1 ปีเศษ ก่อนหน้าปี 2008 ผมเคยมีโอกาสทำรีวิว น้องเล็กสุดท้องของตระกูล Lexus
ไปแล้วครั้งหนึ่ง ก็ไม่คาดคิดว่า ปีนี้ จะได้กลับมาขับรถรุ่นนี้อีกเป็นครั้งที่ 2

แถมยังฉับไวไล่หลังการเปิดตัว เพียงไม่กี่สัปดาห์ด้วยซ้ำ

เรื่องราวมันต่อเนื่องมาจาก รีวิว ของพี่ชายร่างยักษ์
LEXUS LS 460 L คันละ 11 ล้านกว่า เหยียบ 12 ล้านบาท
ด้วยเหตุที่ คุณผู้อ่าน ช่วยกันอุดหนุน จนอุ่นหนาฝาคั่ง
คลิกเข้ามาอ่านมาดูมาเซฟรูปไปฟอร์เวิร์ดเมล์กันต่อ
เยอะมาก 14,000 กว่าราย

เกินกว่าที่คาดคิดไว้ สำหรับรถใหญ่ที่ไกลเกินจะเอื้อมถึง

ใครบางคนที่คุ้นเคย ในบริษัทรถยนต์แห่งหนึ่ง ที่ไม่ใช่โตโยต้า นั้น ตั้งข้อสังเกตให้ผมฟังเล่นๆ
เมื่อราวๆ กันยายน ที่ผ่านมา ในวันที่ผมอ่อนล้าหัวใจ จนแทบจะหมดแรงว่า เมื่อบทความ รีวิว
BMW 320d ที่ผมทำนั้น อัพโหลดขึ้นโพสต์ใน เว็บไซต์เก่า ที่ผมเคยเอารีวิวไปลงให้เขาฟรีๆ อยู่ได้นั้น
ในเดือนต่อมา ยอดขายของ 320d มันพุ่งขึ้นมาจนผิดจากที่เจ้าตัวเขาสังเกต

และเขาบอกว่า ส่วนหนึ่ง มันเป็นเพราะ รีวิวที่ผมทำ….

ผมไม่ค่อยอยากจะเชื่อว่ารีวิวที่ผมทำจะมีผลกับยอดขายของรถรุ่นใดรุ่นหนึ่งมากขนาดนั้น
แม้หลายคนที่เคยพบปะหน้ากันกับผม จะเคยเข้ามาทักทาย แล้วบอกว่า ซื้อรถรุ่นนั้นรุ่นนี้
เพราะรีวิวของผม

แต่ เรียนตามตรงว่า ผมไม่ค่อยอยากเชื่อ เพราะท้ายที่สุด การตัดสินใจของใครสักคน
ที่จะซื้อรถสักคัน มันควรจะไปจบลงตรงที่ว่า ได้ทดลองขับแล้ว ชอบใจ เห็นแจ้ง
กระจ่างจริงกับตน จึงค่อยเซ็นเอกสารสั่งซื้อ สั่งจอง

รีวิวที่ผมทำ มันควรจะทำหน้าที่แค่ ข้อมูลเบื้องต้น เชิงลึก ในการพิจารณา
ไม่ควรใช้เป็นเหตุผลหลักในการตัดสินใจซื้อของคุณผู้อ่าน

ถึงผมจะไม่ค่อยอยากเชื่อ แต่ผมก็ไม่รู้ว่า พี่แข พี่สาวร่างใหญ่ผู้มีความไม่ธรรมดา
แห่งฝ่ายประชาสัมพันธ์ ของ Toyota Motor Thailand จะเชื่อ เหมือนเช่นที่ ใครบางคน
คนหนึ่งข้างบนนั้น จะตั้งข้อสังเกตเอาไว้ ในฐานะเพื่อนฝูงกัน หรือไม่

แต่ด้วยเหตุที่ ตอนนี้ Toyota กำลังอยู่ในระหว่างโปรโมท IS 250 Minorchange
ที่เพิ่งปรับโฉมในไทย ตามติดตลาดโลกกันกระชั้นชิด

พี่แข ก็เลยใจดี หยิบกุญแจ IS 250 Minorchange ส่งมาให้ลองกันอีกครั้งอย่างง่ายดาย

ซึ่ง สารภาพตามตรงว่า ผมไม่คาดคิดมาก่อน ว่าจะได้ขับรถรุ่นนี้ อีกครั้ง
ตอนที่ติดต่อขอยืม LS 460L ไป ก็มิได้นึกถึง IS 250 ใหม่นี้เอาไว้เลย
และคิดว่า คราวก่อน ก็เคยลองขับไปแล้ว คงไม่ต้องทำอะไรอีก

แต่เมื่อมาคิดดูอีกที ในเมื่อคราวที่แล้ว รุ่นดั้งเดิมของ IS 250 คันที่ผมได้รับมาลองนั้น
สภาพของมัน ผ่านมือมาค่อนข้างหลากหลาย คล้ายกับน้องนางในตู้กระจก

ดังนั้น ถ้าจะลองกันอีกครั้ง ในสภาพของรถรุ่นใหม่ คันใหม่ สดใหม่กว่าเดิม
แถมยังเพิ่มอุปกรณ์ต่างๆเข้ามาอีกเล็กน้อย

มันก็ดูน่าจะยุติธรรมกว่า

ที่สำคัญ คราวที่แล้ว ลองได้สั้นๆ 3 วันก็ต้องคืน
แต่คราวนี้ ยืมกันยาวต่อเนื่องได้แถมเพิ่มอีก 1 วัน
เรียนรู้จักกันได้มากขึ้น

ว่าการที่ ราคา ของ IS 250 ใหม่ แพงขึ้นจากเดิม
– Luxury Package 3,050,000 บาท
– Premium Package 3,450,000 บาท
– Premium Package พร้อมหลังคาซันรูฟ 3,550,000 บาท

ซึ่งงานนี้ Toyota ก็เพิ่มการรับประกันคุณภาพตัวรถ 4 ปี แถมยังไม่จำกัดระยะทางอีกด้วย
โดยไม่ต้องไปซื้อ โปรแกรมการบำรุงดูแลรักษาอะไรให้วุ่นวาย

ป้ายราคาที่แพงขึ้นจากเดิมนี้ ชวนให้สงสัยชะมัดว่า มันเป็นเพราะอะไร
เพราะเมื่อเห็นใบราคาแล้ว ผมได้แต่นึกในใจ…ชักอยากรู้ขึ้นมาเล่นๆเสียแล้วว่า
ใครเป็นคนทำราคารถรุ่นนี้

ตามด้วยคำถามที่ว่า แล้วรถรุ่นใหม่ มันมีอะไรให้ต้องขึ้นราคากันอย่างนี้บ้าง
และนั่นคือที่มา ของรีวิว ครั้งนี้

บอกไว้ก่อนกันเก้อว่า
ใครอยากจะอ่านรีวิวรุ่นไมเนอร์เชนจ์ให้เต็มอิ่มนั้น
เห็นทีจะเข้าเป้าประสงค์ เพียงแค่ระดับหนึ่ง
เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูรีวิวเก่า ของ IS 250 ที่เคยทำไว้
ก็พบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยเขียนเอาไว้ ยังคงอ้างอิงใช้ได้เหมือนเดิม
บุคลิกหลักของรถ ก็ยังคงเหมือนเดิม
ยกเว้น ในบางประเด็น ที่มันเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งก็ไม่เยอะนัก

ดังนั้น ผมจึงอยากพุ่งประเด็นไปที่ว่า
สิ่งที่เคยเขียนคอมเมนท์เอาไว้ ในรถรุ่นเดิมคันนั้น
มาวันนี้ รุ่นปรับโฉมใหม่ มันแตกต่างไปจากเดิมหรือไม่ และอย่างไร มากกว่า

เชิญทุกท่าน รจนา…เอ้ย ทัศนา

คราวนี้ ไม่ต้องอารัมภบทกันให้เวิ่นเว้อวุ่นวาย
เพราะนับตั้งแต่ IS 250 เจเนอเรชัน 2 เปิดตัวในตลาดโลก เมื่อเดือนสิงหาคม 2005
และเข้ามาเปิดตัวในเมืองไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2006
เราก็ได้เห็นสปอร์ตซีดาน ขับเคลื่อนล้อหลังรุ่นนี้
บนท้องถนนเมืองไทยมากขึ้นอย่าง หนาหูหนาตา กว่าในอดีตที่เคยเป็น

ลูกค้ากลุ่มอายุ 25-35 ปี ทื่มีฐานะการเงินดี และมีรสนิยมไปในแนวหรู
แต่รู้สึกว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสรุ่นเก่า ก็ยังดูหรูไม่พอ
ขณะที่ BMW ซีรีส์ 3 ก็สปอร์ต ขับแล้วแข็งกระด้างไปสักหน่อย
พากันเทใจให้ IS 250 มากขึ้น

จนปริมาณของรถบนถนนในกรุงเทพฯ นั้น
เริ่มใกล้เคียงกับคู่แข่งตัวฉกาจอย่าง BMW ซีรีส์ 3 E90 เข้าไปทุกที

แต่แล้ว เมื่อถึงเวลาที่ เวอร์ชันตลาดโลก ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์พร้อมกั
เมื่อเดือนสิงหาคม – กันยายน 2008 ที่ผ่านมา

28 ตุลาคม 2008 เลยกลายเป็นวันเปิดตัว รุ่นไมเนอร์เชนจ์ ในเมืองไทย ที่เห็นอยู่นี้

ถ้าถามว่า มีอะไรที่แตกต่างจากรุ่นเดิมบ้าง
หากดูจากภายนอกเผินๆ สำหรับคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องรถแล้ว
พวกเขาจะแยกความแตกต่างไม่ออกเลย

ผมเองก็ยังต้องเพ่งอยู่พักใหญ่ ถึงจะรู้ว่า
มีกระจังหน้า ดีไซน์ครึ่งท่อนล่างใหม่
เปลือกกันชนหน้า ออกแบบให้สอดรับกัน
โดยยึดแนวเส้นสายคล้ายของเดิมที่ดุดันอยู่แล้ว

เฉพาะรุ่น Premium Package
ชุดไฟหน้า แบบ HID มาพ้อมระบบปรับเปลี่ยนมุมองศาจานฉายอัตโนมัติ
ตามการเข้าโค้ง AFS (Adaptive Front Lightningt System)
พร้อม ที่ฉีดน้ำล้างชุดไฟหน้า ด้วยสวิชต์ ที่แผงหน้าปัด
และระบบปรับไฟหน้า สูง-ต่ำอัตโนมัติ Auto Leveling มาให้

ส่วนรุ่น Luxury มีแค่ระบบปรับไฟหน้าด้วยสวิชต์ธรรมดาทดแทนไป

ส่วนบั้นท้ายนั้น ถ้าไม่เห็นชุดไฟท้ายลายใหม่ มีไฟถอยหลัง
ที่ชวนให้นึกถึง สัญลักษณ์ของ เครื่องกีฬายี่ห้อ NIKE เป็นอันมาก

ไฟท้ายนั้น ในแค็ตตาล็อกระบุว่า เป็นแบบ LED
แต่ ผมก็เพ่งแล้วเพ่งอีก ด้วยความไม่แน่ใจว่า มันใช่แน่เหรอ?

นอกนั้น ถ้าไม่สังเกตจริงๆ ก็แทบจะดูไม่รู้เลยว่า เป็นการปรับโฉมแบบไมเนอร์เชนจ์ (แล้วนะ)

สีตัวถังมีให้เลือกมากถึง 6 สี
ได้แก่ Silver Mica Metallic / Dark Grey Mica /
Bluish Pearl Crystal Shine / White Pearl Crystal Shine /
Black และสีใหม่ Blonde Mica Metallic

รายละเอียดหลักๆ ดูเผินๆ ทุกอย่างก็แทบเรียกได้ว่าเหมือนเดิม

ไล่กันตั้งแต่กุญแจรีโมทคอนโทรล แบบ KEYLESS ENTRY
ซึ่งยังคงมีสารรูป เหมือนรีโมทระบบกันขโมยแบบย้อนไปสักเมื่อ 6 ปีที่แล้ว
ไม่มีผิด

แค่เอาชุดกุญแจรีคโมท เข้าใกล้ประตู
ระบบไฟส่องสว่างใต้กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยวแบบ LED ในตัว
จะติดสว่างขึ้นเอง เพื่อส่องพื้นรอบๆตัว ในยามค่ำคืน

เปิดประตูเข้ามา ก็เจอบรรยากาศที่คุ้นเคย

ภายในตกแต่งด้วยวัสดุชั้นดี ใช้ลายอะลูมีเนียม ตัดสลับกับ ลายไม้เมเปิล ตามจุดต่างๆ
มี 2 สี คือ สีน้ำตาล และสีเทาเข้ม ที่เห็นอยู่นี้ มีเฉพาะรุ่น Premium Package
ดีที่เปลี่ยนจากลายไม้แบบเดิม ซึ่งดูแก่หง่อม เพราะสีเข้มเกินไป

ย้อนไปก่อนหน้านั้น 3 วัน
คืนวันพุธที่ 12 พฤศจิกายน รายการทีวี Dara Party ของ RS
กำลังออกอากาศ ที่ช่อง 3 น่าจะจำไม่ผิด ผมไม่ค่อยสนใจรายการประเภทนี้เท่าไหร่
แต่ในเมื่อ ทีวี เปิดทิ้งไว้ หูอันซุกซนก็เลยฟังไปเรื่อยๆ ทำงานไปเรื่อยๆ ไม่ได้ดู

จู่ๆ มี Celebrity คนหนึ่ง เห็นว่าชื่อคุณเก๋ รุ่งนภา
นามสกุลอะไร ผมไม่อาจจำได้ถนัด เพราะว่า ยาว

เธอบอกว่า เธอได้ชมรถคันนี้ ในงานเปิดตัวแล้ว
ชอบเลย ภายในห้องโดยสารกว้างขวาง มาก

คนที่นั่ง “ฟัง” ทีวีทางบ้านอย่างผม
อยากจะลุกจากเก้าอี้ทำงาน
เดินไปแหวกจอทีวีที่บ้าน เข้าไปบอก She ว่า

มันกว้างตรงหนายยยยยย
ไม่เห็นจะกว้างเล้ยยยยยยยย

สู้ LS 460 L ก็ไม่ได้ ชิส์!

(รู้น่า ว่ารถคนละประเภท)

เบาะนั่งคู่หน้า นั่งสบาย ทั้งคู่ ปรับระดับสูงต่ำ เลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลัง ปรับพนักพิงเอนลงได้
แถมยังมีระบบดันหลังมาให้ ทั้งหมดนี้ ใช้งานด้วยสวิชต์ไฟฟ้า พร้อมระบบจำตำแหน่งเบาะ
3 ตำแหน่ง ซึ่งจะจำตำแหน่งพวงมาลัย ที่ปรับระดับสูง – ต่ำ และปรับระยะใกล้ – ไกล
เข้าหาตัวผู้ขับได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า หน้าตาเหมือนที่พบใน LS 460 L นั่นละ
แถมยังมีระบบพัดลมทำความเย็นใต้เบาะ และฮีตเตอร์ในตัว
สวิชต์ควบคุมอยู่เหนือคันเกียร์ขึ้นไปนั่นละครับ

นั่งสบาย และมีตำแหน่งเบาะในระดับต่ำสุด สูงกว่า ตำแหน่งต่ำสุดของเบาะนั่ง BMW ซีรีส์ 3 เล็กน้อย
ส่วน พื้นที่เหนือศีรษะ แน่นอน มีเหลือ แต่อาจดูเหมือนไม่มากนัก

ทางเข้า-ออกประตู คู่หลัง
ก็ยังคงเข้าออกได้ ไม่ต่างอะไรกับทั้ง BMW ซีรีส์ 3 และ มาสด้า 3
คือ พอเข้าออกได้ แต่ก็หาใช่จะกว้างสบาย ชนิดเอาคนร่างอ้วนขึ้นไปนั่งได้
ในจังหวะเดียวแต่อย่างใด

อย่างที่เคยบอกไว้ว่า พื้นที่เบาะนั่งด้านหลังของ IS250 นั้น ไม่ได้ใหญ่โตนัก
มันก็พอกันกับ รถยนต์ พรีเมียมคอมแพกต์ทั่วๆไป ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง
คือ พอนั่งได้ มีพื้นที่ที่รับได้ แต่จะให้นั่งสบาย หรือมีเบาะหลังนั่งได้เต็มก้น
ก็คงจะต้องทำใจกันเอาไว้ก่อน เป็นเช่นนี้ ทั้ง IS250 ซีรีส์ 3

และรวมเลยเถิดไปถึงรถขับเคลื่อนล้อหน้า หรือ สี่ล้อ อย่าง เอาดี้ A4
ตัวเก่านั่นก็ด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม เบาะนั่งด้านหลัง แม้จะโดนซุ้มล้อคู่หลัง
เบียดเข้ามาบ้าง เหมือนกับ ซีรีส์ 3
แต่ด้วยการเลือกใช้หนังชั้นดี การออกแบบที่เน้นความสบายมากขึ้น
ทำให้เบาะนั่งด้านหลังของ IS250 นั่งสบายกว่า ซีรีส์ 3 E90 นิดหน่อย
นั่นรวมถึงพื้นที่วางขา ที่มีมาให้พอๆกัน

พนักพิงตรงกลาง ดึงลงมา เป็นที่วางแขน ที่วางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง ซ่อนไว้
พร้อมฝาปิดช่องเก็บของขนาดเล็ก
อีกทั้งยังสามารถเปิดทะลุไปยังห้องเก็บสัมภาระด้านหลังได้

มีช่องแอร์ สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง และที่เขี่ยบุหรี่มาให้

ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีขนาดใหญ่พอสมควร
แต่เสียดาย ที่ไม่มีโอกาสลงไปนอนวัดดูว่า มันกว้างขวางและลึกพอหรือไม่

เมื่อก้าวขึ้นไปนั่ง คุณจะพบสวิชต์ต่างๆ มากมาย อาจจะไม่ถึงกับน่าหวาดกลัวอย่างใน LS 460 L
แต่ก็แทบจะใกล้เคียงกัน นอกเหนือจากสวิชต์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า แบบ One-Touch ทั้ง 4 บาน
พร้อมระบบดีดกลับ เมื่อมีสิ่งกีดขวาง และสวิชต์จำตำแหน่งเบาะและกระจกมองข้าง ที่แผงประตูแล้ว
มาดูด้านขวา ของพวงมาลัยสักหน่อย

ไล่จากซ้าย ไปขวา เป็นสวิชต์ปรับระดับแสงสว่างบนชุดมาตรวัด
สวิชต์ ปรับเปลี่ยนการทำงานของระบบต่างๆในรถ กดซ้าย-ขวา แล้วกด OK สั่งการ บนปุ่มวงกลมตรงกลาง
สวิชต์ ของระบบฉีดน้ำล้างไฟหน้า สวิชต์ ม่านไฟฟ้า สำหรับกระจกบังลมหลัง
ถัดลงไป เป็นสวิชต์ เปิด ฝาถังน้ำมัน และฝากระโปรงหลัง ด้วยไฟฟ้า

และถ้าเป็นยามค่ำคืน นอกจากภายในรถจะเรืองแสงสีขาวสวยแล้ว
คุณยังจะเห็น Scuff Plate แบบมีโลโก้ LEXUS เรืองแสงได้

แผงหน้าปัด ดูเข้าจริงแล้ว แทบไม่ได้ต่างอะไรจากรุ่นเดิมเลย
ยกเว้นแค่ลายไม้เมเปิลเท่านั้น นั่นละ ที่เปลี่ยนใหม่ ดูดีกว่าเดิมนิดหน่อย

สังเกตในรูปนี้ จะพบ สวิชต์ เลือกโหมดการทำงานของเกียร์อัตโนมัติ Super ECT
และสวิชต์เปิด – ปิด ระบบควบคุมเสถียรภาพ ที่ตดตั้งมาให้อุปกรณ์เป็นมาตรฐาน
การติดเครื่องยนต์ ก็เหมือนเดิม และเหมือนกับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ
ของโตโยต้า หลายๆรุ่น ตั้งแต่ Yaris ไปจนถึง LS 460L
คือใช้ปุ่มกด ถ้าไฟสีส้มติด แสดงว่า มีเพียงอุปกรณ์ในรถเท่านั้นที่ทำงาน
หากต้องการติดเครื่องยนต์ ต้องเหยียบเบรก จนไฟสีเขียวที่ปุ่มสว่างขึ้นมา
แล้วจึงกดปุ่มลงไปอีกครั้ง

บอกไว้นิดนึงว่า ระหว่างขับรถ ถ้าคุณ กดสวิชต์นี้ ค้างไว้ 3 วินาที เครื่องยนต์จะดับ
ดังนั้น ระมัดระวังกันนิดนึงนะครับ ผมไมได้ทดลองเองหรอก คู่มือผู้ใช้รถ เขาเตือนเอาไว้

และเมื่อติดเครื่องยนต์
ชุดมาตรวัด จะกวาดไปจนสุด 1 รอบ…

ก่อนจะติดสว่างขึ้นมา
จอแสดงผล Multi Information System LCD
จะแสดงข้อมูล ทั้งระบบ เซ็นเซอร์กะระยะถอยหลังเข้าจอด
เปิด-ปิด ระบบ ไฟหน้า AFS ระบบ สั่ง กาง และพับกระจกมองข้างอัตโนมัติ

การเปลี่ยนอ่านข้อมูล กดปุ่ม DISP บนพวงมาลัย
และ สวิชต์ ซ้ายขวา พร้อมวงกลม OK ที่ฝั่งขวา ติดกับสวิชต์ ปรับระดับแสงสว่างชุดมาตรวัด

จุดเด่นของชุดมาตรวัดนี้ก็คือ จะมีแถบวงกลม แสดงสีเหลืองอำพันขึ้นมา หากรอบเครื่องยนต์ เกินกว่า 5,000 รอบ/นาที
และเมื่อเกินเข้าสู่ขีดแดงRed Line ก็จะเปลี่ยนสีไฟเตือนเป็น สีแดง

ขณะเดียวกัน ในมาตรวัดความเร็ว ก็เป็นเช่นกัน
หากความเร็ว เกิน 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็จะเตือนเป็นสีเหลืองอำพัน
แต่ถ้าเกิน 200 กิโลเมตร/ชั่วโมงเป็นต้นไป ก็จะเตือนเป็นสีแดง

อย่างที่เห็นในรูป ซึ่งเป็นท็อปสปีดของรถรุ่นนี้

จอ LCD บนมาตรวัด ยังแสดงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงทั้งค่าเฉลี่ย
และค่าจริงในขณะขับขี่สดๆ ได้อีกด้วย

ระบบปรับอากาศ เป็นแบบ ดิจิตอลแยกฝั่ง ซ้าย-ขวา
จาก DENSO เย็นเร็ว ตามสไตล์ โตโยต้า

ชุดเครื่องเสียง ในรุ่นปกติ เป็นแบบ Lexus Premium Sound System 13 ลำโพง
แต่ในรถคันทดลองขับ เป็นรุ่นท็อป จึงมีชุดเครื่องเสียง Mark Levinson Surround Sound System
ประกอบด้วยลำโพงมากถึง 14 ชิ้น พร้อมเครื่องเล่น CD-MP3 มาให้
มีชุดควบคุมเครื่องเสียง ด้วยสวิชต์บนพวงมาลัยฝั่งซ้าย

มาวันนี้ การันตีอีกครั้งว่า
คุณภาพเสียง เหนือกว่า McIntosh นิดนึงครับ
ระบบ Surround นั้น แยกมิติเสียง ตามที่แผ่น CD ต้นฉบับ เขา Mixed เอาไว้เลย!
เช่นถ้ามี Effect แยกซ้าย-ขวา หรือไปทางหน้า-หลัง เสียงก็จะออกมาตามนั้นทุกประการ
เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่หูของคุณ

เครื่องเสียงชุดเดียวกัน ฟังในเวลาต่างกัน
บางที ก็ทำให้ความคิดของคนเรา
คนเดียวกัน แตกต่างกันไปได้ฉันใด

รถยนต์เองก็เช่นกัน รถรุ่นเดียวกัน
ขับในเวลาที่ต่าง ถ้าจำฟีลลิงเดิมไม่ได้
บางที ก็อาจจะเกิดความรู้สึกนึกคิดกับรถคันนั้น แตกต่างกัน
ไม่ว่าจะเป็นดี หรือร้าย

แต่กับ IS 250 โชคดีที่ผมจำความรู้สึกเดิมได้อยู่
และยิ่งมีบทความรีวิวเก่าที่ผมทำเอาไว้ เป็นเครื่องเตือนความทรงจำ
ก็ยิ่งทำให้มองเห็นการเปรียบเทียบได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

แต่แปลกใจนิดนึงว่า
ยังไม่มีจอมอนิเตอร์ พร้อมระบบนำร่องผ่านดาวเทียมมาให้อีกเหรอ?
ได้เวลาจะต้องมีมาให้แล้วนะ ระดับราคาสูงขนาดนี้
ถ้าไม่มีเลย ดู 320d กับ C230 นั่นปะไร เขามีมาให้แล้ว
เล็กซัส ก็ควรจะมีได้แล้วซะที

ชุดคอนโซลกลาง เหมือนกับรุ่นเดิมเป๊ะ
กล่องเก็บของ ที่มีฝาปิด เป็นที่วางแขน ซึ่งวางได้อย่างดีมาก ไม่แพ้ LS 460 L และ Camry ใหม่นั้น
แทบจะไม่มีประโยชน์อะไรกับผม การวางกล่อง CD เพียงแค่ 2-3 กล่องลงไป
อาจทำให้การเลื่อนปิด-ฝา เกิดการขัดตัวได้ง่ายดาย

ช่องวางแก้ว ยังคง แยกชิ้นกัน โดยช่องหลัก โผล่ให้เราเห็น เป็นฝาปิด ถัดจากคันเกียร์ถอยร่นมาทางด้านหลัง
ส่วน ช่องวางแก้ว อีกตำแหน่ง ยังคงถูกซ่อนไว้ ใต้ฝาปิดคอนโซลกลาง อันเป็นที่วางแขนในตัวนั่นละ
และมันยังคงมีแสงไฟส่องสว่าง ให้เห็นความใสของน้ำแข็งได้ตามเดิม

ในตำแหน่งเดิมนั้น ยังคงมีช่องเสียบ AUX สำหรับเครื่องเล่น MP3 หรือ iPod
และช่องเสียบอุปกรณ์ไฟฟ้า ขนาด 12V /120 W มาให้ตามเคย

ลิ้นชักใส่ของ มีขนาดเท่าเดิม
พอคราวนี้ มีคู่มือผู้ใช้รถมาให้ หลายเล่มเหลือเกิน
ก็เลยได้นั่งเปิดอ่านกันอย่างเพลิดเพลิน
และได้เห็นความจุที่แท้จริง ว่าพอจะใส่เอกสารต่างๆได้ในระดับหนึ่ง
หรืออาจจะเก็บปืนพกสักกระบอก ก็พอได้

ไฟอ่านแผนที่ และไฟส่องสว่างในรถ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
แผงบังแดด มีไฟสำหรับแต่งหน้า ตอนกลางคืน
ซึ่งฝังตัวอยู่บนเพดานหลังา แทนที่จะรวมอยู่ในชุดเดียวกับแผงบังแดด

นอกเหนือจากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ยังมีออพชันรายการหนึ่ง ซึ่งผมเคยเขียนเอาไว้
ในรีวิวรถรุ่นเดิมว่า ถ้าต้องเพิ่มเงินอีกถึง 1 แสนบาท เพื่อให้มีมันติดมากับรถ
ดูจะไม่ใช่เรื่องสมเหตุสมผลเท่าไหร่

แต่มาวันนี้ พอได้เห็นออพชันชิ้นนี้ ติดตั้งมากับรถคันทดลองขับนี้แล้ว

ผมเริ่มลังเลใจแล้วว่า จะขอเปลี่ยนคำพูดดีไหม?
ถ้าคุณจะซื้อ IS 250 จริง สิ่งที่ผมขอแนะนำเลยว่า คุณควรพิจารณาดูด้วย

คือ ซันรูฟ!
แม้ว่ามันจะยังคงใช้วิธีการเปิด แบบสวิชต์มือบิดหมุน ตามต้องการ
อันดูคล้ายคลึงกับรถรุ่นโบราณกาลนานมาก็ตามแต่

เพราะอะไร?

ก็เพราะว่ามันจะทำให้บรรยากาศภายในห้องโดยสาร โปร่งขึ้นผิดหูผิดตาหนะสิ!

การที่รถรุ่นเดิม ซึ่งผมเคยลองขับไปนั้น ไม่มีซันรูฟ
มันสร้างความน่าอึดอัดให้กับการเดินทางอยู่ในรถคันนี้เอาเรื่องอยู่บ้าง

เนื่องจาก การออกแบบให้แนวกระจกรอบคัน บีบเล็ก แบบรถยุโรปอย่างเอาดี้ มากไปหน่อย
จริงอยู่ว่า มันเพิ่มความสปอร์ต และเสริมภาพลักษณ์ของคนที่นั่งขับอยู่ในรถ
ให้สายตาประชาชีภายนอกได้มองเห็น และทึ่งในความเท่ของมัน
ทว่า หากนั่งนานๆ บางคนที่ไม่คุ้นชิน ก็อาจจะรู้สึกอึดอัดได้บ้างเหมือนกัน

กระนั้น การจะต้องจ่ายงินเพิ่มขึ้นอีกถึง 1 แสนบาท แลกมากับ
อิสระภาพจากหลังคาที่มีช่องเปิดรับลมจากภายนอกรถได้ เนี่ยนะ?

เฮ้อ บางที ผู้ผลิตรถยนต์ ก็มักสร้างความน่ากลุ้มใจให้กับลูกค้า
อย่างน่าประหลาด ไม่เว้นแม้แต่เรื่องผาดๆผิวๆ เช่นนี้

ถ้าซันรูฟชุดที่เห็น มีค่าตัวที่ต้องจ่ายเพิ่ม สัก 5-6 หมื่นบาท
ก็ยังพอจะเร้าการตัดสินใจได้ง่ายขึ้นกว่านี้อีกอักโข
แต่พอมันแพงตั้ง 1 แสนบาท ต่อให้จะรวยมาจากไหน ถ้าเป็นคนรู้จักค่าของเงิน
ก็คงจะคว้า เซียงเพียวอิ๊ว ตราอาแป๊ะยิ้มเยาะตอแหลข้างกล่อง ขึ้นมาดม
ก่อนจะเซ็นเช็คสั่งจองนั่นละ

ทัศนวิสัยก็ยังคงเหมือนเดิม เพียงแต่ มีข้อสังเกตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
หลังคาที่โค้งงุ้มลงมา ทำให้การมองเห็นด้านหน้า ดูคล้ายๆกับ รถสปอร์ต 350Z
อยู่บ้าง

กระจกมองข้าง มีขนาดใหญ่กว่า ซีรีส์ 3 และ ซี-คลาส
แถมยังมีมุมเยื้องให้เห็นรถที่มาจากด้านข้าง

แถมมีระบบตัดแสงอัตโนมัติ มาให้ในยามค่ำคืน
กระจกจะมีสีเข้มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว
ลดการสะท้อนแสงไฟหน้าจากรถคันที่ตามมา

แต่ ด้านข้าง ก็ยังคงเหมือนเดิม กระจกมองข้าง ดูเหมือนจะหลอกตานิดๆ
จนต้องใช้วิธีชำเลืองเหลียวมองไปข้างหลังเองในบางครั้ง

แต่ทัศนวิสัยด้านหลังก็ต้องทำใจอยู่สักหน่อย บดบังมอเตอร์ไซค์ไปเลย 1 คันเต็มๆ
เวลาจะเปลี่ยนเลน ออกสู่ทางคู่ขนาน บางทีเชื่อกระจกมองหลังอย่างเดียว
ไม่พอ ต้องหันไปมองดูรถจากทางด้านหลังควบคู่กันไปด้วย



********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

เครื่องยนต์ แม้ว่าในต่างประเทศมีทางเลือกมากถึง 4 แบบ
ตามแต่ละตลาดที่ต่างกันไป ทั้ง IS 350 IS 300 สำหรับตลาดเอเซียบางแห่ง
และ IS220d เครื่องยนต์ ดีเซล คอมมอนเรล เทอร์โบ สำหรับตลาดยุโรปโดยเฉพาะ

แต่สำหรับเวอร์ชันไทย
มันก็ยังคงเหมือนกับรุ่นที่แล้วนั่นละ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

มันยังคงเป็น เครื่องยนต์ บล็อก วี6 ตระกูล GR เช่นเดิมนั่นละ

รหัสของมันก็คือ 4GR-FSE
บล็อก V6 สูบ DOHC 24 วาล์ว 2,499 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก อยู่ที่ 83.0 x 77.0 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 12.0 : 1 จุดระเบิดแบบ ไดเร็กต์อินเจ็กชัน D-4
พร้อมระบบแปรผันวาล์วแบบ Dual VVT-i ซึ่งแตกต่างจากระบบ VVT-i เดิม
ตรงที่การเพิ่มระบบแปรผันวาล์ว ในฝั่งไอเสีย เพิ่มเข้ามาจากที่มีเฉพาะฝั่งไอดีอย่างเดียว

เวอร์ชันญี่ปุ่น ให้ตัวเลขกำลังสูงสุดอยู่ที่ 215 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาที
แต่เวอร์ชันไทย ถูกตอนม้าลง 3 ตัวด้วยเหตุผลในด้านมาตรฐานการควบคุมมลพิษ
ของบ้านเรา ที่ใช้มาตรฐานยุโรป ซึ่งสูงกว่าทางฝั่งญี่ปุ่น
ตัวเลขกำลังสูงสุดของเวอร์ชันไทยจึงลดลงเหลือ
212 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 260 นิวตันเมตร หรือ 26.49 หรือ 26.5 กก.-ม.ที่ 3,800 รอบ/นาที

เชื่อมเข้ากับระบบขับเคลื่อนล้อหลัง
ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ Super ECT
พร้อมโหมด บวก-ลบ ให้ผู้ขับขี่เล่นเกียร์ได้ จาก AISIN ซึ่งทำงานได้นุ่มนวล
เปลี่ยนเกียร์ได้ดี ไม่กระตุกกระชาก มีปุ่ม ECT เพื่อเปลี่ยนโหมดการทำงานของเกียร์
หากกดไปที่ PWR หรือ Power หมายความว่า สั่งให้เกียร์
เปลี่ยนตำแหน่งให้สูงขึ้นช้ากว่าเดิมนิดหน่อย จากเดิมที่ตัดเปลี่ยนเกียร์ที่ 6,400 รอบ/นาที
เพิ่มเป็น 6,700 รอบ/นาที หรือลากเข้าไปในเขตแดน Red Line บนมาตรวัดรอบ
เพื่อให้ผู้ขับขี่ลากรอบ เรียกพละกำลังออกมาได้นานขึ้น

ส่วน โหมด SNOW มีไว้ใช้สำหรับการออกตัวบนทางลื่น ด้วยเกียร์ 3
ควรเปิดระบบ TRC แทร็กชันคอนโทรล ทำงานไปด้วย

และมีแป้น Paddle Shift ติดตั้งมาให้หลังพวงมาลัย
เพื่อเอาใจนักขับรถที่คุ้นชินกับการขับรถในเกมเพลย์สเตชันเป็นหลัก
ฝั่งซ้าย เป็น – เปลี่ยนเกียร์ลงต่ำ ฝั่งขวาเป็น + เปลี่ยนเกียร์สูงขึ้น

อัตราทดของเวอร์ชันไทยนั้น เหมือนกันกับ ชุดเกียร์ของเวอร์ชันญี่ปุ่น
ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ว่า ไม่น่าแตกต่างกัน
เพราะสำหรับรถยนต์ที่จะต้องทำตลาดทั่วโลกแบบนี้แล้ว
รายละเอียดทางเทคนิคนั้น หากสามารถใช้ร่วมกันได้มากเท่าใด
ยิ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในแทบจะทุกด้าน

เกียร์ 1………………………3.538
เกียร์ 2………………………2.060
เกียร์ 3………………………1.404
เกียร์ 4………………………1.000
เกียร์ 5………………………0.713
เกียร์ 6………………………0.582
เกียร์ถอยหลัง…………….3.168
อัตราทดเฟืองท้าย………3.909

บอกไว้เป็นข้อมูลคร่าวๆสักหน่อยว่า
นำมันเกียร์ คู่มือระบุให้ใช้ Toyota Genuine ATF WS
การถ่ายและเติมนั้น ตัวเลขอ้างอิงอยู่ที่ 1.5 ลิตร
—————————————————

มาดูตัวเลขการทดลองดีกว่าครับ
มาดูกันว่า หากเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังชุดนี้ ต้องฉุดลากตัวรถที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 1,560 – 1,625 กิโลกรัม
หรือ น้ำหนักบรรทุกรวม 2,055 กิโลกรัม ตัวเลขจะออกมาเป็นเช่นไร

เราใช้วิธีเดิมในการทดลอง
คือ ใช้เวลากลางคืน เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน
คนที่มาช่วย ก็คือ น้องกล้วย (Login น้องชายคนเล็ก pantip.com ห้องรัชดา) น้ำหนักตัว 48 กิโลกรัม รวมคนขับแล้ว ประมาณ 140 กิโลกรัม

ตัวเลขที่ได้ เมื่อเทียบกับคู่แข่ง มีดังนี้

อัตราเร่งจากเครื่องยนต์ที่คุ้นเคย ก็ยังคงเหมือนเดิม
ตัวเลขดูเหมือนจะช้ากว่าเดิม แต่ก็แค่ 0.05 วินาที
ซึ่งตัวเลขแบบนี้ หากเป็นในสนามแข่ง มันอาจจะช้าเกินไป
แต่สำหรับรถบ้านธรรมดา ที่ไม่ได้ไปแข่งกับใคร
ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้

มันไม่ได้มากมายขนาด 1 วินาที ซึ่งผมคงจะยอมรับไม่ได้แน่ๆถ้าเป็นเช่นนั้น

ทันทีที่กดคันเร่งออกตัว คุณจะสัมผัสได้ถึงแรงดึง
แบบกระชากนิดๆ ตอนออกตัว แต่หลังจากนั้น
พละกำลังจากเครื่องยนต์ จะพาให้รถทะยานไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง
และฉับไว ไม่มีสะดุด ยิ่งได้เกียร์ลูกนี้ ซึ่งเปลี่ยนเกียร์ได้อย่างนุ่มนวลมากๆ
แทบไม่มีอาการกระตุกกระชากให้เห็นเลยตลอดเวลาที่รถคันนี้มาใช้ชีวิตกับผม
(ต่อให้คุณเปลี่ยนเกียร์ จาก 6 ลง 4 ในทันที ตัวรถก็ยังมีอาการหน้าทิ่มให้พบน้อยมากๆๆๆ)
ยิ่งทำให้คุณสนุกสนานในการเร่งแซงชาวบ้านชาวช่องมากขึ้น

ความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์ เหมือนเดิมเป๊ะ แทบทุกประการ
ส่วนตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมานิดเดียว ในรถคันใหม่นั้น
ผมไม่ถือว่าเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริงนัก
เพราะเราต้องไม่ลืมเรื่องของ ความเพี้ยนจากมาตรวัด
ซึ่งรถแทบทุกคันก็มักจะมีความเพี้ยนเหลื่อมล้ำกันออกไปเล็กๆน้อยๆ

ตัวเลขที่โตโยต้า ระบุเอาไว้ในคู่มือผู้ใช้รถ อยู่ที่ 225 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบปีกนกคู่ (ดับเบิลวิชโบน)
ส่วน ด้านหลังเป็นแบบมัลติลิงค์ พร้อมเหล็กกันโคลง
ใช้ช็อกอัพแก้ส แบบ Monotube ทั้ง 4 ล้อ
ชิ้นส่วนปีกนกต่างๆทำจากอะลูมีเนียม เพื่อช่วยลดน้ำหนัก ถ่วงใต้ช่วงล่าง
หรือ Unsprung Weight นอกจากนี้ ยังออกแบบปรับปรุง มุ่งเน้นให้
มีการควบคุมมุมล้อ ที่ละเอียดและเที่ยงตรงมากขึ้น

ไม่รู้ว่าเป็นโชคดีหรือเปล่า ที่ผมเพิ่งจะคืน BMW 325i Convertible
ไปหมาดๆ เมื่อสัปดาห์ก่อน แล้วจึงรับ IS 250 มาอยู่ด้วยในสัปดาห์ที่แล้ว

เพราะนั่นทำให้ผมได้พบข้อดีอยู่เรื่องนึง ของระบบกันสะเทือน IS 250

เมื่อครั้งที่ทำรีวิวของ รถรุ่นเดิมนั้น
ผมเคยเขียนถึงเอาไว้ว่า

“ให้ความนุ่มนวลกว่า ซีรีส์ 3 เมื่อคุณต้องขับรถในเมือง ใช้ความเร็วต่ำ และจำต้องขับผ่านเนินลูกระนาดบ่อยๆ…”

“แต่เมื่อใดที่คุณอยู่บนทางด่วน หรือกำลังเดินทางออกต่างจังหวัด ระบบกันสะเทือนที่นุ่มกำลังดีนี่แหละ
ที่จะช่วยให้คุณไม่รู้สึกเหนื่อยมากเวลาขับรถเป็นเวลานานๆ แถมยังได้ความมั่นใจในขณะเข้าโค้งในแบบที่
GS300 รุ่นพี่ยังทำได้ในระดับรองลงมานิดนึงเสียด้วยซ้ำ เมื่อผสานกับอัตราเร่งจากเครื่องยนต์ วี6 แล้ว
เพียงเท่านี้ ความสนุกในการขับขี่แบบกำลังดี ก็จะตามมา”

ครั้งนี้ ผมก็ยังคงยืนยันความคิดเดิม อยู่ดี ไม่มีเปลี่ยนไป
กับรถรุ่นใหม่ ที่สดกว่าคันนี้

แต่จะเสริมให้อีกนิดนึงว่า

การเข้าโค้งยาวๆ ที่ความเร็ว 200 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น
ก็ยังนิ่งสนิท และสงบ ไม่ก่อให้เกิดความหวาดเสียวใดๆ

เฮ้ๆ ถ้าพูดถึงความนิ่งแล้ว เทียบชั้น ซีรีส์ 3 ได้เลยนี่นา ในประเด็นนี้

แต่ต้องบอกกันก่อนว่า ถ้าคุณชอบรถที่ดิบๆ กระด้างๆ
ซีรีส์ 3 น่าจะตอบโจทย์คุณได้ดีกว่า

แต่ถ้าชอบรถที่นุ่มๆหน่อย บรรยากาศกำลังดี คุณภาพการประกอบ
ระดับขั้นว่า ประณีต….IS 250 คือคำตอบ

แต่ คงต้องบอกไว้ก่อนว่า
ช่วงล่าง มันจะนุ่มไปสักหน่อย สำรับคนที่ชอบรถดิบๆ
ทางแก้ปัญหา ก็คงจะต้องพึ่งพา ช็อกอัพ และสปริงที่แข็งขึ้นกว่านี้อีกนิด

สรุปแล้ว ในด้านเครื่องยนต์ ระบบกันสะเทือน ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากรุ่นก่อนที่ทำตลาดอยู่แล้ว

แต่สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามา สำหรับ IS 250 ทั้ง 3 รุ่นย่อย นั่นคือ ระบบควบคุมการทรงตัวที่เรียกว่า
VDIM (VEHICLE DYNAMIC INTEGRATED MANAGEMENT)
ระบบนี้ การทำงานก็คือ มันจะคอยมอนิเตอร์ จากข้อมูลที่เซ็นเซอร์ต่างๆ วัดค่ามา
แล้วคอยคาดการณ์ล่วงหน้าว่า สมควรจะเริ่มสั่งการให้ระบบต่างๆ ช่วยเหลือผู้ขับขี่ได้หรือยัง

ถ้าพบว่า รถเริ่มหมุน หรือไถล ก็จะสั่งานโดยอัตโนมัติเพื่อควบคุมเบรก และลิ้นปีกผีเสื้อ
ผ่านระบบควบคุมเสถียรภาพ VSC ระบบควบคุมการจ่ายแรงดันน้ำมันเบรก
ECB (ELECTRONIC CONTROL BREAK SYSTEM) ระบบป้องกันล้อล็อก ABS
ระบบกระจายแรงเบรก EBD และระบบควบคุมไม่ให้ล้อหมุนฟรี TRC แทร็กชันคอนโทรล เข้าไว้ด้วยกัน

แต่ในเรื่องการตอบสนองของพวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฮโดรลิค ควบคุมด้วยปั้มไฟฟ้า EPS นี่แหละ
คือสิ่งที่ผมสนใจ ว่ามีการปรับปรุงแก้ไขไปจากเดิมหรือไม่ เพราะคราวก่อนนั้น ผมเขียนเอาไว้ ว่า

“สิ่งที่ผมขอติติงสักหน่อย ก็เห็นจะได้แก่พวงมาลัย แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมระบบ EPS (Electronic Power Steering)
อันเป็นระบบมอเตอร์ไฟฟ้า ไปปั่น ตัวปั้มเพาเวอร์แบบไฮโดรลิก แปรผันความหนืดและน้ำหนักพวงมาลัย
ตามความเร็วรอบเครื่องยนต์ อัตราทดเฟืองพวงมาลัย 13.5 : 1 รัศมีวงเลี้ยว 5.1 เมตร

GS300 มีปัญหาพวงมาลัยเบาไปหน่อย ในช่วงความเร็วเดินทางธรรมดาไว้อย่างไร
IS250 ก็ยังคงถอดเอกลักษณ์ญาติผู้พี่มาเสียแทบจะทุกกระเบียดนิ้ว
ไม่เว้นแม้กระทั่งข้อเสียในประเด็นนี้ แม้ว่าจะนิ่งในความเร็วสูงแค่ไหน
แต่เมื่อใดที่คุณกำลังเข้าโค้ง บนทางด่วน บริเวณทางต่างระดับพระราม 4
หรือจะเป็นช่วงโค้งขวาลงเนิน จากอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มุ่งหน้าไปทางแจ้งวัฒนะ
ด้วยความเร็วระดับ 120-130 กิโลเมตร/ชั่วโมง

กับ IS250 แล้ว คุณน่าจะต้องการพวงมาลัยที่มีน้ำหนักมากกว่านี้อีกสักนิด แค่นิดหน่อยเท่านั้น
ไม่ต้องเยอะขนาด ซีรีส์ 3 แต่ก็ไม่ใช่การตอบสนองที่คล้ายคลึงกับพวงมาลัยของ”คัมรี” หรือพี่ชายอย่าง GS300 เยี่ยงนี้!”

นั่นคือสิ่งที่ผมเคยเขียนเอาไว้ จากสัมผัสในรถคันก่อน

มาคราวนี้ ผมพบว่า การตอบสนองของพวงมาลัย ดีขึ้นจากเดิมเล็กน้อย

ระยะฟรี ต่ำกว่า 30 มิลลิเมตร (1.2 นิ้ว)
ที่ผมเคยบ่นว่า มันเบาไปสำหรับรถยนต์ที่เซ็ตมาแบบนี้
เพื่อกลุ่มลูกค้าแบบนี้ มันก็ยังคงเป็นแบบเดิม

เพียงแต่ว่า ณ วันที่มันยังสดใหม่อยู่ การตอบสนองยังคงกระชับและแม่นยำดีอยู่
ไม่เหมือนกับรถคันที่ผ่านมือมากว่า 25,000 กิโลเมตร จน บุคลิกพวงมาลัยในแบบของ โตโยต้า
โผล่ขึ้นมาปรากฎให้เห็น อย่างเช่นที่รถคันก่อนนั้นเคยเป็น

แต่ถ้าเวลาที่รถคันนี้ ถูกใช้งานผ่านไปถึงระดับนั้น อย่างไม่ทะนุถนอมแล้วละ็

มันก็ไม่แน่…

อีกสิ่งหนึ่งคือ เรื่องระบบเบรก

จานเบรกคู่หน้า แบบมีรูระบายความร้อน มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 11.65 นิ้ว
ด้านหลัง เส้นผ่าศูนย์กลาง 11.45 นิ้ว เมื่อทำงานร่วมกับระบบ ABS EBD
และระบบ เพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Break Assist ด้วยแล้ว

การตอบสนองของระบบเบรก ทำได้ดีขึ้นกว่ารถคันเดิม ที่มีสภาพโทรมพอสมควร
การจับตัวของแป้นเบรกนั้น คนไทยน่าจะชอบ เพราะค่อนข้างจับเร็ว แต่แป้นเบรก มีความยืดหยุ่น
และยิ่งเมื่อเบรกเพื่อหน่วงความเร็วนั้น ถ้ายังคงรักษาน้ำหนักทเท้าที่เหยียบเบรกลงไป
ตัวรถก็จะมีอาการหน่วง เพิ่มมากขึ้น เมื่อช่วงที่รถใกล้จะชะลอจนเกือบหยุดสนิท อีกก๊อกหนึ่ง

ส่วนการเก็บเสียงในห้องโดยสาร นั้น เงียบบบบบบบบ มากกกกกกก แทบไม่ต้องเพิ่มเสียงพูดคุยจากเดิม
แม้จะใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง และสูงขึ้นกว่านั้นอีกนิด ก็ตาม แต่ต้องเริ่มเพิ่มเสียงมากขึ้น
เมื่อใช้ความเร็ว เกินกว่า 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย **********

เนื่องจาก ในตอนที่เราทดลอง รุ่นดั้งเดิมของ IS 250 นั้น ปั้มเอสโซ่ ยังคงมี น้ำมัน เบนซิน 95 ให้เติมอยู่
จึงไม่ต้องลำบากลำบนอะไรมากนัก แต่วันนี้ อย่างที่บอกไว้ในรีวิวช่วงระยะหลังๆมานี้ว่า
เอสโซ่เลิกขาย เบนซิน 95 ไปแล้ว ผมก็เลยเปลี่ยนใจ มาพึ่งพาปั้มเชลล์ หน้าปากซอยอารีย์ ถนนพหลโยธินแทน
และพบว่ามีความสุขกว่ากันพอสมควร

อย่างน้อย ก็ได้ เป๊ปซี่ แถมมา 2 กระป๋องรวดด้วยความใจดีของน้องๆเด็กปั้มที่นั้น
ทั้งที่ผมเติมน้ำมันยังไม่ครบ 800 บาทแต่อย่างใด ^_^

ผมห่างเหินจากน้ำโคล่า และน้ำเย็นมาพักใหญ่
รู้สึกว่าชีวิตมีความสุขขึ้น เสียงครืดคราดในลำคอ
ถ้าไม่ใช่เทศกาลหวัด ก็ไม่โผล่มาเยือนให้รำคาญใจอีก

แต่ในเมื่อ น้องเด็กปั้มแถมมา ก็ควรจะรับไว้…ในฐานะ…ของฟรี!

ในรุ่นใหม่นี้ ทั้งคู่มือผู้ใช้รถ และฝาถังน้ำมัน ระบุไว้อย่างชัดเจน
ว่า เติมน้ำมันได้ทั้งเบนซิน 95 และ แก็สโซฮอลล์ 95

แต่ผมก็ยังจะเลือกเติมน้ำมันเบนซิน 95 อันเป็นมาตรฐานเดียวกับรถคันอื่นๆที่ทดลองไว้ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา
เติมลงไปให้เต็ม ถังน้ำมันของรถซึ่งมีความจุ 65 ลิตร นั่นละ

ออกจาก ปั้มเชลล์ ก็ลัดเลาะออกากซอยอารีย์ ไปขึ้นทางด่วน พระราม 6
ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และ นั่งกัน 2 คน กับน้องกล้วย อีกตามเคย
น้ำหนักถ่วงในรถ จึงเท่ากัน ราวๆ 140 กิโลกรัม

มุ่งหน้าไปยังปลายสุดสายทางด่วนเชียงราก ที่อยุธยา แล้ววนกลับมาตามทางด่วนเส้นเดิม
มาลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนจะขับผ่าน ททบ.5 โรงพยาบาลพญาไท และ มุ่งหน้าเข้าปั้มเชลล์
เติมน้ำมัน 95 ที่หัวจ่ายเดิม

นี่คือตัวเลขระยะทางบนมาตรวัด 90.7 กิโลเมตร

และนี่คือปริมาณน้ำมันที่เติมกลับ แค่หัวจ่ายตัด รว 7.25 ลิตร

และนี่คือตัวเลขเฉลี่ย ที่คำนวนออกมาได้…อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย อยู่ที่ 12.51 กิโลเมตร/ลิตร

เมื่อเทียบกับตัวเลขของคู่แข่ง ภาพก็จะออกมาเป็นเช่นนี้…

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ในรถคันนี้ กลับดีขึ้นกว่ารถคันก่อน
และจัดอยู่ในเกณฑ์เดียวกับ GS300

แต่ถ้าเอาเข้าจริง ก็ยังถือว่า อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย
และหากเทียบกับเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ของ BMW
รายนั้น อาจต้องยกประโยชน์ให้จำเลย เพราะน้ำหนักของระบบหลังคาพับเก็บได้
และ การเปิดประทุนขณะทดลองขับ นั้น ทำให้ตัวเลขออกมา ยังไม่ถึงกับดีนัก
แต่ถ้าเป็นรุ่้นคูเป้หลังคาแข็ง ตัวเลขน่าจะดีกว่านี้แน่ๆ
และเผลอๆ อาจจะเทียบเท่ากับ IS 250 ก็น่าจะเป็นไปได้

********** สรุป **********
***** ซีรีส์ 3 เอ๋ย ระวังตัวได้แล้วละ!!! *****

ถึงจะเป็นรถคันที่สดใหม่ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมพบเจอใน IS 250 ใหม่คันนี้ ก็ยังคงให้กลิ่นอายแบบเดิมๆ

ชื่อบทความก็จั่วหัวเอาไว้แล้วว่า เป็นการปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์
จะให้คาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลงแบบฉีกขาด เหมือนฉีกผ้าดิบ ไปเลย
ก็ใช่เรื่อง

อันที่จริง…มันก็เป็นการปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ตามเวลาถึงการณ์อันควร
เพราะนี่ก็อยู่ในตลาดกันมา 3 ปีเต็มแล้ว

ความสดใหม่ที่เกิดขึ้น อาจจะช่วยกระตุ้นตลาดได้บ้าง
ในยามที่ ผู้คนทั่วโลก กำลังตื่นกลัว กันอย่างเกินขนาด
จากการรับสาร และข้อมูลต่างๆ จากสื่อมวลชนมากเกินไป

สถานการณ์ต่างๆ ผมยังเชื่อว่า ไม่ถึงกับเลวร้ายมากขนาดวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง
และนั่นก็น่าจะ ไม่ถึงกับเลวร้าย ถ้าคนรวยสักคน คิดจะซื้อรถขนาดไม่ใหญ่ไม่โต
แต่หรูกำลังดี และมีคุณงามความดีพอประมาณสักคันในเวลานี้

IS 250 ก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดี ถ้าคุณกำลังมอง C-Class และ ซีรีส์ 3 อยู่

แต่ อาจจะต้อง คิดให้ดีๆสักหน่อย

เพราะค่าตัวที่ตั้งไว้สูงกว่าที่หลายคนคิดนั้น
เมื่อเทียบกับความคุ้มค่า จากคู่แข่ง อย่าง BMW 320d ขุมพลังดีเซล แล้ว
อาจทำให้ยอดขายไม่ถึงกับตามเป้า 200 กว่าคัน ตามตั้งใจนัก
เว้นเสียแต่ว่า จะเข็ดกันแล้วกับ ค่าซ่อมบำรุงของ BMW ที่บางคนอาจรู้สึกว่าแพงเลือดไหล
ทว่า เดี๋ยวนี้ พอมีโปรแกรม BSI ใน 5 ปีแรก เสียงบ่น ก็เริ่มลดลงไปพอสมควร

อีกทั้งการปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์นั้น ก็เป็นเพียงแค่ การกระตุ้นตลาด
ไปจนกว่าจะถึงเวลาออกโรงของรุ่นเปลี่ยนโฉมโมเดลเชนจ์
ซึ่งยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆออกมา เพราะว่า รุ่น เปิดประทุน
เพิ่งจะเผยโฉมในตลาดโลก ซึ่ง คงต้องรอกันอีกนานพอดู

ข้อดีอย่างหนึ่งที่ทำให้ผม ชื่นชอบ IS250 คือ การออกแบบห้องโดยสาร ที่ทั้งให้บรรยากาศ Sport
กระชับ แน่น กำลังดี และผ่อนคลาย พอประมาณ จากโทนสี กลิ่น และวัสดุชั้นดีที่เลือกใช้
แต่มันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที ถ้าคุณต้องย้ายไปนั่งบนเบาะหลังของรถรุ่นนี้ เพราะ
พื้นที่ด้านหลัง ค่อนข้างคับแคบเอาการ

เครื่องยนต์ ไม่ใช่ปัญหาของรถรุ่นนี้ มันเร่งได้ดี ดึงได้สะใจ แต่ความนุ่มนวลและต่อเนื่อง
เร้าอารมณ์ได้ง่าย มัดใจผมให้ชื่นชอบ เครื่องยนต์ V6 ตระกูล GR ของ Toyota ไปได้ไม่ยากเย็นนัก
เมื่อเทียบกับ เครื่องยนต์ ของ Toyota ในยุคก่อนๆ ถือ เป็นเครื่องยนต์ วี6 ที่ดีใช้ได้ เครื่องหนึ่ง

แถมช่วงล่างนั้น แม้จะนุ่มนวลในระดับผู้ใหญ่ และคุณสุภาพสตรีจะชื่นชอบ
แต่สำหรับชายหนุ่ม ที่ชอบขับรถอย่างสนุกสนาน และติดแนวดิบๆสปอร์ตนิดๆนั้น

อาจต้องการช็อกอัพและสปริงที่แข็งกว่านี้ขึ้นอีกนิดนึง
(และซันรูฟ เพื่อให้ห้องโดยสาร โปร่งขึ้นกว่านี้อีกหน่อย)
รวมทั้งน้ำหนักของพวงมาลัยที่ควรจะหนืดกว่านี้
อีกสักนิดเดียว ไม่ต้องให้ถึงกับหนืดเกินเหตุ เท่า ซีรีส์ 3 รุ่นมาตรฐาน หรือรุ่นที่ใช้พวงมาลัยไฟฟ้า
แต่ถ้าถามว่า ปัจจุบันที่เป็นอยู่ เพียงพอไหม สำหรับสาวๆ และผู้สูงวัย อาจบอกว่า ดีแล้ว ไม่ต้องไปเปลี่ยนหรอก

มันแล้วแต่ความเห็นของแต่ละบุคคลซึ่งแตกต่างกันไป ทั้งที่เป็นรถรุ่นเดียวกัน คันเดียวกัน อันเป็นเรื่องปกติ

ถ้าถามว่า รถคันนี้เหมาะกับใคร
ก็คงตอบได้เลยว่า เหมาะกับคนมีเงิน Young at Heart
อยากได้รถยนต์พรีเมียมคอมแพกต์ ขนาดกำลังดี ขับใช้งานเอง
หรือนั่งไปกับแฟน และเบื่อ BMW ซีรีส์ 3 หรือ Mercedes-Benz C-Class

แต่ความแตกต่างของ IS 250 จากซีรีส์ 3 ก็คือ รถคันนี้ อาจดูเท่
แต่ไม่ใช่รถที่ฉาบฉวยมากพอ ที่ผู้เป็นเจ้าของ จะรับสาวใด หรือหนุ่มใดก็ได้ขึ้นมานั่งข้างๆ

คนที่ใช้รถรุ่นนี้ บ่งบอกชัดเจนอยู่แล้วว่า รสนิยมจะต้องดี อีกทั้งยังต้องฉลาดเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง
และรู้จักค่าของเงิน อีกทั้ง ต้อง มั่นใจในตัวเองพอสมควร ที่จะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมผู้ลากมากดีร้อยแปดสาแหรก
ได้อย่างไม่เกรงกลัวเสียงนินทากาเลเหมือนเทน้ำ ของใคร

หรือเอาง่ายๆคือ มีความเป็นตัวของตัวเอง ในระดับที่ กำลังดี นั่นเอง

ความเป็นตัวของตัวเอง ในแบบที่ คนในสังคมไทย ปัจจบัน จำนวนมาก กำลังขาดแคลนอยู่

————————————————-///————————————————-


ขอขอบคุณ
คุณ Suchaya Chienklawkla (พี่แข)
Assistant Manager
Product & Marketing Communication.
Public Affair Office

และ ทีม เล็กซัส (Lexus Group)
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
20 พฤศจิกายน 2008

Copyright (c) 2008,2010 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First-publish in www.Headlightmag.com in November 20th,2008