ในความรัก ความหลง ความผูกพันธ์ ย่อมแฝงไว้ด้วยการลาจาก เป็นเรื่องปกติ

ก็เคยวางแผนไว้ว่าจะทำรถขับสี่ 300 ม้าเป็นของตัวเอง..จนกระทั่งธนูปักทั้งเข่าทั้งไข่..

ผมส่งมอบกุญแจรถ Subaru Legacy ของตัวเองให้กับเจ้าของคนใหม่ พร้อมกับความหวังเล็กๆว่ามันคงจะ
ประพฤติตัวดีๆกับหนุ่มร่างสูงคนนั้น ..อย่างอแงง้องแง้ง..อย่าร้องเรียกหาอู่บ่อย..เพราะที่ผ่านมาก็ควักเงิน
ซ่อมไปให้เยอะแล้ว รักเขามากๆ อยู่กับเขานานๆ คิดถึงกันก็มาหากันบ้าง

มันเป็นสิ่งที่ทรมานใจที่สุดสำหรับคนบ้ารถ ในการที่ใช้เวลานานๆเลือกเฟ้นรถที่ตัวเองอยากได้ จากนั้นก็
ทะนุถนอม (และซ่อม) พามันไปไหนต่อไหนที่อยากไป ลองทำสิ่งที่ไม่เคยได้ลองในรถคันอื่น
ผมเป็นเจ้านายที่ดีสำหรับมัน และมันก็เปรียบได้กับแขนขาที่ล่วงรู้จิตใจของผมได้ดีที่สุด
ในวันที่แย่ที่สุดของชีวิตผม มีเจ้านี่เท่านั้นที่รองรับความเกรี้ยวกราดในทุกบทได้

แล้วผมก็ขายมัน…

จะไปโทษใครก็ไม่ได้ หลังจากที่ผมพามันเข้าบ้าน แม่ผมก็ตัดสินใจโดยฉับพลันว่าเราจะสร้างบ้านหลังใหม่
ผมหน้าถอดสี เพราะทราบดีว่านั่นหมายถึงการใช้เงินจำนวนมาก แต่ก็พยายามยื้อและดื้อดึง
ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของคนในบ้านที่คนอย่างผมจะมีรถสามคัน (แม้มูลค่ารวมของมันในปัจจุบัน
ก็เพิ่งจะเท่ารถป้ายแดง C-Segment คันนึงก็ตาม..แต่เป็นวิสัยปกติที่พ่อแม่ควรยั้งลูกไว้เมื่อเริ่ม
ทำอะไรเกินความจำเป็น) ผมมีเหตุผล อย่างที่ผู้อ่านแฟนประจำหลายท่านมักทราบว่าผมชอบการ
มีรถหลายคันแล้วให้แต่ละคันทำหน้าที่ของมันตามที่มันควรจะเป็น

ผมสู้มาได้ 19 เดือน บ้านหลังใหม่สร้างเสร็จแล้ว และผมพบว่าในห้องของตัวเองยังไม่มีอะไรสักชิ้น
และการตกแต่งให้เป็นห้องที่ใช้งานได้ สำหรับผมและภรรยา(ถ้าหาได้) มันต้องใช้เงินเกือบแสน
การที่จะไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อให้ได้ทุกสิ่งที่ต้องการ และเก็บรถเอาไว้ 3 คันนั้นคงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง
ส่วนการขอยืมเงินพ่อกับแม่นั้นก็ไม่ใช่วิสัยที่คนวัยผมที่มีงานทำแล้วจะกระทำ ก็เหลือทางเดียว
คือต้องขายรถคันนี้

แต่รถคันนี้จะไม่จากไปอย่างเปล่าประโยชน์ ตลอดเวลา 19 เดือนที่ผ่านมามันได้มอบประสบการณ์ที่ดีๆ
(และประสบการณ์เสียตังค์) ไว้ให้ผมชนิดที่ไม่มีวันลืม และผมคิดว่าควรจะมาแบ่งปันให้คุณผู้อ่าน
headlightmag.com ได้รับรู้กัน เป็นการแชร์ความรู้ที่มีประโยชน์มากกว่าจะอมไว้คนเดียว

ขั้นตอนการซื้อรถ ต้องรู้ความต้องการของตัวเองให้แน่ชัด

ผมอยากได้รถเครื่องเทอร์โบที่มีการขับขี่ดี สามารถใช้งานได้มากกว่าเอาไว้ซิ่งอย่างเดียว จะว่าไปแล้ว
ผมกำลังพยายามจะทำ “Golf GTi” ตามแบบฉบับของตัวเองในงบประมาณไม่เกิน 300,000 รวมค่าโมดิฟาย
ให้ตายสิ ถ้าไม่ใช่ว่าไอ้ J!MMY กระตุกประสาทผมด้วย GTi สีแดงคันนั้น ผมคงไม่คิดเริ่มโครงการนี้
(โทษเขาไปนะ..)

เริ่มต้นด้วยการตีกรอบความต้องการของตนเองเพื่อไม่ให้สับสนในการเลือกซื้อ

1. ราคาซื้อขาย ต้องไม่เกิน 200,000 สามารถเกินได้นิดหน่อย
2. เป็นรถ 4 หรือ 5 ประตูเท่านั้น และต้องสามารถนั่ง 4 คนได้แม้จะไม่ใช่การเดินทางไกลๆก็ตาม
3. มีอะไหล่ Support ในด้านเครื่องยนต์ที่พร้อมสนับสนุนความบ้าของเราไปอีก 5 ปีอย่างต่ำ
4. มีเครื่องยนต์ที่สามารถโมดิฟายต่อยอดเพิ่มได้
5. มีโครงสร้างเริ่มต้นที่แข็งแกร่ง ทนต่อการขับขี่ที่หนักหน่วงในการขับเล่นในสนามแข่งวันหยุด
6. ไม่เอารถขับหลัง..เผอิญผมกลัวอาการโอเวอร์สเตียร์ครับ

ผมชี้นิ้วไปที่ Saab 9000CS Turbo ในทันที

จนกระทั่ง วันหนึ่งที่แม็คโดนัลด์นวมินทร์ ผมนั่งคุยกับเพื่อนชาวกลุ่มคนวิภาวดีและสหกรณ์ 17 อยู่
นายหยก Retro Racer ก็แนะนำให้ผมลองเล่น Subaru Legacy BC5 ตัวแรก ซึ่งผมก็ไม่แปลกใจหรอก..
ก็มันใช้รถรุ่นนี้อยู่นี่หว่า แต่ช่วงแรกๆผมไม่อาจทำใจให้ชอบเส้นสายอันแสนสบู่ของ BC5ได้เลย

แต่หยกก็มีเหตุผลที่ดี เพราะหากมองตามคุณสมบัติ 5 ประการของผมแล้ว ถือว่าเข้าล็อคพอดีเป๊ะ
ผมนั่งค้นข้อมูลเพิ่มเติม และยกรถรุ่นอื่นมาเปรียบเทียบดู ยิ่งพบว่าหากไม่นับเรื่องหน้าตาที่ไม่หล่อ
กับภายในที่โคดดดดดดดดดดดดดดดดจะเหมือน Toyota Hilux Mighty X แล้ว คุณสมบัติ
ข้ออื่นรถรุ่นนี้ตอบโจทย์ที่ต้องการได้หมด จึงตกลงใจที่จะมองข้ามรูปโฉมอันไม่ต้องตาผมไป
และเริ่มมองหา Legacy Turbo ทันที

ทำไมต้อง Legacy?

1. หน้าตาเรียบธรรมดา ไม่ดึงดูดตำรวจ
2. แพลทฟอร์มของมันนั้นคือต้นแบบของ Subaru Impreza GC/GF ซึ่งออกแบบมาให้ทนงานหนัก

3. เป็นรถที่ผ่านการวิจัยโดยมีทั้งการวิ่งทางฝุ่นและการใช้ความเร็วสูงบนทางเรียบอยู่ในหัว
ของทีมวิศวกร Legacy BC เป็นรถที่พวกเขาใช้สร้างสถิติวิ่งต่อเนื่อง 100,000ก.ม. ด้วย
ความเร็วเฉลี่ยเกินกว่า 220 ก.ม./ช.ม.
4. เครื่องยนต์ เกียร์ และช่วงล่าง สามารถแชร์กันใช้กับ Impreza GC ได้ ดังนั้นจึงไม่ยาก
ที่จะหาของแต่งหรืออะไหล่ในระยะยาว (ยกเว้นอะไหล่ตัวถังที่ต้องทำใจ)
5. ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลาที่เซ็ตมาค่อนข้างหน้าดื้อนิดๆ แต่เกาะเป็นตุ๊กแกถ้า
เข้าโค้งด้วยสปีดที่ไม่เกินความสามารถรถ
6. น้ำหนักตัว 1.35 ตัน หนักกว่า Impreza ราว 150 ก.ก. แต่ด้วยค่าตัวที่ถูกกว่ากันตั้งครึ่ง
คุณจะเอาไปโมดิฟายเพิ่มให้แรงกว่านี้เองก็ได้เช่นกัน

หลังจากที่ตระเวนหาอยู่ได้ราวเดือนเศษ ผมพบว่า Legacy Turbo ที่เป็นรถแท้รหัสตัวถัง
BC5 จริงๆนั้นหาไม่ง่ายเลย หลายคันที่พบมักเป็นรถรุ่น 2.2GX ดัดแปลงมา รถรุ่นไร้เทอร์โบนั้น
จะเป็นภายในสีเทา เข็มไมล์จะเป็นแบบไมล์สายที่สุด 220 ก.ม./ช.ม. ในขณะที่รุ่นเทอร์โบนั้น
จะได้ภายในสีดำ ไมล์เป็นไฟฟ้า แสดงค่าความเร็วสูงสุด 260 ก.ม./ช.ม.

หลายคันอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมเนื่องจากถูกใช้งานอย่างทรมาน ประตูและฝากระโปรง
ปิดยาก การทำสีคานในส่วนต่างๆก็เหมือนกับเคยถูกชนหนักมา หยกเองเขาก็เตือนผมมา
เช่นกันว่าถึงแม้จะเป็นรถผู้ใหญ่ แต่ก็เป็นผู้ใหญ่เท้าหนัก เปอร์เซ็นต์ของรถที่เคยประสบ
อุบัติเหตุจะสูงกว่ารถรุ่น 2.2GX ที่ไม่มีเทอร์โบและสภาพเดิมๆ

ในที่สุดผมเดินทางไปยังเต็นท์รถแห่งหนึ่งบนถนนกาญจนาภิเษก และพบ Legacy Turbo
สีเทาดำอย่างที่ต้องการ สภาพตัวถังดูโอเค ยกเว้นซีกคนขับที่ทำสีมาอย่างลวกๆ
แต่ชิ้นส่วนภายในยังดี ฝาปิดต่างๆอยู่ครบ ร่องรอยการโดนรื้อมีน้อยมาก สัดส่วนของรถ
ก็ได้รูป น่าจะสามารถซื้อไปแล้วบูรณะต่ออีกหน่อยได้ ผมต่อราคาเจ้าของเต็นท์จาก
230,000 เหลือ 200,000 บาท แต่จบที่ 210,000 บาท

วันที่จะไปมัดจำรถ ผมพาช่างเล็กจากสุขาภิบาล 5 ไปช่วยตรวจสอบสภาพรถให้
ก่อนตัดสินใจวางเงิน พี่เล็กดูสภาพโดยรวมและเครื่องยนต์แล้วพยักหน้า บอกว่าใช้ได้
ด้านข้างเหมือนจะมีถากๆมาบ้าง แต่ไม่หนัก โครงสร้างและเครื่องยนต์ดีเยี่ยม
ผมให้หยก ซึ่งใช้ Legacy ในชีวิตประจำวันเป็นผู้ทดลองขับให้ผม เพื่อจับอาการและ
ความผิดปกติ ก็ไม่พบอะไรนอกจากอาการตื้อที่รอบเกิน 4,000 ซึ่งไม่น่าเกิดกับรถแบบนี้

จะเล่าให้ฟังว่า วันนั้นพอผมวางมัดจำเสร็จ ก็มีเสียงตะโกนโหวกเหวกกันรอบเต็นท์
รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว!สั่งทุกคนเข้านิวาสถานตัวเองภายในเวลาทุ่มครึ่ง สิ่งที่ตามมาก็คือ
ผม พี่เล็ก หยก และเจ้าอู MR2 น้องในกลุ่ม ต้องใช้เวลาเดินทางจากกาญจนาภิเษก
ออกจากที่นั่นสองโมงครึ่ง และมาถึงสุขาภิบาล 5 ตอนเกือบทุ่มตรง! ค่อยๆคลาน
ผ่านสภาพการจราจรที่วุ่นวายดุจผู้คนหนีจานผี ID4 ในหนังไม่มีผิด

มันเป็นวาระมงคลหรือเคล็ดอะไรหรือเปล่าวะที่ผมวางเงินจองในวันวิกฤติแบบนี้?!?


รับน้อง.. มา Break the ice กันหน่อย

เมื่อรับรถมาแล้วก็ต้องมาเปิดๆลูบๆคลำๆดูกันหน่อย ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง

ภายนอกของรถ ในความเห็นผมคือมันแก่ๆ เงียบๆ แต่มองจากบางมุมก็แอบสวย ยิ่งถ้าเป็นมุมที่
เผยให้เห็นด้านข้างของตัวรถมากๆและเห็นด้านหน้าหน่อยๆนี่จะสวยที่สุด แต่ยิ่งเลื่อนกล้องมาถ่าย
ด้านหน้ารถมากเท่าไหร่ ความเป็นเหลี่ยมเป็นก้อนของมันอาจทำให้ดูจืดตาลงมาบ้าง

สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่การจัดพื้นที่ภายใน ผมเสียดายที่ไม่ได้ถ่ายภาพตอนตัวเองนั่งในรถมาให้ดู
แต่ขอบอกว่าแม้มันจะมีความยาวแค่ประมาณ 4.5 เมตร และกว้างแค่ 1.69 เมตร แต่การจัดพื้นที่ภายใน
ทำได้อย่างชาญฉลาดมาก พื้นที่นั่งด้านหน้าสามารถรองรับคนสูง 183 ซ.ม. หนัก 138 ก.ก.อย่างผมได้สบาย
ส่วนเบาะหลังนั้นเชื่อไหมว่าลุกเข้าออกได้ง่ายกว่า Altis ใหม่ และมีพื้นที่เหนือศรีษะกับพื้นที่วางขาพอสำหรับ
คนสูง 180 ซ.ม.ได้สบาย

และแม้กระนั้น พอเปิดห้องเก็บสัมภาระด้านท้ายดูก็แปลกใจกับพื้นที่จุของที่ทั้งกว้างและลึก ยัดถังแก๊สรวมกับ
ถุงกอล์ฟได้สบายมาก

ทั้งหมดนี้คือศาสตร์ในการออกแบบของ Subaru ในยุคที่ยังเป็น Subaru ซึ่งเมื่อเทียบกับรถที่มีพิกัดเดียวกัน
จากยุคนั้นเช่น Galant VR4 ก็ทำได้สูสีกันแต่พื้นที่ภายในโดยรวม Legacy สามารถนั่งได้สบายกว่าเล็กน้อย
ยิ่งถ้าเป็น Cefiro A31 ไม่ต้องพูดถึง ทุกคนรับรู้กันว่ามันอุทิศขนาดตัวให้กับความยาวห้องเครื่องจนแทบ
ไม่มีที่เหลือให้ทำอย่างอื่น คับแคบ บีบอัด และจัด Packaging ได้แย่จนไม่น่าเป็นรถซาลูนใหญ่ยาว 4.7 เมตร

บรรยากาศห้องโดยสารในภาพรวม หลายคนบอกว่าดูแล้วก๊องแก๊ง วัสดุไม่ค่อยดี แต่ถ้าใช้มือลอง
สัมผัสเองจริงๆ อย่างผมก็ได้ทราบว่าแผงคอนโซลนั่น เอามือกดแล้วเป็นวัสดุนุ่มนะครับ แค่ไม่นุ่มเหมือน
พวกหุ้มฟองน้ำกับหนังเท่านั้น แผงประตูด้านข้างก็มีส่วนที่เป็นวัสุดนุ่มและหุ้มหนัง ในความคิดผม
ระดับของวัสดุที่เลือกใช้ใน Legacy นั้นดีกว่า Impreza แน่นอนครับ เพียงแต่ไม่ก้าวข้ามชั้น
ไปเทียบรถยุโรปเท่านั้นเอง

เบาะนั่งที่เห็นนั้น หากเป็นรถสเป็คโรงงานจริงๆจะให้เบาะหนังสีดำมา ส่วนรถคันที่ผมซื้อมานี้
เจ้าของเปลี่ยนเป็นเบาะของ Legacy BP รุ่นใหม่กว่า ซึ่งให้ความกระชับในการนั่งดีพอสมควร
แต่เมื่อผมขับเดินทางไกลเกิน 2 ชั่วโมง จะมีอาการล้าที่น่องขวาเล็กน้อยครับ เป็นเบาะที่ดี
สำหรับคนไม่ชอบเบาะซิ่งปีกสูงแบบของ Impreza STi แต่ไม่ชอบเบาะสไตล์รถใช้งานที่
แบนราบเกินไป

แผงแดชบอร์ดมีลักษณะที่ธรรมดามาก หลายคนคิดว่ามันคล้าย Toyota Corana AT170/ST171 หรือบ้าง
ก็บอกว่ามันมีเส้นสายเหมือนแดชบอร์ดของกระบะ Mighty-X ก็ไม่อาจปฏิเสธว่ามีส่วนคล้าย ไม่มีระบบอะไร
มากไปกว่าเครื่องปรับอากาศแบบคันเลื่อนพร้อมปุ่มปรับทิศทางลมธรรมดาๆ ที่วางแก้ว และช่องวิทยุ
ไฟฉุกเฉินมองหาง่ายและอยู่ใกล้มือ

ด้านขวาสุดของแดชบอร์ดเป็นที่อยู่ของชุดสวิทช์หลายตัว แถวบนจะเป็นสวิทช์เปิดไฟตัดหมอกหลัง
เคียงข้างกับระบบไล่ฝ้า ส่วนแถวล่างลงมานั้นจะเป็นสวิทช์ไฟตัดหมอกหน้าและปุ่ม Cruise Control
ซึ่งใช้ยากมากเพราะอยู่ห่างระดับสายตา ต้องกดปุ่มนี้ให้ไฟติดก่อน แล้วจึงใช้ก้านที่ด้านขวาของ
พวงมาลัยในการ Set และเลือกความเร็วอีกที..ทำไมไม่ทำง่ายๆแบบ Toyota ก็ไม่รู้
ที่เหลือก็คือสวิทช์ปรับกระจกมองข้าง ความที่เป็นรถเก่าจากยุค 90s ตอนต้นและเป็นรถสเป็คที่อ้างอิง
กับรถออสเตรเลีย จึงไม่มีระบบพับไฟฟ้ามาให้

หน้าปัดของรุ่นเทอร์โบจะไม่เหมือนกับรุ่น 2.2GX สังเกตได้ที่ความเร็วสุดเข็ม 260ก.ม./ช.ม. (GXเป็น 220)
และขีดแดงบนมาตรวัดรอบที่ 7,000 (GXจะเป็น 6,500) ที่ชอบมากคือไฟเตือนประตูปิดไม่สนิทตรงกลาง
ซึ่งแยกมันออกทีละบานเลยว่าใครปิดไม่สนิท จะได้ไม่ต้องเถียงกันว่าใครวะ..ใคร..ใครปิดไม่แน่น
ซึ่งทุกวันนี้รถหลายแสนบาทบางคันก็ไม่มีไฟแบบนี้ให้ (Tiida ของข้าพเจ้าก็ไม่มี)

เมื่อขับในเวลากลางคืน แสงไฟเรืองจากข้างหลังจะเป็นสีเขียวอ่อนมาก และช่วงที่เป็นมาตรวัดระยะทาง
แบบทริปนั้น แสงไฟส่องมาไม่ถึง ชนิดหมดสิทธิ์อ่านค่ากันตอนวิ่งกลางคืนเลยทีเดียว สิ่งนี้คงเป็นไปตาม
อายุสังขารของรถ

มาที่เครื่องยนต์กันบ้าง Legacy Turbo สเป็คไทยนั้นจะใช้เครื่องยนต์ที่ไม่เหมือนกับทางญี่ปุ่นเสียทีเดียวนัก
โดยทางบ้านเราจะไปอ้างอิงสเป็คกับทางออสเตรเลีย ซึ่งมาตรฐานของน้ำมันเชื้อเพลิงพอๆกันกับ
ประเทศไทย

เครื่องยนต์ EJ20 แบบ 4 สูบ Boxer 16 วาล์ว DOHC ระบายความร้อนด้วยน้ำ
เสื้อสูบแบบอลูมินั่มอัลลอย และฝาสูบอัลลอยเช่นกัน ติดตั้งเทอร์โบชาร์จของ IHI รุ่น RHB52 VF-11
ความจุกระบอกสูบ 1,994 ซี.ซี. ขนาดกระบอกสูบ 92.0 ม.ม. ช่วงชัก 75.0 ม.ม. อัตราส่วนกำลังอัด 8.0:1
แรงม้าตามสเป็คโรงงาน 200 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 260Nm ที่ 3,500 รอบต่อนาที

เป็นตัวเลขที่ถือว่าน่าปลื้มใจสำหรับเจ้าของรถในยุค 1990s แต่..มันก็เท่ากับเครื่อง 1JZ-GE
ที่อยู่ในรถตู้ รถปิคอัพ รถยุโรปวางข้ามสายพันธ์ที่มีอยู่ดาษดื่นตอนนี้นั่นแหละครับ

อยากให้สังเกตเครื่องยนต์ในรถคันของผม อยากจะบอกไว้ก่อนว่าสเป็คมาตรฐานของรถนั้น
จะใช้อินเตอร์คูลเลอร์น้ำ เป็นกล่องโลหะทรงเหลี่ยมมีคำว่า Subaru Boxer 16 Valve แปะไว้
ส่วนรถของผมนั้นคาดว่าอินเตอร์คูลเลอร์เดิมติดรถคงเสียไปแล้ว จึงถูกดัดแปลงเอาอินเตอร์คูลเลอร์
แบบอากาศจาก Impreza GC8 ปี 92-96 มาใส่ เป็นทรงเอียงแบบนี้ ศัพท์ชาวซูบารุจะเรียกว่า
“อินเตอร์เฉียง”นั่นเองครับ

รับน้องวันแรกๆ เกือบได้รับประทานกำแพง

ผมขับรถกลับมาจากกาญจนาภิเษกในวันแรกก็รู้สึกแปลกๆกับระบบบังคับเลี้ยวที่ดูเหมือนศูนย์จะไม่ตรง
แต่พอมาสังเกตดีๆ เอ๊มันก็ตรงดีนี่หว่า แล้วพอขับไปขับมา เห้ย เบี้ยวซ้ายนิดๆ ขับต่อมาอีกหลายสิบนาที
เห้ยตกลงคุณมรึงเบี้ยวขวา ผีป่าซาตานที่ไหนมาสิงพวงมาลัยวะเนี่ย

วันหนึ่งผมขับกลับจากที่ทำงานตรง ซ.เฉยพ่วง พหลโยธิน ซึ่งต้องเลี้ยวซ้ายเข้าวิภาวดีแล้วขับขึ้นสะพาน
ข้ามแยกลาดพร้าวเพื่อมาขึ้นโทลล์เวย์ที่ด่านหน้าปตท. ซึ่งเป็นทางที่ผมวิ่งกลับบ้านประจำ สะพานข้ามแยก
ลาดพร้าวในส่วนนี้จะยิงโค้งขวาก่อนแล้วลาดลงพร้อมกับเค้งไปทางซ้ายก่อนเข้าด่าน ผมขับเข้ามาด้วย
ความเร็วมากกว่าคนปกติ อันเป็นนิสัยเสียส่วนตัว แล้วก็หักเลี้ยวพวงมาลัย ปรากฏว่าจู่ๆรถไม่เลี้ยว

เฮ้ยยยยยยยยยยย Shiatttttttttt!!!

ผมหักพวงมาลัยเพิ่มด้วยสัญชาติญาณและรถก็เลี้ยวกลับเข้าเส้นทาง เอาหน้าเฉียดขอบกำแพงด้านขวา
ในโค้งซ้ายนั้นไปไม่กี่นิ้ว

หลังจากนั้นผมจ่ายเงินเข้าด่าน และจอดเพื่อสำรวจช่วงล่างสักครู่ ก็ไม่เห็นอะไรผิดปกติ จึงขับกลับบ้าน
แบบเรียบร้อยสำรวมประหนึ่งสามเณรแก่พรรษา จากนั้นพอกลับถึงบ้านก็เรียกคุณแม่ให้มาช่วยลอง
หมุนพวงมาลัยไปมาโดยที่ผมมุดอยู่หน้ารถ (หวังว่าแม่คงไม่แกล้งใส่เกียร์เดินหน้าวิ่งทับผม)

เจอตัวการแล้ว มันคือยางประคบแร็คที่หลุดออกมาข้างหนึ่งนั่นเอง ทำให้ตัวแร็คของชุดบังคับเลี้ยว
สามารถเลื่อนไปด้านซ้าย-ขวาได้ เพราะมียางประกบเหลืออีกเพียงข้างเดียวที่รับหน้าที่อยู่และตัวมันเอง
ก็อยู่ในสภาพผ่านศึกใช้ได้เหมือนกัน ดังนั้นห้ามบู๊เด็ดขาด

ผมพยายามเดินหาอะไหล่ชิ้นนี้ และเมื่อค้นหาข้อมูลใน www.siamsubaru.com ก็พบมีคนขาย
ยางประคบแร็คที่ทำมาจากยูรีเธน เป็นของแต่งยี่ห้อ AVO ไอ้ผมก็ด้วยความที่เห็นราคามันราว
7-8ร้อยบาทเท่านั้น เลยให้ไอ้หยกพานั่งรถไปซื้อถึงศรีนครินทร์ โดยที่ไม่ได้ศึกษาเล้ยยยว่ายูรีเธน
มันให้ผลอย่างไรกับรถ เห็นราคาถูกหน่อยแล้วเป็นของแต่งผมก็คว้ามาเสียละ

ไม่กี่วันต่อมาผมนำรถเข้าไปอู่พี่เล็ก ตามสัญญาที่ให้ไว้กับแกว่าจะไปใช้บริการ โดยไหว้วานให้
แกตรวจสภาพส่วนสำคัญ เช่นสายพานไทม์มิ่ง นอกจากนั้นก็เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนหัวเทียน
เรื่องหัวเทียนนี่คอรถแรงที่ยังไม่เคยจับซูบารุควรทราบไว้นะครับว่าลักษณะการจุดติดไฟของหัวเทียน
ในซูบารุนั้นจะมีความแปลกแตกต่างจากรถสูบตั้งทั่วไป ผมเกือบซื้อหัวเทียนเบอร์ 8 มาใช้แล้ว
ดีที่มีคนเตือนเอาไว้ก่อนว่าพยายามอย่าใช้หัวเทียนเบอร์สูง เพราะมันจะจุดประกายไฟไม่ค่อยติด
ดังนั้นเลยเลือกหัวเทียน NGK เบอร์ 6 อิรีเดี้ยมที่หาซื้อได้ตามเว็บไซท์และร้านอะไหล่ทั่วไปนั่นล่ะครับ

สภาพหัวเทียนของเดิมติดรถ บ่งบอกว่าน้ำมันไม่หนาไม่บางเกินไป ไม่มีน้ำมันเครื่องรั่วในห้องเผาไหม้
ปลั๊กไม่มีอาการ Overheat ดูแล้วสภาพเครื่องทั่วไปยังดีอยู่

การตรวจสภาพเครื่องก็อย่าลืมดูสายพานหน้าเครื่องด้วยเพราะเส้นละไม่กี่ร้อยบาท
แต่ถ้าขาดกลางทาง ความซวยที่จะเกิดขึ้นนั้นมีมูลค่าเยอะกว่ามากครับ อย่างที่เห็นนี้ สายพานรถผม
สภาพราวกับโดนฝูงปิรันย่าฟัดมา รีบๆเปลี่ยนไปซะเถอะ

ในระหว่างเปลี่ยนหัวเทียน ก็ถือโอกาสสำรวจสภาพคอยล์จุดระเบิดไปด้วยเลย ในเครื่อง Old Legacy
และ Impreza รุ่นแรกๆนั้นจะใช้คอยล์แยกอิสระ 4 ตัว หลังจากการใช้งานไปนานๆ หัวปลั๊กหรือ
ตัวคอยล์จะมีอาการแตกร้าว ไฟจุดระเบิดจะเดินไม่เต็มที่ครับ ของผมมีร้าวไป 1 แต่ยังพอซ่อม
ด้วยการเชื่อมได้เพราะรอยร้าวไม่ใหญ่

น้ำมันเครื่องที่ใช้ ผมเลือก Sunoco Brill ซึ่งเป็นน้ำมันเครื่องระดับค่อนข้างสูงของแบรนด์ Sunoco
มีความหนืด 50 และเคลมว่าสู้งานเบาเอางานหนักได้ดีกว่าน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ตามตลาดทั่วไป
จะให้แย่กว่าผมก็คงสาปแช่งล่ะนะ เพราะราคา 4 ลิตรก็ปาเข้าไป 2,400 บาทแล้ว แถม EJ20 เทอร์โบ
ยังต้องใช้ตั้ง 5 ลิตร และจะหาคนแบ่งขาย 1 ลิตรหลังนี่ก็ยากเสียด้วย (ผมมาทราบภายหลังคุยกับ
พี่เล็ก แกตบบ่าแล้วบอกข้างหูเบาๆว่าน้องแพนเอ้ย รถน้องแพนยังไม่ทำอะไร ม้าแค่นี้ น้ำมันกึ่งสังเคราะห์
ยังเอาอยู่เลยครับ อย่าเปลืองตังค์โดยไม่จำเป็นครับ)

ส่วนนี่คือหน้าตาของยางประคบแร็ค AVO ยูรีเธนสีส้มที่ผมซื้อมาครับ

หลังจากรับรถจากพี่เล็กมาเสร็จ ผมลองอาการพวงมาลัยก่อนเป็นอย่างแรก อึ้งไปเลยครับ รถคันไม่เล็ก
หน้าตาโบราณๆ ไหงเซ็ตพวงมาลัยมาไวมาก เรียกได้ว่าใช้ข้อมือขวากระหวัดไปมาก็โลดแล่นไปตาม
ทางด่วนได้รอบเมืองแล้ว แต่รู้สึกว่าความสั่นสะเทือนเข้ามาสู่มือมากไปบนถนนขรุขระ และช่วงระยะฟรี
ของพวงมาลัยนั้นมีน้อย ต่อให้ตั้งศูนย์แล้วก็ยังถือว่าหน้าไวอยู่ดี

ส่วนหนึ่งมันมาจากยางยูรีเธนไอ้ที่ใส่เข้าไปนี่ล่ะครับ แต่ผมมาทราบเมื่อหาข้อมูลตามเว็บในภายหลัง
อันว่ายูรีเธนนั้นมีข้อดีคือแข็งและทนต่อแรงกระทำสูงกว่ายางเกรดธรรมดา แต่มันก็ส่งถ่ายความ
สั่นสะเทือนมาได้มากกว่าและให้ตัวได้น้อยกว่า นี่เองเป็นเหตุที่ทำให้พวงมาลัยมันเหมือนมีระยะฟรี
น้อยมากและตอบสนองค่อนข้างจะไวเกินหน้าตารถ

แต่เอาวะ แบบนี้ก็รับได้ ชอบ ชอบ

แพ้กระบะบนทางตรง???

เรื่องที่สอง ผมมีความรู้สึกว่าทำไมรถมันอืดๆพิกล ผิดวิสัยรถเทอร์โบเป็นอย่างมาก..โอเค
นี่อาจเป็นเครื่อง EJ20 เทอร์โบสเป็คที่มีแรงม้าน้อยที่สุด แต่ 200 ม้ามันต้องทำอะไรได้มากกว่านี้สิเว้ย
รถคันนี้ อัตราส่วนกำลังอัดต่ำ 8.0ต่อ1 ช่วงรอบต่ำไม่น่าจะมีเรี่ยวแรง แต่กลับเร่งช่วง 1,000-2,500 รอบ
ได้อย่างคล่องปรื๋อราวกับเป็นเครื่อง NA อัตราส่วนกำลังอัด 9.2:1 แล้วที่บ้าบอไปกว่านั้นคือช่วงหลัง
4,000 รอบต่อนาที อันเป็นช่วงที่เทอร์โบน่าจะบูสท์เต็มแล้ว อัตราเร่งน่าจะไว แต่มันกลับขึ้นอย่างเอื่อยๆ
ได้ความเร็วแค่ประมาณรถบ้านเครื่องพันห้าร้อยซี.ซี.เท่านั้น

ผีป่าซาตานออกจากพวงมาลัยมาอยู่ในเครื่องตูอีกเหรอวะเนี่ย!!

ผมขับมันไปบ้านจอร์จ Gettuned จูนเนอร์ที่บ้านมีหมาชิวาว่าสองตัว เพื่อนสนิทผมเอง
และให้จอร์จขับสั้นๆ พอขับเสร็จ จอร์จบอกว่า “มึงอย่าเรียกมันว่าซูบารุเลยว่ะ” T T

ช่างนต ไอ้หยก เลยไปหยิบเอามาตรวัดบูสท์ที่กองอยู่ในบ้านจอร์จมาลองต่อแบบหยาบๆ
แล้วให้ผมไปลองวิ่งโดยมีหยกถือมาตรวัดบูสท์เอาไว้ หลังจากกดคันเร่งเต็มๆ 1 รอบก็พบว่า
บูสท์มาเต็มที่แค่ 0.2 บาร์ ซึ่งพวกเราวิเคราะห์กันว่าสิ่งที่อาจชำรุด อาจเป็นเวสต์เกต
หรือไม่ก็เทอร์โบไปซะแล้ว มีการตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็นท่อไอเสีย แต่ผมคิดว่าไม่น่าใช่
ต่อให้เป็นท่อเดิมติดรถก็ไม่น่าอืดได้ขนาดนี้

ผมขับมันกลับบ้านด้วยความขุ่นเคืองมาก ขึ้นโทลล์เวย์ขากลับเจอ Vigo สภาพเดิมๆไล่ดันตูดอีก
พอจะกดคันเร่งหนี พี่แกตามดูดติดๆ แถมแซงผมไปอย่างสบายอารมณ์ ว้อยย ตูขับดาวลูกไก่นะว้อยย

ไม่ไหวแล้ว ผมให้ Tee@Abuser ช่วยหาของแต่งให้อย่างด่วน ได้ท่อปลายญี่ปุ่นสภาพดีมา 1 ใบ
มีวัดบูสท์ APEX EL1 และจากนั้นก็มุ่งไปร้านทำท่อ เพราะความหวังของเราส่วนหนึ่งอยู่ที่ระบบ
ทางเดินไอเสีย ซึ่งอาจมีการอุดตัน ถ้าทำท่อแล้วยังวิ่งไม่ดี คราวนี้ก็ต้องไปไล่ดูที่อย่างอื่นต่อกันอีก

ผมเลือกเดินท่อสแตนเลสขนาด 3 นิ้ว ซึ่งอันที่จริงหากเป็นรถที่มีแรงม้าประมาณ 200 ตัวบวกลบ
และเป็นรถเทอร์โบ ผมคิดว่าขนาด 2.5 นิ้วจะทำให้รถขับได้กระฉับกระเฉงกว่า แต่ที่ข้ามช็อตไปหา
3 นิ้วเลย เป็นเพราะผมมีเป้าหมายที่จะส่งแรงม้าไปแตะ 300 ตัว และผมขี้เกียจเสียเงินกลับมาเดินท่อ
ใหม่อีกครั้งครับ

ในครั้งนี้ผมเปลี่ยนท่อ Downpipe เดินจากหลังเทอร์โบลงมาบรรจบกับท่อไอเสียเส้นล่าง
การเปลี่ยน Downpipe ที่ขนาดใหญ่ขึ้นในบางครั้งอาจทำให้เทอร์โบสร้างบูสท์ได้มากกว่าเดิมเล็กน้อย
แค่ประมาณ 0.05-0.1 บาร์นะครับ

ถือโอกาสขึ้นแท่นยกในการเก็บภาพบางส่วนที่ถ่ายยากๆมาหน่อย ส่วนที่เป็นสีดินแดงนั่นก็คือ
ท่อร่วมไอเสียครับ สังเกตไหมครับว่าท่อฝั่งคนนั่งจะต้องวิ่งผ่านเสื้อสูบมาเพื่อจอยกับท่อฝั่งคนขับ
ซึ่งสั้นกว่ามาก เมื่อบรรจบกันเสร็จแล้วค่อยวิ่งขึ้นไปหาโข่งเทอร์โบ ไอ้ความที่ท่อฝั่งซ้าย
และฝั่งขวายาวไม่เท่ากัน และลำดับการจุดระเบิดที่ไม่เหมือนเครื่อง 4สูบเรียงทั่วไป (4สูบทั่วไป
จะจุดระเบิดแบบ 1-3-4-2 แต่ Boxer ของซูบารุ จะจุดแบบ 1-3-2-4) ทำให้เกิดเป็นเสียงเครื่อง
ถุ่มๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆตอนเดินเบา และยิ่งพอกดคันเร่งจะเป็นเสียงบร็อนนน ไม่ได้เรียบแหลม
เหมือนรถ 4 สูบทั่วไป เอกลักษณ์ของเสียงแบบนี้ฝรั่งเขาเรียกว่าเป็นเสียง Rumble
ซึ่งทำให้ Subaru เสียงไม่เหมือนใคร และยอมรับว่าเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ผมหลงรัก Subaru

ว่าแต่..เอาจริงๆนะครับ Impreza จากญี่ปุ่นนับตั้งแต่ปี 2003 ปลายปีในโฉมตาเหยี่ยวเป็นต้นมา
หากเป็นรุ่น STi สเป็คญี่ปุ่น เขาจะเดินท่อร่วมไอเสียใหม่ให้เส้นซ้ายและเส้นขวามีความยาว
เท่ากัน เป็นแบบ Equal-length exhaust manifold ซึ่งทำให้เสียง Rumble แบบซูบารุดั้งเดิม
หายไปหมด แม้ว่าในรอบเดินเบาจะยังมีจังหวะเสียงทุ้มๆห่างๆอันเป็นผลมาจากลำดับการจุด
ระเบิดก็ตาม

ท่อเดินเส้นตรงขนาด 3 นิ้ว ไม่มีหม้อพักกลางนะครับ และเสียงก็ไม่ดังด้วย เพราะในรถเทอร์โบนั้น
ตัวโข่งและกังหันของเทอร์โบนั่นล่ะครับที่เป็นตัวซับและสะท้อนเสียงไปเสียเยอะ แต่ถ้าเป็น
รถ NA คุณเดินท่อตรงๆแบบนี้รับรองว่าตำรวจเรียกแน่ครับวันไหนที่มีด่าน

ช่วงล่างหลัง เป็นสตรัท ยึด 4 จุดหน้าตาธรรมดา ไม่เหมือนมัลติลิงค์ของพวกรถยุโรป
ส่วนช่วงล่างด้านหน้า ก็อย่างที่เห็นในภาพบนๆก่อนหน้านี้ เป็นแม็คเฟอร์สันสตรัทธรรมดาๆเลยครับ

เอ้า ทีนี้กลับมาเรื่องท่อกันต่อ ในวินาทีที่ช่างเขาเอาหม้อพักกลางของเดิมมาโยนทิ้งไว้ข้างๆรถ
ผมไม่รีรอที่จะหยิบมาชันสูตร เพราะถ้าหากเราพบว่าหม้อพักนี้มีอะไรตันอยู่ ก็เป็นไปได้ว่า
ปัญหาอัตราเร่งเต่าๆที่มีอยู่จะได้รับการแก้ไข

แล้วก็ไม่ผิดคาดครับ

ที่สำคัญ มันไม่ใช่ว่าท่อตันนะครับ รูที่เห็นข้างในนั้นเป็นเหล็กเจาะที่ดูเหมือนจงใจทำมาให้
หม้อพักมีรูให้ไอเสียผ่านเล็กเพียงแค่นี้ เล็กแค่เอานิ้วก้อยยัดได้มิด..โถ่..ไอ้บ้าเอ๊ยยย
ไอ้บ้าที่ไหนขับ Subaru เทอร์โบแล้วเอาท่อแบบนี้มาใส่วะ! ผมรีบเปิดดูสมุดทะเบียน มีชื่อเจ้าของเก่า
ว่าจะขอขับไปด่าสักรอบ แต่ตี้ท้วงว่าเจ้าของเก่ามันอยู่ประจวบคีรีขันธ์ ขับรถไปคงไม่คุ้มหรอก
ผมเลยได้แต่ด่าในใจ เวรกรรม ทำไปได้

หลังจากนั้น รถก็ทำท่อเสร็จ เอามันลงจากแท่น ติดตั้งวัดบูสท์ แล้วผมก็ขอให้ Tee@Abuser กับ
ตา Gab Ferio เพื่อนเขาเอารถไปลองวิ่งให้หน่อย

ผมได้ยินเสียง Boxer คำรามวิ่งผ่านไปอย่างเร็ว อ้า..าา..นี่สิโว้ย Orgasm กับ Boxer เสียงซูบารุแท้ๆ
ผ่านปลายท่อออกมาในระดับที่กำลังรื่นหู ไม่ดังเกินไป และไม่เงียบเกินไป เจ๋งเลย

ตี้ขับวนกลับมาแล้วเปิดกระจกยกนิ้วโป้งชี้ฟ้า

ผมว่านั่นแปลว่า “รถพี่กลับมาแรงสมเป็นดาวลูกไก่แล้ว”

คืนนั้นผมทานข้าวกับน้องสองคน โดยมีตาจิมมี่ตามมาสมทบในภายหลัง ก่อนที่จะขอแยกตัวกลับบ้าน
ใช่ครับ..ต้องขับกลับบ้านเพื่อเอามันไปเก็บไว้หลังบ้าน ก่อนที่จะเปลี่ยนรถอีกคันออกมารับพ่อ
ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

เรื่องของเรื่องคือผมแอบซื้อรถคันนี้ในระหว่างที่พ่อไปภารกิจงานที่ต่างประเทศ และผมคิดว่าถ้าหาก
ขับมันไปรับเขาเลย มันก็ออกหัวออกก้อยว่าอาจจะโดนสวดเอาชุดใหญ่..มีรถอยู่ 2 คันแล้ว จะเอา
คันที่ 3 มาหาพ่อ.เอ้ย.แม่แกเหรอ

แต่เรื่องลงเอยด้วยดีในเย็นวันถัดมา เมื่อพ่อถามผมว่ารถใครจอดอยู่ข้างหลังบ้าน
ผมยืดอกตอบเต็มเสียงว่า “รถของผม” แล้วก็หยิบเล่มทะเบียนมาให้พ่อดูพร้อมเปิดหน้าที่มี
ชื่อผมเป็นเจ้าของและเป็นผู้ครอบครองโดยกฏหมาย..มันเป็นรถคันแรกที่ผมซื้อด้วยเงินของตัวเอง
100%โดยไม่มีใครออกให้

ผิดคาด แทนที่พ่อจะสวดผมยับ ..ผมรู้สึกได้อย่างมากก็แค่พ่อทำหน้าเหมือนไม่พอใจเล็กน้อย
แต่ท้ายสุดก็ยิ้มที่มุมปากแล้วพูดปนหัวเราะเบาๆ “รวยแล้วนี่เราน่ะ”

วันต่อมาผมทิ้งเจ้า Old Legacy นั่นไว้ที่บ้าน ตอนเย็นกลับมา คุณแม่ก็บอกว่าพ่อแกไปด้อมๆ
มองๆรถแกอยู่นานเลยนะ ผมมาถามพ่อทีหลังปรากฏว่าที่จริงพ่อก็แอบอยากลองขับมันดูเหมือนกัน
เพราะสมัยก่อนพ่อเองก็เคยซื้อ Subaru Leone 1600ST ใช้ สรุปเราพ่อลูกก็แอบเป็นสาวกดาวลูกไก่
กันทั้งคู่นั่นล่ะ

กลับมาที่เรื่องรถต่อ

ลำพังทำท่อ ติดมาตรวัด มันไม่เท่าไหร่ ดูนั่น ยางติดรถขอบ 15 นิ้วที่ได้มา สภาพนั่นก็พร้อมจะลาโลก
เต็มแก่แล้ว หาเรื่องเสียเงินหน่อยดีกว่า เปิดเว็บหาล้อขอบ 17 สวยๆใส่ ไปเจอล้อญี่ปุ่นของแท้ลายสวย
มากมาย แต่เห็นราคาแล้วแทบล้มคาเก้าอี้ ล้อดีๆมือสอง เซ็ตละ 30,000ขึ้นทั้งนั้น บางเซ็ตก็ 45-50,000
บาทไปโน่น โอ้ย ล้อเอามงกุฏเทวดามาหลอมแล้วหล่อขึ้นรูปหรือไง “ยาจกซู”อย่างผมซื้อไม่ไหวหรอก

ทางเลือกที่ปลอดภัยและเหมาะกับคนกระเป๋าแห้งๆอย่างผม ก็น่าจะเป็นการเลือกล้อติดรถจาก Subaru
รุ่นอื่นๆที่ใหม่กว่ามาใส่ Old Legacy ใช้ PCD ขนาด 5รู 100ม.ม. ซึ่งจะเข้ากันได้กับ Impreza GC
ตากลม และตาเหยี่ยวล็อตแรกที่ไม่ใช่ STi Spec C เพราะถ้าเป็นรถล็อตหลัง หรือ Spec C มักจะ
เป็นรูน็อต 5รู 114 ม.ม. มันจะใส่กันไม่ได้ ล้อจาก Legacy BD/BG ปี 96 ที่เป็นรุ่น RS/GT-B ก็มี
ขนาด 17 นิ้วและมีรูปทรงที่สวยมาก ราคาแค่เซ็ตละไม่ถึง 5,000 ครับ แต่ข้อเสียคือถ้าใส่ล้อลายนี้แล้ว
คุณจะอัพเกรดเบรกเป็นแบบ 4 Pot ไม่ได้ เพราะคาลิเปอร์จะติดก้านล้อ อันนี้ตาหยกเขาลองมาเองแล้ว
ดังนั้นคงไม่ต้องถามอะไรกันไปมากกว่านี้

งั้นก็เลือกล้อที่มันมากับเบรก 4 Pot สิ คำตอบง่ายๆก็คือล้อลายที่เห็นในภาพนี่เอง เป็นล้อจาก
Impreza STi ตากลมและตาเหยี่ยวที่ญี่ปุ่น คนซูบารุเรียกกันว่า “ล้อก้านวี” ราคามือสองอยู่ที่ราว
10,000-13,000 บาท ผมหาเจอและไปหิ้วมาได้จากเต็นท์รถแถวนวมินทร์ครับ

ล้อลายนี้น้ำหนักเบาใช้ได้เลย เอาไปชั่งดูได้ 8 ก.ก. เบาเท่าล้อ 15 นิ้วของ Tiida 1.6 ของผมเลย
ส่วนเรื่องความทนทาน ผมคิดว่าเชื่อถือได้เพราะเป็นล้อที่ผลิตตามสเป็คโรงงานซึ่งต้องมีการควบคุม
มาตรฐานความปลอดภัยกันดีในระดับหนึ่ง

ลองอัตราเร่งและอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงครั้งแรก

0-100ก.ม./ช.ม. 8.7 วินาที
80-120ก.ม./ช.ม. 5.45 วินาที ใช้เกียร์ 3
ความเร็วสูงสุดบนหน้าปัด 234 ก.ม./ช.ม.
ความเร็ว GPS 223 ก.ม./ช.ม.

อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ขับแบบเดียวกับมาตรฐานรีวิวของ Jimmy โดยใช้
ความเร็ว 110 ก.ม./ช.ม. ได้ 13.1 ก.ม./ลิตร ตัวเลขสวย และนี่คือน้ำหนักบรรทุกตัวผม
กับนายบอม RhinoMango ครับ มีแตะๆ 200 ก.ก.กันเลยทีเดียว ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไม
ตัวเลขถึงสวยแบบนี้ อาจเป็นเพราะเกียร์แบบเฟืองท้ายทด 3.9 ที่ยาวกว่า WRX รุ่นหลังๆ
ทำให้ใช้รอบเดินทาง 100 ก.ม./ช.ม.แค่ 2,350 รอบต่อนาทีเท่านั้น

ส่วนอัตราเร่ง ก็ถือว่าโอเคสำหรับรถอายุ 16 ปี เพราะมีความใกล้เคียงกันกับ Impreza 2.5WRX
โฉมปี 2005-2007 ที่จิมมี่เคยทดลองไว้ อาจเป็นเพราะได้ระบบท่อไอเสียที่โล่งกว่า และมีเทอร์โบ
ที่ขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย

ที่ยากก็คือการออกตัวรถขับสี่ให้ได้อัตราเร่งที่ดี ผมเข้าใจผิดๆมาโดยตลอดว่ารถขับสี่ได้เปรียบ
ตอนออกตัวอย่างแน่นอน แค่ดีดคลัทช์แล้วกระแทกคันเร่งพุ่งออกไปเลย แต่ตามที่รุ่นน้องสอนผมมา
ขืนพี่แพนทำแบบนี้บ่อยๆระวังเกียร์จะพังคาเท้า เพราะเกียร์ Subaru ไม่ได้ทนแรงถีบสูงๆทุกรุ่น
เกียร์ของรถ Impreza Type RA นั่นถึงจะทน หรือถ้าไม่เช่นนั้นก็ข้ามช็อตไปหาเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ
แบบที่พบใน Impreza ตากลม STi เป็นต้นมา นั่นล่ะจึงจะทนการทรมานได้ดี

การออกตัวรถขับสี่อย่างนี้ มีสองความเชื่อครับ
ผมอ่านนิตยสาร Motor ของ Australia เป็นประจำ และครั้งใดก็ตามที่มีการพูดถึงการออกตัวรถขับสี่
เขามักจะบอกให้ “Side step the clutch” คือกดคันเร่งจมเท้า แล้วสไลด์เท้าซ้ายออกจากแป้นคลัทช์
ให้มันดีดออกมาแรงๆเลย ไอเดียหลักอยู่ที่ทำยังไงก็ได้ให้ล้อฟรีนิดๆ เพราะจะได้ตัวเลขสมรรถณะที่สวยที่สุด
และเขา (เชื่อ)ว่ามันเป็นวิธีที่ทรมานเกียร์น้อยที่สุด ดีกว่าการออกตัวแบบที่กระชากแรงแต่ล้อไม่ฟรี

ส่วนถ้าหากฟังจากคนขับ Subaru หลายคน เขาแนะนำว่าให้ใช้วิธีเซฟเกียร์ โดยการกดคันเร่งให้รอบ
ขึ้นไปอยู่ในช่วงประมาณ 2.5-3 พันรอบ จากนั้นพอออกตัวให้ถอนคลัทช์อมๆ เมื่อรู้สึกแรงดึงไปข้างหน้าแล้ว
ค่อยจมคันเร่ง บริหารการถ่ายกำลังด้วยคลัทช์ วิธีนี้ไม่โหดและไม่เสียงเกียร์พัง แต่ถ้าทำบ่อยๆคลัทช์จะส่งกลิ่น
และถ้าทำไม่เป็น มัวยื้อคลัทช์อยู่ คลัทช์ก็จะไหม้เอาได้..ผมเลือกใช้วิธีนี้ครับเพราะไม่ต้องการให้เกียร์พัง

แต่ถามว่าผมเคยลองวิธีของ Motor ไหม? เคย 2-3 ครั้งครับ แต่ปรากฏว่าล้อไม่ฟรี มันมีอาการกระชาก
อย่างแรงแล้วก็เหี่ยว เพราะรอบตกลงมายังจุดที่เครื่องยังไม่ค่อยมีแรง ผมทำยังไงก็เอาล้อฟรีไม่ได้ครับ

รถเก่าสอนคน

ผมขับรถคันนี้ใช้งานทุกวันด้วยความรู้สึกรักในการตอบสนองของมัน ช่วงล่างไม่แข็งเกินไป
ไม่นุ่มเกินไป ขับสนุก มีแรงบิดดี ณ จุดนี้ NX Coupe ของผมที่เพิ่งทำเครื่องเสร็จมาอาจสร้าง
อัตราเร่งได้เร็วกว่า (พิมพ์ไม่ผิด) แต่มันไม่ได้ให้ความรู้สึกมั่นคง มั่นใจ และสบายใจแบบ Legacy เลย

แต่ข้อเสียคือมีเรื่องให้เข้าอู่บ่อยชะมัดยาด ซึ่งจะขอเรียงลำดับให้ฟังดังนี้ครับ

1. ท่อน้ำฮีทเตอร์ข้างใต้อินเตอร์คูลเลอร์รั่ว
ผมขับรถซัดกลับบ้านตามปกติจนสายตาเหลือบไปเห็นเข็มความร้อนขยับตัวจากกึ่งกลางประมาณ
1 ไข่มด “สงสัยตาฝาดว่ะ” ผมคิด..แล้วก็กระแทกคันเร่งออกตัวต่อไป 3 เกียร์ ..ได้เรื่องเลยครับ
ทีนี้เข็มความร้อนดีดตัวขึ้นอย่างสวยงามเลย แล้วผมก็มาอยู่กลางโทลล์เวย์ จะหยุดรถสุ่มสี่สุ่มห้า
ก็จะได้ตายฟรีเอา เลยตัดสินใจใช้เกียร์สูง ใช้ความเร็วคงที่ 60ก.ม./ช.ม. และประคองลงมาจอดที่
หน้าเรือนจำคลองเปรม (ทำไมต้องหน้าคุกวะ)

ผมจอดหลบเปิดไฟฉุกเฉินอยู่สักครู่แล้วรอให้เครื่องเย็นลง พยายามส่องไฟดูก็มองไม่ถนัด
หารูรั่วไม่เจอ จึงรอให้หม้อน้ำเย็นตัวลงและเติมน้ำเข้าไป โชคดีว่าด้วยความที่ชินกับรถเก่าพังบ่อย
จึงมีน้ำติดรถเป็นลิตรๆอยู่เสมอ ผมเติมเข้าไปราว 3 ลิตรก่อนแล้วสตาร์ทรถขับกลับบ้านต่อได้

รุ่งเช้าพาไปอู่แถวบ้านและเมื่อส่องดูใต้อินเตอร์คูลเลอร์ พบท่อน้ำส่งฮีทเตอร์ (ซึ่งไม่ได้ใช้งาน!) มีรอยรั่ว
น้ำพุ่งออกมาเห็นได้ชัด ก็เปลี่ยนอะไหล่เฉพาะชิ้นนี้และสำรวจท่อยางส่วนอื่นที่ซ่อนอยู่ข้างใต้อินเตอร์
คูลเลอร์ เครื่อง EJ20 มีท่อยางเล็กๆซ่อนอยู่แบบนี้เยอะครับ เรามัวแต่ตรวจท่อยางหม้อน้ำชิ้นใหญ่ๆ
มันไม่เป็นไร แต่ชิ้นเล็กนี่ถ้าเราไม่ตรวจสอบ วันไหนรั่วขึ้นมาก็หมดสนุกเช่นกัน

2. ปั๊มคลัทช์เดี้ยง
อาการก็คือเมื่อผมเหยียบคลัทช์ลงไป แป้นคลัทช์จะไม่คืนตัวกลับมาเท่าเดิม มันจะมาแบบค่อยเป็นค่อยไป
ในช่วงแรกๆที่ผมขับออกมาจากบ้านมุ่งหน้าไปที่ทำงาน ผมเริ่มจับความรู้สึกได้แล้วว่าแป้นคลัทช์มันคืน
กลับมาไม่เท่าเดิม แต่ก็ชะล่าใจขับต่อไป

ความซวยเริ่มตั้งเค้าราวกับเมฆฝนในวันที่คุณเพิ่งล้างรถ..คลัทช์เริ่มคืนตัวน้อยลงทุกที
ลางหายนะมาแล้วครับ และผมก็วิ่งอยู่บนถนนวิภาวดีในเวลาประมาณ 7.45 น. ซึ่งต้องมีการเหยียบคลัทช์
เพื่อหยุดรถบ่อย ในกรณีของรถที่ใช้คลัทช์แบบไฮดรอลิกเวลารั่ว ยิ่งเหยียบคลัทช์บ่อย ยิ่งทำให้น้ำมัน
รั่วออกไปเยอะขึ้น ผมต้องใช้วิชาแทรกหาช่องทางให้รถไหลไปเรื่อยๆ หลีกเลี่ยงการเหยียบคลัทช์เปลี่ยนเกียร์
จากนั้นคิดหาเส้นทางที่มีการหยุดรถน้อยที่สุด กลับรถที่เซ็นทรัลลาดพร้าวแล้ววกกลับขึ้นโทลล์เวย์

ณ จุดนี้ระบบไฮดรอลิกจากไปอย่างถาวรแล้วครับ เหยียบคลัทช์ลงไปแล้วไม่คืนตัวเลย ก็ต้องงัด
วิชามารออกมาใช้ในการขับรถไปให้ถึงอู่โดยการ ดับเครื่องเมื่อต้องหยุดรถ แล้วพอจะออกรถ ก็ให้
ใส่เกียร์ 1 ไว้ก่อนแล้วรถให้รถคันหน้าทิ้งระยะไปไกลๆแล้วเราก็บิดสตาร์ท แรงจากการสตาร์ทจะกระตุก
รถไปข้างหน้า นั่นคือการออกตัว ส่วนการสับเกียร์นั้นเราจะต้องทำโดยไม่เหยียบคลัทช์..มันทำได้ครับ
แต่คุณต้องมีจังหวะการเข้าและน้ำหนักข้อมือที่ดี สมมติว่าคุณอยู่เกียร์ 1 แล้วลากรอบไปจนความเร็ว
60 เมื่อปลดออกแล้วจะไปเข้าเกียร์ 2 คุณต้องนึกให้ออกว่าที่ความเร็ว 60 น่ะ ถ้าเป็นเกียร์ 2 มันจะใช้รอบ
เครื่องยนต์เท่าไหร่ ถ้าต้องใช้ 4,000 รอบ นั่นล่ะคือจังหวะทองของคุณ เพราะเมื่อรอบเครื่องหล่นมาใกล้ๆ
4,000 ตรงนั้นล่ะที่คุณจะสามารถใช้แรงมือยัดเกียร์เข้าเกียร์ 2 ได้ หากรอบเครื่องตกลงต่ำกว่านั้น
ยัดไม่เข้าครับ เพราะความเร็วเฟืองไม่เท่ากันแล้ว ยัดไปก็จะได้ยินเสียงเฟืองเกียร์ครูดกันลั่น

เวลาเข้าเกียร์ ก็แค่ดึงมันออกจากเกียร์ 1 แล้วเอามารอไว้ที่ 2 ออกแรงดึงไว้หน่อยๆ เมื่อรอบเครื่องถูกจังหวะ
เกียร์มันจะผลุบเข้าไปเอง อาจมีอาการขบเฟืองบ้าง แต่ในเวลาฉุกเฉินแบบนี้ ก็ต้องยอม บางคนที่ฉลาดกว่าผม
ก็ใช้อยู่แค่ 2 เกียร์คือ 1 กับ 3 ซึ่งเขาก็ฉลาดดีนะครับ สับเกียร์ครั้งเดียว คุณก็ได้เกียร์ 3 ซึ่งเพียงพอให้วิ่งได้
60-80ก.ม./ช.ม ได้ในสภาวะฉุกเฉิน

ผมมาถึงอู่ ปั๊มคลัทช์รั่ว ค่าเปลี่ยนชุดซ่อมปั๊มคลัทช์ 2,500 บาทครับ แต่เอาออกมาใช้ไม่นานก็เป็นอีก
เพราะอะไหล่ที่เอามาใส่ไม่ตรงรุ่น ผมเลยเอาไปทำอู่ Subaru แท้ๆแทน จ่าย 2,500 เท่ากันโดยบังเอิญ
แต่คราวนี้ทำแล้วหายเป็นปลิดทิ้ง ไม่มีปัญหาอีกเลย

3. สายไฟปั๊มเชื้อเพลิงช็อตหรือปลั๊กไหม้
เมื่อรถมีแบตเตอรี่ใหม่ไฟเต็ม สตาร์ทเตอร์หมุนติ้ว แต่บางครั้งสตาร์ทไม่ติด บางทีก็ติด วิ่งๆไปแล้วบางที
รถอ่อนแรงกดคันเร่งไม่ไป แต่ในหลายโอกาสทำตัวปกติ รื้อดูได้เลยครับว่าสายไฟและขั้วปลั๊กสำหรับ
ระบบปั๊มเชื้อเพลิงมีคราบดำหรือมีการละลายหรือไม่

ในกรณีของผมนั้นเป็นการเสื่อมของตัวปลั๊กตามอายุรถ สังเกตจากความเก่า สีสันของพลาสติกแล้ว
คิดว่าดีไม่ดีปั๊มเชื้อเพลิงนี่ก็มาพร้อมกับรถ ไม่เคยถูกเปลี่ยนเลย ดังนั้นก็ไม่ต้องทำอะไรมาก ตัดต่อปลั๊ก
พลาสติกตัวใหม่เข้าไป เสียค่าของกับค่าแรงยังไม่แพงเท่า Pizza 1 ถาดเลยด้วยซ้ำ แต่ที่อยากเสริมคือ
เมื่อซ่อมไปแล้ว เมื่อครบ 7 วัน ก็ลองเปิดเบาะหลังรื้อดูกันอีกครั้ง เพื่อสำรวจว่ามีอาการปลั๊กไหม้มาให้
เห็นอีกครั้งหรือไม่ ถ้ามี เราจะได้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าต่อเพราะการที่ปลั๊กจะไหม้ได้ใน 7 วันนั้นบางอย่าง
เกี่ยวกับกระแสไฟต้องผิดปกติอย่างแน่นอนครับ

คนที่ซื้อรถมือสองมา เมื่อนำรถไปตรวจความเรียบร้อย อย่าลืมให้ช่างเช็คตรงจุดนี้ด้วยนะครับ

4. บูสท์สร้างแรงช้า บูสท์ไม่มา ลดเหลือ 0.4 บาร์
ระหว่างการทดสอบจับอัตราเร่งครั้งหนึ่ง ผมตกใจที่พบว่าอัตราเร่ง 0-100ก.ม./ช.ม. ปาเข้าไป 9.5 วินาที
ทดสอบซ้ำอีกหนก็ได้ประมาณนี้ เลยปรายตามองวัดบูสท์ก็พบตัวการเพราะมันดีดขึ้นไปแค่ 0.4บาร์
จากที่ปกติจะยิงขึ้นไปเฉียด 1.0 บาร์แล้วค่อยๆถอยลงมาเหลือ 0.8 บาร์

ส่งเข้าอู่พี่เล็กที่สุขาภิบาล 5 และรื้อไล่ตรวจกันเลย เริ่มจากโซลินอยด์คุมบูสท์ ซึ่งพบว่ามันก็ทำงานได้ปกติดี
ท่อยางต่างๆแน่น ไม่มีรูอากาศรั่ว ซึ่งกว่าจะไล่หาได้ครบตรงนี้ลำบากและใช้เวลาสักหน่อย แต่ในที่สุด
ก็พบว่าปัญหาเกิดจากตัวเวสท์เกทกระป๋องของเทอร์โบนั่นล่ะที่มีปัญหากับกลไกการเปิด ทำให้แค่แรงดัน
บูสท์ 0.4 บาร์มันก็เปิดประตูระบายไอเสียในโข่งออกแล้ว บูสท์ที่ได้จึงน้อยกว่าปกติ

เมื่อซ่อมเสร็จและนำกลับมาขับ บูสท์ดีดตัวขึ้นเร็วกว่าแต่ก่อน เมื่อกระแทกคันเร่งเพื่อแซง บูสท์จะดีด
ไป 1.0 บาร์ไวกว่าแต่ก่อนและช่วยให้เร่งแซงได้ไวขึ้นกว่าเดิม

5. ท่อน้ำข้ามแบงค์ฝาสูบรั่ว
เนื่องจาก Subaru ที่ใช้เครื่อง EJ20 เป็นแบบ Boxer ซึ่งมีเสื้อสูบและชุดฝาสูบแบ่งออกเป็นสองฝั่ง
ห่างกันคนละโยชน์ แต่มีปั๊มน้ำเพียงตัวเดียว ระบบทางเดินน้ำของเครื่องบล็อค EJ จึงต้องอาศัยการ
ส่งถ่ายน้ำหล่อเย็นข้ามแบงค์ หรือพูดง่ายๆคือท่อจากปั๊มน้ำที่เดินข้ามจากฝั่งคนขับไปฝั่งคนนั่งนั่นล่ะ
ท่อน้ำพวกนี้มักซ่อนตัวอยู่ใต้ชุดคอไอดี ยากต่อการสังเกต ทำให้เมื่อรั่วในปริมาณน้อยๆแล้วจะสังเกต
เห็นได้ยากมากเพราะน้ำรั่วแล้วก็ไปหยดแหมะอยู่แถวๆมุมอับท่อไอดีนั่น ไม่ได้รั่วลงพื้น ยิ่งถ้าไม่ได้ใส่
คูลแลนท์สีเขียวๆให้เห็นคราบน้ำได้ชัดๆ ยิ่งไม่มีโอกาสเห็น

แต่ที่ทราบได้ก็เพราะเกจ์วัด Water Temp ของ Autometer ที่ติดมาใหม่นั้นฟ้องว่าความร้อนขึ้นไปแตะ
210 ฟาเรนไฮต์ (หน่วยอเมริกัน ซึ่งถ้าจะให้จำง่าย 212 ฟาเรนไฮต์= 100 เซลเซียสครับ) ปกติความร้อน
ของน้ำหล่อเย็นรถผมจะไม่แตะ 210 เด็ดขาด เมื่อเปิดกระโปรงไล่สำรวจจึงเห็นน้ำผุดที่ท่อส่งน้ำข้ามแบงค์
ก็เลยส่งเข้าร้านเชื่อม ทำการซ่อม เสียเงินไม่กี่ร้อยบาท จบปัญหา..แต่ถ้ามันไปเกิดรั่วแบบนี้ระหว่าง
ผมเดินทางอยู่แม่ฮ่องสอน..ก็เสียวนะ ลำบากแน่

6. ไฟหน้าดับเอง
ผมชอบล้อเล่นกันเองในหมู่เพื่อนว่ารถผมแม่งเจ้าชู้ พอเจอรถสวยๆวิ่งผ่านก็จะทำยักคิ้วหลิ่วตาให้
โดยการดับไฟหน้าตัวเองเสียดื้อๆ (ใช่ว่ารถจะขี้ม่อเหมือนเจ้าของ) แต่พักหลังๆมันชักเริ่มไม่สนุก
วิ่งๆอยู่แล้วไฟดับเอง ต้องเอื้อมมือไปปิดไฟหน้าทั้งหมดแล้วเปิดใหม่อีกรอบจึงจะหาย

และจะสารภาพว่าผมแอบชั่วตรงที่ไม่ได้แก้ปัญหานี้ให้เจ้าของคนใหม่ก่อนส่งรถ แม้กระทั่งวันที่เขา
มารับรถ มันยังออกอาการเกเรให้เห็น แต่กระนั้นเมื่อเจ้าของใหม่ไปซ่อม และมีตาหยกซึ่งเป็นเพื่อน
ของเจ้าของใหม่ด้วยแล้วยิ่งไม่ยากต่อการแก้ ท้ายสุดพบว่าเป็นรีเลย์ไฟหน้าและสายไฟ ซึ่งมีการต่อ
แยกออกเป็นสองชุด ชุดหนึ่งอยู่ในตำแหน่งปกติของมันที่หลังไฟ แต่มีอีกชุดที่ต่อแยกออกมาซ่อนไว้
หลังแบตเตอรี่เมื่อทดลองเปลี่ยนรีเลย์ใหม่และเปลี่ยนชุดสายไฟที่หลวมผุพังออก ปัญหาก็จบ

7. เสียงช่วงล่างดังโครมครามบนพื้นลูกระนาด
อาการเสียงดัง มักเกินขึ้นเมื่อขับรถขึ้นลูกระนาด โดยที่ขาก้าวขึ้นจะไม่มีเสียงอะไรผิดปกติ
แต่ในระหว่างขาลง จะมีเสียงดัง “ก.แล่ก!” ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปนานๆเข้าจะดังขึ้นเรื่อยๆ

กรณีนี้ปราบเซียนมาก ผมเข้าร้านช่วงล่างชื่อดัง 2 ร้าน ทั้งหมดฟันธงว่าเป็นยางรัดเหล็กกันโคลง
แต่กลับหาอะไหล่ให้ผมไม่ได้ ต้องจัดหามาด้วยตัวเอง ผมจึงควานหาเบอร์โทรศัพท์ร้านอะไหล่
แถวพระราม 5 ซึ่งไม่มีข้อมูลอะไรนอกจากเจ้าของร้านชื่อพี่คี้ แล้วก็ไปเจอเบอร์ของเขาจาก
subaruclubthailand นั่นเอง

แต่ขอเล่าเพื่อแชร์ประสบการณ์หน่อยเถอะ..พี่คี้คนนี้ทำให้ผมเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อพ่อค้าอะไหล่ไปเลย
แทนที่จะขายยางรัดให้ผมง่ายๆ แกกลับช่วยวิเคราะห์ปัญหาให้ผม อาศัยจากการที่ตัวแกก็เป็นคน
เล่น Subaru เช่นกัน “ผมว่าไม่ใช่ไอ้ยางนี่หรอก ถ้าคุณปักใจว่ามันเป็นชิ้นนี้แน่ คุณมาเอาของ
ที่ร้านผม ผมมีอันเก่าไม่ได้ใช้ เอาไปลองใส่ ถ้าไม่หายค่อยถอดมาคืนผม” พี่คี้บอกอย่างนั้น ผมจึง
ถามความเห็นต่อว่า ถ้าเช่นนั้นปัญหาด้านเสียงที่เกิดขึ้นน่าจะเกิดจากอะไร

“คุณไปดูพวกลูกหมากต่างๆ อย่าแค่จับๆนะ ถอดออกมาดูทีละชิ้นอย่างละเอียด
ผมว่ามันเป็นพวกลูกหมากต่างๆเนี่ยล่ะสักตัว ชัวร์”

ผมจึงให้อู่ใกล้บ้าน ซึ่งไม่ใช่อู่เฉพาะทาง Subaru แต่อาศัยความสนิทขอให้เขาทำงานอย่าง “ใจเย็น”
รื้อออกดูทีละชิ้นๆจนพบต้นตอของปัญหา คือลูกหมากชุดปลายปีกนกที่ติดกับคอม้านั่นแหละครับ
อะไหล่ตัวละ 600-800 บาท ก็ถือว่าไม่แพงเท่าไหร่นะ

8. เครื่องดับกลางอากาศเองและระบบไฟฟ้าหยุดการทำงาน

อันนี้แสบมาก..เพราะทำให้ผมเสียเวลา ไปทำงานไม่ทัน แถมโดนฟันอีกต่างหาก!

ผมเร่งเกียร์ 2 เพื่อแซงรถกระบะวิ่งช้า (คุยโทรศัพท์อยู่) แล้วฉับพลันก็มีรถตัดหน้าเข้ามาในเลน
ผมจึงต้องเบรก และในจังหวะที่เบรกนั่นแหละครับ เสียงเครื่องดับลง! มาตรวัดทุกอย่างดับวูบลง
มีแต่ระบบไฟในรถที่ยังใช้งานได้อยู่ ผมปล่อยรถไหลเข้าข้างทาง แล้วจอดสนิท

โชคดีมีอู่อยู่ตรงหน้าครับ ห่างไปแค่ราวร้อยเมตร จึงนำเข้าไปตรวจสอบ พบว่า Fuse ระบบ Main
ในกล่องตรงซุ้มล้อฝั่งคนนั่งขาด 1 ตัว และทางอู่แจ้งว่าช็อตมาจากไดชาร์จ เลยเสนอซ่อมไดชาร์จผม
โดนค่าซ่อมกับค่าแรงไป 2,400 บาท แต่พอไปรับรถแล้วขับกลับบ้าน ผมลองเร่งแล้วเบรกแบบเดิม
อาการช็อตดับแบบเดิมก็กลับมาอีก แต่ผมรู้แกว จอดข้างทาง เปิดกล่องฟิวส์ ถอดฟิวส์จากบล็อค
ไอ้ตัวข้างๆกันมาใส่แทนตัวที่ขาด ซึ่งไอ้เจ้าฟิวส์ตัวนี้มันคือฟิวส์จาก ABS..ไม่เป็นไร ผมแค่จะพารถกลับบ้าน
ผมไม่ต้องใช้เบรก ABS ตอนนี้ก็ได้

ผมทิ้งรถไว้สักพัก เมื่อว่างก็นำไปให้อู่เก่งเซอร์วิสแถวสุคนธสวัสดิ์แมะดู แต่เก่งลองขับอยู่หลายวัน
กลับไม่พบอาการดังกล่าว จนเก่งออกปากว่า “ผมว่ารถคุณแพนกลัวช่าง รบกวนคุณแพนมาลองให้ผมดู
หน่อยได้ไหมครับว่าขับยังไง ผมอยากเจอว่าอาการมันเป็นอย่างไร” ผมก็เลยแวะเข้าไปหาแล้วพบกับ
ช่างไฟประจำอู่ จึงเอาไปลองขับให้ดู และผมก็สามารถทำให้มันช็อตดับคาตาช่างได้

เหลือเชื่อครับ คนอื่นขับและพยายามหาอาการกลับไม่พบ แต่มีผมคนเดียวที่สามารถขับเร่งและเบรก
จนเป็นจังหวะให้เกิดอาการนี้ได้ ไม่รู้จะดีใจหรือเสียใจดี

หลังจากเก่งพยายามรื้อหาสาเหตุอยู่นาน ก็โทรมาหาผมพร้อมกับเอ่ยปากว่าจะขอจ้างช่างระบบไฟ
ที่เป็นพวกมืออาชีพมาทำ ตัวเขาเองนั้นยอมรับว่าทำได้ แต่ไม่ใช่ว่าเก่งอะไร เลยหาอาการให้ไม่เจอ
เก่งบอกผมนำร่องมาก่อนเลยว่าถ้าจ้างช่างไฟจากที่อื่นวิ่งมาดูงาน ค่าใช้จ่ายจะมาเลย 3,500 บาท

ผมเหงื่อตกกีบ..แต่ทำไงได้ล่ะ รถมันวิ่งไม่ได้ ก็ต้องทำให้มันวิ่งได้สิ..ผมตอบตกลงไป

ในภายหลัง ผลการชันสูตรพบว่าเป็นสายไฟที่อยู่บริเวณคานหม้อน้ำมันชำรุด กรอบแตก ทำให้ตัวสายไฟ
มันเปลือยออกมา และด้วยจังหวะการเร่งและเบรกอันแสนจะพอดีของผมนั้นมันไปดันให้สายไฟ
แตะกับตัวถัง (ซึ่งเป็นกราวนด์) และส่งผลให้ฟิวส์ตัวนั้นช็อตและรถดับไป

ผมไม่เสียดาย 3,500 บาทที่ใช้เพื่อการซ่อมสายไฟ แต่เสียดาย 2,400 บาทแรกที่โดนเอาไปยำไดชาร์จ
และกลายเป็นว่าไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย สรุปงานนี้กว่าจะจบเรื่องผมโดนไปทั้งสิ้น 6 พันกว่าบาท

จากข้อต่างๆที่ผมยกตัวอย่างให้ท่านเห็นนี้ อาจจะฟังดูยาวยืดไปบ้าง แต่ไม่ใช่แค่ Subaru นะครับ
ต่อให้ท่านขับรถยี่ห้ออื่น ก็อาจพบปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ได้ หากรถท่านเกิดเสียกลางทาง
หรือหากท่านมีโอกาสตรวจสอบสภาพรถก่อนซื้อ ก็ขอให้ท่านลองนึกถึง 8 สิ่งที่ผมบอกไป
ผมคิดว่ามันอาจจะช่วยเซฟเงินที่จะรั่วจากกระเป๋าท่านผู้อ่านได้บ้างครับ

ก่อนลาจาก ขอสั่งลาสักรอบ

ไม่กี่วันก่อนที่รถคันนี้จะถูกขายต่อให้กับเจ้าของใหม่ ผมตัดสินใจนำมันออกวิ่งทดสอบอัตราเร่งอีกสักครั้ง
เพราะตั้งแต่ที่ยกเกียร์ 3.9 ลูกเดิมออกแล้วแทนที่ด้วยเกียร์ 4.4 ลูกใหม่ ผมยังไม่เคยนำมันมาจับอัตราเร่ง
แบบจริงๆจังๆเสียที

เกียร์ 4.4 ลูกใหม่นี้ มีข้อดีกว่าเกียร์รุ่นเดิมตรงที่
1) วัสดุและกลไกภายในเกียร์ทนขึ้นกว่าเกียร์ลูกเก่า
2) อัตราทดจัดกว่า สังเกตได้จากความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์ อย่างเกียร์ 2 นั้น เกียร์เดิมจะหมดที่
110 ก.ม./ช.ม. ส่วนเกียร์ใหม่นั้นหมดที่ 100 ถ้วนๆครับ ถ้าเป็นเกียร์ 3 ก็หมดที่ 148 ในขณะที่
เกียร์เดิมจะหมดที่ 160 (สับเกียร์ที่ 7,000 รอบต่อนาที) ส่วนเกียร์ 4 นั้นของเดิมหมด 200 ในขณะ
ที่ของใหม่จัดกว่า หมดที่ราว 180 ปลายๆ แต่เวลาวิ่งทางไกลจะใช้รอบเครื่องสูงกว่า อย่างที่
ความเร็ว 100 ก.ม./ช.ม.นั้นเกียร์เดิมจะใช้รอบแค่ 2,450 รอบต่อนาที เกียร์ใหม่จะใช้ 2,750 รอบต่อนาที

เกียร์ใหม่ บวกกับเวสต์เกทที่เพิ่งซ่อมมา Dump valve ที่เพิ่งเปลี่ยน อาจทำให้อัตราเร่งดีขึ้นบ้าง
ผลที่ได้ก็เป็นดังนี้ครับ

0-100ก.ม./ช.ม. จากเดิม 8.7 วินาที ลดลงเหลือ 7.4 วินาที
80-120ก.ม./ช.ม. 5.45 วินาทีจากของเดิม ลดลงเหลือ 4.80 วินาที
ความเร็วสูงสุดบนหน้าปัด 230 ก.ม./ช.ม. และยังไปต่อได้
แต่ทางหมดพอดี

ผมคิดว่าเกียร์ลูกใหม่มีผลต่ออัตราเร่งในทุกช่วง โดยเฉพาะช่วง 80-120 ที่ใช้เกียร์ 3 เนื่องจาก
หากเป็นเกียร์เดิม 80 ก.ม./ช.ม.เกียร์ 3 รอบจะอยู่ที่ 3,500 รอบต่อนาที ซึ่งแม้จะระบุว่าเป็น
ช่วงกำลังที่ดีของเครื่องตามสเป็ค แต่ในชีวิตจริง เรี่ยวแรงต่างๆจะมาให้สัมผัสกันก็ต้อง 4,000 รอบ
ต่อนาที ซึ่งจุดนี้ทำให้เกียร์ 4.4 ที่ชักรอบได้สูงกว่า ทำความได้เปรียบเหนือเกียร์เดิม

หากใครคิดว่าเกียร์รุ่นนี้ไม่จี๊ดจ๊าดพอ ไม่ต้องห่วงครับ Subaru Impreza Turbo มีเกียร์อะไรบ้าง
คุณเอามาใช้ได้หมด จะเอาเกียร์ 6 สปีดมาใส่ก็ได้ แต่รับราคาเกียร์ลูกละแสน (ขายแยก) ได้ไหมล่ะครับ
ในขณะที่เกียร์ 5 จังหวะอย่างของผม ราคาเกียร์รวมลูกเฟืองท้ายเข้าไปด้วยก็เพิ่งหมื่นกลางๆ!?!

ถ้าชอบจี๊ดจ๊าด แต่ไม่อยากจ่ายแพง ก็ให้เอาเกียร์ 4.4 Close ratio จาก Impreza GC8 STi Type RA
มาใส่ได้ ความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์จะลดลงและเกียร์สุดท้ายวิ่ง 100 ก.ม./ช.ม. โดยใช้รอบเครื่อง
สูงปี๊ด 3,200 รอบราวกับ Honda Integra เลยทีเดียว อีกทั้งยังได้รับการปรับปรุงให้ทนทานกว่า
เกียร์ 4.4 ทั่วไปเพราะตั้งใจทำมารองรับคนเท้าหนักโดยเฉพาะ อันนี้แล้วแต่งบประมาณกับความต้องการ
เลยครับ

สรุปส่งท้าย

ข้อดีของรถ: พื้นฐานแชสซีส์และช่วงล่างดี ไม่ต้องใช้โช้คแข็งเป็นเกวียนก็เกาะถนน, มีระบบขับสี่
พวงมาลัยเซ็ตมาได้ลงตัวขับสนุก และจะวิ่งทางไกลได้ไม่เครียดถ้าไม่ไปอุตริใส่ประกบแร็คยูรีเธน
กับยางสปอร์ตกึ่งแข่ง, มีพื้นที่ห้องโดยสารทั้งเฮดรูมและเลกรูมมากกว่าที่คาด เป็นรถเดินทางที่สนุก
และมั่นใจ

ข้อเสียของรถ: หน้าตาหลบตำรวจได้แต่ก็ทำให้เรดาร์สาวๆจับไม่ได้ด้วยเหมือนกัน ประตูแบบไร้กรอบ
ทำให้เสียงลมเข้าเยอะ, สวิทช์ Cruise control ใช้งานยาก, ท่อทางต่างๆในห้องเครื่องมีจุดซ่อน
แอบให้น้ำรั่วเยอะต้องหมั่นตรวจสอบ

ในฐานะที่ Legacy Turbo BC5 นี่ก็เป็นหนึ่งในรถ Bang for your Baht ผมได้ให้ความเห็นในบทความ
ดังกล่าวไปบ้างแล้ว แต่ถ้าให้ลองคิดแทนคนอื่นบ้างก็คงดีไม่น้อย..นักเลงรถแบบไหนหนอ ถึงจะเหมาะ
กับมัน? ลองอ่านดูจากอุปนิสัยตนเองก็ได้ครับว่าเป็นอย่างนี้หรือเปล่า

1. คุณชอบรถขับเคลื่อน 4 ล้อตรงที่กดคันเร่งสัปดันอย่างไรมันก็พยายามดีดตัวไปข้างหน้า
2. คุณไม่สนใจการดริฟท์กวาดท้าย การเบิร์นยาง ออกล้อฟรีโชว์สาว
3. คุณชอบ Impreza แต่ไม่อยากจ่ายเงินเยอะเพราะด้วยสถานการณ์ทางการเงินบังคับ
4. คุณไม่ใช่คนประเภทที่ชอบยืนข้างรถรอสาวมากรี๊ด ..รถหล่อ..คนหล่อ..อะไรทำนองนี้
5. คุณยอมเสียเปรียบเรื่องน้ำหนักตัวที่มากกว่า GC เพื่อให้ได้มาซึ่ง Packaging ห้องโดยสาร
ที่นั่งสบายกว่า C-Segment ตัวโตในปัจจุบันบางคัน และพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระที่กว้างยาวลึก
ใส่ถังแก๊สกับถุงกอล์ฟแล้วยังมีที่เหลือเฟือ

ถ้าคุณเข้าข่าย 5 ข้อนี้ ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงมากครับที่ BC5 จะตอบสนองความต้องการ
ของคุณได้ดีกว่ารถคันอื่นใด

แต่ก็ต้องเผื่อใจเอาไว้บ้าง เพราะต่อให้หนังสือแต่งรถจากเมืองนอกมักบอกว่า Legacy/Impreza
เป็นรถที่น่าเชื่อถือขนาดไหน จุกจิกน้อยเพียงไร ก็อย่าชะล่าใจครับ เพราะขนาดรถผมที่คิดว่า
จับมาในสภาพที่ดีระดับหนึ่งแล้ว ก็ยังมิวายเสียเงินซ่อมไปหลายจุด เราต้องไม่ลืมนะครับว่า
รถเหล่านี้คันที่ใหม่ที่สุดมันก็อายุมากพอจะไปหย่อนบัตรเลือกตั้งได้แล้ว!

แนะนำว่าเวลาจะซื้อ ให้มองเงินก้อนหนึ่งไว้ประมาณ 50,000 บาท เป็นเงินส่วนที่ไม่รวมกับ
ค่าตัวรถครับ แล้วพอจับมา..จำไว้เสมอว่า “ทำรถให้มันวิ่งได้ ไว้ใจได้ก่อน แล้วค่อยไปสนุก
กับของแรงๆ” อย่าทำผิดลำดับแบบผม ไม่งั้นจะน้ำตาเช็ดส้นทีนส์ (หัวเข่าโดนธนูปักอยู่ ไม่ว่าง)

สำหรับผม คืนวันหลังจากที่ Legacy จากไปก็เหงา ไม่สนุกเหมือนเคย แต่เป็นวิถีของมนุษย์
ที่เราต้องปรับตัวไปกับมันครับ รากฐานของครอบครัวสำคัญกว่าความสนุกส่วนตัวเสมอ
แต่ถ้าครอบครัวมีฐานแข็งแรงพอแล้ว ก็ให้มอบความสนุกให้กับครอบครัวด้วย
Subaru Turbo สักคัน และนั่นหมายความว่าเจ้า Legacy คันนั้น จะไม่ใช่รถ Subaru
คันสุดท้ายในชีวิตผมอย่างแน่นอน


บทความนี้สงวนลิขสิทธ์ถ้อยคำใน การเขียนและเนื้อหาในบทความโดย Commander Cheng
แห่ง headlightmag.com ยินดีให้นำไปใช้โดยให้เครดิตผู้เขียนประกอบตามปรากฏใน
Creative Commons

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลดีๆจากเพื่อนให้เพื่อนนำมาเขียน

– คุณหยก Retro Racer แห่ง Ram340 Motorsport

และขอบคุณรูปถ่ายจำนวนไม่น้อยเลยจากคุณ Tee@Abuser ครับ