ไม่ค่อยเห็นกันนัก ที่บริษัทรถยนต์ จะเอาจริงเอาจังอย่างเป็นเรื่องเป็นราวกับโครงการข้าว เพื่อเกษตรกร
ในทอ้งถิ่น มากขนาดนี้ อีกทั้ง เอกสารข่าวที่ส่งมาให้ ก็ยังมี “วิธีการปลูกข้าว แบบโยนกล้า” แนบมาให้
เลยคิดว่า ควรจะลงให้อ่านกัน ประดับความรู้รอบตัวไว้สักหน่อยครับ

J!MMY

——————————————-

มร. เคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับ
นายสุรพล พงษ์ทัดศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมทำพิธีมอบ “โรงปุ๋ยรัชมงคล 2” และ
มอบอุปกรณ์การเกษตร โดยมี นายวิสิทธิ์ สินลือนาม นายอำเภอสนามชัยเขต และกลุ่มเกษตรกร
6 กลุ่มใน จ. ฉะเชิงเทรา เป็นผู้รับมอบ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2553 ที่ “โรงปุ๋ยรัชมงคล 2” (บึงตะเข้)
ต.คู้ยายหมี อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา

จุดเริ่มต้นของความร่วมมืออันดีระหว่าง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กับ กลุ่มเกษตรกร
ใน จ.ฉะเชิงเทรา ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 โดยบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
ได้มอบ “ฉางข้าวรัชมงคล” ให้กับ “กลุ่มเกษตรกรทำนาบางคา” เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกร
ในท้องถิ่นในการสร้างชุมชนที่ ยั่งยืน และส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาและรักษาพันธุ์ข้าวหอมมะลิชั้นดี
ในนาม “ข้าวดอกมะลิ 105” โดย ต.บางคา เป็นถิ่นกำเนิด ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิพันธ์ดีที่สุดของไทย

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2542 โรงสีข้าวตามแนวพระราชดำริ ในนาม “บริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด”
ได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ ภายในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา โดยได้รับ
พระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์
ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ดำเนินกิจการภายใต้วัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ ช่วยเหลือเกษตรกร
ด้วยวิธีการการรับซื้อข้าวเปลือกในราคาที่เป็นธรรม ช่วยเหลือผู้บริโภคด้วยการขายข้าวสารในราคาที่เหมาะสม
และดำเนินกิจการโดยมิได้หวังผลกำไรทางธุรกิจเป็นสำคัญ อันเป็นการน้อมนำแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง”
มาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ขยายโครงการภายใต้ความร่วมมืออย่างดียิ่งของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่
จ.ฉะเชิงเทรา จวบจนปัจจุบัน

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา บริษัท ข้าวรัชมงคล ได้ให้การสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์
การเกษตรเพื่อช่วยพัฒนา คุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรในท้องถิ่นในการสร้างชุมชนที่ยั่งยืน อาทิเช่น
ฉางสำหรับเก็บข้าวเปลือก ลานคอนกรีตสำหรับตากข้าวเปลือก โรงปุ๋ยอินทรีย์ อุปกรณ์การทำปุ๋ยอินทรีย์
และน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น โดยได้สนันสนุนอุปกรณ์การเกษตรมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 8 ล้านบาท

รายละเอียดการมอบสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์การเกษตร ประจำปี 2553 ได้แก่
1. กลุ่มสหกรณ์บ้านนายาวสามัคคี ตำบลนายาว อำเภอสนามชัยเขต ได้รับ
    1.1 บ่อเก็บน้ำ ขนาด 1200 ลูกบาศก์เมตร พร้อมอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำ จำนวน 10 บ่อ    
 แก่เกษตรกรจำนวน 10 ราย
  1.2 ชุดอุปกรณ์ทำกล้านาโยน 1 ชุด*

2. กลุ่มเกษตรกรทำนาบางคา  ตำบลบางคา อำเภอราชสาส์น ได้รับ
  2.1 ลานคอนกรีตตากข้าว (เพิ่มเติม) 400 ตารางเมตร
  2.2 ชุดอุปกรณ์ทำกล้านาโยน 1 ชุด*

3. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านหนองกระสังข์ ตำบลแหลมประดู่ อำเภอบ้านโพธิ์ ได้รับ
  3.1 ฉางเก็บข้าวเปลือกขนาด 300 ตัน จำนวน 1 หลัง
  3.2 ชุดอุปกรณ์ทำกล้านาโยน 1 ชุด*

4. กลุ่มสหกรณ์สนามชัยเขต  ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต ได้รับ
  4.1 ลานคอนกรีตตากข้าว ขนาด 800 ตารางเมตร
  4.2 ชุดอุปกรณ์ทำกล้านาโยน 1 ชุด*

5. กลุ่มสหกรณ์ท่าตะเกียบ   ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ ได้รับ
  5.1 ลานคอนกรีตตากข้าว ขนาด 800 ตารางเมตร
  5.2 ชุดอุปกรณ์ทำกล้านาโยน 1 ชุด*

6. กลุ่มเกษตรกรไร่นาสวนผสมบ้านบึงตะเข้ ตำบลคู้ยายหมี อำเภอสนามชัยเขต ได้รับ
  6.1 การบริจาคโรงปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 1 หลัง พร้อมอุปกรณ์เครื่องปั้นเม็ดปุ๋ย 1 ชุด
(ประกอบด้วยจานปั้นสแตนเลส 1 ชุด เครื่องปั๊มพ่นฉีดน้ำ 1 ชุด)
  6.2 ลานคอนกรีตตากข้าว ขนาด 1000 ตารางเมตร
  6.3 ชุดอุปกรณ์ทำกล้านาโยน 1 ชุด*

* หมายเหตุ – ชุดอุปกรณ์ทำกล้านาโยน 1 ชุด ประกอบด้วย เครื่องบดดิน 1 เครื่อง เครื่องโรยดิน 1 ตัว
เครื่องโรยข้าว 1 ตัว อุปกรณ์ขาตั้ง 1 ชุด แผ่นพลาสติกสำหรับคลุมต้นกล้า ขนาด 2เมตร x 90 เมตร 1 ม้วน
และ ถาดเพาะกล้า 3,000 ถาด

มร. เคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า “การมอบสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์
การเกษตรมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน การปลูกข้าวด้วยวิธีการโยนกล้า (Parachute) โดยใช้อุปกรณ์
ในการทำกล้านาโยน ซึ่งเป็นการทำนาอีกวิธีหนึ่ง ที่เหมาะกับการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ สามารถ
ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้ โดยร่วมกับเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทราและกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วม
โครงการทั้ง 6 กลุ่มในรูปของสหกรณ์ บริษัทฯ จึงได้บริจาคสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมอุปกรณ์
รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 3,300,000 บาท ให้กับ 6 กลุ่มเกษตรกรใน จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งจะเป็นการพัฒนา
คุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน ตามพันธกิจทางด้านการส่งเสริมสังคมของโตโยต้า ในการ
ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและชุมชน”

“โรงสีข้าวรัชมงคล” เป็นหนึ่งในโครงการส่งเสริมสังคมที่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นการดำเนินตามแนวพระราชดำริแห่ง “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่
“ชาวโตโยต้า” น้อมนำมาปฏิบัติ และนับเป็นความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมผลักดันในการเจริญเติบโต
ของสังคม ไทยอย่างยั่งยืน สมดังปณิธานที่เรายึดถือ และปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่วาระการฉลองครบ 50 ปี ของ
การดำเนินกิจการในประเทศไทย

 ———————————————————————————————–

ภาคผนวก…

การปลูกข้าว โดยวิธีการโยนกล้า (parachute)

การพัฒนาการทำนา โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ทำให้การทำนาในเขตชลประทานได้ผลผลิตสูงกว่า
ในเขตนาน้ำฝนของประเทศ และสามารถผลิตข้าวได้มากกว่าปีละ 1 ครั้ง เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกข้าว
โดยวิธีการหว่านน้ำตม ใช้พันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง อายุสั้น เก็บเกี่ยวข้าวด้วยเครื่องเกี่ยวนวด โดยเฉพาะ
พื้นที่นาชลประทานในภาคกลาง ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์สูง ซึ่งปัจจุบันราคาเมล็ดพันธุ์กิโลกรัมละ 20-23 ซึ่งก็
ไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้การทำนาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น 2 ปี 5 ครั้ง หรือ ปีละ 3 ครั้ง
ย่อมส่งผลกระทบถึงสภาพแวดล้อม คือ ปัญหาข้าววัชพืช ระบาดอย่างรุนแรง เกษตรกรที่ทำนาแบบหว่าน
น้ำตม ส่วนหนึ่งเปลี่ยนวิธีการทำนาเป็นการปักดำด้วยเครื่องเพื่อควบคุมปริมาณ ข้าววัชพืช ปัญหาที่ตามมา
ก็คือ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถเตรียมดินให้เหมาะสมกับการทำงานของเครื่องปักดำได้ และอัตรา
ค่าปักดำค่อนข้างสูงคือ ไร่ละ 1,100-1,200 บาท (รวมเมล็ดพันธุ์ข้าว) วิธีการปลูกข้าวแบบโยนกล้าจึงเป็น
การทำนาแบบใหม่ที่สามารถนำมาใช้แทนการปัก ดำด้วยเครื่องได้

แนะนำให้เป็นทางเลือกในพื้นที่
    1.พื้นที่ปัญหาข้าววัชพืชมาก
    2.ผลิตในศูนย์ข้าวชุมชนหรือไว้ใช้เองได้
    3.ผลิตข้าวอินทรีย์เพื่อควบคุมข้าววัชพืช
    4.ประหยัดเมล็ดพันธุ์

เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าแต่ได้ผลผลิตไม่ตกต่างจากการปักดำด้วย เครื่องหรือการหว่านน้ำตม
แต่สามารถควบคุมวัชพืชโดยเฉพาะข้าววัชพืชที่กำลังระบาดอย่างรุนแรงในหลาย พื้นที่ในภาคกลาง

ตาราง1 เปรียบเทียบต้นทุน(บาท/ไร่) ของการปลูกข้าวปทุมธานี1 ด้วยวิธีการปลูกแบบต่างๆ
(ไม่รวมค่าสารเคมีป้องกันกำจัดโรค แมลง และน้ำมันสูบน้ำเข้านา) /
ปรับปรุงจาก นิตยาและคณะ, (2549)

ขั้นตอนการทำนา                     หว่านน้ำตม          นาดำ        โยนกล้า
1. เตรียมดิน                                 610               610             610
2. เมล็ดพันธุ์                                 345               138               92
3. ตกกล้า                                      –                 300             300
4. หว่าน (ปักดำ โยนกล้า)                 40                672               50
5. ปุ๋ย                                        948                948             948
6.สารเคมีคุม วัชพืช                        200                  –                 –
7. เก็บเกี่ยว                                 600                600             600
8. รวมต้นทุน                             2,743             3,268          2,600
9. ผลผลิต                                   775                875             880

การตกกล้า
ตกกล้าในกระบะเพาะกล้าที่มีลักษณะเป็นหลุม ตามลำดับดังนี้
1. ใส่ดินในหลุมประมาณ ครึ่งหนึ่งของหลุม
2. หว่านเมล็ดข้างงอกลงในหลุมโดยใช้อัตรา 3-4 กก./ 60-70 ถาด/ไร่
3. ใส่ดินปิดเมล็ดพันธุ์ข้าวระวังอย่าให้ดินล้นออกมานอกหลุม
    เพราะจะทำให้รากข้าวที่งอกออกมาพันกัน เวลาหว่านต้นข้าวจะไม่กระจายตัว
4. หาวัสดุเช่นกระสอบป่านคลุมถาดเพาะเพื่อเวลารดน้ำจะได้ไม่กระเด็น รดน้ำเช้า เย็น ประมาณ 3-4 วัน
    ต้นข้าวจะงอกทะลุกระสอบป่าน ให้เอากระสอบป่านออก แล้วรดน้ำต่อไป จนกล้าอายุ 15 วัน
5. นำกล้าที่ได้ไปหว่านในแปลงที่เตรียมไว้ ให้สม่ำเสมอ การตกกล้า 1 คน สามารถตกได้ 2 ไร่ (140 กระบะ) /วัน

การเตรียมแปลง

ไถดะครั้งที่ 1 หลังเก็บเกี่ยวข้าวปล่อยแปลงให้แห้งประมาณ 15-30 วัน แล้วปล่อยน้ำเข้าพอให้ดินชุ่ม
ประมาณ 5-10 วัน เพื่อให้วัชพืชและเมล็ดข้าวที่ร่วงหล่นในดินงอกขึ้นมาเป็นต้นอ่อนเสียก่อน จึงไถดะครั้งที่ 2

ไถแปร หลังจากการไถดะครั้งที่ 1 แล้ว ปล่อยทิ้งไว้ 10-15 วันโดยรักษาระดับน้ำเพียงแค่ดินชุ่ม เพื่อให้
เมล็ดวัชพืชและเมล็ดข้าวที่หลงเหลืออยู่งอกขึ้นมาอีกแล้วจึงไถแปร

คราดหรือทุบ หลังจากการไถแปรครั้งที่ 2 แล้ว ปล่อยทิ้งไว้ 10-15 วันโดยรักษาระดับน้ำเพียงแค่ดินชุ่ม
เพื่อให้เมล็ดวัชพืชและเมล็ดข้าวที่หลงเหลืออยู่งอกขึ้นมาอีกแล้วคราดหรือ ทุบจะช่วยทำลายวัชพืชได้มาก
หรือหลังจากไถดะ ไถแปรและคราดเสร็จแล้วเอาน้ำขังแช่ไว้ประมาณ 3 สัปดาห์ เพื่อให้ลูกหญ้าที่เป็น
วัชพืชน้ำ เช่น ผักตบ ขาเขียด ทรงกระเทียม ผักปอดและพวกกกเล็ก เป็นต้น งอกขึ้นเสียก่อน เพราะ
เมล็ดวัชพืชปกติจะงอกภายใน 5-7 วันหลังจากน้ำนิ่งโดยเฉพาะนาที่น้ำใส เมื่อลูกหญ้าขึ้นแล้วจึงคราด
ให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ลูกหญ้าก็จะหลุดลอยไปติดคันนาทางใต้ลม ก็จะสามารถช้อนออกได้หมด
เป็นการทำลายวัชพืชวิธีหนึ่ง

สำหรับผู้ที่ใช้ลูกทุบหรืออีขลุก ย่ำฟางข้าวให้จมลงในดินแทนการไถ หลังจากย่ำแล้วควรจะเอาน้ำแช่ไว้
ให้ฟางเน่าเปื่อยจนหมดความร้อนเสียก่อน อย่างน้อย 3 สัปดาห์แล้วจึงย่ำใหม่ เพราะแก๊สที่เกิดจากการ
เน่าเปื่อยของฟางจะเป็นอันตรายต่อต้นข้าวจะทำให้ราก ข้าวดำไม่สามารถจะหาอาหารได้

ระบายน้ำออกเพื่อปรับเทือก ปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ เมื่อคราดแล้วจึงระบายน้ำออกและปรับเทือก
ให้สม่ำเสมอ กระทำได้ด้วยการใช้น้ำในนาเป็นเครื่องวัด โดยให้น้ำในนามีระดับเพียงตื้นๆ ขนาด
เพียงท่วมหลังปูก็จะเห็นว่าพื้นที่นาราบเรียบเพียงใดอย่างชัดเจน เมื่อเห็นว่าส่วนใดยังไม่สม่ำเสมอ
ก็ควรจะปรับเสียใหม่ การปรับพื้นที่นาหรือปรับเทือกให้สม่ำเสมอจะทำให้ควบคุมน้ำได้สะดวก

การโยนกล้า ให้มีน้ำในแปลงประมาณ 1 ซม. นำกระบะกล้าข้าวที่มีอายุ 15 วัน ไปวางรายในแปลง
ที่เตรียมไว้ให้กระจายสม่ำเสมอ อัตรา 60-70 กระบะต่อไร่ จากนั้นคนที่จะโยนกล้าจะหยิบกระบะกล้า
มาวางพาดบนแขน แล้วใช้มือหยิบกล้าข้าวหว่านหรือโยนในแปลง โดยโยนให้สูงกว่าศรีษะ ต้นกล้า
จะพุ่งลงโดยใช้ส่วนรากที่มีดินติดอยู่ลงดินก่อน การหว่านกล้า 1 คน สามารถหว่านได้วันละ 4- 5 ไร่

การดูแลรักษาระดับน้ำ วันหว่านกล้าให้มีน้ำในแปลงประมาณ 1 ซม. (ท่วมหลังปู) หลังจากนั้นประมาณ
3 วัน ต้นข้าวตั้งตัวได้แล้ว สามารถเพิ่มระดับน้ำให้อยู่ที่ระดับครึ่งหนึ่งของต้นข้าว หรือประมาณ 5 ซม.
เพื่อการควบคุมวัชพืช

การเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวข้าวที่ระยะที่เหมาะสม คือหลังจากข้าวออกดอก (75 %) แล้ว 28-30 วัน จะมีความชื้น
ประมาณ 22 %  กรณีไม่ถูกฝนช่วงเก็บเกี่ยว  ซึ่งจะเกิดความสูญเสียทั้งด้านปริมาณและคุณภาพน้อยที่สุด  
จะทำให้ได้ข้าวที่มีน้ำหนักดีที่สุด มีการร่วงหล่นและสูญเสียขณะเก็บเกี่ยว น้อยที่สุด ผลผลิตมีคุณภาพดี
ข้าวที่เก็บไว้สีเป็นข้าวมีคุณภาพการสีสูง  ข้าวที่เก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานอย่างน้อย
7-9 เดือน เสื่อมความงอกช้า

ข้อได้เปรียบของวิธีการโยนกล้าเปรียบเทียบกับการปักดำและหว่านน้ำตม
1. แปลงที่มีลักษณะหล่มก็สามารถเตรียมแปลงเพื่อการหว่านต้นกล้าได้
    แต่ไม่สามารถปลูกโดยวิธีการปักดำด้วยเครื่องปักดำได้เนื่องจากเครื่องจะติด หล่ม
2.ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์น้อยกว่าการหว่านน้ำตมและการปักดำ
3.สามารถควบคุมและลดปริมาณวัชพืชและข้าววัชพืชได้ดีกว่าการทำนาหว่านน้ำตม
4. ลดการสารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูข้าวเมื่อเทียบกับการหว่านน้ำตม
————————————————————————————————–