John Newton Coopers เกิดในครอบครัวที่มีพ่อเป็นช่างซ่อมรถแข่ง มันคือสิ่งที่หล่อหลอมให้เขามีความหลงใหลในการทำงานของเครื่องจักรกลมากกว่าเด็กคนอื่นๆ อุปนิสัยที่ช่างสงสัย อยากรู้อยากเห็น และมีความชื่นชอบเมื่อได้เห็นหรือรู้จักการทำงานของเครื่องจักรต่างๆ ทำให้เขามีหัวทางวิศวกรรมมากกว่าเด็กวัยเดียวกัน John อายุแค่ 15 ปีลาออกจากโรงเรียนก็ไปเป็นช่างประกอบเครื่องมือ จากนั้น ก็ต้องย้ายไปทำหน้าที่ช่างประกอบยุทธภัณฑ์ให้กับกองทัพอากาศอังกฤษตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อสงครามจบลง John Coopers ในวัย 20 กลางๆ ก็กลับมาคุยกับเพื่อนว่าอยากสร้างรถแข่งขาย Charles คุณพ่อของเขาไม่เห็นด้วย แต่ก็ยอมโดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าจะทำก็ต้องทำในช่วงหลังเลิกงาน John จึงเดินหน้าสร้างรถแข่ง โดยเอาแชสซีส์ของรถที่เป็นซากในอู่มายำรวมกันจนได้แพลทฟอร์มง่ายๆที่มีช่วงล่างอิสระ 4 ล้อ จากนั้น ก็เอาเครื่องยนต์ของมอเตอร์ไซค์มาติดตั้ง และวางเครื่องยนต์ไว้ด้านหลัง ขับเคลื่อนด้วยโซ่ รถของ Cooper จึงมีขนาดเล็กเบา และมีประสิทธิภาพการเลี้ยวดีอย่างน่าประหลาดใจ หลายคนมองว่า John ต้องมีความรู้ทางฟิสิกส์ชั้นเลิศที่คิดอะไรได้ล้ำกว่าชาวบ้าน แต่ John ตอบแค่ว่า “ผมวางไว้ข้างหลังเพราะเวลาจะเซอร์วิส มันสะดวกดี”

รถแข่งเหล่านี้ ขายดีจนทำให้เขาสามารถจดทะเบียนตั้งบริษัทเป็นรูปเป็นร่างได้ในปี 1946 สิ่งที่เกิดต่อมาภายในไม่กี่ปีหลังจากนั้นก็คือ นักแข่งระดับตำนานอย่าง Jack Brabham, Stirling Moss หรือ Bruce McLaren ต่างก็มีรถแข่ง Formula One ที่สร้างโดย Cooper Co.LTD เมือง Surbiton เทคนิคตัวถังและเครื่องยนต์พัฒนาไปมาก John หันมาใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ Coventry Climax แทนเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์เดิม

ในปี 1957 ที่ Monaco Grand Prix รถของ Cooper คว้าแชมป์ในสนามนี้ และจัดว่าเป็นรถ Formula One คันแรก รุ่นแรก ที่ใช้เครื่องยนต์แบบวางด้านหลังตามสไตล์ของ Cooper ผลของการที่รถของเขาชนะ ทำให้ทีมแข่งอื่นเริ่มมองว่ารถแข่งที่วางเครื่องยนต์ไว้ด้านหลังคนขับน่าจะมีข้อได้เปรียบ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมารถแข่ง Formula One ก็เริ่มทยอยเลิกใช้เครื่องยนต์แบบวางด้านหน้า

อีกฟากหนึ่งของอังกฤษในช่วงสิ้นปี 1956 เมื่อเกิดวิกฤติที่คลอง Suez และส่งผลต่อราคาน้ำมัน Alec Issigonis นักออกแบบคนหนึ่งถูกว่าจ้างโดย British Motor Corporation ให้สร้างรถขนาดเล็ก เขาเลือกออกแบบรถทรงกล่องที่นับเป็นนวัตกรรมการออกแบบและจัดพื้นที่ซึ่งจะกลายเป็น Icon แห่งรถอังกฤษไปอีกหลายทศวรรษ เมื่อมันเปิดตัวในปี 1959 Austin Seven และ Morris Mini ทำให้คนตกตะลึงด้วยความสามารถในการสร้างรถซึ่งกินพื้นที่บนถนนน้อยนิด แต่กลับนั่ง 4 คนได้สบายไม่แพ้รถคันที่ใหญ่กว่า

Alec Issigonis เลือกที่จะวางเครื่องเอาไว้ด้านหน้า แต่หันเครื่องยนต์เป็นแนวขวาง เอาเกียร์ย้ายมาไว้ใต้เครื่องยนต์แล้วใช้ระบบหล่อลื่นอ่างเดียวกันไปเลยทำให้ขนาดของพื้นรถทั้งหมดมีเพียงแค่ 20% ที่เจียดไปกับห้องเครื่อง ที่เหลือเป็นห้องโดยสารและ/หรือสัมภาระ หน้าของรถที่ดูน่ารักบวกกับความคล่องตัวจากขนาดที่เล็กและตัวถังที่หนักแค่ราว 600 กิโลกรัม ทำให้ Mini Mk.1 เป็นที่รักของคนจำนวนมาก..รวมถึง John Cooper ด้วยเช่นกัน

ครั้งหนึ่ง ผู้บริหารของ BMC ได้พบกับ John และบอกว่า “คุณลองเอาไปขับดูหน่อยว่ารู้สึกอย่างไร แทนที่จะขับเล่นแค่แถวๆโรงงานหรือในเมือง Surrey ตา John แกขับไปถึงอิตาลี ที่ซึ่งนักแข่งฝีมือดีหลายคนที่เขารู้จักกำลังเตรียมตัวสำหรับการแข่งอยู่ เขาเอา Mini ให้คนเหล่านั้นขับ และหลังจากนั้นก็กลับไปหาผู้บริหาร BMC และบอกว่า

“รถมันก็ขับสนุกดีอยู่หรอก..แต่เบรกห่วยมาก และถ้ามีแรงมากกว่านี้ก็ดี” เพราะเครื่องยนต์ 848 A-Series ของ Mini ตัวแรกๆมีกำลังแค่ 33 แรงม้า “นี่ถ้ายอมให้ผมทำเครื่องให้มันแรงๆหน่อยนา แล้วก็อัปเกรดเบรกมันซะหน่อย จะเอาไปแข่งแรลลี่ยังได้เลยด้วยซ้ำ”

ปรากฏว่าผู้บริหารบางคนสนใจแนวคิดนี้ และพา John Cooper ไปซักไซ้ถามตอบว่าจะต้องทำอย่างไรให้ฝันนี้กลายเป็นจริง John บอกว่าอันดับแรก ถ้าจะทำให้รถสามารถเข้าแข่งได้ ทาง BMC ต้องสร้างรถรุ่นพิเศษนี้และขายให้ได้มากกว่า 1,000 คัน George Hammond หนึ่งที่ผู้บริหารก็บอกว่า “ไม่มีวันซะล่ะ ใครมันจะบ้าซื้อรถจ่ายกับข้าวคันเล็กเครื่องแรงๆตั้งพันคัน” เมื่อได้ยินดังนั้น John ก็บอกลาทำทีจะกลับบ้าน จน George บอกว่า “โอเค โอเค ทำก็ทำ ลองดู แล้วจะเรียกไอ้รถรุ่นนี้ว่ายังไงล่ะ”

John เงยหน้ามองแล้วยิ้ม

“ทำไมคุณไม่เรียกมันว่า Cooper ล่ะ?”

นั่นคือจุดเริ่มต้นของรถเล็กผู้ยิ่งใหญ่ Mini Cooper และ Cooper S ซึ่งได้รับการเพาะเบ่งกำลังเพิ่มจากเดิม 33 แรงม้า เป็น 55 แรงม้า ในรุ่น Cooper และสูงถึง 78 แรงม้าใน Cooper S 1.275 มันถูกดัดแปลงต่อตามกฎของการแข่งขัน และตั้งแต่เริ่มต้นการพัฒนารถแข่งจิ๋วคันนี้ John Cooper ต้องพบกับคำสบประมาทมากมาย หลายคนเชื่อว่าความเก่งกาจที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จทางด้านมอเตอร์สปอร์ตมาโดยตลอดทำให้เขาเริ่ม “เหลิง” แต่ John Cooper ก็ได้แต่ยิ้มแล้วบอกว่า “คอยดู”

Mini Cooper S ของเขา ชนะการแข่งแรลลี่ Monte Carlo สามครั้งตั้งแต่ปี 1964-1967….

มนุษย์ตำนานอย่าง John Cooper สิ้นชีพลงในปี 2000 ปีเดียวกันกับที่ Michael Cooper บุตรชายของเขาก่อตั้งบริษัท John Cooper Works และปีเดียวกันกับที่ BMW ขอซื้อลิขสิทธิ์การใช้ชื่อ “Cooper” ในแบรนด์รถยนต์ไปด้วย Michael สานต่อเจตนารมย์ของพ่อเขาในการทำรถที่ขับสนุกอยู่แล้ว ให้สะใจขึ้นอีก ในช่วงแรกๆ เขาผลิตชุดแต่งและอุปกรณ์เสริมพลังให้กับ MINI รุ่นใหม่ๆที่เป็นผลงานของ BMW แล้ว แต่หลังจากปี 2007 เมื่อ BMW เข้าซื้อหุ้นของ John Cooper Works (JCW) พวกเขาก็ร่วมมือกันสร้างรถ JCW เวอร์ชั่นโรงงาน พลัง 1.6 ลิตร เทอร์โบ 208 แรงม้าในบอดี้ R56 และเผยโฉมในปี 2008

และในวันนี้ ผมก็ได้มีโอกาสมาอยู่กับลูกหลาน John Cooper Works เจนเนอเรชั่นล่าสุด ซึ่งได้แก่

  • MINI John Cooper Works Hatch 3-door (JCW Hatch)
  • MINI John Cooper Works Convertible (JCW Convertible)
  • MINI John Cooper Works Clubman ALL4 (JCW Clubman)
  • MINI John Cooper Works Countryman ALL4 (JCW Countryman)

โดยในช่วงที่ผ่านมานั้น ทาง MINI จัดทริปให้นักข่าวได้ไปลองขับ JCW ครบทุกรุ่น ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่สนาม Chang International Circuit และปลายปีที่สนามแก่งกระจาน ความที่ผมยังไม่มีเวลาได้เขียนถึงตอนไปขับที่สนามช้าง ก็ทำให้ได้โอกาสเหมือนมะนาวดองที่เปรี้ยวได้ที่ เอามารวบเป็นบทความเดียวกัน แต่ให้รสชาติของการขับบนสนามแข่งในประเทศไทย 2 แห่งที่มีรูปแบบแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

สนามหนึ่ง..เป็น Circuit ขนาดใหญ่ ผิวทางเรียบเนียน มีที่ให้กดทำความเร็วได้มาก โค้งส่วนใหญ่มีพื้นที่หักเลี้ยวได้เยอะ และถึงพลาดก็มีที่รองรับ (run-off) กว้างแต่ต้องระวังเรื่องความเร็วที่สูงเพราะสนามที่ทำให้ขับแล้วรู้สึกเหมือนไม่ได้เร่งอะไรมาก

อีกสนาม.. เป็น Local Circuit ที่เหมือนถนนจริงซึ่งเราพบได้ตามภูเขา มีโค้งที่แคบ สภาพผิวแทร็คบางช่วงมีหลุมมีปูด โค้งแคบแบบ Hairpin หักสุดลำ แถมมีทางลาดขึ้นและลงเหมือนขับตามภูเขาจริง

การได้ขับ 2 สนามนี้ ถือเป็นความใจดีของ MINI Thailand ซึ่งช่วยให้ผมสามารถตอบคำถามที่คาใจเกี่ยวกับสมรรถนะของรถได้แบบจบๆ แต่เนื่องจากผมจะไม่ได้ใช้เวลานั่งสังเกตและสำรวจรถแต่ละคันนานมากนัก (ยกเว้น JCW Hatch ซึ่งพี่เบี๊ยดยกให้ผมขับกลับจากสนามไปโรงแรมที่ชะอำ) จึงตั้งใจจะไม่เขียนบทความนี้เป็น First Impression แต่เป็น “Track Impression” แทนและพยายามใส่ข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะอำนวย

ก่อนอื่น เรามายลโฉมบรรดาพริกขี้หนูของเราในวันนี้นะครับ

MINI John Cooper Works Hatch 3-door

  • ราคารวม MSI Standard package 3,418,000 บาท

ผมเคยขับ JCW Hatch ตัวถัง F56 ครั้งแรกที่สนามแก่งกระจานเมื่อปี 2016 และรู้สึกได้ว่าเวอร์ชั่นอัปเดตปี 2018 นี้มีจุดที่แตกต่างกันน้อยนิด ถ้ามองจากระยะไกล คุณจะเห็นทรวดทรงรถที่ดูเป็นกล่องเหลี่ยมปุ๊กลุกน่ารักเหมือนเดิม ล้อและยางที่ใช้ก็เป็นขนาด 205/40R18 ของ Pirelli รุ่น Cinturato P7 เหมือนเดิม เบรกหน้า Brembo 4 Pot กับจานเบรก 330 มิลลิเมตร ชุดแต่งและกันชนต่างๆก็เกือบเหมือนเดิมในความคิดของคนที่ไม่ได้เป็นสาวก MINI อย่างผม

อย่างไรก็ตามเมื่อมองลึกในรายละเอียด จะเห็นว่าไฟหน้ารุ่นใหม่ จะมีลักษณะเป็นดวงเหลี่ยมซ่อนในกลม ในขณะที่รุ่นเดิมเป็นกลมซ่อนในกลม และไฟท้ายก็เปลี่ยนเป็นดวงไฟที่พอสว่างแล้วจะเป็นรูปธง Union Jack ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้วัยรุ่นกรี๊ดกร๊าดได้มาก (แต่ผมเฉยๆ แสดงว่าผมแก่แล้ว)

ภายในของ JCW Hatch เวอร์ชั่นนี้ ก็ยังดูคล้ายกับคันที่ผมขับในปี 2016 เช่นกัน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดคือคันเกียร์ จากเดิมจะเป็นแบบคันโยกกลไกปกติ ก็เปลี่ยนเป็นแป้นเหลี่ยมๆหน้าตาเหมือนที่โกนหนวดไฟฟ้าราคาแพงๆ การเข้าเกียร์ ใช้วิธีกดปุ่มข้างเกียร์แล้วโยกเบาๆ ไม่ต้องใส่อารมณ์มากเพราะเป็นคันเกียร์แบบไฟฟ้าเหมือนพวก BMW ซาลูนทั้งหลายแล้ว สวิตช์สำหรับปรับเลือก Driving Mode จากเดิมจะเป็นเงี่ยงเล็กๆอยู่ที่ฐานเกียร์ ก็ย้ายไปเป็นสวิตช์คันโยกเล็กแบบเครื่องบินรบ อยู่ที่ใต้แผงควบคุมระบบปรับอากาศแทน

เบาะนั่งเป็นแบบสปอร์ต ปรับได้ 6 ทิศทาง ใช้ผ้า Dinamica สลับกับหนังแท้ มีความสากในเนื้อผ้าที่ช่วยให้ยึดเกาะตัวคนนั่งไว้ในโค้งได้ดีกว่าเบาะหนังล้วน มีการออกแบบให้ปีกข้างดันตัวไว้ในระดับรถบ้านมาดสปอร์ต ยังไม่ถึงกับเป็นรถแข่ง จุดที่น่าเสียดายคือตัวเบาะนั้นแม้จะปรับสูง/ต่ำได้ แต่ไม่สามารถปรับองศาการเทของเบาะรองนั่งเช่นกดส่วนก้นให้ต่ำแล้วยกส่วนรองน่องขึ้น ตัวเบาะรองนั่งจะมีความลาดเทที่แปรเปลี่ยนไปตามความสูงของเบาะ ถ้าหากจะเน้นความเป็นรถของนักขับ ก็ควรจะทำให้มันปรับได้

หน้าปัดต่างๆดูทันสมัยในสไตล์ MINI เอาเข็มความเร็วและวัดรอบไว้ในตำแหน่งแบบรถปกติ มีไฟเรืองแสงหน้าปัดสีส้ม เรียบง่าย อ่านค่าได้เกือบจะง่าย  แต่ในความเห็นผม ผมอยากให้วัดรอบมาอยู่ตรงกลางและมีขนาดใหญ่ เป็น Layout แบบ Porsche ซึ่งเวลาขับในสนาม รอบเครื่องจะสำคัญและควรสังเกตเห็นได้ง่าย ที่เป็นอยู่นี้ ดีไซน์ดูเหมือนพยายามจะน่ารัก แต่ยังสามารถออกแบบให้ใช้พื้นที่ได้คุ้มขึ้นและอ่านค่าได้ง่ายกว่าที่เป็นอยู่

เครื่องเสียง Harman Kardon 12 ลำโพงก็มีติดตั้งมาให้แต่เรียนตามตรงว่าไม่ได้มีโอกาสทดสอบคุณภาพเสียงว่าจะดีขนาดไหน

ขุมพลังขับเคลื่อนของ JCW Hatch เป็นแบบ 4 สูบเทอร์โบชาร์จเจอร์ 16 วาล์ว รหัส B48A20B ความจุ 1,998 ซี.ซี. ขนาดกระบอกสูบ x ช่วงชักเท่ากับ 82.0 x 94.6 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.2 : 1 ควบคุมและจัดการเครื่องยนต์ด้วยสมองกล MEVD 17.2.3 ให้แรงม้าสูงสุด 231 แรงม้า ที่ 5,200-6,200 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตรที่ 1,450-4,800 รอบต่อนาที

ระบบส่งกำลังเป็นเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ Steptronic Sport พร้อม Paddleshift ที่พวงมาลัย มี MINI Driving Modes ที่แบ่งออกเป็น Green (ECO)/MID และ Sport ซึ่งจุดที่แตกต่างจากรุ่นปี 2016 ก็คือเกียร์นี่ล่ะครับ จากเดิมมี 6 จังหวะ และทั้ง Cooper S กับ JCW ใช้เกียร์ร่วมกัน แต่พอมาปีนี้ JCW กลับได้เกียร์อัตโนมัติทอร์คคอนเวอร์เตอร์และเฟืองแบบธรรมดา แค่เพิ่มเป็น 8 จังหวะ ส่วน Cooper S ได้ใช้เกียร์คลัตช์คู่ Steptronic 7 จังหวะแบบที่ใช้ใน BMW เครื่องเบนซินวางขวางอย่าง X2 ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเพราะเหตุผลใด MINI ถึงจัดสเป็ครถตัวเองแบบนี้ ส่วนช่วงล่างนั้น ด้านหน้าเป็นแบบ Single-joint strut (McPherson) และด้านหลังเป็นแบบมัลติลิงค์ มาพร้อมโช้คอัพปรับความหนืดอัตโนมัติแปรผัน MINI Dynamic Damper ที่ยังสามารถล็อคให้นุ่มหรือแข็งได้ตาม Driving Mode ที่เลือก

MINI John Cooper Works Hatch คือรถที่เบาที่สุดในตระกูล JCW ทั้งหมด โดยมีน้ำหนัก 1,295 กิโลกรัม ปล่อย CO2 150 กรัม/กิโลเมตร และได้รับเรตสรรพสามิต 25%


MINI John Cooper Works Convertible

  • ราคารวม MSI Standard package 3,468,000 บาท

ทางเลือกพิเศษสำหรับคนที่อยากได้ทั้งความแรงและอรรถรสในการขับขี่จากการเปิดหลังคารับฝุ่นละออง PM 2.5 JCW Convertible เป็นสมาชิกใหม่ล่าสุดของบรรดา John Cooper Works ทั้งหมด สร้างมาเพื่อคนที่ชอบสายลมแสงแดด แต่พอไปดู Cooper S Convertible แล้วยังรู้สึกว่าแรงไม่พอ ภายนอกนั้น หากไม่นับสปอยเลอร์หลังคา (ซึ่งไม่มีที่ให้ติด) คุณได้ชุดแต่งต่างๆที่เก๋ไก๋จาก JCW Hatch รวมถึงล้ออัลลอยทูโทนขนาด 18 นิ้ว และช่วงล่างแปรผันความหนืด Dynamic Damper

อุปกรณ์ต่างๆและทรวดทรงของเบาะ แทบจะเหมือนกับรุ่น Hatch เพียงแต่ต้องเปลี่ยนจุดยึดเข็มขัดนิรภัยของเบาะหน้าใหม่ และเพิ่มสวิตช์สำหรับหลังคาไฟฟ้าโดยการเปิด-ปิดหลังคาสามารถทำงานด้วยการกดปุ่มเพียงปุ่มเดียว และใช้เวลาในการเปิด-ปิดเพียงแค่ 18 วินาที ขณะขับขี่ที่ความเร็วสูงสุด 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และถ้าหากคุณกลัวนกพิราบจะพากันมาทิ้งระเบิดใส่ ก็ยังสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ ด้วยการเลื่อนเปิดหลังคาเฉพาะส่วนหน้า คล้ายๆกับการเปิดซันรูฟ โดยสามารถเลื่อนเปิดได้มากสุด 40 เซนติเมตร และสามารถกดเปิดเมื่อไหร่ก็ได้ไม่ต้องรอให้ความเร็วเหลือ 30 หรือจอดนิ่ง

ขุมพลังขับเคลื่อนของ JCW Convertible ก็เหมือนยกมาจากรุ่น Hatch ทั้งหมด เป็นแบบ 4 สูบเทอร์โบชาร์จเจอร์ 16 วาล์ว รหัส B48A20B ความจุ 1,998 ซี.ซี. ขนาดกระบอกสูบ x ช่วงชักเท่ากับ 82.0 x 94.6 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.2 : 1 ควบคุมและจัดการเครื่องยนต์ด้วยสมองกล MEVD 17.2.3 ให้แรงม้าสูงสุด 231 แรงม้า ที่ 5,200-6,200 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตรที่ 1,450-4,800 รอบต่อนาที ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ Steptronic Sport 8 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า

จุดที่น่าสนใจคือ ไม่ทราบว่า MINI ไปจดสรรพสามิตอิท่าไหน มันถึงยังได้ CO2 Rating 150 กรัม/กิโลเมตรเท่ารุ่น Hatch ทั้งๆที่น้ำหนักตัวถังเพิ่มจาก 1,295 เป็น 1,395 กิโลกรัม และอัตราเร่ง 0-100 ที่เคลมจากโรงงานก็ช้ากว่า (6.1 vs 6.5 วินาที) ขออนุญาตไม่เดาแล้วกันเพราะเดี๋ยวเสียโอกาสในการซื้อของพวกเราทั้งหลาย ด้วยเหตุที่เสียภาษีสรรพสามิตแค่ 25% นี่ล่ะทำให้ราคาของมันไม่หนีไปจากรุ่น Hatch มาก จ่ายเพิ่ม 50,000 บาทก็ได้รถเปิดประทุนขับสนุก มีสไตล์ เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ยอมลดเรื่อง Performance แล้วให้ความสำคัญกับ Pleasure มากขึ้น


MINI John Cooper Works Clubman

  • ราคารวม MSI Standard package 3,548,000 บาท

ถ้าให้พูดตามตรง JCW Clubman เป็นรถที่ผมชอบเป็นการส่วนตัวในตอนแรก และฝากความหวังเอาไว้กับมันมาก ด้วยความที่ดีไซน์สวยดูเป็นผู้ใหญ่มากกว่าพวก Hatch แต่ยังเป็นรถที่ดูเตี้ย สปอร์ตและไม่ต้องไปตามกระแสครอสโอเวอร์มากเท่ารุ่น Countryman พื้นที่จุสัมภาระด้านท้ายโตกว่ารุ่น Hatch มาก และเบาะหลังก็มีพื้นที่พอสำหรับการพาเพื่อนที่ตัวไม่โตจนหมาเห็นแล้ววิ่งหนีนั่งโดยสารไปด้วยกันได้ มันคือรถที่พยายามเชื่อมความเผ็ดไม่แคร์สื่อของ JCW Hatch เข้ากับการใช้งานและสไตล์ที่สามารถใช้เป็นรถคันเดียวของบ้านได้ และที่สำคัญคือ เจ้าตัวนี้มาพร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ALL4 ด้วยต่างหาก

ด้วยขนาดรถที่โตกว่า Hatch มาก ทำให้ต้องใช้ล้อและยางที่โตขึ้นเป็นขนาด 225/35 กับล้ออัลลอยขนาด 19 นิ้ว เพื่อทำให้ตัวรถดูไม่โตมากถ้าจอดอยู่เดี่ยวๆ  นอกจากนั้นชุดแต่งภายนอกและสีสันต่างๆ ก็พยายามทำให้คล้ายกับรุ่น Hatch แต่จะเก็บรายละเอียดให้ดูเรียบร้อยกว่า เป็นผู้ใหญ่มากกว่า ดูอย่างที่กันชนหน้าก็ได้

ภายในของ JCW Clubman มีแดชบอร์ดที่แตกต่างจาก Hatch, Convertible แล้วก็ไม่เหมือนกับ Countryman อุปกรณ์ต่างๆที่มีจะอยู่ในระดับเท่ากัน เช่นหลังคากระจก Panoramic เครื่องเสียง Harman Kardon 12 ลำโพง รวมถึง Head-Up Display เบาะนั่งเป็นแบบสปอร์ตหุ้มหนังสลับ Dinamica เหมือนกันและปรับด้วยมือเหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างจากรุ่น Hatch และ Convertible ที่เป็นรถขับหน้าก็คือคันเกียร์ ซึ่ง Clubman จะเป็นคันเกียร์กลไกสลิงแบบเก่า

ปุ่มปรับ Driving Mode ย้ายจากฐานเกียร์ไปอยู่ที่ตอนล่างของคอนโซลกลาง แต่ไม่ว่าคุณจะปรับมันอย่างไร ช่วงล่างมันก็จะมีความแข็งแค่ระดับเดียว เพราะ MINI John Cooper Works Clubman สเป็คไทยนั้น เป็นรุ่นเดียวในบรรดา JCW ทั้งหมดที่ไม่ได้ชุดโช้คอัพปรับความหนืดแปรผัน Dynamic Damper

จุดที่เก๋ไก๋อีกประการหนึ่งและเป็นเอกลักษณ์ของ Clubman คือประตูฝาท้ายแบบแยกเปิดซ้ายขวา คราวนี้มาพร้อมระบบใช้เท้าแหย่กันชนเปิดฝาท้าย แหย่ครั้งแรก จะเปิดบานขวาก่อน แหย่ซ้ำอีกครั้งจะเป็นการเปิดบานซ้าย

ขุมพลังขับเคลื่อนของ Clubman จะเป็นเครื่องยนต์ B48A20B 4 สูบเทอร์โบชาร์จเจอร์ 16 วาล์ว ความจุ 1,998 ซี.ซี. ขนาดกระบอกสูบ x ช่วงชักเท่ากับ 82.0 x 94.6 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.2 : 1 ควบคุมและจัดการเครื่องยนต์ด้วยสมองกล MEVD 17.2.3 ทั้งหมดนี้ ก็เหมือนกับเครื่องยนต์ของรุ่น Hatch แต่มีการปรับแต่งเครื่องยนต์เล็กน้อย ให้แรงม้าสูงสุด 231 แรงม้า ที่ 5,000-6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตรที่ 1,450-4,500 รอบต่อนาที

ซึ่งถ้าเทียบกับรุ่นขับหน้า จะพบว่าแรงบิดสูงกว่าอยู่ 30 นิวตันเมตร ส่วนแรงม้านั้นเท่ากันแต่จะอยู่ถึง 6,000 รอบในขณะที่เครื่องยนต์ของรุ่นขับหน้าจะอยู่ถึง 6,200 รอบต่อนาที

ระบบส่งกำลัง เป็นแบบ Steptronic Sport 8 จังหวะเหมือนรุ่น Hatch/Convertible แต่เปลี่ยนจากขับหน้าเป็นขับเคลื่อน 4 ล้อ “ALL4”

ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ALL4 ของ MINI จะมีพื้นฐานคล้ายกับ xDrive พัฒนาโดย Driving Dynamics Division ของ BMW เหมือนกัน แต่มีการปรับจูนการทำงานที่แตกต่างกันบ้างในรายละเอียด โดยในเวลาปกติจะขับเคลื่อนล้อหน้า แต่เมื่อมีล้อสูญเสียการยึดเกาะหรือรถวิเคราะห์ลักษณะการหมุนพวงมาลัย, แรงเหวี่ยง และองศาคันเร่งแล้วรู้ว่าคนขับกำลังเล่นโหมดโหด ก็จะสั่งให้คลัต์เปียก Electro-hydraulic ที่เฟืองท้าย (ชุดที่อยู่ท้ายรถ) จับส่งกำลัง ซึ่งในบางช่วงระบบ ALL4 ของ MINI สามารถส่งกำลังไปล้อหลัง 100% ได้หากจำเป็น

บางแหล่งข่าว รวมถึงตัว MINI เอง บอกว่าระบบ ALL4 มีค่า Default เป็นขับเคลื่อนล้อหน้า แต่บางที่บอกว่าปกติจะแยกการถ่ายกำลังเป็น 50:50 แล้วค่อยๆปรับเป็นขับหน้าเมื่อมีการวิ่งตรงๆและใช้ความเร็วสูงขึ้น อย่างไรก็ตามจากคลิปของ MINI ที่แสดงการทำงานของระบบ พบว่าเมื่อออกตัวบนพื้นลื่น ล้อหน้าจะหมุนฟรีเยอะกว่าล้อหลังอย่างเห็นได้ชัด แสดงให้เห็นว่าน่าจะเป็น Default ขับเคลื่อนล้อหน้ามากกว่า

ด้วยความที่ตัวโต ยาวกว่า Hatch เป็นฟุต แถมยังมีระบบขับสี่ ทำให้ JCW Clubman มีน้ำหนักปาเข้าไปถึง 1,565 กิโลกรัม หนักเท่ารถซาลูนยุโรปไซส์ BMW 320d เลยทีเดียว แน่นอนว่าค่า CO2 ที่วัดได้ออกมาก็ทะลุพิกัด 150 ไปอยู่ที่ 168 กรัม/กิโลเมตร โดนชาร์จสรรพสามิต 30%


MINI John Cooper Works Countryman

  • ราคารวม MSI Standard package 3,548,000 บาท

Countryman บอดี้ใหม่ มีขนาดโตขึ้นจนจากเดิมสั้นกว่า Clubman กลายเป็นว่ายาวกว่าไปแล้ว (4,299 vs 4,253 มิลลิเมตร) ตัวถังก็บานกว้างไปถึง 1,822 มิลลิเมตร เทียบเท่ารถใหญ่บางรุ่น แต่เป็นความกว้างที่มาจากซุ้มล้อขนาดโตที่ดีไซน์มาเพื่อให้ Countryman ดูมีความดุ บึกเหมือนนักมวยปล้ำเม็กซิกันที่เตี้ยเล็กแต่กล้ามเป็นมัดๆ การตกแต่งบอดี้ภายนอกสำหรับเวอร์ชั่น JCW นั้น นอกจากสติกเกอร์ JCW แล้ว รูปแบบของกันชนหน้า/หลัง ก็จะแตกต่างจากเพื่อนๆคันอื่นไปอีก และมีลักษณะดูค่อนข้างเรียบร้อยเป็นผู้ใหญ่เช่นเดียวกันกับ JCW Clubman ล้อและยางเป็น 19 นิ้วเหมือน Clubman แต่เพิ่มความสูงแก้มยางเป็น 225/45 เพื่อให้เหมาะกับรถที่มีลักษณะอเนกประสงค์มากกว่า

ไฟท้าย แม้จะเป็นทรงตั้งเหมือนรุ่น Hatch แต่กลับได้ลวดลายแบบธรรมดา ไม่ได้เป็นลายธงอังกฤษแบบพวกตัวเล็กๆ เสน่ห์ภายนอกเลยอาจจะหายไปบ้าง

ภายในรถ ก็มีแดชบอร์ดที่เป็นทรงเฉพาะสำหรับ Countryman ด้วยวิธีการติดตั้งแถบ High-gloss สีดำกับช่องแอร์ที่ทำให้ดูเหมือนรถ SUV มากขึ้น แต่ตำแหน่งการจัดวางสวิตช์ต่างๆ รวมถึงหน้าปัด ก็จะเหมือนกับ JCW และ MINI รุ่นอื่นโดยทั่วไป มีเครื่องเสียง Harman Kardon 12 ลำโพง และระบบความบันเทิงต่างๆที่แสดงผลคล้ายกัน  สิ่งที่รุ่นอื่นมี แต่ JCW Countryman ไม่มี คือหลังคา Panoramic glass roof

คันเกียร์ของรุ่น JCW Countryman จะเป็นแบบกลไก คันโยกยาว เหมือนกับของ JCW Clubman ที่เป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อเหมือนกัน

สิ่งที่ต่างจากรุ่นอื่นชัดเจน ก็คงเป็นเรื่องของพื้นที่ใช้สอยภายในห้องโดยสาร จากการเป็น MINI ที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดในปัจจุบัน ทำให้สามารถเข้า/ออกจากรถได้ง่ายกว่ารุ่นอื่น เวลานั่ง แม้ว่าตัวเบาะอาจจะให้ความรู้สึกกึ่งสปอร์ตคล้ายรุ่นอื่น แต่ Countryman จะมีพื้นที่สำหรับการแหกแข้งขา รวมถึงมีพื้นที่เหนือศีรษะมากกว่า และเป็นรถที่สามารถโดยสาร 4 คนแบบจริงจังได้โดยมีความสูงของตัวรถที่ช่วยให้เวลานั่งจริงแล้วไม่รู้สึกอึดอัดมากนัก

ขุมพลังขับเคลื่อนของ Countryman จะเหมือนกันกับ Clubman  (B48A20B) 4 สูบเทอร์โบชาร์จเจอร์ 16 วาล์ว ความจุ 1,998 ซี.ซี. ขนาดกระบอกสูบ x ช่วงชักเท่ากับ 82.0 x 94.6 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.2 : 1 ควบคุมและจัดการเครื่องยนต์ด้วยสมองกล MEVD 17.2.3 ให้แรงม้าสูงสุด 231 แรงม้า ที่ 5,000-6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตรที่ 1,450-4,500 รอบต่อนาที ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ Steptronic Sport 8 จังหวะ และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ALL4 แบบเดียวกัน

เมื่อรวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน กับบอดี้ที่มีขนาดโตกว่าใครเพื่อน ก็ไม่น่าแปลกที่ JCW Countryman จะตัวหนักถึง 1,630 กิโลกรัม แต่ทั้งที่หนัก และต้านลมกว่ารุ่น Clubman ทำไมจูน CO2 ออกมาได้ต่ำกว่า (161 vs 168 กรัม/กิโลเมตร) เสียอย่างนั้น

ส่วนเรื่องช่วงล่างนั้น Countryman จะได้ Dynamic Damper (Adaptive suspension) เหมือนกับรุ่น Hatch เหมือนกับจะเป็นการชดเชยจากการที่ไม่มีหลังคากระจกแบบรุ่น Clubman ทำไปทำมา ราคาของตัวรถเลยออกมาเท่ากันเด๊ะ

 


TEST DRIVE TIME!!

อย่างที่ได้เรียนให้ทราบตอนต้นว่าปีนี้ MINI เขาจัดให้ผมได้ลองขับถึง 2 สนาม สนามแรกช่วงกลางปีเป็นสนามช้าง ซึ่งเป็นสนามทางเรียบระดับสากลที่ใช้ทดสอบรถระดับ 500-600 แรงม้าได้ มาผิวสนามเรียบ ใช้ความเร็วได้สูง โค้งส่วนมากเป็นโค้งกว้าง มีพื้นที่กวาดไลน์ได้เยอะ ถึงวิ่งแล้วเผลอหลุดออกนอกแทร็คไปก็ยังมีกองทรายกับสนามหญ้ารองรับ

ส่วนสนามแก่งกระจาน ก็อย่างในภาพข้างบนนี้ที่ถ่ายโดย Drone จะเห็นได้ว่าเป็นสนามที่แคบ มีการยกตัวของพื้น มีช่วงที่เหาะลงเนิน แล้วเชิดขึ้น ตามด้วยพื้นราบในทันที มีจุดเผื่อสำหรับการพลาดไม่มากแต่ก็มีจุดให้ใช้ความเร็วสูงไม่มากเท่าสนามช้าง พื้นผิวแทร็คมีความคล้ายถนนจริง มีจุดที่ปูด มีหลุม เหมือนถนนจริง นั่นคือจุดที่ผมรักในสนามแห่งนี้และเป็นสนามที่ผมชอบมาขับเองบ่อยกว่าสนามอื่น

ความแตกต่างของทั้งสองสนาม ช่วยให้เราสามารถรับรู้ถึงการตอบสนองของรถแต่ละคันบนถนนที่แตกต่างในโค้งแต่ละแบบซึ่งช่วยให้เราสามารถรับรู้จุดอ่อนและจุดแข็งของรถแต่ละแบบได้มากขึ้น

MINI John Cooper Works Hatch 3-door

มันเป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้าที่ขับดุได้เกือบเหมือนรถขับสี่ บุคลิกของมันเป็นผลสืบเนื่องมาจากระบบ EDLC (Electronic Differential Lock Control) ซึ่งใช้เบรกหน้าแยกจับสองข้าง เวลากดคันเร่งส่งออกจากโค้ง มันจะจับเบรกล้อข้างที่หมุนฟรีทิ้งขว้างแล้วส่งพลังไปล้อฝั่งตรงข้ามที่มีแรงยึดเกาะมากกว่า ถ้าคุณเลือกเล่นเกียร์ให้ถูก ป้อนพวงมาลัยกลับให้สัมพันธ์กับความลึกของคันเร่ง แต่ทำให้ไวหน่อย จะพบว่ามันดีดออกจากโค้งได้ไว และ MINI รุ่นใหม่ๆยังมีระบบ DTC-Dynamic Traction Control ซึ่งเปิดใช้โดยการกดปุ่มระบบช่วยเหลือด้านการทรงตัวแค่ 1 ครั้งแล้วปล่อย เมื่อเปิดใช้งาน บุคลิกแบบรถขับสี่จะลดลง กลายเป็นรถขับหน้าที่หมุนล้อฟรีเอี๊ยดอ๊าดได้บ้าง แต่ยังมีความเกาะถนนที่แตกต่างจากการเอารถญี่ปุ่นขับหน้าเซ็ตโบชัดเจน (เทียบกับรถผมเองเนี่ยล่ะครับ)

บนสนามช้าง น้ำหนักตัวที่เบาที่สุดในกลุ่มยังช่วยให้มันเป็นรถที่ทำอัตราเร่งทางตรงได้ไวที่สุด ณ ช่วงทางตรงยาวถึงจุดที่ตั้งกรวยเบรก JCW Hatch เป็นคันเดียวที่ผมสามารถดันจนเห็นเลข 190 ก่อนยก ในขณะที่คันอื่นทำไม่ได้เลย ส่วนการเข้าโค้งแบบต่างๆ ไม่ว่าจะแคบหรือกว้าง ขอเพียงอย่าตะพึดตะพือเหยียบคันเร่งเต็ม มันจะเป็นรถที่ไปได้ไวยิ่งกว่าหนูในท่อน้ำ แต่ในโค้งก่อนเข้าเส้นชัย ผมลองแกล้งรถด้วยการบี้คันเร่งตั้งแต่ตอนยังหักเลี้ยวอยู่ ผลที่ได้คือรถจะมีอาการกระตุกเหมือนมันแอบอ่านองศาพวงมาลัยเรา จากนั้นก็อมพลังไว้จนถึงจุดที่พวงมาลัยเริ่มตรง แล้วก็ปลดปล่อยพลังออกมา การปรับโหมดแทร็คชั่นคอนโทรลจะอนุญาตให้ล้อฟรีทิ้งได้บ้าง แต่ไม่ได้ทำให้รู้สึกแย่ ผมกลับรู้สึกสนุกเสียมากกว่า

พวงมาลัยและช่วงล่าง ไม่มีอะไรให้ติ ในโหมด MID ที่ช่วงล่างไม่ได้แข็ง อาการของรถก็ไม่ได้ออกมากจนน่าเกลียด ไม่ได้ยวบเวลาทิ้งโค้งแรงๆ แต่เป็นโหมด Sport ทุกอย่างคือจบแบบกำลังสวย แป้นเบรกมีระยะเหยียบสั้น น้ำหนักต้านเท้ามากกว่ารถบ้านทั่วไปอยู่บ้าง แต่สามารถกำหนดแรงในการเบรกได้ง่ายดาย

สลับไปขับที่สนามแก่งกระจาน ซึ่งผิวทางวิ่งมีฝุ่นมากกว่าและโค้งแคบกว่า ผมต้องใจเย็นหน่อยเวลาจะลงคันเร่งตอนออกจากโค้ง U-Turn ไม่เช่นนั้นก็จะออกอาการบานเข้าหาข้างทาง แต่การเข้าโค้งในแบบรักษาความเร็ว อาการของมันเป็นกลางและควบคุมง่ายมาก อันเดอร์สเตียร์น้อยมากสำหรับรถขับหน้าตัวหนัก 1.3 ตันแล้วยังใช้ยาง Pirelli Cinturato P7 หน้ากว้างแค่ 205 มิลลิเมตร ลองนึกดูว่าถ้าใครเป็นเจ้าของ ซื้อไป หายาง Semi-racing หนึบๆหน่อยตอนออกโค้งยิ่งน่าจะดีกว่านี้

JCW Hatch เป็นคันเดียวที่ผมมีโอกาสได้ลองจับอัตราเร่งอย่างจริงจัง

0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

  • MID mode ได้ 8.14 และ 8.07 วินาที
  • Sport mode ได้ 7.52 และ 7.53 วินาที

80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

  • MID mode ได้ 5.23 และ 5.17 วินาที
  • Sport mode ได้ 4.87 และ 4.91 วินาที

อัตราเร่งทั้งหมดทำในช่วงกลางวัน และอาจมีผลจากการที่ตัวรถเองถูกใช้วิ่งสนามต่อเนื่องมานาน หากเปลี่ยนมาจับเวลาในช่วงกลางคืนและรถสภาพสดๆหน่อย ผมคิดว่าตัวเลขน่าจะใกล้เคียง Audi TT 230 แรงม้า แต่ใน JCW นั้นการเลือกโหมด ส่งผลต่ออัตราเร่งอย่างชัดเจนโดยเฉพาะช่วงออกตัวกับเปลี่ยนเกียร์

MINI John Cooper Works Convertible

ในการขับบนสนามช้างที่เป็นสนามขนาดใหญ่ และสามารถหาไลน์สวยๆวิ่งเข้าออกโค้งโดยไม่ต้องหักพวงมาลัยมากๆ เจ้า Convertible นี้มีการตอบสนองแทบไม่แตกต่างจากรุ่นหลังคาแข็ง MINI ทำการบ้านมาดีในการพยายามเสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างส่วนหลังของบอดี้รถ รุ่น Hatch ขับแล้วรู้สึกเหมือนรถทั้งคันเป็นเหล็กแข็งก้อนเดียว รุ่น Convertible ก็ให้ความรู้สึกแบบเดียวกัน ความหนืดของพวงมาลัย และการโยนตัวของช่วงล่างก็เกือบเหมือนกัน

ความเร็วใน Section ต่างๆของสนามก็เกือบเท่ากัน ยกเว้นในช่วงทางตรงยาวที่รุ่น Hatch สามารถเสกเลข 190 ให้เห็นได้ รุ่น Convertible ที่เปิดหลังคาตอนขับอาจจะเสียเปรียบเรื่องความลู่ลม เฆี่ยนยังไงก็ได้มากสุดแค่ 185

แต่สิ่งที่เป็นโบนัสแห่งความเพลิดเพลินอย่างหนึ่งใน JCW Convertible ก็คือ ผมสามารถเปิดหลังคาออก (แต่ต้องเอากระจกขึ้นไว้ตามคำขอของ Instructor) แล้วขับไปในโหมด Sport ฟังเสียงเครื่องยนต์ที่แม้จะออกแนวสังเคราะห์ๆเหมือนมีใครไปเล่น Autotune แล้วพยายามทำให้มันคล้ายเสียงของ BMW M4 เครื่อง 6 สูบ แต่เอาเถอะ ยังไงมันก็เป็นเครื่อง 4 สูบเทอร์โบที่มีโทนเสียงน่าฟัง บวกกับเสียงป๊อปคอร์นเบาๆจากท่อไอเสียเวลาถอนคันเร่งเข้าโค้ง..ผมรู้ว่าผมไปเร็วไม่เท่าตอนขับ Hatch หรอก แต่ยิ้มบนหน้าของผมปรากฏออกมาบ่อยกว่า

อย่างไรก็ตาม นั่นมันคือบนสนามช้าง พอเปลี่ยนมาเป็นสนามแก่งกระจาน ผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่เกินคาดเท่าไหร่ ที่แก่งกระจานผมเลือกที่จะขับแบบปิดหลังคาเพราะบางโค้งสนามนี้..มีโอกาสคว่ำถ้ามาแรง ไม่ได้พูดเล่น

JCW Convertible มีน้ำหนักตัวที่มากกว่ารุ่น Hatch อยู่ 100 กิโลกรัม และน้ำหนักที่ต่างส่วนมากอยู่ที่โครงสร้างระหว่างตรงกลางและแนวแทร็คล้อหลัง ดังนั้นเวลาเจอโค้ง U-turn ที่เหาะมาแรงๆ ถ้าไม่สังเกตจะรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรต่างจากตัว Hatch แต่ถ้าสังเกตดีๆ เหาะมาแรงเท่ากัน เลี้ยวพวงมาลัยแรงเท่ากัน Convertible จะไถลออกไปมากกว่านิดๆ และเป็นการไถลเบาๆที่เกิดขึ้นแถวยอดโค้ง โดยก่อนหน้านั้นจะไม่มีความต่างอย่างเห็นได้ชัด วิธีแก้ ไม่ใช่หักพวงมาลัยมากขึ้น แต่ตอนเข้า จากจุดเดิมที่เราคิดว่าจะปล่อยเท้าจากเบรกใน Hatch พอมาเป็น Convertible ก็แค่เอาเท้าคาเบรกไว้นานขึ้นนิดเดียวก็จบ

และถ้าเข้าโค้งแบบตั้งใจสาดเข้า ตวัดพวงมาลัยแรงๆ ท้ายรถของ Convertible จะมีอาการสไลด์ปรากฏให้เห็นมากกว่า ส่วนตอนออกโค้งถ้ากดคิกดาวน์คันเร่งเร็วคืนพวงมาลัยยังไม่ทันหมด รถจะมีอาการชะงักจากการสั่งของคอมพิวเตอร์นานกว่า แต่ถ้าใช้โหมด M เลือกเกียร์ให้ถูกไว้แต่แรกแล้วค่อยๆป้อนคันเร่งตอนออก อย่างที่คุณควรทำอยู่แล้วกับรถขับหน้าเทอร์โบ JCW Convertible ก็จะสามารถไปได้เร็วเท่ารุ่น Hatch

พูดง่ายๆคือ ยอมใจเย็นลงหน่อยแล้วเปิดหลังคาขับเล่นเอาลมเอาเสียง แล้วจะชอบ

 

MINI John Cooper Works Clubman

เห็นว่าเป็นรถเทอร์โบ ตัวเตี้ย และมีขับสี่ จึงฝากความหวังเอาไว้ว่ามันน่าจะทำตัวเป็น Evo น้อยๆได้ แต่ในความเป็นจริง Clubman มีการตอบสนองที่ค่อนข้างแปลกประหลาด แต่ก็คล้ายกับรถขับสี่ Part-time ของฝั่งยุโรปบางเจ้า ที่สนามช้าง บนโค้งที่ความเร็วเข้า 80 แล้วออกประมาณ 100 ถ้ากดคันเร่งก่อนที่รถจะตั้งลำตรง จะมีแรงถีบจากล้อหลังที่ทำให้ท้ายรถส่ายซ้ายขวาเบาๆ สำหรับคนที่ไม่ค่อยเจอรถขับหลังแรงๆอาจจะรู้สึกเหวอเล็กน้อย เพราะมันไม่ใช่การถีบแบบที่ผลักหน้ารถเข้าวงในโค้งอย่างที่เราเจอในรถขับหลัง แต่เป็นการถีบไปตรงๆที่บางครั้งจะทำให้หน้ารถบานเข้าหาขอบทาง บางคนชอบ แต่ผมไม่

แต่โชคดีว่าผมได้นั่งรถที่มีพี่เบี๊ยด Instructor จากทีม Xspan เป็นผู้ขับ และสังเกตเห็นได้ว่าเวลาพี่เบี๊ยดขับ ท้ายรถจะไม่ดุ๊กดิ๊กไปมาแบบตอนผมขับ มันอยู่ที่ความเร็วในการกดคันเร่ง ซึ่งต้องไม่เร็วหรือช้าเกิน และจังหวะที่เหยียบ ซึ่งมืออาชีพอย่างพี่เบี๊ยดทำได้ดีกว่าผมมาก อย่างไรก็ตาม ผมมองว่ารถขับสี่มันควรจะเป็นรถที่เราทะเล่อทะล่าเหยียบคันเร่งได้มากกว่ารถขับหน้าตอนออกโค้ง แต่สำหรับ JCW Clubman ผมยังรู้สึกไม่มั่นใจที่จะทำแบบที่ผมทำในรถ Audi A4 Quattro หรือ Subaru WRX

น้ำหนักตัวของ Clubman ก็มาก และทำให้เวลาเข้าโค้ง เมื่อคิดที่จะใช้สปีดขาเข้าเร็วเท่า JCW Hatch ผลออกมาคือหน้ารถจะบานออกมากกว่า ต้องยอมเข้าช้าลงหน่อย แล้วเริ่มเดินคันเร่งตั้งแต่ยอดโค้ง ถ้าเพิ่มคันเร่งถูกจังหวะ รถจะดีดออกจากโค้งได้เร็วกว่ารุ่นขับหน้า แต่ถ้าผิด ก็จะบานเลยป้ายออกไป ในขณะที่รุ่นขับหน้าไม่ต้องกะจังหวะซีเรียสเท่า แค่พยายามละเมียดตอนลงแส้หน่อย ก็ทำความเร็วได้ไม่แพ้กัน

และเมื่อเข้าสู่ช่วงทางตรง ในจุดที่ Hatch ทำความเร็วได้ 190 เจ้า Clubman หวดให้ตายยังไงก็ได้ 180 บนทางตรงและยาว Hatch และ Convertible สามารถเร่งหนี Clubman แบบทำระยะได้เรื่อยๆ จึงเท่ากับว่าช่วงเวลาที่ Clubman สามารถเอาคืนได้ มีแค่ช่วงสั้นๆคือระหว่าง Apex ถึงตอนออกโค้งและแค่นั้น

หาก Clubman ไม่ได้หนักเกือบ 1.6 ตัน สมมติว่ามันเบากว่านี้ 200 กิโลกรัม ผลอาจจะไม่เป็นอย่างนี้

หลังจากขับเสร็จ ผมลองไปคุยกับสื่อมวลชนและ Instructor ด้วยกัน หลายคนก็ยังลงความเห็นว่า ALL4 ควรจะเร็วกว่าในโค้งอยู่ดีนั่นล่ะ อาจจะเป็นวิธีการขับของผมที่ไม่ถูก เลยมีนัดล้างตาอีกทีนึงที่สนามแก่งกระจาน ปรากฏว่า JCW Clubman สามารถเข้าออกโค้งเล็กๆหักศอกมากๆและความเร็วต่ำได้อย่างรวดเร็ว ในโค้ง U-turn ออกจากความเร็วประมาณ 60-70 ผมสามารถกดคันเร่งเกือบ 100% ในจุดที่ Hatch ขับหน้ากดได้ไม่เกิน 50% ท้ายรถที่เคยหยึยในโค้งสนามช้าง พอมาเจอสภาพแทร็คที่คล้ายถนนจริงกลับสะบัดตามหน้าอย่างพอดี ยิ่งเป็นช่วงที่เป็นโค้ง S ที่ต้องหักอย่างรุนแรง หากมีการส่งคันเร่งจังหวะนั้น Clubman กลับยึดเกาะถนนได้ดีกว่า

ซึ่งมันก็คือรถรุ่นเดียวกัน แต่แค่ต่างสนาม ต่างพื้นผิว ยาง Bridgestone S001 เหมือนกัน สภาพยางตอนขับใกล้เคียงกัน จึงมองได้ว่าถ้าจะขับ Clubman ให้เร็ว หากเป็นโค้งหักลึกความเร็วต่ำ ให้หักใส่เต็มลำแล้วกดคันเร่งส่งได้เลย แต่ถ้าเป็นโค้งความเร็วสูง 90-100 ให้เข้าช้ากว่าตัวขับหน้านิดหน่อยแล้วไปกดคันเร่งหลัง Apex โดยเริ่มแตะคันเร่งที่จุดเดียวกับรุ่นขับหน้า แต่ขับหน้ากดลึกเท่าไหร่ ALL4 ก็ลงลึกกว่านั้น จุดไหนที่ขับหน้ากดได้ 70% สำหรับตัวขับสี่ให้กดเต็มได้เลย ผมสรุปได้ประมาณนี้ แต่คนที่ขับเก่งกว่าอาจมีวิธีที่ต่างกันออกไป

MINI John Cooper Works Countryman

ที่สนามช้าง เจ้า JCW Countryman นี้ถือว่าเป็น “Surprise of the day” เพราะก่อนมาขับ ผมคิดไปก่อนแล้วว่า ขนาด Clubman ยังมีหยึยบางจังหวะแล้วก็ไม่ได้ขับให้เร็วได้ง่ายอย่างที่คิด กับ JCW Countryman ซึ่งยิ่งตัวหนักกว่า สูงโย่งกว่า ตำแหน่งเบาะนั่งสูงกว่าและยางหน้ากว้างเท่ากัน จะไปเหลืออะไร!

กลายเป็นว่า Countryman ขับง่ายกว่า การทำงานของระบบขับเคลื่อนดูจะมีความเสถียรกว่าทั้งๆที่หลายคนก็พูดว่าโปรแกรมมิ่งของ ALL4 ก็เหมือนกับ Clubman แต่ใน Countryman ผมสามารถเข้าโค้งแบบปกติ ออกจากโค้งโดยกดคันเร่งเร็วกว่าในรุ่นขับหน้า และกดลึกๆได้โดยที่ท้ายรถก็ไปนิ่งๆแบบที่รถขับสี่ควรจะเป็น ..หรือว่าคนเซ็ตช่วงล่างเขามองว่าท้ายดุ๊กดิ๊กแล้วขับสนุก เลยทำให้มันต่างกัน? อีกข้อหนึ่งที่ต่างแน่คือ JCW Countryman มีช่วงล่างปรับความหนืดได้แบบ Adaptive ซึ่งถ้าใส่โหมด MID วิ่ง จะมีอาการยวบให้รู้สึกบ้างแม้ว่าล้อยังเกาะถนนดีทุกประการ ส่วนโหมด Sport จะทำให้แข็งเฟิร์มและขับสนุกคล้าย JCW Hatch มากขึ้น

ลองคิดดูครับ ว่ามันคือรถที่มีความประพฤติช่วงล่างคล้าย Subaru XV แต่โช้คอัพแข็งกว่า และเครื่องยนต์แรงกว่ามาก เลยเป็นประสบการณ์สนุกที่แปลกในการขับรถครอสโอเวอร์ ตำแหน่งที่นั่งสูง ไล่ล่า Clubman และ Hatch ข้างหน้าไปบนแทร็ค จริงอยู่ว่าความเร็วในโค้งมันไม่ได้ต่างจาก Clubman แม้อาการของรถจะนิ่งกว่า และเมื่อเข้าสู่ทางตรง ก็ทำความเร็วได้น้อยกว่า Hatch (ก็คือได้ 180 เท่ากับรุ่น Clubman) แต่เมื่อพิจารณาจากกายภาพของรถ และอารมณ์ที่ได้ตอนขับ ถ้าเปรียบเป็นคน มันเหมือนคนอ้วนที่วิ่งได้เร็วเท่าคนผอม..ตัวเลขดูแล้วปกติ แต่มันได้ที่ใจ

ส่วนการขับที่สนามแก่งกระจาน ถ้าเป็นโค้งกว้างแล้วฉกเข้าเหมือนโค้งสุดท้ายก่อนเข้าเส้นชัย จะไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่กับโค้ง U-Turn ต้องระวังเรื่องความเร็วที่เข้า ความสูงและกว้างของรถจะหลอกให้ดูเหมือนเข้าด้วยสปีดที่ช้ากว่า แต่ถ้าขืนไม่ดูหน้าปัดเลย Countryman จะทำตัวเหมือนเข้าโค้งดี แต่แอบสะสมแรงเหวี่ยงไปบานออกตอนหลังผ่านกึ่งกลางโค้งมา ซึ่งก็ไม่มีอะไรหน้าตื่นเต้นเติมคันเร่งนิดๆหักพวงมาลัยเข้าหน่อย แทนที่จะอันเดอร์ฯเพิ่มกลับดึงหน้ารถเข้าไลน์ได้อย่างสวย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เป็นทางโค้งลงเขาขวา/ซ้าย/ขวาอย่างต่อเนื่อง น้ำหนักรถตันหกดูจะมีผลพอสมควรเพราะถ้าลงมาแรงไปจะมีอาการไถลออกนอกไลน์ได้มากกว่า JCW รุ่นอื่นที่เป็นรถตัวเตี้ย ซึ่งสถานการณ์วิ่งลงเขาด้วยโค้งต่อเนื่องแบบนี้จะไม่มีในสนามช้าง อย่างไรก็ตามเมื่อคำนึงถึงรูปแบบของรถ ก็ยังต้องยอมรับว่ามันเป็นครอสโอเวอร์หนึ่งในไม่กี่รุ่นที่สามารถไล่ฆ่ารถเก๋งบนสนามอย่างแก่งกระจานได้ คุณเสียเปรียบนิดหน่อยในสนาม แต่บนถนนและในการใช้งานปกติ ก็จะได้ความสบายจากหลังคาที่โปร่งและเบาะหลังที่ชวนพ่อชวนแม่นั่งแล้วไม่รู้สึกบาป

******สรุปความเห็นที่ได้จากการขับ*******

ถ้าให้เรียงลำดับตามความชอบของผม (ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับหลายท่าน) John Cooper Works Hatch 3 Door ที่เป็นรถราคาถูกสุด ตัวเบาสุด และ Simple ที่สุดในทั้ง 3 คันนี้ คือรถที่ผมเลือกเป็น “คามิโอชิ” (ก็คือชอบ JCW หลายรุ่น แต่ชอบรุ่นนี้มากที่สุด) เพราะเมื่อคิดถึงชื่อ John Cooper Works และมองถึงประวัติทางด้านมอเตอร์สปอร์ต เพ็ดดีกรีของทางค่าย จะเห็นได้ว่ารถที่ชนะการแข่งขันมากที่สุด ก็คือ MINI ทรง Hatch 3 ประตู ซึ่งเป็นรูปแบบที่คลาสสิคที่สุด

ส่วนเรื่องการขับขี่นั้น ในขณะที่บางท่านมองว่าบรรดา JCW ที่มีระบบขับสี่ ALL4 ยิงโค้งได้เร็วกว่า แต่จากที่ผมลองขับเอง รถเหล่านั้นจะเร็วได้ด้วยจังหวะการลงคันเร่งที่เหมาะสมกับพวงมาลัย ก็คือต้องใช้คนที่เก่ง และมีสมาธิดีระดับหนึ่งถึงจะใช้ประโยชน์จากการถีบของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อได้ ในขณะที่ Hatch ขับหน้า แค่จำไว้ว่าพวงมาลัยหมุนมาก=คันเร่งน้อย พวงมาลัยเกือบตรง=กดได้เกือบมิด ซึ่งคนที่เคยขับรถ FWD ในสนามแข่งคุ้นเคยกันหมดอยู่แล้ว คุณจะพลาดกดช้า กดเร็ว กดลึกไปบ้างก็ได้ รถมันก็ยังรักษาความเร็วของมันเองได้ และการที่มีพละกำลังเป็นช่วงกว้างกับตัวรถที่เล็กทำให้มันสามารถเอาคืนในช่วงทางตรงได้สบาย

ถ้ามองหารถที่ขับสนุก และเรารู้อยู่แก่ใจว่ารถคันนี้เป็นรถขับหน้า ที่อาจจะถูกซื้อโดยวัยรุ่นใจร้อนที่พ่อแม่ซื้อรถให้ขับตั้งแต่ตอนยังไม่มีใบขับขี่ ผมมักจะเลือกรถประเภทที่มีบุคลิกคาดเดาได้ง่าย สนุก และเมื่อพลาดก็แก้อาการได้ง่าย ไม่แสดงอากัปกิริยาที่ไม่คาดฝันโดยไม่จำเป็น MINI John Cooper Works Hatch เป็นรถแบบนั้น

อันดับต่อมาที่ผมจะเลือก (ถ้ามีงบพอ) คือ John Cooper Works Countryman ทำไมถึงเลือกทั้งๆที่เข้าออกโค้งไม่ได้เร็วเมื่อเทียบกับรุ่นอื่น และทางตรงก็ไม่ได้เร็ว? คำตอบอยู่ที่ลักษณะการตอบสนองของรถซึ่งมีแนวทางคล้ายๆกับ JCW Hatch คือไม่ยวบ ขยับ หรือดุ๊กดิ๊กโดยไม่มีเหตุอันควร และด้วยระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ เมื่อวันใดที่ถนนเปียกลื่น คุณมีโอกาสที่จะขับเร็วๆบ้าๆแล้วยังรอดได้บ้าง ความสูงของตัวรถไม่ได้ทำให้มันกลายเป็นรถที่โย้เย้น่าเบื่อ มันทำทุกอย่างได้ใกล้เคียงกับ Hot Hatch มากที่สุดเท่าที่คุณจะหาได้จากรถประเภทนี้แล้ว

จุดที่ทำให้ผมชอบอีกประการหนึ่งใน Countryman ก็คือการจัดพื้นที่โดยสาร และพื้นที่ใช้สอยภายในรถ เบาะกับพวงมาลัยสามารถปรับระยะได้มากกว่า Hatch/Convertible เนื้อที่จุของด้านท้ายเยอะกว่า เบาะหลังนั่งสบายระดับหนึ่ง (ผมสามารถนั่งได้..แต่คนที่อยู่ข้างหน้าต้องไม่ใช่คนตัวสูง ไม่งั้นจะไม่มีที่วางขา) ดังนั้น ในแทร็ค มันอาจจะเป็นผู้แพ้ (ที่แพ้แบบมีศักดิ์ศรี) แต่ในชีวิตจริง โดยเฉพาะกับ First Jobber (ที่รวยระดับหนึ่ง) ต้องการมีรถไว้ใช้คันเดียวในชีิวิต

แต่สิ่งหนึ่งที่ลูกค้าตัวจริงอาจต้องคิด ก็คือมันมีทางเลือกหนึ่ง ที่ได้ประสิทธิภาพและได้อารมณ์ 80-90% ของ JCW Countryman แต่จ่ายถูกกว่ามาก ซึ่งก็คือ MINI Countryman Cooper S Hightrim ที่ประกอบในอาเซียน หั่นม้าลง 39 ตัว ตัดระบบขับสี่ออก แล้วคุณจะเซฟงบไปล้านบาทเศษ ดังนั้นถ้าไม่ใช่ว่าคุณบูชาชื่อ “JCW” หรือเน้นสมรรถนะมากจริงๆ ก็ลองคิดให้ดีๆก่อน

ส่วน John Cooper Works Convertible นั้น ออกจะหาข้อสรุปให้ยากสักหน่อยเพราะเป็นเรื่องของความชอบส่วนตัวมากกว่าเหตุผลที่หนักแน่นมีมูล เนื่องจากผมไม่ได้ชอบรถเปิดประทุนหลังคาผ้าใบเท่าไหร่เพราะโอกาสในการเปิดหลังคาขับในกทม. คงยากยิ่ง เปิดไปก็สูดดมเอาแต่ฝุ่น PM2.5 ทั้งนั้น เว้นเสียแต่ว่าได้มีโอกาสขับไปเที่ยวภูเขาถึงจะรู้สึกอยากเปิดหลังคา ผมจึงมีมุมมองว่า ทำไมจึงต้องจ่ายแพงกว่า เพื่อแบกน้ำหนักเพิ่ม 100 กิโลกรัมแลกกับประโยชน์ที่เรามีโอกาสใช้น้อยครั้ง ถ้าหากอยากได้รถเปิดหลังคาที่ขับเล่นเอาอรรถรสและแรงพอประมาณ ผมเล่น Cooper S Convertible ก็ได้และจ่ายถูกกว่ากันราว 4 แสนบาทนิดๆ ..แล้วถ้าหากมีออพชั่นทางเลือกสีเขียวมินท์คู่กับภายในสีน้ำตาลชานม อู้หูวว์นั่นคือนิพพานเลยสำหรับผม Happy ชนิดยินดีรับ ไม่ต้องเอา JCW version ก็ได้

แต่ถ้าบังเอิญคุณเป็นคนชอบของแปลกหายาก และคุ้นเคยกับรถหลังคาผ้าใบอยู่แล้ว ก็อาจจะรักมัน เพราะในเรื่องการขับขี่ไม่ได้ดีหรือร้ายแตกต่างจากรุ่น Hatch มากจนน่าเป็นประเด็น และราคาของรถก็แพงกว่ารุ่น Hatch แค่นิดเดียว อีกทั้งยังเป็นรถแบบที่หาดูได้ยากท่ามกลางหมู่ MINI บนถนนไทยอีกด้วย

และถ้าให้กล่าวถึง JCW Clubman ก็บอกได้ว่า ผมชอบเรื่องรูปทรงและการออกแบบทั้งภายนอกและภายในของมันมากที่สุดในกลุ่ม และความคิดนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนไปหลังขับ เพียงแต่เมื่อค้นพบสมรรถนะที่แท้จริงของตัวรถ ผมยังรู้สึกว่ามันน่าจะขับสนุกใกล้เคียงรุ่น Hatch มากกว่านี้ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อมีประโยชน์จริงบนถนนลื่น และช่วยให้ยิงออกโค้งได้เร็วกว่ารถขับหน้าแต่เมื่อเรามองว่าคนที่ซื้อ JCW ใช้ คุณต้องมองตัวเลขและความเร็วเป็นเรื่องสำคัญ Clubman ไม่ได้เร็วและสนุกจริงจังเมื่อเทียบกับ Hatch ซึ่งแม้จะขับหน้า แต่เป็นขับหน้าที่ดุ และคม และที่สำคัญคือราคาถูกกว่า ส่วนในเรื่องอรรถประโยชน์การใช้สอยหากต้องซื้อเป็นรถคันเดียวของบ้านนั้น มันก็ยังแพ้ JCW Countryman ที่นั่งสบายกว่า ขึ้นลงง่ายกว่า แถมมีช่วงล่าง Adaptive แต่แพ้ Clubman แค่ว่าไม่มีหลังคากระจก

อย่างไรก็ตาม ผมทราบดีว่ารถเหล่านี้เป็นรถประเภทที่คนซื้อใช้จริง คือคนที่รัก MINI อยู่แล้วในใจ คนที่เล่น JCW ก็คือคนที่บูชา John Cooper Works อยู่แล้วในใจ ดังนั้นบทความของผม อาจจะเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับพวกเขา แต่มันก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและงานของคนที่ขับรถ ลองรถ แล้วต้องเขียนให้คนอื่นที่อาจจะไม่ได้หลงใหล MINI ฟังด้วย ดังนั้นเราจะไม่มานั่งตำหนิกันถ้าความเห็นบางเรื่องของเราไม่ตรง ซึ่งผมก็ไม่ได้คิดว่าความเห็นของตัวเองจะต้องถูก เที่ยงแท้ที่สุดในโลก มิเช่นนั้นผมคงไม่เล่าให้คุณฟังว่า Instructor คิดต่างจากผมอย่างไร หรือขับต่างจากผมอย่างไรถึงได้ผลที่ไม่เหมือนกัน

แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่พวกเราน่าจะเห็นพ้องกันได้คือ การร่วมมือกันสร้างสิ่งที่มีคุณค่าโดยใช้ความถนัดที่แตกต่างของแต่ละคน ยอมละทิ้งคำว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามฉันบอก ทุกสิ่งต้องเป็นไปตามที่ฉันคิด หากแต่ร่วมมือกันทำ มันจะให้ผลที่ดีเกือบจะทุกครั้ง ผมในฐานะคนขับแล้วเขียน ก็พยายามให้ข้อมูลและช่วยให้คุณเลือกรถได้ คนอ่านก็ช่วยเรื่อง Feedback เกี่ยวกับตัวรถได้ และเจ้าของตัวจริงก็สามารถช่วยเพิ่มข้อมูลจากการใช้งานจริง เรื่องการบริการหลังการขาย และช่วยตรวจสอบข้อมูลที่บางครั้งคนเขียนอย่างผมก็มีสิทธิ์ผิดได้เช่นกัน เราแบ่งหน้าที่กันทำแบบนี้ ในโลกของรถยนต์ แล้วเราจะได้แจกจ่ายความเจริญทางสมอง ดีกว่าการอยู่บนสังคมแคพแล้วแอบด่าหรือทับถมกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

หลายสิบปีก่อน ในช่วงสงครามโลก เมื่อคุณบวกเยอรมนี กับ อังกฤษ และความคิดที่จะสร้างตัวเองบนการทำลายล้างของผู้อื่น เราจบลงด้วยการพรากชีวิต พิษเศรษฐกิจ และความเศร้าหมองไปหลายทศวรรษ… แต่ในวันนี้ คุณนำเอาวิศวกรรมที่กำหนดโดยเยอรมัน มาร่วมกับดีไซน์และ Passion ของอังกฤษ วางงานให้กับคนถูกคน คุณจะเห็นได้ว่าหากแม้นเรานำปรัชญาจากสองโลกที่แตกต่าง แล้วแบ่งกันทำในสิ่งที่ตนเองทำได้ดี รับบางเรื่อง และยอมในบางเรื่อง ผลผลิตที่ได้คือรถอย่าง MINI และ John Cooper Works อันเป็นตัวแทนความแตกต่างที่ผสานกันอย่างลงตัว มอบรอยยิ้มให้กับผู้เป็นเจ้าของทุกครั้งที่ได้ขับ และมอบความอิจฉาให้กับคนที่ได้มอง ได้ขับ แต่ไม่มีโอกาสได้เป็นเจ้าของแน่นอน

เช่นผม..เป็นต้น

—–/////—–

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:

คุณปรีชา นินาทเกียรติกุล แห่ง MINI (Thailand)

คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ BMW Group (Thailand) Co.,ltd และทีมงาน PR

เอื้อเฟื้อการขับทดสอบทั้งในสนาม Chang International และสนามแก่งกระจาน


Pan Paitoonpong

สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน // ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายโดยช่างภาพจาก MINI Thailand/ผู้เขียน ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com 24 ธันวาคม 2018

Copyright (c) 2018 Text and Pictures

Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited. First publish in www.Headlightmag.com 24DEC 2018