิบไม่เน้น Option , รุ่นกลาง LT , รุ่นตกแต่งสาย Racing ทางเรียบ อย่าง RST , รุ่น LT Trail Boss สำหรับสายลุยที่ขอ Option เยอะหน่อย ,รุ่น Premium อย่าง LTZ จนถึงรุ่นหรูสุดและแพงสุดอย่าง High Country

Silverado รุ่นนี้ ถือว่า อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย ประเภท ADAS (Adaptive Driving Assist System) ท่วมคัน มีจอมอนิเตอร์ รับภาพจากกล้อง ระบบช่วยถอยจอด ระบบแจ้งเตือนเมื่อมียานพาหนะแล่นตัดผ่านด้านหลังรถ RCTA ไปจนถึงระบบช่วยเหลือการลากจูงให้เหมาะสมกับรูปแบองรถพ่วงและน้ำหนักด้านหลัง Trailer Management ควบคุมผ่านจอมอนิเตอร์ TouchScreen พร้อมชุดเครื่องเสียง แบบมีวิทยุผ่านดาวเทียม ฯลฯ อีกมากมาย

ขุมพลังของ Silverado ในตลาดอเมริกาเหนือ เฉพาะรุ่น พิกัด 1500 มีให้เลือกมากถึง 5 แบบ ดังนี้

  • เครื่องยนต์ รหัส L3B เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.7 ลิตร (2,726 ซีซี) กระบอกสูบ x ช่วงชัก 92.25 x 102 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.5 : 1 จุดระเบิดแบบ Direct Injection ระบบ Active Fuel Management ระบบ Active Thermal Management พร้อมระบบแปรผันวาล์ว VVT และ Dual-Volute Turbocharger 310 แรงม้า (HP) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 348 ฟุต-ปอนด์ (48.02 กก.-ม.) ที่ 1,500 รอบ/นาที มีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ
  • เครื่องยนต์ รหัส LM-2 Duramax Diesel 6 สูบ DOHC 24 วาล์ว 3.0 ลิตร (2,992 ซีซี) กระบอกสูบ x ช่วงชัก 84 x 90 มิลลิเมตร กำลังอัด 15.0 : 1 พร้อมระบบ Diesel Exhaust Brake System 277 แรงม้า (HP) ที่ 3,750 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 460 ฟุต-ปอนด์ (63.48 กก.-ม.) ที่ 1,600 รอบ/นาที มีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ
  • เครื่องยนต์รหัส LV3 ECOTEC-3 เบนซิน V6 สูบ 4.3 ลิตร (4,301 ซีซี) กระบอกสูบ x ช่วงชัก 99.6 x 92 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.1 : 1 จุดระเบิดแบบ Direct Injection พร้อมระบบ Active Fuel Management และระบบแปรผันวาล์ว VVT 285 แรงม้า (HP) ที่ 5,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 305 ฟุต-ปอนด์ (42.09 กก.-ม.)ที่ 3,900 รอบ/นาที พ่วงเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ เท่านั้น
  • เครื่องยนต์รหัส L82 ECOTEC-3 เบนซิน V8 สูบ 5.3 ลิตร (2,992 ซีซี) กระบอกสูบ x ช่วงชัก 84 x 90 มิลลิเมตร กำลังอัด 15.0 : 1 จุดระเบิดแบบ Direct Injection พร้อมระบบ Active Fuel Management และระบบแปรผันวาล์ว VVT 355 แรงม้า (HP) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 383 ฟุต-ปอนด์ (52.85 กก.-ม.)ที่ 4,100 รอบ/นาที พ่วงเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ เท่านั้น
  • เครื่องยนต์รหัส L84 ECOTEC-3 เบนซิน V8 สูบ 5.3 ลิตร (5,328 ซีซี) กระบอกสูบ x ช่วงชัก 96.01 x 92 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.0 : 1 จุดระเบิดแบบ Direct Injection พร้อมระบบ Dynamic Fuel Management และระบบแปรผันวาล์ว VVT 355 แรงม้า (HP) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 383 ฟุต-ปอนด์ (52.85 กก.-ม.)ที่ 4,100 รอบ/นาที พ่วงเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ หรือ 10 จังหวะ
  • เครื่องยนต์รหัส L87 ECOTEC-3 เบนซิน V8 สูบ 6.2 ลิตร (6,162 ซีซี) กระบอกสูบ x ช่วงชัก 103.25 x 92 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.0 : 1 จุดระเบิดแบบ Direct Injection พร้อมระบบ Dynamic Fuel Management และระบบแปรผันวาล์ว VVT 420 แรงม้า (HP) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 460 ฟุต-ปอนด์ (63.48 กก.-ม.) ที่ 4,100 รอบ/นาที มีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ

ส่วนรุ่น 2500 HD (Heavy Duty) ซึ่งมีตัวถังใหญ่โตกว่ามาก และเหมาะกับผู้ต้องการขนย้ายรถพ่วงขนาดใหญ่ หรือเรือยอร์ชลำขนาดกลาง จะมีเครื่องยนต์ที่ใหญ่โตกว่านี้ เป็นพิเศษ ในพิกัด 6.6 ลิตร ทั้ง เบนซิน และ Diesel

  • เครื่องยนต์รหัส L8T เบนซิน V8 สูบ 6.6 ลิตร (6,600 ซีซี) กระบอกสูบ x ช่วงชัก 103.25 x 98 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.75 : 1 จุดระเบิดแบบ Direct Injection พร้อมระบบแปรผันวาล์ว VVT 401 แรงม้า (HP) ที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 461 ฟุต-ปอนด์ (64.03 กก.-ม.)ที่ 4,000 รอบ/นาที พ่วงเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ เท่านั้น
  • เครื่องยนต์รหัส Duramax เบนซิน V8 สูบ 6.6 ลิตร (6,619 ซีซี) กระบอกสูบ x ช่วงชัก 103 x 99 มิลลิเมตร กำลังอัด 16.0 : 1 หัวฉีด Common-Rail จุดระเบิดแบบ Direct Injection 445 แรงม้า (HP) ที่ 2,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 910 ฟุต-ปอนด์ (125.58 กก.-ม.) ที่ 1,600 รอบ/นาที พ่วงเกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ ของ Allison เท่านั้น

ตามแผนเดิม เวอร์ชันไทย รุ่นที่จะถูกสั่งนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคันมา เป็นรุ่น 1500 LTZ สเป็กเดียวกับ ตลาด Australia ซึ่งจัดจำหน่ายโดยหน่วยงาน พัฒนารถยนต์สมรรถนะสูงพิเศษของ Holden ในชื่อ HSV (Holden Special Vehicles) โดยจะเป็นรุ่น 4 ประตู Crew Cab โดยจะมาพร้อมกับขุมพลังตัวท็อป L87 เบนซิน V8 6.2 ลิตร 460 แรงม้า พร้อมเกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ โดยจะมาเป็นรุ่น High Country ซึ่งเป็นรุ่น ตกแต่งสูงสุด แพงสุด ราคาจำหน่าย ยังไม่กำหนดแน่ชัด แต่มีการประมาณการจากคนใน GM Thailand ณ ขณะนั้น เอาไว้ว่า เมื่อรวมภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิต และค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว GM Thailand อาจต้องตั้งราคา Silverado คันนี้ ไว้สูงถึง 5 ล้านกว่าบาท ขึ้นไป

แผนการเดิมนั้น ถูกเดินหน้าอย่างลับๆ มาตลอด ผู้เขียนเอง ทราบเรื่องราว ในช่วงเดือนธันวาคม 2019 ว่าจะมีการนำ Silverado เข้ามา เพื่อเตรียมเปิดตัว ในงาน Bangkok International Motor Show ซึ่งเดิมที มีกำหนดจัดงานช่วงปลายเดือนมีนาคม 2020 (หากไม่มีสถานการณ์โรคระบาด Covid19 จนงานดังกล่าวต้องเลื่อนไปจัดในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมแทน)

จากนั้น ก็มีข้อมูลยืนยันว่า ตัวรถถูกส่งลงเรือมาจาก โรงงาน ในสหรัฐอเมริกา เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อเรือขนส่ง กำลังแล่นมาใกล้จะถึงท่าเรือแหลมฉบัง ปรากฎว่า มีการประกาศยุติบทบาทแบรนด์ Chevrolet ในเมืองไทย เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2020 ทำให้ทาง GM Thailand ต้องดำเนินเรื่อง ส่งคืนรถทุกคัน ที่อยู่ในเรือ กลับไปยังสหรัฐอเมริกา อย่างน่าเสียดายยิ่ง!

Chevrolet Colorado Last Minorchange Model Year 2020
& Chevrolet Colorado Next Generation in 2023

ตามแผนการเดิม ปี 2020 ที่ผ่านมา ทีมวิศวกรและฝ่ายการตลาดของ GM Thailand ในตอนนั้น อยู่ในช่วงเตรียมงานอย่างขะมักเขม้น เพื่อจะส่ง เวอร์ชันปรับโฉม Minorchange ครั้งสุดท้าย ของ Chevrolet Colorado โฉมปัจจุบัน ให้ออกเผยโฉมสู่สาธารณชนได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2020 ที่ผ่านมา

แผนการดั้งเดิมนั้น มีเพียงการปรับเปลี่ยนชุดกระจังหน้า ให้มีทั้งหมด 2 แบบ คือ แบบมาตรฐาน ใช้กันตั้งแต่รุ่น Single Cab (S-Cab) รวมทั้งรุ่น Extended Cab (X-Cab) และรุ่น 4 ประตู Crew Cab (C-Cab) ส่วนกระจังหน้า รุ่นพิเศษ พร้อมคำว่า Chevrolet และมีการประดับสัญลักษณ์ Bow-tie เล็กๆ ไว้ฝั่งขวาล่าง (มองจากด้านหน้ารถ) จะถูกเก็บไว้ใช้กับรุ่น High Country และ High Contry Storm ในลำดับถัดไป รวมทั้งเปลี่ยนชุดเปลือกกันชนหน้าใหม่ ให้ดุดันขึ้น พร้อมกระจังหน้าด้านใน ลายรังผึ้ง ตามด้วยชุดไฟท้ายลายใหม่ เพียงแค่นั้น

ด้านงานวิศวกรรม ยังรักษาทางเลือกขุมพลังไว้เหมือนรุ่นสุดท้าย ก่อนเลิกทำตลาด ทั้งเครื่องยนต์ XLDE25 LKH  4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 2.5 ลิตร 2,499 ซีซี  กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก 92.0 x 94.0 มม. อัตราส่วนกำลังอัด 16.5 : 1 Common-rail Direct Injection Turbo Intercooler 163 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 380 นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ สำหรับรุ่นตัวเตี้ย และขับ 2 ยกสูง รวมทั้ง เครื่องยนต์ XLD25 LP2 Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,499 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 92 x 94 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 16.5 : 1 ฉีดจ่าย เชื้อเพลิงด้วยระบบรางหัวฉีด Common Rail จาก Bosch พ่วง Turbocharger แบบมีครีบแปรผัน VGT (Variable Geometry Turbocharger) และ Intercooler 180 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 440 นิวตันเมตร (44.8 กก.-ม.) ที่ 2,200 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหลัง และขับเคลื่อน 4 ล้อ ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ

ทว่า เมื่อ GM ประกาศยกเลิกการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ Chevrolet ในเมืองไทย นั่นทำให้ แผนการทั้งหมดต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยาย และ Chevrolet Colorado คันสุดท้าย สีน้ำเงิน ก็ถูกผลิตออกจากสายการผลิต เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2020

ส่วนเวอร์ชัน Minorchange นั้น ถูกโยกไปเปิดตัวครั้งแรกในโลกที่ ประเทศ Brazil ซึ่งเป็นตลาด Compact & Mid-size Pickup Truck ที่ใหญ่โตสุด เป็นอันดับ 2 รองจากประเทศไทย เป็นการทดแทน โดยทำตลาดต่อภายใต้ชื่อ Chevrolet S10 ซึ่งเป็นชื่อที่ลูกค้าชาว Brazilian คุ้นเคยมานาน นอกจากนี้ GM ยังคงส่ง S10 Minorchange ไปทำตลาดในชื่อ Chevrolet Colorado ในอีกหลายประเทศ ในเขต Latin America โดยบางประเทศนั้น ถึงกับวางตลาด ควบคู่กับรถรุ่นเก่า และ Chevrolet D-Max (รถรุ่นเดิม หน้าตาเหมือน Isuzu D-Max รุ่นที่แล้ว แต่เปลี่ยนมาแปะสัญลักษณ์ Bow-tie วางจำหน่ายในฐานะเวอร์ชันราคาประหยัด  รายละเอียดต่างๆ Click อ่านต่อได้ Click Here

ส่วน แผนการต่อไปนั้น เดิมที GM มีแผนจะเปลี่ยนโฉมใหม่ให้กับรถกระบะ Colorado ในปี 2021 ทว่า ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งยอดขายที่ไม่เป็นไปตามเป้าในภาพรวม ทุกตลาด สถานการณ์ยอดขายในเมืองไทย ที่ไม่ดีเท่าที่ควร แถมตลาด Australia และ New Zealand ก็ยังมียอดสั่งซื้อลดลง ทำให้ ทางทีมเมืองไทย ยืนข้อเสนอไปว่า เลื่อนแผนการเปิดตัว Colorado รุ่นใหม่ ออกไปเป็นปี 2023 เพื่อที่จะยื้อให้โรงงานในเมืองไทย ยังคงได้สิทธิ์ในการเป็นฐานผลิตรถกระบะรุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ ต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง แม้ว่า แผนดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ รวมทั้ง การหาพันธมิตรร่วม รายใหม่ มาแทน Isuzu เพื่อมาช่วยกันแชร์ค่าใช้จ่าย ในลักษณะการรับจ้างผลิตรถกระบะให้กับแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นแบรนด์หนึ่ง ซึ่งต้องการจะปิดช่องว่างการตลาดของตนเอง แต่สุดท้าย แผนดังกล่าว ก็ถูกล้มเลิกไปพร้อมกับประกาศเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2020

รายละเอียดตัวรถเพิ่มเติม Click Here

Chevrolet TrailBlazer Last Minorchange

ตามแผนการเดิม หลังการเปิดตัว Colorado Minorchange ผ่านพ้นไปแล้ว สักพักหนึ่ง GM Thailand ก็เตรียมจะส่ง Chevrolet TrailBlazer เวอร์ชัน ปรับโฉม Minorchange ออกสู่ตลาดเมืองไทยเป็นแห่งแรก ในช่วง ไตรมาส 4 ปี 2020 โดยจะมีการปรับเปลี่ยนแค่ชุดกระจังหน้า แบบเดียวกับ Colorado Minorchange แต่เป็นแถบ โครเมียม 2 แถบ พร้อมชุดไฟหน้า LED และขุดไฟท้ายลายใหม่ ให้เป็นแบบเดียวกับที่เห็นในรูปข้างบนนี้

ด้านงานวิศวกรรม ก็ยังคงใช้ขุมพลังเดิม เช่นเดียวกับรุ่นก่อนปรับโฉม นั่นคือเครื่องยนต์ รหัส XLD25 LP2 Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,499 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 92 x 94 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 16.5 : 1 ฉีดจ่าย เชื้อเพลิงด้วยระบบรางหัวฉีด Common Rail จาก Bosch เปลี่ยนมาใช้ระบบอัดอากาศด้วย Turbocharger แบบมีครีบแปรผัน VGT (Variable Geometry Turbocharger) พ่วงด้วย Intercooler 180 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 440 นิวตันเมตร (44.8 กก.-ม.) ที่ 2,200 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหลัง และขับเคลื่อน 4 ล้อ ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ รวมทั้ง เพิ่มอุปกรณ์ตัวช่วย ADAS บางรายการ และไม่มีการปรับปรุงอื่นใดมากไปกว่านี้

ท้ายที่สุด ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เมื่อโรงงานเมืองไทย ถูกยกเลิกการผลิต และทำให้ โรงงาน GM Thailand ผลิต Trailblazer รุ่นปัจจุบัน คันสุดท้าย (สีเทาน้ำตาล) ออกมาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2020 อันเป็นวันสิ้นสุดสายการผลิตในเมืองไทย ทำให้ Trailblazer Minorchange จึงต้องถูกส่งไปให้ทาง Brazil เป็นผู้ผลิตและเปิดตัวครั้งแรกในโลก ที่นั่นแทน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2020 ที่ผ่ามา โดยเวอร์ชัน Brazil วางเครื่องยนต์ XLD28 Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.8 ลิตร Common-Rail Turbo 200 แรงม้า (PS) เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ มีทั้งรุ่นขับล้อหลัง และรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ Part-Time

ส่วนแผนการในอนาคต หลังการปรับโฉมในครั้งนี้แล้ว GM ตัดสินใจว่า จะไม่พัฒนา SUV/PPV บนพื้นฐานของ Frame Chassis จากรถกระบะ Colorado รุ่นนี้ อีกต่อไป เนื่องจาก ยอดขายในภาพรวม น้อยเกินกว่าจะคุ้มค่าการลงทุน เท่ากับว่า ต่อให้ GM จะไม่ปิดโรงงานในเมืองไทย อนาคตของ Trailblazer รุ่นปัจจุบัน ก็ถูกกำหนดไว้แล้วว่า จะต้องถูกตัดออกจากสายการผลิตของ GM Thailand ในปี 2023 อยู่ดี

สำหรับชื่อ Trailblazer นั้น GM ตัดสินใจนำชื่อนี้ ไปสวมให้กับ Compact SUV ที่พัฒนาขึ้นจากเมืองจีน เพื่อทำตลาดทั่วโลก เป็นการทดแทน และเปิดตัวในประเศจีน ณ งาน Shanghai Auto Show เมื่อ กลางปี 2019 ก่อนจะเริ่มทำตลาดจริง ในประเทศที่ไม่มี Trailblazer ตัวถัง SUV/PPV จากเมืองไทย เข้าไปขาย ซึ่งตัวรถนั้น ถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถังของรถเก๋งขนาดเล็ก และไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับ Trailblazer เวอร์ชันไทย ทังสิ้น

Baojun 510 / Chevrolet Groove

ช่วงแรกที่ Chevrolet นำ Baojun 530 ที่ผลิตขึ้นในโรงงาน Wulling ใน Indonesia เข้ามาเปิดตัวในเมืองไทย ภายใต้ชื่อ Chevrolet Captiva 2nd Generation ซึ่งมี รายละเอียด และ Full Review Click Here นั้น หลายคนมองว่า GM ตั้งราคา Captiva แพงเกินไปกว่าที่ควร ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่จะไม่ประสบความสำเร็จ และในเวลาต่อมา

ความจริงที่เกิดขึ้นก็ปรากฎว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2019 ซึ่งเริ่มส่งมอบรถ ยอดขายของ Captiva ใหม่ นั้น แทบไม่เดินเลย รุ่น Premier ตัวท็อป ขายดีสุดก็จริง แต่รุ่นล่างสุด ทั้ง LS และ LT แทบไม่มีลูกค้าเหลียวแลแม้แต่น้อย จนท้ายที่สุด เมื่อทางโรงงานที่ Indonesia ประกาศดัมพ์ราคาขายปลีกลงมา ทำให้ GM เห็นทางรอดว่า ถ้าจะขอดัมพ์ราคาลงมาด้วย เพื่อช่วยระบายสต็อก ก็น่าจะพอทำได้ ซึ่งแม้ว่าราคาใหม่จะถูกลงจนช็อกกันไปทั้งบาง กลายเป็น Talk of the town ขนาดนั้น แต่กลับเข้าเนื้อ และขาดทุนไปเพียงนิดหน่อย โชคดีที่ ทางโรงงาน Indonesia ประกาศลดราคาขายหน้าโรงงานมา ทำให้ GM ประเทศไทย สามารถลดราคาขายของ Captiva ลงมาได้ ซึ่งทำให้เมื่อมาคิดคำนวนภาษีสรรพสามิต กันใหม่ ก็ยิ่งช่วยให้ราคาถูกลงตามลงมาอีกทอด นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไม GM ถึงสามารถ ดัมพ์ราคา Captiva ใหม่ลงมาได้โหดมากถึงเพียงนั้น จนสามารถเคลียร์สต็อกหมดได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่แท้จริง ของการตั้งราคา Captiva ไว้สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ นั่นเพราะในแผนการดั้งเดิม GM คิดจะอุดหนุนผลผลิตจากโรงงาน Wulling ใน Indonesia สั่งเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย อีกรุ่นหนึ่ง นั่นคือ Baojun 510 หรือใช้ชื่อว่า Chevrolet Groove นี่ต่างหาก!

อันที่จริง SGMW (SAIC-GM-Wulling) บริษัทแม่เจ้าของแบรนด์ Baojun เปิดตัว Small Crossover SUV รุ่นนี้ที่ถูกสร้างขึ้นในรหัสโครงการ CN180S มาตั้งแต่ งาน Guangzhou International Automobile Exhibition ในปี 2016 โดยเวอร์ชันจีน เปิดตัวเป็นประเทศแรก และออกจำหน่ายเป็นแห่งแรก เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2017 จากนั้น มีการปรับโฉม Minorchange ครั้งแรกอย่างรวดเร็ว เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2018 ส่วนรุ่นเกียร์อัตโนมัติ CVT ล็อกอัตราทด 8 จังหวะ ปรับโฉมแทนรุ่นเกียร์อัตโนมัติ เดิม เมื่อ 18 กรกฎาคม 2019 และทำตลาดมาจนถึงปัจจุบัน ในฐานะ Crossover SUV ขนาดเล็ก ที่ขายดีที่สุดในเมืองจีน

จากนั้น SGMW กับทาง GM จึงเริ่มมีการนำ Baojun 510 มาปรับปรุง เปลี่ยนตรา ใช้ชื่อ Chevrolet Groove ผลิตออกจากโรงงานที่จีน ครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2020 ก่อนจะส่งไปเปิดตัวครั้งแรกในโลก (ภายใต้แบรนด์ Chevy) ที่ South America ก่อนจะเปิดตัวใน Chile เมื่อ 31 ตุลาคม 2020 และล่าสุด คือใน Peru เมื่อ 5 ธันวาคม 2020

จุดเด่นของ Groove คือ แม้จะถูกวางตำแหน่งการตลาด ให้เป็น Crossover SUV ที่มีขนาดเล็กสุด และมีราคาถูกที่สุดในตระกูล SUV ภายใต้แบรนด์ Chevrolet ทั่วโลก และมีขนาดเล็กกว่า Chevrolet Tracker กับ Trailblazer เวอร์ชันจีน เสียอีก แต่ก็ให้ ข้าวของ Option สมเหตุสมผลกับราคาค่าตัว ทั้งจอ Monitor Touch Screen ควบคุมเครื่องเสียง และ เชื่อมต่อกับ Smart Phone ขนาด 8 นิ้ว ไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเบรกดวงที่ 3 ไปจนถึง Daytime Running Light เป็ย LED ทั้งหมด เบาะหลังแบ่งพับได้ 60/40 ถุงลมนิรภัย 4 ใบ ฯลฯ

มิติตัวถังยาว 4,220 มิลลิเมตร กว้าง 1,740 มิลลิเมตร สูง 1,615 -1,625 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร ทุกตลาด วางเครื่องยนต์ เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,485 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ แต่ปรับจูนต่างกัน เวอร์ชันจีน Baojun 510 รุ่นปี 2020 – 2021 ถูกปรับจูนเหลือ 99 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 135 นิวตันเมตร ( 14.06 กก.-ม.) ที่ 3,600 – 5,200 รอบ/นาที มีทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ CVT แต่สำหรับเวอร์ชันส่งออกยังตลาด South America เครื่องยนต์จะถูกปรับจูนให้แรงขึ้นเป็น 110 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 147 นิวตันเมตร ( 14.06 กก.-ม.) ที่  5,200 รอบ/นาที มีเฉพาะเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ พวงมาลัย Rack and Pinion ผ่อนแรงด้วยเพาเวอร์ไฟฟ้า EPS ระบบกันสะเทือนหน้า MacPherson Strut ด้านหลังแบบ Torsion Beam ดิสก์เบรก มีครีบระบายความร้อนทั้ง 4 ล้อ พร้อม ABS EBD ระบบควบคุมเสถียรภาพ ESC ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA

เบื้องต้น ราคาที่ GM ตั้งใจจะเปิดตลาด Groove ในบ้านเราตอนนั้น คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 700,000 – 850,000 บาท ซึ่งก็ยังถือว่า ถูกกว่า ราคาเริ่มต้นของ Captiva LS อยู่พอสมควร น่าเสียดายที่ GM ตัดสินใจเก็บกระเป๋า กลับบ้านไปเสียก่อน มิเช่นนั้น เราคงจะได้เห็น Chevrolet Groove ทำตลาดแข่งกันครองอันดับล่างๆ ท้ายตารางยอดขายกลุ่ม B-Segment SUV กับ Nissan Kicks E-Power กันแน่แท้ทีเดียว

รายละเอียดเพิ่มเติม Click Here

Chevrolet Corvette C8

รุ่นสุดท้ายที่อยู่ในข่ายของรถยนต์ซึ่งอยู่ในระหว่าง เตรียมการเข้ามาสร้าง Surprise ระลอก 2 ในเมืองไทย ต่อเนื่องจาก Silverado (ณ ขณะนั้น) คือ การนำเข้า รถสปอร์ต รุ่นดังในตำนานอย่าง Chevrolet Corvette แบบสำเร็จรูปทั้งคัน มาเปิดตัวเป็นครั้งแรกในเมืองไทย…

ตำนานของ Corvette เริ่มต้นขึ้นครั้งแรก ในฐานะรถสปอร์ตต้นแบบ ตัวถัง Fiberglass ทั้งคัน นำไปอวดโฉมในงานแสดงรถยนต์ที่ GM จัดขึ้นเองในชื่อ GM Motorama ที่โรงแรม Waldolf Astoria ในนคร New York เมื่อ 17 มกราคม 1953 และนับจากนั้น Corvette ก็กลายเป็นรถสปอร์ตขนาดใหญ่ เครื่องยนต์วางหน้า ขับเคลื่อนล้อหลัง (Front Engine – Rear Wheel Drive) ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จของวงการยานยนต์อเมริกันสมัยใหม่ มาจนถึงทุกวันนี้

ทว่า รุ่นล่าสุด C8 ซึ่งถูกเปิดตัวขึ้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2019 กลับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬาร เพราะ GM เลือกจะเปลี่ยนรูปแบบการขับเคลื่อนของรถ มาเป็นแบบ เครื่องยนต์วางกลาง ขับเคลื่อนล้อหลัง (Mid-Engine Rear Wheel Drive) โดยใช้เครื่องยนต์ เบนซิน V8 DOHC 32 วาล์ว 6.2 ลิตร กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 103.25 x 92 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 11.5 : 1 กำลังสูงสุด 495 แรงม้า (HP) ที่ 6,450 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 637 นิวตันเมตร (64.91 กก.-ม.) ที่ 5,150 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ DCT 8 จังหวะ วางลงในตัวถังที่มีความยาว 4,630 มิลลิเมตร กว้าง  1,934 มิลลิเมตร สูง 1,234 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,722 มิลลิเมตร

ช่วงล่างหน้าหลังเป็นแบบ Double Wishbone มาพร้อมล้อขนาด 19 นิ้ว ในด้านหน้า และ 20 นิ้ว ในด้านหลัง รัดด้วยยาง Michelin Pilot Sport เป็นรายแรกที่มาพร้อมยางเดิมโรงงาน แต่ทนการสาดโค้งได้สูงสุด ด้วยแรงเฉียดระดับ 1G ส่วนระบบเบรกพึ่งพาได้ด้วยคาลิปเปอร์ 4 สูบ หน้าหลัง จาก Brembo พร้อมระบบ e-Boost ช่วยเสริมแรงเบรกอย่างแม่นยำ และผู้ขับขี่สามารถปรับระดับได้ ถ้าติดตั้ง ชุดอุปกรณ์ Z51 Performance Package จะให้อัตราเร่ง 0 – 96 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใน 3 วินาที

ราคาจำหน่าย เมื่อรวมภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิต และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง คาดว่า จะอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านบาท แต่น่าเสียดายว่า แผนดังกล่าว จำต้องถูกยกเลิกไป พร้อมกับการยุติบทบาทแบรนด์ Chevrolet ในเมืองไทย รวมทั้งแบรนด์ Holden ใน Australia และ New Zealand อย่างน่าเสียดาย

รายละเอียดของ Corvette C8 Click Here

——————–///——————–