การได้มีโอกาส ขับขี่ และนั่งอยู่บน ยานยนต์ระดับหรูของจริง
ที่ไม่เสแสร้งว่าหรู ป้ายราคาแปะเอาไว้ว่า มีค่าตัว 10 ล้านกว่าบาท นั้น
ถือเป็นประสบการณ์ที่ใครหลายคน อยากจะมีเก็บเอาไว้เป็นบุญตูด บ้าง…

 

 

ประสบการณ์ที่ว่าหนะ ผมมีกับเขาเป็นครั้งแรก ก็เมื่อเดือนตุลาคม 2008
และยังจดจำได้เป็นอย่างดี ถึงความเป็นที่สุด ของยานยนต์จากญี่ปุ่น
สำหรับตลาดโลก

(ถ้าเราไม่นับ Toyota Century V12 รถที่หรูที่สุดในญี่ปุ่น แต่ ดูเก่า และแก่ เกินไปสำหรับตลาดนอกญี่ปุ่น)

กระนั้น…ผมก็ไม่คาดคิดว่า ความทรงจำอันน่าประทับใจนั้น
จะหวนกลับมาให้ได้สัมผัสกันอีกครั้งหนึ่ง!

และอย่างง่ายดายเกินคาดคิด!!
ด้วยความช่วยเหลือจากทาง โตโยต้า นั่นเองละ

เหตุที่ต้องทำรีวิวรถรุ่นนี้ใหม่อีกรอบ
ก็เพราะว่า Lexus LS460 L คันสีเงินข้างบนนี้ ตกเป็น หนึ่งในสมาชิก บ้านเลขที่ 51
อันหมายรวมถึง รีวิว กว่า 51 ชิ้น จากในเว็บไซต์เดิม
ที่ผมต้องหาทาง นั่งทำขึ้นมาใหม่ “ทั้งหมด เท่าที่พอจะมีแรงทำ”

ต่อให้แอบประหลาดใจนิดหน่อยว่า
โตโยต้า ยังคงยินดีปล่อยรถรุ่นธงของตน ให้ผมเป็นครั้งที่ 2
ในรอบเวลาที่ห่างกันราวๆ กว่าครึ่งปี
มันอาจเป็นเพราะ ผมยังแอบเชื่ออยู่เล็กๆว่า ผู้ใหญ่ใจดี ในนั้น บางคน
คงจะ เข้าใจ ถึงเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา ว่ามันเกิดอะไรขึ้น
โดยไม่จำเป็นต้อง บอกเล่า

ในเมื่อ อดีต ย่อมไม่อาจหวนคืนกลับมา
ดุจดั่งนาฬิกาที่ไม่อาจเดินถอยหลัง

การตั้งต้นใหม่ อีกครั้ง จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น
ยากเกินหลีกเลี่ยง

กระนั้น ผมยังแอบดีใจอยู่เล็กๆ
ทั้งในน้ำใจไมตรี เล็กๆน้อยๆ เช่นนี้ จากโตโยต้า

และความยินดี ที่จะได้สัมผัสรถรุ่นสำคัญของพวกเขา อีกครั้ง
ในสภาพที่แตกต่างกัน เกือบจะสิ้นเชิง

เพราะรถคันแรกที่ส่งถึงมือผมในช่วงเดือนตุลาคม 2008 นั้น เป็นคันสีเงิน
มันผ่านการใช้งานมาแล้ว ประมาณ 51,000 กว่ากิโลเมตร
แม้จะไม่ใช่ สภาพที่ฝรั่งเรียกว่า Mint Condition อันหมายถึงว่า
ยังเยี่ยมยอดถอดด้าม สดจากไลน์ผลิต ณ โรงงาน Tahara ที่ประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งเป็นโรงงาน ที่สงวนเอาไว้ สำหรับการผลิต เล็กซัส โดยเฉพาะ แต่อย่างใด

แน่นอน สภาพของมัน โดยรวม ก็เหมือนๆกับ เล็กซัส คันอื่นๆ ที่เคยนำมาลอง
ซึ่งส่วนใหญ่ ผ่านการใช้งานมาแล้วเกินกว่า 20,000 กิโลเมตรขึ้นไป
และผ่านมือผ่านเท้าใครมาบ้าง ก็ไม่อาจรู้ รถจึงดูเหมือนจะแอบโทรม อยู่ลึกๆ
แถมยังมี ร่องรอยที่มนุษย์หลากผู้หลายนาม ฝากประทับเอาไว้ตามจุดต่างๆรอบคัน

อย่างไรก็ตาม รถคันสีดำ ซึ่งเป็นคันที่ 2 ที่ทางโตโยต้า ส่งถึงมือผม
รถคันนี้ เพิ่งแล่นไปได้ราวๆ 3,200 – 3,300 กิโลเมตรเศษๆ

ดังนั้น ด้วยสภาพที่ สดใหม่กว่า ของรถคันสีดำ ทำให้เรา ได้เห็นถึงสมรรถนะที่แท้จริง
ในบางแง่มุม ที่เราอาจพลาดไป ในรถคันสีเงิน แต่ในภาพรวมแล้ว มันไม่ได้แตกต่างกันมากอย่างที่คิดเลย

จะว่าไปแล้ว ในระยะหลังๆมานี้ รถแต่ละรุ่นที่เรานำมาทดลองขับกันนั้น
ผมมักจะมีโอกาส ได้ลองรถรุ่นเดียวกัน อย่างน้อย 2 คัน อยู่บ่อยๆ
แม้ดูเหมือนเป็นเรื่องเปลืองเวลา ของคนทั่วๆไป แต่สำหรับผมแล้ว
การได้ทำความรู้จักตัวตนที่แท้จริงของรถแต่ละรุ่น คือสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ

เพราะ หลายครั้ง บางอาการที่เราพบในรถคันหนึ่ง มันอาจไม่เกิดขึ้นเลย
ในรถอีกคันหนึ่ง บางสิ่งที่เราสงสัย อาจจะหายข้องใจได้ เพียงแค่กระโดดขึ้นขับ
รถรุ่นเดียวกัน แต่เป็นคันอื่น

และในทางกลับกัน บางที เราอาจจะมีความสุขโขสโมสร กับรถคันแรก
แต่อาจไปเจอฝันร้าย ในรถคันถัดมา ก็เคยเกิดขึ้นบ้างเหมือนกัน

แต่พอรับรถมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยจริงๆแล้ว
LS460 L ยังคงทำตัวเป็น พี่อ้วนสุดเชื่อง!
ที่ว่านอนสอนง่าย ไม่ก่อปัญหา หรือความรำคาญใดๆ
ให้ระคายเคืองจิตอันขี้หงุดหงิดนิดๆ ของผมเช่นเคย
จะมีบ้าง ก็เพียงแค่ การกะระยะ ในขณะขับขี่ลัดเลาะไปบนถนนกลางใจเมือง
ที่ชวนให้น่าหวาดเสียว เกร็งจิต เกร็งกันไปจนทุกส่วนของอวัยวะในร่างกาย
เกร็งกันจนถึงต่อมลูกหมาก!

ก็แน่ละ ตัวถังพี่ท่านใหญ่โตเสียขนาดนั้น
มีความยาวถึง 5,150 มิลลิเมตร กว้าง 1,875 มิลลิเมตร
สูง 1,475 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อยาว  3,090 มิลลิเมตร

ช่วยไม่ได้ นี่มันรุ่น Long Wheelbase หรือรุ่นฐานล้อยาว
เอาใจลูกค้าที่อยากสบาย มีโชเฟอร์ ขับรถให้

เพราะในรุ่นตัวถังมาตรฐาน จะมีความยาวเพียงแค่ 5,030 มิลลิเมตร
และมีระยะฐานล้อสั้นลง เหลือ 2,970 มิลลิเมตร
โดยยังคงความกว้าง และสูง ไว้ตามเดิม
ส่วนน้ำหนักตัวเปล่าอยู่ที่ 1,945 กิโลกรัม

แต่น้ำหนักตัว รวมของเหลวและการบรรทุก ของทั้ง 2 รุ่น
ตัวเลขจากโรงงานระบุไว้ ปาเข้าไป 2,495 กิโลกรัม เท่ากัน
เกือบจะแตะพิกัด 3 ตัน อยู่รอมร่อ

เรื่องที่เหลือเชื่อนิดหน่อยคือ ด้วยตัวถังที่มีความยาว ขนาดนี้
มันสามารถเข้าไปจอดยังโรงรถขนาดเล็ก ของบ้านผม ได้แบบพอดีๆ
พอให้ปิดประตูรั้วบ้านได้อย่างเรียบร้อย และแถมยังพอมีพื้นที่ทางเดินอีกนิดนึง
ซึ่งก็ทำให้ผมคลายความกังวลใจไปได้อีกเปลาะหนึ่ง

ก็แน่ละ ความจริงก็คือ ใครจะไปเชื่อ ว่า LS460 L มีความกว้างตัวถัง
น้อยกว่า RX350 เจเนอเรชัน 3 รุ่นใหม่ล่าสุด ที่เพิ่งผ่านมือผมไปเมื่อช่วง
เดือนมีนาคมที่ผ่านมา (คลิ๊กอ่านได้ที่นี่)

ส่วน ประวัติความเป็นมาต่างๆของ LEXUS LS คงไม่จำเป็นต้องเขียนถึงอีกให้ยืดยาว
เสียเวลา เสียอารมณ์ ถ้าอยากรู้จัก รถรุ่นนี้ ย้อนไปถึงวันที่โครงการพัฒนายังเป็นวุ้น
อยู่ในห้วงความคิดของ ผู้บริหารโตโยต้า ในญี่ปุ่น ก็คงต้องขอเชิญคุณผู้อ่าน
ย้อนกลับไปเรียนรู้ ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้ที่ บทความ ประวัติ Lexus LS (คลิ๊กอ่านได้ที่นี่)

เส้นสายภายนอกถูกรังสรรค์ขึ้น ตามแนวทางการออกแบบ L-FINESSE
ซึ่งโตโยต้า พัฒนาและกำหนดขึ้นเพื่อใช้กับรถยนต์ในแบรนด์เล็กซัสเท่านั้น
เส้นสายของฝากระโปรงหน้า ถึงจะออกมาเป็นแนวรูปลิ่ม แต่ก็เหยียดตรง
และดูทรงพลังราวกับรถยนต์หรูสำหรับเจ้าขุนมูลนาย ในทศวรรษ 1920 – 1930
กระจังหน้าทรง 4 เหลี่ยมคางหมูขนาดใหญ่ พร้อมครีบแนวนอนลายถี่ แบบโครเมียม

กันชนหน้าแบ่งช่องรับลมออกเป็น 2 ช่องด้านซ้าย และขวา พร้อมติดตั้ง
ไฟตัดหมอก ที่มุมกันชน ส่วนขอบล่างของกันชนหน้า ถูกออกแบบให้
เป็นสเกิร์ตในตัว เพื่อช่วยให้การไหลเวียนของลมใต้ท้องรถ เป็นไปได้ด้วยดี
ไฟหน้า ทรงเฉียงครอบเลนส์ใสดวงไฟหน้าแบบโปรเจกเตอร์หลอดซีนอน
พร้อมระบบปรับมุมองศาจานฉายขณะเลี้ยว Intelligent AFS (ADAPTIVE FRONT LIGHT SYSTEM)
ซึ่งเป็นชื่อที่ ฟังกี่ครั้ง ก็ยังคงชวนให้นึกถึง โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนทุน
มากกว่าจะเป็นชื่อเรียกไฟหน้ารถ

พูดถึงชุดไฟหน้า Intelligent AFS แล้ว ต้องอธิบายการทำงานของมันนิดนึง
ว่า สำหรับ LS460 และ LS460 L แล้ว ชุดไฟหน้าจะทำงานดังนี้

– ถ้าความเร็ว ระดับ 10-30 กิโลเมตร/ชั่วโมง
จานฉายจะแยกกันทำงาน ไม่ก้าวก่ายกัน ฝั่งใครฝั่งมัน
หักพวงมาลัยไปทางขวา จานฉายเฉพาะไฟหน้าฝั่งขวาจะปรับมุมเบนไปทางขวา ไม่เกิน 20 องศา
หักพวงมาลัยไปทางซ้าย จานฉายเฉพาะไฟหน้าฝั่งซ้ายจะปรับมุมเบนไปทางขวา ไม่เกิน 10 องศา

– ถ้าความเร็ว ที่ใช้ เกินกว่า 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง
จานฉายจะเบนตามด้วยกันทั้งคู่ แต่เบนไม่เท่ากัน
หักพวงมาลัยไปทางขวา จานฉายของไฟหน้าฝั่งขวาจะปรับมุมเบนไปทางขวา ไม่เกิน 15 องศา
ส่วนจานฉายไฟหน้าฝั่งซ้าย จะปรับมุมเบนไปทางขวาตามด้วย ไม่เกิน 7.5 องศา

แต่ถ้า หักพวงมาลัยไปทางซ้าย จานฉายเฉพาะไฟหน้าฝั่งซ้ายจะปรับมุมเบนไปทางขวา ไม่เกิน 10 องศา
ส่วนจานฉายไฟหน้าฝั่งซ้าย จะปรับมุมเบนไปทางซ้ายตามด้วย ไม่เกิน 5 องศา

แนวเส้นด้านข้างตัวถังดูหนา และสะท้อนถึงภาพลักษณ์ของเจ้าของรถชัดเจน
ด้วยเส้นที่ลากต่อเนื่องมาจากด้าน หน้ารถและผ่านไปจนบรรจบกับชุดไฟท้าย
กระจกมองข้างถูกติดตั้งอยู่บนตัวถังด้วย ข้อดีคือช่วยลดเสียงรบกวนจากระแสลม
ที่มีปะทะกับมุมของกระจกมองข้าง

มือเปิดประตูสีโครเมียมแบบ GRIP TYPE ส่วนด้านล่างติดตั้งคิ้วโครเมียม
ช่วยเพิ่มมุมมอง ให้สอดรับกับแนวเส้นของครึ่งคันด้านบน
ด้านท้ายบึกบึนด้วยกันชนท้ายขนาดใหญ่ ชุดไฟเบรกแยกติดตั้งอยู่
บนตัวถังกับฝากระโปรงท้ายเพิ่มความสดใสด้วยเลนส์ใสสีแดงดวงไฟ
เบรกแบบ LED ให้ความสว่างมากขึ้น เสริมความหรูด้วยคิ้วโครเมียม
เหนือหลุมทะเบียน แอบสปอร์ตเล็กๆด้วยปลายท่อไอเสียคู่แยกซ้าย – ขวา
ซึ่งดูเหมือนจะได้แรงบันดาลใจมาจาก รุ่นน้องอย่าง Toyota MARK-X

ขณะเดียวกัน ถึงแม้ผมจะกังวลอยู่บ้างว่า รถหรูขนาดนี้
ของเล่นต่างๆที่ให้มา น่าจะใช้งานยากเอาเรื่อง
ตามประสาของคนที่เคยลองขับ ใน Mercedes-Benz S-Class
และ BMW 7-Series อันเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของ LS460 L มาสั้นๆ

เอาเข้าจริง มันก็ไมได้ใช้งานยากเย็นอย่างที่คิด…เลย
แต่ ถ้าจะให้ดี ก็ควรจะมีคู่มือผู้ใช้รถมาให้ด้วย

ซึ่งในครั้งแรกที่ได้รับรถคันสีเงินมานั้น ด้วยความ ช่วยเหลือของ พี่แข พีอาร์ของโตโยต้า
อุตส่าห์สละเวลาในวันเสาร์ ขับรถนำคู่มือเล่มหนาปึ๊ก ขนาดนี้
มาให้ถึงจุดนัดพบ ตอนบ่ายวันเสาร์นั้น ซึ่งทำให้การเรียนรู้วิธีใช้อุปกรณ์ต่างๆ ง่ายขึ้นเยอะ

แต่มาคราวนี้ ผมไม่ต้องพึ่งพาคู่มือเล่มหนาปึ๊ก เล่มนี้อีกต่อไป
เพราะเกือบทุกระบบ ภายในห้องโดยสาร ดูเหมือนจะโดนผม
และน้องๆ The Coup team เล่นซะจนครบทุกปุ่ม สวิชต์แล้วกระมัง

สิ่งแรกที่ต้องเรียนรู้ก็คือ การเปิดประตู และสั่งล็อกประตู
การเปิดประตู ใช้คีย์การ์ด แบบ Smart Entry
พร้อมระบบกันขโมย และสัญญาณเสียง ในตัว
และระบบ Immobilizer เหมือนกับโตโยต้า และ เล็กซัส
หลายๆรุ่นที่ทำตลาดอยู่ในเมืองไทย ทั้ง Camry Wish Yaris GS300 IS250 ฯลฯ
เพียงแต่มาในรูปแบบคีย์การ์ด ไม่มีปุ่มบนรีโมทคอนโทรลแต่อย่างใด
คีย์การ์ดดังกล่าว จะมีกุญแจสำรองเสียบซ่อนเอาไว้เป็นชุดเดียวกันอยู่

ถ้าเดินเข้าใกล้รถเมื่อไหร่ กลอนประตูจะปลดล็อก ทั้ง 4 บาน
ไฟส่องสว่าง ใต้กระจกมองข้าง จะติดขึ้น
เพื่อส่องให้เห็นพื้นที่ ที่คุณกำลังยืนอยู่ และจะเปิดประตูก้าวขึ้นรถ

 

 

เมื่อคุณเปิดประตูออกมา คุณจะพบกับบรรยากาศอันชวนน่าข้าไปนั่ง
อย่างถึงที่สุด ความเข้ากันของชิ้นงานพลาสติกเกรดเยี่ยม
ลายไม้ หนังแท้ชั้นดี และผ้ากำมะหยี่ บุทั้งเพดานหลังคา
เสาหลังคา และตามจุดต่างๆที่สำคัญ ช่างเชื้อเชิญให้รีบหย่อนก้นลงไปสัมผัสโดยไว

เสากรอบประตูค่อนข้างหนากว่า โตโยต้าและเล็กซัส รุ่นทั่วๆไป
ยังไม่นับยางขอบประตู ที่ค่อนข้างหนา เพื่อผลทางด้านการลดเสียงรบกวน
ขณะแล่นแหวกอากาศ บนถนน ทำให้บรรยากาศ เงียบกำลังดี ที่ความเร็วเกิน 200 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป

 

เบาะนั่งคู่หน้า ปรับด้วยไฟฟ้า ได้ถึง 10 ทิศทาง
มีหน่วยความจำ มาให้ ถึง 3 ตำแหน่ง ในแต่ละฝั่งซ้าย-ขวา
พร้อมกับมีสวิชต์ปรับดันหลัง ให้สัมผัสที่ดียิ่งกว่า
การนั่งลงบนเก้าอี้นวมชั้นดี ในชุดรับแขกราคาแพงๆ
มีพื้นที่เหนือศีรษะ โปร่งกว่าที่เห็นด้วยตาเปล่านิดหน่อย
อีกทั้งตำแหน่งของที่วางแขน บนคอนโซลกลาง
และทีแผงประตูด้านข้างนั้น ออกแบบมาอย่างคำนึงใน
หลักสรีรศาสตร์ รองรับได้ทั้งร่างของคนเอเซียตัวเล็กๆ
กระทั่ง ฝรั่งตัวโตๆ หรือ ตาอ้วนหุ่นซูโม่ น้ำหนัก 155 กิโลกรัม
อย่างท่านผู้เกิน Commander CHENG ได้โดยที่เจ้าตัวแทบจะไม่ปริปากบ่นเลย
ทั้งที่ปกติแล้ว แพนจะเป็นคนที่มีปัญหากับเบาะคนขับของรถหลายๆรุ่นอย่างมาก

โดยเฉพาะ พนักศีรษะ ที่ผมอยากจะบอกว่า สบายที่สุด ตั้งแต่ที่เคยเจอมา
ในรถยนต์ของโตโยต้าทุกรุ่น และสบายที่สุดเมื่อเทียบกับรถยุโรปหลายๆคัน
อย่างวอลโว และ BMW บางรุ่น (ต่ำกว่า 525i ลงไป) ก็ยังไม่สบายหัวเท่านี้

เรียกได้ว่า อยากให้ตำแหน่งต่างๆที่มีอยู่ในรถคันนี้ กลายเป็นมาตรฐานของ
โตโยต้าและเล็กซัส คันอื่นๆ ที่คลอดตามออกมาในระยะหลังๆ โดยเฉพาะ โคโรลล่า อัลติส
รุ่นต่อไป จริงๆ (เพราะอย่างน้อย แคมรีใหม่ ก็ทำตรงนี้ได้ดีชนิดราวกับถอดแบบกันมาอยู่แล้ว)

นอกจากนี้ เบาะนั่งคู่หน้า ยังมีระบบพัดลมปรับให้เย็น หรืออุ่นเบาะในตัว
สวิชต์ควบคุมก็อยู่ข้างๆกับ สวิชต์ เปิดปิดม่านไฟฟ้า
บานประตูคู่หลัง และกระจกบังลมหลัง จากด้านหน้ารถ
และสวิชต์ ปิดระบบควบคุมการทรงตัว บนคอนโซลกลาง นั่นละ

วัสดุหุ้มเบาะ เลือกได้ทั้งแบบ หนังแท้ล้วนๆ หรือหนังแท้ ผสม Anilin

 

แต่ ยังก่อน ถ้าคิดว่าเบาะหน้า นั่งสบายแล้ว
ขอเชิญไปลองย้ายสะโพกของคุณไปสัมผัส เบาะหลังเสียก่อน…

ลองเปิดประตูบานกว้างๆ แถมยังหนาเตอะ
ราวกับถอดแบบมาจาก เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาส นั่นเลย
ด้วยตัวถังของรถคันนี้ เป็นรุ่นฐานล้อยาว Long Wheelbase
ทำให้การเข้าออกจากเบาะหลังของรถคันนี้ ทำได้ดีที่สุด
เท่าที่ผมเคยเจอมา อย่างไม่มีข้อกังขา จะมีที่ใกล้เคียงกัน
ก็คงจะเป็น คู่แข่งของมัน ทั้ง S-Class และ ซีรีส์ 7 เท่านั้นกระมัง

อ้อ เราไม่นับ Maybach และบรรดาลีมูซีนคันโตๆทั้งหลายนะครับ
เพราะรถระดับนั้น ถ้าเข้าออกไม่สบาย ก็เลิกหวังจะขายตลาด
กลุ่ม อัครมหาเศรษฐีทั้งกลุ่มผู้ดีมีเงินเก่า ไปจนถึงพวก New Money นั่นเลย

งานนี้ โตโยต้า ใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆน้อย มากกว่าที่ผมเคยพบเจอมา
ในโตโยต้า และเล็กซัสรุ่นใดๆ ทั้งการจัดวางตำแหน่งชิ้นส่วนต่างๆ
การคัดเลือกสี ลายของไม้ที่จะนำมาประดับ ไม่เว้นแม้แต่บริเวณ
ที่วางแขนบนแผงประตู มี ที่เขี่ยบุหรี่ พร้อมฝาปิดมาให้
ช่องวางเอกสาร ที่แผงข้างประตูหลังนั้น ทำออกมาพอให้
ใส่ระเป๋าถือสตรีใบเล็กๆได้กำลังดี

ถ้าคิดจะปิดประตูรถ ทั้ง 4 บาน ไม่ต้องปิดให้มันแรงๆ กระแทกให้มันดังๆ
จนส่อสกุลรุนชาติแต่อย่างใด แค่เพียงค่อยๆเงื้อมมือปิด ไม่ต้องให้สนิท
ระบบไฟฟ้า ก็จะค่อยๆ ดูดบานประตูให้ปิดเข้าไปแนบสนิทกับตัวถัง
ด้วยตัวของมันเอง

 

 

เบาะนั่งด้านหลัง นั้น มีให้เลือกทั้งแบบ bench Seat เหมือนรถยนต์นั่งปกติ
หรือแบบแยกฝั่งซ้าย-ขวา คั่นกลางด้วยคอนโซลขนาดใหญ่เบ้อเร่อ
อย่างที่เห็นอยู่นี้

ซึ่งอัดแน่น และเต็มไปด้วยสารพัดลูกเล่นมากที่สุดเท่าที่ผมเคยพบมา
และเล่นเอาผมปวดหัวเอาเรื่องเหมือนกัน ตอนถ่ายรูป เพราะไม่แน่ใจว่า
จะจัดท่าทางของชุดเบาะทั้ง 2 ฝั่ง ออกมาอย่างไรดี

เบาะหลังนั้น ปรับด้วยไฟฟ้า เหมือนเบาะคู่หน้า เมื่อเราปรับตำแหน่งใดเอาไว้แล้ว
สามารถจะตั้งหน่ายความจำได้ แบบเดียวกับเบาะคู่หน้า
และด้วยวิธีการเดียวกัน สวิชต์หน่วยความจำ จะอยู่ที่มือจับเปิดประตูนั่นเอง

ลูกเล่นของเบาะนั่งแถวหลัง มีหลายประการ
จนต้องก็ขอเก็บไว้คุยกัน ในช่วงหลังๆ

 

 

ฝากระโปรงท้าย เปิดปิด ได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า
ที่บริเวณไฟส่องป้ายทะเบียนหลัง
และกดปิดลงมาด้วยสวิชต์ ที่ชายขอบล่างของฝากระโปรงนั่นเอง
พร้อมระบบดีดกลับเมื่อมีสิ่งกีดขวางอัตโนมัติ
ทำงานแบบเดียวกับที่ผมเคยพบมาใน Lexus RX350

ลองเอาไหล่ของผมไปค้ำดู ตอนที่ฝากระโปรงหลัง
กำลังปิดลงมาอย่างช้าๆ

โดยไม่ต้องรอให้ผมเจ็บไหล่ เพียงแค่ชายขอบล่างของฝากระโปรงท้าย
สัมผัสโดนไหล่ผมเพียงนิดเดียว มันดีดกลับขึ้นไปยังตำแหน่งบนสุดทันที

เผยให้เห็นพื้นที่เก็บของด้านหลัง ใหญ่โต ถึง 510 ลิตร สมกับขนาดของตัวรถ

เห็นแล้ว ผมคงไม่จำเป็นต้องลงไปนอนคุ้ดคู้ถ่ายรูปสารร่างตัวเอง
ในสภาพที่คุณคงเคยเห็นมาบ้างแล้ว ให้ดูกันอีกนะครับ
แค่ตัวเลข คงพอบอกได้แล้วว่า มันใหญ่ประมาณว่าใส่ถุงกอล์ฟได้หลายใบนั่นละ

แต่จะถึงขนาด แบกโอ่ง ที่คุณเห็นในรูปฝั่งซ้ายได้หรือไม่…ไปลองกันเอาเองครับ

ลูกเล่นต่างๆในห้องโดยสาร เพิ่มความหลากหลายยิ่งกว่าเดิม เริ่มจากแผงหน้าปัด
ออกแบบขึ้นให้เน้นการสอดรับทุกการควบคุมของทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ตามหลักสรีรศาสตร์
ทุกปุ่มสัมผัส ถูกปรับปรุงให้นุ่มนวลยิ่ง เพื่อเน้นให้เกิดความรู้สึกหรูหรา อีกทั้งยังใช้งานง่าย
User Friendly ไม่ก่อให้เกิดความ เวียนหัวต่อเจ้าของรถ หรือพลขับ มากอย่างที่ระบบวิลิศมาหรา
ทั้ง i-Drive ของ BMW และ COMMAND ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ เคยทำความปวดเศียรเวียนเกล้าให้ผมมาแล้ว

 

 

ทีมวิศวกร ยังคงแนวคิดเอาใจนักบริหารชั้นสูง
ที่ต้องการความเงียบสงบ แต่ยังคงไว้ซึ่งบรรยากาศของเสียง
ที่แผ่วเบาอย่างสุนทรีย์ในการเดินทาง เหมือนทุกรุ่นที่ผ่านมา
ด้วยค้นหาต้นตอของเสียงรบกวนและการสั่นสะเทือน
ไม่พึงประสงค์ และกำจัดออกไปด้วยวิธีการต่างๆมากมาย
ตัวอย่างที่ชัดเจนสุดคือ เสียงเปิด-ปิดประตู
ที่ให้เสียงนุ่มนวลและหนักแน่นจนชวนให้นึกถึง
เสียงเปิด-ปิดประตูไม้ขนาดใหญ่ชั้นดีที่หน้าคฤหาสน์หรูของเจ้าของรถ

เมื่อเปิดประตูขึ้นมานั่งได้แล้ว ชุดเบาะนั่ง ที่เลื่อนถอยห่าง และพวงมาลัย
แบบปรับระดับสูงต่ำได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ที่ยกตัวขึ้น เพื่อให้ก้าวเข้ามานั่งได้สะดวกนั้น
จะเลื่อนตัวกลับเข้าไปยัง ตำแหน่งสุดท้ายที่ถูกเซ็ตเอาไว้

ดังนั้น จึงควรเลื่อนปรับตำแหน่งเบาะนั่งคนขับ ด้วยสวิชต์ไฟฟ้าที่เห็นอยู่
ทั้งการเลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลัง ปรับตำแหน่งพนักพิงหลัง ให้ลงตัว
จะปรับเบาะรองนั่งให้สูงแบบ มินิแวน หรือจะให้เตี้ยติดดินแบบรถสปอร์ต ก็ย่อมทำได้
ส่วนสวิชต์ปรับระดับสูงต่ำ ของเข็มขัดนิรภัย จะอยู่ที่บริเวณมือเปิดประตู

รวมทั้งปรับตำแหน่งกระจกมองข้างด้วยสวิชต์ไฟฟ้า
(ซึ่งมีระบบตัดแสงอัตโนมัติยามค่ำคืน เหมือนรถยุโรปชั้นหรูทั่วๆไป
โดยสีของกระจกจะเข้มขึ้น เมื่อฟ้ามืดลง จนคุณจะเห็นว่า
แสงไฟหน้าของรถคันที่ตามมาไม่แยงตาจนเกินไป)

สวิชต์ พับกระจกมองข้าง และสวิชต์ปรับตำแหน่งกระจกมองข้าง
ถูกจับแยกเอาไว้ออกจากกัน มีทั้งโหมด พับเก็บ กางออก หรือโหมด AUTO
หมายถึง จะพับตัวเองลงเมื่อผู้ขับ ลงจากรถแล้ว ล็อกประตู

ถ้าจะให้ระบบจำตำแหน่ง เบาะนั่ง พวงมาลัย และกระจกมองข้างที่ปรับเอาไว้
มองไปที่ ลายไม้ เหนือมือเปิดประตู กดปุ่ม SET ค้างไว้ แล้วกดให้จำในตำแหน่งที่ 1 2 หรือ 3 ตามต้องการ
เป็นเช่นเดียวกันนี้ในทุกตำแหน่งเบาะนั่ง

กระจกหน้าต่าง ทุกตำแหน่ง ทั้ง 4 บาน เป็นแบบ Full Auto
คือ เปิด และ ปิดได้ ในระบบ One Touch และมีระบบดีดกลับเมื่อมีสิ่งกีดขวาง
กระจกหน้าต่างไฟฟ้า เป็นแบบ ONE-TOUCH ทั้ง ขึ้นและลง ครบทั้ง 4 บาน เมื่อเลื่อนขึ้นปิด จนใกล้ขอบประตู
มอเตอร์จะถูกปรับตั้งให้ทำงานช้าลง เพื่อลดเสียงรบกวนจากตัวมอเตอร์
และให้เสียงปิดกระจกที่นุ่มนวล ยิ่งขึ้น

ถัดจากชุดสวิชต์กระจกมองข้างลงมา
ฝั่งซ้าย เป็นสวิชต์ เปิด-ปิด เซ็นเซอร์ร้องเตือน
ระบบถอยหลังเข้าจอด Park Assist
ส่วนฝั่งซ้าย ก็เป็นสวิชต์ เปิด-ปิด
ชุดไฟหน้าแบบปรับมุมองศาจานฉายตามการเลี้ยว
AFS (Adaptive Front-Lightning System)

ถัดจากนั้นลงไปอีก ฝั่งซ้าย เป็นสวิชต์ เปิดฝาถังน้ำมัน
ฝั่งขวา เป็นสวิชต์ เปิดฝากระโปรงหลัง
ส่วนการเปิดฝาห้องเครื่องยนต์ ก็ยังคงใช้ที่โยกเปิด
แบบเดียวกับโตโยต้ารุ่นอื่นๆอยู่ดีนั่นเอง

 

การติดเครื่องยนต์นั้น ใช้ปุ่ม ENGINE START STOP
อันเป็นระบบติดเครื่องยนต์ แบบกดปุ่ม แบบเดียวกันกับที่พบได้ใน
Camry Vios ไปจนถึง Yaris นั่นละครับ หลักการทำงานพื้นฐานเหมือนๆกัน
ถ้ากดปุ่มลงไป ไฟสีอำพันสว่างขึ้นมาบนปุ่ม แสดงว่า จะทำงานได้แต่
อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในรถเท่านั้น แต่ถ้าจะติดเครื่องยนต์ ต้องเหยียบเบรก
เพื่อป้องกันรถพุ่งไปข้างหน้า เพื่อความปลอดภัย ไฟสัญญาณสีเขียวจะติดขึ้น
ก็กดปุ่มซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เครื่องยนต์ก็จะติด หรือถ้ารีบมากๆ
ปิดประตูรถได้ปุ๊บ เหยียบเบรก และกดปุ่มแช่ลงไปเลย ก็ย่อมได้เช่นกัน

จากนั้น ก็ปรับระดับพวงมาลัย สูง-ต่ำ และเข้า-ออกห่างจากตัว
ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า บนคอพวงมาลัยที่เห็นอยู่นี้ อันเป็นสวิชต์สหกรณ์
ที่ผมว่าผมเคยเห็นในโตโยต้า และเล็กซัสมาแล้วหลายรุ่นเหมือนกัน
ก็เป็นเรื่องปกติ

แต่ก่อนที่เราจะเรียนรู้เรื่องอื่นๆต่อไป ขอยกเรื่องนี้มาบอกเล่ากันก่อน
เพราะว่าอยู่ใกล้มือ และเป็นสิ่งแรกๆที่คุณควรจะรู้เกี่ยวกับรถคันนี้
ระบบเบรกมือ หรือที่ตอนนี้ควรจะเรียกว่า เบรกจอด
เป็นแบบไฟฟ้า แต่มี 2 โหมดการทำงาน

– โหมดปกติ ไม่มีคันเบรกมือ ไม่มีแป้นเหยียบที่เท้า
แต่ เป็นสวิชต์ไฟฟ้า รูปตัว P ในวงกลม
บริเวณ ซ้ายล่าง ของพวงมาลัย จากที่เห็นในรูปข้างบน

หากเข้าเกียร์ P ระบบ เบรกจอดจะทำงานทันที
สัญญาณไฟเตือนสีแดง จะขึ้นบนชุดมาตรวัด
หรือถ้าในขณะจอดติดไฟแดงอยู่ ก็สามารถกดปุ่ม P ในวงกลมลงไป
ซึ่ง หากจะออกรถ ในทันที ย่อมทำไม่ได้ ต้องเหยียบเบรก
และ กระดิกนิ้วดึงสวิชต์ปลดระบบ ก่อนจะถอนเท้าออกจากแป้นเบรก จึงจะออกรถได้

 

ถ้าคิดว่าข้างบนนี้มันยุ่งยากมากนัก แต่ยังอยากจะขับให้ถูกต้อง
คือ จอดติดไฟแดง เข้าเกียร์ D ค้างไว้ แล้วขึ้นเบรกมือ หรือเบรกจอด นั้น
โตโยต้า เขาเสนออีกทางเลือกหนึ่งมาให้ นั่นคือ สวิชต์ HOLD บนพวงมาลัย ฝั่งซ้ายล่าง
เมื่อใดที่จอดติดไฟแดง ให้กดปุ่ม HOLD ทันที แค่นี้ ก็ถอนเท้าจากแป้นเบรกได้แล้ว
ระบบเบรกจอด ก็จะทำงานให้ทันที หากไฟเขียวเมื่อใด อยากจะออกรถ ก็แค่เหยียบคันเร่ง
รถก็จะพุ่งตัวออกไป แต่ถ้าจอดค้างเอาไว้นานเกินไป ระบบก็จะขึ้นข้อความเตือนบนหน้าปัด
เช่นข้างบนนี้ เพื่อบอกว่า ระบบได้ตัดการทำงาน เข้าสู่เบรกจอดแบบปกติแล้ว ต้องกระดิกนิ้วปลดระบบจึงจะออกรถได้

ระบบนี้ ดูเหมือนจะอันตรายสำหรับคนที่ขาดสติ
ซึ่งอาจจะเผลอเยียบคันเร่งออกรถไปเฉยๆ
หรือเด็กที่เกิดซุกซน ฟังดูเหมือนผมกังวลไปเกินกว่าเหตุ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว Volvo S80 ใหม่ และ Land Rover รุ่นแพงๆ
ทั้ง Discovery III Range Rover และ Range Rover Sport ต่างก็ใช้เบรกจอดไฟฟ้า
ลักษณะคล้ายกันนี้ด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ ไม่มีการป้องกันความเสี่ยง
ด้วยการแยกชุดสวิชต์การทำงาน ถึง 2 ระบบ อย่างที่โตโยต้าทำอยู่นี้
ซึ่งเท่าที่ลองใช้งานดู ระบบของโตโยต้า จะปลอดภัยกว่า ในแลนด์โรเวอร์ เหล่านั้น นิดนึง

ทันทีที่ติดเครื่องยนต์ปุ๊บ หน้าจอออพติตรอน จะค่อยๆสว่างขึ้นมาช้าๆ อย่างที่เห็น…
จนกระทั่ง สัญญาณไฟเตือนบางรายการค่อยๆหายไป
จอ TFT จะขึ้นข้อความ และรูป System Check…

ถ้ารู้สึกว่ามันสว่างมากไป
มองไปที่ด้านใต้ชุดมาตรวัด ฝั่งขวา มีสวิชต์ ^ หรือ v เอาไว้สำหรับ
ปรับเพิ่มหรือลดความสว่างของชุดมาตรวัด…
 

 

โดยจะแสดงผล บน
หน้าจอ แสดงข้อมูล TFT Multi Functional Information Display ซึ่งอยู่คั่นกลาง
ระหว่าง มาตรวัดความเร็ว และมาตรวัดรอบเครื่องยนต์
(TFT นั้น ย่อมาจาก Thin Film Transistor)
จอดังกล่าว ยังทำหน้าที่ บอกแจ้งข้อมูล เป็นภาพกราฟฟิก

ทั้งระยะทางที่น้ำมันในถังจะเหลือพอให้แล่นต่อไปได้ อันเป็นข้อมูลหลัก
(ด้านบนสุด)…

 

 

ความเร็วเฉลี่ย ตลอดทริปที่เดินทาง…

 

 

เวลาที่ใช้ในการเดินทางมาแล้ว ตั้งแต่ติดเครื่องยนต์ครั้งล่าสุด

 

ปริมาณน้ำมัน ที่แล่นไปแล้ว ตั้งแต่การเติมครั้งล่าสุด
 
 อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย นับจากการเติมครั้งล่าสุด
แสดงหน่วยเป็นค่า ลิตร/100กิโลเมตร

 

 

หรือจะให้แสดงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเป็นแถบแบบ Real-Time…

 

หรือจะเป็นค่าเฉลี่ย ทั้งหมดตลอดทริป ที่เดินทางเลยก็ย่อมได้
การเซ็ตค่าต่างๆ ของมาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง

บนชุดมาตรวัดนั้น ทำได้ 2 ตำแหน่ง
คือกดที่ปุ่ม Reset – Trip ที่ใต้ชุดมาตรวัดฝั่งซ้าย

หรือ กดปุ่ม Reset ค่าต่างๆ ที่สวิชต์บนพวงมาลัย ฝั่งขวา

พร้อมกันนั้น เมื่อติดเครื่องยนต์แล้ว
จอมอนิเตอร์สี EMV (Electro Multi Vision) ขนาด 8 นิ้ว
แบบ Touch Screen จะขึ้นโลโก้ LEXUS เพื่อต้อนรับ

 

ติดเครื่องขึ้นมาเมื่อไหร่ จอมอนิเตอร์ จะแสดงหน้าจอของระบบปรับอากาศทันที

จอมอนิเตอร์ EMV นั้น ในรถรุ่นที่ขายในต่างประเทศ จะเชื่อมต่อกับระบบนำร่องผ่านดาวเทียม
พร้อมระบบสื่อสาร Telematics ของ โตโยต้าเอง อย่าง G-Book

แต่ ในเมื่อ รถคันนี้ ไม่ได้ติดตั้งระบบนำร่องมาให้
หน้าจอก็เลยจะแสดงโหมดการทำงานไม่ได้มากมายนัก

ถ้าอยากจะปรับเปลี่ยนอะไร ให้กดปุ่มที่ติดตั้งด้านข้างจอ เช่นว่า
ถ้าอยากจะปรับเปลี่ยนชุดเครื่องเสียง ก็กดไปที่ปุ่ม AUDIO ฝั่งซ้ายมือ

ถ้าอยากปรับอุณหภูมิต่อ ก็กดไปที่ปุ่ม CLIMATE เหนือปุ่ม AUDIO นั่นละ
ปุ่ม DISP ที่อยู่ติดกันนั้น เอาไว้สำหรับ กดปรับค่าความสว่าง ของหน้าจอ EMV นั่นเอง

แต่ตอนนี้ เราจะกดไปที่ INFO

หน้าจอ ก็จะแสดง เมนูหลัก 3 รายการ…

หากกดไปที่ Telephone…

ระบบก็จะสามารถต่อเชื่อมโทรศัพท์เคลื่อนที่ Bluetooth ได้
แต่ต้องใช้เวลาคลำหากันพักนึง

เมื่อใดที่ขับรถอยู่ เปิดเพลงฟังอยู่
หากมีโทรศัพท์เข้ามา ระบบจะตัดสัญญาณเพลงที่กำลังฟัง
และจะรับสายให้คุณโดยอัตโนมัติ ในเสียงรอสาย 3 ตื๊ด

ลำโพงโทรศัพท์หนะชัดแจ๋ว แต่ตอนจะพูดโต้ตอบกับคู่สนทนานั้น
ต้องแทบจะตะโกนกันเลยทีเดียว ผมไม่แน่ใจว่า ต้องปรับระดับเสียงกันตรงไหน

มีแถบบอกปริมาณแบ็ตเตอรี และสัญญาณของระบบ จากโทรศัพท์เครื่องที่เราใช้อยู่ให้ดูด้วย

หรือถ้าจะเลือก จากเมนูหลักไปที่ Screen Setting ก็จะช่วยให้เรา
ปรับแต่งการแสดงหน้าจอได้ว่า จะให้แสดงเป็นสีน้ำเงิน หรือสีทอง (ซึ่งไม่สวยเลย)

รวมทั้งการปรับแต่งค่าหน้าจออื่นๆ

หรือถ้าอยากปรับแสงสว่าง ความเข้มของหน้าจอ

กดปุ่มฝั่งซ้าย DISP จะขึ้นโหมด Display ให้ปรับความเข้ม สว่าง ของหน้าจอตามใจชอบ

และที่สำคัญ คือ เชื่อมต่อกับระบบช่วยจอด Parking Assist
ซึ่งเรียกได้ว่า สมบูรณ์แบบที่สุด จนแทบจะปิดทุกจุดบอดในระบบอื่นๆ
ที่รถรุ่นอื่นๆเคยทำกันมาไว้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

เหมือนวิศวกรจะรู้
ว่าบางที เสียงของระบบเซ็นเซอร์เหล่านี้
อาจก่อให้เกิดความรำคาญ กับคนขี้หงุดหงิดได้
ดังนั้น เสียงเตือนจึงไม่ฟังดูแล้วทารุนเกินไปนัก
แต่ก็ไม่หวานเสนาะหู จนเป็นจิงเกิล

ที่แน่ๆ คุณสามารถตั้งค่า ระดับความดังของเสียงร้อง Beep ในการเตือนได้
ว่าจะให้มันดัง หรือเตือนเบาๆก็พอ

เลือกระยะห่างจากวัตถุได้ ว่าคุณต้องการให้รถมันร้อง Beep
ตอนใกล้จะชนแล้ว หรือว่าห่างออกไปจากนั้นอีกหน่อย

(ขอโทษเถิด ในรถคันที่ทดลองขับเนี่ย
เซ็นเซอร์ ดูเหมือนจะทำงานไม่ไวพอนะ)

โดยจะมีสัญลักษณ์เตือนการทำงานของเซ็นเซอร์กะระยะ
บนชุดมาตรวัด ถ้าขณะจอดติดไฟแดงอยู่
เผลอเิปิดค้างไว้ มอเตอร์ไซค์มาจอดข้างหลัง จนเซ็นเซอร์ร้องดัง
น่ารำคาญยิ่งนัก ก็กดปิดระบบเตือน ที่สวิชต์ไฟฟ้าเล็กๆ
ใต้ สวิชต์ควบคุมชุดกระจกมองข้าง อย่างที่ได้บอกไปข้างต้น

และถ้าหากคุณยังไม่มั่นใจว่าจะถอยหลังชนสิ่งกีดขวางหรือไม่
ทันทีที่คุณเข้าเกียร์ถอยหลัง R จอมอนิเตอร์ จะรับสัญญาณภาพ
จากกล้องด้านหลัง ติดตั้งเหนือป้ายทะเบียนรถ

ถ้าช่วยเตือนกันมากขนาดนี้ ยังจะถอยชนอะไรเข้าอีก
ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้วนา…พลขับ ควรลาออกไปขายเต้าฮวยเป็นการด่วน!

ทีนี้ ก็มาถึง ชุดเครื่องเสียง และความบันเทิง หรือ

ถ้าคิดว่า สารพัดปุ่มที่เต็มพรืดไปหมดนี้ น่าจะก่อความปวดหัวให้ผมเอาเรื่อง
บอกเลยว่า ไม่จริง! เพราะว่า LS460 L นั้น เรียกได้ว่า แม้จะหรูขนาดไหน
แต่การออกแบบให้เป็นมิตรกับผู้ใช้ หรือ User friendly มากที่สุด

ขณะเดียวกัน นี่คือ รถที่ผมยอมรับว่า ติดตั้งชุดเครื่องเสียง คุณภาพดีที่สุด
เท่าที่เคยพบมาตลอด 5 ปี แน่นอนว่า เป็นผลงานของ Mark Levinson
คู่บุญบารมีของ ทีมเล็กซัส มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

ระบบชุดเครื่องเสียงใน LS460 มีชื่อเต็มยศว่า
Mark Levinson Reference Surround Sound System
ประกอบด้วย เครื่องเล่น CD/DVD และลำโพงมากถึง 19 ตัวรอบทิศทาง
แบบ 5.1 Channel ระบบ Digital Surround Logic ที่ใช้ไมโครโปรเซสเซอร์แบบ 24 บิท
ให้กำลังเสียง 450 วัตต์ อาบคุณด้วยเสียงเพลงราวกับนั่งอยู่ในสตูดิโอบันทึกเสียงกันเลยทีเดียว
ฟังแล้วนุ่มละมุน กลับไม่รู้สึกว่า ถูกปรุงแต่งมา แต่เหมือนเพิ่งจะหลุดออกจากการแสดงดนตรีสดๆ

ภาครับวิทยุ แม้ว่าสัญญาณจะค่อนข้างดี
แต่การใช้งาน จะเปลี่ยนคลื่นแต่ละที ก็ใช้งานแอบยากนิดๆ

ตั้งข้อสังเกตเล็กน้อยว่า ในรถคันสีดำนั้น ในโหมดวิทยุ เสียงจะไม่ออกมายังลำโพงสำหรับผู้โดยสารด้านหลังเลย
แต่ในโหมดอื่นๆ ทุกอย่างทำงานตามปกติ ไม่แน่ใจว่ามีใครไปกดสวิชต์อะไรเอาไว้หรือเปล่า

 

ส่วนเครื่องเล่น CD นั้น มี CD Changer ในตัว ใส่ได้ 6 แผ่น
และเล่นแผ่น DVD ได้อีกด้วย

ใครที่คิดว่า ชุดเครื่องเสียงในรถ เซ็ตยังไง ก็ไม่มีทางทำได้ดีเท่าบ้าน

นั่นก็จริงอยู่…

แต่…ขอแนะนำ ให้มาลองนั่งรถคันนี้ดูสักที
อาจจะเปลี่ยนความคิดกันได้โดยง่ายเลยทีเดียว…

โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว อย่ายึดติดกับความเชื่อเก่าๆของตนนักเลย

 

โหมดปรับเสียง DSP (Digital Sound Processor)

ปรับได้ทั้งความก้องกังวาน
หรือ ระบบเพิ่มความดังของเสียงเพลง ไปตามความเร็วของรถ ASL
(Auto Sound Leveling)

ควบคุมการทำงาน ทั้งการเปลี่ยนคลื่นวิทยุ หรือ แทร็กเพลง
ไปจนถึงระดับความดัง-เบาของเสียงดนตรี
ได้จาก สวิชต์ควบคุมบนพวงมาลัย ทั้งฝั่งซ้ายและขวา
ซึ่งใช้งานง่ายกว่าที่คิด

 

 

และถ้าไม่พอใจเสียงเดิมอีก ก็ปรับให้เข้ากับความต้องการได้
ทั้ง เสียงทุ้ม แหลมใส หรือว่า จะเน้นให้ออกจากฝั่งซ้าย ขวา หน้า หรือ หลัง ฝั่งใดมากกว่ากัน ตามแต่ใจอยาก

 

แต่ใช่ว่า ความสะดวก และความสบาย จะถูกจำกัดอยู่แต่เพียง ผู้ขับขี่ และผู้โดยสารตอนหน้าเท่านั้น
เพราะใน LS460 L สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความสบายของเจ้าของรถ ซึ่งต้องนั่งวางท่าอยู่ด้านหลังเป็นหลัก

ดังนั้น เล็กซัส จึงเปิดโอกาสให้ลูกค้า สามารถสั่งติดตั้งชุด EXECUTIVE CLASS SEATING PACKAGE
ได้เป็นพิเศษ เฉพาะในรถรุ่นฐานล้อยาว ผู้โดยสารด้านหลังจึงถูกเอาใจอย่างเต็มพิกัด
ทั้งเรื่องระบบปรับอากาศ และเรื่องความบันเทิง

มาว่ากันที่ระบบปรับอากาศก่อน

ระบบปรับอากาศ นอกจากจะติดตั้ง
เครื่องฟอกอากาศ และระบบหมุนเวียนอากาศอัตโนมัติ แล้ว
ยังเป็นแบบแยกฝั่ง อีกด้วย
เปล่าเลย ไม่ใช่แยกฝั่ง ซ้าย-ขวา
แต่ แยกฝั่งได้ ถึง 4 ตำแหน่ง!!
คือ ทั้งตำแหน่งคนขับ ผู้โดยสารตอนหน้า ฝั่งซ้าย
รวมทั้ง ผู้โดยสารด้านหลัง ทั้งฝั่งซ้ายและขวา
เป็นแบบ 4 Zone ทำงานด้วยเซ็นเซอร์ อินฟาเรด
เพื่อปรับอุณหภูมิให้ผู้โดยสารได้ตามอัตโนมัติ
ซึ่งสามารถแบ่งการปรับอุณหภูมิได้ ทั้งซ้าย-ขวา
และหน้า-หลัง ทั้ง 4 ที่นั่ง
แยกกันสบายในแบบตัวใครตัวมัน

สำหรับช่องแอร์ ของผู้โดยสารด้านหลังนั้น หลักๆแล้ว จะมีอยู่ที่ด้านหลังชุดคอนโซลกลาง
ที่เสาหลังคาทั้ง 2 ฝั่ง และช่องแอร์บนเพดานหลังคาเป็น รายแรกในโลกที่ติดตั้งในรถเก๋ง
เพื่อเพิ่มความสบาย ดุจเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว

 

 

และยิ่งเพิ่มความเป็นส่วนตัวมากขึ้นไปอีก ด้วยชุดม่านบังแดด
เปิด-ปิดด้วย สวิชต์ไฟฟ้า แยกเปิดปิด ทั้งหน้าต่างฝั่งซ้าย-ขวา
และ ที่กระจกบังลมหลัง

 

โดยมีแผงสวิชต์ควบคุมระบบปรับอากาศสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง
ติดตั้งฝังตัวอยู่ในชุด คอนโซลคั่นกลางระหว่าง เบาะนั่งฝั่งซ้ายและขวา
มีวางแขนบุด้วยหนังชั้นดี พร้อมฝาปิด อันเป็นที่ซ่อนตัวของช่องเก็บรีโมทคอนโทรล

แผงสวิชต์ชุดนี้ หากมองจากในภาพแล้ว สวิชต์แถวบนสุดตรงกลาง
จะเอาไว้ เปิด-ปิด และเร่งหรือลดความแรงของพัดลม ในระบบปรับอากาศสำหรับผู้โดยสารตอนหลัง
3 ปุ่มฝั่งขวา ไว้เปิดปิด ม่านบังแดดไฟฟ้า ที่หน้าต่างฝั่งซ้าย – กระจกบังลมหลัง – หน้าต่างฝั่งขวา ตามลำดับ
ขนาบข้างจอแสดงข้อมูลด้วย สวิชต์ แนวตั้ง ฝั่งด้านบน แยกกันทำหน้าที่ปรับเพิ่ม-ลด อุณหภูมิ และ
ช่องทางที่จะให้แอร์ เป่าออก ตามต้องการ ของผู้โดยสารทั้งซ้าย-ขวา

ส่วนสวิชต์แถวถัดลงมา ทั้ง 2 ฝั่งของตอนล่างของจอ ไว้ควบคุมชุดเครื่องเสียง จากด้านหลังรถ

และสวิชต์แถวใต้จอแสดงผลนั้น ไว้ควบคุมการทำงานของชุดเบาะ
สวิชต์กลมๆ 2 ฝั่ง มีไว้เปิดพัดลมสร้างความเย็น หรืออุ่นเบาะ แยกฝั่งซ้าย-ขวา
สวิชต์แบบกดปุ่ม ฝั่งขวา ไว้เลื่อนเบาะหน้าฝั่งซ้าย ในกรณี อยากยืดแข้งยืดขา
ให้สมกับเป็นรถผู้บริหาร 3 ปุ่มตรงกลาง ไว้ปรับเบาะนั่ง เลื่อนเข้าออก ปรับเอน ดันหัวไหล่ ฯลฯ
โดยสับสวิชต์ ที่ด้านล่าง L ซ้าย R ขวา

และ สองปุ่มสุดท้าย ฝั่งซ้ายมือ ไว้ควบคุมชุดเบาะ OTTOMAN เฉพาะฝั่งผู้โดยสารตอนซ้าย เท่านั้น
มันเป็นอย่างไร อ่านต่อไปข้างล่าง

เมื่อเปิดฝาที่วางแขนของเบาะหลังยกขึ้นมา จะพบรีโมท 2 ชุดซ่อนอยู่
พร้อมกับช่องเสียบ RCA และช่องเสียบไฟขนาด 12 V สำหรับต่อเข้าเครื่องเล่นไฮเทคต่างๆ

จุดเด่นของ LS 460 L คือ เบาะหลังฝั่งซ้าย จะมีระบบนวดหลังให้ด้วย โดยควบคุมได้จาก
รีโมทคอนโทรลชุดขวา หากจะใช้ ให้กดสวิชต์ On-Off จนไฟเขียวติดขึ้นมา
มีทั้งโปรแกรมการนวดแบบ Shiatsu และแบบ Stretch ซึ่งมันจะนวดไปตามเรื่องตามราวของมันไปเรื่อยๆ
จนกว่าจะกดเปลี่ยนโปรแกรม หรือปิดเครื่อง

ถ้าไม่อยากนวดเต็มสูตร แค่อยากได้คนคลึงหัวไหล่ ก็กดที่โหมด Manual
เลือกได้ว่าจะให้นวดเฉพาะหัวใหล่ (Shoulder) หรือ ที่แผ่นหลัง (Back)
แถมยังปรับ Intensity หรือจะเพิ่ม-ลดความเร็วในการทำงานของลูกกลิ้งด้านหลังก็ได้

และถ้าอยากได้ระบบสั่น เขย่าไขมัน ก็กด VIB อันมาจาก Vibrate
เลือกปรับระดับการสั่นได้ตามใจชอบ นวดได้เฉพาะเบาะผู้โดยสารฝั่งซ้ายเท่านั้น

แต่ เสียใจด้วย ที่สั่นสะเทือนได้หนะ เบาะเท่านั้น รีโมทสั่นไม่ได้!

กรุณาอย่าคิดลึกเชียวละ!

ส่วนใครที่สงสัยว่า เบาะ OTTOMAN คืออะไร มีแถมมาให้ทำไม อ่านต่อได้ ตรงนี้

ชุดเบาะ OTTOMAN นั้น ก็คือ เก้าอี้ไฟฟ้า ที่มีพื้นที่เบาะรองนั่ง ยาวต่อเนื่องไปจนแทบจะถึงข้อเท้า
และสามารถปรับยกชิ้นส่วนบริเวณนั้นขึ้นมาได้ เพื่อเพิ่มความสบายในการ เอนนอน เอกเขนก
ดุจเบาะนั่งสายการบินชั้น First Class

ใน LS 460 L นั้น ชุดเบาะนั่งทั้ง ฝั่งซ้าย และขวา สามารถปรับเลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลังได้ ราวๆ 3 นิ้ว

การปรับเบาะแบบมาตรฐานตั้งฉาก ให้ชันที่สุด และพับอุปกรณ์ต่างๆเก็บลงไป ดูได้จากรูปข้างบน

 

และนี่คือชุดเบาะฝั่งซ้ายแบบ OTTOMAN หลังจากที่กดปุ่มดันพื้นที่วางขาให้ยกตัวขึ้นจนสุด
และปรับเอนพนักพิงลงไปจนเกือบสุด ปรับพนักพิงเอนได้ถึง 45 องศา
ส่วนเบาะนั่งด้านหลังฝั่งขวา ที่ไม่มีระบบ OTTOMAN นี้ ก็ปรับเอนได้เช่นกัน แต่ทำได้แค่ 38 องศา

ถ้าอยากจะวางขาให้สบายกันจริงๆ
ก็ต้องกดปุ่มเลื่อนพับพนักพิงของเบาะนั่งฝั่งซ้าย
ให้โน้มไปข้างหน้าเองโดยอัตโนมัติมากกว่านี้อีก อย่างที่เห็นข้างบนนี้

 

หากเปิดฝาตู้ด้านหลัง ยังมีเครื่องเล่น DVD พร้อมช่องเสียบหูฟัง
และสวิชต์ปรับระดับความดังของหูฟัง ซ่อนอยู่ในตู้ด้านหลัง
ไว้สำหรับชมภาพยนตร์ขณะเดินทาง

 

โดยมีจอมอนิเตอร์สี VGA ขนาด 9 นิ้ว
เปิดและ พับเก็บได้อย่างนุ่มนวล
ด้วย ความช่วยเหลือจากพลขับในการเอื้อมไปเปิด
สวิชต์ที่แถวๆชุดเครื่องเสียงนั่นละ ให้มันกางออกมา ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า
แสดงการทำงานได้ตามโหมดต่างๆที่คุณเห็นอยู่บนจอ

ถ้าอยากจะดู ภาพยนตร์เรื่องที่เพิ่งจะออกจากโรง
และคุณยังไม่มีเวลาไปดู จนต้องซื้อหาแผ่น DVD มาดูเอง
แต่ก็ยังไม่มีโอกาสดูในบ้าน ก็ต้องดูในรถกันนี่ละ

รีโมทคอนโทรล Rear seat Entertainment System
จะทำหน้าที่แบบเดียวกับรีโมทของเครื่องเล่น DVD ที่บ้านคุณนั่นละ

และเพื่อให้ ไฮโซโก้หรู ยิ่งขึ้นไปอีก

ลองกดปุ่มเหนือแผงควบคุมด้านหลัง ดูสิครับ
จะมีแท่นอะไรบางอย่าง ดีดยกตัวออกมาอย่างที่เห็น…

แค่หมุนและเงยมันขึ้น คล้ายๆ โต๊ะเลคเชอร์ ในที่ประชุมห้องแอร์ สมัยก่อนนั่นละ
คุณก็จะได้ โต๊ะเซ็นเอกสาร หรือวางของเล็กๆ 1 ตัว!
จะหมุนทางซ้ายอย่างในรูป หรือ หันกลับไปยังด้านขวา ก็ทำได้ทั้งสิ้น!

และนี่คือด้านหลังของมัน

ถ้าไม่ต้องการใช้งานอีก ก็ดันพลิกพับกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม
แล้วกดโต๊ะทั้งชุดลงไปเบาๆ เป็นอันเรียบร้อย…

เป็นยังไงกันบ้างครับ
ของเล่นเต็มไปหมดขนาดนี้ คุณภาพเสียงประเสริฐในทุกการใช้งานอย่างนี้

ผมละไม่แปลกใจเลยที่บรรดาผองเพื่อนพี่น้องร่วมก๊วนของผมนั้น
พอขึ้นรถคันนี้ได้ปุ๊บ สิ่งแรกที่ชาวทะโมนทั้งหลาย พากันทำก็คือ
จับจองตำแหน่งเบาะหลังและเล่นทุกอย่าง เท่าที่จะมีให้เล่น!!!
โดยปล่อยให้ผม จำใจรับหน้าที่เป็นสารถี ตามลำพัง

แต่น่าแปลกว่า แทบทุกคน สามารถเล่นกับอุปกรณ์ต่างๆของรถคันนี้ได้
โดยแทบไม่ต้องเปิดกางคู่มือผู้ใช้รถเลย

และดูเหมือนจะมีแต่ผมคนเดียวที่ เปิดกางคู่มืออ่านตามลำพัง
เวลาที่พวกเขาแยกย้ายกันกลับบ้านไปแล้ว

เอาละ ยังเหลือรายละเอียดในห้องโดยสารอีกนิดหน่อยที่คุณควรทราบไว้

รถคันนี้ มีกระจกพร้อมไฟแต่งหน้า สำหรับผู้โดยสารตอนหลังมาให้
ทั้งสองฝั่งเลยทีเดียว

แต่ใช่ว่าจะมีให้กับผู้โดยสารตอนหลังเท่านั้น
ถ้าสารถี และผู้ติดตาม อยากหล่ออยากสวย ขั้นสุดท้าย
ก่อนพบปะฝูงชน

แผงบังแดด ทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งหุ้มด้วยผ้าแบบเดียวกับที่ใช้บุเพดานหลังคารถนั่นละ
มีกระจกแต่งหน้า พร้อมไฟส่องสว่างมาให้ เช่นเดียวกัน
ส่วนไฟอ่านแผนที่ และ Dim Light นั้น ยังมีไฟสีขาวนวล
หวังสร้างบรรยากาศให้เต็มที่ ฝังอยู่ในนั้น เหมือนเล็กซัสคันอื่นๆ

กล่องเก็บแว่นกันแดดพับเก็บได้นั้น
พอใส่ได้แค่แว่นอันเล็กๆ ถ้าแว่นอันใหญ่มาก ก็ปิดไม่ลงเหมือนกัน

 

และเพื่อให้สุนทรีย์ยิ่งขึ้น

ทุกรุ่นจะมีซันรูฟไฟฟ้า
พร้อมระบบดีดกลับอัตโนมัติเื่มื่อมีสิ่งกีดขวาง
ติดตั้งมาให้ เสร็จสรรพ

สวิชต์ เปิดเลื่อน และเปิดแบบยกเผยอ แยกชิ้นกัน
ไม่ได้จับรวมกันเหมือนรถรุ่นใหม่ๆคันอื่นๆ

เห็นสารพัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายยุบยับมากมายก่ายกองขนาดนี้

ผมไม่กล้าจินตนาการต่อเลยว่า
สายไฟของรถคันนี้ เมื่อนำมาวางเรียงกัน มันจะยาวกี่กิโลเมตร…?

 

 

 

ถ้าถามความรู้สึกว่า เบาะนั่งด้านหลังของ LS 460 L เป็นอย่างไร
แน่นอนละ มันนุ่มสบาย และเล่นเอาผมลืมความกังวลใจใดๆไปจนเกือบหมดสิ้น
ปล่อยให้หน้าที่การควบคุมรถ อยู่กับเพื่อนพ้องผู้เป็นสารถี กันเสียดื้อๆ

LS 460 L เป็นหนึ่งในรถไม่กี่คันที่ผมสามารถนอนหลับในรถได้อย่างสบายใจ
และไม่ต้องกลัวอะไรอีก

จากที่เคยลองนั่ง สลับกันไปสลับกันมา ในงานมอเตอร์โชว์
ระหว่าง เอส-คลาส ซีรีส์ 7 แล้วก็มานั่งในคันนี้

การออกแบบคือสิ่งสำคัญที่ทำให้ LS 460 L น่านั่งและให้ความรู้สึกผ่อนคลาย
ในการเดินทางมากกว่า ซีรีส์ 7 ที่ดูแข็งกระด้างตามแบบฉบับเยอรมันสมัยใหม่
ในขณะที่ เอส-คลาสใหม่ ก็ยังไม่อาจให้ความสบายได้ใกล้เคียงนัก

วัสดุหนังแท้ และการตกแต่งต่างๆ ที่แต่ละผู้ผลิตเลือกใช้นั้น

ผมจะไม่บอกคุณตรงนี้ ว่าใครใช้ของดีกว่ากัน

แต่ถ้ามีงาน บางกอก มอเตอร์โชว์ ในครั้งต่อไป
ราวๆ เดือนมีนาคม ของทุกปีนั่นละ

ถ้ามีโอกาส ผมแนะนำว่า
คุณควรลองขึ้นไปนั่งใน ซีรีส์ 7
จากนั้น ก็ S-Class

พยายามเก็บรายละเอียด และจำผิวสัมผัสของแต่ละคันเอาไว้

แล้วก็เดินข้่ามบูธ มาลองนั่ง LS460 L

เพียงเท่านี้ คุณก็จะได้คำตอบให้กับตัวคุณเอง
แบบที่ผมเจอมากระจ่างแจ้งแล้วว่า
ถ้าจะต้องเลือกโดยสารในระยะทางยาวๆ

คุณควรจะเลือกรถคันไหน…

และถ้าเป็นผม LS 460 L คือคำตอบ ที่ไม่ต้องการคู่เปรียบเทียบอื่นใดอีก!

เว้นแต่ ผมจะได้ลองนั่ง ซีรีส์ 7 ใหม่ F01/F02 ว่า ขณะเดินทางไกล เป็นอย่างไร

 

แต่ความสะดวกสบาย ก็ยังไม่หมดเท่านี้
ยังมีบางประเด็น เหลือให้พูดถึงอีกสักหน่อย

ช่องเก็บของต่างๆ อันเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่รถคันนึงควรจะมี
LS 460 L ก็มีมาให้ค่อนข้างครบครัน

ตั้งแต่ช่องเก็บของด้านหน้า ซึ่งมีขนาดใหญ่โต และแบ่งเป็น 2 ชั้น
เมื่อเอา CD Changer 6 แผ่น จากรถรุ่นเก่า ออกไปแล้ว
พื้นที่ลิ้นชักนี้ ก็ใช้งานได้หลากหลายยิ่งขึ้น

คอนโซลกลาง มีฝาปิดเป็นที่วางแขน เปิดออกมา ก็มีช่องเก็บของ 2 ชั้น
ใส่ กล่อง CD ได้เยอะเอาการ ยังไม่นับรวมช่องเก็บของจุกจิกเล็กๆน้อยๆรอบคัน

ทัศนวิสัยรอบคัน จากด้านหน้า อยู่ในระดับมาตรฐานปกติของรถทั่วๆไป
กระจกบังลมหน้า มีขนาดค่อนข้างกว้างและเห็นทุกสิ่งได้ชัดเจน

 

 

ส่วนด้านข้างฝั่งขวามือนั้น กระจกมองข้าง ขนาดใหญ่
และจะตัดแสงลงอัตโนมัติ ในยามค่ำคืน จะกลายเป็นสีเขียวชา
การบดบังของเสาหลังคาคู่หน้า มีบ้างเล็กน้อย ในบางมุมโค้ง
แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหามากนัก (โปรดสังเกตว่ามี LS460 L คันสีขาวอยู่ข้างๆ บังเอิญจริงๆ)

ทัศนวิสัยฝั่งผู้โดยสาร ด้านซ้ายนั้น
อยากจะบอกว่า ดีกว่า แคมรี รุ่นปัจจุบันเสียอีก
การบดบัง ขณะเลี้ยวกลับรถ แทบไม่ใช่ปัญหาของ LS ใหม่ เลย

แต่กับทัศนวิสัยด้านหลังนั้น
เป็นธรรมดา ที่รถยนต์ประเภทนี้
จะต้องออกแบบให้ดูงามสง่าจากภายนอก
และต้องรักษาพื้นที่ส่วนตัว ของผู้โดยสารตอนหลังเอาไว้
จากสายตาของผู้คนภายนอกที่จับจ้องมองเข้ามา
ดังนั้น ทัศนวิสัยด้านหลัง จึงต้องดูตีบตันอย่างที่เห็นเป็นเรื่องปกติ

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

เครื่องยนต์ที่วางอยู่ใน เจเนอเรชันที่ 4 ของ LS นั้น มีทั้งเครื่องยนต์เบนซิน
และเครื่องยนต์ เบนซิน เชื่อมกับระบบขับเคลื่อนแบบ Hybrid THS-II ในรุ่น LS600h

แต่ในรุ่นที่ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย นำเข้ามาจำหน่ายนั้น
มีเฉพาะ เครื่องยนต์ รหัส 1UR-FSE เพียงแบบเดียว
เป็นแบบ เบนซิน บล็อกรูปตัว วี 8 สูบ DOHC หรือ FourCam 32 วาล์ว 4,604 ซีซี
เสื้อสูบ และฝาสูบทำจากอะลูมีเนียม
กระบอกสูบ x ช่วงชัก = 94.0 x 83.0 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 11.8 : 1

เทคโนโลยีที่น่าสนใจ ก็มีทั้ง ระบบแปรผันวาล์วที่เปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นกลไกทำงานหลัก
และปรับตำแหน่งองศาเพลาราวลิ้นเหนือฝาสูบสำหรับเปิด-ปิดวาล์วไอดี
ด้วยอีเล็กโทรนิกส์ VVT-iE (VARIABLE VALVE TIMING WITH INTELLIGENCE
AND ELECTRONICALLY CONTROLLED INTAKE)
ซึ่งถือเป็นรถยนต์
รุ่นแรกของโลกที่ติดตั้งระบบนี้ โดยในส่วนของเพลาราวลิ้นเหนือฝาสูบ
สำหรับเปิด-ปิดวาล์วไอเสีย จะยังถูกควบคุมด้วยระบบไฮโดรลิกเหมือนเดิม
ทั้งหมดนี้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการนำส่วนผสมของอากาศและเชื้อเพลิง
เข้าสู่ห้องเผาไหม้ เพื่อการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นกว่าเดิม

จ่ายเชื้อเพลิงผ่านระบบ DUAL FUEL-INJECTION ด้วยรูปแบบไดเร็กต์อินเจ็คชัน D-4S
ผ่านทางลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า ETCS-i (ELECTRONIC THROTTLE CONTROL SYSTEM with INTELLIGENCE)
เชื่มต่อกับท่อร่วมไอดีแบบ DUAL-PIPE ที่ติดตั้งระบบควบคุมปริมาณส่วนผสมเชื้อเพลิงและอากาศ
ACIS (ACOUSTIC CONTROL INDUCTION SYSTEM)

นอกจากนี้ เครื่องยนต์ใหม่ยังถูกออกแบบ และปรับปรุงเพื่อลดแรงเสียดทานลงจากเดิม
และเพิ่มความสมดุลย์ในการทำงาน อีกทั้งยังมีขั้นตอนการผลิตและการทดสอบเดินเครื่อง
หลังการผลิตด้วยความพิถีพิถันเป็นพิเศษ เพื่อลดแรงรบกวนและแรงสั่นสะเทือน
(NVH : NOISE VIBRATION & HARSHNESS) ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

ให้พละกำลังสูงถึง 380 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาที
และให้แรงบิดสูงสุด 493 นิวตันเมตร (50.23 กก.-ม.) ที่ 4,100 รอบ/นาที

แรงบิดสูงขนาดนี้ ชวนให้ผมนึกถึงแรงดึงที่น่าจะเกิดขึ้นพอกันกับที่ผมเคยสัมผัสใน
BMW 330d คูเป้ E92 ที่เคยได้ลองขับสั้นๆในครั้งหนึ่งไม่นานมานี้

และชวนให้นึกถึงต่อไปอีกว่า กับการฉุดลากตัวถังของ LS ใหม่
ที่หนักในระดับ 2,495 กิโลกรัม (Gross weight) นั้น
สำหรับเครื่องยนต์บล็อกนี้ แทบจะกลายเป็นเรื่องขี้ผงไปเลย

ที่สำคัญคือ มันยังเดินเรียบ เงียบสนิท จนแทบไมได้ยินเสียงเครื่องยนต์
ขณะนั่งอยู่ในห้องโดยสารเลย

บางที เครื่องยนต์กำลังทำงานอยู่
ผมก็ยังต้องหันไปถามคนข้างๆตัวว่า
ตกลงนี่เราติดเครื่องยนต์แล้วหรือยัง?

 

ส่งกำลังสู่ล้อคู่หลังด้วย เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ของ AISIN รุ่น TL-80SN หรือ AA80E
ซึ่งถือเป็นเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ลูกแรกของโลกที่พัฒนาออกมาเพื่อติดตั้งในรถเก๋ง
โดยมีการเซ็ตโปรแกรมกล่องสมองกลเกียร์อย่างพิถีพิถัน เพื่อลดอาการกระตุก
จากทั้งการจับตัวและจากกันของชุดคลัชต์ เพิ่มความราบรื่นนุ่มนวล
และเงียบสนิทในช่วงรอยต่อของอัตราทดจากการเปลี่ยนเกียร์

ยืนยันได้เลยว่า ผมหาอาการกระตุกในขณะขับขี่ ไม่เจอเลยจริงๆ
ไม่เว้นแม้แต่ตอนเปลี่ยนคันเกียร์ อะไรจะนุ่มนวล ราบเรียบได้ปานฉะนี้

มีอัตราทดเกียร์ดังนี้

เกียร์ 1………………..4.596
เกียร์ 2………………..2.724
เกียร์ 3………………..1.863
เกียร์ 4………………..1.464
เกียร์ 5………………..1.231
เกียร์ 6………………..1.000
เกียร์ 7………………..0.824
เกียร์ 8………………..0.685
เกียร์ถอยหลัง………..2.176
อัตราทดเฟืองท้าย…..2.937

——————————————-

การทดลองหาอัตราเร่ง ยังคงมีขึ้นในยามค่ำคืนที่เงียบสงัด
ปริมาณรถบนเส้นทางที่เราใช้ แทบไม่มีเลย
โล่งพอให้ขึ้นไปตีเทนนิสได้สัก สองสาม เซ็ต
โดยใช้มาตรฐานเดิม คือ เปิดแอร์ นั่ง 2 คน รวมคนขับ
พื้นถนนต้องแห้งสนิท เปิดไฟหน้า และยกเลิกการทดลองทันที
ทุกเมื่อ หากเห็นว่า เริ่มไม่ปลอดภัยแม้เพียงนิดเดียว

ผู้ร่วมทดลองขับ ยังคงเป็นน้องกล้วย BnN สมาชิกในทีม The Coup ของเรา
น้ำหนักตัว 48 กิโลกรัม ซึ่งในยามปกติ ก็จะนั่งอยู่ข้างๆคนขับอย่างผม (หนัก 95 กิโลกรัม)
ช่วยจับเวลา และจดบันทึกตัวเลขให้

แต่สำหรับ LS460 L เจ้ากล้วย อุตริย้ายตัวเอง
ไปนั่งข้างหลังเฉยเลย คอยจดบันทึกแล้วจับเวลา ทำตัวเป็นคุณหนู
ที่มีสารถีคอยขับรถให้

ช่างน่าถีบ เป็นที่สุด!

ผลลัพธ์ที่ได้ มีดังนี้…

อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.

ครั้งที่
1………..6.91 วินาที
2………..6.70 วินาที
3………..6.87 วินาที
4………..6.97 วินาที

เฉลี่ย……6.86 วินาที

(ตัวเลขจากโตโยต้า แจ้งไว้ว่า ได้ 5.7 วินาที)
—————————————–

อัตราเร่ง 80-120 กม./ชม. หรือช่วงเร่งแซงทั่วไป
กดคันเร่งจนจมสุดทันที จาก 80 กม./ชม. ที่เกียร์ สูงสุด
เพื่อให้ระบบเกียร์ คิ๊กดาวน์ เปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ลงมา

ครั้งที่
1………..4.86 วินาที
2………..4.73 วินาที
3………..4.91 วินาที
4………..4.72 วินาที

เฉลี่ย……4.80 วินาที

—————————————–

รอบเครื่องยนต์ที่เกียร์ 8 อันเป็นเกียร์สูงสุด

 

ความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้รอบเครื่องยนต์ 1,200 รอบ/นาที
ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้รอบเครื่องยนต์ 1,500 รอบ/นาที
ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้รอบเครื่องยนต์ 1,600 รอบ/นาที

—————————————–

ความเร็วสูงสุด ที่วัดได้ในแต่ละเกียร์ อ่านจากมาตรวัดบนแผงหน้าปัด

(หน่วย กิโลเมตร / ชั่วโมง ที่ รอบเครื่องยนต์/นาที)

เกียร์ 1…….60 @ 6,300
เกียร์ 2…..110 @ 6,400
เกียร์ 3…..150 @ 6,400
เกียร์ 4…..200 @ 6,500
เกียร์ 5…..230 @ 6,500
เกียร์ 6…..260 @ 5,600

—————————————–

ความเร็วสูงสุด

ความเร็วสูงสุดที่ โตโยต้า แจ้งเอาไว้ ทั้งในคู่มือผู้ใช้รถ
ในแค็ตตาล็อก และตามเว็บไซต์ของตนทั้งในและต่างประเทศ
ระบุเอาไว้ว่า อยู่ที่ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง

แต่เมื่อทดลองจริง เข็มมาตรวัดจะกวาดจนขึ้นไปหยุดอยู่ที่
260 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 5,600 รอบ/นาที เกิดขึ้น ณ เกียร์ 6

 

ตัวเลขข้างบน คงบรรยายในสิ่งที่ผมอยากจะพูดไปหมดแล้ว
ว่าบุคลิกของเครื่องยนต์ ที่วางอยู่ใน LS460 L นั้นเป็นอย่างไร

เชื่อว่า มันแรงพอจนทำให้คุณลืมเครื่องยนต์ของรถรุ่นก่อนหน้านี้ไปเลย

จากจุดหยุดนิ่ง เจ้ายักษ์ค่อยๆพุ่งทะยานออกไปเยี่ยงจักรพรรดิ ยามเริ่มเกรี้ยวกราด แต่ยังต้องสงวนฟอร์มไว้นิดๆ
แรงดึงกระชากให้หลังติดเบาะนั้น เกิดขึ้นอย่างนุ่มนวล แต่เร็วและแรงพอจะตรึงแผ่นหลังคุณไว้ติดกับเบาะ
ราวกับการเทคออฟ ของเครื่องบิน ความเร็วของรถ พุ่งพรวดขึ้นไปอย่างฉับไวและต่อเนื่องตามคาด
พุ่งไปแบบสุภาพๆ ผู้ดีๆ เหมือนอาชาขนสีน้ำตาลเข้มอันสง่างาม และได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี
ให้คุ้นเคยกับจ๊อกกี้ และรู้ระเบียบวินัย ไม่งอแงง่ายๆ

หาใช่จระเข้ผู้หื่นกระหายที่กระโจนพรวดพราดเข้าข้ำเหยื่อ
เยี่ยงรถสปอร์ตที่มีแรงบิดในระดับเดียวกันไม่

แต่บุคลิกแบบนี้แหละ ที่จะสร้างความอภิรมณ์ในการขับขี่ทางไกล
อย่างสะดวก สบาย และไร้ซึ่งความกังวลใดๆ สำหรับคนที่รักความสบายเป็นหลัก
นี่ละ ผมถึงเรียกรถคันนี้ว่า เครื่องบินเจ็ทติดล้อยังไงละ

แถมการเปลี่ยนเกียร์ ก็นุ่มนวล แทบจะไม่รู้สึกถึงอาการกระตุกกระชากอะไรเลย
การเซ็ตอัตราทดเกียร์เอาไว้นั้น มีเกียร์ Overdrive อยู่ 2 เกียร์
คือเกียร์ 7 และ 8 มุ่งเน้นความประหยัดน้ำมันจากรอบเครื่องยนต์ต่ำๆ

อีกทั้งการจะขับรถคันนี้ ก็ไม่ยากอย่างที่คิด
ขอให้เข้าใจเป็นพื้นฐานเสียก่อนว่า
มิติตัวถังของมัน จะใกล้เคียงกับรถกระบะขนาด 1 ตัน
และกว้างพอๆกับ เอสยูวีสักคันนึง ถ้าเข้าใจได้ดังนี้
ก็จะช่วยลดปัญหาเรื่องการกะระยะต่างๆลงได้บ้าง แต่แค่นิดหน่อยเท่านั้น

ระบบคันเร่งไฟฟ้า และลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้านั้น ทำงานสอดรับกันอย่างดี
แม้บางครั้ง ที่ต้องการพละกำลังอย่างฉับพลัน ถึงขั้นต้องกดคันเร่งจมมิด
อาจจะมีอาการตอบสนองช้าอยู่นิดๆ แต่นั่นก็เป็นเรื่องปกติของคันเร่งไฟฟ้า
แต่ที่แน่ๆ คือไม่สร้างความอึดอัดหาวเรอ อย่างที่เจอในระบบลิ้นเร่งไฟฟ้า
ของรถยนต์โตโยต้ารุ่นอื่นๆอย่างแน่นอน

อาจเพราะว่า พละกำลังมากมายเป็นน้ำในเขื่อน เสมือนว่ามารออยู่ที่ใต้อุ้งเท้าอยู่แล้วก็เป็นได้

ระบบกันสะเทือนหน้าและหลัง เป็นแบบ มัลติลิงค์ พร้อมคอยล์สปริงและเหล็กกันโคลง
ชุดปีกนกต่างๆทำจากอะลูมีเนียม ถูกปรับแต่งมาเพื่อเอาใจลูกค้านักบริหารโดยเฉพาะ
จึงไม่น่าแปลกใจที่จะพบแต่กับความนุ่มนวล และการซับแรงสะเทือนได้ดีมากๆ
และแทบไม่มีอาการดื้อดึงกระด้างแข็งขืนใดๆเลย มันเหมือนกับว่า รถนั้น เป็นพรมวิเศษ
ของ Aladdin ที่ลอยละล่องอยู่เหนือ ผิวถนนอันขรุขระ ในขณะแล่นด้วยความเร็วปานกลาง
ชวนให้ขับไป ร้องเพลง A Whole New World ไปด้วยเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนในช่วงความเร็วต่ำ การผ่านไปบนลูกระนาด เดิมๆ ในซอยอารีย์ 3
ไปจนถึง หลุมบ่อ หรือเนินกระเดิดต่างๆ ตามเส้นทางที่ใช้อยู่เป็นประจำ
มันนุ่มนวลมากเสียจนกระทั่งน่าประทับใจ ถ้าคิดเสียว่า รถถูกออกแบบมา
เพื่อความต้องการของลูกค้าระดับนักบริหาร ที่ต้องการความนุ่มสบายเป็นหลักเช่นนี้

แต่เอาเข้าจริง ผมก็ว่ามันนุ่มไปหน่อย นุ่มนิ่มจนชวนให้สงสัยว่า แล้วถ้าในการเดินทางด้วยความเร็วสูงละ?
ความนุ่มของระบบกันสะเทือน จะส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจอะไรขึ้นมาหรือเปล่า?

ซึ่งก็ไม่เป็นเช่นนั้นเลยแต่อย่างใด

ไม่ว่าจะผ่านการสาดเข้าโค้งรูปตัว S ของทางด่วนขั้นที่ 2
ด่านพระราม 6 ด้วยวิธีปกติที่ผมทำนั้น ความเร็วที่ถือว่าปลอดภัยอยู่
คือไม่ควรเกิน 85 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตัวรถก็ยังคงเป็นกลาง
ซึ่งถ้าหากใช้ความเร็วเกินกว่านี้ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า
บั้นท้ายน่าจะกวาดออก

และเมื่อต้องใช้ความเร็วสูงๆนั้น กลับกลายเป็นว่า
ด้วยการจัดการอากาศพลศาสตร์ที่ดีมากๆ
โดยเฉพาะการจัดการกับการไหลผ่าของอากาศจากด้านหน้ารถ
ซึ่งช่วยให้เกิด Down force ที่กดหน้ารถให้อยู่กับพื้น
ได้ดีเสียยิ่งกว่า BMW ซีรีส์ 5 E60
ณ ความเร็วเกินกว่า 220 กิโลเมตร/ชั่วโมง
บวกกับตัวรถมีน้ำหนักค่อนข้างมาก ทำให้ตัวรถค่อนข้างนิ่ง
และมั่นใจได้ เมื่อต้องใช้ความเร็วสูงๆ แทบจะไม่หวาดเสียวอะไรเลย
จนกว่าเข็มความเร็วจะกวาดขึ้นไปเิกินกว่า 240 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั่นละ

เสียงกระแสลมที่ลอดเข้ามาในห้องโดยสารนั้น
มีเพียงแค่เสียงลมที่รถแหวกผ่านไปตามปกติเท่านั้น
ดังอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ได้มีจุดใดที่น่าตะขิดตะขวงใจ

พวงมาลัย แบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมระบบเพาเวอร์ ไฟฟ้า EPS (Electronics Power Steering)
พร้อมระบบอัตราทดเฟืองพวงมาลัยแปรผัน VGRS (Variable Gear Ratio Steering)
อัตราทดเฟืองพวงมาลัยแปรผันได้ตั้งแต่ 11.6 ถึง 16.6 : 1
หมุนจากซ้ายสุดไปขวาสุด ใน 3.2 รอบ รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 5.6 เมตร

ในขณะจอดนิ่ง หรือใช้ความเร็วต่ำ พวงมาลัยจะมีน้ำหนักเบาหวิว
ไม่ต่างอะไรกันกับ พวงมาลัยของ เอส-คลาส และ ซีรีส์ 7 E65/E66 เลย

แต่ในการเดินทางด้วยความเร็วสูง พวงมาลัยกลับนิ่ง ไม่มีอาการวอกแวก
เหมือนที่เคยพบในรถยนต์ระดับราคาถูกของโตโยต้ารุ่นอื่นๆเลย
แม้ว่าพวงมาลัยจะไม่หนืดมากเท่าที่ควร แต่ความหนักแน่นของมัน
ก็ช่วยให้การขับขี่ สบาย และไม่เครียดอย่างที่คิด

กระนั้น ในรถคันสีเงิน ที่แล่นมา 51,000 กิโลเมตร
บางช่วงขณะก็ชวนให้รู้สึกนึกคิดไปว่า กำลังนั่งอยู่ใน แคมรี รุ่นปี 2003
ที่ผ่านการใช้งานมาแล้วหลัก 1 แสนกว่ากิโลเมตรขึ้นไป

ขณะที่รถคันสีดำ ซึ่งมีสภาพใหม่กว่า
แน่นอนว่า สัมผัสได้ถึงความแน่นหนามากกว่ากันชัดเจน
แต่ ก็เพียงแค่เล็กน้อย ไม่มากนัก

ถ้ามีระบบที่เอื้อให้ผู้ขับขี่ ปรับความแข็งหนืด ของระบบกันสะเทือน และพวงมาลัยได้เอง

เท่านั้นแหละ LS460 L ก็จะกลายเป็นรถ 2 บุคลิก คือ เอาไว้นั่งนุ่มๆ กับเอาไว้ขับแข่งกับเครื่องบินพาณิชย์ได้แล้ว

ส่วนระบบห้ามล้อ เป็นแบบ ดิสก์เบรก แบบมีรูระบายความร้อน ทั้ง 4 ล้อ
คู่หน้าเป็นแบบ Four-piston calipers จานเบรกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 334 มิลลิเมตร
ส่วนด้านหลังเป็นแบบ Two-piston calipers จานเบรกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 315 มิลลิเมตร

พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS แบบ 4 Channel 4 Sensor
ระบบควบคุมแรงดันน้ำมันเบรก ด้วย อีเล็กโทรนิคส์
Electronic Control Brakes (ECB)

ทำงานร่วมกับะระบบควบคุมเสถียรภาพตัวรถ VDIM
(VEHICLE DYNAMIC INTEGRATED MANAGEMENT)
ซึ่งรวมระบบควบคุมเสถียรภาพ VSC ระบบควบคุมการจ่ายแรงดันน้ำมันเบรก
ECB (ELECTRONIC CONTROL BREAK SYSTEM) ระบบ ABS EBD
และระบบควบคุมไม่ให้ล้อหมุนฟรี TRC แทร็กชันคอนโทรล เข้าไว้ด้วยกัน
โดยระบบ VDIM ในแอลเอสใหม่ จะปรับมุมองศาของล้อหน้าเล็กน้อย
เพื่อเพิ่มการควบคุมขณะขับขี่บนสภาพถนนที่แตกต่างกัน คราวนี้
ทีมวิศวกรยอมให้ผู้ขับปลดระบบ VSC ได้ ด้วยการกดปุ่ม
TRACTION CONTROL – OFF ที่คอนโซลกลาง ถัดจากคันเกียร์

การตอบสนองของแป้นเบรกของทั้ง 2 คัน นั้น มั่นใจมาก แม้ว่ารถคันสีเงินจะผ่านการใช้งานมานานขนาดนี้
แต่ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการบำรุงรักษา และการปรับตั้งให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา
ตามระยะเข้าตรวจเช็ค เลยทำให้ เกิดความมั่นใจได้ ใกล้เคียงกับคันสีดำ ซึ่งมีสภาพใหม่กว่า

การหน่วงความเร็ว ทำได้อย่างว่องไว ขณะเดียวกัน ในช่วงขับขี่ในเมือง แป้นเบรกมีน้ำหนักที่เหมาะสม
และก็ทำเอาผมสงสัยว่า ทำไม เล็กซัส ถึงไม่เอาแป้นเบรกแบบนี้ ไปใส่ใน รุ่นน้องอย่างเล็กซัส GS เสียบ้าง
เพราะรายนั้น บอกตรงๆว่า เบรก ค่อนข้างแย่กว่ารถในตระกูลโตโยต้า และเล็กซัสคันอื่นๆ อย่างที่ผมก็ไม่รู้ว่าทำไม

ล้ออัลลอยสเป็กมาตรฐานจากโรงงานเป็นแบบ 18 นิ้ว x 7.5 J สวมด้วยยางขนาด 235/50R18
และถ้าต้องการล้ออัลลอย 19 นิ้ว x 8.0 J พร้อมยาง 245/45R19 ก็คงต้องสั่งเป็นออพชันพิเศษ

มีเรื่องน่าสังเกตเกี่ยวกับล้อและยาง ก็คือ ในคันสีเงิน ใช้ยาง Bridgestone POTENZA RE050A
แต่ในคันสีดำ ยางติดรถมาให้ กลับเป็นยางค่ายเดียวกัน แต่เป็นรุ่น TURANZA ER33
คงไม่ต้องบอกอะไรมาก แต่คนที่ผ่านยางมาหลากประเภท รวมทั้งน้องๆทีม The Coup
ที่มีประสบการณ์ร่วมกันในวันที่ทดลองขับกันนั้น ก็คงพอรู้ได้ว่า ประสิทธิภาพในการรีดน้ำ และการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง
ของยางทั้ง 2 รุ่น มันแตกต่างกันอย่างชัดเจน จนผมเกิดคำถามว่า รถคันละ 10 กว่าล้านบาท
ให้ยางติดรถมาแค่ TURANZA เองหรอกเหรอ??

 

—————————————–


********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย **********

ปกติแล้ว เรามักไม่ค่อยพบการรายงานอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ของรถยนต์ระดับหรูแบบนี้มาก่อน
สื่อมวลชนทั่วๆไปทั้งในและต่างประเทศ ที่ทำบทความรีวิว ทดลองรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ในระดับหรูขนาดนี้
มักจะคิดว่า รถยนต์เครื่องใหญ่โตขนาดนี้ มันก็ต้องกินน้ำมันเป็นธรรมดา จึงละเลยที่จะทดลองหาอัตรา-
สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ของรถยนต์ประเภทนี้ ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจว่า เรา ในฐานะคนอ่าน จึงไม่ค่อยได้รู้
ข้อเท็จจริงที่ว่า ความเชื่อเดิมๆเหล่านั้น มันไม่จริงเสมอไป…

เผอิญ ผมก็เป็นคนอ่านที่อยากรู้ มาก่อนเสียด้วย
ไหนๆก็ได้รถมาลองแล้ว ก็ควรจะจับทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงให้ดูกันเป็นข้อมูล
แบบเดียวกัน ตามมาตรฐานเดียวกันกับ รถยนต์ทุกรุ่นทุกคัน ที่ผมเคยนำมาทดลองขับสักที

น้องๆเด็กปั้ม ที่ สถานีบริการเชลล์ ถนนพหลโยธิน ตรงปากซอยอารีย์
เลยมีโอกาสพบเห็นเจ้าอ้วนคันนี้ มาเติมน้ำมันเบนซิน 95 ตามมาตรฐานเดิมตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
แม้ในคู่มือระบุว่า รถคันนี้ เติมน้ำมันได้แค่ เบนซิน 95 และ แก็สโซฮอลล์ 95
ไม่ควรจะใช้ค่าออกเทนที่ต่ำกว่านั้น ก็ตาม  เติมอัดเข้าไปเต็มถัง ที่มีความจุ 84 ลิตร นั่นเอง

ก่อนที่ผมจะพามันขึ้นทางด่วน ด่านพระราม 6 มุ่งหน้ายาวไปนสุดสายทางด่วนเส้นเชียงราก
ที่อยุธยา แล้วเลี้ยวกลับรถ พามันย้อนกลับมายังปั้มน้ำมัน ปั้มเดิม เพื่อมาเติมน้ำมันที่หัวจ่ายเดิม

ผู้ร่วมทดลองคราวนี้ เป็นน้อง เติ้ล หนึ่งใน The Coup Team หนักราวๆ 55 กิโลกรัม รวมกับคนขับ หนัก 95 กิโลกรัม

ใช้มาตรฐานเดิม เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ใช้ความเร็ว ระดับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เปิดระบบ ADAPTIVE REDAR CRUISE CONTROL เอาไว้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบ
PRE-CRASH SAFETY ที่ติดตั้งมาให้ใน LS 460 L เป็นพิเศษ

ระบบนี้ ประกอบด้วย การติดตั้งเรดาห์ และกล้อง ที่กระจังหน้า และเหนือกระจกหน้า
ส่งคลื่นความถี่ไปข้างหน้า แจ้งเตือนเมื่อ ตรวจพบสิ่งกีดขวางบนเส้นทาง
ทั้งคู่จะส่งสัญญาณไปยังกล่องควบคุมหลักของตัวรถ

และเมื่อ เรดาห์ ตรวจพบว่า คุณกำลังพุ่งเข้าใกล้รถคันข้างหน้ามากเกินไป หรือไม่คิดจะชะลอรถลงเลย
ระบบจะส่งสัญญาณเตือนมายังผู้โดยสาร “ปิ๊บๆๆๆ” และ ขึ้นสัญญาณเตือนบนชุดมาตรวัด
ไปพร้อมๆกับสั่งให้ระบบเบรกทำงาน เพื่อเริ่มชะลอความเร็วลงมา ให้สม่ำเสมอใกล้เคียงกับ
รถคันข้างหน้าที่แล่นช้าลง ให้ได้มากที่สุด แต่ไมได้ถึงกับช่วยเบรกจนรถหยุดสนิทนิ่งแต่อย่างใด
ดังนั้น คนขับ ยังคงต้องเหยียบเบรกเพื่อให้รถชะลอหรือหยุดลงตามต้องการ ด้วยตนเองอยู่ดี

สามารถปรับตั้งระยะห่าง ให้เรดาห์ทำงานได้ 3 ระดับ คือ ใกลสุด 3 ขีด
ปานกลาง 2 ขีด และระยะกระชั้นชิด 1 ขีด จากสวิชต์ ฝั่งขวาของพวงมาลัย

 

ในภาวะปกติ ที่รถยังเคลื่อนตัวตามๆกันอย่างต่อเนื่อง
ถ้ามีรถขวางอยู่ข้างหน้า ระบบจะเริ่มชะลอรถลงมาให้เอง
โดยจะชะลอให้มีความเร็วพอกันกับรถคันข้างหน้า

แต่ถ้ามีรถตัดเข้ามา หรือเบรกในระยะกระชั้นชิด
ระบบจะแจ้งเตือนผู้ขับ ดังกล่าวข้างต้น ให้เหยียบเบรกได้แล้ว
ถ้ายังไม่ยอมลด ระบบจะเชื่อมต่อกับระบบ PRE-CRASH เพื่อสั่งการให้ระบบเบรก
ทำงาน ชะลอความเร็ว และหยุดรถ อีกทั้งยังเตรียมให้ เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด
แบบลดแรงปะทะ พร้อมดึงกลับอัตโนมัติ ทั้ง 4 ตำแหน่ง หน้า-หลัง
รวมทั้ง ถุงลมนิรภัยในรุ่นมาตรฐานมากถึง 11 ใบ มีทั้งถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับ 1 ใบ
ถุงลมฝั่งผู้โดยสาร เป็นแบบ Twin Chamber ถุงลมด้านข้าง เบาะคู่หน้า 2 ใบ
ถุงลมด้านข้าง เบาะคู่หลัง อีก 2 ใบ ม่านลมนิรภัย จากหน้าจรดหลัง อีก 2 ใบ
และถุงลมนิรภัยสำหรับหัวเข่าผู้ขับขี่และผู้โดยสารอีก 2 ใบ

ทั้งหมดนี้ พร้อมทำงานทันที

ถุงลมนิรภัยนี่ เยอะชนิด กะว่า พอพองตัวเสร็จ
จะให้เจ้าของรถ ถอดออกมาเป็นหมอนหนุนหัว
นอนกอดเล่นเป็นหมอนข้าง ระหว่างรอหน่วยกู้ภัยกันเลยใช่ไหมเนี่ย?

ถ้าคุณอยากได้ระบบต่างๆที่ใกล้เคียงกันนี้
แต่จ่ายน้อยกว่านี้หน่อย

ขอแนะนำ โตโยต้า แคมรี V6 3.5 ลิตร
ราคา 2.8 ล้านบาท

 

 

อุณหภูมิในวันที่ทดลอง จากชุดมาตรวัดของรถ อยู่ที่ 29 องศา เซลเซียส
มีสภาพการจราจรติดขัดบนทางด่วนเล็กน้อย ในช่วงใกล้ทางลงพระราม 6
ในช่วงประมาณเกือบ 1 ทุ่ม ของเย็นวันทดลอง

ระยะทางที่แล่นทั้งหมด ตามมาตรวัด……91.5 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ…………………………7.82 ลิตร

 

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยๆ…………..11.70 กิโลเมตร/ลิตร !!

เหนือความคาดหมายไหมละครับ?
ตัวเลขที่ได้นั้น ประหยัดพอกันกับ แคมรี 2.0 ลิตร รุ่นล่าสุด
แอคคอร์ด วี6 3.0 ลิตร รุ่นก่อน
ไปจนถึง ปาเจโร สปอร์ต 3.2 ลิตร 4×4
และประหยัดไล่เลี่ยกันกับ รถตู้ Hyundai H-1

 

และนอกจากนี้ ผมยังพยายามขับใช้น้ำมันให้เหลือน้อยที่สุด
จนขึ้นสัญญาณไฟเตือน น้ำมันใกล้หมด เพื่อจะได้รู้ว่า
หากคุณขับใช้งานในชีวิตประจำวัน น้ำมัน 1 ถัง
จะพาคุณไปได้ระยะทางประมาณเท่าใด
ไฟเตือนน้ำมันใกล้หมดถึงจะสว่างขึ้น

ตลอดการใช้งานรถคันนี้ ผมใช้ความเร็ว แทบไม่ค่อยเกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงเลย
ขับไปเรื่อยๆ ปล่อยให้ความสบายรายรอบตัว มันทำหน้าที่สร้างความเพลิดเพลินให้ผมไป
จะมีบ้าง เฉพาะในช่วงเวลาที่ต้อง ทำลองหาอัตราเร่งและทำความเร็วสูงสุด ซึ่งก็มีอยู่แค่คืนวันเสาร์เท่านั้น
ที่จะกดกันหนักๆเต็มที่ แต่ นั่นก็ไม่ได้ระคายเงินในกระเป๋าสตางค์ผมมากแต่อย่างใด

กว่าที่คุณจะใช้น้ำมันจนขึ้นไฟเตือน ระยะทางก็ปาเข้าไป 438 .9 กิโลเมตร หรือราวๆ 440 กิโลเมตร
และน้ำมันในถังก็ยังพอจะเหลือให้คุณแล่นต่อไปได้อีกสักระยะ ดังนั้น คิดว่า น้ำมัน 1 ถัง สามารถขับใช้งานได้
ราวๆ 500 กิโลเมตร โดยคุณอาจจะต้องขับแบบระมัดระวังเรื่องการใช้ความเร็วสักหน่อย
เปิดระบบ Redar Cruise Control ให้มันทำหน้าที่ของมันไปเรื่อยๆ

แต่ อยากจะบอกไว้เป็นข้อมูลว่า เหตุที่ผมไม่ค่อยรู้สึกว่ารถมันกินน้ำมันเท่าไหร่นั้น
ส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะ ความจุถังน้ำมันนั้น จุมากถึง 84 ลิตร…!!
ซึ่ง มันจุได้มากกว่า Isuzu D-Max (70 ลิตร)

ลองถ้าใช้งานแต่ในเมืองดูสิ… ค่าน้ำมันอาจทำคุณถึงกับคลั่งได้ เติมเต็มถังทีนึง ต้องมีราวๆ 2 พันกว่าบาท!

ยิ่งพอตอนที่ผมนำกลับมาถ่ายรูปใหม่ อีกรอบในคราวนี้ เพียงแค่ 3 วัน
ผมหมดค่าน้ำมันไปแล้ว 1,500 บาท….และ ขอย้ำว่า เป็น แก็สโซฮอล์ 95
ซึ่ง ผมเลือกเติม เพราะ โตโยต้ายืนยันว่า รถคันนี้เติมแก็สโซฮอลล์ 95 E10 ได้

และผมไม่คิดจะทดลอง หาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย เพิ่มเติมอีกครั้งแต่อย่างใด
เพราะคาดกันแล้วว่า ผลที่ได้จะไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก อีกทั้ง ลูกค้าที่ซื้อรถกลุ่มนี้
ไม่ใช่กลุ่มที่คำนึงถึงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากนักอยู่แล้ว หรือเอาง่ายๆก็คือ
รวยจน ราคาน้ำมัน ไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป

********** สรุป **********
เครื่องบินเจ็ท ส่วนตัว ติดล้อ แพงสมราคา แต่ยังนุ่มไปหน่อยนึง

เหลือแค่มีปีกเท่านั้นเลยจริงๆ อัครยานยนต์ระดับสุดหรูคันนี้ ก็คงจะบินได้แล้ว
เพราะไม่รู้เหมือนกันว่า นอกจากติดตั้งระบบนำร่องผ่านดาวเทียมเพิ่มเติมเข้าไป สำหรับเวอร์ชันไทย
กับการปรับเซ็ตพวงมาลัยในช่วงความเร็วสูงให้ขืนมือกว่านี้อีกเพียงนิดเดียว
และเพิ่มระบบกันสะเทือนที่สามารถปรับความแข็ง-นุ่ม ได้ตามความต้องการของเจ้าของรถ
ผมก็ยังนึกไม่ออกว่า จะต้องเพิ่มอะไรให้กับรถรุ่นนี้อีก ตัวถังที่ใหญ่โตกว่านี้หรือ? ไม่จำเป็นนะ

นี่คือบทพิสูจน์ที่ชัดเจนที่สุดว่า
โตโยต้า ก็ทำรถดีๆ เจ๋งๆ สุดยอดระดับโลก ก็เป็นเหมือนกัน แถมยังเป็นเลิศ
และทำได้ดีชนิดคู่แข่งอย่าง เมอร์เซเดส-เบนซ์ และ BMW ยังต้องมองจนเหลียวหลัง

 

อันที่จริง โตโยต้า ทำรถยนต์ ที่เปี่ยมด้วยอุปกรณ์ไฮเทคมากมาย
แต่ไว้วางใจได้ในเรื่องการซ่อมบำรุงแบบนี้ มานานแล้ว

เพียงแต่ ผู้บริโภคตาดำๆทั่วไป ไม่ค่อยได้รับรู้เรื่องเหล่านี้กันเท่าไหร่
เพราะหลายๆคน ชีวิตนี้ทั้งชีวิต เจอแต่ โซลูน่า โคโรลล่า วีโก้ ฟอร์จูเนอร์
จนเคยชินกับมาตรฐาน และความเป็น Toyota กันไปเสียหมด

มันก็เหมือนกับการที่เราคุ้นลิ้นกันแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองละ 5-6 บาทมาช้านาน
พอ ผู้ผลิตบะหมี่ เกิดอยากทำร้านราเมงเจ๋งๆ ราคาแพงๆ ใช้แต่ของดีๆ ขึ้นมา
ผู้คนก็จับตามองว่า รสชาติจะเป็นยังไง

บ้างก็สบประมาทว่า จะไหวเหรอ ทำแต่บะหมี่ถูกๆ ขายจนรวย
จะมีปัญญาทำราเมงรสเลิศกับเขาด้วยหรือ?

โตโยต้า พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า เขาก็ทำอาหารรสชาติสุดยอดในปฐพี
มาให้คุณได้ลิ้มลองก็เป็นเหมือนกัน

ดังนั้น หลังจากเรา กินกันแต่ มาม่า สารพัดรสชาติ จากโตโยต้ากันมามากแล้ว
ถ้าหากมีโอกาส คุณก็ควรจะสัมผัสกับ สุดยอดก๋วยเตี๋ยวสูตรจักรพรรดิศิโรราบ
จากผู้ผลิตอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นเสียบ้าง

 

โดยเฉพาะความง่ายดายในการขึ้นขับขี่ แถมยังมีความ User Friendly
ที่มีมาให้จนน่าแปลกใจว่า รถหรูระดับนี้ ที่ควบคุมใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ได้ง่ายนั้น
ยังหลงเหลืออยู่บนโลกนี้อีกหรือ?

และถ้าจะถามว่า รถคันนี้จะเหมาะกับคุณหรือไม่

ข้อแรกเลย มองข้ามกันเรื่องฐานะทางการเงิน
เพราะว่าคุณต้องมีเงินในธนาคาร
ระดับว่าเป็นเจ้าของธนาคารกันได้เลย อยุ่แล้ว

ข้อต่อมา คุณควรจะไม่ได้เป็นคนที่บูชาดวงดาวเป็นสรณะ
ประเภทว่า อะไรๆก็ต้องเบนซ์ เท่านั้น
หรืออะไรๆก็ต้องเป็นรถยุโรปเท่านั้น

คือคุณน่าจะเป็นคนที่เปิดใจให้กว้างพอสมควรเลยทีเดียว
ที่จะยอมรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป กล้าที่จะท้าทายต่อขนบธรรมเนียมเดิมๆ
และกล้าที่จะ ชน กับความคิดแบบอนุรักษ์นิยม ในหน้าที่การงานของคุณพอสมควร

แต่ ในเมื่อคุณก็ยังจำเป็นต้องอยู่ในสังคมอันหรูหรา
ดังนั้น คุณก็ยังคงต้องการ รถยนต์สำหรับการพาคุณออกงานสังคมไฮโซ
อันเฉิดฉาย ได้อย่างไม่อายใคร

 

ถ้าคำตอบทั้งหมดข้างบนนี้ คือ ใช่

คุณก็ควรจะเอา LS 460 L คันนี้ เข้ามาอยู่ในตัวเลือก
เพื่อตัดสินใจด้วย นอกเหนือจาก เอส-คลาส และ ซีรีส์ 7
ประกอบในประเทศ ซึ่งอาจจะมีราคาที่ถูกกว่ากันนิดหน่อย

 

ท้ายที่สุดนี้

ผมแค่อยากจะบอกว่า…

ขอต้อนรับ เครื่องบินเจ็ตติดล้อคันนี้ เข้าสู่ทำเนียบ 10 สุดยอดรถยนต์ที่ผมประทับใจมากที่สุด
นับตั้งแต่ เริ่มทำรีวิวทดลองขับเป็นต้นมา


——————————–///——————————–

ขอขอบคุณ
คุณ Suchaya Chienklawkla (พี่แข)
Assistant Manager
Product & Marketing Communication.
Public Affair Office

และ ทีม เล็กซัส (Lexus Group)
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

คุณกนกกาญจน์ อินแกรม
Sales Manager
โรงแรม ดุสิตธานี สีลม

เอื้อเฟื้อสถานที่สำหรับถ่ายภาพ

และ
คุณกรณิกา ทองสมบัติพาณิช
Sale Executive
โรงแรม เชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท

เอื้อเฟื้อสถานที่สำหรับถ่ายภาพ

 

 

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์  โดยผู้เขียน
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
5 มิถุนายน 2009

 

แสดงความคิดเห็น? เชิญได้ที่นี่ คลิก

—————————————————————————————