ความฝันอันสูงสุดของ Ratan Tata คือต้องการสร้าง Tata Nano เพื่อให้เป็นยานพาหนะสำหรับครอบครัวแทนรถจักรยานยนต์ที่ไร้ความปลอดภัยหากโดยสารกันหลายคน โดยวางราคาไว้ต่ำมาก ๆ เพื่อให้ประชากรชาวอินเดียที่มีรายได้น้อยได้ซื้อหากัน โดยเริ่มเปิดตัวจำหน่ายครั้งแรกในปี 2008

(Tata Nano เปิดตัวครั้งแรกในปี 2008 ในฐานะรถยนต์ของประชาชนชาวอินเดีย ด้วยราคาที่ถูกมาก ๆ)

ผลลัพธ์จริงกับความคาดหวังนั้นแตกต่างกันมาก จากเดิมที่เคยคาดหวังให้ Tata Nano กลายเป็น Ford Model-T ประจำสหัสวรรษใหม่ แต่กลายเป็นว่า ลูกค้าชาวอินเดียต่างไม่ตอบรับกับแนวคิดรถยนต์ที่เป็นได้แค่ยานพาหนะกันแดด กันฝนเท่านั้น พวกเขากลับต้องการรถยนต์ที่มีอะไรมากกว่า Tata Nano อีกมาก ราคาถูกที่สุดในท้องตลาดอาจไม่ใช่ไม้เด็ดที่จะทำให้ Tata Nano ประสบความสำเร็จ

ปัจจัยความล้มเหลวอาจจะไม่ได้มาจากมุมมองของลูกค้าเพียงฝ่ายเดียว หลังจากที่เปิดตัวจำหน่ายไปได้ปีกว่า ก็มีข่าว Tata Nano ไฟไหม้หลุดมาอย่างต่อเนื่อง เหตุผลเพราะ Tata ต้องการกดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด จึงจำเป็นต้องสั่งซื้อชิ้นส่วนพลาสติกที่มีคุณภาพต่ำ มีจุดหลอมละลายเร็วจนไปขัดขวางการทำงานระบบไฟฟ้าของรถยนต์ จนนำมาสู่ไฟฟ้าลัดวงจร

ใช่ว่าในช่วงแรก Tata Nano จะไม่ได้รับความสนใจเลย แต่ด้วยข้อจำกัดของกระบวนการผลิตจนไม่สามารถผลิตรถยนต์ได้ทันตามความต้องการของตลาดเลย และเมื่อจำหน่ายไปได้สักระยะ ก็มีแต่ข่าวลือด้านคุณภาพที่ตกต่ำจนลูกค้าค่อย ๆ เสื่อมศรัทธา

จนกระทั่ง Tata ต้องปรับภาพลักษณ์ Nano ใหม่จากรถยนต์นั่งที่ถูกที่สุดในโลก ให้กลายเป็นรถยนต์ A-Segment ที่มอบฟังก์ชันและคุณภาพสุดคุ้มค่า พร้อมทั้งปรับหน้าตาใหม่ในชื่อ Nano Gen X แต่ด้วยมิติตัวถังมันดูเล็กเอามาก ๆ และงานวิศวกรรมพื้นฐานที่ยังมีจุดปรับปรุง ทำให้ Tata Nano Gen X ไปไม่ถึงดวงดาวเมื่อเทียบกับ Maruti Suzuki Alto 800 ที่ทั้งชื่อชั้นแบรนด์ก็เหนือกว่า, ขนาดตัวถังก็ใหญ่กว่า และอีกทั้งชื่อเสียงด้านคุณภาพก็ไม่เป็นรองใครในตลาด

(Tata Nano Gen X ความพยายามครั้งใหม่ที่จะชิงตลาด Low-End A-Segment)

ผลลัพธ์ล่าสุด ยอดผลิต Tata Nano ในเดือนมิถุนายน 2018 เหลือเพียงแค่ 1 คัน เมื่อเทียบกับ 275 คันในเดือนมิถุนายน 2017 และไม่มียอดการส่งออกแต่อย่างใด จนมีคนในบริษัท Tata Motors ยืนยันว่า จะไม่มี Tata Nano อีกต่อไปในปี 2019

Tata Nano ถือเป็นผลงานที่ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของ Tata Motors เพราะในวันนี้ยอดขายรถยนต์นั่ง, รถอเนกประสงค์ หรือแม้แต่รถจักรยานยนต์ต่างก็มียอดขายที่เติบโตกัน

บทเรียนในเรื่องนี้สอนว่า การผลิตรถยนต์ที่มีแต่ราคาถูก ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นผู้ชนะ หากยังไม่ได้สำรวจความต้องการลูกค้าที่แท้จริง ก็จะประสบความล้มเหลวในแบบที่ Tata Nano เป็น ความคุ้มค่าของลูกค้าชาวอินเดียที่ต้องการคือ เมื่อพวกเขาจ่ายเงินไปแล้ว พวกเขาจะได้รับฟังก์ชันอะไรบ้าง

(Tata Nano EV ก็ประสบความล้มเหลว ของภาพลักษณ์ตัวรถขัดแย้งกับความไฮเทค)

สวนทางเจ้าตลาดใหญ่ 2 รายในอินเดียอย่าง Hyundai ซึ่งเป็นเบอร์ 2 ต่อจาก Maruti Suzuki ได้เพิ่มราคาจำหน่ายรถยนต์หลายรุ่น พร้อมปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้ไปสู่ระดับ High-End มากขึ้น ส่วน Maruti Suzuki ก็มียอดขายรุ่น Baleno, Dzire และ Brezza ในระดับที่สูง ซึ่งรุ่นเหล่านั้นถือว่าเป็นรถราคาที่ไม่ถูกนักในสายตาลูกค้าชาวอินเดีย

ความผิดพลาดซ้ำสองของ Tata ที่ไม่น่าให้อภัย คือความพยายามบรรจุเทคโนโลยี EV ลงใน Nano สำหรับตลาดเหมาล็อต Fleet แต่ภาพลักษณ์ของ Nano ที่เป็นรถราคาถูกมันยังขัดแย้งกับภาพลักษณ์ความไฮเทคของรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่ยังมีต้นทุนที่สูงอยู่ จึงทำให้ Tata Nano EV ประสบความล้มเหลวอีกตามเคย

ทั้งนี้ ตลาดรถยนต์นั่งราคาประหยัดในอินเดียยังมีช่องว่างอีกมาก แต่จะทำรถออกมาให้ถูกใจและถูกเงินลูกค้าชาวอินเดีย ถือเป็นโจทย์ที่ยากยิ่งนัก

ที่มา : indiatimes